หลวงพ่อวัดปากน้ำเทศนาเรื่องกฐิน

หลวงพ่อวัดปากน้ำเทศนาเรื่องกฐิน

“ พระบรมศาสดาเมื่อมีพระชนม์อยู่ พระองค์เองกำลังมีพระชนม์อยู่นั้น มีพระอนุรุทธเถระเจ้ามากราบลาพระองค์ เมื่อออกพรรษาแล้วจะไปแสวงหาผ้าบังสุกุล พระองค์ก็ทรงอนุญาตแก่พระอนุรุทธ พระอนุรุทธลาไปแสวงหาผ้าบังสุกุล นางเทพธิดาอยู่ในดาวดึงส์เทวโลก เห็นด้วยทิพยเนตร เห็นด้วยตาทิพย์ว่า พระอนุรุทธเถระเจ้าแสวงหาผ้าบังสุกุล เราเคยเป็นปุราณทุติยิกา เคยเป็นภรรยาพระอนุรุทธอยู่แต่ชาติก่อนโน้น เราสมควรจะสงเคราะห์พระ อนุเคราะห์พระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ ส่องทิพย์เนตรก็เห็นชัดว่า สมควรจะสงเคราะห์ แล้วก็ไปหยิบเอาผ้าทิพย์ที่มีเนื้อละเอียด เป็นผ้าทิพย์ที่สมควรแก่มนุษย์จะใช้ได้ หยิบเอาผ้าผืนใหญ่ที่จะเอามาทำเป็นไตรจีวรได้ เป็นสังฆาฏิก็ได้ ทำเป็นจีวรได้ ทำเป็นสบงก็ได้ ตามความปรารถนา เอามาสงเคราะห์อนุเคราะห์พระอนุรุทธ เอามาคล้องไว้ที่ค่าคบในป่าทึบ แล้วแสดงเทวฤทธิ์เบิกหนทางให้เป็นช่องไปเหมือนทางเกวียน เป็นช่องเดินเข้าไปได้ ในที่สุดในค่าคบประดู่ มีผ้าขาวผืนหนึ่งคล้องไว้แขวนไว้แล้ว ก็หนทางที่พระผู้เป็นเจ้าจะแสวงหาผ้าไตรจีวรนะ นี่ก็มานึกถึงว่าจำเพาะจะเดินไปทางนั้น เพราะอะไร พระอรหันต์ถ้าท่านจะต้องการอะไรจริงละก็ ท่านมีญาณ ท่านมองดูด้วยญาณ ท่านก็เห็นช่องว่างว่าท่านไปที่ไหน เห็นได้หมด เห็นปรากฏเชียว ผ้าบังสุกุลจะไปตกเรี่ยเสียหายอยู่ที่ไหน ๆ มันจะเป็นอะไรท่านเห็นหมดนะ

แต่ในเรื่องนี้ทางศาสนาก็มี ที่พูดกันก็มี ที่เห็น ๆ อยู่อย่างนี้ก็มี ท่านคงจะมีนัยรู้อยู่ ท่านจึงเดินไปถูก แต่ว่าในตำนานเขาว่าเป็นช่องไว้ เบิกหนทางไว้ให้เป็นช่องเข้าไป พอพระผู้เป็นเจ้าเดินไปได้ พระอนุรุทธลงทางนั้นแล้ว ก็เดินไป เดินไปตามทางที่เขาทำไว้เป็นช่องนั้น พอไปสุดช่องนั้น ก็ไปเห็นชายผ้าที่ค่าคบต้นประดู่ เอ๊ะ นี่ใครมาคล้องไว้นี่ ใหม่เอี่ยมเชียว ของใครก็ไม่รู้ ก็นึกแต่ในใจว่าของมีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ เอ้า ก็ไปมอง ๆ ดู มอง ๆ ดู แล้วก็ดูรอบ ๆ ต้นไม้ ก็ไม่เห็นมีเจ้าของที่ไหน ให้กระแอมกระไอก็ไม่มีเจ้าของที่ไหนมาปรากฏ เห็นจะไม่มีเจ้าของแน่ละนะ คิดแต่ในใจว่า เปล่งวาจาว่า อิมํ วตฺถํ ปํสุกูลจีวรํ มยฺหํ ปาปุณาติ ว่าผ้าอันนี้หาเจ้าของไม่มีเลย เป็นผ้าที่แปดเปื้อนอยู่ด้วย อ้ายที่ฝนตกถูกมัน ไคลมันดำ ๆ แปดเปื้อนเถ้าไคลอยู่อย่างนี้ เป็นของไม่สะอาด ของไม่สะอาด มาแปดเปื้อนกับของไม่สะอาด เรียกว่า ปํสุกูลจีวรํ มยฺหํ ปาปุณาติ ถึงแก่เราเป็นของเราบัดนี้แล้วไม่มีเจ้าของแล้ว เป็นของเราแน่ พอนึกเช่นนั้นก็เอื้อมมือไปจับผ้าแล้วว่า อิมํ วตฺถํ ปํสุกูลจีวรํ มยฺหํ ปาปุณาติ อย่างนี้แหละ เหมือนพระภิกษุไปชักผ้าป่า ชักอย่างนี้แหละ แบบเดียวกันนี้แหละ แบบเดียวกันอย่างนี้แหละ

ต้องพิจารณาว่าผ้าป่านี้เขาทอดธุระ เขาทิ้งแล้ว ไม่มีเจ้าของแล้ว ปล่อยธุระกันแล้ว ก็เปล่งอุทานวาจาดังนั้นว่าผ้านี้ อิมํ วตฺถํ ผ้านี้ อสฺสามิกํ เขาทอดธุระหมดแล้ว เป็นของเกลือกกลั้วด้วยฝุ่นฝอย อยู่ในที่ไม่สะอาด เอาใบไม้มาลาดไว้ เอาไปคล้องไว้ที่ค่าคบไม้ เป็นของไม่สะอาด มยฺหํ ปาปุณาติ ถึงแล้วแก่เรา นี้ผ้าผืนเดียว ถ้าผ้าหลายผืนต้องใช้ อิมานิ วตฺถานิ อสฺสามิกานิ ปํสุกูลจีวรานิ มยฺหํ ปาปุณนฺติ กิริยาก็ต้องเป็นพหูพจน์ ถ้าว่าประธานเป็นพหูพจน์แล้วก็ กิริยาก็ต้องเป็นพหูพจน์ ถ้าว่าประธานเป็นเอกพจน์แล้ว กิริยาจะต้องเป็นเอกพจน์ด้วย นี่ภาษาเรียนเขา ภาษาเรียนบาลีเขา เอกพจน์น่ะแปลว่าของสิ่งเดียว เป็นเอกพจน์แปลว่าของสิ่งเดียว ถ้าพหูพจน์ของหลายสิ่ง ผ้าก็มีผ้าหลายผืน ให้เปล่งวาจาอย่างนี้ อิมานิ วตฺถานิ อสฺสามิกานิ ปํสุกูลจีวรานิ มยฺหํ ปาปุณนฺติ พิจารณาแบบเดียวกัน แล้วก็ไปหยิบเอาผ้านั้นมา พระอนุรุทธพอได้ผ้ามาแล้วท่านก็นำเอาผ้านั้นถวายพระบรมศาสดา

พระองค์ทรงรับสั่งว่า ผ้านี้กรานเป็นกฐินได้ ชักผ้าป่ามาเดี๋ยวนั้นแหละ พระองค์ทรงรับสั่งว่ากรานเป็นกฐินได้ ก็ออกพรรษาไป ก็เลยเอาผ้านั้นกรานเป็นกฐินซะ เขาจึงว่าผ้าเป็นต้นกฐิน นี่เพราะอ้ายตัวเดิมมามันได้มาจากผ้าป่า มาถวายพระบรมศาสดา พระองค์ก็รับสั่งว่ากรานเป็นกฐินได้ เอามากรานเป็นกฐินเสียผ้าป่าเป็นต้นกฐิน กฐินน่ะเป็นผลของผ้าป่า นี่เดิมเป็นมาอย่างนี้ เขาว่าผ้าป่าอานิสงส์มากกว่าต้นกฐิน เพราะเป็นต้นกฐิน เขาจะตัดสินว่ากระไรอย่างนี้ ผ่าป่าหรือกฐินก็ตามเถิด การทอดกฐินจำเพาะมีเวลาน้อยนะ ตั้งแต่ปวารณาพรรษาแล้ว แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ตั้งแต่วันนั้นไปทีเดียว ถึงกลางเดือน ๑๒ พอได้อรุณวันที่ ๑๕ ก็หมดกันเชียว ๓๐ วัน ไม่ถึง ๓๐ วัน กลางเดือน ๑๒ ๒๙ วัน ขาดวันหนึ่ง เดือน ๑๑ เดือนขาดวันพระวัน ๑๔ ค่ำนี้ ไม่ใช่ ๑๕ ค่ำ ๒๙ วันนะเป็นเขตของกฐิน กฐินน่ะมีเขต เมื่อทอดกฐินแล้ว ผ้าป่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นของพระอนุรุทธ เมื่อเป็นของพระอนุรุทธ พระอนุรุทธสละขาดจากใจของพระอนุรุทธถวายพระบรมศาสดา เมื่อถวายพระบรมศาสดาแล้ว ก็เป็นของพระบรมศาสดา เป็นของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงรับสั่งว่ากรานกฐินได้ พระองค์เองเป็นผู้ทอดกฐินก่อนใคร เป็นผู้เริ่มต้นทอดกฐินก่อนทีเดียว นั่นได้ชื่อว่าพระศาสดาทอดกฐินแล้ว ก็กรานเป็นกฐินขึ้น พระองค์ทรงวางตำรับตำราในเรื่องกฐิน

ภิกษุหรือเจ้าอาวาส หรือว่าภิกษุองค์หนึ่งองค์ใด ได้อนุโมทนากฐิน กรานกฐิน แล้วพ้นจากอาบัติโทษพึ่ง ๕ สิกขาบท ทั้ง ๕ สิกขาบทที่กล่าวถึงการพ้นจากอาบัติโทษ ๕ สิกขาบทน่ะอย่างไร อนามนฺตจาโร ถ้าว่าภิกษุไม่ได้อนุโมทนากฐิน เวลาวิกาลออกจากวัดต้องบอกลาภิกษุมีในวัดก่อน ถ้าไม่ลาก่อนต้องอาบัติโทษ ต้องลาก่อน ไม่ลาไม่ได้ ถ้าอนุโมทนากฐิน กรานกฐินแล้ว ไม่ต้องบอกลาก็ไปได้ คุ้มอาบัติสิกขาบทนี้ได้ คณะโภชน์ ภิกษุฉันคณะโภชน์ไม่ได้ ต้องอาบัติ เมื่ออนุโมทนากฐินแล้ว กรานกฐินแล้ว ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่เป็นอาบัติ ๒ สิกขาบท บทแรก ติจีวรวิปฺปวาโส อยู่ปราศจากไตรจีวรไม่ได้ อนุโมทนากฐินแล้ว กรานกฐินแล้ว จึงจากไตรจีวรได้ อติเรกจีวรํ ได้อติเรกจีวรมา พินทุอธิษฐานไม่ได้ ต้องอาบัติ ล่วง ๑๐ วัน เป็นอาบัติ อนุโมทนากฐินแล้ว กรานกฐินแล้ว ไม่ต้องอาบัติ อยู่ปราศจากไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ อติเรกลาภํ สงฺฆิกลาภํ สังฆิกลาภใด ๆ เกิดขึ้นอาวาสนั้น ภิกษุได้อนุโมทนากฐินกรานกฐินแล้ว ก็ได้ส่วนแบ่งเต็มที่ ได้ส่วนแบ่งเต็มส่วน ไม่ได้อนุโมทนากฐินแล้ว กรานกฐิน ไม่ได้เลย ๕ สิกขาบทนี้ พ้นอาบัติได้ ส่วนถวายเป็นสงฆ์ เช่น ถวายเป็นกฐินนะ คุ้มอาบัติภิกษุได้ทั้งวัด กี่ร้อยกี่ร้อยคุ้มได้หมด นี่เป็นอานิสงส์พิเศษออกไปอีก ถ้าว่าผ้าถวายเป็นสงฆ์ ผ้าป่าก็เป็นสังฆทาน

กฐินก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน แบบเดียวกัน ไม่มากน้อยกว่ากัน เพราะต้องมีอานิสงส์พิเศษมากออกไปกว่านี้ ถ้าผ้าจะเป็นต้นกฐิน ต้นกฐินจะเป็นต้นผ้าป่าน่ะ อันนั้นแล้วแต่เรื่องเถอะ เอากฐินเป็นต้นผ้าป่าบ้างก็ได้ พอได้ผ้ากฐินแล้ว สมควรที่ได้มาแล้ว ก็ไปทอดผ้าป่าได้ แบบเดียวกัน ได้ผ้าป่ามาแล้ว เราจะมากรานเป็นกฐินบ้างก็ได้เหมือนกัน ไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นสังฆทานเหมือนกัน แต่ว่าการทอดกฐินนั้นมีอานิสงส์มากกว่าการทอดผ้าป่า จะคุ้มอาบัติของภิกษุได้ ๕ สิกขาบท ส่วนผ้าป่านั้น คุ้มโทษของสิกขาบท ๕ นี้ไม่ได้ กฐินนั้นแหละเป็นแง่สำคัญกว่าผ้าป่านั้น เป็นสังฆทานแบบเดียวกัน ที่ถวายผ้าเป็นผ้าป่านี้ เป็นสังฆทานแท้ ๆ ถวายผ้าเป็นสังฆทานนั้นได้บุญกุศลยิ่งใหญ่นะ ไม่ใช่พอดีพอร้ายนะ “

โอวาทพระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทสโร ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗ ( แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย )

เก่ง เอกสิบทิศ

๑๔ กันยายน ๒๕๖๖

ปล. ที่มา: คณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ. ( ๒๕๕๕ ). รวมพระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทสโร ). ( น.๖๗๑ – น.๖๗๔ ). กรุงเทพฯ: บริษัท เอกพิมพ์ไท จำกัด.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: