นตฺถิ สจฺจํ สมํ ปฺุนุติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต มาตุกตฺุตํ อารพฺภ กเถสิ.
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภความกตัญญูในมารดาของพระองค์ให้เป็นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ให้เป็นผล มีคำเริ่มต้นว่า นตฺถิ สจฺจํ สมํ ปฺุํ ดังนี้เป็นอาทิ
วันหนึ่งพระภิกษุทั้งหลาย นั่งประชุมกับสรรเสริญความกตัญญูของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ในโรงธรรมสภา สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาถึง ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายนั่งประชุมเจรจากันด้วยกถาถ้อยคำอะไรในกาลนี้
พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งประชุมเจรจากัน สรรเสริญความกตัญญูของพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตจะได้เป็นกตัญญูบุคคลแต่ในกาลนี้เท่านั้นก็หามิได้ ถึงในกาลปางก่อนเราก็ได้เป็นกตัญญูบุคคลมาแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลวิงวอนพระองค์ปรารถนาจะทราบเนื้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง พระพุทธองค์จึงนำอดีตนิทานมาตรัสแสดงพระธรรมเทศนามีเนื้อความพิศดารดังจะกล่าวต่อไป ดังนี้
อตีเต ภิกฺขเว โกสลรฏฺเ เอกสฺส กุฏุมฺพิกสฺส เอกา พหลา นาม คาวี อโหสิ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่เป็นอดีตส่วนล่วงแล้ว มีบุรุษคนหนึ่งอยู่ในโกศลราฐ บุรุษนั้นเลี้ยงแม่โคไว้ตัวหนึ่ง ชื่อนางพหลา นางพหลาคาวีนั้นมีลูกตัวหนึ่ง ในสมัยหนึ่งนางพหลาคาวีนั้น ออกจากบ้านจะไปแสวงหาหญ้ากับลูกของตนแล้วจึงไปกับด้วยฝูงโคทั้งหลาย นางพหลาคาวีนั้นเข้าไปในป่าแต่ตัวเดียว ส่วนลูกโคติดตามไปกับฝูงโคทั้งหลาย
ในกาลนั้น มีเสือโคร่งอยู่ในป่าตัวหนึ่ง ได้เห็นนางโคกินหญ้าอยู่คิดจะจับนางโคกินเป็นอาหารจึงเข้าไปใกล้นางโค นางโคเงยหน้าขึ้นแลเห็นเสือโคร่งแล้วจึงพูดว่า ข้าแต่เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ท่านมาจะต้องประสงค์อะไร
เสือโคร่งตอบว่าข้าจะมาจับเจ้ากินเป็นอาหาร นางโคจึงตอบว่า ข้าแต่เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ ท่านจงงดข้าพเจ้าไว้ก่อน ข้าพเจ้ามีลูกอ่อนอยู่ตัวหนึ่ง จะไปให้ลูกกินนมแล้วจะมาให้ท่านกินเป็นอาหาร เสือโคร่งจึงว่า ถ้าถ้อยคำของเจ้าเป็นคำจริงแล้วข้าจะงดให้เจ้า นางพหลาคาวีก็ลาเสือโคร่งไปหาลูกพูดกับลูกว่า หา หา เจ้าลูกรักเจ้าจงรีบกินนมแม่เร็วๆ เถิด แม่จะไปให้เสือโคร่งกินเป็นอาหาร ลูกโคน้อยจึงถามแม่ว่า เหตุไฉนแม่จึงมาพูดกับข้าอย่างนี้ แม่โคจึงร้องไห้ด้วยความรักบุตรแล้ว จึงบอกเนื้อความนั้นแก่บุตร ลูกโคน้อยจึงพูดกับแม่โคด้วยความภักดี และความกตัญญูในแม่โคว่า แม่อย่าไปให้เสือโคร่งกินเลยลูกจะไปให้เสือโคร่งกินแทนคุณแม่ แม่โคจึงพูดว่า เมื่อแม่จะมา แม่ได้ให้ปฏิญาณแก่เสือโคร่งไว้ว่าจะให้เสือกิน คำของแม่เป็นคำจริง ธรรมดาว่าคำจริงเป็นสภาวธรรมให้ได้สมบัติทั้งปวง เทพยดามนุษย์ทั้งหลายก็สรรเสริญ ส่วนคำเท็จเป็นคำลามกเลวทรามใหญ่ เพราะเหตุนั้น ถึงสรีรร่างกายของแม่จะพินาศฉิบหายไปแม่ก็ไม่ละคำสัจ ในกาลนั้น แม่โคจึงเข้าไปยืนใกล้เสือโคร่ง ส่วนลูกโคน้อยก็เดินร้องไห้ตามไปยืนอยู่ข้างหลังแม่ จึงพูดกับเสือโคร่งว่า ข้าแต่เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ ท่านจงอนุเคราะห์กินข้า จงให้ชีวิตแก่มารดาข้าเถิด
สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสประทานพระธรรมเทศนาไว้ว่าอันธรรมดาว่า ความกตัญญูเป็นสภาวธรรมให้ได้สมบัติทั้งปวง เทพยดามนุษย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญ เพราะเหตุนั้น ควรที่เสือโคร่งจะทราบได้ว่าลูกโคน้อย เป็นสัตว์กตัญญูแล้วงดโทษให้ ส่วนขันตีความอดกลั้นเล่า ก็เป็นกุศลธรรมอย่างประเสริฐกว่าบุญกุศลทั้งปวงเป็นสภาวธรรม ให้ได้สมบัติทั้งปวง เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมสรรเสริญ
ในกาลนั้นเสือโคร่งได้ฟังลูกโคน้อยพูดดังนั้นจึงพูดว่า ข้างดโทษให้เจ้า ข้าไม่กินเจ้าทั้งสองแล้ว
ครั้งนั้น ด้วยอำนาจเดชานุภาพสัจจะความจริง และขันตีความอดใจและความกตัญญูความที่รู้จักคุณผู้อื่นได้กระทำไว้ของสัตว์ทั้งสามนั้น จึงสำแดงอาการให้เร่าร้อนขึ้นไปจนถึงพิภพท้าวสักกเทวราช
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการทราบเหตุนั้นแล้ว จึงลงมาจากสวรรค์เข้าไปใกล้สัตว์ทั้งสามนั้น เมื่อจะสำแดงธรรมจึงตรัสพระคาถาว่า
นตฺถิ สจฺจํ สมํ ปฺุํ | นตฺถิ ขนฺติสมํ สุภํ |
กตฺุตา สมา นตฺถิ | ติวิธํ อุตฺตมํ วรํ |
โย สพฺพกุสลํ กตฺวา | สจฺจํ ตสฺส น วฑฺฒติ |
นิรตฺถฺจ ผลนฺตสฺส | สพฺพพุทฺเธหิ เทสิตํ |
โย สพฺพกุสลํ กตฺวา | ขนฺติ ตสฺส น วฑฺฒติ |
นิรตฺถฺจ ผลนฺตสฺส | สพฺพพุทฺเธหิ เทสิตํ |
โย สพฺพกุสลํ กตฺวา | น ชีวติ กตฺุตา |
นิรตฺถฺจ ผลนฺตสฺส | สพฺพพุทฺเธหิ เทสิตํ |
แปลว่า บรรดาบุญกุศลส่วนที่งามทั้งปวง ซึ่งจะเสมอเหมือนด้วยสัจจะความจริงและขันติความอดใจ และกตัญญูความเป็นผู้รู้จักคุณที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตนไม่มีแล้ว ความจริงและความอดใจและความรู้จักคุณที่ผู้อื่นกระทำไว้แก่ตน ทั้งสามประการนี้ เป็นกุศลบุญราศีอย่างสูงสุดอย่างประเสริฐ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สำแดงพระธรรมเทศนาไว้ว่า บุคคลผู้ใดกระทำสรรพกุศลไว้ แต่ผู้นั้นหาได้กระทำสัจจะความจริง ขันติ ความอดใจและกตัญญูความเป็นผู้รู้จักคุณที่ผู้อื่นกระทำไว้แก่ตนให้เจริญรุ่งเรืองไม่ ผลกุศลของบุคคลผู้นั้น ก็หาประโยชน์มิได้ ดังนี้
ท้าวสักกเทวราช จึงพาสัตว์ทั้งสามนั้นไปยังเทวโลก ประทานทิพยวิมานอันเดียรดาษไปด้วยนางเทพอัปสรพันหนึ่ง พรั่งพร้อมไปด้วยโภคสมบัติทิพย์ กึกก้องไปด้วยการฟ้อนรำขับร้องและดุริยางดนตรีมีองค์ห้าประการ เกลื่อนกลาดไปด้วยธงชายและธงประฎากเป็นอันมาก สำเร็จไปด้วยกามคุณเป็นของทิพย์ให้แก่สัตว์ทั้งสามนั้นตนละพิมาน
ในกาลนั้น สัตว์ทั้งสามนั้น ก็สละอัตตภาพของตน ๆ เสียกลับได้อัตตภาพเป็นเทวบุตรในสำนักท้าวสักกเทวราชแล้ว ก็เสวยทิพยสุขอยู่ในเทวโลก
เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนาไว้เป็นคาถาว่า
สจฺจํ หิ ปรมํ โลเก | สจฺจํ โลเก ปธานตํ |
สจฺจมฺหิ วิชฺชมานมฺหิ | สพฺพปฺุาติวฑฺฒติ |
ยถาปิ พหลา ปุพฺเพ | สจฺจฺจ ปติวฑฺฒติ |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | สคฺคํ สา อุปฺปชฺชติ |
ขนฺติปิ ปรมา โลเก | ขนฺติ โลเก ปธานตา |
ขนฺติยา วิชฺชมานาย | สพฺพปฺุาติวฑฺฒติ |
ยถาปิ พยคฺฆราชา จ | คาวี ขมติ โส ตทา |
เอเตน ขนฺติเตเชน | สคฺคํ โส อุปปชฺชติ |
กตฺุตา ธมฺมมูลา | กตฺุตา ปธานตา |
กตฺุตาย สนฺติยา | สพฺพปฺุาภิวฑฺฒติ |
ยถาปิ วจฺฉโก ปุพฺเพ | มาตุยา จ กตฺุตา |
กตฺุตานุภาเวน | สคฺคํ โส อุปปชฺชติ |
ตสฺมา หิ สพฺพสมฺปตฺตึ | ปฏฺยนฺตา วิจกฺขณา |
กตฺุตํ ขนฺติ สจฺจํ | สพฺพทา จ กโรนฺติ เต |
โย มาตรํ ปิตรํ วา | คุรุํ วา ปยิรุปาสติ |
กตฺุขนฺติโก นิจฺจํ | สจฺจวาโท ขโม สทา |
มนุสฺเส เทวโลเก วา | ปปฺโปติ ปรมํ สุขํ |
มูโค ผกฺโก จ พธิโร | ขชฺโช อนฺโธปมารโณ |
สพฺเพ โรคา น ชายนฺติ | สพฺพํ สจฺจสฺสิทํ ผลํ |
กุฏฺิ คณฺโท กิลาโส จ | กาโส สาโส จ ปิงฺคโล |
สพฺพทุกฺขา ปฏิกฺกนฺตา | สพฺพโสภา ภวนฺติ เต |
สุทฺธงฺคุลี สุทฺธนขา | สุทฺธทนฺตา จกฺขุสุทฺธา |
สุทฺธนาสา สุทฺธโสตา | ทสฺสนิยา มโนรมา |
องฺคปจฺจจงฺคสมฺปนฺนา | อาโรหปรินาหวา |
สุขาตา ชวสมฺปนฺนา | วฏฏองฺคา มุทุ สุจิ |
อเภชฺชปริสา โหนฺติ | ติกฺขปฺา วิสารทา |
วิสฏฺวจนา โหนฺติ | สพฺพํ ขนฺติสฺสิทํ ผลํ |
ทีฆายุกา สทา โหนฺติ | วณฺณวา พลวา สุขํ |
สุขํ ติฏฺํ สุขํ เสยฺยํ | สุขํ จงฺกมนาทินํ |
มรณกาเล อมุฬฺโห | อุชุํ คจฺฉติ สพฺพทา |
สพฺพสุขํ อนุโภติ | กตฺุตายิทํ ผลํ |
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ | |
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ | |
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ | |
น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี |
แปลว่า สัจจะความจริงนั้นแหละเป็นประธานอย่างยิ่งในโลก ครั้นเมื่อสัจจะมีอยู่แล้ว สรรพกุศลทั้งปวงก็ย่อมเจริญยิ่งเหมือนอย่างนางพหลาคาวีรักษาไว้ซึ่งคำสัจ นางได้ไปบังเกิดในสวรรค์ ก็ด้วยอำนาจคำสัจนั้น
ส่วนขันติความอดกลั้นเล่า ก็เป็นประธานอย่างยิ่งในโลก เมื่อขันติอดใจมีอยู่แล้ว สรรพกุศลทั้งปวงก็ย่อมเจริญยิ่ง เหมือนอย่างพระยาเสือโคร่งอดใจให้แก่นางโคนั้น พระยาเสือโคร่งได้ไปบังเกิดในสวรรค์ ด้วยเดชานุภาพของขันติความอดใจนั้น
ส่วนกตัญญุตาเล่า เป็นรากเหง้าของความดีความชอบเป็นประธานอย่างยิ่งในโลก เมื่อความเป็นคนกตัญญูมีอยู่แล้ว สรรพกุศลทั้งปวงก็ย่อมเจริญรุ่งเรือง เหมือนอย่างลูกโคน้อยมีความกตัญญูต่อมารดา ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ด้วยอำนาจความกตัญญูนั้น
เพราะเหตุนั้น สัตบุรุษสาธุชนทั้งหลาย เมื่อปรารถนาสมบัติทั้งปวง จงเป็นคนมีสติปัญญาพิจารณากระทำสัจจะความจริง และขันติความอดใจ และกตัญญุตาความเป็นคนรู้จักคุณที่บุคคลอื่นกระทำไว้แก่ตนเสมอ ๆ ไป บุคคลผู้ใดจะเข้าไปใกล้มารดาบิดาครูบาอาจารย์ จงเป็นผู้ทรมานตนให้ตั้งอยู่ในความกตัญญู และเป็นผู้กล่าววาจาเป็นสัจจะและเป็นผู้อดใจแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมได้ประสบความสุขอย่างยิ่งในมนุษยโลกและเทวโลก บรรดาสรรพโรคาพาธทั้งปวง เป็นต้นว่าเป็นโรคโบ้และโรคที่จะต้องปกปิดอวัยวะ โรคหนวก โรคง่อย โรคบอด โรคบ้าหมู โรคเรื้อน โรคปมเปา โรคกราก โรคหืด โรคมงคร่อ โรคผอมเหลือง โรคเหล่านี้ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้นั้น สรรพความไม่มีโรคทั้งปวงนี้ เป็นผลของความสัจจะ บุคคลผู้นั้นก็จะเลี่ยงหลีกออกไปจากทุกข์ทั้งปวงเสียได้ สรรพสวัสดีก็จะบังเกิดมีแก่บุคคลผู้นั้น อนึ่งความเป็นคนมีองคุลี และเล็บ และฟัน และนัยน์ตา และนาสา และโสต ผ่องใสสะอาดงามน่าดูน่าชมบริบูรณ์ไปด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ไม่นูนขึ้นไม่ยุบลง เกิดในตระกูลที่มีสติปัญญาว่องไว มีอวัยวะร่างกายกลมกล่อมละมุนละไมหมดจดดี ไม่เป็นคนแตกร้าวบาดหมางกับใคร ๆ และมีปัญญาคมกล้าไม่ครั้นคร้ามต่อผู้ใด มีวาจาสละสลวย สรรพคุณความดีทั้งปวงนี้เป็นผลของความอดใจ
อนึ่งความเป็นคนที่มีอายุยืนยาว มีสีสัณฐานวรรณผ่องใสมีกำลังกายมีความสุข จะยืนเดินนั่งนอนก็เป็นสุข ไม่เป็นคนหลงกระทำกาลกิริยา สรรพความสุขทั้งปวงนี้เป็นผลของกตัญญุตาความเป็นคนกตัญญู
ธรรมความดีความชอบ ย่อมรักษาบุคคลที่ประพฤติความดีความชอบไว้ ธรรมความดีความชอบ บุคคลมาประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้แก่บุคคลที่ประพฤติดีแล้วนั้น นี่แหละเป็นอานิสงส์ในธรรมความดี ความชอบที่บุคคลประพฤติดีแล้วนั้น บุคคลที่ประพฤติธรรมความดีความชอบแล้ว ย่อมไม่ไปบังเกิดในทุคติเลย
สมเด็จพระบรมศาสดา นำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วเมื่อจะสืบอนุสนธิประมวลชาดก จึงตรัสพระคาถาที่สุดว่า
สกฺโก อนุรุทฺโธ อาสิ | ทิพฺพจกฺขูนมุตฺตโม |
มหาพฺยคฺโฆ วเน จโร | ปิตา สุทฺโธทโน อหุ |
พหลา นาม คาวี สา | มาตา มหามายา อสิ |
ปุตฺตคาโว โลกนาโถ | เอวํ ธาเรถ ชาตกํ |
แปลว่า ท้าวสักกเทวราชในกาลนั้น ประวัติกลับชาติมาในกาลนี้ เป็นพระอนุรุทธ์ผู้อุดมกว่าภิกษุที่เป็นทิพจักษุทั้งปวง เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ที่เที่ยวอยู่ในป่าในกาลนั้น มาเป็นพระเจ้าสุทโรทนมหาราช ผู้พระพุทธบิดาในกาลนี้ นางพหลาคาวีในกาลนั้น มาเป็นพระนางสิริมหามายาผู้พระพุทธมารดาในกาลนี้ ลูกโคในกาลนั้น มาเป็นพระบรมโลกนาถในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกนี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้