สังขปัตตชาดก

มหาพฺรหฺมสงฆา มหิทฺธิกาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ทานปารมี อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตะวันวิหาร ทรงพระปรารภทานบารมีของพระองค์เป็นมูลเหตุตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า มหาพฺรหฺมสงฺฆา มหิทฺธิกา ดังนี้เป็นอาทิเบื้องต้น

หิ ดังมีความในนิทานวจนะว่า วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าพระองค์บำเพ็ญพระบารมีมีปฐมทานเป็นอาทิ จึงได้ตรัสรู้บรมสัมโพธิญาณน่าอัศจรรย์นัก ทานบารมีย่อมเป็นปัจจัยให้ซึ่งสัพพัญญุตญาณอย่างยอดเยี่ยม สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมายังที่ประชุมสงฆ์ ทรงประทับ ณ บัญญัติตาอาสน์แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมกันกล่าวเรื่องอะไร ครั้นพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตมีอัธยาศัยยินดีในทานมิได้เบื่อหน่าย เมื่อยังแสวงหาโพธิญาณอยู่นั้น ถึงว่าจะต้องทุกข์ยากอย่างไร ย่อมละเสียซึ่งทานได้เลยเทียว ตรัสดังนี้แล้ว จึงนำอดีตนิทานมาอ้างว่า

อตีเต อสุกรฏฺเ โปตปุรนคเร ยโส นาม ราชา ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรสิ ในอดีตสมัย พระราชาพระนามว่ายสะผ่านราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ ณ โปตบุรีในอสุกรัฐ สมบูรณ์ด้วยพลพาหนะมั่งคั่งไปด้วยรัตนะอเนกประการพระราชเทวีมีนามว่าสุตตกิตตี ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระเจ้ายสราช คราวนั้น ยังมีพระมหาราชาพระนามว่าอังกุระครองราชสมบัติในโลมานทวีปใกล้ฝั่งสมุทร์ พระอัครมเหสีมีนามว่าอนังคเสนา ก็แลพระเจ้ายสราช และพระเจ้าอังกุรมหาราชสองพระองค์นั้น เป็นทองแผ่นเดียวกัน ด้วยว่า​พระสุตตกิตตีราชเทวีนั้นเป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าอังกุรมหาราช มีรูปสิริวิลาศทรงปัญจกัลยาณีมีศีลเป็นอาจิณวัตรจริยา เมื่อแรกพระเจ้าอังกุรมหาราชา ได้ส่งพระกนิษฐกคินีนั้นไปถวายพระเจ้ายสราช พร้อมด้วยนาวาพันหนึ่งอันบรรทุกเต็มไปด้วยสัตตรัตนะ กับราชบริวารเป็นอันมาก พระสุตตกิตตีราชเทวีนั้นเมื่อได้เป็นอัครมเหสีแล้ว ก็ได้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ายสราชยิ่งนัก

คราวนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเรา ทรงบำเพ็ญธรรมเพื่อจะให้พระบารมีแก่กล้า ได้เสด็จอยู่ในดาวดึงส์พิภพ แล้วจุติมาปฏิสนธิในพระครรภ์พระอัครมเหสีแห่งพระเจ้ายสราช ขณะเมื่อพระโพธิสัตว์ปฏิสนธินั้น พระราชเทวีมีพระครรภ์เหมือนดังว่าจะเต็มไปด้วยแก้ววิเชียร พระราชเทวีมีพระประสงค์จะทรงบริจาคทรัพย์บำเพ็ญทานวันละหกแสน แล้วจึงกราบทูลความประสงค์นั้นให้พระราชาทรงทราบ พระราชารับสั่งให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ในหน้าพระลานหลวง ๑ ท่ามกลางพระนคร ๑ ใกล้พระทวารนคร ๔ แห่ง แล้วรับสั่งแก่พระราชเทวี ๆ ทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๖ แสนบำเพ็ญทานเสมอไป

เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระราชมารดา ส่วยสาอากรก็เกิดเพิ่มพูนขึ้นแก่พระราชามากมาย พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีป ก็จัดส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเป็นอันมาก พระราชเทวีทรงพระครรภ์ถ้วนกำหนดทศมาสแล้ว ก็ประสูติพระราชโอรสอันสมบูรณ์ด้วยธัญญลักษณะ พระราชาทอดพระเนตรเห็นฝ่าพระหัตถ์พระโพธิสัตว์ ปรากฏเป็นลายเหมือนรูปสังข์ จึงพระราชทานนามว่าสังขปัตตกุมาร ๆ ทรงเจริญวัยกับด้วยกุมารบริวาร เปรียบปานพระจันทร์ในศุกลปักษ์ฉะนั้น และสมบูรณ์ด้วยรูปวิลาศเลิศในโลก ทรงเกียรติยศปรากฏในทศทิศ บริจาคราชทรัพย์วันละหกแสนบำเพ็ญทานเป็นนิตย์มิได้ขาด

ฝ่ายพระเจ้าอังกุรมหาราชซึ่งเสวยราชสมบัติในโสมานทวีปกับด้วยอนังคเสนาเทวี ได้มีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่ารัตนวดี ทรงปัญจกัลยาณีบริบูรณ์งามยิ่งนักหนา เปรียบปานดังเทพอัปสรสวรรค์ พระราชบิดาทรงโปรดปรานนัก ใคร่จักประทานแก่พระมหาสัตว์เจ้า ท้าวเธอจึงให้ข่างเขียนวาดรูปพระบวรราชธิดาลงในแผ่นทองคำ แล้วให้ทำธำมรงค์ ๒ วง ประดับปัทมราชวง ๑ ประดับด้วยแก้วอินทนิลวง ๑ ให้จารึกพระนาม​พระโพธิสัตว์ลงไว้ แล้วให้จารึกสุภอักษรว่า หม่อมฉันจักถวายพระราชธิดากับราชสมบัติแต่พระราชโอรสของพระองค์ดังนี้ แล้วก็มอบให้ราชทูตนำไปถวายพระเจ้ายสราช

พระเจ้ายสราชมหาราช ทรงอ่านราชสาส์นและสดับราชทูตกราบทูลและทรงทอตพระเนตรรูปสิริแห่งรัตนวดีเสร็จแล้ว มีพระหฤทัยผ่องแผ้วแล้วประทานพระธำมรงค์ทั้งคู่ กับรูปแผ่นทลงคำแต่พระโพธิสัตว์ ๆ มีจิตปฏิพัทธ์ด้วยสามารถบุรพสิเนหะ พระเจ้ายสราชจึงพระราชทานสักการะแก่ราชทูตนั้นแล้วตรัสว่า ดีแล้วเราจักส่งสังขปัตตไปถวาย แล้ววาดรูปพระโพธิสัตว์ลงในพระสุพรรณบัฏ แล้วส่งให้แก่ราชทูตของพระเจ้าโลมานทวีปพร้อมด้วยอเนกราชบรรณาการไป แล้วเสด็จไปยังสำนักราชเทวีแจ้งคดีที่จะส่งพระราชโอรสไปยังโลมานทวีปให้ราชเทวีทราบ

พระราชเทวีได้สดับพระราชบัญชาแล้ว พระนางก็กลัวแต่ภัยคือบุตตวิโยค มิได้ปรารถนาที่จะให้พระโพธิสัตว์เสด็จไป จึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ธรรมดามหาสมุทร์เป็นที่น่ากลัวนัก ล้วนมีมัจฉาปลาร้าย และปราศจากที่ยุดหน่วง ทั้งสังขกุมารเล่าเขาก็เป็นเด็กทรามปัญญา ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมเห็นจักไม่สามารถเที่ยวไปไกลได้ ก็พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่ามหาสมุทร์อันกว้างใหญ่มีภัยก็มาก ดูกรภคินีผู้เจริญ ซึ่งมหาสมุทร์กว้างใหญ่มีภัยก็มาก พี่ก็รู้อยู่เต็มใจ แต่ว่าเมื่อกรรมมาถึงแล้ว แม้จะอยู่บนปราสาทก็ตาม จะห้อมล้อมด้วยจาตุรงค์เสนาก็ตาม ก็ไม่อาจจะหนีความตายได้ เมื่อยังไม่ถึงคราวจะตายแล้วก็อาจจะล่วงพ้นหมู่มัจฉามังกรติมิงคละไป ได้บรรลุถึงความสวัสดี อนึ่งพาณิชทั้งหลาย อาศัยไปค้าขายในมหาสมุทร์ ได้มั่งมีเงินทองแก้วแหวนต่าง ๆ ถึงความเป็นอิสรภาพสมประสงค์ก็มี แม้พระราชาอื่นเป็นอันมาก ต้องการด้วยราชสมบัติ ยกจาตุรงค์พลนิกายไปทางสมุทร์ ทำยุทธสงครามกันมิลำบากยิ่งกว่านี้อีกหรือ โอรสของเราเมื่อข้ามไปถึงฝั่งสมุทร์จักได้เสวยราชสมบัติอันสมบูรณ์ด้วยรัตนะ เหมือนสมบัติแห่งท้าวสักกเทวราชฉะนั้น อนึ่งเราก็เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก แกล้วกล้าสามารถทั้งราชโอรสเล่าเขาก็กล้าหาญชาญชัย คงจะไปมีความสุขสวัสดิ์แน่แท้ ข้าแต่สมมติเทวดา ถ้ากระนั้นเชิญพระองค์ทรงทำที่ควรเถิด

พระเจ้ายสราช จึงรับสั่งให้พระโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า แล้วให้แต่งพระองค์ทรงเครื่องแล้ว ให้เสวยพระกระยาหารแล้วตรัสสอนว่า พระเจ้าลุงใคร่จะทอดพระเนตรเห็นพ่อ รับสั่งมาว่าให้พ่อไปเฝ้าพระเจ้าลุง พ่อจงไปสำนักพระเจ้าลุง พ่อไปแล้วจะได้​ครองราชสมบัติของพระเจ้าลุง เมื่อพ่อได้ครองสมบัติแล้ว จงทำความสงเคราะห์แก่นักปราชญ์และเหล่าสุรเสนา ราชสมบัตินั้นก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป พระเจ้ายสราชประทานโอวาทโดยนัยนี้แล้ว จึงจุมพิตพระเศียรเกล้าพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า ดูกรพ่อ พ่อจงไปโดยสวัสดิภาพเถิด แล้วส่งให้ไปกับชัยทัตอำมาตย์และวทวามุขพราหมณ์

พระมหาสัตว์เจ้า ถวายอภิวาทพระราชมารดาบิดา ทำปทักษิณเสร็จก็เสด็จดำเนินไป พระราชมารดาเสด็จตามส่งพระมหาสัตว์จนถึงศีรษะบันได มีพระอัสสุชลนัยน์ไหลโทรมพระพักตราจึงมีเสาวนีย์ว่า ดูกรพ่อ พ่อไปถึงแล้วจงรีบกลับมาหามารดาบ้าง ตรัสดังนี้แล้วเมื่อพระมหาสัตว์เสด็จลับพระเนตรแล้ว พระนางเธอก็เสด็จกลับเข้าราชนิเวศน์ พระมหาสัตว์กับมหาชนบริวาร เสด็จออกจากนครสถานไปถึงฝั่งสมุทร์จึงเสด็จขึ้นสู่นาวา ใช้ใบแล่นไปในมหาสมุทร์

เมื่อนาวาแล่นไปได้เจ็ดวัน ก็ไม่สามารถจะข้ามสมุทร์ต่อไปได้ แผ่นกระดานนาวาก็แยกแตกทำลายไป นาวาก็ล่มจมลงไปในกลางสมุทร์ทะเลหลวง มหาชนทั้งปวง ก็ร้องไห้ปริเทวนา ต่างก็นมัสการบวงสรวงนา ๆ เทพยดาแล้วกล่าวคาถานี้ว่า

มหาพฺรหฺมสงฺฆา มหิทฺธิกากจฺจายถ สุมเหสฺสร
เทวสงฺฆา จนฺทเทวารวิเทวา สมุทฺทเทวา
อมฺเห อิโต หรถ โนสรณฺจ ตุมฺเห โหถ

ความว่า ข้าแต่เทพยดาเจ้าทั้งหลาย คือ ท้าวมหาพรหมผู้ทรงมหิทธิและพระอิศวรผู้ศักดิ์สิทธิ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระสมุทรเทวดา ขอท่านทั้งสองจงช่วยนำพาพวกข้าพเจ้าไปให้พ้นมหาสมุทร์นี้ด้วยเถิด ขอท่านทั้งหลายจงมาเป็นที่พึ่งแก่พวกข้าพเจ้าเถิด

ก็ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้า จะได้ทรงกรรแสงปริเทวนานมัสการเทพยดานั้นหาไม่ พระองค์ทรงทราบว่านาวาแตกแล้ว จึงขยำน้ำตาลกรวดเขากับสัปปิ เสวยอิ่มแล้วเอาผ้าเนื้อดีสองผืนชุบน้ำมันผูกพันกับพระองค์มั่นดี ทรงขึ้นขี่กระดานว่ายน้ำไป ครั้นทอดพระเนตรเห็นมหาชนซึ่งเป็นอาหารแห่งมัจฉาชาติ ทรงกอร์ปด้วยพระกรุณา ทรงพระดำริว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ สัตว์เหล่านี้จงอย่าได้ตายเลย แล้วก็ทรงประทานแผ่นกระดานให้แก่มหาชนที่ไม่อาจจะข้ามสมุทร์ได้

​คราวนั้น ชัยทัตอำมาตย์เป็นคนสนิทติดพระองค์ไปด้วย เมื่อจะทูลห้ามพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ถวายดังนี้ว่า

เนส ธมฺโม มหาราชเตสํ ตฺวํทาสิ ผลกํ
เต เนตฺถ มรณํ เสฏฺํปสฏฺํ อตฺตการณา

ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ชี่งพระองค์ทรงประทานแผ่นกระดานแก่มหาชนเหล่านั้นเสีย ข้อนี้ไม่เป็นยุติธรรมเลย พระองค์จะปลงชีวิตให้ในหมู่มหาชนเหล่านั้นหาประเสริฐไม่ ความตายเพราะเหตุของตนเองข้อนี้ประเสริฐดีกว่า

พระมหาสัตว์เจ้า ได้สดับคำของชัยทัตอำมาตย์นั้นแล้วจึงตรัสคาถาที่ ๒ ดังนี้ว่า

อริยานํ ปสฏฺโ เอโสมจฺโจ อฺสฺส การณา
โย โมเจสิ ปเร ทุกฺขาสพฺพมจฺจานมุตฺตโม

ความว่า ดูกรชัยทัต สัตว์ผู้ใดได้เห็นผู้อื่นต้องทุกข์ช่วยปลดเปลื้องให้พ้นทุกข์ สัตว์ผู้นั้นนับว่าประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวง นี่เป็นธรรมยอันพระอริยเจ้าสรรเสริญนัก

ชัยทัตอำมาตย์ เมื่อจะกราบทูลห้ามพระมหาสัตว์ตามขัตติยธรรมอีก จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ถวายดังนี้ว่า

ธนํ จเช กุลตฺถายคามสฺสตฺถาย ตํ กุลํ
คามํ ชนปทตฺถายอตฺตตา พสุนฺธรํ

ความว่า ธรรมดากษัตริย์ย่อมละเสียซึ่งทรัพย์เพื่อรักษาตระกูล ถึงจะเสียตระกูลก็ไม่ให้เสียบ้าน ถึงจะเสียบ้านท่านก็ไม่ให้เสียชนบท ถึงจะเสียแผ่นดินท่านก็ไม่ให้เสียพระองค์

พระมหาสัตว์เจ้า เมื่อจะตรัสสอนชัยทัตอำมาตย์ จึงตรัสประภาษว่า ดูกรชัยทัตผู้สหาย ข้อปรนนิบัติอย่างท่านว่านี้ เป็นประเวณีแห่งกษัตริย์สามัญ หาใช่เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ไม่ ธรรมดาพระบุรพโพธิสัตว์ ได้เห็นทุกข์ของผู้อื่นแล้ว จะได้เอื้อเฟื้อต่อชีวิตของตนไม่ ย่อมขวนขวายประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นเป็นหัวหน้า แต่ประโยชน์ผู้อื่นย่อมเป็นที่เคารพนับถือของพระโพธิสัตว์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้นท่านอย่าห้ามเราเลย

เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ชัยทัต จึงตรัสคาถา ๓ คาถา (ที่ ๔-๕-๖) ดังนี้ว่า

สยํ ชีวนฺติ สกุณาปสู สพฺเพ วเน มิคา
ชีวนฺติ ปุเธ ธีรา จสนฺโต สตฺตหิเต รตา ฯ
จิตฺตํ องฺคฺจ ปาณฺจตํ ธารึสุ หิตาย จ
โส หิ สนฺโต พหุสตฺตํสนฺตาเรสฺสํ สเทวกํ ฯ
อิมินา สารหีเนนกาเยนาปิ กตฺุนา
อหนฺตํ นูน ยํ ลาภํลภิสฺสามิ สยํ ธุวํ

ความว่า นกและปศุสัตว์และมฤคทั้งปวงในป่า ย่อมเป็นอยู่ด้วยลำพังตนเอง ก็สัตบุรุษผู้มีปรีชาในปางก่อน ท่านยินดีในกิจเกื้อกูลแก่สัตว์เป็นอยู่ ชีวิตจิตใจอวัยวะของมนุษย์นั้น จะดำรงอยู่ได้ก็เพราะความเกื้อกูลกัน เพราะว่าตัวเรานั้นนับว่าเป็นสัตบุรุษ จักยังสัตว์มากมายกับเทวดาให้ข้ามพ้นจากสังสารวัฏ

ลาภใดเป็นของถาวรยั่งยืน เราจักได้ลาภนั้นด้วยรู้จักใช้กายอันหาสาระมิได้โดยแน่แท้

พระมหาสัตว์ตรัสอยู่กับชัยทัตอำมาตย์อย่างนี้แล้ว ทรงว่ายข้ามมหาสมุทรไปด้วยกำลังพระพาหางามดุจดังว่าท่อนทอง

ในที่นี้มีคำปุจฉาถามว่า ไฉนพระมหาสัตว์เจ้า จึงต้องมาจมน้ำอยู่ในกลางสมุทร์เล่า มีคำวิสัชนาแก้ว่า พระมหาสัตว์ต้องมาจมน้ำด้วยผลกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้ในปางก่อน อุทาหรณ์เรื่องนี้ นักปราชญ์พึงทราบ โดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้วในสุธนูชาดกนั้นว่า

อตีเต พาราณสิยํ ฯลฯ ในอดีตสมัย ที่เมืองพาราณสี มีผัวเมียสองคนวันหนึ่งพากันไปเล่นน้ำที่ฝั่งนที มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งนั่งเรือน้อย ๆ พายเล่นน้ำอยู่ สองผัวเมียเห็นสามเณรแล้ว ใคร่จะหยอกเธอเล่น จึงกระทุ่มน้ำให้เป็นลูกคลื่น เรือน้อยนั้นครั้นถูกคลื่นชัดแล้วก็จมน้ำไป เมื่อสามเณรจมน้ำอยู่นั้นมหันตทุกข์ก็เกิดขึ้นแก่สามเณร สองผัวเมียเห็นแล้วก็ช่วยกันกู้เรืออุ้มสามเณรขึ้นบนเรือ สองผัวเมียได้ทำกรรมไว้เท่านั้นต้องไปตกน้าอยู่ถึง ๕๐๐ ชาติ เพราะเหตุนั้นพระอาจาริยเจ้า จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

มาวมฺเถ ปาปสฺสน มตฺตํ อาคมิสฺสติ
วิปากํ วิปุลํ หุตฺวามหาทุกฺขมาวหาติ

ความว่า บุคคลไม่ควรดูหมิ่นต่อบาป ว่าบาปมีประมาณน้อยนักจักไม่มาถึง คือว่าจักไม่ให้ผล ผลแห่งบาปประมาณน้อยให้ผลแรงกล้านำความทุกข์มากมาให้

ฝ่ายชัยทัตอำมาตย์ ถูกลูกคลื่นซัดก็พลัดจากมหาสัตว์สอยไปจนตราบเท่าถึงโปตปูรนคร ขึ้นจากมหาสมุทรได้แล้ว มีกายซูบผอมมากเพราะอดอาหารมานานถึง ๗ วัน จึงบิดผ้าสาฎกนุ่งด้วยผ้าผืนหนึ่ง ห่มด้วยผ้าผืนหนึ่ง ค่อย ๆ เดินไปยังหนทางใหญ่

เวลาใกล้รุ่งคืนวันที่นาวาพระมหาสัตว์แตกจมน้ำนั้น พระสุตตกิตตีราชเทวีพระชนนีพระมหาสัตว์ ทอดพระเนตร์เห็นพระสุบินว่า มีบุรุษโจรผู้หนึ่ง ล่ำสันกายดำ นัยน์ตาแดง นุ่งผ้าแดง มือถืออาวุธคมกล้าแล่นมาถึง จึงฉุดกระชากพระราชเทวีให้อุตตานภาพ แล้วควักพระเนตร์เบื้องขวา ตัดเอาทักขิณพาหาผ่าพระอุระล้วงเอาดวงหฤทัยได้แล้วก็ไป เราฝันเห็นลางร้ายลามกนัก อันตรายจักมีแก่ตัวเราหรือแก่พระราชสามี หรือสังขปัตตกุมารประการใดหนอ ดำริพลางพระนางก็เสด็จไปเฝ้าพระเจ้ายสราช กราบทูลพระสุบินสิ้นทุกประการ พระเจ้ายสราชทรงทราบแล้วตรัสปลอบพระราชเทวีว่า ดูกรพระนางผู้เจริญ เธออย่าได้คิดวิตกไปเลย ซึ่งฝันเห็นเช่นนี้บางที่จะเป็นเพราะธาตุกำเริบจะมีเหตุการณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็หาไม่ ตั้งแต่นั้นมาพระราชากับพระมเหสีทรงปรารภถึงพระราชโอรสแล้วก็กระสันเป็นทุกข์นักแล้วทรงบำเพ็ญทานและอธิษฐานอุโบสถ มีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อมเป็นขนัด เสด็จประทับอยู่ ณ มหาดลปราสาท

ฝ่ายชัยทัตอำมาตย์ เดินร้องไห้เข้าไปถึงพระนคร เข้าเฝ้าถวายบังคมพระราชากราบทูบเรื่องพระมหาสัตว์เจ้าถวายให้ทรงทราบ พระราชชนกชนนีก็เพียบพูนไปด้วยความโศก คิดปุตตวิโยคแล้วสลบลง คราวครั้งนั้นพวกอำมาตย์ฝ่ายหน้าและข้าราชการฝ่ายในพากันตบอกแล้วร้องไห้สลบไปตามกัน ดุจสาลวันอันต้องลมยุคันธวาตหักขาดไปฉะนั้น

เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตเมื่อจะประกาศความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

สาลาว สมฺปมทฺทิตามาตุเลน ปมทฺทิตา
เสนฺติ ปุตฺตา จ ทารา จยสราชนิเวสเน ฯ
โอโรธา จ กุมารา จเวสิยานา จ พฺราหฺมณา
พาหา ปคฺคยฺห ปกฺกณฺฑุํกสุมา โน วิชฺชเหสฺสตีติ

ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาชนทั้งหลายบรรดาอยู่ในเรือนหลวงแห่งพระเจ้ายสราช คือ ลูกหลวงเมียหลวง และตำรวจราชกุมาร พ่อค้าและพราหมณ์ทุกถ้วนหน้า บรรดาที่รู้ข่าวพระมหาสัตว์แล้ว ก็พากันร้องไห้เสียงเซ็งแซ่ไปทั้งวัง กลิ้งเกลือกเสือกสลบทับทอดกันไป อุปมัยเหมือนสาลวันอันหักทับทอด ด้วยกำลังยุคันธวาตฉะนั้น

ฝ่ายพระสุตตกิตตีราชเทวี ค่อยฟื้นสติขึ้นมาจึงอุฏฐาการประทับนั่งทอดพระเนตรเห็นชัยทัตอำมาตย์เฝ้าอยู่ตรงพระพักตรา เมื่อจะถามข่าวพระราชโอรส จึงดำรัสพจนคาถานี้ว่า

ชยทตฺต มิตฺโต อาสิมม ปุตฺตสฺส เสวโก
พาลปภูติ วิสฏฺโโอหาย ปุตฺตํ อาคโต ฯ
อมจฺโจ สห ชาโตสิมม ปุตฺเตน จ คโต
นิมุคฺคํ ชลมชฺเฌ ตํกถํ นุ จชฺชิ เอกกํ

ความว่า ดูกรชัยทัต ตัวท่านเป็นสหชาตกับโอรสของเรา สนิทชิดชมกันมาแต่ยังเป็นพาลทารก ตัวท่านได้เป็นมิตรสหาย ทั้งเป็นอำมาตย์ราชเสวกของโอรสเรา เมื่อไปก็ไปกับลูกเรา เหตุไฉนท่านจึงสละลูกเรามาเสีย ปล่อยให้ลูกเรานั้นจมน้ำในกลางทะเลอยู่ผู้เดียวเล่า

ชัยทัตอำมาตย์ได้สดับเสาวนีย์ราชเทวีดังนั้น ก็เกิดความละอายใจนัก หัวใจดังจักแตกออกเจ็ดภาค นัยน์ตาฟูมไปด้วยอัสสุธารา เมื่อจะทูลเล่าเรื่องราวของพระมหาสัตว์ถวายอีก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าอยู่หัว พระราชโอรสนั้นสามารถจะเปลื้องพระองค์ให้รอดได้ ขณะเมื่อนาวาจะจมนั้น ท้าวเธอก็ได้ตระเตรียมพระองค์ทรงเสวยน้ำตาลกรวดแล้วทรงภูษาชุบน้ำมัน ครั้นแล้วก็เกาะแผ่นกระดาน ปรารภจะข้ามพระมหาสมุทร์กับข้าพระองค์ ครั้นทรงเห็นมหาชนอันหากระดานจะขี่ว่ายมิได้ ทรงประทานแผ่นกระดาน​ของพระองค์แก่มหาชนเหล่านั้น ข้าพระองค์ทูลห้ามหลายครั้งก็มิทรงเชื่อฟังหวังพระทัยต่อโพธิญาณ ประทานแผ่นกระดานแล้วทรงโสมนัสปรีดาว่ายข้ามมหาสมุทรด้วยกำลังพระพาหาของพระองค์ ครั้นถูกระลอกซัดกล้าข้าพระบาทกับราชโอรสก็พลัดกัน ข้าพระองค์นั้นใคร่จะตายเสียในกลางสมุทร์ อาศัยบุราณกตกรรมที่ทำไว้หากอุปถัมภ์จึงมิได้ถึงความตาย สู้ฝ่าคลื่นลมมาถึงพระนครนี้ได้ อนึ่ง ข้าพระองค์เป็นคนบุญน้อยจึงไม่อาจติดตามพระราชโอรสไปได้ ข้อนี้ก็น่าเห็นว่าเป็นคนอกตัญญู

พระสุตตกิตตีราชเทวี ได้สดับกิริยาอาการของพระราชกุมารแล้ว ทรงพระโสกีพิลาปร่ำไรว่า ดูกรพ่อสังขปัตต ไฉนพ่อมาทำมารดาให้อนาถาอยู่ผู้เดียว พ่อพลัดพรากจากมารดาไปครั้งนี้ เป็นเหตุด้วยพระเจ้าลุงประโลมพ่อด้วยอัครมเหสีและราชสมบัติ ชะรอยว่าเวรานุเวรกรรมมารดาได้ทำไว้เก่าก่อนมาตามทัน น่าสังเวชนักหนา เวรกรรมย่อมไม่ละเว้นผู้ใดเลยเทียวหนอ พระนางเธอทรงกรรแสงพิลาปต่าง ๆ แล้วกราบทูลพระราชสามี ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉันปราศจากโอรสแล้วมิอาจที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้ หม่อมฉันจะขอทูลลาไปเที่ยวสืบหาตามริมฝั่งสมุทร์ ถ้าพบพระเกษา พระขนะ พระอัฐิ แลกเลวระสิ่งหนึ่งของพระเจ้าลูกแล้ว จะจัดแจงทำจิตรกรเก็บเอาฟืนมาเผาเสีย แล้วหม่อมฉันจะพึงโจนเข้ากลางเพลิง ให้ม้วยมอดไปกับพระโอรส

พระเจ้ายสราชตรัสห้ามว่า ดูกรพระนางเธอผู้เจริญ เธอจะไปเที่ยวแสวงหาโอรสจงงดไว้ก่อน เธอได้นิมิตแต่สำนักสมุทรเทวดาก่อนแล้ว จงค่อยไปต่อภายหลัง แล้วให้หาสปุณณพราหมณ์ปุโรหิตเข้ามาเฝ้าตรัสว่า ท่านจงไปยังฝั่งสมุทร์ ทำบวงสรวงแก่เทวดา ขอให้รู้เหตุว่าพระเจ้าลูกจะเป็นประการใด หาสปุณณพราหมณ์ปุโรหิตก็ไปทำตามพระราชดำรัสสั่ง สมุทรเทวดานั้นก็แสดงกายให้ปรากฏแล้วบอกเหตุว่า ท่านจงไปกราบทูลพระราชาว่าอย่าทรงโศกเศร้าเลย พระราชาจักได้ประสบกับพระราชโอรส เทพยดาจักนำพระราชาไปในโลมาทวีป ด้วยกุสุมวิมาน ครั้นเมื่อราชโอรสอภิเษกแล้ว เทพยดาก็จักพาพระองค์กลับมายังนครของพระองค์อีก

ครั้นเมื่อราตรีสว่างแล้ว พราหมณ์ปุโรหิตก็กลับมากราบทูลพระราชาตามคำเทวดาบอก พระราชาทรงสดับแล้วก็ทรงพระโสมนัส ตรัสคาถานี้ว่า

องฺครสฺส จิรทฏฺสฺสปุตฺตโสกคฺคินาภูสํ
อิทานิ สงฺคโม ชาโตเทวตา จ ปวทติ

ความว่า เมื่อลูกของเรามิได้เห็นกันนาน ไฟคือความโศกถึงลูกเผาเรายิ่งนัก บัดนี้เทวดาบอกว่าจะได้พบกันแล้ว ตรัสดังนี้แล้วจึงรับสั่งให้หาราชเทวีมาเฝ้า ตรัสเล่าเนื้อความตามที่เทวดาบอกให้ทราบทุกประการ

อล พฺราหฺมโณ ฝ่ายวทวามุขพราหมณ์ ซึ่งเป็นสหายไปกับพระมหาสัตว์นั้น ครั้นระลอกใหญ่พัดมาลอยไปพอเวลาเช้าก็ถึงโลมานทวีป ณ ฝั่งสมุทร์ ขึ้นฝั่งไปแล้วก็เดินไปยังหนทางใหญ่ ตรงเข้าไปยังราชอุทยาน ลงอาบน้ำในสระโบกขรณี และเก็บผลไม้ในสวนบริโภคแล้ว ก็ขึ้นนอนมงคลศิลา คนเฝ้าสวนนั้นเที่ยวเดินไปได้เห็นพราหมณ์นั้นหลับอยู่จึงสั่นเท้าปลุกให้ลุกขึ้นแล้วถามว่า ท่านเป็นใคร เราชื่อว่าวทวามุขพราหมณ์เป็นสหายของสังขปัตตกุมาร บัดนี้ พระลูกเจ้าเสด็จอยู่ที่ไหน พระลูกเจ้ามาสำเภาลำเดียวกัน สำเภาอับปางในกลางทะเล พระลูกเจ้าลอยน้ำหายไปแล้ว คนเฝ้าสวนก็รีบพาพราหมณ์นั้นเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโลมานทวีป ๆ ทอดพระเนตรเห็นวทวามุขพราหมณ์ตรัสถามว่าข่าวคราวของพระราชกุมารเป็นอย่างไรบ้าง วทวามุขพราหมณ์ก็ร้องไห้แล้วกราบทูลว่า พระราชนัดดามาในลำสำเภา ๆ แตกจมลงในมหาสมุทร์ หาอาหารที่จะเสวยบมิได้ พระเจ้าข้า

พระเจ้าโลมานทวีปกับอนังคเสนาเทวีได้สดับทราบความแล้วก็ทรงพระกรรแสงร่ำไห้ พวกอำมาตย์ฝ่ายหน้าและข้าราชการฝ่ายในพากันสยายผมตบอกร้องไห้ พระราชเทวีกราบทูลพระราชสามีว่า ข้าแต่พระมหาราช พระราชกุมารเธอยังทรามปัญญาเสด็จมาเพราะส่งสาสน์ไปเรื่องใด เรื่องนั้นเป็นโทษผิดของเราทั้งสิ้น พระราชาตรัสว่าธรรมตาสัตว์ที่เกิดมาจะได้พ้นกรรมวิบากไปไม่มีเลย ก็แต่ว่ามหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยตาทิลักษณะยังไม่ถึงกาลควรจะตาย เมื่อจะปลอบพระราชเทวี ตรัสคาถานี้ว่า

ตถา ตํ สีลสมฺปนฺนํธมฺมฏฺํ สจฺจวาทินํ
ปาเลติ มจฺจุโน มุขาเทวตา ว ชลติฏฺี

ความว่า คราวนั้น เทพยดาผู้ตั้งอยู่เหนือชล จะต้องเลี้ยงรักษาพระราชนัดดา ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ดำรงอยู่ในธรรม ผู้กล่าวคำสัจจริงไว้จากปากมฤตยูราชได้เทียว

​พระราชาตรัสปลอบราชเทวีฉะนี้แล้ว ให้พราหมณ์บริโภคอาหารประทานที่ให้อยู่ว่า ดูกรวทวามุขะ นิเวสนะของพระเจ้ายสราชท่านได้พบเห็นอย่างใด นิเวสนะของเราก็เหมือนกันอย่างนั้น วทวามุขพราหมณ์รับราชดำรัสแล้ว ก็ออกจากที่เข้าเฝ้าไปนั่งตามสบาย นึกถึงพระมหาสัตว์ขึ้นมาน้ำตาก็ไหลคิดในใจว่า คำโลกเขาพูดว่า ใจของพราหมณ์ไม่เหลวไหล ข้อนี้หาจริงไม่ ถ้าใจพราหมณ์ดีจริงแล้ว เมื่อเราพลัดพรากจากปิยสหาย ไฉนใจของเราไม่แห้งหายไปด้วยเล่า นี่หัวใจของเราชั่งแข็งกระด้างเหมือนอย่างเพชร์ฉะนั้น คิดฉะนี้แล้วก็ติเตียนตัวเอง เมื่อมีกายลำบากด้วยอดอาหารมาหลายวัน ก็นอนหลับอยู่ที่นั้น

ณ ขณะนั้น พระรัตนวดีราชธิดา ทรงเครื่องอาภรณ์จะเสด็จไปเฝ้าพระราชบิดา ครั้นสดับเรื่องราวพระมหาสัตว์แล้ว ก็เปลื้องเครื่องเสียทรงกรรแสงไห้ ระบายอัสสาสปัสสาสร้อน ๆ เศร้าโศกถึงพระมหาสัตว์ นางปัลวิกาคนใช้ทูลห้ามว่า พระแม่เจ้าจะโศกเศร้าทำไม พระสังขปัตตก็อยู่ไกล ทำไมพระแม่จะเห็นเล่า ดูกรเจ้าปัลวิกา หัวอกสตรีที่วาสนาน้อยก็ย่อมจะเดือดร้อนเป็นธรรมดา ข้าแต่พระแม่เจ้า อย่าตรัสดังนี้เลยพระแม่เจ้ามีโภคสมบัติก็มาก ทั้งมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เป็นราชธิดาของพระเจ้ายสราชจะวาสนาน้อยอย่างไร ดูกรแม่ปัลวิกา ถ้าว่ามีวาสนามากแล้วพระภัสดาก็จะมาให้เห็นหน้า นี่ก็มาหายไปทิ้งให้เราเป็นหม้าย ข้าแต่พระแม่เจ้า ๆ พระราชบิดาก็ยังมิได้ประทานให้ผู้อื่นก่อน จะเรียกเป็นหม้ายอย่างไรได้ เจ้าปัลวิกา เราเป็นหม้ายจริง เมื่อก่อนพระราชบิดาทรงปฏิญาณไว้ว่า เราจะให้ราชธิดาแก่พระสังขปัตตกระนี้ พระแม่เจ้า สักแต่ว่าพูดปากเปล่าเท่านั้นจะเป็นหลักฐานอย่างไร พระนางรัตนวดีตอบว่า ปฏิญาณวาจานี้ย่อมเป็นยุติธรรมของกุลบุตรทั้งหลาย เมื่อนางเธอจะแสดงปเวณีธรรมจึงตรัสคำคาถาว่า

สกึ ปนฺติ ราชาโนสกึ ปนฺติ พฺราหฺมณา
สกึ กฺา ปยนฺติเอโส ธมฺโม สนนฺตโน

ความว่า ธรรมดากษัตริย์ย่อมตรัสคราวเดียว พราหมณ์และหญิงก็ย่อมพูดจริงคราวเดียว หาแปรผันเป็นอย่างอื่นไม่ ธรรมนี้เป็นของเก่าสืบ ๆ มา

นางปัลวิกาทูลว่า พระแม่เจ้านับว่าพระราชบิดาประทานแก่พระสังขปัตตแล้ว แต่พระแม่และพระสังข์ยังหาได้ประสบพบกันไม่ รัตนวดีตอบว่าพระสังข์ลูกเจ้าได้ประสบ​พบกับเราแล้ว นางปัลวิกาทูลถามว่า ได้พบกันที่ไหน รัตนวดีตอบว่า ได้พบกันในระหว่างฝันเห็น นางปัลวิกาทูลว่า พระแม่เจ้าเป็นบ้าเพราะความรักเสียแล้ว รัตนวดีทรงดำว่า อีปัลวิกานี้ปากกล้าสามานย์ พูดประจานเราว่าเป็นบ้าหลงรัก เราก็จักไม่สามารถพูดสลัดตัดขาดจากพระเจ้าลูกเสียได้ ดำริแล้วจึงตรัสว่า ดูกรปัลวิกา ความร้อนใจของเราทวีขึ้นมากนัก แม่ปัลวิกาจงไปที่สระบัวเก็บเง่าและดอกบัวมาให้เราเล่นให้เพลินใจสักหน่อย นางปัลวิกาทูลว่า หม่อมฉันจะทิ้งพระองค์ไปเสียอย่างไรได้ รัตนวดีตรัสว่า พระลูกเจ้าอยู่เป็นเพื่อนเรามีไม่เป็นไร เจ้าจงไปเถิด นางปัลวิกาลุกจากอาสนะแล้วก็ไป

รัตนวดีทอดพระเนตร์เห็นรูปวาดพระมหาสัตว์ในแผ่นทองพระเนตร์นองไปด้วยอัสสุชล แล้วบ่นพร่ำรำพันว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า โทษกรณ์สิ่งใดของหม่อมฉันมีอยู่หรือ พระองค์จึงไม่ทรงตรัสปราศรัยกับหม่อมฉันบ้าง หรือสมุทรเทวดาเล้าโลมไว้ จึงไม่เสด็จมาให้หม่อมฉันเห็น ถึงเป็นเช่นนั้นก็ชั่งไม่บอกข่าวมาถึงหม่อมฉันเลย อนึ่งได้ยินว่าพระลูกเจ้าเป็นพุทธางกูร หวังจะโปรดสัตว์ทั่วไปไม่เลือกหน้า ทำไมไม่ทรงพระเมตตาแก่หม่อมฉันผู้ชนคนเดียวเล่า ถึงพระลูกเจ้าจะไม่ใยดีมาทิ้งหม่อมฉันไว้ให้เป็นหม้ายจึงไม่เสด็จมาบรรเทาทุกข์หม่อมฉันหรือพระลูกเจ้าสิ้นพระชนม์เสียจริงจังกระมัง เมื่อเสด็จไปปรโลกแล้วหม่อมฉันจะประโยชน์อะไรด้วยโภคและชีวิตเล่า พระลูกเจ้ามาต้องอันตรายในสมุทร์ก็เพราะเหตุตัวหม่อมฉัน นางเธอรำพันฉะนี้แล้ว จึงเอาภูษาทำให้เป็นบ่วงผูกเข้ากับเสาอภิวาทพระบาทลูกเจ้า แล้วตรัสว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า หม่อมฉันขอตามไปเป็นทาสีบำเรอบาทพระองค์ในปรโลก ด้วยสรีรร่างกายนี้

คราวนั้น พระพี่เลี้ยงของรัตนวดีชื่อว่าวิชยายืนอยู่ที่ประตูห้องนางก็เผลอไปไม่ทันดู ครั้นเห็นกิริยารัตนวดีแล้วร้องไห้น้ำตาไหล ร้องทูลห้ามว่า นางทาริกาเช่นนี้จะฆ่าตัวตายตามภัสดาหามีประโยชน์ไม่ รัตนวดีเข้าไปใกล้เสา เอาหัตถาลูบและตบพระอุระตรัสสอนตนว่า ท่านอย่ากลัวเจ้าจักได้ไปร่วมกับสังขปัตตแน่ แล้วนางเธอก็ปรารถนาที่จะให้พระศอของตนเข้าไปในบ่วง

ณ ขณะนั้น วิชยาธาตีวิ่งผลุนมาเข้าไปประคองรัตนวดีด้วยพาหาทั้งสองร้องห้ามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ไฉนเล่าพระองค์ทำกรรมสาหัสอย่างนี้ ที่พระองค์ทรงทำนี้สมควรแล้วหรือ รัตนวดีตรัสว่า ซึ่งเราทำนี้เห็นไม่ควรอย่างไร พระเจ้าลูกเธอสละชีวิต​เพราะกิจประสงค์เรา ฉันใดเราจะสละชีวิตเพราะกิจประสงค์ของพระเจ้าลูกฉันนั้น วิชยาธาตีทูลว่า พระองค์สละสรีรร่างกายเพื่อหมายว่าจักได้ไปประสบพบกับพระเจ้าลูกในปรโลก วิชยาธาตีทูลว่า ยิ่งพระแม่ตรัสอย่างนี้หาชอบไม่ หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงภาษิตไว้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งบำเพ็ญทานรักษาศีล ประพฤติธรรมความชอบไว้ ความที่จะได้ประสบพบกันของผู้นั้นจักเป็นผลสำเร็จดังประสงค์ นางวิชยาธาตีเมื่อจะทูลสอนต่อไปจึงกล่าวคาถาถวายว่า

เยน ตฺวํ สห ปุฺานิกโรนฺตีปิ ปติพฺพตา
เตน จ ปิยสํวาสํปรโลเก ลภิสฺสติ

ความว่า พระองค์รู้จักปรนนิบัติผัว ได้บำเพ็ญบุญกับพระสังข์องค์ใด พระองค์ก็จักได้อยู่ร่วมรักกับพระสังข์องค์นั้น

รัตนวดีทรงสดับอนุสาสนีของนางวิชยาธาตีนั้นแล้ว ก็ยินดีตรัสว่า ดูกรแม่ เราจักทำตามโอวาทแม่ ฝ่ายว่านางปัลวิกาคนใช้เก็บได้รากเหง่าบัวเป็นต้นแล้วก็นำไปจะถวายรัตนวดี นางธาตีชื่ออุสสยันตีผู้หนึ่ง จึงร้องตวาดว่า ดูกรปัลวิกา ไฉนเจ้าทิ้งเจ้านายไว้องค์เดียวไปเที่ยวเสียได้ นางปัลวิกาตอบว่า โทษกรณ์ของฉันหามีไม่ ฉันไปตามคำเจ้านายใช้ รัตนวดีตรัสว่า ดูกรแม่ แม่อย่าโกรธเขาเลย ถ้อยคำของปัลวิกาพูดนั้นจริง แล้วแสดงความที่นางปัลวิกาหาโทษมิได้ ตั้งแต่นั้นมารัตนวดีราชกัญญา ทรงบำเพ็ญทานรักษาศีลห้าและสมาทานอุโบสถศีลเพื่อทรงอุทิศผลถวายพระมหาสัตว์เจ้า

มหาสตฺโต ส่วนพระมหาสัตว์เจ้า ครั้นให้แผ่นกระดานแก่มหาชนในมหาสมุทร์ ปลดเปลื้องให้พ้นจากสัตว์ร้ายมีมังกรเป็นต้นแล้ว ก็ทรงรำพึงว่า เราได้ให้ทานดีแล้วหนอ ดังนี้แล้ว ก็ทรงบ้วนพระโอษฐ์ด้วยน้ำเค็ม ทรงอธิษฐานองค์อุโบสถแล้วก็ว่ายข้ามไปด้วยกำลังพระพาหาล่วงไปได้ ๗ วัน ก็ถึงเกาะโลมานทวีป พอเพลาเย็นก็ขึ้นจากทะเลได้ บิดผ้าสาฎกแล้วก็นุ่งด้วยชายข้างหนึ่งห่มด้วยชายข้างหนึ่งประทับนั่งอยู่ในที่ร่มไม้ ทรงเคล้นไคลพระหัตถ์ทั้งซ้ายทั้งขวา พักพอหายเหนื่อยหน่อยหนึ่งแล้ว ทรงพระดำเนินไปตามหลังหาดทรายอันขาวคล้ายกับแผ่นเงิน ทอดพระเนตร์เห็นฝูงช้าง ฝูงเนื้อ ฝูงนกเหล่านี้ มิได้มีสำคัญมั่นหมายในธรรมเลย แต่มันยังมีความสิเนหามิได้สละพวกพ้องของตน ส่วนเราเป็นมนุษย์ พระมารดาได้อุ้มท้องประคองมาถึง ๑๐ เดือน ครั้นคลอดจากครรภ์สมมโนรถ​ปรารถนาแล้ว ก็อุตส่าห์บำรุงรักษาด้วยขีรธาราอันบังเกิดแต่อก อาบน้ำป้อนข้าววันละสามเวลา บำรุงรักษามาด้วยความยากจนเติบใหญ่ถึงเพียงนี้ เรายังละทิ้งพระมารดาผู้มีพระคุณมาได้ เพราะเหตุจะใครได้ซึ่งหญิงและราชสมบัติ เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงพระมารดา อันทรงพระกรรแสงครวญคร่ำมีน้ำพระอัสสุชลเต็มพระเนตร์เวลาที่พระองค์ทูลลาดังนี้แล้ว ก็ทรงพระโศกาถึงพระบิดามารดาด้วยความกตัญญูกตเวทีทรงปริเทวนาการน่าสงสารเปล่งกระแสเสียงเป็นคาถาดังนี้

อมฺมา สุตฺวา นิมุคคํ มํจิรํ รตฺตาย รุจฺจติ
อฑฺฒรตฺเต จ รตฺเตวานทีว อาสุสฺสติ
ปุตฺตโสเกน กปณาหตปุตฺตาว เธนุกา
สุตฺวา ตาโต นิมุคฺคํ มํจิรํ รตฺตาย รุจฺจติ
ปุตฺตโสเกน กปโณหตปุตฺโตว กุฺชโร
สา นูน กปณา อมฺมาวิลินหทยมทฺทิตา
ปุตฺตโสเกน สนฺตตฺตามฺเ เหสฺสา ทิวงฺคตา
โส นูน กปโณ ตาโตวิลินหทยมทฺทิโต
ปุตฺตโสเกน สนฺตตฺโตมฺเ เหสฺสา ทิวงฺคโต
กึ กริสฺสสิ สา อมฺมากึ กริสฺสสิ โส ปิตา
อตฺตโน ปุพฺพกมเมนสมุทฺทสฺส นิมุคฺคโต
ปุตฺตโสเกน สนฺตตฺโตมฺเ เหสฺสา ทิวงฺคโต
ปาเท หตฺเถ น ปสฺสามิปิตุ เม สห มาตุยา
ยงฺกิฺจิตฺถิ กตํ ปุฺํจิรํ รตฺตาย สงฺขตํ
ตสฺเสว อานุภาเวนโหตุ อมฺมาย โสตฺถิ เม
ยงฺกิฺจิตฺถิ กตํ ปุฺํจิรํ รตฺตาย สงฺขตํ
ตสฺเสว อานุภาเวนโหตุ ตาตสฺส โสตฺถิ เม

ความว่า พระมารดาและพระราชบิดาของเรา ถ้าได้ทรงฟังข่าวว่าลูกต้องล่มจมในมหาสมุทร์แล้ว ก็จะทรงพระโศกาอาดูรจนเที่ยงคืนหรือตลอดรุ่งสิ้นเวลายืดยาวนาน พระหฤทัยก็จะเหือดแห้งเหมือนนทีธารเมื่อฤดูคิมหันต์ เป็นกำพร้าน่าสงสารด้วยความโศกศัลย์ถึงลูก ดุจแม่โคนมและพระยาคชสารที่ลูกหาย น่าสงสารพระมารดาบิดาทั้งสองจะมีพระหฤทัยดุจดังบีบให้เหลวละลายเดือดร้อนด้วยความโศกถึงลูกรัก น่าที่พระองค์จักถึงทิวงคตทั้ง ๒ พระองค์พระมารดาบิดาทั้งสอง จะทรงกระทำประการใดที่ลูกต้องล่มจมลงในมหาสมุทร์ก็เพราะบุพกรรมของตนเอง พระมารดาบิดาทั้ง ๒ น่าที่จะโศกเศร้าถึงลูกจนเสด็จทิวงคต ลูกจะมิได้เห็นพระบาทและพระหัตถ์พระบิดาทั้งมารดาอีกแล้ว บุญกุศลอันใดที่ลูกได้ทำและสั่งสมไว้สิ้นกาลนาน ขออานุภาพบุญนั้นจงบันดาลให้พระมารดาบิดามีความสวัสดีเถิด

เอวํ ปริเทวิตฺวา พระบรมโพธิสัตว์ทรงปริเทวนาการร่ำไรฉะนี้แล้ว ก็ฝืนพระองค์ดำรงได้ด้วยกำลังปฏิสังขารญาณ ทรงอาวัชการนึกถึงทานของพระองค์อยู่

ตทา ปุณฺณมีอุโปสโถ คราวนั้นพอเป็นวันอุโบสถ ดิถีที่สิบห้า พอพระอาทิตย์อัสดงค์พระจันทร์ก็ขึ้นมาในอากาศ

คราวนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งใฝ่ใจแต่ในการเป็นนักเลง จนต้องเป็นหนี้เขาตั้งแสน เจ้าหนี้ทักท้วงหนักเข้าก็ไม่สามารถจะใช้ให้ได้ คิดจะฆ่าตัวเสียให้ตาย จึงออกจากในเมืองในเวลาราตรีเข้าไปสู่ป่า ทำเชือกให้เป็นบ่วงถือเข้าไปด้วย ไปจนถึงที่ใกล้พระโพธิสัตว์แล้วก็ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ เอาเชือกบ่วงผูกกิ่งไม้เข้าแล้วก็เริ่มจะผูกคอ

คราวนั้นพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ใกล้ ๆ ได้เห็นพราหมณ์ผู้นั้นแล้วก็ทรงพระกรุณา เมื่อจะตรัสห้ามพราหมณ์มิให้ฆ่าตนเองจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

สุทุลฺลภํ มนุสฺสตํปตฺถิตํ อปเรหิปิ
ปุฺเกมฺเมน ลทฺธพฺพํกิมตฺถํ มตมิจฺฉสิ

ความว่า ความเกิดเป็นมนุษย์หาได้ยากอย่างยิ่ง ต้องทำบุญถึงจะได้ คนอื่น ๆ เขาต้องการ ทำไมท่านจึงอยากตาย

พราหมณ์ได้ยินเสียงพระโพธิสัตว์ก็เหลียวซ้ายแลขวา ก็แลเห็นพระโพธิสัตว์ด้วยแสงพระจันทร์ส่องสว่าง จึงนึกในใจว่าบุรุษนี้ชะรอยจักเป็นมหาสัตว์ มิใช่คนต่ำช้า สามารถจะบรรเทาทุกข์ของเราได้ จำเราจะไปหาบุรุษนี้ คิดแล้วก็ทิ้งเชือกบ่วงเสียแล้วลงจากต้นไม้ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์ เล่าเหตุการณ์ของตนให้ฟัง ในระหว่างที่จะเล่า​แลเห็นพระธำมรงค์ที่พระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์สองวง ก็บังเกิดโลภเจตนาคิดหาอุบายจะเปลื้องหนี้ แล้วคิดต่อไปว่า เราสามารถจะเปลื้องหนี้และเลี้ยงลูกเมียของเราได้ เพราะอาศัยธำมรงค์รัตนะอันหาค่ามิได้นี้ เราจะคิดฆ่าบุรุษนี้เสียให้ได้คิดแล้วก็เล่าเหตุต่อไปว่า ข้าแต่ท่านมหาบุรุษ ข้าพเจ้าเป็นหนี้เขาอยู่แสนหนึ่งมิสามารถจะหาให้เขาได้ เพราะเหตุนี้จึงคิดจะฆ่าตัวเสีย ขอท่านกรุณาช่วยปลดเปลื้องหนี้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ครั้นพระโพธิสัตว์รับว่าจะช่วย พราหมณ์ก็กล่าวต่อไปว่า ขอท่านช่วยปลดเปลื้องหนี้ของข้าพเจ้าด้วยธำมรงค์รัตนะอันหาค่ามิได้นี้

ตํ สุตฺวา มหาสตฺโต พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงฟังแล้วก็ทรงรับว่าดีแล้วดีแล้วพราหมณ์ เราจะให้สำเร็จมโนรถความปรารถนา ดูกรพราหมณ์ ด้วยความช่วยเหลือนี้ ขอให้เป็นปัจจัยได้สำเร็จแก่พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงภาษิตเป็นคาถาว่า

ททาสิ น วิกมฺปามิยํ มํ ยาจสิ พฺราหฺมณ
สนฺตํ นปฺปติคุยฺหามิทาเน เม รมตี มโน
อิมินา มุตฺตทาเนนโหตุ สพฺพฺุตํ มม
อนาคเต ตารยนฺโตนิพฺพานํ สุขเมฏฺิตํ

ความว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านขอสิ่งใดเราจะยอมให้จะมิได้หวั่นไหว จะไม่ซ่อนของที่มี ใจของเรายินดีอยู่ในทาน ด้วยอำนาจที่เราให้แหวนมุกดานี้ ขอให้เป็นปัจจัยให้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณข้ามจากวัฏสงสารในอนาคตกาลภายหน้า พระนิพพานเป็นสุขที่เราปรารถนายิ่งนัก

ครั้นทรงเปล่งวาจาดังนี้แล้ว ก็ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไปโดยสบายเถิด

พราหมณ์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาบุรุษ ประเทศป่านี้ประกอบด้วยภัย พรุ่งนี้ข้าพเจ้าจักเข้าไปในพระนครกับด้วยท่าน

พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า ท่านจงคาดกาลตามประมาณของท่านเถิด พราหมณ์จึงถามว่า ข้าแต่ท่านมหาบุรุษ ท่านเป็นใครมาจากไหน พระโพธิสัตว์ราชกุมารจึงตอบว่า เราเป็นคนเสียสำเภาพึ่งขึ้นจากทะเลได้เดี๋ยวนี้เอง พราหมณ์จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาบุรุษ ท่านเหน็ดเหนื่อยมามาก ขอเชิญนอนบนตักข้าพเจ้าพักผ่อนให้สบายเถิด

​ตามปรกติพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นผู้ไม่ระแวงและมีพระทัยดี ทรงเห็นว่าพราหมณ์นั้นจะตอบแทนคุณก็มิได้สงสัย จึงบรรทมลงบนตักพราหมณ์ พราหมณ์เห็นพระโพธิสัตว์หลับแล้วจึงรำพึงว่า จะคิดอุบายอะไรดีหนอจึงจะได้แหวนในนิ้วมืออีกวง ๑ จึงคิดได้ว่าถ้าเราควักลูกตาเสียทั้งสองข้างก็จะหนีไปได้ตามสบายใจ คิดแล้วก็เอามือทั้งสองรัดรวบพระโพธิสัตว์ควักลูกพระเนตร์ออกเสีย

พระมหาสัตว์เจ้าได้เสวยเวทนาเป็นอันมาก ก็ตวัดพราหมณ์เข้าไว้ด้วยพาหาทั้งสองข้าง พระองค์ทรงพระกำลังมากดังช้างสารบีบพราหมณ์เข้าไว้แน่นเหมือนดังหีบอ้อย พราหมณ์ได้รับความเจ็บปวดเหลือประมาณก็ตกใจกลัวความตาย เมื่อจะร้องขอให้พระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่งป้องกันอันตราย จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

กตาปราโธ ทุมฺเมโธตายสฺสุ อนุกมฺปโก
วิสรุกฺขํว โรเปตฺวารูหนํ นาภิฉินฺทติ

ความว่า ข้าพเจ้าผู้เขลาปัญญาได้ทำความผิดแล้ว ขอท่านจงอนุเคราะห์ต้านทานป้องกันอันตรายด้วยเถิด เหมือนบุคคลปลูกต้นไม้พิษ ย่อมไม่ตัดทอนต้นไม้ที่งอกงามเจริญแล้ว

เมื่อพระมหาสัตว์จะปลอบพราหมณ์มิให้ต้องวิตก จึงตรัสเป็นคาถาว่า

มยาปิ ตฺวํ สกึ ทิฏฺโตปฺปสิ สุริยมณฺฑเล
ยถาสิ ตฺวํ พฺรหฺเมสตํ ธมฺเม น ทกฺขสิ

ความว่า ดูกรพราหมณ์ ตัวท่านแม้เราที่ได้เห็นครั้งเดียว ท่านมิได้เป็นธรรมแห่งสัตบุรุษทั้งหลายฉันใด ท่านก็จะได้รับความเดือดร้อนเหมือนในดวงพระอาทิตย์ฉันนั้น

พระโพธิสัตว์ปลอบพราหมณ์อย่างนี้แล้ว ก็วางพราหมณ์นั้นเสียแล้วถามว่า ทำไมท่านจึงทำทุกข์ให้แก่เราถึงเพียงนี้ พราหมณ์จึงตอบว่า ข้าพเจ้าอยากได้แหวนวงที่ ๒ นั้นอีก พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า ตัวเรานี้มีพอใจในการให้ทานโดยแท้ แหวนวงเดียวจะมีประโยชน์อะไร ถ้าท่านบอกเสียแต่เดิมแล้วเราก็จะให้ทั้งหมด ตรัสดังนี้แล้วเมื่อจะทรงประกาศถึงจาคเจตนาจึงตรัสเป็นคาถาว่า

สเจ สีสํปิ จกฺขูนิมํสํปิ รุธิรํปิ จ
ยาเจยฺย หทยฺจาปิทเทยฺยํ น วิกมฺเปยฺยํ
จิตฺตโต องฺคโต เจวปิยพนฺธูหิ พฺราหฺมณ
ทานํ ปิยตรํ มยฺหํทาเน เม รมตี มโน
กุลิโน ปิยโต ปีติทานํ ปปฺโปติ นนฺทิตุํ
ชยํ ตถาปิ พุทฺธตฺตํทีปทุตฺตมุตฺตโม

ความว่า ถ้าหากว่าใครจะมาขอศีรษะ, จักษุ, เนื้อ และดวงหทัย เราก็จักให้มิได้หวั่นไหวเลย ดูกรพราหมณ์ เรารักทานยิ่งกว่าจิตใจร่างกายและเผ่าพันธุ์ที่รัก ใจของเราย่อมยินดีในการให้ทาน ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่คนผู้มีตระกูลเพราะความรัก ทานย่อมถึงซึ่งความเพลิดเพลิน แม้ถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าเทวดา มนุษย์ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้มีชัยชนะแล้วก็เหมือนกัน

เอวํ โส เวทนํ วิกฺขมฺเภตฺวา พระมหาสัตว์เจ้าทรงระงับเสียซึ่งเวทนาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงบรรลือสีหนาทประกาศปัจจัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณ จึงประทานธำมรงค์แก้วอินทนิลให้แก่พราหมณ์ พราหมณ์ก็รื่นเริงบันเทิงใจว่าได้เลี้ยงชีวิตโดยสวัสดีแล้วก็กลับไปจากที่นั้น

ตทา พลวปจฺจูเส คราวนั้นพอเป็นเวลาปัจจุสสมัยพวกโจรประมาณ ๕๐๐ คนซึ่งคอยปล้นตามหนทาง ต่างเที่ยวแอบอยู่ตามพุ่มไม้เป็นต้น ยืนคอยดูคนที่จะเดินมาเดินไป พบพราหมณ์ผู้นั้นเข้าก็จับตัวแย่งแหวนจากนิ้วมือควักลูกตาทั้งสองของพราหมณ์ผู้นั้นเสีย แล้วนำพราหมณ์ผู้ประทุพร้ายมิตร์นั้นไปสู่สำนักพระราชาอันดุร้าย

ก็แหละครั้งนั้นยังมีพรานป่าสองนาย คนหนึ่งชื่อราชสีห์ คนหนึ่งชื่อกุญชร พรานทั้งสองนั้นอาศัยอยู่ที่ใกล้กำแพงสวนหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน พออรุณขึ้นพรานทั้ง ๒ ก็เตรียมธนูศรเที่ยวล่าเนื้อเข้าไปในป่า เที่ยวไปโดยลำพังจนถึงที่ที่พระโพธิสัตว์นั่ง เห็นพระโพธิสัตว์แล้วจึงเข้าไปถามว่า ข้าแต่เจ้าทำไมมานั่งอยู่ที่นี่ พระโพธิสัตว์ตอบว่า ข้าพเจ้าสำเภาแตก พึ่งขึ้นจากทะเลได้เมื่อวานนี้ พรานทั้งสองจึงถามว่า ทุกข์ ๆ ครั้งนี้ใครทำให้ พระโพธิสัตว์ตอบว่า กรรมแต่กาลปางก่อนทำให้ พรานทั้งสองได้ฟังแล้วจึง​คิดในใจว่าควรจะเชยชมคำสุภาษิตเช่นนี้เราไม่เคยฟัง คนที่เป็นสัตบุรุษเช่นนี้เราควรจะคบหาสมาคมไว้ คิดแล้วจึงพูดว่า ข้าแต่เจ้า เราทั้งสองคิดจะใคร่ปฏิบัติท่าน ๆ สามารถจะไปเรือนเราได้หรือไม่ พระโพธิสัตว์ตอบว่า ท่านอย่าเข้าใจว่าเราไม่มีเท้าที่จะเดินไป พรานทั้งสองก็เชื้อเชิญก่อนแล้วจึงจับมือพระโพธิสัตว์พาไปสู่เรือนชำระล้างแผลตาที่บอดทั้งสองข้างใส่ยาหาอาหารให้บริโภค ปูลาดที่นอนให้ ปฏิบัติรักษาด้วยกายกรรมเป็นต้น อันประกอบด้วยเมตตา พระมหาสัตว์ได้รับความปฏิบัติเช่นนี้ ล่วงมาสองสามวันก็หายคลายจากโรค พรานทั้งสองจึงบอกแก่พระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่เจ้า ที่อยู่นี่คับแคบมาก ท่านมานั่งบริโภคอาหารในที่นี้แล้วเวลาพักผ่อนกลางวันควรไปนั่งที่มงคลศิลาภายในสวนอุทยาน พระโพธิสัตว์ตอบว่า ตามใจท่านทั้งสองเถิด ตั้งแต่นั้นมาพรานทั้งสองก็ให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำและบริโภคอาหารแต่เวลาเช้าทุก ๆ วัน แล้วจูงพระโพธิสัตว์เข้าไปสู่สวนอุทยานให้นั่งอยู่ที่แผ่นมงคลศิลา พอพระอาทิตย์อัสดงก็พากลับมาเรือน

คจฺฉนฺเต ปน กาลนฺตเร ก็และในระหว่างเวลาที่ล่วงไปอยู่ ณ วันหนึ่ง นางรัตนวดีราชกัญญาประทับอยู่ในพระราชวังมิได้มีความรื่นเริงพระทัยสักเวลา นางปรารถนาจะไปสู่สวนอุทยานเพื่อจะบรรเทาความกระสันต์ความรำคาญได้บ้าง จึงเสด็จออกนอกพระนครด้วยบริวารเป็นอันมาก ฝ่ายพวกกรมวังทั้งหลายก็วิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ ห้ามกันพวกผู้ชายมิให้มาปะปน

เวลานั้นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่บนแผ่นศิลาได้ยินเสียงร้องห้ามกันคนเช่นนั้น จึงถามพรานราชสีห์และกุญชรทั้งสองคนว่าเสียงอะไร พรานทั้งสองจึงบอกว่า ข้าแต่เจ้า นางรัตนาวดีธิดาเจ้านายของข้าพเจ้าจะเสด็จประพาสสวน เสียงอึกทึกนั้นคือเสียงตำรวจห้ามกันผู้ชาย พระโพธิสัตว์ตอบว่า ข้าแลไม่เห็น พรานทั้งสองจึงกล่าวว่า ตัวท่านถึงเป็นชายก็จริง แต่ตาบอดจงอยู่ที่นี่แหละ พระโพธิสัตว์จึงถามว่า ดูกรนาย ประเทศนี้คือโลมานทวีปใช่หรือไม่ พรานทั้งสองก็บอกว่าใช่แล้วต่างก็หลีกไป

ฝ่ายนางรัตนวดีเสด็จเข้าไปในสวนหลวงแล้ว เที่ยวประพาสชมสวนอุทยานอันประดับด้วยไม้ดอกมีประการต่าง ๆ ทอดพระเนตรสระโบกขรณีอันดาดาษด้วยประทุมห้าประการ ประดับด้วยเต่าปลามีพรรษต่าง ๆ ทั้งทรงสดับเสียงสกุลชาติอันร้องขานอย่างไพเราะ แต่ก็ไม่สามารถจะบรรเทาซึ่งความโศกถึงพระโพธิสัตว์ได้

​ฝ่ายนางปัลวิกาปรารถนาจะให้พระราชธิดารื่นเริงหฤทัย ก็สัญจรไปทางโน้นทางนี้เที่ยวหาดอกไม้และผลไม้ที่นางมิใคร่เคยเห็นมาถวาย ไปแลเห็นพระมหาสัตว์นั่งอยู่ที่แผ่นศิลาแต่ไกล จึงคิดว่านั้นใครหนอ แล้วเดินเข้าไปถามว่า ท่านคือใคร พระโพธิสัตว์ตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นคนสำเภาแตก นางปัลวิกาได้ฟังดังนั้นจึงกลับมาหานางรัตนวดีทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บุรุษคนนั้นเป็นคนสำเภาแตก รูปร่างงดงามหนักหนา แต่นัยน์ตาพิการนั่งอยู่ที่แผ่นศิลานั้น นางรัตนวดีจึงตรัสว่า พระลูกเจ้าถูกสำเภาแตกอย่างว่า เออก็บุรุษนั้นเห็นจะมีผู้อยู่เป็นเพื่อน มาเราจะพากันไปดู ตรัสแล้วก็เสด็จไปยังสำนักพระมหาสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก ความที่โศกก็หายไป เกิดความปรีดาด้วยสามารถบุรพสิเนหะ แล้วประทับอยู่ตรงพักตราพระมหาสัตว์ นางปัลวิกาพูดว่า ข้าแต่เจ้าพระราชธิดารัตนวดีของฉัน ท่านเสด็จมาขอถามข้อความกะท่าน พระมหาสัตว์ตรัสว่าชอบใจจะถามอะไรจงถามไปเถิด รัตนวดีราชธิดาตรัสถามว่า ใครทำทุกข์ให้แก่ท่านจนเสียตา พระมหาสัตว์ตรัสว่า ฉันทำตามวิธีของฉันเอง รัตนวดีตรัสถามว่า อะไรเรียกว่าวิธี พระมหาสัตว์ตรัสว่า กรรมเก่าอย่างใดมีกรรมเก่าอย่างพื้นแหละเรียกว่าวิธี ตรัสฉะนี้แล้ว เมื่อจะแสดงธรรมเทศนาตรัสคาถาว่า

อตฺตนา ยํ กตํ กมฺมํวิปากํ อฺชาตีสุ
อนฺภูตํ อิทํ ตสฺสผลํ กมฺมํ อิทํ กตํ
ยํ หิ กโรติ ปุริโสกาเยน วาจา มนสา
ตํ หิ ตสฺส สกํ โหติตฺจ อาทาย คจฺฉหิ

ความว่า บุคคลทำกรรมใดไว้ด้วยตน วิปากผลนั้นตามสนองไปในชาติอื่น ผลกรรมนี้หม่อมฉันได้ทำแล้ว แท้จริงบุรุษทำกรรมใดไว้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยน้ำใจ กรรมนั่นเทียวย่อมเป็นของบุรุษผู้นั้น ๆ จะต้องพากรรมนั้นไปด้วย

รัตนวดีตรัสถามว่า ความพลัดพรากจากนี้ใครทำให้แก่ท่านเล่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า ความพลัดพรากจากเผ่าพันธุ์อันเป็นที่รัก หม่อมฉันได้ทำแก่ผู้อื่นไว้ในกาลก่อน หม่อมฉันนั้นจึงได้ความวิโยค พืชที่บุคคลหว่านไว้อย่างใด ย่อมจะให้ผลอย่างนั้น รัตนวดีได้สดับธรรมเทศนาเท่านี้ ก็มีปีติโสมนัสแล้วตรัสว่า ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้ไพเราะจับใจ แล้วตรัสใช้นางปัลวิกาว่า เจ้าจงไปหยิบทองพันหนึ่งมาเร็ว ๆ นางปัลวิการีบไปหยิบ​สุวรรณพันหนึ่งมาถวายรัตนวดี ๆ จึงประทานให้แก่พระมหาสัตว์ แล้วตรัสว่า ข้าแต่เจ้า สุวรรณพันหนึ่งนี้ ฉันบูชาสุภาษิตของท่าน ท่านจงรับเอาไว้เถิด พระมหาสัตว์ดำริว่า เรารู้แต่จะให้ทาน รัตนวดีกลับจะมาให้ทานเรา เราจักรับไว้อย่างไรได้ ดำริแล้วจึงห้ามเสียว่า ข้าแต่แม่เจ้า พระองค์ผู้อัครราชธิดามีบุญญาธิการมาก เป็นแต่ประทานวาจาเท่านั้นก็พอแล้ว สุวรรณนั้นอย่าประทานเลย รัตนวดีอ้อนวอนว่าข้าแต่เจ้า สุวรรณนี้สมควรแก่ท่าน ท่านจงรับไว้ด้วยความอนุเคราะห์เถิด พระมหาสัตว์ดำริว่า ปิยสหายผู้มีอุปการคุณแก่เรามีอยู่ เราจักรับสุวรรณพันหนึ่งนี้ไว้สนองคุณปิยสหายเถิด ดำริแล้วก็แบฝ่าพระหัตถ์ซึ่งไม่เคยแบเพื่อจะรับสุวรรณนั้นไว้ นางปัลวิกาแลดูฝ่าพระหัตถ์แล้วทูลแก่รัตนวดีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ฝ่ามือของเจ้าเป็นลายสังข์ ทีจะเป็นพระสังขปัตตลูกเจ้ากระมัง รัตนวดีจึงทอดพระเนตรแล้วดำริว่าใคร่จะรู้จักว่าเป็นใครแน่ แล้วก็ประทานสุวรรณพันหนึ่งแก่พระมหาสัตว์ ๆ ทรงรับแล้วก็วางไว้ใกล้พระองค์ รัตนวดีประทานทองแล้วก็ถอยออกมาห่างหน่อยหนึ่ง จึงปรึกษากับนางปัลวิกาว่า ดูกรปัลวิกา ทำไฉนเราจักรู้จักว่าผู้นี้เป็นพระสังขปัตตแน่ นางปัลวิกาพูดว่า ข้าแต่แม่เจ้า ควรจะเอารูปแผ่นทองมาเทียบเคียงดู ปรึกษาตกลงแล้ว นางปัลวิกาก็ไปหยิบรูปแผ่นทองมาถวายรัตนวดี ๆ ทอดพระเนตรเปรียบเทียบดูแล้วสงสัยเพราะรูปจริงวิกลพระเนตรไป ภายหลังจึงรับสั่งให้หาตัววทวามุขพราหมณ์มาเฝ้า แล้วชี้บอกว่าผู้ที่นั่งอยู่บนมงคลศิลาท่านรู้จักหรือไม่

วทวามุขพราหมณ์เห็นพระกุมารแต่ไกลก็จำได้ วิ่งแล่นเข้าไปใกล้ครวญคร่ำร่ำไรร้องบอกว่า จงมาเถิด นี่แหละพระสังขปัตตสหายของเรา คราวนั้นสนมกำนัลนางในและพระรัตนวดีเป็นประธานก็ปริเทวนาการร่ำไร ฝ่ายวทวามุขพราหมณ์แลดูพระพักตร์พระมหาสัตว์แล้วทูลถามว่า ใครทำทุกข์ให้พระองค์เสียพระเนตร พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงนิ่งเสียเถิด ท่านยังท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ หารู้ชัดเรื่องนี้ไม่ เมื่อพระองค์จะทรงแสดงปุริมทุกข์ จึงตรัสคาถาว่า

ภเว วิจรมานานํสตฺตานํ กมฺมปจฺจยา
นิสฺสารฺจ กตํ ปุพฺเพจกฺกเนมิว อนฺเวติ
กมฺเมน อนุภวติกมฺเมน หนวธพนฺธํ
กมฺเมน นานากรณํตสฺสา วโธ น อตฺถิ กมฺมํ

​ความว่า สัตว์ยังเที่ยวอยู่ในภพ ก็เพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมที่ไม่เป็นสาระที่สัตว์ทำไว้ในก่อน ย่อมติดตามสัตว์ผู้ทำนั้นไป อุปมัยเหมือนกำกงเกวียนอันตามรอยโคฉะนั้น สัตว์ย่อมเสวยทุกข์ก็เพราะกรรม การถูกตีถูกฆ่าถูกมัดก็เพราะกรรม ที่ต้องกรรมกรณ์ต่างๆ ก็เพราะกรรม เพราะเหตุนั้น ไม่ควรตีฆ่ากันเลย เพราะว่ากรรมมีอยู่

คราวนั้น พระรัตนวดีตรัสว่า ดูกรปัลวิกาสาวใช้ เจ้าจงรีบไปกราบทูลเรื่องนี้แก่พระราชบิดา นางปัลวิกาก็ไปยังราชสำนักกราบทูลเรื่องราวพระมหาสัตว์แก่พระเจ้าอังกุรราช ๆ กับอนังเสนาเทวีทรงพระปรีดา จึงเสด็จไปยังสำนักพระมหาสัตว์ วทวามุขพราหมณ์เห็นสองกษัตริย์เสด็จ จึงทูลพระมหาสัตว์ว่า พระมาตุลราชกับพระสัสสุรีของพระองค์เสด็จมาแล้ว จึงจับพระหัตถ์พระมหาสัตว์ให้ถวายบังคมบาทพระราชาและราชเทวี พระราชาตรงเข้าสวมกอดพระมหาสัตว์แล้วกรรแสงไห้ พระราชเทวีอนังคเสนากับคณานางในและอำมาตย์ทั้งหลายพากันร้องไห้ทุก ๆ คน ครั้นพระราชาคลายพระโสกาแล้วตรัสถามว่าใครทำทุกข์ให้พระนัดดา พระมหาสัตว์กราบทูลว่า กรรมวิบากของตนทำทุกข์ให้หม่อมฉัน

ครั้นนั้นแล พระสุตตกิตตีชนนีของพระมหาสัตว์ เสด็จโดยนาวาได้มาถึงท่าโลมานทวีปในวันนั้น พนักงานเฝ้าประตูราชวังก็พากันกราบทูลพระเจ้าอังกุรราชให้ทรงทราบ พระเจ้าอังกุรราชกับพระมเหสี ทรงเปรมปริดิ์เสด็จไปรับเสด็จพร้อมด้วยมหันตบริวาร พระมหาสัตว์ทรงทราบว่าพระชนนีเสด็จมา ทูลวิงวอนพระเจ้าลุงจะขอไปเฝ้าพระมารดา พระเจ้าลุงตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ยังใคร่จะไปเพื่อประกาศคารวะต่อพระชนนี เมื่อไม่สามารถจะไปได้ เลยนั่งนิ่งอยู่กับพระราชา

ฝ่ายอนังคเสนาเทวีกับรัตนวดีราชธิดาพร้อมด้วยมหันตบริวารเสด็จไปยังฝั่งสมุทร์ บังคมพระชนนีพระมหาสัตว์แล้วเชิญให้เสด็จขึ้นประทับวอทอง นำไปยังสำนักพระราชกุมาร ครั้นพระราชมารดาเสด็จถึงราชอุทยานแล้ว พระมหาสัตว์จึงอุฏฐาการไปต้อนรับพระมารดาแล้วถวายอภิวาท พระราชมารดาบังคมพระราชาแล้วทรงคลึงเคล้าจุมพิตเศียรเกล้าพระเจ้าลูกทรงพระโสกา แล้วตรัสเล่าพระสุบินนิมิตให้พระมหาสัตว์ฟัง ดุจนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง จึงรับสั่งว่าตั้งแต่ฝันแล้วมา มารดาก็ร้องไห้ถึงพ่อทุกเวลาอุตส่าห์รักษาอุโบสถศีล ​เสวยกระยาแก่เวลาเดียว ปรนนิบัติอย่างนี้ด้วยตั้งใจจะใคร่พบพ่อ บัดนี้มารดามาพบพ่อสมประสงค์แล้ว แต่นี้ไปเบื้องหน้า อชรามโร พ่อจงอย่ารู้แก่เจ็บตายเลย จงเจริญสุขสวัสดิ์เถิด

คราวนั้น ราชบริษัททั้งหลาย ได้ฟังสำเนียงปริเทวนาของพระราชมารดาต่างก็พากันร้องไห้ พระราชเทวีเมื่อคลายความโศกได้แล้ว ทอดพระเนตรดูพักตราพระมหาสัตว์แล้วตรัสตามว่า ใครทำทุกข์ให้แก่พ่อ พระมหาสัตว์ทูลว่า พราหมณ์คนหนึ่งทำทุกข์ให้หม่อมฉัน แล้วเล่าความหนหลังให้พระมารดาฟังพระราชมารดาสดับแล้วทรงพิลาปร่ำไร ตรัสนัยคาถาว่า

อกตฺู ทิโช ลุทฺโทปุตฺโตปิ สพฺพทายโก
เอวํ กลฺยาณํ กริสฺสโลโภ ทุพฺภิมการยิ

ความว่า พราหมณ์นี้ชั่งโลภเหลือประมาณ ลูกของเราให้ทรัพย์จนหมดสิ้น ทำคุณความดีถึงเพียงนี้ ยังไม่รู้จักคุณกลับประทุษร้ายลูกของเราได้

ณ ขณะนั้น พระเจ้าอังกุรราชทรงดำริว่า ราชกุมารนี้มาเพื่อต้องการธิดาของเรา ได้มาถึงทุกข์ภัยอันตรายอย่างนี้ เดิมเราก็ได้ปฏิญาณว่าจะให้ราชธิดาแก่นัดดา แต่นัดดามาเสียจักษุไปก็ชั่งเถอะ เราควรจะให้ธิดาของเราแก่เขา ดำริแล้วก็ประทานรัตนวดีราชธิดาแก่พระมหาสัตว์โดยโองการตรัสว่า ดูกรสังขปัตต รัตนวดีนี้ลุงยกให้เป็นบาทบริจาริกาของพ่อตั้งแต่วันนี้ไป พระมหาสัตว์ถวายบังคมรับราชดำรัสทรงอนุโมทนา พระราชาจึงให้เชิญพระมหาสัตว์เข้าสู่อลังกตนครกับราชธิดา ให้ประทับอยู่ในอลังกตปราสาทเสมอด้วยเทววิมานกับรัตนวดี ๆ มีวัตตจริยาอันดีนับถือพระมหาสัตว์ดุจเทวดา ปรนนิบัติโดยเมตตากายกรรมเป็นอาทิ

คเต กาลนฺตเร ครั้นเมื่อกาลล่วงไปภายหน้า พระเจ้าโลมานทุฏฐราชจึงบังคับราชบุรุษว่า ท่านทั้งหลายจงนำธำมรงค์สองวงนี้กับตัวอันธพราหมณ์ไปถวายเป็นเครื่องบรรณนาการแต่พระเจ้าอังกุรราช ราชบุรุษทั้งหลายก็ถือเอาธำมรงค์สองวงจูงพราหมณ์ผู้จองจำนำเข้าไปยังพระนคร ประชาราษฎรเห็นเขาจูงอันธพราหมณ์ผู้ต้องจำมา ก็พากันโจทย์เสียงเซ็งแซ่ไป ฝ่ายว่าหญิงค่อมสาวใช้ของพระรัตนวดีนั้น ครั้นได้เห็นเขาจูงอันธพราหมณ์เดินมา จึงนำความไปทูลแก่พระรัตนวดี ๆ เสด็จออกจากห้องในเปิดสีหบัญชรมหาดลปราสาท ยืนประทับจะคอยถามเรื่องนั้น

​ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้า ทรงพระดำริว่า เราจักดื่มน้ำตาลกรวด แล้วรับสั่งเรียกพระรัตนวดีราชเทวี ๆ มิทันได้ยิน ต่อรับสั่งเรียกถึง ๒-๓ ครั้ง พระรัตนวดีจึงได้ยินรับสั่ง แล้วกลับเข้ามาจัดน้ำตาลกรวดที่โอชารสใส่ลงในขันทองคำ น้อมนำเข้าไปถวายพระมหาสัตว์เจ้า ๆ มีขัตติยมานะคิดว่ารัตนวดีดูหมิ่นเรานัก เกิดโทมนัสแล้วตรัสว่า ทุกข์ทั้งปวงเกิดมีแก่เราก็เป็นโทษของรัตนวดีนั้น แล้วทรงตัดพ้อรัตนวดีว่า สตรีดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ สามียากจน ๑ สามีเป็นโรค ๑ สามีเฒ่าชรา ๑ สามีเป็นนักเลงสุรา ๑ สามีมือหงิกงอ ๑ สามีเป็นบ้า ๑ สามีทำการงานไม่เป็น ๑ สามีไม่อาจทำการงานให้เกิดทรัพย์ ๑ ตรัสฉะนี้แล้วก็ห้ามเมียมิให้รับขันน้ำตาลกรวดไว้

ฝ่ายพระรตันวดีเธอประสูติในมหาตระกูล ได้สดับพระมหาสัตว์ตรัสพ้อก็มีความกลัวยิ่งนักหนา ราวกับว่าหฤทัยจะทำลายไป ๗ ภาค กราบลงพระบาทขอขมาว่า ข้าแต่พระราชสามี ขอพระองค์จงอดโทษแก่หม่อมฉัน ๆ สาลวนส่งจิตไปอื่นหาทันได้ยินไม่ พระนางเธอวิงวอนขอโทษ ๒-๓ ครั้ง ท้าวเธอก็ยังมิอนุญาตให้ นางก็เสด็จไปเฝ้ามารดาบิดากราบทูลตามเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระราชมารดาบิดาตรัสแก่พระรัตนวดีว่า ดูกรแม่รัตนวดี ไฉนทำความโทมนัสให้เกิดแก่สามีเล่า พระรัตนวดีกราบทูลว่า วันนี้และหม่อมฉันจักทำสัตย์สาบานให้พระราชสามีอดโทษจนได้

ลำดับนั้น ครั้นพระรัตนวดีกราบทูลฉะนี้แล้ว จึงให้นิมนต์ธรรมิกสมณพราหมณ์มา ให้นั่ง ณ อลังกตมหาดลปราสาทคล้ายอสุรวิมาน แล้วเชิญพระราชบิดาให้ประทับ ณ ราชาอาสน์ ในท่ามกลางสมณพราหมณ์เหล่านั้น ฝ่ายพระอังคเสนาเทวีประทับ ณ อาสนะอันสมควรแล้ว จึงให้เชิญพระมหาสัตว์มาด้วยสีวิกาให้ประทับ ณ อาสนะอันสมควร ครั้นเมื่อหมู่มหาชนประชุมแล้วพระรัตนวดีสรงน้ำชำระองค์ทรงเครื่องสรรพาภรณ์แล้ว ก็ทำสักการบูชารัตนตรัยด้วยประทีปธูปเทียนเป็นต้น แล้วผันพระพักตร์ต่อบุริมทิศ ทำชุลีกรเหนือเศียรเกล้าอธิษฐานว่า ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อหํ สามิเกน ปกฺโกสิตา ข้าพเจ้านี้เมื่อขณะพระราชสามีรับสั่งหา ได้ยินอยู่จะได้แกล้งนิ่งหาบมิได้ ข้าพเจ้าตั้งใจปรนนิบัติพระราชสามีมิได้ประมาทอันนี้เป็นความจริง ด้วยอำนาจความสัจจริงนี้ ขอให้พระเนตรเบื้องซัายของพระราชสามี จงปรากฏขึ้นเป็นปรกติดังเก่า

​ในระหว่างแห่งคำอธิษฐานของรัตนวดี พระเนตร์เบื้องซ้ายของพระมหาสัตว์ก็เกิดปรากฏขึ้นมาดังเก่า ณ ขณะนั้นมหัศจรรย์ก็เกิดมีปฐพีไหวเป็นต้น ทั้งเทพยดาก็ให้สาธุการเพราะเหตุนั้น พระอรรกถาจารย์เมื่อจะแสดงความให้ปรากฏจึงกล่าวบทคาถาว่า

จลติ รวติ ปวีอุจฺฉุยนฺตํว ปิลิตํ
เตลยนฺตํ ยถา จกฺกํเอว กมฺปิตฺถ เมทนิ
สงฺขุภิ สมุทฺทหา จคิรินฺโท ตตฺถ โอนมิ
โอนมิตา สิเนรูปิหึ หึ สทฺโท ปวตฺตยิ

ความว่า ปฐพีร้องครางสะเทือนไหน อุปมัยดังจักรยนต์หีบอ้อยและน้ำมันฉะนั้น สมุทร์สาครก็ปั่นป่วนเป็นระลอก สิเนรคิรินทร์ก็โอนอ่อนกลับกลอกไปมาในอากาศเวหา เสียงสนันลั่นอยู่หึหึ

ณ ขณะนั้น พระมหาสัตว์เจ้า ลุกขึ้นบังคมพระราชมารดาบิดา กราบทูลว่าจักขอทำอธิษฐานบ้าง พระราชมารดาบิดาก็ทรงอนุญาตว่า สาธุดังนี้ พระมหาสัตว์ทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้ว ผันพระพักตร์ต่อปุริมทิศ คุกพระชานุเบื้องขวาจดปฐพี ทำอัญชลีเหนือเศียรเกล้าอธิษฐานว่า นมตฺถุ พุทฺธานํ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแก่พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วและยังจะมาข้างหน้า พระอริยเจ้าทั้งปวงมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงสดับฟังคำของข้าพเจ้าซึ่งกล่าวบัดนี้คือ เมื่อขณะพราหมณ์ควักเนตร์ของข้าพเจ้า ๆ หาขึ้งโกรธพราหมณ์นั้นไม่ อันนี้เป็นความสัจจริง ด้วยอำนาจสัจนี้ ขอให้เนตร์เบื้องขวาปรากฏมีขึ้น ในระหว่างสัจจวาจาของพระมหาสัตว์ ทักขิณเนตร์งามเสมอด้วยแก้วอินทนิลก็เกิดปรากฏมีมา ขณะนั้นมหัศจรรย์ก็บันดาลเกิดมีเหมือนนัยหนหลัง

ฝ่ายพระเจ้ายสราชกับปุโรหิต เทพยดาเขานำไปยังโลมานทวีปด้วยบุปผวิมาน ให้ประทับอยู่ ณ อากาศ คราวนั้น วทวามุขพราหมณ์แหงนดูเบื้องบนเห็นพระราชาเสด็จมา จึงชี้ให้มหาชนดูว่า ใครนั้นมาแล้วด้วยบุปผวิมาน ทันใดนั้นบุปผวิมานก็ไปประดิษฐานอยู่ ณ ธรณีสีหบัญชร พระเจ้าอังกุรมหาราชเสด็จออกต้อนรับ ถวายคำนับพระเจ้ายสราช ๆ ทอดพระเนตร์พระราชโอรสและพระสุณิสาแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัยตรัสว่า ดูกรปิยบุตร ขอให้พ่อดำรงชีพยืนนานถึงพันปี

​คราวนั้น อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลพระเจ้าอังกุรราชว่า ข้าแต่พระมหาราช บัดนี้ราชทูตของพระเจ้าทุฏฐมานราชมาเพื่อจะเฝ้าพักอยู่ ณ พระทวารวัง พระเจ้าอังกุรมหาราชรับสั่งว่าให้พาเขาเข้ามาเฝ้าเถิด อำมาตย์เหล่านั้นจึงพาราชทูตนำราชบรรณนาการเข้าไปถวายพระราชา ราชทูตนั้นถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระธำมรงค์คู่นี้พระเจ้าโสมานทุฏฐราชถวายมาเป็นราชบรรณนาการ พระเจ้าอังกุรมหาราชทรงรับมาทอดพระเนตร์แล้วจำได้ จึงถวายให้พระเจ้ายสราชทอดพระเนตร์ทูลว่า ธำมรงค์คู่นี้เมื่อครั้งแรกหม่อมฉันส่งไปให้พระสังขปัตต พระองค์ยังทรงจำได้มิใช่หรือ แล้วท้าวเธอก็ประทานแก่พระมหาสัตว์ จึงซักถามราชทูตว่าธำมรงค์คู่นี้ได้มาแต่ไหน ขอพระราชทาน ได้มาแต่พราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์คนนั้นบัดนี้พักอยู่ที่ราชทวารแต่เป็นคนพิการจักษุทั้งต้องจำจองอยู่ด้วย ข้าพระองค์ไม่อาจจะให้เข้ามาได้ พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์จงให้เขาแก้พราหมณ์จากเครื่องจำเถิด พระเจ้าอังกุรราชดำรัสสั่งให้ราชทูตแก้พราหมณ์จากเครื่องจำ และให้นำตัวเข้ามา แล้วตรัสถามพระมหาสัตว์ว่า พราหมณ์ผู้นี้หรือที่ทำร้ายพ่อ พระมหาสัตว์กราบทูลว่า พราหมณ์คนนี้แหละที่ทำร้ายข้าพระองค์ พราหมณ์ได้ยินเสียงพระมหาสัตว์จำได้ ตกใจกลัวล้มลงกับพื้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตร์เห็นดังนั้น ก็มีความกรุณาลุกขึ้นไปกอดพราหมณ์แล้วปลอบว่าท่านอย่ากลัวเลย แล้วพยุงพราหมณ์ให้ลุกขึ้นนั่ง เมื่อพระองค์จะทรงทำสัจจกิริยา ตรัสคาถาว่า

น จ เม หทเย โกโธนยนุปฺปฏเนน จ
มม สจฺเจน เม อตฺถิตุยฺหํ อกฺขิทฺวยํ อิธ

ความว่า ด้วยเหตุที่ท่านควักลูกตาเรา ใจเราไม่มีความโกรธเคืองท่านเลย ด้วยความสัจจริงของเรามีอยู่ ขอให้นัยน์ตาทั้งสองของท่านบังเกิดขึ้นในที่นี้

ในระหว่างแห่งคำอธิษฐานของพระมหาสัตว์ นัยน์ตาทั้งสองของพราหมณ์ก็ปรากฏมีขึ้นพร้อมกัน พราหมณ์นั้นเห็นพระมหาสัตว์แล้วก็ปรีดาจึงเปล่งอุทานวาจาว่า ความสมาคมด้วยกัลยาณมิตร์น่าอัศจรรย์หนักหนา ชื่อว่าเวรภัยหามีไม่ พระมหาสัตว์ตรัสสอนว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านอย่าได้ทำประทุษฐร้ายมิตร์อย่างนี้อีก พราหมณ์รับโอวาทพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่มหาบุรุษพผลแห่งมิตตทุพภิกรรม ข้าพระองค์ได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้ว ​ต่อนี้ไป ข้าพระองค์จักไม่ทำกรรมประทุษฐร้ายมิตร์อีกหละ พระมหาสัตว์จึงประทานสุวรรณพันหนึ่งแก่พราหมณ์ ๆ ก็มีความปลื้มใจว่า เราจะได้เลี้ยงชีพโดยความสวัสดีแล้วก็กลับไป

พระมหาสัตว์กราบทูลพระเจ้าอังกุรราชว่า ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉันอยากจะพบนายพรานราชสีห์และนายพรานกุญชร พระเจ้าอังกุรราชรับสั่งให้ราชบุรุษไปตามตัวนายพรานสองคนนั้นมาแล้ว ให้หยุดพักอยู่ ณ ราชทวาร จึงรับสั่งแก่สังขปัตตกุมารว่า บัดนี้นายพรานราชสีห์นายพรานกุญชรมาพักอยู่ที่ราชทวารแล้ว พระมหาสัตว์เสด็จออกจากสถาน ครั้นถึงจึงสวมกอดสองพรานไพร จับมือจูงเข้าไปยังราชนิเวศน์ให้หมอบเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉันจักให้เศวตฉัตร(ที่เศรษฐี) กับบ้านส่วยพันบ้านแก่นายพรานสองคน พระเจ้าอังกุรราชตรัสว่า ดูกรพ่อ พ่อจงให้ตามประสงค์เถิด พระมหาสัตว์ประทานเศวตฉัตรและบ้านส่วยพันบ้านแก่นายพรานสองคนนั้นแล้ว สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในศีลห้าแล้วส่งให้กลับไป

พระเจ้าอังกุรราชทรงทำมงคลวิธีทั้งปวงมีประการมากอย่าง แล้วเชิญพระมหาสัตว์ให้ประทับเหนือกองแก้ว แล้วอภิเษกให้ครองราชย์สมบัติในโลมานทวีปกับพระรัตนวดี เมื่อเสร็จการราชาภิเษกแล้ว เทพยดาจึงนำพระเจ้ายสราชไปส่งยังโปตปุรนครด้วยบุปผวิมานอีก พระมหาสัตว์ครองราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วมีสวรรค์เป็นไปเบื้องหน้า

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประกาศสัจกถาแล้วตรัสประชุมชาดกว่า พระราชมารดาพระบิดาพระมหาสัตว์ในครั้งนั้น สืบประวัติขันธ์มาคือมหาตระกูล นายพรานชื่อสีหะในครั้งนั้น สืบประวัติขันธ์มาคือ สาริบุตร นายพรานชื่อกุญชรในครั้งนั้น สืบขันธ์ประวัติมาคือโมคคัลลาน พราหมณ์ในครั้งนั้น สืบขันธ์ประวัติมาคือ เทวทัตภิกษุ พระรัตนวดีเทวีในครั้งนั้น สืบขันธ์ประวัติมาคือมารดาพระราหุล พระสังขปัตตราชาในกาลครั้งนั้น สืบขันธ์ประวัติมาคือ เราตถาคตมีพุทธพจน์ให้จบลง

จบสังขปัตตชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: