อิเม เสนา คมิสฺสนฺตีติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต มาตุโปสกํ ภิกฺขุํ อารพฺภ กเถสิ ฯ
สตฺถา สมเด็จพระบรมครู เมื่อเสด็จอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดาให้เป็นมูลเหตุ ตรัสธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า อิเม เสนา คมิสฺสนฺติ ดังนี้เป็นต้น อนุสนธิในเรื่องนี้ มีเนื้อความเหมือนกับสุวรรณสามชาดก ในที่นี้มีความปรากฏดังต่อไปนี้
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสถามภิกษุผู้เลี้ยงมารดานั้นว่า ดูกรภิกษุ ได้ยินเขาว่าเธอเลี้ยงคฤหัสถ์จริงหรือ ฯ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ จริงพระเจ้าข้า ฯ คฤหัสถ์นั้นเป็นอะไรกับเธอ ฯ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ คฤหัสถ์นั้นเป็นมารดาของข้าพระองค์พระเจ้าข้า ฯ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงให้สาธุการสามครั้งว่าสาธุดีแล้วดังนี้ จึงทรงตรัสต่อไปอีกว่า เธอตั้งอยู่ในทางที่ตถาคตเคยเดินมาแล้ว กิจที่บำรุงเลี้ยงมารดาบิดานี้ ย่อมเป็นประเพณีวงศ์ของนักปราชญ์แต่ก่อนๆ ย่อมสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่มารดาบิดา ตรัสเท่านั้นก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ ภิกษุนั้นจะใคร่รู้จึงกราบทูลอาราธนา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้
อตีเต จมฺปกนคเร ยสกิตฺติราชา นาม รชฺชํ กเรสิ ในกาลอันล่วงแล้วแต่ปางหลัง ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ยศกิตติได้ดำรงราชสมบัติ ณ จัมปากนคร พระองค์มีพระอัครมเหสีมีนามกรว่า สิริมดี เป็นใหญ่ยิ่งกว่าสนมนารีหมื่นหกพัน พระเจ้ากิตติราชนั้นหามีพระโอรสและธิดาไม่ คราวนั้นชาวพระนครทั้งหลายทราบชัดแล้วว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีราชโอรสและราชธิดา จึงพากันไปประชุม ณ หน้าพระลานหลวงพากันรบเร้าทูลว่า ข้าแต่เทวบพิตร รัฐมณฑลของพระองค์จักพินาศเสียเป็นมั่นคงพระเจ้าข้า ฯ ดูกรชาวเจ้าทั้งหลาย รัฐมณฑลของเราจักพินาศด้วยเหตุไร ฯ ข้าแต่เทวบพิตร พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งจักดำรงรักษาวงศ์ตระกูลหามีไม่ รัฐมณฑลจักพินาศไปด้วยเหตุนี้พระเจ้าข้า ฯ แน่ะท่านทั้งหลายๆอย่าคิดวิตกไปเลย จงพากันกลับไปก่อนเถิด
พระเจ้ายศกิตติราช รำพึงถึงอุปกาศของชาวนครนั้นแล้วจึงตรัสกับพวกสนมหมื่นหกพันว่า ให้ช่วยกันปรารถนาหาบุตรจงทุกๆคน สนมนารีหมื่นหกพันก็พากันทำบวงสรวงแก่สิ่งที่นับถือมีพระจันทร์เป็นต้น ตั้งใจปรารถนาหาบุตรด้วยกันทุกคน ก็หาเป็นผลสำเร็จไม่ พระเจ้ายศกิตติราชจึงตรัสกับราชเทวีว่า แน่ะพระนางสิริมดี จงตั้งใจปรารถนาหาบุตรสักคนหนึ่งเถิด พระราชเทวีสิริมดีรับพระราชดำรัสว่า ข้าแต่เทวบพิตรดีแล้ว หม่อมฉันจะตั้งใจปรารถนา แต่นั้นมาพระราชเทวี จึงสมาทานอุโบสถศีลตั้งพระหฤทัยปรารถนาซึ่งบุตร พระนางเธอพิจารณาดูศีลของพระองค์แล้วทรงทำความสัจว่า ถ้าศีลของข้าพเจ้าไม่ขาดไซร้ ขอให้ข้าพเจ้าได้บุตรสมปรารถนา ณ กาลบัดนี้
ด้วยอำนาจศีลของพระราชเทวี พิภพของท้าวโกสีย์ก็แสดงอาการอันร้อนขึ้นทันที ท้าวโกสีย์ใคร่ครวญดูก็รู้เหตุว่า พระนางสิริมดีปรารถนาหาบุตร เราจักให้บุตรแก่พระนางสิริมดี จึงทรงพิจารณาดูบุตรที่จะคู่ควรแก่พระราชเทวี ก็ได้เห็นพระโพธิสัตว์จวนจะสิ้นอายุ แต่ต้องการจะเกิดในเทวโลกชั้นบนต่อไป ท้าวสหัสนัยน์จึงเสด็จไปยังสำนักพระโพธิสัตว์ตรัสว่ามาริส แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ บัดนี้ควรท่านจะไปเกิดในมนุษย์โลกฯ ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช เมื่อข้าพเจ้าไปเกิดในมนุษยโลกแล้ว จะมีคุณอานิสงส์เป็นอย่างไรบ้าง ฯ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อท่านไปเกิดในมนุษยโลกแล้ว บารมีของท่านจักบริบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป และความสุขความเจริญจักมีแก่มหาชน ฯ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าจักรับนิมนต์ให้สำเร็จดังประสงค์ พระโพธิสัตว์เจ้ารับนิมนต์ท้าวสักกะแล้วจึงจุติจากเทวโลก มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระสิริมดีราชเทวี
ตทา คราวนั้น พระนางสิริมดีราชเทวี บรรทมหลับในราตรีทรงพระสุบินดังนี้ว่า มีพระดาบสองค์หนึ่ง มาแต่วิบุลบรรพตโดยทางอากาศ หยิบเอาแก้วมณีมีสีและลักษณะงามสะอาดวางไว้ ณ ฝ่าพระหัตถ์พระราชเทวีๆตื่นบรรทมแล้ว จึงกราบทูลให้พระราชสามีทรงทราบ พระเจ้ายศกิตติจึงรับสั่งให้หาพวกพราหมณ์ผู้ทายพระสุบินเข้ามาเฝ้า ทรงตรัสเล่าพระสุบินแล้วรับสั่งถามว่า สุบินนี้จะเป็นเหตุให้ผลร้ายดีประการใด สุบินปาฐกพราหมณ์ทั้งหลาย จึงถวายพยากรณ์ว่า พระนางสิริมดีราชเทวีจักได้พระราชโอรสกอบด้วยบุญลักษณะ พระเจ้าข้า ครั้นต่อมาพระนางสิริมดีราชเทวีทรงทราบว่าพระองค์ทรงครรภ์ จึงกราบทูลให้พระราชสามีทรงทราบทุกประการ พระเจ้ายศกิตติก็พระราชทานคัพภบริหารแก่พระราชเทวีโดยกวดขัน
ในระหว่างแห่งกาลนั้น มีพระราชาองค์หนึ่งอยู่ต่างรัฐประเทศของพระเจ้ายศกิตติ พวกอำมาตย์ของพระราชาพาเหียรนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่เทวบพิตร พระเจ้ายศกิตติเป็นพระเจ้าทรงธรรมควรพระองค์จะรบเอาเมืองจัมปากได้แล้วพระเจ้าข้า ๆ เออถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ พวกท่านจะคิดทำอย่างไรเล่า ฯ ข้าแต่เทวบพิตร พระเจ้ายศกิตติทรงสมาทานศีลมั่นเป็นนิตย์ แม้จะมีเหตุถึงแก่ชีวิตพระองค์หาได้คิดทำลายล่วงองค์ศีลไม่ ซึ่งจะรบเอาเมืองจัมปากนั้นคงได้ง่ายดาย อุปมาเหมือนรังผึ้งอันร้ายไม่มีตัวปกครองฉะนั้น พระเจ้าพาหิรราชทรงเห็นชอบด้วยอำมาตย์แล้ว จึงยกพลเสนาไปตั้งอยู่ใกล้เมืองจัมปาก แล้วส่งทูตให้ไปทูลพระเจ้ายศกิตติว่า ถ้าจะเจ้ายศกิตติจะใคร่รบกับเรา ก็ให้ออกมารบกันนอกเมือง ถ้าไม่คิดจะรบก็จงมอบเศวตฉัตรให้แก่เราเสียโดยตี
ตทา คราวนั้น พวกอำมาตย์ของพระเจ้ายศกิตติราชพันหนึ่ง ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้าสามารถทุกคน เมื่อได้ฟังคำราชทูตดังนั้น มีความโกรธเป็นกำลัง จึงตระเตรียมอาวุธเครื่องรบเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้ายศกิตติราช จึงกราบทูลรับอาสาด้วยพระคาถานี้ว่า
อิเม เสนา คมิสฺสนฺติ | ปริจาคํ ตยา กตํ |
ชีวิตํ โน ขหิสฺสามิ | ตวตฺถาย รเถสภาติ |
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พวกเสนาเหล่านี้เขาเต็มใจรับอาสาออกไปรบศึก ถึงพวกข้าพระบาทจะเสียชีวิตก็มิได้ละทิ้งพระองค์เลยเป็นอันขาด
พระเจ้ายศกิตติราช ทรงฟังพวกอำมาตย์กราบทูลรับอาสาดังนั้น เมื่อจะทรงให้โอวาทจึงตรัสคาถาสองคาถาดังนี้ว่า
ตุเมฺห สามตฺถเสนาย | มา ยุชฺฌิตฺถ วิโลปนํ |
สเจ ยุชฺฌิตุกามตฺถ | โทมนสฺเสน โกธสา |
อนฺธกาเรน โกเปน | อเนกทุกฺขราสิโย |
อุปฺปชฺชนฺติ อิธ โลเก | มา โกเธน ชเยถ โว |
ความว่า ถ้าท่านทั้งหลายอยากจะรบกับเขา ก็อย่าใช้รบกันด้วยทแกล้วเสนาเลย กองทุกข์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นในโลกนี้ ก็เพราะความน้อยใจและความโกรธและความขุ่นเคือง อันทำให้มืดมน ท่านทั้งหลายอย่าชนะเขาด้วยความโกรธเลย
ทรงให้โอวาทพวกอำมาตย์และโยธาบุรุษดังนี้แล้วก็สั่งให้กลับไป
เมื่ออำมาตย์กับโยธาบุรุษกลับไปแล้ว พระราชาจึงเสด็จไปยังที่อยู่แห่งพระราชเทวี ประทับเหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์ เมื่อจะพระราชทานโอวาทแก่พระนางสิริมดี จึงตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
อาปุจฺฉามิ อหํ ภทฺเท | อรฺเ คนฺตุํ อิจฺฉามิ |
ปพฺพขิสฺสามิหํ ตตฺถ | มา ภทฺเท จินฺตยิ มมํ |
กุจฺฉิมฺหิ ตว สตฺโตปิ | สมฺมา ปาเลหิ เต คพฺภํ |
อิตฺถิปุริสาภาวํ วา | น ชานามิ สิรีมตีติ |
ความว่า แน่ะพระนางผู้เจริญ พี่จะขอลาพระน้องนางเสียวันนี้ พี่อยากจะไปบวชอยู่ในป่า พระน้องนางอย่าได้คิดถึงพี่เลย อนึ่งสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ของพระน้องนางๆ จงประคับประคองเลี้ยงให้ดี พี่นี้ไม่รู้แน่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายประการใด
ตํ สุตฺวา พระนางสิริมดีราชเทวี ได้ทรงฟังพระราชดำรัสดังนั้น มีพระหฤทัยประหนึ่งว่าต้องสายอสุนีบาต และลูกศรร้อยเล่มเข้าเสียบไว้ ยกพระหัตถ์ทั้งสองค่อนพระทรวงแล้วทรงกรรแสงร่ำไห้ มิได้เงยพักตรดูพระราชสามี มีพระเสาวณีย์ตรัสพระคาถานี้ว่า
เนส ธมฺโม มหาราช | ยํ ตฺวํ คจฺฉสิ เอกโก |
อหํปิ เตน คจฺฉามิ | อรฺเ วาสมิจฺฉามิ |
วนํ เทวา ตยิ คเต | กถํ อหํ ชีเวยฺยํ |
จากวากวิรหิตา | จากวากีว ฌายิสฺสํ |
ตยิ คเต อหํ ตยา | สทฺธึ คมิจฺฉามิ เทว |
ยถา นูน มาตงฺโคปิ | กฺุชโร อรฺเ จโร |
วิสมคิริทุคฺเคสุ | กเรณุกา ปทาปทํ |
ตํ อนุคจฺฉนฺตี ธุวํ | เอวมาหํ สามิเกน |
อรฺเ จรนฺเตนปิ | อนุคจฺฉิสฺสามิ สห |
เยน มคฺเคน คจฺฉ ตฺวํ | ตมฺหิ มยฺหเมว คติ |
ตยิ ทุกฺขิเต จ กถํ | สุขํ วเสยฺยํ นคเร |
ตยิ คเต อหํ ปจฺฉโต | อนุพนฺธิสฺสามิ ปตึ |
ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระโองการซึ่งตรัสประกาศมานี้ยังหาชอบธรรมไม่ พระองค์จะเสด็จไปสู่ป่าแต่พระองค์เดียวด้วยอาการใดใด หม่อมฉันก็จะไปอยู่เสียในป่า ด้ายอาการนั้นนั้น ข้าแต่เทวบพิตรเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จไปป่าแล้ว หม่อมฉันจะดำรงชีพอยู่ผู้เดียวอย่างไรได้ นับวันแต่จะซูบผอมตรอมใจตาย อุปมัยดังนางนกจากพรากอันพลัดผัวฉะนั้น เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงไหน หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไปถึงนั้นกับพระองค์ด้วย
ธรรมดากุญชรชาติมาตังคตระกูล ย่อมสัญจรซอกซอนไปตามถิ่นที่ต่าง ๆ นางช้างกเรณุกาก็ได้ตามรอยเท้าไปทุกย่างก้าวฉันใด เมื่อพระองค์จะเสด็จจรลีไปสู่ป่า หม่อมฉันผู้บาทบริจาริกาจะไปตามเสด็จกับพระองค์ด้วยเหมือนฉันนั้น พระองค์จะเสด็จโดยทางใด หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไปในทางนั้น เมื่อพระองค์ตกไร้ได้ทุกข์อยู่กลางโพร หม่อมฉันจะมาอยู่แต่ในเมืองให้เป็นสุขอย่างไรเล่า เมื่อพระองค์เจ้าเสด็จไปตำบลใด หม่อมฉันจักขอติดตามพระองค์ไป ณ เบื้องหลัง
พระเจ้ายศกิตติราช ได้ทรงฟังพระเสาวณีย์ราชเทวีทูลตอบกอบด้วยกตัญญูดังนั้นจึงตรัสว่า ถ้ากระนั้นก็ตามใจ เธอจงไปกับพี่ ณ กาลบัดนี้ พระราชากับพระราชเทวีจึงปลอมเพศไม่ให้คนอื่นรู้จัก แล้วเสด็จออกจากเมืองจัมปากไป จนบรรลุถึงไพรสณฑ์ตำบลหนึ่งใกล้ภูเขาเวปุลบรรพต ในประเทศนั้น มีบรรณศาลาอันฤษีองค์ก่อนทิ้งร้างไว้ พระองค์จึงพาพระราชเทวีเข้าไปอาศัยอยู่ในบรรณศาลานั้น ครั้นภายหลังพระองค์จัดแจงซ่อมศาลาที่รั่วร้ำทำให้ดีแล้ว จึงพร้อมกับพระราชเทวีทรงผนวชถือเพศเป็นฤษี
พระนางตาปสินีสิริมดีนั้น ทูลขออนุญาตกับพระราชสามีว่า หม่อมฉันจะไปเที่ยวเก็บมูลผลาผลมาปรนนิบัติพระองค์เสมอไป ครั้นได้รับอนุญาตแล้วพระนางก็จัดทำวัตรปฏิบัติตามที่ขออนุญาตไว้นั้นทุกประการ พระราชฤษีทรงยินดีเลื่อมใส ได้เปล่งพระอุทานวาจาว่า วันนี้เราได้ผลดีแล้วหนอ กิจที่เรามาอยู่ในป่าสำเร็จปรารถนาเราแล้ว เราละราชสมบัติอันกอบด้วยกังวลใหญ่เสียได้มาอยู่ที่นี้แล้ว ก็เมื่อเราทิ้งราชสมบัติใหญ่เป็นประหนึ่งว่าเรือนเป็นที่อยู่ของหมู่โจรได้แล้ว มาทำตปะธรรมอยู่ในป่า เราหาไปนรกไม่แล้วดังนี้
ตทา คราวเมื่อพระราชาพาเหียรวิลุปราชยกกองทัพมาติดเมืองจัมปากนั้น ครั้นเข้าเมืองได้ทำราชสมบัติอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว จึงเที่ยวค้นจับพระเจ้ายศกิตติ ทราบว่าพระเจ้ายศกิตติหนีไปเสียแล้ว จึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้ใดนำศีรษะพระเจ้ายศกิตติมาให้เราได้ เราจะให้รางวัลผู้นั้นพันตำลึง
คราวนั้น มีพรานป่าผู้หนึ่ง ได้ฟังคำประกาศนั้นแล้วก็กำหนดนิ่งไว้ในใจ วันหนึ่งจึงไปแสวงหาเนื้อในป่า เดินป่าไปไกลหลงทางไปประมาณเจ็ดวัน พรานป่านั้นกลัวความตายเดินร้องไห้วนเวียนอยู่ในป่า ไปพบที่อยู่ของพระราชฤษียศกิตติเข้าก็จำได้ เข้าไปขออาศัยอยู่ ณ ที่นั้นประมาณเจ็ดวัน เมื่อจะกลับไปเมืองจึงขอให้พระราชฤษีเป็นที่พึ่งช่วยชี้หนทางให้ พระราชฤษียศกิตตินั้น ก็รับรองจะบอกหนทางให้ จึงนำพรานป่านั้นไปส่งที่ต้นทางแล้วตรัสว่า เจ้าจงจำระยะทางไว้จงเดินไปตามทางนี้ อนึ่ง เจ้ากลับไปถึงบ้านเมืองแล้ว อย่าบอกให้ใครๆ รู้เป็นอันขาดว่าเราอยู่ที่นี้ นายพรานป่านั้นรับถ้อยคำสัญญาว่าสาธุดังนี้แล้วก็ถวายบังคมลาไป
นายพรานไพรผู้นั้น เมื่อพระราชฤษีทรงต้อนรับให้อาศัยอยู่ถึงเจ็ดวัน เมื่อจะกลับไปนั้นก็กลับไปโดยสวัสดีหาอุปสัคมิได้ มีอุปมาดังน้ำอันตกเหนือใบบัวไม่ข้องขังฉะนั้น แต่นายพรานสันดานมากด้วยอกตัญญู และอกตเวทีมีแต่คิดจะทำลายเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อนายพรานเดินมาได้กำหนดมรรคาและแนวภูเขาเงาไม้ไว้ในใจ เดินไปตามลำดับจนถึงจัมปากนคร ความอกตัญญูหากเตือนใจ จึงเข้าไปเฝ้าพระยาพาเหียรวิลุปราชกราบทูลว่า ข้าแต่เทวบพิตร ข้าพระบาทไปรู้จักที่อยู่พระเจ้ายศกิตติแล้ว พระเจ้าข้า ฯ ดูกร นายพรานจริงกระนั้นหรือ ฯ พระเจ้าข้า จริงดังกราบทูลนี้ ฯ พระยาพาเหียรวิลุปราชจึงประทานทรัพย์พันกหาปณะให้นายพราน พระองค์พร้อมด้วยเสนาทวยหาญแล้วให้นายพรานนำมรรคาเสด็จไปตามลำดับ จนบรรลุถึงที่อยู่แห่งพระราชฤษียศกิตติ
คราวนั้น พระราชฤษียศกิตติได้ทรงสดับเสียงโกลาหล และทอดพระเนตรพลเสนามามากมาย จีงบอกแก่ตาปสินีสิริมดีว่า แน่ะพระนางผู้เจริญ ชะรอยเจ้าบุรุษอธรรมคนนั้น จะไปบอกที่อยู่ของเราแล้ว วันนี้พี่กับน้องจะต้องพลัดพรากจากกัน สัตว์ซึ่งอยู่ในครรภ์ของพระนางๆ จงรักษาไว้อย่าได้ประมาท ฯ ก็พระองค์จะเสด็จไปทางไหนเล่า ฯ พี่นี้ไม่หนีไปไหน จะให้เสนาจับไปโดยดี ตรัสดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อาปุจฺฉามิ อหํ ภทฺเท | รฺโ สนฺติกํ อุปาคมิ |
ปาเลหิ คพฺภคตํ | เต เทมิ กมฺพลํ มุทฺธิกํ |
ความว่า แน่ะพระนางผู้เจริญ พี่จะขอลาไปสู่สำนักพระราชา พระนางเธออยู่ข้างหลัง จงระวังเลี้ยงลูกซึ่งอยู่ในครรภ์ไว้ให้ดี พี่จะให้ผ้ากัมพลกับธำมรงค์สองสิ่งนี้แก่เธอไว้ เป็นเครื่องระลึกต่อไปภายหน้า
ตํ สุตฺวา พระนางตาปสินีสิริมดี ได้สดับฟังพระดำรัสราชสามีดังนั้น ประหนึ่งพระหฤทัยจะแตกทำลายไปเจ็ดภาค น้ำพระเนตรไหลลงทรงพระโศกา ยกพระหัตถ์ซ้ายขวาเข้าทุ่มพระอุระประเทศ สยายพระเกศที่มุ่นชฎาแล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
วนฺทามิ เทว เต ปาเห | กี มํ ชหามิ เอกิกํ |
สํสโย ชีวิตํ มยฺหํ | ชเหสฺสามิ พฺรหาวเน |
อนุกมฺปตุ มํ เทว | อปราธํ กตํ มยา |
วนฺทามิ สิรสา ปาเท | ปจฺฉิมํ วนฺทนํ มม |
ความว่า ข้าแต่เทวบพิตร หม่อมฉันขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ พระองค์ทำไมจึงจะละทิ้งหม่อมฉันไว้แต่ผู้เดียวเล่า หม่อมฉันจักทิ้งชีพไว้ในป่าใหญ่เที่ยงแท้ ข้าแต่เทวบพิตร พระองค์เคยทรงพระกรุณาหม่อมฉันมาแต่ก่อน โทษกรณ์สิ่งใดหม่อมฉันทำไว้แล้วขอพระองค์จงโปรดประทานโทษแต่หม่อมฉันเสียวันนี้ ๆ เป็นที่สุดที่หม่อมฉันจะได้ถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้าเพียงเท่านี้
พระราชเทวีทรงขอขมาโทษพระราชสามีแล้ว ตามไปส่งเสด็จทอดพระเนตร เห็นพระราชสามีกำลังทรงดำเนินไปกลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้ แล้วก็เสด็จกลับ
พระราชฤษียศกิตติ ทอดพระเนตรราชเสนาอันตรูกันมา ก็มิได้ครั่นคร้ามขามขยาด องอาจดุจราชสีห์ รีบลงจากภูเขาตรงเข้าไปต้อนรับพวกอำมาตย์ราชเสนา ๆ พากันล้อมจับพระยศกิตติ บางคนที่ใจบาปหยาบช้าตรงเข้าผูกมัดให้มั่น บางคนตีด้วยสันดาบนับตั้งพัน พระฉวีนั้นก็ขาดวิ่นเป็นชิ้นๆไป พระโลหิตก็ไหลจากพระกรรณและพระนาสิกมุขประเทศน่าสังเวชยิ่งนักหนา แล้วมิหนำซ้ำจำด้วยเครื่องจำห้าประการ นำไปขังไว้ในเรือนจำ ณ จัมปากนคร
เมื่อพระราชฤษียศกิตติถูกเขาจับไปแล้ว ฝ่ายพระนางตาปสินีสิริมดีทรงพระครรภ์แก่พอครบกำหนด พระนางเธอจึงประสูติพระราชโอรสงามเพียงดังสุวรรณในเวลาเที่ยงคืนวันนั้นเอง พระนางทอดพระเนตรรูปสิริวิลาสพระโพธิสัตว์ ทรงอุ้มแอบไว้กับอุระแล้วก็ทรงโศกาว่า มารดาพึ่งมาได้ลูกน่าพึงชมเป็นประถมนี้ บิดาของพ่อก็ไม่มี พ่อนี้มาคลอดเสียในป่าใหญ่ บุญของพ่อนั้นน้อยไป เมื่ออยู่ในพระนครแต่ก่อนไยพ่อจึงไม่มาเกิดเล่า เวลานี้ก็มืดค่ำมารดาผู้เดียวมิรู้ที่ว่าจะทำประการใดได้ ถ้าหากว่าเมื่อยังพร้อมอยู่กับหมู่ญาติ พ่อมาเกิดแล้วคงจะได้รับความอิ่มใจมิใช่น้อย เวลานี้บิดาของพ่อก็ไม่มี แม้ที่สุดอัคคีก็ไม่มีผิงท้อง พระนางเธอร่ำร้องอยู่ด้วยประการฉะนี้ ต่อรุ่งราตรีแล้วจึงสรงองค์พระโพธิสัตว์และให้บรรทมเหนือเพลา เมื่อวันจะให้นามพระลูกเจ้า พระนางถือเอาพระนามมารดา และพระบิดาประสมกันเข้า จึงให้พระนามพระลูกเจ้าว่าสิริวิบุลกิตติดังนี้
พระบรมโพธิสัตว์ เมื่อเจริญวัยใหญ่ขึ้นโดยลำดับ พระองค์ทรงทำอุปการแก่พระมารดาโดยเต็มกำลัง กิร ดังได้สดับมาว่า คราวหนึ่ง พระนางตาปสินีสิริมดีทรงพระสุบินอันนี้ว่า พระนางเธอทรงพระสรวลสำรวลเล่นกับพระเจ้ายศกิตติราชสามี ครั้นตื่นบรรทมแล้วก็ทราบว่าฝัน จึงอุฏฐาการจากสยนาสนะแล้วค่อนพระอุระ มีพระเสาวณีย์ตรัสว่าชะรอยแต่ปางก่อนเราคงทำกรรมไว้ เราจึงได้มาเสวยทุกข์ยากลำบากอยู่ในกลางป่า และกลับมาฝันว่าได้เห็นพระราชสามี ครั้นตื่นแล้วก็มิได้เห็นดังความฝัน กลับพูนเพิ่มความโศกศัลยและโทมนัสให้มากขึ้นถึงปานนี้ เรามิได้เห็นพระบาทราชสามีก็เพราะเรานี้มีบุญอันน้อย ชะรอยว่ากรรมเราทำไว้แต่ปางก่อนจึงมาพลัดพรากจากที่เคยนั่งนอนและผัวรักเห็นประจักษ์โดยสภาวะดังนี้
ตํ สุตฺวา พระมหาสัตว์เจ้า ได้ฟังพระมารดาพรรณนาถ้อยคำต่าง ๆ ดังนั้น จึงเข้าไปใกล้กราบไหว้แล้วถามว่า พระมารดาร้องไห้ทำไม โทษทัณฑ์สิ่งใดมีแก่ข้าพเจ้า หรือพระมารดาเจ้าร้องไห้ด้วยเหตุอย่างอื่นประการใด ฯ ดูกรพ่อ บิดาของพ่อเป็นพระราชา ทรงพระนามว่ายศกิตติดำรงราชสมบัติอยู่ในเมืองจัมปาก ถูกพระราชาโกงยกทัพมารบชิงเอาเมืองจัมปากได้ พระราชบิดากับมารดาพากันหนีมาบวชอยู่ที่นี้ ครั้นต่อมาอำมาตย์ราชเสนาของพระราชาโกงนั้น พากันติดตามมาจับเอาพระราชบิดาของพ่อไปอีก เดี๋ยวนี้มารดาไม่รู้ว่าบิดาของพ่อดำรงชีพอยู่ หรือสิ้นพระชนม์แล้วประการใด แต่มารดาได้ฝันเห็นบิดาของพ่อว่ายังอยู่ เพราะเหตุนี้มารดาจึงร้องไห้รำพันถึงบิดาของพ่อดังนี้
พระมหาสัตว์สดับเรื่องราวพระมารดาเล่าให้ฟังดังนั้น จึงดำริว่าเมื่อเรายังดำรงชีพอยู่ ขอพระบิดาเราอย่าพินาศเสียเลย ก็ทำไฉนเราจะทราบข่าวบิดาบ้างเล่า ถ้าเราจะอยู่ป่าอย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นคนอกตัญญูที่ไหนจะรู้ข่าวบิดาได้ คิดจะใคร่ไปแก้ไขบิดาให้พ้นทุกข์ จึงบอกกับพระมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา ถ้ากระนั้นข้าพเจ้าจักไปตามหาพระบิดา เมื่อจะอำลามารดาจึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
อาปุจฺฉามิ อหํ อมฺม | ปิตรํ ปริเยสิสฺสํ |
มยิปิ ธรมาเน จ | ปิตา มม น วินสฺสติ |
ความว่า ข้าแต่พระมารดาเจ้า ข้าพเจ้าขอลาไปตามหาพระบิดา แม้เมื่อข้าพเจ้ายังดำรงชีพอยู่ เชื่อแน่ว่าบิดาของข้าพเจ้าจักยังไม่ถึงความพินาศเป็นอันขาด
พระนางสิริมดี เมื่อจะห้ามพระมหาสัตว์จึงตรัสรำพันว่า ดูกรพ่อเวลานี้พ่ออย่าเพ่อไปเลย มารดาผู้เดียวอยู่ในป่าหาที่พึ่งบมิได้ มารดาไม่อาจกลั้นความวิโยคได้ เมื่อครั้งก่อนมารดาก็จากบิดาเจ้าคราวหนึ่งแล้ว พระลูกแก้วซ้ำจะมาจากมารดาไปอีกเล่า ชีวิตของมารดาคงจะดับสูญเป็นเที่ยงแท้ มารดาจักไม่เห็นหน้าพระบิดาของพ่ออีกต่อไป พ่อจงเอ็นดูอยู่เป็นเพื่อนมารดาในป่านี้เถิด พ่ออย่าไปจากมารดาเลย มารดาจะเสวยทุกข์ลำบากเหมือนลูกนกจากพราก อันปราศจากแม่ไปฉะนั้น
พระมหาสัตว์ตรัสอ้อนวอนพระมารดาอยู่ร่ำไปว่า กิริยาที่ปราศจากบิดาแล้ว มีชีวิตเป็นอยู่ ก็ไม่สู้มีประโยชน์เท่าไรนัก ควรที่จะต้องรู้ข่าวคราวพระบิดาจึงจะดี พระนางสิริมดีเห็นว่าไม่อาจห้ามได้ จึงให้ผ้ากัมพลกับพระธำมรงค์ฝังเพชร์แก่พระบรมโพธิสัตว์ ๆ รับเอาสิ่งของสองอย่างแล้วจึงกราบลาพระมารดาออกจากป่าหิมพานต์ ทรงดำเนินไปโดยลำดับ ไปถึงประเทศใกล้เมืองจัมปาก จึงแวะเข้าไปอาศัยนอนอยู่ ณ ศาลา ที่ริมประตูนอกเมืองคืนหนึ่ง
ในคืนวันนั้น พระราชาซึ่งชิงเอาเมืองจัมปากได้นั้น บรรทมอยู่ ณ สิริไสยาสน์ ทรงรำพึงว่า ราชสมบัตินี้เป็นของของใครหนอ อ้อราชสมบัตินี้เป็นของพระเจ้ายศกิตติเจ้าเมืองนี้เอง ก็ถ้าหากว่าพระเจ้ายศกิตติไปคบคิดกับพระราชาฝ่ายอื่นแล้ว อาจจะรบเอาเมืองนี้คืนไป รุ่งเช้าเราจักให้ฆ่าพระราชายศกิตติเสียเถิด พอเวลารุ่งสว่างแล้ว จึงรับสั่งให้หาพวกโจรฆาฏเข้ามาเฝ้ารับสั่งว่า พวกเจ้าจงเบิกตัวพระราชายศกิตติออกจากเรือนจำ จงเฆี่ยนเสียพันหนึ่งแล้วตัดศีรษะให้ตกตายไปในวันนี้ พวกโจรฆาฏทั้งหลายถวายคำนับแล้ว ก็พากันจัดแจงทำตามหน้าที่ของตนแต่ยังหาถึงเวลาที่จะฆ่าไม่
คราวนั้นเป็นเวลาเช้า พระมหาบุรุษเจ้าผู้ดาบส ทำสรีระกิจเสร็จแล้วเที่ยวภิกขาจารไป และประสงค์จะตามหาพระราชบิดาของพระองค์ เดินตรงเข้าไปยังนคร เห็นพระราชบิดาอันต้องอธิกรณ์โทษดังนั้น จึงกระซิบถามมหาชนว่า คนที่ต้องโทษทัณฑ์นั้นคือใคร มหาชนเขาบอกว่า ข้าแต่นาย ท่านผู้นี้เดิมเป็นเจ้าของปกครองเมืองนี้ บัดนี้มาถึงความวิบัติเสียแล้ว
พระมหาบุรุษเจ้า ได้ฟังมหาชนบอกเล่าดังนั้น ก็มั่นใจว่าเป็นบิดาของเราแน่ แท้จริงพระมหาบุรุษทรงพระกำลังมากเท่ากำลังเจ็ดช้างสารแต่ทรงพระจินตนาการว่า ถ้าเราจะเข้ากำจัดชิงเอาซึ่งสมบัติเมืองนี้กับทั้งพระราชา ก็สามารถจะทำได้ไม่ข้องขัด แต่ว่าศีลของเราจักพิบัติไป เราไม่ควรจะล่วงศีลเพราะเหตุแก่ชีวิตนิดเท่านี้ ถ้าเราทำลายศีลเสียแล้ว ก็จะไม่ถึงพระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งเราปรารถนามานานแล้วนั้น ทรงรำพึงดังนี้ มีพระหฤทัยราวกะว่าจะแตกไปด้วยลูกศรคือความโศก พระองค์ก็สลบล้มลงกับปถพี เมื่อพระองค์ทรงได้สติขึ้นมา เอาพระขรรค์ทองคือพระปัญญาประหารหักความโศกเสียได้ ตรงเข้าไปใกล้ถวายบังคมพระราชบิดา
ณ กาลครั้งนั้น มหาชนจึงพากันพูดขึ้นว่า พระดาบสไปทำอะไรอยู่กับพระราชา จะว่าเป็นราชบุตรก็ไม่ใช่ ราชบุตรและราชธิดาของพระราชานั้นไม่มีมาแต่ไหนๆ พระมหาบุรุษเจ้าเมื่อจะแสดงให้แจ้งว่าพระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้ายสกิตติราช จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อหํ เทว ปเวเทมิ | อาคโตหํ ตวตฺรโช |
อิทํ วชิรมุทฺธิกํ | ปสฺสถ ตว กมฺพลํ |
อาคโต ฉทฺทยิสฺสามิ | อตฺตํ ตว ชีวิตเหตุ |
ความว่า ข้าแต่เทวบพิตร ข้าพระบาทขอกราบทูลว่า ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์ตามมาถึงแล้ว นี่พระธำมรงค์ฝังเพชร์ นี่ผ้ากัมพล เป็นของพระองค์ๆจงทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระบาทมาครั้งนี้ จักสละร่างกายถวายตายแทนพระองค์ พระเจ้าข้า
พระเจ้ายศกิตติทรงฟังดังนั้น ยังทรงจำไม่ได้ เมื่อจะตรัสถามให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ตาตาหํ อปุตฺตโก จ | อรฺเ วาสเมกโต |
กุโต นุ ตุวํ อาคโตสิ | กุโต ภเวยฺย อตฺรโช |
ความว่า ดูกรพ่อ เราผู้เดียวอยู่ในป่าหาบุตรบ่มิได้ ท่านมาแต่ไหน ลูกเต้าของเรามีแต่ครั้งไร (หรือเดาพูดไปกระมัง)
พระมหาบุรุษเจ้า เมื่อจะกราบทูลยืนยันจึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สเจ อสทฺทเห วาจํ | อาคโตมฺหิ ตวตฺรโช |
อิทํ วชิรมุทฺธิกํ | ปสฺสถ ตว กมฺพลํ |
ความว่า ข้าพระบาทผู้มาแล้วนี้คือราชโอรสของพระองค์จริง ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ จงทอดพระเนตรพระธำมรงค์และผ้ากัมพลของพระองค์นี้เถิดพระเจ้าข้า
พระเจ้ายศกิตติ ทรงทราบชัดว่าพระมหาสัตว์เป็นราชโอรสของพระองค์แน่นอน เมื่อจะทรงสอนและห้ามปรามพระมหาสัตว์จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ชิณฺโณหมสฺมิ อพโล | ชีวิตํ กึ ปโยชนํ |
ตฺวฺจ วโย วุฒิสมฺปนฺโน | ชีวิตํ มา ชหิสฺสสิ |
ความว่า บิดานี้แก่แล้วไม่มีกำลัง ถึงมีชีวิตอยู่ก็ไม่สู้มีประโยชน์เท่าใด พ่อยังกำลังเจริญวัย อย่าสละชีวิตเสียเลย จงเชื่อคำบิดาห้ามเถิด
พระมหาสัตว์ได้ฟังพระราชบิดาห้ามดังนั้น เมื่อจะห้ามดำรัสพระราชบิดาจึงกราบทูลว่า เนส ธมฺโม มหาราช ข้าแต่พระมหาราช เมื่อข้าพระบาทยังดำรงชีพอยู่ทั้งคน จะปล่อยให้พระองค์สิ้นพระชนม์ไปนั้นข้อนี้ยังหาชอบด้วยยุติธรรมไม่ ขอให้พระองค์ดำรงพระชนม์เถิดพระเจ้าข้า
พระเจ้ายศกิตติจึงตรัสตอบว่า ไฉนพ่อละทิ้งพระมารดาไว้ให้อยู่ในป่าแต่ผู้เดียวเล่า เจ้าจงกลับไปหาพระมารดาดีกว่า พ่อจงทำตามคำบิดา ฯ ข้าแต่พระมหาราช ความทุกข์ของพระบิดานี้เหลือขนาดความทุกข์ของพระมารดาหรือพี่น้องหญิงและความทุกข์ของข้าพระบาท ก็ไม่เท่าทุกข์ของพระองค์ซึ่งข้าพระบาทมาเห็นแล้วนี้ พระชนม์ชีพของพระองค์คงจะปลดปลงไปเสียแน่แล้ว ก็เมื่อข้าพระบาทยังดำรงชีพอยู่นี้จะมีประโยชน์อะไร ข้าพระบาทจะขอถวายชีวิตแก่พระองค์ เพื่อเหตุให้พระองค์ทรงชีพสืบต่อไป อันนี้ได้ชื่อว่ากุศลกตัญญู เทพยดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้มีกตัญญูนั้นมากนัก แม้ผู้กตัญญูจะดับขันธ์ไปแล้ว จักไปบันเทิงใจในโลกสวรรค์ พระเจ้ายศกิตติไม่สามารถจะห้ามได้ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไห้ด้วยประการต่าง ๆ
พระมหาบุรุษเจ้าจึงรีบเข้าไปเฝ้าพระราชาโกงนั้น เมื่อจะทูลขอเปลี่ยนชีวิตของตนกับพระราชบิดาจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทวบพิตร ข้าพระบาทจะขอสละชีวิตตายแทนบิดา ขอได้ทรงพระกรุณาเถิดพระเจ้าข้า ฯ ถ้าเจ้าต้องการจะให้ชีวิตของเจ้าแก่บิดา เจ้าจงให้เขาปล่อยบิดาเจ้าไป ฯ พระมหาบุรุษดีใจรับว่าสาธุดังนี้แล้วจึงกลับมายังสำนักพระราชบิดา เมื่อจะให้ปล่อยพระราชบิดา จึงกล่าวพระคาถาประกาศเทวดาว่า
สุณนฺตุ โภนฺโต วจนํ | เทวสงฺฆา สมาคตา |
จชามิ ชีวิตํ มยฺหํ | ปิตรํ เม ปโมจามิ |
สีลํ จกฺขุหทยฺจ | ชิวฺหา มํสฺจ โลหิตํ |
ททามิ น วิกมฺปามิ | โพธิยาเยว การณา |
ความว่า ข้าแต่เทพยดาทั้งหลายผู้เจริญ ขอเชิญฝูงเทพยดาเจ้าที่มาพร้อมกัน ณ ที่นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าจะสละชีวิตของข้าพเจ้า จะเปลื้องเอาพระบิดาให้พ้นจากมรณะ แม้จะมีผู้ต้องการศีรษะจักษุและหฤทัย หรือชิวหาเนื้อและเลือด ข้าพเจ้าจะฉะเชือดออกให้มิได้ท้อถอย ด้วยเหตุที่ให้เป็นปัจจัยแก่โพธิญาณ
พระบรมโพธิสัตว์ประกาศแก่หมู่เทพยดาดังนี้แล้ว จึงแก้ปล่อยพระราชบิดาส่งกลับไป จึงให้นายเพชฌฆาฏจำพระองค์ด้วยเครื่องจำห้าประการ
นายเพชฌฆาฏทั้งหลายจึงนำพระโพธิสัตว์ไปเพื่อจะประหารเสียที่ป่าช้าสำหรับฆ่าคน ด้วยอำนาจความเมตตาและความกตัญญูของพระโพธิสัตว์นั้น ดาบที่เพชฌฆาฏจะตัดศีรษะก็หักเป็นจุณวิจุณไปทันที พวกเพชฌฆาฏก็ประหลาดใจ ไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระราชาทรงพระพิโรธเป็นกำลัง อุปมาดังงูอันบุคคลตีขนดหางด้วยไม้ฉะนั้น จึงรับสั่งว่าถ้ากระนั้นเจ้าจงปล่อยช้างซับมันให้เหยียบเสียบัดนี้ พวกเพชฌฆาฏก็พากันไปทำตามรับสั่งอย่างนั้น ช้างซับมันทำเสียงโกญจนาทแล้วหนีไป พระราชาทรงทราบแล้วจึงรับสั่งว่า ถ้ากระนั้นพวกเจ้าจงเอามันโยนลงไปในหลุมถ่านเพลิง พวกเพชฌฆาฏทั้งหลายก็พากันไปจัดการตามรับสั่งอย่างนั้นน่าอัศจรรย์ใจดอกปทุมทองอันใหญ่ประมาณเท่ากงเกวียนแหวกแผ่นดินผุดขึ้นมารับพระมหาสัตว์ไว้ ไฟก็มิได้ไหม้ พระมหาสัตว์งามผ่องใสดุจเทพยดาอันสถิตในท่ามกลางกัมพลศิลาอาสน์
พระเจ้ากูฏราชทรงทราบแล้ว ทรงพระพิโรธเป็นกำลังรับสั่งว่า ถ้ากระนั้นพวกเจ้าจงเอามันทิ้งในเหวที่ฆ่าโจร พวกเพชฌฆาฏก็เอาพระมหาสัตว์ไปทิ้งในเหวตามรับสั่ง ครั้งนั้นนาคราชขึ้นมาแต่นาคพิภพ เอาดอกปทุมทองอันบานประมาณเท่ากงเกวียนมารองรับพระมหาสัตว์ไว้แล้วนำไปยังนาคพิภพ ในขณะนั้น แผ่นดินใหญ่ก็แยกออกไปให้ช่องแก่พระเจ้ากูฏราชๆผู้มุ่งมาดร้ายต่อพระมหาสัตว์อันหาโทษผิดมิได้ ก็จมลงไปเกิดในนรกใหญ่
ในลำดับนั้น นาคราชพร้อมด้วยนาคบริวารและมหันตสักการ นำพระมหาสัตว์ขึ้นจากนาคพิภพ จึงอภิเษกพระมหาสัตว์ให้ดำรงราชสมบัติในเมืองจัมปากเสร็จแล้วก็กลับไปยังนาคพิภพของตน
เมื่อพระมหาสัตว์ผ่านราชสมบัติแล้ว จึงพร้อมด้วยพระราชบิดาแวดล้อมไปด้วยเสนาพลนิกาย เสด็จออกไปยังที่ประทับของพระราชมารดา คราวนั้น พระราชมารดาพระมหาสัตว์เสวยทุกข์โทมนัส เพราะพลัดพรากจากพระราชสามี และทั้งมิได้เห็นปิยราชโอรส ทรงพระรันทดจนพระสรีระซูบผอมตรอมพระหฤทัย ถึงสิ้นชีพตักษัยอยู่ในบรรณศาลานั้น
พระมหาสัตว์เจ้าเสด็จไปเบื้องหน้า ทอดพระเนตรบรรณศาลาอันเงียบสงัด พระหฤทัยให้ประหวัดหวั่นว่า โอ้ไฉนบรรณศาลาจึงสงัดเงียบเยือกเย็นดังนี้เล่า พระองค์รีบตรงเข้าไปในบรรณศาลา ทอดพระเนตรเห็นกาลกิริยาของพระมารดาน่าอนาถ ทรงร้องขึ้นด้วยสำเนียงอันดังว่า โอพระมารดาสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พระองค์ทรงพระกรรแสงร่ำไห้บ่นเพ้อไปว่า ข้าแต่พระมารดาเจ้าข้า จะบรรทมไปถึงไหนเชิญลุกขึ้นเถิด ลูกน้อยอันเกิดแต่อกพระมารดามาถึงแล้ว คราวนั้น พระเจ้ายศกิตติและหมู่เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ยินเสียงพระมหาสัตว์ทรงรำพันดังนั้น อดกลั้นความโศกมิได้ ทรงกรรแสงและร้องไห้ระงมไป
พระบรมโพธิสัตว์เจ้า จึงให้พนักงานยกพระศพพระราชมารดาลงในหีบทอง เชิญพระศพขึ้นตั้งบนพระวอทอง แห่กลับคืนยังพระนคร จึงทรงพระอนุสรไปว่า ราชสมบัตินี้มาถึงแล้วแก่เราก็เพราะอาศัยร่างกายมีใจครองเป็นประธาน กายสังขารนี้หาแก่นสารมิได้ มีความวิบัติไปเป็นเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้น เราจะบริจาคชีวิตของเราเผาตัวสนองคุณพระมารดาเสียเถิด เราจะทำเหตุให้เกิดพระสัพพัญญุตญาณ ณ กาลบัดนี้ว่า
อาปุจฺฉามิ อหํ เทว | มาตุยา หิตการณา |
มฺชุเส มรณตฺถาย | จิตฺตคพฺภนฺตเร สยึ |
ความว่า ข้าแต่เทวบพิตร ข้าพระบาทขอลาไปนอนในระหว่างจิตตกรประสงค์จะให้ตายอยู่ใต้หีบพระศพ เพื่อจะสนองคุณพระมารดาพระเจ้าข้า
พระเจ้ายศกิตติผู้บิดาจึงตรัสห้ามว่า ดูกรพ่อๆอย่าตายไปตามพระมารดาเลย พระมหาสัตว์เจ้าเมื่อพระราชบิดาห้ามสักเท่าใดก็มิฟังด้วยกำลังพระกตัญญูหากเตือนพระทัย จึงเข้าไปนอนหงายอยู่ภายในจิตตกร ให้เขายกหีบพระศพพระมารดาขึ้นวางทับ ณ พระอุระ แล้วให้เขาประชุมเพลิงพร้อมกัน คราวนั้น ด้วยอานุภาพความกตัญญูกตเวทิตาคุณพระมหาสัตว์ เป็นบุพพนิมิตประหนึ่งส่อให้เห็นชัดว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้พระพัญญุตญาณแน่ในภายหน้า ความร้อนหน่อยหนึ่งจะต้องกายาก็หาไม่ พระสรีรกายงามผ่องใสดุจพระสุวรรณปฏิมา อันปรากฏ ณ ท่ามกลางพระอังคาร มหาชนได้เห็นดังนั้นก็พากันโบกธงทำบูชานับตั้งพัน พระบรมโพธิสัตว์ จึงพร้อมกันถวายพระเพลิงพระศพพระมารดารด้วยเครื่องสักการอันยิ่งใหญ่ ด้วยประการฉะนี้
คราวนั้น มหาปถพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็บันลือสั่นครวญครางอย่างประหนึ่งช้างซับมันอันร้องโกญจนาท ขุนเขาสิเนรุราชก็น้อมยอดทำบูชา อุปมาดังยอดหวายอันถูกไฟลนฉะนั้น มหาสมุทรก็ป่วนปั่นเป็นฝอยฟอง ใช่เทศการฟ้าร้องก็คะนองแลบไปมาในอากาศ เสียงเนียรนาทเป็นโกลาหล แต่ปถพีดลถึงพรหมโลกเป็นที่สุด
เมื่อพระมหาบุรุษทำฌาปนกิจเสร็จแล้ว เสด็จไปสร้างบ้านหมู่หนึ่งไว้ใกล้บรรณศาลา ณ เชิงภูเขาเวปุลบรรพต กำหนดเป็นที่อนุสาวรีย์และทรงให้มีการมหรสพเสมอทุกปี ๆ บ้านตำบลนั้นครั้นนานมาจึงปรากฏว่า ธัมมนิคม พระโพธิสัตว์ดำรงราชสมบัติครบอายุขัย ก็เสด็จไปยังโลกสวรรค์
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงประกาศพระอริยสัจจกถา เมื่อจบอริยสัจจเทศนาลง พระภิกษุที่เลี้ยงมารดานั้นได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า นางสิริมดีราชมารดาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา พระเจ้ายศกิตติราชบิดาในครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระเจ้ากุฏราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระเทวทัต นายโจรฆาฏในครั้งนั้นกลับชาติมาคือสุนักขตภิกษุ บริษัททั้งหลายในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเจ้าสิริวิบุลกิตติในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือ สมเด็จพระโลกนาถผู้ตถาคต มีพระพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการฉะนี้