นมสฺสิตฺวา ติโลกคฺคํ | ภวากวกรํ นุทํ |
สงฺฆฺจุตฺตมํ เสฏฺํ | ปวกฺขามิ ปรกณํ |
ปฺาสชาตกํ นาม | วุจฺจมานํ อเสสโต |
(ในปัญญาสชาดกนี้ พระคันถรจนาจารย์ผู้แต่งพระคัมภีร์กล่าวคำประณามพระรัตนตรัยไว้ในเบื้องต้นว่า) ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการองค์สมเด็จพระสัพพัญญบรมครูเจ้า ผู้ทรงพระเดชพระคุณอันประเสริฐปรากฏในไตรภพ อนึ่งขอนอบน้อมคุณพระนพโลกุตรธรรม อันชักนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นจากความทุกข์ในภพน้อยใหญ่ แลขอนอบนบคุณพระสงฆ์องค์พระอริยเจ้าผู้ทรงคุณอันอุดม ด้วยอำนาจรตนัตตยาธิคุณอดุลยภาพนั้น ขอจงป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวง อย่าให้มีมาบีฑาข้าพเจ้าผู้จะรจนาคัมภีร์พระปัญญาสชาดก โดยสุตมัยญาณตั้งแต่ต้นจนอวสานกาลจบพระคัมภีร์นั้นเถิด
พระคันถรจนาจารย์ถวายนมัสการพระไตรรัตนเสร็จแล้วจึงนำเรื่องนิทานต่าง ๆ มาแสดงไว้ในคัมภีร์ปัญญสชาดก มีเรื่องราวซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้
สมุทฺทโฆโสติ นาเมนาติ อิทํ สตฺถา สาวตฺถิยํ อุปนิสฺสาย เชตวเน วิหรนฺโต ยโสธราเทวี อารพฺภ กเถสิ.
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวัน อาศัยเมืองสาวัตถีเป็นที่โคจรสถานทรงบิณฑบาต อารพฺภ ทรงพระปรารภพระนางพิมพายโสธรา ให้เป็นเทศนานุบัติเหตุ กเถสิ จึงตรัสเทศนาสมุททโฆสชาดกให้เป็นผลอันพระสังคีติกาจารย์กำหนดโดยพระบาลีว่า สมุททโฆโสติ นาเมน เป็นอาทิ
อเลกทิวสมุหิ แท้จริง วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในธรรมสภาศาลา สั่งสนทนาถึงเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสละสิริราชสมบัติเพื่อใครได้พระนางพิมพายโสธราว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าของเราทั้งหลาย พระองค์ทรงสละราชสมบัติเสด็จไปสู่พระนครอื่น แล้วทรงแสดงศิลปศาสตร์สำคัญถึง ๖๔ อย่างจึงได้พระนางพิมพา
ฝ่ายองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงสดับคำของพระสงฆ์ทั้งปวงนั้นด้วยทิพยโสตญาณ จึงเสด็จจากพระคันธกุฎีไปสู่ที่ประชุมทรงประทับ ณ ธรรมาสน์สัตตรัตนามัย เปล่งพระสุรเสียงเพียงดังว่าเสียงแห่งท้าวมหาพรหมดำรัสถามพระองค์ถึงเหตุที่ประชุมสั่งสนทนากัน พระสงฆ์กราบทูลเรื่องที่กล่าวมานั้นให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระพิชิตมารจึงตรัสว่า ตถาคตจะได้สละพระราชบิดามารดาแลราชสมบัติเพื่อพิมพา แล้วไปสู่พระนครอื่นในปัจจุบันชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในชาติหนหลังได้สละพระราชบิดามารดาแลพระราชสมบัติไปสู่พระนครอื่น เพื่อประโยชน์แก่พิมพาก็มี ตรัสเท่านี้แล้วทรงพระดุษณีภาพ พระสงฆ์ทั้งปวงจะใคร่ทราบเรื่องอันมีแล้วแต่ปางหลัง จึงกราบทูลอาราธนา องค์สมเด็จพระศาสตาจึงนำเรื่องอันมีแล้วแต่หนหลังมาแสดงว่า
อตีเต ภิกฺขเว กาสิกรฏฺเ ชนปเท พฺรหฺมปุรํ นาม อโหสิ ฯลฯ ในกาลปางหลัง ครั้งพระเจ้าวินททัตเสวยราชสมบัติในพรหมบุรนคร มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าพระนางเทพธิดา เมื่อเวลาประสูติเกิดอัศจรรย์มีเสียงลั่นทั้งโลก เพราะฉะนั้นจึงได้ถวายนามพระโพธิสัตว์ว่า สมุททโฆสราชกุมาร เมื่อพระโพธิสัตว์พระชันษาได้ ๑๒ ปีมีพระกายงามโสภา แลได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์รู้ชำนิชำนาญมีกิตติศัพท์แผ่ซ่านลือไปทั่วโลก
ก็แหละในกาลนั้น มีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริสีหะนรคุตครองรัมมบุรธานี พระมเหสีทรงพระนามว่ากนกวดี มีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่าวินทุมดีราชกุมารีพระรูปโฉมงามโสภาพร้อมอาจารมารยาท พระราชธิดานั้นได้ทราบข่าวที่ลือว่าพระโพธิสัตว์งามนักก็ทรงกระสันจะใคร่เห็นพระโพธิสัตว์อยู่ทุกวันทุกเวลา
อนึ่งพระเจ้าสีิริสีหะนรคุตให้สร้างศาลเทพารักษ์อันเป็นหลักเมืองไว้แห่งหนึ่งที่ท่ามกลางพระนคร ถึงวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็เสด็จไปกระทำสักการบูชาทุกวัน ส่วนพระราชธิดาเมื่อจะเสด็จไปกระทำสักการบูชาเจ้าหลักเมืองนั้น ก็ประดับพระองค์ทรงเครื่องแล้วเสด็จทรงวอทองแวดล้อมด้วยหญิงบริวารประมาณหมื่นสองพันกั้นพระกลดสั้นสีขาว พร้อมทั้งเครื่องประโคมเสด็จไปสู่ศาลเทพารักษ์นั้น เวียนสามรอบแล้วเสด็จเข้าไปในศาลคำนับบูชาแล้วตั้งความอธิษฐานเป็นพระคาถาว่า
สมุทฺทโฆโสติ นาเมน | ราชปุตฺโต มหิทฺธิโก |
ผลิตฺวา ปถวี สพฺพํ | ยสํ ตสฺส มโนหรํ |
สเจ มหิทฺธิโก อาสี | เทวปุเร มโนรถํ |
ตํ ลภิตฺวา นรวรํ | กโรมิ ตว ปูชิตํ |
ความว่า พระราชบุตรผู้มีนามว่าสมุททโฆส อันมีมหิทธิฤทธิ์แผ่ไปทั่วปถพีมณฑล มีพระยศอันยังพระกระมลให้ยินดีปรีดา ถ้าข้าพเจ้าได้พระสมุททโฆสพระองค์นั้นเป็นพระภัสดา สมดังความปรารถนาแล้ว จักกระทำสักการบูชาแก่ท่านให้ยิ่งกว่านี้
พระราชธิดาบนเทวดาแล้วเสด็จกลับ แต่ในดวงจิตให้คิดรำพึงถึงพระโพธิสัตว์อยู่เสมอ
ก็แหละในครั้งนั้น มีพราหมณ์ชาวเมืองรัมมบุรนคร ๕ คนเที่ยวไปจนถึงพรหมบุรนครราชธานี ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เสด็จประทับในภายใต้เศวตฉัตรเหนือคอคชสาร พร้อมด้วยจัตุรงคเสนาและเครื่องประโคมแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จไปสู่พระราชอุทยานงามปานประหนึ่งว่าองค์อมรินทร์อันแวดล้อมด้วยหมู่เทวดาเสด็จไปสู่สวนสวรรค์
ฝ่ายพราหมณ์ทั้ง ๕ นั้น ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ก็พากันโสมนัสชมพระบารมีแล้วร้องถวายไชยมงคลด้วยเสียงอันดัง พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังจึงตรัสถามพราหมณ์ทั้งปวงนั้นด้วยสารพระคาถาว่า
กุโต นุ คจฺฉถ โว | พฺราหฺมณา กิลนฺตรูปา |
กีสา ทุพฺพลา อาคนฺตวา | กีการณา เม ตมตฺถํ |
มยฺห์ พฺรูถ ปุจฺฉามิ เต | พฺราหฺมเณ เวทปารคู |
ความว่า ท่านทั้งหลายมีกายอันซูบคล้ำลำบากเพราะความทุกข์ยากมาในมรรคา ท่านมาจากพระนครชื่อไร และมีกิจธุระเป็นไฉนจึงได้มาสู่ประเทศนี้
พราหมณ์ทั้ง ๔ ได้ฟังรับสั่งถาม จึงทูลความเป็นพระคาถาว่า
มยํ สพฺเพ มหาราช | รมฺมปุเร มโนรเม |
ตโต อาคมา สพฺพมฺหา | ลกฺขณนฺเตฺวว ปสฺสิตุํ |
ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้งปวงอยู่ในรัมมบุรนคร ได้ฟังเขาเล่าลือกัน จึงพากันมาจากรัมมบุรนคร เพื่อชมพระรูปพระโฉมพรรณสรรพางค์ของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
พระโพธิสัตว์จึงชวนพราหมณ์ทั้ง ๔ ไปสู่สวนอุทยาน ทรงเล่นสำราญแล้วพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง จึงดำรัสถามพราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นว่า รัมมบุรนครมีความแปลกประหลาดอย่างไรบ้าง พราหมณ์ทั้ง ๔ ทูลว่า พระเจ้าสิริสีหะนรคุตซึ่งครองรัมมบุรนคร พระมเหสีมีนามว่าพระนางกนกวดี มีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่าวินทุมดี รูปทรงงามโสภาหาสตรีที่จะงามเหมือนไม่มี ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นอันมากอยากจะได้พระราชธิดานั้น แต่งเครื่องบรรณาการมีราชสารไปทูลขอพระเจ้าสิริสีหะนรคุตๆก็ไม่พระราชทานให้แก่ผู้ใด ข้อนี้เป็นความอัศจรรย์ของรัมมบุรนคร พระโพธิสัตว์ได้สดับข่าวนั้นก็ทรงปลื้มพระหฤทัย จึงประทานทองคำแก่พราหมณ์คนละห้าร้อย ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จกลับ รุ่งเช้าจึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชบิดามารดา กราบทูลคดีนั้นให้ทรงทราบ แล้วกราบทูลลาเพื่อจะเสด็จไปดูพระราชธิดา ด้วยบาทพระคาถาว่า
อาปุจฺฉามิ ตุวํ ตาต | คจฺฉามิ ปุรมุตฺตมํ |
โอกาสํ ยทิ ลภามิ | คจฺฉามิ มยฺหํ ปุรํ |
สิริสีหนรคุตฺโต | ราชา ตสฺส ปน ธิตา |
อโนปมาปิ ลกฺขณา | สทิสา เทวกฺาหิ |
ทฏฺุมิจฺฉามิ ตํ สุภํ |
ความว่า ข้าแต่พระชนกชนนี ข้าพระองค์จะขอถวายบังคมลาไปสู่นครอันอุดม ซึ่งมีนามว่ารัมมบุรี ถ้าข้าพระองค์ได้โอกาสแล้วก็จะไปยังเมืองรัมมบุรี ก็แลเมืองนั้น พระราชาทรงพระนามว่า สิริสีหะนรคุตเป็นอธิบดีครองอาณาจักร ธิดาของพระราชานั้น มีลักษณะหาผู้ใดเปรียบมิได้ งามประดุจดังว่านางเทพอัปสรกัญญา ข้าพระองค์ปรารถนาจะไปเห็นนางงามนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ฝ่ายพระชนกนาถราชมารดาทั้ง ๒ ก็สวมกอดพระโพธิสัตว์แล้วทรงพระโศการำพัน
เมื่อจะทรงห้ามให้รอการที่จะเสด็จนั้นไว้ จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า
มยํ ตว ปิตา ราชา | ตว มาตา ทฺว ชนา |
วินา เต ปุตฺตกานาถา | กถํ ชีวาม ปุตฺตก |
ยทิ อิจฺฉสิ ปุตฺต | สหสา มา คจฉิสฺสสิ |
ทูตํ จ ปหิณิสฺสาม | วาเรนฺตา ราชธีตรํ |
ความว่า ดูกรปิยบุตร เราทั้งสองคือมารดาบิดาของเจ้า เมื่อเว้นจากเจ้าผู้เป็นบุตรแล้ว ก็เหมือนอนาถา มารดาบิดาทั้งสองจะมีชีวิตอย่างไรได้ ถ้าเจ้าปรารถนาจะไปก็จงยับยั้งอยู่ก่อนเราทั้งสองจะส่งทูตให้ไปขอราชธิดานั้น
พระโพธิสัตว์ กราบทูลวิงวอนขอลาเสด็จไปเองจนทรงพระอนุญาตแล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๔ ไปบริโภคอาหารเสร็จแล้วก็ประทานทองคำอีกคนละห้าร้อย ครั้นเพลาราตรีก็ส่งพิณให้แก่บุตรปุโรหิตคนหนึ่ง ส่งห่อเครื่องประดับให้แก่บุตรอำมาตย์คนหนึ่งแล้วชวนคนทั้ง ๒ กับพราหมณ์ทั้ง ๔ เสด็จออกจากพระนครไปตามมารดา ด้วยอานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ราตรีหนึ่งก็ถึงรัมมบุรนคร พระโพธิสัตว์พักสรงน้ำชำระกายอยู่ที่ภายนอกพระนคร วันนั้นนางวินทุมดีราชธิดาเสด็จกลับจากศาลเทพารักษ์หลักเมืองแล้ว ขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระโพธิสัตว์ทรงเครื่องประดับแล้วเสด็จไปศาลเทพารักษ์นั้น หมู่มนุษย์ทั้งหลายซึ่งได้เห็นพระโพธิสัตว์ก็พากันตกตะลึงแลดูพระโพธิสัตว์มิได้วางตา เพราะรูปสิริโสภาของพระโพธิสัตว์งามแปลกกว่าสามัญชน พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากศาลเทพารักษ์แล้ว ก็เสด็จเข้าไปในพระราชนิเวศน์เฝ้าพระเจ้าสีริสีหะนรคุต นั่งดีดสายพิณอยู่ตรงพระพักตร์ เสียงพิณนั้นดังสนั่นเสนาะเพราะจับใจประชุมชนที่ได้ฟังทั้งพระนคร พระเจ้าสิริสีหะนรคุตทอดพระเนตรดูพระโพธิสัตว์ไม่กระพริบพระเนตร พระราชธิดาก็แลดูอย่างนั้น พระเจ้าสีริสีหะนรคุตทรงพอพระหฤทัย จึงตรัสเรียกพราหมณ์ทั้ง ๔ เข้าไปสู่ที่เฝ้าแล้วตรัสถามว่า กุมารที่ดีดสายพิณอยู่นั้นดูรูปร่างงดงามยิ่งนักเป็นบุตรผู้ใด พราหมณ์ทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่าเป็นพระราชโอรสพระเจ้าวินททัต อันเสวยราชสมบัติในพรหมบุรนคร พระนามว่าสมุททโฆสราชกุมาร พระเจ้าสิริสีหะนรคุตได้สดับก็ทรงพระเสน่หา เสด็จลุกจากราชบัลลังก์ไปใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วทรงกอดรัดจุมพิตพระเศียรเกล้าแล้วตรัสว่า พ่ออุตสาหะละราชสมบัติของตนไม่อาลัย ตัดใจมาได้ถึงเมืองนี้ พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระองค์ทรงพระบารมีเป็นอย่างประเสริฐในโลก ข้าพระพุทธเจ้าอุตสาหะมาด้วยหวังใจถวายตนเป็นข้าใต้ฝ่าพระบาท พระเจ้าสีริสีหะนรคุตได้สดับคำพระโพธิสัตว์ ก็ทรงพระโสมนัส จึงพาพระราชธิดากับพระโพธิสัตว์พร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทเสด็จไปยังศาลเทพารักษ์ ทรงหลั่งอุทกธาราออกจากพระเต้าทอง อภิเษกพระราชธิดากับพระโพธิสัตว์ให้อยู่ร่วมสุขสมบัติภายในเศวตฉัตรเดียวกัน พระโพธิสัตว์กับพระราชธิดาก็เสด็จขึ้นสู่วอทองเดียวกันกลับจากศาลเทพารักษ์ ห้อมล้อมด้วยราชบริษัทเสด็จเข้าในพระราชวัง ประทับอยู่ในปราสาทเดียวกัน
ฝ่ายพระเจ้าสิริสีหะนรคุตจึงดำรัสสั่งให้จัดเครื่องบรรณาการ มีราชสารแจ้งความตามเหตุที่ได้พบกับสมุททโฆสราชกุมารแล้วได้จัดการอภิเษกเป็นการหมั้นไว้ให้สมุททโฆสราชกุมารอยู่ร่วมปราสาทกับพระราชธิดา ขอเชิญพระเจ้าวินททัตเสด็จมาเพื่อการวิวาหมงคลต่อไป ให้ราชทูตเชิญพระราชสารกับเครื่องราชบรรณาการไปสู่พรหมบุรนครถวายพระเจ้าวินททัต
ฝ่ายพระเจ้าวินททัตได้ทรงสดับพระราชสาร แลทอดพระเนตรเห็นเครื่องราชบรรณาการก็ทรงพระโสมนัส จึงตรัสสั่งให้จัดจัตุรงคเสนาและเครื่องราชบรรณาการ แล้วให้ราชทูตนั้นนำมรรคาเสด็จยกพยุหโยธาไปรัมมบุรนครกับด้วยพระอัครมเหสี พระเจ้าสิริสีหะนรคุตกับพระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปทรงทำปฏิสันถาร เชิญพระเจ้าวินททัตเสด็จเข้าสู่พระนคร ให้จัดการพระราชพิธีการวิวาหมงคล กษัตริย์ทั้ง ๔ มีพระเจ้าสิริสีหะนรคุตเป็นต้น ก็อวยชัยให้พรแก่พระโพธิสัตว์กับพระราชธิดา เมื่อพระเจ้าวินททัตจะตรัสโถมนาการสรรเสริญบุญญานุภาพกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ จึงตรัสแก่พระเจ้าสิริสีหะนรคุตด้วยบาทพระคาถา
ยถา นิกฺขมิตราชา | นรมชฺเฌน อนฺตรํ |
ตถา ทุเว มยํ ราชา | มิตฺตภวาม สพฺพทา |
ตว รชฺชํ มม รชฺชํ | เอกํเยว ทุเว ภเว |
มม ทุกขํ ตว โหตุ | ตว ทุกขํ มมฎฺิตํ |
สุขทุกฺขา สมา โหม | อิโต สุขตรํ สิยาติ |
ความว่า ราชบุตรและราชธิดาของเรา เป็นกษัตริย์อสัมภินนพงศ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราทั้งสองก็เป็นกษัตริย์อสัมภินนพงศ์ทั้งสองข้าง พระราชาแต่กาลก่อน เป็นพงศ์กษัตริย์อย่างไร เราทั้งสองก็เป็นพงศ์กษัตริย์อย่างนั้นเหมือนกัน เราทั้งสองจงเป็นมิตรไมตรีกันทุกเมื่อ ราชสมบัติของท่านเหมือนราชสมบัติของเรา ส่วนราชสมบัติของเราเล่าก็เหมือนราชสมบัติของท่าน เราทั้งสองเหมือนคนๆเดียวกัน ทุกข์ของเราก็เหมือนทุกข์ของท่าน ทุกข์ของท่านก็เหมือนทุกข์ของเรา เราทั้งสองจงมีสุขและทุกข์เสมอกัน จงร่วมสุขร่วมทุกษ์กันทุกเมื่อ แต่นี้ไปเราทั้งสองจะมีความสุขยิ่งขึ้นไปกว่านี้
พระเจ้าสิริสีหะนรคุตได้ทรงสดับสุนทรคาถาดังนั้น ก็มีพระหฤทัยยินดีโสมนัส จึงมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
สาธุ สาธุ นรุตฺตม | เอกโต หุตฺวา ภวาม |
สาธุ สาธุปิทํ วากฺยํ | เอวํ ภวตุ สพฺพทา |
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในนรชน พระราชดำรัสที่พระองค์ตรัสมาทั้งนี้เป็นความดีความชอบ ทำประโยชน์ให้สำเร็จทั้งสองฝ่ายเราทั้งสองจะมีฉันทอัธยาศัยเสมอกัน พระองค์จงทรงประพฤติเป็นไปดังนี้ทุกเมื่อ จนตราบเท่าเสด็จทิวงคตเถิด
พระเจ้าวินททัตกับพระอัครมเหสีได้ทรงฟังพระราชดำรัสตอบก็ทรงโสมนัสยินดี จึงประทับแรมอยู่ในรัมมบุรีนครนั้นประมาณได้เดือนหนึ่งก็ทูลลาพระเจ้าสิริสีหะนรคุต ยกพยุหโยธากลับหลังยังพระนคร พระโพธิสัตวก็เสด็จอยู่บนปราสาทกับพระราชธิดา มีความสมัครสโมสรสุขสำราญทุกเวลา
วันหนึ่งพระนางวินทุมดีราชธิดา จึงทูลพระโพธิสัตว์ราชสามีว่า หม่อมฉันจะไปที่ศาลเทพารักษ์ จะถวายเครื่องบวงสรวงแก่เทพารักษ์แก้คำปฏิญาณที่หม่อมฉันได้บนบานไว้ พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญเจ้าได้บนบานไว้ว่ากระไร พระนางวินทุมดีได้สดับพระราชสามีตรัสถาม เมื่อจะทูลความนั้นให้ทรงทราบจึงทูลเป็นบาทพระคาถาว่า
ยถา ตว ยสํ สุตฺวา | ทิวารตฺตึ อนุสฺสรึ |
อนุสฺสรนฺติยา ตถา | เทโว อายาจิโต มยา |
ความว่า กาลเมื่อหม่อมฉันได้สดับกิตติศัพท์กิตติคุณของพระองค์ ก็มีจิตคิดประสงค์จะใคร่ได้มาเป็นพระราชสามี ระลึกถึงเนืองๆทุกทิวาราตรีกาลในกาลนั้น หม่อมฉันจึงได้บนบานเทวาดาในศาลเทพารักษ์ให้สมดังความประสงค์อย่างนั้น
พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังดังนั้น เมื่อจะเล่าความหลังให้พระนางวินทุมดีฟัง จึงกล่าวพระคาถาเป็นลำดับไปว่า
ยถา ปุจฺฉามิ พฺราหฺมเณ | ตํ ปวุตฺตึ สุโณมิหํ |
ตวฺเจว เม จินฺตยโต | อุมฺมตฺตโก ชาโต มโน |
ตสฺมา จเชยฺย อตฺตานํ | ตว สงฺคมฺม การณา |
จเชตฺวา มาตาปิตโร | อาคตา ตว สนฺติเก |
ความว่า ดูกรผู้มีพักตร์อันเจริญ เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๔ ไปถึงเมืองพี่ก็ได้ถามพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นพี่ได้ฟังประพฤติเหตุของพระน้อง ก็เฝ้าแต่รำพึงคิดถึงพระน้องอยู่เนือง ๆ จนความรักเข้ารัดรึงตรึงหฤทัย อุปมัยดังว่าจะเป็นบ้า พี่จึงสู้สละพระราชบิดามารดาทั้งสองกษัตริย์แลละราชสมบัติมิได้รักกายเสียดายชีวิต คิดแต่จะใคร่ได้พระน้องเจ้าเป็นเบื้องหน้า จึงจากเมืองมาสู่รัมมบุรีอันเป็นที่อยู่ของพระน้อง พระโพธิสัตว์ตรัสดังนี้แล้ว ก็พาพระเทวีเสด็จไปศาลเทพารักษ์แก้สินบนด้วยข้าวตอกดอกไม้กระแจะจวยจันทร์เสร็จแล้วก็เสด็จกลับยังปราสาท กาลแต่นั้นล่วงไปปีเศษ พระโพธิสัตว์เสด็จทรงวอทองเดียวกันกับพระเทวีพร้อมทั้งราชบริวารไปสู่ราชอุทยาน
ครั้งนั้นมีวิทยาธรตนหนึ่งสำนักอยู่ในจังหวัดยอดเขาไกรลาสอันโอภาสดังแสงเงิน พาภรรยาไปเที่ยวเก็บดอกไม้ต่าง ๆ ประดับประดากายเสร็จแล้ว ก็ถือพระขรรค์มือหนึ่งถือฝักมือหนึ่งให้ภรรยานั่งบนตักแล้วก็เหาะไปในอากาศ
ยังมีวิทยาธรอีกตนหนึ่ง เป็นผู้สำนักอยู่ในยอดเขาสุทัศน์บรรพต ซึ่งปรากฏรัศมีดังสีแห่งทองคำ วิทยาธรนั้นพาภรรยาเที่ยวเก็บดอกมณฑาได้แล้วก็ประดับกายแล้วถือพระขรรค์เหาะไปในอากาศแต่ผู้เดียว วิทยาธรทั้งสองพบกันกลางทางก็ท้าทายกันด้วยถือว่าตนมีฤทธิ์ จึงเกิดสู้กัน วิทยาธรผู้ทรงภรรยาถูกฟันเป็นแผลทั่วทั้งกาย โลหิตไหลอาบคล้ายกับราดด้วยน้ำครั่ง สิ้นกำลังก็พลัดตกลงท่ามกลางราชอุทยาน วิทยาธรผู้ชนะได้ภรรยาไป
เวลานั้นพระโพธิสัตว์เสด็จลงจากพระตำหนักในราชอุทยานชวนบุตรปุโรหิตและบุตรอำมาตย์เสด็จประพาสราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นวิทยาธรนอนอยู่ที่นั่นก็เสด็จเข้าไปใกล้ทรงไต่ถาม วิทยาธรก็ทูลเล่าความตามเหตุที่เป็นแล้วให้ทรงทราบทุกประการ พระโพธิสัตว์ทรงสงสารก็ให้พยุงวิทยาธรมายังตำหนักแล้วให้แพทย์รักษาประมาณสักห้าวัน วิทยาธรก็หายเป็นปรกติ วิทยาธรตั้งอยู่ในความกตัญญูกตเวทีจึงถวายพระขรรค์ของตนแก่พระโพธิสัตว์ทูลว่าพระขรรค์นี้มีฤทธิ์ ถ้าถือไว้ในมืออาจจะเหาะไปได้ แล้วก็ทูลลาพระโพธิสัตว์ไป
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ตรัสชวนพระเทวีเสด็จประพาสป่าหิมพานต์ ให้พระเทวีทรงนั่งบนพระเพลา พระหัตถ์ทรงพระขรรค์แล้วเหาะขึ้นบนอากาศผันพระพักตร์สู่ทิศอุดร ชมภูเขาต่างๆในป่าหิมพานต์ คือภูเขาเงิน ภูเขาทอง ภูเขาแก้ว และภูเขาแก้ว ๗ ประการสูงห้าร้อยโยชน์ มียอดใหญ่ร้อยยอด ยอดเล็กแปดหมื่นสี่พัน มีพลอยหินต่าง ๆ มีไม้กัลปพฤกษ์ต่าง ๆ มีหมู่กินนรกินรีฟ้อนรำขับขานประสานสำเนียงอยู่ไม่ขาด มีทั้งฝูงมฤคชาติคชสารราชสีห์แรดเสือแลอัสดร พระโพธิสัตว์เหาะประทับที่สิงขร ทรงเก็บบุปผานานาพรรณประดับให้พระเทวี และทรงเก็บผลไม้ที่มีรสดีต่าง ๆ เสวยกับพระเทวี แล้วทรงสระสรงคงคาในลำธาร แสนสนุกสุขสำราญพระทัย แล้วเสด็จไปประทับแรมอยู่ในคูหาตลอดราตรี
ฝ่ายข้าราชการทั้งปวง ไม่เห็นพระโพธิสัตว์และพระราชธิดา ก็ตกใจช่วยกันเที่ยวค้นหาในแนวไพรไม่ประสบสองขัติยาต่างเศร้าโศการีบเข้าไปเฝ้าพระเจ้าสิริสีหะนรคุต กราบทูลเหตุที่เกิดแล้วนั้นให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าสิริสีหะนรคุตตรัสให้ไปตามที่พรหมบุรนคร ด้วยกริ่งพระหฤทัยว่าจะเสด็จไปเยี่ยมเยือนพระชนกชนนีบ้าง หมู่อำมาตย์ไปตามถึงพระนครนั้นก็หาได้ทราบข่าวไม่ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวินททัตกราบทูลประวัติเหตุนั้นให้ทรงทราบ ด้วยพระคาถาว่า
ตว ปุตฺโต จ เทวี จ | เทฺว ขนา ตตฺถทฺทสํ |
เตน มํ ปหิณิ ราชา | ตว สาสนํ อาจิกฺขิตุํ |
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ดำรงอิสรภาพ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์คือพระราชบุตรและพระสุณิสาสะใภ้ของพระองค์ พากันไปชมสวนพระราชอุทยานแล้วอันตรธานหายไป ข้าพระองค์ทั้งหลายพากันเที่ยวค้นหาในพระราชอุทยานนั้น ก็มิได้พบเห็นเป็นอันสุดที่จะค้นหา โดยเหตุนี้พระเจ้าสิริสีหะนรคุต จึงตรัสใช้ให้ข้าพระองค์มากราบทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าวินททัตกับพระมเหสีได้ทรงทราบก็ทรงพระโศกาปานประหนึ่งว่าดวงพระทัยจะทำลายลาญ ไม่เป็นอันเสวยพระกระยาหารแลบรรทม ตรอมตรม ด้วยปิยวิปโยคทรงพระกรรแสงพลาง จึงกล่าวพระคาถาทั้งหลายว่า
หาหา นตฺถา อุโภ รฏฺา | หาหา นตฺถา ชนา เทฺว จ |
คตา ปุตฺตกา กุหึ โน | จชิสฺสาม ทุเว ชเน |
รฏฺเ จ ปเทเส เจว | กถํ ตุมฺห จชิสฺสถ |
เกน การเณน นตฺถา | กถํ โกจิ น ชานาติ |
อุโภ มยํ มหาเทวิ | อปุตฺตา จ ภวามฺหเส |
ปูตฺตเกน วินา อชฺช | กถํ ชีวาม ปุตฺตกาติ |
ความว่า หาหา แว่นแคว้นนครเกิดพินาศแล้ว พระราชบุตรและพระสุณิสาทั้งสองของเราจึงมาหายไป ขัตติยกุมารและขัตติยกุมารีทั้งสองไปอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ไฉนจึงมาสละเราสองเสียมิได้ระลึกถึงเราทั้งสองผู้เป็นมารดาบ้างเลย ทั้งมาละทิ้งแว่นแคว้นประเทศทั้งหลายเสียด้วย แลมาพากันหายไปด้วยเหตุอะไร ไฉนจึงไม่มีใครเห็นบ้างเลย เมื่อเป็นดังนี้เราทั้งสองชื่อว่าหาบุตรมิได้ เมื่อเราทั้งสองมาพลัดพรากจากบุตรแล้วจะมีชีวิตยืนยาวอยู่อย่างไรได้
เมื่อกษัตริย์ทั้งสองทรงพระโศการ่ำรำพันอยู่ดังนั้น หมู่อำมาตย์นั้น ก็กราบทูลลากลับมาทูลแก่พระเจ้าสิริสีหะนรคุตให้ทรงทราบว่าไม่ได้ข่าว กษัตริย์ทั้งสองพระนครก็ให้เสนาข้าราชการออกไปคอยฟังข่าวอยู่ในป่า
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เที่ยวประพาสเพลินอยู่ในป่าหิมพานต์ประมาณ ๒ เดือน แล้วพาพระเทวีเหาะขึ้นบนเวหาไปยังยอดเขาไกรลาสทอดพระเนตรเห็นสุวรรณนครมีฝูงกินนรฟ้อนรำงามโสภาก็ลงจากเวหาเสด็จไปในสุวรรณบุรี
ฝ่ายพระยาทุมมราชอันเป็นเจ้าแห่งฝูงกินนร เห็นพระโพธิสัตว์ก็คิดอัศจรรย์ใจว่ามนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งที่จะได้เคยมาถึงประเทศนี้ไม่มีเลย ท่านผู้ที่มานี้ชะรอยจะเป็นคนมีฤทธิ์เดชมากเป็นแท้จึงมาได้ ก็แหละผู้ที่มีชื่อลือชาปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้มีปรากฏอยู่ผู้เดียวคือพระสมุททโฆสเท่านั้น พระยาทุมมราชสันนิษฐานในใจอย่างนี้ แล้วก็ร้องเชิญพระโพธิสัตว์ให้เข้าไปนั่งใกล้ตน พระโพธิสัตว์กับพระเทวีก็ยกพระหัตถ์ไหว้พระยาทุมมราช ๆ ก็มาสวมกอดจุมพิตพระโพธิสัตว์ แล้วเชิญให้เป็นพระยาอุปราช ด้วยบาทพระคาถาว่า
อิทํ หิ นครํ รมฺมํ | ปฺุกมฺเมน สมฺภวํ |
โสวณฺณมยํ ปาการํ | อฑฺฒรชฺชํ ททามิ เต |
ความว่า พระนครของข้าพระองค์นี้ เป็นที่สนุกสนานควรจะเบิกบานยินดีมีกำแพงแล้วไปด้วยทองธรรมชาติ เป็นเมืองที่บังเกิดขึ้นเพราะอำนาจบุญบุรพกุศล ข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติในเมืองนี้แก่พระองค์กึ่งพระนคร
พระโพธิสัตว์ก็ไม่รับ ตอบว่าจะขอพักอยู่ในสำนักพระยาทุมมราชสัก ๑ เดือนแล้วจะลาไป พระยาทุมมราชก็อนุญาต พระโพธิสัตว์อยู่ในสุวรรณบุรีประมาณ ๑ เดือนแล้วก็อำลาพระยาทุมมราชเหาะขึ้นสู่อากาศไปสระอโนดาต ๆ นั้นมีแก้ว ๗ ประการ มีท่าน้ำสำหรับยักษ์และเทวดาท่า ๑ สำหรับฤาษีวิทยาธรท่า ๑ สำหรับพระพุทธองค์และพระปัจเจกพุทธและพระอรหันต์ทั้งหลายท่า ๑ พระโพธิสัตว์ประพาสริมสระอโนดาตเพลินอยู่ประมาณเดือน ๑ จึงเหาะขึ้นสู่อากาศไปยังสระฉันทันต์ ๆ นั้นมีปริมณฑลร้อยโยชน์ ปราศจากพรรณไม้น้ำทั้งปวง มีภูเขาล้อมอยู่ ๖ เขา คือ ภูเขาเงิน ๑ ภูเขาทอง ๑ ภูเขาแก้วมณี ๑ ภูเขาอัญชัน ๑ ภูเขาหรดาล ๑ ภูเขาแก้วผลึก ๑ เมื่อพระโพธิสัตว์ประพาสชมสระฉันทันต์อยู่นั้น ทรงระลึกถึงชาติหนหลังได้จึงตรัสเล่ากับพระเทวี ด้วยบาทพระคาถาว่า
อหํ ปุพฺเพสุ ชาตีสุ | ตสฺมึ ฉทนฺตทเหว |
สรุตฺตเม นาคราชา | ตทา อโหสึ ฉทฺทนฺเต |
ตสฺมึ ฉทฺทนฺตทเห ปุเร | นาคสฏฺีสหสฺสานิ |
วสาม กาฺจนคุเห |
ความว่า แต่กาลปางหลัง ครั้นเราเป็นพระยาคชสารชื่อฉันทันต์ ได้ควบคุมฝูงคชสารประมาณหกหมื่น อาศัยอยู่ในถ้ำทองนี้
ส่วนพระเทวีก็ระลึกชาติได้เหมือนกัน จึงทูลพระโพธิสัตว์ว่า ในชาตินั้นกระหม่อมฉันเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ มีนามชื่อว่า มหาสุภัททา เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๒ สนทนากันอย่างนี้แล้วก็ชวนกันลงสรงเล่นน้ำในสระนั้นสนุกสนานสำราญพระทัย แล้วก็เก็บดอกไม้ต่าง ๆ ประดับพระกาย ต่างองค์ต่างมีพระหฤทัยเพลิดเพลินอยู่ในรัมณียสถานนั้น ลืมคิดถึงบ้านเมืองแล้วตรัสชวนพระเทวีเหาะไปทอดพระเนตรเห็นแท่นทองมีแก้วผลึกเป็นกระดาน สูงประมาณ ๑๕ ศอกกว้างยาวประมาณ ๓๐ ศอก ประดิษฐานอยู่ในท่ามกลางภูมิประเทศนั้น
ครั้นพระโพธิสัตว์ได้ทอดพระเนตรเห็นสิริราชสมบัติดังนั้น จึงกล่าวพระคาถาว่า
โอรุยฺหาม มหาเทวิ | เวฑูริยผลิกมเย |
วิสมาม อิธ เทวิ | ปจฺฉา รมฺมปุรํ คตา |
ความว่า ดูกรพระน้อง เราทั้งสองจะลงสู่ภูมิอันแล้วไปด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วผลึก พากันหยุดพักอยู่ที่นี้ก่อน ภายหลังเราจึงจะพากันกลับไปรัมมบุรนคร ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จลงที่นั้นแล้วชวนพระเทวีว่า เราทั้ง ๒ พักอยู่ที่นี่อีกคราวหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยกลับไปยังรัมมบุรนคร ก็แหละในที่นั้นมีบ่อน้ำ ๒ บ่อ บ่อหนึ่งมีน้ำธรรมดาเต็มบริบูรณ์ บ่อหนึ่งมีน้ำหอมเต็มบริบูรณ์
ในที่นี้มีคำสอดถามเข้ามาว่าน้ำทั้ง ๒ บ่อนั้นมีบริบูรณ์อยู่ เพราะเหตุไรมีคำตอบว่า แต่ก่อนพวกวิทยาธรเคยเอาน้ำมาอาบและเอาของหอมมาทากาย แล้วนั่งเล่นเป็นที่สบายบนแท่นนั้น
พระโพธิสัตว์กับพระเทวีสรงน้ำชำระพระกายแล้วก็ทาน้ำหอมในบ่อนั้นแล้วเสด็จบรรทมหลับไปบนแท่นนั้น
ขณะนั้นมีวิทยาธรคนหนึ่งเหาะมาในอากาศ เห็นพระโพธิสัตว์กับพระเทวีบรรทมหลับอยู่บนแท่น ก็ลักเอาพระขรรค์ได้แล้วเหาะหนีไป พระโพธิสัตว์กับพระเทวีตื่นบรรทมขึ้นแลไม่เห็นพระขรรค์ ก็มีความโสมนัสในพระทัยมาก จนถึงทรงปริเทวนาการ พระโพธิสัตว์ก็ตรัสสอนพระเทวีโดยทางธรรม ระงับความโศกของพระเทวีได้แล้ว พระเทวีจึงทูลถามพระโพธิสัตว์ว่า จะเสด็จไปที่ใดต่อไป พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า คิดจะข้ามฝั่งน้ำไปฟากข้างโน้น แล้วพาพระเทวีเสด็จลงสู่ฝั่งคงคา เห็นขอนไม้ลอยมาขอนหนึ่ง จึงลงว่ายไปฉุดมาริมฝั่งชวนพระเทวีให้ลงเกาะขอนไม้นั้นว่ายข้ามไปด้วยตั้งพระทัยจะให้ถึงฝั่ง ครั้นว่ายไปถึงกลางน้ำก็บังเกิดพายุใหญ่พัดน้ำเป็นคลื่นระลอกกระฉอกฉาน ขอนไม้นั้นก็ภินทนาการแตกออกไปเป็นสองซีก คลื่นก็ซัดขอนไม้นั้นไปต่างกัน เวลาเช้าพระเทวีขึ้นฝั่งได้แลไม่เห็นพระภัสดาก็ทรงพระโศกาดูรพูนเทวษ มีน้ำพระเนตรนองนัยนาเพียงว่าจะวายชนม์ สิ้นสติสมปฤดีล้มลงเหนือพื้นปัถพี ครั้นฟื้นขึ้นได้สติดีแล้ว ก็ทรงตากผ้าแห้งแล้วก็ห่อเครื่องประดับถือมาตามรอยเท้าคชสารก็บรรลุถึงเมืองมัทราษฐ์ จึงเสด็จยุรยาตรเข้าไปในธานี พบสตรีผู้ใหญ่คนหนึ่ง สตรีนั้นไต่ถามพระราชธิดาก็บอกความว่าจะไปรัมมบุรนคร สตรีนั้นซักถามว่า เหตุไรจึงได้มาถึงพระนครนี้หรือว่ามีหมู่ญาติอยู่ในเมืองนี้ เจ้าแวะเข้ามาเพื่อจะเยี่ยมญาติ พระราชธิดาบอกว่าญาติไม่มี สตรีผู้ใหญ่นั้นก็ชวนให้ไปอยู่กับตน พระราชธิดาไปอยู่ในเรือนสตรีผู้ใหญ่นั้น ครั้นเวลาเช้าจึงเอาพระธำมรงค์เพชรวงหนึ่งให้หญิงผู้ใหญ่นั้นเอาไปขายแก่เศรษฐี ๆ ถามราคา หญิงผู้ใหญ่บอกว่าแหวนนี้กำหนดราคาไม่ได้ แต่ฉันจะต้องการทองคำ ๕ เล่มเกวียน เศรษฐีก็รับเอาแหวนนั้นไว้ให้ทองคำตามหญิงนั้นบอก หญิงนั้นก็ให้คนขับเกวียนบรรทุกทองคำมาแล้วมอบทองคำนั้นให้พระราชธิดา ๆ ให้ถ่ายทาสทาสี แล้วให้สร้างเรือนชั้นอันงาม และให้สร้างศาลาเป็นที่พักอาศัยของสมณพราหมณ์ชีในศาลานั้นให้เขียนเรื่องต่าง ๆ คือ เรื่องประชุมแต่งการวิวาหมงคลที่ศาลเทพารักษ์ เรื่องกษัตริย์ทั้ง ๒ ไสยาสน์บนบนแท่นทอง เรื่องกษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงเกาะขอนไม้งิ้วว่ายอยู่กลางน้ำ เกิดคลื่นลมจัดไม้ขอนนั้นแตกเป็น ๒ ซีก กษัตริย์ทั้งสองลอยไปจากกันแล้วให้คนเฝ้าคอยดูว่า ถ้ามีสมณพราหมณ์มาอาศัยในศาลาก็ให้ปูอาสน์รับ และไปบอกคนครัวให้รู้ เวลาเช้าจะได้จัดหาอาหารไปถวาย และให้คนเฝ้าคอยดูกิริยาท่าทางของสมณพราหมณ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่นั้น ว่าจะแสดงอาการแปลกประหลาดอย่างไร หรืออยู่เรียบร้อยเป็นปรกติ ถ้ามีผู้แสดงอาการแปลกก็ให้มาบอก พระราชธิดาสั่งคนเฝ้าไว้มั่นคงอย่างนี้ แต่พระราชธิดาคำนึงถึงพระภัสดาอยู่เป็นนิตย์
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ลอยอยู่กลางสมุทรเข้าฝั่งยังไม่ได้
ในที่นี้มีคำสอดถามเข้ามาว่า ด้วยวิบากของอกุศลกรรมอย่างไร พระโพธิสัตว์กับพระเทวีจึงได้ว่ายข้ามน้ำข้ามทะเล และพลัดพรากกัน
มีคำวิสัชนาว่า แต่ชาติปางก่อนพระโพธิสัตว์กับพระเทวีเป็นกษัตริย์ลงสรงน้ำในแม่น้ำในฤดูร้อน เวลานั้นมีสามแณรองค์หนึ่งพายเรือเล่นมาตามริมฝั่ง กษัตริย์ทั้ง ๒ นั้นเอาพระหัตถ์กระทบน้ำให้เป็นคลื่นเข้าไปในเรือของสามเณรจนน้ำเต็มลำ เรือก็ล่มลง สามเณรก็ร้องไห้ว่ายน้ำไป กษัตริย์ทั้ง ๒ ก็ช่วยสามเณรให้ขึ้นบกได้ ด้วยอกุศลวิบากที่ได้ทำแก่สามเณรด้วยความคะนองเท่านี้ พระโพธิสัตว์กับพระเทวีต้องว่ายน้ำอยู่ในสมุทรถึง ๕๐๐ ชาติ
เมื่อพระโพธิสัตว์ว่ายน้ำอยู่ในท่ามกลางพระมหาสมุทรครั้งนั้นถึง ๗ วัน พอนางมณีเมขลากลับจากเทวสมาคม มาตรวจท้องพระมหาสมุทรตามหน้าที่ของตน เห็นพระโพธิสัตว์ว่ายน้ำอยู่อย่างนั้น จึงไปเฝ้าพระอินทร์ทูลเหตุนั้น พระอินทร์ทรงตินางมณีเมขลาว่าไม่ใฝ่ใจในหน้าที่ของตน ละเลยไว้จนไม่ได้ช่วยบุรุษบุคคลผู้มีศีลาจารวัตร์ ให้รีบไปช่วยพระโพธิสัตว์ให้พ้นจากอุทกภัย นางมณีเมขลาพูดว่ามีวิทยาธรตนหนึ่งลักเอาพระขรรค์ของพระโพธิสัตว์ไปเสีย พระโพธิสัตว์จึงได้รับความลำบากถึงเพียงนี้ ท้าววชิรปาณีได้ทรงสดับก็ทรงพระพิโรธวิทยาธรนั้น จึงทรงกระบองเพชร เสด็จไปประดิษฐาน ณ ที่สูง แกว่งกระบองเพชรเหนือศีรษะวิทยาธร ขู่ด้วยทรงพระพิโรธว่า เฮ้ยวิทยาธรผู้เป็นโจร เหตุไรเองจึงไปลักเอาพระขรรค์ของพระโพธิสัตว์มา ถ้าเองไม่เอาไปคืนให้ท่านข้าจะตีหัวเองด้วยกระบองเพชรนี้ให้แตกเป็น ๓ เสี่ยง เองอย่าคิดหลีกเลี่ยงจงเอาไปคืนเดี๋ยวนี้ วิทยาธรนั้นกลัวพระอินทร์ก็เอาพระขรรค์ไปคืนให้พระโพธิสัตว์ท่ามกลางมหาสมุทร พระโพธิสัตว์ก็ถือพระขรรค์เหาะขึ้นสู่อากาศไปลงที่มัทราษฐ์นคร คิดว่าจะผ่อนพักบริโภคอาหารและสืบหาพระชายา เผื่อว่าจะเซซังมาอยู่ในบุรีนี้บ้าง จึงเปลื้องเครื่องประดับทั้งหมดซ่อนไว้ในที่กำบังแห่งหนึ่ง แล้วเปลี่ยนเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปในพารา ชาวเมืองเห็นก็บอกให้ไปอาศัยที่ศาลาที่พระราชธิดาสร้าง พระโพธิสัตว์เสด็จไปที่ศาลานั้นได้รับความปฏิสันถารทุกประการ ตลอดจนอาหารก็บริบูรณ์ เมื่อพระโพธิสัตว์บริโภคอาหารเสร็จแล้ว พิจารณาดูรูปภาพในศาลานั้น เห็นเป็นเรื่องเหมือนประวัติและความพลัดพรากของพระองค์ก็ทรงพระโศกา ครั้นคลายโศกแล้วทรงพระสรวล คนรักษาศาลาก็นำอาการแปลกนั้นไปบอกกับพระราชธิดา ๆ ก็รีบเสด็จไปสู่ศาลาเห็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงพระปรีดาปราโมทย์ยิ่งใหญ่ สุดวิสัยจะเปรียบปาน จึงมีพระเสาวณีย์ตรัสคาถาว่า
นิพฺพุตา นูน เม โสภา | นิพฺพุตา นูน เม ภยา |
นิพฺพุตา วิปุลา โสกา | ยสฺสายํ อีทิสา โสกา |
ความว่า แต่ก่อนเรานี้ให้รุ่มร้อนด้วยความโสกาดูร เพราะพลัดพรากจากพระภัสดา บัดนี้เราได้เห็นพระภัสดา ความโศกของเราก็ดับภัยของเราก็ดับ ความโศกแลภัยเช่นไรที่เกิดขึ้นแก่เรา ความโศกและภัยเช่นนั้นก็ดับระงับไปหมดแล้ว
พระโพธิสัตว์กับพระเทวีก็จรลีขึ้นสู่เคหฐานที่สร้างไว้นั้นสรงน้ำหอมชำระพระกายบริโภคอาหารสำราญแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ไปเอาเครื่องประดับที่ทรงซ่อนไว้นั้นมาประดับพระกาย แล้วทรงดำรัสคำเป็นที่เพลินพระทัย ประทับอยู่ ณ ที่นั้นไม่สู้ช้าวัน จึงให้หาพราหมณ์ทั้งหลายมาเฝ้า ประทานศาลาและเรือนทั้งทาสทาสีกับทองคำทั้งสิ้น เสร็จแล้ว ตรัสชวนพระเทวีเสด็จออกจากเมืองนั้นเหาะขึ้นยังเวหามาตลอดราตรีพอสว่างดีก็ถึงพระราชอุทยาน เสด็จลงมาประทับอยู่ ณ พระตำหนัก
ฝ่ายคนรักษาพระราชอุทยาน เห็นกษัตริย์ทั้ง ๒ แล้วก็รีบไปกราบทูลพระเจ้าสิริสีพะนรคุต ๆ ก็ทรงพระโสมนัส พร้อมด้วยพระมเหสีและพระราชบริวารเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ทรงสวมกอด จุมพิตแล้วตรัสถาม พระโพธิสัตว์กราบทูลเรื่องแต่ต้นจนกลับมาได้ให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าสิริสีหะนรคุตจึงดำรัสให้ตกแต่งพระนครให้งามวิจิตรบรรจง แล้วอภิเษกพระโพธิสัตว์ถวายราชสมบัติให้เป็นสิทธิทั้งพารา แล้วพระองค์เสด็จบรรพชาเป็นฤาษีบำเพ็ญฌานจนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วไปเกิดในพรหมโลก
ฝ่ายพระเจ้าวินททัตได้ทรงทราบว่าพระโพธิสัตว์ได้เสวยราชสมบัติในรัมมบุรีแล้ว ก็ให้อำมาตย์มาเฝ้าเชิญเสด็จพระโพธิสัตว์ไปมอบถวายราชสมบัติ แล้วเสด็จออกบรรพชาเป็นฤาษีบำเพ็ญฌานจนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วไปเกิดในพรหมโลก
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ให้ตั้งโรงทานให้ทานเป็นนิตย์ทั้ง ๒ พระนคร หมู่อำมาตย์ราษฎรที่ประพฤติตามโอวาทของพระโพธิสัตว์ ดำรงอยู่ในเบญจศีลเป็นอัตรา ครั้นสิ้นชีวาแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์
สตถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา ฯลฯ สมเด็จพระจอมธรรมทรงตรัสซึ่งนิทาน ครั้งนั้นเทวทัตเป็นวิทยาธรที่ลักพระขรรค์ พระเจ้าสิริสุทโธทน์เป็นพระเจ้าวินททัต พระสิริมหามายาเป็นนางเทพธิดา อานนท์เป็นบุตรปุโรหิต ราหุลเป็นบุตรอำมาตย์ สาริบุตรเป็นพระเจ้าสิริสีหะนรคุต พระมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระนางกนกวดี โมคคัลลาน์เป็นพระยาทุมมราช อนุรุทธเป็นพระอินทร์ อุบลวรรณาเป็นนางมณีเมขลา พิมพาเป็นนางวินทุมดี เราตถาคตเป็นสมุทรโฆสราชกุมาร
จบสมุททโฆสชาดก
—————————-
เรื่องสมุททโฆสนี้ นอกจากปัญญาสชาดกยังมีแต่งเป็นคำฉันท์ เริ่มแต่งในครั้งกรุงศรีอยุธยา พระมหาราชครูแต่งค้างอยู่ตอน ๑ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงต่อค้างอยู่อีกตอน ๑ มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งต่ออีกตอน ๑ จึงจบ