พระที่ท่านเห็นอยู่นี้จัดว่าเป็นของหายาก บรรดาลูกศิษย์ยุคเก่า ต่างทราบกันดี ในช่วงปลายปี2540 มีญาติโยมคณะหนึ่ง ได้นำพระถ้ำเสือ มาถวายหลวงป๋า เพื่อให้หลวงป๋าได้ใช้ เป็นพระขวัญแก่ญาติโยมที่มาทำบุญ พระทั้งหมดมีจำนวนหลายกระป๋อง (กระป๋องสังฆทานสีเหลือง)ด้วยกัน ถูกนำขึ้นไปไว้บนพระอุโบสถ เพื่อให้หลวงป๋าและคณะผู้ทำวิชชา ได้เจริญวิชาซ้อนทับไปในองค์พระ ทำเช่นนี้ทั้งเช้า-เย็น เป็นเวลาร่วมสองเดือน แล้วจึงนำพระถ้ำเสือเหล่านั้น ออกเป็นของขวัญ ให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญเข้าวัด พระชุดนี้ได้ให้บูชา ณ.ประชาสัมพันธุ์เก่า หน้าศาลาอเนกประสงค์ หลังจากนั้น ช่วงปลายปีนั้นเอง หลวงป๋ายังได้แจกพระถ้ำเสือเหล่านี้ ให้พระเณร และญาติโยม ผู้ที่มาอบรมพระกัมมัฏฐานในช่วงเดือนธันวาคมด้วย พระถ้ำเสือเหล่านี้ มีหลากหลายพิมพ์มาก ด้านในพระถ้ำเสือนั้น มีเหล็กไหลตาน้ำ อยู่ในเนื้อองค์พระด้วย พระถ้ำเสือชุดนี้ หากใช้แม่เหล็กทดสอบ จะมีแรงดูดติดแบบแผ่วๆ พระชุดนี้ได้ถูกเก็บออกไปจาก ประชาสัมพันธ์เก่า ในช่วงกลางปี2541 ในช่วงนั้นทางวัดได้สร้างพระของขวัญ หลายรูปแบบ เพื่อเป็นการฉลองหอฉันใหม่ และฉลองยศเจ้าคุณของหลวงป๋า
พระถ้ำเสือองค์นี้ เป็นพิมพ์พระคันธารราฐ สำหรับประวัติของพระพิมพ์คันธราช ก็มีดังนี้ครับ
พระพุทธรูปคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์ สร้างขึ้นเป็นพระขอฝน สำหรับใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พรุณศาสตร์) และงานพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อความเป็นมงคลในการพระราชพิธี อำนวยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดม พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์
พระพุทธรูปคันธารราฐ สร้างขึ้นโดยอาศัยเรื่องอันมีมากในพระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เรื่องมัจฉชาดก กล่าวว่า ครั้งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาอยู่ ณ เชตวนารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นเกิดฝนแล้ง พื้นแผ่นดินแคว้นโกศลแห้งผาก จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคก็เหือดแห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายได้ความลำบาก ด้วยฝูงกามาจิกกิน ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จบิณฑบาต เห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทำภัตกิจแล้ว ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎก (ผ้าชุบสรง) มาถวาย พระอานนท์ก็ทูลว่าน้ำในสระแห้งเสียหลายวันแล้ว พระองค์ก็คงตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกอยู่ พระอานนท์จึงได้นำมาถวาย พระองค์ทรงรับผ้ามา ทรงนุ่งด้วยชายผ้าข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งตะหวัดขึ้นห่มคลุมอังสา เสด็จยืนที่บันไดขอบสระโบกขรณี แสดงอาการจะสรงสนาน พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นทางทิศประจิม และฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง ด้วยพุทธานุภาพ ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินในคันธารราฐองค์หนึ่ง ได้ทรงฟังเรื่องพระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสสั่งให้สร้างพระพุทธปฏิมามีอาการดังจะสรงน้ำเป็นนัยเรียกฝนเช่นนั้น เมื่อปีใดฝนแล้งก็ให้เชิญพระปฏิมานั้นมาตั้งบูชาขอฝน ฝนก็ตกดังประสงค์ ในชั้นหลังมามีพุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้นต่อๆมา จึงเรียกสมญาพระพุทธรูปสรงสนานดังกล่าวว่า “พระพุทธคันธารราฐ” เพราะเหตุที่สร้างขึ้นในเมืองคันธารราฐเป็นต้นแบบแต่เดิมมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระพุทธคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา โดยเหตุที่กล่าวกันว่า เมื่อปีฉลูเบญจศกอันเป็นปีพระราชสมภพ ต้นปีฝนแล้ง ข้าวในนาเสียหายมาก เมื่อทรงประสูติ ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระบรมมหาราชวังมีน้ำท่วมถึงเข่า เป็นอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ประกอบการพระราชพิธีขอฝนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงเป็นสิริแห่งการขอฝน จึงโปรดให้ใช้พระคันธารราฐเป็นพระประจำพระชนมพรรษาของพระองค์ โดยหล่อเป็นพระพุทธรูปนั่งขอฝน ตามแบบที่มีมาแต่โบราณ
พระองค์นี้ ได้มาจากลูกศิษย์ท่านหนึ่ง ที่อยู่ในยุคปี40