คุณธรรมของนักบริหาร

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

เนื่องด้วยว่าระยะนี้เป็นระยะเวลาของการจัดตั้งรัฐบาล  เพื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข  ในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนภายในประเทศ และในการอยู่ร่วมกับชาวโลกด้วยดี  มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข  อาตมภาพจึงจะขอนำธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แสดงพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาในกิจการบริหารให้เป็นไปด้วยดี  ดังต่อไปนี้

การบริหารกิจการงานใดๆ  ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานธุรกิจเอกชน  การบริหารงานทางสังคม และการบริหารกิจการภาครัฐบาล ที่เรียกว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ล้วนแต่มุ่งหวังให้บรรลุผลสำเร็จด้วยดี มีประสิทธิภาพสูง ด้วยกันทั้งนั้น

คำว่า “ประสิทธิภาพสูง” อันเป็นเครื่องวัดผลการบริหารงานใดๆ ย่อมมีหลักในการพิจารณาว่า ต้องให้ได้ผลผลิต ที่เรียกตามภาษานักวิชาการการบริหารว่า “ประสิทธิผล” มากหรือสูง ด้วยค่าลงทุนที่ต่ำหรือประหยัด

คำว่า “ประสิทธิผล” ของการบริหารธุรกิจ ก็มุ่งหมายกันที่กำไร ของการบริหารสังคมก็มุ่งหมายที่การให้บริการช่วยเหลือสังคม ส่วนประสิทธิผลของการบริหารราชการนั้นมีความหมายกว้าง คือความสำเร็จในการบริหารงานตามความต้องการของประชาชน คือต้องสนองตอบความต้องการของประชาชนผู้เสียภาษี ผู้เป็นเจ้าของประเทศ ผู้ได้เลือกตั้งผู้แทนจากแต่ละจังหวัดให้มาทำหน้าที่ แทนประชาชนทั้งประเทศ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่เขาทั้งหลาย คือแก่ประชาชนโดยส่วนรวมให้ได้มากที่สุด

ส่วนที่ว่า “ด้วยค่าลงทุนต่ำ คือ ประหยัด” นั้น มิได้หมายความว่าจะต้องขี้เหนียว งานอะไรๆ ก็ไม่ทำ ไม่กล้าจ่าย ไม่กล้าทำโครงการที่จะก่อให้เกิดผลดีหรือที่จะเป็นการพัฒนาประเทศ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม เพราะกลัวจะเสียเงินมาก ไม่ใช่อย่างนั้น  แต่หมายถึงความรู้จักใช้ทรัพยากร คือกำลังคน กำลังเงินงบประมาณแผ่นดิน และใช้เวลาในการบริหารกิจการในหน้าที่รับผิดชอบ ให้สัมฤทธิผล ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยไม่เป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือเกิดการรั่วไหล สูญเสียเปล่า เพราะความประมาทเลินเล่อ หรือเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะเจตนาให้เกิดความรั่วไหล-สูญประโยชน์ของแผ่นดิน ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องของตัว

กล่าวโดยย่อม เครื่องวัดผลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่ชื่อว่า “ประสิทธิภาพ” นั้น ก็คือการบริการราชการให้สำเร็จ ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ประชาชนโดยส่วนรวม ด้วยต้นทุนหรือค่าลงทุน ได้แก่ กำลังคน กำลังเงินและเวลาที่ ประหยัด ตามมาตรฐานที่ควรใช้ให้งานนั้นสำเร็จ คือบรรลุผลอย่างดีทั้งคุณภาพและปริมาณ ตามนโยบายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยไม่เป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือมีการรั่วไหล สูญเปล่า เพราะความประมาทเลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเจตนาให้เกิดการรั่วไหล สูญเสียประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ตนหรือพวกพ้องของตนโดยเฉพาะ

การบริหารงานที่จะให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี มีประสิทธิภาพสูงอย่างนี้ ก็อยู่ที่ความรู้ สติปัญญาความสามารถ และคุณธรรม ของหัวหน้าหรือผู้นำคณะผู้บริหารกับสมาชิกผู้ประกอบเป็นคณะผู้บริหาร อย่างเช่นการบริหารราชการแผ่นดิน ก็คือรัฐมนตรี ผู้ประกอบเป็นคณะรัฐบาล ว่ามีมากน้อยเพียงไร

ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศแทนตน ทั้งภาครัฐบาลและภาคนิติบัญญัติ ก็ต้องถือว่าเป็นคนดีทั้งนั้น ท่านจึงได้รับการเลือกตั้งเข้ามา คือดีตามมติของประชาชนในแต่ละเขตท้องที่ๆ เลือกตั้งเข้ามา แต่จะดี มีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถและมีคุณธรรม เหมาะสมกับกิจการบริหารประเภทใดนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตรงนี้แหละเป็นจุดสำคัญในการจัดตั้งคณะผู้บริหาร ถ้าเป็นภาครัฐบาลก็การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ให้มาทำหน้าที่บริหารประเทศ เริ่มตั้งแต่การเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ผู้มีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถ และมีคุณธรรมที่ดีที่สุด ให้มาเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาล ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นแหละ ที่จะต้องทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

ถ้าเลือกได้คนดี มีสติปัญญาสามารถและมีคุณธรรมสูง ให้มาทำหน้าที่จัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ ก็มีโอกาสให้การบริหารราชการแผ่นดินได้ ยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งประเทศได้มาก เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญ อันแสดงถึงสติปัญญาความสามารถ และคุณธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะคัดเลือกผู้นำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ ให้สมศักดิ์ศรีที่ประชาชนผู้เสียภาษี ผู้เป็นเจ้าของประเทศได้เลือกตั้งผู้แทนของเขาเข้ามาทำหน้าที่แทนตน ให้ทำหน้าที่คัดเลือกคนดี มีความรู้ มีสติปัญญาสามารถและมีคุณธรรมสูงที่สุด เป็นหัวหน้ารัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี

เมื่อได้นายกรัฐมนตรี ผู้จะทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล เป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศต่อไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีจะคัดเลือกบุคคลที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ได้คัดเลือกเสนอมาให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือก ให้ได้คนดี มีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถ และคุณธรรม เพื่อให้ทำหน้าที่บริหารราชการกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งนี้ก็เป็นช่วงหนึ่งที่สำคัญ ที่จะได้คนดี มีฝีมือมีคุณธรรมมาทำหน้าที่รับผิดชอบบริหารประเทศชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะได้แสดงฝีมือด้วยความรู้ สติปัญญาความสามารถและคุณธรรม คัดเลือกคนดีมาช่วยทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จริงอยู่ บุคคลที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลได้คัดเลือกส่งเข้ามาให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือกเป็นรัฐมนตรี และตำแหน่งอื่นๆ รองๆ ลงไปนั้น ล้วนแต่เป็นคนดีทั้งนั้น ตามมติของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ได้คัดเลือกเสนอเข้ามา แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาขั้นสุดท้าย เพื่อเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถและคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนักในทางปฏิบัติ แต่นายกรัฐมนตรีจักต้องใช้ประมุขศิลป์อย่างเข็มแข็ง เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ เพื่อให้ได้คนดี มีฝีมือ มีคุณธรรม สูงที่สุดเป็นคณะรัฐมนตรี ผู้ทรงเกียรติ เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้มากที่สุด

แปลว่า กระบวนการคัดเลือกบุคคลให้มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทุกขั้นตอน จนมาถึงการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ขึ้นอยู่ที่ฝีมือ คือความรู้ สติปัญญาความสามารถ และคุณธรรมของนักการเมืองทุกระดับ ร่วมกันเป็นชั้นๆ ขึ้นมา ว่าจะรู้จักเลือกคนดีเพียงไร ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็รู้ๆ กันอยู่ด้วยกันทั้งนั้นว่า ใครดีหรือไม่ดี แค่ไหนอย่างไร แต่ที่ว่ารู้ๆ นั้น ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ ถึงเวลาปฏิบัติคือคัดเลือกกันจริงๆ กลับไม่รับรู้ความจริง คือไม่ยืนอยู่บนความจริง ก็เคยได้ยินว่ามีอยู่ เพราะมีเหตุปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกแซง เช่นผลประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ส่วนพรรคพวกบ้าง หลงตัวหลงตนว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ว่าทำได้ ทั้งๆ ที่ตนเองมิได้มีความรู้ ความสามารถที่จะทำได้จริงๆ บ้าง เหล่านี้คอยกีดกั้น ขัดขวาง กดดัน ให้การพิจารณาตัดสินใจในการคัดเลือกคนดี มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ให้เบี่ยงเบน ผิดพลาดไปจากความถูกต้อง เหมาะสม บริสุทธิ์ และยุติธรรมไปได้ หลักที่ถูกต้อง เหมาะสม ก็คือหลักวางกำลังคนให้เหมาะสมกับงาน ที่ภาษาต่างประเทศเขาว่าPut the Right Man on the Right Job

การที่จะคัดเลือกให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม ที่เหมาะสมกับงานจริงๆ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงวางหลักธรรมในการกระทำกิจการงาน หรือการบริหารกิจการงาน ให้ได้ผลในปัจจุบัน ชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ให้ได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน มีอยู่ข้อ 1 ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการคัดเลือกคนดี มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน นี้ว่า “กัลยาณมิตตตา” คือ ให้รู้จักเลือกคบคนดีเป็นมิตร ไม่เลือกคบคนชั่วเป็นมิตร เพราะเมื่อเลือกคบคนดีเป็นมิตร อย่างเช่น มาเป็นคู่ร่วมคิด ร่วมเห็น ร่วมประกอบกิจการงานหรือร่วมเป็นรัฐบาล ก็เป็นที่หวังได้ว่า จะสามารถบริหารราชการร่วมกันให้เกิดผลดี มีประสิทธิภาพสูงได้ แต่ถ้าไปเลือกคบคนชั่ว คือ คนไม่ดี เป็นคู่ร่วมคิด ร่วมเห็น ร่วมเป็นคณะรัฐบาล ก็เป็นที่น่าห่วงว่า จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน ให้สำเร็จประโยชน์ที่มุ่งหมาย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชน และการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและสันติสุขไปได้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ชื่อว่า “มงคล” เป็นพระคาถาแรก ในมงคลสูตร ว่า

    อเสวนา  จ  พาลานํปณฺฑิตานญฺจ  เสวนา
 ปูชา  จ  ปูชนียานํเอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ
“การไม่คบคนพาล 1  การคบแต่บัณฑิต 1  การยกย่องนับถือบูชา หรือ ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ดี หรือ ปฏิบัติตามอย่างบุคคลที่ดี 1 นี้เป็นมงคลสูงสุด”

คำว่า “คนพาล” หมายถึง คนปัญญาอ่อน  ปัญญาน้อย  ไม่รู้จักดำเนินในทางเจริญ  ทางเสื่อมแห่งชีวิต จึงนำตนและนำผู้อื่นที่คบค้ากัน  ประกอบกิจการร่วมกัน  ให้วิบัติฉิบหายไปด้วยกันได้  ไม่ช้าก็เร็ว  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงตรัสว่า  “การไม่คบคนพาลเสียได้   เป็นมงคลอันสูงสุด”

แล้วจะดูอย่างไรจึงจะรู้ว่าใครเป็นคนพาลล่ะ ?    ท่านให้ดูลักษณะของการแสดงออกของคนพาลทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ ดังนี้   ทุจฺจินฺติตจินฺตี  คนพาลชอบคิดแต่เรื่องที่คิดชั่ว  เช่นว่าคอยแต่จะคิดหาช่องให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัว  ส่วนพวกพ้อง  ไม่ว่าจะตามน้ำ  ทวนน้ำก็ตาม  ถ้าใครเคยแสดงอาการอย่างนี้ให้เห็นในอดีตบ่อยๆ   ก็พึงทราบว่านั่นแหละ “คนพาล”

ทุพฺภาษิตภาสี  คนพาลชอบพูดแต่วาจาชั่วหยาบ  โป้ปดมดเท็จ  ก้าวร้าว  ด่าทอ  ชอบยุแยกให้แตกความสามัคคี  และชอบพูดแต่คำพูดที่จะเรียกร้องผลประโยชน์   อย่างที่นักธุรกิจเขาเรียกว่า “Money Talk”  แล้วก็ Talk under the table ซะด้วย  คือพูดแต่เรื่องเงินใต้โต๊ะ  เรื่องผลประโยชน์  เป็นสำคัญ    ถ้าเห็นอาการอย่างนี้ ก็พึงทราบว่านั่นแหละ “คนพาล” อีกอย่างหนึ่ง

ทุกฺกฏกมฺมการี  ชอบกระทำกรรมที่ชั่วๆ   เช่นทำกรรมด้วยเจตนากบฏคดโกง  เจตนาที่เป็นการประหัตประหารคนอื่น  ตลอดทั้งติดอยู่ในอบายมุข  เช่น เป็นนักเลงสุรายาเสพติดทั้งหลาย  เป็นนักเลงผู้หญิง  ชอบหมกมุ่นอยู่แต่ในกิเลสกาม  เป็นนักเลงการพนัน  และชอบคบคนชั่วเป็นมิตร  เป็นต้น นี้ก็เป็นอาการของ “คนพาล” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าได้คบ  อย่าได้เอามาเป็นมิตรคู่ร่วมคิด  ร่วมเห็น  และร่วมเป็นรัฐบาลเลย   เพราะจะพาให้เสื่อมเสีย  ถึงความล่มจมจนได้สักวันหนึ่ง

ส่วนคำว่า “บัณฑิต”  หมายถึงคนมีสติปัญญาอันเห็นชอบ  คือเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา  เรียกว่า  ญาณคติ  รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง  ใครคบหาบุคคลผู้เป็นบัณฑิตเช่นนี้  เอาเป็นมิตรร่วมทุกข์ ร่วมสุข  ร่วมคิด ร่วมเห็น ร่วมคณะรัฐบาลด้วย ก็มีแต่จะเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสว่า การคบแต่บัณฑิต และการนับถือบูชาปฏิบัติตามอย่างผู้เป็นบัณฑิตโดยคุณธรรม  อย่างนี้ เป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิต

จะรู้ได้อย่างไร ว่าคนไหนเป็นบัณฑิตโดยคุณธรรม ?    คนไหนเป็นบัณฑิตเก๊ ?  ท่านว่าให้สังเกตดูอาการที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา และทางใจ  อย่างนี้ว่า

สุจินฺติตจินฺตี คือบัณฑิตนั้นชอบคิดแต่เรื่องที่คิดดี   ด้วยเจตนาความคิดอ่านที่บริสุทธิ์ใจ  จะสร้างงาน  สร้างโครงการ   หรือบริหารกิจการใดๆ   ก็ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว   ส่วนพวกพ้องของตนเป็นใหญ่   แต่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนของประเทศเป็นสำคัญ  บุคคลที่มีหรือแสดงอาการอย่างนี้ให้เห็นอยู่เสมอ  พึงทราบว่า นั่น “บัณฑิต” โดยคุณธรรม

สุภาสิตภาสี ชอบพูดแต่คำพูดดี  เป็นคำพูดที่จริงจากใจ   ไม่เจตนาหลอกลวงหรือโป้ปดมดเท็จ  เป็นวาจาที่สุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว หยาบคาย ด่าทอ หรือทิ่มแทงผู้อื่นให้เจ็บช้ำน้ำใจ  ไม่เป็นวาจาที่ยุแยกให้แตกสามัคคี    เป็นวาจาที่ดี ที่มีคุณประโยชน์   ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ อย่างนี้พึงทราบว่า “บัณฑิต” อีกข้อหนึ่ง

สุกตกมฺมการี   ชอบทำแต่กรรมที่ดี  ที่ถูกต้องตามหลักการ  ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม   และทั้งเป็นกรรมที่เหมาะสมด้วยความบริสุทธิ์ใจ  และด้วยความยุติธรรม  มุ่งตรงต่อประโยชน์สุขส่วนรวมของประชาชน  ประเทศชาติเป็นสำคัญ อาการอย่างนี้ เป็นอาการของ “บัณฑิต”

ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ชื่อว่า “มงคล” ว่า   การไม่คบคนพาล 1   การคบแต่บัณฑิต 1   การบูชายกย่องนับถือปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ดีและตามอย่างคนดี 1   นี้เป็นมงคลสูงสุด

คนโบราณท่านจึงกล่าวเป็นคติธรรมว่า  “คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว   คบคนชั่วพาตัวให้ฉิบหาย”   หรือว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด   คบบัณฑิตๆ พาไปหาผล” ดังนี้

ก็ขอฝากไว้ให้นักบริหารทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบริหารราชการแผ่นดินทั้งข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง   ได้ระลึกไว้เพื่อความสำเร็จในชีวิต และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งชีวิตของตน และของประชาชนประเทศชาติโดยส่วนรวม  และก็เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลนั้นแหละ

ถ้ารัฐบาลต้องมีอันเสื่อมเสียหรือต้องล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน   ก็พึงทราบว่าขาดคุณธรรมข้อ “กัลยาณมิตตตา” คือความรู้จักคบคนดีเป็นมิตร  และข้อ “มงคล” ว่าการไม่คบคนพาล การคบแต่บัณฑิต และบูชาบุคคลที่ควรบูชา  คือการยกย่องนับถือถึงปฏิบัติตามอย่างบัณฑิตนั้นแหละ   ว่าเป็นมงคลอันสูงสุดนี้เอง

เมื่อปฏิบัติตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าดังกล่าว ก็เป็นอันหวังได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินของนักบริหารทุกระดับจนถึงรัฐบาล  จะประสบผลสำเร็จด้วยดี มีประสิทธิภาพสูงได้แน่นอน

อีกอย่างหนึ่ง พึงมีคุณธรรมของคนดี ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 ประการ คือ

  1. ธัมมัญญุตา รู้หลักการปกครอง หลักการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายของบ้านเมือง รู้เหตุและผลที่สมเหตุสมผล
  2. อัตถัญญุตา รู้นโยบาย รู้วัตถุประสงค์ หรือรู้จักผลของการปกครองการบริหารราชการแผ่นดิน

ซึ่งจะขออธิบายขยายความใน 2 ข้อแรกนี้พร้อมกันไปก่อนว่า   คำว่า “รู้” ณ ที่นี้หมายเอา ความรู้ จากการ “เรียนรู้”  จน “รอบรู้”  และโดยการ “รับรู้” คือปฏิบัติถูกต้องตามหลักการ เหตุและผล ที่สมเหตุสมผล

คุณธรรมข้อ “ธัมมัญญุตา” นั้นเป็นความรู้ฝ่ายเหตุ   ส่วน “อัตถัญญุตา” นั้นเป็นความรู้ฝ่ายผล ผู้บริหารจะต้องรู้ทั้งเหตุแหละผล ของการปกครองการบริหารราชการแผ่นดิน  จากการเรียนรู้หลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย   กฎหมายของบ้านเมือง  หลักการบริหารราชการ  ทั้งเรียนรู้นโยบายและวัตถุประสงค์ของการบริหารราชการ  ที่ตนจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหาร ทั้งนโยบายส่วนรวมของรัฐบาล  และนโยบายเฉพาะกระทรวง  ทบวง กรม หรือในส่วนนิติบัญญัติ ที่ตนจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบ  ให้ “รอบรู้” ทะลุปรุโปร่ง   แล้วต้อง “รับรู้” คือปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการ และเหตุผล  อย่างสมเหตุสมผล  อีกด้วย  การบริหารราชการที่ตนรับผิดชอบอยู่นั้น จึงจะสำเร็จผลดีมีประสิทธิ์ภาพสูง

ถ้าเป็นแต่ว่า “รู้ๆ” หรือ “รู้แล้วๆ”  คือว่าสักแต่รู้   แต่ “ไม่รับรู้”   คือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการและเหตุผล  อย่างสมเหตุสมผล   ความรู้เช่นนั้นก็ไร้ประโยชน์  ไร้ความหมาย เช่น

ตามหลักการปกครองตามระบบประชาธิปไตย   และหลักการบริหารราชการแผ่นดิน  ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า (1) “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ”   ทั้งๆ ที่รู้   แต่บางคนไม่รับรู้  เวลาจัดสรรงบประมาณ  ใครมือยาว  ต่างก็สาวได้สาวเอา   คือใครมีอำนาจหรือมีพรรคพวกฝ่ายของตัวมาก ก็พยายามดึงงบประมาณ  ไปลงที่จังหวัดของตัว  หรือของสมาชิกพรรคของตัวมากอย่างไม่เป็นธรรม  เพื่อประโยชน์แก่การหาเสียงของตน  และของพรรคพวกของตน  โดยไม่คำนึงถึงความขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนาประเทศในท้องที่อื่น  อันเป็นการกระทำที่ผิดหลักการปกครองตรมระบอบประชาธิปไตย ผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดใดก็ตาม เป็นผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทยทั่วประเทศ

ส่วนชาวบ้านที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ  ใครเอางบประมาณมาลงที่จังหวัดหรือท้องที่ของตัวได้มากๆ  สำเร็จ  ก็ต้องชื่นชมว่านักการเมืองผู้นี้เก่ง  ดีนักหนา  หรือว่าใครแจกเงินหรือสิ่งของที่ถูกใจให้  เช่นมีการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้ง  เป็นพิเศษเป็นต้น  ก็ชอบใจ  ลงคะแนนเสียงให้ โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบในการเลือกคนดี  มีความรู้  ความสามารถ และมีคุณธรรมให้มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนตน  ให้ได้ผลดี  มีประสิทธิภาพสูง คือให้เป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข

คนที่กระทำผิดหลักการ เหตุและผล  ทั้งๆ ที่รู้   แต่ไม่รับรู้   โดยปฏิบัติตามหลักการโดยชอบ  เช่นนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ขาดคุณธรรมของคนดี  ข้อธัมมัญญุตา และอัตถัญญุตา  การบริหารราชการแผ่นดินของเขาย่อมมีประสิทธิภาพต่ำ และอาจถึงความล้มเหลวล้มจมได้ในระยะเวลาไม่นานเกินรอ

สำหรับคุณธรรมของคนดี ข้อต่อไป ได้แก่

  1. อัตตัญญุตา  ความรู้จักตน
  2. มัตตัญญุตา  ความรู้จักประมาณตน และประมาณในการบริโภคใช้สอยทรัพย์
  3. กาลัญญุตา  ความรู้จักกาลควรไม่ควร
  4. ปริสัญญุตา  ความรู้จักชุมชน
  5. ปุคคลัญญุตา ความรู้จักบุคคล

จึงขอฝากไว้ให้ผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้สำเหนียกคุณธรรมคนดี คือ  สัปปุริสธรรม นี้ไว้ประกอบการบริหารราชการแผ่นดิน  ให้ได้รับผลสำเร็จด้วยดี  มีประสิทธิภาพสูงด้วย

สุดท้ายนี้  อาตมภาพขออำนวยพรให้ผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศ  ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต และในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกท่าน  เจริญพร


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2539

แชร์เลย

Comments

comments

Share: