สุโณหิ เม ตํ มหาราชาติ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ปฺาพลํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเสด็จอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภกำลังพระปัญญาของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า สุโณหิ เม ตํ มหาราช ดังนี้
วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายประชุมเจรจากันอยู่ในโรงธรรมสภาว่า น่าอัศจรรย์นัก สมเด็จพระบรมศาสดามีพระปัญญาใหญ่หลวงมีพระปัญญาแน่นหนา มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาเป็นที่รื่นเริง มีพระปัญญาสอดส่องตลอด มีพระปัญญาคมกล้า ควรบูชาสักการะของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ให้เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายประดิษฐานอยู่ในพระไตรสรณคมน์และศีลห้าแล้ว ให้ประดิษฐานอยู่ในโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตมรรค อรหันตผลดังนี้
สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นด้วยทิพพโสตญาณแล้ว จึงเสด็จออกจากคันธกุฎีด้วยพุทธลีลา เสด็จมายังโรงธรรมสภาด้วยพุทธสิริวิลาส ไม่มีสิ่งใดจะเปรียบปาน ประทับนั่งเหนือบัญญัติบวรพุทธอาสน์ ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายนั่งเจรจากันด้วยกถาอะไรหรือ ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าพระบาททั้งหลาย นั่งเจรจากันด้วยกถาสรรเสริญกำลังพระปรีชาญาณของพระองค์ว่า พระบรมศาสดามีพระปัญญาใหญ่หลวงแน่นหนาว่องไว เป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจของบริษัททั้งปวง พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้ศาสดาจะได้มีปัญญาใหญ่หลวง มีปัญญาแน่นหนา มีปัญญาว่องไว แต่ในกาลนี้เท่านั้นหามิได้ ถึงในกาลปางก่อน เราก็วิชัสนาแก้ปัญหาด้วยปัญญาของตนได้ ท้าวสักกเทวราชกับทั้งมนุษย์ทั้งหลายกระทำสักการบูชาเป็นการใหญ่ ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอน หวังจะให้ทรงแสดงเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด พระพุทธองค์จึงนำอดีตนิทานมาแสดงดังจะกล่าวต่อไปนี้ว่า
อตีเต ภิกฺขเว มิถิลายํ วิเทหรฏฺเ โกรพฺโย นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว มีบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระเจ้าโกรพยราช เสวยสิริราชสมบัติอยู่ในมิถิลานคร แว่นแคว้นวิเทพราฐ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามนางสุมนาราชเทวี พระเจ้าโกรพยราชนั้น พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมทรงบำเพ็ญทานรักษาศีลอยู่เป็นนิจ
ในกาลนั้นพระมหาสัตว์เจ้า จุติจากดาวดึงสเทวโลกลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางสุมนาราชเทวี บรรดาเทพบุตรพันหนึ่ง ก็จุติจากดาวดึงสเทวโลกลงมาบังเกิดในตระกูลอำมาตย์บ้างในตระกูลเศรษฐีบ้าง จำเดิมแต่พระโพธิสัตว์เจ้าถือปฏิสนธิแล้วพระชนกชนนีก็หาพระโรคาพาธมิได้ ครั้นถ้วนทศมาสท้าวสักกเทวราชก็เสด็จมาประดิษฐานอยู่ในอากาศ ใต้เศวตฉัตรในเวลาราตรี เมื่อจะถามปัญหากับพระเจ้าโกรพยราช จึงตรัสพระคาถาว่า
สุโณหิ เม ตํ มหาราช | เอโก ปฺโห อทุติโย |
ทุติโย จ อตฺถิ เจว | ตติโย น ภวิสฺสติ |
ตติโย อตฺถิ น จตุตฺโถ | จตุตโถ เจว นตฺถิ ปฺโห |
ปฺจโม อตฺถิ น ฉฏฺโ | ฉฏฺโ ปฺโห น ภวิสฺสติ |
สตฺตโม อตฺถิ ปฺโห จ | อฏฺโม น ภวิสฺสติ |
อฏฺโม อตฺถิ ปฺโห จ | นวโม น ภวิสฺสติ |
นวโม อตฺถิ ปฺโห จ | ทสโม น ภวิสฺสติ |
ทสโม อตฺถิ ปฺโห จ | เอกาทสโม น ภาวิสฺสติ |
สตฺตาวสฺเสว สมฺปตฺเต | สตฺตมาเส สตฺตทิวเส |
สตฺตทิวเส สมฺปตฺเต | สีฆํ เม ปุจฺฉิโต ปฺโห |
แปลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงทรงฟังปัญหาของข้าพระเจ้า ในปัญหานั้นว่า หนึ่งไม่มีสองได้แก่สิ่งอะไร สองไม่มีสามได้แก่สิ่งอะไร สามไม่มีสี่ได้แก่สิ่งอะไร สี่ไม่มีห้าได้แก่สิ่งอะไร ห้าไม่มีหกได้แก่สิ่งอะไร หกไม่มีเจ็ดได้แก่สิ่งอะไร เจ็ดไม่มีแปดได้แก่สิ่งอะไร แปดไม่มีเก้าได้แก่สิ่งอะไร เก้าไม่มีสิบได้แก่สิ่งอะไร สิบไม่มีสิบเอ็ดได้แก่สิ่งอะไร
ปัญหาที่ข้าพเจ้าถามนี้ พระองค์จงแก้โดยเร็วพลัน ในภายในกำหนดเจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวันดังนี้ แล้วตรัสต่อไปอีกว่า ถ้าพระองค์ทรงทราบจงกล่าวออกไป ถ้าไม่ทรงทราบปัญหาของข้าพเจ้า เทวทัณฑ์ก็จักบังเกิดมีแก่พระองค์ เทวทัณฑ์นี้จักตกลงแก่พระองค์ ๆ ก็จักสิ้นพระชนม์ ท้าวสักกเทวราชถามปัญหากับพระเจ้าโกรพยราชแล้ว ก็เสด็จไปยังทิพยสถานของตน
พระเจ้าโกรพยราช ได้สดับปัญหาที่ท้าวสักกเทวราชถามนั้น แล้วก็สะดุ้งหวาดพระทัยอยู่สิ้นราตรียังรุ่ง ครั้นตื่นบรรทมแล้วลุกขึ้นจากที่ไสยาสน์ประทับนั่ง ทรงดำริในพระทัยอยู่จนรุ่งสว่างก็ไม่ทรงทราบเนื้อความของปัญหานั้น ครั้นถึงเวลาเช้าจึงให้หาอำมาตย์ทั้งหลายมาตรัสถาม อำมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่ทราบ แล้วตรัสถามผู้รักษาเรือนคลังต่อไป ผู้รักษาเรือนคลังก็ไม่ทราบ จึงตรัสถามบรรดาผู้รักษาพระทวารพระราชมนเทียรต่อไป ชนทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลว่าไม่ทราบเกล้า พระเจ้าโกรพยราชได้ทรงฟังถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว ก็สะดุ้งพระทัยว่าความตายจะมีแก่พระองค์เป็นแน่ จึงตรัสเรียกพระราชเทวีมาตรัสถามว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตรอันเจริญ เทพยดามาถามปัญหาเรา เราหาทราบปัญหานั้นไม่ เจ้าจงพิจารณาปัญหานั้นดูเถิด
พระราชเทวีจึงกราบทูลว่า ขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้วข้าพระบาทหาทราบไม่ ข้าแต่เทวราชเจ้า ไฉนหนอมนุษย์ทั้งหลายจะวิสัชนาปัญหาของเทพยดาได้
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระราชเทวีแล้วก็ตกพระทัยสะดุ้งหวาดหวั่น กลับทรงพระพิโรธพิฆาตโทษพระราชเทวีถึงแก่จะฆ่าให้สิ้นชีพ จึงตรัสสั่งให้ภัณฑาคาริกอำมาตย์ จับพระราชเทวีไปประหารเสีย
พระราชเทวีจึงบอกให้ภัณฑาคาริกอำมาตย์ทราบความตามเหตุที่เป็นมาแล้ว ภัณฑาคาริกอำมาตย์ได้ฟังถ้อยคำของพระราชเทวีแล้ว จึงกราบทูลว่า เวลานี้สมควรแล้วที่ข้าพระบาทสมควรจะช่วยบำรุงพระราชเทวีไว้ก่อน ข้าแต่พระราชเทวีเจ้าผู้เจริญ ขอพระราชเทวีเจ้าอย่าเสวยความทุกข์เสียพระทัยเลย ถึงพระเจ้าโกรพยราชจะทรงพระพิโรธสักเท่าไร ข้าพระบาทก็ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ ว่าแล้วก็เชิญเสด็จพระราชเทวีไปด้วยความดีใจแล้วจึงรำพึงในใจว่า มนุษย์อื่นบางคนก็จะทราบปัญหาของเทพยดาได้ เราจะยังไม่ประหารชีวิตพระราชเทวีก่อน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวีผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้ไปขอพระราชเทวีเจ้าจงรักษาชีวิตไว้ก่อน
ในกาลนั้น พระราชเทวีเจ้าทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาสแล้วครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันใหม่ ประจวบวันพระจันทร์เสวยอุตตราสาธนักขัตฤกษ์ พระราชเทวีเจ้าก็ประสูติพระราชโอรส ภัณฑาคาริกอำมาตย์ก็รักษาพระราชเทวีไว้ พระราชกุมารประสูติจากครรภ์พระมารดาแล้ว ก็มีพระสรีรกายดังสีทอง ภัณฑาคาริกอำมาตย์ได้เห็นพระราชกุมารแล้ว ก็เกิดยินดีปรีดาช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระราชเทวีกับพระราชกุมารสืบมา พระราชกุมารกับเทวบุตรพันองค์ซึ่งจุติลงมาจากเทวโลก ครั้นพากันคลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็เจริญวัยขึ้นมา ส่วนพระราชเทวีก็เลี้ยงพระราชบุตรของพระองค์ เพราะอาศัยความเจริญนั้น จึงขนานนามพระราชบุตรว่าภัณฑาคาริกทุมาร
ครั้นพระราชกุมารมีชันษาได้เจ็ดปีกับเจ็ดเดือนกับเจ็ดวันแล้ว เวลานั้นเป็นเวลาราตรี ท้าวสักกเทวราชก็ลงมาจากเทวโลกมาประดิษฐาน ณ ภายใต้เศวตฉัตร ถามปัญหากับพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ปัญหาสิบข้อที่ข้าพเจ้าถามไว้นั้น พระองค์ทรงทราบอย่างไร พระองค์ยังไม่ได้กล่าวแก้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงทราบ ข้าพเจ้าจะประหารพระเศียรของพระองค์ด้วยตะบองเหล็กให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยง
พระเจ้าโกรพยราชสดับถ้อยคำของท้าวสักกเทวราชแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดพระทัย ตื่นพระบรรทมลุกจากพระราชอาสน์ ประทับนั่งรำพึงในพระทัยว่า ท้าวสักกเทวราชถามปัญหาไว้ แต่เราดำริตริตรองอยู่ถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวันแล้ว ยังไม่ทราบเนื้อความปัญหานั้น จึงตรัสว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราชผู้เจริญ ท่านได้ถามปัญหาข้าพเจ้าไว้นานแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ถามอำมาตย์ที่เป็นบัณฑิตทั้งปวง เขาก็พากันไม่ทราบทั้งนั้น บัดนี้ถึงวันใหม่ ข้าพเจ้าจักถามอำมาตย์แต่เช้าทีเดียว
ลำดับนั้นครั้นรุ่งแสงอรุโณทัย พระเจ้าโกรพยราชก็สรงน้ำชำระพระเศียรเกล้า ทรงพระภูษาผ้าทรงอันสะอาด เสวยพระกระยาหารแต่เช้า แล้วประดับพระองค์ด้วยสรรพอลังการ ประทับนั่ง ณ พระที่นั่งมหาวินิจฉัยแล้ว อำมาตย์ทั้งปวงก็พากันมาถวายบังคมพระเจ้าโกรพยราชแล้ว พากันนั่งอยู่ ณ พื้นใหญ่หน้าพระลานหลวง
พระเจ้าโกรพยราช เมื่อจะดำรัสถามภัณฑาคาริกอำมาตย์เป็นปฐมทีแรก จึงตรัสพระคาถาว่า
ภณฺฑาคาริก เม นาโถ | นคเร วิปุเล อสิ |
ตุวํ มหาปฺกุสเล | ตฺวา ชาโต กุสโล จ |
ปณฺฑิโต จ ภวิสฺสติ | รชฏํ วา สุวณฺณํ วา |
มุตฺตา เวฑุริยา มณิ | นาริโย สมลงฺกตา |
สตํ หตฺถี สตํ อสฺสา | สตํ รถา สตํ ควํ |
สุวณฺณสตํ สหสฺสํ | อฒเรชฺชํ ททามิ เต |
แปลว่า ดูกรภัณฑาคาริกอำมาตย์ ท่านเป็นที่พึ่งของเรา เพราะท่านรู้จักคนทั้งหลายที่มีปัญญาฉลาดมากมายใหญ่หลวงนัก อนึ่ง คนที่ฉลาดที่เป็นบัณฑิตจักเกิดมีขึ้นแล้วในพระนครอันไพศาล เราจักให้เงินให้ทองให้แก้วมุกดา ให้แก้วไพฑูรย์ ให้แก้วมณี เราจักให้นางนารีที่ตกแต่งเครื่องประดับพร้อม เราจักให้ช้างร้อยช้าง ม้าร้อยม้า รถร้อยรถ โคร้อยโค เราจักให้ทองคำแสนตำลึงแก่ท่าน จะให้ท่านเสวยราชสมบัติกึ่งหนึ่ง
ภัณฑาคาริกอำมาตย์ได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าโกรพยราชแล้ว จึงกราบทูลเป็นบาทพระคาถาว่า
เคหสฺมึ อิตฺถิยา มยฺหํปิ | เอกปุตฺตโก สุรูปตี |
ทิสฺวาน ชายปุตฺตฺจ | กุสโล โหติ ปณฺฑิโต |
นิกฺขมิ มาตุยา คพฺภา | นกฺขตฺเตสุ ทิวเสสุ |
ปสฺสํเยว ปณฺฑิโต จ | องฺคปจฺจงฺคสมฺปนฺโน |
รูปวณฺโณ สุลกฺขโณ |
แปลว่า บุตรของหญิงคนหนึ่ง มีรูปร่างงดงาม ข้าพระบาทได้เห็นบุตรนั้นตั้งแต่แรกคลอดมา เป็นเด็กฉลาดเป็นบัณฑิตคลอดจากครรภ์มารดาในวันนักขัตฤกษ์ ข้าพระบาทเห็นว่า เป็นบัณฑิตที่มีอวัยวะใหญ่น้อยบริบูรณ์ มีรูปและวรรณและลักษณะอันงาม มีอยู่ในเรือนของข้าพระบาท
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับคำภัณฑาคาริกอำมาตย์กราบทูลแล้ว ก็มีพระทัยยินดีปรีดา จึงดำรัสว่า ดูกรภัณฑาคาริกอำมาตย์ท่านจงไปตามบุตรของท่าน ว่าบุตรของท่านสามารถจะแก้ปัญหาของเทพยดาได้หรือไม่ เมื่อบุตรของท่านสามารถจะแก้ปัญหาของเทพยดาได้ ท่านจงบอกให้เราทราบ
ภัณฑาคาริกอำมาตย์ถวายบังคมลาพระเจ้าโกรพยราชแล้วรีบไปยังเรือน เมื่อจะถามบุตรที่รักจึงกล่าวคาถานี้
ตาต ปุตฺต อยํ ราชา | มหาทุกฺโข ภวิสฺสติ |
สกฺเกน ปุจฺฉิตํ ปฺหํ | โส น ชานาติ ราชินํ |
ปหิณิตฺวาน อาคโต | ตว ปุจฺฉิตุํ ตาต ปุตฺต |
ตฺวํ ตฺวา ตมฺหิ เม อาจิกฺข |
แปลว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร สมเด็จพระบรมกษัตริย์พระองค์นี้ เสวยความทุกข์เดือดร้อนพระทัยใหญ่หลวงนัก ด้วยท้าวสักกเทวราชถามปัญหาไว้ พระองค์หาทรงทราบปัญหานั้นไม่ จึงรับสั่งให้บิดามาถามพ่อ ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร พ่อทราบปัญหานั้น แล้วจงบอกบิดาให้ทราบ
พระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังถ้อยคำของภัณฑาคาริกอำมาตย์ ก็เกิดความโสมนัสแล้ว พิจารณาปัญหาที่ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะวิสัชนาปัญหาอันสุขุมละเอียด จึงกล่าวว่าข้าแต่บิดา ข้าพเจ้าทราบอยู่ ปัญหานี้สุขุมละเอียดนัก ภัณฑาคาริกอำมาตย์ได้ฟังถ้อยคำของกุมารแล้ว ก็มีจิตยินดีรับว่าสาธุดังนี้ ฝ่ายมารดาจึงพูดกับบุตรที่รักว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตรที่รัก เจ้ายังเด็กอยู่จะรู้จักอะไร ถ้าเจ้าไม่รู้พระเจ้าโกรพยราชก็จะทรงพระพิโรธ ภัยก็จะบังเกิดมีแก่เจ้า
พระโพธิสัตว์เจ้าจึงพูดกับมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าข้าพเจ้าทราบอยู่ ลำดับนั้นมารดาจึงพูดว่า ดูกรพ่อผู้เป็นที่รักเจ้าทราบอยู่ก็ดีแล้ว พระโพธิสัตว์จึงพูดกับภัณฑาคาริกอำมาตย์ว่า บิดาจงไปยังที่เฝ้าบรมกษัตริย์กราบทูลว่า ข้าแต่เทวราชเจ้า บุตรของข้าพระบาททราบปัญหาที่ท้าวสักกเทวราชถามนั้น
ภัณฑาคาริกอำมาตย์ได้ฟังถ้อยคำของปิยบุตรแล้วกล่าวว่า ดูกรพ่อปิยบุตร ถ้อยคำของพ่อดีนักหนา แล้วก็ไปยังที่เฝ้ากราบทูลพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุตรของข้าพระบาททราบปัญหาที่ท้าวสักกเทวราชถามนั้น
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของอำมาตย์แล้ว จึงตรัสว่า ดูกรอำมาตย์ บุตรของท่านทราบก็เป็นการดีทีเดียว ท่านจงไปอาบน้ำชำระสรีรกายบุตรของท่านให้สะอาดดีแล้ว ให้นุ่งห่มผ้าที่สะอาดแล้ว ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ให้บริโภคอาหารแล้วพามาเถิด
ภัณฑาคาริกมาตย์ ได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ถวายบังคมลารีบมาบอกกุมารว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร บิดาได้กราบทูลบรมกษัตริย์ตามถ้อยคำของพ่อแล้ว บัดนี้ท้าวเธอมีพระประสงค์จะทอดพระเนตรเจ้า จึงตรัสสั่งให้บิดาพาเจ้าไปเฝ้า พระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังถ้อยคำของภัณฑาคาริกมาตย์ ก็รับว่าสาธุดังนี้แล้ว จึงพูดกับภัณฑาคาริกมาตย์ว่า ข้าแต่บิดา บิดาจงไปกราบทูลพระเจ้าโกรพยราชว่า ขอพระองค์จะให้ปูลาดอาสนะไว้ในพระราชเรือนหลวง ประดับตกแต่งให้งดงามไปด้วยข้าวตอกดอกไม้ และของหอมเครื่องลูบทาและธูปเทียน เครื่องบูชาที่เป็นของมีสิริอันงามเลิศ แล้วดาดเพดานตั้งเศวตฉัตร และหม้อน้ำทองกระทำบนปราสาทให้เป็นที่สะอาดเตียน ลาดผ้าสีต่าง ๆ มีผ้าสีเขียวสีขาวสีแดงเป็นต้นแล้ว ให้ชาวพระนครประชุมกัน ให้ข้าราชการทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้นมาประชุมกันแล้ว ให้ประโคมด้วยเครื่องสรรพดนตรีทั้งปวง บรรดาชนหมู่น้อยหมู่ใหญ่มาประชุมพร้อมจะทำการมงคลแล้ว ให้มีผ้าและเครื่องประดับอย่างสะอาด ตั้งไว้บนหลังช้างอันเป็นราชยานกั้นด้วยเศวตฉัตรแล้ว ให้มีมหาชนแวดล้อมมาถึงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงจักไปเฝ้า
ภัณฑาคาริกมาตย์ได้ฟังถ้อยคำของปิยบุตรจึงรับว่าสาธุ แล้วก็ไปกราบทูลแก่พระเจ้าโกรพยราช พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของกุมารแล้ว ก็มีพระทัยปสันนาการเลื่อมใส จึงดำรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายให้กระทำตามคำสั่งของกุมารนั้น ชนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้น ก็กระทำตามพระราชดำรัสแล้ว ประดับช้าง ๆ หนึ่ง มีสายรัดพักทองมีเศวตฉัตรกางกั้น ตั้งไว้ซึ่งผ้าและเครื่องประดับอันสะอาดที่เป็นมงคลบนหลังช้างสำหรับจะไปรับกุมารสำเร็จแล้วก็ส่งไปให้กุมาร บรรดาชนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้น ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งปวง และเข้าไปถึงเรือนกุมารกระทำสักการบูชาแล้วกล่าวว่า ข้าแต่เจ้า พระเจ้าโกรพยราชตรัสใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายมาเชิญท่านไป แล้วพากันกระทำอัญชลีประณมกรนมัสการเชิญพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่เวลานี้สมควรจะไปแล้ว
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า จึงรับคำขอเชิญของชนทั้งหลายนั้นว่า สาธุแล้วก็สระสรงสรีรกายด้วยน้ำหอม แล้วตกแต่งประดับองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว ลงจากเรือนแวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ทั้งปวง มหาชนทั้งหลายก็ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกัน เมื่อจตุรงคเสนากองช้างกองม้ากองรถกองเดินเท้าทั้งปวงจะไปนั้น มหาชนทั้งปวงก็พากันไต่เต้าไปตามมรคาด้านข้างปุริมทิศ พระมหาสัตว์เจ้าก็ขึ้นหลังคชาธารไป
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
ตโต โส นิกฺขมิตฺวาน | วรเคหา สกา ฆรา |
อารุยฺหิตฺวา หตฺถิขนฺธํ | สุวณฺณปฏิมา วิย |
หตฺถิขนฺเธ ราชยาเน | อมจฺจคณปริวุตฺโต |
สมาคตา ชนปทา | มงฺคลวจนํ อิทํ |
สตฺตวสฺสิโก กุมาโร | ปณฺฑิโต อตฺถทสฺสิมา |
เจลุกฺเขโป ปวตฺติตฺถ | ราชบุตฺตสฺส ยสสฺสิโน |
ตโต กุมารสหสฺสา | สพฺพาลงฺการภูสิตา |
สมนฺตา ปริกรึสุ | ราชมคฺคํ ปฏิปชฺชิ |
หตฺถาโรหา อนิกตฺถา | รถิกา ปตฺติการกา |
สมนฺตา ปริกรึสุ | ราชมคฺคํ อโสภถ |
กโรนฺทิยา จมฺมธรา | อินทิหตฺถา สุวมฺมิกา |
ปุรโต ปฏิปชฺชึสุ | ราชมคฺโค อโสภถ |
ปฏิยตฺโต ราชมคฺโค | วิจิตฺโต ปุปฺผสณฺิโต |
ภณฺฑาคาริโก ปฏิปชฺชิ | ราชมคฺคํ อโสภถ |
เต ปาวึสุ ปุรํ รมฺมํ | พหุปาการโตรณํ |
อุเปตํ อนฺนปาเนหิ | นจฺจคีเตหิ จูภยํ |
เจลุกฺเขโป ปาตฺติตฺถ | สาธุการํ จ มงฺคลํ |
แปลว่า พระมหาสัตว์เจ้าออกจากเรือนขึ้นหลังช้าง เปรียบเหมือนรูปพระปฏิมาหล่อด้วยทองที่บุคคลตั้งไว้เหนือหลังพระยาคชาธาร อันเป็นราชยานฉะนั้น แวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์เป็นอันมาก ชาวชนบททั้งหลายบรรดาที่ได้ยินได้ฟังถ้อยคำอันเป็นมงคลว่า กุมารมีอายุเจ็ดขวบเป็นบัณฑิต คิดเห็นเนื้อความของปัญหาดังนี้ ก็พากันมาประชุมพร้อม ยกท่อนผ้าขึ้นเชิดชูแห่ห้อมล้อมมาให้เป็นเกียรติยศแก่พระลูกเจ้า ต่อนั้นไปกุมารพันคนก็แต่งตนด้วยเครื่องประดับทั้งปวงห้อมล้อมมา หมู่เสนาทั้งหลายบางพวกก็ขึ้นช้างขึ้นม้าขึ้นรถ บางพวกก็เดินเท้า และโยธาที่ใส่หมวกและโยธาที่สวมเกราะ โยธาที่ถือดาบโยธาที่หุ้มข่ายก็แห่แหนมาในเบื้องหน้า และไต่เต้าตามกันไปในท้องถนนหลวง ส่วนภัณฑาคาริกมาตย์ก็แต่งตนให้วิจิตรเดินโปรยข้าวตอกมาดูงามยิ่งนัก ชนทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปถึงป้อมเชิงปราการพระนครแล้ว ก็เลี้ยงดูกันอิ่มหนำสำราญ ด้วยขัชโภชนาหารมีข้าวและน้ำเป็นต้น และเล่นการฟ้อนรำขับร้องสนุกสนาน บางพวกก็ยกท่อนผ้าขึ้นโบกไปมากระทำสาธุการแสดงการมงคล
ส่วนพระเจ้าโกรพยราช ก็เสด็จประทับนั่งตั้งพระทัยคอยทอดพระเนตรหนทางที่พระมหาสัตว์จะเสด็จไปนั้น เปรียบเหมือนนักเลงสุราอันกระหายสุรา ตั้งใจคอยแต่ว่าจะดื่มอยู่ฉะนั้น พอได้สดับสำเนียงเสียงกึกก้อง มาได้เห็นกุมารงดงามนัก เมื่อจะตรัสสรรเสริญจึงตรัสพระคาถาว่า
กสฺเสตํ มุขมาภาติ | เหมํ วุตฺตตฺตมคฺคินา |
นิกฺขํว ชาตรูปสฺส | อุกฺกามุขํ ปหํสิตํ |
นิสินฺโน หตฺถิขนุเธว | ปฏิมา วิย โสภติ |
แปลว่า ดวงหน้าของใครนั้นดูสว่างรุ่งเรือง เหมือนอย่างทองที่นายช่างทองหล่อหลอมด้วยไฟฉะนั้น ร่าเริงอยู่เหมือนอย่างลิ่มทองชาตรูปที่นายช่างทองเทออกจากปากเบ้าฉะนั้น นั่งมาบนหลังช้างดูงามนัก เหมือนอย่างรูปพระปฏิมาฉะนั้น ครั้งนั้นพระมหาสัตว์เจ้าครั้นมาถึงพระทวารพระราชวัง ก็ลงจากหลังช้าง มหาชนทั้งปวงก็ประโคมดนตรีเสียงอึงมี่กึกก้องโกลาหล
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
ตฺจ ทิสฺวาน อายนฺตํ | กุมารํ ปิตุคิทฺธินํ |
โกรพฺโย จ มหามจฺโจ | ปจฺจุคฺคนฺตฺวาน อวนฺทิสุํ |
ปาสาทํ อภิรุยฺหิตฺวา | มหามจฺจปริวาริโต |
อุโภ หตฺเถ คเหตฺวาน | ปาวีสิ จ มหาฆเร |
โกรพฺโย จ กมาโร | นิสินฺโน โส จ เอกโต |
นิสินฺโน อาสเนเยว | สาราณิยํ กถํ วทา |
กจฺจิ อมชฺชโป ตาต | กจฺจิ เต สุรมปฺปิยํ |
กจฺจิ สจฺเจ จ ธมฺเม จ | ทาเน เต รมตี มโน |
แปลว่า พระเจ้าโกรพยราชกับทั้งมหาอำมาตย์ทั้งปวง ได้เห็นพระกุมารผู้กำดัดในบิดามาถึงแล้ว ก็พากันมาต้อนรับอภิวันทนาการ เชิญให้ขึ้นนั่งยังปราสาทแล้ว พระเจ้าโกรพยราชก็จูงพระหัตถ์พระกุมารพาเข้าไปในเรือนหลวง ให้ประทับร่วมพระราชอาสน์อันเดียวกัน แล้วตรัสเป็นทางสาราณิยกถา พระวาจาปราศรัยเป็นที่ชวนให้ทรงระลึกว่า ดูกรกุมาร เจ้าคงจะไม่เป็นคนดื่มน้ำเมา และการดื่มสุราก็คงจะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเจ้า และใจของเจ้าก็คงจะรื่นรมย์ยินดีอยู่ในสัจจะในธรรมและในการให้บริจาคกระมังหนา
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงกราบทูลพระราชบิดาเป็นบาทพระคาถาว่า
อมชฺชโป จาหํ ตาต | อโถ เม สุรมปฺปิยํ |
อโถ สจฺเจ จ ธมฺเม จ | ทาเน เม รมตี มโน |
แปลว่า ข้าแต่พระราชบิดา ข้าพระบาทหาได้เป็นคนดื่มน้ำเมาไม่ ประการหนึ่งการดื่มน้ำเมา ก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของข้าพระบาท ใจของข้าพระบาทรื่นรมย์ยินดีอยู่แต่ในสัจจะในธรรม และในทานการให้การบริจาค พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์เจ้าแล้วจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหากะเราถึงสิบข้อแล้วบังคับเราว่า ท่านจงแก้ปัญหาของเราให้จงได้ เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็จะเกิดความทุกข์ใหญ่หลวง ท้าวสักกเทวราชจะประหารศีรษะ ด้วยตะบองเหล็กให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ตั้งแต่ได้ถามปัญหาไว้ ล่วงมาถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน แล้วมาเตือนเราว่า ท่านจงแก้ปัญหาของเราให้ได้โดยเร็วพลันทีเดียวดังนี้
พระมหาสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ปัญหาของเทพยดาสถิตหยุดอยู่ในเบื้องต่ำก็เพียงอวิจีมหานรก สถิตหยุดอยู่ในเบื้องบนก็เพียงอกนิฏฐภพพรหมโลกเท่านั้น ข้าพระบาทจะแก้ปัญหาถวาย พระมหาสัตว์เจ้าสำแดงพระปรีชาญาณมีประการต่างๆ เปรียบเหมือนโปรยทรายทองลงมาจากเชิงเขาสิเนรุราช และเปรียบเหมือนพระจันทร์เต็มดวงในพื้นท้องฟ้าอากาศฉะนั้น เทพยดาและมนุษย์ และนางสิวิกัญญาและพลนิกายทั้งปวง บรรดาที่สถิตอยู่ในปราสาทของพระเจ้าโกรพยราชก็เกิดอัศจรรย์ใจ
พระมหาสัตว์ เมื่อจะประกาศอานุภาพพระปรีชาญาณของพระองค์ จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
โภนฺโต โภนฺโต เทวสงฺฆา | สุณนฺตุ วจนํ มม |
เทวตา ปุจฺฉิตํ ปฺหํ | ราชา อตฺถํ น ปสฺสติ |
สมาคตา เทวสงฺฆา | โมทิตา จ มหาชนา |
โกรพฺยฺจ อมจฺเจ จ | เสนาปติ จ อาทโย |
ตสฺมึ ปฺเห วิสชฺเชนฺเต | สาธุการา ภวนฺติ เม |
แปลว่า ขอเชิญเทพนิกรเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า เทพยดาถามปัญหา บรมกษัตริย์ไม่ทรงทราบเนื้อความของปัญหานั้น ขอเทพนิกรเจ้ากับทั้งมหาชนทั้งปวง จงเชิญมาประชุมกันโมทนารื่นเริงบันเทิงใจ เมื่อข้าพเจ้าวิสัชนาปัญหานั้นแล้ว บรรดามหาชนทั้งปวงมีพระเจ้าโกรพยราชและอำมาตย์และเสนาบดีเป็นต้น ก็จะพากันซ้องสาธุการแก่ข้าพเจ้า
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า กราบทูลถามพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ปัญหาที่ท้าวสักกเทวราชถามนั้นเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์เจ้าแล้วจึงตรัสกับพระกุมารว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามว่า หนึ่งไม่มีสอง ได้แก่สิ่งอะไร
พระมหาสัตว์เจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงสดับถ้อยคำของข้าพระบาท บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ สิ่งใดซึ่งจะเสมอเหมือนด้วยภูเขาสิเนรุราชไม่มีเลย ซึ่งปัญหาว่ามีแต่สิ่งหนึ่งไม่มีสองนั้น ได้แก่ภูเขาสิเนรุราช พระเจ้าข้า
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทววราช ได้สดับพระมหาสัตว์เจ้าวิสัชนาปัญหาแล้ว ก็มีพระทัยโสมนัสเกิดอัศจรรย์จิต เปลื้องพระภูษาทรงและเครื่องประดับองค์ออกกระทำสักการะแล้ว จับรัตนจังโกฏก์ (คนโทแก้ว) อันเต็มไปด้วยน้ำหอมโปรยลงมา ใช่แต่เท่านั้น เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวงกับทั้งพระเจ้าโกรพยราช ได้สดับพระกุมารวิสัชนาปัญหาแล้วก็มีจิตโสมนัส ทั้งได้เห็นความอัศจรรย์อันเกิดมีแล้วก็เปลื้องผ้าและเครื่องประดับถวายเป็นธรรมบูชาแก่พระมหาสัตว์เจ้า
บรรดามหาชนทั้งหลายมีเสนาบดีและอำมาตย์เป็นต้น และนางสิวิกัญญาทั้งหลายกระทำสาธุการแล้ว จึงกล่าวสรรเสริญว่า ข้าแต่เจ้า ท่านก็ยังเด็กเล็กอยู่ มีอายุได้เจ็ดขวบเท่านั้นแต่มีปัญญามาก
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า จึงกราบทูลถามพระเจ้าโกรพยราชว่า ปัญหาอะไรยังมีอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่า สองไม่มีสาม ได้แก่สิ่งอะไร
พระมหาสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงฟังถ้อยคำของข้าพระบาท สิ่งทั้งหลายที่มีแต่สองนั้นคือพระจันทร์และพระอาทิตย์ สิ่งอื่นที่จะเสมอเหมือนด้วยพระจันทร์พระอาทิตย์ไม่มีแล้ว ซึ่งปัญหาว่าสองไม่มีสามนั้น ได้แก่พระจันทร์และพระอาทิตย์ พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราชได้สดับถ้อยคำของพระกุมารแล้ว ก็แหวกกัมพูฉัตร์ออกสำแดงกายให้ปรากฏกึ่งพระองค์กล่าวว่า ท่านแก้ปัญหาของเราถูกต้องแล้ว ก็กระทำสาธุการ ด้วยสำเนียงอันไพเราะ แล้วก็อันตรธานหายไป
บรรดามหาชนทั้งปวงก็กระทำอัญชลีนมัสการกล่าวถ้อยคำเป็นมงคลแก่กุมารแล้ว ก็ประโคมเครื่องประโคมต่าง ๆ เสียงเอิกเกริกกึกก้องไปในปราสาทของพระเจ้าโกรพยราช
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงกราบทูลถามซึ่งปัญหาเทพยดาต่อไปอีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ปัญหาอะไรยังมีอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสกับกุมารว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่า สามไม่มีสี่ ได้แก่สิ่งอะไร
พระมหาสัตว์เจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงสดับปัญหาที่ข้าพระบาทจะวิสัชนา ณ กาลบัดนี้ บรรดาสิ่งชื่อว่าสามมีอยู่ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ถึ่งอื่นที่จะเสมอเหมือนด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ไม่มีแล้ว ซึ่งปัญหาว่าสามไม่มีสี่นั้น ได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราช ได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์เจ้าแล้วก็บูชาพระมหาสัตว์เจ้าด้วยดอกไม้ของหอมและธูปเทียนเป็นของทิพย์แล้ว ก็อันตรธานหายไป
พระเจ้าโกรพยราชได้เห็นอัศจรรย์ฉะนั้นแล้ว ก็เกิดปิติโสมนัสแล้วบูชาพระมหาสัตว์ด้วยสรรพสิ่งทั้งปวง มีทองและเงินและแก้วมณีแก้วมุกดาเป็นต้น พวกอำมาตย์และเสนาบดีและนางกัญญาทั้งหลายก็บูชาพระมหาสัตว์ มหาชนทั้งหลายก็เริ่มประโคมเครื่องดนตรีเสียงเอิกเกริกโกลาหล
พระโพธิสัตว์เจ้าจึงทูลถามพระเจ้าโกรพยราชต่อไปอีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพยดาถามปัญหาอะไรต่อไปอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่า สี่ไม่มีห้า ได้แก่สิ่งอะไร ดังนี้
พระมหาสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงฟังถ้อยคำของข้าพระบาท ทวีปทั้งหลายซึ่งจะเสมอเหมือนด้วยทวีปทั้งสี่ คือ ชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ไม่มีแล้ว ซึ่งปัญหาว่าสี่ไม่มีห้านั้น ได้แก่ทวีปทั้งสี่ พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราชได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์เจ้าด้วยทิพโสตแล้ว ก็บังเกิดโสมนัสจึงบันดาลให้ฝนรัตนะเจ็ดประการตกลงมาบูชาพระมหาสัตว์เจ้า เทพยดาทั้งหลายก็ซ้องสาธุการ กระทำธรรมบูชาแก่พระมหาสัตว์เจ้า
พระเจ้าโกรพยราชได้เห็นอัศจรรย์นั้นแล้ว ก็กระทำสาธุการเพราะเหตุนั้น โบราณาจารย์เจ้าจึงได้กล่าวประพันธ์เป็นคาถาไว้ว่า
ตทาสิ ยํ ภึสนกํ | ตทาสิ โลมหํสนํ |
ราชา ปฺชลึ กโต จ | อิทํ วจนมพฺรวิ |
อติปฺโ จ ตฺวํ เทว | ปฺหํ สุกถิโต อิทํ |
แปลว่า ความสะทกสะท้านสะดุ้งหวาดเกิดโลมชาติชูชันสยดสยองได้เกิดมีแล้วในครั้งนั้น พระเจ้าโกรพยราชได้กระทำอัญชลีกรนมัสการตรัสสุนทรพจน์นี้ว่า เจ้ามีปัญญาเหลือล้นได้แก้ปัญหาของเทพยดาได้โดยสะดวกดังนี้แล้ว
ตรัสต่อไปอีกว่า ดูกรกุมาร เจ้าก็ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ แต่มีปัญญามาก เป็นผู้ฉลาดอย่างประเสริฐ เราให้โคมหิงสาแก่เจ้าอย่างละร้อย ให้ม้าให้ช้างอย่างละร้อย ให้ทองคำแก่เจ้าพันลิ่ม เพื่อให้เป็นธรรมบูชาแก่เจ้า
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า จึงกราบทูลพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ปัญหาอะไรที่เทพยดาถามยังมีอยู่ ขอพระองค์จงตรัสต่อไป
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์เจ้าแล้วจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหากับเราว่า ห้าไม่มีหกได้แก่สิ่งอะไร
พระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว มีความประสงค์จะอธิบายปัญหานั้นให้พิสดารจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ปัญหาคำรบห้าที่เทพยดาถามนั้นได้แก่ศีลมีองค์ห้า ไม่มีสิ่งอะไรในโลกนี้จะเปรียบปานชนทั้งปวงมารักษาศีลมีองค์ห้าประการไว้ ด้วยอานุภาพของศีลห้านั้น ครั้นจุติจากโลกมนุษย์โลกนี้ไปแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพยดาในดาวดึงสพิภพ ซึ่งปัญหาเทพยดาว่าห้าไม่มีหกนั้น ได้แก่ศีลมีองค์ห้าประการพระพุทธเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราช ได้สดับปัญหาพยากรณ์นั้นแล้ว ก็บังเกิดโสมนัสโปรยของหอมและเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ ลงมากระทำสักการบูชาแก่พระมหาสัตว์เจ้า
ชนทั้งปวงก็ประณมกรขึ้นนมัสการกระทำซ้องสาธุการ พระเจ้าโกรพยราชได้เห็นอัศจรรย์นั้นแล้ว ก็มีพระทัยยินดีจึงพระราชทานทาสีทาสาอย่างละร้อย กับทองคำพันลิ่มแก่พระมหาสัตว์เจ้า อำมาตย์ทั้งปวงก็ประโคมดนตรีเสียงกึกก้องไปในปราสาท
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงกราบทูลถามพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพยดาถามปัญหาอะไรต่อไปอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามว่า หกไม่มีเจ็ดได้แก่สิ่งอะไร
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ทราบเนื้อความของปัญหาปรากฏชัดจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงสดับปัญหาพยากรณ์ของข้าพระบาท ปัญหาว่ามีแต่หกไม่มีเจ็ด ได้แก่กามาพจรเทวโลกทั้งหกชั้น คือชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงสา ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัดดี พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราชได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์เจ้า ก็บังเกิดปีติโสมนัสรื่นเริงบันเทิงพระทัย ทรงจับสุวรรณจังโกฏก์(คนโทน้ำทอง) อันประดับด้วยรัตนะเจ็ดประการสาดไปบูชา ณ บาทมูลพระมหาสัตว์เจ้า
บรรดากษัตริย์ทั้งปวง มีพระเจ้าโกรพยราชน์ในประธานก็บูชาด้วยรัตนะมีราคาถึงแสนตำลึง
พระโพธิสัตว์เจ้า จึงกราบทูลถามปัญหาต่อไปอีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพยดาถามปัญหาว่าอะไรต่อไปอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่า เจ็ดไม่มีแปด ได้แก่สิ่งอะไร
พระมหาสัตว์เจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงสดับ ภูเขาที่วงรอบแวดล้อมเขาพระเมรุอยู่เจ็ดชั้น ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน ซึ่งปัญหาว่าเจ็ดไม่มีแปดนั้น ได้แก่เขาสัตตบริภัณฑ์ ซี่งวงรอบแวดล้อมเขาพระเมรุอยู่เจ็ดชั้นนั้น พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราชก็กระทำสาธุการโปรยพวงมาลัยทองเจ็ดพันพวงลงมา ณ เบื้องหน้าพระมหาสัตว์เจ้า ใช่แต่เท่านั้น เทพยดาทั้งหลายและพระเจ้าโกรพยราช กับทั้งอำมาตย์และเสนาบดีและราชกัญญา และชาวในพระราชวังทั้งปวง ก็บูชาพระมหาสัตว์เจ้าแล้ว ประโคมดนตรีกึกก้องโกลาหล
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า จึงกราบทูลถามพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพยดาถามปัญหาอะไรต่อไปอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงดำรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่า แปดไม่มีเก้า ได้แก่สิ่งละไร
พระมหาสัตว์เจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ศีลมีองค์แปดประการ ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน ซึ่งปัญหาว่าแปดไม่มีเก้านั้น ได้แก่ศีลแปดประการ พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราชได้สดับปัญหาพยากรณ์นั้นแล้ว ก็บันดาลให้ฝนลูกเห็บตกลงมาเป็นดอกไม้ทิพย์บูชาพระมหาสัตว์เจ้า
บรรดาเทพคณานิกรทั้งปวงก็นำเอาผ้าและรัตนะทั้งหลายมาบูชา พระเจ้าโกรพยราชได้เห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว ก็มีพระทัยโสมนัสพระราชทานเครื่องประดับและเงินทองเป็นอันมากแก่พระมหาสัตว์เจ้า กษัตริย์ทั้งปวงและชนทั้งหลายมีอำมาตย์และเสนาบดีเป็นต้น ก็นำเอาทองและเงินแล้วแก้วมุกดาแก้วไพฑูริย์ และเครื่องประดับมาบูชาพระมหาสัตว์เจ้า พระเจ้าโกรพยราชจึงโปรดให้ขนทั้งหลายยกเอาสรรพดนตรีและมหรธึกและกลองใหญ่น้อยและพิณมาประโคมพระมหาสัตว์เจ้า ชนทั้งหลายก็กระทำสาธุการเอิกเกริกลือลั่นแซ่สนั่นไปในสถานที่นั้น
พระโพธิสัตว์เจ้าจึงทูลถามพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพยดาถามปัญหาว่าอะไรต่อไปอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่าเก้าไม่มีสิบนั้น ได้แก่สิ่งอะไร ดังนี้
พระมหาสัตว์เจ้ามีความประสงค์จะประกาศเนื้อความของปัญหานั้นให้ปรากฏ จึงกราบทูลว่า สภาวธรรมอันใดในโลกนี้ซึ่งจะเสมอเหมือนด้วยพระโลกุตตรธรรมเก้าประการไม่มีแล้ว ซึ่งปัญหาว่าเก้าไม่มีสิบนั้น ได้แก่พระนพโลกุตตรธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้วไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะเสมอเหมือน พระเจ้าข้า
ในกาลนั้น ท้าวสักกเทวราช มีพระทัยยินดีด้วยปัญหาพยากรณ์นั้น จึงบันดาลให้ฝนตกเป็นรัตนะเจ็ดประการลงมาบูชาพระมหาสัตว์เจ้าแล้วก็กระทำซ้องสาธุการ
พระเจ้าโกรพยราชได้เห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว ก็มีพระทัยยินดี พระราชทานราชสมบัติกึ่งหนึ่งแถ่พระมหาสัตว์เจ้า
บรรดาชนทั้งหลายก็เปลื้องเครื่องอาภรณ์ อันประดับไปด้วยแก้วไพฑูริย์แก้วมณีแก้วมุกดาออกกระทำการสาธุการแก่พระโพธิสัตว์เจ้า
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้า จึงกราบทูลถามพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพยดาถามปัญหาอะไรต่อไปอีก พระเจ้าข้า
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระโพธิสัตว์เจ้าแล้วจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามปัญหาว่าสิบไม่มีสิบเอ็ดได้แก่สิ่งอะไร
พระมหาสัตว์เจ้าได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว เมื่อจะแสดงปัญหานั้นโดยประการต่าง ๆ เพื่อจะประกาศปัญญาอันวิเศษจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงสดับถ้อยคำของข้าพระบาทในปัญหาทั้งหลายเหล่านั้น รวมด้วยกันถึงสิบปัญหา ศีลสิบประการไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะเสมอเหมือน ซึ่งปัญหาว่าสิบไม่มีสิบเอ็ดนั้น ได้แก่ศีลสิบประการ พระเจ้าข้า
ท้าวสักกเทวราชมีพระทัยยินดีด้วยปัญหาพยากรณ์ข้อสิบแล้ว ก็บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นรัตนะเจ็ดประการ เป็นเครื่องประดับทิพย์เป็นตาข่ายแก้วมุกดา ประดุจมหาเมฆให้ฝนตกลงมาฉะนั้น กระทำการบูชาธรรมของพระมหาสัตว์เจ้า ใช่แต่ท้าวสักกเทวราชองค์เดียวเท่านั้น บรรดาเทพยดาทั้งหลาย เหล่าภูมเทพยดา รุกขเทพยดา อากาศเทพยดา และเทพยดาที่บังเกิดในห้องจักรวาฬทั้งสิ้น มีฉันทอัธยาศัยเป็นอันหนึ่งอันเดียวพร้อมเพรียงกัน ถวายทิพยสำเนียงเสียงแซ่ซ้องสาธุการ
พระเจ้าโกรพยราชได้เห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว ก็มีพระทัยยินดีพระราชทานราชสมบัติทั้งสิ้นบูชาธรรมพระโพธิสัตว์เจ้า
บรรดาเสนาอำมาตย์และนางสิวิกัญญาและพวกพลนิกายทั้งปวง ก็ถวายเครื่องประดับและทองเงินแก้วมุกดาแก้วมณี และผ้านุ่งหุ่มมีประการต่างๆ แล้วก็ยกท่อนผ้าขึ้นโบกไปมาเสียงกึกก้องไปด้วยเสียงดนตรี ตะโพนบัณเฑาะว์กลองเล็กใหญ่ เอิกเกริกโกลาหล
ในขณะนั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้น ก็บูชาด้วยดอกไม้มีประการต่าง ๆ แล้วถวายสาธุการพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว กระทำอัญชลีกรนมัสการร้องถวายชัยมงคลกึกก้องไปทั้งสิ้น ประดุจดังมหาปฐพีจะพังทำลายฉะนั้น
พระมหาสัตว์เจ้าวิสัชนาปัญหาจบลงครั้งไร ท้าวสหัสนัยเทวราชก็ให้สาธุการทุกครั้ง แต่หาแสดงตนให้เห็นปรากฏไม่
พระมหาสัตว์เมื่อจะถามท้าวสักกเทวราชจึงตรัสคาถาว่า
เทวตา นุสิ คนฺธพฺโพ อาทู สกฺโก ปุรินฺทโท
ตสฺมึ ปฺเห วิสชฺชิเต สาธุการํ ปุนปฺปุนํ
แปลว่า ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือว่าเป็นท้าวปุรินททสักกเทวราช ครั้นเราวิสัชนาปัญหานั้น ๆ จบแล้วก็ได้ยินแต่เสียงซ้องสาธุการทุกครั้ง
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะให้พระมหาสัตว์ทราบพระองค์ว่าเป็นท้าวสักกเทวราช จึงตรัสพระคาถาว่า
สกฺโกหมสฺมิ เทวินฺโท | อาคโต ตว สนฺติเก |
ปฺหํ ปุฏฺโ จ โกรพฺโย | ราชา อตฺถํ น ปสฺสติ |
ตฺวเมจ ปฺเห พฺยากาสิ | สาธุการํ ททามิ เต |
สาธุ สาธุ มหาวีร | สมฺปนฺนํ เต มโนรถํ |
อจิเรเนว ตฺวํ กาเลน | พุทฺโธ โลเก ภวิสฺสติ |
วเร วรสฺสุ กุมาร | วเร จตุ ททามิ เต |
แปลว่า เราเป็นเทวินทรสักกเทวราช มาแล้วยังสำนักท่าน เราได้ถามปัญหาไว้ พระเจ้าโกรพยราชไม่ทรงทราบเนื้อความของปัญหานั้น ส่วนท่านพยากรณ์ปัญหานั้นได้ เราจึงได้สาธุการแก่ท่าน ดีแล้ว ดีแล้ว ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จดังความปรารถนาเถิด ไม่สู้ช้านานนัก ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ดูกรกุมาร ท่านจงปรารถนาพรเถิด เราจะให้พรสี่ประการแก่ท่าน
เมื่อท้าวสักกเทวราชตรัสอยู่ จึงบันดาลรัศมีให้รุ่งเรืองด้วยอัตตภาพอันเป็นทิพย์ประดิษฐานอยู่บนอากาศ ประดุจดังพระอาทิตย์มีรัศมีอันอ่อนแจ่มจ้าอยู่บนอากาศฉะนั้น
ภัณฑาคาริกกุมารได้สดับแล้ว เมื่อจะรับพรจึงตรัสคาถาว่า
วรฺเจ เม อโท สกฺก | สพฺพภูตานมิสฺสร |
ปิตา มํ อนุโมเทยฺย | อิโต ปตฺตํ สกํ ฆรํ |
อาสเนน นิมนฺเตยฺย | ปเมตํ วรํ วเร |
ปุริสวธํ น โรเจยฺยํ | อปิ กิพฺพิสการกํ |
วชฺฌํ วธมฺหา โมเจยฺยํ | ทุติเยตํ วรํ วเร |
เย วุฑฺฒา เย จ ทหรา | เย จ มชฺฌิมโปริสา |
มเมว อุปชีเวยฺยุํ | ตติเยตํ วรํ วเร |
ปรทารํ น คจฺเฉยฺยํ | สทารปสุโต สิยํ |
ถีนํ วสํ น คจฺเฉยฺยํ | อกตํ สพฺพปาณินํ |
อหเมว สกฺก ชาเยถ | ราชา โส จ ทีฆายุโก |
ธมฺเมน ชิเน ปวึ | อธมฺโม ธมฺมรกฺขิโต |
ททโต เม น ขีเยตฺถ | ทตฺวา นานุตปฺเปยฺยาหํ |
ททํ จิตฺตํ ปสาเทยฺยํ | จตุตฺเถตํ วรํ วเร |
แปลว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าภูตสัตว์ทั้งปวง ถ้าแลว่าพระองค์จะทรงพระเมตตาประทานพรให้แก่ข้า ขอจงให้พระราชบิดามีพระทัยโสมนัส จงเสด็จออกมาเชิญซึ่งข้าด้วยราชสมบัติโดยใจหวัง พระพรอันนี้เป็นปฐม ขอจงสำเร็จสมเจตนาแห่งข้า อนึ่งขออย่าให้ข้านี้ชอบใจที่จะเบียดเบียนฆ่าฟันซึ่งบุรุษอื่น และขอให้องอาจที่จะปล่อยนักโทษอันกระทำผิดให้พ้นภัย พระพรอันนี้เป็นคำรบสอง จงสำเร็จดังใจข้าปรารถนา อนึ่งบรรดาประชาชนอย่าได้เลือกหน้าทั้งหนุ่มชราและปานกลาง จงพากันมาใกล้อาศัยซึ่งข้าแล้วและเลี้ยงชีวิตเป็นนิจกาล พระพรอันนี้เป็นคำรบสามจงสำเร็จความปรารถนา อนึ่งขออย่าให้ข้านี้ยินดีคบหาภรรยาท่านผู้อื่น ให้มีน้ำจิตชมชื่นอยู่แต่ภรรยาแห่งอาตมาและอย่าให้มีจิตระคนลุอำนาจแห่งสตรี และอย่ามีจิตชื่นชมยินดีในที่จะกระทำโทษทุกข์ภัยต่างๆ ซึ่งไม่ควรจะกระทำ ให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สรรพสัตว์ทั้งสิ้น และขอให้ข้าได้เป็นบรมกษัตริย์มีพระชนมายุยืนนาน ชำนะทั่วทั้งปฐพีมณฑลโดยทางธรรม บรรดาคนที่เป็นอธรรมทุจริต ขอให้บันดาลดลจิตคิดเป็นผู้รักษาธรรม อนึ่งเมื่อข้าพเจ้าจะทำทาน ขอไทยธรรมวัตถุทานนั้น อย่าได้รู้บกพร่องหมดสิ้นไปให้ทานแล้วอย่าให้สอดแคล้วเมื่อภายหลัง และเมื่อกำลังให้ทานอยู่ก็ให้มีจิตประสาทเลื่อมใส พระพรอันนี้ไซร้เป็นคำรบสี่ประการขอท้าวมัฆวานจงประสิทธิ์ให้แก่ข้า
ท้าวมัฆวานเทวราช ได้สดับถ้อยคำของพระโพธิสัตว์เจ้าแล้วจึงตรัสว่า ดูกรกุมาร แต่นี้ไปไม่ช้า พระราชบิดาก็จะราชาภิเษกท่านให้เป็นบรมกษัตริย์ ท้าวสุชัมบดีมัฆวานเทวราชตรัสดังนั้นแล้วก็ประสิทธิพรให้แก่ราชกุมารแล้ว ก็เสด็จกลับยังสัคคกายทิพยสถานเทวโลก
ในลำดับนั้น พระเจ้าโกรพยราชจึงรับสั่งให้สระสรงพระราชกุมารแล้ว ให้เสวยพระกระยาหารอันเอมโอชแล้ว ตกแต่งพระราชกุมารด้วยเครื่องประดับมีประการต่างๆ แล้ว ให้ประทับนั่งเหนือพระเพลาตรัสปราศรัยไต่ถามต่อไป
สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
ตโต โกรพฺยราชา | สกปุตฺตํ อชานยิ |
ภณฺฑาคาริกํ ปุจฺฉิตฺวาน | ชานาสิ ปุตฺตกํ อหุ |
ราชา จุมฺพิตโก สีสํ | กุมารํ ปิตุคิทฺธินํ |
ราชา วิย ปุตฺตํ ทิสฺวา | มฺุจึสุ อสฺสุนิ ตทา |
สีสํ นฺหาตํ สุจิวตฺถํ | สพฺพาลงฺการภูสิตํ |
ราชา องฺเก กริตฺวาน | ปิตา ปุตฺตํ ปริปุจฺฉถ |
กุณฺฑลํ ฆุสิตํ มาลํ | สพฺพาลงฺการภูสิตํ |
ราชา องฺเก กริตฺวาน | อิทํ วจนมพฺรวิ |
หา ตาต ปิยปุตฺตก | ตฺจ ปุตฺตํ น ชานามิ |
ตว มาตา กุหึ าเน | ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต |
แปลว่า ในกาลนั้นพระเจ้าโกรพยราช ยังหาได้ทรงทราบว่าพระราชกุมารเป็นพระโอรสของพระองค์ไม่ ครั้นตรัสถามภัณฑาคาริกอำมาตย์แล้ว จึงทรงทราบว่าพระราชกุมารเป็นโอรสของพระองค์ แล้วทรงจุมพิตพระเศียรเกล้าพระราชกุมารได้เห็นพระราชกุมารละม้ายคล้ายคลึงกับพระองค์ ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไห้น้ำพระเนตรไหลกระเซ็นต้องพระเศียร กับทั้งพระภูษาทรงและเครื่องประดับองค์พระราชกุมาร แล้วอุ้มพระราชกุมารขึ้นบนพระเพลาดำรัสปลอบถามว่า ดูกรพ่อผู้ลูกรัก บิดาไม่ทราบว่าพ่อเป็นบุตร มารดาของพ่ออยู่ที่ไหนจงบอกบิดาให้ทราบ
พระราชกุมารจึงกราบทูลว่า มารดาของข้าพระบาทอยู่ในเรือนของภัณฑาคาริกอำมาตย์ ๆ พิทักษ์รักษาไว้ได้เจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวันแล้ว พระราชบิดาเป็นอิสราธิบดีย่อมทรงทราบ แต่ไม่ทรงทราบว่าว่าข้าพระบาทเป็นพระราชบุตรของพระองค์ ส่วนข้าพระบาทเป็นพระราชบุตรของพระองค์ทราบเกล้าอยู่ว่า พระองค์เป็นบรมกษัตริย์
พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระราชกุมารแล้วจึงตรัสให้เจ้าพนักงานไปป่าวร้องเสนาบดีทั้งปวง ให้ตระเตรียมจตุรงคเสนาพลช้างพลม้าพลรถพลเดินเท้า ให้เข้ามาประชุมกันในพระราชวังแล้ว ให้จัดนางราชกัญญาพันนาง ให้ประดับตกแต่งกายให้งดงาม ไปรับพระราชเทวีเข้ามายังพระราชวัง
เจ้าพนักงานทั้งปวง ก็กระทำตามพระราชดำรัส นำพลจตุรงคเสนาไปโดยสวัสดี ครั้นถึงเรือนภัณฑาคาริกอำมาตย์แล้ว ก็เข้าไปยังเรือนถวายบังคมพระราชเทวีเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บรมกษัตริย์ทรงทราบว่า พระราชกุมารเป็นพระราชบุตรของพระองค์แล้ว ตรัสปราศรัยเป็นที่รักใคร่ซึ่งกันและกัน บัดนี้บรมกษัตริย์มีพระประสงค์จะประสบพระพักตร์พระแม่เจ้า จึงโปรดเกล้าให้ข้าพระบาททั้งปวงมารับพระแม่เจ้า
ฝ่ายพระนางสุมนาราชเทวี ได้สดับถ้อยคำของเจ้าพนักงานเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงดำริในพระทัยว่า เราจะได้เห็นพระพักตร์พระราชสามีแล้ว ก็สรงน้ำชำระพระเศียรเกล้าแล้ว ทรงพระภูษาอันสะอาด ทรงประดับตกแต่งพระองค์เสด็จขึ้นประทับเหนือหลังคชาธาร แวดล้อมมาด้วยนางราชกัญญาทั้งปวง
ครั้งนั้นพระเจ้าโกรพยราช คอยทอดพระเนตรวิถีทางที่พระราชเทวีเจ้าจะเสด็จมา ครั้นได้เห็นพระราชเทวีเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว ก็มีพระทัยโสมนัส เพราะเหตุจะได้สัมผัสถูกต้องพระสรีรกายพระราชเทวีซึ่งเป็นสตรีรัตน์ จึงเสด็จลุกขึ้นจากราชอาสน์เสด็จไปต้อนรับพระราชเทวีเจ้า เมื่อพระราชเทวีเจ้าเสด็จลงจากหลังคชาธารอันเป็นราชยานแล้ว ก็ทรงจับพระกรพระราชเทวีเจ้าด้วยพระหัตถ์เบื้องขวาพากันเสด็จมา
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
ราชา เทวี คเหตฺวาน | อุโภ จ เต เอกฏฺาเน นิสีทึสุ |
ราชา ตํ เอตทพฺรวิ | ตุวํ อหํ กุทฺโธ อมฺม |
ฆาเฏสิ ตํ อทูสกํ | อิทานิ ลทฺธชีวิตํ |
ตุวํ ปิยตรํ มยฺหํ | ภณฺฑาคารํ จ ตํ รกฺขํ |
ตุวํ ติฏฺสิ ชีวิตา | มยา ชีวตุ สตฺตํ |
ตมฺปิ มาตา ปุตฺตํ ลภิ | มยฺหํ ปุตฺโต มหาปฺุโ |
สกฺโกปิ เทวตา สทฺธึ | กมฺพเลหิ จ สาธุกํ |
ทิพฺพวตฺเถหิ ทิพฺพมาเลหิ | เทวตา สาธุกํ ปุนปฺปุนํ |
สกฺโก จตุวรํ ทตฺวา | ตุวํ พุทฺโธ ภวิสฺสติ |
แปลว่า พระเจ้าโกรพยราชรับพระราชเทวีมาแล้ว ก็ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์อันเดียวกันทั้งสองพระองค์ จึงตรัสกับพระราชเทวีว่า เดิมพี่บันดาลความโกรธสั่งให้ภัณฑาคาริกอำมาตย์เขากระทำโทษแก่เจ้า ผู้ที่ไม่มีความผิดถึงสิ้นชีวิต บัดนี้เจ้ายังไม่ตายมีชีวิตรอดมาได้ เจ้าเป็นที่รักของพี่อย่างยิ่ง ภัณฑาคาริกอำมาตย์รักษาชีวิตเจ้าไว้ เจ้าอยู่ในเรือนภัณฑาคาริกอำมาตย์จึงได้รอดชีวิต เจ้าจงอยู่กับพี่ต่อไป เจ้าได้บุตรมา บุตรของเรามีบุญมาก ถึงท้าวสักกเทวราชกับทั้งเทพยดาทั้งหลาย ก็พากันมาสักการบูชาด้วยผ้ากัมพลผ้าทิพย์และพวงมาลัยทิพย์กระทำสาธุการอยู่เนือง ๆ ท้าวสักกเทวราชก็ได้ประสิทธิพรสี่ประการให้ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้
ในกาลนั้น พระนางสุมนาราชเทวีรับพระราชดำรัสแล้ว พระเจ้าโกรพยราชก็ให้พระราชเทวีเจ้าสรงสนานชำระพระสรีรกายด้วยน้ำหอมแล้ว ให้ทรงตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว ให้เสวยพระกระยาหารมีรสอันดีแล้ว ตั้งไว้ในที่เป็นพระอัครมเหสีดังเก่า
ต่อนั้นมา ภัณฑาคาริกราชกุมาร ก็ได้ราชาภิเษกเป็นบรมกษัตริย์ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า
สีสนฺหาโต สุจิวตฺโถ | สพฺพาลงฺการภูสิโต |
ราชาภิเสกํ อลภิ | รตนราสิมฺหิ นิสีทิ |
เหฏฺา รตนปลฺลงฺเก | เสตฉตฺตสฺส อุปริ |
สพฺเพ ชนา สมาคตา | มงฺคลานํ ปุนปฺปุนํ |
อุโฆเสยฺโย มหาเชยฺโย | สพฺพเชยฺโย ภวนฺตุ เต |
รชฺชํ กาเรหิ ภทฺทนฺเต | อชโร อมโต ภว |
เอกราชา ลภิตฺวาน | ทสธมฺเมหิ วฑฺฒตุ |
เอกโฆโส มหาสทฺโท | เภริสทฺโท จ ตุริโย |
นจฺจคีตกิฬา โหนฺติ | กิฬา ภิยฺโย ว โหนฺติ จ |
สพฺเพ รฏฺา สมาคตา | เนคมา จ สมาคตา |
อนุโตชนา พหิชนา | สาธุการํ ปุนปฺปุนํ |
อิตฺเถยติ ปริกิณฺณา | นจฺจคีเตหิ รมฺมนา |
แปลว่า ภัณฑาคาริกุมาร ก็สรงน้ำชำระพระเศียรเกล้าทรงพระภูษาอันสะอาด ตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวงประทับนั่งเหนือกองรัตนะที่จะได้ราชาภิเษกบนรัตนบัลลังก์อันกั้นด้วยเศวตฉัตร มหาชนทั้งปวงก็มาประชุมกันร้องประกาศถวายชัยมงคลว่า มหาชโยขอสรรพชัยจงบังเกิดมีแก่พระองค์ ขอให้พระองค์เสวยราชสมบัติ ทรงพระเจริญอย่าได้ทรงพระชรา อย่าได้สิ้นพระชนมายุไปเลย ขอให้ได้เป็นเอกราช ทรงพระเจริญอยู่ด้วยทศพิธราชกรรมเถิด เสียงมหาชนกับทั้งเสียงเภรีเสียงดนตรีและการเล่นฟ้อนรำขับร้อง ก็กึกก้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บรรดาชนที่อยู่ในพระนครและชาวนิคมชนบททั่วพระราชอาณาเขต ก็ประชุมกันแซ่ซ้องสาธุการทั้งหญิงทั้งชายเกลื่อนกล่นกันไปพากันดูการเล่นฟ้อนรำขับร้องเป็นที่สนุกสนานนัก
ครั้นเสร็จพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว พระมหาสัตว์เจ้าก็พระราชทานสมบัติแก่ภัณฑาคาริกอำมาตย์เป็นอันมาก
ฝ่ายภัณฑาคาริกอำมาตย์ ก็เสวยสมบัติเป็นอันมาก จำเดิมแต่นั้นมาพระมหาสัตว์เจ้า ก็ทรงบันเทิงพระราชหฤทัย ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทรงบำรุงราษฎรเสวยราชสมบัติอยู่โดยธรรมบรรดากษัตริย์ทั้งปวง ก็ถวายราชสมบัติของตน ๆ แล้ว ตกแต่งธิดาของตนๆ ด้วยเครื่องประดับทั้งปวงนำมาถวายแล้ว ยกอัญชลีประณมกรถวายบังคมพระโพธิสัตว์เจ้า พระโพธิสัตว์เจ้าก็ประทานโอวาทแก่กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้นว่า จำเดิมแต่นี้ไปท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาทจงรักษาศีลห้าเจริญภาวนาสั่งสมบุญกุศลอย่าเบียดเบียนสัตว์มีชีวิต อย่าถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น อย่าเจรจามุสาวาท อย่าประพฤติล่วงภรรยาผู้อื่น อย่าดื่มสุราเมรัย จงให้ทานสืบ ๆ ไป
พระโพธิสัตว์เจ้าประทานโอวาท แก่กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้น โดยปริยายเป็นอันมาก ให้กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้นรื่นเริงบันเทิงพระทัยแล้วส่งให้กลับไปยังสถานที่อยู่ของตน ๆ ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้าทรงบำเพ็ญพระกุศลมีทานเป็นต้น บรรดาชนทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นสิ้นอายุแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยสมบัติทิพย์เป็นสุขสำราญ
ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้า ครั้นพระชนมายุแล้ว ก็ไปบังเกิดในเทวโลกเสวยทิพย์สมบัติอันประเสริฐในเทวโลกนั้น
สมเด็จพระบรมศาสาดา นำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตจะได้เป็นผู้มีปัญญาใหญ่ แต่ในอัตตภาพนี้เท่านั้นหามิได้ เราตถาคตได้เป็นผู้มีปัญญาใหญ่มาแล้วในกาลปางก่อน แล้วทรงประกาศอริยสัจสี่ประการ ครั้นจบอริยสัจสี่ประการ ครั้นจบอริยสัจจเทศนาลง ทรงประมวลชาดกตรัสพระคาถานี้ว่า
สุมนเทวี ทุกฺขปฺปตฺตา | มหามายา อิทานิปิ |
โกรพฺโย จ มหาราชา | ปิตา สุทฺโธทโน อหุ |
สกฺโก อนุรุทฺโธ อาสิ | ทิพฺพจกฺขุ อนุตฺตโร |
ภณฺฑาคารฺจ รกฺขนฺโต | อานนฺโท โย กตฺตาปิ จ |
สพฺเพ เสนา อมจฺจา จ | พุทฺธปริสา ชนา อหุ |
ภณฺฑาคารกุมารโร จ | โพธิสตฺโต สพฺพปารมี |
สพฺพฺู โลกนาโถ โส | เอวํ ธาเรถ ชาตกํ |
แปลว่า นางสุมนาราชเทวี ที่ตกทุกข์ได้ยากได้ความลำบากในกาลนั้น สืบขันธประวัติกลับชาติมาเป็นนางสิริมหามายาในกาลนี้ พระเจ้าโครพยราชในกาลนั้น มาเป็นท้าวสุทโธทนมหาราชพระพุทธบิดาในกาลนี้ ท้าวสักกเทวราชในกาลนั้น มาเป็นพระอนุรุทธผู้มีจักษุเป็นทิพย์ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งกว่าในกาลนี้ ส่วนภัณฑาคาริกอำมาตย์ ที่รักษาพระมารดาของพระโพธิสัตว์ไว้ในกาลนั้น มาเป็นพระอานนท์ในกาลนี้ บรรดาเสนาอำมาตย์ราชบริวารในกาลนั้นมาเป็นพุทธบริษัทในกาลนี้ ภัณฑาคาริกกุมารบรมโพธิสัตว์ผู้มีพระบารมีมากกว่าชนทั้งปวงในกาลนั้น มาเป็นพระสัพพัญญูบรมโลกนาถในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกนี้ไว้ด้วยประการฉะนี้