ความไม่ประมาทเป็นมงคลอันสูงสุด

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

ในวันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวถึงหัวข้อธรรมที่ว่า  “ความไม่ประมาทเป็นมงคลอันสูงสุด” ซึ่งหมายถึงเป็นข้อปฏิบัติที่นำผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งชีวิต    แต่ก่อนที่จะเข้าใจถึงข้อปฏิบัติที่ชื่อว่า  ความไม่ประมาทนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญสูงสุดในชีวิตอย่างไร    ก็มาทำความเข้าใจในเรื่องของความประมาทเสียก่อนว่าคืออย่างไร   ให้ผลต่อชีวิตอย่างไร   และเพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนั้น

ความไม่ประมาทนั้นตรงกันข้ามกับความประมาท คือ    ความประมาทหมายถึง การดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ โดยอาการขาดสติสัมปชัญญะ  รอบรู้ทางเจริญทางเสื่อม    นี่จะกล่าวอย่างเข้าใจง่ายๆ   แต่ก่อนอื่นก็โปรดเข้าใจคำว่า สติ สัมปชัญญะ สักนิดหนึ่งก่อนว่า  สติหมายถึงความระลึกได้  ก่อนคิด  ก่อนพูด  ก่อนทำ  ว่าที่เรากำลังจะคิด จะพูด หรือจะทำนั้นเป็นไปโดยทางที่ถูกต้อง  เป็นคุณความดี  เป็นบุญกุศล  ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข หรือว่าเป็นความผิดพลาด  เป็นบาปอกุศล   ที่จะนำไปสู่ความเสื่อมหรือเป็นโทษ   หรือเป็นความทุกข์เดือดร้อนแก่ตนเอง ความระลึกได้ในทางเจริญทางเสื่อม ก่อนคิด ก่อนพูด ก่อนทำ อย่างนี้ ชื่อว่า สติ    ส่วนสัมปชัญญะนั้น เมื่อได้คิด ได้พูด ได้ทำ หรือกำลังคิด กำลังพูด กำลังทำอยู่  ก็รู้สึกตัวว่า ที่เรากำลังคิด กำลังพูด กำลังทำอยู่นั้น เป็นไปในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เป็นบุญเป็นกุศล หรือว่าเป็นไปในทางที่ผิดพลาด เป็นบาปอกุศล  ที่จะนำไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน   ถ้ารู้สึกตัวในขณะคิด พูด ทำ ว่าไปทางดีหรือทางชั่ว ทางเจริญหรือทางเสื่อม ก็งดเว้นความประพฤติปฏิบัติที่ไปในทางเสื่อม ถ้าหากว่ากำลังทำอยู่นั้นเป็นความไม่ดี หรือว่าถ้าที่กำลังคิด พูด ทำ อยู่นั้น เป็นไปในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราก็ดำเนินต่อไป นี้ชื่อว่า สัมปชัญญะ ผู้ที่มีความประมาท ก็คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตไปโดยความขาดสติสัมปชัญญะ รู้ทางเจริญ ทางเสื่อม ดังกล่าวนี้ ประการหนึ่ง ในความหมายของคำว่าความประมาท

ทีนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านได้แสดงรายละเอียดของความประมาท   ในทางเจริญ-ในทางเสื่อมไว้ว่า   ในส่วนที่ว่า ประมาท ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ทางเสื่อม แล้วดำเนินชีวิตไปในแนวทางนั้น ท่านอธิบายไว้ว่า   ความประมาทหมายถึง ความปล่อยจิตใจไปในทางที่ไม่ดี ได้แก่ ในกายทุจริต คือความชั่วทางกาย อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ การเจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เจตนากบฏคดโกงผู้อื่น หรือเจตนาประพฤติผิดในกามเป็นต้น   รวมตลอดไปถึง ความหลงติดอยู่ในอบายมุข เช่น เป็นนักเลงผู้หญิง หรือผู้หญิงก็เป็นนักเลงผู้ชาย   เป็นนักเลงสุราหรือยาเสพติด   เป็นนักเลงการพนัน  และติดเที่ยวกลางคืน  หรือคบคนชั่วเป็นมิตร  เป็นต้น นี่ในฝ่ายกายทุจริต     ทีนี้ในส่วนวจีทุจริต ก็คือปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามอารมณ์   การพูดก็เป็นคำพูดที่ไม่จริง โกหกหลอกลวงผู้อื่น  หรือเป็นคำหยาบคาย ด่าทอ กระทบกระแทกให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ  หรือเป็นคำพูดที่ยุให้รำตำให้รั่ว แตกแยกสามัคคีในหมู่คณะ  หรือเป็นคำพูดที่เพ้อเจ้อ  เหลวไหล ไร้สาระ เช่น ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ติฉินนินทาผู้อื่น โดยประการอันมิชอบ  เหล่านี้เป็นต้น   อีกประการหนึ่ง คือ มโนทุจริต  เป็นผู้ที่ปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสฝ่ายต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความโลภจัด ความเห็นแก่ตัวจัด หรือตัณหาราคะจัด เป็นต้น และความโกรธ ความพยาบาท อาฆาตจองเวรต่างๆ ไปจนถึงความหลงไม่รู้บาปบุญคุณโทษตามที่เป็นจริง  นี้เป็นความหมายของความประมาทในทางเสื่อม 

ที่พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงความหมายว่า ได้แก่ความปล่อยจิตใจไปในทางที่ไม่ดี ที่เป็นบาปอกุศล และความส่งเสริมหรือยั่วยุจิตใจ ไปในทางบาปอกุศล เช่น ยั่วยุในเรื่องของกิเลสกามด้วยสื่อต่างๆ ช่วยให้หรือยั่วยุให้จิตใจหลงยินดีพอใจยึดติด และอาลัย ในกามคุณทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง ความหมายของความประมาทก็คือ ความเลินเล่อ มัวเมา ปล่อยสติ คือความขาดสติไปในกามคุณและในอบายมุขต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นี่คือความหมายของความประมาท ขาดสติในทางเสื่อม

อีกประการหนึ่ง ความประมาทขาดสติในทางเจริญ พระอรรถกถาจารย์ ได้แสดงความหมายว่า ได้แก่ การไม่ทำอย่างจริงจัง ไม่ทำอย่างต่อเนื่อง   ทำๆ หยุดๆ   ประพฤติย่อหย่อน   หมดความพอใจ   หมดความพากเพียรพยายามที่จะทำคุณความดี หรือว่าทำไปได้หน่อยหนึ่ง ก็เกิดเบื่อหน่าย  ทอดทิ้งธุระในคุณความดีนั้นเสีย   เป็นผู้ที่ไม่มีความมั่นคง   ไม่ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดี ไม่ประกอบเนืองๆ  ไม่ประพฤติปฏิบัติ   ไม่กระทำให้เจริญและไม่กระทำให้มากในการกุศล   ได้แก่  การประกอบคุณความดี มีทานกุศล  ศีลกุศลและภาวนากุศล  เป็นต้น นี่กล่าวอย่างธรรมดา    กล่าวอย่างละเอียดต่อไปก็คือว่า  ไม่ทำจริงจัง  ไม่ประพฤติปฏิบัติ กระทำให้เกิดมี  ให้เจริญขึ้น  ทำให้มากขึ้น  ในการสำรวมอินทรีย์  สำรวมในศีล  ในความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค  และการประกอบเนืองๆ ในความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ทุกขณะ

นี่กล่าวถึงข้อปฏิบัติชั้นสูงที่ละเอียดประณีตขึ้นไปว่า  ผู้ที่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะนั้น  ในเรื่องของความเจริญในชั้นสูงนั้น  ก็ได้แก่ ความไม่กระทำจริงจัง  ไม่กระทำต่อเนื่อง  ไม่ประกอบเนืองๆ ไม่ประพฤติปฏิบัติให้เกิดมี  ให้เจริญและทำให้มาก  ในทานกุศล  ศีลกุศล  ภาวนากุศล  ที่ลึกซึ้งลงไป  ละเอียดลงไปถึง  ความสำรวมในศีล  และอินทรีย์ ถึงความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค และการประกอบเนืองๆ ในความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ทุกขณะ ที่จะประกอบคุณความดี ให้สูงขึ้นไป  เป็นศีลกุศล ภาวนากุศล ไปจนถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง

ทีนี้ เมื่อกล่าวมาถึงความหมายของความประมาทดังนี้แล้ว   เรามาดูผลของความประมาทขาดสติสัมปชัญญะอย่างนั้นบ้างว่า  ผู้ที่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิตนั้น ย่อมดำเนินไปหรือเป็นเพื่อความเกิดขึ้น เจริญขึ้นแห่งบาปอกุศล  คือความชั่วพอกพูนมากหนักขึ้นไปตามลำดับ   นี่ประการที่หนึ่ง 

ประการที่สอง  ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งบุญกุศลคือคุณความดี  คือว่าคุณความดีที่เคยมีอยู่ก็เสื่อม   ที่ยังไม่มีก็ไม่เกิดขึ้นใหม่  รวมเรียกว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งกุศลคุณความดี   เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อัปมงคล   เพราะว่าเป็นเหตุให้ถึงบาปอกุศล ถึงความเสื่อม ความตกต่ำแห่งชีวิต  ความไม่เจริญแห่งชีวิต   จึงได้ชื่อว่า ตายไปจากคุณความดี   และไม่ได้ที่พึ่งประเสริฐ คือจะถึงซึ่งความทุกข์เดือดร้อนต่อๆ ไป  ไม่มีที่สิ้นสุด    เพราะเหตุไร ?  เพราะเหตุว่า ในโลกนี้ เป็นสัจธรรมเลยทีเดียวว่า  ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารให้เป็นที่พึ่ง   เป็นที่อาศัยแก่ชีวิตของสัตว์โลก ที่เที่ยงแท้ถาวรอย่างแท้จริงได้เลย  เพราะว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีวิญญาณครอง   มีชีวิตมีวิญญาณครอง อย่างเช่นมนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย   และทั้งไม่มีวิญญาณ  ได้แก่ ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข หรือทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ    ล้วนตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา   คือว่า มีความเกิดขึ้นและก็ต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย ใครเข้ายึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาและทิฏฐิ   คือความหลงผิด  คือว่าเป็นตัวตน บุคคล เราเขา ของเขา ของเรา แล้วเป็นทุกข์ เพราะว่าถึงในที่สุดแล้ว ความแปรปรวน  แห่งสรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น  ก็จะนำไปสู่ ความแตกสลายหมดสภาพเดิมของมันไป  ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริงของใครๆ เลย   แม้แต่ตัวเราที่กำลังนั่ง  กำลังเดินอยู่   หรือแม้แต่กำลังนอนอยู่ในสภาวะใดก็ตาม  ก็ไม่สามารถจะรักษาตนหรือเอาตนเป็นที่พึ่งได้ตลอดไป จึงนับว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนแต่ไม่มีแก่นสารสาระให้เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของใครผู้ใดเลย   ผู้ประมาทจึงชื่อว่า  เป็นผู้ที่ไม่ได้ที่พึ่งอันประเสริฐ    เพราะเขาตายไปจากคุณความดี   ก็จะถึงซึ่งความทุกข์เดือดร้อนต่อๆ ไป  ไม่มีที่สิ้นสุด 

ผลอย่างนี้   อาตมาจะขอยกตัวอย่าง  พอให้เห็นชัดๆ ว่า   เมื่อในราวๆ ต้นๆ เดือนนี้ มีข่าวว่า   ชายผู้หนึ่งในจังหวัดอยุธยา  มีอาชีพขับรถตุ๊กๆ   วันหนึ่งเขาก็ขับรถตุ๊กๆ นี้ไปส่งภรรยาและเพื่อนไปจ่ายตลาด   ด้วยความประมาทขาดสตินั่นแหละ   ขับรถย้อนศร  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสวนทางจราจร   ก็มีผลต่อไปว่า   รถบรรทุกวิ่งหรือแล่นมาด้วยความเร็วก็เบรคไม่ทัน   ก็ชนรถตุ๊กๆ นั้น  ตายกันทั้งผู้ขับและผู้นั่งอยู่  คือทั้งสองสามีภรรยา   ส่วนเพื่อนที่ติดรถไปด้วยนั้นก็อาการสาหัส   นี้เราเห็นชัดเจนว่า  เหมือนกับการดำเนินชีวิตว่า   ถ้าใครประมาทขาดสติสัมปชัญญะ   ไม่รู้ทางเจริญทางเสื่อม หรือรู้   แต่ฝืนดำเนินไปในทางเสื่อม  ไม่ไปในทางที่ดี    สักวันหนึ่งก็จะถึงซึ่งความวิบัติฉิบหายเป็นความทุกข์เดือดร้อน   เหมือนกับคนขับรถตุ๊กๆ  อย่างนั้นแหละ  นี้เป็นตัวอย่างที่หนึ่ง

ตัวอย่างที่สอง   เหมือนอย่างเยาวชนหรือนักเรียนทั้งหลาย   มีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษาเล่าเรียน  เพื่อที่จะสร้างความรู้ความสามารถให้แก่ตน  ในการศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จเป็นขั้นๆ ไป   กลับไปหลงติดอยู่ในอบายมุข   ไปติดตามเพื่อน   ไปหลงเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท   ติดเที่ยวกลางคืน   หมกมุ่นในกิเลสกามต่างๆ  เหล่านี้เป็นต้น   การเรียนก็ไม่ได้ผล    เมื่อการเรียนไม่ได้ผล   ความรู้ก็ไม่มี   เมื่อความรู้ไม่มี   ความสามารถก็ไม่มา  ปัญญาก็ไม่เกิด   ไม่มีทั้งความรู้   ไม่มีทั้งความสามารถ   และไม่มีทั้งปัญญา   และยังขาดคุณธรรมอีก    ชีวิตจะเป็นอย่างไร  ท่านนั่งพิจารณาดูก็แล้วกัน 

เพราะฉะนั้น   นักเรียนและเยาวชนทั้งหลายจงอย่าประมาทขาดสติสัมปชัญญะ   ในการที่จะดำเนินชีวิตไปในทางเจริญ  และในทางที่จะงดเว้น   หรือละเว้นการดำเนินชีวิตไปในทางเสื่อม   นี่แหละ  อาตมภาพของเจริญพรให้ทราบเป็นตัวอย่างที่ 2

ส่วนตัวอย่างที่ 3   ประชาชนโดยทั่วไปก็ประมาทขาดสติในบางครั้ง   เช่นในกรณีการเลือกตั้ง   ไม่พิจารณาบุคคล  แล้วก็เลือกบุคคลที่มีคุณความดีอย่างที่จริง   อาจจะไปหลงอามิสสินจ้าง  หรือว่าอะไร   หรือว่าหลงรักเป็นส่วนตัว  โดยไม่คำนึงถึงว่าเขาจะเป็นคนดีหรือเขาจะเป็นคนชั่ว   เมื่อขาดสติสัมปชัญญะ   หย่อนบัตรเลือกตั้งไปเลือกเอาคนที่ไม่ดี  แต่เป็นคนที่ตนพอใจ เข้ามาเป็นผู้แทน หรือ ส.ส. แทนตน   แล้วก็มาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารบ้าง   ทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติบ้าง  ซึ่งจะมีผลต่อความเจริญรุ่งเรืองสันติสุข  หรือความเสื่อมเป็นโทษ   เป็นความทุกข์เดือดร้อน  แก่ประชาชนส่วนใหญ่  ก็หลงขาดสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณาว่า   จะเอาคนดีๆ แท้ๆ   หรือจะเอาคนที่เราชอบหรือหลงเพียงลาภสักการะเล็กน้อย  เมื่อขาดสติสัมปชัญญะไม่รู้ทางเจริญทางเสื่อม   ไปหย่อนบัตรให้กับบุคคลไม่ดีจริงๆ  เข้ามาทำหน้าที่ในสภา  หรือเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน  แทนเราแล้ว    ความเสื่อมหรือโทษ ความทุกข์เดือดร้อน ก็จะเกิดแก่ประชาชนสาธุชนส่วนใหญ่หมดทั้งประเทศ     นี่กล่าวถึงความประมาทขาดสติสัมปชัญญะแล้วเกิดโทษอย่างนี้

อีกอย่างหนึ่ง  กล่าวสูงขึ้นไป   สมณะชีพราหมณ์  ถ้าว่าประมาทขาดสติสัมปชัญญะ   คือขาดศีลสังวร  ความสังวรในศีล  ขาดอินทรีย์สังวร  คือความสังวรในอินทรีย์ทั้งหลาย   คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   เมื่อกระทบหรือสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย    ก็หลงสยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก  น่ายินดี  หรือหลงเคียดแค้นชิงชังในอารมณ์ที่ไม่น่ารัก  ไม่น่ายินดี ก็แปลว่าขาดสติสัมปชัญญะ  นำตนไปสู่ความทุกข์เดือดร้อน  เสื่อมจากคุณความดี   ตายจากคุณความดี   ไม่ได้ที่พึ่งประเสริฐ  และจะถึงซึ่งความทุกข์ต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด   นี่คือผลของความประมาท

ทีนี้  เหตุของความประมาทเพราะอะไร   เพราะขาดศีล   เมื่อไม่ดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์แห่งศีล   ไม่สังวรในศีล  ก็พลอยให้ขาดสติสัมปชัญญะ   ไม่สังวรในอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   เมื่อได้สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย กิเลสก็ฟุ้ง  เพราะต้องสยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก  มักเคียดแค้นชิงชังในอารมณ์ที่ไม่น่ารัก   สมาธิก็ไม่เกิด  จิตใจก็ไม่สงบ  ปัญญาก็ไม่เกิด   เมื่อขาดทั้งศีล  สมาธิ  ปัญญา  และสติไปด้วยกันอย่างนั้นแล้ว     ก็เป็นอันหวังได้ว่า  ชีวิตของท่านมีแต่ตกต่ำ ไม่มีความเจริญเป็นอัปมงคล   ดังนี้

ทีนี้  เมื่อเข้าใจทางฝ่ายความประมาท   แล้วก็มาทำความเข้าใจในความไม่ประมาท สืบต่อไป 

ความไม่ประมาทนั้นก็เป็นข้อปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับความประมาทนั้นเอง    คือการรู้จักดำเนินชีวิต หรือดำเนินความเป็นอยู่แห่งชีวิต ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ   ด้วยปัญญาเห็นชอบ   ซึ่งเกิดจากอะไร   เกิดจากการอบรมศีล  ให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์  กายวาจาสงบ แล้วก็ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ทางเจริญทางเสื่อม   แล้วอบรมจิตใจให้เกิดสมาธิอยู่บ่อยๆ เนืองๆ  กำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญาออกจากจิตใจ  ปัญญาก็เกิด    เมื่อปัญญาเกิดชัดเจนในทางเจริญ  ทางเสื่อม บาป บุญ คุณโทษ ตามที่เป็นจริง   ก็มีสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิตไปสู่แต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข   ไม่เป็นไปในทางเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน   จึงชื่อว่าเป็นมงคล   เพราะเป็นเหตุให้บรรลุถึงบุญกุศล คุณความดี   ตั้งแต่ระดับโลกิยะ คือคุณความดีที่จะให้ผลเป็นความสุขความเจริญในระดับโลกๆ และสูงยิ่งๆ ขึ้นไปถึงโลกุตตระคือความประพฤติปฏิบัติที่เห็นแจ้งในทุกข์อย่างแท้จริง  เห็นแจ้งในเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง  เห็นแจ้งในหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์  ตามแนวทางพระพุทธศาสนา  ตามที่เป็นจริง   ก็เป็นอันว่าสามารถที่จะบรรลุถึงคุณความดี ในระดับโลกุตตระคือพ้นโลก คือมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข  และก็เป็นอมตธรรม อมตธรรมคือ เป็นธรรมที่ไม่ตาย    สมดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมไว้ ในที่อเนกสถานว่า

อปฺปมาโท อมตํปทํ       ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ       เย ปมตฺตา ตถา มตา.

ความไม่ประมาทเป็นทางที่ไม่ตาย  คือเป็นทางให้ถึงอมตธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน ที่ไม่ตาย   ที่เป็นบรมสุข ที่เป็นสภาวะที่พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง    ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ คือความตาย  คือตายจากคุณความดี แล้วก็ต้องติดวนอยู่ในไตรวัฏฏะ คือ กิเลสวัฏฏะ กัมมวัฏฏะ วิปากวัฏฏะ  ได้แก่ความมีกิเลส แล้วก็สร้างกรรมชั่วทางกาย ทางวาจา และใจ และได้รับผลกรรมนั้น เป็นความทุกข์เดือดร้อน และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด นี่แหละที่พระพุทธองค์ตรัสว่า  ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ คือเป็นทางแห่งความตาย    บุคคลผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าย่อมไม่ตาย เพราะว่าเขาดำรงอยู่แต่ในคุณความดี  ย่อมจะมีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต  ตั้งแต่ระดับโลกๆ ไปถึงพ้นโลก  คือถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ที่เป็นบรมสุข ที่ชื่อว่า อมตธรรม นั้นนั่นเอง

ส่วนผู้ประมาทย่อมเป็นเหมือนคนที่ตายแล้ว   ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นนั่นแหละว่า   นำตนไปสู่ความเสื่อม  เป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีที่สิ้นสุด   ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น   จึงขอสรุปความตามพระพุทธพจน์ที่แสดงคุณของความไม่ประมาท  และโทษของความประมาทอีกครั้งหนึ่งว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ คือเป็นทางที่ไม่ตาย    ส่วนความประมาท เป็นทางแห่งมัจจุคือความตาย บุคคลผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย  ผู้ประมาทย่อมเป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว

ที่นี้มากล่าวถึง ผลของความไม่ประมาทที่จะให้ได้รับผล   ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วนั้นว่า ผู้ไม่ประมาทย่อมดำเนินชีวิตไปเพื่อความเกิดขึ้น ความเจริญขึ้นแห่งบุญกุศลคือคุณความดี  และย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมไปคือความไม่เกิดขึ้นใหม่หรือที่มีอยู่แล้วก็หมดสิ้นไปซึ่งบาปอกุศล    พูดชัดๆ อีกครั้งหนึ่งว่า ผลของความไม่ประมาท ข้อที่ 1 ก็คือว่า เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้น เจริญขึ้นแห่งบุญกุศลคุณความดี    ส่วนข้อที่ 2 ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งบาปอกุศล คือบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเสื่อมสิ้นหมดไป ที่ใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น   เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ประมาท จึงเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแต่ฝ่ายเดียว   ชื่อว่า เป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุดในชีวิต  เพราะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข 

สุดท้ายนี้   อาตมภาพอำนวยพรให้ญาติโยมสาธุชน   จงประกอบตน  ดำเนินชีวิตตนไปด้วยความไม่ประมาท  ด้วยความไม่ขาดสติสัมปชัญญะ  ให้ถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรือง  และสันติสุขตลอดไป   …เจริญพร


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2539

แชร์เลย

Comments

comments

Share: