น โมเจมีติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต สตฺตโมจนํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงพระปรารภความปลดเปลื้องสัตว์จากทุกข์ให้เป็นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า น โมเจมิ ดังนี้เป็นอาทิ
อนุสนธิปัจจุบันนิทานมีพิสดารว่า วันหนึ่งพระภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกัน ณ โรงธรรมสภา พากันสรรเสริญพระบารมีพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระบรมศาสดาเจ้าของเราทั้งหลาย เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ ก็เพื่อจะปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์เป็นเบื้องหน้า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จออกจากคันธกุฎีไปประทับ ณ โรงธรรมสภา มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายประชุมพูดกันด้วยเรื่องราวอะไร ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลตามมูลนัยที่สนทนากันให้ทรงทราบแล้ว จึงมีพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะได้ปลดเปลื้องสัตว์ออกจากทุกข์แต่เดี๋ยวนี้ก็หาไม่ ในกาลปางก่อนตถาคตเป็นพระโพธิสัตว์มีปัญญายังอ่อนจรไปกับพวกพาณิช เคยปล่อยสัตว์ให้รอดชีวิตมาเป็นอันมาก ทรงตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะใคร่รู้เรื่องราวจึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงตรัสเทศนาต่อไป สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำเรื่องราวที่ล่วงแล้วมาอ้าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้ว่า
อตีเต พาราณสิยํ เอโก วานิโช ธนโก นาม วสติ ในกาลที่ล่วงแล้วแต่หลัง ยังมีพ่อค้าผู้หนึ่งชื่อว่าธนกะอยู่ ณ เมืองพาราณสี ภรรยาของนายธนกะพ่อค้านั้นชื่อว่านันทา นายพ่อค้าผู้นั้นเป็นใหญ่กว่าพ่อค้าห้าร้อย คราวนั้น พระบรมโพธิสัตว์เสด็จอยู่ ณ ดาวดึงสพิภพ เมื่อสิ้นอายุแล้วจุติลงมาถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางนันทา ๆ ทรงไว้ซึ่งครรภ์พอครบกำหนดสิบเดือน คืนวันหนึ่งเป็นเวลาจวนจะใกล้รุ่ง นางนันทานั้นฝันไปว่า มีดาบสองค์หนึ่งเหาะลงมาทางอากาศ ถือเอาจันทรมณฑลมาวางไว้ในมือของนาง ๆ จึงตื่นขึ้นแล้วก็คลอดบุตรเป็นผู้ชาย นางดีใจว่าได้ลูกอันประเสริฐเพราะฝันเห็นแล้วนั้น จึงให้นามบุตรว่าจันทกุมาร ๆ เจริญรุ่งขึ้นโดยลำดับมีอายุนับได้ ๑๖ ปี เป็นที่รักที่ยินดีชอบใจของชนทั่วไป และได้เรียนรอบรู้ศิลปศาสตร์ทั้งปวงจนชำนิชำนาญ
คราวนั้น พวกพ่อค้าห้าร้อยจะพากันไปค้าขาย ณ เมืองสุวรรณภูมิ ฝ่ายจันทกุมารนั้นจึงกราบไหว้มารดาบิดาขอลาว่า ข้าพเจ้าจักไปค้าขาย ณ เมืองสุวรรณภูมิกับพ่อค้าห้าร้อย มารดาบิดาจึงห้ามว่า ดูกรพ่อๆอย่าไปเลย พ่ออย่าละทิ้งมารดาบิดาเสียเลย ดูกรพ่อ ชื่อว่าท้องทะเลมีความสะดวกน้อยนัก บางคราวก็สะดวก บางคราวก็ไม่สะดวก ทั้งอันตรายก็มีมาก ลูกรักของมารดาบิดาพ่ออย่าไปเลย เมื่อห้ามอยู่ฉะนี้จึงกล่าวคาถาดังนี้ว่า
หาหา ปิยปุตฺตก | หาหา ปิยหทย ตาต |
มา โน ปหาย ปุตฺตก | ตาต มา โน จ ฉทฺเทหิ |
ความว่า ฮือ ฮือ ลูกรักเสมอด้วยดวงใจของบิดามารดา พ่อเป็นลูกผู้เดียวเท่านี้ ขอพ่ออย่าละทิ้งมารดาบิดาไปเสียเลย จันทกุมารจึงตอบว่า ข้าแต่บิดามารดา ๆ อย่าห้ามข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าจักไปกับพวกพาณิชให้จงได้ มารดาบิดาไม่อาจห้ามไว้ได้จึงอนุญาตว่า พ่อจักไปก็ไปตามใจเทอญ จันทกุมารรับคำอนุญาตแล้วก็กราบไหว้บิดามารดาด้วยปัญจางคประดิษฐ์ทั้งห้า ถือเอาซึ่งทรัพย์ตามสมควรแล้วลาไป
ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี จันทกุมารนั้นก็ขึ้นไปอยู่ในเรือสำเภาลำใหญ่ไปพร้อมกับด้วยพวกพ่อค้าทั้งหลาย สำเภาใหญ่นั้นแล่นไปถึงฝั่งตำบลหนึ่งจึงให้จอดเรือพักอยู่ที่นั้น จันทกุมารเห็นมหาชนเขาไปตลาดกัน จึงลงเรือขึ้นไปบนตลาดขายของ เห็นมหาชนเขาขายสัตว์ต่างๆ จึงซื้อหนูและค่างเป็นเป็นมาใส่เรือไว้ ครั้นเคลื่อนเรือจากฝั่งนั้น ใช้ใบแล่นต่อไป ถึงฝั่งอื่นก็ให้จอดเรือเข้าอีก จันทกุมารเห็นตลาดขายของก็ขึ้นไปเลือกซื้อตะกวดและงูเป็นเป็นอีกนำมาใส่ไว้ในเรือ พวกพ่อค้าทั้งหลายเห็นสัตว์เหล่านั้นจึงถามว่า ดูกรพ่อจันทกุมาร ท่านซื้อสัตว์เป็นนี้มาเพื่อต้องการอะไร ข้าแต่พาณิชทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าซื้อสัตว์เป็นนี้มาปรารถนาจะเอาไปปล่อย ดูกรพ่อจันทกุมาร ธรรมดาพ่อค้าเขาค้าขายก็หมายจะให้ได้ทรัพย์มาก ก็ตัวท่านกลับมาซื้อสัตว์ปล่อยหน่อยทรัพย์ของท่านก็จักพินาศหมดไป ท่านเป็นคนโง่เสียแล้ว ข้าแต่ท่านพาณิชทั้งหลายข้าพเจ้าหาใช่คนโง่ไม่ ท่านทั้งหลายนั่นแหละเป็นคนโง่ เพราะเหตุใดเล่า เพราะว่ามหาชนคนที่ปล่อยสัตว์ ย่อมได้คุณสมบัติมีอายุยืนยาวเป็นต้น บัณฑิตชนย่อมสรรเสริญผู้ปล่อยสัตว์ ชนที่ได้ทำบุญแล้วมีปล่อยสัตว์เป็นต้น ย่อมจะเสวยผล คือความสุขยิ่งยิ่ง ฝ่ายชนที่ไม่ได้ทำบุญแล้วย่อมถึงซึ่งความพินาศใหญ่
พวกพาณิชทั้งหลายไม่อาจห้ามจันทกุมารนั้นได้ ก็พากันแล่นเรือต่อไป พระมหาสัตว์คือจันทกุมารเห็นภูเขาลูกหนึ่ง สูงใหญ่งดงามตั้งอยู่ริมฝั่งสมุทรจึงคิดว่า ภูเขาลูกนี้จักมีสมณะผู้ครองศีลอยู่เป็นแน่ เราควรจะนำสัตว์ที่ซื้อมาไปปล่อยไว้ยังสำนักแห่งสมณะนั้น มีพระเถระองค์หนึ่ง ประสงค์จะทำความสงบจิต มานั่งเจริญภาวนาอยู่ ณ ที่สบายในภูเขานั้น
พระมหาสัตว์เห็นพระเถระเจ้าแล้ว มีความเลื่อมใสเดินเข้าไปใกล้นั่งลงกราบไหว้แล้วปราศรัยว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญพระผู้เป็นเจ้ามานั่งอยู่ ณ ที่นี้ต้องการอะไร ฯ ดูกรอุบาสก เราทำความเพียรเพื่อจะทำความสงบจิต จึงมานั่งอยู่ ณ ที่นี้ พระมหาสัตว์เห็นเหงื่อไหลโทรมทั่วร่างกายพระเถระจึงพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้องการจะทำบุญ ฯ ดูกรอุบาสก เชิญท่านทำบุญเถิด พระมหาสัตว์จึงตักเอาน้ำมาแปดหม้อ ให้พระเถระสรงน้ำ แล้วถวายข้าวน้ำและหมากพลู จุดตามประทีปอีกแปดดวงถวายพระเถระ แล้วแก้สัตว์เป็นที่ซื้อมาปล่อยไว้ ณ สำนักพระเถระ ยกมือประนมไหว้เมื่อจะตั้งไว้ซึ่งความปรารถนา จึงกล่าวพระคาถาดังนี้ว่า
ภนฺเต เถร จ อุตฺตม | สุณาถ มม วจนํ |
พนฺธนา สตฺตโมจนํ | บฺุกมฺมํ กตํ มยา |
อิมินา ปฺุกมฺเมน | พุทฺโธ โหมิ อนาคเต |
ชาติปารํ ตริสฺสามิ | สนฺตาเรสฺสํ สเทวกํ |
ธมฺมนาวํ สมาธรุยฺห | อุทฺธริสฺสามิ ชนตํ |
ความว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าผู้สูงสุดในพระพุทธศาสนา จงฟังถ้อยคำปรารถนาของข้าพเจ้าดังนี้ว่า บุญกรรมคือปล่อยสัตว์ให้พ้นจากที่คุมขังข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ด้วยบุญกรรมอันนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในภายหน้า ข้าพเจ้าจักข้ามไปให้พ้นฝั่ง คือชาติและรื้อขนประชุมชนกับทั้งเทพยดา บรรทุกให้เต็มธรรมนาวาแล้ว นำข้ามส่งให้ถึงฝั่งคือพระนฤพาน ด้วยประการดังนี้
พระเถระได้ฟังดังนั้น มีจิตเกษมสานต์ เมื่อจะทำอนุโมทนาทานจึงกล่าวพระคาถาดังนี้ว่า
ยํ ย ปตฺถิตํ ตุยหํ | ตํ ตํ สพฺพํ สมิชฺฌตุ |
อิมินา ปฺุกมฺเมน | พุทฺโธ โหหิ อนาคเต |
ชาติปารํ ตริตฺวาน | สนฺตาเรหิ มหาชนํ |
ธมฺมนาวํ สมารุยฺห | ปาปุณิสฺสสิ นิพฺพานํ |
ความว่า ความปรารถนาท่านตั้งไว้ด้วยกายวาจาใจอย่างใด ๆ ขอความปรารถนาอย่างนั้น ๆ ทั้งหมด จงสำเร็จมโนรถของท่านที่ตั้งไว้ด้วยบุญกรรมอันนี้ ขอให้ท่านได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในภายหน้า ท่านข้ามถึงฝั่งอันเป็นที่สุดของชาติได้แล้ว ขอท่านช่วยขนมหาชนบรรทุกให้เต็มธรรมนาวา แล้วพาข้ามส่งให้ถึงพระนิพพานด้วยเทอญ
พระมหาสัตว์จึงทำปทักษิณและกราบไหว้พระเถระเจ้าแล้วก็ลากลับลงจากภูเขา ขึ้นสู่สำเภาแล่นไปกับด้วยพ่อค้าทั้งหลาย เรือสำเภานั้นครั้นแล่นไปยังท่ามกลางสมุทร ก็โคลงเคลงด้วยกำลังลมพัดกล้า พระมหาสัตว์ทราบชัดแล้วว่าเรือสำเภาจักแตกแน่ จึงรีบบริโภคอาหารที่มีรส แล้วพระองค์เอาผ้าเนื้อดีมาสองผืน ชุบนำมันเสียแล้วนุ่งผูกพันเข้าไว้ให้มั่นคง ประสงค์จะให้มีกำลังว่ายน้ำ มหาชนา มหาชนบรรดาอยู่ในเรือสำเภานั้น กลัวความตายพากันร้องไห้ร่ำไรต่าง ๆ พระมหาสัตว์จึงปีนขึ้นไปนั่งอยู่ ณ เสากระโดงทางศีรษะเรือ เมื่อเรือแตกจะจมลงพระองค์ก็โดดไปด้วยกำลังแรง ข้ามพ้นฝูงปลาทั้งหลายไปได้ มหาชนทั้งหลายก็เป็นภักษาหารแห่งฝูงสัตว์มีปลาเป็นต้น
วันที่สำเภาแตกนั้นเป็นวันอุโบสถ พระมหาสัตว์แลดูเบื้องบนก็ทราบว่าวันนี้เป็นวันอุโบสถแน่ พระองค์ทรงบ้วนปากแล้ว สมาทานอุโบสถศีล ตั้งสติมั่นคงระลึกอยู่ในองค์ศีลเป็นอันดี
คราวนั้น พระมหากษัตริย์ครอบครองสมบัติ ณ จังหวัดสุวรรณภูมิทรงประชวรหนัก แพทย์ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ถึงสิ้นชีพสวรรคาลัยในวันเดียวกันเมื่อเรือสำเภาแตกนั้น
ในระหว่างนั้น นางเทพยดาชื่อมณีเมขลา ท้าวโลกบาลทั้งสี่ตั้งไว้ให้เป็นพนักงานรักษามหาสมุทร สำหรับอนุเคราะห์คนที่ควรอนุเคราะห์ เช่นบุคคลกอบด้วยคุณมีการปฏิบัติบิดามารดาเป็นต้น นางมณีเมขลาคิดว่าเราจะไปตรวจตราดูตามท้องมหาสมุทร คิดแล้วก็เที่ยวตรวจไป เห็นพระมหาสัตว์กำลังว่ายน้ำข้ามสมุทร มีพรรณกายบริสุทธิ์งดงาม เมื่อจะถามพระมหาสัตว์เจ้าจึงกล่าวคาถานี้ว่า
โกยํ มชฺเณ สมุทฺทสฺมึ | อปสฺสํ ติรมารุเยห |
กี ตฺวํ อตฺถวสํ ตฺวา | เอวํ วายมเส ภูสํ |
ความว่า ท่านนี้เป็นคนอย่างไร เมื่อยังไม่เห็นฝั่งมีที่ไหน ท่านมาเพียรว่ายน้ำอยู่ ณ ท่ามกลางสมุทรนี้ทำไม หรือท่านรู้จักอำนาจประโยชน์คุณอันใด จึงพยายามว่ายน้ำอยู่อย่างนี้เป็นนักเป็นหนา พระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังนางมณีเมขลาถามดังนั้น เมื่อจะแสดงความให้แจ้งชัด จึงตรัสคาถานี้ว่า
อหํ นิสมฺม วตฺตํ โลกสฺมึ | เทวเต สุโณหิ เม |
โย ปมชฺชนฺติ โลกสฺมึ | พหู ปาปสมากุลา |
ปาเปติ เต อกฺกมิตฺวา | เต คเหตฺวา มฺุจนฺติ |
อตฺตานํ ปฺุกมฺเมน | หิ อากุโล ตรนฺโต โส |
ยถาสติ ยถาพลํ | วุยฺหนฺเต สาครนฺตํ |
ตฺจ ปสฺสามิ สนฺติเก |
ความว่า ดูกรเทพธิดา เราพิเคราะห์ดูแล้วซึ่งวัตตกิริยาซึ่งมีในโลก (เห็นอานิสงส์ความเพียรนี้มีมากนัก อาจจะให้ผู้เพียรได้ประสบสุขเป็นแท้ เหตุนี้เราจึงไม่ละทิ้งความเพียร) ดูกรนางเทพธิดา ท่านจงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าดังจักกล่าวต่อไปนี้ สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ที่เกลือกกลั้วอยู่ด้วยบาปประมาทอยู่มากนัก เราผู้ได้ถือเอาสัตว์เหล่านั้นปล่อยไปเพราะว่าเรานั้นยังอากูลอยู่ด้วยบุญและกรรม ต้องเพียรทำตนให้ข้ามไปตามสติกำลัง
เมื่อเราพยายามว่ายข้ามสมุทรสาครไม่หยุดยั้ง จึงมาบรรลุยังสำนักแห่งท่านได้พบกันดังนี้
นางมณีเมขลา ฟังวาจาพระมหาสัตว์ตรัสดังนั้น มีจิตเกษมสานต์โสมนัส จึงอุ้มพระมหาสัตว์เจ้าเหาะไปโดยอากาศเวหา พาพระมหาสัตว์เจ้าไปวางไว้เหนือมงคลศิลาลาด ในราชอุทยาน ณ จังหวัดสุวรรณภูมิ บังคับเทพยดาที่เฝ้าสวนอุทยานนั้น ให้ช่วยกันรักษาพระมหาสัตว์ไว้มิให้เป็นอันตราย แล้วนางมณีเมขลาก็อันตรธานหายไป
จะกล่าวฝ่ายข้างเมืองสุวรรณภูมิ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองทิวงคตแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น จึงพร้อมกันถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าสุวรรณภูมิตามพระราชประเพณีเสร็จแล้ว จึงปรึกษากันว่า พระราชโอรสของพระราชาหามีไม่ มีแต่พระราชธิดาทรงพระนามว่าสิมพลีพระองค์หนึ่ง พวกเราทั้งหลายจะควรทำประการใด บางพวกก็เห็นว่าบุรุษชนคนหนึ่ง ซึ่งมีบุญสมควรแก่พระราชธิดาเจ้านายของเราคงจะมีแน่ พวกพราหมณ์ทั้งหลายจึงพูดว่า เราควรจักเสี่ยงทายปุสสรถถ้าปุสสรถไปสู่สำนักผู้ใด ผู้นั้นและจักได้เป็นที่พึ่งแก่พวกเรา ปรึกษาเห็นดีพร้อมแล้ว พราหมณ์ทั้งหลายก็พากันจัดแจงแต่งปุสสรถเสร็จแล้วก็ปล่อยไปแล้วจัดให้คนถือธงและเครื่องปัญจางคดนตรีให้ตามไปเบื้องหลัง ปุสสรถนั้นทำปทักษิณพระนครแล้ว ก็บ่ายหน้าไปสู่ราชอุทยาน
ตทา มหาสตฺโต คราวนั้น พระมหาสัตว์เจ้า พระองค์ทรงกายว่ายน้ำลำบากมาในมหาสมุทร ทรงคลุมศีรษะนอนหลับอยู่ ณ แท่นมงคลศาลา ปุสสรถก็ตรงไปถึงแท่นแผ่นมงคลศิลา ทำปทักษิณแล้วปรารถเพื่อจะทูลบาทมูลพระมหาสัตว์เจ้า พราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นพระมหาสัตว์นอนอยู่ข้างหนึ่งแห่งปุสสรถนั้นจึงดำริว่า มาณพผู้นี้จะมีบุญหรือหาไม่ เราจักพิจารณาดูให้รู้แน่ก่อน คิดแล้วก็ตรวจดูลักษณะในบาททั้งสองของพระมหาสัตว์ ก็ทราบว่ามาณพผู้นี้มีบุญสามารถจักเป็นพระราชาครองราชสมบัติในทวีปทั้งสี่ได้ จึงทำสัญญาให้ชาวเครื่องดนตรีตีเป่าขึ้นพร้อมกัน อัญเชิญพระมหาสัตว์เจ้าว่า ท่านผู้มีบุญใหญ่ ราชสมบัติมาถึงท่านแล้ว ท่านจงเป็นพระราชาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด
พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังดังนั้น ก็ลุกขึ้นนั่งแล้วถามพราหมณ์ว่า ดูกรท่านพราหมณ์ พระราชาของท่านไปไหนเสียแล้ว ฯ พระราชาของข้าพเจ้าทิวงคตเสียแล้ว ฯ พระราชบุตรีและราชธิดาของพระราชานั้นไม่มีดอกหรือ ฯ พระราชบุตรหามีไม่ มีแต่พระราชธิดาอยู่องค์หนึ่ง ฯ ถ้ากระนั้นเราจักรับเป็นพระราชาแห่งท่านทั้งหลาย อำมาตย์ทั้งหลายมีพราหมณ์เป็นต้น จึงเชิญพระมหาสัตว์ให้ขึ้นสู่ปุสสรถแล้ว พร้อมด้วยมหันตบริวารนำเสด็จเข้าสู่พระนคร พระมหาสัตว์เสด็จถึงพระนครแล้วเสด็จขึ้นยังมหาปราสาท ทรงประทับเหนือราชอาสน์ ณ ภายใต้เศวตฉัตร์ ซึ่งเจ้าพนักงานได้ประจงจัดถวายเป็นอันดี อำมาตย์ทั้งหลายจึงมอบถวายราชสมบัติแก่พระมหาสัตว์ ยกขึ้นให้เป็นบรมกษัตริย์ทรงพระนามบัญญัติว่าจันทราชา แล้วให้เชิญพระนางสิมพลีราชธิดามาตั้งให้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจันทราช พระเจ้าจันทราชเสวยราชสมบัติโดยธรรมจริยาแลสมจริยา
จำเดิมแต่กาลที่มหาสัตว์ได้เสวยราชสมบัติแล้วนั้นได้ทรงบำเพ็ญมหาทานทุกๆวัน พระเจ้าจันทราชนั้น ให้ราชบุรุษไปรับบิดามารดาแต่เมืองพาราณสี ทรงปฏิบัติมารดาบิดาเป็นนิตย์ทุกวันไปมิได้ขาด พระจันทราชทรงระลึกถึงการกุศลที่พระองค์ได้ปล่อยสัตว์แล้ว เกิดปีติโสมนัสว่า โอ้น่าอัศจรรย์ใจ บุญที่เราทำย่อมไห้ผลสำเร็จในทันตาเห็นเทียวหนอ
ตทา คราวนั้น เทพยดาทั้งหลายได้นำเอาน้ำหอมแต่สระอโนดาตมาถวายเป็นน้ำสรงวันละแปดหมื่นหม้อ ทุกวัน ๆ ด้วยอานุภาพที่พระองค์ถวายน้ำอาบแปดหม้อแก่พระเถระที่ภูเขานั้น เทพยดาทั้งหลายได้บันดาลฉ้อฟ้าใบระกามหาปราสาทให้รุ่งเรืองแปดหมื่นสี่พันทำบูชาทุกวัน ๆ ด้วยอานุกาพที่ได้บูชาประทีปแปดดวงแก่พระเถระนั้น
นกแขกเต้าแปดหมื่นสี่พัน ได้นำเอาข้าวสาลีแต่ป่าหิมพานต์มาบูชาพระเจ้าจันทราชทุกวันๆ ด้วยอานุภาพที่ได้ปล่อยนกแขกเต้าในคราวก่อนนั้น เหยี่ยวขาตะไกรแปดหมื่นสี่พัน พากันไปนำดอกไม้ต่างๆแต่ป่าหิมพานต์มาบูชาพระเจ้าจันทราชทุกวัน ๆ ด้วยอานุภาพที่ได้ปล่อยเหยี่ยวขาตะไกรในคราวก่อนนั้น
หนูทั้งหลายแปดหมื่นสี่พันพากันมาช่วยเกล็ดเมล็ดข้าวสาลีถวายพระเจ้าจันทราช ด้วยอำนาจที่ปล่อยหนูในคราวนั้น หมู่ค่างทั้งหลายแปดหมื่นสี่พัน พากันไปนำผลไม้ต่างๆ แต่ป่าหิมพานต์มาบูชาพระเจ้าจันทราชทุกวัน ด้วยอานุภาพที่ได้ปล่อยค่างทั้งหลายนั้น จะกวดทั้งหลายแปดหมื่นสี่พัน พากันไปนำไม้มะเดื่อมาบูชาพระเจ้าจันทราช ด้วยอานุภาพที่ได้ปล่อยจะกวดในคราวก่อนนั้น พวกงูทั้งหลายแปดหมื่นสี่พัน พากันไปเอาแก้วมณีแต่มหาสมุทรมาบูชาพระเจ้าจันทราช ด้วยอำนาจกุศลที่ได้ปล่อยงูในคราวก่อนนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายมากด้วยกัน นำเครื่องสักการมาแต่ทิศต่าง ๆ บูชาพระเจ้าจันทราชทุกวันๆ อีกเทพยดาทั้งหลายเหล่าอื่น ๆ ได้นำเครื่องบูชามาบูชาอยู่เนืองนิตย์ ท้าวพระยาร้อยเอ็ดในสากลทวีปได้นำเครื่องบรรณาการมาบูชาพระมหาสัตว์โดยอเนกประการดังนี้
จำเดิมแต่พระบรมโพธิสัตว์ ได้ดำรงราชสมบัติแล้วนั้นพระเกียรติยศก็ลือชาปรากฏทั่วไปในชมพูทวีป ครั้นอยู่ต่อมาภายหน้า พระนางสิมพลีราชเทวีได้ประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง พระราชากับอำมาตย์ทั้งหลายได้สถาปนาพระนามว่า มหิลกุมาร พระบรมโพธิสัตว์ได้เสวยสุขสมบัติอยู่ในจังหวัดสุวรรณภูมิ เมื่อทรงพระชราลงพระองค์ดำริว่า เราจะให้สัตตสดกมหาทาน จึงรับสั่งให้หาตัวเสนาคุตอำมาตย์มาเฝ้าแล้วตรัสว่าบัดนี้เราจักบริจาคสัตตสดกมหาทาน ท่านจงตระเตรียมช้างเจ็ดร้อย ม้าเจ็ดร้อย รถเจ็ดร้อย ทาสีเจ็ดร้อย ทาสาเจ็ดร้อย โคผู้เจ็ดร้อย โคนมเจ็ดร้อย และข้าวปลาอาหารอย่างอื่นอีกสิ่งละเจ็ดร้อยๆ ท่านจักเตรียมเสร็จแล้วจงบอกให้เราแจ้ง ฝ่ายเสนาคุตอำมาตย์รับโองการแล้วรีบจัดเตรียมไว้เสด็จดังประสงค์แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์เจ้าได้เสด็จไปยังโรงทาน ทรงบริจาคมหาทานเป็นการใหญ่ สิ่งละเจ็ดร้อยๆ
คราวนั้น เทพยดาทั้งหลายได้ช่วยป่าวร้อง แก่พระราชาและยาจกทั้งหลายในสากลทวีปว่า พระเจ้าจันทราชบริจาคมหาทาน ท่านทั้งหลายต้องการแล้วเชิญรับประทานเถิด มหาชนทั้งหลายมีพระราชาและยาจกเป็นต้น เกลื่อนกล่นพากันมาแต่ทิศานุทิศ ส่วนพระราชาก็ขอรับเอาเหล่าพวกนารีแล้วกลับไป ส่วนพวกยาจกคนจนก็ขอรับเอาทรัพย์ได้แล้วก็กลับไป ผู้ที่ต้องการสิ่งใดก็ขอรับทานสิ่งนั้นไปตามประสงค์ของตนๆ พระเจ้าจันทราชบรมโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรมหาชนรับทานแล้วเดินกลับไปเป็นหมู่ๆ พระองค์ยิ่งทรงปราโมทย์ยินดี
คราวนั้น ด้วยอำนาจทานบารมี มหาปถพีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็หวั่นไหวครวญครางดุจเสียงช้างร้อง พระยาภูเขาสุเนรุก็น้อมยอดทอดไปข้างสุวรรณภูมินคร เหมือนหวายอ่อนอันบุคคลลนไฟฉะนั้น น้ำในสาครก็ป่วนปั่นเป็นฝอยฟอง ใช่ฤดูกาลฟ้าคะนองฟ้าก็ร้องและเปล่งแสงแลบทั่วทิศา ฝนลูกเห็บก็บันดาลตกลงมาเกลื่อนกล่น เสียงสนั่นโกลาหลแต่ปถพีถึงถึงพรหมโลกเป็นที่สุด
ครั้งนั้น ด้วยอำนาจทานบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ บันดาลให้พิภพท้าวสักกเทวราช แสดงอาการเร่าร้อนให้ปรากฏมี ท้าวโกสีย์ใคร่ครวญดูก็รู้เหตุนั้นทุกประการ ทรงจิตนาการว่า พระเจ้าจันทราชองค์นี้ เป็นหน่อแนวพระพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทานเป็นการใหญ่ เราควรจะลงไปยังมนุษยโลก ณ บัดนี้ ดำริแล้วจึงเสด็จขึ้นเวชยันรถ ไปประดิษฐานปรากฏอยู่ข้างหน้าปราสาท พระมหาสัตว์ได้ทอดพระเนตรแล้ว เมื่อจะทรงถามให้ได้ความชัดจึงตรัสคาถานี้ว่า
กึ วิมานํ ปุเรฏฺิตํ | เทวปุตฺโต สยาคโต |
ตฺจ อหํ น ชานามิ | ตฺวํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต |
ความว่า วิมานอะไร ได้มาตั้งอยู่หน้าปราสาทเรา ท่านเป็นเทวบุตรหรือใครมาธุระอะไร เรายังไม่รู้จักท่าน เราถามท่าน ๆ จงบอกให้แจ้ง ณ บัดนี้ ท้าวโกสีย์จึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกเทวราช ได้ลงมายังสำนักพระองค์โดยอำนาจทานบารมี ยินดีอนุโมทนาทานของพระองค์ เมื่อจะทรงทำความสรรเสริญต่อไป จึงกล่าวนัยคาถานี้ว่า
สพฺเพ ชิตา เต ปจฺจุหา | เย ทิพฺพา จ เย มานุสา |
พฺรหฺมยานมโนกฺกมฺม | สคฺเค เต ตํ วิปจฺจตุ |
ตทาสิ ยํ ภึสนกํ | ตทาสิ โลมหํสนํ |
มหาทาเน ปทินฺนมฺหิ | เมทนี สมกมฺปถ |
นินฺนาทิตา เต ปถวึ | สทฺโท เต ติวิวงฺคโต |
สมนฺตา วิชฺชุตา อาคู | คิรีนํว ปติสฺสุตา |
ตสฺส เต อนุโมทนฺติ | อุโภ นารทปพฺพตา |
อินฺโท จ พฺรหฺมา จ ปชาปติ จ | โสโม ยโม เวสฺสวณฺโณ จ ราชา |
สพฺเพ เทวา อนุโมทนฺติ | ทุกฺกรํ หิ กโรติ โส |
ทุทฺททํ ททมานานํ | ทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ |
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติ | สตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย |
ตสฺมา สตฺจ อสตฺจ | นานา โหติ อิโต คติ |
อสนฺโต นิริยํ ยนฺติ | สนฺโต สคฺคปรายนา |
แปลความว่า พระคุณเอ่ย พระเจ้าข้า สารพัดที่พระองค์จะชนะศึก คือมัจฉริยะ อันจะกั้นไว้ซึ่งทิพยสมบัติ และมนุษย์สมบัติ พระองค์ทรงกำจัดให้ห่างไกล ได้ทรงบำเพ็ญทานอันจะให้ได้ซึ่งพรหมยาน เหตุว่าทานธรรมจัดเป็นปัจจัยแก่พระโพธิญาณในอวสานแห่งวิบากผลจะยังบุคคลผู้เจ้าให้ล่วงพ้นจากอบายิกทุกข์แล้วจะได้เสวยสุขในสวรรค์และนิพพาน แผ่นดินก็จะทนทานมิได้ กึกก้องหวาดหวั่นไหว เสียงสาธุการนั้นสนั่นทั่วพิภพเมืองสวรรค์ทุกชั้นฟ้า เทพยดาอินทร์พรหมยมราชเวสสวรรณ และสันดุสิตบรรดาเทพยดาผู้ทรงฤทธิ์ออกสถิตอยู่ในประตูวิมานตบพระหัตถ์อยู่ฉาดฉานอนุโมทนาทานแห่งพระองค์ แล้วชวนกันสรรเสริญว่า พระจันทราชเจ้าเอ่ย ใครทำไม่ได้พระองค์ก็ทำได้ ใครให้ไม่ได้พระองค์ก็ให้ได้ง่าย ๆ ไม่เสียดายเหนียวแน่นเลย การพุทธวิสัยนี้ยากที่บุคคลจะทำได้ ถ้ามิใช่องค์อริยสัตบุรุษแล้วทำไม่ได้เลยเป็นอันขาด
ท้าวสักกเทวราชทำอนุโมทนาทานดังนี้แล้ว จึงถวายโอวาทว่า ข้าแต่มหาราช แต่นี้ต่อไปขอให้พระองค์จงอย่าได้ประมาท จงทรงบำเพ็ญพระกุศลมีทานเป็นต้นให้ยิ่งขึ้นไป ท้าวสหัสสนัยก็กลับยังนิวาสสถานของพระองค์ จำเดิมแต่นั้นมา พระมหาสัตว์เจ้ามิได้ประมาทในการบุญ ทรงเสวยราชสมบัติโดยสวัสดิภาพสิ้นพระชนมายุแล้ว ก็ได้เสด็จไปสู่กนกรัตนพิมานในชั้นดุสิตสวรรค์
ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏสมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ตโต จนฺทนราธิโป | ทานํ ทตฺวาน ขตฺติโย |
กายสฺส เภทา สปฺโ | สคฺคํ โส อุปปชฺชถ |
ความว่า จำเดิมแต่กาลนั้นมา จอมกษัตริย์ทรงพระนามว่าจันท ผู้เป็นอธิบดีของนรชน พระองค์ทรงรอบรู้ทั่วไป ได้ทรงบำเพ็ญทานยิ่งใหญ่ทุกวัน ๆ พระเจ้าจันทราชนั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ได้เสด็จยังกนกรัตนพิมานสวรรค์
—————————-
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้เปลื้องปลดสัตว์ให้พ้นทุกข์ในชาตินี้ก็หามิได้ ในกาลก่อนเมื่อตถาคตยังเป็นโพธิสัตว์ก็ได้ปล่อยสัตว์ให้พ้นทุกข์เป็นอันมากดังนี้ แล้วพระองค์ทรงประกาศอริยสัจสี่ประการ เมื่อจบอริยสัจลงพระภิกษุทั้งหลายมากด้วยกัน ก็ได้ตั้งอยู่ในมรรคผลมีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระบรมทศพลจึงประมวลซึ่งชาดกว่า นางเทพธิดามณีเมขลาในกาลนั้นกลับชาติมาคือ นางอุบลวัณณาเถรี เสนาคุตอำมาตย์ผู้มีศีลในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือ พระสาริบุตร มหิลราชกุมารในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือ พระราหุลพุทธชิโนรส พระนางสิมพลีราชเทวีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระยโสธรามารดาพระราหุล ราชมารดาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา ธนกะพาณิชผู้เป็นบิดาในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระสุทโธทนมหาราช พระราชาร้อยเอ็ดในชมพูทวีป ณ กาลนั้นกลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระเจ้าจันทราชในกาลครั้งนั้น ครั้นกลับชาติมาคือเราตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงด้วยประการดังนี้