เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน
วันนี้ อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยกรมประชาสัมพันธ์ ในทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน
สำหรับวันนี้ อาตมภาพจะได้กล่าวถึง “พระคุณของแม่” เนื่องในมหามงคลสมัยคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ ปวงชนชาวไทยต่างพากันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ผู้ได้ทรงอนาทรห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ทรงปรารถนาอยู่เนืองนิตย์ที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ ผู้มีความทุกข์เดือดร้อนให้พ้นทุกข์ และให้ทุกคนมีความเจริญและสันติสุข จึงได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง เคียงคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การส่งเสริมศิลปะอาชีพ ให้ราษฎรผู้ด้อยโอกาสได้มีวิชาอาชีพไปใช้ประกอบสัมมาอาชีวะ เพิ่มพูนรายได้ของตน ให้พอกินพอใช้ และได้ทรงดำเนินโครงการอื่นๆ อีกมาก เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึง ด้วยพระเมตตาและขันติธรรม ด้วยความเสียสละอย่างสูง โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากของพระองค์เอง ขอแต่ให้พสกนิกรของพระองค์พ้นทุกข์ ได้ถึงความเจริญและสันติสุข ก็ทรงพอพระราชหฤทัยแล้ว
ความอนาทรห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์นั้นเปรียบดังมารดาอนาทรต่อบุตร ประชาชนทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามพระองค์ว่า “พระแม่ของชาติ”
ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ อาตมภาพจึงขอบรรยายชี้แจงพระคุณของแม่ ซึ่งครอบคลุมถึงพระคุณของพ่อด้วย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “พระแม่ของชาติ” และเพื่อเทิดทูนบูชาพระคุณของแม่ทั้งหลายที่มีต่อลูกๆ เพื่อที่ลูกๆ จักได้สำเหนียกในพระคุณของท่าน ได้ระลึกถึงพระคุณ คิดและกระทำตอบแทนพระคุณของท่านตามกำลังสติปัญญาและกำลังทรัพย์ ในโอกาสอันสมควรสืบต่อไป
พระคุณของพ่อแม่นั้น ท่านพระสิริมังคลาจารย์ ได้อรรถาธิบายขยายความพระพุทธดำรัสในมงคลสูตร ว่าด้วยการบำรุงบิดามารดา ในหนังสือมังคลัตถทีปนี เล่ม 2 ฉบับแปลเป็นภาษาไทย จัดพิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย ครั้งที่ 8/2532 ข้อ 294 หน้า 200 ว่า
บิดามารดาทั้ง 2 นั้น ท่านเรียกว่า “พรหมบุรพเทพ บุรพาจารย์ และอาหุไนยบุคคล” ของบุตร
พ่อ แม่ ถือว่าเป็น พระพรหมของลูกนั้น ก็โดยเหตุว่า ท่านมีความรักในลูกผู้เป็นสายเลือดตั้งแต่แม่อุ้มท้องมาจนคลอด ซึ่งผ่านความทุกข์ยากทางสรีระมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่แม่จะคลอดลูกนั้น แม่ย่อมได้รับความทุกข์เวทนามาก บางรายถึงสิ้นชีวิตก็มี แต่เมื่อแม่ได้คลอดลูกแล้ว เพียงได้เห็นหน้าลูกเท่านั้น ความปลื้มปีติด้วยความรู้สึกรัก และผูกพันในลูกผู้เป็นสายโลหิตของตน ด้วยเมตตาจิต ย่อมเกิดแก่พ่อ แม่ อย่างท้วมท้นล้นหัวใจ ครั้นเห็นลูกร้องไห้ด้วยความหิว ก็รีบจัดแจงให้ลูกดื่มนมจนอิ่มให้ผาสุก ครั้นลูกเจ็บไข้หรือประสบอันตราย แม้เพียงแมลง เหลือบ ยุง ริ้น ไร ไต่ตอมหรือกัด ก็รีบเยียวยารักษา แก้ไข และป้องกันสรรพอันตรายด้วยความเมตตาการุญ เมื่อลูกเจริญวัย มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ร่าเริงแจ่มใส พ่อแม่ก็จะมองลูกด้วยความชื่นชม เมื่อลูกโตขึ้นถึงวัยเรียน ก็ปรารถนาจะให้ลูกได้มีความรู้ มีศิลปะวิทยาความสามารถ ไว้ประกอบกิจการในอาชีพโดยชอบ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เมื่อลูกเรียนดี มีความรู้ มีศิลปะวิทยา และมีสติปัญญาสามารถ พ่อแม่นั้นสุดปลื้มจนลืมความทุกข์ยากลำบากในการทำมาหากิน แม้บางรายต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวและส่งเสียให้ลูกเรียน ครั้นลูกประสบผลสำเร็จในชีวิตตั้งแต่วัยเรียน ถึงวัยทำงาน พ่อแม่ก็แสนจะปลื้มจิตปลื้มใจ บางรายถึงกับอดใจที่จะไม่พูดคุยโอ้อวดกับญาติมิตรไว้ไม่อยู่ ต้องคุยสรรพคุณของลูกอวดญาติมิตรจนได้ แม้ตัวเองจะล้าหลังหรือต่ำต้อยก็มี มุทิตาจิต ปลื้มจิตปลื้มใจกับลูกที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตเสมอ ยิ่งเมื่อลูกได้มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา และเจริญรุ่งเรืองในชีวิต พ่อแม่ก็ไม่คิดที่จะรบกวนหรือเบียดเบียนลูก ด้วยจิตอุเบกขา แม้ลูกบางคนจะมีความประพฤติไม่ดี โต้เถียงก้าวร้าวพ่อแม่ ด้วยกิริยาวาจาที่ไม่สมควร หรือเบียดเบียนพ่อแม่ให้เดือดร้อนโดยประการต่างๆ พ่อแม่ก็คอยให้อภัยให้ลูกได้เสมอ และแถมยังคอยเป็นห่วงเป็นใย ทำนุบำรุงลูกไปถึงหลานๆ ด้วยพรหมวิหารธรรมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นี้แหละคือพระคุณของพ่อแม่ที่ชื่อว่า “พระพรหม” ของลูก
พ่อ-แม่ เป็น “บุรพเทพ” ของลูก ก็ด้วยว่า เป็นผู้คอยให้ความคุ้มครองป้องกันลูกในทุกขณะทุกทิศ นับตั้งแต่ลูกเจริญวัยอยู่ในครรภ์ของแม่ ท่านทั้ง 2 ต่างคอยให้ความดูแลทำนุบำรุงครรภ์ มิให้มีอะไรมากระทบกระเทือนลูกในครรภ์ ครั้นลูกคลอดออกมาเป็นเด็กทารก และเจริญวัยเป็นลำดับ พ่อแม่ก็คอยทนุถนอมกล่อมเลี้ยงมิให้เกิดภัยอันตรายทั้งปวง เมื่อเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว ก็ยังคอยดูและมิให้ใครมารังแกล่วงเกินและมิให้เกิดอุปัทวันตราย และมิให้ประพฤติเสียหายต่างๆ คอยแนะนำสั่งสอนลูกๆ ให้ตั้งอยู่แต่ในคุณความดี ให้รู้จักคบแต่คนดี ให้รู้จักหลีกหนีความชั่วและคนชั่วทั้งหลาย ครั้นลูกประพฤติผิดพลาดหรือมีโทษใดๆ ก็คอยเป็นนายประกัน คอยแก้ต่างให้ลูก คอยปกป้องลูกทุกอย่าง หวังแต่ให้ลูกได้พ้นมลทินโทษ มุ่งแต่ทำประโยชน์สุขให้แก่ลูกแต่ส่วนเดียว เป็นดั่ง “วิสุทธิเทพ” คือ พระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ปรารถนาแต่ความสุขสวัสดีแก่ชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือพาลชน พ่อแม่จึงชื่อว่า “บุรพเทพ” คือ ท่านผู้ทำอุปการคุณแก่ลูกก่อนเทพเหล่าอื่นทั้งปวง ได้แก่ ก่อนสมมติเทพ คือท้าวพระยามหากษัตริย์ ก่อนอุปัตติเทพ คือ เหล่าเทพเทวาในเทวโลกทั้งปวง และแม้ก่อนวิสุทธิเทพ คือพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า อื่นใดทั้งสิ้น
พ่อแม่ เป็นบุรพาจารย์ ของลูก ก็ด้วยว่า เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่ลูกก่อนครูอาจารย์ใดๆ นับตั้งแต่ที่ลูกได้เกิดมาแล้ว พ่อแม่นั้นแหละคอยพร่ำสอนลูกๆ ให้รู้จักพูด ให้รู้จักเดิน ให้รู้จักดื่มกิน ให้รู้จักอาบ นุ่งห่ม และทำกิจการงาน แม้กระทั่งให้รู้จักนั่ง และนอน ให้เรียบร้อย พ่อแม่จึงชื่อว่า “บุรพาจารย์” ของลูก
พ่อแม่ เป็น “อาหุไนยบุคคล” คือเป็นผู้ควรแก่การรับทาน ได้แก่ ปัจจัย 4 อันมี อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ตลอดทั้งวัตถุสิ่งของเครื่องอำนวยความสะดวก มียานพาหนะ เครื่องใช้ เครื่องลูบไล้ ดอกไม้ และของหอม เป็นต้น อันบุคคล กล่าวคือ ลูกๆ ควรนำมาบูชา เพราะว่าพ่อแม่นั้น มีพระคุณอย่างใหญ่หลวงต่อลูก ยากที่จะพรรณนาได้จบสิ้น ดังที่ท่านพระสิริมังคลาจารย์ ได้อ้างถึงพระพุทธดำรัส ตรัสไว้ในพระสูตร ติกนิบาต และจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย (องฺ.ติก.20/164 และ องฺ. จตุกฺก 21/2) ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ‘พรหม บุรพาจารย์ บุรพเทพ อาหุเนยยบุคคล’ นี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ประคบประหงมเลี้ยงดูบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร ฯ
มารดาและบิดาผู้อนุเคราะห์แก่บุตร ท่านเรียกว่า ‘พรหม บุรพาจารย์ บุรพเทพ และอาหุเนยยบุคคล’ ของบุตรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะท่านด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง อบกาย ให้อาบน้ำ และชำระเท้า เพราะเหตุที่บุตรผู้เป็นบัณฑิตได้บำรุงบำเรอในมารดาและบิดา บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ครั้นเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์”
พระคุณของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นใหญ่หลวงนัก ดังที่ได้พรรณนามาแล้ว แม้การทดแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยอุปการะอันเป็นโลกิยะ มีปัจจัย 4 และเครื่องอำนวยความสะดวก ความสุขสบายทั้งหลายเป็นต้นนั้น ก็ยังไม่คุ้มกับพระคุณของพ่อแม่ เพราะการทดแทนพระคุณท่านด้วยอุปการะอันเป็นโลกิยะทั้งหลายนั้น ให้ความสุขแก่ท่านเพียงชาติเดียว แต่ถ้าพ่อแม่ใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความคิดเห็นที่ผิดทำนองคลองธรรม มีความประพฤติปฏิบัติ ได้แก่ เจตนาความคิดอ่าน การพูด การกระทำกิจการงาน การพูดแนะนำที่ผิดๆ หรือการหลงดำเนินชีวิตตามคำแนะนำที่ผิดทำนองคลองธรรม และการประกอบอาชีพโดยมิชอบธรรม ซึ่งรวมความว่า ประกอบกรรมชั่วหรือเป็นบาปอกุศลแล้วเพียงไร ท่านย่อมได้รับผลจากกรรมชั่วตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เป็นจริง เป็นความทุกข์เดือดร้อนทั้งในภพชาติปัจจุบัน และทั้งในสัมปรายภพ คือ ภพชาติต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่สิ้นความเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิดทำนองคลองธรรมนั้น จึงคงมีแต่การอุปการะอันนำไปสู่โลกุตตรธรรม กล่าวคือ ชักนำพ่อแม่ผู้ยังไม่มีศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย ให้กลับมีศรัทธา ที่มีศรัทธาน้อยให้กลับมีศรัทธามากขึ้น ที่มีศรัทธามากก็ให้เจริญและมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป ย่อมยังประโยชน์สุขแก่ท่านตลอดกาลนาน
คุณพระรัตนตรัยนั้น คือ คุณพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ ทางบุญ ทางบาป ทางเจริญ ทางเสื่อม และพระอริยสัจ 4 คือ ความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ และทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และถึงมรรคผลนิพพาน ที่เป็นบรมสุขอย่างถาวรแท้จริง คุณของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามด้วยอิทธิบาทธรรม ย่อมเห็นผลพิสูจน์จากการปฏิบัติตรงตามพระสัทธรรมด้วยตนเองว่า ได้ผลดีจริง ไม่เลือกเวลา คือ เมื่อปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตรงตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แนะนำสั่งสอนผู้พอจะแนะนำสั่งสอนได้ ให้ประพฤติปฏิบัติตาม ให้ได้รับผลดีจริง สืบต่อบวรพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว จนถึงปัจจุบันนี้
การที่ลูกได้ทดแทนพระคุณพ่อแม่ ด้วยอุปการะอันนำไปสู่และให้ถึงโลกุตตรธรรมอย่างนี้แหละ ที่จะคุ้มกับพระคุณของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพราะจะทำให้ท่านได้เป็นผู้มีความคิดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม คือ รู้ทางบุญ ทางบาป ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งชีวิต ตามที่เป็นจริง ได้ประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นำตนไปสู่ความเจริญและสันติสุขในชีวิตแต่ถ่ายเดียว ไม่ไปในทางเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ทุกภพทุกชาติต่อๆ ไป ตราบเท่าเข้าสู่ปรินิพพาน ดังที่ท่านพระสิริมังคลาจารย์ ได้แสดงอรรถาธิบาย ไว้ในมังคลัตถทีปนี ข้อ 297 หน้า 204-206 ว่า
ความที่มารดาบิดานั้น เป็นผู้มีอุปการะมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เป็นเหตุแห่งความเป็นพรหมเป็นต้น อันเป็นเหตุที่บุตรไม่อาจทำตอบแทนแก่มารดาบิดานั้น ให้สิ้นสุดโดยประการไรๆ ด้วยอุปการะอันเป็นโลกิยะได้เลย. ก็ถ้าบุตรวางมารดาไว้บนจะงอยบ่าขวา บิดาไว้บนจะงอยบ่าซ้าย ด้วยหมายจักทำตอบแทนแก่ท่าน พึงประคับประคองในอวัยวะทั้งปวง ทำการทำนุบำรุงท่านผู้ดำรงอยู่บนจะงอยบ่าทั้ง 2 นั้นนั่นแล ด้วยกิจมีการอบกลิ่นเป็นต้น, แม้มารดาบิดานั้น พึงนั่งถ่ายปัสสาวะและอุจจาระบนจะงอยบ่าทั้ง 2 ของบุตรนั้นแล, บุตรนั้น ถึงทำอยู่อย่างนั้นตลอด 100 ปี ก็ไม่อาจทำตอบแทนแก่ท่านได้เลย. แม้ถ้าบุตรพึงสถาปนาบิดาไว้ในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มารดาไว้ในความเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าจักพรรดิไซร้, แม้อย่างนั้น ก็ไม่อาจทำตอบแทนได้เหมือนกัน.
ส่วนบุตรใด ตั้งมารดาบิดาผู้ถึงพร้อมด้วยอธรรมมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น ไว้ในธรรมทั้งหลายมีความถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นต้น, บุตรนั้น ชื่อว่า อาจทำตอบแทนได้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสไว้ในมาตาปิตุคุณสูตรในทุกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการทำตอบแทนได้ง่ายแก่ท่านทั้ง 2. ท่านทั้ง 2 เป็นไฉน ? (ท่านทั้ง 2) คือ มารดาและบิดา. บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง, พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง, เขามีอายุ 100 ปี เป็นอยู่ (มีชีวิต) 100 ปี. และเขาพึงทำการบำรุงมารดาบิดานั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด, และท่านทั้ง 2 นั้น พึงถ่ายปัสสาวะและอุจจาระบนบ่าทั้ง 2 นั้นนั่นแล; ภิกษุทั้งหลาย กิจอย่างนั้น ยังไม่เป็นอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย.
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์แห่งแผ่นดินใหญ่นี้ อันมีรัตนะ 7 ประการมากมาย, ภิกษุทั้งหลาย กิจอย่างนั้นยังไม่เป็นอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย.
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ บุตรใดแล ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทาน ดำรงตั้งอยู่ในสัทธาสัมปทา, ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในสีลสัมปทา, ยังมารดาบิดาผู้ตระหนี่ ให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในจาคสัมปทา, ยังมารดาบิดาผู้มีปัญญาทรามให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในปัญญาสัมปทา,
ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล กิจนั้น จึงชื่อว่าเป็นอันบุตรทำแล้ว ทำตอบแทนแล้วและทำยิ่งแล้ว แก่มารดาบิดา.”
เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้มีพระดำรัสว่า “มาตาปิตุอุปฏฺฐฺานํ ฯเปฯ” เป็นต้น ความว่า การบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็น “มงคลอันประเสริฐ” เพราะย่อมนำมาซึ่งอิทธิผล คือความสำเร็จ ให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิต และได้ทรงจัดมารดาบิดาอยู่ในฐานะที่เป็นทิศเบื้องหน้า อันลูกหญิงลูกชายพึงมีความกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ พึงระลึกถึงพระคุณและตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ ด้วยฐานะ 5 กล่าวคือ การทำนุบำรุงพ่อแม่ใน 5 สถาน ได้แก่
- เมื่อท่านชุบเลี้ยงเรามา เมื่อเราพอมีกำลัง ก็พึงเลี้ยงท่านตอบ
- พึงช่วยทำกิจการงานของท่านด้วยดี ไม่หลีกเลี่ยง
- พึงดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ด้วยดี ไม่ทำให้เสียหาย
- พึงกระทำตนให้เป็นคนสมควรแก่ความเป็นผู้รับมรดกท่าน
- เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว พึงทำบุญอุทิศให้ท่าน
เหล่านี้ ชื่อว่า “อุปการะอันเป็นโลกิยธรรม” แล้วพึงกระทำอุปการะที่จะนำไปสู่โลกุตตรธรรม ให้แก่ท่านอีกด้วย กล่าวคือ ชักนำพ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ให้เกิดมีศรัทธา ที่มีศรัทธาน้อย ก็ชักนำให้มีศรัทธามากขึ้น ที่มีศรัทธาดีอยู่แล้ว ก็ให้เจริญแก่กล้าและมั่นคงยิ่งขึ้น ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและแก่พ่อแม่เป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ดังเราจะเห็นตัวอย่างชาวไทยพุทธแต่โบราณ มีประเพณีนิยมกันว่า บุตรชายเมื่อมีอายุครบ 20 ปีแล้ว ก็นิยม “บวชก่อนเบียด” คือว่า บวช 1 พรรษา เพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ก่อนแต่งงาน เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็หาโอกาสไปเทศน์โปรดพ่อแม่ก่อนลาสิกขา ขณะบวชอยู่จำพรรษา พ่อแม่ก็มีโอกาสทำบุญใส่บาตรพระลูกชาย และพอถึงวันพระก็นำภัตตาหารไปถวายพระ อยู่รักษาอุโบสถศีล และฟังเทศน์ ฟังธรรม อบรมกาย วาจา ใจ ให้สงบ เกิดปัญญาและสันติสุข ครอบครัวที่ปฏิบัติอย่างนี้ จึงมีแต่ความเจริญและสันติสุขดี ไม่วุ่นวายสับสน เพราะไม่หมกมุ่น ไม่มีการสำส่อนอยู่แต่กับกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย เหมือนคนยุคใหม่ที่กำลังเป็นกันมากขึ้นทุกที จนหาความสงบสุข ความเป็นสิริมงคล คือ ความเจริญอันมั่นคงในชีวิตได้ยาก
พ่อแม่มีพระคุณยิ่งใหญ่ต่อลูกถึงเพียงนี้ ลูกอกตัญญูคนใดเจตนากระทำผิดต่อพ่อแม่ บังอาจประทุษร้าย ลบหลู่ หรือล่วงเกินพ่อแม่ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จัดเป็นบาปกรรมหนัก ซึ่งย่อมให้ผลเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในภพชาติปัจจุบันและทั้งในสัมปรายภพ คือ ในภพชาติหน้า อย่างเช่นผู้ประทุษร้ายต่อพ่อแม่แม้ไม่ถึงชีวิต ก็ต้องอาญาแผ่นดิน มีระวางโทษหนักกว่าทำร้ายบุคคลอื่นทั่วไป เฉพาะผู้ทำผิดต่อกำเนิดของตน ได้แก่ มาตุฆาต คือ ฆ่ามารดา ปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดา จัดเป็นอาภัพบุคคล เป็นอันต้องห้ามการให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตลอดชาติ คือ ไม่รับบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต และการกระทำผิดต่อกำเนิดของตน คือมาตุฆาต ปิตุฆาต ดังกล่าวนั้น จัดเป็นอนันตริยกรรม” 2 ใน 5 ข้อ ที่ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ คือ ตายแล้ว กรรมนี้ย่อมให้ผลก่อน คือ เป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรกในอเวจีมหานรก ซึ่งถูกไฟนรกเผาไหม้ ได้รับทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัสตลอดเวลานาน ไม่เว้นระยะเลย หรืออย่างเบาๆ หน่อย ก็จะได้รับผลที่ใกล้เคียงกันนั้น ดังเช่น
พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก ในอดีตชาติได้เคยประทุษร้ายพ่อแม่ปางตาย เพราะหลงเชื่อเมียยุแหย่ ครั้นตายลง ด้วยบาปกรรมอันหนักนั้น ก็ได้ไปบังเกิดในนรกนานแสนนาน ครั้นมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์ในภพชาติสุดท้าย ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ก่อนปรินิพพาน ยังถูกโจรทุบตีจนน่วม เพราะเศษบาปกรรมอันหนักในครั้งนั้น ยังติดตามให้ผล และท่านเองก็ยอมรับผลกรรมนั้น แล้วปรินิพพาน ทั้งๆ ที่ท่านจะใช้อิทธิฤทธิ์หลีกเลี่ยงมิให้โจรทุบตีได้ก็ตาม แต่นั่นเป็นวิสัยของพระอริยเจ้าผู้สิ้นอาสวกิเลสแล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่อง พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้กระทำปิตุฆาตต่อพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ต่อมาภายหลังรู้สึกตัว รีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก แม้นั้นกรรมนั้น เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ได้ไปบังเกิดเป็นสัตว์นรก ในโลหกุมภีอยู่สิ้นกาลประมาณ 6 หมื่นปีแล้วจึงจะพ้น และจักได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ บำเพ็ญบารมีแล้วสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “ชีวิตวิเสส” แล้วจักปรินิพพาน ในกาลข้างหน้า ดังท่านพระสิริมังคลาจารย์ได้อรรถาธิบาย ไว้ในมังคลัตถทีปนี (แปล) หน้า 61-62 ความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงดำริว่า “พระราชานี้ ตั้งแต่เวลาที่ให้ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว ไม่ได้บรรทมหลับตลอดกลางคืนและกลางวันเลย. ด้วยท้าวเธอเป็นเหมือนถูกแทงด้วยหอกตั้ง 100 เล่ม ในเมื่อพอหลับพระเนตรลง ด้วยทรงหวังว่า ‘จักงีบ’ เท่านั้น ก็กลับผวาตื่นขึ้นคร่ำครวญอยู่; ในวันนี้ พระราชานี้ เสด็จมาหาเราแล้ว จักเข้าถึงความหลับ จำเดิมแต่กาลที่ได้ฟังเทศนานี้ และจักทำสักการะแด่พระรัตนตรัย ชื่อว่าบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาอย่างปุถุชนเช่นพระราชานี้ จักไม่มีเลย, อนึ่ง ในเวลาจบเทศนา พระองค์จักประดิษฐานอยู่ในสรณะทั้ง 3; พระราชานี่จักบังเกิดในโลหกุมภี ตกลงไปภายใต้ถึงพื้นหม้อโดยกาลประมาณได้ 30,000 ปี ผุดขึ้นมาเบื้องบนอีก ถึงปากหม้อโดยกาลประมาณได้ 30,000 ปีแล้วก็จักพ้น เปรียบเหมือนบุคคลบางคนทำการฆ่าบุรุษ พึงพ้นจากอาชญาด้วยวัตถุสักว่าดอกไม้กำมือหนึ่งฉะนั้น เพราะศาสนาของเราเป็นศาสนาใหญ่ เพราะเหตุที่พระราชานี่ได้ถึงสรณะ 3, อนึ่ง พระองค์จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระนามว่า ‘ชีวิตวิเสส’ ปรินิพพานในอนาคตกาล” ดังนี้แล้ว ทรงทราบอานิสงส์ใหญ่อันท้าวเธอควรจะได้เพราะทรงสดับธรรมนี้ เมื่อจะทรงแก้ปัญหาของพระองค์ จึงทรงแสดงสามัญญผลสูตร ในสีลขันธวรรค.
ในกาลจบเทศนา พระราชาเสื่อมจากโสดาปัตติผล เพราะเป็นผู้มีอุปนิสัยแห่งมรรคอันตัดเสียแล้ว จึงได้แต่ถึงสรณะ 3 ด้วยทรงมอบพระองค์. ก็ถ้าพระราชบิดาจักไม่ถูกพระองค์ปลงพระชนม์แล้วไซร้, พระองค์ก็จักได้เป็นโสดาบันในที่ๆ นั่งนั้น แน่แท้; แต่อันตรายแห่งมรรคเกิดมีแก่พระองค์เพราะทรงคลุกคลีด้วยบาปมิตร.
ด้วยเหตุนี้ ลูกๆ ทั้งหลาย พึงปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ จักได้เป็นสิริมงคลอันประเสริฐแก่ตน คือ นำชีวิตตนไปสู่ความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต ไม่ตกต่ำ
การแสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง “พระคุณของแม่” นี้ อาตมภาพขอถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “พระแม่ของชาติ” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และขออุทิศให้แด่พ่อแม่ของลูกๆ ทุกท่าน และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงได้โปรดดลบันดาลให้ลูกๆ ผู้เคยหลงผิดคิดไม่ดี พูดไม่ดี กระทำไม่ดีต่อพ่อแม่ จงกลับตัวกลับใจมาประพฤติปฏิบัติต่อพ่อแม่ และขอพ่อแม่ผู้มีอุปการคุณต่อลูกๆ ทั้งหลาย จงประสบแต่ความสุขความเจริญในทุกที ในทุกโอกาสและในทุกภพทุกชาติ ตราบเท่าเข้าสู่ปรินิพพาน
ผู้สนใจการศึกษาสัมมาปฏิบัติพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอเชิญไปเข้ารับการอบรมธรรมปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หลังทำวัตรเช้าเย็น ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และทุกวันพระ/วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และทุกวันอาทิตย์ เริ่มเวลา 09.30 – 15.00 น. เป็นประจำ
ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน เจริญพร.
พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 16 สิงหาคม 2541