ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์พระอริยเจ้าก็อย่าหลงว่าตนเองเป็นผู้รู้มาก
เลิกละความหลงผิด ไม่รู้บาปบุญคุณโทษตามความเป็นจริง
ส่วนมากบางคนก็ไม่รู้นะ มากต่อมาก ที่มักจะแสดงความเห็นว่า “ตนเองนี่ รู้แล้ว” ก็ยอมรับว่ารู้อยู่…แต่ส่วนเดียว มันมีส่วนที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นไปอีกมาก
ถ้าว่าเมื่อไหร่ หมดความหลงตัวเองเมื่อไหร่ เข้าข่ายสู่ความเป็นอริยบุคคล คือ ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส รู้-เห็นความดี ความชั่ว ตามความเป็นจริง บาปบุญคุณโทษตามความเป็นจริง จากหยาบ กลาง ละเอียด ที่มีมาก เรียกว่า กิเลสร้อยห้า
ความจริง ไม่ใช่แค่ร้อยห้าหรอก กิเลสหมื่นแสนห้า ตัณหาหมื่นแสนอย่าง มากมาย
อย่าไปนึกว่าเรารู้หมดแล้ว..ไม่จริง ถ้ารู้หมดแล้วก็เป็นพระอริยสงฆ์ พระอริยเจ้า เป็นภิกษุเรียกว่าพระอริยสงฆ์ เป็นโยมก็เรียกว่าพระอริยเจ้า หรือ พระอริยบุคคล เรียกว่าพระนะ เป็นโยมเนี่ยแหละ เรียกว่า “พระ”
ท่านที่เป็นพระอริยสงฆ์ พระอริยเจ้า ก็มีมากพอสมควรอยู่ในโลก โลกมนุษย์ ในเทวโลก ในพรหมโลก ก็มี อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การได้เข้ามาศึกษาสัมมาปฏิบัติอย่างนี้ ละกิเลสได้โดยวิธีใด
นี่แหละ พระพุทธเจ้าตรัสสอนมีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕ อ้ายตัวนิวรณ์นี่แหละ ๑.ง่วง ซึม ขี้เกียจ ๒.ลังเลสงสัยข้อปฏิบัติ หรือ ไม่เข้าใจข้อปฏิบัติที่จะเป็นคุณเครื่องชำระกิเลส โดยความรู้กิเลสหยาบ กลาง ละเอียด จะต้องชำระอย่างไร ความลังเลสงสัยนี่จะต้องหมดไป ถ้ายังมีอยู่ ก็จะต้องทำความเข้าใจ
ยังไม่เป็นพระอริยสงฆ์ ไม่เป็นพระอริยเจ้าจริงๆแล้ว อย่าหลงตัวเอง ว่าตัวเองรู้แล้ว..ไม่มีทาง มันมีหยาบ กลาง ละเอียด กิเลสน่ะ ถ้าหลงตัวเองก็เสร็จเลย ไม่ต้องพูด มันเป็นอยู่อย่างนี้
เพราะฉะนั้น วิธีกำจัดกิเลส ซึ่งมันเกิดขึ้นแก่ใจ มันก็ต้องอบรมจิต
อบรมจิตตรงไหนล่ะ? ทำไมจะอบรมได้?
เบื้องต้นต้องอบรมศีลก่อน บุคคลพวกเรานี่แหละ บกพร่องกัน ยังไม่ใช่พระอริยเจ้าก็ต้องคิดว่าบกพร่องอะไร
แม้แต่ผู้พูดนี่ก็บกพร่องนะ ไม่ใช่ว่าเก่งเสมอไปนะ แต่ก็ทำความเข้าใจตัวเองว่า “อะไรเราผิด อะไรเราควรจะทำให้มันถูก บางทีมันเผลอไผลไปอะไรไป ก็ทำให้มันดี” เป็นพระนี่แหละไม่ใช่ว่าหมดกิเลส ยัง ไม่อย่างนั้นไม่ต้องมาบวชหรอก เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ๓ วันก็มรณภาพ หรือตายไปแล้ว
ถ้าเป็นพระอรหันต์นี่ เป็นเพศอุบาสก อุบาสิกา ไม่ได้ อยู่ได้ไม่เกิน ๓ วัน
เทวดา..ถ้าบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ ทำกาละเมื่อนั้น นิพพานเมื่อนั้นเลย ดังนี้เป็นต้น
แล้วตราบใดที่มันยังอยู่นี้ ก็นี่แหละ ความเพียรแหละ กำจัดกิเลส แต่ว่าเริ่มต้นสำคัญ ที่ควบคุมจิตนี่คือ เจริญภาวนาสมาธิ ด้วยอุบายวิธีสงบใจ ตัวนี้มันตัวสำคัญมาก
#หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านเลือกมีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ด้วยอุบายวิธีสงบใจที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
คือ…
อาโลกกสิณ ๑
อานาปานสติ ๑
พุทธานุสติ ๑
สุดยอดของกัมมัฏฐานแล้วฝ่ายสมถะ มีคุณค่าในการศึกษาสัมมาปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญาสูงที่สุด ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ไม่ได้ผล คุณไม่ต้องไปหาวิธีอื่นหรอก เพราะนี่ มันยอดของอารมณ์สมถะที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ มีอานุภาพสูงสุด
อาโลกกสิณ เป็นกสิณกลาง เหมาะแก่ทุกจริตอัธยาศัย
พุทธานุสติ ก็เหมาะแก่พวกพุทธจริต
อานาปานสติ ก็เหมาะแก่ทุกคนทุกจริตอัธยาศัย
นี่..ถ้าเรียนธรรมะมาเราจะรู้เลย ในขบวนสมถะภูมิ ๔๐ เนี่ย ๓ ข้อนี้ เลิศเลยแหละ เพราะฉะนั้น ตั้งใจปฏิบัติ
แต่มันดูเหมือนว่า..มันจะยาก ก็เพราะเราไม่ได้สั่งสมมามากพอสมควร ก็ต้องตั้งใจ ถามว่า..เราอยากพ้นทุกข์ไหม หรือเราอยากเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ต่อไป ถ้าทุกคนเข้าใจก็จะตอบว่า ไม่อยากเวียนว่ายตายเกิดหรอก
เพราะฉะนั้น เมื่อไม่อยากเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องเจริญภาวนาสมาธิ ให้ถึง”จิตตวิสุทธิ” ความหมดจรดแห่งจิต คือ เป็นสมาธิตั้งมั่นตั้งแต่”ปฐมฌาน”ขึ้นไป เป็นมรรคองค์ที่ ๘ ตั้งแต่”ปฐมฌาน”ขึ้นไป
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสอริยมรรค์มีองค์ ๘ เป็นทางให้ตัดกิเลสเหตุแห่งทุกข์ บรรลุมรรคผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ข้อที่ ๘ คือ สัมมาสมาธิ
การเจริญภาวนาสมาธิ ในระดับฌานจิต ตั้งแต่ปฐมฌานถึงจตุตถฌาน เป็นอย่างต่ำ คือ ตรงนี้ได้มาตรฐาน มีกำลังพอที่จะคู่กันกับ เมื่อใจสงบบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว เจริญวิปัสสนาให้เห็นแจ้งในสภาวะธรรมและอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง ตรงนี้เป็นภาวนามยปัญญา ให้เจริญปัญญาด้วยการที่ได้ทั้งเห็น และ ทั้งรู้ แล้วจึงจะเจริญวิชชา คุณเครื่องช่วยให้เห็นแจ้งในสภาวะธรรม และอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง ให้ชัดเจนแน่วแน่อีกครั้งหนึ่ง
อย่างน้อยวิชชา ๓
คือ…
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๑
จุตูปปาตญาณ ๑
และวิชชาที่สามสุดท้ายคือ อาสวักขยญาณ
อาสวักขยญาณเนี่ย ถ้าสมาธิไม่ดีพอ ไปไม่ถึง เพราะไม่สามารถจะเข้าถึงคุณธรรมที่ให้เห็นแจ้ง รู้แจ้ง สภาวะธรรมตามความเป็นจริงได้
ต่อเมื่อท่านปฏิบัติถึงธรรมกาย ธรรมเป็นที่ประชุมคุณธรรมของพระอริยสงฆ์ พระอริยเจ้า ตั้งแต่”โคตรภูบุคคลขึ้นไป” จึงจะเจริญทิพจักษุ ทิพโสต สมันตจักษุ พุทธจักษุ และ ปัญญาจักษุ…ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง นี่แหละ เรื่องมันสูงขึ้นไปถึงขนาดนี้ ก็ต่อเมื่อไปเข้าสู่กระแสพระนิพพาน เรียกว่า “ตกกระแส”
พระเทพญาณมงคลเสริมชัย ชยมงฺคโล