นั่งดูดวงแก้วแล้วจะติดนิมิตหรือ

วัดป่าสถานีใหม่จันทึก-ศูนย์ปฏิบัติธรรมและฝึกสมาธิ

#นั่งดูดวงแก้วแล้วจะติดนิมิตหรือ?

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
กิเลสหยาบ อันได้แก่ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ หนาเตอะ อยู่ในกายมนุษย์หยาบ

กิเลสละเอียดต่อไป โลภะ โทสะ โมหะ อยู่ในใจของกายทิพย์

ส่วนราคะ โทสะ โมหะ อยู่ในใจของกายรูปพรหม นี้ก็ยังมีอยู่​ แต่เป็นกิเลสละเอียด

ปฏิฆะ กามราคะ อวิชชา นั่นก็เป็นกิเลสละเอียดที่ค้างอยู่ในใจของกายอรูปพรหมอีก

#กิเลสทั้งหยาบและละเอียดอยู่ตรงไหนล่ะ
ก็อยู่ในธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ นั่นเอง

แต่เมื่อสุดละเอียดของกายรูปพรหม อรูปพรหม
ที่พ้นจากอรูปภพ
นั่นเป็นธาตุธรรมบริสุทธิ์ที่ พ้นโลก คือ ธรรมกาย

เพราะฉะนั้น จะเข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติภาวนาธรรม ให้ทั้งรู้ ทั้งเห็น และ ทั้งเป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์
ชำระกิเลสเป็นชั้นๆ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้ง ณ ภายนอก และ ณ ภายใน
ละเอียดไปสุดละเอียดเป็นชั้นๆ ไป

การจะไปรู้เห็นอย่างนั้น ใจจะต้องหยุดอยู่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ต้องพิจารณาเห็นอยู่ตรงนั้น
คนไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่รู้ เลยเหมาเอาว่าการปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกายติดนิมิต นั่นเขาไม่รู้ว่า

เมื่อเอาใจเข้าใน หยุดนิ่งกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว เราก็ดับหยาบไปหาละเอียดเรื่อยไปจนสุดละเอียด

#มันติดนิมิตเดิมที่ไหน ? คนพูดไม่รู้ พูดตำหนิเขาอย่างง่ายๆ นั่น ตัวเองไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้ว่านิมิตเป็นอย่างไร

นิมิตนั้นเรากำหนดขึ้นเพื่อรวมใจ เพราะสายตาเนื้อมองไม่เห็นว่าใจมีรูปร่างเป็นอย่างไร เพราะใจไม่มีรูปร่าง แต่ธาตุละเอียดเขามี เห็นได้ด้วยตาใน ตาเนื้อมองเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยอุบายวิธีรวมธรรมชาติของใจ 4 อย่าง คือ
ความเห็นด้วยใจ ความจำ ความคิด และความรู้
ให้มาหยุดข้างใน ก็ต้องให้นึกเห็นนิมิตข้างในไว้ นึกให้เห็นเครื่องหมายหรือนิมิต

“นิมิต” แปลได้หลายอย่าง ความฝันก็ได้
สิ่งที่เห็นอย่างอื่น เรียกนิมิตก็ได้
นิมิตนึกให้เห็นเครื่องหมายหรือนิมิตด้วยใจ เรียกกำหนด “บริกรรมนิมิต” เป็นเครื่องหมายที่นึกเห็นด้วยใจ เพื่อรวมใจเข้ามาอยู่ในองค์บริกรรมนิมิต เมื่อใจค่อยๆ มาหยุดนิ่งแล้ว เห็นสิ่งที่เราเอามาเป็นเครื่องหมายนั้นใส แต่เห็นเดี๋ยวเดียวก็หาย เห็นได้ชั่วคราว เรียก อุคคหนิมิต

ถ้าว่าใจแค่นึกเห็นได้บริกรรมนิมิต คือกำหนดนิมิตได้นั้น เป็นสมาธิอยู่ในระดับขณิกสมาธิ คือนิดหน่อย แต่พอเอาเกศา (เส้นผม) มาเพ่ง คือนึกให้เห็นด้วยใจ และบริกรรมภาวนา คือนึกท่องในใจว่า “เกศาๆๆ” จนกระทั่งเห็นเกศาใส เรียกว่าพอสามารถถือเอา “อุคคหนิมิต” ได้ นี้เป็นสมาธิในขั้น “อุปจารสมาธิ” ขั้นตอนนิมิตอันมีผลในเกิดสมาธิระดับต่างๆ เป็นไปอย่างนี้

ถ้าจิตนิ่งสนิท เห็นใสแจ่ม ทีนี้เส้นเกศานิดเดียว จะขยายให้เท่าตึกนี้ก็ได้ ย่อลงมาเล็กนิดเดียวก็ได้ ใส อย่างนี้เรียก “ปฏิภาคนิมิต” นิมิตติดตา ลืมตาก็เห็น ยืนก็เห็น เดินก็เห็น หลับตาก็เห็น เรียกว่าได้ปฏิภาคนิมิต นี้เป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ

นิมิตนี้ตั้งแต่นึกให้เห็นด้วยใจ เพื่อรวมใจเข้ามา ใจก็ค่อยๆ หยุดเครื่องหมายเดิมที่คิดเห็น มาเป็นเห็นใส จากใสก็เห็นติดตา ติดตาติดใจ เป็นปฏิภาคนิมิต ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น นอนหลับไปแล้วตื่นมาก็เห็นอีก ก็อย่างนี้

เพราะฉะนั้น นิมิตเป็นเครื่องช่วยให้ใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ โดยมีนิมิตหรือเครื่องหมายเป็นสื่อ ให้รวมใจมาหยุดมานิ่ง ณ จุดใดจุดหนึ่ง ถ้าเห็นนิมิตอยู่ภายนอก นั้นเป็นปฏิภาคนิมิตล้วนๆ ภายนอกนั้น เห็น จำ คิด รู้ คือ ใจ มันเล่ห์ได้ เช่นว่า พอใครเห็นนิมิตอยู่ภายนอก จะอธิษฐานเห็นอะไรๆ เดี๋ยวเดียวมันเห็น ใจลำเอียงนิดเดียวก็เห็น ตามที่ใจนึกลำเอียงไว้ก่อนได้ เพราะใจหยุดยังไม่จริง ไม่หยุดนิ่งจริง ความปรุงแต่งจึงยังมีได้ บางทีก็มีมากด้วย

แต่การนึกให้เห็นด้วยใจในครั้งแรก เป็นอุบายวิธีที่กระทำขึ้น เพื่อรวมใจเข้ามา ตั้งแต่บริกรรมนิมิต นึกให้เห็นด้วยใจ อย่างนี้ไม่ผิด ถูกทีเดียว เป็นวิธีให้ได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ให้ได้สมาธิตั้งแต่ระดับขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ แล้วใจหยุดนิ่งสนิทจริงๆ เมื่อได้ปฏิภาคนิมิต ก็เป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน

คนที่เจริญสมาธินอกศาสนา กระทำสมาธิโดยไม่รู้ที่ตั้งของใจ เพราะเขาไม่รู้มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ไม่รู้วิธีเจริญภาวนา มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม อันเป็นเอกายนมรรคคือทางสายเอก ว่า ฐานที่ตั้งของใจควรจะอยู่ที่ไหน ก็ต้องอยู่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี้เอง แต่เขาไม่เคยเห็น ก็เลยไม่รู้ว่าเอกายนมรรคอยู่ตรงไหน รู้แต่เพียงตัวหนังสือ นี่ความแตกต่างจากอ่านหนังสือกับการลงมือปฏิบัติภาวนา มันแตกต่างกันอย่างนี้ ประสบการณ์มันไม่มี จึงต่างกันตรงนี้

ความจริงการเจริญภาวนาสมาธิมันมีตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณนานมาแล้ว ก่อนพุทธกาลก็มี แต่มันเป็นมิจฉาสมาธิ คือมิได้เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญา มิได้เป็นไปเพื่อละกิเลส แต่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีบุญบารมีจะพัฒนาวิธีปฏิบัติเข้าไปสู่จุดนี้เอง ได้แก่ หลวงปู่มั่น หลวงปู่สด เป็นต้น ท่านจึงเอานิมิตเข้าไปพิจารณา ณ ภายใน

หลวงปู่สดหรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านทราบเหตุและผล จึงได้ชี้แจงอธิบายออกมาเลยทีเดียวว่า เมื่อใจไปหยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม จิตดวงเดิมตกศูนย์ จิตดวงใหม่ที่ผ่องใสก็จะลอยเด่นขึ้นมา จิตนี้เป็น “วิสุทธิจิต” วิสุทธิจิตนี้มิได้เป็นเพราะการอ่านหนังสือแล้ว เรียกวิสุทธิจิต แต่ต้องรู้ต้องเห็น ต้องเป็นที่ใจซึ่งอยู่ท่ามกลางวิสุทธิศีล หรือศีลวิสุทธิ ศีลที่บริสุทธิ์อยู่ที่ใจ เจตนาความคิดอ่านผ่องใสอยู่ นั่นเป็นสีลานุสติ หลวงพ่อท่านเรียก “ศีลเห็น”

ศีลเห็นเป็นอย่างไร ? ถ้าศีลมัวหมอง ก็จะเห็นเลย ว่าข้างในไม่ได้เรื่อง มันจัมัวหมองไม่ผ่องใส
สีลานุสติ หรือ ศีลวิสุทธิ ตั้งอยู่ในท่ามกลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มนุษย์ละเอียดนี่เอง

เมื่อใจไปจรดนิ่งอยู่ตรงนั้นเข้า ถูกดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย จิตดวงเดิมตกศูนย์ ดวงใหม่ลอยเด่นขึ้นมา ตั้งอยู่ในท่ามกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายดวงใหม่ที่ผ่องใส เพราะฉะนั้น จิตดวงใหม่ ละคือปล่อยนิมิตไปแล้ว ดวงเก่าไปแล้ว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายและใจดวงใหม่ จึงปรากฏขึ้นมา จึงไม่ใช่ปฏิภาคนิมิตดวงเดิมแล้ว เป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย แล้วเขาก็ดับหยาบไปหาละเอียดเรื่อยไป ถึงกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็น ณ ภายใน ต่อๆ ไปจนสุดละเอียดถึงธรรมกาย

Cr:หลวงป๋าเทศน์ถวายพระวิปัสนาจารย์​ที่เข้ารับการอบรม​ ณ.วัดหลวงพ่อสดฯ

แชร์เลย

Comments

comments

Share: