จริงๆแล้วพระพุทธองค์ท่านสรรเสริญการเลือกทำบุญ

จริงๆแล้วพระพุทธองค์ ท่านสรรเสริญการเลือกทำบุญ.
☀️ บุญจะปรากฏอย่างสะอาดบริสุทธิ์และให้ผลอย่างรุ่งเรืองสมบูรณ์ที่สุดขึ้นอยู่ที่เหตุปัจจัย ซึ่งอยู่ที่..

  1. ผู้ให้ คือ ทายก
  2. ผู้รับ ปฏิคาหก จะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล
  3. ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่เราให้
    ถ้าหากว่าบริสุทธิ์ในสามฝ่ายนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าทานกุศลนั้นมีความบริสุทธิ์ใน 3 ฝ่าย ฝ่ายผู้ให้ ฝ่ายผู้รับ และสิ่งที่ให้
    ความบริสุทธิ์ของทานกุศลประเภทนี้เอง ที่ให้ผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข สะท้อนย้อนกลับมาสู่ผู้ให้เป็นทับทวีนับภพนับชาติไม่ถ้วน ติดตามให้ผลจนกว่าจะได้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นที่สุดแห่งทุกข์นั้น
    ในการให้นั้น ผู้ใดต้องการบำเพ็ญบุญบารมีให้เจริญ ต้องทำเอง และเป็นผู้ให้เอง อยู่เฉยๆจะให้มีบุญบารมีขึ้นมาอย่างนั้นย่อมไม่ได้ อุปมาดังอาหาร ใครกิน ใครอิ่ม ไม่กิน ก็ไม่อิ่ม
    ผู้มีบารมีก็เพราะเขาได้สร้างบารมี ถ้าไม่สร้าง ยังจดๆจ้องๆอยู่ บุญบารมีก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น บุญบารมีจึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นในฝ่ายตัวเรา และด้วยตัวเราเป็นสำคัญ
    สร้างบารมีนั้น ทั้งทำเอง และทั้งชักนำผู้อื่นเข้ามาด้วย จึงจะส่งผลให้เต็มที่และสมบูรณ์ ว่าเราได้ประกอบบำเพ็ญทั้งอามิสทานและธรรมทาน ว่าเราได้เป็นผู้ปฏิบัติธรรมในทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้เจตนาความคิดอ่านทั้งหลายบริสุทธิ์ และรอบรู้สิ่งที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระ เมื่อเราจะให้จึงต้องบริสุทธิ์ที่เจตนา และบริสุทธิ์ที่กาย วาจา ใจ ใจนั้นต้องบริสุทธิ์ที่ปัญญาอีกด้วย นี้เป็นอาการของบัณฑิต
    พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ว่า
    การทำบุญนั้น จริงๆแล้วท่านสรรเสริญการเลือกทำบุญ รู้จักการทำบุญที่บริสุทธิ์ และให้บุญนั้นส่งผลให้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เสมือนหนึ่งการปลูกต้นไม้ ย่อมมุ่งหมายที่จะได้ผลดก รสดี ยิ่งๆขึ้นไป
    เพราะฉะนั้น ฝ่ายผู้ที่จะให้ ต้องทำตนให้บริสุทธิ์ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยปัญญา ว่าควรทำบุญเพื่อบำรุงโครงการหรือกิจกรรมใด ของคณะบุคคลใด หรือสำนักใด จึงจะเกิดประโยชน์ในทางช่วยขจัดขัดเกลากิเลสตนและผู้อื่น เพื่อสร้างพระในใจคนและในใจตน เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่มวลมนุษย์อย่างกว้างขวางที่สุด ก็จะเป็นผลดีที่สมบูรณ์ที่สุด

การให้หรือทำบุญกับบุคคลที่ไม่ควรให้

และไม่ให้หรือไม่ทำบุญกับคนหรือคณะบุคคลที่ควรให้ เวลามีอันตรายแล้วไม่มีสหายที่จริงใจมาช่วยเกื้อหนุนเรา นี้เป็นพุทธวจนะในลักษณะนี้

“อเทยฺเยสุ อททํ ทานํ เทยฺเยสุ โย ปเวจฺฉติ อาปาสุ พฺยสนํ ปตฺโต สหายํ อธิคจฺฉติ”
ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ยอมให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นประสบความเสื่อมเพระอันตราย ย่อมได้สหาย
“อาเทยฺเยสุ ททํ ทานํ เทยฺเยสุ นปฺปเวจฺฉติ อาปาสุ พฺยสนํ ปตฺโต สหายํ นาธิคจฺฉติ”
ผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้นถึงความเสื่อมเพราะอันตราย ย่อมไม่ได้สหาย
(ขุ ชา. จตุกฺก. ๒๗/๑๒๙)
กล่าวเนื้อความว่า ผู้ทำบุญหรือให้ทานกับบุคคลที่ไม่ควรให้ แต่ไม่ทำกับบุคคลที่เราควรให้ ผู้นั้นเวลามีอันตราย จะไร้สหายที่พึ่งอันประเสริฐ คือจะไม่มีกัลยาณมิตรแม้เป็นที่พึ่งได้จริง จะพบแต่มิตรปฏิรูปเอาเป็นที่พึ่งแท้จริงไม่ได้ นี้เป็นความหมายอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าผู้ที่รู้จักทำบุญกับคนที่ควรทำ

หรือคณะบุคคลที่ควรทำ

(วิเจยฺยํ ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญ สํ.ส. ๑๕/๓๐ ขุ. ชา. อฏฺฐก. ๒๗/๒๔๙. เปต. ๒๖/๑๙๗.) ไม่จำต้องทำในบุคคลหรือคณะที่ไม่ควรทำ เวลามีอันตรายแล้ว ผู้ที่ทำถูกต้องย่อมได้สหายอันประเสริฐ กล่าวคือ จะได้กัลยาณมิตรแท้เป็นสหายที่พึ่งได้จริง แต่ถ้าทำผิด คือให้ทานกับบุคคลที่ไม่ควรให้ และไม่ให้กับบุคคลหรือคณะที่ควรให้ เวลามีอันตราย ไม่ได้ที่พึ่งอันประเสริฐ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่.

เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี

ที่มา
หนังสือบุญ-ทานกุศล

เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: