ต้องกำหนดนิมิตเป็นองค์พระ ถ้าเห็นเป็นดวงแล้วจะเข้ากลางไม่ได้เลย ?

กระผมได้ภาวนาวิชชาธรรมกายมาตั้งแต่บวชเมื่อปลายปี 2529   นั่งภาวนาเพียงอาทิตย์เศษ  ก็เห็นองค์ธรรมกาย  แต่ยังไม่เห็นดวงปฐมมรรค    พอได้ธรรมกายเพียง 2-3 วัน ก็มองอะไรไม่เห็นอีกเลย เวลานั่งภาวนาก็เข้ากลางไม่ได้ จับได้แต่กว้างๆ และนิมิตก็ต้องเป็นองค์พระ ถ้าเห็นเป็นดวงแล้วจะเข้าไม่ได้เลย แต่ระยะหลังนี้ เข้ากลางได้ ประคองนิมิตได้ แต่พอเข้ากลางก็จะเกิดแสงสว่างวูบขึ้นอย่างแรง  จิตจะเคลื่อนที่ แล้วจะทำใหม่ไม่ได้   ขอได้โปรดแนะนำด้วยครับ ?


ตอบ:

เรื่องเห็นดวงปฐมมรรคหรือไม่นี้ ไม่เป็นประมาณนะ   เพราะว่า ในที่สุดละเอียดของดวงธรรมก็เป็นองค์พระ ในกลางองค์พระก็มีดวงธรรม หรือ ณ ศูนย์กลางของกายในกายต่างๆ ก็มีดวงธรรม เหมือนกัน 

สุดละเอียดของดวงธรรมนั้นอันประกอบด้วยคุณความดีในธาตุในธรรม เป็นดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ สุดละเอียดไปก็เป็นกายในกายที่ละเอียดยิ่งไปกว่ากายเดิม   แปลว่า ในกายก็มีดวง ในดวงก็มีกาย นี่เป็นธรรมดา 

เมื่อเห็นธรรมกายแล้ว โปรดจำไว้ว่า เห็นแล้วต้องเข้าถึง   ทุกอย่างต้องเข้าถึง   วิธีเข้าถึงนั้น ไม่ว่าจะเห็นดวงธรรมหรือเห็นกายละเอียดกายใดก็ตาม   มีอุบายวิธีคือ เหลือบตากลับนิดๆ  เพื่อมิให้สายตาเนื้อไปแย่งหน้าที่ตาใน   

ขณะเดียวกันนั้น ก็มีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง คือ ใจของคนเรานี้ชอบที่จะฟุ้งซ่านออกข้างนอกตัว   ถ้าจะให้เข้าใน  เห็น จำ คิด รู้ จะเข้าในได้   แต่พอใจจะเข้าในเมื่อไร   ตาจะเหลือบกลับเองเมื่อนั้น นี้เป็นธรรมชาติ แต่เราไม่ได้สังเกตตัวเอง   

ถ้าใครเคยสังเกตเด็กทารกเวลานอนหลับ  ก็จะพบว่า ตาของเด็กนั้นจะเหลือบกลับตลอดเวลา  และนี่ก็เป็นธรรมชาติที่แปลก   ซึ่งหลวงพ่อใหญ่ คือ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านพบและเข้าใจเลยว่า  เวลาที่สัตว์จะเกิด จะดับ จะหลับ จะตื่น เมื่อจิตหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม   จิตดวงเดิมจะตกศูนย์   จิตดวงใหม่จะเกิดขึ้นมาใหม่ตรงนั้น   อาการของสัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เรา  ตาจะเหลือบกลับ   

เพราะฉะนั้นอุบายนี้เป็นเรื่องสำคัญ  เมื่อเราเหลือบตากลับนิดๆ   ใจจะหยุดข้างในได้โดยง่าย   จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกให้ชำนาญ  ผู้ที่ทำวิชชาชั้นสูงนั้น   ตาเขาเหลือบกลับตลอดเวลา   แต่ต้องไม่ลืมตา   คือตาจะพรึมๆ อยู่นั่นแหละ  ใจจะเข้าในและตกศูนย์อย่างละเอียดด้วย    เพราะฉะนั้นวิธีทำให้ใจสามารถเข้าไปเห็นดวงในดวงกายในกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระหรือธรรมกายได้สนิทดีนั้น  ให้เหลือบตากลับนิดๆ  แล้วนึกเข้าไปเห็นศูนย์กลางองค์พระ    เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ  ไม่ใช่มองดูเฉยๆ   ถ้ามองดูเฉยๆ   มองไปอย่างไร ก็ไม่ก้าวหน้า    ต้องนึกเข้าไปเห็นและเข้าไปเป็น   ถ้าเพียงดวงก็นึกเข้าไปเห็น ณ ภายในดวง   ทิ้งความรู้สึกภายนอกของเรา  เข้าไปเห็นภายใน   เหมือนกับมีกายอีกกายหนึ่งของเราเข้าไปเห็นข้างใน   ทำอย่างนี้จะก้าวหน้าได้   ถ้าเห็นกายแล้ว  ก็ให้ดับหยาบไปหาละเอียด  คือ  สวมความรู้สึกเข้าไปเป็นกายละเอียดนั้นเลย   ทิ้งความรู้สึกอันเนื่องอยู่กับกายเนื้อของเรา  กายละเอียดปรากฏขึ้นมาเมื่อไร ก็ดับหยาบไปหาละเอียดเข้าไปเป็นกายละเอียดนั้นแล้วใจมันจะตกศูนย์เอง  เพราะว่าใจของกายละเอียดนั้นจะทำหน้าที่เอง   โดยวิธีดังนี้ ใจของกายละเอียดจะทำหน้าที่เจริญภาวนาต่อ หยุดนิ่งเข้าไปจนถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นเจตสิกธรรมที่สุดละเอียดของใจของกายนั้น  แล้วก็จะถึงธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ คือ “ใจ” ของ อีกกายหนึ่งที่ละเอียดๆ ต่อไป   เหมือนกับการถ่ายทอดถึงซึ่งกันและกันเข้าไปจนสุดละเอียด  

ที่กล่าวมานี้นั้นก็เป็นอุบายวิธีในการเจริญจิตภาวนาให้ได้ผลดี    ซึ่งพอจะสรุปหลักย่อๆ ได้ 4 ประการ คือ

  1. เห็นดวงให้เดินดวง คือ  นึกเข้าไปเห็นจุดเล็กใสที่ศูนย์กลางดวง ให้ใจหยุดใน หยุด กลางของหยุด กลางของกลางดวงให้เห็นใสละเอียดไปจนสุดละเอียด
  2. เห็นกายให้เดินกาย  คือ  ดับหยาบไปหาละเอียด คือ นึกเข้าไปเห็นจุดเล็กใสที่ ศูนย์กลางกายละเอียดที่ปรากฏขึ้นใหม่ ให้ใจของกายละเอียดนั้นเจริญภาวนา หยุดในหยุด กลางของหยุด ให้เห็นใสละเอียดทั้งดวง ทั้งกาย ทั้งองค์ฌาน
  3. เหลือบตากลับนิดๆ (ไม่ต้องลืมตา) ขณะเจริญภาวนา จะป้องกันมิให้สายตาเนื้อไปแย่งงานจิตตภาวนาของตาใน (คือใจ)   และจะช่วยให้ใจหยุดนิ่ง กลางของหยุด ณ ศูนย์กลางกายได้ดี
  4. เข้ากลางทำให้ขาว คือ นึกเข้าไปหยุดในหยุดกลางของหยุด ณ ศูนย์กลางดวงหรือธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของกายที่ใสละเอียดที่สุด ไว้เสมอ
แชร์เลย

Comments

comments

Share: