ปสฺสถ สทฺธาย ทานนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต เอกํ ปุริสํ อารพฺภ กเถสิ ฯ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงพระปรารภบุรุษคนหนึ่งให้เป็นเหตุ ตรัสพระกรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า ปสฺสถ สทฺธาย ทานํ ดังนี้เป็นต้น
กถานุสนธิ์ในเรื่องนี้มีพิสดารว่า ยังมีชายเข็ญใจผู้หนึ่งหาเลี้ยงชีพกับด้วยภรรยา ณ เมืองสาวัตถี สองสามีภรรยานั้นเที่ยวเกี่ยวหญ้าและหาฟืนมาขายได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีวิตตามกำลังของตน แต่บุรุษคนจนนั้นกอบด้วยศรัทธา ได้ทรัพย์มาแล้วก็แบ่งเป็นสามส่วน คือ บริจาคทานส่วนหนึ่ง บริโภคใช้สอยส่วนหนึ่ง เก็บไว้เพื่อมีเหตุจำเป็นจะได้ใช้ส่วนหนึ่ง บุรุษเข็ญใจนั้นกอบด้วยปัญญาคิดว่า สัตว์และสังขารที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันล้วนไม่เที่ยงสิ้นทั้งนั้น เมื่อเห็นดังนี้ก็มีจิตคิดที่จะทำทานให้ยิ่งขึ้นไป จึงปรึกษากับภรรยาว่า ดูกรเจ้าผู้เจริญไจ บรรดาสังขารทั้งหลายย่อมไม่เที่ยงและมีความตายเป็นที่สุด สมบัติที่มีอยู่ตายแล้วเอาไปไม่ได้เลย ทานใดที่ให้แล้วนั้นแหละจะติดตามไปได้ อุปมัยเหมือนเงาที่ติดตามกายฉะนั้น ดูกรเจ้า เราคิดจะเอาทรัพย์ที่เก็บไว้นั้นออกจ่ายทำทานเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เจ้าจะเห็นเป็นประการใด ภรรยานั้นจึงอนุโมทนาว่า ข้าพเจ้ายินดีตามท่านแล้ว
สองสามีภรรยา สำเร็จกิจเลี้ยงชีวิตด้วยทรัพย์ส่วนหนึ่ง บริจาคทานด้วยทรัพย์สองส่วน ตั้งแต่นั้นมาอุตส่าห์เกี่ยวหญ้าและหาฟืนขายได้มูลค่ามากขึ้น ๆ จนถึงเป็นคนมั่งมีทรัพย์ด้วยอาการดังนี้ วันหนึ่งสองสามีภรรยาระลึกถึงสมเด็จพระบรมศาสดา จึงพากันไปเฝ้าสมเด็จพระโลกนาถเจ้า ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระเจริญ ข้าพระบาทได้ไทยธรรมสิ่งใดมาแล้ว ก็ได้แบ่งออกบริจาคทานสองส่วนเสมอมา บัดนี้พ้นจากความอนาถากลับมั่งมีทรัพย์มากขึ้น เห็นคุณอานิสงส์ประจักษ์ในชาตินี้
สมเด็จพระสุคตมุนีตรัสว่า ดูกรอุบาสก ท่านให้ทานแล้วกลับถึงซึ่งความมั่งมีเหมือนด้วยโบราณบัณฑิตแต่ปางก่อน ตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ สองสามีภรรยาจะใคร่รู้เรื่องราว จึงกราบทูลอาราธนาขอให้ตรัสเทศนาต่อไป พระพุทธองค์จึกทรงนำเรื่องราวที่ล่วงแล้วมาอ้างดังแจ้งต่อไปนี้ว่า
—————————-
อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา อโหสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่หลัง ยังมีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี คราวนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นเศรษฐีมีนามว่าสิริธร อยู่ ณ เมืองพาราณสีนั้น สิริธรเศรษฐีกอบด้วยศรัทธาตั้งอยู่ในศีลห้าเป็นนิตย์ คราวครั้งนั้นมีพระปัจเจกโพธิองค์หนึ่ง ออกจากนิโรธสมาบัติในวันคำรบเจ็ดจึงคิดว่า วันนี้เราจะไปบ้านสิริธรเศรษฐี ทำสรีรกิจสีฟันบ้วนปากแล้วคลุมจีวร ถือเอาบาตรดินเหาะไปโดยอากาศลงมายืนอยู่ ณ ประตูเรือนสิริธรเศรษฐี พอดีเป็นเวลาบริโภคอาหารเช้า ภัตตการพ่อครัวจัดอาหารให้สุกเสร็จดีแล้ว
สิริธรเศรษฐีนั้นครั้นเห็นพระปัจเจกโพธิสัตว์เจ้าก็ดีใจว่าเราได้พบพระปัจเจกโพธินี้เป็นลาภของเรายิ่งใหญ่ ท่านมาแต่ไกลหวังจะอนุเคราะห์เรา จึงถือเอาถาดใส่ภัตตาหารยกขึ้นทูนเศียรเกล้าเข้าไปสู่สำนักพระปัจเจกโพธิวางสำรับนั้นบนบาตร์แล้วทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ด้วยอำนาจผลทานของข้าพเจ้านี้ ขอให้เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายจงทำสักการบูชาใหญ่แก่ข้าพเจ้า อนึ่งเล่าขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในกาลภายหน้า พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้นกล่าวว่าความปรารถนาของท่านจงสำเร็จเทอญ แล้วก็กล่าวพระคาถาดังนี้ว่า
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ | ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ |
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา | จนฺโท ปณฺณรโส ยถา |
ความว่า ความประสงค์ที่ท่านปรารถนาแล้วด้วยใจ และความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้ด้วยกายและวาจา จงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วพลัน สงฺกปฺปา ความดำริคิดอ่านทั้งหมด จงเต็มบริบูรณ์สมมโนรถของท่าน อุปมาเหมือนพระจันทร์อันเด่นดวงในวันขึ้นสิบห้าค่ำฉะนั้น
เมื่อพระปัจเจกโพธิเจ้ากล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้แล้ว ก็เหาะไปยังภูเขาคันธมาทน์ แล้วฉันอาหารบิณฑบาตสำเร็จทิวาวิหารอยู่ในที่นั้น
โพธิสตฺโต พระบรมโพธิสัตว์กลับเข้าไปเรือน ระลึกถึงทานที่ตนให้แล้วนั้นจึงทำอธิษฐานว่า หากว่าอานิสงส์ทานของเรามีจริงแล้วไซร้ ขอให้ลาภเกิดปรากฏแก่เราในชาตินี้เทอญ ณ ทันใดนั้น ด้วยอำนาจผลทานของพระบรมโพธิสัตว์ เรือนเก่าก็หายไป ปราสาททองอันเต็มไปด้วยแก้วเจ็ดประการเกิดแทนขึ้นใหม่ พระบรมโพธิสัตว์เห็นปราสาททองเกิดขึ้นดังนั้น มีจิตเกษมสันต์เข้าไปนั่งอยู่ในสุวรรณปราสาท พ่อครัวยกสำรับมาตั้งไว้ตรงหน้าพระบรมโพธิสัตว์ ขณะนั้นทิพโภชนาหารก็บันดาลเกิดมีขึ้นเต็มถาดทอง พระมหาสัตว์เห็นทิพโภชนาแล้วมีจิตปราโมทย์บริโภคด้วยอำนาจผลทานเปรียบปานดังเทพยดา
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์บริโภคเสร็จแล้ว จึงให้ชนบริวารประมาณร้อยและพันบริโภคทิพโภชนาหารๆ นั้นหาหมดสิ้นไปไม่ กลิ่นทิพโภชน์นั้นหอมฟุ้งทั่วไปทั้งพระนคร มนุษย์นิกรพากันมาดูสุวรรณปราสาท แล้วสรรเสริญเป็นโกลาหล หมู่นิกรชนเห็นสมบัติของพระมหาสัตว์แล้วไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ พากันประนมมือไหว้แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านเศรษฐี ข้าพเจ้าทั้งหลายนี้ขออนุโมทนายินดีต่อทานของท่าน แล้วชวนกันโบกธงส่งเสียงซ้องสาธุการสนั่นลั่นไป พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเมื่อจะแสดงธรรมในที่ประชุมชน จึงกล่าวประถมบาทคาถาว่า
ปสฺสถ สทฺธาย ทานํ ดังนี้เป็นต้น ความว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นเถิด ทานที่ให้แล้วด้วยศรัทธา ย่อมนำมาซึ่งผลเห็นประจักษ์ในปัจจุบัน ผลทานนั้นอาจนำมาชึ่งคุณ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ยสะ กิตติ ในภพนี้และภพเบื้องหน้า เมื่อจบธรรมเทศนาลงครั้งนั้นมหาชนเกิดความเลื่อมใส บางพวกได้มอบตนให้เป็นทาสและทาสี บูชาธรรมพระมหาสัตว์เจ้า
ในขณะนั้น เทพยดาในชั้นกามาพจรสวรรค์ ชวนกันโปรยทิพบุปผา พระยานาคก็นำมาซึ่งแก้วเจ็ดประการ ท้าวมัฆวานก็ประทานทิพภูษา ท้าวมหาพรหมก็นำเอาร่มมากางกั้นทำสักการะเป็นธรรมบูชาแก่พระมหาสัตว์ พระเจ้าพรหมทัตไม่อาจอดกลั้นอยู่ได้ พระราชทานให้กุญชรและอัศดรกับราชรถอีกนารีสวยสดอย่างละร้อยเป็นธรรมบูชาแก่พระมหาบุรุษ
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ทานฺจ อุตฺตโม โลเก | ทานฺจ ลาภิมานสา |
ทานฺจ กิตฺติ วฑฺฒติ |
ความว่า ทานเป็นสิ่งประเสริฐสุดในโลกนี้ ทานอันบุคคลให้แล้วย่อมนำมาซึ่งลาภเป็นที่พึ่ง ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีอานิสงส์คือ ให้เกียรติคุณเจริญฟุ้งไปด้วยประการดังนี้
ตโต ปฏฺาย ตั้งแต่นั้นมา พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ใช้สอยเงินทองวันละพัน ๆ ทุก ๆ วัน หมู่มนุษย์ในคราวนั้นมารับทานแล้วสรรเสริญพระบรมโพธิสัตว์ ๆ เสวยสมบัติอันเกิดด้วยผลแห่งทาน พระองค์ก็บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนมายุแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวบุตรในกนกรัตนพิมานสูงได้ยี่สิบห้าโยชน์ มีนางเทพอัปสรแสนหนึ่งเป็นบริวาร เสวยทิพโภชนาหารและกามสุขอันไพศาล
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำเทศนาเรื่องนี้มาแล้ว จึงประกาศอริยสัจซ้ำลงในที่สุดจบชาดกเทศนา ชนทั้งสองคือสามีภรรยาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล พระบรมทศพลจึงประชุมชาดกว่า ท้าวเทวราชในกาลนั้นกลับชาติมาคือ พระอานนทเถระ พระเจ้าพรหมทัตในกาลครั้งนั้นครั้นกลับชาติมาคือ พระสาริบุตร พระยานาคในครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือ พระโมคคัลลานเถระ บริษัททั้งหลายในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือพุทธบริษัทในกาลนี้ พระปัจเจกโพธินิพพานแล้วในกาลครั้งนั้น สิริธรเศรษฐีในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือ พระตถาคตนี้เทียว