การบูชาบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรบูชา เป็นมงคลสูงสุด

พระธรรมเทศนา เรื่อง “การบูชาบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรบูชา เป็นมงคลสูงสุด

โดย พระราชญาณวิสิฐ

เจ้าอาวาส วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม  อ.ดำเนินสะดวก   จ.ราชบุรี

ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์

วันธรรมสวนะ (๖ ฯ ๘ ค่ำ)  ตรงกับวันศุกร์ที่  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๐  เวลา  ๐๘.๐๐ น.

นโม   ตสฺส   ภควโต   อรหโต   สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส   (๓  จบ)

ปูชา  จ  ปูชนียานํ                 เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ ฯ

(ขุ.ขุ.  ๒๕/๖/๓)

ณ  บัดนี้  จักได้รับประทานแสดงพระธรรมเทศนาในมงคลสูตรว่าด้วย “การบูชาบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรบูชา เป็นมงคลสูงสุด”  เพื่อเป็นเครื่องประคับประคองฉลองศรัทธา  ประดับปัญญาบารมี  เพิ่มพูนกุศลบุญราศีแก่สาธุชน ผู้สนใจพระธรรมเทศนา เนื่องในวันพระอันเป็นวันธรรมสวนะ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอานิสงส์ของการฟังธรรม  ๕  ประการ  (องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๐๒/๒๗๖)  คือ  อสฺสุตํ  สุณาติ  ผู้ฟังย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง ๑    สุตํ  ปริโยทเปติ  สิ่งที่เคยได้ฟังแล้วย่อมมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น ๑   กงฺขํ  วิหนติ  การฟังธรรมย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑   ทิฏฺฐึ  อุชํ  กโรติ  การฟังธรรมย่อมทำความเห็นให้ตรง คือ ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมได้ ๑   และ  จิตฺตมสฺส  ปสีทติ  จิตใจของผู้ฟังย่อมมีความเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย ๑

ตามพระบาลีพุทธภาษิตมีมาในมงคลสูตรที่ได้ยกขึ้นเป็นอุทเทศในเบื้องต้นว่า  “ปูชา  จ    ปูชนียานํ   เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”  แปลความว่า  “การบูชาบุคคลที่ควรบูชา  เป็นอุดมมงคล”  นั้น

คำว่า  “บูชา”  มีความหมายถึง  การทำสักการะ  การแสดงความเคารพ  นบนอบ  กราบไหว้  การแสดงความยกย่อง  นับถือ  เลื่อมใสศรัทธา  หรือการยอมรับนับถือปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอน  และ/หรือ ปฏิบัติตามเยี่ยงอย่าง บุคคล  ข้อปฏิบัติ  หรือสิ่ง  ที่ควรเลื่อมใสศรัทธา

การบูชานั้นจะกระทำโดยมีเครื่องสักการบูชา  ได้แก่  สิ่งของที่นับถือกันว่า เป็นเครื่องควรนำมาใช้เพื่อสักการบูชา บุคคลหรือสิ่งที่ควรบูชา  เช่น  ดอกไม้  เครื่องหอม  ธูปเทียน  เสื้อผ้า  อาหาร  เป็นต้น  เหล่านี้ ก็ได้  หรือจะเป็นแต่เพียงการแสดงความเคารพ  นบนอบ  กราบไหว้  การยกย่อง  หรือการยอมรับ นับถือ ปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอน  หรือการปฏิบัติตามเยี่ยงอย่าง  บุคคล  ข้อปฏิบัติ  หรือสิ่ง  ที่ควรเลื่อมใสศรัทธาก็ได้

การบูชาด้วยเครื่องสักการะ  ชื่อว่า  “อามิสบูชา”  ส่วนการบูชาด้วยการยมรับนับถือปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอน  หรือปฏิบัติตามเยี่ยงอย่าง  ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา  ชื่อว่า  “ปฏิบัติบูชา

บุคคลที่ควรบูชา  ได้แก่  บุคคลดีมีคุณธรรม  และที่มีความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงาน  หรือการอาชีพที่ดีที่ชอบ  โดยกำหนดบุคคลอย่างสูงสุด  คือ  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  และพระอริยสงฆ์หรือพระอริยเจ้า  ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “พระอริยสาวก”  ที่รองลงมา  ก็หมายถึงพระสมมติสงฆ์  ผู้ตั้งใจศึกษาสัมมาปฏิบัติตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  อีกทั้งคนดี  มีศีล – มีธรรม  และมีความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงาน  หรือการอาชีพโดยชอบธรรม

อีกประการหนึ่ง  ข้อปฏิบัติที่ควรบูชา  ข้อปฏิบัติที่ดีที่ชอบ อย่างสูง  ได้แก่  พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่สอนหลักธรรมปฏิบัติ  ๓  ประการ  กล่าวคือ  คำสอนให้  ไม่ประพฤติบาปอกุศลทั้งปวง  คำสอนให้  ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นบุญกุศล  และคำสอนให้  ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  จากกิเลส  ตัณหา  อันเป็นเหตุแห่งทุกข์  อย่างรองลงไป  ได้แก่  ศิลปวิทยา  ความรู้ในการประกอบกิจการงานหรืออาชีพโดยชอบ  เพื่อให้ถึงความสำเร็จและถึงความเจริญสันติสุขในชีวิต  และให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

ส่วน  สิ่งที่ควรบูชา  นั้นได้แก่  พระบรมสารีริกธาตุ  คือ  พระบรมสรีรธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  และ/หรือ  ของพระปัจเจกพุทธเจ้า  และพระสรีรธาตุของพระอริยเจ้าทั้งหลาย  สังเวชนียสถาน  ๔  ตำบล  ได้แก่  สถานที่ประสูติ  สถานที่ตรัสรู้  สถานที่ปรินิพพาน  และสถานที่แสดงปฐมเทศนา  อีกทั้งพระสถูป/เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัฏฐบริขารของสมเด็จพระพุทธเจ้า  เป็นต้น  พระพุทธรูปหรือพระรูปเปรียบพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก  และแม้ต้นไม้ เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับบำเพ็ญสมณธรรมและได้ตรัสรู้  ชื่อว่า  ต้นพระศรีมหาโพธิ์  เป็นต้น เหล่านี้  ชื่อว่า  สิ่งที่ควรบูชา

การบูชาบุคคล  ข้อปฏิบัติ  หรือ สิ่ง  ที่ควรบูชา ดังกล่าวนี้  ชื่อว่า  “เป็นอุดมมงคล”  คือ  เป็นข้อปฏิบัติสูงสุดที่นำให้ผู้ปฏิบัติถึงความเจริญสันติสุขในชีวิต  และถึงความพ้นทุกข์  ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้

บัณฑิต  ผู้มีปัญญาและบุญบารมี  จึงเห็นคุณของพระพุทธเจ้า  คุณพระธรรมเจ้า  และคุณของพระสงฆ์ผู้สืบบวรพระพุทธศาสนา จึงได้บูชายกย่องนับถือพระพุทธเจ้า ว่าเป็น “พระพุทธรัตนะ”  รัตนะคือพระพุทธเจ้า  กล่าวคือ  บูชา  ยกย่อง  นับถือ  พระพุทธเจ้า ว่า เป็น “รัตนะ”  คือ  แก้วอันมีคุณค่าประเสริฐสูงสุดในชีวิต  บูชา  ยกย่อง  นับถือพระธรรม  คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่า “พระธรรมรัตนะ”  รัตนะคือพระธรรม  กล่าวคือ  บูชายกย่องนับถือพระธรรมเป็น “รัตนะ” คือ  แก้วอันมีคุณค่าประเสริฐสูงสุดในชีวิต  เพราะนำผู้ปฏิบัติตามให้ถึงความเจริญสันติสุข  และพ้นจากความทุกข์ได้  อย่างถาวรแท้จริง  และบูชา  ยกย่อง  นับถือ  พระสงฆ์  ผู้ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  และผู้สืบบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยั่งยืนมาถึงเรา ณ บัดนี้  ว่า เป็น “พระสังฆรัตนะ”  รัตนะคือพระสงฆ์  ทั้งพระอริยสงฆ์สาวกและพระสมมติสงฆ์ผู้ตั้งใจศึกษาสัมมาปฏิบัติ  สืบบวรพระพุทธศาสนาได้มาถึงเรา ณ บัดนี้  โดยการบูชายกย่องนับถือ ว่า พระสงฆ์ เป็น  “รัตนะ”  คือ  แก้วอันมีคุณค่าประเสริฐสูงที่สุด  อีกประการ ๑

รวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย”  แก้วอันประเสริฐสูงสุด  ๓  ประการ  คือ  พระพุทธรัตนะ  พระธรรมรัตนะ  และพระสังฆรัตนะ  เป็นบุคคลที่ควรบูชา  ชื่อว่า  “ปูชนียบุคคล”  เพราะบุคคลผู้มีปัญญาเห็นคุณพระรัตนตรัย นี้แล้ว  บูชาท่านผู้ควรบูชา  ด้วยปฏิบัติบูชาก็ดี  ด้วยอามิสบูชาก็ดี  ย่อมนำไปสู่หรือให้ถึงประโยชน์ คือ ความเจริญ สันติสุขในชีวิต และถึงความพ้นทุกข์  ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้  อย่างแน่นอนแท้จริง

การบูชาดังกล่าวนี้  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่อง “ปฏิบัติบูชา”  ว่าประเสริฐยิ่งกว่า  “อามิสบูชา”  เพราะการปฏิบัติบูชา คือ การศึกษาสัมมาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยทางตรง  แล้ว  ย่อมนำให้ถึงความเจริญ สันติสุข และถึงความพ้นทุกข์ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้อย่างแน่นอน  ส่วนการกระทำอามิสบูชาด้วยเครื่องสักการะหรือสิ่งที่ควรใช้บูชาด้วยใจเลื่อมใสศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย  ก็ย่อมนำไปสู่การศึกษาสัมมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ โดยทางอ้อม  และย่อมนำไปสู่ความเจริญ สันติสุข  และถึงความพ้นทุกข์ ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้  อีกเช่นกัน

เพราะเหตุไร  การบูชาบุคคล  ข้อปฏิบัติ  และ/หรือ  สิ่ง  ที่ควรบูชา  จึงเป็นอุดมมงคล  คือ  เป็นข้อปฏิบัติที่นำผู้บูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาไปสู่หรือให้ถึงความเจริญและสันติสุขได้

เฉลยว่า  บุคคลที่ควรบูชา  กำหนดสูงสุด คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ทรงเห็นแจ้ง/ทรงรู้แจ้งโลก  ผู้ทรงเป็นพระอรหันต์  ผู้ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง  ผู้ทรงมีความประพฤติปฏิบัติทางพระวรกาย  ทางพระวาจา  และทางพระหฤทัย  บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง  และเป็นผู้ตรัสรู้พระอริยสัจ  คือ  ความจริงแท้อย่างประเสริฐ ๔ ประการ โดยชอบด้วยพระองค์เอง  กล่าวคือ  ความจริงแท้ในเรื่อง ความทุกข์ ๑  เหตุแห่งความทุกข์ ๑  ทางปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์และให้ถึงความเจริญและสันติสุขได้อย่างถาวรแท้จริง ๑  และความจริงแท้ในสภาวะที่ความทุกข์ดับได้  เพราะเหตุแห่งทุกข์ดับ  คือ  มรรค  ผล  นิพพาน ๑  ว่า มีได้  เป็นได้  จริง อย่างไร  แล้วเสด็จออกเผยแผ่พระสัทธรรมคำสั่งสอนนี้ให้สัตว์โลกทั้งหลาย  ได้แก่  มนุษย์  ปวงเทพเทวา  และพรหม  ผู้พอจะเข้าใจและสามารถศึกษาสัมมาปฏิบัติตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าได้ 

มีตัวอย่าง  อานิสงส์  คือ  คุณอันหลั่งไหลมาให้ผลแก่ผู้บำเพ็ญบุญกุศลทั้งปฏิบัติบูชาและอามิสบูชา แก่พระรัตนตรัยแล้ว  ได้ถึงความเจริญสันติสุขในชีวิตอย่างนับประมาณมิได้  และได้ถึงความพ้นทุกข์ในที่สุด  ด้วยการได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง  ดังเช่น  ท่านพระสุธาปิณฑิยเถระ  ผู้เคยได้ฟังธรรมและศึกษาสัมมาปฏิบัติในสำนักพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนมามาก  ต่อมาเมื่อถึงกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า  “สิทธัตถะ” องค์ก่อน  ท่านก็ได้เกิดมาในตระกูลหนึ่งในพุทธกาลนั้น  แต่ไม่อาจบำเพ็ญบุญกุศลได้  ต่อเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สิทธัตถะ” ปรินิพพานแล้ว  ท่านได้มีโอกาสกระทำอามิสบูชาต่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแต่เพียงเล็กน้อย  คือ  ได้นำปูนขาวก้อนหนึ่งใส่ลงในระหว่างแผ่นอิฐ ๒ ก้อน  ในขณะที่มหาชนพากันปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และกระทำห้องสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เท่านั้น  ด้วยบุญกุศลเพียงเท่านี้  ท่านไม่เคยรู้จักทุคติเลย  และท่านก็ได้ไปบังเกิดและท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภพ  คือ ในมนุษย์โลกและในเทวโลกถึง  ๙๔ กัป  ได้เคยบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า “ปฏิสังขาร”  ผู้เพียบพร้อมด้วยรัตนะ ๗  ถึง ๑๓ ครั้ง  เมื่อถึงกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมของเราพระองค์นี้  ท่านก็ได้บังเกิดในตระกูลหนึ่ง  เมื่อพอรู้เดียงสา  มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบรมพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงได้ออกบวชในสำนักพระพุทธเจ้า  แล้วได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยคุณใหญ่ คือ ปฏิสัมภิทา ๔  วิโมกข์ ๘  และอภิญญา ๖  ท่านปรากฏนามว่า “สุธาปิณฑิยเถระ”  ท่านได้กล่าวชื่นชมอานิสงส์ คือ ผลบุญที่ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยเพียงใส่ปูนขาวก้อนหนึ่งลงในแผ่นอิฐ  ๒  ก้อน  ช่วยเขาทำห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น  ท่านว่า แม้บุคคลจะมีบุญได้เป็นใหญ่ครอบครองทวีปทั้ง ๔  ทรัพย์สินทั้งหมดของบุคคลผู้เป็นใหญ่นั้น  ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการได้บูชาพระพุทธเจ้าเพียงเท่าที่ท่านได้กระทำเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเลย (มังคลัตถทีปนีแปล  เล่มที่ ๑  หน้า ๘๗)

อานิสงส์  คือ  คุณของการบูชาบุคคล  ข้อปฏิบัติ และ/หรือ สิ่งที่ควรบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การกระทำปฏิบัติบูชา  และอามิสบูชาต่อพระรัตนตรัย  แก้ว  ๓  ประการ  คือ  พระพุทธรัตนะ  พระธรรมรัตนะ  และพระสังฆรัตนะ  ย่อมนำมาซึ่งประโยชน์  คือ  ความเจริญสันติสุขในชีวิต  และให้ถึงความพ้นทุกข์ได้  ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ ดังนี้  ผู้มีปัญญา ด้วยการศึกษาสัมมาปฏิบัติตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จนได้เห็นผลดีจริงด้วยตนเองแล้ว  ย่อมมีความเลื่อมใสศรัทธาด้วยปัญญาอันเห็นชอบในพระรัตนตรัย  และถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ  เป็นที่พึ่งได้อย่างถาวรแน่นอนแท้จริง  สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ (ขุ.ธ. ๒๕/๒๔/๔๐-๔๑) ว่า 

ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง  ย่อมเห็นอริยสัจ ๔  คือ  ทุกข์  เหตุแห่งทุกข์  ความพ้นทุกข์  และอริยมรรคมีองค์ ๘  อันให้ถึงความสงบระงับ  พ้นทุกข์ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ  ที่พึ่งนั้นแล  ที่พึ่งอันเกษม  ที่พึ่งนั้นอุดม  เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น  ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

และย่อมมีความรู้สึกสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อพระรัตนตรัย  ที่จะต้องปกป้องรักษาพระรัตนตรัย  ที่มีค่าสูงสุดในชีวิตของผู้มีปัญญาอย่างสุดชีวิต  เพื่อจะให้พระพุทธศาสนาสามารถดำรงคงอยู่ได้ตลอดไป  เพื่อยังประโยชน์และความสันติสุขแก่ทั้งตนเอง  อีกทั้งแก่บุตรหลาน  อนุชนรุ่นหลัง  และแก่ชาวโลก  ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ (ขุ.ชา.อสีติ.  ๒๘/๓๘๒/๑๔๗) ว่า

จเช  ธนํ  องฺควรสฺส  เหตุ

องฺคํ  จเช  ชีวิตํ  รกฺขมาโน

องฺคํ  ธนํ  ชีวิตญฺจาปิ  สพฺพํ

จเช  นโร  ธมฺมมนุสฺสรนฺโตติ

แปลความว่า

นรชนพึงสละทรัพย์    เพราะเหตุแห่งอวัยวะประเสริฐ    เมื่อจะรักษาชีวิตไว้  พึงเสียสละอวัยวะ  เมื่อระลึกถึงพระธรรม  พึงสละทั้งอวัยวะ  ทั้งทรัพย์  และแม้ชีวิตทั้งหมด

                        การรักษาคุณของพระรัตนตรัย  กล่าวโดยย่อ  คือ  การรักษาพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัยจากศัตรู  ทั้งศัตรูภายใน  คือ  “กิเลส  ตัณหา  อุปาทาน”  อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน ๑   ทั้งศัตรูภายนอก  คือ  หมู่ชนคนพาลปัญญาโฉดเขลา  ที่คิด  พูดและกระทำ  การบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา  ที่นับวันแต่จะรุนแรงมากขึ้นทุกที ในปัจจุบันนี้นั้น  เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสาธุชน พุทธบริษัท และชนทุกชาติทุกศาสนา ผู้มีปัญญาและเห็นคุณพระรัตนตรัย ว่าสามารถนับถือเอาเป็นที่พึ่ง  อันปลอดภัยจากเหตุแห่งความทุกข์ได้จริง   พึงต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้  คือ

                        ๑.  พึงต้องศึกษาให้รู้แจ้งในหลักธรรม  คือ  พระปริยัติสัทธรรม  และพระปฏิบัติสัทธรรม  ให้เจริญปัญญาอันเห็นแจ้งในสภาวธรรมและพระอริยสัจธรรม  ตามที่เป็นจริงด้วยตนเอง  ให้มีประสบการณ์อันเกิดแต่การศึกษาสัมมาปฏิบัติเอง  ชื่อว่า  “สร้างพระรัตนตรัยในใจตนเอง” ดีแล้ว  จึงจะสามารถช่วย  “สร้างพระ(รัตนตรัย) ในใจคนอื่น”  อย่างได้ผลดีต่อๆ ไปอีก  เป็นต้นว่า

            สังคมในครอบครัว  พ่อบ้านแม่เรือนควรสนใจ ใส่ใจ ในการศึกษาสัมมาปฏิบัติพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า  และอาศัยพระธรรมของพระพุทธเจ้า  มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต  และในการประกอบกิจการงานในอาชีพ  ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ  รอบรู้บาป-บุญ  คุณ-โทษ  และรอบรู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง  เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังต่อๆ มา  นำชีวิตตนและครอบครัว-หมู่คณะไปในทางที่ดีที่ชอบด้วยศีลธรรม  ก่อให้เกิดความเจริญและสันติสุข  ไม่ดำเนินชีวิตไปในทางผิดศีลผิดธรรม  และหลงติดอยู่ในอบายมุข  อันเป็นทางให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว  อีกทั้งคอยดูแล  แนะนำสั่งสอนบุตรหลาน  และสมาชิกในครอบครัว  ให้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ทำได้อย่างนี้ชีวิตในครอบครัวก็จะมีแต่ความอบอุ่นด้วยความรัก  ความเข้าใจ  และความสามัคคีปรองดองกัน  ให้เกิดความเจริญและสันติสุขได้  ตามสมควรแก่ฐานะ

สังคมในวงงานทุกระดับ  ถึงสังคมการเมือง  การปกครองและการบริหารประเทศชาติ  หากบุคคลชั้นผู้นำในวงงานทุกหมู่เหล่า  ทุกระดับ  ได้ศึกษาสัมมาปฏิบัติ  เจริญปัญญาเห็นแจ้งในสภาวธรรมและอริยสัจธรรมตามที่เป็นจริง  ดำเนินชีวิตและกิจการบริหาร-การปกครองบุคลากรในองค์กรหรือหน่วยงานของตน  ด้วยความรู้  ความสามารถ  คู่คุณธรรมประจำใจ  กล่าวคือ  เป็นผู้มีศีลมีธรรมประจำใจด้วยแล้ว  การบริหารกิจการทุกประเภททุกระดับ  ย่อมสามารถดำเนินไปได้ถึงความสำเร็จตามเป้าหมาย  อย่างมีประสิทธิผล (Effectiveness)  และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) สูง  ยังความเจริญและสันติสุขให้เกิดมีแก่ทั้งตนเอง  ผู้ร่วมงาน  และสังคมประเทศชาติ  ได้เป็นอย่างดี

            ในส่วนของภิกษุบริษัท  ผู้ดูแลปกครองพระภิกษุ-สามเณร  และบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั่วทั้งสังฆมณฑล  หากพระสังฆาธิการผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร  และในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทุกระดับ  มีความสนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติพระสัทธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  เจริญปัญญาอันเห็นแจ้งในสภาวธรรม  และพระอริยสัจธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  โดยการปฏิบัติไตรสิกขา  คือ  ศึกษาและอบรมความประพฤติปฏิบัติทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ (เจตนาความคิดอ่าน)  ด้วยการปฏิบัติศีล-สมาธิ-ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเป็น  อธิศีล  อธิจิต  และอธิปัญญา  อันมีรายละเอียดอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘   ให้เข้าถึงพระรัตนตรัย  มีพระรัตนตรัยอันบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่ในจิตสันดาน  เป็นมรรค  เป็นผล ยิ่งๆ ขึ้นไป  กอปรด้วยความรู้ความสามารถในการบริหารการปกครองเชิงพุทธมาก  เพียงไร  ก็จะสามารถบริหารกิจการคณะสงฆ์  และปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรลูกคณะตามลำดับชั้น  ตลอดทั้งให้การศึกษาอบรม  และเผยแผ่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ไปยังสาธุชนพุทธบริษัทให้กว้างขวางออกไป อย่างได้ผลดี  มีประสิทธิภาพสูง  อันจะยังประโยชน์สุขแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น  ให้สำเร็จได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปมาก  เพียงนั้น

            เพราะเหตุนั้น  ภิกษุบริษัท  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสังฆาธิการ  และ/หรือ พระอุปัชฌาย์  ครู-อาจารย์  ผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์  และทั้งผู้ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรลูกคณะทุกระดับ  ผู้ให้การศึกษาอบรมและเผยแผ่พระธรรมแก่สาธุชนทั้งหลาย  จึงต้องศึกษาหลักธรรม (ปริยัติสัทธรรม)  และอบรมตน (ปฏิบัติสัทธรรม)  ให้เห็นแจ้งแทงตลอดในสภาวธรรมและในพระอริยสัทธรรม (ปฏิเวธสัทธรรม)  ให้ได้ผลดี  และ/หรือ ให้ได้ประสบการณ์จากการศึกษาสัมมาปฏิบัติด้วยดี  ตามสมควรแก่ภูมิธรรม อยู่เสมอ  ดีเพียงใด  ก็ย่อมจักสามารถยังความศรัทธาปสาทะ  และประโยชน์สุขแก่ทั้งตนเอง  และแก่ผู้อื่น  ได้มากเพียงนั้น  สมดังพระพุทธดำรัส (ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖)  ที่ตรัสว่า

อตฺตานเมว  ปฐมํ  ปฏิรูเป  นิเวสเย     อถญฺมนุสาเสยฺย  น  กิลิสฺเสยฺย  ปณฺฑิโตติฯ

แปลความว่า    “บัณฑิต   พึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน     จึงค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง

  จักได้ไม่มัวหมอง

คณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุด  ท่านได้มีนโยบายการปกครองและการบริหารกิจการคณะสงฆ์(ตามพระธรรมวินัย ตามกฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม)  โดยให้การส่งเสริมทั้งการศึกษาพระปริยัติธรรม  และการส่งเสริมทั้งการปฏิบัติธรรม  อันเป็นเหตุปัจจัยหลักให้ดียิ่งขึ้นไป  ที่จะให้การพระพุทธศาสนาของเราเจริญและมั่นคงได้  อย่างชัดเจน  แน่นอน  ดีอยู่แล้ว

ขึ้นอยู่แต่เพียงว่า     เจ้าคณะปกครองทุกระดับจะสำเหนียก  ด้วยความเล็งเห็นความ

สำคัญต่อ  (๑)  นโยบายการปกครองบังคับบัญชา  การพัฒนาบุคลากร  และ  (๒)  นโยบายการบริหารกิจการคณะสงฆ์  ที่ให้มีทั้งการศึกษาอบรมภาคพระปริยัติธรรมและภาคปฏิบัติธรรม  แก่บุคลากรภายใต้การปกครองของตน  อย่างเข้มแข็ง  จริงจัง  และต่อเนื่อง

เพื่อสร้างบุคลากร(พระภิกษุ-สามเณร-อุบาสก-อุบาสิกา) ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม  กล่าวคือ  ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ  ทั้งทางด้านการปกครอง  การบริหารกิจการคณะสงฆ์  และทางด้านให้การศึกษา-อบรม-เผยแผ่พระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  อย่างได้ผลดีและมีประสิทธิภาพสูง  และให้เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรมตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติ  ให้งดงามพร้อมด้วยสีลาจารวัตร  เป็นแบบอย่างที่ดี  และเป็นที่พึ่งทางใจแก่สาธุชนพุทธบริษัทได้อย่างแท้จริง

ดีเพียงใด    ความเจริญและความมั่นคงของการพระพุทธศาสนา  ก็สามารถมีได้  เป็นได้  มากเพียงนั้น

. ส่วน “ภาครัฐ”  ซึ่ง ณ ที่นี้  หมายถึง  ทั้งฝ่ายบริหาร  คือ  ฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการประจำ  ทั้งฝ่ายตุลาการ  ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ  และฝ่ายการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน  หากจะได้ช่วยกันให้ความคุ้มครองป้องกันพระพุทธศาสนา  มิให้ถูกบ่อนทำลาย  และหากจะได้ช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงกิจการพระพุทธศาสนาให้เจริญและมั่นคง  เพียงใด  ก็ย่อมจะยังประโยชน์และความสันติสุขทั้งแก่ตนเอง  แก่ครอบครัว  แก่สังคม  และแก่ประเทศชาติ  ตลอดทั้งสังคมชาวโลก  ได้ดีเพียงนั้น

            เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมากถึง  ๙๔ %  ของประชากรทั้งหมด  มีหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประกอบด้วยหลักธรรม  ๓  ประการ  คือหลักการไม่ประพฤติบาปอกุศล (อันเป็นความประพฤติปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ให้เดือดร้อน-เสียหาย  ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา) ทั้งปวง   หลักความประพฤติอยู่แต่ในบุญกุศลคุณความดี (อันย่อมยังผลให้เกิดความเจริญและสันติสุขแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น)   และ  หลักการอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วจากกิเลสเหตุแห่งทุกข์ ๑  อันเป็นหลักคำสอนที่ให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามสามารถดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญ สันติสุข และถึงความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง  ไม่มีข้อปฏิบัติใดที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเลย  มีแต่ข้อปฏิบัติที่ให้ความเจริญและสันติสุขแก่ทั้งตนเองและผู้อื่นแต่ส่วนเดียว  พระพุทธศาสนาจึงเป็นสถาบันหลักที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติและประชาชนไทย  คู่กันมากับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์  มาแต่โบราณกาล  เป็นดุจร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนชาวไทย  และทั้งชาวโลก  เป็นที่ประจักษ์ใจแก่บัณฑิตผู้มีปัญญาทั้งหลาย

เพราะเหตุดังนี้  พระพุทธศาสนาจึงควรที่จะได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐอย่างเข้มแข็ง  จริงจัง  และต่อเนื่อง  เพื่อให้การพระพุทธศาสนาเจริญและมั่นคง  เป็นที่พึ่งแก่สาธุชนทุกหมู่เหล่า  กล่าวคือ  ทุกเชื้อชาติ  ทุกศาสนา  บรรดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย  และแม้แก่ประชาชนชาวโลกทั้งหลายด้วย  โดยสมควร

            (ก)  ให้การส่งเสริมทั้งกิจกรรม  และให้ความอุปถัมภ์ทางด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ  แก่โครงการการศาสนศึกษา(พระปริยัติธรรม)  และทั้งโครงการอบรมธรรมปฏิบัติ(พระปฏิบัติธรรม)  ขององค์กรพระพุทธศาสนา  เพื่อพัฒนาศาสนบุคคลให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม  ให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการให้การศึกษาอบรม  และ  เผยแผ่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ให้เกิดประโยชน์แก่สาธุชนผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติ  ให้กว้างไกล  อย่างได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

(ข)  ควรให้มีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ว่า

      “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” 

และว่า    “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก

             เพื่อให้ความคุ้มครองพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาคู่บ้านคู่เมือง  ที่มีความผูกพันใกล้ชิดกันมากับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณกาล  เป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนมากที่สุดถึง ๙๔%  และเป็นศาสนาที่ชาวโลกผู้มีปัญญายกย่อง  ว่า  เป็นศาสนาที่มีเหตุผล  และยังความสันติสุขแก่ชาวโลกผู้ยอมรับนับถือและปฏิบัติตามด้วยดีได้จริง  จนองค์การสหประชาชาติได้มีมติยกย่องว่า  “วันวิสาขะ (VISAK  DAY)”  อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน  ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า “เป็นวันสำคัญของโลก”  และองค์กรพุทธศาสนาทั่วโลกได้มีมติกำหนดให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา”  ดังเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้ว

              เพื่อมิให้พาลชนหรือคณะบุคคลผู้ไม่ปรารถนาดีต่อสถาบันหลักทั้ง ๓ (สถาบันชาติ-พระพุทธศาสนาภพระมหากษัตริย์) ของไทยเรา  จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ  ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ  เข้ามาอาศัยอำนาจเงินและอำนาจพวกพ้องของตน  กระทำการดูหมิ่น  เหยียบย่ำ  และ/หรือ  ดำเนินแผนการบ่อนทำลาย  รุกราญ  และล้มล้าง  สถาบันหลักทั้ง ๓  ที่สำคัญยิ่งของชาวไทยพุทธ  ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ (๙๔ %) ของประเทศ  ที่มีแต่ความเมตตาอารีต่อสาธุชนทุกชาติทุกศาสนา  ที่อยู่ร่วมกันให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข  ได้ง่ายๆ  ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน

            –  เพื่อให้สามารถออกกฎหมายลูก  ให้ความคุ้มครองป้องกัน  มิให้พาลชนอาศัยอำนาจเงิน  และ/หรือ  อำนาจพวกพ้อง  ดำเนินการทางการเมือง  และ/หรือ  ทางการปกครอง  ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ  อันไม่เป็นธรรมต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนด้วยความปรารถนาลามก  เข้ายึดถือศาสนสมบัติอันบรรพบุรุษและประชาชนได้ถวายแก่คณะสงฆ์/วัดวาอารามด้วยใจศรัทธาในพระรัตนตรัย  เพื่อไว้ใช้ในการทำนุบำรุงพระภิกษุสามเณร  ผู้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระสัทธรรม  เพื่อสืบบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญและมั่นคง  นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคและของคณะสงฆ์  ผู้เป็นเจ้าของศาสนสมบัตินั้นๆ  และ

            –  เพื่อให้ผู้บริหารกิจการบ้านเมือง  ได้เห็นความสำคัญและสำเหนียกในการศึกษาสัมมาปฏิบัติพระสัทธรรม  และส่งเสริมการให้การศึกษา  อบรม  และเผยแผ่ พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้มแข็ง  จริงจัง  และต่อเนื่อง   เพื่อประโยชน์สุขแก่สาธุชนหมู่ใหญ่ของไทยและชาวโลก  และเพื่อสืบบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญและมั่นคง

เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ชาวพุทธ และ/หรือ ชาวโลกเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน  มีแต่สอนให้ประพฤติปฏิบัติดี  มีศีลมีธรรม  ให้มีใจเอื้ออารี  เผื่อแผ่  ด้วยเมตตา-กรุณาธรรม  และมีแต่สอนให้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวที  คือ  รู้คุณและตอบแทนคุณท่านผู้มีอุปการคุณ  และสอนไม่ให้เณรคุณบุพพการีบุคคลและประเทศชาติที่ตนได้อยู่อาศัยทำมาหากิน

เพราะเหตุนั้น  ใครผู้ใดช่วยปกป้อง  คุ้มครอง  และสนับสนุน-อุปถัมภ์  พระพุทธศาสนาให้เจริญและมั่นคง  ให้ปลอดภัยจากศัตรูผู้รุกราน  ผู้นั้นย่อมชื่อว่า  ได้ปกป้องคุ้มครอง-อุปถัมภ์ ตนเองให้เจริญและปลอดภัยด้วย

ส่วนใครผู้ใด  ทั้งไม่ช่วยคุ้มครองป้องกัน  ทั้งไม่สนับสนุน-อุปถัมภ์  และยังคิด-พูด-กระทำ การลบหลู่ดูหมิ่น  เหยียบย่ำ  ทำลายพระพุทธศาสนา  ที่ไม่ประทุษร้ายตอบ  บุคคลผู้เช่นนั้น  ย่อมชื่อว่า  เป็นผู้มิได้ปกป้องคุ้มครอง-อุปถัมภ์ตนเองด้วย และเป็นผู้ขุดหลุมฝังตนเอง  เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาด้วย โดยแท้ !  และย่อมได้รับผลดุจซัดธุลีทวนลม  กล่าวคือ  ย่อมเข้าถึงเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งใน  ๑๐  อย่าง (ขุ.ธ.  ๒๕/๒๐/๓๓)  คือ  จะประสบกับเวทนาอันแรงกล้า ๑  หรือถึงความเสื่อมทรัพย์ ๑  ถึงชีวิตคือตาย ๑  ถึงความเจ็บป่วยหนัก ๑  ถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต คือ  ถึงความเป็นโรคจิตหรือโรคประสาท ๑  ได้รับความขัดข้องหรือโทษทัณฑ์จากพระราชาหรืออาญาแผ่นดิน ๑  ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง ๑  ถึงความสิ้นญาติขาดมิตร ๑  ถึงความเสียหายย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ๑ หรือไฟไหม้เรือนของเขา ๑ และ/หรือ เมื่อตายไปเขาผู้ไร้ปัญญานั้นย่อมเข้าถึงนรก ๑ดังปรากฏตัวอย่างให้เห็นได้ทั้งในอดีต  และแม้ในปัจจุบันทันตาเห็น  เป็นต้น

ดังที่ได้พรรณนามาพอสมควรแก่เวลา

เทสนาปริโยสาเน  ในอวสานกาลเป็นที่สุดลงแห่งพระธรรมเทศนานี้  รตนตฺตยานุภาเวน  รตนตฺตยเตชสา  ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและกุศลผลบุญทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญมา  จงมารวมเป็นตบะ  เดชะ  พลวปัจจัย  อำนวยอวยพรให้สาธุชนทั้งหลาย  จงเจริญในพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและในอาชีพทั้งปวง  และขอจงเจริญด้วยอายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  ปฏิภาณ  ธนสาร/ธรรมสารสมบัติ  คิดประสงค์จำนงหมายสิ่งใดที่ชอบ  ประกอบด้วยธรรม  และที่ไม่เหลือวิสัยเหตุปัจจัย  ก็ขอความปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  จงพลันสำเร็จ  สมมโนรถมุ่งมาดปรารถนา  จงทุกประการ

รับประทานแสดงพระธรรมเทศนาในมงคลกถามาพอสมควรแก่เวลา  ขอสมมติยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้  เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้

แชร์เลย

Comments

comments

Share: