อุโบสถ
อุโบสถวัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยดีเด่น” เมื่อปี พ.ศ.2539
อุโบสถ มี 3 ชั้น
ชั้นบน
มีห้องพระ เป็นห้องกระจก เป็นที่ประดิษฐานพระประธานและพระคู่บารมีพระประธาน
รัตนบัลลังก์ ทั้งหมด เป็นศิลปะปูนปั้นช่างพื้นบ้านสุพรรณบุรี ประดับรัตนชาติชนิดต่างๆ เช่น ทับทิม พลอยสีต่างๆ หยก หินผลึกและรัตนชาติอื่นๆ อีกมากมาย ฝาผนัง เป็นลายไทยลงรักปิดทอง ผนังด้านหลังประธาน ประกอบด้วยซุ้ม 5 ซุ้ม ซุ้มใหญ่ 3 ซุ้ม เจาะผนังเป็นช่องบรรจุผอบหรือโล้ว ซึ่งภายในผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ เพื่อให้มนุษย์และปวงเทพเทวาได้กราบไหว้บูชา ส่วนด้านนอกของห้องพระ เป็นบริเวณพื้นที่ที่พระภิกษุใช้ทำสังฆกรรมต่างๆ เช่น บรรพชาอุปสมบทกุลบุตร ฟังพระปาฏิโมกข์ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่เจริญภาวนาชั้นสูงของผู้ถึงธรรมกายด้วย บานประตู และบานหน้าต่าง สำเร็จด้วยทองแดงเป็นลายดุนนูน แสดงปริศนาธรรม เพื่อความคงทนถาวรและสะดวกในการบำรุงรักษา และให้ผู้ศึกษาสัมมาปฏิบัติ ได้ทราบความหมายจากปริศนาธรรมนั้น
ชั้นที่ 2
เป็นชั้นลอย มีห้องเก็บรักษาพระบูชาของวัด ผนังด้านนอก เป็นที่จารึกรายชื่อผู้ทำบุญสร้างอุโบสถ โดยจารึกลงในแผ่นหินอ่อนแล้วปิดทอง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งบุญอันสำคัญในการที่เหล่าพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้างอุโบสถแห่งนี้ขึ้น พื้นที่ด้านนอก ใช้เป็นที่สอนภาวนา ต่อธรรมะสำหรับผู้เห็นดวงเห็นกายให้ถึงธรรมกาย
ชั้นล่างสุด
เป็นห้องโถง สามารถจุคนได้ประมาณ 100 คน ใช้เป็นที่สอนภาวนาเบื้องต้นได้ ที่ฝาผนังมีแผ่นหินอ่อน จารึกประวัติการสร้างวัดและกฎระเบียบวัดไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติของวัดแห่งนี้
อาคารรอบอุโบสถ ประกอบด้วย วิหารแกลบ 2 หลัง และศาลาราย 4 หลัง
วิหารแกลบ คือ วิหารเล็ก 2 หลัง ที่สร้างขนาบกับตัวอุโบสถเพื่อเสริมอุโบสถให้สูงเด่นขึ้น โดยวิหารแกลบด้านทิศใต้ของอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระต้นแบบของพระประธานในอุโบสถ พร้อมทั้งประดิษฐานพระหินทรายสมัยทวาราวดี อันมีค่าประมาณมิได้ และพระที่สำเร็จจากรัตนชาติอื่นๆ อีกมาก ส่วนวิหารแกลบด้านทิศเหนือ เป็นสถานที่จะนำพระพุทธรูปเข้าประดิษฐานต่อไป ศาลาราย คือ ศาลาหลังเล็กๆ 4 หลัง ที่มุมทั้ง 4 ของอุโบสถ เป็นส่วนเสริมอุโบสถให้เด่นขึ้น ใช้เป็นสถานที่สอนภาวนาธรรม และศาลารายหลังอุโบสถ เป็นที่ที่หลวงพ่อเจ้าอาวาส ใช้ต้อนรับแขกและญาติโยม ที่ต้องการพบด้วย | |
สีมา ตัวสีมาสำเร็จจากทองเหลือง ก่ออยู่บนฐานปูนปั้นปูหินอ่อน อยู่รายรอบอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เป็นเครื่องหมายอันประกาศให้รู้ถึงเขตแดนที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม และเป็นเครื่องเตือนสติด้วยว่าเมื่อเข้าสู่เขตของอุโบสถแล้ว “เราต้องสำรวม” | |
หอระฆัง หอระฆัง มี 3 ชั้น เป็นศิลปะแบบเดียวกันกับอุโบสถ ชั้นบนสุด เป็นที่ตั้งระฆัง ใช้สำหรับตีให้สัญญาณเพื่อเรียกประชุมสงฆ์ เช่น ในเวลาทำวัตรเช้า-เย็น ชั้นที่สอง เป็นที่ตั้งของฆ้อง ใช้สำหรับตีในเวลามีกิจจำเป็น แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้ ชั้นล่าง เป็นที่ตั้งของกลองใหญ่ ใช้สำหรับตีให้สัญญาณเวลาเพล ในการรวมของภิกษุเพื่อทำภัตรกิจ และเวลาประชุมสงฆ์ในการทำอุโบสถ คือฟังพระปาฏิโมกข์ รวมทั้งตีเป็นจังหวะพร้อมกับระฆังเมื่อมีการเวียนเทียนคือทำประทักษิณ 3 รอบ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา เป็นต้น | |
ศาลาอเนกประสงค์ เมื่อก้าวเข้าสู่วัดหลวงพ่อสดฯ นอกจากจะได้เห็นอุโบสถ ที่เห็นเด่นเป็นสง่าสวยงามแล้ว สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งได้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2529 โดยมีคุณอิฐ – สุธาร สุขยางค์ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 5.6 ล้านบาท มีลักษณะเป็นศาลายอดแหลม ทรงสูง หน้าต่างประตูเป็นกระจกใสบานใหญ่ ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง ไม่ทึบอึดอัด เหมาะแก่การเจริญภาวนาธรรม และช่วยประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าด้านแสงสว่างด้วย เป็นการออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ศาลาอเนกประสงค์ มี 2 ชั้น คือ ชั้นบน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และรูปเหมือนของหลวงพ่อสดฯ เพื่อให้ญาติโยมได้กราบไหว้เป็นพุทธานุสสติ และระลึกถึงคุณของหลวงพ่อสดฯ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า โดยชั้นบนนี้เป็นสถานที่ในการให้การอบรมศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณร ในยามปกติ เมื่อทำวัตรเช้าเย็น และเป็นสถานที่สอนภาวนาธรรมให้แก่ ญาติโยม และพระภิกษุ ทั่วทิสานุทิศ ในช่วงเวลาอบรมพระกัมมัฏฐาน ทั้งรุ่นกลางปี และปลายปี รวมถึงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน (รวมทั้งการบรรพชาสามเณร) และการอบรมเยาวชนระยะสั้นตลอดทั้งปีต่างๆ เช่น การทอดผ้าป่า การทอดกฐิน และงานบำเพ็ญกุศล สำคัญอื่นๆ ก็ใช้ศาลาแห่งนี้ในการจัดงานทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า การจัดกิจกรรมเกือบทั้งหมดจัดขึ้นที่นี่ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลย ถึงชื่อของศาลาว่า “ศาลาอเนกประสงค์” ชั้นล่าง เป็นที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรมในระยะชั่วคราวและเป็นคลังสำหรับเก็บวัสดุอุปกรณ์ กลด และเครื่องนอน ทั้งยังมีห้องควบคุมเสียงอยู่ในชั้นนี้ด้วย | |
วิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ อีกจุดหนึ่งของสถานที่อันเป็นเสมือนดวงตาของวัดหลวงพ่อสดฯ นั่นก็คือ “วิหารหลวงพ่อสด” วัดปากน้ำ มีลักษณะโดดเด่นแบบเรือนไทย สีขาวสะอาด สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2537 โดยมี เจ้าประคุณหลวงพ่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นเจ้าภาพใหญ่ในการก่อสร้าง ร่วมกับญาติโยมอื่นๆ มีพระมหาสุจิตต สุจิตโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง งบประมาณทั้งสิ้น 5.5 ล้านบาท สร้างขึ้นบนเกาะกลางน้ำ บริเวณรอบวิหาร มีพรรณไม้มีค่ามากมาย ปลูกรายล้อมไว้อย่างร่มรื่น ท่ามกลางวิหาร ท่านจะเห็นรูปเหมือนหลวงพ่อสดวัดปากน้ำตั้งยืนสง่า และรูปเหมือนในท่านั่งขนาดเท่าองค์จริง ไว้ให้ปิดทอง เพื่อเป็นสังฆานุสสติ เป็นที่ระลึกนึกถึงพระคุณของท่าน ที่ได้ปฏิบัติและสอนภาวนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกายและพระนิพพาน และได้แนะนำสั่งสอนถ่ายทอดสืบต่อมาถึง พวกเราได้ปฏิบัติตาม ดังนั้น ท่านจึงเสมือนผู้ให้แสงสว่างในการปฏิบัติธรรม เปิดดวงตาของผู้ปฏิบัติตาม ให้เห็นสัจจธรรมที่เป็นจริง ให้เข้าถึง ได้รู้ ได้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตและธรรมในธรรม เป็นทั้ง ณ ภายนอก และ ณ ภายใน จนสุดละเอียด ถึงธรรมกาย ตามรอยบาทพระพุทธองค์ | |
โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถานที่สำคัญในวัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ให้ความรู้ในทางปริยัติ แก่พระภิกษุสามเณร เพื่อที่จะเป็นพระวิทยากรที่ดี ทรงคุณวุฒิทั้งการศึกษาและปฏิบัติ นั่นก็คือ สำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี เฉพาะแผนกบาลี วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ได้รับการจัดตั้งเป็น โรงเรียนปริยัติธรรม (แผนกบาลี) ประจำจังหวัดราชบุรี (แห่งที่ 2) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2542 โรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ทั้ง 2 แผนก (แผนกธรรมและแผนกบาลี) ประกอบด้วยอาคาร 3 ชั้น 2 หลัง มีสะพานเชื่อมต่อกัน สร้างอย่างอาคารทั่วไป เรียบง่าย ขาว สะอาด เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และการใช้สอย รวมทั้งเพื่อประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง โดยพระมหาสุจิตต สุจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 14 ล้านบาท อาคารหลังแรก คือ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9” มี ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) โดยคุณบรรเจิด ชลวิจารณ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพใหญ่ ในการก่อสร้างร่วมกับญาติโยมและสาธุชนอื่นๆ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2539 อาคารหลังที่ 2 ชื่อ “อาคารมงคลเทพมุนี” มีอาจารย์ตรีธา เนียมขำ นายกสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ พร้อมกับญาติโยมสาธุชนเป็นเจ้าภาพ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2540 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จแทนพระองค์มาทรงเปิดอาคาร ทั้ง 2 หลังนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2540 อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้ง 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้จัดการศึกษาตามระเบียบของคณะสงฆ์ไทย แผนกธรรม เปิดสอนตั้งแต่ชั้นนักธรรมตรี-โท-เอก ส่วนแผนกบาลี เปิดสอนตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ ถึงชั้นประโยค ป.ธ.8 | |
ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศาลาหอฉัน) เป็นอาคาร 3 ชั้น สีขาว สร้างเพื่อทดแทนอาคารไม้หลังเดิมที่คับแคบ ไม่เพียงพอแก่ใช้สอย และต้อนรับสาธุชนและผู้มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด ชั้นบนสุด เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมพระกัมมัฏฐานหรือพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีเจริญจิตตภาวนา ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ชั้นกลาง เป็นที่ฉันภัตตาหารสำหรับพระภิกษุสามเณรของวัดซึ่งมีจำนวนกว่า 100 รูป และมีเพิ่มอีกเป็นหลายร้อยรูปในช่วงอบรมพระกัมมัฏฐาน นอกนี้ยังใช้เป็นที่ประกอบพิธีบุญกุศลต่างๆ ในยามที่มีประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมากกว่าที่จะใช้ศาลาอเนกประสงค์ได้ และใช้เป็นที่ประชุมอบรมพระกัมมัฏฐานอีกดัวย ชั้นล่างสุด ใช้เป็นที่พักอาศัยของอุบาสก อุบาสิกา ที่จะมาอยู่ปฏิบัติธรรมในช่วงเวลาอบรมพระกัมมัฏฐาน โรงครัว (ตั้งอยู่ด้านหลังศาลาหอฉัน) ชั้นล่าง – เป็นที่ทำอาหาร เลี้ยงพระภิกษุสามเณร และสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรม ชั้นบน – ใช้เป็นที่พักชั่วคราวของพนักงานทำครัว | |
สำนักงานวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม สำนักงานมูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อยู่บริเวณเชิงสะพานโค้ง หน้าอาคารศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ มี 2 ชั้น ชั้นล่าง สำหรับงานประชาสัมพันธ์ ติดต่อสอบถาม และการรับบริจาค เป็นต้น ชั้นบน ที่ทำงานของพระภิกษุ และมีห้องบันทึกเสียงสำหรับทำรายการวิทยุ |