อกตฺูปิ ปุริโสติ อิทํ สตฺถา เวฬุวเน วิหรนฺโต เอกํ อฺตรํ เสฏฺึ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อจะเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวนาราม ทรงพระปรารภเศรษฐีผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า อกตฺูปิ ปุริโสติ เป็นอาทิ
กิร ดังได้สดับฟังมาว่า ในเมืองราชคฤห์มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีทรัพย์สมบัติเจ็ดสิบโกฏิแต่หามีบุตรและธิดาไม่ ได้ขอลูกคนเข็ญใจผู้หนึ่งมาเลี้ยงไว้ในเรือน ตั้งไว้ให้เหมือนลูกรักของตน ฝ่ายญาติสาโลหิตผู้มีปัญญาของมหาเศรษฐีจึงห้ามว่า ท่านมหาเศรษฐีทารกคนนี้มีบุญน้อยและญาติน้อย เป็นคนใจบาปหยาบช้าจึงมาเกิดในตระกูลต่ำ และเป็นคนสอนยาก หาสมควรจะรักษาสิริไว้ไม่ คนกาลกรรณีมีอยู่ที่เรือนของผู้ใด ทรัพย์เป็นอันมากของผู้นั้นก็จักพลันวินาศไป และจักถึงซึ่งภัยใหญ่ ท่านอย่าเลี้ยงทารกนี้ไว้เลย ถ้าว่าท่านต้องการบุตรเลี้ยงจงหาทารกที่เกิดในตระกูลเสมอกันมาเลี้ยงไว้ จึงจะสมควรรักษาประเพณีสกูลและสิริไว้ได้ มหาเศรษฐีนั้น ครั้นญาติห้ามปรามก็ทำเหมือนไม่ได้ยิน มิได้เชื่อฟังยังขืนเลี้ยงทารกนั้นไว้ในฐานเป็นบุตรต่อไป
ครั้นต่อกาลนานมา ทารกนั้นเจริญวัยใหญ่ขึ้นตามอายุกาลก็ประพฤติเป็นพาลว่ายากมักทำบาปกรรม และไม่อาจรักษาตระกูลเศรษฐีและสิริสมบัติไว้ได้ และไปคบคนชาติเลวทรามทำแต่ความชั่วเสพสุราทำปรทารกรรมโจรกรรมจนถึงต้องราชทัณฑ์ถึงมหาวินาศใหญ่ ชนทั้งหลายมีทาสกรรมกรเป็นต้น พากันขนทรัพย์สมบัติหลบหนีไปสิ้น ภายหลังมาณพบุตรเลี้ยงมหาเศรษฐีนั้น ต้องราชทัณฑ์แล้วถูกขังอยู่เรือนจำ สองผัวเมียคือเศรษฐีและภรรยาเศรษฐีนั้น ครั้นสมบัติหมดไปแล้วก็ยากจนอนาถาหาที่พึ่งมิได้ จำหน่ายที่บ้านและไร่นาเที่ยวภิกขาจารไป บางคาบก็ได้ทำการรับจ้างเขาเลี้ยงชีพโดยประการฉะนี้
คราวนั้น พระภิกษุทั้งหลายทราบความเรื่องนั้นของมหาเศรษฐี กลับจากบิณฑบาตแล้วไปสู่วิหาร ประชุมพูดกันถึงเรื่องนั้น ณ โรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย มหาเศรษฐีนั้นไม่เชื่อคำตักเตือนของหมู่ญาติผู้มีปัญญา บัดนี้มาถึงมหาวิบัติวินาศอย่างใหญ่เสียแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จอยู่ ณ พระคันธกุฎี ทรงพระดำริว่ากาลนี้ควรตถาคตจะไปยังโรงธรรมสภา จักให้ประกาศบุพพจริยาของเราตถาคต ทรงดำริแล้วจึงเสด็จไปยังโรงธรรมสภา ทรงประทับ ณ บวรปัญญัตตาสนะแล้วดำรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมพูดถึงเรื่องอะไร ณ บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายถวายอภิวาทแล้วกราบทูลให้ทรงทราบตามที่ตนสนทนา จึงมีพระพุทธดำรัสว่า เศรษฐีสองผัวเมียนี้มิได้เชื่อคำนักปราชญ์แล้วถึงวินาศใหญ่แต่ในกาลเดี๋ยวนี้ก็หาไม่ ถึงกาลปางก่อนก็เคยเป็นเหมือนเช่นนี้มาแล้ว ทรงดำรัสดังนี้แล้วจึงนำอดีตนิทานมาอ้างดังปรากฏต่อไปนี้ว่า
อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในกาลที่ล่วงมาแล้วนาน พระราชาทรงพระนามว่าพรหมหัต ครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี คราวนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าของเราได้เกิดในกำเนิดเต่าทอง อาศัยอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองพาราณสีออกไปนั้น มีบ้านตำบลหนึ่ง สองคนตายายอยู่ในบ้านนั้นหามีบุตรและธิดาไม่ ตายายนั้นใคร่จะได้บุตรจริง ๆ จึงปรึกษากันว่า ทำไฉนเราจักได้บุตรสักคนหนึ่ง เมื่อไม่ได้ลูกมนุษย์แท้แล้ว เราจักจับเอาลูกสัตว์เดียรัจฉานมาเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม
อยู่มาวันหนึ่งเป็นเวลาราตรีกาล ตาแก่นั้นนอนหลับไปได้ฝันเห็นว่า มีพระดาบสองค์หนึ่งจับเต่าทองมาส่งให้ในมือตาแก่แล้วก็กลับไป ตาแก่นั้นตื่นขึ้นยังจำความฝันไว้ได้ แล้วนึกไปว่า เราต้องการจะได้บุตรคราวนี้เราจักได้หละ ตาแก่นั้นดีใจได้ปลุกภรรยาให้ตื่นขึ้นแล้วเล่าความฝันนั้นให้ฟัง ครั้นรุ่งขึ้นเช้า สองตายายบริโภคอาหารแล้ว ส่วนตาจึงเอาพร้าเหน็บหลังเดินเที่ยวไปหาผักและฟืนในป่า เดินไปถึงที่อยู่แห่งพระโพธิสัตว์ พบเต่าทองแล้วดีใจนึกว่าเราได้เต่านี้เป็นลูกสมความฝัน จึงจับเอาเต่าทองนั้นมาถึงเรือนส่งให้ภรรยา ๆ ก็ดีใจจึงเลี้ยงไว้ แสวงหานานาอาหารมีผลกล้วยเป็นต้น มาให้เต่าทองบริโภคทุก ๆ วัน
เต่าทองตัวนั้นเป็นหน่อพระพุทธเจ้า รู้จักสรรพนักษัตรและพูดภาษามนุษย์ได้ ด้วยตนได้ก่อสร้างกุศลไว้มาก เต่าทองนั้นตั้งอยู่ในกตัญญู แสวงหาประโยชน์และความสุขให้ตายายอยู่เป็นนิจกาล คืนวันหนึ่งเต่าทองหมอบอยู่ระเบียงนอกเรือนกับตายาย ชูคอแหงนดูอากาศเห็นอุทกนักษัตรจึงบอกแก่ตายายว่าเมืองพาราณสีนี้จะวินาศไปด้วยน้ำท่วม ดูกรพ่อเต่าทอง เหตุไรพ่อจึงพูดอย่างนี้ ข้าแต่มารดาบิดา ในเดือนนี้จะมีมหาเมฆตั้งขึ้นทั่วทิศ มหาเมฆจักมาท่วมทับเมืองนี้ ชาวเมืองใจบาปและบุญน้อยจักวินาศไปด้วยน้ำ คนจักตายมากที่จักรอดตายน้อยนัก ถ้าเช่นนั้นเราจักทำอย่างไรจึงจะพ้นความตาย ข้าแต่มารดาบิดา อย่าช้าเลยจงไปป่าตัดไม้ไผ่และหวายมาให้มาก ผูกแพเข้าแล้วเอาหวายทำพวนผูกรั้งไว้ให้มั่น เมื่อมหาเมฆมีมาแล้วเราทั้งหลายจักขนของขึ้นไว้บนแพ แล้วพากันอาศัยอยู่ นั่นแหละ จึงจะรอดความตาย
สองตายายพากันไปป่า ตัดไม้ไผ่และหวายมาได้มากแล้วผูกมัดเป็นแพบวบ แล้วเอาเชือกผูกล่ามไว้แน่นแฟ้นดีแล้ว ทีนั้นมหาเมฆตั้งขึ้นในสี่ทิศ ยังฝนลูกเห็บให้ตกลงมาแต่ฝนตกคราวนั้นนานถึงเดือนหนึ่ง มหาเมฆยังฝนให้ตกท่วมทั่วเมืองพาราณสีหามีที่ว่างเว้นไม่ ชาวเมืองทั้งหลายถูกน้ำพัดถึงความตายลอยไปสู่มหาสมุทร มนุษย์บางพวกขึ้นเรือได้และอาศัยแพบ้าง บางพวกขึ้นอาศัยอยู่บนต้นไม้และภูเขาจึงรอดความตาย สองตายายนั้นก็ได้อาศัยแพบวบไม้ไผ่อยู่กับสุวรรณกัจฉปเต่าทอง
ฝ่ายเต่าทองนั้นจึงคิดว่า สัตว์น้ำเหล่าอื่นมาถึงที่นี้แล้ว จักกัดเชือกใหญ่ซึ่งผูกล่ามแพไว้ให้ขาดไป และจักทำอันตรายแก่สองตายาย เพราะฉะนั้นเราจักลงน้ำไปรักษาเชือกไว้ คิดแล้วจึงบอกกับตายายว่า ข้าแต่มารดาบิดา ๆ จงพากันอยู่บนแพนี้ ตัวข้าพเจ้าจักลงน้ำไปคอยรักษาเชือกไว้ ถ้าหากว่าผู้อื่นลอยมาจักขออาศัยแพนี้อยู่กับมารดาบิดาไซร้ ถ้าว่าเป็นสัตว์เดียรัจฉานมาขออาศัยจงให้อยู่เถิด ถ้าว่าเป็นมนุษย์มาขออาศัยจงอย่าให้อยู่เลย ธรรมดาสัตว์เดียรัจฉานมีสันดานซื่อตรงใจคิดอย่างไรปากก็พูดอย่างนั้น พวกมนุษย์ปากพูดอย่างหนึ่งใจคิดไปอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นมนุษย์ผู้ใดมาขออาศัยแพอยู่ด้วยบิดามารดา จงอย่าได้ให้มนุษย์ผู้นั้นอยู่เลย ถ้ามีเหตุสิ่งใดเกิดขึ้นมารดาบิดาจงกระตุกเชือกขึ้น ข้าพเจ้าจักขึ้นมาแล้วจักได้รู้เหตุการณ์สิ่งนั้น สั่งตายายแล้งก็ลงน้ำไปรักษาเชือกผูกแพไว้
คราวนั้นมีเสือโคร่งตัวหนึ่ง งูเห่าตัวหนึ่ง และวานรตัวหนึ่ง ครั้นมหาเมฆพัดให้สอยไปถึงแพตายาย สามสัตว์ก็วิงวอนตายาย ขออาศัยแพอยู่ด้วย ตายายจึงตอบว่า ท่านทั้งหลายจงรอประเดี๋ยวหนึ่งเราจักบอกให้ลูกของเราหรือวัยก่อนแล้วตายายก็กระตุกเชือกให้เป็นสำคัญ เต่าทองตัวนั้นก็ขึ้นจากน้ำมา เห็นเสือและงูเห่าและวานรแล้วก็พูดกับตายายว่า เสือและงูเห่าเป็นสัตว์ที่ดุร้ายก็จริงแล แต่เป็นสัตว์กตัญญูและพูดจริง มารดาบิดาจงให้เสือและงูเห่ากับลิงอาศัยแพอยู่เถิด เต่าทองอนุญาตให้สามสัตว์อาศัยแพแล้วจึงสาตายายดำน้ำลงไปรักษาเชือกอยู่ตามเติม
คราวนั้นแล มีอำมาตย์นายหนึ่งลอยมาตามกระแสน้ำไหล ได้มาถึงแพสองตายายแล้ววิงวอนขออาศัยแพอยู่ด้วย สองตาผายแต่พอเห็นอำมาตย์นั้น ก็ให้นึกเอ็นดูกรุณา หาบอกแก่เต่าทองให้รู้ไม่ อนุญาตให้อำมาตย์นั้นอยู่บนแพ ครั้นภายหลังเต่าทองนึกขึ้นมาได้ว่าคราวนี้นานนักหนามารดาบิดาของเราทำไมจึงไม่กระตุกเชือกบอกเหตุการณ์ให้เรารู้บ้าง คิดแล้วก็ขึ้นมาบนแพแลเห็นอำมาตย์นั้นแล้วจึงนึกในใจว่า บุรุนผู้นี้ใจไม่ซื่อตรงเป็นคนใจคดและอกตัญญู ภายหลังจักทำโทษความชั่วร้ายแก่มารดาบิดาของเรา คิดแล้วจึงต่อว่าตายายว่า เดิมพูดจาสัญญาไว้ว่าถ้าใครมาขออาศัยแพอยู่ จงบอกให้ข้าพเจ้ารู้ก่อน บัดนี้มารดาบิดาหาบอกให้ข้าพเจ้าทราบไม่ คนนี้ใจบาปหยาบช้านานไปจะทำทุกข์โทษแก่มารดาบิดาๆ จักถึงทุกข์โศกอย่างมาก เมื่อเต่าทองจะกล่าวสอนตายาย ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า
อกตฺูปิ ปุริโส | ทุพฺพจฺโจ จ สาหสิโก |
อนุชุกจิตฺโต มาโน | อคุณํ อาวหิสฺสติ |
โย จ ปาปกรูโป จ | จกฺขุมุขวิกลฺโล จ |
วิกลฺลเกโส โหติ | หตฺถปาทวิกลฺโก จ |
ลามกสริโร เจว | หริตเกโส ปิงฺคโล |
โส จ ปาปโก ทุถโส | ลามโก น เสวิตพฺโพ |
โย หิ ตํ เสวิตฺวา นรํ | อิธ โลกปรโลเก |
พหุทุกฺเข อนุปตฺโต | อติโสโก ปวตฺตติ |
ปฺวนฺตา หิ ทุพฺพลา | สเตสุ สหสฺเสสุ วา |
เอโก ปฺวนฺโต นตฺถิ | ตสฺมา ทุลพฺโพติ วุจฺจติ |
โย ปฺวนฺตํ เสวิตฺวา | อตฺต ปรถานหิตํ |
สมฺปตฺวา โส คุณกาโร | กาลํ กตฺวา สคฺคปตฺโตติ |
ความว่า บุรุษผู้อกตัญญูหยาบช้าสาหัสว่ายากสอนยาก ใจคอไม่ซื่อตรงมีมานะมาก จักนำโทษทุกข์มาให้มากมาย ก็บุคคลผู้ใดรูปร่างลามกคือ หน้าตาวิกลผิดปรกติ มีผมวิกล (หยักโสก) และมีผมเขียวเหลือง มือเท้าวิกลพิการ บุคคลผู้นั้นเป็นบาปลามก ไม่ควรคบหาสมาคมเลย จริงอยู่ บุคคลผู้ใดคบหาสมาคมนรชนนั้นแล้ว บุคคลผู้นั้นก็จะถึงซึ่งทุกข์มาก และความเศร้าโศกยิ่งใหญ่ก็จะเป็นไปแก่ผู้นั้น ในโลกนี้และทั้งโลกเบื้องหน้า เพราะว่าผู้มีปัญญาหาได้ยากนัก คนๆ หนึ่งซึ่งมีปัญญา จะไม่มีอยู่ในหมู่คณะแห่งคนตั้งร้อยตั้งพัน เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่าคนมีปัญญาหายากนัก ก็บุคคลผู้ใดได้คบหาสมาคมผู้มีปัญญาแล้ว ผู้มีปัญญาก็จะพาให้ถึงซึ่งประโยชน์เกื้อกูลควรแก่ฐานะแห่งตนและคนผู้อื่น บุคคลผู้นั้นได้ทำคุณความดีส่วนชอบไว้ เมื่อทำลายขันธ์ก็จะถึงสวรรค์สุคติ
สองตายายได้ฟังคำลูกชายเต่าทองพูดดังนั้นจึ่งตอบว่า พ่อเต่าทองผู้ธรรมบุตร พ่ออย่าครหาเราเลย เราหาปัญญามิได้ ได้รับเขาเสียแล้วก็ต้องให้เขาอยู่ต่อไป พ่อจงไปรักษาเชือกผูกแพให้ดีเถิด เต่าทองนั้นจึงพิจารณาดูประเพณีพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลาย แล้วดำริว่า แท้จริง พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลาย กอร์ปด้วยกตัญญูย่อมสนองคุณท่านบุพพการีบุคคล ท่านได้บริจาคปัญจมหาทานแล้วจึงจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อภายหลัง เพราะเหตุนั้นแล บุรุษผู้นี้จะทำอันตรายแก่สองตายายผู้ตั้งอยู่ในฐานเป็นมารดาบิดาของเรา เราจะรับอันตรายนั้นไว้ และจะไม่อาลัยต่อชีวิตสละชีวิตตายแทนสองตายาย ดำริแล้วจึงกินอาหารลงน้ำไปรักษาต้นเชือกที่ผูกแพ จนกว่าน้ำจะแห้งสนิทดี
ครั้นอยู่ต่อมาได้ ๘ วัน มหาเมฆก็สงบเหือดแห้งหายเป็นปรกติ สามสัตว์คือ เสือ ๑ วานร ๑ งูเห่า ๑ จึงพูดกะตายายว่า ข้าแต่แม่และพ่อ บัดนี้น้ำก็แห้งสนิทแล้ว ข้าพเจ้าจะลาไปสู่ไพรสณฑ์แห่งโน้นๆ ถ้าว่าท่านต้องการสิ่งใดๆ จงไปที่ไพรสณฑ์นั้นบอกให้ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าจะทำสิ่งต้องการนั้นให้ถึงสำเร็จผลที่สุดแก่ท่านทั้งปวง ก็ฝ่ายอำมาตย์นั้นจึงพูดกับตายายว่า เราเป็นอำมาตย์ของพระราชา มีราชการและกิจที่จำต้องทำมากนัก เราจักไม่อาจมาเยี่ยมเยือนท่านทั้งสองได้ ถ้าว่าท่านมีกิจสิ่งใดจงไปหาเราเถิด กล่าวดังนี้ก็ไปยังสถานที่ตนเคยอยู่ ส่วนเต่าทองก็ยังอยู่กับตายายต่อมาด้วยประการฉะนี้
ครั้นกาลนานมา สองสามีภรรยาเข้าไปสู่ป่าจึงไปหาวานรและไปหาเสือและงู ได้อาศัยอยู่กับงูและวานรแห่งละ ๒-๓ วัน วานรนั้นนำผลไม้มาให้ตายาย ฝ่ายงูก็นำเอาแก้วมณีดวงหนึ่งมาให้ ฝ่ายเสือดีใจไปฆ่าสุกรป่ามาให้ตายาย ตายายต้มแกงเผาเนื้อสุกรกินตามสบาย สองตายายได้อยู่ในสำนักเสือนั้นต่อมาอีกหลายวัน เพราะเหตุนั้นเสือจึงไปหาเนื้อและสุกรมาให้ตายายนั้นทุกวัน เสือนั้นได้เนื้อหรือสุกรแล้วจึงวางไว้ให้ในที่แห่งหนึ่งแล้วก็ไป
คราวนั้นพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงเบ็ญจาวุธพร้อมด้วยราชบริวารเสด็จออกไปประพาสล่าเนื้อในราวไพร ได้ทอดพระเนตรเห็นฝูงสูกรมีมาก ณ ประเทศตำบลหนึ่ง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษล้อมจับสุกรเอาไปให้ได้ ส่วนพระองค์ก็เลยเสด็จกลับเข้าไปยังพระนคร คราวนั้น ราชบุรุษพนักงานเครื่องต้นคนหนึ่ง เอาเตียบทองคำใส่เครื่องพระกระยาหารเต็มแล้วเชิญเครื่องตามพระราชาไป พลัดหนทางหลงไปในป่าไปถึงที่อยู่เสือตัวนั้น เสือตัวนั้นเห็นภัตตการบุรุษแล้วจึงกัดกินเนื้อเสียจนเต็มท้อง แล้วนึกว่าเรายังมิได้ให้เงินของตอบแทนคุณตายายเลย บัดนี้เราจักเอาเตียบทองคำใบนี้ไปให้ตายาย คิดแล้วจึงประคองคาบเตียบใส่พระกระยาหาร ไปวางไว้ตรงที่เคยวางเนื้อให้แล้วก็ไปยังที่ตนเคยอยู่
ครั้นรุ่งเช้า สองตายายออกจากที่พักเดินไปหมายใจจะไปเอาเนื้อที่เสือเคยให้ ครั้นไปถึงจึงเห็นเตียบทองใส่พระกระยาหารก็ดีใจ เมื่อจะสรรเสริญคุณเสือนั้น จึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โย จ ปฏิเสวนฺโต ว | อุชุกํ กตฺุุชนํ |
พฺยคฺฆํ วิย มํ ครุกํ | โส จ วฑฺฒนํ ปาปุเณติ |
อยํ พฺยคฺโฆ มยฺหํ คุณํ | ปุพฺเพ กตสฺส ชานิตฺวา |
ทิวํ ทิวํ มํสํ เทติ | อิทานิ สุวณฺณสรกนฺติ |
ความว่า บุคคลผู้ใดสมาคมคบหาชนกตัญญูผู้ใจซื่อตรงไว้เหมือนพยัคฆ์ผู้เคารพนับถือเราจริง บุคคลผู้นั้นก็จะพึงถึงซึ่งความเจริญฝ่ายเดียว เสือตัวนี้รู้จักคุณเราซี่งทำไว้ก่อนแล้ว จึงนำเอาเนื้อมาให้เรากินทุกวัน ๆ บัดนี้เสือนั้นยังนำเตียบทองคำ (ขันทอง) มาให้เราอีก สองตายายกล่าวสรรเสริญเสือแล้ว จึงถือเอาเตียบทองนั้นไปทำเครื่องใช้ยังที่อยู่ของตน
ครั้นกาลนานมา ในเมืองพาราณสีเกิดข้าวแพงประชาชนชาวเมืองถึงความทุกข์อย่างใหญ่ด้วยทุพภิกขภัย หาอาหารกินได้ยากบางครั้งก็ได้บางคราวก็ไม่ได้ พากันล้มตายด้วยฉาตกภัย อำมาตย์ผู้นั้นพลัดกันกับภรรยา เที่ยวตามหาภรรยาไปได้ความลำบากเข้า จึงคิดว่า เราจักไปหาสองตายายอาศัยเลี้ยงชีพเถิด คิดแล้วก็ไปหาตายายกราบไหว้แล้วนั่งอยู่ สองตายายเห็นอำมาตย์ผู้นั้นมาจึงจัดแจงโภชนาหารใส่เตียบทองใบนั้น ยกมาวางไว้เชิญให้อำมาตย์นั้นบริโภคอาหาร อำมาตย์นั้นเห็นสุวรรณภาชนะนั้นก็จำได้ คิดว่าตายายฆ่าภัตตาการบุรุษคนเครื่องต้น แล้วเอาเตียบทองของพระราชามาใช้เป็นของส่วนตัว เราจักจับตายายนี้ไปถวายพระราชา คิดแล้วจึงขู่ว่า ตายายเป็นโจรฆ่าบุรุษคนเครื่องต้น เอาเตียบทองของพระราชามาใช้ เราจักไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ สองตายายจึงตอบว่า แน่ะอำมาตย์ ตัวท่านอกตัญญูหารู้จักคุณเราไม่ เหตุไฉนท่านจึงแกล้งยกโทษหาว่าเราเป็นโจรฆ่าภัตตาการบุรุษของพระราชา ท่านพูดมุสาวาทหาจริงไม่ เราไม่ได้เป็นโจรดุจคำท่านกล่าวหา อำมาตย์โกรธใหญ่ขู่ตะคอกว่าจะให้พระราชาตัดศีร์ษะเสียให้ได้ แล้วก็รีบเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่เทวดา สองตายายอยู่ในป่าได้ฆ่าภัตตาการบุรุษ แล้วนำเอาเตียบทองของพระองค์ไว้ใช้สอยอยู่ที่เรือนของตน
พระเจ้ากรุงพาราณสีพรงฟังแล้วก็กริ้วใหญ่ จึงรับสั่งกับอำมาตย์ให้ไปจับตัวตายายเฆี่ยนด้วยหวาย แล้วส่งเข้าไปขังไว้ในเรือนจำ อำมาตย์รับพระราชดำรัสแล้วก็ไปจัดการตามพระกระแสรับสั่ง สองตายายต้องจำขังอยู่ ณ เรือนจำ ทนทุกขเวทนาแสนสาหัส ปริเทวนาร่ำไรระลึกถึงคำของเต่าทองขึ้นมาได้จึงบ่นว่า พ่อเต่าทองของมารดาบิดา ๆ ไม่เชื่อฟังคำของพ่อที่พูดไว้ บัดนี้จึงได้ถึงมหันตทุกข์ เมื่อจะปรารภเต่าทองธรรมบุตรของตน จึงกล่าวนิพนธคาถาดังนี้ว่า
หาหา ตาต ปิยปุตฺต | อชฺช ยสฺส วสสิ ตฺวํ |
กถํ มม ทุกฺขํ ชานิสฺส | อิทานิ มยํ ทุกฺขํ ปตฺตา |
โก เต มม ทุกฺขภาวํ | อนาถํ ทนิ วกฺขิสสติ |
ความว่า ดูกรพ่อปิยบุตรสุดที่รักของมารดาบิดา หาหา วันนี้หนอพ่อจะอยู่ ณ ที่ไหน ทำอย่างไรเล่า พ่อเจ้าจักรู้ความลำบากของมารดาบิดา /*294บัดนี้มารดาบิดาทนทุกขเวทนาแทบบรรดาตาย คราวนี้จะมีใครไปบอกเล่าความทุกข์ร้อนอนาถาของเราให้เจ้ารู้ (เป็นอันไม่มี)
สองตายายระลึกถึงเต่าทองด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงระลึกถึงงูเห่าขึ้นมา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
กณฺหสปฺป กตฺุ | ตฺวํ มยฺหํ ทุกขปฺปตฺตํ เนว |
ชานิสฺส นิโทสภาวํ | โทสํ อุกฺขิปิตฺวามจฺโจ |
โจรฆาฏา มยฺหํ ปหตา | เนว ชีวนฺตา อิทานิ |
ปฺจพนฺเธหิ พนฺธิตฺวา | พนฺธนาคาเร สยนฺติ |
ความว่า ดูกรงูเห่า ท่านผู้กตัญญู ยังไม่รู้เราผู้หาโทษมิได้กลับมาต้องความลำบากเสียแล้ว อำมาตย์มายกโทษโส่เราผู้หาโทษผิดมิได้ นายโจรฆาตทั้งหลายเฆี่ยนตีเรา เราเห็นจะไม่พ้นความตายแน่นอน เดี๋ยวนี้นายโจรฆาตเขาจองจำเราด้วยเครื่องจำห้าประการให้นอนอยู่ในเรือนจำ
เมื่อสองตายายรำพันอยู่อย่างนี้ แล้วร้องไห้พลางระลึกถึงงูเห่าๆ รู้ความตลอดแล้ว เลื้อยออกจากจอมปลวกไปยังป่ามหาวัน จึงกัดเอาต้นยาต้นหนึ่งปลีกเอาแต่น้อย ถึงเวลาเที่ยงคืนงูเห่าก็เข้าไปภายในเมือง ตรงเข้าไปยังเรือนจำแล้วส่งต้นยาให้ตายายแล้ว พูดว่า ข้าแต่แม่และพ่อ อย่าโศกเศร้าทุกข์ร้อนไปเลย ข้าพเจ้าจะเข้าไปภายในประสาท จะทำพระราชธิดาผู้บรรทมหลับให้เนตรบอดด้วยลมจมูกแล้วพระราชาก็จักป่าวร้องว่า ผู้ใดจะรักษาตาธิดาของเราได้บ้างดังนี้ ท่านจงรับรักษาถือเอาต้นยานี้ฝนกับน้ำหยอดจักษุพระราชธิดา นัยน์ตาของพระราชธิดาก็จักเห็นปรกติดี ทีนั้นท่านก็จักพ้นจากราชทัณฑ์
งูเห่าสั่งแล้วก็เลื้อยขึ้นไปยังปราสาททำจักษุทั้งสองของพระราชธิดาให้มืดไปด้วยลมจมูกของตนแล้วหนีไป
ฝ่ายพระราชธิดานั้น ครั้นตื่นบรรทมแล้วทราบว่าจักษุของตนมืดไป ทรงรำคาญพระทัยเสวยทุกขเวทนาแล้วกรรแสงไห้ ได้บอกเล่าเหตุนั้นแก่เหล่านางบริจาริกาๆ พากันตรวจดูพระเนตรพระราชธิดาแล้วร้องไห้ ได้นำความไปกราบทูลพระราชาๆ เสด็จมาทอดพระเนตรแล้วทรงพระโศกา ดำรัสถามพระราชธิดาว่า เหตุเรื่องนี้เป็นอย่างไรขึ้นก่อน พระราชธิดาจึงกราบทูลเล่าถวายว่า ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันนอนหลับไปเกิดปวดนัยน์ตาขึ้นมา เหมือนมีคนเอาหลาวแหงถูกที่ลูกตาสะดุ้งตื่นขึ้นมาแลดูละไรก็ไม่เห็น เหตุบังเกิดเป็นขึ้นอย่างนี้
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงทราบดังนั้นแล้ว เสด็จออกประทับยังมหาตลาสนะ รับสั่งหาตัวแพทย์เข้ามาแล้วรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงไปตรวจดูจักษุพระราชธิดาของเราให้รู้ว่ามืดไปด้วยเหตุอย่างไร แพทย์หลวงทั้งหลายรับพระราชดำรัสแล้ว ไปตรวจๆ ดูก็รู้ว่าจักษุทั้งสองพระราชธิดาถูกต้องลมพิษ แล้วพากันกลับมากราบทูลพระราชาว่า พระเจ้าข้า จักษุทั้งสองของพระราชธิดาหามีพยาธิเบียดเบียนไม่ เป็นด้วยถูกลมพิษ แพทย์ทั้งหลายได้ประกอบพระโอสถหยอดถวายก็หาหายไม่ พระราชธิดานั้นทนทุกขเวทนาอย่างที่สุด ดุจมีผู้แทงด้วยหลาวก็ปานนั้น พระนางเธอยิ่งทรงกรรแสงไห้มิได้วายอัสสุธารา
พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดาเสวยทุกขเวทนานักทรงพระโทมนัสซบเซาอยู่ มิรู้ที่ว่าจะทำประการใดได้ พระราชเทวีก็มีพระหฤทัยประหนึ่งว่าจะทำลายไป เฝ้าทูลเซ้าซี้พระราชสามีว่า ถ้าทิ้งไว้ไม่รักษาพระราชธิดาก็จักทำกาลกิริยาไปข้าแต่พระมหาราช ชาวเมืองมีอยู่มากมายต่างจะมีวิชาความรู้และความคิดแปลก ๆ กันเพราะฉะนั้นพระองค์จงให้ราชบุรุษนำกลองไปตีป่าวร้องหาแพทย์รักษาบางทีก็จักได้หมอวิเศษมาเยียวยา
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงฟังดังนั้น จึงดำรัสเรียกอำมาตย์เข้ามาพระราชทานทรัพย์ให้พันกหาปณะแล้วตรัสว่า ท่านอำมาตย์จงนำเภรีไปตีประกาศว่า ผู้ใดรู้จักยารักษาจักษุมืดของพระราชธิดาให้หายคืนปรกติได้ ผู้นั้นจงมารับทรัพย์พันหนึ่งไป อำมาตย์รับพระราชดำรัสแล้วนำเภรีไปตีประกาศทั่วไปในเมืองและนอกเมือง สิ้นกาลล่วงไปได้ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน ก็หาได้แพทย์แม้แต่คนหนึ่งไม่ อำมาตย์ทั้งหลายก็กลับมาเฝ้ากราบทูลพระเจ้าพาราณสี
คราวนั้น มหาชนได้สดับเสียงอำมาตย์ป่าวร้องดังนั้น ก็พากันเล่าลือพูดต่อๆ ไป ฝ่ายสองตายายคยู่ ณ เรือนจำได้ยินคนเขาพูดกันจึงไต่ถามได้ความถ้วนถี่แล้วจึงพูดว่า เวลานี้ข้าพเจ้าต้องโทษอยู่ ณ เรือนจำ ถ้าว่าพ้นโทษจากเรือนจำได้แล้วอาจจะรับรักษาจักษุของพระราชธิดาได้ อำมาตย์ผู้หนึ่งได้ฟังตายายพูดดังนั้น จึงรีบไปเฝ้ากราบทูลถ้อยคำตายายนั้นให้พระราชาทรงทราบ พระราชารับสั่งอำมาตย์ให้ไปเบิกตัวตายายสองคนนั้นมา พระราชาทรงไต่ถามถึงการรักษาตา สองตายายรับรองมั่นคง จึงทรงให้พาตายายไปยังสำนักพระราชธิดา สองตายายได้เอาต้นยาฝนกับน้ำท่าหยอดในจักษุพระราชธิดา แต่พอยาแล่นไปในจักษุพิษงูนั้นก็ถอยคลายหายเป็นปรกติเหมือนน้ำที่ตกต้องใบบัวแล้วกลิ้งกลับตกไปฉะนั้น
พระราชาทรงเห็นแล้วพระโสมนัสตรัสถามว่า คุณยาของตายายดีวิเศษนัก เหตุไรยายตาจึงฆ่าคนทำครัวของเราเล่า พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้ฆ่าพ่อครัวของพระองค์ไม่ เออก็เหตุไรเตียบทองคำ (หรือลุ้งทองคำ) ของเราจึงตกตยู่ที่เรือนของตายายเล่า ข้าแต่เทวมหาราช เมื่อครั้งน้ำท่วมเมืองยกใหญ่ อำมาตย์ ๑ กับ ๓ สัตว์คือ เสือ ๑ วานร ๑ งูเห่า ๑ ได้อาศัยแพข้าพระพุทธเจ้าอยู่ ครั้นน้ำแห้งสนิทแล้ว งูเห่ารู้จักคุณนำแก้วมณีมาให้ วานรนำนานาผลไม้มาให้ เสือนำนานาหารมาให้ข้าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเสือได้นำเตียบทอง (หรือลุ้งทอง) มาให้ข้าพระพุทธเจ้าไว้ ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เป็นโจรไม่
อนึ่งเมื่อเกิดข้าวแพงครั้งหลังอำมาตย์ผู้นี้ไปหาข้าพระพุทธเจ้าอาศัยบริโภคอาหารอยู่กับข้าพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ บัดนี้เขาคิดทำอุปการะตอบแทนคุณข้าพระพุทธเจ้า และให้นำข้าพระพุทธเจ้ามาขังไว้ ณ เรือนจำ จนได้ประกอบโอรสถวายพระราชธิดา แน่ะตายาย เราเข้าใจว่าตายายเป็นโจรจริงตามคำเขาบอกเล่าเราทำโทษแก่ตายายผิดไป ตายายจงให้อภัยแก่เราเสียเลิด ตรัสแล้วจึงรับสั่งให้ตายายอาบน้ำชำระกายด้วยน้ำหอม แล้วประทานผ้าราคามากให้นุ่งห่ม ถอดอำมาตย์ผู้นั้นทำให้เป็นทาสของตายาย ประทานบ้านส่วยช้างม้าและรถให้เป็นรางวัล แล้วทรงตั้งตานั้นไว้ในตำแหน่งเสนาบดี มีราชทินนามว่าบุณกเสนาบดี ๆ ก็ได้ไปพาเอาเต่าทองมาเลี้ยงไว้ในเรือนของตน
เต่าทองนั้นเมื่อจะให้โอวาทความสั่งสอนบุณกเสนาบดีกับภรรยาจึงกล่าวว่า ทานควรจะให้ศีลควรจะพึงรักษา แล้วกล่าวพระคาถาทั้งหลายนี้ว่า
ทานฺจ สคฺคโสปาณํ | ทานํ อปายนิวารณํ |
ทานํ สมฺปตฺติทายกํ | ปติฏฺาธ โหติ ทานํ |
ทาเนน เทวตํ ลพฺเภ | ทาเนน จกฺกวตุติฺจ |
ทาเนน มนุสฺสสมฺปตฺตึ | ทาเนน มรสมฺปตฺตึ |
ทานํ มหปฺผลํ โลเก | ทานํ มหานิสํสฺจ |
ปติฏฺา สพฺพปาณีนํ | โลกิยสมฺปตฺตึ ลเภ |
อุตฺตรสมฺปตฺตึ ปตฺเต | อติทาเนน วิสุชฺฌติ |
ความว่า ทานการให้เป็นบันไดแห่งสวรรค์ และเป็นเครื่องป้องกันปิดประตูอบาย ทานอันจักให้ซึ่งสมบัติ และย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกนี้ ผู้ที่จะได้ซึ่งความเป็นเทวดาหรือจักรพรรดิราชาก็ดี และได้มนุษยสมบัติและมารสมบัติก็ดีก็ได้ด้วยผลทาน ทานย่อมมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ในโลก ทานเป็นที่อาศัยของสรรพสัตว์ ให้ได้โลกียสมบัติและให้ถึงสมบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป สรรพสัตว์ย่อมจะบริสุทธวิเศษก็ด้วยทานอันยิ่ง ๆ ตามลำดับชั้น
อนึ่งการให้ข้าวน้ำเป็นทานเป็นเหตุทำทายกผู้ให้ๆมีอายุยืนให้ปราศจากภยุปัททวะ และให้มีมหาเดชมหาพละมหตานุภาพ อันนี้เป็นผลอานิสงส์แห่งอันนปานทาน การให้ยานพาหนะเครื่องอุปการะสำเร็จในการไปมีรองเท้าเป็นต้น ทายกผู้ให้จะได้เจริญอยู่ในความสุขทุกอิริยาบถ คือ จะนอนจะนั่งจะยืนจะเดินก็เป็นสุข ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง อันนี้เป็นผลอานิสงส์แห่งอุปาหนาทิทาน การให้อลังการมีผ้าเป็นอาทิ เป็นเหตุให้ทายกผู้ให้มีรูปงามพร้อมด้วยลักษณะเป็นที่รักนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้ได้เห็นเละจะเป็นผู้มีหัตถาทิวัยวะไม่ยาวไม่สั้นเกินไป และจะมีผิวกายไม่ดำไม่ขาวเกินไป เทพดาและมนุษย์ย่อมยกย่องสรรเสริญทุกทิวาราตรี อันนี้เป็นผลอานิสงส์แห่งวัตถาทิทาน
อนึ่ง การให้เสนาสนะมีฟูกหมอนเป็นอาทิ ทายกผู้ให้ย่อมจะได้วิมานทิพย์เป็นผล ทายกชนนั้นจะอยู่ ณ ประเทศได ก็จะได้เป็นที่พึ่งของชนในประเทศนั้น มหาภัยมีราชภัยเป็นอาทิ ก็จักไม่มีมาถึงแก่ทายกผู้นั้นเลย อันนี้เป็นผลอานิสงส์แห่งเสนาสนทาน ทายกผู้ใดพึงให้ที่บ้านเรือนและที่ไร่นาแก่ปฏิคาหกผู้ต้องการทายกผู้นั้นจะได้ทิพย์วิมานและทิพาหาร และจะได้ทิพย์สุขปราศจากทุกข์ภัยยันตรายโจรทั้งหลายก็จักไม่ฉกลักทรัพย์สมบัติไปได้ อันนี้แลเป็นผลอานิสงส์วัตถุทาน การบริจาคเงินทองเป็นต้น ย่อมมีผลและอานิสงส์ใหญ่ บุคคลผู้บริจาคทานไว้ จะพึงได้อานิสงส์แห่งบุญในปัจจุบันและอนาคตและย่อมจะได้เสวยสมบัติทั้งมวลด้วยประการฉะนี้
สุวรรณกัจฉปโพธิสัตว์เจ้า เมื่อจะสั่งสอนให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้กล่าวพระคาถาทั้งหลายนี้ว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี | เนว สตฺเต หนนฺติ เย |
น ฆาเฏนฺติ น มาเรนฺติ | เต น มุฬฺหา กาลํ กโรนฺติ |
เทวโลเก อุปฺปชฺชเร | เนวานุโภติ มหาทุกฺเข |
อิธ มนุสฺสสมฺปตฺตึ | มนุสฺสโลเก อุปฏฺิเต |
องฺคปจฺจางฺคสมฺปนฺโน | อาโรหปรินาหวา |
ชวนพลสมฺปนฺโน | โส จ สุปติฏฺิตปาโท |
สุปารุโต วณฺณวนฺโต | นิโรโค นิรุปทฺทโว |
สุวณฺณตา มหาพลวา | โลกปิยา อฉมฺภิตา |
สุรตา อเภษชฺชปุริสา | อนนฺตปริวาริตา |
อปฺปาตงฺคา อโสกิยา | ปิยา มนาปาวิโยคา |
ทีฆายุกา มหปฺผลา | ปาณาติปาตา วิรมา |
อิติ มหปฺผลานิสํสา | อิทมฺปิ ปมสีลนฺติ |
ความว่า นรชนเหล่าใดเว้นจากปาณาติบาต ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า นรชนเหล่านั้น ย่อมไม่หลงทำกาลกิริยาตาย เมื่อตายแล้วย่อมไปเกิดในเทวโลก ถึงอยู่ในมนุษย์โลกนี้ ก็จะได้เสวยมนุษย์สมบัติเป็นผาสุกปราศจากทุกข์ทั้งหลาย อนึ่งนรชนผู้นั้น จะสมบูรณ์ด้วยสริราพยพงามผ่องผุดดุจทองคำ ทั้งมีกำลังว่องไวจะย่างเหยียบก็แคล่วคล่องไม่ขัดขวาง และปราศจากโรคอุปัททวะและเป็นที่รักของชนทั่วโลกและจะเป็นผู้องอาจมีบริวารมากไม่ร้าวรานสมัครสมานยินดีสวามิภักดิ์ ทั้งจะไม่มีความโศกวิโยคจากของที่รักเจริญใจ กับจะมีอายุยืนยาวนาน การเว้นจากปาณาติบาต ย่อมมีผลอานิสงส์ใหญ่อย่างนี้แล อันนี้เป็นผลแห่งศีลที่หนึ่ง
ผู้มีวิรติเจตนาเว้นจากอทินนาทาน คือไม่ถือเอาทรัพย์และพัสดุของผู้อื่นซึ่งเขามิได้ให้นั้น ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่คือทรัพย์สมบัติจะมั่งคั่งมีมาก ทรัพย์สมบัติที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดมีขึ้น ที่เกิดมีแล้วก็จะตั้งมั่นมิได้เสื่อมถอย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพารมณ์ที่เป็นของพึงใจ ย่อมจะเกิดมีแก่บุคคลผู้นั้น ผู้เว้นจากอทินนาทานปรารถนาสิ่งใดในโลก ความปรารถนาเหล่านั้นก็จะสำเร็จเร็วพลัน ทรัพย์สมบัติมีอยู่เมื่อมิได้ให้แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็นำเอาไปไม่ได้ โจรก็ไม่อาจลักเอาไป ไฟก็ไม่ไหม้ทรัพย์สมบัติ ราชภัยและอุทกภัยและภัยอันจะเกิดแต่อมิตรและปาปมิตรก็ไม่เกิดขึ้นได้ ปีศาจหรืออมนุษย์ไม่อาจประทุษฐร้ายบีฑาได้ ทรัพย์สมบัติจะไม่สาธารณ์ศูนย์หายด้วยภัยแปดอย่าง และจะดำรงอยู่ตามปรกติสิ้นกาลทุกเมื่อ ผู้เว้นจากอทินนาทาน จะเป็นผู้มีโภคมั่งคั่งและตั้งอยู่ในความสุขพรักพร้อมด้วยบริวารชน บุตรภรรยาของตนก็จะว่านอนสอนง่าย เมื่อจะทำลายขันธ์จิตก็จะไม่ฟั่นเฟือนหลงไหล เมื่อตายไปแล้วก็จะเกิดในสุคติสวรรค์บริบูรณ์ด้วยทิพย์สมบัติ อันนี้ก็เพราะอทินนาทานวิรัตเพิ่มพูนผลให้อันนี้เป็นผลแห่งศีลที่สอง
วิรติเจตนาเครื่องงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ย่อมมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่กล่าวคือ ผู้เว้นกาเมสุมิจฉาจาร จะปราศจากข้าศึกและจะเป็นที่รักอาบใจของหมู่โลกทั่วไป จะมีโภคบริบูรณ์มากมี ญาติมากมีบริวารมาก เทพดาย่อมจะอภิบาลรักษาอยู่ทุกเมื่อ ผู้เว้นกาเมสุมิจฉาจารจะปราศจากความทุกข์โศกอุปัททวะ จะมีเดชและยศใหญ่ และจะมีเพศไม่กลับกลายมีเป็นกระเทยเป็นอาทิ และจะไม่พลัดพรากจากของที่รักไป จะเป็นผู้ที่สกลกายอันบริบูรณ์ด้วยสุภลักษณะ จะมีน้ำใจมั่นคงปรุโปร่ง อายตนะทั้งหกมีจักษุเป็นต้นก็จะโสณงามผ่องใส และจะเป็นที่รักใคร่เอิบอาบจับใจของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันนี้เป็นผลแห่งศีลที่สาม
วิรติเจตนาเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท ย่อมมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่กล่าวคือ ผู้เว้นจากมุสาวาทนั้นจะเป็นผู้ฉลาดพูด เสียงที่พูดนั้นก็ไพเราะจับใจ และจะมีมุขมณฑลอันไม่พิกลพิการ จักษุโสตมานชิวหากายมนะหกประการ ก็จะโสภณไม่แปรผัน วาจาที่พูดนั้นก็อ่อนละเอียดมั่นคงมีคนนับถือ จะพูดถ้อยคำใดถ้อยคำนั้นล้วนเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น และเป็นวาจาเที่ยงธรรมปราศจากโทษ เป็นที่โปรดปรานของเทวดาและมหาชน กลิ่นหอมดังกลิ่นสุคนธ์ก็ซ่านออกจากปาก จะมีญาติกานับถือบูชามาก และมากไปด้วยบุตรภรรยา จะมีทาสกรรมกรก็จะว่าง่าย ทั้งจะมีโคควายช้างม้าใช้สอยมากเหลือล้น อันนี้เป็นผลแห่งศีลที่คำรบสี่
นรชนหญิงชายทั้งหลาย ผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมากล่าวคือสุราและเมรัย ย่อมจะได้ซึ่งผลอานิสงส์ใหญ่ ในปัจจุบันและอนาคตกาล คือจะมีสติและปรีชาญาณไม่พิการเสียจริต จะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะไม่ฟั่นเฟือนหลงไหล และจะไม่บ้าใบ้ไม่เจรจาส่อเสียดหรือวาจาเหลวไหลและถ้อยคำหยาบคาย และจะเป็นผู้กอร์ปด้วยกตัญญูและกตเวที จะเป็นผู้ไม่ตระหนี่มีปรกติบริจาคทาน จะมีสันดานซื่อตรงหนักแน่นน้อยความโกรธ อันนี้เป็นผลแห่งศีลที่คำรบห้า
สุวรรณกัจฉปโพธิสัตว์ สั่งสอนบิดามารดาและให้ตั้งอยู่ในทานและศีลด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงดำริว่าเราเป็นเดียรัจฉาน เมื่ออยู่ในพระนครนี้หาได้ความสุขจิตไม่ เราจักไปอยู่เสียยังราวป่าดีกว่า คิดแล้วจีงลาบิดามารดาๆ ให้อนุญาตแล้วก็ไปยังป่าได้อยู่ตามสบายใจในที่แห่งหนึ่ง
ต่อแต่กาลนั้นมา ท่านบุญกเสนาบดีกับภรรยาตั้งอยู่ในโอวาทแห่งพระโพธิสัตว์ ได้สมาทานนิจศีลบำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น ให้สร้างโรงทานบริจาคทรัพย์วันละพันกหาปณะ บำเพ็ญมหาทานแก่ยาจกวณิพกและสมณพราหมณ์เสมอมา
สกฺโก เทวราชา คราวนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า พระโพธิสัตว์ของเราไปเกิดในกำเนิดเต่า คุณความดียังหามีปรากฏทั่วแก่มหาชนไม่ เราจักไปยังมนุษยโลกถามปัญหากะพระเจ้าพาราณสี ดำริแล้วครั้นถึงเวลาเที่ยงแห่งราตรี จึงเสด็จเข้าไปยังปราสาทพระราชาพาราณสี เปล่งพระรัศมีให้โอภาสบรรลือสีหนาทตรัสว่า พระมหาราช ข้าพเจ้าจักถามปัญหากะพระองค์ ณ บัดนี้ พระเจ้าพาราณสีสะดุ้งตื่นขึ้นแล้ว ประณมหัตถ์เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
โก นาม ตฺวํ นาโค วาปิ | อุทาหุ ยกฺโข สุปณฺโณ |
อุทาหุ โลกปาโล จ | อุทาหุ สกฺโก ปุรินฺทโทติ |
ความว่า ท่านชื่อใดเป็นนาคหรือยักษ์หรือเป็นสุบรรณหรือเป็นท้าวโลกบาลหรือท้าวสักกปุรินททประการใด แน่ะชนินทมหาราช ข้าพเจ้าหาใช่นาคหาใช่ยักษ์ใช่สุบรรณใช่ท้าวโลกบาลไม่ ข้าพเจ้าคือท้าวสักกปุรินททเทวราช พระองค์เสด็จมาเพราะเหตุไรเล่า ข้าพเจ้ามาเพื่อจะถามปัญหากะพระองค์ พระองค์จะถามปัญหาข้อไร
ท้าวสหัสสนัยน์เมื่อจะถามปัญหา ๕ ข้อ แต่โดยยกปัญหาข้อที่ ๑ ขึ้นถามก่อน จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปถมฺเจว ปฺหัปิ | ขุทฺทกปริวตฺตนํ |
มหนฺตเมว อิธ โลเก | กตมํ ปสฺเสสิ ราชา |
ความว่า ธรรมชาติมากแล้วกลับน้อยลงมีอยู่ในโลกนี้จะได้แก่สิ่งไร พระองค์จะทรงเห็นความข้อนี้เป็นไฉน พระเจ้าพาราณสีทรงแก้ไม่ได้ ท้าวสหัสสนัยน์จึงถามปัญหาที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เป็นลำดับไป พระเจ้าพาราณสีก็หาทรงแก้ได้ไม่ ท้าวสหัสสนัยน์จึงตรัสคาดคั้นว่า ถ้าพระองค์ทรงแก้ปัญหา ๕ ข้อนี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจะต่อยพระเศียรพระองค์ด้วยฆ้อนเหล็ก ถ้าทรงแก้ได้จะบูชาพระองค์ด้วยสัตตรตะ พระเจ้าพาราณสีจึงทูลขอผลัดว่า ข้าพเจ้าจะขอหารือปุโรหิตสักวันหนึ่ง ต่อวันรุ่งเช้าจึงจะแก้ถวาย ท้าวสหัสสนัยน์ให้อนุญาตแล้วก็เสด็จกลับไป
ครั้นรุ่งขึ้นวันใหม่ พระเจ้าพาราณสีทรงสรงและเสวยเสร็จแล้ว เสด็จออกประทับ ณ มหาตลราชาสนะ จึงรับสั่งให้อำมาตย์และปุโรหิตมาประชุมพร้อมกัน ตรัสเล่าความตามซึ่งท้าวสักกเทวราชถามปัญหา ๕ ข้อให้ฟังดังกล่าวมาแล้ว จึงดำรัสว่าท่านทั้งหลายจงช่วยกันตรึกตรองแก้ปัญหา ถ้ารู้ความแล้วจงบอกแก่เรา อำมาตย์และปุโรหิตพากันคิดแก้ปัญหาก็หารู้ความประการใดไม่ ได้พากันกราบทูลพระราชาว่า ข้าพระบาททั้งหลายไม่สามารถจะแก้ปัญหา ๕ ข้อถวายได้ พระราชาทรงเศร้าพระหฤทัยจึงตรัสถามต่อไปว่า ท่านทั้งหลายไม่รู้แก้ปัญหาได้ ยังจะรู้เห็นและได้ยินได้ฟังว่า ใครๆ จะเป็นมนุษย์ก็ตาม หรือเป็นเดียรัจฉานก็ตาม ที่มีปัญญารู้เห็นอุบายจะแก้ไขได้มีอยู่ที่ไหนบ้าง
ในที่ประชุมนั้น มีอำมาตย์ผู้หนึ่งนึกถึงเต่าทองขึ้นได้จึงกราบทูลว่า พระมหาราช เต่าทองของบุญกเสนาบดีมีอยู่ตัวหนึ่งกล่าวธรรมไพเราะ เต่าทองนั้นมีปัญญาอาจวิสัชนาแก้ปัญหาได้ ดูกรอำมาตย์ เต่าทองนั้นท่านเห็นด้วยตนเองหรือได้ยินคนอื่นเขาเล่าให้ฟัง ข้าพระบาทได้เห็นด้วยตนเอง ถ้าเช่นนั้นจงไปเรียกบุญกเสนาบดีมาหาเรา อำมาตย์ผู้นั้นจึงไปเชิญบุญกเสนาบดีให้เข้ามาเฝ้าตามกระแสรับสั่ง พระราชาทรงตรัสถามบุญกเสนาบดี ได้ความว่าเต่าทองกล่าวธรรมได้มีจริงตามอำมาตย์กราบทูลไว้ จึงให้บุญกเสนาบดีนำเต่าทองนั้นเข้ามาจะทอดพระเนตร บุญกเสนาบดีกราบทูลว่า บัดนี้เต่าทองนั้นลาไปอยู่ป่าเสียแล้ว จึงรับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นท่านจงนำสุวรรณสีวิกาออกไปรับเต่าทองเข้ามาให้ได้
อำมาตย์กับบุญกเสนาบดี จึงรีบเร่งพากันไปป่าแสวงหาเต่าทองพบแล้วจึงบอกว่า บัดนี้ท้าวโกสีย์เสด็จมายังมนุษยโลกถามปัญหากะพระราชาๆ ทรงแก้ไม่ได้ เรามาหาเพื่อจะพาพ่อไป ถ้าพ่ออาจแก้ได้จงขึ้นคานหามทองนี้ไป เต่าทองนั้นจึงตอบว่า ข้าแต่บิดา พระอินทร์องค์เดียวเท่านั้นจงยกไว้ แม้ถึงเทวดาในจักรวาฬทั้งสิ้นถามปัญหา ข้าพเจ้าก็อาจแก้ได้ บุญกเสนาบดีอุ้มสุวรรณกัจฉปนั้นวางบนคานหามทอง แล้วนำมายังราชสกุลถวายให้พระราชาทอดพระเนตร ๆ แล้วทรงโสมนัสประหนึ่งว่าโอรสของพระองค์ ทรงรับสั่งให้ชำระกายด้วยคันโธทกวารี แล้วให้นั่งเหนือพระเพลาทรงลูบหลังแล้วรับสั่งว่า พ่ออาจแก้ปัญหาของท้าวอินทราได้หรือ ข้าพระบาทอาจแก้ได้ พระราชาจึงประทานนานาอาหารให้เต่าทองบริโภค พระโพธิสัตว์บริโภคแล้ว เมื่อจะทำปฏิสัณฐารกะพระราชา จึงกล่าวนิพนธคาถาเหล่านี้ว่า
กจฺจิ นุ ราช กุสลํ | กจฺจิ ราช อนามยํ |
กจฺจิ เต ราช กฺาโย | อโรคา จ เต มเหสี |
กจฺจิ อมชฺชโป ราช | กจฺจิ เต สุรมปฺปิยํ |
กจฺจิ สจฺเจ ราชธมฺเม | ทาเน เต รมติ มโน |
กจฺจิ อโรคํ โยคนฺเต | กจฺจิ วหติ พาหนํ |
กจฺจิ เต พฺยาธิโย นตฺถิ | สริรสฺสุปตาปิยา |
กจฺจิ อนฺโต จ โว ผิตา | มชฺเฌ จ พหลาตรา |
โกฏฺาคารฺจ โกสฺจ | กจฺจิ เต ปฏิสนฺธิตํ |
ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ดังข้าพระบาทขอถาม พระองคยังทรงพระสำราญไร้โรคาพาธแลหรือ ราชกัญญานารีและพระมเหสีของพระองค์ ก็ยังทรงผาสุกนิราศโรคาพาธแลหรือ อนึ่งพระองค์มิได้ทรงยินดีชอบเสวยน้ำจัณฑ์ และมีพระหฤทัยมั่นในสัจจและราชธรรมหรือประการใด อนึ่งผู้คนพลพาหนะของพระองค์ ยังทรงใช้สอยแคล่วคล่องว่องไวไม่มีโรคและไม่มีพยาธิมาเบียนสรีระให้เร่าร้อนหรืออย่างไร รัฐประเทศของพระองค์ยังปกแผ่กว้างขวางแน่นหนาทั่วถึงตลอดชั้นในและท่ามกลางแลหรือประการใด ทั้งยุ้งฉางและท้องพระคลัง ยังเต็มไปด้วยข้าวปลาและหิรัญสุวรรณรัตนะแลหรือ พระเจ้าข้า
อำมาตย์และราชกัญญาทั้งมวล ได้ฟังเต่าทองทูลปฏิสัณฐารกถา พากันชื่นชมโสมนัสสรรเสริญว่า เต่าทองนี้ฉลาดพูดด้วยถ้อยคำไพเราะจับใจเป็นนักปราชญ์ได้ดีทีเดียว พระเจ้ากรุงพาราณสีเมื่อจะกล่าวคำปฏิสัณฐารพระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
กุสลฺเจว เม ปตฺต | อโถ ปุตฺต อนามยํ |
สพฺพา มยฺหํ ราชกฺาโย | อโรคา มยฺหํ มเหสี |
อมชุชโป จาหํ ปุตฺต | อโถ เม สุรมปฺปิยํ |
อโถ สจฺเจ ทสธมฺเม | ทาเน เม รมติ มโน |
อโรคํ อโยคมฺเม เจว | อโถ วหติ พาหนํ |
อโถ เม พฺยาธิโย นตฺถิ | สริรสฺสุปตาปิยา |
อโถ อนฺโต จ เม ผิตา | มชฺเฌ จ พหลา มม |
โกฏฺาคารฺจ โกสฺจ | สพฺพํ เม ปฏิสนฺธิตํ |
ความว่า ดูกรบุตร เรายังสำราญไร้โรคาพาธ และทั้งราชกัญญานารีและพระมเหสีของเรา เขาก็ผาสุกนิราศโรคาพาธ อนึ่งเราก็มิได้ปรารถนาเสพสุราเมรัย และมีใจมั่นดำรงอยู่ในสัจจะและทศธรรม อนึ่งผู้คนพลพาหนะของเรา ยังใช้ได้แคล่วคล่องว่องไวไม่มีโรคเบียดภายให้เร่าร้อน ทั้งพระนครภายในและท่ามกลางก็แผ่กว้างแน่นหนาตลอดทั่วไป ยุ้งฉางและท้องพระคลังก็ยังเต็มไปด้วยข้าวปลาอาหาร และหิรัญสุวรรณรัตนะอเนกนับมิถ้วน
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงตรัสดังนี้แล้ว จึงขอเต่าทองกะบุญกเสนาบดีตั้งไว้ในที่เป็นบุตรบุญธรรม ทรงประทานช้างร้อยหนึ่ง ม้าร้อยหนึ่ง โคร้อยหนึ่ง ทาสร้อยหนึ่ง ทาสีร้อยหนึ่ง เงินและทองสิ่งละร้อย ให้แก่บุญกเสนาบดีแลกเปลี่ยนเอาเต่าทองนั้นไว้ แล้วทรงยกเต่าทองวางไว้ ณ สุวรรณภาชนะ เมื่อจะทรงถามสักกปัญหาจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปถมฺเจว ปฺหํป | ขุทฺทกปริวตฺตนํ |
มหนฺตเมว อิธ โลเก | กตมํ ปสฺเสสิ ตาต |
ความว่า ปัญหาข้อที่หนึ่งถามว่า สภาพที่มากแล้วกลับน้อยลงมีอยู่ในโลกนี้ จะได้แก่สิ่งไร พ่อเห็นอย่างไรจงวิสัชนาไป ณ บัดนี้
พระโพธิสัตว์สดับข้อสักกปัญหา ก็มีปัญญาเห็นแจ้งดุจแสงพระจันทรในอัมพรฉะนั้น เมื่อจะวิสัชนาปัญหาถวายพระราชา จึงประกาศแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า ขอเทพดามีภูมเทวดาเป็นอาทิและมหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น จงคอยฟังปัญหาพยากรณ์ของข้าพเจ้าว่าจะควรและไม่ควรอย่างไร ประกาศดังนี้แล้วเมื่อจะพยากรณ์แก้ปัญหา จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
โย ขตฺติยกุเล ชาโต | อุปโภคปริปุณฺโณ |
ปริวาเรหิ สหิโต | โส มหนฺโต นามเจว |
โย เอวํ มหากุเลสุ | น ทานาทิปฺุานิ จ |
น สีลภาวนานิ จ | ปุเรนฺโต โส อิโต จุโต |
อปายทุกฺเข ชาโต | มนุสฺสทุกฺเข ขุทฺทโก นาม |
ความว่า บุคคลใดเกิดแล้วในขัตติยตระกูล บริบูรณ์ด้วยอุปโภคสมบัติและบริวารสมบัติ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นใหญ่เทียวแล บุคคลผู้โดเกิดในมหาตระกูลอย่างนี้แล้ว หาทำบุญมีทานเป็นต้นและหาทำศีลและภาวนาให้บริบูรณ์ไม่ บุคคลผู้นั้นครั้นจุติจากโลกอันนี้แล้ว จะไปเกิดในอบายทุกข์และมนุษยทุกข์ อันนี้แหละชื่อว่าน้อยลง ข้าแต่พระมหาราช ปฐมปัญหาว่าธรรมชาติใหญ่แล้วกลับน้อยลง มีปริยายดังทูลถวายมาฉะนี้
มหาชนมีอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น มีพระราชาเป็นประมุขได้สดับปฐมปัญหาพยากรณ์ดังนั้น จึงยังเสียงสาธุการให้เป็นไปนับตั้งพัน สรรพเทวดามีท้าวอินทราเป็นอาทิ ก็โปรยนานาบูชาสักการะให้ซ้องสาธุการ จอมมหิบาลพาราณสีทรงโถมนาการแล้ว เมื่อจะตรัสถามทุติยปัญหา จึงตรัสคาถาตามลำดับต่อไปนี้ว่า
ทุติยํ ปน ปฺหฺจ | มหนฺตํ ปริวตฺตนํ |
ขุทฺทกเยว โลเก จ | กตมํ ลพฺภติ ตาต |
ความว่า ดูกรพ่อเต่าทอง ปัญหาคำรบที่ ๒ ว่า ธรรมชาติน้อยกลับมากนั้นเป็นอย่างไร จะได้แก่สิ่งอะไร
พระโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนาปัญหาถวายพระราชาจึงกราบทูลว่าข้าแต่พระมหาราช พระองค์จงฟังถ้อยคำข้าพระพุทธเจ้า กราบทูลแล้วจึงกล่าวพระคาถาว่า
โย จ ปุพฺเพ อกตปฺุโ | อาติโก อนาโถ จ |
นีจกุเล หีเน ชาโต | โสจาปี ขุทฺทโก นาม |
โส จ อตฺตกมฺเม วิวิจฺจ | ปุพฺเพ เม อกุสลํ กตํ |
ปฺุํ มยา น กตพฺพํ | อิทานานํ ทุคฺคตโช |
อิติชานิตฺวาน โส จ | กุสลานิปิ กโรติ |
ปฺจาฏฺสีลํ สมาทยิ | ภาวนํ วิภาเวติ โส |
โส จุโต โลกา จ สคฺเค | ทิพฺพวิมาเน อุปปชฺชติ |
เทวกฺาหิ ปริวุตฺโต | ตโต โส อิธุปฺปนฺโน |
มหทฺธเน ขตฺยาทิเก | อคฺคกุเล อุปปชฺช |
อิทํ มหนฺตํ ปริวตฺตนํ | ขุทฺทเยว โลเก |
ความว่า บุคคลผู้ใดมิได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน ได้มาเกิดในตระกูลต่ำเลวทราม ไร้ญาติอนาถาหาที่พึ่งบมิได้ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าน้อย ขุททกบุคคลนั้นครั้นพิจารณาถึงกรรมของตนดังนี้ว่า เราทำอกุศลไว้และมิได้ทำบุญไว้ในกาลปางก่อน บัดนี้เราจึงเกิดในกำเนิดทุคตะเข็ญใจ บุคคลผู้นั้นครั้นรู้สึกตนดังนี้แล้ว จึ่งบำเพ็ญกุศลสมาทานศีลห้าศีลแปดและเจริญภาวนา บุคคลผู้นั้นครั้นจุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมจะไปเกิดในทิพย์วิมาน ณ เมืองสวรรค์มีนางเทวกัญญาเป็นบริวาร ครั้นจุติจากสวรรค์แล้วได้มาเกิดในมนุษยโลกนี้อีก บุคคลผู้นั้นก็จะมาเกิดในตระกูลผู้มีทรัพย์มาก หรือในตระกูลสูงมีตระกูลกษัตริย์เป็นอาทิ อันนี้เรียกว่าธรรมชาติน้อยกลับมากด้วยประการฉะนี้
มหาชนมีพระราชาเป็นต้น ได้สดับทุติยปัญหาพยากรณ์แล้ว จึ่งพากันปรบมือให้เสียงสาธุการ เทพดามีท้าวมัฆวานเป็นอาทิ ก็โปรยนานาทิพย์รัตนบุปผาให้สาธุการ จอมมหิบาลพาราณสี เมื่อจะตรัสถามตติยปัญญา จึงตรัสพระคาถาเป็นลำดับไปดังนี้ว่า
ตติยํ ตาต ปฺหมฺปิ | มหนฺตํ มหนฺตตรํ |
ตาต ตฺวํ กินฺนาม ปสฺสสิ | ชานํ อกฺขาหิ ชานโต |
ความว่า ดูกรพ่อเต่าทอง ปัญหาคำรบที่ ๓ ความว่า ธรรมชาติมากแล้วกลับมากยิ่งขึ้นไป พ่อจะเห็นว่าได้แก่สิ่งไร เมื่อพ่อรู้จงบอกไปตามความรู้
พระโพธิสัตว์เมื่อจะวิสัชนา ตติยปัญหาถวายพระราชา ณ กาลครั้งนั้น จึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โย จ อคฺุคกุเล ชาโต | โส ทานาทิปฺุานิ จ |
ปฺจ อฏฺ สีลานิปิ | สมาทยนฺโต รกฺขนฺโต |
ภาวนํ วิภาเวนฺโต จ | อิโต จุโต สคฺเค ชาโต |
ทิพฺพสมฺปตฺติปริปุณฺโณ | เทวกฺาหิ ปริวุตฺโต |
ตโต จุโต อิธ โลเก | ขตฺติยพฺราหฺมณกุเล |
คหปติมหาสาเร | อคฺคกุเล ชายติ โส |
อยํ ปน มหนฺโต จ | อติมหนฺตตโร จ |
ความว่า บุคคลผู้ใดเกิดในตระกูลสูง บุคคลผู้นั้นได้บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น และได้สมาทานรักษาศีลห้าศีลแปดและเจริญภาวนา ครั้นจุติจากโลกนี้แล้วย่อมจะไปเกิดในสวรรค์และจะบริบูรณ์ด้วยทิพย์สมบัติ มีเทวกัญญาเป็นบริวาร ครั้นจุติจากเทวสถานแล้วจะมาเกิดในโลกนี้ ผู้นั้นก็จะมาเกิดในตระกูลสูง คือขัตติยมหาศาสพราหมณมหาศาลศหบดีมหาศาล อันนี้แหละเรียกชื่อว่าธรรมชาติมากแล้วกลับมากยิ่ง ๆ ด้วยประการฉะนี้
อำมาตย์และมหาชนมีพระราชาเป็นต้น ได้สดับตติยปัญหาพยากรณ์แล้วพากันปรบมือให้สาธุการ เทพดามีท้าวมัฆวานเป็นอาทิ ก็ให้เสียงสาธุการกึกก้องโกลาหล พระเจ้าปฐพีดลเมื่อจะตรัสถามจตุตถปัญญา จึงตรัสคาถานี้ว่า
จตุตฺถํ ปฺหํ ปุจฺฉามิ | ทหรํ ปริวตฺตนํ |
มหลฺลกํ เจว โลเก | กึ ปสฺสสิ วิสชฺเชหิ |
ความว่า เราขอถามปัญหาคำรบ ๔ มีความว่า ในโลกนี้ คนแก่แปรกลับเป็นเด็ก มีอาการเป็นไฉน พ่อเห็นอย่างไร จงวิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้
พระโพธิสัตว์เมื่อวิสัชนาจตุตถปัญหาถวายพระราชา ในกาลครั้งนั้น จึงกล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โย จายุนา มหลฺลโก | มหลตฺตํ น ชานาติ |
โส พหุปาปํ กโรนฺโต | ทหรกุมาเรหิ จ |
สมาคมมฺปิ คจฺฉติ | ปาปกมฺมานิ กโรติ |
ปาณาติปาตํ กโรติ | อทินฺนาทานํ คณฺหติ |
มิจฺฉจารฺจ จรติ | มุสาวาทฺจ ภณติ |
ปิสุณาวาจํ ผรุสํ | สมฺผปฺปลาวาจํ วทติ |
โส อิโต โลกา จวิตฺวา | จตูสุ อปาเยสุ จ |
มหาทุกขานุภุยฺยติ | ทีฆมทฺธานํ น สุขํ |
ตโต จุโต โส โลกสฺมึ | กปฺปนยาจกกุเล |
ทุคฺคตกุเล จ ชาโต | โส จ มหลฺลโก เจว |
ทหโร นาม กุมาโรติ |
ความว่า บุคคลผู้ใตแก่ด้วยอายุหารู้จักความที่ตนแก่แล้วไม่ บุคคลผู้นั้นยังทำบาปกรรมมากอยู่ และขอบสมาคมกถับคนหนุ่ม เด็กๆ ย่อมทำปาปกรรมทั้งหลาย คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กามมิจฉาจาร และกล่าวมุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาวาท บุคคลผู้นั้นครั้นจุติจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปเกิดในอบายภูมิสี่มีนรกเป็นต้น และย่อมเสวยผลมหาทุกข์หาความสุขบมิได้สิ้นกาลช้านาน บุคคลผู้นั้นครั้นจุติจากอบายสี่แล้ว จะมาเกิดในโลกนี้ ก็จะเกิดในตระกูลคนกำพร้าและยากจนทุคตเข็ญใจ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าแก่แล้วกลับเป็นเด็ก โดยปริยายอย่างนี้แล
มหาชนมีพระราชาเป็นประธาน เทพดามีท้าวอินทราเป็นต้น พากันปรบมือให้เสียงสาธุการ พระเจ้าพาราณสี เมื่อจะถามปัญจมปัญญา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปฺจมปฺหํ ปุจฺฉามิ | มหลฺลกํ ปริวตฺตนํ |
ทหรทารกํ เจว | กึ ปสฺสสิ วิสชฺเชหิ |
ความว่า เราขอถามปัญหาคำรบ ๕ มีความว่า คนที่เป็นเด็กทารกแล้วกลับเป็นคนแก่ ด้วยอาการเป็นไฉน ท่านเห็นอย่างไร จงวิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้
พระโพธิสัตว์เมื่อวิสัชนาปัญจมปัญหาถวายพระราชา จึงกราบทูลด้วยพระคาถานี้ว่า
โย จ ปุคฺคโล ทหโร | อายุนา สตฺตวสฺสิโก |
ปฺวา เมธาวี เจว | ปณฺฑิโต จ พหุสุตฺโต |
สพฺพสิปฺเป โกวิโท จ | การณาการณชาโน |
สทฺธาสติปฺาสมฺปนฺโน | อตฺตปรตฺถํ ชานนฺโน |
ทานานิ จ ททนฺโต โส | สีลานิ จ รกฺขนฺโตว |
เมตฺตาภาวนํ ภาเวนฺโต | ปาปมิตฺตํ ปหานาย |
กลฺยาณมิตฺตํ เสวนฺโต | ปาณฆาฏา ปติวิรโต |
ปรธนํ อคณฺหนฺโต | ปรทารํ น ผุสฺสติ |
มุสาวาทํ น ภณติ | มชฺชปานํ น ปิวติ |
โส จ อายุนา ทหโร | ปฺามหลฺลโก เจว |
อิมมฺหา โลกา จวิตฺวา | สคฺเค โส อุปปชฺชติ |
ทิพฺพสมฺปตฺตึ ภุยฺยติ | ตโต จุโต อิมสฺมึ จ |
มนุสฺสโลเก อุปชฺช | รตนิตฺถิยา กุจฺฉิมฺหิ |
ปฏิสนฺธึ คณฺหาเปติ | อคฺคกุลมฺหิ ชาโตว |
อิมสฺมึ ปฺุานิ กตฺวา | สํสาเร จ สัสรนฺตา |
ปจฺฉา นิพฺพานมุตฺตมนฺติ |
ความว่า บุคคลผู้ใดเป็นเด็กอายุเจ็ดปี เป็นผู้มีปัญญาเป็นนักปราชญ์เป็นพหูสูต และฉลาดรอบรู้ในศิลปะทั้งปวง รู้จักเหตุที่ควรและไม่ควร มีศรัทธาสติและปัญญารู้จักประโยชน์ตนและคนอื่น บริจาคทานรักษาศีลเจริญภาวนา ละเสียซึ่งชนปาปมิตร คบหาแต่กัลยาณมิตร และไม่ฆ่าสัตว์ไม่ลักทรัพย์ไม่ทำปรทารกรรมไม่พูดปดไม่ดื่มน้ำเมา บุคคลผู้นั้นเป็นเด็กโดยอายุ เป็นผู้แก่ด้วยปัญญาโดยแท้ ก็และผู้นั้นครั้นจุติจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมจะไปเกิดในสวรรค์เสวยทิพย์สมบัติอันโอหาร ครั้นจุติจากสวรรค์แล้ว เมื่อจะมาเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็จะเกิดในตระกูลสูงสุดถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งหญิงแก้ว แล้วบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เมื่อยังท่องเที่ยวในสังสารวัฏ ก็ได้เสวยสุขสมบัติแสนสำราญ ภายหลังจะถึงซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุดชาติ
พระโพธิสัตว์วิสัชนาปัญหา ๕ ข้อเสร็จ แล้วก็หมอบอยู่ตรงพระพักตร์พระราชา ท้าวเทวราชและเทพบุตรธิดาสถิตอยู่ ณ อากาศ ให้สาธุการเชยชมและบูชาสักการะด้วยรัตนะและดอกไม้เงินทองต่างๆ พระราชาและข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดทั่วไป ทั้งชาวพระนครพากันประณมกรกราบไหว้ให้สาธุการนับตั้งแสน พระโพธิสัตว์เมื่อจะถวายโอวาทแก่พระราชาให้ยิ่งขึ้นไป ได้กล่าวพระคาถานี้ว่า
อลโส คีหิ กามโภคี | อสฺฺโต ปพฺพชิโต |
อนิสมฺมการี ราชา | ปณฺฑิโต โกธวสิโก |
อิเม จตฺตาโร ปุคฺคลา | น หิ สาธุ โลกสฺมึ จ |
โย จ ราชา อธมฺมิโก | อมจฺจา จ อธมฺมิกา |
อถ นครวาสิโน | ตถา ภุมฺมจกาสเทวา |
อถ สมณพฺราหฺมณา | สพฺเพ อธมฺมิกา โหนฺติ |
มธุรผลา อปฺปรสา | ทุวุฏฺิกา ทุภิกฺขา จ |
พหู โจรกมฺมา กโรนฺติ | ปาปกา ลามกา ชนา |
อปิ โย ราชา ธมฺมิโก | สีลวา สทฺธาสมฺปนฺโน |
ทสราชธมฺเม สจฺเจ | อโกเปตฺวา โลภเหตุ |
ตถา อมจฺจาทโย จ | พฺราหฺมณคหปติกา |
นครวาสิโน ปิจ | พหู ชนา ธมฺมิกา ว |
อถ เทวตาภุมฺมฏฺา | อากาสรุกฺขวิมานฏฺา |
ยาว จาตุมหาราชิกา | ตถา อธมฺมิกา เต โหนฺติ |
จนฺทสุริยนกฺขตฺตา | น อตฺตโต ราสิยฺจ |
วิถิยฺจ วิชหิตฺวา | เทโว จ สมฺมาวสฺสติ |
สสฺสานิ จ สมฺปชฺชนฺติ | สาลีนํ คนฺธวสานิปิ |
ผลานํ รโส ปากโฏ | มนุสฺสา สุพจฺจา พหู |
จตุปาทา เมตฺตจิตฺตา | ทฺวิปาทาปิ ตถาปิจ |
อฺมฺํ สุมานสา | มนุสฺสภาสาย วุตฺตา |
ความว่า ผู้ครองเรือนบริโภคกามเป็นผู้เกียจคร้าน บรรพชิตผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ พระราชาไม่ทรงพิจารณาและทำไป บัณฑิตผู้ลุอำนาจแห่ง/*310ความโกรธ บุคคลสี่จำพวกเหล่านี้เป็นผู้ไม่ดีไม่งามในโลกทีเดียว อนึ่งพระราชาองค์ใดไม่เป็นธรรม อำมาตย์ก็ไม่เป็นธรรม ครั้นพระราชาและอำมาตย์ไม่เป็นธรรมแล้ว ประชาชนตลอดถึงภูมเทวดาอากาศเทวดา และสมณพราหมณ์ทั้กปวง ก็พลอยไม่เป็นธรรมไปตามกัน ทีนั้นผลไม้ที่มีรสหวานก็จะคลายรสไป ฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารก็จะหากินยาก คนบาปลามกก็จะทำโจรกรรมมากมาย
อนึ่ง แม้พระราชาองค์ใดผู้ทรงธรรม กอร์ปด้วยศรัทธาและศีล ไม่ทำทศราชธรรมและสัจธรรมให้กำเริบ (คือไม่ละทศธรรมและสัจจะเสีย) เพราะเหตุแห่งความโลภ พราหมณ์และคหบดีมีอำมาตย์เป็นต้น ตลอดจนถึงประชาชนเป็นอันมาก ก็จะพลอยเป็นธรรมไปด้วยกันทั้งหมด ทีนั้นเทพดาที่อยู่ ณ ภาคพื้นและอากาศและรุกขวิมาน ตราบเท่าถึงจาตุมหราราชิกเทวดาก็จะพากันเป็นธรรมไปเหมือนกัน พระจันทร์พระอาทิตย์และดาวนักษัตรก็จะรักษาราศีและวิถีของตนไว้มิได้ละให้ห่างไกล ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าธัญญาหารก็จะบริบูรณ์พูนผล คันธรสแห่งข้างสาลีก็จะมีกลิ่นหอมโอชา ผลาผลก็จะปรากฏรสเอมโอช อนึ่งโสดมนุษย์ทั้งหลายก็จะว่าง่ายสอนง่าย สัตว์จตุบาททวิบาททั้งหลายก็จะมีเมตตาจิตโสมนัสต่อกันและกัน ประหนึ่งว่าจะพูดภาษามนุษย์ได้
เมื่อจบเทศนาลงครั้งนั้น มหาชนมีพระราชาเป็นประมุขก็ชื่นชมโสมนัส พากันสมาทานเบญจศีลและเจริญเมตตาภาวนา บำเพ็ญการกุศลและทานเป็นต้น และตั้งเต่าทองไว้ในที่เป็นอาจารย์ของตนๆ มหาชนผู้ตั้งอยู่ในโอวาทแห่งพระโพธิสัตว์ได้ทำกุศลวัตรมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นอายุของตนแล้วได้ไปเกิดในสุคติสวรรค์ พระราชาและพระราชกัญญาทั้งหลาย ได้บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นชนมายุแล้วได้ไปเกิดในเทวโลก เต่าทองนั้นรักษาศีลเป็นนิจ เมื่อจุติจิตแล้วได้ไปเกิดในเทวโลกสรรค์
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า สองคนผัวเมียนั้นมิได้ตั้งอยู่ในโอวาทของนักปราชญ์ จึงถึงความวินาศอย่างใหญ่ ภายหลังได้ตั้งอยู่ในบัณฑิโตวาท จึงถึงซึ่งความบริบูรณ์ด้วยสมบัติ แล้วพระองค์ตรัสประกาศอริยสัจจกถา ครั้นจบอริยสัจจเทศนาลง มหาชนเป็นอันมากก็ได้บรรลุถึงมรรคและผลมีโสดาเป็นต้น สมเด็จพระทศพลจึงประชุมชาดกว่า สองคนผัวเมียในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือเศรษฐีตระกูลสองคนนี้ อำมาตย์ผู้สอนยากในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือกุลบุตรสอนยาก ท้าวสักกเทวราชในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอนุรุธ พระเจ้ากรุงพาราณสีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระสารีบุตร พระราชบุตรีมเหสีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือนางเขมาภิกษุณี พยัคฆเสือสีห์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานนทเถระ งูเห่าในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอุบาลีเถระ วานรในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระโมคคัลลานเถระ บริษัทนอกจากนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท เต่าทองในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าเทียวแล