หลักการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

หลักการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

โดย

พระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร)

บัดนี้ท่านทั้งหลาย ทั้งหญิงและทั้งชายได้เสียสละละเวลาอันมีค่ามาศึกษาในทางพุทธศาสนา    นี้เป็นกิจส่วนตัวสำคัญ  ทางพระพุทธศาสนา   พระพุทธศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า   พระพุทธเจ้าสอนให้สัตว์โลกทั้งหมด ละชั่วด้วยกายวาจาใจ    ทำความดีด้วยกายวาจาใจ   ทำใจให้ใส     3 ข้อนี้แหละเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์    ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต     ยืนยันเหมือนกันหมด      เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อตั้งใจมั่นลงในพระพุทธศาสนาเช่นนี้  ก็เพื่อจะทำใจของตนให้ดีตามประสงค์ ของทางพระพุทธศาสนา    การที่จะทำใจให้ดีนี้ มีบาลีเป็นตำรับตำราว่า

เทฺวเม ภิกฺขเว วิชฺชาภาคิยา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชชามี 2 อย่าง    กตเม เทฺว  2 อย่าง อะไรบ้าง   สมโถ จ สมถะความสงบระงับ อย่างหนึ่ง    วิปสฺสนา จ วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง อย่างหนึ่ง

สมโถ ภาวิโต กิมตฺถมนุโภติ สมถะเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร    จิตฺตํ ภาวิยติ ต้องการให้จิตเป็นขึ้น    จิตฺตํ ภาวิตํ กิมตฺถมนุโภติ จิตเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร     โย ราโค โส ปหียติ ความกำหนัดยินดีอันใดที่มีอยู่ในจิตใจ    ความกำหนัดยินดีอันนั้นหมดไปด้วยสมถะความสงบระงับ

วิปสฺสนา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ วิปัสสนาเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร    ปญฺญา ภาวิยติ ต้องการทำปัญญาให้เป็นขึ้น   ปญฺญา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ ปัญญาเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร    ยา อวิชฺชา สา ปหียติ ความไม่รู้จริงอันใดที่มีอยู่กับจิตใจ    ความไม่รู้จริงอันนั้นหมดไปด้วยความเห็นแจ้งคือวิปัสสนา

ทางพระพุทธศาสนามีวิชชา 2 อย่างนี้แหละเป็นข้อสำคัญนัก    บัดนี้ท่านทั้งหลายที่เสียสละเวลามา ก็เพื่อมาเรียนสมถวิปัสสนาทั้ง 2 อย่างนี้     สมถะ เป็นวิชชาเบื้องต้น พุทธศาสนิกชนต้องเอาใจใส่    คือแปลความว่า สงบระงับใจ  เรียกว่า สมถะ     วิปัสสนา เป็นขั้นสูงกว่าสมถะ ซึ่งแปลว่าเห็นแจ้ง เป็นธรรมเบื้องสูง เรียกว่า วิปัสสนา   สมถวิปัสสนา 2 อย่างนี้ เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกในทางพระพุทธศาสนา     ผู้พูดนี้ได้ศึกษามาตั้งแต่บวช   พอบวชออกจากโบสถ์แล้วได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นวันหนึ่งก็เรียนทีเดียว  เรียนสมถะทีเดียว   ไม่ได้หยุดเลย จนกระทั่งถึงบัดนี้     บัดนี้ทั้งเรียนด้วย ทั้งสอนด้วย ในฝ่ายสมถะวิปัสสนา ทั้ง 2 อย่างนี้

สมถะมีภูมิแค่ไหน   สมถะมีภูมิ 40

กสิณ 10   อสุภะ 10   อนุสสติ 10   อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1    จตุธาตุววัฏฐาน 1   รูปฌาน 4    อรูปฌาน 4    ทั้ง 40 นี้เป็นภูมิของสมถะ

วิปัสสนามีภูมิ 6

ขันธ์ 5   อายตนะ 12   ธาตุ 18   อินทรีย์ 22    อริยสัจ 4    ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 (ธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น)   นี้เป็นภูมิของวิปัสสนา

ภูมิสมถะ ภูมิวิปัสสนา ทั้ง 2 นี้  เป็นตำรับตำราในทางพระพุทธศาสนาได้ใช้กันสืบมา

แต่ภูมิของสมถะ ที่เราจะต้องเรียนต่อไป    เริ่มต้น ต้องทำใจให้หยุด จึงจะเข้าภูมิของสมถะได้     ถ้าทำใจหยุดไม่ได้ก็เข้าภูมิสมถะไม่ได้    สมถะเขาแปลว่าสงบ   แปลว่าระงับ   แปลว่าหยุด   แปลว่านิ่ง    ต้องทำใจให้หยุด    

ใจของเราน่ะ   อะไรที่เรียกว่า “ใจ”    เห็นอย่าง 1   จำอย่าง 1   คิดอย่าง 1   รู้อย่าง 1    4 อย่างนี้รวมเข้าเป็นจุดเดียวกัน  นั่นแหละเรียกว่า ใจ

อยู่ที่ไหน ?   อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ  คือ ความเห็นอยู่ที่ท่ามกลางกาย   ความจำอยู่ท่ามกลางเนื้อหัวใจ    ความคิดอยู่ท่ามกลางดวงจิต   ความรู้อยู่ท่ามกลางดวงวิญญาณ

เห็น จำ คิด รู้ 4 ประการนี้   หมดทั้งร่างกาย    ส่วนเห็นเป็นต้นของรู้   ส่วนจำเป็นต้นของเนื้อหัวใจ    ส่วนคิดเป็นต้นของดวงจิต    ส่วนรู้เป็นต้นของดวงวิญญาณ

ดวงวิญญาณเท่าดวงตาดำข้างใน อยู่ในกลางดวงจิต     ดวงจิตเท่าดวงตาดำข้างนอก อยู่ในกลางเนื้อหัวใจ    ดวงจำกว้างออกไปอีกหน่อยหนึ่ง เท่าดวงตาทั้งหมด    ดวงเห็นอยู่ในกลางกาย โตกว่าดวงตาออกไป นั่นเป็นดวงเห็น     ดวงเห็นนั่นแหละ ธาตุเห็นอยู่ศูนย์กลางดวงนั้น   นั้นแหละเรียกว่าเห็น เห็นอยู่ในธาตุเห็นนั่น    ดวงจำ ธาตุจำอยู่ในศูนย์กลางดวงนั้น ความจำอยู่ที่นั่น     ดวงคิด ธาตุคิดอยู่ศูนย์กลางดวงนั้น     ดวงรู้ ธาตุรู้อยู่ในศูนย์กลางดวงนั้น     เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่างนี้แหละ เอาเข้ามารวมจุดเดียวกัน เรียกว่า “ใจ”  ของยากอย่างนี้เห็นไหมล่ะ  

คำที่เรียกว่า “ใจ” นั่’นแหละ     เวลานี้เรานั่งอยู่นี่ สอด  [ส่งใจ] ไปถึงบ้านก็ได้   สอดไปถึงนรกก็ได้   สอดไปถึงสวรรค์ก็ได้   สอดไปถึงนิพพานก็ได้ [เรานึก]   สอดใจไปได้    มันลึกซึ้งอย่างนั้นเห็นไหมล่ะใจ    ถ้าว่ามันรู้แคบ สอดไปได้แคบ    ถ้ารู้กว้าง สอดไปได้กว้าง   ถ้ารู้ละเอียดสอดไปได้ละเอียด    รู้หยาบก็สอดไปได้หยาบ    แล้วแต่ความรู้ของมัน  ความเห็นของมัน   สำคัญนัก

คำที่เรียกว่า “ใจ” นี่แหละ  เราต้องบังคับให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน    เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่างนี้ ต้องมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอยู่กลางกายมนุษย์   สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กข้างใน     สะดือทะลุหลังเป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตึง    ขวาทะลุซ้ายเป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตรงกันตึง   ตึงทั้ง 2 เส้น    ตรงกลางมาจรดกัน ที่กลางจรดกันนั่นแหละ เรียกว่ากลางกั๊ก    กลางกั๊กนั่นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์   ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่   ถูกกลางดวงพอดี ที่สอนให้เอาพระของขวัญไปจรดไว้กลางดวงนั้นน่ะ กลางกั๊กนั่นแหละ    เราเอาใจของเราไปจรดอยู่กลางกั๊กนั่นแหละ    เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่าง จรดอยู่กลางกั๊กนั่น กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น   มีที่ตั้งแห่งเดียวเท่านั้น “ใจ”

เขาบอกว่า “ตั้งใจนะ”    เราจะต้องเอาใจไปหยุดตรงนั้นทีเดียว ถึงจะถูกเป้าหมายใจดำ    เขาบอกว่าตั้งใจนะ   เวลานี้เอ็งจะทำบุญทำกุศล เราต้องตั้งใจตรงนั้น บัดนี้เราจะรักษาศีล ก็ต้องตั้งใจตรงนั้น     บัดนี้เราจะเจริญภาวนาละ เราก็ต้องตั้งใจตรงนั้นเหมือนกัน   ต้องเอาใจหยุดตรงนั้น กลาง     เมื่อเอาใจไปหยุดอยู่กลางนั้นแล้วละก็ เราก็ใช้สัญญาจำให้มั่น  หยุดนิ่ง   บังคับให้นิ่งเชียว    ถ้าไม่นิ่งก็ต้องใช้บริกรรมภาวนาบังคับไว้   บังคับใจให้หยุด    บังคับหนักเข้าๆๆ     พอถูกส่วนเข้า ใจหยุดนิ่ง ใจหยุด หยุด     พอใจหยุดเท่านั้นแหละถูกตัวสมถะแล้ว    นั่นแหละตัวสมถะไอ้หยุดนั่นแหละ    หยุดนั่นเองเป็นตัวสำเร็จ    ทางโลกและทางธรรมสำเร็จหมด    

โลกที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของโลก     ธรรมที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของธรรม     ท่านได้แนะนำไว้ตามวาระพระบาลีว่า  นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี    หยุดอันนั้นเองเป็นตัวสำคัญ  เพราะเหตุนั้นต้องทำใจให้หยุด    เมื่อใจของเราหยุดแล้ว เราก็ต้องหยุดในหยุดๆ ไม่มีถอยหลังกลับ  ไม่มีถอยหลัง   หยุดในหยุดๆๆ อยู่นั่นเอง

ใจที่หยุดนั้นต้องถูกกลางนะ    ถ้าไม่ถูกกลาง ใช้ไม่ได้    ต้องหยุดเข้าสิบ เข้าศูนย์ เข้าส่วน    ถูกสิบ ถูกศูนย์ ถูกส่วน    ถ้าหยุดกลางกายเช่นนั้นถูกสิบ   พอถูกสิบเท่านั้นไม่ช้าจะเข้าถึงศูนย์     พอถูกสิบแล้ว ก็จะเข้าถึงศูนย์ทีเดียว     โบราณท่านพูดกันว่า “เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา เที่ยงแท้แน่นักหนา ตั้งอนิจจาเป็นอาจิณ จุติแล้วปฏิสนธิ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น สังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา”

สิบศูนย์นี้เป็นตัวสำคัญนัก     สัตว์โลกจะเกิดในโลกได้ ต้องอาศัยเข้าสิบแล้วตกศูนย์จึงเกิดได้    ถ้าเข้าสิบไม่ตกศูนย์แล้วก็เกิดไม่ได้ นี่โลกกับธรรมต้องอาศัยกันอย่างนี้    ส่วนทางธรรมเล่าต้องเข้าสิบ    เข้าสิบแล้วก็ตกศูนย์     “ตกศูนย์” คือ “ใจหยุด”    พอใจหยุดเรียกว่าเข้าสิบแล้ว   เห็นเป็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ผุดขึ้นที่ใจหยุดนั้นแหละ  นั่นตกศูนย์แล้ว เข้าสิบแล้ว  เห็นศูนย์แล้ว    เรียกว่า “เข้าสิบแล้วเห็นศูนย์”

พอเห็นศูนย์ ใจก็หยุดอยู่กลางศูนย์นั้นเชียว   กลางดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น    ดวงนั้นแหละเรียกว่า “ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน”    หรืออีกนัยหนึ่ง ดวงนั้นเรียกว่า “ดวงปฐมมรรค”  หนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน     ถ้าจะไปสู่มรรคผลนิพพาน ต้องเข้ากลางดวงนั้นแห่งเดียว   ไปได้ทางเดียว   ทางอื่นไม่มี   เมื่อเข้ากลางดวงศูนย์นั้นได้แล้ว เรียกว่า ปฐมมรรค นัยหนึ่ง     อีกนัยหนึ่ง ดวงนั้นแหละเรียกว่า “เอกายนมรรค” แปลว่า “หนทางเอก”   ไม่มีโท   สองไม่มี    แปลว่า “หนทางหนึ่ง”  สองไม่มี   หนึ่งทีเดียว

เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้ว    ต่อแต่นี้ไป ก็จะสอนให้ทำต่อไป    เมื่อเราได้ทำวัตรอาราธนาเรียบร้อยแล้ว    ต่อแต่นี้ไปก็ต้องนั่งสมาธิกัน    บาลีว่า นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาพุชฺฌิตฺวา ให้นั่งคู้บัลลังก์ ขัดสมาธิ   เท้าขวาทับเท้าซ้าย   มือขวาทับมือซ้าย    ทุกคนด้วยกันตั้งตัวให้ตรง   แล้วคอยฟังอธิบายต่อไป    วิธีที่ถูกคือ ปลายนิ้วชี้มือข้างขวาจรดกับปลายนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย    วางไว้บนตักที่เราขัดสมาธินั้น    นั่งยืดตัวให้ตรงเพื่อให้เลือดลมเดินสะดวก   และรู้สึกสบายในขณะนั่งนั้น เรียกว่า อุชุ ํ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง

เมื่อเรานั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรงดีแล้ว    เราต้องตั้งใจให้หยุด     ใจของเราถ้าหยุดได้สักกระพริบตาเดียวเท่านั้น ได้ชื่อว่าเราได้สร้างบุญใหญ่กุศลใหญ่สำคัญนัก   บุญที่เกิดจากการนั่งภาวนานั้นเป็นบุญใหญ่กุศลใหญ่    เราจะไปสร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญสักร้อยหลัง ก็สู้บุญที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญสมถวิปัสสนาไม่ได้ เมื่อเราแสวงหาเขตบุญในพระพุทธศาสนา    พึงบำเพ็ญสมถวิปัสสนาทำใจให้มั่นคงดังนี้ ให้ใจหยุด     หยุดนี้เป็นตัวสำคัญ    “หยุด” นี้จะเป็นทางมรรคผลนิพพาน พวกที่ให้ทานรักษาศีลนั้น ยังไกลกว่า    “หยุด” นี้ใกล้นิพพานนัก     พอหยุดได้เท่านั้น ถูกคำสั่งสอนของพระศาสดาแล้ว    ไม่ยักเยื้องแปรผัน

ต่อแต่นี้ไปคอยตั้งใจฟัง    เมื่อเราทำวัตรอาราธนาเสร็จแล้ว ก็จะบอกวิธีกระทำต่อไป     วิธีทำสมถวิปัสสนา ต้องมีบริกรรมภาวนากับบริกรรมนิมิต เป็นคู่กัน    บริกรรมนิมิต ให้กำหนดเครื่องหมายเข้าดวงใสเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว   ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา    ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้าปากช่องจมูกขวา   อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม     ใจของเราที่ยืดไปยืดมา แวบไปแวบมา ให้เข้าไปอยู่เสียในบริกรรมนิมิต    ปากช่องจมูก หญิงซ้ายชายขวา   ข้างนอกดวงโตเท่าแก้วตา ข้างในดวงโตเท่าเมล็ดพุทธรักษา     ใสขาวเหมือนกระจกส่องเงาหน้า    หญิงกำหนดปากช่องจมูกซ้าย ชายกำหนดปากช่องจมูกขวา    แล้วให้บริกรรมภาวนาประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหัง”   ตรึกถึงดวงที่ใสใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส    “สัมมาอะระหัง” ตรึกถึงดวงที่ใสใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส     “สัมมาอะระหัง” ตรึกถึงดวงที่ใสใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส นิ่งอยู่ที่นั่น นี่ฐานที่ 1

ฐานที่ 2 เลื่อนไปที่ เพลาตา    หญิงอยู่ซีกข้างซ้าย ชายอยู่ซีกข้างขวา    ตรงหัวตาที่มูลตาออก    ตามช่องลมหายใจเข้าออกข้างใน แล้วให้บริกรรมประคองเครื่องหมายที่เพลาตานั้นว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” 3 ครั้ง แบบเดียวกัน

แล้วเลื่อนเครื่องหมายตรงลำดับเพลาตาเข้าไปที่ กลางกั๊กศีรษะข้างใน    ไม่ให้ค่อนซ้ายขวาหน้าหลังล่างบน   กลางกั๊กพอดี    ที่นี่เรียกว่าฐานที่ 3 แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่กลางกั๊กศีรษะข้างในว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” 3 ครั้ง     ตรงนี้มีลัทธิพิธี ต้องกลับตาไปข้างหลังให้ตาค้างเหมือนคนชักจะตาย    เราหลับตาอยู่ ตาช้อนขึ้นข้างบน เหลือบขึ้นข้างบน    เหลือบไปๆ จนค้างแน่น ให้ความเห็นกลับไปข้างหลัง แล้วค่อยๆ ให้เห็นกลับเข้าข้างใน    พอตาเห็นกลับเข้าข้างใน ก็เลื่อนเครื่องหมายจากฐานที่ 3 นี้ไปฐานที่ 4 ที่ปากช่องเพดาน  ที่รับประทานอาหารสำลัก อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม พอดี    แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายในฐานที่ 4 นั้นว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” 3 ครั้ง

แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายจากฐานที่ 4 ไปฐานที่ 5 ที่ ปากช่องคอ  เหนือลูกกระเดือก   เหมือนกลางกั๊กปากถ้วยแก้ว   ตั้งไว้ปากช่องคอ บริกรรมประคองเครื่องหมายที่ปากช่องคอนั้นว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” 3 ครั้ง    แล้วเลื่อนเครื่องหมายลงไปฐานที่ 6 กลางตัว สุดลมหายใจเข้าออก สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กข้างใน    ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ที่ใจหยุดนั่นทีเดียว   ตั้งตรงนั้น เอาใจของเราจรดเข้าที่ดวงใสนั้น แล้วบริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” 3 ครั้ง    แล้วถอยหลังจากฐานที่ 6 มาที่เหนือกลางตัวเรานี้ขึ้นมา 2 นิ้วมือ   ฐานนั้นเรียกว่าฐานที่ 7

ฐานที่ 7 นั้นมีศูนย์ 5 ศูนย์    1.ศูนย์กลาง 2.ศูนย์ข้างหน้า 3.ศูนย์ข้างขวา 4.ศูนย์ข้างหลัง 5.ศูนย์ข้างซ้าย     ศูนย์กลางคืออากาศธาตุ    ศูนย์ข้างหน้าธาตุน้ำ ศูนย์ข้างขวาธาตุดิน    ศูนย์ข้างหลังธาตุไฟ    ศูนย์ข้างซ้ายธาตุลม    เครื่องหมายใสสะอาดตรงช่องอากาศกลาง   ตรงนั้นเรียกว่า “ศูนย์”

ทำไมถึงเรียกว่า “ศูนย์” ?    ตรงนั้นเวลาสัตว์ไปเกิดมาเกิดแล้วก็มาอยู่ในที่สิบ   อยู่ในกลางดวงนั้น    กายละเอียดอยู่ในกลางดวงนั้น เมื่อพ่อแม่ประกอบธาตุธรรมถูกส่วนเข้าแล้ว ก็ตกศูนย์ทีเดียว    พอตกศูนย์ก็ลอยขึ้นมาเหนือกลางตัว 2 นิ้วมือ (เป็นดวงกลมใส)    โตเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ ใสเป็นกระจกส่องเงาหน้า  นี่มันจะเกิดละ    ตรงนั้นเรียกว่าศูนย์     ศูนย์นั้นเป็นสำคัญนัก   จะเกิดมาในมนุษย์โลกก็ต้องเกิดด้วยศูนย์นั้น   จะไปนิพพานก็ต้องเข้าศูนย์นั้นไปเหมือนกัน    จะไปสู่มรรคผลนิพพานก็ต้องเข้าศูนย์นั้นเหมือนกัน    แบบเดียวกัน

จะตายจะเกิดเดินตรงกันข้าม    ถ้าว่าจะเกิดก็ต้องเดินนอกออกไป    ถ้าว่าจะไม่เกิดก็ต้องเดินในเข้าไป   กลางเข้าไว้   หยุดเข้าไว้  ไม่คลาดเคลื่อน   นี้ตายเกิดอย่างนี้ ให้รู้จักหลักอย่างนี้    เมื่อรู้จักหลักดังนี้แล้วก็รู้ทีเดียว   พอรุ่งขึ้นเช้านี้ ที่ใจเราวุ่นวายอยู่นี่ มันทำอะไร ?    มันต้องการจะเวียนว่ายตายเกิด    ถ้าใจเรานิ่งอยู่ในกลางนั้น มันจะเลิกเวียนว่ายตายเกิด    เราก็รู้ตัวของเราอยู่    เราไม่ต้องง้อใคร    เรารู้แล้ว  เราเรียนแล้ว    เราเข้าใจแล้ว เราต้องทำใจของเราให้นิ่ง ทำใจให้หยุดอยู่ศูนย์กลางนั่น กลางของกลางๆๆๆ ซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบน นอกใน ไม่ไป เข้ากลางของกลางๆๆ นิ่งแน่นหนักขึ้น พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้น เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์

ดวงนั้นแหละเรียกว่า  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เป็นทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหมดในสากลโลกในสากลธรรม  พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จะเข้าไปสู่นิพพาน    ต้องไปทางนี้ทางเดียว  ทางไม่ซ้ำกัน  ไม่มีทางแตกแยกจากกัน    ไปแนวเดียวทางเดียวกันหมด  แต่ว่าการไปนั้น  บางท่านเร็ว  บางท่านช้า  ไม่เหมือนกัน     คำที่ว่าไม่เหมือนกันนี้แหละ  ถึงจะได้ชื่อว่าไม่ซ้ำกัน    คำว่าไม่ซ้ำกันน่ะเพราะเร็วกว่ากัน  ช้ากว่ากัน  แล้วแต่นิสัยวาสนาของตนที่สั่งสมอบรมไว้     แต่ว่าทางไปนั้นเป็นทางเดียวกันหมด  เป็นเอกายนมรรค  หนทางเส้นเดียว     เมื่อจะไปต้องหยุด    นี่ก็แปลก  ทางโลกเขาไปละก็ต้องเร็วเข้า  ขึ้นเรือบินรถยนต์ไปทีเดียว มันถึงจะเร็ว จึงจะถึง     แต่ทางธรรมไม่ใช่เช่นนั้น  ถ้าว่าจะไปละก็ต้องหยุด  ถ้าหยุดละ จึงจะเร็วจึงจะถึง  นี่แปลกอย่างนี้    ต้องเอาใจหยุดนั่นเองจึงจะเร็วจึงจะถึง  ต้องเอาใจหยุด      หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  หยุดทีเดียว     พอหยุดถูกส่วนก็เห็นดวงใส  ดวงใสนั่นแหละเรียกว่าเอกายนมรรค  หรือเรียกว่า  ปฐมมรรค    หรือเรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  โตเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์  ใจก็หยุดนิ่งอยู่กลางดวงนั้น

พอหยุดนิ่งถูกส่วนเข้าเท่านั้น  หยุดในหยุดๆๆ  พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น  หยุดในหยุด กลางของหยุด หยุดในหยุด กลางของหยุด เรื่อยเข้าไป   เห็นดวงอีกดวงหนึ่งเท่าๆ กัน  อยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่น  เรียกว่า  ดวงศีล     หยุดอยู่กลางดวงศีลนั่น  พอถูกส่วนเข้า  เห็นอีกดวงหนึ่งเท่าๆ กัน  เรียกว่า  ดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่น  พอถูกส่วนเข้า  เห็นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า  ดวงปัญญา  ดวงเท่าๆ กัน  หยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่น  พอถูกส่วนเข้า เห็นอีกดวงหนึ่ง  เรียกว่า  ดวงวิมุตติ  ใสละเอียดหนักลงไป  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตตินั่น  พอถูกส่วนเข้า เห็นอีกดวงหนึ่ง  เรียกว่า  ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่น  อยู่ที่เดียวกัน  พอถูกส่วนเข้า เห็นตัวกายมนุษย์ของเราที่นอนฝันออกไป  ที่ไปเกิดมาเกิด

เขาเรียกว่า  กายมนุษย์ละเอียด  พอเราไปเห็นเข้าเท่านั้น    อ้อ กายนี้ เวลาฝัน  เราเคยเห็นเคยไปกับมัน  มันไปทำกิจหน้าที่ฝัน    เวลาตื่นแล้วไม่รู้มันไปอยู่ที่ไหน    บัดนี้เรามาเห็นแล้ว  อยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่นเอง

เมื่อเห็นแล้วก็ให้กายมนุษย์ละเอียดนั่นนั่งเข้าเหมือนกายมนุษย์หยาบข้างนอกนี่ มันก็นั่ง   เมื่อนั่งถูกส่วนเข้าแล้ว  ใจมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด     พอถูกส่วนเข้า  หยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน    พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล     หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ     หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  พอถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา     หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงวิมุตติ ดวงเท่าๆ กัน     หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ     หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายทิพย์

ให้กายทิพย์นั่งแบบเดียวกันกับกายมนุษย์ละเอียดนั่น  ใจของกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์  พอถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  เห็น กายทิพย์ละเอียด

ใจกายทิพย์ละเอียดก็นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  เห็น กายรูปพรหม

ใจกายรูปพรหมก็นิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม  พอถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ใจกายรูปพรหมเมื่อหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้าเห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  เห็น  กายรูปพรหมละเอียด

ใจกายรูปพรหมละเอียด  หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น  กายอรูปพรหม

ใจกายอรูปพรหม  ก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม  พอถูกส่วนเข้า  ก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น  กายอรูปพรหมละเอียด

ใจกายอรูปพรหมละเอียด  หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายธรรม  รูปเหมือนพระปฏิมา  เกตุดอกบัวตูม  ใสเป็นกระจกส่องหน้า  หน้าตักโตเล็กตามส่วน  หน้าตักเท่าไหน  ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย  ก็โตเท่านั้น  กลมรอบตัว  อยู่กลางกายธรรมกายนั่น  ธรรมกายเป็นตัวพุทธรัตนะ  ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายเป็นธรรมรัตนะ

ใจพุทธรัตนะก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย  พอหยุดถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เท่ากับดวงธรรม  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายธรรมละเอียด  โตกว่าธรรมกายที่เห็นแล้วนั้น 5 เท่า  โตกว่า 5 เท่า

ใจกายธรรมละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ขยายส่วนโตหนักขึ้นไป  ใจก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายธรรมพระโสดา  หน้าตัก 5 วา  สูง 5 วา  เกตุดอกบัวตูม  ใสหนักขึ้น

ใจกายพระโสดาก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็นกายธรรมพระโสดาละเอียด  อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะของพระโสดานั้น  หน้าตัก 10 วา

ใจของกายพระโสดาละเอียด  หยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายพระสกิทาคา  หน้าตัก 10 วา  สูง 10 วา  เกตุดอกบัวตูม  ใสหนักขึ้น

ใจของกายพระสกิทาคาก็หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกิทาคา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายพระสกิทาคาละเอียด  หน้าตัก 15 วา  สูง 15 วา  เกตุดอกบัวตูม  ใสหนักขึ้น

ใจของกายพระสกิทาคาละเอียด  หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกิทาคาละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายพระอนาคา  หน้าตัก 15 วา  สูง 15 วา  เกตุดอกบัวตูม  ใสหนักขึ้น

ใจของกายพระอนาคาก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายพระอนาคาละเอียด  หน้าตัก 20 วา  สูง 20 วา  เกตุดอกบัวตูม  ใสหนักขึ้น

ใจของกายพระอนาคาละเอียดก็หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคาละเอียด  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายพระอรหัต  หน้าตัก 20 วา  สูง 20 วา  เกตุดอกบัวตูม  ดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตก็  20  วา  กลมรอบตัว

ใจของพระอรหัตก็หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัต  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง  20  วา  กลมรอบตัวเหมือนกัน   หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงศีล  วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง  20  วา  กลมรอบตัวเหมือนกัน  หยุดอยู่กลางดวงศีล  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงสมาธิ  วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง 20 วา  กลมรอบตัวเหมือนกัน   หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงปัญญา  วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง 20 วา  กลมรอบตัวเหมือนกัน   หยุดอยู่กลางดวงปัญญา  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติ  วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง 20 วา  กลมรอบตัวเหมือนกัน  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้า  เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง 20 วา  กลมรอบตัวเหมือนกัน  หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า  เห็น กายพระอรหัตละเอียด  สวยงามมาก  นี่เป็นกายที่ 18   เมื่อถึงพระอรหัตนี้แล้วหลุดกิเลสหมด  ไม่มีกิเลสเลย  เสร็จกิจในพระพุทธศาสนา  ทั้งสมถวิปัสสนาตลอด3

ตั้งแต่กายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหมละเอียด  แค่นั้นเรียกว่า  ขั้นสมถะ

ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด  จนกระทั่งถึงกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด  นี้ขั้นวิปัสสนา  ทั้งนั้น4

นี้ที่เรามาเรียนสมถวิปัสสนาวันนี้  ต้องเดินแนวนี้  ผิดแนวนี้ไม่ได้     และก็ต้องเป็นอย่างนี้  ผิดอย่างนี้ไปไม่ได้    ผิดอย่างนี้ไปก็เลอะเหลว   ต้องถูกแนวนี้  เราจะต้องยึดกายมนุษย์นี่เป็นแบบ     เข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียด  ยึดกายมนุษย์ละเอียดนั่นเป็นแบบ     เข้าถึงไปกายทิพย์  ต้องยึดกายทิพย์นั่นเป็นแบบ    เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด  ต้องยึดกายทิพย์ละเอียดเป็นแบบ  จะโยกโย้ไปไม่ได้    เข้าไปถึงกายรูปพรหม  ต้องยึดกายรูปพรหมเป็นแบบ     เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด  ต้องยึดกายรูปพรหมละเอียดเป็นแบบไป    เข้าถึงกายอรูปพรหม  ยึดกายอรูปพรหมเป็นแบบ    เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด  ยึดกายอรูปพรหมละเอียดเป็นแบบ    เข้าถึงกายธรรม  ยึดกายธรรมเป็นแบบ  นี่ที่ปั้นไว้เป็นรูปพระปฏิมาที่เขาปั้นไว้ในโบสถ์พระวิหารการเปรียญนี่  เขาทำแบบไว้ดี   

เข้าถึงกายธรรมละเอียด  ยึดกายธรรมละเอียดเป็นแบบ   

เข้าถึงกายธรรมพระโสดา  ยึดกายธรรมพระโสดาเป็นแบบ   

เข้าถึงกายธรรมพระโสดาละเอียด  ยึดกายธรรมพระโสดาละเอียดเป็นแบบ    

เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคา  ยึดกายธรรมพระสกิทาคาเป็นแบบ    

เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคาละเอียด  ยึดกายธรรมพระสกิทาคาละเอียดเป็นแบบ   

เข้าถึงกายธรรมพระอนาคา  ยึดกายธรรมพระอนาคาเป็นแบบ    

เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาละเอียด  ยึดธรรมกายละเอียดของพระอนาคาเป็นแบบ    

เข้าถึงกายธรรมพระอรหัต  ยึดกายธรรมพระอรหัตเป็นแบบ    

เข้าถึงธรรมกายพระอรหัตละเอียด  ยึดกายธรรมพระอรหัตละเอียดเป็นแบบ 

นี้เป็นหลักฐานในพระพุทธศาสนา

ในสมุดที่ได้รับแจกกันทั่วๆ หน้านั้น  18  รูปหน้าปึ้ง  [ปก]  ที่อธิบายมานี้  นับดูได้  ตั้งแต่  1.กายมนุษย์  2.กายมนุษย์ละเอียด  3.กายทิพย์  4.กายทิพย์ละเอียด  5.กายรูปพรหม  6.กายรูปพรหมละเอียด  7.กายอรูปพรหม  8.กายอรูปพรหมละเอียด  9.กายธรรม  10.กายธรรมละเอียด  11.กายพระโสดา  12.กายพระโสดาละเอียด  13.กายพระสกิทาคา  14.กายพระสกิทาคาละเอียด  15.กายพระอนาคา  16.กายพระอนาคาละเอียด  17.กายพระอรหัต  18.กายพระอรหัตละเอียด    ที่อธิบายมานี้  หน้าปึ้งที่แจกไปแล้วทุกคนนั้น 

ต่อแต่นี้ไป  คอยตั้งใจฟัง  นี่แหละหลักปฏิบัติพระพุทธศาสนา  ต้องแน่นอน จับตัววางตายอย่างนี้  ไม่เลอะเลือนเหลวไหล

แต่ว่าจะไปทางนี้ต้อง  “หยุด”    ทางธรรม เริ่มต้นต้องหยุด  ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งพระอรหัต    ถ้าไม่หยุดก็ไปไม่ได้  ชัดทีเดียว  แปลกไหมล่ะ  ไปทางโลกเขาต้องไปกันปราดเปรียวว่องไวคล่องแคล่ว  ต้องเล่าเรียนกันมากมาย   จนกระทั่งรู้เท่าทันเหลี่ยมคูผู้คนตลอดสาย  จึงจะปกครองโลกให้รุ่งเรืองเจริญได้      แต่ว่าไปทางธรรมนี่แปลก  “หยุด” เท่านั้นแหละไปได้    หยุดอันเดียวเท่านั้น

เรื่องนี้พูดเอาเองหรือมีตำรับตำราอย่างไร  ?  มีตำรับตำราอย่างนี้  คือเมื่อครั้งพระบรมศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่  ในเมืองสาวัตถี  มีพราหมณ์ปุโรหิตและนางพราหมณี  เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล  คลอดบุตรออกมาคนหนึ่ง  เวลาคลอดออกมาแล้ว  กลางคืนศัสตราอาวุธในบ้านลุกเป็นไฟไปหมด  พ่อเป็นพราหมณ์เฒ่าด้วย  เป็นพราหมณ์ครูพระเจ้าแผ่นดินด้วย  ตระหนกตกใจ  นี่มันเรื่องอะไรกัน  ตรวจดูตำราก็รู้ได้ทันทีว่า  ลูกชายเราที่เกิดมานี่จะเป็นคนร้ายจะเป็นโจรร้าย  จะฆ่ามนุษย์มากมาย  รู้ทีเดียวด้วยตำราของเขา  เมื่อมีโอกาสก็เข้าทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า  พระพุทธเจ้าข้า  ลูกของข้าพระพุทธเจ้าที่คลอดออกมานี้  จะต้องเป็นคนฆ่ามนุษย์เสียแล้ว  จะฆ่ามนุษย์มากด้วย  จะควรเอาไว้หรือปลงชีวิตเสียเป็นประการใด  ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเถิด  ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบถวายชีวิตบุตรของข้าพระพุทธเจ้าแด่พระองค์  ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงดำริว่า  ไอ้เด็กเล็กนิดเดียวจะเป็นอะไรไปล่ะ  เกรงใจพราหมณ์  เคารพพราหมณ์  นับถือพราหมณ์  ด้วยทรงดำริจะเอาอกเอาใจพราหมณ์  รู้เหมือนกันว่าพราหมณ์พูดแล้วไม่ค่อยจะผิด  ตะขิดตะขวงใจอยู่เหมือนกัน  เอาไว้ดูก่อนเถิดท่านพราหมณ์  เด็กคนเดียว  ถ้าว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไรเราจะฆ่ามันเมื่อไหร่ก็ฆ่าได้  มันจะไปไหน  ฉันปกครองคนทั้งประเทศ  พูดให้พราหมณ์ใจดีสักหน่อย  พราหมณ์ก็ตามพระทัยเอาไว้  โตขึ้น  เมื่อพราหมณ์รู้ว่าไอ้นี่มันจะฆ่าคน  เบียดเบียนสัตว์มากนัก  เราจะทำอย่างไร  ก็เลยให้ชื่อว่าอหิงสกุมาร  กุมารไม่เบียดเบียนใคร  และจริงอย่างนั้นด้วย  ตั้งแต่เล็กมาดีนักดีหนา  พ่อแม่ก็รักใคร่  พระเจ้าปเสนทิโกศลก็รักใคร่  ร่ำเรียนวิชาความรู้ในทางราชการในทางบ้านเมือง  เขาไม่แพ้ใคร  ปัญญาดีเฉลียวฉลาดว่องไว  เรียนศัสตราอาวุธ  เรียนมวย  ไม่แพ้ใคร  เฉลียวฉลาดดีนัก  เมื่อได้วิชาสมควรแล้ว  ต่อไปจะต้องเป็นคนใช้ของพระราชา  เพราะพ่อเป็นปุโรหิตของพระราชาอยู่แล้ว  ต้องไปเรียนวิชาให้สูง  เรียกว่าวิชาปกครองแผ่นดิน  ปกครองประเทศ  ส่งไปเรียนกับทิศาปาโมกข์อาจารย์  ทิศาปาโมกข์อาจารย์มีลูกศิษย์ถึง 500 คน  พราหมณ์ปุโรหิตผู้นี้  เมื่อส่งลูกไปเรียนเช่นนั้นก็มอบให้กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์  ทิศาปาโมกข์อาจารย์ได้รับอหิงสกุมารไว้  ก็สอนเป็นอันดิบอันดียังกับลูกกับเต้า  ได้ใกล้เคียงกับอหิงสกุมาร  อหิงสกุมารฉลาดฉอเลาะดีนัก  เข้าใกล้ครูละก็ทุกอย่าง  ทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจหาที่ติไม่ได้  อาจารย์รักใคร่  เรียนวิชาก็ไม่แพ้ใคร  เฉลียวฉลาดทุกอย่าง  กำลังร่างกายก็ดี  สวยงามก็สวยงาม  อาจารย์หลง  ทั้ง  500  คน  รักอหิงสกุมารมากกว่าใครๆ  เมื่อศิษย์ทั้ง  499  คน  เห็นว่าไม่ได้การ  เราไม่ฆ่าอหิงสกุมารเสีย  พวกเราโงหัวไม่ขึ้นแน่  มันกดหัวเราจมหมด  เราจะต้องฆ่ามันเสีย  เอาไว้ไม่ได้  คนโน้นบ้าง  คนนี้บ้าง  ช่วยกันหาเรื่องใส่เจ้าบ้าง  ยั่วเจ้าบ้าง  เย้าเจ้าบ้าง  พอเจ้าเกะกะเข้าฟ้องอาจารย์  หาว่าเกะกะ  หนักเข้าๆ  มันมากเรื่องหนักเข้า  ท่านอาจารย์เห็นด้วยว่ามันดีแต่ต่อหน้าเรา  พ้นเราไป  มันไปข่มเขาอย่างนี้  รุกรานเขาอย่างนี้  แท้ที่จริงมันไปแหย่ขึ้น  มันปั่นขึ้น  มันปลุกขึ้น  มันแก้ไขให้ชั่ว  มันฟ้องอาจารย์อยู่เสมอ  มันหนาหูเข้าแล้ว  ลงท้ายจนกระทั่งอาจารย์คิดว่า  ไอ้ลูกศิษย์คนนี้  เอาไว้ไม่ได้แล้ว  เดือดร้อนนัก  เมื่อเอาไว้ไม่ได้  อาจารย์ต้องฆ่า  อาจารย์ฆ่าจะทำอย่างไร  อาจารย์ฆ่าลูกศิษย์เสียชื่อทิศาปาโมกข์อาจารย์แย่  ลูกศิษย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มีมากมาย  พวกเหล่านั้นเป็นกษัตริย์ก็มากที่มาเรียนวิชา  ถ้าว่าฆ่าลูกศิษย์ก็เสียชื่อครูทีเดียว  จะทำอย่างไรดี  ต้องฆ่าทางอ้อม  เรียนวิชาไป  พอถึงวิชาบทหนึ่ง  ปิดหน้าสมุดเลยทีเดียว  ลูกศิษย์ก็ถามว่า  ทำไมต้องปิดเสียเล่าอาจารย์  ผมอยากศึกษาต่อไป  ไม่ได้ละแก  เรื่องนี้  ตรงนี้มันเป็นวิชาที่เรียนเข้าแล้ว  เมื่อสำเร็จแล้วจะเป็นเจ้าโลกทีเดียว  จึงพูดว่า  ถ้าจะเรียนจริงๆ  ต้องเอานิ้วมือของมนุษย์มา  1,000  องคุลีจึงจะเรียนได้  นี่จะหาอุบายฆ่าลูกศิษย์ละนะ  ลูกศิษย์ก็หมดท่า  ต้องหยุดเรียน  ก็พูดกันว่า  ถ้ามันอยากได้ก็ต้องฆ่ามนุษย์  ฆ่ามนุษย์ไป  ไม่ทันถึงพันหรอก  มนุษย์คนใดคนหนึ่งมันก็ต้องฆ่าตัวเสียบ้าง  มันจะเอาไว้ทำไม  มนุษย์มันมากด้วยกันนี่  สำเร็จแน่  อาจารย์นึกว่าไอ้นี่ต้องถูกฆ่าแน่ละ  ใช้มือคนอื่นฆ่าเถอะ  นี่เหลี่ยมของครูฆ่าลูกศิษย์  อหิงสกุมารนั่งคอตก  เราเกิดมาในสกุลพราหมณ์  เป็นครูสอนเขามา  บาปกรรมไม่ได้ทำเลย  มีศีลบริสุทธิ์ตลอดมา  ตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้  ความชั่วนิดหน่อยไม่ได้กระทำ  คราวนี้เรามาเรียนวิชาจะต้องฆ่ามนุษย์เสียแล้ว  ถ้าไม่ฆ่ามนุษย์  วิชาของเราก็ไม่สำเร็จ  ก็พูดกะอาจารย์ว่าตกลง  ถ้าจะต้องฆ่ามนุษย์ให้ได้องคุลีมาพันหนึ่งจึงจะเรียนสำเร็จ

ตกลงรับปากท่านอาจารย์  ร้องไห้เสียใจ  เศร้าโศกเสียใจ  ต้องเป็นคนลามกเลวทรามฆ่ามนุษย์  เป็นคนใจบาปหยาบช้า  เสียอกเสียใจร้องไห้พิไรรำพันนัก  ถึงอย่างใด  ถ้าว่าไม่เอานิ้วมือมาให้อาจารย์พันหนึ่ง  ท่านก็จะไม่บอกวิชาสำเร็จให้เรา  เมื่อเราเรียนวิชาไม่สำเร็จ  เราก็เป็นคนชั้นสูงไม่ได้  เป็นเจ้าโลกไม่ได้  ต้องเรียนวิชาให้สำเร็จจึงเป็นเจ้าโลกได้  ฉะนั้น  การเรียนวิชาใดๆ  เราต้องใช้วิชานั้นๆ ได้  ถ้าเรียนแล้วใช้วิชานั้นๆ ไม่ได้  จะเรียนทำไม  เสียเวลาเปล่าๆ  เสียข้าวสุก  เรียนวิชาไหน  ต้องใช้วิชานั้นได้  เอาละพึ่งได้  เอาละวิชานั้นใช้ได้  เหมือนยังกับเราเรียนวิชาวันนี้  เราก็ต้องเรียนจริงทำจริง  ต้องพึ่งวิชาที่เราเรียนนี้ให้ได้  ให้ศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว  ครูใช้ได้อย่างไร  ลูกศิษย์ก็ต้องใช้ได้เหมือนครู  อย่างนี้เรียกว่าคนมีปัญญา  เรียกว่าคนฉลาด  เหมือนองคุลีมาลโจร  เมื่อเวลาอหิงสกุมารตกลงต้องเรียนแน่  ก็รับอาจารย์ว่า  เอาละผมจะยอมเรียน  ยอมหาองคุลีมนุษย์มาให้พันหนึ่ง  อาจารย์ก็ส่งดาบฟ้าฟื้นให้เล่มหนึ่ง  ถนัดมือเลยเชียว  นี่เอาไป  ท่านอหิงสกุมารก็หยักรั้งตั้งท่าเลยทีเดียว  เมื่อออกจากอาจารย์แล้วก็หาเครื่องร้อยเครื่องแทงนิ้วติดตัวไป  พอออกจากท่านอาจารย์  เมื่อพบใครก็ชั่งเถอะ  เปรี้ยะคอขาด  เปรี้ยะแขนขาด  ขาดครึ่งตัว  ตัดเอาองคุลีไปองคุลีหนึ่ง  องคุลีหนึ่ง  ใครขวางไม่ได้เลย  พบไม่ได้เลย  ไม่ว่าคนไหนเลยทีเดียว  ไม่ว่ามนุษย์คนใด  ไม่ว่าชั้นสูง  ชั้นกลาง  ชั้นต่ำฆ่าหมด  ฆ่าเสียจนกระทั่งเล่าลือระบือลือเลื่องไปว่าในเมืองสาวัตถีนั้น  มีโจรสำคัญ  คือองคุลีมาลโจร  ที่ชื่อองคุลีมาลโจรนั้นก็เพราะนิ้วมือ  ได้มาแล้วร้อยเข้าตากแห้งแล้วคล้องคอไป  นับนิ้วได้  999  นิ้วแล้ว  เรื่องถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล  ให้กรีฑาทัพยกไปปราบองคุลีมาลโจร  ธรรมเนียมของกษัตริย์โบราณ  เมื่อกษัตริย์ต่อกษัตริย์ไปพบกันต้องรำทวนกัน  กษัตริย์ต่อกษัตริย์ด้วยกัน  ต้องรำกระบี่รำทวนกัน  ต้องฟาดฟันกันเอง  ใครดีก็ดีไป  ใครไม่ดีก็คอขาดไป  ไม่ใช่ใช้ทหารรบเหมือนธรรมดาในบัดนี้  เมื่อเจอะเข้าต้องรำทวนเองทั้งนั้น  เอาฝีมือกษัตริย์ทั้งนั้น  เอาฝีมือตัวเองทั้งนั้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ท้อพระทัย  เอ๊ะ!  นี่เราไปปราบองคุลีมาลโจร  ตอนนี้จะต้องไปรำกระบี่กะมัน  ต้องไปรำทวนกะมัน  เมื่อมันเกิดมา  ศัสตราอาวุธมันก็ลุกเป็นฟืนเป็นไฟ  เราไม่มีอัศจรรย์เหมือนอย่างกะมัน  เมื่อไปรำทวนเข้าแล้ว  คอเราจะขาดหรือคอมันจะขาด  เราก็ยังไม่รู้  ไม่แน่พระทัย  ท้อพระทัย  รุ่งเช้าจะยกทัพไปคิดว่า  เมื่อยกทัพไปแล้ว  ไม่ตรงไปเลยทีเดียว  ไปพักอยู่ใกล้ๆวิหารเชตวันก่อน  ไปทูลพระพุทธเจ้าเสียก่อน  นางพราหมณีผู้เป็นมารดา  พอรู้ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะยกทัพไป  ตัวก็เลยล่วงหน้าไปเสียก่อน  จะไปบอกลูกชายให้หนีไป  ไม่เช่นนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจะฆ่าเสีย  พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า  เมื่อนางพราหมณีไป  องคุลีมาลโจรเห็นเข้าก็จะฆ่านางพราหมณี  ฆ่าแม่เสียเอานิ้วอีก  ถึงจะเป็นพ่อเป็นแม่ไม่เข้าใจ  ใกล้ละเป็นฆ่าเลยทีเดียว  จะเอานิ้ว  จะมุ่งเรียนแต่วิชาเท่านั้น  แกไม่ได้มุ่งอะไร  พระพุทธเจ้ารู้ว่า  องคุลีมาลโจรนี้เป็นอสีติมหาสาวกองค์สุดท้ายของเรา  ถ้าหากฆ่ามารดาเสียแล้ว  เป็นอภัพพสัตว์  ไม่ได้มรรคผลในชาตินี้  เราขาดสาวกผู้ใหญ่ไป  ไม่ครบ  80  ได้  79  เท่านั้น  เราจำเป็นที่จะต้องไปทรมานองคุลีมาลโจร  พระองค์ทราบชัดก็เสด็จไปก่อนใครๆทั้งหมด  ไปถึงองคุลีมาลโจร  องคุลีมาลโจรพอเห็นเข้าเท่านั้น  แหมนิ้วมันงามจริง  วิชาเราเป็นเจ้าโลกแน่  สำเร็จแน่  พอเห็นพระศาสดาทั้งพระรูป  ทั้งพระรัศมี  ทั้งงดทั้งงาม  ดูไม่เบื่อ  น่าเลื่อมใส  น่าไหว้น่าบูชาทั้งนั้น  ก็คาดว่าสำเร็จแน่  ก็รี่เข้าใส่ทีเดียว  คว้าดาบฟ้าฟื้นก็รี่ใส่ปราดเข้าฟัน  พอปราดเข้าฟัน  พรืด  ห่างออกไป  20-30  วา  เอาละซิ  ตานี้  ห่างออกไปเสียแล้ว  องคุลีมาลโจรก็ตามใหญ่  วิ่งตึกๆๆ  ไม่ได้รอละ  จี๋เชียว  แล้วก็โจนฟัน  พรืดไปอีกแล้ว  ห่างตั้ง  40-50  วา  ไปใหญ่เชียว  ห่างหนักขึ้นทุกที  พอวิ่งหนักเข้าๆ  ใกล้จะทันวิ่งช้าๆ  ใกล้จะทัน  พอใกล้จะทัน  ก็พรืดห่างไปเสียกว่านั้นอีกแล้ว  เท่าไหร่ๆ ก็ฟันไม่ได้  ฟันไม่สำเร็จ  เมื่อฟันไม่สำเร็จ  จนกระทั่งหืดขึ้นคอเหนื่อยเต็มที่  พอเหนื่อยเต็มที่แล้ว  คิดว่า  นี่เขาเป็นเจ้าโลกก่อนเรา  เราไม่ใช่เจ้าโลกแน่  เห็นจะเป็นไม่ได้  บุญไม่เท่าทันเขาแล้ว  ท้อในใจ  พอท้อใจ  ใจมันก็ลดหมด  ทิฏฐิมานะยอมจำนนพระองค์  เมื่อยอมจำนนพระองค์แล้วก็เปล่งวาจาว่า  สมณะหยุด  พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มาตรัสว่า  สมณะหยุดแล้ว  ท่านไม่หยุด  คำว่า  “หยุด”  อันนี้แหละถูกตั้งแต่ต้นจนเป็นพระอรหัต  คำว่าหยุดอย่างนี้คำเดียวเท่านั้น  ถูกทางสมณะตั้งแต่ต้นจนพระอรหัต  เพราะฉะนั้น  เป็นตัวศาสนาแท้ๆ เชียว  คำว่า  “หยุด”  อันนี้แหละ

เพราะฉะนั้น  ต้องเอาใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  หยุดทีเดียว  หยุดนั่นแหละถูกเป้าหมายใจดำ  ถูกโอวาทของพระบรมศาสดา  ถ้าไม่หยุดละก็จะปฏิบัติศาสนาสัก  40-50  ปีก็ช่าง  ที่สุดจะมีอายุสัก 100 กว่า  120  130 ปี  จะปฏิบัติไปสัก 100 ปี  ถ้าใจหยุดไม่ได้  หยุดเข้าสิบเข้าศูนย์  กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ไม่ได้  ไม่ถูกศาสนาสักที  หยุดเข้าสิบเข้าศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ไม่ได้  ไม่ถูกศาสนาสักที  ต่อเมื่อใดหยุดได้ละก็ถูกศาสนาทีเดียว  ถูกพระโอษฐ์ของพระศาสดาทีเดียว  ให้จำให้แม่นนะ.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: