ทำจริงให้รู้จริงอย่างต่อเนื่อง แล้วย่อมถึงความสำเร็จได้ ไม่ต้องสงสัย เพราะ“สิ่งที่ดีจริงนั้น ย่อมมีอยู่แต่กับคนจริงเท่านั้น”
พรหมวิหาร 4 นั้น เป็นคุณธรรมที่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายพึงเจริญ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า หมู่สัตว์หรือปุถุชนผู้ที่ยังมากด้วยกิเลสหยาบ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ หรือ กิเลสกลางๆ คือ โลภะ โทสะ โมหะ นั้น มักต้องเวียนอยู่ในไตรวัฏ คือ กิเลสวัฏ ความมีกิเลสดังกล่าว แล้วก็ กรรมวัฏ คือมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันมีลักษณะที่เป็นความผูกโกรธ พยาบาท จองเวร เบียดเบียน ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เพราะความหลงผิด ยึดมั่น ถือมั่น เห็นแก่ตัวตน และพวกพ้อง หมู่เหล่า เป็นการสร้างภพ สร้างชาติ อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์แก่ตนเองเป็นทับทวี เรียกว่า วิปากวัฏ ยากแก่การปฏิบัติธรรมโดยมัชฌิมาปฏิปทา คือ ศีล สมาธิและปัญญา อันเป็นเครื่องช่วยให้พ้นทุกข์เป็นการถาวรได้
พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้สาธุชนผู้ใคร่จะพ้นทุกข์ ประกอบจิตใจของตนให้อยู่ในพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาพรหมวิหารนี้ เพื่อให้จิตใจสงบระงับจากอุปกิเลสหรือนิวรณธรรมทั้งหลาย อันเป็นเครื่องขวางกั้นการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ให้บรรเทาเบาบางหรือหมดสิ้นไป ก็จะสามารถเปิดทางให้แก่สาธุชนผู้เจริญพรหมวิหารธรรมนั้น สามารถเห็นอรรถเห็นธรรมได้ตามความเป็นจริง เมื่อปัญญารู้แจ้งในสัจจธรรมเจริญขึ้น ก็สามารถจะปหานกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้เป็นลำดับ
นอกจากนี้ พระอริยบุคคลผู้ที่จะบรรลุอรหัตตผล ตัดกิเลสได้โดยสิ้นเชิงก็ดี, ที่จะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ดี จักต้องเจริญพรหมวิหารธรรมนี้ จนเมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี ซึ่งเป็น 2 ประการในบารมีสิบทัศ สูงถึงขั้น อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี ได้เต็มส่วน จึงจะบรรลุอรหัตตผล หรือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้
พรหมวิหารธรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมจักต้องเจริญอยู่เสมอ เพื่อให้จิตใจปลอดจากนิวรณธรรม อุปมาดั่งการใช้ “ด่าง” เป็น “กลาง” ไม่เป็นโทษหรือเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองหรือผู้อื่นอีกต่อไปนั่นเอง
เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเจริญพรหมวิหารธรรมดังนี้แล้ว จงตั้งใจศึกษาวิธีการเจริญพรหมวิหารธรรม ทั้งในทางอรรถและโดยธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ และหมั่นเจริญอยู่เสมอ
การเจริญเมตตาพรหมวิหารนั้น เริ่มแรก สาธุชนพึงพิจารณาเหตุผลให้เข้าใจเสียก่อนว่า เมตตาพรหมวิหารนี้เป็นธรรมคู่แข่งหรือธรรมที่จะใช้ระงับกิเลสประเภทใด นี้ข้อหนึ่ง, โทษของการมีกิเลสประเภทที่ว่านั้นมีอย่างไรบ้าง หรือร้ายแรงเพียงใด นี้ข้อหนึ่ง, คุณค่าของการข่มหรืออดกลั้นต่อกิเลสประเภทนี้ ข้อหนึ่ง, กับ ความสันติสุขอันเกิดแต่ความปลอดภัยจากกิเลสที่ว่านี้อันตนได้รับอยู่ นี้อีกข้อหนึ่ง จึงจะมีความรู้สึกปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นหรือสรรพสัตว์อื่นได้รับความสุขเช่นที่ตนเองได้รับด้วยอย่างได้ผลสมบูรณ์
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จึงจะนับว่าเป็นผู้มีเมตตาธรรมอย่างแท้จริง และสามารถจะแผ่เมตตาพรหมวิหารนี้ไปยังผู้อื่นและสัตว์อื่นได้อย่างเป็นผล ไม่ใช่สักแต่ว่าท่องจำคำแผ่เมตตาได้ แล้วก็ว่าออกไปๆ โดยที่จิตใจของตนเองยังแข็งกระด้างอยู่ด้วยกิเลสประเภทหยาบๆ หรืออย่างกลางอันหนาแน่น แกะไม่ออก การแผ่เมตตานั้นก็ได้ผลน้อย
ลักษณะของกิเลสอันเป็นคู่แข่งของเมตตาพรหมวิหาร หรือที่จะต้องได้รับการปราบด้วยพรหมวิหารธรรมนั้น คือ โทสะ เป็นกิเลสตระกูลใหญ่ ซึ่งมีลักษณะรุ่มร้อนประดุจไฟที่สามารถจะเผาผลาญสิ่งต่างๆ ให้พินาศลงได้
กิเลสตระกูลโทสะนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ความไม่พอใจในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อรติ ความไม่พอใจ นี้ หากไม่ระงับลงแล้ว ก็จะกลายเป็นความขัดเคืองใจ ที่เรียกว่า ปฏิฆะ คืออาการของจิตที่เก็บอารมณ์นั้นไว้ กรุ่นอยู่ ไม่อาจลืมได้ หากไม่ระงับก็จะกำเริบขึ้น กลายเป็นความเดือดดาล หรือที่เรียกว่า ความโกรธ หรือ โกธะ นั่นเอง ทีนี้ หากไม่ระงับก็จะกำเริบมากขึ้นอีก กลายเป็นความคิดประทุษร้ายด้วยกาย วาจา และใจ เรียกว่า โทสะ หากโทสะนี้ไม่ระงับลงอีก ก็จะกำเริบเสิบสาน กลายเป็นความ พยาบาท หรือความผูกใจเจ็บแค้น คือคิดหาทางที่จะแก้แค้นหรือมุ่งร้ายเขาต่อไป เมื่อได้แก้แค้นแล้วความโกรธก็หายไป แต่บางรายยังไม่หาย ไม่ระงับ กลับผูกใจเจ็บที่จะจองล้างจองผลาญต่อๆ ไปอีก ก็เรียกว่า ผูกเวร นี่แหละร้ายนัก เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดโทษทุกข์ต่อๆ กันไป ไม่สิ้นสุด
พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้สาธุชนหมั่นประกอบจิตใจของตนเองให้อยู่ใน “ขันติธรรม” และ “พรหมวิหารธรรม” อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมตตาพรหมวิหารนี้ เพื่อให้สามารถข่มโทสะให้คลายลง และให้สามารถอดกลั้นต่ออนิฏฐารมณ์ ไม่เบียดเบียนหรือเป็นโทษภัยแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
สาธุชนจึงพึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษภัยของกิเลสตระกูลโทสะนี้อยู่เสมอ แล้วเพียรพยายามระงับด้วยเมตตาพรหมวิหาร และกำจัดให้หมดเด็ดขาดได้ด้วยปัญญา ถ้าหากสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมและประเทศชาตินี้ มีความอดกลั้น คือขันติต่ออารมณ์ที่ขัดเคืองซึ่งกันและกัน อภัยให้ซึ่งกันและกัน ไม่คิด ไม่พูด หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการประทุษร้ายต่อกัน และไม่จองเวรซึ่งกันและกันแล้ว ตนเองและสังคม ประเทศชาติ ก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ดังที่ได้ยินได้ฟังข่าวร้ายๆ อยู่เสมอ เช่นในปัจจุบันนี้
หลวงป๋า