ปัญจพุทธพยากรณ์

เดิมมีพระโพธิสัตว์ ๕ พระองค์ นามว่ากุกกุสันธโพธิสัตว์องค์หนึ่ง โกนาคมนโพธิสัตว์องค์หนึ่ง กัสสปโพธิสัตว์องค์หนึ่ง โคดมโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เมตเตยยโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ท่านทั้ง ๕ นี้ต่างบำเพ็ญบารมีอยู่ ณ ที่ต่างกัน ภายหลังได้มาพบและสัญญากันว่า ผู้ใดได้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องมาบอกให้รู้กันที่นี่

เมื่อกุกกุสันธโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาประทับบนแผ่นศิลา ณ กันทรบรรพต ทรงลูบพระเศียรประทานเส้นพระเกศาแด่หมู่พระอรหันต์ ๆ จึงมอบไว้กับพระเจ้าอโศกมหาราช ๆ ได้ทรงประดิษฐานพระเกศธาตุนั้นไว้ ณ พระนครทุ่งยั้งนี้ แม้พระเกศธาตุพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ก็ยอมมาอยู่ที่นี้เช่นเดียวกัน

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าของเราพร้อมด้วยพระขีณาสพ ๕๐๐ ได้เสด็จมาประทับบนแผ่นศิลา นอกพระนครทุ่งยั้ง ณ กันทรบรรพตนั้น ถึงเวลาเสวย พระอานนท์ได้เชิญเสด็จไปยังภายนอกพระนครทุ่งยั้งทางด้านหลังกันทรบรรพต สถานที่แห่งนี้แลเป็นที่สำหรับพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์เสด็จมาประทับ

เมื่อเสวยเสร็จแล้ว มียักษ์ตนหนึ่งนำน้ำซึ่งใส่ในคนทีแก้วมาถวาย ขณะเมื่อยักษ์ตนนั้นเข้ามาได้ก้าวเท้าไปเหยียบมดง่ามใหญ่ ๔ ตัวเข้า พระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า เมื่อศาสนาล่วงไปถึง ๒,๐๐๐ ปี มดง่ามทั้ง ๔ ตัวนี้จักได้เป็นกษัตริย์มาครองพระนครนี้ และจะได้กระทำการยกย่องพระศาสนา และขณะนั้นมีกวางทอง พร้อมด้วย เหล่าสัตว์ป่าพากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า สัตว์เหล่านี้ต่อไปจักได้เป็นมนุษย์ช่วยกันยกย่องพระศาสนาไว้ ณ ที่นี้ อาศัยเหตุดังกล่าวมานี้ พระนครทุ่งยั้งนี้ จึงนับว่าเป็นอุดมสถานแห่งหนึ่ง

​ในยุค ๒,๐๐๐ ปีนั้นแล จะมีพระมหากษัตริย์สององค์ องค์หนึ่งพระนามว่าสริราชวงศ์ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครนี้ อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจังโกธิบดี เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครละโว้ พระมหากษัตริย์ทั้งสององค์นี้ได้ช่วยกันชลอพระพุทธรูปอันมีนามว่าคงคา สูง ๔ วาซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่าน ขึ้นมาประดิษฐานไว้ในกันทรบรรพต อันเป็นที่พระพุทธเจ้าเคยมาประทับ

และในยุค ๒,๐๐๐ ปีนั้น มีพระมหากษัตริย้องค์หนึ่งพระนามว่าพระเจ้าธรรมาโศกราช ได้เสด็จมาสู่พระนครทุ่งยั้งนี้ รับสั่งให้ขุดหลุม ๔ เหลี่ยม ลึก ๑๘ ศอก กว้าง ๑๘ ศอก แล้วทรงฝังกลบอันบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สมัยนั้นมีพระมหาเถรองค์หนึ่งนามว่ามหากาลิเทยยเถร ได้รับคำบอกเล่าจากบุรุษเข็ญใจว่า เขาได้เห็นรัศมี ๖ ประการรุ่งโรจน์อยู่ที่กิ่งรัง เมื่อพระมหาเถรมาพิจารณาดูก็ทราบว่าที่นั่นมีพระบรมสารีริกธาตุ จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้ามีพระบรมธาตุอยู่ ก็ขอได้กระทำปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์แก่ตาในบัดนี้เถิด สักครู่หนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุก็กระทำปาฏิหาริย์สว่างขึ้นไปในอากาศ โตประมาณเท่าผลตาลและผลมะพร้าว แล้วก็แตกกระจายออกไปทั่วทิศานุทิศ เมื่อกระทำสักการบูชากันเสร็จแล้วจึงช่วยกันตัดต้นรังก่อพระเจดีย์ขึ้น ณ ที่นั้น สูง ๔ วากับ ๒ ศอก ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

จบเรื่องพยากรณ์สถานที่ทั้ง ๓

—————————-

นมามิ สุคตํ นาถํเสฏฺํ ธมฺมํ สุคเตน ทีปิตํ
สงฺฆฺจ วรํ ปุฺกฺเขตฺตํวนฺทิตฺวา รตนตฺตยํ
อิมํ ปฺจพุทฺธพฺยากรณํ นามปวกฺขามิ สมาเสน อิติ
นมามิ สุคตํ นาถํ 

ความว่า ข้าพเจ้าขอขอบน้อมนมัสการพระศรีสุคตผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ ทั้งพระสัทธรรมอันประเสริฐ ซึ่งพระศรีสุคตได้ตรัสสำแดงไว้ทั้งปวง สงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาลอันนับว่าเป็นพระรัตนตรัย ข้าพเจ้าจักขอกล่าวซึ่งพุทธพยากรณ์ทังห้านี้โดยย่อ ดังต่อไปนี้ นี่เป็นถ้อยคำที่จะกล่าวโดยลำดับ ขอบัณฑิตยชนพึงทราบในเบญจพุทธพยากรณ์มีดังนี้

​ได้ยินว่าในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ คือกุกกุสันธโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดไก่เถื่อน ๑ โกนาคมนโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดนาคราช ๑ กัสสปโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดเต่า ๑ โคดมโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดโคอศุภราช ๑ ศรีอริยเมตเตยยโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดราชสีห์ ๑ ต่างองค์ต่างบำเพ็ญบารมีธรรม

ในการครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ไก่เถื่อนมีความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้มารักษาศีลอยู่แทบระหว่างซอกเขากันทรบรรพต และนาคราชโพธิสัตว์ก็มีความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ได้มารักษาศีลอยู่ที่เขากันทรบรรพตนั้น (เหมือนกัน)

นาคราชโพธิสัตว์พบพระโพธิสัตว์ไก่เถื่อนแล้วถามว่า ท่านมาอยู่ที่นี่คนเดียวมีความจำนงอย่างไรหรือ พระโพธิสัตว์ไก่เถื่อนจึงตอบว่า ตัวข้าพเจ้ามารักษาศีลอยู่ที่นี่ก็ด้วยจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ก็ส่วนตัวท่านเล่ามีความประสงค์อย่างไรจึงได้มาอยู่ที่นี่ นาคราชโพธิสัตว์ตอบว่า ตัวข้าพเจ้ามารักษาศีลอยู่ที่นี่ก็เพื่อประสงค์จะเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พระโพธิสัตว์ไก่เถื่อนจึงกล่าวต่อไปว่า ท่านนาคราชผู้เจริญ เราทั้งสองคนมีความปรารถนาเหมือนกัน เราทั้งสองจักรักษาศีลอยู่ที่นี่แหละ ดังนั้นแล้ว พระโพธิสัตว์ทั้งสองต่างองค์ก็รักษาศีลอยู่ในภูเขานั้นตามความผาสุก

ต่อแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ผู้เป็นเต่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นโค พระโพธิสัตว์ผู้เป็นราชสีห์ ต่างองค์ต่างมีความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าได้มารักษาศีลรวมกันอยู่ที่เขานั้นโดยลำดับ ๆ กัน

พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ ต่างได้กระทำปฏิสัณฐารแก่กันและกันแล้วจึงตั้งข้อกติกาไว้ต่อกันว่า สหายผู้เจริญทั้งหลายพวกเราได้มารวมรักษาศีลอยู่ในที่อันเดียวกัน ที่นี่จักต้องเป็นอุดมสถานแห่งหนึ่ง เมื่อพวกเราได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วในกัลป์เดียวกัน สหายคนไหนได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก่อน สหายคนนั้นต้องมาประกาศความเป็นพระพุทธเจ้าให้ปรากฏไว้ในที่นี้ทีเดียว

พระโพธิสัตว์ไก่เถื่อนเมื่อได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากุกกุสันโธ ได้เสด็จประทับนั่งบนแผ่นศิลาบัฏในกันทรบรรพตนั้น ทรงลูบพระเศียรเกล้าแล้ว ทรงประทานเส้นพระศกองค์หนึ่งแก่หมู่อรหันต์ทั้งหลาย พระอรหันต์เจ้าเหล่านั้นจึงได้มอบเส้นพระศกของพระพุทธเจ้านั้นไว้กับพระเจ้าอโศกราชบรมกษัตริย์ พระเจ้าอโศกราชได้ประดิษฐานพระเกศธาตุพระองค์นั้นไว้ที่ประเทศอันมีนามว่าทุ่งยั้งนี้

​พระกุกกุสันธพุทธเจ้าพระองค์จึงได้พยากรณ์ไว้ว่าเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว จะมีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งมาประดิษฐานพระธาตุของตถาคตไว้ในที่นี้ พระตถาคตย่อมรู้แน่ชัดว่า เมื่อศาสนายุกาลของพระตถาคตล่วงไปแล้วจะมีศาสนาของพระพุทธเจ้าอีก ๕ พระองค์ คือ พระโกนาคมม์ ๑ พระกัสสป ๑ พระโคดม ๑ พระศรีอริยเมตไตรย ๑ ในที่นี้ และจะมีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งๆ มาประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นไว้ในที่นี้ตราบเท่าถึงศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย

ณ สมัยกาลครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลาย เมื่อพระองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ เสด็จไปกระทำสงเคราะห์แก่เหล่าสัตว์โลกกลับจากลังกาทวีป และเมืองสาวัตถี เมืองเกาศัมภี เมืองหังสวดี เมืองราชคฤห์ แวดล้อมด้วยหมู่พระขีณาสพ ๕๐๐ เสด็จมาประทับบนแผ่นศิลาบัฏนอกพระนครทุ่งยั้งในกันทรบรรพตนั้น คราวนั้นมีบุรุษคนหนึ่งชื่อเอยยะ เพราะเป็นบุตรของชาวบ้านผู้เป็นเชษฐกนายกในตำบลนี้ เขาเป็นใหญ่กว่าประชาชนนับด้วยพัน ได้มาพบพระผู้มีพระภาคเจ้ากับหมู่อรหันต์ ๕๐๐ ประทับอยู่ในที่นั้น ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานศีลและพระบรมพุทโธวาทแก่นายเอยยะและชาวบ้านเหล่านั้น ประชาชนทั้งหลายเหล่านั้นมีนายเอยยะเป็นประมุข ได้ชวนกันกระทำพุทธบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีแตงโมเป็นต้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังประชาชนเหล่านั้นให้คลายจากความโลภ โกรธ หลง แล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทรงกระทำการสงเคราะห์แก่ประชาชนเหล่านั้นดังนี้

ครั้งนั้น พระอานนทเถรเจ้าผู้มีอายุ ได้ถือบาตรของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามเสด็จไปสู่กันทรบรรพตภายนอกพระนครทุ่งยั้ง แล้วเอาบาตรแขวนไว้ที่กิ่งพุทรา เวลานั้นเป็นภัตตกาล (เวลาเสวย) พระเรวัตเถรเจ้าจึงบอกกับพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ว่า แน่ะท่านอานนท์ เวลานี้เป็นภัตตกาล ท่านจงนิมนต์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเถิด ขณะนั้นพระอานนท์จึงเข้าไปนิมนต์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้เป็นเวลาภัตตกาลแล้วพระเจ้าข้า ขอพระองค์จงเสด็จไปนอกพระนครทุ่งยั้งทางด้านหลังกันทรบรรพตนั้นเถิด ครั้นแล้วพระอานนท์ได้ถือบาตรโดยเสด็จสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปสู่ที่ตามที่ได้กราบทูลไว้นั้น ครั้นถึงเวลาแล้วจึงพับผ้าสังฆาฏิเป็นสี่ชั้น จัดแจงปูถวายให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับในที่นั้น

​ก็สถานที่ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั้นแล เป็นสถานที่สำหรับพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ประทับ พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ทรงประทับในสถานที่นี้แล้วจึงเสวยตลอดไปอย่างนี้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลาย พระองค์ทรงกระทำภุตตากิจเสร็จแล้วได้ทรงแย้มพระสรวล ขณะนั้นพระอานนท์กับพระเจ้าเรวัตเถรเจ้า ๒ องค์ได้พากันทูลถามว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ขอพระองค์จงได้ทรงแสดงเหตุแห่งการแย้มสรวลในกาลบัดนี้เถิด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกับพระเถระทั้งสองนั้นว่า สักประเดี๋ยวเถอะ จะมีบุรุษยักษ์ตนหนึ่งนำน้ำใส่คนทีแก้วมาถวายพระตถาคตเป็นแน่ละ สักครู่หนึ่งยักษ์ตนนั้นได้ถือคนที แก้วน้ำ นั้นมา ได้เหยียบมดง่ามใหญ่ ๓ กำ ยาว ๓ ศอก ๔ ตัว ซึ่งกำลังมาสูบดมกลิ่นภัตรที่พระศาสดาเสวย แล้วเขาจึงไล่มันไปและถวายคนทีแก้วที่ใส่น้ำนั้นแก่พระศาสดา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้วได้ประทานศีล ๕ แก่ยักษ์นั้น ส่วนบุรุษยักษ์จึงถอดเขี้ยวของตนออกถวายสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ๆ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เพราะเหตุนี้แล ตถาคตจึงได้แย้มสรวล ในกาลเมื่อตถาคตบรินิพพานล่วงไปแล้ว ศาสนายุกาลล่วงไปได้ ๒,๐๐๐ ปี มดง่ามทั้ง ๔ ตัวนี้จักได้บังเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เรืองศักดิ์ในพระนครนี้โดยลำดับกัน จะกระทำการยกย่องพระศาสนาของตถาคต ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้ เมื่อได้กระทำภุตตากิจเสร็จแล้ว ก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ได้ทอดพระเนตรเห็นพระแท่นๆ หนึ่งชื่อว่าพุทธทัสนบัลลังก์ ยาว ๗ วา ก็พุทธทัสนบัลลังก์นั้นสมบูรณ์ไปด้วยการรักษา และมีเงาอันร่มรื่นเป็นที่มโนรมย์และเป็นที่ๆ สรรพสัตว์ทั้งหลายได้อาศัย ขณะนั้นมีพญากวางทองตัวหนึ่งพร้อมด้วยสัตว์ทั้งหลาย คือ ช้าง ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือดาว นกแก้ว นกสาลิกา กระรอก อันเป็นบริวาร ได้พากันมาเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำการนอบน้อม มีปีติและโสมนัส น้อมตัวลงหมายความว่าได้อภิวันทนาการในสมเด็จพระผู้มีพระศาสดา ประหนึ่งว่าได้อภิวันทนาการสมเด็จพระผู้มีพระภาคด้วยภาษาของมนุษย์ แล้วต่างก็ยืนอยู่ในที่ควร เมื่อฝูงสัตว์เหล่าได้แสดงกิริยาอย่างนี้ สมเด็จพระศาสดาจึงทรงแย้มพระสรวลในที่นี้อีก คราวนั้นพระเรวัตเถระพร้อมทั้งพระอรหันต์ทั้งหลาย ต่างกระทำอัญชุลีกรประณมนมัสการทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ​ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยเป็นไฉนหนอ ขอพระองค์จงแสดงเหตุแห่งการแย้มสรวลแด่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลบัดนี้เถิด

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายทั้งหมดอันมีพญากวางทองเป็นต้นนี้ ท่านทั้งหลายได้เห็นอยู่มิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้ว พระมหากษัตริย์และประชาชนจะได้ประดิษฐานธาตุของพระตถาคตไว้ ประชาชนทั้งหลายอันเป็นชาวบ้านชาวเมืองมีพระมหากษัตริย์เป็นประธาน ต่างก็จะชักชวนกันมาสร้างบ้านเมืองในสถานทุ่งยั้งนี้ เมื่อศาสนาของตถาคตล่วงไปได้ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว

พญากวางทองตัวนี้จักได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ร่วมหมู่ชนที่เป็นราชบัณฑิต จะชักชวนกันกระทำการยกย่องพระศาสนาในที่นี้ พระศาสนาจักรุ่งเรืองในที่นี้แล ก็พญากวางทองเมื่อได้บังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้มีบุญอันตนได้กระทำไว้ในปางก่อน จักเป็นผู้มีบุญมาก ครั้นได้พิจารณาเห็นโทษในฆราวาสวิสัย แลเห็นผลของการออกบรรพชา จึงได้ละทิ้งสมบัติแล้วออกบรรพชาในพระศาสนาของพระตถาคต เมื่อบรรพชาแล้วจักมีนามว่า ปูริชาชิอุรุ และจะชักชวนราชบัณฑิตกระทำการปฏิสังขรณ์พระศาสนาให้รุ่งเรืองในที่นี้อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งปวงอันเป็นบริวารของพญากวางทองในวนาสัณฑ์นี้ ก่อนจะบังเกิดเป็นมนุษย์ในสถานที่ไกลกันห้าสิบโยชน์บ้าง ร้อยโยชน์บ้าง เป็นหมู่ ๆ กัน แล้วต่างคนต่างพาบุตรภรรยามาแต่ต่างทิศมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ที่นี่ เมื่อประชาชนทั้งหลายได้ยินพระปูชิราชิอุรุป่าวร้องว่า สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายไม่มีใครสามารถที่จะทำให้พระศาสนารุ่งเรืองได้ เพราะเหตุนั้นจึงได้พากันไปประกอบการงาน ตั้งบ้านเรือนเคหสถานอยู่ในที่นี้จนเจริญ จำเดิมแต่นั้นมา ตำบลบ้านนี้จึงมีค่าเทียมกับกหาปณะทองอันมีค่าสูงทีเดียว ครั้งนั้นประชาชนเหล่านั้นมีสุขมากมีความลำบากน้อย ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหากษัตริย์และเทพดามนุษย์ทั้งหลาย ต่างพากันมากระทำสักการกรรมในที่นี้ ประหนึ่งว่าตถาคตยังอยู่ทีเดียว ที่นี้แหละจักเป็นที่สำหรับประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในภัททกัลป์นี้ทีเดียว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ย่อมเสด็จประทับบนแผ่นศิลาบัฏนี้ ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นั้นคือ พระกุกกุสันโธ ๑ พระโกนาคมม์ ๑ พระกัสสป ๑ พระโคดม ๑ เป็น ๔ เป็น ๕ ทั้งพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ๆ เมื่อได้บรรลุ​แก่พระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณแล้ว จักประทับบนแผ่นศิลาบัฏนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระนครทุ่งยั้งนี้ จึงนับว่าเป็นอุดมสถานแห่งหนึ่ง

เมื่อศาสนายุกาลล่วงไปได้ ๒,๐๐๐ ปี จะมีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ ทรงพระนามว่า สริราชวงศ์ ๑ จังโกธิบดี ๑ องค์ที่ทรงพระนามว่าสริราชวงศ์ ได้เสวยถวัลยราชสมบัติในพระนครทุ่งยั้งนี้ ส่วนองค์ที่พระนามว่าจังโกธิบดี จักได้เสด็จผ่านสมบัติในพระนครละโว้

พระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ ทรงมีพระราชไมตรีต่อกัน ทรงร่วมพระราชหฤทัยกันหล่อพระพุทธรูปอันมีนามว่าคงคา สูง ๔ วา ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่านขึ้น ด้วยพระราชศรัทธาแล้วนำมาประดิษฐานไว้ในราชรถ เอาสุวรรณบัณเฑาะว์ที่ขุดได้ในแม่น้ำน่านนั้นประโคมแล้วนำไปตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปนั้น นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในกันทรบรรพตอันเป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าเคยมาประดิษฐาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายเหล่าใดทั้งบุรุษและสตรี ทั้งพระมหากษัตริย์และสมณะพราหมณาจารย์ เมื่อมากระทำการซ่อมแปลงสถานที่นี้ด้วยจิตศรัทธาก็ดี มากวาดแผ้วแล้วกระทำวันทนาการนอบนบในสถานที่นี้ก็ดี มากระทำสักการบูชาด้วยวัตถุทั้งหลายมีดอกไม้เป็นต้นในสถานที่นี้ก็ดี ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมสามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิทั้ง ๔ เสียได้โดยไม่ต้องสงสัย และจะประกอบด้วยอายุยืนยาวปราศจากอุปัทวันตรายทั้งปวง เมื่อละไปจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ย่อมได้ไปบังเกิดในกามาพจรสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นเสวยทิพยสมบัติ เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏโดยอนุโลมปฏิโลม (กลับไปกลับมา) ดังนี้แล้ว ในปัจฉิมชาติที่สุดก็จะได้บรรลุแก่พระนฤพานเป็นแท้ เพราะเหตุฉะนั้น สถานที่นี้จึงนับเนื่องว่าเป็นสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสพยากรณ์ไว้อีกแห่งหนึ่ง

เมื่อศาสนายุกาลล่วงไปได้ ๒,๐๐๐ ปีจักมีพระบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าธรรมาโศกราชบพิตรได้เสด็จมาสู่พระมหานครทุ่งยั้งนี้ ทรงกำหนดถือเอาพื้นดินแห่งหนึ่งในพระมหานครทุ่งยั้งนี้ แล้วขุดหลุม ๔ เหลี่ยมจัตุรัสหลุมหนึ่งลึก ๑๘ ศอก กว้าง ๑๘ ศอก หล่ออ่างทองอ่างหนึ่งเอาน้ำใส่ในอ่างนั้นจนเต็มแล้ว เอาราชสีห์ตัวหนึ่งซึ่งหล่อขึ้นด้วยทรัพย์ราคา ๑๐ แสนตั้งไว้ในอ่างทองนั้นแล้ว ให้ทำผอบแก้วผลึกผอบหนึ่งเป็นราคา ๑๐ แสน เอาขึ้นประดิษฐานไว้เหนือหลังราชสีห์ในอ่างหองนั้น แล้วให้ทำ​รูปนารายณ์ทองทำรูปหนึ่งเป็นราคา ๑๐ แสน พระหัตถ์ถือผอบแก้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในเบื้องทิศตะวันออก แล้วกระทำปราสาททององค์หนึ่ง คิดเป็นราคา ๑๐ แสน ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์นั้น ทางทิศตะวันตกได้หล่อรูปพระอินทร์ด้วยทองมีหัตถ์ถือจักราวุธประดิษฐานไว้ ส่วนในทิศทักษิณได้หล่อรูปท้าววิรุฬหก มีหัตถ์ถือพระขรรค์ทองประดิษฐานไว้ แล้วทำรูปภาพยนตร์เคลื่อนไหวไปมาหมุนอยู่รอบ ๆ ที่นั้น แล้วมีพระดำรัสสั่งรูปเหล่านั้นว่า แน่ะท่านทั้งหลายผู้เจริญ ท่านจงช่วยกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าไว้ในสถานที่นี้ ถ้าใครประสงค์จะมาทำอันตรายแก่พระบรมสารีริกธาตุนี้ ท่านทั้งหลายจงยังเขาเหล่านั้นให้ถึงซึ่งความพินาศเถิด ใคร ๆ ไม่มีเหมือนอย่างท่าน ถ้าหากว่าใครเขาจะมากระทำสักการบูชาก็ดี มาเคารพนบนอบในสถานที่นี้ด้วยความปีติและโสมนัสก็ดี จักทั้งบังเกิดความเลื่อมใสในที่นี้ก็ดี ท่านทั้งหลายจงช่วยรักษาเขาเหล่านั้น อย่ากระทำอันตรายแก่เขาเหล่านั้นเคย ครั้นทรงกำชับอย่างนี้แล้ว พระเจ้าธรรมาโศกราชบรมกษัตริย์และพระอรหันต์ทั้งหลายกับประชาชนเป็นอันมากได้ช่วยกันปิดปราสาทนั้นด้วยทองและเงินและอิฐหินกรวดทราย แล้วเกลี่ยพื้นดินเสียให้เสมอช่วยกันปลูกไม้รังลงไว้ในสถานที่นั้น ส่วนพระมหากษัตริย์พระองค์จึงได้พาพลพาหนะเสด็จไปสู่มาเลยยารามอันมีนามว่าสัตตันตร

เมื่อศาสนายุกาลล่วงไปได้ ๒๐๐๐ ปีเศษ กวางทองซึ่งต้องพุทธพยากรณ์นั้นได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ได้บรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา มีนามปรากฏว่ามหากาสิเทยยปูชิราชิอุรุ ครั้งนั้นมีบุรุษเข็ญใจคนหนึ่ง ทำไร่ถั่วอยู่ใกล้ไม้รังในตำบลที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปราสาทภายใต้ไม้รังนั้น ได้กระทำปาฏิหาริย์ มีพระรัศมีหกประการรุ่งโรจน์จับกิ่งไม้รัง โค ๒ ตัวได้เห็นเช่นนั้นก็ตกใจพากันหนีไปจากที่นั้น บุรุษเข็ญใจครั้นได้เห็นอย่างนั้น ครั้นทำไร่เสร็จแล้วก็กลับมาบ้านนำเนื้อความนั้นไปบอกแก่บุรุษคนหนึ่งชื่อคามกุต นายคามกุตจึงพาบุรุษเข็ญใจนั้นไปเล่าเรื่องให้พระมหาเถระฟังตามเรื่องที่ได้เห็นมา ขณะนั้นพระมหาเถระ (คือพระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ) และนายคามกุตจึงพาบุรุษเข็ญใจผู้ชาวไร่ไปที่ต้นรัง พระเถระเจ้าได้พิจารณาดูต้นรังด้วยญาณของพระผู้เป็นเจ้าก็รู้ประจักษ์ว่า โอหนอ พระอรหันต์ทั้งหลายได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาไว้ในที่นี้ ครั้นแล้วพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ตัวเรานี้ถ้าจักได้กระทำการยกย่องพระศาสนา ขอพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระบรม​ศาสดาจารย์เจ้าจงกระทำปาฏิหาริย์ ให้เห็นปรากฏแก่ตาเราในบัดนี้เถิด สักครู่หนึ่งพระบรมสาริริกธาตุก็กระทำปาฏิหาริย์โชตนาการสว่างขึ้นไปในอากาศมีประมาณเท่าผลตาลและผลมะพร้าวแล้วก็แตกกระจายออกสว่างแจ้งไปทั่วทิศานุทิศคล้ายกับดอกไม้เพลิง คนทั้งสามมีพระมหาเถระเจ้าเป็นประธาน ก็บังเกิดความตื้นเต็มโสมนัสปรีดา กระทำสักการบูชาวันทนาการแล้ว ช่วยกันตัดต้นรังนั้นออกแล้วก่อเป็นเจดีย์ ที่นั้นจึงนับว่าเป็นอุดมสถานแห่งหนึ่งปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ พระเจดีย์นั้น สูง ๕ วากับ ๒ ศอก ครั้นสำเร็จแล้วนายคามกุตได้ขุดหลุมๆ หนึ่ง ลึกกำมา ๑ ในเนินพระเจดีย์นั้น เอาเงินหมื่นหนึ่งฝังลงในหลุมนั้นแล้วตั้งอธิษฐานว่า ถ้าใครจะมาเป็นผู้บำรุงศาสนาในที่นี้ ขอจงพบทรัพย์ในหลุมนี้เถิด และมารดาของนายคามกุตได้เอาศิลาแผ่นหนึ่งมาแกะเป็นปลาตะเพียนแล้วขุดหลุมลึกกำมา ๑ เอาทองฝังลงไว้ในหลุมปิดด้วยแผ่นศิลาซึ่งแกะเป็นปลาตะเพียนและก้อนศิลาอื่นอีก แล้วตั้งอธิษฐานอย่างนั้นเหมือนกัน พระเจดีย์และพระนครนี้ได้มาปรากฏขึ้นต่อเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดทั้งเทพดา มนุษย์กษัตริย์และสมณะพราหมณาจารย์ ทั้งที่เป็นผู้มั่งคั่งและขัดสนได้พากันมากระทำสักการะที่เจดีย์ และมาแผ้วกวาดอภิวาทปฏิสังขรณ์ เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้กระทำพุทธบูชา เหมือนดังเมื่อตถาคตยังอยู่ทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย กาลนั้นสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอรัญญประเทศมีราชสีห์และช้างเป็นต้น อันเป็นบริวารของพญากวางหอง จะได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อาศัยอยู่ในที่ไกลกันร้อยวาบ้าง ร้อยโยชน์บ้าง ได้สดับกิติศัพท์ ต่างก็ชักชวนกันมาในที่นี้ สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น

ประเทศที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้น ไม่มีใครสามารถจะทำให้รุ่งเรืองได้ เพราะเหตุนั้นแล เมื่อพระผู้เป็นเจ้าปูชิราชิอุรุ ได้กระทำตามพระพุทธพยากรณ์ ประชาชนที่ทราบข่าวจึงได้พากันมาเอง ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีราชสีห์และช้างเป็นต้น ได้ทราบเรื่องดังนี้แล้ว ต่างก็พากันมากระทำการยกย่องพระศาสนากับด้วยพระมหาเถระเจ้าปูชิราชิอุรุนั้น ต่อแต่นั้นมาประชาชนเหล่านั้น จึงได้ชักชวนกันมาปลูกบ้านสร้างเมืองอยู่ตามผาสุกในสถานที่นี้ อนึ่งสถานที่นี้มีค่าเท่ากับกหาปณะทองอันสูงทีเดียว

ในกาลครั้งนั้น มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสริราชวงศ์ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่ในพระมหานครนี้ พระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง​พระนามว่าจังโกธิบดี จักได้ผ่านสมบัติในพระนครละโว้ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์มีพระราชไมตรีต่อกัน ได้ชวนกันพาพลพาหนะไปสู่สถานที่ ๆ พระพุทธรูปองค์หนึ่งจมอยู่ในพระนครทุ่งยั้งนั้น ขุดพระพุทธรูปขึ้นจากแม่น้ำ เล่ากันมาเป็นนิยายว่า มีพระราชาองค์หนึ่งได้ยกพระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นประดิษฐานไว้บนแพ กระแสน้ำพัดแพนั้นแตก พระพุทธรูปจึงได้จมลงในที่นั้น ที่นั้นจึงเรียกกันว่าตำบลพระจม จนตราบเท่าทุกวันนี้ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ชลอพระพุทธรูปขึ้นจากที่นั้น แล้วกระทำสักการบูชาพระพุทธรูปด้วยวรามิสทั้งหลาย มีดอกไม้เป็นต้น อัญเชิญพระพุทธรูปนั้นขึ้นสู่ราชรถ นำสุวรรณบัณเฑาะว์ซึ่งขุดได้ในแม่น้ำนั้นตั้งไว้เฉพาะพระพักตร์พระพุทธรูปนั้น แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในอาราม อันเคยเป็นที่เสด็จประทับของพระพุทธเจ้าในภายนอกพระนครทุ่งยั้งนั้น

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายไม่ว่าผู้ดีมีจน มีปสาทศรัทธา ได้มากระทำสักการบูชาในสถานที่ทั้ง ๓ นี้คือ

สถานที่อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ๑

สถานที่อันเป็นอารามอันประดิษฐานพระพุทธรูปนี้ ๑

สถานที่แผ่นศิลาอันเป็นที่ประทับของพระพุทธ์เจ้า ๑

ย่อมจะเป็นบุคคลปราศจากโรคและอุปัทว์ทั้งปวง มีอายุยืนยาว เมื่อจุติจิตจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ย่อมบังเกิดในกามาพจรสวรรค์เสวยสมบัติตราบเท่าถึงชั้นปรนิมมิตวัสสวดี เมื่อจุติจากสวรรค์แล้วย่อมกลับมาบังเกิดในมนุษย์โลกเสวยสมบัติ แล้วจักได้บรรลุพระนิพพานในกาลเป็นที่สุดภายหลัง

จบพยากรณ์สถานที่ทั้ง ๓

แชร์เลย

Comments

comments

Share: