สลภชาดก

อหํ ชาติโก หุตฺวาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต กากกิมิมานํ อตฺตนา ปฺหํ พฺยากตํ อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภซึ่งพระองค์ทรงแก้ปัญญาแก่กาและหนอนเป็นมูลเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า อหํ ชาติโก หุตฺวา เป็นอาทิเบื้องต้น อนุสนธิในนิทานวจนะมีต่อไปมา

สมัยนั้น มีกาตัวหนึ่งจรจากหิมวันต์มาถึงที่อยู่ของมหากิมิน (หนอนตัวใหญ่) ละไปเห็นตัวมหากิมินแล้วนึกดีใจว่า โอ วันนี้เราได้อาหารกินแหละ กานั้นจึงโผเข้าไปใกล้มหากิมินแล้วพูดว่า แน่ะมหากิมิน เราจะกินท่านแหละ มหากิมินได้ยินเสียงกาพูดว่าจะกิน เหลือบไปเห็นกาแล้วตอบว่า แน่ะกาตัวร้าย ท่านรู้ธรรมอะไรจึงจะกินเราได้ แน่ะมหากิมิน ตัวท่านรู้ธรรมหรือแน่ะกา เรารู้มากสิหนะ แน่ะกิมิน ถ้าว่าท่านรู้มากจงพูดไปให้เราฟังก่อน แน่ะกา เราจะถามปัญหากะท่านสี่ข้อ แน่ะกิมินถ้าว่าท่านรู้จริง จงถามเราเถอะ แน่ะกา ถ้าว่าท่านรู้จักแก้ปัญหาไซร้ ท่านจงกินเราเถอะ ถ้าท่านไม่รู้จักแก้ปัญหายังจะกินเราอยู่ ศีรษะของท่านจะต้องแตกออกไปเจ็ดภาค แน่ะกิมินท่านจงพูดไปก่อนเถอะ

มหากิมินจึงตามปัญหาสี่ข้อ ข้อที่ ๑ ถามว่าธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่งจะได้แก่สิ่งอะไร ข้อที่ ๒ ถามว่าธรรมชาติที่รวดเร็วยิ่งจะได้แก่สิ่งอะไร ข้อที่ ๓ ถามว่าธรรมชาติที่คมแหลมยิ่งจะได้แก่สิ่งอะไร ข้อที่ ๔ ถามว่าสภาพที่มีกำลังใหญ่ยิ่ง จะได้แก่สิ่งอะไร กาจึงพยากรณ์แก้ปัญหาสี่ข้อเป็นลำดับไป ข้อที่ ๑ แก้ว่าเทวดาชื่อว่าใหญ่ยิ่ง ข้อที่ ๒ แก้ว่าม้าอัสดรชื่อว่ารวดเร็ว ข้อที่ ๓ แก้ว่าลูกศรชื่อว่าคมแหลม ข้อที่ ๔ แก้ว่าพระนารายณ์มีกำลังมากมาย ท่านมหากิมินจงทราบอธิบายอย่างนี้

​มหากิมินได้ฟังคำแก้ปัญหาของกาแล้วจึงพูดว่า ตัวท่านหารู้จักแก้ปัญหาได้ไม่ ปัญหาสี่ข้อนี้ท่านแก้ไม่ถูกแต่สักข้อเดียวท่านยังจะกินเราอยู่ ศีรษะของท่านจะต้องแยกออกเจ็ดภาค คนอื่นนอกจากพระพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครจะแก้ได้ แน่ะกา ถ้าว่าท่านจักกินเราให้ได้ไซร้ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๆ ทรงพยากรณ์สมคำของท่านแล้ว ท่านจงกินเราตามปรารถนา กาจึงพูดว่า เราจักไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคได้เร็วพลัน ก็ตัวท่านจะไปได้แหละหรือ มหากิมินจึงบอกกาว่า ท่านไปหาเถาวัลย์มาพันกลางตัวเราให้มั่นแล้วท่านคาบปลายเถาวัลย์บินไปให้ถึงสำนักพระศาสดา กาก็ทำอย่างนั้นพากันไปถึงสำนักพระศาสดา

ณ สมัยกาลคราวนั้นแล สมเด็จพระบรมศาสดาพิจารณาดูสัตวโลกอยู่ ทอดพระเนตรเห็นสองสัตว์นั้นแล้วก็แย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐ์กะพระศาสดาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ มีเหตุอะไรมีปัจจัยอย่างไร พระองค์จึงทรงแย้มพระโอษรฐ์ ดูกรอานนท์ มีเหตุสิ่งหนึ่งน่าอัศจรรย์เธอจงรอดูสักครู่หนึ่งก่อนก็จะได้เห็น

เมื่อพระศาสดาทรงตรัสอยู่กับพระอานนท์ กาก็พอบินมาถึงพระเชตวัน จึงแก้เถาวัลย์ซึ่งผูกพันกิมินออกแล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฝ่ายกิมินก็ยืดกายค่อยๆ คลานเข้าไปใกล้พระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงพระกรุณาทำประโยชน์ให้สรรพสัตว์ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพระบาท กาตัวนี้จะกินข้าพระบาท ๆ จึงว่าแก่กาว่า ท่านแก้ปัญหาสี่ข้อได้แล้วจงกินเราเถิด ถ้าท่านแก้ไม่ได้ขึ้นใจกินเรา ศีรษะของท่านจะต้องแตกเจ็ดภาค กาตัวนี้ไม่รู้จักแก้ปัญหา จึงพาข้าพระบาทมาเฝ้าพระองค์

สมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงทราบวาระน้ำจิตแล้วตรัสถามกิมินว่า ปัญหาสี่ข้อที่ท่านถามนั้นอย่างไร กากล่าวแก้ปัญหาสี่ข้อนั้นเป็นไฉน กิมินกราบทูลข้อถามและความแก้ปัญหาถวายให้ทรงทราบ ดังเนื้อความที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น พระทศพลตรัสถามกาอีกว่า ท่านแก้ปัญหาเหมือนคำกิมินว่ากระนี้จริงหรือไม่ กากราบทูลว่าจริงดังกราบทูลฉะนั้น พระบรมศาสดาตรัสแก่กาว่า ท่านหารู้จักแก้ปัญหาได้ไม่ แล้วพระองค์ทรงวิสัชนาแก้ปัญหาสี่ข้อตังต่อไปนี้ว่า

ปัญหาข้อที่ ๑ ที่ว่าธรรมชาติใหญ่ยิ่งนั้น ได้แก่พระกุตรธรรม ๆ นี้ใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ปัญหาข้อที่ ๒ ที่ว่าธรรมชาติรวดเร็วยิ่งนั้น ได้แก่จิต ๆ แล่นไปแล่นมาเกิดดับรวดเร็ว​เสมอไป ปัญหาข้อที่ ๓ ที่ว่าธรรมชาติแหลมคมนั้น คือได้แก่น้ำ ๆ อาจจะซึมเซาะเข้าไปในสิ่งทั้งปวงได้ ปัญหาข้อที่ ๔ ที่ว่าสภาพมีกำลังยิ่งนั้น คือ ได้แก่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๆ ทรงกำลังยิ่งหาผู้เสมอมิได้

มหากิมินได้สดับพุทธปัญหาพยากรณ์แล้วให้สาธุการ แล้วพูดกะกาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาหาสมกับคำของท่านไม่ ท่านยังจะกินเราได้อย่างไร กาตอบว่าเราไม่กินท่านหละ พระผู้มีพระภาคตรัสกะกาว่า ต่อแต่นี้ไป ท่านจงกินอาหารที่ควรกิน อย่ากินอาหารที่ไม่ควรจะกิน กานั้นครั้นได้ฟังธรรมเทศนาแล้วก็ยินดี จึงถวายพระอภิวาทน์พระชินสีห์แล้ว ก็กลับไปยังที่อยู่ของตน

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะมหาชนว่า ท่านจงจับกิมินไปปล่อยไว้ในฉางข้าวรักษาไว้ให้ดี มหาชนก็ทำตามพุทธดำรัส อยู่มาอีกสองสามวัน กิมินนั้นทำกาลกิริยาตายไปตามยถากรรมของตน พระบรมศาสดาเมื่อจะประกาศปัญหาให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาทั้งหลายนี้ว่า

อหมฺปิ ชาติโก หุตฺวาสุตฺตโสโม จ ปากโฏ
ปฺาย ปริมุฺจามิโปริสาทสฺส หตฺถโต
อหมฺปิ ชาติโก หุตฺวามโหสโถ จ ปากโฏ
ราชาโน ปริมุฺจามิปฺา จ มา ภวิสฺสติ
อหมฺปิ ชาติโก หุตฺวาวิธูโร นาม ปณฺฑิโต
ปฺาย ปริมุฺจามิปุณฺณยกฺขสฺส หตฺถโต
อนฺตมโส หิ สตฺโต จกิมิโน จ ยถาสุขํ
ปฺาย ปริมุจฺจติกากสฺส มรณโต จ

ความว่า แม้เราตถาคตมีชาติปรากฏว่าสุตตโสมบัณฑิตได้เปลื้องปลิดตนจากมือของโปริสาทได้ด้วยปัญญา แม้เราเมื่อเกิดปรากฏเป็นมโหสก ได้เปลื้องปลดพระราชาทั้งหลายให้พ้นมรณภัย อาศัยเรามีปัญญาช่วยไว้ได้ แม้เมื่อเราเกิดปรากฏนามว่าวิธูรบัณฑิต ได้เปลื้องปลิดตนพ้นจากมือบุณณกยักษ์ได้ ก็เพราะอาศัยปัญญา โดยที่สุดกิมินรอดตายจากปากกาก็ด้วยปัญญาของตน

​เมื่อจบปริยายคาถาลง มหาชนมากด้วยกัน บรรลุถึงซึ่งมรรคและผลมีโสดาเป็นต้น คราวนั้นพระภิกษุทั้งหลาย ประชุมสนทนากัน ณ โรงธรรมสภา พรรณนาคุณพระบรมศาสดาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตมีพระปัญญาหลักแหลมลึกซึ้งว่องไวแก่กล้าเบิกบาน แม้แต่ปัญหาของสัตว์เดียรัจฉานพระองค์ทรงพยากรณ์ได้ ทรงพยากรณ์เหมาะเจาะไพเราะจับใจดี พระตถาคตมุนีมีพระปัญญามากเทียวหนอ สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมายังที่ประชุมสงฆ์ ทรงไต่ถามความตลอดแล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายตถาคตจะได้วิสัชนาติรัจฉานปัญหาในชาตินี้ก็หาไม่ ถึงในกาลปางก่อนติรัจฉานปัญหาเช่นนี้ก็ได้เคยมีมาแล้ว ตรัสดังนี้แล้วทรงนำอดีตนิทานมาอ้างดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต พาราณสินคเร พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วนาน พระราชาพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในพาราณสีนคร คราวนั้นพระโพธิสัตว์อุบัติในกฏุมพิกสกูล เมื่อคลอดแล้วเจริญวัยขึ้นตามลำดับเมื่อบิดาทำกาลตายไปแล้ว พระโพธิสัตว์ได้ทรัพย์สมบัติของบิดาไว้มาก คิดจะบริจาคทานให้เป็นทางไปสู่สวรรค์ คิดแล้วบริจาคทานถึงเจ็ดวัน ทรัพย์ที่เหลือจากนั้นแบ่งถวายพระราชาส่วนหนึ่ง มอบให้แก่หมู่ญาติเสียส่วนหนึ่ง แล้วไปบวชเป็นดาบส ณ ป่าหิมพานต์บำเพ็ญกสิณบริกรรมทำฌานให้เกิดขึ้นอยู่สิ้นกาลนาน

คราวนั้น มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ตั้งอยู่แต่เบื้องปาจิณทิศแห่งอาศรมพระดาบส มีตั๊กแตนตัวหนึ่งตัวใหญ่เท่าลูกฟัก อาศัยอยู่ที่ต้นไทรนั้น มีนกครุฑตัวหนึ่งเที่ยวไปในสรรพทิศ ไม่ได้อาหารกินอดอยู่ถึงเจ็ดวัน บินมาถึงมหานิโครธนั่งจับเจ่าอยู่ เห็นตั๊กแตนตัวนั้นแล้วคิดว่า วันนี้เราได้กินอาหารหละ คิดแล้วจึงพูดว่า แน่ะตั๊กแตน เราจะกินตัวท่านละ มหาสลภะได้ยินดังนั้นก็ตกใจนึกว่า เราจักทำอุบายอย่างไรจึงจะพ้นความตายก็ซังกะตายพูดกะนกครุฑว่า แน่ะท่านมหาครุฑ ท่านรู้จักธรรมสิ่งใดจึงจะมากินเรา แน่ะมหาสลภะ ท่านรู้ธรรมจงพูดให้เราฟัง เออดีหละ เราจะถามปัญหาสี่ข้อกะท่าน ถ้าว่าท่านรู้จงกินเราเถอะ ถ้าว่าท่านไม่รู้ขืนจะกินเรา ศีรษะของท่านจักแตกไปได้เจ็ดภาค ฯ แน่ะมหาสลภะ ท่านจงพูดไปเถอะ มหาสลภะจึงถามปัญหาขึ้นทีละข้อ เป็นลำดับกัน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ปัญหาข้อที่ ๑ ถามว่าสภาวะสิ่งหนึ่งงามยิ่ง คือจะได้แก่สิ่งละไร ปัญหาข้อที่ ๒ ถามว่าสภาวะสิ่งหนึ่งละเอียดยิ่ง คือจะได้แก่สิ่งกะไร ปัญหาข้อที่ ๓ ถามว่าสภาพอันหนึ่งชื่อว่ายาวยิ่ง คือจะได้แก่สิ่งอะไร ปัญหาข้อที่ ๔ ถามว่าสภาพอันหนึ่งชื่อว่าไม่มีหาสิ่งอื่นไม่มียิ่ง คือจะได้แก่สิ่งอะไร

​นกครุฑจึงพยากรณ์แก้ปัญหาสี่ข้อตามลำดับดังต่อไปนี้ว่า ปัญหาข้อที่ ๑ แก้ว่าสภาพอันหนึ่งงามยิ่ง คือได้แก่พระจันทร์เมื่อวันเพ็ญสิบห้าค่ำ ปัญหาข้อที่ ๒ แก้ว่าสภาพอันหนึ่งละเอียดอ่อน คือได้แก่นุ่นสำลีใย ปัญหาข้อที่ ๓ แก้ว่าสภาพอันหนึ่งชื่อว่ายาวยิ่ง คือได้แก่มรรคาที่มหาชนเดินไปมาทุกๆ วัน ปัญหาข้อที่ ๔ แก้ว่าสภาพอันหนึ่งชื่อว่าไม่มีหาสิ่งอื่นไม่มียิ่งนั้น คือได้แก่มรณกรรมคือความตาย อัสสาสะปัสสาสะของสัตว์โลกชื่อว่าไม่มีสภาพอื่นยิ่งกว่า

มหาสลภะจึงตอบว่า แน่ะครุฑ ท่านหารู้จักอธิบายเนื้อความปัญหาสี่ข้อให้ถูกแต่สักข้อหนึ่งไม่ ท่านจะกินเรายังไม่ได้ ถ้าว่าท่านจะขืนกินเราศีรษะของท่านจักแตกออกเจ็ดภาค ถ้าว่าท่านกินเราให้ได้ เรามาพากันไปถามพระดาบส ๆ ท่านพยากรณ์สมคำของท่าน ๆ จงกินเราเถิด นกครุฑตอบว่าดีแล้วก็บินไปยังสำนักพระดาบส ตั๊กแตนก็บินตามไปด้วย ครุฑกับตั๊กแตนจึงนมัสการพระดาบส ไต่ถามทุกข์สุขกะดาบส ๆ ทำปฏิสัณฐารแสดงความทุกข์สุขแล้วตั๊กแตนจึงพูดขึ้นว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ครุฑตัวนี้จะกินข้าพเจ้า ๆ สัญญาถามปัญหาสี่ข้อกันก่อน ถ้าว่าครุฑแก้ปัญหาถูกแม้แต่ข้อหนึ่ง ข้าพเจ้ายอมให้ครุฑกินโดยดี ครุฑนี้แก้ปัญหาหาถูกไม่ ข้าพเจ้าทั้งสองจึงต้องพากันมาหาท่าน ขอท่านได้กรุณาช่วยวิสัชนาปัญหา ทำเนื้อความปัญหาให้แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ด้วยเถิด

พระดาบสถามตั๊กแตนว่า แน่ะมหาสลภะ ปัญหาสี่ข้อนั้นท่านถามว่ากระไร นกครุฑเขาแก้ปัญหาได้ความว่าอย่างไร ตั๊กแตนจึงบอกข้อถามและความแก้ให้พระดาบสฟังดุจดังเนื้อความที่กล่าวมาแล้วแต่หลัง พระดาบสได้ฟังแล้วถามนกครุฑว่า ท่านแก้ปัญหาสี่ข้ออย่างนี้จริงดังตั๊กแตนพูดหรือไม่ นกครุฑรับสารภาพว่าจริงดังตั๊กแตนบอก

พระดาบสพูดว่า แน่ะครุฑ ท่านหารู้จักพยากรณ์ปัญหาให้ถูกได้ไม่ พระดาบสจึงพยากรณ์ปัญหาสี่ข้อให้ฟัง ปัญหาข้อที่ ๑ ที่ว่าสภาพอันหนึ่งงามยิ่งนั้น คือได้แก่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบเหล่านี้มีอยู่แก่มนุษย์พวกใด มนุษย์พวกนั้นชื่อว่างามยิ่งในโลกนี้และโลกเบื้องหน้า ปัญหาข้อที่ ๒ ที่ว่าสภาพอันหนึ่งละเอียดอ่อนยิ่งนั้น ได้แก่โลกกุตรธรรมกับปริยัติธรรม ๆ สุขุมละเอียดยิ่งกว่าสิ่งอื่นทั้งมวล ปัญหาข้อที่ ๓ ที่ว่าสภาพอันหนึ่งยาวยิ่ง คือได้แก่ธรรม ๒ ประการ คือสัปบุริสธรรม ๑ อสัปปุริสธรรม ๑ ธรรม ๒ ประการนี้ชื่อว่ายาวและไกลกัน เหมือนดังฝั่งสมุทรหรือแผ่นดินกับฟ้าฉะนั้น ​ปัญหาข้อที่ ๔ ที่ว่าสภาพอันหนึ่งชื่อว่าไม่มี หาสิ่งอื่นไม่มีเหมือนนั้น คือ ได้แก่พระอริยสาวกทั้งหลาย ๆ แรกทำวิปัสนาให้เจริญแล้ว บรรลุฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ แล้วบรรลุโสดาปัตติผล สกทามิ อนาคามิ และอรหัต แล้วดับกิเลศได้สิ้นเชิง ส่วนนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ปัญจขันธ์ ๕ คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ย่อมดับไป อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอาทิย่อมดับไป พระพุทธพระปัจเจกพุทธ พุทธสาวกทั้งหลายท่านย่อมดับปัญจขันธ์ ๕ อย่างนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน อันนี้และชื่อว่ามรณธรรมนั้นผิดหาถูกไม่

ตั๊กแตนได้ฟังปัญหาพยากรณ์ของพระดาบสแล้วให้สาธุการ เทพยดาในไพรสัณฑ์ก็ให้สาธุการ ตั๊กแตนจึงว่าขานกะนกครุฑว่า ปัญหาสี่ข้อที่เราถามท่าน ๆ แก้หาถูกไม่ พระดาบสท่านพยากรณ์ก็หาสมคำท่านไม่ ท่านยังจะกินเราอีกหรือ นกครุฑจึงตอบว่าเราไม่กินท่านละ พระดาบสให้โอวาทสั่งสอนแก่นกครุฑว่า ต่อนี้ไปท่านจงกินอาหารที่ควรกิน อย่ากินอาหารที่ไม่ควรกิน แล้วพระดาบสจึงแสดงศีลห้าให้ฟัง นกครุฑกับตั๊กแตนจึงนมัสการลาพระดาบสกลับไปยังที่อยู่ของตน

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราตถาตตจะได้พยากรณ์ปัญหาแก่สัตว์เดียรัจฉานแต่ในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในกาลปางก่อนการพยากรณ์ดิรัจฉานปัญหา ได้มีมาแก่ตถาคตแล้วอย่างนี้ แล้วพระองค์ประชุมชาดกว่า มารดาพระโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา บิดาพระโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระเจ้าพาราณสีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานนท์ ตั๊กแตนในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระสารีบุตร นกครุฑในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือ พระโมคคัลลาน สรรพญาติทั้งหลายในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระดาบสในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือ พระตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงดังนี้

จบสลภชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: