เอกสฺมึ กิร สมเย ภทฺทกปฺเป กสฺสปสมฺพุทฺธสาสเน ตทา เอกา อิตฺถี สามิเกน อฺมฺํ ปติพทฺธจิตฺตา อติวิยสิเนหปริสุทฺธจิตฺตา โหติ ฯ
กิร ดังได้สดับฟังมาว่า ณ สมัยคราวหนึ่ง ในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งอุบัติแล้วในภัททกัลปนี้ คราวนั้นมีสตรีผู้หนึ่งมีจิตผูกพันมั่นหมาย รักใคร่เยื่อใยเลื่อมใสในสามีนัก วันหนึ่ง สตรีผู้นั้นทำบูชาและถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าพเจ้าจะเกิดไปในสรรพภพใด ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากความเป็นสตรี และสามีนั้นขอให้ได้เป็นพี่ชายรักสนิทชิดชมกับข้าพเจ้า อนึ่งเล่า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าทั้งสองจะไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานไซร้ ขอให้ข้าพเจ้ามีสรีรกายติดเนื่องอันเดียวกัน แต่ศีรษะขอให้เป็นสองเศียรดังนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้ว จึงเสด็จกลับไปยังพระวิหารพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร
ต่อแต่นั้นมา สตรีภาพผู้นั้นกับสามีดำรงชีพอยู่ในมนุษย์โลกสิ้นกาลนาน ครั้นถึงกำหนดกาลสิ้นอายุแล้ว ด้วยบุญกรรมนำไปให้เกิดเป็นกุมารในตระกูลมหาเศรษฐีคราวหนึ่ง ในตระกูลพราหมณ์มหาศาลคราวหนึ่ง ในตระกูลขัตติยมหาศาลคราวหนึ่ง กุมารทั้งสองนั้นเมื่อคลอดก็คลอดตามกันออกมา (ตามธรรมดาที่เรียกกันว่าลูกแฝด) กุมารที่คลอดก่อนนับเป็นผู้พี่ กุมารที่คลอดภายหลังนับว่าเป็นผู้น้อง กุมารทั้งสองนั้นสมัครรักกันยิ่งหนักหนา
สองกุมารนั้นครั้นจุติจากอัตตภาพเป็นมนุษย์แล้ว ได้ไปเกิดในกำเนิดหงส์ทองอาศัยอยู่ที่สระประทุม ณ หิมวันตประเทศหงส์ทองนั้นมีกายติดเนื่องอันเดียวกัน แต่ศีรษะนั้นเป็นสองเศียร หงส์สองเศียรนั้นปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะไปหากินที่ถิ่นใดก็พร้อมใจกันไป จะได้วิวาทบาดหมางต่อกันก็หาบมิได้
อยู่มา ณ กาลวันหนึ่ง นายพรานผู้หนึ่งเที่ยวไปถึงที่หงส์ทองอยู่นั้น เห็นหงส์ทองสองเศียรตัวติดกันนึกอัศจรรย์ใจ แล้วกลับมากราบทูลพระเจ้าพาราณสีให้ทรงทราบ คราวนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชาพาราณสี ๆ ได้ทรงสดับทราบความแล้วทรงประทานราชทรัพย์และเสบียงอาหารแก่นายพรานแล้วดำรัสว่า ถ้าหากว่าเจ้าจักไปเอาหงส์นั้นมาให้เราได้ เราจักให้สมบัติแก่เจ้ามากยิ่งกว่านี้
นายพรานไพรรับราชดำรัสแล้ว ถวายบังคมลาถือเอาเมณฑสิงคธนูออกจากพระนครเข้าไปในหิมวันตประเทศ จับหงส์ทองสองเศียรตัวนั้นได้ด้วยอุบายของตน แล้วนำมาถวายเป็นบรรณาการแต่พระเจ้าพาราณสี ๆ ทรงยินพระหฤทัยประทานทรัพย์และบ้านส่วยให้แก่พราน ท้าวเธอทรงรับหงส์ทองด้วยพระหัตถ์ แล้วประทานให้อัครมเหสีรับไปอุ้ม ณ ขณะนั้น เศียรทั้งสองของหงส์นั้น เปล่งรัศมีดุจทองคำและบันลือสำเนียงไพเราะจับใจ พระราชเทวีทรงปรีดิ์เปรมพอพระทัย รับสั่งให้ใส่ไว้ในกรงทองประทานข้าวตอกกับน้ำผึ้งใส่ถาดทองให้หงส์นั้นกินทุกวัน
ครั้นภายหลังต่อมา พระราชเทวีจึงกราบทูลพระเจ้าพาราณสีว่าหงส์ทองสองเศียรแต่ตัวนั้นเป็นอันเดียวกัน ถ้าหากว่าพรากออกเป็นสองตัวได้ไซร้ ตัวหนึ่งจะได้เลี้ยงไว้ในราชนิเวศน์ ตัวหนึ่งจะให้ไปเลี้ยงไว้ที่สวนประสมสัตว์สำหรับชมเล่น พระเจ้าพาราณสีทรงเห็นดีด้วยพระราชเทวี จึงรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายมาประชุมแล้วตรัสถามว่า ใครอาจจะพรากหงส์สองเศียรนี้ให้เป็นสองตัวได้ เราจักให้สักการะแก่ผู้นั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งฉลาดในอุบายจะพรากหงส์ให้เป็นสองตัวได้ จึงกราบทูลพระราชาขอรับอาสาทำถวาย พระราชาจึงประทานทรัพย์ให้เป็นรางวัล แล้วมอบสุวรรณหงส์ให้แก่อำมาตย์รับไป อำมาตย์นั้นรับเอาหงส์นั้นไปเลี้ยงปรนปรือไว้ในเรือนของตน
ครั้นอยู่มา ณ กาลวันหนึ่ง อำมาตย์ผู้นั้นเข้าไปเฝ้าพระราชา กลับมาถึงบ้านเรือนแล้ว จึงเอียงคอของตนเข้าไปให้ใกล้เศียรหงส์ข้างหนึ่ง จึงทำเสียงขลุกขลักประหนึ่งว่าจะกระซิบพูดความลับแล้วก็ผละไปเสีย ฝ่ายหงส์อีกข้างหนึ่งนั้นนึกสงสัยจึงถามหงส์เพื่อนกันว่า เมื่อกี้อำมาตย์เขากระซิบพูดความลับอะไรกะท่าน ๆ จงบอกให้เรารู้บ้าง
ดูกรสหาย เราได้ยินเขาพูดแต่ไม่รู้เรื่องฟังไม่ชัดเจน ฯ ดูกรสหายเราไม่เชื่อท่าน เรื่องนี้เราได้เห็นด้วยตาเราเอง ท่านดูหมิ่นเราเสียแล้ว เราคบกันเป็นสหายมานานถึงเพียงนี้ (หมายว่าจะชื่อตรงต่อกัน) ท่านทำประหนึ่งว่าคอยท่าเห็นว่าเราหลับแล้ว จึงแสดงจิตใจให้คนอื่นเขารู้หมด จิตของท่านคดไม่บริสุทธิ์ในตัวเราแล้ว คราวใดเรารู้สึกความรักสนิทของท่านมีในเรา คราวนั้นเรารักสนิท ของเราจึงจะมีแก่ท่านต่อไป
หงส์ฝ่ายหนึ่งก็ทำหงส์อีกฝ่ายหนึ่งให้เชื่อกันไม่ได้ เมื่อความแปลกใจเกิดแล้วแก่หงส์สองฝ่าย อำมาตย์ผู้นั้นงดไม่ไปหาหงส์อยู่สองสามวัน แล้วไปคลุกเคล้าปรนปรือหงส์อีกฝ่ายหนึ่ง ทำกิริยาอาการเหมือนที่ทำแล้วแก่หงส์ครั้งก่อนนั้น หงส์ฝ่ายหนึ่งจึงสอบถามบ้าง หงส์ฝ่ายหนึ่งก็บอกความเหมือนกันดุจกล่าวมาแล้วนั้น หงส์ทองสองฝ่ายทำกันและกันให้เชื่อไม่ได้ เกิดทะเลาะกันยกใหญ่ต่างกล่าวกันว่า นมนานมาแล้วแม้โทษผิดที่ไม่พอใจหรือพลั้งพลาดอย่างหนี่งอย่างใดก็ดี เราก็ไม่ได้ทำอะไรต่อกันและกันเลย คราวนี้ท่านมาถือเอาถ้อยคำของคนที่มาพบประเดี๋ยวหนึ่ง จึงมาทิ้งความดีซึ่งตั้งอยู่นมนานเสียได้ ต่อไปนี้ท่านอย่าได้พูดกับเราเลยหงส์สองฝ่ายทำความทะเลาะให้ทวีมากขึ้น แล้วปริภาษด่าว่าและยกปีกขึ้นกระพือจิกกัน ด้วยอำนาจความโกรธแรงกล้าสรีรกายาก็แตกออกไปเป็นสองภาค
อำมาตย์ผู้นั้นเห็นแล้ว จึงนำหงส์ทองสองตัวไปถวายพระราชา พระราชาทอดพระเนตรแล้วทรงพระโสมนัส จึงประทานราชทรัพย์และบ้านส่วยให้แก่อำมาตย์ แล้วจึงประทานหงส์ตัวหนึ่งให้เลี้ยงไว้ยังภายในราชนิเวศน์ แล้วส่งหงส์ตัวหนึ่งให้ไปเลี้ยงไว้ยังสวนประสมสัตว์เป็นแล้ว พระองค์ทรงถามอำมาตย์นั้นว่า ท่านทำอุบายอย่างไรจึงให้หงส์แยกจากกันออกเป็นสองตัวได้ อำมาตย์จึงทูลอาการที่ตนทำถวายให้ทรงทราบแต่ต้นจนอวสาน
พระเจ้าพาราณสีทรงสดับทราบความแล้ว ได้ความสังเวชสลดจิต แล้วทรงภาษิตว่า โอน่าใจหาย หงส์ทองสองเศียรตัวติดกัน เป็นสหายรักสนิทมั่นถึงเพียงนี้ เมื่อถูกคนอื่นเขายุให้แตกกันเข้า มาถือเอาโทษที่เขายุให้แตกนั้นเป็นอารมณ์ แล้วไม่เอื้อเฟื้อซึ่งเคยสมัครรักใคร่กันมานานได้ถึงภินทนาการแตกกันได้ จะกล่าวไปไยถึงอย่างอื่น ๆ เล่า แม้ประชาชนทั้งมวลถือเอาโทษที่จะแตกร้าวรานกันไว้ ไม่พิจารณาใคร่ครวญแล้วทำไปอาจแตกร้าวกันได้เหมือนกัน
แท้จริง คนเมื่อจะแตกนั้นมีหลายประเภท คือบางพวกแตกกันด้วยโทษคือความประทุษร้ายต่อกัน บางพวกแตกกันด้วยความขุ่นเคืองใจ บางพวกแตกกันด้วยโทษคือลาภสักการะ หรือด้วยความรักเจ้านายของตน และด้วยถือเอาถ้อยคำของเจ้านายบ้าง บางพวกแตกแยกกันด้วยความถือความกล้าหาญแห่งราชกิจ บางพวกแตกกันเพราะพลพาหนะแก่งแย่งกัน และด้วยหาปัญญารอบรู้มิได้ บางพวกแตกกันเพราะชิงบ้านและนิคมที่ไร่นาเคหะฐานกันบ้าง ชิงโคมหิงสาช้างม้าทาสทาสีกันบ้าง คนบางพวกแตกกันเพราะไม่ถือเอาคุณูปการซึ่งเคยสั่งสมกันมานานแล้ว บางพวกประกาศโทษแม้เล็กน้อยเปรียบเทียบให้มากเท่าภูเขา ทำคุณมากที่มีแล้วให้วินาศเสื่อมถอยไป คนที่ตั้งอยู่ในถ้อยคำส่อเสียดแล้วทีแรกก็ทำให้เป็นโทษแต่เล็กน้อย นานเข้าก็ประสมมากขึ้นทุกทีเหมือนคนที่เข้าไขน้ำ ทีแรกๆ เขาขุดทางน้ำให้ไหลเดินแต่น้อย ๆ ภายหลังน้ำมันกัดกว้างลึกออกไปจนกลับกลายเป็นห้วงน้ำใหญ่ฉะนั้น
อนึ่งบุคคลประพฤติลวงล่อเขาด้วยปิสุณาวาจา ทำสติให้เป็นดังมูลฝอยเชื้อเพลิง เห็นเขาพลั้งพลาดลงนิดหน่อยก็คอยสุมส่อก่อขึ้นทีละน้อย จนทำให้ถึงความพินาศป่นปี้ เหมือนวารีที่ไหลล้นนทีและบึงบ่อ ก็จะพัดพารุกขาทิชาติซึ่งเกิดอยู่ริมฝั่งให้พังทำลายไป ฉะนั้น ผู้มีปรกติทำความแตกร้าวกัน ย่อมทำตนและคนอื่นให้ถึงพินาศ คนที่ไม่พินิจพิจารณาแล้วถือเอาคำของคนผู้ยุยงไว้ ทำเหตุภายนอกมาไว้ภายในใจย่อมจะให้ถึงอนัตถความพินาศใหญ่ แล้วพระราชาทรงตรัสคาถานี้อีกว่า
รตนากโรว คมฺภีเร | มาลุเตน จ ขุภิโส |
คารธโร ภูมิปาโล | อมิจฺเจเนว ขุภิโส |
น โหติ ปพฺพโต ภาโร | น ภาโร สพฺพสาคโร |
มิตฺตทุพฺภิ นโร ภาโร | วิสาสนตฺตโก ชโน |
ปถวิ สาคโร เมรุ | ขยํ ยนฺติ ยุคฺคกฺขเย |
กปฺปานํ สตสหสฺสานํ | ทุพฺภิ ปาปํ น ปสฺสติ |
กณฺณชปฺปมฺปิ กตฺวาน | กุเต วาปิ วินาสกา |
ปาสาณปฺปลฺลกูฏาว | อุทเกเนว เภทกา |
ความว่า บ่อแก้วในที่ลึกแท้ ๆ แต่ลมยังให้สะเทือนได้ พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองบ้านเมือง พวกอำมาตย์อาจให้กำเริบร้าวได้ บรรพตและสาครชื่อว่าหนักแน่นยังไม่ได้ คนทำลายมิตรคนทำลายความคุ้มกันนั่นแหละหนักมาก แผ่นดินและสาครหรือภูเขา ถึงคราวสิ้นยุคแห่งแสนกัลปแล้ว ก็ถึงซึ่งความสิ้นสูญไปทั้งนั้น คนคิดทำลายกันแม้มีอยู่ ณ สกุลใด ไม่เห็นแก่บาปกรรมทำความกระซิบหู (คือว่ายุแหย่อยู่แล้ว) ก็อาจทำสกุลนั้นให้พินาศทำลายไป อุปไมยดังกองหินโตเท่าพ้อมถูกน้ำพัดแรงกล้าก็พากันแตกกระจายไปได้
ตั้งแต่นั้นมา พระราชาก็ให้จับคนยุแหย่และให้ไล่ออกไปเสียจากสกลรัฐ และโปรดให้ยกโทษเสียด้วย เมื่อจะทรงสอนชนบริษัทจึงตรัสคาถาดังนี้ว่า
ชีวิตมฺปิ จชิตฺวาน | เภทนฺตรํ น การเย |
กายวาจฺจ รกฺขิตฺวา | วิจาเรตฺวา ว การเย |
นิสมฺม ปณฺฑิตา กยิรา | นานิสมฺมาปิ กยิรา |
วิมํสิตฺวา วิจาเรตฺวา | ปจฺฉา น อนุตปฺปติ |
ยถา สุวณฺณหํสาปิ | เกนจิ ปริเภทิตา |
ภินฺทนฺตสฺส คเหตฺวาน | อฺมฺํว เภทิตา |
เอโก อนฺโต นิเวเสติ | เอโก พหิ นิวีสติ |
อฺมฺํ อสํสฏฺา | มุเขนาปิ อทฺทสิตา |
ความว่า ถึงแม้ชีวิตจะพรากจากกาย บุคคลอย่าพึงทำโทษ คือความร้าวรานกัน พึงสำรวมกายวาจา พิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจึงทำแต่ที่ถูก นักปราชญ์ทั้งหลายท่านใคร่ครวญแล้วจึงทำ ยังไม่ได้ใคร่ครวญก่อนแล้วอย่าทำไป บุคคลไม่ใคร่ครวญสอบสวนแล้วทำไป ย่อมจะตามเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนหงส์ทองสองหัวตัวติดกัน ถูกอำมาตย์ผู้หนึ่งยุให้แตกกัน ต่างถือเอาคำของอำมาตย์คนยุ เลยแตกจากกันจริงจัง หงส์ตัวหนึ่งได้ให้เลี้ยงไว้ภายในวัง หงส์ตัวหนึ่งให้ไปอยู่นอกวัง ต่างแยกกันไปเห็นประจักษ์ต่อหน้าต่อตาแล้ว
ต่อแต่นั้นมา พระราชาก็ได้ดำรงราชสมบัติโดยสม่ำเสมอ ชนชาวพระนครก็ได้อยู่สมัครสโมสรปรองดองกัน มนุษย์ในสกลรัฐพากันระงับกายวาจาจิตเรียบร้อยดี พระเจ้าพาราณสีตั้งพระทัยบำเพ็ญสมดึงสบารมีเป็นเบื้องหน้า ครั้นเวลาทิวงคตแล้วได้เสด็จไปยังโลกสวรรค์ ครั้นถึงชาติที่สุดจุติมาดำรงอัตตภาพเป็นพระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทานเสร็จ แล้วเสด็จไปอุบัติในดุสิตบุรี โดยพระบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว เทพยดาในหมื่นจักรวาฬจึงวิงวอนขอให้จุติ พระองค์ทรงพิจารณาปัญจมหาวิโลกแล้วเสร็จ เสด็จจากดุสิตสวรรค์มาปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระมหามายา แต่ประสูติจากพระครรภ์แล้วมาถึงพระชนม์ได้ยี่สิบเก้าพรรษา ได้พระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ในสมัยเที่ยงคืนวันหนึ่งพระองค์พอพระทัยใคร่จะบรรพชา มีหมู่เทพยดาหมื่นจักรวาฬกับนายฉันน์เป็นสหาย เสด็จออกสู่มหาภิเนกษกรม ทรงบำเพ็ญมหาปธานวิริยอยู่ในป่าถึงหกพรรษา ต่อนั้นไปพระองค์ได้เสวยมธุปายาสอันนางสุชาดานำมาถวาย แล้วเสด็จขึ้นนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ ตั้งพระพักตร์ต่อบุรพทิศดำรงจิตโดยสมาธิวัตต์ ทรงกำลังพระยามารทั้งมารพลแล้ว ก็ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ต่อแต่นั้นพระองค์ทรงประทานธรรมเทศนาแก่เทพยดาและมนุษย์เป็นลำดับไป พระองค์ระลึกได้ถึงพาราณสีชาดก จึงยกความเรื่องนั้นมาล้างเป็นมูลเหตุแล้วตรัสพระธรรมเทศนา โดยนัยอาทิคาถาดังนี้ว่า
มิตฺตปิเยสุ ภชถ | อมิตฺตฺจ น เสวเย |
สุกฺกธมฺมํ ปวตฺเตถ | กณฺหธมฺมํ น เสวิถ |
ความว่า ท่านทั้งหลายจงคบมิตรที่รักใคร่ จงอย่าได้คบคนผู้อมิตรเลย จงประพฤติธรรมส่วนขาว อย่าเสพธรรมส่วนดำเลย
อนึ่ง คนที่ดีเมื่อคบคนไม่ดีก็เป็นเช่นเดียวกัน บุคคลหว่านพืชชนิดใดไว้ย่อมได้ผลชนิดอย่างนั้น ผู้ทำความดีไว้ย่อมจะได้ผลที่ดี ผู้ทำความชั่วไว้จะได้ผลชั่วร้าย ท่านทั้งหลายอย่าคบบุรุษคนเลว พึงคบมิตรและบุรุษที่ดี ๆ ถ่ายเดียว บุคคลทำคนชนิดใดไว้เป็นมิตร และคบสนิทกะคนชนิดใด ผู้คบหานั้นย่อมจะกลายเป็นเช่นเดียวกันได้ ฝ่ายท่านมีผู้มีปัญญาไม่กล้าคบคนเลวเป็นสหาย เพราะกลัวแต่จะเข้าไปเปื้อนกับเขา ผู้ใดห่อปลาเน่าไว้ด้วยหญ้าคา แม้หญ้าคานั้นก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด ความคบคนพาลก็มีอาการเหมือนกันฉันนั้นเทียว
ผู้ใดห่อกฤษณาไว้ด้วยใบไม้ ใบไม้ก็จะพลอยมีกลิ่นฟุ้งไปตามกันฉันใด ความเข้าไปเสพกับบัณฑิต ย่อมถึงความหอมอย่างอุกฤษฎ์ฉันนั้น ผู้อสัตบุรุษย่อมไปนรก ผู้สัตบุรุษมีสวรรค์เป็นที่ไปข้างหน้า ผู้แสวงหาโทษใส่เขา ย่อมทำลายคนหมู่มากให้พินาศ นายพรานล่อลวงเนื้อด้วยหัวล่อให้มาสู่สำนักตนแล้วประหารฟันแทงเอาตามชอบใจฉันใด มนุษย์ทั้งหลายล่อลวงมหาชนด้วยข้าวน้ำและวาจาอ่อนหวาน หาโทษได้สักสิ่งหนึ่งแล้ว ทำทุกข์ยากและทำคดีโทษชัวร้ายให้เกิดขึ้น ทำลายความดีให้สูญไปฉันนั้น
อนึ่ง ความที่สุนัขจิ้งจอกและนกทั้งหลาย รู้จักใจกันดีแล้วอยู่ร่วมกันได้ ความที่มนุษย์ต่อมนุษย์อยู่ร่วมกันยากนัก ยากที่จะรู้จักใจกันได้ ใจคนย่อมเปลี่ยนแปลงไปในขณะ ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นเสียซึ่งโทษคือความยุยงให้ห่างไกลทุกเมื่อเถิด โทษแห่งการแตกร้าวกัน ย่อมแตกร้าวเพราะวาจาส่อเสียด ผู้ทำการส่อเสียดเป็นหัวหน้า ย่อมไปไหม้อยู่ในนรกสิ้นแสนกัลป และทำให้แตกกันอยู่ร่ำไป เมื่อพ้นจากนรกแล้วจะเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นคนยากจนวิกลกายาและจะเป็นคนกำพร้า มีกายเหมือนเปรตน่าเกลียดน่าชัง ทนอดข้าวและน้ำ ทั้งนี้ก็เพราะโทษแห่งการทำให้แตกกันอำนวยผล ผู้ทำการส่อเสียดไว้ในกาลปางก่อนก็กินแต่หนอนเป็นอาหาร นักปราชญ์ผู้ปรีชาญาณท่านเห็นโทษอย่างนี้ จึงเว้นทำการชั่วเสียให้ห่างไกล การทำชั่วและทำดีไว้ ย่อมได้ผลชั่วผลดีอย่างนั้นเอง มิต้องพักสงสัยเลย
สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่คจะทรงประกาศอานิสงส์แห่งความสามัคคี จึงตรัสอาทิคาถานี้ว่า
เย สมคฺคา ปฺุรตา | เอกจิตฺตสมาหิตา |
ปปฺโปนฺติ สคฺคสมฺปตฺตึ | วิเสสํ ปาปุณึสุ นิพพฺตึ |
ความว่า ผู้ใดยินดีต่อบุญมีไมตรีจิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผู้นั้นย่อมจะถึงซึ่งสมบัติสวรรค์และคุณวิเศษยิ่งใหญ่ไพศาลภายหลังจะได้ถึงพระนฤพาน อันเกษมสุขนิราศภัย
อนึ่ง แม้จะเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ก็จะเป็นผู้มีญาติมากพร้อมเพรียงกัน เหมือนรุกขชาติอันเกิดมากมูลในป่าฉะนั้น ความพร้อมเพรียงเป็นสามัคคีกันอาจจะป้องกันอันตรายซึ่งจะมีมาถึงตนให้พ้นไปได้ อุปไมยเหมือนสุกรพวกมากพร้อมใจกัน อาจจะจับเสือตัวเดียวที่ดุร้ายฆ่าตายได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงยินดีในอัปปมาทธรรม จงรักษาจิตใจไว้ให้ดี พึงรักษากายวจีมโนทวารไว้ทุกๆ วัน พึงละเว้นเสียซึ่งวาจาเสียดส่อ และความทะเลาะแก่งแย่งกันให้ห่างไกลจากสันดานจงทุกวัน ผู้กอบด้วยสามัคคี ก็จะมีแต่ความสุขทุกอิริยาบถ และจะได้อานิสงส์ถึงสิบเอ็ดประการ
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประมวลชาดกว่า นายพรานเนื้อในกาลนั้นกลับชาติมาคือพระฉันนเถระ หงส์ทองตัวหนึ่งในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระศิริมานนทเถระ หงส์ทองตัวหนึ่งในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระกาลุทายีเถระ อำมาตย์ผู้ฉลาดในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระสาริบุตรเถระ บริษัททั้งหลายในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเจ้าพาราณสีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้