ธรรมชาติสองฝ่าย คือ บุญ-บาป ต่อสู้กันอยู่ในจิตสันดานของสัตว์โลกมายาวนาน โดยที่เราไม่รู้ตัว.
อยากจะกล่าวถึงคุณของการศึกษาสัมมาปฏิบัติ ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกาย ถึงพระนิพพานของพระพุทธเจ้า ตามที่แนะนำสั่งสอนมา ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านปฏิบัติได้ผลดี คือตามแนวสติปัฏฐาน 4 ด้วยการมีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ 5 แล้วก็เจริญสมถภาวนา อบรมจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น แล้วก็ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา นำให้เข้าถึงธรรมในธรรมต่อๆไป คือคุณธรรมของตนเองที่ได้ประพฤติสั่งสมอบรมมา ตั้งแต่ในระดับมนุษยธรรม ถึงเทวธรรม ถึงพรหมธรรม
เมื่อใจหยุดนิ่ง ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา มีผลให้บุญกุศลที่เราประกอบบำเพ็ญมา มีทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล เป็นต้น ที่เจริญแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับเป็นบารมี เป็นคุณความดีอย่างยิ่งยวด เป็นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ตามลำดับขึ้นมาของแต่ละคนที่ตั้งใจศึกษาสัมมาปฏิบัติอบรมสั่งสมมา เป็นคุณเครื่องชำระกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่เกิดขึ้นในจิตสันดานของเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม คือธรรม ธรรมชาติที่เป็นเหตุผลของกันและกันเกิดขึ้น แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็ดับไปอยู่เสมอ
ในฝ่ายบาปอกุศล ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าว ดลจิตดลใจให้ปฏิบัติตามอำนาจของมันนั้น มีผลให้กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งฝ่ายรูปธรรม ฝ่ายนามธรรม จากสุดหยาบของกายมนุษย์-ไปสุดละเอียด สุดละเอียดในส่วนบาปอกุศล กายในกายก็เป็นทุคติ เวทนาในเวทนาก็เป็นทุกขเวทนา จิตในจิตก็เศร้าหมองขุ่นมัว ธรรมในธรรมก็เป็นอกุศลธรรม ทับทวีมาตั้ง ตราบใดที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรทุกขณะจิต นั่นแหละ สะสมหมักหมมอยู่ในจิตสันดานเป็นอาสวะ ที่หุ้มซ้อนเอิบอาบซึมซาบปนเป็นอยู่ในธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ เป็นกายทุคติ เป็นเวทนาที่เป็นทุกขเวทนา เป็นจิตที่เศร้าหมอง ธรรมในธรรมที่เป็นบาปอกุศล หรืออกุสลาธัมมา สะสมตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานเพราะได้ปฏิบัติมามาก นั้นแหละ หุ้มเคลือบเอิบอาบซึมซาบปนเป็นอยู่ในธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้อย่างหนาแน่น เป็นอาสวะ เป็นอนุสัย
แต่เมื่อไหร่ ที่ใจเรานั้นยอมรับบุญกุศลคุณความดี นับตั้งแต่รู้จักรับฟัง รู้จักศึกษา รู้จักทำความเข้าใจ ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ตั้งแต่ระดับหยาบๆ กลางๆ ละเอียด แล้วก็ได้เรียนรู้ธรรมะฝ่ายดีฝ่ายบุญกุศล เป็นคุณเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส กลายเป็นบุญกุศล คุณธรรมในฝ่ายบุญกุศลเรียกว่ากุสลาธัมมาเนี่ย ก็ดลจิตดลใจให้ปฏิบัติตามอำนาจของมัน ตัวเรานี่แหละ ประพฤติปฏิบัติมาทุกขณะจิตเท่าที่เราปลอดจากฝ่ายบาปอกุศล เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี ฝ่ายบาปอกุศลมีขึ้น ฝ่ายบุญกุศลก็ชิดซ้ายหายไป แต่พอฝ่ายบุญกุศลเกิดขึ้น เหมือนกับนั่งบนเก้าอี้ดนตรี ฝ่ายบาปอกุศลก็หนีหน้าไป
ที่นี้ ฝ่ายบุญกุศลยิ่งมีกำลังแรงมาก ก็เป็นคุณเครื่องชำระฝ่ายบาปอกุศล นี่แหละ ธรรมชาติสองฝ่ายนี้ต่อสู้กันมาโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่เมื่อเราศึกษาสัมมาปฏิบัติแล้วเราก็มารู้ว่า ฝ่ายบาปอกุศลนี่เขาพยายามยึดพื้นที่ เหมือนกับเล่นเก้าอี้ดนตรีนั่นแหละ ฝ่ายบุญกุศลก็เป็นคุณความดี ก็พยายามยึดพื้นที่เหมือนกัน แต่ว่าจิตใจของสัตว์โลกมักจะเป็นไปตามอำนาจฝ่ายต่ำ
นี่..เพราะอะไร ??
เพราะกิเลสอวิชชา ความไม่มีวิชชาให้เห็นแจ้งรู้แจ้งสภาวะธรรมและอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง หลงคิดผิด รู้ผิด เห็นผิด ประพฤติผิดๆ เข้าใจผิดๆ ไอ้เข้าใจผิดๆนี่แหละเรื่องใหญ่เลย นำไปสู่ความเห็นผิดโดยไม่รู้ตัว ก็ปฏิบัติไปตามอำนาจของฝ่ายบาปอกุศล
แต่ถ้าฝ่ายบุญกุศลดลจิตดลใจให้ตั้งใจศึกษาทำความเข้าใจว่าอย่างนี้เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ รู้จักตัวกิเลสให้ชัดเจนขึ้น มากขึ้น ละเอียดขึ้น เพราะกิเลสหยาบมันก็เกิดจากกิเลสกลาง กิเลสกลางก็เกิดจากกิเลสละเอียด จนถึงประพฤติผิดศีลผิดธรรม นี่กิเลสหยาบ
เมื่อสติปัญญามันเกิดขึ้น รู้บาปบุญคุณโทษพอสมควร ก็เลิกละ ไม่รับฝ่ายกิเลสหยาบ ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีล เบญจศีลเป็นอย่างน้อย ศีล 5 แล้วก็เบญจธรรม ความประพฤติปฏิบัติคุณธรรมของคนดี 5 อย่าง ตรงกันข้ามกัน เป็นต้นว่า เลิกละการเบียดเบียนถึงขนาดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติต่อกันด้วยจิตเมตตากรุณา นี่มาแล้วฝ่ายดี รู้เป็นบาปอกุศล เลิกละการลัก-ฉ้อ-กบฏ-คด-โกง ประกอบอาชีพทุจริต ไปจนถึงกิเลสหนาแน่นเห็นแก่ตัวจัด เห็นแก่ความคิดเห็นของตนเองจัด ไม่ฟังความเห็นของใครๆ ก็กลายเป็นความเห็นแก่ตัวจัดโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การประกอบอาชีพทุจริต การกบฏ-คด-โกง แต่เมื่อฝ่ายบุญกุศลเข้ามาทำหน้าที่แทน จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสจากความตระหนี่ถี่เหนียว จากความเห็นแก่ตัว จากความเห็นแก่ทิฏฐิความเห็นของตัว ทำใจให้กว้าง รู้จักแผ่เมตตากรุณาธรรมต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน ทำความเข้าใจกัน รู้จักให้อภัยให้แก่กัน นี่ฝ่ายเบญจศีล ก็เลิกละอทินนาทาน ฝ่ายเบญจธรรมก็เมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจกัน เผื่อแผ่กัน ยกเว้นยกโทษให้แก่กัน ไม่ถือโทษโกรธกัน เป็นอภัยทาน แล้วก็ข้อที่ 3 เลิกละความประพฤติผิดในกาม หมกมุ่นในกาม สําส่อนในกาม มาคิดรู้ดีรู้ชั่ว เลิกละฝ่ายบาปอกุศล ประพฤติปฏิบัติสันโดษอยู่ในคู่ครองของตน มีความสำรวมในกาม นี่เลิกละกายทุจริต ปฏิบัติอยู่ในกายสุจริต มาแล้ว ตัวเองก็ปฏิบัติ แนะ-นำ-ชักนำ-คนอื่น สั่งสอนคนอื่น ให้ปฏิบัติ ยินดีที่ผู้อื่นปฏิบัติ และสรรเสริญผู้อื่นที่ปฏิบัติได้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเห็นใครปฏิบัติดีก็ไม่รู้จักสักที ไม่ใช่ ต้องให้รู้คุณค่าของคนอื่นบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ใจเรา ดังนี้เป็นต้น
ละวจีทุจริต ด้วยความเห็นโทษ ใจเขาก็ใจเรา วจีทุจริต กล่าวคำหยาบ ด่าทอ ให้ร้ายป้ายสี กล่าวคำโกหกมดเท็จ หลอกลวงผู้อื่น กล่าวคำยุแยกให้เขาแตกสามัคคีกัน กล่าวคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ เลิกละ มาปฏิบัติอยู่ในวจีสุจริต กล่าวแต่คำจริง มีความจริงใจต่อกัน กล่าววาจาสุภาพอ่อนโยน กล่าวคำประสานไมตรี พูดแต่คำพูดที่ดีๆมีคุณประโยชน์เป็นสุภาษิต เป็นข้อปฏิบัติที่ดี ไม่ว่าเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับอาชีพที่สุจริต คำแนะนำในความประพฤติปฏิบัติที่ดีนำไปสู่ความเจริญสันติสุขและถึงความพ้นทุกข์ นี่ ปฏิบัติเองด้วย ชักนำให้ผู้อื่นปฏิบัติด้วย ยินดีที่ผู้อื่นปฏิบัติด้วย สรรเสริญที่ผู้อื่นปฏิบัติได้อย่างนี้ด้วย นี่กล่าวทางส่วนวจีสุจริต นี้ครอบคลุมไปถึงศีล 5 ศีล 5 น่ะเป็นส่วนย่อ กล่าวกายสุจริต วจีสุจริต เป็นส่วนขยายรายละเอียด แล้วเป็นไปด้วยอะไรล่ะ?
เลิกละมโนทุจริต อะไรล่ะมโนทุจริต เจตนาความคิดอ่านที่เป็นไปด้วยกับกิเลส โลภจัด ตัณหาราคะจัด เห็นแก่ตัวจัด เลิกละซะ ให้มันเบาลงไป ให้มีใจเผื่อแผ่กว้างขวาง รู้จักเสียสละสิ่งของเพื่อความเจริญสันติสุขของผู้อื่น ด้วยการให้ มีอามิสทานเป็นทรัพย์สิ่งของ แบ่งปันกันกินแบ่งปันกันใช้ แล้วสูงขึ้นไปถึงแนะนำข้อปฏิบัติที่ดีที่มีศีลมีธรรม สูงขึ้นไปถึงอภัยให้แก่กัน ไม่ถือโทษโกรธกัน ไม่ยึดถือเอาแต่ว่าเป็นโทษเรื่อยไป รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นี่ข้อหนึ่งล่ะ ข้อที่สอง เลิกละความโกรธ พยาบาท อาฆาต จองเวรต่างๆ ด้วยอภัยให้แก่ผู้อื่น ประการที่สาม เลิกละความหลงผิด ไม่รู้บาปบุญคุณโทษตามความเป็นจริง ส่วนมาก บางคนก็ไม่รู้นะ มากต่อมากที่มักจะแสดงความเห็นว่าตนเองนี่รู้แล้ว ก็ยอมรับว่ารู้อยู่ แต่ส่วนเดียว มันมีส่วนที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นไปอีกมาก ถ้าว่าเมื่อไหร่หมดความหลงตัวเองเมื่อไหร่ เข้าข่าย สู่ความเป็นอริยบุคคล คือทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส รู้เห็นความดีความชั่วตามความเป็นจริง บาปบุญคุณโทษตามความเป็นจริง จากหยาบ กลาง ละเอียด ที่มีมาก เรียกว่ากิเลสร้อยห้า ความจริงไม่ใช่ร้อยห้าหรอก กิเลสหมื่นแสนห้า ตัณหาหมื่นแสนอย่าง มากมาย อย่าไปนึกว่าเรารู้หมดแล้ว ไม่จริง ถ้ารู้หมดแล้วก็เป็นพระอริยสงฆ์พระอริยเจ้า เป็นภิกษุเรียกว่าพระอริยสงฆ์ เป็นโยมก็เรียกว่าพระอริยเจ้าหรือพระอริยบุคคล เรียกว่าพระนะ เป็นโยมนี่แหละ เรียกว่าพระ ท่านที่เป็นพระอริยสงฆ์พระอริยเจ้าก็มีมากพอสมควรอยู่ในโลก มนุษย์โลก ในเทวโลก ในพรหมโลก ก็มี ดังนี้เป็นต้น
_______________
เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี
_______________
จากเทศนาธรรมเรื่อง
เพียรกำจัดกิเลส
_______________
เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า.