หาบุญได้ใช้บุญเป็น 1

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน

สำหรับวันนี้ อาตมภาพ จะได้บรรยายธรรมเรื่อง “หาบุญได้ ใช้บุญเป็น” ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด  จนฺทสโร)  ได้เคยแนะนำสั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้รู้จักหาบุญได้ และใช้บุญเป็น ตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  โดยเนื้อความย่อว่า บุญนั้นแหละคือที่พึ่งของสัตว์โลก กล่าวคือ มนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลายจะอยู่ดีมีสุขก็ด้วยบุญกุศล    จะทุกข์ยากเดือดร้อนก็ด้วยบาปอกุศล  ที่ตนได้เคยกระทำไว้       เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงพึงรู้จักหาบุญได้ และรู้จักใช้บุญเป็น   เพราะบุญอันบุคคลได้บำเพ็ญและสั่งสมไว้ดีแล้ว ย่อมให้ผลเป็นความสำเร็จ เป็นความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขในชีวิต     สมดังพระพุทธภาษิตมีมาในขุททกนิกาย ธรรมบท (ขุ.ธ. 25/19/30) ว่า

อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ
กตปุญฺโญ  อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ
ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธิมตฺตโน.

ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมบันเทิง ชื่อว่า ย่อมบันเทิงในโลกทั้ง 2 เขาเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงปราโมทย์

และตรัส (ขุ.ธ.25/19/30)  อีกว่า

สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย.
การสั่งสมบุญ นำมาซึ่งความสุข

แม้เมื่อถึงคราวคับขัน อย่างเช่น ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังเช่นในทุกวันนี้   ผู้รู้จักหาบุญได้ รู้จักสั่งสมบุญไว้ และรู้จักใช้บุญเป็น   ถึงจะได้รับความกระทบกระเทือนบ้าง ก็เป็นส่วนน้อย    แม้จะตกต่ำบ้างก็ชั่วคราว ด้วยอำนาจกุศลผลบุญเขาย่อมสามารถจะกลับตั้งตัวได้คืนภายในระยะเวลาไม่นาน   ดังสุภาษิตโบราณท่านว่า

“ถ้าบุญมา  ปัญญาช่วย  คนป่วยก็หาย  คนหน่ายก็รัก
หากบุญไม่มา ปัญญาก็ไม่ช่วยคนป่วยก็หนัก    คนรักก็หน่าย”

ทีนี้เราลองมาพิจารณาว่า ที่ชื่อว่า “บุญ” นั้น คืออะไร ?   ทำอย่างไรจึงจะได้บุญ ?   และจะใช้บุญอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองได้ ?

คำว่า “บุญ” นั้น หมายถึง กุศลธรรม คือ คุณความดี กล่าวคือ  ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ   เป็นคุณเครื่องชำระจิตตสันดาน* ฝ่ายชั่วหรือฝ่ายบาปอกุศลให้กลับบริสุทธิ์ ผ่องใส และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น  ได้ถึงความสำเร็จในชีวิต และได้ถึงความเจริญสันติสุข ทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

“บุญ” จึงมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับ “บาป หรือ อกุศลธรรม”  คือ ความชั่ว กล่าวคือ ความประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดี ที่ไม่ชอบธรรม หรือที่เป็นความทุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจ   เป็นเครื่องทำจิตใจให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเช่นนั้น  ถึงความเสื่อมและความล้มเหลวในชีวิต และให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เพราะฉะนั้น การรู้จักหาบุญได้ ใช้บุญเป็น ก็คือ

(1) การรู้จักดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงานและการอาชีพ ด้วยสติและปัญญาอันเห็นชอบ รอบรู้ทางเจริญ-ทางเสื่อม ตามที่เป็นจริง

(2) แล้วเลือกประพฤติปฏิบัติตนอยู่แต่ในบุญกุศลคุณความดี  และไม่หลงสติประพฤติปฏิบัติไปในทางชั่วหรือบาปอกุศล อันจะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมเป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อนนั้น   
นั่นแหละ จึงจะนำชีวิตตนไปสู่ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขอย่างมั่นคงได้

(3) แล้วหมั่นระลึกนึกถึง บุญกุศลคุณความดีที่เราได้เคยกระทำบำเพ็ญมาแล้วอยู่เสมอ  ย่อมได้รับความปีติ อิ่มเอิบในบุญกุศล   ย่อมเห็นผลจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยตนเอง และมั่นใจได้ว่าทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีในชีวิตแน่นอน แล้ว

(4) หมั่นเพิ่มพูนบุญกุศลคุณความดี ให้แก่กล้าขึ้นเป็นบารมี  เป็นอุปบารมี และปรมัตถบารมี ดังนี้แล้ว

(5) บุญบารมีย่อมส่งผลเป็นเสบียงเลี้ยงตัว ให้ได้รับความเจริญและสันติสุข ด้วยมนุษย์-สมบัติสวรรค์สมบัติยิ่งๆขึ้นไป  และต่อๆไปถึงนิพพานสมบัติ  ไม่มีตกต่ำตราบเท่าเข้าสู่ปรินิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุขอันถาวร นั่นเอง

ทางเจริญแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ก็คือ ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นบุญกุศล ทางกาย ทางวาจา และทางใจ  รวมเรียกว่า กรรมดีต่างๆ  ได้แก่

(1) การละเว้นจากความประพฤติชั่ว หรือทุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ชื่อว่า “กุศลกรรมบถ”  ได้แก่ เว้นจากการเจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต 1  เว้นจากการลักฉ้อคดโกงเอาของที่เขามิได้ให้ 1  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม 1  เว้นจากการพูดเท็จ 1  เว้นจากการพูดยุแยกให้เขาแตกสามัคคีกัน 1  เว้นจากการพูดจาหยาบคาย 1  เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ 1  ความไม่โลภ 1  ไม่คิดพยาบาทปองร้ายเขา 1  และมีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม 1  รวมเป็น 10 ข้อด้วยกัน ถ้าจะให้ดีเลิศขึ้นไปอีกก็คือ ทั้งประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง 1  ทั้งชักนำให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติด้วย 1  และทั้งพลอยยินดีที่ผู้อื่นปฏิบัติอีกด้วย 1  รวมเป็นกุศลกรรมบถ 30 อย่างนี้ ก็จัดเป็นกรรมดี 3 ชั้น อันจะได้รับผลจากกรรมดีหลายเท่า กล่าวคือ ผู้ประกอบกรรมดีเช่นนี้ ย่อมได้รับผลจากกรรมดีเฉพาะตนโดยตรง 1  ช่วยให้ผู้อื่นได้รับผลจากกรรมดีที่เขาประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามที่เราชักนำ 1  และย่อมมีผลให้ผู้ประกอบกรรมดีเช่นนี้ มีบริษัทบริวารพวกพ้องญาติมิตรสหายที่เป็นบุคคลดีโดยมาก 1 

การเว้นจากกรรมชั่วหรือบาปอกุศลทางกาย และทางวาจา 2 อย่างนี้ กระทำได้ด้วยการรักษาศีล ด้วยการละเว้นอบายมุข ด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ คือ การประกอบอาชีพโดยชอบ ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ และด้วยการขวนขวายช่วยเหลือการบุญการกุศลต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ รวมเรียกว่า “สีลมัย”  แปลความว่า บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ผู้มีปัญญาพึงศึกษาทำความเข้าใจทั้งหลักธรรม และปฏิบัติพระสัทธรรม อบรมความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ของตน ให้ถึงความหมดจดแห่งศีล คือ ให้เป็นแต่การกล่าววาจาชอบ การทำกิจการงานชอบ และการประกอบอาชีพชอบ อันจักเป็นพื้นฐานแห่งคุณความดีที่ยิ่งขึ้นไป เป็นความหมดจดแห่งจิตและความหมดจดแห่งปัญญา อันจะให้ผลเป็นความพ้นทุกข์ และถึงความสุขที่ถาวรยิ่งๆ ขึ้นไป ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ 

ผลของการประกอบกรรมดี ด้วยการงดเว้นความประพฤติปฏิบัติที่เป็นความชั่ว หรือ ทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจเหล่านี้ ย่อมมีผลให้เป็นผู้ปราศจากเวรภัยหรือความทุกข์เดือดร้อนในการดำเนินชีวิต  อันช่วยให้การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพโดยชอบประสบความสำเร็จ นำความเจริญและสันติสุขมาสู่ตนได้โดยสะดวกและรวดเร็ว แม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตให้การประกอบการงานอาชีพติดขัดหรือตกต่ำไปบ้าง ก็สามารถจะหาทางแก้ไขให้กลับฟื้นคืนดีได้ ต่อกาลไม่นานนัก

การงดเว้นความชั่วหรือบาปอกุศลด้วยการรักษาศีลอย่างนี้จึงเป็นทางเจริญแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงประการที่ 1 อันวิญญูชนคนมีปัญญาถือปฏิบัติดำเนินชีวิตตนไปจนตลอดชีวิต

2. การประกอบแต่กรรมดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เป็นตรงกันข้ามกับกรรมชั่ว เหล่านั้นนั่นเอง ได้แก่ ความเป็นผู้มีเมตตากรุณาธรรม  คือมีความรักปรารถนาดีต่อผู้อื่น ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และมีความสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ผู้มีทุกข์ก็ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ 1 รู้จักให้หรือเสียสละความสุขส่วนตน เสียสละกำลังกาย สติปัญญา และกำลังทรัพย์ ช่วยเหลือผู้อื่นหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ 1  ความเป็นผู้มีความสันโดษในคู่ครองของตน มีความสำรวมในกาม ไม่หมกมุ่นหรือสำส่อนในกาม 1  มีสัจจะ มีความจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น 1  เป็นผู้ไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะระลึกทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงได้ 1   5 ข้อนี้ ชื่อว่า เบญจกัลยาณธรรม คือ ความดี 5 อย่าง ที่พึงประพฤติปฏิบัติควบคู่กันไปกับการรักษาศีล

ในคุณความดีทั้ง 5 อย่างนี้ การให้หรือการเสียสละ จัดเป็นบุญกุศลความดีหลักขั้นพื้นฐานสำคัญของชีวิต ที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ชีวิตเป็นอย่างมาก ชื่อว่า “ทานมัย” บุญสำเร็จด้วยการให้  ซึ่งรวมทั้งการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น และการอนุโมทนาบุญอีกด้วย  อนึ่งการให้หรือการเสียสละนี้ ยังแบ่งออกเป็น 2 คือ ให้วัตถุสิ่งของ ได้แก่ การให้ปัจจัย 4 การให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น  นี้ชื่อว่า “อามิสทาน” นี้อย่าง 1  กับการให้ธรรมเป็นทาน ชื่อว่า “ธรรมทาน” นี้อีกอย่าง 1  ซึ่งรวมความถึง การให้ชีวิตเป็นทาน และการให้อภัยแก่กันและกันอีกด้วย

อามิสทาน คือ การให้หรือการบริจาควัตถุสิ่งของ ได้แก่ ปัจจัย 4 และเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นต้น  มีหลักสำคัญพึงทราบว่า วัตถุทานที่ให้นั้นเป็นของบริสุทธิ์ 1  ผู้ให้ คือ ทายกทายิกามีความบริสุทธิ์ 1  ผู้รับคือปฏิคาหกเป็นผู้บริสุทธิ์ 1  เพียงไร  ทานกุศลนั้นย่อมมีผลานิสงส์มากเพียงนั้น  คือคุณความดีด้วยการบริจาคทานนั้นให้ผลเป็นความสุขความเจริญแก่ผู้ให้ หรือบริจาคทานนั้น มากเพียงนั้น

ความข้อนี้ มีอุปมาดั่งว่า การเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม้ ถ้าได้เพาะปลูกพันธุ์พืชหรือไม้ที่ดี คือ พันธุ์ดี เมล็ดสมบูรณ์ ไม่เน่าหรือถูกแมลงถูกหนอนชอนไช 1  ผู้เพาะปลูกมีปัญญารอบรู้วิธีการเพาะปลูกดี และดูแลบำรุงรักษาดี 1  พื้นดินที่เพาะปลูกเป็นพื้นดินอันอุดมด้วยปุ๋ยและแร่ธาตุที่ดี ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศที่ดี 1  เป็นอันเชื่อได้ว่า การเพาะปลูกพืชพันธุ์นั้นย่อมได้ผลดี คือ ให้ผลิตผลสูง ฉันใด  การประกอบทานกุศลอันประกอบด้วยวัตถุทานที่บริสุทธิ์ 1  ผู้ให้ คือ ทายกทายิกา เป็นผู้บริสุทธิ์ 1  ผู้รับ คือ ปฏิคาหก เป็นผู้บริสุทธิ์ 1  ทานกุศลนั้น ย่อมมีผลานิสงส์มาก ฉันนั้น  อธิบายว่า

วัตถุทานที่ให้เป็นของบริสุทธิ์นั้น กล่าวโดยความหมายว่า เป็นวัตถุหรือทรัพย์สิ่งของที่ให้หรือบริจาคเป็นทานนั้น เป็นของที่เจ้าของได้มาโดยวิธีการอันชอบธรรม ได้แก่ เป็นทรัพย์มรดกที่ได้รับในฐานะทายาทโดยธรรม และ/หรือ เป็นทรัพย์สิ่งของที่ได้จากการประกอบกิจการงาน หรือการอาชีพโดยชอบ ไม่ใช่เป็นทรัพย์ของที่ได้มาโดยการทุจริต คดโกงเขามา เป็นต้น นี้ประการ 1  และวัตถุสิ่งของที่บริจาคให้เป็นทานนั้น เป็นสิ่งของที่ดี มีคุณประโยชน์ เช่น สิ่งจำเป็นแก่การครองชีพ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มียานพาหนะ เป็นต้น มิใช่สิ่งของที่เป็นโทษ เป็นพิษ เป็นภัย เช่น ยาพิษ หรือสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นต้น นี้อีกประการ 1  นี้ชื่อว่าวัตถุทานที่ให้เป็นของบริสุทธิ์

บุคคลผู้ให้ คือ ทายกทายิกาเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นคือ เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ และเจตนา กล่าวคือ เป็นคนดี มีศีล มีธรรม มีความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ประกอบอาชีพชอบ มีกิจการงานที่สะอาด มีความศรัทธาเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ รู้จักบาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง และเชื่อเรื่องกรรมดี กรรมชั่ว และรู้และเชื่อเรื่องผลของกรรมดี กรรมชั่ว นี้ประการ 1  ผู้ให้หรือบริจาคทานนั้น มีเจตนาในการบริจาค หรือในการให้ที่บริสุทธิ์ คือ ให้โดยเจตนาอนุเคราะห์แก่ผู้มีความทุกข์ยาก ขาดแคลน ด้วยความปรารถนาที่จะให้เขาพ้นทุกข์ หรือให้โดยเจตนาอนุเคราะห์ผู้ที่กำลังศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อความบรรลุอริยมรรค อริยผล และพระนิพพาน และเพื่อสงเคราะห์การให้การศึกษา อบรม และเผยแผ่ พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น นี้ประการ 1  และผู้ให้หรือบริจาคทานนั้น ก็มีเจตนาบริสุทธิ์ กล่าวคือ มีความเลื่อมใสศรัทธาในทานกุศลนั้น และยินดีในทักษิณา คือ ในการบริจาคทานนั้น ทั้งใน 3 กาล  คือ ก่อนแต่จะให้ก็มีความศรัทธาและยินดี ขณะให้ก็มีความศรัทธายินดี ภายหลังแต่ที่ได้ให้หรือบริจาคแล้ว ก็ยังมีความเลื่อมใสศรัทธา ยินดี นี้อีกประการ 1  บุคคลผู้เช่นนี้ ชื่อว่า ผู้ให้เป็นผู้บริสุทธิ์

ผู้รับ คือ ปฏิคาหกเป็นผู้บริสุทธิ์ นั้นคือ

เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ และทิฏฐิคือความเห็น กล่าวคือ เป็นผู้มีศีล มีธรรม มีความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ และเจตนาความคิดอ่านที่ดี ที่ชอบ กอรปด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ คือ มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ผู้รู้และเชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรม ผู้มีไตรสรณคมน์ คือ ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า เป็นที่พึ่ง ผู้ทั้งศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม เพื่อถึงอริยมรรค อริยผล และเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง และทั้งเผยแผ่พระสัทธรรมอันตนได้ศึกษาและปฏิบัติได้ผลดี ตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติแล้ว แก่ผู้อื่น จนถึงพระอริยสงฆ์ คือ พระอริยบุคคล 8 มีพระอริยเจ้าผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นเบื้องต้น และพระอริยเจ้าผู้บรรลุพระอรหัตผลเป็นเบื้องปลาย สูงสุดถึงพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ เหล่านี้เป็นต้น ชื่อว่า ผู้รับ คือ ปฏิคาหกเป็นผู้บริสุทธิ์

ทานกุศล คือ คุณความดีด้วยการบริจาคทาน หรือทักษิณา คือ การบริจาคทาน โดยบริสุทธิ์ทั้ง 3 ฝ่าย คือ วัตถุทานเป็นของบริสุทธิ์ 1  ผู้ให้ คือ ทายกทายิกา เป็นผู้บริสุทธิ์ 1  ผู้รับ คือ  ปฏิคาหก เป็นผู้บริสุทธิ์ 1  เพียงใด  ทักษิณา คือ การบริจาคทานนั้นมีผลมาก เพียงนั้น คือ ให้ผลเป็นความสุขความเจริญด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และถึงนิพพานสมบัติ ได้มากเพียงนั้น

กล่าวแต่เฉพาะที่ให้ผลเป็นความสุขความเจริญ ด้วยมนุษย์สมบัตินั้น ได้แก่ ให้เป็นผู้เจริญด้วย อายุ คือ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน  วรรณะ คือ ย่อมเป็นผู้มีเกียรติยศชื่อเสียงมาก  สุขะ คือ มีความสุขกาย สุขใจ จากทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติมาก  พละ คือ มีพลานามัยดี มีโรคาพาธน้อย  ปฏิภาณ คือ มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ ความสามารถมาก  ธนสารสมบัติ คือ มีโภคทรัพย์มาก และมีความสุขความเจริญตลอดทั้ง 3 กาล คือ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ถึงวัยกลางคน และตลอดถึงวัยชรา ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตร (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ 14/ข้อ 719/วรรค 3-5)  ว่า

“ผู้ใดทุศีล  ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม  มีจิตไม่เลื่อมใส   ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง  ให้ทานในคนทุศีล    เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์

ผู้ใดมีศีล   ได้ของเขาโดยธรรม   มีจิตเลื่อมใสดี   เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง   ให้ทานในคนมีศีล    เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว  ได้ของมาโดยธรรม   มีจิตเลื่อมใสดี   เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง  ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ   ทานของผู้นั้นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย”

อนึ่ง ธรรมทาน คือ การให้ธรรมเป็นทาน นั้นได้แก่ การแสดงธรรม และ/หรือ การเผยแผ่พระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันตนได้ศึกษาทั้งหลักปริยัติธรรม และทั้งปฏิบัติพระสัทธรรม อบรมกาย วาจา และใจ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ให้ได้รับผลหรือมีประสบการณ์ที่ดี ตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติแล้ว แก่ผู้อื่น   การให้การสนับสนุนอุปถัมภ์   การให้การศึกษาอบรมและการเผยแผ่ทั้งพระปริยัติสัทธรรมและปฏิบัติพระสัทธรรม ดังกล่าว   และทั้งเป็นผู้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติพระสัทธรรม เพื่อขจัดขัดเกลากิเลส ได้แก่ ความโลภ ตัณหาราคะ ความโกรธพยาบาทและความหลง อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ด้วยตนเอง   ดำรงตนเป็นคนดี มีศีลมีธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ชักนำผู้อื่นให้ละเว้นความชั่ว ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่แต่ในคุณความดี และยินดีที่ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติดี เช่นนั้น ตลอดทั้งการให้ชีวิตเป็นทาน และการรู้จักให้อภัยแก่กันและกัน ชื่อว่า “อภัยทาน” เป็นต้น   เหล่านี้ ชื่อว่า “ธรรมทาน” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสรรเสริญว่า เป็นเลิศกว่าทานใดๆ ดังบาลีพระพุทธภาษิต (ขุ.ธ.25/63) ว่า

“สพฺพทานํ  ธมฺมทานํ  ชินาติ”
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

เพราะธรรมทานเป็นคุณเครื่องขจัดขัดเกลากิเลสทั้งของตนเองและของผู้อื่นให้สิ้นไปเป็นประทีปส่องสว่าง คือ ปัญญาเครื่องรู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง นำตนไปสู่ความเจริญและสันติสุขได้จริง  สามารถให้ถึงมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขอันถาวรได้จริง  พระพุทธองค์จึงได้ทรงสรรเสริญธรรมทานว่า เป็นเลิศกว่าทานอื่นใดทั้งสิ้น

การประกอบแต่กรรมดี คือ ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ มีเมตตากรุณาธรรม และทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน รวมทั้งธรรมทาน และอภัยทาน จึงเป็นทางเจริญแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง อีกประการ 1  อันบัณฑิตผู้มีปัญญาถือประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตจนชั่วชีวิต

ผู้รู้จักหาบุญได้ และใช้บุญเป็น  ด้วยการรู้จักดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงานและอาชีพที่ดี ที่ชอบ กอปรด้วยศีลธรรม คือละเว้นความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยการรักษาศีล ชื่อว่า สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ด้วยการประกอบคุณความดีต่างๆ ตามพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้แก่ทานมัยบุญสำเร็จด้วยการบริจาคหรือให้ทานรวมทั้งธรรมทานและอภัยทาน ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดีและละเว้นความชั่วเอง ทั้งชักนำให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติด้วย และยินดีที่ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติดีละเว้นความชั่ว ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ แล้วหมั่นระลึกนึกถึงบุญกุศลคุณความดีที่ได้กระทำไปแล้ว ที่กำลังกระทำอยู่ และที่มุ่งจะกระทำต่อไป เพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่กล้าขึ้น เป็นบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ดังนี้แล้ว ย่อมเป็นที่มั่นใจได้ว่า บุญบารมีที่ได้สั่งสมมาดีแล้วเช่นนี้ ย่อมติดตามให้ผลเป็นเสบียงเลี้ยงตัว ให้มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีตกต่ำ และผลจากการเพิ่มพูนบารมีให้แก่กล้ายิ่งขึ้นเพียงใด ย่อมนำชีวิตตนเข้าสู่กระแสธรรม มุ่งตรงต่อมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร ได้เพียงนั้น

ตัวอย่างคนดีมีศีลมีธรรม ย่อมมีความสำเร็จในชีวิต มีความสุขความเจริญและความมั่นคงในชีวิต ดีกว่าคนชั่ว คนขาดศีล ขาดธรรม ก็มีให้รู้เห็นเป็นข่าวอยู่เป็นประจำว่า บุคคลดี มีศีล มีธรรม มีกิจการงานที่สะอาด ที่เรียกว่า “ใจซื่อ มือสะอาด” ย่อมได้รับการยกย่อง สรรเสริญ สนับสนุน จากคนดีมีปัญญา ส่วนคนไม่ดี คนไร้ศีลธรรม มีกิจการงานที่ไม่สะอาด คนหลงติดอยู่ในอบายมุข เป็นนักเลงผู้หญิง หรือเอาแต่หมกมุ่นสำส่อนในกาม เป็นนักเลงการพนัน ผู้เสพติด และผู้ผลิตผู้จำหน่ายยาเสพติดมึนเมา เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นต้นเหล่านี้ ย่อมได้รับการตำหนิติเตียนจากบัณฑิตผู้รู้ และยังอาจได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายของบ้างเมืองและหมู่ชนและ/หรือย่อมได้รับผลกรรมเป็นความล้มเหลวในชีวิตเสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ

เฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ในทุกวันนี้ หรือที่กำลังวิตกกังวลอยู่ว่า ตนอาจจะต้องได้รับผลกระทบต่อไปในภายหน้า ก็พึงพิจารณาความประพฤติปฏิบัติของตนมาแต่อดีต ถึงปัจจุบันว่า ได้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ประพฤติปฏิบัติตนอยู่แต่ในคุณความดี มีศีล มีธรรม ละเว้นความชั่ว ไม่เกลือกกลั้วอยู่กับอบายมุข อันเป็นปากทางแห่งความฉิบหาย เพียงไร หากพิจารณาเห็นว่าตนเองได้ประกอบบุญกุศล คุณงามความดีมาน้อย มีความประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีที่ไม่ชอบมามาก ก็พึงเร่งขวนขวายในการบุญการกุศล ได้แก่ ทานกุศล ศีลกุศล ละเว้นข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดี ที่ไม่ชอบเหล่านั้นเสีย และประพฤติปฏิบัติธรรมข้อที่จะยังตนให้ถึงความสำเร็จ ให้เกิดประโยชน์สุขในปัจจุบัน ดังที่อาตมภาพก็ได้เคยบรรยายธรรมข้อนี้มาแล้วหลายครั้ง ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ข้อปฏิบัตินั้น คือ อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร คือ ไม่เป็นคนเกียจคร้าน ไม่เป็นคนชอบแต่สำรวย สำราญ หยิบโหย่ง และไม่เป็นคนเลือกทำแต่งานที่สบาย  ในยามนี้ งานอะไรก็ได้ที่จะสามารถทำรายได้โดยสุจริต  สามารถยึดเอาเป็นอาชีพหลักไว้ก่อนได้ กับทั้งอาชีพเสริม ก็พึงรีบจัดทำ อย่ารั้งรอ นี้ประการ 1   อารักขสัมปทา  ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ให้รู้จักประหยัดและอดออมถนอมทรัพย์ เพิ่มพูนทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต ให้เจริญและมั่นคง และพึงระวังรักษาฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะหรือสภาวะของครอบครัวให้อบอุ่นและมั่นคง นี้ประการ 1  กัลยาณมิตตตา การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร 1  และสมชีวิตา การรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้ ตามสมควรแก่ฐานะ คือไม่ให้ฝืดเคืองนัก และก็ไม่ให้สุรุ่ยสุร่าย หรูหรา ฟุ่มเฟือย จนเกินฐานะนัก

ถ้าทำได้อย่างนี้ ชื่อว่า “รู้จักหาบุญได้ ใช้บุญเป็น”  ชีวิตจะไม่มีตกต่ำ แม้จะได้รับความกระทบกระเทือนจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำบ้าง ก็สามารถแก้ไขให้กลับฟื้นคืนดีได้ต่อกาลไม่นาน

ระยะนี้ก็เป็นระยะเวลาใกล้วันออกพรรษาซึ่งสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายต่างนิยมไปทำบุญตักบาตรเทโว ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ตามประเพณีแต่โบราณกาล เนื่องในโอกาสวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันถัดจากวันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลเข้าพรรษา และเป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยเสด็จไปทรงจำพรรษาและแสดงพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ในดาวดึงส์เทวโลก เป็นเวลา 3 เดือน แล้วเสด็จกลับจากเทวโลกมาสู่มนุษย์โลก โดยเสด็จลงทางบันใดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร เหนือกรุงสาวัตถี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนี้ จึงชื่อว่า “วันเทโวโรหณะ”  และเนื่องด้วยในวันนี้ เพราะพระพุทธานุภาพ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกทั้งหลายต่างปรากฏเห็นกันได้ชัด และแม้โทษกรรมกรณ์ในนรก มีไฟนรกเป็นต้นก็ระงับดับลงชั่วคราว พุทธบริษัทแต่โบราณจึงเรียกวันนี้ว่า “วันพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก” ครั้นวันรุ่งขึ้นในครั้งพุทธกาลนั้น สาธุชนพุทธบริษัทจึงพากันมาทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ผู้มาจากทุกทิศ เพื่อรอเฝ้ารับเสด็จ พระพุทธเจ้า  และได้ถือปฏิบัติสืบต่อมา เป็นประเพณีตักบาตรเทโวมาจนถึงปัจจุบันนี้

เฉพาะที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ก็ได้จัดพิธีตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายได้เข้าไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร ถวายพระภิกษุ สามเณร ในวันออกพรรษาซึ่งตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม นี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. จึงขอเชิญสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายทั้งใกล้และไกล ไปร่วมบำเพ็ญกุศลตักบาตรเทโวโรหณะ และปฏิบัติธรรม ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี อยู่ริมถนนสายบางแพ-ดำเนินสะดวก ตรง กม.ที่ 14 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของท่าน โดยทั่วหน้ากันด้วย

ผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม เพื่อเป็นประทีปส่องทางดำเนินชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญในชีวิต ขอเชิญเข้ารับการอบรมได้ทุกวันอาทิตย์ และทุกวันสำคัญทางศาสนา  เริ่มเวลา 09.30 น. และหลังทำวัตรเช้า-เย็นทุกวัน ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ถนนสายบางแพ-ดำเนินสะดวก ตรง กม.ที่ 14

ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน  เจริญพร.


พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 20 กันยายน 2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: