ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุข 1

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย  ในรายการปาฐกถาธรรม  เรื่อง ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุข  กล่าวคือ ข้อปฏิบัติให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเรียกธรรมปฏิบัตินี้ว่า  “จักร 4” คือ ธรรมปฏิบัติที่เป็นประดุจล้อที่จะนำรถไปสู่ที่หมาย กล่าวคือ นำผู้ประพฤติปฏิบัติตามให้ถึงความเป็นใหญ่ ถึงความไพบูลย์มั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ข้าวน้ำ และ สิ่งอำนวยความสะดวก  ตลอดทั้งชื่อเสียง เกียรติยศ และความสุข   ซึ่ง ณ ที่นี้หมายเอา “ความสันติสุข” คือ ความสุขด้วยความสงบเรียบร้อย ทั้ง ณ ภายใน จิตใจของตน และทั้ง ณ ภายนอก คือ มีพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของตนด้วยความสงบสุข และมีพฤติกรรมแวดล้อมของสังคมและประเทศชาติอันสงบสุขอีกด้วย   ดังมีพระพุทธดำรัสตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลาย มีปรากฏในพระสุตตันตปิฎก (ฉบับสยามรัฐ) เล่มที่ 21 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ 31  ขึ้นต้นว่า 

“จตฺตารีมานิ  ภิกฺขเว  จกฺกานิ ฯเปฯ  สุขญฺเจตํธิวตฺตติ”

“ภิกษุทั้งหลาย   จักร 4 ประการนี้  เป็นเครื่องเป็นไปแก่มนุษย์และเทวดาผู้ประกอบ    เป็นเครื่องที่มนุษย์และเทวดาประกอบแล้ว ย่อมถึงความเป็นผู้ใหญ่   (และ) ความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย ต่อกาลไม่นานนัก    จักร 4 ประการเป็นไฉน   คือ

ปฏิรูปเทสวาสะ  การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ 1
สัปปุริสูปัสสยะ  การคบสัตบุรุษ 1
อัตตสัมมาปณิธิ  การตั้งตนไว้ชอบ 1  และ
ปุพเพกตปุญญตา  ความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน  1 

ภิกษุทั้งหลาย  จักร 4 ประการนี้แล  เป็นเครื่องเป็นไปแก่เทวดาและมนุษย์ผู้ประกอบ  เป็นเครื่องที่มนุษย์และเทวดาประกอบแล้ว ย่อมถึงความเป็นผู้ใหญ่ (และ) ความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย ต่อกาลไม่นานนัก ฯ

นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ   พึงกระทำอริยชนให้เป็นมิตร  ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ มีบุญได้กระทำไว้ในปางก่อน   ธัญชาติ ทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง และความสุข  ย่อมหลั่งไหลมาสู่นรชนนั้น.”

ดังที่อาตมภาพจะได้อธิบายขยายความพระพุทธภาษิต 4 ประการเหล่านี้ คือ  
ปฏิรูปเทสวาสะ พึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม 1   สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ 1  อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ 1   ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน 1  อันเป็นข้อปฏิบัติให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้ถึงซึ่งความสำเร็จในชีวิตที่ทุกคนปรารถนา คือ ถึงความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์มั่งคั่งในโภคทรัพย์ ชื่อเสียง เกียรติยศ และความสันติสุข เป็นข้อๆ ไป และในบางกรณีก็อาจจะอธิบายสัมพันธ์ถึงข้ออื่นที่เกี่ยวเนื่องถึงกันบ้าง ดังต่อไปนี้

1) ปฏิรูปเทสวาสะ  หมายความตามรูปศัพท์พระบาลี ว่า ปฏิรูเป วเส เทเส นโร ฯ  แปลความว่า นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ซึ่งก็คือ การได้อยู่ในถิ่น ทำเล หรือ ในประเทศที่เหมาะแก่การดำเนินชีวิตของตน ให้ถึงความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ธมฺมธรมหาเถร) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ  บางเขน ได้แสดงลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม 3 นัย   ตามนัยที่รวบรวมจากคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา และคัมภีร์มังคลัตถทีปนี มีปรากฏในหนังสือ “มงคลยอดชีวิต” จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2539 หน้า 74-84 มีความโดยย่อว่าดังนี้

นัยที่ 1 ถิ่นที่มีบริษัท 4  คือ มีพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา  อาศัยอยู่ ปฏิบัติพระศาสนาแสดงธรรม และเผยแพร่พระสัทธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ และมีการบำเพ็ญกุศลคุณความดีอยู่    กล่าวโดยส่วนรวมคือ ถิ่นที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ นี้จัดเป็นปฏิรูปเทส คือ เป็นถิ่นที่หรือประเทศที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและดำเนินชีวิต ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้    พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมเป็นมงคลสูงสุด เพราะเป็นถิ่นที่สาธุชนมีโอกาสได้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ มี  ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน  ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล  และ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา เป็นต้น  เหล่านี้ ย่อมยังผลให้สามารถดำเนินชีวิตบรรลุถึงความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข คือ ได้ถึงความสุขด้วยความสงบได้

นัยที่ 2  สถานที่ตรัสรู้  สถานที่แสดงปฐมเทศนา  สถานที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ สถานที่เสด็จลงจากเทวโลก และสถานที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้แก่ นครสาวัตถี นครราชคฤห์ เป็นต้น    จัดเป็นปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ เพราะได้มีโอกาสเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก  ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย และให้มีโอกาสฟังธรรม ให้รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิต ให้รู้แนวทางการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข และให้รู้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์  และถึงซึ่งบรมสุขอย่างถาวร ตามที่เป็นจริงได้

นัยที่ 3 มัชฌิมประเทศ  ซึ่งเป็นที่เสด็จอุบัติแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวก พุทธอุปัฏฐาก พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา และพระเจ้าจักรพรรดิ จัดเป็นปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและดำเนินชีวิตให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ เพราะผู้อยู่อาศัยในปฏิรูปเทสเช่นนี้  มีโอกาสได้รับฟังพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ ให้ได้รู้ทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้อยู่ในศีลในธรรม เป็นเหตุให้สามารถดำเนินชีวิตให้บรรลุถึงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และถึงนิพพานสมบัติได้ ชีวิตก็จะถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ ด้วยประการฉะนี้

ลักษณะของถิ่นที่เหมาะ  คือที่สมควรอยู่อาศัย ประกอบสัมมาอาชีวะ ดำเนินชีวิตตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข   ตามที่ปรากฏในคัมภีร์และคำอธิบายของบุรพาจารย์ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้   พอจะสรุปความได้ว่า

คำว่า “ปฏิรูปเทสวาสะ” หรือจะกล่าวโดยย่อว่า “ปฏิรูปเทส”  คือ ถิ่นที่เหมาะสม  ทั้งภายนอก  และภายใน

ถิ่นที่เหมาะสมภายนอก หมายถึง ประเทศหรือท้องถิ่นที่อยู่อาศัยและทำเลที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม  นับตั้งแต่สังคมย่อยภายในครอบครัว  ถึงสังคมใหญ่  ได้แก่ สถานศึกษาเล่าเรียน สำนักศาสนา สำนักงาน ภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ และทำเลที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ นับตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ถึงสังคมประเทศชาติ  และแม้สังคมชาวโลก โดยส่วนรวม ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย เหมาะแก่การประกอบสัมมาอาชีวะ หรือกล่าวโดยส่วนรวมว่า เหมาะแก่การดำเนินชีวิตโดยชอบ ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ ถึงความเป็นใหญ่ มีเกียรติยศชื่อเสียง และให้ถึงความสันติสุขในชีวิตได้ นี้ประการ 1

ถิ่นที่เหมาะสมภายใน หมายถึง  อัตภาพร่างกายที่มีสุขภาพอนามัยดี   มีวิชาความรู้ มีสติปัญญาสามารถ  มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  และมีคุณธรรมคือเป็นผู้มีศีลมีธรรม  เป็นสัมมาทิฏฐิ  ที่สามารถจะประกอบสัมมาอาชีวะและดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้  นี้อีกประการ 1

ผู้ใดมีคุณธรรม หรือได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะทั้ง 2 ประการนี้ คือ ทั้งถิ่นที่ภายนอก ก็เหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน และทั้งถิ่นที่ภายใน ก็เหมาะ คือมีสุขภาพกายที่ดี มีสุขภาพจิตที่ดี มีวิชาความรู้ มีสติปัญญาสามารถ และมีคุณธรรม ย่อมมีโอกาสดำเนินชีวิตโดยชอบ ให้ถึงความเจริญด้วยโภคทรัพย์ ถึงความเป็นใหญ่ มีเกียรติยศชื่อเสียง และให้ถึงความสันติสุข คือมีความสุขด้วยความสงบได้เป็นอย่างดี

ถิ่นที่ทั้ง 2 ประการนี้    ถ้าเป็นถิ่นที่เหมาะแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง   อีกอย่างหนึ่งไม่เหมาะ โอกาสที่จะดำเนินชีวิตไปให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ดี   ก็ต้องลดลงตามส่วน   ดังเช่นว่า

สถานภาพทางเศรษฐกิจ  ทางการเมือง และทางสังคม ของประเทศเรา ในทุกวันนี้ไม่ค่อยจะดีนัก เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถิ่นที่ภายนอก คือประเทศของเราเข้าลักษณะ “อปฏิรูปเทส” คือ เป็นถิ่นภายนอกที่ไม่ค่อยเหมาะแก่การทำมาหากินให้เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ได้ กล่าวคือ สถานภาพทางเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างน่าหนักใจแก่นักลงทุน และแม้แก่รัฐบาล จึงเป็นถิ่นทำเลที่ไม่ค่อยเหมาะแก่การลงทุนแสวงผล เงินทุนจึงไหลออกนอกประเทศมาก คนว่างงานหรือตกงานจึงเพิ่มมากขึ้น ผู้คนยิ่งขาดกำลังซื้อ   การทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยและชาวเกษตรกร ก็ยิ่งฝืดเคือง เพราะการขายผลิตผล และบริการต่างๆ กระทำได้ด้วยยาก   เข้าตำรา “ซื้อยาก-ขายยาก”   ที่ว่า “ซื้อยาก” ก็เพราะผู้คนมีรายได้น้อย จึงขาดกำลังซื้อสินค้า    ที่ว่า “ขายยาก” ก็เพราะพ่อค้า ผู้ผลิตสิ้นค้าและบริการ และชาวเกษตรกร ก็ขายสินค้าและผลิตผลของตนได้ยาก ก็ยิ่งจะขาดทุน  ยิ่งผู้ที่ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาประกอบการผลิตหรือทำเกษตรกรรม ก็ยิ่งมีภาระหนักทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และรายจ่ายวัตถุดิบและแรงงาน อันเป็นต้นทุนการผลิตที่สูง ยิ่งค่าเงินบาทลอยตัวอ่อนตัวต่ำลงๆ  ก็พลอยทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น  เป็นปฏิภาคกลับกับรายได้ที่ต่ำลงๆ   ผลสุดท้ายต้องจำใจปลดคนงาน   คนก็ว่างงานมากขึ้นๆ   นักธุรกิจ ผู้ประกอบการผลิต รวมทั้งเกษตรกรที่ไม่สามารถจะดำเนินกิจการของตนต่อไปได้ ก็ต้องเลิกล้มหรือปิดกิจการ   ก็ยิ่งมีคนยากจนเพิ่มขึ้น  โจรผู้ร้ายก็ยิ่งชุกชุม สังคมก็จะยิ่งหาความสงบสุขมิได   ้กลับจะมีความโกลาหลวุ่นวายมากขึ้น   นักลงทุนทั้งภายในประเทศและทั้งจากต่างประเทศ ก็ยิ่งไม่กล้าเข้ามาลงทุน แถมยิ่งถอนทุนไปลงทุนในประเทศที่ปลอดภัย และมั่นคงกว่า   เงินก็ยิ่งไหลออกนอกประเทศ  เหมือนกระแสน้ำที่วนลงสู่พื้นเบื้องล่าง ด้วยอาการอย่างนี้   รัฐบาลก็ยิ่งเก็บภาษีอากรจากประชาชนได้น้อย จึงขาดรายได้ที่จะนำมาใช้ในการบริหาร ทำนุบำรุงและพัฒนาประเทศลงไปอีก   สถานการณ์ที่ตกต่ำลงเช่นนี้แหละ ที่เป็นปัจจัยสำคัญประการ 1 ที่ทำให้ถิ่นที่ภายนอก คือ สังคมประเทศเรากำลังเขาสู่ลักษณะ “อปฏิรูปเทส” คือ เป็นถิ่นที่ไม่ค่อยจะเหมาะแก่การทำมาหากิน ให้ถึงความเจริญด้วยโภคทรัพย์ และให้ถึงความสันติสุขได้ดีนัก

แม้ผู้ที่มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต  มีสติปัญญาสามารถ และมีคุณธรรม  อันชื่อว่า มีถิ่นที่ภายในเหมาะดีแล้ว ก็ยังได้รับผลกระทบจากถิ่นที่ภายนอกอันไม่เหมาะ ให้การดำเนินชีวิตไม่ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ดีเท่าที่ควร  ดังที่เราต่างได้ยินได้ฟังข่าวอยู่เสมอว่า  “ดร.และคนงาน ก็มีโอกาสตกงานได้เหมือนๆ กัน”   จึงไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลที่มีถิ่นที่ภายในที่ไม่เหมาะ ว่า จะต้องถูกกระทบกระเทือนจากถิ่นภายนอกที่ไม่เหมาะเช่นนี้เพียงไร  ได้แก่ ผู้ที่มีสุขภาพกายไม่ดี  มีสุขภาพจิตใจ คือ มีอัธยาศัยใจคอที่ไม่ดี   เป็นที่ตำหนิและรังเกียจของคนอื่นทั้งหลาย   ผู้มีวิสัยทัศน์แคบ ผู้ขาดทั้งสติปัญญาและวิชาความรู้   ผู้ไม่มีความสามารถในหน้าที่การงาน  ขาดบุคคลิกความเป็นผู้นำ ไม่มีความริเริ่มที่ดี  เป็นผู้เกียจคร้าน  ทำงานเฉื่อยแฉะ  ขาดความกระตือรือร้น-เอาใจใส่  และขาดความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน  เป็นผู้ขาดศีล ขาดธรรม   หลงติดอยู่ในอบายมุข  ได้แก่ ความเป็นนักเลงสุรา ยาเสพติด เป็นนักเลงผู้หญิง  หมกมุ่นอยู่แต่ในกิเลสกาม  เป็นนักเลงการพนัน ติดเที่ยวกลางคืน  ไม่รู้จักรักษา-อดออมทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต  ชอบคบคนชั่วเป็นมิตร มีการใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย  ไม่รู้จักค่าของเงิน  จนหมดตัว  หรือจนไม่มีเหลือไว้พอได้ใช้จ่ายในยามจำเป็น  ย่อมจะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นนี้อย่างมาก  เป็นธรรมดา

ถ้าจะพิจารณาเหตุผลที่แท้จริงของการที่บุคคลจะได้รับผลกระทบ จากถิ่นที่ภายนอกอันไม่เหมาะ มากหรือน้อยเพียงใด   ย่อมขึ้นอยู่กับถิ่นที่ภายในของแต่ละบุคคลนั้นเองเป็นสำคัญ  ดังเช่น ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเรา  ที่กำลังตกต่ำลงในทุกวันนี้   บุคคลใดมีถิ่นที่ภายในของตนเหมาะสมดี คือ เป็นผู้มีสุขภาพกายดี  มีสุขภาพจิตใจดี  มีวิชาความรู้  มีวิสัยทัศน์กว้างไกล   มีสติปัญญาความสามารถ  และมีคุณธรรม คือเป็นผู้มีศีลมีธรรมประจำใจ มากเพียงไร  ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนจากถิ่นที่ภายนอกอันไม่เหมาะเช่นนี้น้อยลงเพียงนั้น หรือแทบจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนเลยก็ว่าได้   อย่างเช่นข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างธุรกิจเอกชน ตั้งแต่ผู้ใช้แรงงานขึ้นไปถึงนักบริหารทุกระดับ   ถ้าเป็นบุคคลที่มีสุขภาพกายดี มีสุขภาพจิตดี คือเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอดี  เป็นที่รัก เคารพ นับถือของคนทั่วไป  มีวิชาความรู้  มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีสติปัญญาความสามารถ  และมีคุณธรรม  มีศีล มีธรรม ได้แก่ เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน มีความรับผิดชอบสูง   ดูแลเอาใจใส่กิจการงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ  มีความคิดริเริ่มดี มีบุคคลิกความเป็นผู้นำสูง  รู้จักรักษาทรัพย์  อดออมทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริตไว้ด้วยดี  ไม่หลงติดอยู่ในอบายมุข  ได้แก่ ความเป็นนักเลงผู้หญิง หรือหมกมุ่นในกิเลสกาม  ความเป็นนักเลงสุรา ยาเสพติด  และความเป็นนักเลงการพนัน เป็นต้น  รู้จักเลือกคบคนดีมีศีลมีธรรมเป็นมิตร และรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริตแต่พอเหมาะ พอควร คือ โดยความประหยัด บุคคลผู้มีถิ่นที่ภายในที่เหมาะดีอย่างนี้อยู่แล้วอย่างมั่นคง   ย่อมมีความมั่นคงในหน้าที่การงานสูง  ผู้ใหญ่ผู้บังคับบัญชา  หรือนายจ้างย่อมเห็นความสำคัญต่อกิจการงานที่จะมอบหมายให้ทำ เพื่อให้บริหารหรือให้ทำงานช่วยรักษาสถานะขององค์กรนั้นๆ  ให้มั่นคงและให้เจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ โอกาสตกงานหรือถูกเลิกจ้างจึงมีน้อยที่สุด  หรือแทบจะไม่มีเลย   หรือแม้จะถูกเลิกจ้าง  จะตกงานก็ไม่นาน  เพราะคนดีๆ องค์กรหรือนายทุน  นายจ้างอื่นๆ ก็ย่อมต้องการให้ไปช่วยกิจการงานของเขาอยู่ดี หรือบุคคลผู้มีถิ่นที่ภายในดี คือ เหมาะอย่างนี้อยู่แล้ว  จะประกอบกิจการเองก็เจริญดี มีความมั่นคงได้ แม้สถานการณ์ภายนอกไม่ค่อยจะดี คือไม่ค่อยจะเหมาะนัก  ก็ยังมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีสติปัญญาสามารถพอที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ สถานการณ์แวดล้อมภายนอกที่หนักก็จะกระทบกระเทือนถึงแต่เพียงเบาๆ หรือโดยอ้อม   ถ้าสถานการณ์ภายนอก ที่เป็นปัญหาเบาๆ ก็แทบจะไม่กระทบกระเทือนถึงเลย  ดังนี้เป็นต้น

นี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นความหมายของพระพุทธดำรัสว่า “ปฏิรูปเทสวาสะ” คือ การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม นั้นว่า หมายความรวมทั้งถิ่นที่ภายนอก  คือ ถิ่นที่อยู่อาศัยและทำเลที่ทำมาหากินที่ดี   และทั้งถิ่นที่ภายใน คือ การมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีวิชาความรู้  มีสติปัญญา ความสามารถ และมีคุณธรรมประจำใจ  ถิ่นที่เหมาะสมทั้ง 2 อย่างนี้ ประกอบกันจึงจัดเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุด คือ เป็นข้อปฏิบัติให้สามารถถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้สมบูรณ์ที่สุด ถ้าถิ่นที่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่เหมาะสมเพียงไร โอกาสที่จะดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขก็ย่อมจะลดน้อยลง ตามส่วนเพียงนั้น

ยังมีข้อที่ควรพิจารณาต่อไปอีกว่า “ปเทสะ หรือ ปเทส” คือ ถิ่นที่ภายนอกและภายในทั้ง 2 ประการนี้ เป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ให้มีสภาวะที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อีกด้วย    อีกนัยหนึ่ง ปเทส คือ ถิ่นที่ทั้งภายนอกและภายในจะเหมาะหรือไม่เหมาะ ที่จะอยู่อาศัยดำเนินชีวิตให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งหรือกระทำให้เป็นไป จึงมีสภาพที่ไม่เที่ยง ชื่อว่า อนิจฺจํ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง หรือกระทำให้เป็นไปอยู่เสมอ ไม่คงสภาพเดิมถาวรอยู่ได้ ชื่อว่า ทุกฺขํ  และลงท้ายก็ต้องสิ้นสภาพหรือหมดสภาพเดิมของมันไป ชื่อว่า อนตฺตา  กล่าวคือ ถิ่นที่บางแห่ง บางคน บางระยะเวลา เป็นถิ่นที่ดี ที่เหมาะสม   ครั้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ไม่ดีเกิดขึ้นปรุงแต่งหรือกระทำให้กลับกลายเป็นถิ่นที่ไม่ดี  ไม่เหมาะสมอีกต่อไปก็ได้ หรือถิ่นที่เคยไม่เหมาะ ไม่ดี   ต่อมาเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ดีเกิดขึ้น ปรุงแต่งหรือกระทำให้ฟื้นคืนตัว กลับเป็นถิ่นที่ดี ที่เหมาะสมอีกก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ปเทส คือ ถิ่นที่ทั้งภายนอกและภายใน เป็นถิ่นที่ดี ที่เหมาะสม  หรือเป็นถิ่นที่ไม่ดี ที่ไม่เหมาะสม ?

เฉลยว่า คือ  ธรรมชาติ เป็นเหตุปัจจัย 1   สัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์ ก็เป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญ อีกประการ 1 ที่ทำให้ปเทส เป็นถิ่นที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมได้

ที่ว่าธรรมชาติ คือสภาพที่เป็นเองโดยธรรมชาติ เป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เป็นถิ่นที่เหมาะหรือไม่เหมาะแก่การดำเนินชีวิต ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้นั้น ก็เช่นว่า  ที่ลุ่มเป็นถิ่นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว ที่ดอนเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่  ที่ชุมชนเหมาะแก่การประกอบธุรกิจ ทำมาค้าขาย ที่สัปปายะ คือที่สงบ สะอาด ร่มรื่น เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติภาวนาธรรม หรือเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นต้น

แต่ในทางกลับกัน ก็ธรรมชาติอีกนั่นแหละ ที่เป็นเหตุปัจจัยให้ถิ่นที่เคยเหมาะสมอยู่แต่เดิม  ให้กลับกลายเป็นถิ่นที่ไม่เหมาะสมได้ หรือที่ไม่เหมาะสมอยู่แต่เดิม ให้กลับกลายเป็นถิ่นที่เหมาะสมได้ เช่นว่า ที่ลุ่มที่เคยเป็นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว   แต่ภายหลังต่อๆ มา  มักเกิดอุทกภัยน้ำไหลผ่านและท่วมมากๆ เข้า จนกลายเป็นห้วย  หนอง คลอง บึง หรือแม่น้ำไป ก็กลายเป็นถิ่นที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวไปได้  ดังนี้เป็นต้น

สำหรับสัตว์โลก   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  มนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญ อีกประการ 1  ที่ทำให้ปเทส คือ ถิ่นที่เป็นสภาพที่เหมาะสม  หรือไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย และทำมาหาเลี้ยงชีพ ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้นั้น

กล่าวโดยทั่วไป สัตว์โลกทั้งหลาย   แม้สัตว์เดรัจฉานต่างก็ปรารถนาจะอยู่ในถิ่นที่เหมาะด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ในถิ่นที่ไม่เหมาะเลย   แต่โอกาสที่สัตว์โลกจะสามารถเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย และทำเลที่ทำมาหาเลี้ยงชีพที่เหมาะนั้นมีน้อย   เหตุนั้น  สัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ ผู้มีสติปัญญา มีวิชาความรู้ ความสามารถ  จึงหาวิธีปรับปรุงแก้ไขถิ่นที่อยู่  ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพของตนและหมู่คณะของตน ให้เหมาะสมดีขึ้น เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  อย่างเช่นบางประเทศก็ได้ปรับปรุงพื้นที่ดิน ที่เป็นทะเลทรายและภูเขาอันแห้งแล้งในประเทศของตน  ที่ไม่เหมาะแก่การเกษตรเลย ให้กลายเป็นพื้นที่ดินที่เหมาะแก่การเกษตร สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้ผลิตผลทางการเกษตรมาเลี้ยงประชาชนในประเทศของตนได้เป็นอย่างดี ก็มี

ในการปรับปรุงถิ่นที่ภายนอก คือถิ่นที่อยู่และทำเลที่ทำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นถิ่นที่เหมาะขึ้น ด้วยสติปัญญา วิชาความรู้ ความสามารถ ของมนุษย์เช่นนี้   ถ้าประกอบด้วยคุณธรรม คือความเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอที่ดี มีศีลธรรมประจำใจ รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง รู้จักละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำชั่วหรือบาปอกุศล รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิต ทั้งในปัจจุบันและในกาลข้างหน้า ตามที่เป็นจริง ก็จะทำให้ถิ่นที่ภายนอกนั้น เป็นถิ่นที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและแก่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขอย่างถาวร มั่นคงยิ่งขึ้น   แต่ถ้าในกาลใดที่ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมมีแต่ปัญญา วิชาความรู้ และมีความสามารถในการปรับปรุงถิ่นที่ภายนอกให้ดี   เป็นต้นว่า พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกิดความเจริญแต่ในทางวัตถุ   แต่ขาดการพัฒนาทางด้านจิตใจ ให้เกิดปัญญารู้แจ้งในบาป-บุญ คุณ-โทษ ในความจริงอย่างประเสริฐในทุกข์ และเหตุแห่งทุกข์ และ/หรือความรู้แจ้งในทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิต ทั้งระยะใกล้ คือ ในปัจจุบัน และทั้งระยะไกลต่อไปในอนาคต ตามที่เป็นจริงแล้ว  ก็ย่อมจะสามารถพัฒนาได้แต่เพียงให้เกิดความเจริญทางวัตถุ อันให้ความสุขได้แต่เพียงความสะดวกสบายกาย แต่ขาดความสันติสุข คือ  ขาดความสงบสุข ทั้งทางกายและจิตใจ เพราะต่างคนต่างแก่งแย่งกันทำมาหากิน ต่างหาวิธีกอบโกยโภคทรัพย์มาเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง และแก่พรรคพวกของตนเอง ให้ได้มากที่สุด ด้วยอำนาจของกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ผู้ที่โลภมาก มีความเห็นแก่ตัวแก่พรรคพวกของตัวเองจัด ที่มองเห็นแต่เพียงว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือประกอบกิจการงานในหน้าที่โดยสุจริตนั้น ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของตนหรือของหมู่คณะของตน ก็จะหันไปใช้วิธีทุจริต คิดมิชอบ มีการใช้เล่ห์เหลี่ยม เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น   มีการแอบแฝงใช้อำนาจรัฐหรือใช้อำนาจเถื่อน   กระทำการทุจริต ฉ้อโกง บังคับ ข่มขู่ เพื่อกอบโกยเอาผลประโยชน์มาสู่ตน และพรรคพวกของตน  ก่อให้เกิดความกระทบกระทั่ง การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันเป็นเหตุปัจจัยให้ทั้งตนเองและผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม ได้รับความทุกข์เดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นทุกที   เป็นเหตุให้ถิ่นที่ภายนอกนั้นกลายเป็นถิ่นที่ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย และทำมาหาเลี้ยงชีพไปได้   เพราะถิ่นที่ภายใน คือ สภาวะจิตใจของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้น เสื่อมลงและกลายเป็นสภาพที่ไม่เหมาะไปแล้ว  ดังนี้เป็นต้น

นี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถิ่นที่ภายในของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมที่เหมาะหรือไม่เหมาะ อันเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ถิ่นที่ภายนอกเหมาะหรือไม่เหมาะแก่การดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จ คือ ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้  หรือไม่เพียงไร

เฉพาะกรณีประเทศของเราที่อาตมภาพได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า  สถานภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และทางสังคม ในระยะเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันนี้  มีเครื่องชี้แสดงว่ามีแนวโน้มเข้าลักษณะ “อปฏิรูปเทส” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ สถานภาพทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศเรากำลังตกต่ำลงอย่างมาก  และแม้สภาพทางการการเมืองก็ไม่ค่อยจะราบรื่นเหมาะสม จนเป็นที่น่าหนักใจแก่ประชาชนทุกระดับ จนถึงองค์พระประมุข คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราก็ยังทรงห่วงใย ทรงกังวลพระทัยในสถานการณ์ของบ้านเมืองและความทุกข์ยากของประชาชน เป็นอย่างมาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจตกต่ำลง และสภาพทางการเมืองที่ไม่ราบรื่น ไม่เหมาะสมที่จะบริหารประเทศชาติ อันเป็นถิ่นที่ภายนอกให้ถึงความเจริญและสันติสุขได้นั้น   ก็เพราะถิ่นที่ภายใน คือ สภาพจิตใจของประชาชนบางคน บางกลุ่ม บางคณะ เสื่อมทรามลง เพราะขาดการพัฒนาทางด้านจิตใจ ให้รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ให้รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต ตามที่เป็นจริง จึงตกอยู่ในอำนาจของกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มีความประพฤติผิดศีลผิดธรรมกันมากขึ้น มุ่งแต่จะกอบโกยหาผลประโยชน์เพื่อตน และเพื่อพรรคพวกของตน ทั้งโดยวิธีอันสุจริตและทุจริต โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายหรือความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่น และไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อการเมือง การบริหารประเทศ และต่อสังคมประเทศชาติโดยส่วนรวม บ้านเมืองจึงถึงความเสื่อมลงๆ จนเข้าลักษณะ “อปฏิรูปเทส” คือ ถิ่นที่ไม่เหมาะไป ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า จะพึงรู้สึกตัวถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ประเทศชาติของเราเสื่อมลง จนถึงเข้าลักษณะอปฏิรูปเทส ดังเช่นทุกวันนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ไปยิ่งกว่านี้ แล้วช่วยกันปรับปรุงแก้ไข สถานการณ์บ้านเมืองทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง การบริหารประเทศ และทางสังคม ด้วยความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์   ด้วยความเสียสละประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกของตน  และด้วยความเป็นธรรมคือด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย  ตามทำนองคลองธรรมและประเพณีอันดีงาม ด้วยความเหมาะสมกับสถานการณ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความยุติธรรม เพื่อให้ประเทศชาติของเรากลับฟื้นคืนตัว เป็นปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขยิ่งๆขึ้นไป  ก็จะเป็นอุดมมงคลแก่ตัวท่านเองแก่ครอบครัว แก่ประชาชนที่อยู่ร่วมกันในสังคม และแก่ประเทศชาติของเราสืบต่อไป

ก่อนจบปาฐกถาธรรมนี้ อาตมภาพขออาราธนา-ขอเชิญสาธุชนพุทธบริษัท เข้ารับการอบรมพระกัมมัฏฐาน รุ่นที่ 34 ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ใน สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อ.ดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เฉพาะอุบาสก อุบาสิกา สาธุชนโดยทั่วไป จะสมัครเข้ารับการอบรมตลอดหรือไม่ตลอดระยะเวลาการอบรมก็ได้  ผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรม โปรดติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ ประชาสัมพันธ์ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี หมายเลขโทร. (032) 253-352 หรือ 254-650 ต่อ (กด) 220 ได้ทุกวัน  และขอได้ไปถึงวัดก่อนวันเปิดอบรม 1 ธันวาคม ศกนี้   หรือจะไปขึ้นรถที่จอดรอรับ-ส่ง ที่หน้าปากทางเข้าวัดสระเกศ (วัดภูเขาทอง) กรุงเทพฯ  ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ภายในเวลา 13.30 น. ก็ได้    เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: