การห้อยพระที่ถูกต้อง โดย หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง

พระของฉัน หรือของๆที่ฉันออกแจกก็ตาม ฉันไม่เคยบอกว่าของๆฉันเป็นของคงกระพันชาตรี อันนี้ต้องจำกันไว้ด้วย ใครที่รับของๆฉัน แล้วจงทราบว่า ฉันไม่เคยรับรองเรื่องคงกระพันชาตรีเพราะเรื่องนี้ถ้าใครรับรองคนนั้นก็โง่ มันเป็นกฏของกรรม คนที่เหนียวๆ ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า แต่ก็ทะลุทุกราย ถ้ากรรมชั่วมันเข้ามาถึงแล้ว กรรมใดที่เป็นบาปมันก็เปิดโอกาสให้คนหนังเหนียวนี่ตายเพราะอาวุธนับไม่ถ้วน

ความมุ่งหมายในการใช้พระคล้องคอ โดยมากพวกเรามักเข้าใจผิดกัน ที่พระท่านทำไว้ให้คล้องคอ ก็หมายถึงว่า บุคคลที่มีใจเคารพในพระพุทธเจ้า มีใจเคารพในพระธรรม มีใจเคารพในพระอริยสงฆ์ แต่ทว่ามีกำลังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการยังอ่อนอยู่ ฉะนั้น จึงได้ทำรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ดี รูปเปรียบเทียบของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดี ที่เป็นที่เคารพนับถือห้อยคอไว้ ถ้าหากว่าเรานึกถึงพระท่านไม่ออก จะได้นำพระขึ้นมาดู รูปนี้เป็นรูปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งความดีที่เรียกว่า พระธรรมวินัย

นี่คือความเป็นจริงเป็นความมุ่งหมายของผู้ทำต้องการอย่างนั้น หมายความว่าคนที่มีพระห้อยคอ ควรจะทำใจอย่างพระหรือ
มิฉะนั้นคนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรที่จะทำตามพระแนะนำ ให้
ปฏิบัตดี ปฏิบัติชอบ แต่พวกเราก็กลับมาพลิกแพลงเสีย
เอาพระไปตีกับชาวบ้านเขา ไปยุให้พระตีกัน

พระที่นำมาห้อยคอนี่ พระท่านทำขึ้นมาก็ด้วยอาศัยอำนาจ
ของพระพุทธานุภาพนะ อำนาจของพระพุทธานุภาพนี่สามารถ
ที่จะช่วยคนที่ยังไม่ถึงอายุขัยให้พ้นจากอันตรายได้ ที่เรียกว่า “พระเครื่อง” อันนี้ใช้ได้ แต่ถ้าหากจะเรียก “เครื่องรางของขลัง” อันนี้ใช้ไม่ได้ พระทุกองค์ท่านทำมาไม่ใช่ของขลังท่านทำมาด้วย วิธีที่เรียกว่า พุทธศาสตร์ ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์
กับไสยศาสตร์มีค่าต่างกัน

พวกของขลังนี่เป็นไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อขาย สำหรับพุทธศาสตร์ เขาทำเพื่อการสงเคราะห์ เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภท
นี้ไว้ ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัย ถ้าไม่ถึงอายุขัย
ถ้าอันตรายของชีวิตพึงจะเกิดขึ้น ก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้

จาก หนังสือสมบัติพ่อให้
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

แชร์เลย

Comments

comments

Share: