บรรดาระดับอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้าชั้นสูง
ท่านจะสอนลูกศิษย์ลูกหาให้พิจารณาดวงใส ณ ภายในเหมือนกันหมด
มีพระคุณเจ้าระดับวิปัสสนาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นเจ้าสำนัก ได้ยินว่าท่านนั่งเจริญภาวนา ท่านนั่งไปเอง พุทโธๆ ก็เห็นกายมนุษย์ละเอียดปรากฏขึ้นภายนอกกายหยาบ ท่านเห็นกายมนุษย์ละเอียดนั่งอยู่ภายนอกกายหยาบ ท่านก็เลยเอากายละเอียดพิจารณากายหยาบ เอากายหยาบพิจารณากายละเอียด ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เพียงเท่านั้นแหละ เลยไม่ได้ก้าวหน้าให้ถึงธรรมกาย ท่านก็พิจารณาไตรลักษณ์อยู่แค่นี้
อาตมาพยายามส่งเอกสาร นิตยสารธรรมกาย ทั้งเทป ไปถวาย ไม่ทราบว่าท่านได้ดูหรือเปล่า ถ้าว่าท่านได้ดู ท่านเดินวิธีปฏิบัติตามนิตยสารนั้น แป๊บเดียวท่านก็จะสามารถปฏิบัติถึงธรรมกาย และถึงพระนิพพาน อันเป็นธรรมชั้นสูงได้เร็ว เพราะท่านมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว กายมนุษย์ละเอียดท่านเห็นอยู่แล้วเป็นประจํา นั่งพิจารณาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เพียงเท่านั้นเป็นประจำ ไม่ได้ปฏิบัติเข้ากลางของกลาง และดับหยาบไปหาละเอียดให้ไปถึงสุดละเอียด
หลายท่านก็สอนกันว่า นี่เป็นนิมิตหลอกนิมิตลวง ให้ปฏิเสธเสีย เพราะว่าเขาไม่รู้วิธีเข้ากลางของกลาง และดับหยาบไปหาละเอียด ไปจนสุดละเอียด ถึงธรรมกาย และไปถึงพระนิพพาน ก็เลยนึกว่านี่เป็นนิมิตหลอกตัดทิ้งซะ ไม่เอาซะเลย เมื่อไม่เอาก็ไม่มีฐานที่ตั้งของจิตที่มั่นคง จิตไม่มีฐานที่ตั้งที่จะเป็นสมาธิได้แนบแน่นมั่นคง เพื่อปฏิบัติเข้ากลางของกลาง ดับหยาบไปหาละเอียด ไปสุดละเอียด ถึงธรรมกาย ไม่มีฐานอันมั่นคง เมื่อไม่มีฐานมั่นคงก็ไปไม่ถึงธรรมกาย ไม่ถึงอายตนะนิพพาน แต่ว่าคุณธรรมของท่านบรรลุได้ ละกิเลสท่านก็ทำได้ แต่ว่าที่จะถึงธรรมกาย ไปถึงอายตนะนิพพาน ท่านยังทำไม่ได้ เพราะท่านเห็นธรรมกายเมื่อไหร่ก็ปฏิเสธว่าเป็นนิมิต ก็เท่ากับเลื่อยหรือตัดขาเก้าอี้ที่ตนนั่ง
อีกท่านหนึ่งนั่น เป็นระดับลูกศิษย์ในสำนักหนึ่ง นั่งภาวนาทีไร เห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป เพราะอาจารย์ท่านสอนไว้ว่านั่นเป็นนิมิต เป็นนิมิตลวง นั่งไปอีกก็เห็นอีก ไม่เอา ปฏิเสธเสีย ธรรมจึงไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร ไปติดอยู่แค่นั้น
เพราะฉะนั้น เรื่องจริงๆก็มีอยู่นิดเดียวเท่านั้นว่า บางท่านอาจจะถือกันมาผิดๆ จากเจตนาที่พระอาจารย์ท่านสอนจากประสบการณ์
จากที่เคยได้ยินได้ฟังมา พระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ท่านได้เห็นดวงกสิณของท่านดวงใหญ่ พอท่านเห็นแล้ว ตอนแรกๆท่านก็ตามดูกสิณนั้นไป เห็นเข้าไปเรื่อยๆ ดูตามไปก็เห็นต่างๆนานา เห็นเหมือนกับระลึกชาติ ไปเห็นชาติเก่าบ้าง ชาติใหม่บ้าง อนาคตบ้าง อะไรบ้าง ท่านก็ดูตามไปๆเรื่อยๆ เห็นอะไรต่อมิอะไร หนักเข้าๆ ก็เห็นจะไม่ได้เรื่อง ท่านก็เลยบอกว่า โอ!! นี่ไม่มีประโยชน์ นิมิตไม่มีประโยชน์ ท่านก็ตัดทิ้ง คือท่านปฏิเสธนิมิต ฟังให้ดี แปลว่าท่านปฏิเสธนิมิตลวง ที่เห็นปรากฏอยู่ข้างนอก ซึ่งถูกต้องไม่ผิด ท่านปฏิเสธนิมิตลวง เพราะนั่นยังไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่ได้เข้ากลางของกลาง ณ ภายใน
ต่อเมื่อภายหลัง ท่านปฏิบัติไปๆ เมื่อท่านได้ทำใจให้หยุดนิ่งสนิท จนใจสงบที่ศูนย์กลางกาย ท่านก็ได้ดวงพุทโธนะ ท่านเรียกว่า ดวงพุทโธ ได้เคยอ่านประวัติท่าน ตอนที่ท่านไปอยู่ป่าเขา ชาวเขาถามท่าน(หลวงปู่มั่น)ว่า “ตุ๊เจ้าเดินหาอันหยัง?” เพราะตุ๊เจ้าเดินจงกรมอยู่เรื่อยๆ ท่านตอบว่า “หาดวงพุทโธ” ความจริงท่านก็เดินจงกรม ใจท่านหยุดท่านก็รู้ พิจารณาไปข้างใน ที่นี้ พวกชาวเขาก็ถามท่านว่า แล้วก็อย่างพวกเขานี่เขาจะหาดวงพุทโธได้ไหม? ท่านก็บอกว่า “ได้ มาสิ” แล้วท่านก็แนะนำกัมมัฏฐานให้ แต่จะได้เท่าไหร่ ได้ผลเท่าไร ก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง นี้เป็นประวัติของท่านมีอยู่ในหนังสือ ท่านเรียกดวงธรรม ณ ภายในนั้นว่า “ดวงพุทโธ”
เพราะฉะนั้น บรรดาระดับอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอริยะเจ้าชั้นสูง เมื่อท่านเจริญอานาปานสติ #ใจหยุดลมหยุดที่ศูนย์กลางกาย ก็เห็นเป็นดวงใสเหมือนกันหมดไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นท่านจะสอนลูกศิษย์ลูกหาต่อไปว่า ให้เอามาพิจารณา ณ ภายใน อย่าให้อยู่ข้างนอก เหมือนกันหมด ท่านให้เอานิมิตมาพิจารณาข้างในทั้งนั้นนั่นแหละ แล้วผู้ปฏิบัติก็จะรู้ทางสายกลางไปเอง แต่สำหรับพระอริยเจ้าท่านไม่เอามาพูดมาก
ก็ขอเจริญพรไว้เพียงเท่านี้ว่า ไม่ได้แตกต่างกันหรอก เหมือนกันแหละ ทำไปเถอะ แล้วก็จะไปที่เดียวกันนั้นแหละ ไม่ไปไหนหรอก เพราะทุกคนก็มุ่งนิพพาน ซึ่งในทางปฏิบัติจักต้องผ่านทางสายเอก และทางสายกลาง ตรงกลางของกลางธาตุธรรม_เห็น_จำ_คิด_รู้_คือ_ใจ ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของแต่ละกาย จากสุดหยาบไปจนสุดละเอียดทั้งสิ้น จะไปไหนรอด เพราะถึงจุดหนึ่งก็ไปทางเดียวกันนั่นแหละ
แต่ทีนี้ ลูกศิษย์ลูกหาบางท่านนี่แหละ ฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียด ตรงที่ว่านิมิต(ลวง) ไม่ให้ถือ และยิ่งเมื่อเห็นอะไรเป็นนิมิตไปหมด ก็เลยปฏิเสธหมด เมื่อปฏิเสธหมดก็ไม่มีฐาน ปฏิเสธนิมิตจิตก็ไม่มีฐานที่ตั้ง เหมือนยิงจรวดไม่มีฐานที่มั่นคง จะไปได้สักเท่าไร
พระพุทธเจ้าได้ตรัส อยู่ในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า…
เมื่อภิกษุไม่เป็นผู้โดดเดี่ยว
ยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว
จักถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตได้นั้น
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้
เมื่อไม่ถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตแล้ว
จักยังสัมมาทิฏฐิ(คือความเห็นชอบ)แห่งวิปัสสนา ให้บริบูรณ์ได้นั้น
ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้
เมื่อไม่ยังสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์แล้ว
จะยังสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้นั้น
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้
เมื่อไม่ยังสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผล ให้บริบูรณ์แล้ว
จักละสังโยชน์ทั้งหลาย(คือหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง)ได้นั้น
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้
เมื่อไม่ละสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว
จักทำนิพพานให้แจ้งนั้น
ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้เลย
( พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๒, อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, ข้อ ๓๓๙, หน้า ๔๗๒-๔๗๓. [ คำแปลจากหนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ของกองตำราคณะธรรมทานไชยา พ.ศ. ๒๕๑๔, หน้า ๒๘๕-๒๘๖.])
ทีนี้ อาจจะสงสัยนิดหนึ่ง ตรงที่ว่า ตรงนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทำนิพพานให้แจ้ง จะต้องละสังโยชน์ได้ทั้งหมด นั่นหมายถึงคุณธรรมพระอรหันต์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมบอกว่าคนนั่งภาวนาถึงธรรมกาย ถึงนิพพาน เห็นนิพพานได้
ตรงนี้เป็นวิกขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นด้วยการข่มกิเลสชั่วคราว และคำว่า”รู้แจ้ง”นั้น ถ้ายังไม่เป็นพระอริยเจ้าก็แจ้งน้อยกว่าพระอริยเจ้า แต่ก็ถึงประตู รู้เส้นทางจะไปแล้ว ได้สัมผัสทั้งสังขารและวิสังขารแล้ว ว่ามีลักษณะหรือสามัญลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ก็เพียรปฏิบัติไป เมื่อบารมีเต็มก็หลุดพ้นโดยสิ้นเชิงได้ เรื่องก็เป็นอย่างนี้
การเจริญภาวนาได้ถึงธรรมกาย และอายตนะนิพพาน แม้จะยังไม่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็หลุดพ้นได้ชั่วคราวด้วย “วิกขัมภนวิมุตติ” การหลุดพ้นมีตั้งหลายระดับ ระดับด้วยการข่มกิเลส ทำได้ มีได้
แต่ว่าอวิชชาจะหมดหรือไม่หมดโดยสิ้นเชิง อวิชชาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะจิตไม่สังขาร และเมื่อปฏิบัติภาวนาดับหยาบไปหาละเอียด ถูกเครื่องรู้-เห็น คือ ทิพพจักษุ ทิพพโสตของกายทิพย์ ละเอียดยิ่งขึ้นไป จนถึงญาณทัศนะของธรรมกายซึ่งเชื่อมต่อถึงกัน พอให้รู้ พอให้เห็น พอให้ได้สัมผัส พอเข้าใจ สภาวะพระนิพพานและอายตนะนิพพาน ได้ด้วยอาการอย่างนี้
แต่คำว่า “รู้แจ้ง” หรือ “ทำนิพพานให้แจ้ง” ได้จริงๆนั้น หมายเอาคุณธรรมพระอรหันต์ ท่านรู้แจ้ง ไม่มีอะไรปิดบังท่านในเรื่องของพระนิพพาน เรื่องเป็นอย่างนี้.
_________________
เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี
_________________
ที่มา
บางตอนจากหนังสือ
“ตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ”
_________________
เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า
ขอบพระคุณภาพประกอบธรรมะ.