ภาวนาเบื้องต้น

การเตรียมตัว สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ ประโยชน์ ปัญหาน่ารู้

เจริญภาวนา สำหรับผู้เริ่มต้น

การฝึกภาวนานั้นมีคุณค่ามหาศาล ทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ และมนุษยชาติ  เพราะเป็นหนทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ที่จะให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ทั้งหมดได้อย่างถาวร  แม้ยังไม่สามารถทำตนให้หมดทุกข์ได้ในชาตินี้  ก็ยังมีอานิสงส์ มีประโยชน์นานัปการแก่ผู้เพียรปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อ

เช่น นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว   ผู้ที่มีสมาธิจะมีจิตใจเข้มแข็ง  ทำงานได้มากและมีประสิทธิภาพสูง ทุกนาทีที่ทำงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ที่ต้องมีหน้าที่ต้องพินิจพิจารณาและวิเคราะห์ปัญหา  ป้องกันและแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น   ถ้าได้กระทำด้วยจิตใจที่มีสมาธิแน่วแน่มั่นคงแล้ว  จะได้ผลดีมาก    เมื่อกำลังใจเข้มแข็ง เราก็ทำงาน ได้มากเป็นธรรมดา    เพราะฉะนั้นผู้ที่สมาธิจิต เป็นคนที่มีทั้งความรู้ความสามารถ และทั้งคุณธรรม ที่จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตตนแก่ครอบครัวและแก่สังคมได้มาก  

ผู้ที่ฝึกอบรมภาวนาสมาธิบ่อยๆ จะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันทาง เจริญทางเสื่อม รู้ทางผิดทางถูก รู้บาป-บุญคุณโทษ ก็จะเป็นผู้ที่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ลุแก่ราคะ โลภะ หรือตัณหา ไม่ลุแก่โทสะพยาบาท และความหลงใดๆ   และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีแต่ความ สันติสุขและร่มเย็นในชีวิต ในกาลทุกเมื่อ เพราะว่าผู้ที่มีความทุกข์เดือดร้อนกันมากๆ ก็คือ ผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะ มักลุแก่โทสะบ้าง ราคะบ้าง โลภะบ้าง ตัณหาบ้าง โมหะบ้าง เป็นต้น ดังที่ เห็นๆ กันอยู่ในสังคมปัจจุบัน นั่นเอง

เริ่มนั่งท่าขัดสมาธิ

การฝึกภาวนาทำใจให้สงบนิ่งนั้น  นิยมใช้ท่านั่งขัดสมาธิ  เพราะเป็นท่าที่สงบ มั่นคง   ร่างกายได้รับความสบายพอควร ไม่มากไม่น้อยเกินไป ช่วยให้การฝึกสมาธิได้ผลดี นั่งได้นาน (แรกๆ บางท่านอาจปวดเมื่อยบ้าง)   แต่ถ้าไม่สะดวกหรือไม่ถนัด จะนั่งในท่าพับเพียบ หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ หรือท่าใดๆ ก็ได้ ที่รู้สึกสบายพอควร    แต่อย่านั่งพิง เพราะถ้าสบายเกินไปอาจทำให้เผลอสติ เผลอหลับได้

ให้ผู้ฝึกปฏิบัตินั่งขัดสมาธิ  เท้าขวาทับเท้าซ้าย   มือขวาทับมือซ้าย   ปลายนิ้วชี้มือขวาแตะพอดีหัวแม่มือซ้าย   ตั้งตัวให้ตรงพอควร แต่อย่าเกร็ง  เพราะจะทำให้เมื่อยเร็ว  ทิ้งน้ำหนักส่วนบนของร่างกายลงบนก้นทั้งสองข้างพอดีๆ   ยึดอกขึ้นเล็กน้อย  ลำตัวไม่เอียงซ้ายเอียงขวา หรือแอ่นหลังงอหลัง  ข้อศอกไม่กาง

ผ่อนคลายร่างกาย

หลับตาลงเบาๆ  ไม่ต้องเม้มเปลือกตาให้แน่น   หายใจลึกๆ พอสบาย  แล้วปล่อยกายตามสบาย  ไม่ต้องเกร็ง   เหมือนกับว่าเรากำลังนั่งพักผ่อนกายและใจของเรา ให้เกิดความสุข สงบ สะอาด สว่าง ในชีวิต  แม้ชั่วขณะหนึ่งนี้

ปล่อยวาง เอาใจไว้ภายใน

ปล่อยวางเรื่องราวต่างๆ ภายนอกเสียทั้งหมด   แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่ต้องสนใจว่ารู้สึกอย่างไร จะเย็นร้อนอ่อนแข็ง    ถ้าเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา ก็เพียงแต่รู้ไว้เฉยๆ  ไม่ต้องยินดียินร้าย 

กำหนดศูนย์กลางกาย

ขณะที่หลับตาอยู่นั้น   นึกเห็นเส้นตรงขาวใส อยู่เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ  ลากจากหน้าท้อง ไปทะลุหลัง  อีกเส้นหนึ่งลากจากสีข้างซ้ายไปจรดสีข้างขวา   จุดที่เส้นตรง 2 เส้นนั้นตัดกัน คือ จุดศูนย์กลางกาย   ให้ใจของเราสงบ หยุด นิ่ง อยู่ ณ ที่นั้น  จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญ 

กำหนดดวงแก้ว ณ ศูนย์กลางกาย

ณ จุดศูนย์กลางกายที่เส้นตรง 2 เส้นตัดกันนั้นเอง   นึกให้เห็นดวงแก้วกลมใสเหมือนเพชร  ไม่มีขนแมว (รอยขีดข่วน)  ขนาดเท่าแก้วตา  เหมือนกับว่าในท้องของเรา มีดวงแก้วใสสว่างลอยนิ่งอยู่ ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน (โดยธรรมชาติ ก็เป็นเช่นนั้นจริง)

ในเบื้องต้นนี้  ยังเป็นการเพียงนึก  ยังไม่ใช่ของจริง   ภาพที่นึกนั้นอาจจะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็ได้  เพราะฉะนั้น อย่าพยายามเพ่ง หรือ บังคับใจ  บังคับลูกนัยน์ตา ให้เห็นชัด  เพราะจะไม่เห็น และผิดวิธี

การนึกดวงแก้วเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยาก   เมื่อเรานึกถึงสถานที่  สิ่งของต่างๆ ที่เราเคยเห็นมาแล้ว เราสามารถนึกได้ง่ายๆ  โดยไม่เกร็ง ไม่เครียด  และไม่ต้องใช้ตาเนื้อช่วย    การนึกดวงแก้วก็เป็นการนึกแบบเดียวกัน   และเห็นได้เท่าๆ กัน

แต่ที่จะเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนเห็นด้วยตาเนื้อนั้น   ในขณะนั้น จิตใจต้องสงบพอควร    เพราะฉะนั้น อย่าวิตก กังวล หรือหงุดหงิด  ถ้ายังไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัด  นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

การนึกดวงแก้วในเบื้องต้นเป็นวิธีทำใจให้สงบ  เพราะฉะนั้น สำหรับคนส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นได้แค่การ “นึก” ยังไม่ใช่ “เห็น”  (ยกเว้นไม่กี่คนที่ครั้งแรกนึกแล้ว “เห็น” เลย) เมื่อเพียรพยายาม “นึก” อยู่เรื่อยๆ   ใจจะค่อยๆ ได้รับการฝึกให้เชื่อง    ความฟุ้งซ่านจะลดลง   ได้สัมผัสความ “สันติสุข” จากการที่ใจเริ่มสงบบ้างโดยที่ยังไม่เห็นอะไรนั้น     เมื่อถึงจุดที่จิตสงบพอดี หยุดนิ่งอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย ก็จะ “เห็น” นิมิตแสงสว่างหรือดวงแก้วปรากฏขึ้น ซี่งเป็นไปด้วยอำนาจของความสงบใจ   ไม่ใช่ด้วยอำนาจของการ “นึก” เพราะฉะนั้น หากเข้าใจธรรมชาติของจิตว่าเป็นเช่นนี้แล้ว  เราก็จะไม่บังคับใจ บังคับตา ของเราให้เห็น   เราจะไม่ใจร้อนหงุดหงิดเมื่อยังไม่เห็น  เราจะไม่พากเพียรจัดเกินไป  ด้วยความ “อยาก” เห็น แต่เราจะวางใจเป็นกลางๆ ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ในทุกอิริยาบถ คือ ยืนเดินนั่งนอน เพราะเรามีความสงบสุขทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิ  บุญบารมีของเราเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิ  สติสัมปชัญญะดีขึ้นเรื่อยๆ  ฯลฯ

ท่อง “สัมมาอรหัง”

ขณะที่ตรึกนึกให้เห็นดวงที่ใส  ใจอยู่ในกลางดวงที่ใส ที่ศูนย์กลางกาย อยู่นั้น   ให้ท่องในใจว่า “สมฺมาอรหํ” (อ่านว่า สัมมาอะระหัง)  ดังออกมาจากศูนย์กลางกาย  ท่องให้ต่อเนื่อง เหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปไม่ขาดสาย   เพื่อช่วยให้ใจที่มักฟุ้งซ่านออกไปนอกตัว  สงบ หยุดนิ่งได้เร็วขึ้น

พยายามนึกดวงแก้วและ “สมฺมาอรหํ” นี้ ในทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน   ให้มีสติอยู่ที่ศูนย์กลางดวงแก้วศูนย์กลางกายไว้เสมอ  ใจจะสงบและละเอียดขึ้น แม้จะยังไม่เห็นดวงแก้วชัดเจนก็ตาม

เมื่อเห็น “นิมิต” ชัดขึ้นแล้ว ไม่ต้องท่อง “สมฺมาอรหํ”

เมื่อประคับประคองใจไว้ที่ศูนย์กลางกายไว้    ในไม่ช้า ใจจะค่อยๆ หยุดนิ่ง เป็นจุดเดียว และค่อยๆ   เห็นภาพดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายชัดเหมือนเห็นด้วยตาเนื้อ  ก็อย่าตื่นเต้นดีใจ  ทำใจเป็นกลางๆ  และไม่ต้องท่องในใจว่า “สมฺมาอรหํ”  อีก (บางท่านก็จะลืมว่า “สมฺมาอรหํ” ไปเอง ในขณะที่ใจหยุดนิ่งนั้น)   เพ่งเบาๆ ที่ศูนย์กลางดวงแก้วนั้น  

เมื่อใจหยุดนิ่งสนิท จะเห็นจุดเล็กใสที่ศูนย์กลางดวงแก้วด้วย  ดวงชัดและใส สว่าง ขึ้น   เมื่อเห็นดวงแก้วชัดขึ้นมาแล้ว 

แล้วให้แตะใจเบาๆ ที่ศูนย์กลางดวงแก้วนั้น  อย่าเพ่งดวงแก้วแรงเกินไป เพราะจะทำให้ดวงเคลื่อนและ/หรือหายไป   ให้แตะใจเพียงแผ่วๆ  ลงไปที่ศูนย์กลางดวงแก้วนั้น พอใจหยุดได้ถูกส่วนเข้า   ดวงเดิมก็จะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใหม่ใสแจ่มบังเกิดขึ้นแทนที่ มีรัศมีสว่างกว่าที่เคยนึกทีแรกเสียอีก    และถ้าหยุดนิ่งถูกส่วน ยิ่งนิ่งสนิท   ดวงใสจะขยายโตขึ้น ให้ปล่อยใจให้ดิ่งลงไป ณ ศูนย์กลางดวงแก้วนั้นไว้เรื่อย  ไม่ถอยใจออกมา  

ไม่ช้าก็จะเห็นกายในกายภายใน  ก็ให้เดินดวงเดินกาย คือ เห็นดวงก็เอาใจจรดเข้าที่ศูนย์กลางดวง  เห็นกายก็เอาใจจรดเข้าที่ศูนย์กลางกาย ไม่มีถอยออก   ใจละเอียดหยุดนิ่งเท่าไร กายในกายยิ่งใสสว่าง ใตใหญ่ขึ้นเท่านั้น.

หมั่นทำทุกอิริยาบถ

แล้วต้องทำทุกอิริยาบถ  คือเดิน ยืน นั่ง และนอน    ทำบ่อยๆ เนืองๆ  ไม่ละเว้นเสียกลางคัน   ด้วยใจรัก  ด้วยความเพียร  ด้วยความต่อเนื่อง    ยามเมื่อว่างจากภารกิจการงาน  ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส   ใจอยู่ในกลางของกลาง ตรงจุดเล็กใส   ท่องในใจว่า “สัมมาอรหังๆๆ” ไว้มากๆ ต่อเนื่องไปมากๆ   ใจก็จะหยุดนิ่งได้โดยง่าย  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ก่อนนอน ก็พยายามกำหนดนิมิต และสัมมาอรหังคู่กันไปจนหลับ   ก่อนจะหลับ จิตดวงเดิมจะตกศูนย์  จิตดวงใหม่จะลอยเด่นขึ้นมาใส ท่านสามารถจะเห็นได้โดยง่าย   และอาศัยอารมณ์เช่นนั้น ก่อนจะหลับ   

ก่อนจะตื่นเหมือนกัน  ถ้าเคยตื่น 6 โมงเช้า   ลองตื่นตีห้าครึ่ง   พอตื่นแล้วยังไม่ต้องลุกขึ้นทันที   ตายังหลับอยู่ แต่ใจเราตื่น   ดูไปที่ศูนย์กลางกายจะเห็นดวง   พอเห็นแล้วเราเอาอารมณ์นั้นมาสู่ใจเรา   ทำบ่อยๆ ก็จะเป็น   เมื่อถึงเวลาก็เป็นเอง   

แม้ขณะเดิน  นั่ง  ปกติธรรมดา  ถ้าอารมณ์สบาย  ใจเป็นบุญเป็นกุศล   ใจก็สบาย  พอใจสบายก็จะเห็นได้   บางทีอาจเห็นธรรมกายใหญ่มากก็มี

เมื่อเห็นดวงชัดพอควรแล้ว หรือเห็นกายในกายแล้วก็ตาม  ให้รีบมาต่อวิชชาธรรมกาย ที่ 
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ทุกวันอาทิตย์ และในช่วง อบรมพระกัมมัฏฐาน 1-14 พ.ค. และ 1-14 ธ.ค. ของทุกปี

การเตรียมตัวก่อนเจริญภาวนา


การเตรียมตัวสิ่งที่ควรรู้และเข้าใจประโยชน์ปัญหาน่ารู้

เมื่อจะนั่งสมาธิ ควรเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมก่อน  เช่น

  1. บางครั้งจะอาบน้ำชำระร่างกายก่อนก็ได้  ทำสถานที่นั่งให้สะอาดเรียบร้อยพอสมควร  แต่อย่าให้เกิดความวุ่นวายจนเกินไป
  2. ปล่อยวางภารกิจ ทั้งทางกายและทางใจ เสียทั้งหมด    ปรับจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย  นึกถึงบุญกุศล คุณความดี ที่เราได้กระทำมาแล้ว ให้จิตใจแช่มชื่นเบิกบาน สันติสุข
  3. รับศีล 5 หรือ ศีล 8 เพื่อให้กาย วาจา ของเรา สงบ  และเป็นของบริสุทธิ์สมควรเป็นที่รองรับคุณความดีต่างๆ   โดยจะรับศีลจากพระภิกษุก็ได้ หรือจะตั้งใจสมาทาน (ถือ) ศีลด้วยตนเองก็ได้  เมื่อเป็นผู้มีศีลแล้ว พยายามตั้งใจรักษาต่อไปให้ตลอดได้ก็จะเป็นการดีมาก

4 ข้อต่อไปนี้  จะทำอย่างเป็นพิธีการก็ได้ (อย่างเช่นเวลานั่งสมาธิรวมกันหลายคน)  หรือจะนึกเอาในใจก็ได้  และไม่จำเป็นต้องทำทุกครั้งที่จะฝึกสมาธิ

  1. กล่าวคำบูชาคุณพระรัตนตรัย  (ยะมะหัง…)
  2. กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย หากเราได้พลั้งพลาดล่วงเกิน  ด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม เพื่อมิให้เป็นมลทินแก่เรา  (อุกาสะ   อัจจะโย โน ภันเต)
  3. กล่าวคำอาราธนาคุณพระรัตนตรัย มาสู่กายใจของเรา
  4. กล่าวคำอธิษฐานอาราธนาคุณพระรัตนตรัย เป็นต้น มาช่วยให้บรรลุคุณธรรมที่ปรารถนา
    (ดู  คำบูชาคุณพระรัตนตรัย… คำอธิษฐาน)

สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจในการเจริญภาวนา

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้

ภาวนา คืออะไร ?    สมาธิคืออะไร ?  มีกี่ระดับ ?    อุปสรรคของสมาธิคืออะไร ?    อิริยาบถที่ใช้ในการฝึกสมาธิ    นิมิตคืออะไร ?

ภาวนาคืออะไร ?

ภาวนา แปลว่า การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ   หมายถึง การฝึกอบรม ตามหลักพระพุทธศาสนา   มี 2 อย่าง คือ

  1. สมถภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ
  2. วิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริง

อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น 2 เหมือนกันคือ

  1. จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม  มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ
  2. ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์

สมาธิคืออะไร ?  มีกี่ระดับ ?

สมาธิ หมายถึง   ความที่จิตใจสงบ ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน  แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่ใจนึกคิด สิ่งที่กำลังกระทำ นั้นๆ     มี 3 ระดับ คือ

  1. ตามปกติ คนเราทุกคนก็มีสมาธิอยู่แล้ว แต่เป็นสมาธิชั่วขณะ ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ เป็นสมาธิที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทำหน้าที่การงาน ศึกษาหาความรู้ อ่านหนังสือ พักผ่อน ทำกิจกรรมต่างๆ  ในการปฏิบัติธรรมโดยทั่วไป เช่น การฝึกสติ เจริญกุศล ทำทาน ฟังธรรม เป็นสมาธิในระดับหนึ่ง คือยังอยู่ในระดับเบื้องต้น
  2. อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิจวนจะตั้งมั่น แน่วแน่  คือยังไม่นิ่งสนิทเต็มที่   สามารถทำให้ นิวรณ์ สงบระงับไปได้ แต่ยังไม่มีกำลัง เปรียบเหมือนเด็กเล็กๆ ลุกขึ้นยืนได้บ้าง ล้มลงบ้าง
  3. อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิตั้งมั่น เต็มที่   ที่เรียกว่า ฌาน  คือกำจัดนิวรณ์สงบราบคาบแล้ว และสามารถรักษาจิตให้แน่วแน่ได้ตลอด เปรียบเหมือนผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ยืนได้ขึ้นอย่างมั่นคง

ส่วนการเจริญภาวนา เช่น สมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา นั้น เน้นการใช้สมาธิในระดับสูงคือในระดับที่จิตตั้งมั่นแน่วแน่จริงๆ เพื่อให้ได้ผลเป็นการตัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองของจิตใจได้เด็ดขาด

ฉะนั้น เราจึงสามารถเลือกใช้และเลือกฝึกระดับของสมาธิให้เหมาะสมกับกิจการที่เรากระทำได้

อุปสรรคของสมาธิคืออะไร ?

อุปสรรคของสมาธิ ได้แก่ นิวรณ์   หมายถึง  สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณความดี,  ไม่ให้บรรลุสมาธิได้   มี 5 อย่าง คือ

  1. กามฉันท์  พอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย ที่น่ารักน่าใคร่
  2. พยาบาท  คิดร้ายผู้อื่น
  3. ถีนมิทธะ  ความหดหู่ ท้อแท้ และซึมเซา ง่วงซึม เคลิ้มหลับ
  4. อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่าน และหงุดหงิด รำคาญใจ
  5. วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในคุณพระรัตนตรัย และวิธีการที่ปฏิบัติ

อีกอย่างหนึ่ง  หมายถึง อุปกิเลสของสมาธิ 11 อย่าง ได้แก่

  1. วิจิกิจฉา  ความลังเล หรือความสงสัย
  2. อมนสิการ  ความไม่สนใจ ใส่ใจ ไว้ให้ดี
  3. ถีนมิทธะ  ความท้อ และความเคลิบเคลิ้ม ง่วงนอน
  4. ฉัมภิตัตตะ ความสะดุ้งหวาดกลัว
  5. อุพพิละ  ความตื่นเต้นด้วยความยินดี
  6. ทุฏฐุลละ  ความไม่สงบกาย
  7. อัจจารัทธวิริยะ  ความเพียรจัดเกินไป
  8. อติลีนวิริยะ  ความเพียรย่อหย่อนเกินไป
  9. อภิชัปปา  ความอยาก
  10. นานัตตสัญญา  ความนึกไปในสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยผ่านมาหรือจดจำไว้ มาผุดขึ้นในขณะทำสมาธิ
  11. รูปานัง อตินิชฌายิตัตตะ  ความเพ่งต่อรูปหรือเพ่งต่อนิมิตนั้นจนเกินไป

อิริยาบถที่ใช้ในการฝึกสมาธิ

เราสามารถฝึกสมาธิได้ใน ทุกอิริยาบถ  ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน   แต่สำหรับการฝึกสมาธิในขั้นสมถะและวิปัสสนาภาวนานั้น ผู้ปฏิบัตินิยมใช้ ท่านั่ง-ขัดสมาธิ  เพราะเป็นท่าที่สงบ มั่นคง   ร่างกายได้รับความสบายพอควร ไม่มากไม่น้อยเกินไป ช่วยให้การฝึกสมาธิได้ผลดี    แต่ถ้าไม่สะดวกหรือไม่ถนัด จะนั่งในท่าพับเพียบ หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ หรือท่าใดๆ ก็ได้ ที่รู้สึกสบายพอควร    แต่อย่านั่งพิง เพราะถ้าสบายเกินไปอาจทำให้เผลอสติ เผลอหลับได้

นิมิตคืออะไร ?

นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย ได้แก่ วัตถุอันเป็นเครื่องหมายแห่งสีมา,  โดยเฉพาะในการฝึกสมาธิ หมายถึง เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนด, ภาพของสิ่งที่ผู้ฝึกสมาธินำมาใช้นึกในใจ, สิ่งที่นึกให้เห็นในใจของผู้ทำสมาธิ,  มี 3 คือ

  1. บริกรรมนิมิต  นิมิตแห่งบริกรรม หรือนิมิตตระเตรียม ได้แก่สิ่งที่เพ่ง หรือกำหนดนึกในการทำสมาธิ เช่น ดวงแก้วกลมใส หรือพระพุทธรูปขาวใส
  2. อุคคหนิมิต นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตาติดใจ ได้แก่ สิ่งที่เพ่งหรือนึกนั้นเอง ที่แม่นในใจ จนหลับตามองเห็น
  3. ปฏิภาคนิมิต  นิมิตเสมือน หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่ อุคคหนิมิตนั้น เจนใจจนกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา เป็นของบริสุทธิ์ จะนึกขยาย หรือย่อส่วนก็ได้ตามปรารถนา
    นิมิตที่เห็นได้ติดตา และสามารถนึกขยายให้โตขึ้นได้ หรือย่อให้เล็กลงได้นี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต
    สมาธิที่ใจหยุดได้แนบแน่นอย่างนี้ จัดอยู่ในขั้น อัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นเบื้องต้นของ ปฐมฌาน

ประโยชน์ของการเจริญภาวนา

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้

… ใจของเราถ้าหยุดได้สักกระพริบตาเดียวเท่านั้น  ได้ชื่อว่าเราได้สร้างบุญใหญ่กุศลใหญ่ สำคัญนัก  บุญที่เกิดจากการนั่งภาวนานั้นเป็นบุญใหญ่กุศลใหญ่   เราจะไปสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญสักร้อยหลัง  ก็สู้บุญที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญสมถวิปัสสนาไม่ได้ … 
… หยุดนี้เป็นทางมรรคผลนิพพาน  พวกที่ให้ทานรักษาศีลนั้นยังไกลกว่า   “หยุด” นี้ใกล้นิพพานนัก …

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

ประโยชน์ของการเจริญภาวนานั้นประมาณมิได้  ถึงจะเจริญภาวนายังไม่ได้ถึงธรรมกายหรือดวงปฐมมรรค  ก็อย่าได้ท้อใจว่าปฏิบัติไม่ได้ผล  หากได้ตั้งใจฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอด้วยอิทธิบาทธรรม  และหมั่นดูที่เหตุ สังเกตดูที่ผลแล้ว  จะพบว่ามีผลได้ทุกครั้งที่จิตของท่านได้รับการฝึกฝนให้หยุดนิ่ง  อย่างน้อยท่านจะพบว่า

  • ความฟุ้งซ่านแห่งจิตของท่านลดลง   ทำให้จิตมีความสงบเยือกเย็นดีขึ้น
  • กิเลสตัณหา อันเป็นอกุศลธรรมเครื่องยังจิตให้เศร้าหมองและเร่าร้อน  ทะยานอยากในสิ่งที่ไร้สาระหรือที่เกินความจำเป็นต่างๆ เบาบางลง
  • มีสติสัมปชัญญะและปัญญา  รู้ทางเจริญ ควรดำเนิน   รู้ทางเสื่อม ไม่ควรดำเนิน ดีขึ้นด้วยตัวเอง
  • จิตใจสงบเป็นสมาธิดีขึ้น  ทำให้การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาใดๆ  สามารถกระทำได้ถูกต้องตรงประเด็นดีขึ้น
  • เมื่อสุขภาพจิตดี ก็พลอยให้สุขภาพกายดีขึ้นด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด ก็ไม่ต้องพลอยเดือดร้อนเพราะเรา (ซึ่งมีสุขภาพจิตไม่ดี)  เป็นเหตุให้ครอบครัว สังคมและประเทศชาติพลอยสันติสุข เพราะมีสมาชิกผู้มีกาย วาจา และใจ อันสงบเพิ่มมากขึ้น
  • การเจริญภาวนาโดยมีศีลเป็นบาท  จัดเป็นอานิสงส์รวบยอด  เป็นทางมรรคผลนิพพาน จึงเป็นมหานิสงส์แก่ผู้บำเพ็ญ  เมื่อบุญกุศลเพิ่มขึ้น บาปอกุศลลดน้อยลง จนบุญนำหน้าบาป  บุญกุศลย่อมให้ผลก่อนบาปอกุศล  เพราะฉะนั้น  ผู้เจริญภาวนารักษาศีลเป็นประจำ จึงมีชีวิตที่ดีขึ้น เจริญรุ่งเรืองและสันติสุขขึ้น ทั้งในทางโลกและทางธรรมเป็นธรรมดา

ปัญหาน่ารู้ในการเจริญภาวนา

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้


การเจริญภาวนา  ต้องมีครูคุมหรือไม่
ทำอย่างไรจึงเห็น “ดวง” ได้เร็วๆ
เห็นนิมิตลวงหรือนิมิตแปลกๆ  ทำอย่างไร
เห็นนิมิตได้เดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป
มึนหรือปวดกระบอกตา  หลังนั่งสมาธิ
การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตไหม

การฝึกเจริญภาวนาจะต้องมีครูคุมหรือไม่

การปฏิบัติธรรมอันได้แก่การรักษาศีลและเจริญภาวนา เพื่อให้เกิดสมาธิและปัญญา อันจะสามารถให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ตัณหา อุปาทาน เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายตามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น มีหลักสำคัญอยู่ว่า ครูเป็นแต่เพียงผู้ชี้แนวทางให้ ส่วนการศึกษาและฝึกปฏิบัติใหับังเกิดผลดีแก่ตนเองนั้น ตกเป็นหน้าที่ของผู้เป็นศิษย์จะต้องเพียรศึกษาและฝึกปฏิบัติใหัรู้เอง เห็นเอง แล้วก็เป็นผู้ได้รับผลเองทั้งสิ้น   ดังพระบาลีพุทธภาษิตว่า

 อกฺขาโต โว มยา มคฺโคอญฺญาย สลฺลสตฺถนํ
 ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํอกฺขาตาโร ตถาคตา
ทางอันเรารู้ชัดว่าเป็นที่สลัดเสียซึ่งลูกศร (คือราคะ) ได้บอกแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ความเพียรอันท่านทั้งหลายต้องทำเอง   พระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกทางให้.

และดังพระบาลีพุทธภาษิตว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นั่นเอง

เมื่อท่านทั้งหลายได้รับคำแนะนำจากครูอาจารย์ ไม่ว่าจะโดยทางใด เช่นว่าได้รับคำแนะนำสั่งสอนโดยตรงจากท่าน หรือได้รับฟังจากรายการวิทยุโทรทัศน์ หรือได้อ่านจากคำอธิบายในหนังสือธรรมปฏิบัติ หรือจากตำรับตำราที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว ก็เพียรศึกษา ทำความเข้าใจคำอธิบายและคำสั่งสอนนั้น แล้วก็ตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติด้วยตนเอง ที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับครูหรืออาจารย์ ขอแต่เพียงว่า เมื่อเกิดความสงสัยในวิธีปฏิบัติข้อใด ก็ให้รีบจดหมายหรือไปสอบถามที่ครูอาจารย์ได้เลย หรือเมื่อปฏิบัติได้ผลก้าวหน้าประการใด ก็รายงานผลการปฏิบัตินั้นให้ทราบ เพื่อจะได้ให้คำแนะนำแก้ไขวิธีปฏิบัติในขั้นสูงต่อไปอีก ให้ได้รับผลดียิ่งๆ ขึ้นไป

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนา และสาวกของพระองค์ได้ช่วยเผยแพร่ประกาศพระศาสนาไปทุกทิศนั้น เมื่อศิษย์ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากพระองค์หรือสาวกของพระองค์แล้ว ก็จะต้องไปฝีกปฏิบัติเองโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์หรือพระอุปัชฌาย์หรือครูอาจารย์แต่ประการใด ต่อเมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยในแนวทางปฏิบัติ ก็มาขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากพระองค์หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วแต่กรณี ก็ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างนี้ จนตราบเท่าทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม อาตมาก็ยอมรับว่า การที่ศิษย์มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเริ่มต้นนั้น ทำให้ศิษย์มีกำลังใจและได้รับความอบอุ่นใจมากกว่าการฝึกปฏิบัติที่อยู่ห่างไกลจากครูอาจารย์ และไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันเลยเป็นธรรมดา แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่ห่างไกล และไม่มีโอกาสได้รับคำชี้แจงแนะนำแนวทางปฏิบัติโดยละเอียดเช่นนี้ ก็ไม่เสียผล

ขอแต่ให้ทุกท่านตั้งใจศึกษาและฝึกปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม คือด้วยใจรักในธรรม ขื่อว่า ฉันทะ ประกอบด้วยความเพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆๆ ไม่ย่อท้อ ชื่อว่า วิริยะ ให้มีใจจดจ่ออยู่กับธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ ทุกอิริยาบถก็ให้จรดใจอยู่ ณ ศูนย์กลางกายอยู่เสมอ ผู้ที่เห็นดวงธรรมแล้ว ก็ให้เห็นใสละเอียดอยู่เสมอ ผู้ที่ถึงธรรมกายแล้วก็ให้พยายามรวมใจอยู่ ณ ศูนย์กลางกายอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุดอยู่เสมอ ชื่อว่า จิตตะ แล้วก็หมั่นพิจารณาในเหตุ สังเกตในผลของการปฏิบัติ ดูให้เป็นไปในทางที่ตรงตามที่ครูอาจารย์ได้สั่งสอน ตามพระธรรมอันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ขื่อว่า วิมังสา รวมสี่ประการนี้แล้ว การปฏิบัติจะมีผลดีขึ้นเรื่อยๆ เอง

อีกประการหนึ่ง การเจริญภาวนานี้ จิตของผู้เจริญภาวนาจะมีอานุภาพสูงยิ่ง ตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ จนอาจกล่าวได้ว่า เมื่อท่านสาธุชนผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย น้อมใจลงไปหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายและบริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” เมื่อใด กระแสจิตของบุรพาจารย์ผู้เป็นต้นวิชชา อันมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นต้น แม้มรณภาพไปแล้ว กับของศิษย์ย่อมจะถึงกันในทันที เพราะอยู่ในสายธาตุธรรมเดียวกัน กระแสจิตจึงเชื่อมถึงกันโดยอัตโนมัติ

ด้วยเหตุนี้ การกระทำพิธียกครูจึงเห็นว่าไม่จำเป็น และอาตมาก็ยังไม่เคยได้ยินว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้กระทำเข่นนั้นอีกด้วย

อนึ่ง พึงตระหนักว่า บรมครูที่สูงที่สุดนั้น ก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์ ซึ่งก็หมายถึง พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ และมีความหมายถึง “ธรรมกาย” ซึ่งมีอยู่ในศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดของทุกท่านนั่นเอง พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระวักกลิ ซึ่งคอยเฝ้าติดตามชมพระสิริโฉมกายเนื้อของพระองค์ท่านอยู่เสมอ ว่า “โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ” แปลความว่า “ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา (ตถาคต)” และว่า “ธมฺมกาโย (อหํ) อิติปิ” แปลความว่า “เรา (ตถาคต) คือ ธรรมกาย” เพราะฉะนั้นพระบรมครูก็อยู่ในตัวเราทุกคนนั่นเอง จงหมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่งแล้วก็จะเห็นดวงปฐมมรรค เมื่อถึงดวงปฐมมรรคแล้ว ก็พยายามรวมใจให้หยุดให้นิ่ง หยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุดเรื่อยไป ก็จะถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็จะถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม และกายอรูปพรหม แล้วก็จะถึง “ธรรมกาย” ก็ให้ดำเนินไปในแบบเดิม คือดับหยาบไปหาละเอียด หยุดในหยุดเรื่อยไป ก็จะถึงธรรมกายที่ละเอียดๆ ก็ให้ดำเนินไปจนสุดละเอียด ก็จะถึงพระบรมครู คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ได้ด้วยตนเอง นั่นแหละจึงจะได้ชื่อว่าอยู่ใกล้ครูที่สุด ได้บูชาครูอย่างยอดเยี่ยมที่สุด ยิ่งกว่าอามิสบูชาเสียอีก

แต่แม้กระนั้น ก็ไม่พึงละเว้นจาก การรำลึกถึง คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า และคุณบิดามารดา คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ และผู้มีพระคุณทั้งหลายอีกด้วย เพราะการรำลึกถึงและเคารพบูชาท่านผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการปฏิบัติอันเป็นมงคลยิ่งอย่างหนึ่งทีเดียว

กล่าวโดยสรุป การเจริญภาวนานั้น หากมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์ก็เป็นการดี แต่ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์แล้วไม่กระตือรือร้น หรือสนใจที่จะรับคำแนะนำสั่งสอนไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็ไร้ผล ส่วนผู้ที่อยู่ห่างไกลครูอาจารย์ หากได้พยายามศึกษารับฟังคำแนะนำสั่งสอน เอาไปฝึกปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม อันมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ก็ย่อมได้ผลดี และได้ผลที่แข็งแกร่งมั่นคงอีกด้วย เพราะถึงอย่างไร ครูก็มีหน้าที่แต่เพียงเป็นผู้ชี้แนะแนวทางให้เท่านั้นส่วนการปฏิบัติให้ได้ผล ผู้เป็นศิษย์ก็จะต้องไปฝึกปฏิบัติให้ได้รู้เอง เห็นเอง และเป็นผู้ได้ผลเอง และการประกอบพิธียกครู จึงไม่จำเป็น แต่การระลึกถึงและเคารพในคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ และผู้มีพระคุณนั้น จัดว่าเป็นมงคลยิ่ง และการปฏิบัติบูชาก็ยังนับว่าเป็นเลิศกว่าการบูชาอื่นใด นี่หมายเอาการปฏิบัติตามพระธรรมอันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว จึงจัดว่าประเสริฐกว่าการบูชาอื่นใดทั้งสิ้น.

ทำอย่างไรจึงจะได้เห็นดวงปฐมมรรคเร็วๆ

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้


การเจริญภาวนา  ต้องมีครูคุมหรือไม่
ทำอย่างไรจึงเห็น “ดวง” ได้เร็วๆ
เห็นนิมิตลวงหรือนิมิตแปลกๆ  ทำอย่างไร
เห็นนิมิตได้เดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป
มึนหรือปวดกระบอกตา  หลังนั่งสมาธิ
การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตไหม

ความเป็นผู้มีบุญบารมีมาก่อน ที่เรียกว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ซึ่งมีอยู่รวม 10 ข้อ ด้วยกัน ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เขกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี ที่ได้เคยสร้างสมมาตั้งแต่อดีตจนตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้ว่า จะมีมากน้อยเพียงใด บุญบารมีแต่ละประการที่กล่าวมานี้ เมื่อได้สั่งสมขึ้นภายในจิตมากๆ เข้า แก่กล้าหนักเข้าก็จะกลั่นตัวเองเป็น อุปบารมี เมื่ออุปบารมีแต่ละอย่างเหล่านั้น สั่งสมกัน แก่กล้ายิ่งขึ้นไปอีก ก็จะกลั่นตัวเองเป็น ปรมัตถบารมี คือบุญบารมีที่แก่กล้าที่สุด รวมทั้งบุญบารมี ทั้ง 3 ระดับ เป็นบารมี 30 ทัศ

เมื่อปรมัตถบารมีทั้ง 10 ประการนั้นเต็มส่วนหมดแล้ว จึงจะเป็นพลวปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ในที่สุด

แต่ในระหว่างที่ปรมัตบารมีทั้ง 10 ประการนั้นยังไม่เต็มส่วน ก็ยังจะมีส่วนช่วยในการปฏิบัติธรรม ได้บรรลุผลตามสมควรแก่บุญบารมีของแต่ละบุคคลที่ได้สร้างสมอบรมไว้ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรใจร้อนที่จะให้เห็นผลในทันใด ขอแต่ให้ตั้งใจฝึกปฏิบัติตามคำแนะนำที่คุณครู-อาจารย์ได้สั่งสอนอบรมต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็หมั่นพิจารณาดูที่เหตุสังเกตุดูที่ผล ก็ย่อมจะประจักษ์ในผลของการปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง ตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้   อย่าลืมว่า ต้องให้โอกาสแก่ตนเองตามสมควร ดังเช่นที่เราปลูกต้นไม้ จะต้องให้เวลาในการเจริญเติบโต   และการปลูกต้นไม้ที่จะได้ผลดีก็จะต้องหมั่นดูแลทำนุบำรุงรักษา เมื่อถึงเวลาต้นไม้นั้นก็จะผลิตดอกออกผลให้เอง

ดังพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระบรมพุทโธวาทไว้ในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 หน้า 309 ข้อ 532 ความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องรีบทำมี 3 อย่างเหล่านี้   3 อย่างอะไรบ้างเล่า ?  3 อย่างคือ คฤหบดีชาวนารีบๆ ไถคราด พื้นที่นาให้ดีเสียก่อน, ครั้นแล้ว ก็รีบๆ ปลูกพืช, ครั้นแล้ว ก็รีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง ภิกษุทั้งหลาย กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้แล แต่ว่าคหบดีชาวนานั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลว่า “ข้าวของเราจงงอกในวันนี้ ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้” ดังนี้ ได้เลย ที่ถูกย่อมมีเวลาที่ข้าวนั้น เปลี่ยนแปรสภาพไปตามฤดูกาล ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น กิจของภิกษุที่เธอจะต้องรีบทำมี 3 อย่างเหล่านี้   3 อย่างอะไรบ้างเล่า?   3 อย่างคือ การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง, การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง, และการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! กิจของภิกษุที่เธอจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้แล,  แต่ว่า ภิกษุนั้น ก็ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลว่า “จิตของเราจงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่มีอุปาทาน ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ดังนี้ได้เลย, ที่ถูกย่อมมีเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมีภิกษุนั้นปฏิบัติไปแม้ในศีลอันยิ่งปฏิบัติไปแม้ในจิตอันยิ่ง และปฏิบัติไปแม้ในปัญญาอันยิ่ง จิตก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีอุปาทานได้เอง

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า” ความพอใจของเราจักต้องเข้มงวดพอในการสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง ในการสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และในการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง” ดังนี้   ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล”

นี่ก็เป็นบรมพุทโธวาทของพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อิทธิบาทธรรม คือด้วยใจรักในธรรม (ฉันทะ) ด้วยความเพียรไม่ย่อท้อ (วิริยะ) ด้วยใจจดจ่ออยู่ในธรรม ไม่ทอดทิ้งหรือวางธุระ (จิตตะ) และด้วยพินิจพิจารณาในเหตุ สังเกตในผล หมั่นดูแลแนวทางการปฏิบัติให้ดำเนินไปในทางที่ชอบ ที่เป็นคุณ หลีกเลี่ยงทางปฏิบัติที่ไม่ดี ไม่ชอบ ที่เป็นโทษ (วิมังสา) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พึงให้มีสติสัมปชัญญะพิจารณาเห็น อุปกิเลสของสมาธินิมิต หรือ นิวรณธรรมทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นภายในจิต แล้ว พึงกำจัดเสียด้วย องค์แห่งฌาน (โปรดดูรายละเอียดในหนังสือทาง มรรค ผล นิพพาน) แล้วท่านจะได้รับผลดีไปเอง

ขอเพียงอย่าได้ใจร้อน ทะยานอยากที่จะเห็นนิมิตจนจิตใจฟุ้งซ่านและท้อถอย จงหมั่นปฏิบัติไปก็แล้วกัน ได้เท่าไร เอาเท่านั้น

พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านก็ได้ให้คำรับรองไว้ว่า   ถ้าได้ฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็เป็นอันได้เห็นดวงปฐมมรรคในชาตินี้ทุกคน.

ปัญหาของผู้ที่เห็นนิมิตแปลกๆ บางทีก็เป็นนิมิตที่น่ากลัว

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้


การเจริญภาวนา  ต้องมีครูคุมหรือไม่
ทำอย่างไรจึงเห็น “ดวง” ได้เร็วๆ
เห็นนิมิตลวงหรือนิมิตแปลกๆ  ทำอย่างไร
เห็นนิมิตได้เดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป
มึนหรือปวดกระบอกตา  หลังนั่งสมาธิ
การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตไหม

สาเหตุข้อที่ 1   เมื่อพิจารณาตามเรื่องราวที่เล่าไปให้ฟังแล้วปรากฏว่า ผู้ที่มักเห็นนิมิตแปลกๆ ที่น่ากลัวนั้นเกิดกับผู้ปฏิบัติภาวนาที่ไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติสมถกรรมฐานดีพอ แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานเลยทีเดียว จึงเกิดวิปัสสนูปกิเลส ข้อ อุปัฏฐานัง คือการมีสติปรากฏยิ่งเกินไป หรืออีกนัยหนึ่ง มีสติพิจารณาสภาวธรรมแก่กล้าเกินไป แต่ปัญญาอันเห็นแจ้งที่แท้จริงเจริญไม่ทัน มีแต่ปัญญาที่จำได้หมายรู้จากตำราเสียโดยมาก ใจจึงปล่อยวางอารมณ์วิปัสสนาที่เคยมีสติพิจารณาอยู่เสมอนั้นไม่ได้ นิมิตลวงจึงปรากฏขึ้นที่ใจให้เห็นโดยที่เจ้าตัวมิได้ตั้งใจจะรู้เห็น

นิมิตลวงเหล่านี้เอง ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ข้ออุปัฏฐานัง ซึ่งมักปรากฏขึ้นกับผู้ที่เจริญวิปัสสนาด้วยตนเอง โดยศึกษาเอาจากตำราหรือจากการได้รับคำแนะจากผู้แนะนำที่ไม่มีพื้นฐานทางสมถปัสสนากรรมฐานดีพอ นี้เป็นสาเหตุข้อที่หนึ่ง

สาเหตุข้อที่ 2   ในขณะที่เจริญภาวนา  ไม่ว่าจะเป็นขณะพิจารณาสภาวธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐานก็ดี หรือในขณะเจริญสมาธิที่เรียกว่า สมถกรรมฐานก็ดี ผู้เจริญภาวนามิได้ตั้งใจไว้ให้ถูกที่ คือ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตรงที่สุดลมหายใจเข้าออก เหนือระดับสะดือสองนิ้วมือ อันเป็นที่ตั้งถาวรของใจ จึงเป็นเหตุให้ความเห็นนิมิตด้วยใจความจำได้หมายรู้ ความคิดและความรู้เล่ห์ คือ ผิดไปจากนิมิตจริง เพราะดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิดและดวงรู้มิได้รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอย่างแท้จริง การย่อหรือการขยายความรู้เห็นจึงเบี้ยว มิได้เป็นไปในมิติเดิม จึงทำให้เห็นนิมิตแปลกๆ มีลักษณะที่น่ากลัวต่างๆ

วิธีแก้ไข   พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า ได้รู้เคล็ดลับของการเจริญภาวนาให้ได้ผลดีทั้งในส่วนสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน โดยมิต้องผ่านวิปัสสนูปกิเลส จึงไม่ปรากฏว่า ผู้เจริญภาวนาที่ถูกต้องตรงตามแนววิชชาธรรมกายได้เห็นนิมิตลวงแปลกๆ โดยมิได้ตั้งใจแต่ประการใดเลย ทั้งนี้เพราะการเจริญภาวนาตามแนวนี้มีลักษณะที่เป็นสมถะและวิปัสสนากรรมฐานคู่กัน  สติสัมปชัญญะและปัญญาจึงเจริญขึ้นเสมอกัน  และเป็นอุปการะแก่กัน  จนธรรม 2 อย่าง คือ สมถะและวิปัสสนากลมกลืนคู่กันได้อย่างสนิท  สมตามวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ไปสู่ความสันติสุข ด้วยปัญญาอันเห็นชอบตามแนวทางพุทธศาสนาอย่างแท้จริง วิปัสสนูปกิเลสดังกล่าว จึงไม่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่ถูกต้องตรงตามแนววิชชาธรรมกายนี้แต่ประการใด

เพื่อความเข้าใจอันแจ่มแจ้ง อาตมาจะยกตัวอย่างให้เห็นอย่างง่ายๆว่า การเจริญภาวนาตามแนวนี้ มีอุบายวิธีให้ใจหยุดใจนิ่งเป็นสมาธิอยู่เสมอด้วยการรวมใจอันประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้ หยุดเป็นจุดเดียวกัน ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ผ่านกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมไปในตัวเสร็จ ซึ่งช่วยให้บังเกิดผลดีหลายประการ คือ ทำให้จิตใจสงบระงับจากนิวรณธรรม อันเป็นผลดีทางด้านสมถกรรมฐาน นี้ประการหนึ่ง ทำให้เกิดอภิญญา คือ ความสามารถพิเศษที่แน่นอน เช่น ทิพพจักษุ ทิพพโสต อันช่วยให้รู้เห็นสภาวธรรมทั้งหยาบและละเอียด ทั้งใกล้และไกล ทั้งภายในและภายนอกได้ชัดแจ้ง กว้างขวาง โดยเจตนาที่จะพิจารณาเห็น มิใช่เห็นโดยการบังเอิญ นี้ประการหนึ่ง และการรู้เห็นก็ไม่เล่ห์ เพราะตั้งใจไว้ถูกที่ สมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิด ชนผู้มีสมาธิแล้ว ย่อมรู้ตามจริง

แม้จะพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้งภายในและภาวนอกใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะพิจารณาสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดที่เรียกว่า อสุภกรรมฐาน หรือสมณสติ หรือการเห็นนรก เห็นสวรรค์ ฯลฯ ก็ตาม เมื่อจะพิจารณาให้เกิดปัญญารู้แจังในสภาวะจริงของธรรมชาติตามที่เป็นจริงแล้ว ก็ให้รวมจหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุดลงไป ณ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั้นอีกต่อไป ผู้ถึงธรรมกายกจะพิสดารกายไปจนสุดละเอียดอยู่เสมอ ใจก็จะละอารมณ์ที่พิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติ วิปัสสนูปกิเลสต่างๆ จึงไม่เกิดขึ้นกับผู้เจริญภาวนาที่ถูกต้องตรงตามแนววิชชาธรรมกายนี้ จิตใจก็มีแต่ความสงบสุขปราศจาก กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน วางเฉยเป็ย อุเบกขาด้วยปัญญาอันเห็นชอบเท่านั้นเอง สมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่า สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบกายวาจาและใจเป็นไม่มี และก็จะไม่มีการเห็นนิมิตที่แปลกๆ หรือน่าเกลียด น่ากลัว โดยที่มิได้ตั้งใจที่จะรู้เห็นแต่ประการใด

นี้เองคือ เคล็ดลับสำคัญของการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายที่ให้ผลดีแต่ส่วนเดียว ไม่มีโทษ

โดยเหตุผลนี้ อาตมาจึงใคร่จะชี้แจงเพิ่มเติมถึงผลดีของการเจริญภาวนาตามแนวนี้อีกว่า ถ้าได้เจริญภาวนาให้ถูกต้องตามแนววิชชาธรรมกายนี้แล้ว มีแต่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีขึ้น ผู้ที่เคยฟุ้งซ่านก็จะค่อยๆ คลายจากความฟุ้งซ่านลง ตามระดับธรรมที่ปฏิบัติได้ จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเสียสติหรือเป็นโรคประสาทแต่อย่างใดทั้งสิ้น ขอแต่ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามแนวนี้เท่านั้น ถ้าผิดไปจากวิธีนี้ อาตมาไม่รับรอง และนอกจากผลดีที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังให้ผลดีในข้ออื่นๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรมอีกมากมายนัก ขอให้ท่านหมั่นพิจารณาที่เหตุ สังเกตดูที่ผลให้ดีก็แล้วกัน

เพราะฉะนั้น ข้อแก้ปัญหาสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติเองโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ในเบื้องต้น ให้พยายามทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตรงที่สุดลมหายใจเข้าออก เหนือระดับสะดือสองนิ้วมือ อันเป็นฐานที่ตั้งถาวรของใจให้ได้แน่นอนเสียก่อน

ถ้ายังนึกหาศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ไม่พบ ก็ให้จินตนาการให้เห็นเส้นตรงขึ้นสองเส้นตัดกัน เส้นหนึ่งจากหน้าท้องเหนือระดับสะดือสองนิ้วมือ ไปจรดกึ่งกลางหลัง อีกเส้นหนึ่งจากกึ่งกลางสีข้างซ้ายไปกึ่งกลางสีข้างขวา ตรงจุดตัดกันนั้นมีที่หมายเป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ให้รวมใจอันประกอบด้วยความเห็นนิมิต (ด้วยใจ) ความจำนิมิต ความคิดตรึกนึกเห็นนิมิต และความรู้ให้หยุดเป็นจุดเดียวกันที่นั่น หรือจะกล่าวย่อๆ ก็ว่าให้พยายามนึกให้เห็นเครื่องหมายเป็นดวงแก้วกลมใส หรือพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม ขึ้นที่ศูนย์กลางกายนั้น แล้วก็ให้ใจอยู่ที่กลางดวงใสหรือพระพุทธรูปขาวใสนั้น คือให้เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็มตรงกลางนิมิตนั้นแหละ พร้อมด้วยบริกรรมภาวนานั้น คือ นึกในใจว่า “สัมมาอะระหังๆๆ” ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใสหรือพระพุทธรูปขาวใส ใจอยู่ในกลางนิมิตที่ใสนั้นเรื่อยไป พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า จิตก็จะตกศูนย์ เครื่องหมายที่กำหนดขึ้นก็จะหายไป แล้วจะปรากฏเห็นดวงกลมใสแจ่มบังเกิดขึ้น ขนาดประมาณเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ อย่างเล็กเท่าดวงดาวในอากาศ อย่างโตเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ หรือบางรายอาจจะเห็นพระพุทธรูปขาวใสปรากฏขึ้นก็มี คือ ธรรมกาย

สำหรับบางรายที่เห็นนิมิตเป็นดวงใสสว่าง หรือพระพุทธรูปอยู่นอกตัว เช่น ตามในหน้าบ้าง หรือในที่อื่นใดก็ตาม แปลว่าใจยังไม่หยุดถูกที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 จึงให้น้อมเข้ามาอยู่เสีย ณ ที่ศูนย์กลางกายใหม่ โดยเหลือบตากลับขึ้นข้างบนโดยไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นไปตาม เพื่อให้ความเห็นนิมิตนั้นกลับไปข้างหลังแล้วก็ให้ความเห็นกลับเข้าข้างใน คือ นิกให้เห็นนิมิตที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั้นต่อไปอีกใหม่ พร้อมด้วยบริกรรมภาวนาประคองดวงนิมิตนั้นไว้เรื่อย ก็จะเห็นดวงกลมใสแจ่มหรือพระพุทธรูปขาวใสขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เอง

เมื่อเห็นแล้ว ก็หยุดบริกรรมภาวนาเสีย เพียงให้แตะในเบาๆ ลงไปหยุดนิ่งที่กลางดวงกลมใส หรือพระพุทธรูปขาวใสนั้น มีที่หมายเป็นจุดเล็กขาวใสเท่าปลายเข็มอีกต่อไป กลางของกลางๆๆ นิ่ง พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้าก็จะเห็นดวงใสดวงใหม่บังเกิดขึ้น ก็ให้ดำเนินไปในแบบเดิม คือ หยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุดเรื่อยไป เมื่อเห็นดวงที่ใสละเอียดหนักเข้าก็จะเห็นกายละเอียดๆ ต่อๆ ไป จนถึงธรรมกายเอง

เห็นนิมิตได้เพียงประเดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้


การเจริญภาวนา  ต้องมีครูคุมหรือไม่
ทำอย่างไรจึงเห็น “ดวง” ได้เร็วๆ
เห็นนิมิตลวงหรือนิมิตแปลกๆ  ทำอย่างไร
เห็นนิมิตได้เดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป
มึนหรือปวดกระบอกตา  หลังนั่งสมาธิ
การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตไหม

ปัญหาของผู้ที่เห็นนิมิตเป็นดวงใสสว่าง หรือพระพุทธรูปที่ศูนย์กลาง แต่เห็นได้เพียงประเดี๋ยวเดียวก็หายไป หรือออกไปนอกตัว

  1. ปัญหาข้อนี้ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ยัง รวมใจหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ไม่สนิท ใจซัดส่ายออกไปข้างนอกตัว จึงเห็นนิมิตเคลื่อนออกไปข้างนอกตัว นี้ประการหนึ่ง
  2. สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ปฏิบัติภาวนาอยากเห็นนิมิตมากเกินไป จึงพยายามบังคับใจจะให้เห็นนิมิตให้ได้ โดยเพ่งนิมิตแรงเกินไป ทำให้สมาธิเคลื่อน นิมิตจึงหายไป หรือเห็นนิมิตเคลื่อนออกนอกตัว

ความอยากเห็นนิมิตเกินไปหรือเพ่งนิมิตแรงเกินไปนี้ จัดเป็นอุปกิเลสของสมาธิ ทำให้จิตเคลื่อนจากสมาธิ จึงควรพึงสังวรระวังอย่าให้เกิดอารมณ์เหล่านี้ได้ โดยพยายามตรึกนึกให้เห็นนิมิตด้วยใจแต่เพียงเบาๆ และพยายามนึกให้เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม แล้วก็กลายของกลางจุดเล็กใสนั้นเข้าไปเรื่อย กลางของกลางๆๆ นิ่งเข้าไว้ ถ้าเห็นจุดเล็กใสนั้นสั่นรัวหรือเห็นนิมิตนั้นเคลื่อนที่ไปรอบๆ ให้พึงสังวรว่า สมาธิเคลื่อนเพราะเพ่งนิมิตแรงเกินไป แล้วให้พยายามแตะใจแต่เพียงเบาๆ ที่กลางของกลางต่อไปใหม่ พอเห็นจุดเล็กใสนั้นค่อยๆ นิ่ง หรือดวงใสสว่างนั้นหยุดนิ่ง ก็แปลว่า รวมใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน ก็ให้ประคองใจหยุดในหยุดต่อไปอีก ไม่ช้าใจก็จะหยุดนิ่งได้สนิทเองแล้วจุดเล็กใสแจ่มบังเกิดขึ้นมาใหม่ ใสละเอียดยิ่งกว่าเดิมหรือเห็นกายละเอียดหรือกายธรรมปรากฏขึ้น ก็ให้รวมใจหยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายดวงใหม่ หรือกายใหม่ที่ปรากฏขึ้นนั้นต่อๆ ไปอีก

หลังปฏิบัติภาวนา รู้สึกมึนๆ หรือปวดศีรษะหรือบริเวณกระบอกตา

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้


การเจริญภาวนา  ต้องมีครูคุมหรือไม่
ทำอย่างไรจึงเห็น “ดวง” ได้เร็วๆ
เห็นนิมิตลวงหรือนิมิตแปลกๆ  ทำอย่างไร
เห็นนิมิตได้เดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป
มึนหรือปวดกระบอกตา  หลังนั่งสมาธิ
การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตไหม

ผู้ที่รู้สึกหนักๆ มึนๆ หรือปวดศีรษะหรือที่บริเวณกระบอกตา ภายหลังการปฏิบัติภาวนา    ปัญหาข้อนี้มักเกิดกับผู้ปฏิบัติที่พยายาม ใช้ตาเนื้อเพ่งมองให้เห็นนิมิต ที่ศูนย์กลางกาย อาจจะเป็นเพราะอยากเห็นนิมิตเกินไปจึงพยายามมองนิมิตให้เห็นด้วยตาเนื้อ  หรือไม่ก็ปฏิบัติผิดวิธีที่ให้คำแนะนำว่า “นึกให้เห็นด้วยใจ”

พึงเข้าใจว่าการเจริญภาวนาสมาธินั้น เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้หยุดให้นิ่ง เป็นกิจทางใจ ไม่ใช่กิจทางอายตนะอื่น อย่างเช่น ตาเนื้อเพราะฉะนั้นเมื่อใช้ตาเนื้อเพ่งดูให้เห็นนิมิตจึงไม่ได้เห็น เพราะผิดวิธี  และแถมยังเป็นเหตุให้รู้สึกหนักๆ มึนๆ หรือปวดที่ศีรษะหรือที่บริเวณกระบอกตาอีกด้วย  เพราะประสาทตาเครียดเนื่องจากถูกใช้งานผิดวัตถุประสงค์

หลักปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงให้จินตนาการหรือนึกให้เห็นนิมิตด้วยใจ พร้อมด้วยบริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอะระหังๆๆ” คู่กันไป เพื่อผูกใจให้มารวมหยุดอยู่กับบริกรรมนิมิต แล้วค่อยๆ รวมหยุดในหยุดเป็นจุดเดียวหรืออารมณ์เดียว แล้วจิตก็จะตกศูนย์ บางรายจะรู้สึกมีอาการเบาหวิวๆ ในขณะจิตดิ่งลงสู่สมาธิ เมื่อปล่อยใจให้ดิ่งลงสู่สมาธิเพียงชั่วครู่เดียว ก็จะเห็นนิมิตเป็นดวงกลมใสแจ่ม หรือพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูม ปรากฏขึ้น ณ ที่ศูนย์กลางกายนั้นเอง แล้วอาการดังกล่าวก็จะหมดไป

การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตหรือไม่

การเตรียมตัว    สิ่งที่ควรรู้และเข้าใจ    ประโยชน์    ปัญหาน่ารู้


การเจริญภาวนา  ต้องมีครูคุมหรือไม่
ทำอย่างไรจึงเห็น “ดวง” ได้เร็วๆ
เห็นนิมิตลวงหรือนิมิตแปลกๆ  ทำอย่างไร
เห็นนิมิตได้เดี๋ยวเดียว นิมิตก็หายไป
มึนหรือปวดกระบอกตา  หลังนั่งสมาธิ
การเจริญภาวนา จำเป็นต้องผ่านนิมิตไหม

ความหมายของนิมิต

คำว่า “นิมิต” แปลว่า เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล   โดยความหมายหลายอย่างต่างๆ กันนี้เอง ที่มีผู้ใช้คำว่า “นิมิต”  ในหลายสถาน เช่นว่า

  • ความฝัน ที่เวลาบุคคลนอนหลับแล้วฝันไป ก็เรียกว่า  สุบินนิมิต
  • การแสดงนัยให้ทราบ  อย่างเช่นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงนัยให้พระอานนท์ทราบถึงวาระที่พระพุทธองค์จะทรงปลงสังขารแล้ว อย่างนี้ก็เรียกว่า พระองค์ได้ทรงแสดง “นิมิต

ส่วนคำว่า “นิมิต” ที่ใช้เรียกกันในหมู่ผู้ปฏิบัติภาวนานั้น มุ่งหมายถึง “เครื่องหมายที่กำหนดขึ้นที่ใจ”  เช่น บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต

  1. เครื่องหมายใดๆ ที่กำหนดขึ้นในใจ คือนึกให้เห็นเครื่องหมายนั้นด้วยใจ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต
  2. ถ้านึกเห็นนิมิตด้วยใจได้ชัดเจนเพียงชั่วขณะ ก็เรียกว่าได้  อุคคหนิมิต
  3. และถ้าเห็นเครื่องหมายนั้นได้ชัดเจน นาน ติดตา   จะนึกขยายให้โตใหญ่ หรือย่อให้เล็กลงด้วยใจ ก็ทำได้   อย่างนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต

ใช้นิมิตเป็นอุปกรณ์ฝึกใจให้สงบ เป็นสมาธิ การกำหนดเครื่องหมายขึ้นในใจ หรือที่ปรากฏเห็นขึ้นในใจ ที่เรียกว่า  บริกรรมนิมิต นั้น เป็นอุบายวิธีที่จะรวมใจ อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือความเห็นด้วยใจ ความจำ ความคิด และความรู้ ให้มารวมอยู่ในอารมณ์เดียว แนบแน่นเป็นสมาธิดี เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนเข้า ก็จะเห็น อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตได้ ตามลำดับของใจที่หยุดนิ่ง เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง

อนึ่ง  อุบายวิธีอีกอย่างหนึ่งที่มักใช้ควบคู่กับ “บริกรรมนิมิต”  ก็คือให้กำหนด “บริกรรมภาวนา” คือให้นึกท่องในใจว่า “สัมมาอะระหังๆๆ” หรือ “พุทโธๆๆ” ไปด้วย   เพื่อให้ใจช่วยประคองนิมิตนั้นไว้ เป็นอุบายวิธีรวมใจที่มีสภาพเบา กวัดแกว่งง่าย ฟุ้งซ่านได้ง่าย  ให้หยุด ให้นิ่งสงบ เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงอยู่ในอารมณ์เดียวนั้น

เมื่อใจถูกประคองให้มารวมอยู่เสียกับบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาคู่กัน หนักเข้าๆ ก็จะค่อยๆ เชื่อง และสงบรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เป็น เอกัคคตารมณ์ คือมีอารมณ์เดียวเป็นหนึ่งนิ่งอยู่

เมื่อ “ใจ” อันประกอบด้วย ความเห็นนิมิต, ความจำนิมิต, ความคิด และความรู้ในนิมิต มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ก็จะเห็นนิมิตนั่นชัดขึ้น เป็น อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตได้ ตามระดับของใจที่รวมหยุดเป็นสมาธิได้แนบแน่นมั่นคง

  • ในขณะที่ผู้ปฏิบัติภาวนาเพิ่งกำหนดบริกรรมนิมิตนั้น  ใจเพิ่งจะเริ่มเป็นสมาธิ คืออยู่ในอารมณ์เดียว  สมาธิในระดับนี้เรียกว่า ขณิกสมาธิ
  • แต่พอเห็นนิมิตได้ชัดเจนขึ้นชั่วขณะ ที่เรียกว่า อุคคหนิมิต นั้น ใจที่สงบนิ่งเป็นสมาธิระดับนี้ เป็นสมาธิในระดับ อุปจารสมาธิ
  • และเมื่อเห็นนิมิตได้ชัดเจน นาน ติดตา และสามารถจะนึกขยายให้ใหญ่หรือย่อให้เล็กลงได้ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ใจที่สงบหยุดนิ่งสนิทระดับนี้ เป็นสมาธิในขั้น อัปปนาสมาธิ อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน

กล่าวคือเมื่อจิตประกอบด้วย วิตก วิจาร ตรึกตรองประคองนิมิตอยู่, และประกอบด้วย ปีติ ยินดีที่ได้พบเห็นสิ่งที่เย็นตาเย็นใจ ก่อให้เกิดความ สุข อย่างละเอียดๆ เช่นนั้น  และอยู่ในอารมณ์เดียว สงบหยุดนิ่งสนิทได้แนบแน่นดี เป็น เอกัคคตา เช่นนี้ จัดเป็นสมาธิในขั้น ปฐมฌาน

ใจที่เป็นสมาธิตั้งแต่ระดับปฐมฌานขึ้นไปนี้เอง ที่มีองค์แห่งฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และ เอกัคคตา คุณเครื่องปหานกิเลสนิวรณ์ทั้ง 5 คือ ถีนมิทธะ วิจิกิจฉา พยาบาท อุทธัจจกุกกุจจะ และ กามฉันทะ   ให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสควรแก่งานวิปัสสนา เพื่อเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามที่เป็นจริง ให้สามารถเห็นอรรถเห็นธรรมได้ชัดแจ้ง

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ “นิมิต” เป็นอุบายวิธีในการเจริญสมาธิภาวนาถึงระดับฌาน  เพื่อถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิต เพื่อรวมใจให้หยุดให้นิ่ง เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง ยกระดับจิตใจขึ้นสู่องค์แห่งฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา อันเป็นธรรมเครื่องปหานกิเลสนิวรณ์ 

และเมื่อเจริญภาวนาจนเป็นสมาธิระดับฌานต่างๆ นั้น ก็จะต้องมีนิมิตหรือผ่านนิมิตทั้งสิ้น แม้แต่อรูปฌาน ที่ว่าไม่กำหนดรูปเป็นอารมณ์ อย่างเช่น กำหนดยึดหน่วงเอาอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์   เมื่อจิตละเอียดหนักเข้า ก็เห็นนิมิตคืออากาศนั้น   หรือในกรณีที่กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์   หรือกำหนดยึดหน่วงเอาความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์  ก็เห็นวิญญาณ หรือความว่างเปล่านั้นแหละ ที่เห็นนั่นแหละคือนิมิต,

แม้เมื่อจิตเป็นอุเบกขา ที่เรียกว่า อุเบกขินทรีย์ ก็ยังต้องมีนิมิต ดังพระพุทธดำรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว   อุเบกขินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อุเบกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้วแก่เรา  และ อุเบกขินทรีย์นั้น มีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย    แต่จะอนุมานเอาว่า อุเบกขินทรีย์นั้น ไม่ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุ ไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ดั่งนี้ มิใช่ฐานะจะมีได้…”1

เจริญวิปัสสนา ก็ต้องมีนิมิต

ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ต้องมีนิมิตแห่งวิปัสสนาจิต กล่าวคือถือเอาสังขารนิมิตขึ้นพิจารณาสภาวธรรมอีกเช่นกัน  เช่น การพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ก็ต้องอาศัยนิมิต นึกเห็นนิมิต จึงจะพิจารณาสภาวธรรมได้ จึงจะเห็นสภาวธรรมตามที่เป็นจริงได้

อย่างเช่น การเจริญอสุภกัมมัฏฐานอันนับเนื่องอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น  มิใช่ว่าจะต้องไปพิจารณาดูแต่ที่ซากศพ หรือจะต้องนำศพไปพิจารณาด้วย หรือจะต้องสาวไส้สาวพุงของใครต่อใครมาดู จึงจะเรียกว่า อสุภกัมมัฏฐาน ก็หาไม่    ในทางปฏิบัตินั้น เมื่อได้เคยเห็นซากศพหรืออวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายในหลายๆ ลักษณะ   ก็จำภาพนั้นหรืออารมณ์นั้น แล้วน้อมเอาอารมณ์นั้นหรือภาพนั้นมาพิจารณาด้วยใจ     การพิจารณาก็จะต้องนึกเห็นทั้งลักษณะและสภาพที่เป็นจริง ว่าเป็นแต่สิ่งปฏิกูล โสโครก น่าเกลียด และเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เหล่านี้เป็นต้น จึงจะเรียกว่ารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะของธรรมชาติตามที่เป็นจริง   ถ้านึกไม่เห็นแล้วทำไมจึงจะอ้างได้ว่า เห็นแจ้งตามสภาวะจริงของธรรมชาติที่เป็นจริงได้เล่า การเห็นของจริงด้วยตาเนื้อนั้นเป็นแต่เพียงเริ่มต้นของเรื่องที่จะนำมาพิจารณาเท่านั้น แต่การเจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นเป็นกิจทางใจ แม้จะเห็นธรรม ณ เบื้องหน้าซากศพ ก็เป็นการเห็นด้วย “ใจ” หาใช่เห็นธรรมด้วยตาเนื้อไม่ และการเห็นสิ่งที่น้อมนำมาพิจารณาสภาวะธรรมด้วยใจนั้น ก็คือนิมิต อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งที่ชื่อว่า “สังขารนิมิต” นั่นเอง

เรียกว่า หนีนิมิตไม่พ้น ในทางปฏิบัติแล้วจะต้องผ่านนิมิตเสมอไป   ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้เห็น    ถ้าไม่ได้เห็น ก็จะอ้างว่าเห็นแจ้งในสภาวะจริงของธรรมชาติที่เป็นจริงไม่ได้  ก็มีแต่ท่องจำเอาจากตำราเท่านั้น  พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงปฏิเสธนิมิตในการเจริญภาวนาธรรม และยังประทานพระบรมพุทโธวาท มีความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย  ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์, ภิกษุทั้งหลาย  สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต (คือนิมิตแห่งจิตอันมีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน) มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น   นี้เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์”2

นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังได้ทรงแสดงการถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตและวิปัสสนาจิต ในการปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง  มีความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ที่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ, ยินดีในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ, ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ, เป็นผู้พอใจในหมู่, ยินดีในหมู่, ตามประกอบความพอใจในหมู่, อยู่แล้วหนอ; เธอนั้น จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบนั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้.

เมื่อไม่เป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิต วิปัสสนาจิตได้นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.

เมื่อไม่ได้ถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิตวิปัสสนาจิตแล้ว จักยังสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.

เมื่อไม่ทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์นั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.

เมื่อไม่ทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์แล้ว จักละสัญโยชน์ทั้งหลายนั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้.

เมื่อไม่ละสัญโยชน์ทั้งหลายแล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งนั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่มีได้เลย.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ที่ไม่พอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ, ไม่ยินดีในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ, ไม่ตามประกอบความพอใจในความคลุกคลีกันเป็นหมู่ๆ, ไม่เป็นผู้พอใจในหมู่, ไม่ยินดีในหมู่, ไม่ตามประกอบความพอใจในหมู่, อยู่แล้วหนอ; เธอนั้น จักมาเป็นผู้โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบนั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

เมื่อเป็นผู้โดดเดี่ยวยินดียิ่งในความสงัดเงียบแล้ว จักถือเอานิมิตของสมาธิจิตและวิปัสสนาจิตได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

เมื่อถือเอานิมิตของสมาธิจิตและวิปัสสนาจิตได้แล้ว จักยังสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

เมื่อทำสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้แล้ว จักยังสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

เมื่อทำสัมมาสมาธิแห่งมรรคและผลให้บริบูรณ์ได้แล้ว จักละสัญโยชน์ทั้งหลายได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้.

เมื่อละสัญโยชน์ทั้งหลายได้แล้ว จักทำนิพพานให้แจ้งได้นั้น ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้แล.”3

จึงว่าการเจริญภาวนาจะต้องผ่านนิมิต อาศัยนิมิตแน่นอน

ข้อสังเกตในเรื่องนิมิต

ประการที่ 1    ที่ว่า การเห็น นั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ 

  1. การเห็นรูปด้วยตาเนื้อ สำหรับคนทั่วไป  และเห็นด้วยตาใน (ตาทิพย์) สำหรับท่านที่เจริญวิชชาหรือมีทิพพจักขุ  นี้อย่างหนึ่ง   กับ
  2. การเห็นนิมิต คือเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นให้เห็นในใจ เพื่อเจริญสมาธิ นั้นอีกอย่างหนึ่ง

และสำหรับสิ่งที่เห็นด้วยใจนั้น จึงมีทั้ง นิมิตแห่งสมาธิจิตและวิปัสสนาจิต ที่นึกหรือคิดให้เห็นในใจเพื่อเจริญสมาธิ ได้แก่ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เป็นต้น นี้อย่างหนึ่ง หรือน้อมสังขารนิมิตเข้ามาพิจารณาสภาวธรรมเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเห็น รูป หรือ ธาตุธรรมละเอียด ที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ ด้วยสามารถแห่งทิพยจักขุ เสมือนหนึ่งตาเนื้อเห็นรูป ฉะนั้น นี้อย่างหนึ่ง อย่าปนกัน

ประการที่ 2     การเห็นนิมิต มิได้หมายความว่า ติดนิมิต   หากแต่เป็นเพียงอาศัยการกำหนด บริกรรมนิมิต ขึ้นเพื่อเจริญสมาธิ พัฒนาการเห็นนิมิตนั้นขึ้นไปเป็น อุคคหนิมิต และ ปฏิภาคนิมิต ตามระดับสมาธิที่สูงขึ้น และเป็นความจำเป็นที่จะต้องน้อมนำเอาสังขารนิมิตขึ้นพิจารณาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวะของธรรมชาติตามที่เป็นจริง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว   ด้วยเหตุนี้ ในสติปัฏฐานสูตรจึงแสดงวิธีการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน, เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน, จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน, และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าคือการมีสติสัมปชัญญะ พิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม

สำหรับท่านผู้เจริญภาวนาได้ถูกวิธี สามารถเจริญวิชชา และมีอภิญญา เป็นต้นว่า เกิดอายตนะทิพย์ ให้สามารถรู้เห็นสิ่งที่ละเอียดประณีต หรืออยู่ห่างไกล ลี้ลับได้ กว่าอายตนะของกายเนื้ออย่างเข่น ตา หู ของกายเนื้อ จึงสามารถเห็นสัตว์ในภูมิต่างๆ ที่ละเอียด อย่างเช่น นรก สวรรค์ และแม้แต่เห็นอายตนะนิพพานนั้น ก็เป็นเรื่องความสามารถพิเศษของท่าน  และก็เป็นการเห็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว  เหมือนกับตาเนื้อเห็นรูปทั้งหลายนั่นเอง เหมือนกับเราผ่านไปทางไหนก็ได้พบได้เห็นบ้านเมือง ผู้คน หรือสัตว์ทั้งหลายตามปกติธรรมดา

แม้จะเจตนาที่พิจารณาดูความเป็นไปของอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น ก็เพื่อเป็นการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เพื่อให้เกิดปัญญาจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น เป็นการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์จากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ให้รู้แจ้งเห็นจริงว่า นรก สวรรค์ นิพพานนั้น มีจริงหรือเปล่า ถ้ามี มีอย่างไร มีความเป็นไปในนรก สวรรค์ ตลอดทั้งอายตนะนิพพานอย่างไร ด้วยผลบุญและผลบาปอะไร จึงต้องไปเสวยวิบากอยู่ในนรกหรือสวรรค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรู้จักความเป็นไปในนิพพานนั้น เป็นยอดของความรู้ เป็นยอดของปัญญาทีเดียว และประการสำคัญที่สุด ผู้ที่สามารถเจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายอันเป็นธรรมขันธ์ที่พ้นโลกแล้ว สามารถให้เข้าถึงอายตนะนิพพานได้นั้น ทำให้เกิดปัญญาจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นโดยชัดแจ้ง ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระบรมพุทโธวาท ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย !   อายตนะนั้น [คือพระนิพพาน] มีอยู่….”   และว่า 
“ภิกษุทั้งหลาย !   ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว [คือพระนิพพาน] นั้น มีอยู่….4

จึงทำให้สามารถเห็นอรรถ เห็นธรรม ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วนี้โดยชัดแจ้ง

ประการที่ 3     การเจริญสมาธิภาวนาแต่เพียงขั้นต่ำ หรือการปฏิเสธสมถกัมมัฏฐาน แล้วมุ่งเน้นแต่การพิจารณาสภาวธรรมเพื่อให้เกิดปัญญานั้น เสี่ยงต่อการเกิดวิปัสสนูปกิเลสอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติภาวนามีสติปรากฏยิ่งจนเกินไป กล่าวคือมีสติพิจารณาสภาวธรรมแก่กล้าเกินไป แต่ปัญญาอันเห็นแจ้งที่แท้จริงยังเกิดขึ้นไม่ทัน คงมีอยู่แต่ปัญญาจากการจำได้หมายรู้จากตำราเสียโดยมาก และไม่รู้อุบายวิธีออกจากสังขารนิมิตที่ถูกต้องนั้น จิตจะปล่อยวางอารมณ์วิปัสสนาที่เคยยกขึ้นพิจารณาอยู่เสมอนั้นไม่ได้ แม้แต่จะได้รับคำแนะนำให้ปล่อยหรือให้ปฏิเสธนิมิตนั้น ก็ปฏิเสธไม่ออก เป็นเหตุให้เกิดนิมิตลวงขึ้นในใจโดยที่เจ้าตัวมิได้ตั้งใจจะรู้จะเห็น เรียกว่าเกิดวิปัสสนูปกิเลสข้ออุปัฏฐาน อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตได้

การเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย เป็นกัมมัฏฐานที่มีทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน และมีมหาสติปัฏฐานสี่ อยู่ครบถ้วนในตัวเสร็จ คือมีการพิจารณาเห็นเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม อยู่ในทุกขั้นตอน มีอุบายวิธีที่ทำให้สมาธิเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสัจธรรมจากการที่ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น เมื่อยกสังขารนิมิตใดขึ้นพิจารณาสภาวธรรมให้เกิดปัญญาแล้ว ก็มีอุบายวิธีออกจากสังขารนิมิต โดยให้พิสดารกายไปสู่สุดละเอียด ให้ใจของทุกกายรวมหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางธรรมกายที่สุดละเอียดอยู่เสมอ จิตใจก็ละวางนิมิตที่ยกขึ้นพิจารณานั้นไปได้เองโดยอัตโนมัติ วิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นสำหรับผู้เจริญภาวนาตามแนวนี้แต่ประการใด และยิ่งสำหรับผู้เจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว ยิ่งเกิดอภิญญาและวิชชา ให้สามารถเห็นอรรถเห็นธรรม ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ที่เรียกว่า สังขตธาตุ สังขตธรรม กับทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ที่เรียกว่า อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ได้โดยชัดแจ้ง ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย จึงควรที่ท่านสาธุชนจะเจริญให้มาก แม้ในระยะแรกๆ บางรายอาจยังมิได้เห็นอะไร ก็อย่าพึ่งท้อแท้ใจว่าปฏิบัติไม่ได้ผล   ความจริงถ้าสังเกตดูในเหตุและผลแล้ว ก็จะพบว่า ท่านได้รับผลดีจากการปฏิบัติอย่างแน่นอน ขอแต่ให้ปฏิบัติให้ได้ตรงตามวิธีที่แนะนำไป ด้วยใจรักในธรรมปฏิบัตินี้, ด้วยความเพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ ด้วยใจจดจ่ออยู่เนืองนิจ และด้วยความพินิจพิจารณาในเหตุสังเกตในผล ให้ถูกต้องตามที่วิปัสสนาจารย์ให้คำแนะนำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้พึงระวังอุปกิเลสของสมาธิให้ดี เช่นว่า ระวังอย่าให้

  • เพียรหย่อนเกินไปจนจิตใจง่วงเหงา ซึมเซา ไม่กระปรี้กระเปร่า เพียรจัดเกินไป จนกายและใจไม่สงบ
  • อยากเห็นนิมิตจนเกินไป ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน หรือพลอยหงุดหงิดเมื่อรู้สึกว่าปฏิบัติไม่ได้ผล
  • สะดุ้งตกใจกลัว หรือตื่นเต้นจนเกินไปเมื่อเห็นนิมิต ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านหรือเคลื่อนจากสมาธิ
  • และพึงระวังรักษาศีลให้บริสุทธิ์ สำหรับผู้เป็นฆราวาส อย่างน้อยก็ศีล 5 ขึ้นไป
  • พึงหลีกเลี่ยงจากกามฉันทะ อย่าไปตรึกนึกถึงมันให้มากนัก เพราะเป็นอุปกิเลสของสมาธิตัวสำคัญเสียด้วย
  • สิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาททั้งหลาย ตลอดทั้งดูการละเล่น หรือประโคมดนตรี เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นเครื่องกีดกั้นหนทางเจริญสมาธิและปัญญาทั้งสิ้น

ถ้าประสงค์จะได้สิ่งที่ดี มีคุณค่าต่อชีวิตอย่างสูง ก็ต้องพยายามละสิ่งที่ชั่ว หรือที่เป็นข้าศึกแก่ความดีเหล่านั้นเสีย

พึงเข้าใจว่า ธรรมอันประเสริฐนั้น ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่บุคคลจะพึงบรรลุได้โดยง่าย แต่ก็มิใช่จะเหลือวิสัยของบุคคลที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงหรือบรรลุได้ ขอแต่ให้ปฏิบัติถูกวิธีด้วยอิทธิบาทธรรมดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมได้ผลแน่นอน

พระพุทธองค์ก็ได้ทรงประทานบรมพุทโธวาทไว้ มีความว่า เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแล้ว ก็แล้วกัน เราไม่มีอำนาจที่จะไปบันดาลให้บรรลุธรรมหรือมรรคผลเมื่อนั้นเมื่อนี้ได้ อุปมาดั่งชาวนาซึ่งไถคราด เตรียมดิน หว่านพันธุ์ข้าว และปักดำ ไขน้ำเข้านา ดูแลใส่ปุ๋ย ดีที่สุดแล้ว ก็ต้องรอให้ข้าวออกรวงเอง การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ทำไปก็แล้วกัน พยายามให้ดีที่สุดแล้ว ถึงเวลาก็ได้บรรลุผลเอง

และพึงสังเกตว่า ในระหว่างเวลาปฏิบัติที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมหรือมรรคผลนั้น ก็ได้ผลดีไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่ขอให้หมั่นดูที่เหตุ สังเกตดูที่ผลให้ถ้วนถี่ก็แล้วกัน การปฏิบัติธรรมตามแนวนี้ให้ผลดีทั้งในทางโลกและในทางธรรมจริงๆ

แชร์เลย

Comments

comments

Share: