ปสฺสาหิ ตฺวํ มหาราชาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต มาตุโปสกํ ภิกฺขุ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุเลี้ยงมารดาตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น ปสฺสาหิ ตฺวํ มหาราช เป็นต้นไปเรื่องนี้เหมือนกันกับสามชาดก
แท้จริง สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสถาม พระภิกษุนั้นว่าได้ยินว่าท่านเลี้ยงคฤหัสถ์หรือ ภิกษุนั้นกราบทูลรับตามพระพุทธดำรัสถามฉะนั้น ตรัสถามว่าคฤหัสถ์นั้นเป็นอะไรของท่าน ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ คฤหัสถ์นั้นเป็นมารดาบิดาของข้าพระบาท พระพุทธองค์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ยกโทษเธอเลย ซึ่งบัณฑิตแต่โบราณก็ได้บริจาคชีวิตของตนเพื่อประโยชน์แก่บิดามารดา ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายวิงวอนพระพุทธองค์ ประสงค์จะทราบเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด พระพุทธองค์จึงได้นำอดีตนิทานมาแสดงดังจะกล่าวต่อไปนี้ว่า
อตีเต กิร องฺควตฺตินคเร องฺคเสโน นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ดังได้สดับมาในอดีตกาลส่วนล่วงแล้ว มีบรมกษัตริย์ทรงพระนามพระเจ้าอังคเสนราช เสวยสิริรัชสมบัติอยู่ในอังควดีนคร พระเจ้าอังคเสนราชนั้นพระองค์ตั้งอยู่ในธรรม พระอัครมเหสีของพระองค์ทรงพระนามนางสุเมขลาราชเทวี พระนางบริบูรณ์ไปด้วยศีล มีพระรูปทรงงามยิ่งนัก ในระหว่างกาลที่เป็นไปแล้วนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าจุติจากดุสิตพิภพมาถือเอาปฏิสนธิในพระครรภ์พระราชเทวีนั้น จำเดิมกาลตั้งแต่พระโพธิสัตว์เจ้าถือเอาปฏิสนธิในพระครรภ์แล้ว พระราชเทวีเจ้ายิ่งมีรูปทรงงามมากขึ้นเปรียบประดุจนางเทพอัปสร ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายก็นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายนับด้วยพัน ด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์เจ้า
ในกาลนั้น ยังมีบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามเจ้ากูฏราช (พระยาโกง) ได้สดับข่าวสารการบอกเล่าของมนุษย์ทั้งหลาย ก็บังเกิดโลภจิต คิดจะไปชิงนางแก้วบริบูรณ์ไปด้วยลักษณะทั้งปวงจึงตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาสั่งว่า จะไปยึดเอาอังควดีนคร อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังกระแสรับสั่งดังนั้น ก็พร้อมใจกันรับพระราชโองการตามพระกระแสรับสั่งนั้น ลำดับนั้นพระเจ้ากูฏราช ก็ให้ประชุมพลนิกายแวดล้อมไปด้วยจตุรงคเสนาโยธาทัพยกไปยังอังควดีนคร ครั้นถึงแล้วก็ให้ตั้งค่ายลงในที่นั้น จึงส่งราชทูตให้เข้าไปบังคับว่า ถ้าพระสหายอังคเสนราชปรารถนาจะรบกับเรา จงประชุมพลนิกายออกมารบกับเรา ณ กาลบัดนี้
ลำดับนั้น พระเจ้าอังคเสนราชได้สดับข่าวดังนั้น ก็สั่นพระเศียรทรงพระราชดำริว่า โอมหาชนจะพากันพินาศเสียแล้วหนอในครั้งนี้ ครั้งนั้นชาวพระนครทั้งหลาย ก็รวมเข้าเป็นหมวดหมู่กันมาร้องประกาศอยู่ที่หน้าพระลานหลวงว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอสละชีวิตของตนถวายเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ แล้วกล่าวคาถาว่า
ปสฺสาหิ ตฺวํ มหาราช | อมฺหากฺจ ปรกฺกมํ |
อมฺเหสุ วิชฺชมาเนสุ | มา เต รฏฺํ วินาสฺสตุ |
ตฺวฺจ เสฏฺโ มนุสฺสานํ | อมฺหากํ สามิโก ตุวํ |
มยํ ตุมฺหากมตฺถาย | ชีวิตฺจ ชหามฺหเส. |
แปลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทอดพระเนตร ดูความเพียรของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายยังมีอยู่แล้ว พระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกว่าพระราชอาณาเขตของพระองค์จะพินาศไป พระองค์เป็นผู้ประเสริฐของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นเจ้านายของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๆ ขอสละชีวิตถวายเพื่อเป็นประโยชน์แก่พระองค์
มหาชนทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลพระอังคเสนราชอยู่เนือง ๆ อย่างนี้ พระเจ้าอังคเสนราชเมื่อจะห้ามมหาชนนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
นาหํ ยุชฺฌิตุมิจฺฉามิ | อฺมฺํ อฆาฏยุํ |
เอกสฺส การณา มยฺหํ | หึเสยฺยุํ พหุกา ชนา |
อหํ ทาเนน สีเลน | จาเคน สํยเมน จ |
สพฺเพ อมิตฺเต ชิตฺวาน | นาหํ อิจฺฉามิ สพฺพทา |
แปลว่า เราไม่ปรารถนาจะรบ คนทั้งหลายจะต้องฆ่าฟันกัน คนทั้งหลายเป็นอันมากจะเบียดเบียนกันเพราะเหตุเราคนเดียว เราจะผจญข้าศึกทั้งสิ้นด้วยทานและศีล และการบริจาค และการสำรวมกายวาจาใจ เราไม่ปรารถนาการสู้รบกันในกาลทั้งปวง
พระเจ้าอังเสนราชไม่อาจห้ามปรามโยธาเหล่านั้นได้ โยธาเหล่านั้นมีฉันทอัธยาศัยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็พากันออกจากพระนคร ครั้นไปถึงแล้วไม่อาจสู้รบข้าศึกเพราะรู้สึกตนว่าไม่มีนาย ก็แลดูหน้ากันอยู่แล้วก็พากันหนีไปสิ้น พระเจ้าอังคเสนราชทรงทราบว่าเสนาของพระองค์พ่ายแพ้ไปแล้ว ก็บังเกิดทุกขโทมนัสว่า โยธาของพระองค์ไม่อาจจะสู้รบกับข้าศึกพากันหนีไปแล้ว จึงเสด็จเข้าไปใกล้พระนางสุเมขลาราชเทวีตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ เจ้าจงอยู่เป็นสุขเถิด พระราชเทวีกราบทูลว่า ไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้ ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ พลนิกายโยธาของเราแพ้เขาแล้ว เราไม่อาจจะอยู่ในเรือนนี้ได้ อีกประการหนึ่งถึงตัวเจ้าก็จงรักษาตนไว้ให้ดี อย่าได้มีความประมาทเลย นางสุเมขลาราชเทวีได้สดับพระกระแสรับสั่งดังนั้น มีดวงหทัยประหนึ่งว่าจะแตกออกไปเป็นเจ็ดภาค ไม่สามารถจะดำรงพระกายอยู่ได้จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระภัสดาเจ้า ไฉนพระองค์จะมาตรัสพระวาจาในที่หาความภาคภูมิมิได้ พระองค์เสด็จไปที่ไหน ข้าพระบาทก็จักเสด็จตามไปที่นั้น ข้าพระบาทเว้นจากพระองค์เสียแล้วจะอยู่ไปอย่างไรได้ คิดเห็นว่าความตายจักมีเป็นแน่ แล้วกล่าวพระคาถาว่า
อคฺคึ อุชฺชาลยิตฺวาน | เอกชาลสสมาหิตํ |
ตตฺเถว มรณํ เสยฺโย | ยฺเจ ชีเว ตยา วินา |
นคฺคา นที อนูทกา | นคฺคํ รฏฺํ อราชิกํ |
อิตฺถีปิ วิธวา นคฺคา | ยสฺสาปิ ทส ภาตโร |
เวธพฺยํ กฏุกํ โลเก | คจฺฉฺเว รเถสภ |
ยา ทิลิทฺที ทลิทฺทสฺส | อทฺธา อทฺธสฺส กิตฺติมา |
ตํเว เทวา ปสํสนฺติ | ทุกฺกรํ หิ กโรติ สา |
สามิกํ อนุพนฺธิสฺสํ | สทา กาสายวาสินี |
ปถพฺยาปิ อเภชนฺตุยา | เวธพฺยํ กฏุกิตฺถิยา |
อปิ สาครปริยนฺตํ | พหุวิตฺตธรํ มหึ |
นานารตนปริปูรํ | เนจฺเฉตํ สามิกํ วินา |
กถํนุ ตาสํ หทยํ | สุขรา วต อิตฺถิโย |
เย สามิเก ทุกฺขิตมฺหิ | สุขมิจฺฉนฺติ อตฺตโน |
สามิกํ อนุพนฺธิสฺสํ | สทา กาสายวาสินี |
แปลว่า ข้าพระบาทคิดอยู่ว่า จะก่อเพลิงให้ลุกโพลงขึ้นพอประชุมเปลวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วเข้าไปตายเสียในกองเพลิงนั้นประเสริฐกว่า ถ้าละเว้นจากพระองค์เสียแล้วอยู่ไปเปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไม่มีน้ำก็ไม่งาม อนึ่งสตรีแม้จะมีพี่น้องชายสักสิบคนถ้าตนเป็นหญิงหม้ายก็ไม่งาม ความเป็นหญิงหม้ายเป็นที่เดือดร้อนใจในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในโลก ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป สตรีผู้ใดเมื่อสามีตกยากก็ตกยากด้วย เมื่อสามีมั่งมีก็มั่งมีด้วย สตรีผู้นั้นจึงจะเป็นที่สรรเสริญของชนทั้งปวง เทพยเจ้าทั้งหลายก็ย่อมสรรเสริญสตรีผู้นั้น เพราะสตรีผู้นั้นกระทำกรรมที่บุคคลกระทำได้ด้วยยาก ถึงข้าพระบาทจะได้นุ่งห่มแต่ผ้าย้อมฝาดอยู่เสมอก็ไม่ว่า จะขอติดตามพระภัสดาไปจงได้ อนึ่งแผ่นปฐพีนี้ยังไม่แตกทำลายอยู่ตราบใด จะขอติดตามพระภัสดาไปตราบนั้น ความเป็นหญิงหม้ายเป็นที่เดือดร้อนใจของสตรี อีกประการหนึ่ง ถึงจะมีผู้มาหยิบยกเอาแผ่นปฐพีทรงสมบัติเครื่องปลื้มใจมีอยู่มากและเต็มไปด้วยรัตนะมีประการต่างๆ มีสมุทรสาครเป็นที่สุดโดยรอบมายื่นให้ ถ้าถึงแก่จะต้องพลัดพรากจากภัสดาแล้ว ข้าพระบาทก็ไม่ปรารถนา หญิงทั้งหลายเหล่าใดที่เป็นคนใจกล้าแข็ง เมื่อสามีตกยากย่อมปรารถนาแต่ความสุขแก่ตน น้ำใจพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไรหนอ ส่วนข้าพระบาทถึงจะได้นุ่งห่มแต่ผ้าย้อมฝาดอยู่เป็นนิจก็ไม่ว่า จะขอติดตามพระภัสดาไปจงได้
พระเจ้าอังคเสนราชได้ทรงสดับพระเสาวนีย์ของพระราชเทวีดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ ถ้อยคำที่เจ้ากล่าวนั้นเป็นการดีแล้ว กษัตริย์ทั้งสองพระองค์นั้นมีพระอัธยาศัยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จัดแจงตระเตรียมพระองค์ เพื่อป้องกันรักษาชีวิตแล้วก็เสด็จออกจากอังควดีนคร ตั้งพระพักตรจะเสด็จไปให้ถึงหิมวันตประเทศ ส่วนพระราชเทวีเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ครั้นต้องทรงพระดำเนินทางไป พระบาททั้งสองก็แตกโลหิตไหล เสด็จไปโดยลำดับจนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง บรมกษัตริย์จึงเอาไม้มามัดเข้าเป็นแพแล้วจึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ มาเถิดเจ้าเราทั้งสองจะพากันข้ามแม่น้ำคงคาไปแล้วให้พระราชเทวีนั่งบนแพแล้ว ก็ทรงนั่งกับด้วยพระราชเทวีนั้น พอแพลอยมาถึงกลางน้ำก็บังเกิดลมอกาลวาตพัดมา แพก็แตกไปด้วยกำลังลมพัด กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็พลัดกันไปคนละทิศ แลไม่เห็นกัน ส่วนพระราชเทวีก็ขึ้นฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้นได้ ด้วยอานุภาพของพระราชเทวี ที่ทรงประพฤติวัตต์ปฏิบัติในพระภัสดา และด้วยบุญเดชาของพระมหาสัตว์เจ้าด้วย จึงทอดพระเนตรไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ได้แลเห็นพระภัสดาของพระองค์โผล่ขึ้นมา ไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ก็ร้องขึ้นด้วยพระสำเนียงอันดัง คร่ำครวญอยู่ว่าภัสดาของเราไม่มีที่พึ่งเชียวหนอ โอพระภัสดาของเราทรงหวาดหวั่นอยู่เทียวหนอ เราจะทำไฉนดี ทรงรำพึงว่า เราจะกระทำอธิษฐานในกาลบัดนี้ ก็คงจะให้พระภัสดาพ้นจากอันตรายได้โดยแท้แล้ว พระราชเทวีเจ้าก็บ้วนพระโอษฐ์กระทำสัจจกิริยาธิษฐานเป็นพระคาถาว่า
สุณนฺตุ โภนฺโต วจนํ | เทวสงฺฆา สมาคตา |
สเจปิ เม ปติพฺพตฺตา | คงฺโคทกา อเจตนา |
อิมาย ปวิสมา | อนุคจฺฉามิ ปิฏฺิยํ |
แปลว่า ขอเทพนิกรเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จงประชุมกันฟังคำข้าพเจ้า ถ้าว่าความเป็นผู้ประพฤติวัตต์ปฏิบัติในพระภัสดาของข้าพเจ้าที่มีอยู่ไซร้ ขอให้น้ำในแม่น้ำคงคาที่ไม่มีเจตนาจงกลายเป็นเสมือนแผ่นดิน ข้าพเจ้าจะขอไปตามพระภัสดาบนหลังแม่น้ำนี้
พอจบคำอธิษฐานลง แม่น้ำคงคานั้นก็เป็นเหมือนสิ่งที่มีเจตนา ถึงซึ่งความเป็นของแข็งเกิดขึ้น พระราชเทวีได้เห็นดังนั้นแล้ว ก็บันเทิงพระหฤทัย รีบด่วนเสด็จไปยึดพระหัตถ์พระภัสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่เทวราชเจ้า ขอเชิญเสด็จมาพากันไปจากแม่น้ำคงคาเถิด
พระเจ้าอังคเสนราชทอดพระเนตรเห็นพระราชเทวีแล้ว ก็ค่อยสบายพระทัย ครั้นถึงฝั่งฟากโน้นแห่งแม่น้ำคงคาแล้ว จึงตรัสกับพระราชเทวีว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ ฝั่งแม่น้ำคงคาไฉนจึงได้อัศจรรย์ฉะนี้ แล้วตรัสพระคาถาว่า
อทิฏฺปุพฺพํ ปสฺสาหิ | อพฺภูตํ โลมหํสนํ |
มํ ตฺวํ ภทฺเท ปโมเจสิ | ตฺวํ จ เม สรณํ ภเว |
ภทฺเท เต มยฺหํ นิสฺสาย | ชีวิตฺจ ลทฺธํ ตุวํ |
แปลว่า เจ้าจงดู ของที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยมีมามีขึ้น น่าสยดสยองนัก ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ เจ้าช่วยปลดเปลื้องให้พี่พ้นจากอันตรายได้ เจ้าเป็นที่พึ่งของพี่ ชีวิตของพี่ที่ได้แล้วก็เพราะอาศัยเจ้า
กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ครั้นตรัสปราศรัยกันดังนี้แล้ว ก็ตั้งพระพักตรเฉพาะป่าหิมพานต์เสด็จดำเนินไป ในขณะนั้นจึงสำแดงอาการให้เร่าร้อนขึ้นไปถึงพิภพท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกเทวราชเมื่อทรงอาวัชนาการทราบเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า พ่อจงไปยังป่าหิมพานต์นฤมิตบรรณศาลาขึ้นสองหลังให้พร้อมไปด้วยเครื่องบรรพชิตบริขาร แล้วจงกลับมา วิสสุกรรมเทพบุตรไปในป่าหิมพานต์ นฤมิตบรรณศาลาขึ้นสองหลังให้พร้อมไปด้วยเครื่องบรรพชิตบริขารสำเร็จแล้ว จึงจารึกเป็นอักษรไว้ที่ใบทวารบรรณศาลาว่า ชนทั้งหลายไม่ว่าใครใดปรารถนาจะบรรพชา ชนทั้งหลายเหล่านั้นจงเข้าพักอาศัยในศาลานี้เถิด แล้วก็นฤมิตหนทางไว้ทางหนึ่งเสร็จแล้ว ก็กลับไปยังสถานที่อยู่ของตน ครั้งนั้นพระเจ้าอังคเสนราช กับพระราชเทวีเสด็จมาโดยลำดับ ก็บรรลุถึงบรรณศาลา ทรงอ่านอักษรกราบทูลความว่า ท้าวสักกเทวราชประสาทให้ ก็เปิดบรรณศาลาเข้าไป ณ ภายใน ได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องบรรพชิตบริขาร มีทั้งผ้าทำด้วยหนังเสือ และไม้เท้าสำหรับคนแก่ด้วย ก็ทรงเปลื้องผ้าสาฎกมีสีเหมือนสีสังข์ออกเสียแล้ว ทรงนุ่งผ้าคากรอง ทรงพาดผ้าหนังเสือเหนือพระอังสาแล้ว ทรงผูกชฎามณฑล ทรงจับไม้เท้าธารพระกรดำเนินจงกรมไปไปมามา แล้วทรงเปล่งพระอุทานวาจาว่า สถานที่นี้มีความสุขเจริญหนอ สถานที่นี้เป็นที่บรมสุขเหลือล้น ส่วนพระราชเทวีเจ้าจึงกราบทูลขอพระพร จำเดิมแต่นั้นมาว่า ข้าแต่เทพราชเจ้า จำเดิมแต่นี้ไปขอพระองค์อย่าทรงกระทำการงานเลย ข้าพระบาทจะขอกระทำกิจการงานแต่ผู้เดียว ส่วนพระองค์จงกระทำแต่สมณธรรมเถิด พระเจ้าอังคเสนราชได้สดับพระเสาวนีย์ของพระราชเทวีฉะนั้นแล้ว ก็ตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ เจ้ามีความประสงค์พรเช่นนั้นเป็นการดีแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา พระราชเทวีก็จัดแจงไม้สีพระทนต์และน้ำสำหรับชำระพระโอษฐ์ และน้ำสรงพระพักตร กับทั้งพระกระยาหารสำหรับเสวย ครั้นเวลาราตรีสว่างแจ้งแล้ว พระนางเจ้าก็กระทำวัตต์ปฏิบัติที่ควรจะกระทำไว้พร้อมเสร็จแล้ว ถือกระเช้าและเสียมเข้าไปสู่อรัญประเทศแต่เวลาเช้า เก็บผลไม้มีรสใส่ลงให้เต็มกระเช้าแล้ว ก็นำมาถวายบรมกษัตริย์ บรมกษัตริย์เสวยมูลผลาหารเสวยน้ำแล้ว พระราชเทวีก็เสวยต่อภายหลัง บรมกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ก็กระทำสมณธรรมประทับอยู่ในสถานที่นั้นโดยนิยมอย่างนี้
ครั้นเมื่อกาลล่วงไปล่วงไป พระเจ้าอังคเสนราชก็ประชวรด้วยโรคาพาธอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ อันทุกขเวทนามาเบียดเบียนบีบคั้นก็สิ้นพระชนม์ลงในสถานที่นั้น
ส่วนพระราชเทวี ได้เห็นพระภัสดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ลงแล้วก็ตกพระทรวง ไม่สามารถจะดำรงพระองค์ได้ ก็ทรงพระกรรแสงกำสรดโศกาพิไรร่ำรำพันไปด้วยพระสำเนียงอันดังว่า หาหา พระภัสดาเป็นที่รัก ไฉนมากระทำข้าพระบาทให้พินาศไปจากที่พึ่งแล้วเสด็จไป โอ ตัวเราเดี๋ยวนี้ไม่มีที่พึ่งหนอ ที่พึ่งของเราไม่มีแล้ว เราต้องอยู่คนเดียวในอรัญประเทศนแล้วก็ตรัสเป็นพระคาถาว่า
อนาถา วต เมทานิ | อรฺเ เอกิกา วสึ |
อชฺเชวาหํ น ปสฺสามิ | สามิกํ ธมฺมิกํ วรํ |
โก นุ เม เทติ โอวาทํ | กถํ ปริจรามิหํ |
ปพฺพชิตา ธารยนฺตา | กถํ วจฺฉามิ เอกิกา |
แปลว่า บัดนี้ที่พึ่งของเราไม่มีแล้ว เราต้องอยู่คนเดียวในอรัญประเทศนี้ ตั้งแต่บัดนี้ไปเราจะไม่ได้เห็นพระภัสดาผู้ทรงธรรมผู้ประเสริฐ ใครเล่าเขาจะมาให้โอวาทสั่งสอนเรา เราจะปฏิบัติอย่างไรดี เราก็ทรงเพศเป็นบรรพชิต จะอยู่ไปผู้เดียวอย่างไรได้หนอ
พระราชเทวีเจ้าทรงพระกรรแสงพิไรร่ำประดุจดังคนบ้าด้วยประการดังนี้แล้วก็ออกจากบรรณศาลา ขนเอาไม้แห้งมากองไว้ในที่ใกล้แล้วยกพระศพขึ้นให้ไสยาสน์ ณ ท่ามกลางเชิงตะกอนแล้ว ถวายพระเพลิงแล้วเก็บดอกไม้ในป่ามาบูชาแล้วปริเทวนาการไปว่า ข้าแต่พระภัสดาเจ้า จำเดิมแต่นี้ไปการที่ข้าพระบาทจะได้เห็นและจะได้ถวายบังคมพระรูปพระโฉมของพระองค์ ก็เป็นการได้ด้วยยากเสียแล้ว การที่ได้เห็นและการที่ได้ถวายบังคมครั้งนี้เป็นครั้งมีในภายหลังของข้าพระบาทแล้ว พระราชเทวีเจ้าทรงปริเทวนาการอยู่ฉะนี้ จนถึงเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต พระราชเทวีเจ้าชำระสระสรงพระเศียรเกล้าแล้วเสด็จมายังบรรณศาลาแล้ว ก็ตั้งแต่จะทรงพระโศกากรรแสงเศร้าปริเทวนาการไป จำเดิมแต่นั้นก็เลี้ยงพระองค์มาจนกาลล่วงไป พอพระครรภ์บรรจบครบถ้วนทศมาส ก็ประสูติพระราชโอรส
พอพระมหาสัตว์เจ้าประสูติจากครรภ์พระมารดาแล้ว ด้วยอานุภาพของพระมหาสัตว์เจ้านั้น บังเกิดมีดอกปทุมทองขนาดใหญ่มีประมาณเท่ากงจักรผุดขึ้นมาจากพื้นแผ่นดิน มารองรับพระบาทพระมหาสัตว์เจ้า พระราชเทวีเจ้าจึงทรงพระรำพึงไปว่า บุตรของเรามีอานุภาพใหญ่มีบุญใหญ่ บัดนี้ดอกปทุมทองบังเกิดขึ้นพร้อมกับการประสูตินั้น เพราะเหตุนั้นเราจะขนานพระนามบุตรของเราว่ามหาปทุมกุมารดังนี้ ในกาลนั้นพระมหาสัตว์เจ้าแลดูพระมารดาอยู่ ส่วนพระราชเทวีเจ้าไปเห็นพระราชบุตรแล้ว ไม่อาจจะดำรงพระองค์ได้ ก็ทรงพระกรรแสงคร่ำครวญแล้ว ตรัสพระคาถาว่า
สเจ องฺควตฺตินคเร | ชาติมนฺโตสิ ปุตฺตก |
ญาติสงฺฆา สมาคตา | อุปสิฺจิ ภวนฺติ เต |
อิทมฺปิ ทุติยํ สลฺลํ | ตปฺเปติ หทยํ มม |
สามิกฺจ น ปสฺสามิ | ปุตฺตํ ปสฺสามิ เอกกํ |
แปลว่า ดูกรลูกน้อย ถ้าเจ้าเกิดในอังควดีนคร หมู่พระประยุรญาติทั้งหลายก็จะประชุมกันอภิเษกเจ้าเป็นบรมกษัตริย์ ความทุกข์ข้อนี้เป็นความทุกข์ครั้งที่สอง เป็นดังลูกศรเสียบหทัยแม่ แม่ไม่ได้เห็นพระภัสดา ได้เห็นแต่ลูกคนเดียว
พระราชเทวีเจ้ารำพันคร่ำครวญดังนี้แล้ว ก็สรงน้ำให้พระปิยบุตรแล้ว อุ้มขึ้นจุมพิตพระเศียรเกล้าแล้วให้เสวยนม พระมหาสัตว์เจ้าค่อยทรงพระเจริญจนถึงพระชันษาได้ ๑๐ปี มีพระรูปพระโฉมเป็นที่น่ารักน่าเลื่อมใส พระราชเทวีเจ้าก็เลี้ยงพระองค์กับพระราชบุตรด้วยรากไม้และผลไม้อยู่ในอรัญประเทศนั้น ในกาลนั้นพระมหาสัตว์เจ้าได้เห็นพระมารดาเสด็จไปในป่าแต่พระองค์เดียว จึงถวายบังคมแล้วทูลถามพระมารดา ด้วยพระวาจาอันอ่อนหวานว่า ข้าแต่พระมารดาเจ้า พระบิดาของข้าพระบาททรงพระนามกรอย่างไรพระเจ้าข้า พระราชเทวีจึงตรัสบอกว่า บิดาของเจ้าเป็นบรมกษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าอังคเสนราช ข้าแต่พระมารดาเจ้า พระบิดาของข้าพระบาทเสด็จไปไหน พ่อเอ๋ยพระบิดาของเจ้าสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พระมหาสัตว์เจ้าได้สดับว่าพระบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์เสียอย่างนี้แล้ว ก็ทรงปริเทวนาการด้วยกำลังความรักว่า โอพระมารดาของเราไม่มีที่พึ่งหนอ อยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว ถ้าหากว่าพระมารดาของเราจะบังเกิดความลำบากยากเข็ญขึ้นในป่า เราจะทำไฉนจะได้ชีวิตอยู่ต่อไป
พระมหาสัตว์เจ้าจึงกราบทูลพระมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ตั้งแต่นี้ไปพระแม่เจ้าอย่าได้ไปหาผลาผลเลย ลูกจะไปหาผลาผลมาเลี้ยงพระแม่เจ้า ลูกขอสละชีวิตถวายพระแม่เจ้า พระราชเทวีได้ทรงฟังคำของพระราชบุตรแล้ว ก็หวาดหวั่นพระทัย จึงตรัสกับพระลูกรักว่า พ่อเอ๋ยเจ้าจะไปในป่าใหญ่แต่คนเดียวต้องการอะไร เหตุไฉนแม่จึงว่าอย่างนี้ เพราะว่าสัตว์เนื้อเสือร้ายท่องเที่ยวอยู่ในป่านี้มากนัก ถ้าพ่อจะไปในป่านี้แต่คนเดียวแล้ว หทัยของแม่ก็จะแตก พ่อเอ๋ยเจ้าอย่าไปเลย พระราชเทวีเจ้าทรงห้ามพระปิยบุตรอยู่เนือง ๆ ด้วยประการดังนี้ พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงฟังคำพระมารดาแล้วก็นิ่งอยู่ พระราชเทวีเจ้าประทานโอวาทพระราชบุตร แล้วก็ให้พระราชบุตรประทับอยู่ ณ บรรณศาลาแล้ว ส่วนพระองค์ก็ถือเอากระเช้ากับเสียมเข้าไปสู่ป่า ตั้งแต่นั้นมาพระมหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงในพระทัยอยู่เสมอว่า ถ้าหากว่าอันตรายจะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเจ้าของเราในป่าแล้ว ใครเล่าเขาจะบอกข่าวของพระมารดาเจ้า ตัวเราก็ควรจะต้องแสวงหาให้รู้จักหนทางไว้แล้ว ก็ออกจากบรรณศาลาติดตามไปไม่สู้ไกลนัก พอสังเกตมรรคาได้แล้วก็กลับมาสู่บรรณศาลา
ส่วนพระราชเทวีเที่ยวแสวงหาผลาผลได้แล้ว พอถึงสายัณหสมัยก็เสด็จกลับ ในวันเกิดมหาเมฆตั้งขึ้นมา ฝนก็ตกมืดไปทั่วทุกทิศ พระราชเทวีเจ้าก็พักอยู่ ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ในโคนต้นไม้นั้นมีจอมปลวกอยู่จอมหนึ่ง ในจอมปลวกนั้นมีทีฆชาติอยู่ตัวหนึ่ง ทีฆชาตินั้นได้กลิ่นมนุษย์อันระคนไปด้วยธุลีละออง แล้วก็ไม่สามารถจะดับความโกรธได้ ก็รีบออกจากปล่องกัดเอาที่พระบาทพระราชเทวีเจ้า พระราชเทวีเจ้าก็บังเกิดทุกขเวทนาเป็นอันมาก จึงระลึกถึงพระราชบุตรด้วยกำลังความรัก ทรงปริเทวนาการว่า โอ้ลูกของแม่ ไม่มีใครเป็นที่พึ่งแล้วหนอ ใครเล่าจะหาผลาผลมาเลี้ยงพ่อลูกรักของแม่ แล้วตรัสพระคาถาว่า
น เม อิทํ ตถา ทุกขํ | ลพฺภาว อิตฺถิยา อิทํ |
ยฺจ ปุตฺตํ น ปสฺสามิ | ตํ เม ทุกฺขตรํ อิโต |
ติณลตานิ โอสโถฺย | ปพฺพตานิ วนานิ จ |
สิรสสิรสา วนฺทามิ | สุปติตฺเถ จ อาปเก |
คุหา เทวตา สุโสพฺเภ | ปพฺพตานิ วนานิ จ |
โภนฺโต สุณาถ เม อชฺช | วชฺชนฺตุ ปุตฺตสฺส โรคฺยํ |
กณฺหสปฺโป ทีฆชาโต | ฑํสิ ปาเท จ เวทนา |
นนุ ปุตฺโต วินา ภเว | ชีวิตา มรณํ สิยา |
แปลว่า ความทุกข์เช่นนี้จะได้มีเฉพาะแก่เราผู้เดียวก็หามิได้ ความทุกข์เช่นนี้อันสัตว์เกิดมาเป็นสตรีแล้วก็จะต้องได้เหมือนกัน เราไม่ได้เห็นบุตรใด ความที่เราไม่ได้เห็นบุตรนั้น เป็นทุกข์ของเราเหลือเกินยิ่งกว่าทุกข์นี้ ข้าพเจ้านมัสการเทพยเจ้าทุกหย่อมหญ้าทั่วทุกลดาเครือเขาพระยายักษ์ และเทพยเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ภูเขาและป่าไม้ และในถิ่นที่ใกล้ท่าน้ำและในน้ำในถ้ำและตระพังน้ำด้วยเศียรเกล้า ข้าแต่เทพยเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังคำข้าพเจ้าในวันนี้ ขอให้ทุกข์โศกโรคภัยของบุตรข้าพเจ้าจงปราศจากไปเถิด อนึ่งทีฆชาติงูเห่าดำได้กัดเอาที่เท้าข้าพเจ้า ๆ ได้เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก บุตรของข้าพเจ้าปราศจากไปจากข้าพเจ้าแล้ว ก็คงตายเป็นแน่
พระราชเทวีเจ้าบ่นเพ้ออยู่ด้วยประการดังนี้ ไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ด้วยความโศกถึงบุตร ก็สลบลงด้วยกำลังพิษสิ้นพระขนม์ลงในสถานที่นั้น
ลำดับนั้นพระมหาสัตว์เจ้า ก็กระเหม่นพระเนตรเบื้องขวาประดุจประกาศนิมิตว่าพระมารดาได้เสวยความทุกข์ จึงทรงพระดำริว่า พระมารดาของเราเสด็จไปนานนักหนาแล้ว ชะรอยจะมีอันตรายเป็นแน่ เหตุไฉนเราจึงกล่าวฉะนี้เราไม่อาจสงบอยู่ได้เพราะได้เห็นนิมิตร้าย เราจะเที่ยวแสวงหาให้พบพระมารดาจงได้ แล้วก็ออกจากบรรณศาลาไปตามรอยพระบาทของพระมารดา ในเวลาที่ไปนั้นเที่ยวไปเหมือนหงสโปดกอันพลัดแม่
พระมหาสัตว์เจ้า เมื่อจะสำแดงพระองค์ให้ปรากฏแก่พระมารดา จึงตรัสพระคาถาว่า
หาหา อมฺม กถํ ติฏฺ | ปพฺพเตสุ คุหาสุ จ |
อชฺเชวาหํ น ปสฺสามิ | มฺเ เหสฺสามิ ชีวิตํ |
แปลว่า พระมารดาเป็นที่รักอยู่ในภูเขาหรืออยู่ในถ้ำอย่างไร ลูกไม่เห็นพระมารดาในวันนี้ ลูกก็คงจะต้องสละชีวิตเป็นแท้
เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าทรงพระกรรแสงปริเทวนาการอยู่อย่างนี้ ก็เสด็จไปโดยลำดับมรรคาจนถึงมูลประเทศต้นไม้นั้น ได้เห็นพระมารดาของพระองค์ล้มอยู่ในที่นั้น เหมือนอาการของคนที่ถูกสายฟ้าจึงเข้าไปใกล้แล้วลูบคลำสรีรกายของพระมารดา ก็ทรงทราบว่าถูกอสรพิษกัด แล้วมีพระประสงค์ประกาศพระองค์ให้ปรากฏ จึงตรัสพระคาถาว่า
อุฏฺเหิ อมฺม กึ เสยฺยสิ | อาคโต ตว อตฺรโช |
ตมหํ ปริเยสิสฺสํ | วิจรามิ ทิโสทิสํ |
แปลว่า ข้าแต่พระมารดาเจ้า ขอเชิญเสด็จลุกขึ้นเถิด จะทรงพระบรรทมอยู่ไยเล่า ข้าพระบาทเป็นบุตรเกิดจากพระองค์ เที่ยวค้นหาพระมารดาอยู่ทั่วทุกทิศมาถึงแล้ว ดังนี้ ฯ
พระมหาสัตว์เจ้าได้เห็นพระมารดาสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่อาจจะดำรงพระองค์อยู่ได้ด้วยกำลังความโศก ก็ปริเทวนาการซบพระเศียรลง ณ เบื้องพระบาทของพระมารดา แล้วยกพระเศียรของพระมารดาขึ้นวางบนตักพิศดูพระพักตร์แล้วตรัสว่า ข้าแต่พระมารดาเจ้า ขอเชิญเสด็จลุกขึ้นเถิดจะทรงนิ่งอยู่ไยเล่า ข้าพระบาทเว้นจากพระมารดาเสียแล้ว ก็ไม่มีที่พึ่งจะมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไรได้ พระมหาสัตว์เจ้าทรงปริเทวนาการอยู่ประดุจดังคนบ้าตั้งแต่เวลาปฐมยามมาจนเวลามัชฌิมยาม จึงนมัสการเทพยดาทั้งหลายตรัสว่า ขอเทพยสังฆคณานิกรเจ้าทั้งหลาย จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าผู้หาที่พึ่งมิได้ แล้วตรัสพระคาถาว่า
สุณาถ ตุมฺเห วจนํ | เทวตาโย มหิทฺธิโย |
หทยํ เม สีสํ จักขุํ | ชิวฺหา มํสฺจ โลหิตํ |
โอสถตฺถายหํ ทมฺมิ | มาตรเมว ติกิจฺฉถ |
แปลว่า ขอเทพยเจ้าผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า ๆ จะให้ดวงหทัยจะให้ศีรษะจะให้นัยน์ตา จะให้ชิวหาจะให้เนื้อและเลือดของข้าพเจ้าเพื่อเป็นยารักษาพระมารดา
ในขณะนั้น พิภพของท้าวสักกเทวราช ก็สำแดงอาการให้เร่าร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการทราบเหตุนั้นแล้ว จึงคิดว่า อย่ากระนั้นเลยเราจะทดลองพระมหาสัตว์เจ้าแล้วก็ลงจากสวรรค์ นฤมิตตนเป็นพราหมณ์ พอได้เวลากี่งราตรีก็มาถึงสำนักพระมหาสัตว์เจ้า จึงตรัสว่า ดูกรพระมหาบุรุษ ท่านมีนามกรอย่างไร พระมหาสัตว์เจ้าจึงตอบว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีนามกรว่าปทุมกุมาร ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า ดูกรปทุมกุมารเราเป็นคนหลงทางมาปรารถนาจะไปเมืองพาราณสี ท่านจงบอกหนทางแก่เราเถิด พระมหาสัตว์จึงตอบว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ท่านผู้นี้เป็นมารดาของข้าพเจ้าถูกงูเห่ากัดแล้ว ขอท่านจงช่วยอนุเคราะห์บอกยาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด พราหมณ์ได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ดูกรปทุมกุมารผู้เจริญ เรารู้จักยาทิพย์ ถ้าท่านได้ยาทิพย์มามารดาของท่านก็จะได้ชีวิต ถ้าท่านไม่ได้ยาทิพย์มามารดาของท่านก็ไม่ได้ชีวิต พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงตอบพราหมณ์ว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ ท่านจะให้เราหายาอย่างไร ดูกรปทุมกุมาร ถ้าได้หัวใจมนุษย์ใส่เข้าไปในปากมารดาของท่าน ๆ ก็จะเป็นขึ้นมาเที่ยงแท้ทีเดียว พระโพธิสัตว์เจ้าได้สดับถ้อยคำของพราหมณ์แล้ว ก็มีหทัยประดุจดอกบัวที่บานแล้ว จึงรำพึงว่า โอยาทิพย์เช่นนี้หาไม่สู้ยากนัก แล้วปรารถนาจะเชือดหทัยของพระองค์จึงแลขึ้นไปบนพื้นอากาศ เมื่อจะกระทำสัจจกิริยาธิษฐาน จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
สเจ ฉินฺทามิ หทยํ | พุทฺโธ เหสฺสามิ อนาคเต |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | สตฺถํ อาเนตุ เทวตา |
แปลว่า ถ้าข้าพเจ้าจะเชือดดวงหทัย ข้าพเจ้าจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ด้วยวาจาสัจจะนี้ ขอเทพยเจ้าทั้งหลายจงนำเอาศัสตรามาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด พอจบคำอธิษฐาน ศัสตราอาศัยเกิดแต่สายฟ้าก็ปรากฏเกิดขึ้นในอากาศ เป็นประดุจดังเทพยดาประกาศบุรพนิมิตให้ปรากฏฉะนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้เห็นศัสตรานั้นแล้วก็รำพึงในพระทัยว่า บารมีของเราจักเต็มบริบูรณ์แล้ว ก็จับศัสตราด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา เกิดปีติโสมนัสทำลายอุระประเทศแล้วเชือดเอาดวงหทัยวางไว้ที่นั้นแล้ว จึงตรัสกับพระองค์เองว่า ดูกรปทุมกุมารเอ๋ย เรายังไม่เห็นพระมารดามีชีวิตเพียงใด ชีวิตของเราก็อย่าเพิกออกไปจากร่างเพียงนั้น แล้วก็วางดวงหทัยไว้ในมือของพราหมณ์ ในกาลนั้นพราหมณ์ก็ขยำดวงหทัยดวงมือแล้ว ใส่เข้าไปในปากมารดาพระมหาสัตว์เจ้าและด้วยอานุภาพของท้าวสักกเทวราช พระมารดาพระมหาสัตว์เจ้าก็ลุกขึ้นจากที่นอน ประดุจดังบุคคลที่หลับแล้วตื่นขึ้น พระมหาสัตว์เจ้าได้เห็นมารดาดังนั้น ก็ถวายบังคมพระมารดา ขอขมาโทษแล้วไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ ก็สิ้นพระชนม์ลงในสถานที่นั้น
ส่วนพระราชเทวีได้เห็นพระราชบุตรเป็นที่รักสิ้นพระชนม์ลงแล้ว ไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ ก็ทรงปริเทวนาการใหญ่หลวง ประดุจดังหญิงที่เป็นบ้า ก็ล้มลงในสถานที่นั้น ท้าวสักกเทวราช ได้เห็นอาการดังนั้นจึงตรัสกับพระราชเทวีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าว่าพระแม่เจ้าจะปรารถนาให้บุตรมีชีวิต ก็อย่าทรงพระกรรแสงปริเทวนาการไปเลย จงกระทำความอธิษฐานขึ้นเถิด บุตรของพระแม่เจ้าก็จะได้ชีวิตเป็นขึ้นโดยแท้ พระราชเทวีเจ้าได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงเช็ดพระอัสสุชลแล้ว เมื่อจะประกาศให้เทพยดาทั้งหลายทราบ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ยทิ เอวํ อิทํ สมฺม | กมฺมํ ปุตฺเตน ทุกฺกรํ |
มยฺหํ อตฺถายํ หทยํ | ติกฺขสตฺเถน ฉินฺทิย |
กตฺุตาย เตเชน | ชีวตุ มม โอรโส |
แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้มีธุระอันเสมอ กรรมอันนี้บุคคลกระทำได้ด้วยยาก บุตรของเราทำแล้ว คือได้เชือดดวงหทัยด้วยศัสตราอันคม เพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ถ้าเป็นอย่างนี้ไซร้ ด้วยเดชแห่งความกตัญญูนั้น ขอให้โอรสของข้าพเจ้าจงเป็นขึ้นมาเถิด
พอเสร็จคำอธิษฐานแล้ว ท้าวสักกเทวราชก็หยิบเอายาทิพย์มาโสรจสรงพระโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชบุญของพระโพธิสัตว์เจ้าด้วย ด้วยอานุภาพของท้าวสักกเทวราชด้วย ด้วยเดชแห่งคำอธิษฐานของพระราชเทวีด้วย บรรดาพระโรคาพาธทั้งปวงก็ระงับไป พระโพธิสัตว์เจ้ามีสกลสรีระประดุจดังทองคำ เสด็จลุกขึ้นถวายบังคมพระมารดาแล้วประทับนั่ง ทรงระลึกถึงคุณของพระองค์ ในขณะเมื่อระลึกอยู่นั้น มหาปฐพีก็หวั่นไหว มหาสมุทรก็กำเริบ สายฟ้าในอันใช่ฤดูก็แลบแวบวาบไป ภูเขาสิเนรุราชก็โอนอ่อนไป
สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อทรงจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
จลติ ราติ ปวี | อุจฺฉุยนฺตีว ปึสิตํ |
เตลยนฺตํ ยถา จกฺกํ | เอวํ กมฺเปติ เมทนี |
สงฺขุพฺภึสุ สมุทฺโท จ | คิรินฺโท ตตฺถ โอนมิ |
โอนมิเต สิเนรุมฺหิ | หึหึสทฺโท ปวตฺตติ |
แปลว่า มหาปฐพีเมทนีดลก็สะเทื้อนส่งเสียงร้องดุจเสียงเครื่องยนต์ที่หีบอ้อย และเกิดกัมปนาทหวาดหวั่นไหว ดุจเครื่องยนต์ที่สกัดน้ำมันและเครื่องจักร์ฉะนั้น ทั้งพระมหาสมุทรก็ตีฟองคะนองคลื่น ทั้งพระยาเขาในภาคพื้นก็โอนอ่อนน้อมลงมา ให้บังเกิดมีสำเนียงเสียงดังหึ่งหึ่งกึกก้องไปในเขาสิเนรุราชที่โอนอ่อนไปมาอยู่นั้น
ในครั้งนั้นท้าวสักกเทวราช มีพระสรีรกายรุ่งเรืองอยู่ด้วยรัศมีของพระองค์ เมื่อจะสำแดงพระองค์ให้ปรากฏ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
สกฺโกหมสฺมิ เทวินฺโท | อาคโต ตว สนฺติเก |
สุทุกฺกรํ อหํ ปสฺสํ | ปาเท วนฺทามิ ราชปุตฺต |
นนฺทติ ตว มาตา | ตํปิ นนฺทาหิ ขตฺติย |
อหํ นนฺทามิ ตุยฺหฺจ | อาปุจฺฉามิ มหาราช |
แปลว่า เราเป็นท้าวเทวินทรสักกเทวราชมาแล้วในสำนักของท่าน ได้เห็นกรรมที่บุคคลกระทำด้วยยากอย่างดีของท่าน ข้าแต่ราชบุตร ข้าพเจ้านมัสการพระบาททั้งสองของท่าน พระมารดาของท่านก็มีความยินดี ข้าแต่บรมกษัตริย์ ถึงตัวท่านก็จงยินดีซึ่งกรรมนั้น ถึงตัวข้าพเจ้าก็ยินดีซึ่งกรรมนั้นของท่าน ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพเจ้าขอลาท่าน ณ บัดนี้ เมื่อท้าวสักกเทวราชตรัสพระคาถานี้แล้ว ชมเชยพระมหาสัตว์เจ้าแล้วลากลับไปยังเทพยสถานของตน
สมเด็จพระศาสดาจารย์ เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
อิทํ วตฺวาน มฆวา | เทวราชา สุชมฺปติ |
โพธิสตฺตํ ถูตึ กตฺวา | สคฺคกายํ อปกฺกมิ |
แปลว่า ท้าวสุชัมบดีมฆวานเทวราชตรัสพระคาถานี้ ชมเชยพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว กลับไปยังสัคคกายเทวโลก
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า เชิญเสด็จพระมารดาพาไปยังบรรณศาลา จำเดิมแต่นั้นมาก็ทรงปฏิบัติพระมารดาโดยเคารพอยู่จนถึงกาลกำหนดพระชนมายุ ครั้นจุติจากมนุษยโลกแล้ว ก็ไปบังเกิดในสวรรค์
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์นำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกตรัสพระคาถาว่า
กูฏราชา ปุเร อาสิ | นาฺโ โส เทวทตฺตโก |
พฺราหฺมณนิมฺมิโต สกฺโก | อนุรุทฺโธ วิจกฺขุโก |
องฺคเสโน ตทา ราชา | ปิตา สุทฺโธทโน อหุ |
สุเมขลา จ สา ปพฺเพ | มหามายา อิทานิปิ |
มหาปทุโม โลกนาโถ | อมฺหากํปิ ตถาคโต |
เสฏฺโ เชฏฺโ มนุสฺสานํ | ตุมฺเห ธาเรถ ชาตกํ |
แปลว่า พระเจ้ากูฏราชในกาลก่อนนั้น ไม่ใช่คนอื่นมาเป็นพระเทวทัตในกาลนี้ ท้าวสักกเทวราชซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้รู้นิมิตในครั้งนั้นมาเป็นพระอนุรุทธผู้มีจักษุอันวิเศษ พระเจ้าอังคเสนราชในครั้งนั้น มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราชผู้พระพุทธบิดา นางสุเมขลาในกาลก่อน มาเป็นนางมหามายาในกาลนี้ พระมหาปทุมราชกุมารในครั้งนั้น มาเป็นพระตถาคตบรมโลกนาถของเราทั้งหลาย เป็นผู้ประเสริฐเป็นใหญ่กว่ามนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกนี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้