เกียรติยศย่อมเจริญแก่ผู้มีการงานสะอาด

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพจะได้บรรยายธรรมในเรื่อง “เกียรติยศย่อมเจริญแก่ผู้มีการงานสะอาด” ซึ่งจะได้บรรยายขยายความตามพระพุทธภาษิต ที่มีมาในขุททกนิกาย ธรรมบท เล่มที่ 25 หน้า 18 ว่า

อุฏฺฐานวโต  สตีมโตสุจิกมฺมสฺส  นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส  จ  ธมฺมชีวิโนอปฺปมตฺตสฺส  ยโสภิวฑฺฒติ.

พระพุทธภาษิตที่นำมาแสดงนี้   จะเห็นว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเน้นถึงเรื่องการทำงานอันเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งกินความไปถึงกิจการงานในอาชีพของแต่ละบุคคลตามฐานะ  ที่กำลังได้กระทำอยู่  ที่กำลังเป็นไปอยู่ว่า   “เกียรติยศ” ย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ มีการกระทำที่สะอาด (อย่างที่บุคคลในยุคปัจจุบันเขาเรียกว่า “โปร่งใส”)  ใคร่ครวญแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และ ไม่ประมาท

นี่พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นถึง “เกียรติยศ”  อันเป็นผลของการทำงาน  หรือการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามหลักธรรมที่ตรัสไว้นี้แล้วว่า  ย่อมเจริญ  

ก่อนอื่นขอให้ท่านผู้ฟังมาทำความเข้าใจเรื่องของการทำงานอันเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งกินความไปถึงกิจการงานในอาชีพของแต่ละบุคคล ตามฐานะ กล่าวโดยย่อก็คือ การทำงานของบุคคลตามฐานะ ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร ซึ่งเป็นบรรพชิตหรือนักบวช ในพระพุทธศาสนา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ทุกระดับ ทุกหมู่เหล่า พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวนา ชาวสวน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น

การทำงานตามฐานะของบุคคลต่างๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็น “กายกรรม”  “วจีกรรม”  และ “มโนกรรม” ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ตาม ถ้าว่าเป็นการทำงานที่ดี ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง ก็นับว่าเป็น กุศลกรรม ถ้าว่าเป็นการทำงานที่ไม่ดี ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็นับว่าเป็น อกุศลธรรม

ผู้กระทำแต่กรรมดี เป็นบุญเป็นกุศล ย่อมได้รับผลดี    ผู้มักจะทำกรรมชั่ว เป็นบาปอกุศล ก็ย่อมได้รับผลชั่ว   กล่าวโดยย่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”   ดังพระพุทธดำรัสที่มีมาในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค 15/333 ว่า

“กลฺยาณการี  กลฺยาณํ     ปาปการี  จ  ปาปกํ”
ผู้มีปกติกระทำกรรมอันดีงาม  ย่อมได้รับผลดีงาม
ผู้มีปกติกระทำกรรมอันชั่ว    ย่อมได้รับผลชั่ว

อุปมาดังบุคคลหว่านพืชชนิดใด ย่อมได้รับผลชนิดนั้น   คนปลูกมะพร้าวย่อมได้รับผลมะพร้าว จะไปให้ได้รับผลเป็นมะม่วงจากต้นมะพร้าวไม่ได้   และไม่มีใครไปเสกหรือทำต้นมะพร้าวให้ออกผลเป็นมะม่วง หรือ ให้เป็นข้าวสาลีได้ ฉันใด     บุคคลผู้กระทำกรรมเช่นไร ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ฉันนั้น    ไม่มีใครจะไปเสกหรือช่วยให้ได้รับผล คนละคุณภาพกับกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั้นได้   ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า

ยาทิสํ  วปเต  พีชํ     ตาทิสํ  ลภเต  ผลํ
บุคคลหว่านพืชเช่นใด    ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

แต่ว่าอาจจะมีผู้ค้านขึ้นว่า “ไม่เสมอไปหรอก คนทำชั่ว เห็นได้ดี มีถมไป”

คำคิดค้านเช่นนี้ ถ้าจะพิจารณาแต่เพียงผิวเผิน  ก็จะเห็นสมเหตุการณ์  หรือพฤติกรรมที่เป็นไปให้ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นได้  ก็มี

สำหรับปัญหาข้อข้องใจนี้   ก็จะขอแก้ข้อสงสัยนั้นไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า   กรณีที่บุคคลกำลังประกอบการงานสุจริตบ้าง  ทุจริตบ้าง หรือดีบ้าง ชั่วบ้าง   หรือว่า ชั่วมากกว่าดี   แต่ยังกลับได้เสวยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอยู่   ไม่เห็นว่าจะได้รับผลจากกรรมชั่วนั้น  ก็เนื่องด้วยสมบัติ 4 ประการ   อันเขาได้รับผลจากกรรมดีที่ได้เคยกระทำไว้แต่อดีต  กำลังให้ผลแก่เขาอยู่  ส่วนกรรมชั่วยังไม่ให้ผลเป็นวิบัติแก่เขา    สมบัติ 4 ประการนั้น คือ

  1. กาลสมบัติ คือ เป็นระยะเวลาที่กรรมดีที่เขาได้เคยกระทำไว้แต่อดีตกำลังให้ผล   ส่วนกรรมที่เขากำลังกระทำอยู่ ยังไม่ถึงเวลาให้ผล   เปรียบดังชาวนาทำนาไว้ตั้งแต่ฤดูฝน  ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยว  ก็เก็บเกี่ยวข้าวไว้เต็มยุ้งฉาง  จึงได้มีข้าวรับประทานตลอดมา    แต่ต่อมาเขาได้เปลี่ยนไปปลูกพืชพันธุ์อย่างอื่น  แต่ยังไม่ออกดอกออกผล  ตราบใดที่ข้าวยังไม่หมดจากยุ้งฉาง   เขาก็ยังมีข้าวรับประทานได้ต่อไป   ต่อเมื่อใดที่ข้าวหมดยุ้งฉาง  และพืชพันธุ์อย่างอื่นที่เขาปลูกไว้ในกาลต่อมาออกดอกออกผล   เขาก็ไม่มีข้าวรับประทาน  แต่กลับจะได้เสวยดอกผลของพืชพันธุ์ใหม่ที่เขาปลูกไว้   แล้วให้ผลในกาลต่อมานั้นนั่นแหละ  ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน      อนึ่ง ผลจากกรรมดีที่เขาได้เคยกระทำไว้แล้วนั้นนั่นแหละ ที่เป็นชนกกรรมให้เขาได้มาบังเกิดในตระกูลที่มั่งคั่งร่ำรวย หรือในตระกูลที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูง  ชื่อว่า คติสมบัติ
  2. คติสมบัติ  ให้เขาได้เสวยผลบุญจากกรรมดีที่เคยได้กระทำไว้   ได้รับความคุ้มครองป้องกันการกระทำความชั่วของเขา มิให้ปรากฏผลหรือให้ได้รับผลที่อ่อน   และช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนชีวิตของเขามิให้ตกต่ำ และให้ดำรงอยู่ได้  ตราบใดที่กรรมชั่วนั้นไม่หนักเกินกว่ากำลังของผลกรรมดีที่จะรองรับอุปถัมภ์ค้ำจุนไว้ได้
  3. อุปธิสมบัติ ผลบุญจากกรรมดี ดังกล่าวแล้วข้างต้น  ยังช่วยให้เขาได้รับผลเป็นอุปธิสมบัติ ได้แก่ เป็นบุคคลที่มีบุคลิกดี มีบุคลิกของความเป็นผู้นำสูง  มีพลานามัยแข็งแรง   และให้ได้รับผลเป็น
  4. ปโยคสมบัติ  คือเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเครื่องประกอบ ได้แก่ ความเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีอำนาจเงิน มีอำนาจพวกพ้อง บริษัท บริวารมาก มีอำนาจจากการได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย  ที่พอคุ้มครองความเป็นผู้ขาดคุณธรรม ศีลธรรมประจำใจเช่นนั้น ให้ดำรงคงอยู่ได้ก่อน

สมบัติ 4 ประการเหล่านี้ คือ  กาลสมบัติ 1  คติสมบัติ 1  อุปธิสมบัติปโยคสมบัติ 1 อันเป็นผลแต่กรรมดีที่ได้เคยทำไว้แต่เดิม กำลังให้ผล    ส่วนกรรมชั่วที่เขาทำขึ้นใหม่นั้นยังไม่ทันให้ผล เขาจึงดำรงอยู่ได้ก่อน

เพราะฉะนั้น   เมื่อได้พิจารณาให้ลึกซึ้ง   ให้เห็นเหตุเห็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลดี หรือผลชั่วแต่ละอย่างๆ    ก็จะพบว่า  ผลเช่นไร ย่อมมาจากเหตุที่ได้กระทำไว้แล้วเช่นนั้น    แต่เหตุคือ กรรม ที่ได้กระทำมาแล้วแต่ละภพชาติ มาจนถึงปัจจุบันนั้นมีมากมาย  มีทั้งดีบ้าง ชั่วบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง  คือเป็นกรรมดีมากบ้าง น้อยบ้าง   เป็นกรรมชั่วหนักบ้าง เบาบ้าง

กรรม คือ การทำงานที่ได้กระทำไปแล้วตั้งแต่อดีต  นับภพนับชาติไม่ถ้วน จนถึงปัจจุบัน  ทั้งที่เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม   ที่ดีก็ตาม หรือที่ชั่วก็ตาม  ย่อมประทับอยู่ในจิตสันดานของผู้ที่กระทำกรรมนั้นๆ  หรือถ้าจะกล่าวโดยหลักธรรมปฏิบัติ ก็ว่า   กรรมที่กระทำไปแล้ว  ย่อมประทับอยู่ในธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ ใจ ของผู้กระทำกรรมต่างๆ ไว้   เหมือนเทปบันทึกแสง-เสียงไว้ฉะนั้น   แล้วก็จะติดตามให้ผล ทั้งในภพชาติปัจจุบัน และในสัมปรายภพ คือในภพชาติต่อๆ ไป  ตามหน้าที่  ตามกาลเวลาที่เหมาะสมที่จะให้ผล  และตามความหนักเบาของกรรมนั้น ที่จะให้ผลก่อนหรือหลังและมากน้อยตามลำดับ

ลักษณะการให้ผลของกรรมตามหน้าที่  ตามกาลเวลาและตามน้ำหนัก  หรือตามความแรงของกรรมนั้น   พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงไว้มี 4 หมวด   แต่ ณ ที่นี้จะนำมาแสดงเพียง 3 หมวดที่สำคัญ   หมวดละ 4 ลักษณะไว้   จึงมีรวม 12 ลักษณะ คือ

[1] กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่  มี 4 ลักษณะ

  1. ชนกกรรม คือ กรรมที่แต่งหรือนำให้เกิดในภพภูมิใหม่
  2. อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน หรือ  ซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม  เช่นว่า  ผู้เกิดเป็นมนุษย์ที่เคยกระทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาแล้ว   ผลกรรมกำลังติดตามรอให้ผลอยู่    ครั้นมนุษย์ผู้นั้นทำกรรมชั่วอีก มีการดื่มสุราหรือเสพยาเสพติดเป็นต้น  แล้วขับรถไปด้วยความประมาท ขาดสติ  จึงเกิดอุบัติเหตุถึงตายหรือบาดเจ็บสาหัส   หรือบางคนเพียงแต่เดินเปะปะไปด้วยความเมามาย  ก็ตกบ่อหรือตกท่อตายไปง่ายๆ ก็มี
  3. อุปปีฬกกรรม คือ  กรรมบีบคั้นผลแห่งชนกกรรม ให้เปลี่ยนเป็นบรรเทาเบาบางลง เช่น ผู้ที่เคยบริจาคทานมาแต่อดีตชาติ  และทานกุศลนั้นเป็นชนกกรรมให้มาเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย  ซึ่งมีโอกาสที่เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคยทรัพย์    แต่เมื่ออยู่ในกองเงินกองทองอย่างนั้นแล้ว กลับประมาทหลงมัวเมาในชีวิต หลงติดอยู่ในอบายมุข  เป็นนักเลงสุรายาเสพติด  เป็นนักเลงผู้หญิง  เป็นนักเลงการพนัน  ติดเที่ยวกลางคืน  คบคนชั่วเป็นมิตร  เป็นต้น    ถ้ายังไม่ได้รับมรดก ก็อาจจะถูกตัดจากกองมรดก  หรือถ้าได้รับมรดกแล้วดำเนินกิจการงานในอาชีพอยู่  ย่อมประสบกับความเสื่อมในโภคยทรัพย์  ถึงหายนะล่มจม สิ้นเนื้อประดาตัวไปได้  ดังนี้เป็นต้น
  4. อุปฆาตกรรม เป็นกรรมแรง ฝ่ายตรงกันข้าม ที่เข้าตัดรอนการให้ผลของอุปัตถัมภกกรรม และ อุปปีฬกกรรม ให้หยุด คือ มิให้ผลได้ เช่น องคุลีมาลโจร ที่อดีตชาติก็ได้เคยบำเพ็ญบารมีมามาก   เมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จึงเป็นมนุษย์ที่เฉลียวฉลาด  เมื่อไปเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ที่ตักสิลา ก็เป็นคนเรียนเก่ง และเป็นที่รักของอาจารย์ จนถูกเพื่อนๆ อิจฉา  แล้วหาอุบายยุแหย่อาจารย์ให้แนะนำสั่งสอนผิดๆ ว่า  ถ้าอยากจะได้วิชชาชั้นสูงให้ได้เป็นจ้าวโลก  ก็จงไปฆ่าคน  ตัดเอานิ้วมือมาให้ได้ 1,000 นิ้ว เป็นอุบายลวงให้องคุลีมาลไปเป็นโจรฆ่าคน   และจะได้ถูกพระมหากษัตริย์และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองฆ่าให้ตาย  องคุลีมาลหลงเชื่อเพราะความซื่อ   ก็ไปทำตามนั้น  จนผู้ที่จะถูกฆ่าคนที่ 1,000 นั้นคือมารดาของตน พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ  จึงเสด็จไปโปรดให้ละความเห็นผิด ให้กลับมีความเห็นถูกต้อง ด้วยพระดำรัสตรัสสอนว่า “หยุด” คือ ให้หยุดทำความชั่วเสีย   องคุลีมาลโจรที่คยได้สร้างสมอบรมคุณความดี เป็นบุญบารมีมาก่อน จึงได้สติ วางอาวุธ  หยุดทำชั่วเสีย   แล้วจึงได้ทูลขออุปสมบทกับพระพุทธเจ้า  กลายเป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรม  จึงพ้นจากอุปปีฬกกรรม  คือกรรมชั่ว  ที่ฆ่าคนมามาก  และกำลังจะฆ่าแม้มารดาของตนเป็นคนที่ 1,000 ซึ่งกำลังจะให้ผลเป็นกรรมบีบคั้นให้การที่จะบรรลุมรรคผล เป็นไปได้ยากขึ้น   และถ้าได้กระทำมาตุฆาต คือ ฆ่ามารดาอีกด้วยแล้ว  ก็จะเป็นกรรมตัดรอนมรรค ผล ในชาตินี้เลยทีเดียว    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ทรงทราบเหตุนี้ด้วยพระโพธิญาณ จึงได้เสด็จไปโปรดให้องคุลีมาลโจรให้ได้สติ  และให้ละกรรมชั่วนั้น แล้วกลับตัวกลับใจประกอบกรรมดี  เข้าบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  เป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมจนถึงได้ถึงบรรลุมรรค ผล นิพพาน  เป็นพระอรหันต์ อันเป็นกรรมดีสูงสุด คือโลกุตตรธรรม เข้าตัดรอนอุปปีฬกกรรม คือกรรมชั่วที่ได้เคยฆ่าคนมามาก  อันจะให้ผลบีบคั้นการบรรลุมรรคผล ให้เป็นไปได้ยากลำบากนั้น   ให้สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ต่อกาลไม่นาน

[2] กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลาที่เหมาะสม มี 4 ลักษณะ ได้แก่

  1. ทิฏฐิธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในภพชาติปัจจุบันนี้ ประการหนึ่ง
  2. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่จะให้ผลในภพชาติที่จะไปเกิดใหม่ถัดไปจากชาตินี้ ประการหนึ่ง
  3. อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่จะให้ผลในภพชาติถัดต่อๆ ไป นี้ประการหนึ่ง
  4. อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล

[3] กรรมที่ให้ผลตามน้ำหนักหรือความแรงของกรรม  มี 4 ลักษณะ ได้แก่

  1. ครุกรรม คือ กรรมหนักที่ให้ผลก่อน  เป็น อนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า แม้ห้อพระโลหิต
  2. พหุลกรรม คือ กรรมที่ทำมามาก ทำบ่อยๆ  จนเคยชิน ชำนาญ  ที่ให้ผลรองลงมา
  3. อาสันนกรรม คือ กรรมที่จวนเจียนหรือใกล้จะตาย  ถ้าไม่มีกรรม 2 ข้อข้างต้นอยู่ก่อน  ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่นที่รองลงไป
  4. กตัตตากรรม คือ กรรมสักว่ากระทำ  ได้แก่ การกระทำที่มีเจตนาอ่อน หรือ ไม่ได้เจตนาที่จะกระทำอย่างนั้นโดยตรง จะให้ผลเมื่อไม่มีกรรมอื่นๆ ข้างต้นให้ผล

กรรมดี และ กรรมชั่ว ที่ติดตามให้ผลในลักษณะต่างๆ เช่นนี้   ในส่วนของกรรมดี ก็จะให้ผลเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข    ในส่วนของกรรมชั่ว ก็จะให้ผลเป็นความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทา และ ความทุกข์   อันรวมเรียกว่า “โลกธรรม 8” ประการ     และ โลกธรรมทั้ง 8 ประการนี้  ก็ไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย คือ เป็นไปตามกรรมดี กรรมชั่วที่บุคคลกระทำไว้แล้วนั่นเอง ติดตามให้ผล    ถ้าใครยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ว่าเป็นสุข ว่าเป็นของเรา เป็นของเขา ที่เที่ยงแท้ถาวร หลงยินดี ยินร้ายแล้ว ย่อมเป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) ไปตามส่วนแห่งความยึดถือนั้น    เพราะโลกธรรมเหล่านี้ไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ตามเหตุปัจจัย   และสุดท้ายก็หมดสภาพเดิมของมันไปทั้งสิ้น (อนตฺตา) จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ทุกคนต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน จากของรักของหวงแหนทั้งสิ้น  แม้ตัวเราเองก็รักษาตัวเองอยู่ไม่ได้ตลอดไป จะเป็นเจ้าของอะไรได้นานตลอดไปเล่า มีแล้วกลับไม่มี ได้เป็นแล้วกลับไม่ได้เป็น ได้สุขแล้วกลับเป็นทุกข์เรื่อยไป จนตายจากกันไป แล้วก็ไปมือเปล่าด้วยกันทั้งนั้น จะมีติดตามตัวเองไปในภพภูมิใหม่ ก็แต่กรรมดี กรรมชั่ว ที่จะติดตามให้ผลต่อไปในสัมปรายภพ ตราบใดที่ยังไม่ถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ก็จะยังคงเป็นเช่นนั้น     ผู้หลงไม่รู้สัจจธรรมนี้ จึงติดอยู่ในไตรวัฏฏ์ คือ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ คือ ความมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็ประกอบกรรมชั่ว หรือดีบ้าง ชั่วบ้าง แล้วก็ได้รับผลกรรมนั้น เป็นความทุกข์เดือดร้อน แม้จะได้รับผลจากกรรมดีก็ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุดก็ไม่มีอะไรเป็นของใครที่ถาวรแท้จริงเลย

เพราะฉะนั้น  ในระยะเวลาที่ใกล้จะสิ้นวันสุดท้ายของปีเก่า  และเริ่มต้นไปใหม่นี้ ผู้มีปัญญา จึงพึงพิจารณาทบทวนดูกรรมอันเป็นเหตุให้ได้รับผลสำเร็จ หรือ สมหวังในชีวิต ว่าเพราะทำการงานคือกรรมดีหรือไม่ดีอย่างไร จึงได้รับผลสำเร็จ ให้สมหวังในชีวิตได้อย่างนี้ หรือ กำลังจะบังเกิดผล หรือว่า เพราะทำการงาน คือ กรรมที่ไม่ดีอย่างไร จึงไม่ได้รับผลสำเร็จ สมหวัง ในปีหน้า หรือ ในกาลข้างหน้าอย่างไร ให้ได้รับความล้มเหลว ผิดหวัง ในชีวิต หรือว่า ทำกรรมดีไม่พอที่จะให้บังเกิดผลดีได้ จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนี้เป็นต้น

การที่กิจการงานในชีวิตได้รับความสำเร็จ   อาจจะเกิดแต่การทำงาน หรือกรรมดีล้วนๆ ก็มี    หรืออาจจะเกิดแต่การทำงานหรือกรรมดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็ได้   เช่น การทำการงานด้วยความเอาใจใส่ ขยันขันแข็ง อันจัดเป็นกรรมที่ดี แต่เป็นการงานทุจริต คดโกงผู้อื่นเขา เรียกว่า มีการงานที่ไม่สะอาด หรือ ไม่โปร่งใส   อันจัดเป็นกรรมที่ไม่ดี   แม้จะได้รับความสำเร็จตามที่ตนปรารถนา ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้อำนาจเงิน อำนาจพวกพ้อง วิ่งเต้นให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง ตลอดยศฐานบรรดาศักดิ์ โดยไม่เป็นธรรม คือเป็น เหตุให้ผู้มีหน้าที่พิจารณาให้ตำแหน่งหรือให้ยศถาบรรดาศักดิ์นั้น เสียความทรงตัว คือเสียการพินิจพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม ขาดความบริสุทธิ์ยุติธรรมไป หรือเช่นการใช้อำนาจเงิน หรืออำนาจนอกกฎหมาย ปกป้องกรรมชั่วต่างๆ ได้แก่ การผลิต การจำหน่ายยาเสพติด หรือสิ่งมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การประกอบกิจการที่ชื่อว่าอบายมุขต่างๆ เช่น การใช้อำนาจเงิน อำนาจนอกกฎหมายปกป้องคุ้มครองแหล่งการพนัน แหล่งค้าโสเภณี เป็นต้น  ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ตามปรารถนา มีเงินมีทองเพิ่มขึ้น  แต่ความสำเร็จนั้นก็เป็นความสำเร็จที่ด้อยเกียรติยศ หรือถ้าว่าการทำงานนั้นเป็นกรรมชั่วมากกว่ากรรมดี ก็เป็นผลสำเร็จที่ไร้เกียรติยศเลยทีเดียว   เพราะสักวันหนึ่ง การกระทำทุจริตที่เป็นกรรมชั่วหรือกรรมไม่ดีนั้นก็จะเปิดเผยตัวของมันออกมาให้คนอื่นได้รู้ ได้เห็น   ไม่ช้าก็เร็ว  ดังคำพังเพยแต่โบราณที่ว่า “เมื่อน้ำลด ตอก็ผุด”   คือเมื่อตนเองหมดอำนาจที่ค้ำจุนอยู่   ความชั่วหรือทุจริตที่ตนเคยทำไว้แล้ว  ก็จะปรากฏขึ้นให้คนอื่นรู้-เห็นได้  ก็กลับเป็นความสำเร็จที่ด้อย  หรือที่ “ไร้เกียรติยศ” ไป เพราะว่า

คำว่า “เกียรติยศ” นั้น เป็นการได้รับการยอมรับ ความยกย่องนับถือ คำสรรเสริญ ในคุณความดี อันเป็นผลแต่กรรมดีเท่านั้น

เพราะฉะนั้น  ท่านผู้มีปัญญาจึงพึงกระทำแต่คุณความดี   หลีกหนีความชั่วและเลิกคบคนไม่ดีเสีย   ก็จะได้รับผลสำเร็จในชีวิตที่ดี  ที่มีความสุขความเจริญ  เป็นบุคคลผู้มี “เกียรติยศ”   ที่จะมีแต่ได้รับการยอมรับความยกย่องนับถือและสรรเสริญสุข  ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีเสื่อม   สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่า

 “เกียรติยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ มีการงานสะอาด 
ไตร่ตรองแล้วจึงทำ  มีความสำรวม  เป็นอยู่โดยธรรม
และ ไม่ประมาท”

อธิบายความว่า  

คำว่า “ขยัน” คือไม่เกียจคร้าน ไม่ปล่อยให้การงานคั่งค้าง  ต้องเอาใจใส่ทำกิจการงานให้สำเร็จด้วยดี  
คำว่า “มีสติ” คือความระลึกได้ด้วยปัญญาอันเห็นชอบในบาปบุญคุณโทษ และในทางเจริญทางเสื่อม แห่งชีวิต
คำว่า “มีการงานสะอาด” คือการงานบริสุทธิ์ ไม่ทุจริตคิดมิชอบ ไม่คดโกงหรือใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมต่างๆ เป็นต้น
คำว่า “ใคร่ครวญแล้วจึงทำ” ก็คือ พินิจพิจารณาให้รอบคอบก่อนคิด-พูด-ทำ กิจการงานใดๆ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ สมบูรณ์และตรงประเด็น
คำว่า “มีความสำรวม” ได้แก่การสำรวมระวังในศีล และอินทรีย์
คำว่า “เป็นอยู่โดยธรรม” คือเป็นผู้ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม คือเป็นผู้มีศีล มีธรรม
คำว่า “ไม่ประมาท” คือไม่หลงมัวเมาในชีวิต ว่าตนยังมีอำนาจเงิน อำนาจพวกพ้อง บริษัท บริวาร หรือยังมีอำนาจราชศักดิ์ มีสุขภาพอนามัยดี มีอายุยังน้อย
เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะเลิกละความชั่ว ปฏิบัติตัวไปในทางที่ดี ที่ชอบ ก็จะนำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข เป็นคนมี “เกียรติยศ” ในกาลทุกเมื่อ

เพื่อให้ท่านแน่ใจว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง   ก็ลองพิจารณาดูผลของการทำงานที่ประสบผลสำเร็จดี หรือประสบผลล้มเหลว ว่าเป็นเพราะเหตุไร   โดยให้ทำใจให้สงบก่อนแล้วจึงลองพิจารณา  จากผลไปหาเหตุ ก็พอจะเห็นความจริงข้อนี้ได้   อย่างเช่นเรื่องของศรีปราชญ์  ที่มีผู้ถามเป็นคำกลอน  แล้วท่านศรีปราชญ์ก็ได้ตอบเป็นคำกลอน  ดังต่อไปนี้

ผู้ถามได้ถามว่า “แหวนนี้เจ้าได้แต่ใดมา”
ท่านศรีปราชญ์ตอบว่า “พระพิภพโลกาประทานให้”
ผู้ถามถามต่อว่า “เจ้าทำสิ่งใดมาวานบอก”
ท่านศรีปราชญ์ตอบว่า “เราแต่งโคลงถวายไท้ท่านให้รางวัล”

นี้เรียกว่า พิจารณาจากผลของกรรม  สาวไปหากรรมอันเป็นเหตุ  ก็พอจะเห็นได้ว่า  เพราะทำการงานคือกรรมดี จึงได้ผลดี   การพิจารณาผลของกรรมชั่วก็เป็นไปโดยนัยเดียวกัน   ก็จะสามารถรู้เห็นผลของกรรมได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น  ทุกท่านจงทำแต่กรรมดี  หลีกหนีความชั่ว  และเลิกคบคนชั่ว  จงคบแต่คนดี  เอาแต่เยี่ยงอย่างที่ดี มีศีล มีธรรม  ก็จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง  และสันติสุขอย่างมี “เกียรติยศ” ได้ตลอดไป

สุดท้ายนี้  อาตมภาพขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงได้โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน  จงปราศจากความทุกข์ โศก โรคภัย ทั้งปวง  จงมีอายุยั่งยืนนาน  เจริญรุ่งเรืองด้วยพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกิจการงานโดยชอบ  สุขสมบูรณ์  บริบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ มีมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ทุกท่าน ทุกคน ตลอดกาลนานเทอญ   เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2539

แชร์เลย

Comments

comments

Share: