วิบุลราชชาดก

หริตสรีโรติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ทานปารมี อารพฺภ กเถสิ ฯ

สตฺถา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเสด็จประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภทานบารมีของพระองค์ให้เป็นเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า หริตสรีโร ดังนี้เป็นต้น

อนุสนธิปัจจุบันนิทานมีพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายประชุมกัน ณ โรงธรรมสภาสนทนากันว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตของเรามีบุญมากมีปัญญามากบริบูรณ์ด้วยพระบารมี

ครั้งนั้นสมเด็จพระสุคตมุนีบรมศาสดา ได้ทรงสดับวรรณกถาด้วยทิพโสตธาตุ จึงเสด็จออกจากคันธกุฎีมาประทับเหนือบวรธรรมาสน์แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอประชุมกันกล่าวด้วยเรื่องราวเป็นอย่างไร พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลความตามนัยที่สนทนา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงมีพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่ตถาคตมีบุญมีปัญญาและบริบูรณ์ด้วยมหาบารมีในชาตินี้นี่ไม่สู้อัศจรรย์นัก ในกาลปางก่อนเมื่อตถาคตยังอบรมทานบารมีอยู่นั้น ตถาคตมิได้เอื้อเฟื้อเยื่อใย ได้สละบุตรภรรยายอดรักให้เป็นทาสของผู้อื่น อันนี้ควรเป็นที่น่าอัศจรรย์ ทรงตรัสเท่านั้นแล้วก็ดุษณีภาพนิ่งอยู่ พระภิกษุทั้งหลายจะใคร่รู้เรื่องราวจึงกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงนำเรื่องราวที่ล่วงมาแล้วมาแสดงดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต สุจิวตฺตินามนคเร ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่ปางหลัง ยังมีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าวิบุลราช ได้เสวยสมบัติ ณ พระนครสุจิวัตตี พระราชเทวีของพระเจ้าวิบุลนั้น ทรงพระนามว่าสุนทรี พระราชบุตรีของพระราชเทวีนั้น ทรงพระนามว่าสุจิกุมาร พระเจ้าวิบุลราชพระองค์นั้นเสวยราชสมบัติโดยยุติธรรม ทรงสร้างศาลาโรงทานถึง ๕ แห่ง บริจาคทรัพย์ให้เป็นทานวันละห้าแสนทุก ๆ วัน มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งหลายนั้น ประหนึ่ง​จะไม่ต้องทำวานิชกรรมและเวชกรรมเลย แสนสบายรื่นรมย์อุดมไปด้วยโภคขันธ์หิรัญรัตน เสวยสุขสมบัติเพลินไปด้วยกามารมณ์

อเถกทิวสํ ภายหลัง ณ วันหนึ่ง พระเจ้าวิบุลราชเสด็จประทับอยู่ ณ วรปราสาท รับสั่งให้เปิดพระแกลออกแล้ว ทอดพระเนตรอิสริยสมบัติแล้วทรงรำพึงว่า เราทำทานภายนอกบริบูรณ์เต็มที่แล้ว บัดนี้เราประสงค์จะให้ทานภายในบ้าง หากว่าจะมีใครมาขอศีรษะหรือดวงตาและหัวใจและมังสะ เราจะฉะเชือดออกให้ทุกอย่าง อนึ่งหากว่าจะมีผู้เอ๋ยอ้างออกปากขอตัวเราเอาไปเป็นทาส เราอาจยอมตัวเราไปเป็นทาสให้เขาให้ตามประสงค์ เมื่อทรงดำริอยู่อย่างนี้ ที่นั้นมหาปถพีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็ครวญครางหวั่นไหวอุปมัยเหมือนช้างซับมันอันร้องก้องไป ฉะนั้น พระยาภูเขาสิเนรุก็เอนอ่อน น้ำในสมุทรสาครก็กำเริบเป็นลูกคลื่น และฝอยฟอง มหาเมฆก็คำรนร้องอยู่เบื้องบน ยังฝนลูกเห็บให้ตกลงมาเกลื่อนกล่น สายฟ้าก็แลบอยู่เบื้องบนอากาศเวหา เหล่าเทพยดาตั้งแต่เบื้องต่ำตลอดขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ก็พร้อมกันซ้องสาธุการเป็นโกลาหล อัศจรรย์ก็บันดาลดลเห็นประหลาดหลากต่าง ๆ ด้วยประการฉะนี้

เตน วุตฺตํ เพราะเหตุนั้น พระคันถรจนาจารย์จึงประพันธ์พระคาถาไว้ว่า

ตทา อารุยฺห ปาสาเทโอโลเกตฺวา มหาสิรึ
สุทธจิตฺตํ อุปฺปาเทตฺวาทานํ ทาตุํ อจินฺตยิ
สีสํ สเจปิ จกฺขุฺจหทยฺจาปิ มํสกํ
ทเทยฺยํ กายํสาเวตฺวายทิ โก ยาเจยฺย มม
สภาวํ จินฺตยนฺตสฺสอกมฺปิตมสณฺิตํ
อกมฺปิตตฺถ ปถวีสิเนรุวนวฏํสกา

พระคาถานี้เนื้อความเหมือนกันดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องหลัง ครั้งนั้นด้วยอำนาจพระบารมีของพระมหาสัตว์เจ้า พิภพท้าวโกสีย์แสดงอาการร้อนขึ้นทันใด ท้าวสหัสสนัยพิจารณาดูก็รู้เหตุทุกประการ จึงทรงจินตนาการว่า อ้อพระเจ้าวิบุลราชหน่อพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในมนุษย์โลก ทรงอาโภคที่จะทำทานภายใน เราจักลงไปเพิ่มบารมีให้สมประสงค์ พระองค์จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์หนุ่มไปนั่งอยู่ ณ โรงทาน

​คราวนั้นเป็นเวลาเช้า พระเจ้าวิบุลราชทรงสรงและเสวยแล้วทรงเครื่องเสร็จ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ครั้นถึงโรงทานแล้วเสด็จลงทรงตรวจตราจัดแจงแบ่งทานวัตรให้ปฏิคาหกอินทรพราหมณ์จึงยกมือบังคมไหว้ ยืนถวายพระพรชัยว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอฝ่าพระบาทจงชนะ ขอฝ่าพระบาทจงชนะเถิด พระเจ้าข้า ราชาพระเจ้าวิบุลราชได้ทรงฟังดังนั้นทรงพระดำริพราหมณ์ผู้นี้มาเพื่อต้องการอะไร เราจักถามดูให้รู้แน่ เมื่อจะถามเหตุนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

หริตสรีโร ตวฺจทสฺสนิโย สุรูปิโย
ปคฺคยฺห อฺชลิฺเจวกึ มํ ยาจสิ พฺราหฺมณ

ความว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านมีสรีรกายคล้ายทองคำธรรมชาติ รูปร่างสะอาดน่าใคร่ชม เจ้ามาประนมมือไหว้จะขออะไรกับเราหรือ อินทรพราหมณ์ได้ฟังราชดำรัสถามมีความยินดี เมื่อจะทูลขอพระราชเทวี จึงกราบทูลทุติยคาถาดังนี้ว่า

ยถา วาริวโห ปูโรสพฺพกาลํ น ขียติ
เอวนฺตํ ยาจิตาคฺฉึเทวึ เม เทหิ ยาจิโต

ความว่า ห้วงแม่น้ำใหญ่อันเต็มเปี่ยมไปด้วยวารี มิได้มีเวลาถอยถดหมดไปฉันใด น้ำพระหฤทัยของพระองค์ก็ชุ่มชื่นด้วยทานเหมือนฉะนั้น ข้าพระบาทบากบั่นมาครั้งนี้ เพื่อจะขอรับพระราชทานพระเทวีของพระองค์ จงพระราชทานให้แก่ข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า

ตํ สุตฺวา สมเด็จพระเจ้าวิบุลราชได้ทรงฟังดังนั้น มีพระหฤทัยเกษมสานต์ เปรียบปานดังคนยากได้รับพระราชทานทองคำหนักพันตำลึงแต่สำนักพระราชา พระองค์จึงตรัสตติยคาถานี้ว่า

ททามิ น วิกมฺปามิยํ มํ ยาจสิ พฺราหฺมณ
สนฺตํ น ปติคุยฺหามิทาเน เม รมตี มโน

ความว่า ดูกรพราหมณ์ เราจะให้มิได้ย่อท้อ ท่านออกปากขอสิ่งใดกับเรา สิ่งนั้นมีอยู่แล้วเราจะได้ช่อนเร้นเป็นอันไม่มี ใจของเรานี้ยินดีในทานการให้อยู่เป็นนิตย์ ทรงภาษิตคาถานี้แล้ว จึงให้เชิญพระราชเทวีเข้ามาแล้วตรัสว่า แน่ะพระนางสุนทรีผู้เจริญ พราหมณ์ผู้นี้มาขอตัวพระน้องนาฏ เราตั้งใจปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ เรายังไม่ถึงสัพพัญญุตญาณตราบใด ขอพระน้องช่วยเพิ่มพูนบารมีของเราให้เต็มตราบนั้นเทอญ พระราชเทวีทรงฟังพระราชสามีตรัสดังนั้น มีพระหฤทัยเกษมสันต์ จึงตรัสประพันธ์คาถาดังนี้ว่า

มาสี ตุยฺหํ อหํ เทวสามิโก มม อิสฺสโร
ยสฺสิจฺเฉ ตสฺส มํ ทชฺชาวิกิเณยฺย หเนยฺย วา

ความว่า ข้าแต่เทวบพิตร หม่อมฉันคิดว่าเป็นข้าธุลีพระบาทพระองค์ ทรงราชอำนาจเป็นเจ้านายของหม่อมฉัน พระองค์ทรงพอพระหฤทัยจะประทานหม่อมฉันให้ผู้ใดไป พึงประทานให้ผู้นั้นตามพระประสงค์ หรือพระองค์จะไม่ทรงพระกรุณาปรานี จะซื้อขายและเข่นฆ่า หม่อมฉันสุนทรียอมสารภาพทุกสิ่งอัน

พระเจ้าวิบุลราชได้ทรงฟังเสาวณีย์ดังนั้น จึงทรงจับพระเต้าทองด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา จับจูงหัตถ์พระราชเทวีด้วยพระหัตถ์เบื้องซ้าย แล้วหลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือมือพราหมณ์แล้วประกาศว่า แน่ะท่านพราหมณ์ ภรรยาผู้นี้เป็นยอดรักของเรา ก็แต่ว่าพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักยิ่ง ๆ กว่าภรรยาของเรานับได้ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า เราให้ภรรยาแก่ท่านนี้ ใช่เราจะปรารถนาสมบัติในมนุษย์และสวรรค์ชั้นอินทร์พรหม หรือสาวกภูมิปัจเจกภูมิก็หาไม่ เราตั้งใจปรารถนาจะสัพพัญญุตญาณอย่างเดียวเท่านั้น ทรงตรัสดังนี้แล้วก็มอบพระราชเทวีให้อินทรพราหมณ์ไป

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความอันใดยังมิได้ปรากฏสมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อพระองค์จะทรงประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

เทวึ หตฺเถ คเหตฺวานอุทกกมณฺฑลุํ คณฺหิ
ปสนฺนมนสงฺกปฺโปตสฺส เทวึ อทาสิ โส
เทวิยา ททมานายปิยจิตฺเตน ปโมทิตา
ตสฺมา ปถวี กมฺปติสุเนรุวนวฏํสกา ฯ

​ความว่า พระเจ้าวิบุลราชพระองค์นั้น จับจูงพระราชเทวีไว้ในพระหัตถ์ข้างหนึ่ง จึงจับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง มีพระหฤทัยผ่องใสมุ่งหมายสัพพัญญุตญาณ แล้วประทานพระราชเทวีแก่อินทรพราหมณ์ไป เมื่อทรงประทานราชเทวีไปแล้ว น้ำพระหฤทัยผ่องแผ้วปราโมทย์ยินดี เหตุดังนั้นปถพีก็หวั่นไหว ภูเขาแลเนาไพรก็น้อมยอดทอดกิ่งกวัดไกวประหนึ่งให้สาธุการ

อินทรพราหมณ์นำพระราชเทวีไปหน่อยหนึ่งจึงอันตรธานหายไป บัดเดี๋ยวใจก็แปลงเพศเป็นพราหมณ์คนอื่นอีกใหม่ กลับเข้ามาถวายพระพรชัยแล้วกราบทูลด้วยพระคาถาดังนี้ว่า

ยถา วาริวโห ปูโรสพฺพกาลํ น ขียติ
เอวนฺตํ ยาจิตาคฺฉึปุตฺตึ เม เทหิ ยาจิโต

ความว่า ห้วงแม่น้ำใหญ่อันเต็มไปด้วยวารี มิได้มีเวลาถอยถดหมดสิ้นไปข้อนี้ฉันใด น้ำพระหฤทัยของพระองค์ทรงชุ่มชื่นด้วยทานเห็นปานดังนั้น ข้าพระบาทบากบั่นมาปรารถนาจะขอรับพระราชทานราชธิดาของพระองค์ จงพระราชทานให้ข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า

ตํ สุตฺวา สมเด็จพระเจ้าวิบุลราชได้ทรงฟังดังนั้น ทรงเกษมสันต์โสมนัสจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

ททามิ น วิกมฺปามิอิสฺสโร นย พฺราหฺมณ
สนฺตํ น ปติคุยฺหามิทาเน เม รมตี มโน

ความว่า เรายอมยกให้มิได้ย่อท้อ ดูกรท่านพราหมณ์ เจ้าจงเป็นอิสรภาพนำราชบุตรีของเราไปตามความประสงค์สิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่เจ้าต้องการ เราจะให้มิได้ปิดบังไว้ ใจของเรายินดีในทานการให้ฝ่ายเดียว

ตรัสดังนี้แล้วจึงให้เชิญพระราชธิดาเข้ามา ให้พระราชธิดาสรงและให้เสวยและทรงเครื่องแล้วจุมพิต เมื่อจะประทานให้เป็นสิทธิ์แก่พราหมณ์ไป จึงประกาศให้เทพยดาเป็นพยานด้วยพระคาถาดังนี้ว่า

โภนฺโต เทวาสงฺฆาโยสพฺเพ เทวา สมาคตา
ทานํ เม อนุโมทนฺตุปุฺํ คณฺหนฺตุ อีทิสํ
ตสฺส ปุตฺติฺจ ทสฺสามิปิยํ จิตฺเตน เทมิหํ
ปุตฺตมหสุภชาตึโพธิยาเยว การณา ฯ

ความว่า ข้าแต่ฝูงเทพยดาทั้งหลายผู้เจริญ ขอเชิญเทพยดาจงมาประชุมกันอนุโมทนาทานของข้าพเจ้า จงถือเอาส่วนบุญด้วยเทอญ บัดนี้ข้าพเจ้าจักให้ราชบุตรีเป็นที่รักทรงลักษณ์อันเลิศแก่พราหมณ์ไป เพื่อเหตุเป็นปัจจัยแก่พระโพธิญาณ ในอนาคตกาลภายหน้า ทรงประกาศดังนี้แล้วก็มอบราชบุตรีให้อินทรพราหมณ์ไป

คราวนั้นอัศจรรย์ก็บันดาลบังเกิดมีด้วยอำนาจทานบารมีของพระมหาสัตว์เจ้านั้น เพราะเหตุนั้นพระคันถรจนาจารย์จึงประพันธ์คาถานี้ว่า

ตทาสิ ยํ ภึสนกํตทาสิ โลมหํสนํ
ราชปุตฺติมุหิ ปทินฺนมฺหิเมทนี สมกมฺปถ
อจฺฉริยฺจ อาสิ โสโฆโส วิปุโล มหา
ปุตฺตภริเย ปทินฺนมฺหิสกลสคฺคํ กมฺปถ

ความว่า ในคราวเมื่อพระเจ้าวิบุลราช ทรงประทานพระราชบุตรี ครั้งนั้นบันดาลให้เกิดขนพองสยองเกล้าแก่เหล่ามหาชน เมทนีดลก็หวั่นไหวอัศจรรย์ดลดาลเห็นหลากประหลาด เมื่อพระเจ้ามหาวิบุลราชประทานพระราชบุตรีกับพระราชเทวี เสียงบันลือลั่นสนั่นหวั่นไหวอยู่ไปมา ทั่วสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าก็สยดสยองป่วนปั่นอยู่เนียรนาท พระเจ้าวิบุลราชทรงบำเพ็ญทานบารมีแล้ว น้ำพระหฤทัยผ่องแผ้วยังพระปีติยินดีให้เกิดขึ้นด้วยประการดังนี้

อถ สกฺโก ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราชพาพระสุจีราชบุตรีไปหน่อยหนึ่ง จึงอันตรธานหายไปด้วยอานุภาพของพระองค์ แล้วทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์แก่คนอื่นใหม่ พราหมณ์แก่นั้นถือไม้เท้าผมหงอกขาว มีหนวดยาวเข้าไปนั่งอยู่ริมประตูพระราชวัง พระเจ้าวิบุลราชทอดพระเนตร์แล้ว เมื่อจะถามเหตุนั้นให้แจ้งชัดจึงตรัสพระคาถาดังนี้ว่า

อถ ตฺวํ เกน วณฺเณนเกน วา ปน เหตุนา
อนุปฺปตฺโตสิ นครํตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต

ความว่า เราขอถามท่าน ท่านมาถึงเมืองนี้ด้วยเรื่องอะไร หรือด้วยเหตุการณ์อย่างไร เราถามท่านๆ จงบอกความนั้นแก่เราให้แจ้ง ณ บัดนี้

ท้าวโกสีย์พราหมณ์แปลงได้สดับราชดำรัสถามดังนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าพระบาทเป็นคนแก่ชราเดินมาแต่ทางไกล ทราบว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ในสุจริตธรรมบำเพ็ญทานมิได้ย่อท้อ ข้าพระบาทอุตสาหะมายังสำนักของพระองค์ เจาะจงจะขอรับพระราชทานพระนครสุจิวัตตี ขอพระองค์ทรงพระปรานียกพระนครนี้ให้ข้าพระบาทเถิด พระเจ้าข้า

ตํ สุตฺวา พระเจ้าวิบุลราชโพธิสัตว์ได้ทรงฟังดังนั้นมีพระหฤทัยเกษมสันต์เต็มไปด้วยพระปีติ เมื่อจะพระราชทานรัชสิริแก่อินทรพราหมณ์ จึงตรัสประพันธ์คาถานี้ว่า

คณฺหาหิ ตว อิจฺฉมฺหิอิสฺสโร นย พฺราหฺมณ
มโนรถนฺเต ปูเรสฺสามิทาเน เม รมตี มโน

ความว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านต้องการพระนครเราจงถือเอาเถิด ท่านจงเป็นอิสรภาพปกครองต่อไป เราจักยังความปรารถนาของท่านให้สำเร็จบริบูรณ์เต็มที่ ใจของเรานี้ยินดีอยู่ในทานอย่างเดียวเท่านั้น ตรัสดังนี้พลางทางก็ทรงจับพระเต้าทองอันเต็มด้วยวารี ทรงหลั่งทักษิโณทกให้ตกลงเหนือมืออินทรพราหมณ์ เมื่อจะยกนครให้สิทธิ์ขาดจึงตรัสเป็นบาทพระคาถาดังนี้ว่า

อิทํ หิ นครํ มยฺหํสพฺพโลกสมิทฺธนํ
หตฺวาน นครํ อิทฺธํเขลปิณฺฑํ วิย ชาติ
สํสารตรณตฺถายกามราคมหณฺณเว
สพฺเพ สตฺตา ปวตฺตาวปาปุณิสฺสามิ นิพฺพุตฺตึ

ความว่า แท้จริง เมืองของเรานี้สมบูรณ์กว่าเมืองบรรดามีในโลกนี้ เรายกเมืองอันสมบูรณ์ให้ อุปมัยเหมือนถ่มก้อนเขละออกจากชิวหาก็ว่าได้ หวังเพื่อจะให้ข้ามพ้นจากสงสารคือความเกิด บรรดาสัตว์ทั้งหลายอันเวียนเกิดตายอยู่ในห้วงใหญ่คือกามราคะนั้นมากนัก เราจักช่วยให้ถึงซึ่งพระนฤพานอันปราศจากกองทุกข์ ทรงตรัสดังนี้แล้วก็มอบพระนครให้แก่อินทรพราหมณ์ด้วยความยินดี

ท้าวโกสีย์เห็นมหัศจรรย์ดังนั้นจึงกราบทูลว่า พระองค์ผู้เป็นพุทธังกุรวงศ์ พระองค์จักได้ตรัสเป็นพระบรมโลกนาถเที่ยงแท้ ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระบาทหาใช่พราหมณ์โดยชาติไม่ ข้าพระบาทคือท้าวสหัสสนัย เห็นคุณความดีของพระองค์ จึงลงมาเพิ่มพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ให้เต็มบริบูรณ์ ขอพระองค์จงรับราชบุตรีและพระมเหสีไว้เทอญ พระเจ้าข้า กราบทูลดังนั้นแล้ว ก็ถวายพระราชบุตรีและพระมเหสีคืนแก่พระราชา ก้มศีรษะถวายคำนับแล้วเหาะขึ้นไปประดิษฐาน ณ กลางอากาศ ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความอันใดมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสคาถานี้ว่า

ตสฺส สงฺกปฺปมฺายมฆวา เทวกุฺชโร
อากาสคคฺคเณ ตฺวาอิทํ วจนมพฺรวิ
นินฺนาทิตา เต ปถวีสทฺโท เต ติทิวงฺคโต
สมนฺตา วิชุตา อาคูคิรีนฺจ ปติสฺสุตา
ตสฺส เต อนุโมทนฺติอุโภ นารทปพฺพตา
อินฺโท พฺรหฺมา ปชาปติโสโม ยโม เวสฺสวณฺโณ
สพฺเพ เทวา อนุโมทนฺติทุกฺกรํ หิ กโรติ โส
ทุทฺททํ ททมานานํทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติสตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย
ตสฺมา สตฺจ อสตฺจนานา โหติ อิโต คติ
อสนฺโต นิริยํ ยนฺติสนฺโต สคฺคปรายนา

ความว่า ท้าวมัฆวานเจ้าฟ้า ทรงทราบวาระน้ำจิตพระมหาสัตว์ผู้ทรงศรัทธาบริจาคอัชฌัตติกทาน ท้าวมัฆวานจึงโสมนัสตรัสสรรเสริญทานบารมี มหาปถพีก็กึกก้องหวั่นไหว เสียงซ้องสาธุการนั้นสนั่นทั่วพิภพเมืองสวรรค์ทุกชั้นฟ้า เทพยดาอินทร์พรหมยมราชท้าวเวสสวัณตบพระหัตถ์ให้ซึ่งอนุโมทนาทานบารมีของพระมหาสัตว์ แล้วชวนกันสรรเสริญว่าพระเจ้าวิบุลราชเจ้าเอ่ย ใครทำไม่ได้ ใครให้ไม่ได้ พระองค์ทำและให้ได้ง่าย ๆ ถ้ามิใช่หน่อแนวพระชินสีห์แล้วทำไม่ได้เลยเป็นอันขาด ท้าวสักกเทวราชทำอนุโมทนาหานและชมเชยพระมหาสัตว์แล้ว ก็เสด็จกลับยังทิพยพิมานของพระองค์ ตมตถํ ปกาเสนโต สตถา อาห เนื้อความอันใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสคาถานี้ว่า

อิทํ วตฺวาน มฆวาเทวราชา สุชมฺปติ
โพธิสตฺตํ ถูตึ กตฺวาสคฺคกายํ อปกฺกมิ

ความว่า ท้าวมัฆวานเทวราชสุชัมบดี ตรัสคาถานี้แล้วทำความสรรเสริญพระโพธิสัตว์เจ้าเสร็จ ก็เสด็จกลับยังโลกสวรรค์ สมเด็จพระเจ้าวิบุลราชนั้น ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมให้บริบูรณ์และบำเพ็ญบุญ มีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็เสด็จไปยังเทวโลก

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประกาศอริยสัจซ้ำลงในที่สุดจบชาดกเทศนาเมื่อจบอริยสัจกถาลง พระองค์จึงประมวลซึ่งชาดกว่า ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือพระอนุรุทธเถระ พระนางสุนทรีราชมเหสีในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือพระพิมพายโสธรา พระสุจีราชบุตรีในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือกัณฑณเถรี ราชบริษัททั้งหลายในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเจ้าวิบุลราชในกาลครั้งพั้น ครั้นกลับชาติมาคือพระตถาคตนี้เทียวแล ฯ

จบวิบุลราชชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: