หลักการและเหตุผล
“เยาวชน” เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ การสร้างเยาวชนให้เป็นผู้ที่เพียบพร้อม ด้วยความรู้คู่คุณธรรม อาจกระทำได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานในสังคมไทย คือ การบรรพชาอุปสมบท เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม อันเป็นรูปแบบของการฝึกฝนอบรมและควบคุมตน พร้อมทั้งขจัดขัดเกลากิเลสในใจตน เพื่อให้เป็นผู้มีกาย วาจา ที่เรียบร้อย และจิตใจที่ดีงาม ตามแนวทางคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถนำหลักธรรมที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนปฏิบัติด้วยดีนั้น ไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตสืบต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างพระในใจของเยาวชน ห้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีระเบียบวินัย มีสติสัมปชัญญะ ด้วยสมาธิที่มั่นคง และด้วยปัญญาอันเห็นชอบ รู้จักบาปบุญคุณโทษตามที่เป็นจริง รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิต จักได้ไม่เป็นผู้ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่หลงไปตามกระแสโลก ที่เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรมชั่ว ที่จะเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน แก่ตนเองและผู้อื่น
- เพื่อให้เยาวชนได้รับการอบรมศีล สมาธิ และปัญญา ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้า ให้ถูกต้องสมบูรณ์ ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้สั่งสอนและถ่ายทอดไว้
- เพื่อให้เยาวชนรู้คุณค่าของพระรัตนตรัย และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของไทย ช่วยกันรักษาและสืบต่อพระพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีไว้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
- เพื่อให้เยาวชนเป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งจะพลอยช่วยให้สุขภาพกายดีขึ้นอีกทางหนึ่ง
ระยะเวลาการอบรม
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ระยะเวลา 15 วัน คือ
- มาอยู่วัด 4 วัน เพื่อท่องคำขอบรรพชาและอบรมตนก่อนบวช
- บรรพชาเป็นสามเณร ในวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน ของทุกปี แล้วอยู่ศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 11 วัน
กำหนดการบรรพชาสามเณร ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ 21 ปี 2557
พ. 2 เม.ย. | ||
08.30-11.00 น. | รับสมัคร ลงทะเบียน | ศาลาอเนกประสงค์ |
13.00 น. | พิธีมอบตัว ปฐมนิเทศ | ศาลาสมเด็จฯ ชั้น 3 |
ส. 5 เม.ย. | ||
14.00 น. | พิธีปลงผม | ข้างศาลาสมเด็จฯ |
อา. 6 เม.ย. | ||
08.30-10.00 น. | เจ้าภาพบรรพชาสามเณรลงทะเบียนรับบริขาร | ศาลาสมเด็จฯ ชั้น 2 |
10.00 น. | รับฟังโอวาท | ศาลาสมเด็จฯ ชั้น 3 |
12.30 น. | พิธีขอขมา รับผ้าไตร พิธีบรรพชา | ศาลาสมเด็จฯ ชั้น 3 |
พ. 16 เม.ย. | ||
13.00 น. | พิธีรับวุฒิบัตร ลาสิกขา | ศาลาสมเด็จฯ ชั้น 3 |
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
- เป็นชาย อายุระหว่าง 12-17 ปี
- มีความประพฤติดี มีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติ และสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดได้
- มีสุขภาพแข็งแรง และไม่ติดสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ เป็นต้น
- ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
สิ่งที่ต้องเตรียมมา
- รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป
- เฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ให้มีเอกสารจากทางแพทย์หรือจากสถาบันศึกษารับรองมาด้วย
- เสื้อผ้าชุดขาว 2 ชุด หรือชุดนักเรียน/นักศึกษา (เสื้อขาว-ผ้านุ่งสีขาว สำหรับใช้ในเฉพาะวันบวช ทางวัดได้เตรียมไว้ให้แล้ว ไม่ต้องนำมาด้วย)
- ของใช้ส่วนตัว เช่น ไฟฉาย, ยาประจำตัว เป็นต้น (เฉพาะ สบู่, ยาสีฟัน, ผงซักฟอก จัดให้ญาติโยมถวายเป็นไทยธรรมในวันบรรพชา)
ติดต่อสอบถามได้ที่
- ประชาสัมพันธ์วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130
090-595-5162, 090-595-5164, 090-595-5166 - email: info@dhammakaya.org
หลักสูตรการอบรม
ภาคปริยัติธรรม
- อบรมธรรมะเบื้องต้น เช่น ทาน ศีล ภาวนา, คิหิปฏิบัติ (ธรรมสำหรับฆราวาส)
- ศาสนพิธี และกิริยามารยาทที่ชาวพุทธควรรู้
- พุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ ฯลฯ
ทุกวันเวลา 14.00 น. จะมีพระอาจารย์ หรือพระเถรานุเถระ มาบรรยายธรรมประมาณ 1 ชั่วโมง
ทางวัดจะมี หนังสือคู่มือธรรมปฏิบัติและเทปสอนภาวนา ให้ตามสมควร ตามกำลังทีมีเจ้าภาพ
ภาคธรรมปฏิบัติ
- ทำวัตร สวดมนต์ เช้า-เย็น
- ฝึกอบรมเจริญภาวนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้า โดย
– การให้คำแนะนำในการฝึกเจริญภาวนา เป็นส่วนรวม และ
– การแยกเป็นกลุ่มย่อย โดยมีพระวิทยากรผู้ช่วยคอยให้คำแนะนำและควบคุมการเจริญภาวนาอย่างใกล้ชิด
กิจกรรมการอบรมประจำวัน
ภาคเช้า | |
05.00 น. | ตื่นนอน (สัญญาณระฆัง) |
05.30 น. | ทำวัตรเช้า ฝึกเจริญภาวนา |
07.00 น. | ฉันภัตตาหารเช้า |
08.30 น. | สัญญาณระฆัง |
09.00 น. | เจริญภาวนาธรรม/ธรรมบรรยาย |
10.45 น. | สัญญาณกลองเพล |
11.00 น. | ฉันภัตตาหารเพล |
ภาคบ่าย | |
14.00 น. | สัญญาณระฆัง |
14.30 น. | ธรรมบรรยาย |
16.30 น. | สัญญาณระฆัง |
17.00 น. | แบ่งกลุ่มย่อยเจริญภาวนาธรรม |
19.00 น. | สัญญาณระฆัง |
19.30 น. | ทำวัตรเย็น/เจริญภาวนาธรรม/ตอบปัญหาธรรม |
21.00 น. | ดับไฟ จำวัด |
ข้อห้ามระหว่างการเข้ารับการอบรม
- ห้ามนำสิ่งเสพติดประเภทต่างๆ เข้ามา และโปรดงดการสูบบุหรี่ตลอดการอบรม
- ห้ามพกพาอาวุธ ของมีคมต่างๆ หรือนำเข้ามาในวัด
- ห้ามสะสมอาหารและของขบเคี้ยว ในบริเวณกลด หรือที่พักของตน
- ห้ามประพฤติตนในทางที่จะขาดความสามัคคี หรือก่อให้เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกัน
- ห้ามฟังวิทยุ หรือนำอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องเสียงต่างๆ เข้ามา
- ห้ามนำหนังสืออ่านเล่นต่างๆ เข้ามา
- ห้ามจับกลุ่มสนทนากันในเรื่องไร้สาระ ที่ไม่ใช่การสนทนาธรรม หรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย
- ห้ามพูดโอ้อวดผลของการปฏิบัติธรรม
- ห้ามพูดหยาบคาย ลามก หรือคำส่อเสียด รวมทั้งไม่ส่งเสียงดังให้เกิด ความรำคาญแก่ผู้อื่นที่ต้องการความสงบหรือกำลังพักผ่อน
- ห้ามลงอาบน้ำหรือซักผ้าในคลอง
- ห้ามทำความสกปรกในบริเวณวัด เช่น ทิ้งขยะมูลฝอยลงในที่ๆ มิได้จัดภาชนะรองรับไว้
ข้อปฏิบัติระหว่างการเข้ารับการอบรม
- รักษาระเบียบวินัย เช่น การเข้าแถวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และการนั่งเจริญภาวนา
- ต้องช่วยตนเองในเรื่องความเป็นอยู่ เช่น การตักอาหาร การล้างภาชนะที่ตนเองใช้, การนอนในกลดหรือสถานที่ที่ทางวัดจัดไว้ให้
- ทำความสะอาดที่พักอาศัย/ห้องน้ำ ช่วยกันรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ ตลอดจนช่วยกันรักษาของสงฆ์ และพึงใช้ของทุกอย่างด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
- หากพบว่ามีอุปกรณ์หรือสาธารณูปโภคสิ่งใดชำรุด ให้บอกพระเจ้าหน้าที่หรืออาจารย์ที่ดูแล
- ช่วยปิดน้ำ/ไฟฟ้า ทุกครั้งที่เสร็จจากภารกิจ หรือปิดไฟตามที่ทางวัดกำหนดไว้