คุณค่าของพระรัตนตรัย 1

เจริญพร  ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวถึงคุณค่าของพระรัตนตรัย แต่ก่อนที่จะได้อธิบายขยายความต่อไปนั้น อาตมภาพใคร่ขออัญเชิญ พระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงกอบกู้ชาติไทย  มาคู่กับ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   มีปรากฏจารึกในศาลพระเจ้าตากสินมหาราช  วัดอรุณราชวราราม ก่อน ดังต่อไปนี้

“อันตัวพ่อ  ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา
แด่พระศาสนาสมณะพระพุทธโคดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม
ถวายบังคมรอยบาทพระศาสดา
คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า
ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา
พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา
พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน

สาธุชนทั้งหลาย   พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยของเรา มาช้านานตั้งแต่โบราณกาล จนตราบเท่าถึงทุกวันนี้   ด้วยว่า คนไทยกว่า 95 % นับตั้งแต่พระมหากษัตราธิราชเจ้า ลงมาถึงไพร่ฟ้าประชาชน ต่างนับถือพระพุทธศาสนาทั้งนั้น    และบัณฑิตผู้มีปัญญาจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศก็ตาม ผู้ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม และเห็นแจ้งตามพระสัทธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ก็จะไม่ละพระพุทธศาสนาไปอื่นเลย   มีแต่จะยิ่งศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยไม่มีคลอนแคลนไปได้    ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   ตรัสแก่ ฟอลคอน ราชทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่รับสั่งมากับราชทูต ชักชวนให้พระองค์เข้ารีต    ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่ม 16, องค์การค้าคุรุสภา, พ.ศ.2507 หน้า 23-24 ว่า

“พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะให้เราเข้ารีตดังนั้นหรือ    เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในราชวงศ์ของเราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว   จะให้เราเปลี่ยนศาสนาอย่างนี้เป็นการยากอยู่   และถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินจะต้องการให้คนทั่วโลกได้นับถือศาสนาอันเดียวกันแล้ว พระเจ้ามิจัดการให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้วหรือ ?”

เพราะเหตุไรเล่า   ผู้มีปัญญาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมดีแล้ว จึงได้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ?   พระพุทธศาสนามีความสำคัญอย่างไร ? 

วันนี้อาตมภาพจะขอชี้แจงทบทวน ข้อดีพิเศษ อันเป็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา  พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาและเสริมสร้างศรัทธาปสาทะในการศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมให้ยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อประโยชน์สุขของตนและเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น   ดังต่อไปนี้

พระสัทธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสัจจธรรมที่ถูกต้องจริงแท้และเป็นหลักธรรมที่ประเสริฐ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือได้ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยพระองค์เองแล้วจึงตรัสสั่งสอนผู้อื่นเพราะเหตุนั้นพระสัจจธรรมอันประเสริฐสูงสุด 4 ประการ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2585 ปีที่ผ่านมานี้   จึงชื่อว่าพระอริยสัจ 4 อันมี  ทุกขอริยสัจ 1 คือ สัจจธรรมอย่างประเสริฐในเรื่องของทุกข์   สมุทัยอริยสัจ 1 คือ สัจจธรรมอย่างประเสริฐในเหตุให้เกิดความทุกข์   นิโรธอริยสัจ 1 คือ สัจจธรรมอย่างประเสริฐในสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ โดยความบรรลุมรรคผลนิพพาน และมรรคอริยสัจ 1 คือ สัจจธรรมอันประเสริฐในทางปฏิบัติให้ถึงมรรค ผล นิพพาน ได้ถึงความสิ้นทุกข์ และถึงความสันติสุข อันยั่งยืน เป็นบรมสุขอย่างถาวร

พระพุทธศาสนามีความสำคัญยิ่ง   ประการแรก ก็เพราะพระสัทธรรมเป็นสัจจธรรมที่ถูกต้องจริงแท้ คือเป็น พระสัจจธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งเอง คือทรงเห็นแจ้งและทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เอง แล้วได้ตรัสสั่งสอนผู้อื่นนั้น ล้วนแต่เป็นความจริงแท้ทั้งสิ้น เมื่อผู้ใดศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งสอนไว้ดีแล้ว ย่อมเห็นผลด้วยตนเอง เป็น สนฺทิฏฺฐิโก คือ เป็นพระสัทธรรมที่พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ว่าเป็นจริงแท้ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วนั่นแหละ พระพุทธศาสนาจึงมิใช่ลัทธิศาสนาที่สอนให้คนหลงเชื่ออย่างงมงาย แต่เป็นศาสนาที่สอนให้ผู้มีปัญญาได้ศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติให้เห็นผล  เป็นข้อพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง คือ ให้ได้ข้อมูลพระสัจจธรรมนี้  จริงตามที่พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติและได้ทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงได้นำมาแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติ เพื่อให้เห็นแจ้งรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง ตามรอยบาทพระพุทธองค์

การศึกษาและปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี้ จึงเป็นวิทยาศาสตร์แท้ (pure science) และเป็นวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติ (natural science) โดยแท้   การศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าการวิจัย (research) ในยุคปัจจุบันนี้เป็นเช่นไร  การศึกษาค้นคว้าในทางพระพุทธศาสนาก็เป็นเช่นนั้น   และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้นี่แหละ ได้ทรงปฏิบัติมาก่อนแล้ว  จนได้ตรัสรู้คือทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้ง พระอริยสัจจธรรมอันเป็นกฎเกณฑ์ที่แท้จริงของธรรมชาติด้วยพระองค์เองเมื่อคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะเมื่อ 2585 ปีมาแล้ว   แต่นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็เพิ่งจะได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของทางธรรมชาติตามหลักวิทยาศาสตร์  เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เท่านั้นเอง

ที่ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้เคยศึกษาค้นคว้าพระอริยสัจจธรรม อันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่แท้จริง โดยวิธีการศึกษาวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ นั้นคืออย่างไร ?  ก็จะขออธิบายวิธีการศึกษาค้นคว้าตามทางวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้ โดยย่อ  พอเป็นพื้นฐานทำความเข้าใจเรื่องนี้ก่อนว่า 

การวิจัย คือการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์แท้นั้น เป็นวิธีการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ (systematic study) ให้ได้ข้อมูลอันเป็นความจริงทางธรรมชาติที่ต้องการทราบ   โดยกระบวนการ (processes) จัดเก็บหรือรวบรวมข้อมูล ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง (fact findings) 1    ที่เชื่อถือได้ (reliable data) 1  และที่สมบูรณ์ (perfect data) 1   แล้วนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ (analysis of data)  คือแยกแยะหาเหตุผล ให้ถูกต้องตรงประเด็น (valid)   เพื่อให้ได้ผลสรุปเรื่องที่ทำการศึกษาค้นคว้านั้น  วางเป็นหลัก (generalization) หรือตั้งเป็นทฤษฎี (theory formation) ขึ้น    แล้วก็ใช้ทฤษฎีนี้แหละพิสูจน์ความจริงต่อๆ ไปได้อีก ดังตัวอย่างเช่น

เมื่อเราค้นคว้าและได้ข้อมูลตามที่เป็นจริง  ที่เชื่อถือได้  และที่สมบูรณ์พอ จากบุคคลกลุ่มตัวอย่างที่ตายลงเป็นประจำ   ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงสรุปและวางเป็นหลักทั่วไป หรือตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นว่า “ทุกคนต้องตาย” ดังนี้   วิธีการศึกษาค้นคว้า เพื่อพิสูจน์ความจริง โดยการพิจารณาข้อมูลจากส่วนย่อยมาตั้งเป็นหลักทั่วไป หรือตั้งเป็นทฤษฎีสำหรับประชากรส่วนรวมทั้งหมด อย่างนี้  ชื่อว่า inductive method  เมื่อวางเป็นหลักทั่วไปหรือตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นดังนี้แล้ว  ก็พิสูจน์ความจริงโดยการพิจารณาจากหลักทั่วไป หรือทฤษฎีนี้ ไปหากลุ่มบุคคลหรือรายบุคคล อันเป็นส่วนย่อยได้อีกต่อไป เช่น พิสูจน์ความจริงได้อีกต่อไปว่า แม้บุคคลที่ยังไม่ตายในปัจจุบัน  ต่อไปในกาลข้างหน้าก็จะต้องตายไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่ช้าก็เร็ว วิธีการศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ความจริง โดยการพิจารณาจากหลักทั่วไป หรือทฤษฎีที่ได้ตั้งไว้แล้วนี้ ไปหาส่วนย่อย เช่นนี้ ชื่อว่า deductive method

นี้คือวิธีการศึกษาค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาติ  อย่างมีระบบ ที่ชื่อว่า การศึกษาวิจัย (research study) โดยทางวิทยาศาสตร์ (scientific method)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็ได้ทรงบำเพ็ญสมณธรรม คือ ปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงของธรรมชาติ คือ เหตุผลของการเวียนว่ายตายเกิด แล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ต่อๆ ไป อันเป็นทุกข์ และเหตุผลของความไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย คือ อมตธรรมอันเป็นสุข โดยวิธีการอย่างที่เรียกว่า “วิธีการทางวิทยาศาสตร์” อย่างนี้ มาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระมหาโพธิสัตว์ จนถึงได้ตรัสรู้ คือได้ทรงเห็นแจ้ง และรู้แจ้งพระอริยสัจ 4 อันเป็นกฎเกณฑ์ที่แท้จริงของธรรมชาติด้วยพระองค์เอง และได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงรู้แจ้งโลกหมด ทั้งมารโลก มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ตลอดหมดทั่วทั้งจักรวาล เป็นอันมาก ถึงพระนิพพานอันพ้นโลก ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตรงกับวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อ 2585 ปีที่แล้วมานี้

พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญสมณธรรมคือปฏิบัติธรรมโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างไร ?

อาตมภาพจะขอยกตัวอย่างอาการตรัสรู้ของพระมหาโพธิสัตว์เจ้า (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 13 ข้อ 506-508 หน้า 460-461) แต่พอสังเขป  เฉพาะในคืนวันที่ตรัสรู้นั้นแหละ ว่า ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั้น  เมื่อพระมหาโพธิสัตว์เจ้าของเรา ได้รับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา นำมาถวายและได้เสวยจนหมด ทำให้พระวรกายมีกำลังแล้ว ครั้นตกเวลาเย็น ได้ประทับนั่งคู้บัลลังก์ คือประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงผินพระพักตร์ไปทางด้านบูรพาทิศ

 ในยามต้นแห่งราตรี ได้ทรงเจริญฌานสมาบัติ ถึงจตุตถฌาน คือรูปฌานที่ 4 ให้พระทัยผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ควรแก่งานแล้ว  จึงน้อมไปเพื่อ “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือญาณระลึกชาติได้ นับกัปป์นับกัลป์ไม่ถ้วน ได้ทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ความเป็นไปในอดีตของพระองค์เอง และได้ทรงเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ไปสู่สุคติภพ คือ ภพภูมิที่ดี ที่มีความสุขความเจริญ ได้แก่ ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพยดาบ้าง เป็นรูปพรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง และไปสู่ทุคติภพ คือ ภพภูมิที่ไม่ดี ที่ลำบาก ที่มีความทุกข์ เดือดร้อน เช่น ไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นสัตว์นรก เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง ทรงเห็นสัตว์โลกทั้งหลายต่างเวียนว่ายตายเกิด แล้วก็แก่ เจ็บ และตาย วนเวียนอยู่อย่างนี้นับภพนับชาตินับกัปป์นับกัลป์ไม่ถ้วน เป็นทุกข์ นี้เป็นวิชชาที่ 1 อันเป็นความสามารถพิเศษ ที่ให้เห็นแจ้ง รู้แจ้ง ความเป็นไปในอดีตทั้งของพระองค์เองและทั้งของสัตว์โลกอื่น นับไม่ถ้วน ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุแล้ว ในยามต้นแห่งราตรี  นับเป็นการเห็นสัจจธรรมข้อที่ 1 คือ ทุกขอริยสัจ แล้วจึงทรงสลดพระทัยและได้ทรงดำริว่า“อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสังสารจักรไม่มีที่สิ้นสุดอยู่อย่างนี้

ครั้นถึงยามกลางแห่งราตรี จึงได้ทรงเจริญฌานสมาบัติถึงจตุตถฌาน เพื่อให้พระทัยผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์อ่อนโยนควรแก่งานอีกครั้งหนึ่งแล้วทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “จุตูปปาตญาณอันเป็นวิชชาที่ 2ด้วยทิพยจักษุ และทิพยโสตอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ จึงได้ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งว่า “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม” คือ สัตว์โลกจะไปสู่สุคติหรือทุคติ ที่จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เพราะกรรมดีหรือกรรมชั่วที่ตนเองได้กระทำไว้ให้ผล กล่าวคือ เมื่อสัตว์โลกใดทำกรรมดีอย่างนี้ๆ ย่อมได้รับผลเป็นวิบากจากกรรมดี เป็นความสุขความเจริญอย่างนี้ๆ และกรรมดีนั้นยังเป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดในสุคติภพตามส่วนแห่งกรรมดีหรือบุญกุศลที่ตนได้ประพฤติปฏิบัติมาเมื่อก่อนตาย ส่วนสัตว์โลกใด เมื่อทำกรรมชั่วอย่างนั้นๆ ย่อมได้รับผลเป็นวิบากจากกรรมชั่วนั้นๆ เป็นความทุกข์เดือดร้อนอย่างนั้นๆ   แล้วกรรมชั่วนั้นยังเป็นชนกกรรมนำให้เป็นเกิดในทุคติภพตามส่วนแห่งกรรมชั่วหรือบาปอกุศลที่ตนได้ประพฤติปฏิบัติเมื่อก่อนตายนั้นเอง เมื่อสัตว์โลกกระทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมชั่วบ้าง ในแต่ละช่วงชีวิต  กรรมดีและกรรมชั่วนั้นก็จะถูกสะสมไว้ในจิตสันดานคอยติดตามให้ผลตามหน้าที่และกาลเวลาที่เหมาะสมต่อๆไป หมุนเวียนให้ผลต่อๆ กันไป ไม่รู้จักจบสิ้น และต้องเวียนว่ายตายเกิดในสุคติภพบ้าง แต่ไม่ยั่งยืน และในทุคติภพบ้าง ไปตามกรรมที่คอยติดตามให้ผล แล้วก็แก่ เจ็บ และตาย ต่อๆ ไป อยู่อย่างนี้ นับภพนับชาติไม่ถ้วนจึงเป็นทุกข์ และไม่มีใครหรือผู้ทรงอำนาจเบื้องบนใดทั่วทั้งจักรวาลนี้ที่จะช่วยให้ใครรอดพ้นจากความทุกข์เช่นนี้ และให้ถึงซึ่งความสุขอันถาวรที่แท้จริง ตามที่สัตว์โลกทั้งหลายปรารถนาได้เลย พระมหาบุรุษจึงได้ทรงสรุปข้อมูลอันเป็นสัจจธรรมที่พระองค์ได้ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งกฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เป็นจริงแล้วนี้ ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง ว่า กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก   “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” แล้วจึงได้ตรัสไว้ มีปรากฏในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่มที่ 15 หน้า 333 ว่า

 ยาทิสํ  วปเต  พีชํตาทิสํ  ลภเต  ผลํ
 กลฺยาณการี  กลฺยาณํปาปการี  จ  ปาปกํ.
บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น    ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี    ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว.

และได้ตรัสสอนว่า

อตฺตา หิ  อตฺตาโน นาโถ    โก หิ นาโถ  ปโร  สิยา.
ตนนั่นแหละ เป็นที่พึ่งของตน      คนอื่นใคร่เล่า จะเป็นที่พึ่งได้.

ซึ่งเป็นพระสัทธรรมคำสั่งสอนที่ตรงตามความเป็นจริง และตรงเป้าที่สุด   เพราะบุคคลจะดีหรือชั่ว จะสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมดีกรรมชั่วที่ตนได้กระทำไว้แล้วนั่นแหละ    การที่บุคคลหรือสัตว์เมื่อตายลงแล้ว จะไปเกิดในภพภูมิที่ดี จะได้เสวยความสุข ความเจริญ หรือจะไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี จะได้รับความทุกข์ เดือดร้อน ก็เพราะกรรมดีหรือกรรมชั่วที่ตนทำไว้ ให้ผลเป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิด และให้ได้รับผลเป็นวิบากจากกรรมดีหรือกรรมชั่วเอง   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเห็นความเป็นไปของสัตว์โลกหมดทั่วทั้งจักรวาล นับตั้งแต่พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก มารโลก จนถึงโลกของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ทั้งหมดแล้ว จึงได้ตรัส (ขุ.สุ. 25/457) ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และได้ทรงสั่งสอนให้พึ่งตนเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น

เมื่อได้ทรงเห็นความเป็นไปของสัตว์โลกตามที่เป็นจริง ว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมเช่นนั้น จึงได้ทรงดำริต่อไปว่า “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์โลกทั้งหลายหลงกระทำความผิด  กระทำความชั่วหรือบาปอกุศล ให้ต้องได้รับความทุกข์เดือดร้อน  ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แม้ได้กระทำคุณความดีและได้รับผลจากกรรมดีบ้าง  แต่ก็ไม่ยั่งยืน ยังคงต้องรับผลจากทั้งกรรมดีและทั้งกรรมชั่ว เป็นความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกรรม และต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย  เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่อย่างนี้ ?

ครั้นถึงยามปลายแห่งราตรีพระมหาโพธิสัตว์เจ้าก็ทรงได้เจริญฌานสมาบัติถึงจตุตถฌาน ให้พระทัยผ่องใส ควรแก่งานอีกครั้งหนึ่ง   แล้วทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม คือ พิจารณาเห็นแจ้ง รู้แจ้ง เหตุในเหตุ ถึงต้นๆ เหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ รวม 12 ข้อด้วยกัน    แต่ ณ ที่นี้ จะขอยกตัวอย่างมาแสดงแต่เพียงสังเขป พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาขั้นพื้นฐาน ไว้ก่อนว่า

เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรม  อันเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะและทุกข์ ดังนี้ นี้เป็นพระอริยสัจจธรรมที่ 2 คือ “สมุทัยอริยสัจ” และพร้อมกันนี้ก็ได้ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้ง ในสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือมรรค ผล นิพพาน อันเป็นพระอริยสัจจธรรมที่ 3 คือ “นิโรธอริยสัจ” และทั้งได้ทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ในข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ให้ถึงความพ้นทุกข์และเป็นบรมสุขอย่างถาวรได้แท้จริงคืออริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นพระอริยสัจจธรรมที่ 4  คือ “มรรคอริยสัจ” ได้บรรลุ วิชชาที่ 3 คือ อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้วิธีทำอาสวะกิเลสเครื่องหมักดองอยู่ในจิตสันดานให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเป็นพระอรหันตขีณาสพ คือพระผู้มีอาสวกิเลสหมดสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง และได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหมดทั่วทั้งจักรวาล ในยามรุ่งอรุณแห่งวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2585 ปีมาแล้วนั้น นั่นเอง

เมื่อพิจารณาการบำเพ็ญสมณธรรมของพระมหาโพธิสัตว์เจ้าของเรา ตั้งแต่ยามต้นถึงยามปลายแห่งราตรี จนถึงได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน และบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลก เมื่อคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั้นแล้ว ก็จะเห็นกระบวนการศึกษาค้นคว้าข้อมูลให้เห็นแจ้งรู้แจ้งพระอริยสัจจธรรมอย่างมีระบบ ที่จะให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามธรรมชาติที่เป็นจริงที่เชื่อถือได้และที่สมบูรณ์ที่สุด   แล้ววิเคราะห์ข้อมูลนั้นอย่างตรงประเด็น จนได้ผลสรุปเป็นทฤษฎีอันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่แท้จริง ในลักษณะของ inductive method ว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมชั่วเอง ย่อมได้รับผลชั่วเอง ใครทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดีเอง  ไม่มีใครหรือผู้ทรงอำนาจเบื้องบนใด ที่จะช่วยใครผู้กระทำกรรมชั่วแล้ว ให้พ้นทุกข์ และให้ไปสู่สุคติเสวยสุขอันถาวรแท้จริงได้เลย

และได้สรุปข้อมูลอันเป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติที่เป็นจริงแท้ อย่างประเสริฐ โดยวิธี  inductive method นี้รวมเป็นพระอริยสัจจธรรม 4 ประการ ที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง จากการที่ได้ทรงบำเพ็ญสมณธรรมจนทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้งเอง คือ ทุกขอริยสัจ 1 สมุทัยอริยสัจ 1 นิโรธอริยสัจ 1 และมรรคอริยสัจ 1 ได้อย่างแท้จริง ใครผู้ใดประพฤติปฏิบัติตรงตามพระสัทธรรมคือพระอริยมรรคมีองค์8นี้แล้วย่อมสามารถพิสูจน์โดยวิธี deductive mothod ให้เห็นผลประจักษ์ชัดจริงได้ด้วยตนเอง และได้รับผลเป็นความเจริญและสันติสุข ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้จริงเอง เป็นสนฺทิฏฺฐิโก คือ  เป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติตามด้วยดีแล้วพึงเห็นผลดีได้ด้วยตนเองจริงๆ กล่าวคือเป็นคำสอนที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นผลดีได้ด้วยตนเอง   มิใช่เป็นคำสอนให้หลงเชื่องมงาย  โดยที่ทั้งผู้สอนและผู้ฟังต่างก็ไม่ได้เห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยตนจริงๆ  แม้แต่เรื่องนรก สวรรค์ ก็เป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้โดยทางปฏิบัติ   แต่ที่มีผู้กล่าวหรือเข้าใจเรื่องนรกสวรรค์ว่า  เป็นเรื่องไม่มีจริง เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นผลจริงไม่ได้นั้นก็เพราะเขามิได้พิสูจน์โดยทางปฏิบัติพระสัทธรรมได้แก่อธิศีลสิกขา  อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา คือการศึกษาอบรมศีลอันยิ่ง อบรมจิตให้ถึงสมาธิอันยิ่งและปัญญาอันยิ่งเอง ก็จึงไม่สามารถจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนเอง  จึงได้แต่คิดและพูดจากการอนุมานด้วยสติปัญญาเพียงเท่านั้นของตน  จะถือเอาเป็นครูเป็นแบบอย่างเหมือนอย่างพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบผู้ปฏิบัติตรงตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า จนเห็นแจ้งรู้จริงเป็นปัจจักขสิทธิญาณเอง ที่จริงแท้ ยังไม่ได้

พระพุทธศาสนามีความสำคัญยิ่ง อีกประการหนึ่ง   ก็คือว่า พระอริยสัจจธรรม เป็นหลักธรรมที่ประเสริฐ  กล่าวคือเป็นข้อปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้ตามศักยภาพแห่งบุญบารมีที่ตนได้เคยสั่งสมอบรมมา   ใครผู้ใดปฏิบัติตรงตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยดีแล้ว ย่อมได้รับผลดีตามระดับภูมิธรรม ภูมิปัญญาและบารมีของแต่ละท่าน  โดยไม่จำกัดกาลเวลา   เป็นอกาลิโก    พระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ จึงเป็นโอปนยิโก  คือเป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัวด้วย กล่าวคือ เป็นธรรมปฏิบัติที่ควรศึกษาและปฏิบัติให้ได้ผลดีด้วยตนเอง  และเป็น เอหิปสฺสิโก คือควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด  กล่าวคือ เป็นธรรมที่พึงแนะนำให้ผู้อื่นมาศึกษาและปฏิบัติให้ได้ผลพิสูจน์ที่ดีจริง  และที่จะได้รับผลเป็นความเจริญและสันติสุขให้ถึงความสิ้นทุกข์อย่างถาวรแท้จริงได้เอง

พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเป็นสัจจธรรมจริงแท้และประเสริฐ อย่างนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งแก่สัตว์โลก  ผู้ประสงค์จะพ้นทุกข์  ได้ถึงความเจริญและสันติสุขอย่างถาวร แท้จริง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เพราะไม่มีใครผู้ใดที่จะช่วยให้ถึงความพ้นทุกข์และถึงความสันติสุข  อันถาวรที่แท้จริงได้ นอกจากตนจะเป็นที่พึ่งของตน โดยอาศัยตนโลกียะที่ยังมีชีวิตอยู่นี่  ศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ถึงตนโลกุตตระ จึงจะได้ที่พึ่งประเสริฐ เป็น “ธมฺมทีปา  ธมฺมสรณา คือ มีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง” เป็น “อตฺตทีปา อตฺตสรณา  คือ  มีตนโลกุตตระเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง” ได้จริง

เพราะเหตุนี้แหละที่ผู้มีปัญญาจึงมีศรัทธาปสาทะมั่นคงในพระรัตนตรัยมั่นคงในพระพุทธศาสนา และได้ช่วยกันพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาด้วยชีวิต มาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นพระศาสนาประจำชาติไทย โดยแท้  ด้วยประการฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทาน พระบรมราโชวาท  ปรากฏใน เทศนาเสือป่า, องค์การค้าคุรุสภา, พ.ศ.2526  มีพระราชดำรัสบางตอน ที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 1 มิถุนายน ศกนี้ ได้อัญเชิญมาลงไว้ในหน้า 21 ว่า

“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา   เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดา และต้นโคตรวงศ์ของเรา…

เมื่อรู้สึกแน่นอนแล้วว่า  ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้… ถ้าข้าพเจ้าจะขอแก่ท่านทั้งหลายว่า  พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาช่วยกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด…   ผู้ที่แปลงศาสนา  คนเขาดูถูกยิ่งเสียกว่าผู้ที่แปลงชาติ…  เพราะเหตุฉะนั้น  เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในศาสนาพระพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา…

เหตุฉะนี้  เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งใจที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อย่าให้มีอันตรายมาถึงได้…   ผู้ที่คนอื่นเขาส่งเข้ามาปลอมแปลงเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา  เราทั้งหลายต้องคอยระวังรู้เท่าไว้จึงจะควร…   ต้องรักษาพระศาสนาอันนี้ให้คงอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป  ต้องรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราทั้งหลาย ให้เขารักษากันต่อไปยั่งยืน เป็นเกียรติยศแก่ชาติของเราชั่วกัลปาวสาน

เราเคราะห์ดีที่สุด ที่นานมาแล้วเราได้ตกไปอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงได้เป็นมนุษย์ขั้นสูงที่สุดที่มนุษย์จะเป็นได้ในทางธรรม

เหตุฉะนี้  ขอท่านทั้งหลายที่นั่งฟังอยู่   ผู้ที่ตะเกียกตะกายอยากเป็นฝรั่ง อย่าทำเหมือนฝรั่งในทางธรรมเลย  ถ้าจะเอาอย่างฝรั่ง  จงเอาอย่างในทางที่ฝรั่งเขาทำดี คือในทางวิชาการบางอย่างซึ่งเขาทำดี  เราควรเอาอย่าง   แต่การรักษาศีลรักษาธรรม เรามีตัวอย่างดีกว่าฝรั่งเป็นอันมาก  ถือพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของเราแล้ว เรามีตัวอย่างหาที่เปรียบเสมอเหมือนมิได้

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้ทำหน้าที่สมควรแก่ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา  เราตั้งใจจะรักษาศาสนาของเราด้วยชีวิต   ข้าพเจ้าและท่านตั้งใจอยู่ในข้อนี้ และ ถ้าท่านตั้งใจจะช่วยข้าพเจ้าในกิจอันใหญ่นี้แล้ว  ก็จะเป็นที่พอใจข้าพเจ้าเป็นอันมาก

เมืองเราก็จะเป็นเมืองเดียวแล้วในโลก ที่ได้มีบุคคลนับถือพระพุทธศาสนามากและเป็นเหล่าเดียวกัน  เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา อย่าให้เสื่อมสูญไป…  เราจะต้องรักษาความเป็นไทยของเราให้ยั่งยืน  เราจะต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนาการ อย่างที่เป็นมาแล้วหลายชั่วโคตรของเราทั้งหลาย

ดังนี้ เราจึงหวังว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  จักได้ระบุพระพุทธศาสนา  ตามที่เป็นจริง และตามพระราชปณิธานของพระมหากษัตราธิราชเจ้าของไทย พร้อมด้วยบรรพบุรุษของไทยที่ได้รักษาไว้แม้ด้วยชีวิตมาแล้ว ว่า “เป็นศาสนาประจำชาติไทย” ด้วย ก็จะยังประโยชน์และความสันติสุขแก่สาธุชน ทุกชาติ ทุกศาสนา ในประเทศไทย ผู้ปรารถนาความเจริญและสันติสุขอันถาวร มั่นคง ที่แท้จริงได้   เพราะพระพุทธศาสนาไม่เคยมีคำสอนหรือนโยบาย ที่จะรุกรานหรือเบียดเบียนใคร   มีแต่ยังความร่มเย็นเป็นสุข  ด้วยความสงบแก่ทุกชาติ ทุกศาสนา   ถ้าชาวโลกเพียงแต่พากันรักษาศีล 5  ให้บริสุทธิ์ด้วยกันเท่านั้น   โลกก็สันติสุขแล้ว  แต่ที่โลกขาดสันติสุขอยู่ในทุกวันนี้   ก็เพราะชาวโลกต่างประพฤติผิดศีล ผิดธรรม   มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้องหมู่เหล่าจัด  ด้วยอำนาจกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อย่างหนาแน่น  จึงหลงงมงายไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษตามที่เป็นจริง  และจึงเบียดเบียนรบราฆ่าฟันกัน   บางพวกได้เคยทำสงครามกันยืดเยื้อมากว่าร้อยปี ก็ยังมี    แม้พระพุทธศาสนาในประเทศที่เคยมีชื่อว่าชมพูทวีปนั้นเองแหละ   ก็ยังไม่วายถูกรุกรานทำลายล้าง  เพราะหมู่คนกิเลสหนาปัญญาทราม   และเพราะผู้ไม่รู้คุณของพระพุทธศาสนา มาแล้ว   หากท่านได้ดูประวัติศาสตร์โลก ก็จะรู้ได้    จะได้ตาสว่างกันเสียที  และจะได้ช่วยกันป้องกัน  มิให้เหตุการณ์เช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์  มาเกิดซ้ำขึ้นอีกในประเทศไทยของเรา  ให้เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ได้แผ่ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทุกคนในชาติตลอดไป

วันนี้อาตมภาพขอยุติปาฐกถาธรรม แต่เพียงเท่านี้ก่อน   ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: