อยากเรียนถามว่า จะมีวิธีฝึกหรือรวบรวมสมาธิอย่างไรเพื่อให้สามารถทำงานได้เนื้อหางานมาก ในเวลาอันสมควร ?
ตอบ:
ก็ให้ใช้วิธีฝึกสมาธิตามแบบวิชชาธรรมกายนี้แหละ ง่ายๆ โดยประการที่ว่า
เรานึกให้เห็นด้วยใจ เพื่อให้ใจของเรามาอยู่ที่อารมณ์เดียว คือ ดวงแก้วกลมใส ใจ เห็นอะไรอยู่ที่ไหนด้วยใจ ใจก็อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นเราต้องการให้ใจมาสงบตรงศูนย์กลางกาย ก็นึกให้เห็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ด้วยใจ ตรงไหน ? คือตรงศูนย์กลางกายนี้ ใจก็มาที่นี้
แต่ว่าสิ่งที่ให้นึกให้เห็นด้วยใจให้ได้ผลดีที่สุด ก็คือ ดวงแก้วกลมใส หรือพระแก้วขาวใสก็ได้ ให้นึกให้เห็นด้วยใจบ่อยๆ ใจก็จะมารวมอยู่ที่นั่น เพราะใจเห็นอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ที่นั่น นี้เป็นอุบายวิธี พอใจหยุดแล้ว เราไม่ต้องนึกแล้ว เพียงหยุดตัวเดียว เมื่อหยุด ใจก็จะไม่ออกไปฟุ้งซ่านภายนอก ใจก็จะหยุดสงบนิ่ง ผ่องใส
เมื่อผ่องใส ก็หยุดในหยุดกลางของหยุดให้ใสละเอียดต่อๆ ไปยิ่งกว่า สุดละเอียดแล้วก็จะเห็นกาย ณ ภายในของเราเอง เริ่มตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด ซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ตัวเราไม่ใช่มีอยู่กายเดียวเท่าที่เห็นนี่ แต่ยังมีกายละเอียดๆ เริ่มตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดนั้นต่อๆ ไปจนสุดละเอียด คิดง่ายๆ เมื่อเรานอนหลับฝันไป ที่ฝันไปนั่นแหละ ใจของกายมนุษย์ละเอียดของเรานั่นเอง ไปรู้ไปเห็นเหตุการณ์อะไรๆ ข้างนอก แล้วก็มารายงานที่ใจของกายเนื้อ ทำให้เราจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง หรือบางคนก็ได้ทราบเหตุการณ์อะไรๆ ที่อาจจะปรากฏขึ้นได้ตรงตามที่เห็นในฝัน นั่นเพราะกายละเอียดซึ่งมีใจเหมือนกันเขาทำหน้าที่ไปฝัน แต่ว่ากลางของกลางกายในกายยังมีกายที่ละเอียดๆ ต่อไปอีก ตามระดับภูมิของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ อย่างเช่นในระดับมนุษยธรรม ก็จะเห็นกายมนุษย์ละเอียด ในระดับเทวธรรม เราก็จะเห็นกายทิพย์ โตใหญ่กว่ากายมนุษย์อีกเท่าตัว ผ่องใสสวยงาม มีรัศมีสว่าง มีเครื่องประดับประดาปรากฏเอง ด้วยอำนาจของบุญปรุงแต่ง สุดละเอียดของเทวธรรมหรือทิพยธรรมก็จะถึงพรหมธรรม เราจะเห็นกายรูปพรหมและอรูปพรหมต่อๆ ไปตามลำดับ ขนาดโตใหญ่และผ่องใสยิ่งกว่ากันไปตามลำดับ รัศมีก็จะสว่างยิ่งกว่ากัน ใจก็ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่ากันไปตามลำดับ
พอสุดละเอียด สุดความบริสุทธิ์ของกายในภพ 3 คือ อรูปพรหมแล้ว ก็จะถึงกายที่บริสุทธิ์ที่สุดด้วยพุทธธรรม คือ “ธรรมกาย” มีผู้ที่ถามว่า ธรรมกายคืออะไร ? ธรรมกายนี้เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ พ้นจากธาตุธรรมของกายในภพ 3 กล่าวคือตั้งแต่มนุษย์ถึงอรูปพรหมซึ่งสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่ากันไปตามลำดับ จนถึงที่สุดของความสะอาดบริสุทธิ์ ในระดับ “มนุษยธรรม” “เทวธรรม” “พรหมธรรม” ถึงอรูปพรหมจนสุดละเอียด ถึง “พุทธธรรม” จะเห็นองค์พระธรรมกายปรากฏ องค์ธรรมกายนั้นมีพุทธลักษณะเหมือนพระปฏิมาเกตุดอกบัวตูมใสสว่าง รัศมีปรากฏ ขนาดหน้าตักและเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม 4 วาครึ่งขึ้นไป ธรรมกายนั้นเป็นกายพ้นโลก แต่จัดอยู่ในระดับโคตรภูบุคคล ต่อเมื่อละกิเลสได้อย่างน้อย 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ ก็จะก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชนเข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคล มีองค์พระอยู่ภายใน คือ “ธรรมกาย” นั่นแหละ
ธรรมกาย นั่นแหละเป็นพระพุทธรัตนะ เป็นพระธรรมรัตนะ เป็นพระสังฆรัตนะ ที่บรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อตัดกิเลสดังกล่าวได้แล้ว ก็จะเห็นปรากฏสว่างอยู่ ณ ภายใน ผู้ถึงธรรมกายย่อมเห็นกันได้ สำหรับท่านที่ปฏิบัติถึงนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พระองค์เองเป็นธรรมกาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงธรรมกาย ก็จะแสดงว่าท่านเป็นธรรมกายอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปธรรมกายก็คือ ธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ที่สุดในระดับพุทธธรรมขึ้นไป เป็นกายพ้นโลก มีชีวิตจิตใจ แต่เป็นกายและจิตใจที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ จากที่สุดของภูมิธรรมระดับ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม สุดละเอียดเข้าไปแล้วเป็นพุทธธรรม นั่นคือ “ธรรมกาย”
นี้แหละเป็นวิธีปฏิบัติภาวนาสมาธิตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงธรรมกาย ผู้ปฏิบัติได้ถึงเพียงใด ก็ได้ผลดีเพียงนั้น แม้แต่ปฏิบัติยังไม่เห็นดวงไม่เห็นกาย ถ้าฝึกปฏิบัติบ่อยๆ เนืองๆ จิตใจก็จะ เป็นสมาธิดีขึ้นๆ สติสัมปชัญญะก็จะดีขึ้นๆ เข้มแข็งขึ้น ให้สามารถทำกิจการงานดีขึ้นตามลำดับ