กนกวรรณราชชาดก

ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว กนกจิตฺเต นาม นคเร กนกวณฺโณ นาม ราชา กนกเทวิยา สทฺธึ ตสฺมึ รชฺชํ กาเรสิ ชมฺพูทีเป อิสฺสโร โหติ

ในกนกชาดกนี้มีความว่า วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในโรงธรรมสภา กล่าวสรรเสริญพระเดชพระคุณของสมเด็จพระบรมศาสดา ด้วยเรื่องภัตตทานการบริจาคภัตตาหาร

ขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จยังโรงธรรมสภา จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตทานนี้ได้เคยมีมาแล้วในกาลปางก่อน เมื่อครั้งพระเจ้ากนกวรรณราชเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครกนกวดี พระอัครมเหสีทรงพระนามว่า กนกเทวีราชกัญญา พระเจ้ากนกวรรณราชนั้น เป็นเอกราชทรงอิสรภาพเป็นใหญ่ในชมพูทวีป ปุโรหิตาจารย์ของพระเจ้ากนกวรรณราชนั้น เป็นผู้รอบรู้ศิลปศาสตร์ทั้งปวง

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากนกวรรณราชมีรับสั่งให้หาปุโรหิตาจารย์เข้าไปเฝ้า แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า ดูกรอาจารย์ในปีนี้ ความสุขจะมีมากหรือ หรือว่าความทุกข์จะมีมากอย่างไร ดาวฤกษ์ได้แสดงเหตุผลเป็นไฉน ท่านอาจารย์จงตรวจตราดูให้รู้เหตุ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า

พราหมณ์ปุโรหิตได้ฟังรับสั่งถาม ก็พิจารณาดูฤกษ์ยามตามตำราไสยเวท ก็แจ้งเหตุอันร้ายและดีในปีนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราช ข้าพระองค์พิจารณาตูตามคัมภีร์ไสยศาสตร เห็นว่าปีนี้จะมีความสุขมาก เหมือนเมื่อปีอันประกอบกฤตยุคมีทุกข์น้อย ราษฎรทั้งหลายจะมีความสุขสำราญ สรรสิ่งธัญญาหารในพระราชอาณาจักรจักบริบูรณ์อุดมดี ข้าแต่มหาราชเจ้า แต่ทว่าเมื่อถึงกำหนด นับแต่ปีนี้ไปอีกสิบปีล่วงแล้ว จะเกิดทุพภิกขภัยข้าวแพง ฝนจะแล้งถึงสิบสองปี แม้แต่หยาดวารีเดียวก็มิได้ตกในพระราชอาณาเขต พระพุทธเจ้าข้า

​พระเจ้ากนกวรรณราชได้ทรงสดับดังนั้น ก็มีพระหฤทัยอันหวั่นหวาดประดุจดังว่าถูกยิงด้วยลูกศร อันซึมชาบไปด้วยยาพิษ มีพระกมลจิตประกอบไปด้วยความทุกข์ โดยทรงพระปริวิตกว่าน่าสังเวชนัก นับแต่ปีนี้ไปอีกสิบปีจะมีอันตรายคือข้าวแพง เพราะฝนแล้งถึงสิบสองปี มหาชนเป็นอันมากจะพากันฉิบหายเสียแล้ว ชมพูทวีปจะว่างเปล่าจากมหาชน ถึงจะมีอยู่บ้างก็เบาบางไม่สมบูรณ์ เราจะทำประการใดดีหนอ ทุพภิกขภัยคือข้าวแพงเพราะฝนแล้ง จึงจะไม่มีในเบื้องหน้า เมื่อทรงสังเวชสลดพระทัย ถึงทุพภิกขภัยอันจะมีในเบื้องหน้า ดังนี้ จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายไปประชุมพร้อมกันหน้าพระลาน ตรัสเล่าความตามคำปุโรหิตาจารย์ทูลทำนาย แล้วมีพระราชดำรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ท่านทั้งปวงจงพากันไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น บอกกล่าวมหาชนทั้งหลายให้รู้ทั่วกันว่า นับแต่ปีนี้ไปอีกสิบปีล่วงแล้ว จะเกิดทุพภิกขภัยข้าวแพงเพราะฝนแล้งถึงสิบสองปี ให้มหาชนทั้งหลายพากันทำไร่ไถนา หว่านข้าวกล้าลงในลุ่มที่ดอนทั้งปวง เมื่อข้าวกล้ามีผลออกรวงแล้ว จงเก็บเกี่ยวบรรทุกไว้ในยุ้งฉางทุกบ้านทุกเรือน

อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็แยกกันเที่ยวบอกกล่าวป่าวร้องชาวชมพูทวีปให้รู้ทั่วกันตามมีรับสั่ง มหาชนทั้งหลายได้ฟังดังนั้นก็พากันทำไร่ไถนา เก็บข้าวเปลือกขึ้นบรรทุกไว้ในยุ้งฉางทุกบ้านทุกเรือน

ฝ่ายพระเจ้ากนกวรรณราชนั้น ครั้นทรงทราบว่า ชาวชมพูทวีปเก็บข้าวเปลือกไว้ตามยุ้งฉางเสร็จแล้ว จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายไปเที่ยวตรวจตรา ประมาณดูข้าวเปลือกของมนุษย์ทั้งหลาย ที่มีอยู่ในบ้านน้อยเมืองใหญ่และปัจจันตคามราชธานี ว่าจะมีอยู่ประมาณสักเท่าใด ครั้นอำมาตย์ทั้งหลายออกไปตรวจตราประมาณข้าวเปลือกแล้ว ก็กลับเข้ามากราบทูลให้ทรงทราบว่า ข้าวเปลือกทั้งสิ้นมีอยู่ประมาณเท่านั้น ๆ พระเจ้ากนกวรรณราชได้ทรงทราบประมาณข้าวเปลือกในชมพูทวีปทั้งสิ้นแล้ว ก็บริจาคพระราชทรัพย์ซื้อไว้เป็นของหลวง สำหรับได้แจกจ่ายในเวลาเมื่อเกิดทุพภิกขภัยตามสมควร

ครั้นถึงกำหนดสิบปีล่วงแล้ว ย่างเข้าปีที่สิบเอ็ด น้ำฝนมาตรทว่าหยาดหนึ่งก็มิได้ตกในชมพูทวีป มนุษย์ชาวเมืองทั้งหลายถูกทุพภิกขภัยเบียดเบียนอดอยากอาหารล้มตายลงเป็นอันมากขึ้นทุกวัน บางทีตายวันละร้อยคน พื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นฟุ้งตระหลบไปด้วยกลิ่นชากศพของมนุษย์ ประดุจดังว่าสุสานะประเทศป่าช้า เป็นที่น่าพิลึกสะพึงกลัวยิ่งนัก

​ในลำดับนั้น พระเจ้ากนกวรรณราชเสด็จประทับอยู่ ณ พื้นปราสาท จึงมีพระราชดำรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ในชมพูทวีปนี้แร้งกาและสุนัขทั้งหลายย่อมกัดกินทรากศพ ให้มีกลิ่นอันตระหลบฟุ้งไป ทั้งกุลธิดาทั้งหลายก็พากันซุ่มซ่อนอยู่ในเรือน มิได้แลเห็นพระจันทร์พระอาทิตย์ ท่านทั้งหลายควรจะพากันไปอาศัยอยู่ในราวป่า ไม่ช้าเท่าไรก็จะพากันตาย หรือท่านทั้งหลายปรารถนาจะไปอยู่ ณ ที่ใด ก็จงพาบุตรภรรยาไปอยู่ที่นั้น ตามความปรารถนาเถิด

อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังพระราชดำรัสอนุญาตดังนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายจะขออาศัยพึ่งโพธิสมภารอยู่ในเมืองนี้กับทั้งบุตร์และภรรยาทั้งหลาย แม้ถึงจะทำกาลกิริยาตาย ก็จะขอตายอยู่ ณ ที่ใกล้บาทมูลของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้ากนกวรรณราชมิได้ตรัสประการใด ทรงพระราชทานข้าวหลวงให้แก่พวกอำมาตย์ และมหาชนทั้งหลายทุก ๆ วัน ทั้งพระราชทานแก่ทารกของชาวเมือง และทารกของพวกอำมาตย์ทั้งหลาย ประมาณได้ ๕ เดือน ข้าวเปลือกของหลวงที่เป็นส่วนพระราชทานก็หมดสิ้น ยังเหลืออยู่แต่ข้าวสำหรับพระกระยาหารแลสำหรับพระมเหสีราชบุตรราชธิดาเท่านั้น ครั้นล่วงไปอีกเดือนหนึ่ง ข้าวทั้งนั้นก็หมดสิ้น คงเหลืออยู่แต่ข้าวสารประมาณทนานหนึ่ง สำหรับพระกระยาหารของพระเจ้ากนกวรรณราชและพระราชกุมารเท่านั้น พระนางกนกราชเทวีผู้เป็นมเหสี จึงเอาข้าวสารทนานหนึ่งนั้นมาหุงเป็นพระกระยาหาร แล้วเก็บไว้สำหรับจะให้พระราชสามีและพระราชกุมารทรงเสวย

ในขณะนั้น มีพระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งอยู่ ณ ยอดเขาคันธมาทน์ พระปัจเจกโพธินั้นทรงอานุภาพมาก ด้วยสามารถปัจเจกโพธิญาณ เข้าสู่ฌานสมาบัติอยู่ ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๗ ออกจากสมาบัติแล้ว จึงพิจารณาดูสัตว์โลก ด้วยทิพยจักษุญาณอันบริสุทธิ์ล่วงเสียซึ่งจักษุอันเป็นของแห่งมนุษย์ ประดุจดังว่าจักษุแห่งเทพยดา ก็ได้เห็นเหตุในชมพูทวีปทั้งสิ้น จึงคิดรำพึงว่าน่าสังเวชนัก สัตว์โลกทั้งหลายมีแต่ประกอบไปด้วยความประมาทมิได้บำเพ็ญทานรักษาศีลและมิได้เจริญเมตตาภาวนา ทั้งมิได้กระทำสักการะบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมิได้ปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดา และปราศจากความเคารพผู้ที่เจริญกว่าในตระกูล มีผู้เฒ่าผู้แก่บิดามารดาเป็นต้น การที่สัตว์โลกมาพากันมีความประมาทเช่นนี้ ​โรคภัยอันตรายทั้งปวงเป็นอันมากจึงบังเกิดมีขึ้นในชมพูทวีป ครั้นพระปัจเจกโพธิคิดรำพึงดังนี้แล้ว จึงพิจารณาต่อไปว่า เราควรจะทำการสงเคราะห์ผู้ใดก่อนดีหนอ ก็เห็นด้วยญาณจักษุว่าพระเจ้ากนกวรรณราชนั้นเป็นหน่อพุทธางกูร จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายหน้า เราควรทำการสงเคราะห์แก่พระเจ้ากนกวรรณราชนั้น ให้ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี จะได้เป็นที่สรรเสริญของประชาชนทั่วไปในชมพูทวีป พระปัจเจกโพธิเจ้าพิจารณาเห็นดังนี้ จึงเหาะไปโดยอากาศ ลอยอยู่ตรงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากนกวรรณราชนั้น

ฝ่ายอำมาตย์ราชเสวกทั้งหลาย ได้เห็นพระปัจเจกโพธิประดิษฐานอยู่ ณ อากาศ จึงกราบทูลพระเจ้ากนกวรรณราชว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า โน่นยักษ์เหาะมาเพื่อจะเคี้ยวกินข้าพระองค์ทั้งหลาย พระเจ้ากนกวรรณราชได้ทรงสดับ ทอดพระเนตรไปเห็นพระปัจเจกโพธิ จึงตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ทั้งหลาย รูปกายที่เหาะอยู่นั้นมิใช่ยักษ์ จักเป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าเสด็จมาโดยแท้ ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงเลื่อมใสในพระปัจเจกโพธิอันบริบูรณ์ด้วยอิริยาบถอันงาม จึงเสด็จอุฏฐาการจากราชอาสน์ประคองพระหัตถ์ถวายอภิวาทน์พระปัจเจกโพธินั้น แล้วบูชาด้วยเครื่องสักการะของหอมและดอกไม้เป็นต้น

ขณะนั้น พระปัจเจกโพธิก็เหาะลงมาจากอากาศ มาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าพระพักตร์พระเจ้ากนกวรรณราชบรมกษัตริย์ ๆ ทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกโพธิถือบาตรอันเปล่า ก็ทรงทราบว่าพระปัจเจกโพธิเจ้าปรารถนาภัตตาหาร จึงทรงพระดำริว่า เวลานี้เราก็ยากจนเข็ญใจเพราะเป็นสมัยที่เกิดข้าวแพง ไม่สามารถที่จะถวายอาหารบิณฑบาต ได้ทรงดำรีดังนี้แล้วจึงตรัสแก่พระปัจเจกโพธิว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ เงินและทองก็ดี ทั้งแก้วมณีแก้วมุกดาและผ้านุ่งผ้าห่มก็ดี ของข้าพเจ้ามีอยู่เป็นอันมากเหลือที่จะประมาณ แต่ทว่าข้าวเปลือกหรือข้าวสารมาตรว่าสักทนานหนึ่งในเรือนของข้าพเจ้ามิได้มี ข้าพเจ้าเกิดความเดือดร้อนรำคาญเสียใจที่ไม่ได้ถวายบิณฑบาตทานแก่พระผู้เป็นเจ้าในครั้งนี้ พระปัจเจกโพธิก็ยืนอยู่มิได้ตอบประการใด

พระเจ้ากนกวรรณราชเห็นอาการดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า พระผู้เป็นเจ้าที่ควรทักษิณาทานเช่นนี้ ยากที่เราจะหาได้โดยแท้ แต่เป็นการจนจิตมิรู้ที่จะคิดประการใด ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึงตรัสถามราชบริษัทว่า ภัตตาหารของใครมีอยู่บ้าง พระราชเทวีได้ทรงฟังจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าวสารประมาณทนานหนึ่ง หม่อมฉันได้หุงไว้เป็น​พระกระยาหารสำหรับพระองค์และพระราชกุมารมีอยู่ พระเจ้ากนกวรรณราชได้ทรงสดับจึงรับสั่งให้ยกภัตตภาชนะออกมา แล้วทรงถือเอาภัตตาหารที่เป็นส่วนของพระองค์ ทรงพระดำริในพระหฤทัยว่า ถ้าเราจะบริโภคโภชนาหารนี้ ชีวิตก็จักไม่ดำรงอยู่นานเท่าใด เราบริจาคภัตตาหารถวายพระผู้เป็นเจ้าจักประเสริฐกว่า จะได้รับอานิสงส์ผลในภายหน้าเป็นอันมาก อนึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเทศนาไว้ว่า ร่างนี้จะได้จิรฐีติกาลตั้งอยู่นานหามิได้ จะมีแต่ความแตกทำลายเป็นเบื้องหน้า เราจะประโยชน์อะไรด้วยร่างกาย เราจะถวายภัตตาหารนี้แก่พระผู้เป็นเจ้า ทำร่างกายของเราอันไม่มีแก่นสารให้เป็นแก่นสารขึ้น ทรงพระดำริดังนี้แล้ว ก็กล่าวพระคาถาว่า

วิชฺชุลตา ยถา กาโยตถา โภนฺโต อสารโก
อสารกสฺส โภคสฺสสารมาทาย ปณฺฑิโต

ความว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ร่างกายของเรานี้มิได้มีแก่นแน่นหนา คือไม่ตั้งอยู่นานเท่าใด อุปมาดังสายฟ้าอันแลบออกแล้ว ก็พลันที่จะสาบสูญไปฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นเหตุนี้จึงกระทำร่างกายและโภคทรัพย์ทั้งหลายให้เป็นแก่นสารคือจำแนกทานและเคารพท่านผู้มีศีล และปฏิบัติบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นแก่นสารสำหรับตนในภายหน้า

พระเจ้ากนกวรรณราชตรัสพระคาถาดังนี้แล้ว ก็มีพระกมลอันผ่องแผ้วเบิกบาน ทรงจับสุวรรณภาชนะอันเต็มด้วยพระกระยาหารแล้ว มีพระสริรกายเต็มไปด้วยปีติปราโมทย์ เสด็จไปสู่ที่ใกล้พระปัจเจกโพธิถวายนมัสการแทบบาทยุคล แล้วตรัสอาราธนาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ บิณฑบาตทานของข้าพเจ้านี้ จะน้อยหรือมากก็ดี จะเศร้าหมองหรือปราณีตบรรจงก็ดี ข้าพเจ้าถวายด้วยจิตศรัทธาโสมนัส ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับบิณฑบาตทานนี้ เพื่อสงเคราะห์ให้เป็นประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนาน ตรัสอาราธนาดังนี้แล้ว ก็ใส่ภัตตาหารลงในบาตรตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอำนาจอานิสงส์แห่งภัตตทานของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าจะเกิดในชาติใดภพใดก็ดี ขออุปัทวทุกขภัยทั้งปวง จงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทุกภพทุกชาติไป อนึ่งในอนาคตกาลภายหน้า ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เมื่อข้าพระเจ้ายังท่องเที่ยวอยู่ในสงสารวัฏตราบใด ขึ้นชื่อว่าทุพภิกขภัยอดอยากอาหารเห็นปานดังนี้ จงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าตราบเท่าจนถึงพระปรินิพพาน

​ฝ่ายพระปัจเจกโพธินั้น ครั้นรับภัตตาหารจากบรมกษัตริย์แล้ว เมื่อจะกระทำอนุโมทนาจึงกล่าวพระคาถาว่า

อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํขิปฺปเมว สมิชฺฌเตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปาจนฺโท ปณฺณรโส ยถา
ติลมตฺตํ กตํ ปุฺํยุตฺตํ าเณน เจตสา
เมรูปฺปมาณํ ผลฺจนิโคฺรธมิว พีชกํ
วีขานเมว วปฺปานํวิรุยฺหกา สทา โหติ
ทกฺขิเณยฺยาสุ ทตฺวานอนฺตราโย น วิชฺชติ
ยํ ยํ ลูขํ ปณีตํ วายสฺมึ จิตฺเต ปโมทติ
ตํ ตํ เทนฺติ เย สทาตํ ทานํ สพฺภิวณฺณิตํ
สทฺธาย ทินฺนํ ยํ ทานํวทนฺติ มหปฺผลํ
วินา สทฺธาย ยํ ทินฺนํตํ น โหติ มหปฺผลํ

ความว่า ผลที่ท่านปรารถนาประสงค์นี้ จงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วพลัน ความดำริจิตทั้งปวงของท่าน จงสำเร็จบริบูรณ์เต็มที่ ดุจพระจันทร์ในวันปัณณรสี ๑๕ ค่ำ อันเต็มดวงบริบูรณ์ฉะนั้น อนึ่งบุญกุศลที่บุคคลทำแล้วด้วยจิตผ่องใส อันประกอบไปด้วยปรีชาญาณ แม้ถึงจะน้อยประมาณเท่าเมล็ดงาเท่านั้น ผลจะมากอุปมาเท่าเขาพระเมรุ และดุจพืชผลแห่งต้นไทรอันดกดาดไปฉะนั้น และดุจพืชข้าวกล้าที่บุคคลหว่านลงในนาแล้ว ย่อมงอกงามให้ผลมากในกาลทุกเมื่อ ด้วยเดชอำนาจแห่งทานที่ถวายแก่ทักขิเณยยบุคคลนี้ สรรพอันตรายทุกสิ่งก็จักไม่บังเกิดมี อนึ่งวัตถุทานที่บริจาคใด ๆ จะเป็นของเศร้าหมองหรือปราณีตบรรจงก็ตาม เมื่อทานนั้นทำจิตทายกผู้บริจาคให้ชื่นบานยินดีได้ ทายกทั้งหลายก็ควรให้วัตถุทานนั้นด้วยศรัทธาและความเลื่อมใส ทานนั้นสัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้โถมนาการสรรเสริญไว้ ว่ายากที่บุคคลจะพึงบริจาคได้ ทานใดที่บุคคลให้แล้วด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธา นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวพรรณนาทานนี้ ว่ามีผลานิสงส์มากไม่มีประมาณ ทานใดที่บุคคลให้ด้วยปราศจากศรัทธา ทานนั้นจะมีผลานิสงส์น้อยไม่ไพบูลย์เต็มที่

​เมื่อพระปัจเจกโพธิกล่าวคาถาอนุโมทนาดังนี้แล้ว ก็เหาะไปโดยอากาศ ครั้นถึงยอดเขาคันธมาทน์ก็กระทำภัตตกิจฉันภัตตาหารนั้น เมื่อสำเร็จภุตตกิจแล้ว มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ ด้วยอำนาจผลทานที่บรมกษัตริย์ได้ถวายแก่พระปัจเจกโพธินั้น

ฝ่ายมหาชนชาวพระนครทั้งหลาย ได้เห็นมหาเมฆตั้งขึ้นมาในอากาศฉะนั้น ต่างก็พูดอื้ออึงว่า นี่มหาเมฆตั้งขึ้นมาเห็นปรากฏในพื้นอากาศควรจะอัศจรรย์ อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังเสียงเอิกเกริกดังนั้นจึงกราบทูลพระเจ้ากนกวรรณราชว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า มหาเมฆตั้งขึ้นในอากาศดังนี้ ก็ด้วยอำนาจบุญบารมีที่พระองค์ได้ทรงถวายภัตตทาน มหาเมฆคงบันดาลฝนให้ตกลงในสกลชมพูทวีปในวันนี้แหละ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้ากนกวรรณราช ได้ทรงสดับจึงทรงพระดำริว่าการที่มหาเมฆตั้งขึ้นปรากฏในอากาศบัดนี้ ก็ด้วยคุณานุภาพแห่งพระปัจเจกโพธิโดยแท้ควรเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก

ขณะนั้นมหาเมฆยังห่าฝนให้ตกลงชำระพื้นภูมิภาคให้หมดจดสะอาด ให้ทรากศพลอยไปตกในมหาสมุทรก่อน แล้วยังห่าฝนดอกไม้ทิพย์ให้ตกลงโดยลำดับ กลบกลิ่นที่ปฏิกูลด้วยทรากศพให้อันตรธานเสื่อมหาย กลายเป็นกลิ่นดีทั่วปถพีดล ครั้นห่าฝนดอกไม้ทิพย์หยุดแล้ว ในลำดับนั้น มหาเมฆก็ยังห่าฝนอันระคนไปด้วยขนมของเคี้ยวให้ตกลง ณ ภูมิภาค มหาชนทั้งหลายกำลังมีความอดอยาก ก็พากันเก็บขนมของเคี้ยวกินเป็นอาหาร ที่เหลือจากบริโภคก็เก็บไว้ในบ้านเรือนของตน ๆ ครั้นห่าฝนขนมของเคี้ยวหยุดปวัตตนาการ ห่าฝนคือข้าวสารก็ตกลงโดยลำดับถึง ๗ วัน ในลำดับนั้น ห่าฝนอันระคนด้วยผ้านุ่งผ้าห่มเครื่องอาภรณ์ และห่าฝนอันระคนด้วยแก้ว ๓ ประการ ก็ตกลงมา ณ พื้นภูมิภาคโดยลำดับ ๆ อย่างละ ๗ วัน ๆ เมืองกนกวดีในครั้งนั้น ก็บริบูรณ์ไปด้วยสรรพสมบัติเสมอด้วยเทวโลกทิพยสถาน

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ จะทรงประกาศผลทานนั้นให้แจ้งชัด จึงมีพระพุทธดำรัสเป็นพระคาถาว่า

สทฺธาปุพุพงฺคมทานํอปิ กิฺจิปิ เย กตํ
ปสนฺนา ตีสุ กาเลสุลกนฺติ ติวิธํ สุขํ
มนูสฺเสสุ ยฺจ เทติสคฺเคสุ จ ปรํ สุขํ
ตโต จ นิพฺพานสุขํสพฺพทาเนน ลภติ

​ความว่า ทานการให้การบริจาค มีศรัทธาเป็นบุรพภาคส่วนเบื้องต้น อีกประการหนึ่ง ผู้ที่บำเพ็ญทานการกุศลนั้น เมื่อมีศรัทธาความเลื่อมใสมั่นในกาลทั้งสาม คือกาลก่อนเมื่อจะบริจาคก็ประกอบด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และขณะเมื่อจะบริจาคอยู่เล่าก็มีจิตยินดีผ่องใส ครั้นบริจาคให้แล้วก็เกิดปรีดาโสมนัส เมื่อบริบูรณ์ด้วยเจตนาในสามกาลดังนี้ ผู้บำเพ็ญทานนั้นย่อมได้สุขสมบัติ ๓ ประการ คือสุขสมบัติในมนุษย์ สุขสมบัติในสวรรค์ สุขสมบัติอย่างยิ่งคือพระนิพพาน

—————————-

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศพระจตุราริยสัจ ครั้นจบพระจตุราริยสัจแล้ว แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชกุมารในครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระราหุลพุทธชิโนรส อำมาตย์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือธรรมเสนาบดีสาริบุตร ปุโรหิตาจารย์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหาโมลคัลลานะ พระนางกนกเทวีผู้เป็นมเหสีในครั้งนั้น กลับชาติมาคือนางพิมพาสุนทราเถรี พระเจ้ากนกวรรณราชบรมกษัตริย์ในครั้งนั้น สืบขันธ์ประวัติมาคือพระตถาคตในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกดังตถาคตแสดงมานี้

จบกนกวรรณราชชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: