เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน
วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรม เรื่อง ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญ และสันติสุข (ตอนที่ 2 ) ซึ่งจะได้กล่าวถึง จักร 4 ได้แก่ ธรรมปฏิบัติ 4 ข้อ ที่เป็นดุจล้อรถ นำรถคือผู้ปฏิบัติให้ได้ถึงที่หมาย คือความสำเร็จ กล่าวคือ ได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต จักร 4 คือ ธรรมปฏิบัติ 4 ข้อนั้น ได้แก่ ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ 1 สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ 1 อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ 1 และ ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน 1
ธรรมปฏิบัติ 4 ข้อนี้ อาตมภาพได้กล่าวข้อที่ 1 “ปฏิรูปเทสวาสะ” การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้ ในวันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวข้อที่ 2 ที่ 3 อีกต่อไป
2) สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ
การคบสัตบุรุษ หรือ สัปปุริส หมายถึงการคบคนดี คนมีศีล มีธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง การคบบุคคลที่ประพฤติดีประพฤติชอบ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ (คำว่า “สัตบุรุษ” หรือ “สัปปุริส” 2 คำนี้มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงคนดี คนมีศีลมีธรรม แต่คำว่า “สัตบุรุษ” นั้น เป็นการเขียนอย่างภาษาสันสกฤต ส่วนคำว่า “สัปปุริส” นั้น เขียนอย่างภาษาบาลี)
คำว่า “การคบ” มีความหมายตามบาลีพระพุทธภาษิตนี้ว่า “อุปสฺสย” ซึ่งแปลว่า “ที่เป็นที่เข้าไปนอนหรือที่เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่” ณ ที่นี้ก็คือ “ที่เป็นที่พึ่งพาอาศัย” นั่นเอง เมื่อสนธิสองคำนี้ คือ “สปฺปุริส” กับ “อุปสฺสย” เข้าด้วยกัน เป็น “สปฺปุริสูปสฺสย” ท่านผู้รู้จึงแปลว่า “การคบสัตบุรุษ” เพราะฉะนั้น คำว่า “การคบ” ณ ที่นี้ จึงหมายถึง การได้หรือมีคนดี เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย แล้ว ย่อมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ตามพระพุทธดำรัสตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลาย มีปรากฏในพระสูตตันตปิฎก เล่มที่ 21 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ 31 แปลความว่า
“ภิกษุทั้งหลาย จักร 4 ประการนี้ เป็นเครื่องเป็นไปแก่มนุษย์และเทวดาผู้ประกอบ เป็นเครื่องที่มนุษย์และเทวดาประกอบแล้ว ย่อมถึงความเป็นใหญ่ และความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย ต่อกาลไม่นาน.”
มีข้อที่พึงเข้าใจ คำว่า การคบคนดีเป็นที่พึ่งที่อาศัย นั้น ก็มิได้หมายความว่า คอยแต่จะพึ่งผู้อื่นโดยที่ตนเองไม่พยายามพึ่งตนเองก่อน ที่ถูกตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ตนเองนั้นแหละ จะต้องกระทำตน คือ มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พยายามยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนก่อน เป็นสำคัญ ดังบาลีพระพุทธภาษิต (ขุ.ธ.25/36) ว่า
“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ | โก หิ นาโถ ปโร สิยา | |
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน | นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ” | |
ตนนั่นแหละ เป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ก็บุคคลที่ตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้ยาก |
เพราะฉะนั้น การคบคนดีเพื่อเป็นที่พึ่งที่อาศัย นั้น จึงหมายถึงว่า ตนเองต้องอบรมตนให้เป็นคนดี เป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นหลักสำคัญ พร้อมๆ กับการรู้จักเลือกหาให้ได้หรือให้มีคนดีภายนอกมาช่วยเสริม ให้การดำเนินชีวิตของตนไปสู่ทางเจริญและสันติสุข ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างมั่นคง ดังเช่น
การบริหารกิจการใดๆ ทุกระดับ หัวหน้าหรือนักบริหารพึงต้องอบรมตนให้เป็นคนดี มีศีล มีธรรม มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ที่ดีเอง เป็นหลักสำคัญ แล้วจึงเลือกสรรหาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่เป็นคนดี มีศีล มีธรรม และมีสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ให้ได้มากที่สุด แล้ววางกำลังบุคลากรได้ถูกต้อง เหมาะสม กับหน้าที่รับผิดชอบงานในแต่ละหน่ายงานทุกระดับ แล้วยังจะต้องได้หรือมีเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน ที่เป็นคนดี มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นมิตรคู่ใจ และยังควรจะต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่โดยคุณวุฒิ วัยวุฒิ และ/หรือโดยชาติวุฒิ และแม้คณะบุคคลที่เป็นคนดี เป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำ ตักเตือน ชี้แนวทางสว่างให้ ในกรณีที่ตนเองเกิดพลาดพลั้ง หรือยังหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่เจอ ให้สามารถเห็นข้อบกพร่องที่ตนเองยังไม่เห็น ให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาได้ง่าย และรวดเร็ว ทันการขึ้น ก็ย่อมจะช่วยให้การดำเนินชีวิตและการบริหารกิจการในหน้าที่รับผิดชอบ หรือการประกอบสัมมาอาชีพของตนสำเร็จด้วยดี มีประสิทธิภาพสูง ให้ประสบผลสำเร็จในชีวิต คือถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างมั่นคงได้
เหมือนอย่างการบริหารราชการแผ่นดินโดยประชาชนเพื่อประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างประเทศชาติไทยของเรานี้ ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นคณะบุคคลดีๆ ที่มีคุณธรรมสูง มีสติปัญญา ความรู้ ความสามารถมากๆ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ทำการเลือกสรรบุคคลที่ดี มีคุณธรรม มีสติปัญญา และมีความรู้ ความสามารถมากๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และถ้าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ จะได้ตั้งใจพิจารณาเลือกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรค ที่มีคนดี ให้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้มาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ ก็เป็นอันเชื่อแน่ได้ว่า รัฐบาลที่ตั้งขึ้นนั้นจะสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศชาติ และทั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำหน้าที่นิติบัญญัติ และทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพสูง ให้สามารถพัฒนาประเทศชาติ ให้การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชน ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้อย่างแน่นอน
แต่ถ้าพรรคการเมืองใด ไม่พิถีพิถันในการคัดเลือกบุคคลดี มีคุณภาพให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกพรรค มุ่งแต่จะให้ได้ปริมาณมากๆ เพียงเพื่อให้สามารถกุมเสียงข้างมากในสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ตนและหมู่คณะของตนได้เป็นใหญ่เป็นโตเร็วๆ แต่ขาดแคลนคนดี มีคุณภาพ ส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ได้ มาทำหน้าที่บริหารประเทศชาติ และให้มาทำหน้าที่นิติบัญญัติ และข้างฝ่ายประชาชนก็ไม่พิจารณาเลือกพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองที่มีคนดีมากๆ เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ได้เข้ามาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล และทำหน้าที่นิติบัญญัติในรัฐสภา การบริหารงานประเทศชาติโดยส่วนรวม การพัฒนาประเทศชาติและการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ก็ล้มเหลว ไม่สำเร็จ และแถมยังจะก่อปัญหาทั้งทางการเมือง ทางการเศรษฐกิจ และทางสังคม ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ ได้อีกมากมาย อันจะนำประเทศชาติไปสู่ความเสื่อมและถึงความหายนะ ล่มจมได้
ความจริงเรื่อง “การคบคนดีเป็นมิตร” ได้แก่ การเลือกคบคนดีเป็นเพื่อนร่วมคิด เป็นมิตรร่วมใจ ตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้านี้ก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดี นักบริหารที่ดี เขารู้จักพระสัทธรรมนี้ และถือปฏิบัติกันโดยความเป็นระบบการบริหารที่ดี ชื่อว่า “ระบบคุณธรรม” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “merit system” ซึ่งเป็นระบบการบริหารกิจการที่เลือกคนดี มีคุณธรรม มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มาร่วมทำงานด้วยกัน อันเป็นระบบการบริหารที่ตรงกันข้ามกับ “ระบบอุปถัมภ์” หรือ “ระบบพวกพ้อง”เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “patronage system” ซึ่งเอาแต่ให้การสนับสนุนและปกป้องพวกพ้องของตัว ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ยิ่งกว่าการคัดเลือกให้ได้คนดีมีคุณภาพมาร่วมบริหารหรือร่วมทำกิจการงานในหน่วยงานของตัว หรือยิ่งกว่าการสนับสนุนและปกป้องคนดี มีคุณธรรม ระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้องนั้น ยังคงมีปฏิบัติกันอยู่ในระบบการบริหารที่ล้าสมัยของบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีวิสัยทัศน์แคบๆ และมักจะเป็นคณะบุคคลที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวร่วมกัน จึงไม่เหมาะแก่การบริหารสาธารณะหรือการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม หรือประชาชนโดยส่วนรวม
ส่วน “ระบบคุณธรรม” อันตรงกับพระสัทธรรมข้อ “สัปปุริสูปัสสยะ” คือ การคบคนดีเป็นมิตร นี้นั้น เหมาะแก่การบริหารทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนทุกระดับ ควรที่พรรคการเมืองโดยคณะกรรมการบริหารพรรค และประชาชนจะพึงสำเหนียกให้มาก เพราะการบริหาร หรือ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ดีนั้น พรรคการเมืองจะต้องคัดเลือกคนดี มีคุณภาพ มาเป็นคณะผู้บริหารและมาเป็นสมาชิกพรรค ส่วนประชาชนก็จะต้องเลือกพรรคที่มีคนดี มีคุณภาพมากๆ และเลือกตั้งสมาชิกพรรคการเมืองที่ดี มีคุณธรรม มีคุณภาพ เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้มาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศชาติ และให้มาทำหน้าที่นิติบัญญัติและตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลแทนตน ถ้าทำอย่างนี้ได้มากเพียงไรประชาชนและประเทศชาติก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขมากเพียงนั้น และพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นคนดี มีศีลธรรม มีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถมาก มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ดีที่สุดและมากที่สุด นั้นแหละยังจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากที่สุดด้วยเช่นกัน
ยิ่งในสภาวะการเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และถึงระดับโลกอยู่ในปัจจุบันนี้ หากรัฐบาลจักได้รวบรวมคนดี มีศีลธรรม ไม่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว เป็นผู้มีสติปัญญา เฉียบแหลม มีความรู้ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มาร่วมกิจการบริหาร และ/หรือ มาช่วยให้คำแนะนำปรึกษาหารืออันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนที่หนักๆ ได้มากเพียงไร ก็จะสามารถช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินบรรลุผลสำเร็จด้วยดี มีประสิทธิภาพสูงได้มากเพียงนั้น ขอแต่เพียงให้ระวังคนดีแต่เปลือกนอก หรือคนประเภทรักชาติจนน้ำลายไหล ส่วนภายในจิตใจนั้นเจ้าเล่ห์ มากด้วยกิเลสตัณหา อุปาทาน คอยแต่จะจ้องหาผลประโยชน์ หรือคอยแต่จะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ส่วนตน และส่วนพวกพ้องของตน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ จึงขอให้ระวังบุคคลผู้เช่นนี้ไว้ให้มาก รัฐบาลก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ไม่นานเกินรอ
มีข้อสังเกตในพระสัทธรรมข้อ “สัปปุริสูปัสสยะ” คือ การคบสัตบุรุษ คือคนดีเป็นมิตร นี้อีกว่า ชาวโลกมักยกย่องคนดีโดยถือเอา สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ในเชิงวิชาการทางโลก และความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ซึ่งก็มุ่งถึงวิสัยทัศน์ทางโลกอีกนั่นแหละ เป็นคุณสมบัติของคนดีเป็นอันดับที่ 1 และความเป็นผู้มีคุณธรรม คือมีศีล มีธรรม เป็นคุณสมบัติอันดับที่ 2 หรือที่รองลงไป แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงคุณลักษณะของคนดี ทรงยกย่องคนดีโดยคุณธรรมเป็นอันดับ 1 คือเป็นหลักสำคัญที่สุดและได้ทรงแสดงลักษณะอันเป็นคุณธรรมของสัตบุรุษคือคนดีไว้(องฺ.สตฺตก 23/5) เป็นหลักพิจารณา ชื่อว่า สัปปุริสธรรม 7 ดังนี้
ความเป็นผู้รู้จักเหตุ 1 ความเป็นผู้รู้จักผล 1
ความเป็นผู้รู้จักตนแล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับบุคคลอื่นตามฐานะ 1
ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพแต่ในทางที่ดีที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้ โดยสุจริต 1
ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันเหมาะสม แก่การประกอบกิจการต่างๆ และแม้กาลเวลาอันเหมาะสมแก่ การเข้าหาและพูดจากับผู้หลักผู้ใหญ่ 1
ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนหรือสังคม เพื่อแสดงกิริยาวาจาให้เหมาะสมแก่ประชุมชนหรือสังคมต่างๆ 1 และ
ความเป็นผู้รู้จักบุคคล ว่า บุคคลใดเป็นคนดี ควรคบ บุคคลใดเป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น 1
คุณธรรมของสัตบุรุษ อีก 7 อย่าง ตามพระพุทธดำรัสตรัสไว้ (มีมาในองฺ.สตฺตก. 23/113) ได้แก่
ข้อ (1) เป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรม 7 ประการ คือ มีศรัทธาในบุคคล และข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา 1 มีความละอายต่อบาป 1 มีความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล 1 เป็นผู้ได้เคยเรียนรู้ เคยได้ยินได้ฟัง ได้มีประสบการณ์มามาก 1 เป็นผู้มีความเพียรต่อกิจการงานในอาชีพ หรือในหน้าที่รับผิดชอบ 1 เป็นผู้มีสติมั่นคง 1 และเป็นผู้มีปัญญารอบรู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง 1
ข้อ (2-3-4-5) จะปรึกษาสิ่งใดๆ กับใคร จะคิด จะพูด จะทำ สิ่งใดๆ ก็ไม่ปรึกษา ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เพื่อจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ข้อ (6) เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ได้แก่ มีความเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
ข้อ (7) ให้ทานโดยเคารพ
อนึ่ง คำว่า “คนดี” นั้น ทรงหมายถึง “อริยชน” คือ ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐ ผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ได้แก่ พระอริยบุคคล ผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีพระโสดาบุคคล เป็นต้น เป็นสำคัญ อริยชนนี้ย่อมมีได้เป็นได้ ทั้งบรรพชิต คือนักบวช ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร และทั้งคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน ดังพระพุทธดำรัสที่ได้ตรัสไว้ในเรื่องจักร 4 นี้ อีกว่า
“นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ พึงกระทำอริยชนให้เป็นมิตร ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ มีบุญอันได้กระทำไว้ในปางก่อน ธัญญชาติ ทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง และความสุข ย่อมหลั่งไหลมาสู่นรชนนั้น ฯ”
คำแปลว่า “พึงกระทำอริยชนให้เป็นมิตร” นั้นพระบาลีว่า “อริยมิตฺตกโร สิยา” ซึ่งมีความหมายถึง การกระทำให้ได้หรือให้มีอริยชน คนดี เป็นมิตร เป็นที่พึ่งอาศัย การกระทำที่จะให้ได้หรือที่จะให้มีคนดีเป็นมิตรนั้น ก็นับตั้งแต่การทำความรู้จัก การหาหรือการเลือกคบคนดี และการรักษามิตรไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือผู้น้อย หรือผู้เสมอกันก็ตาม ที่เป็นคนดี ให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกันยิ่งๆ ขึ้นไป และอย่างมั่นคง
แต่การที่จะพบอริยชนคนดีประเสริฐ ผู้ไกลจากกิเลสนั้น เป็นการยากนักหนา กว่าที่จะมีได้สักท่านหนึ่ง ถ้าได้หรือมีอริยชนเช่นนั้นเป็นมิตร เป็นที่พึ่งอาศัย ก็ประเสริฐที่สุด แต่ถ้าไม่ได้อริยชนผู้ทรงคุณประเสริฐเช่นนั้น ที่เป็นคนดี มีศีล มีธรรม ที่รองๆ ลงมา ก็มีค่าควรแก่การคบหา ควรได้เป็นมิตรให้มากที่สุด ก็ย่อมประเสริฐกว่าการคบคนชั่วเป็นมิตรมากมายนัก และประการสำคัญที่สุด ก็คือว่า การที่จะทำความรู้จัก การรู้จักหาหรือเลือกคบคนดีได้ถูกต้องนั้น ตนเองนั้นแหละจะต้องเป็นคนดีด้วย หมายความว่า ตนเองจะต้องอบรมตนให้เป็นคนดี มีศีล มีธรรมด้วย จึงจะสามารถรู้จักและเลือกคบหาคนดีได้ถูกต้อง และคนที่ดีนั้นจึงจะยอมรับเราเป็นมิตรที่ดีต่อกันด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะได้หรือจะมีคนดีมีคุณธรรมสูงเป็นมิตร เพราะถ้าตนเองมิใช่คนดีจริงๆ แล้ว ก็ยากนักที่จะรู้จักคนดีจริงๆ และยากที่จะเลือกคบหาคนดีเป็นมิตรได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่นนี้จะเห็นได้ชัดเจนในหมู่เยาวชน ที่ยังไม่มั่นคงในคุณธรรมที่ดีด้วยตนเองดีพอ ที่ยังไม่มีวิจารณญาณ รู้จักแยกดีแยกชั่ว ดีพอ จึงมักหลงคบ หลงตามเพื่อนที่ไม่ดี หลงเชื่อเพื่อนที่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย จนเสียเด็กมามากต่อมาก ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้ และแม้ผู้ใหญ่เองก็เถอะ มีตัวอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ไม่น้อย ที่หลงคบคนไม่ดี คนไม่มีศีล ไม่มีธรรม คนไม่มีหิริ โอตตัปปะ คือ ไม่มีความละอาย หรือเกรงกลัวต่อบาปอกุศล เอาเป็นพรรคพวกเพื่อนพ้อง ทำให้เสียผู้ใหญ่ เสียการปกครอง เสียการบริหาร มานักต่อนักแล้ว
ผู้ที่ไม่รู้จักคบคนดีเป็นมิตร ย่อมจะหวังความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข อย่างมั่นคงในชีวิตได้ยาก และถ้ายิ่งหันไปคบหรือมีแต่คนชั่ว คนขาดศีลขาดธรรม คนขาดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล เป็นพวกพ้องมากเพียงไร โอกาสที่จะถึงความวิบัติหรือถึงความเสื่อมแห่งชีวิต ก็ย่อมจะมีมากเพียงนั้น อนึ่ง สำหรับบุคคลผู้ที่ นอกจากไม่รู้จักคบคนดีเป็นมิตรแล้ว ยังชอบทำลายมิตร และสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นอีก ด้วยทิฏฐิ หรือด้วยความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา อันตัดเสียซึ่งความรัก หรือตัดเยื่อไยไมตรีกับผู้อื่น โดยไม่จำเป็น ย่อมยังโลกให้แคบลงสำหรับตนไปเสียอีก ผู้เช่นนั้น ย่อมจะหาความเจริญและสันติสุขได้ยาก และกลับจะนำชีวิตของตนให้เสื่อมลงได้โดยง่าย
“การเพาะมิตร ดีกว่า การเพาะศัตรู”
“การรักษามิตรให้คงอยู่ การทำศัตรูให้เป็นมิตร”
นั่นแหละดีกว่า
“การเป็นอยู่อย่างไร้มิตร หรือ การทำมิตรให้เป็นศัตรู”
มากมายนัก
สมดังพระพุทธดำรัสตรัสสอนไว้ว่า “พึงกระทำอริยชนให้เป็นมิตร” ซึ่งก็คือ พึงคบคนดีเป็นมิตร ความเจริญรุ่งเรือง ด้วยโภคทรัพย์ เกียรติยศ ชื่อเสียง และความสันติสุข ย่อมจะบังเกิดมีหรือย่อมหลั่งไหลมาสู่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ตามพระสัทธรรมนี้ ต่อกาลไม่นานเกินรอ
เมื่อได้คนดีเป็นมิตรแล้ว การรู้จักรักษามิตรให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หวังความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข จะพึงสำเหนียกว่า “มิตรที่ดี นั้นหายาก” เพราะเหตุนั้น จึงต้องรู้จักรักษามิตรที่ดีไว้ให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างมั่นคง โดยประการ ประพฤติปฏิบัติต่อมิตรด้วยน้ำใสใจจริง ด้วยพรหมวิหารธรรม และด้วยความระมัดระวังกิริยาวาจา ให้เหมาะสม เพราะมิตรที่ดี ที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้นั้น ย่อมมีทั้งผู้ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ โดยวัยวุฒิ โดยคุณวุฒิ หรือโดยชาติวุฒิ และทั้งผู้น้อย หรือผู้อยู่ในความปกครองบังคับบัญชา และทั้งผู้เสมอกัน การที่บุคคลจะคบหรือจะได้สัตบุรุษเป็นมิตรที่ดีแล้ว สามารถจะรักษามิตรให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างมั่นคงนั้น จักต้องรู้จักธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 อย่าง ดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่ออบรมตน รักษาตนให้เป็นคนดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ แล้วจึงจะสามารถรักษามิตรที่ดีให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างมั่นคงได้
เมื่อได้รู้จักเขา รู้จักเรา โดยคุณธรรม คือ สัปปุริสธรรม ดังกล่าวแล้ว พึงประพฤติปฏิบัติตนต่อมิตร ตามความเหมาะสมแก่ฐานะของมิตร โดยความเป็นผู้ใหญ่ หรือผู้น้อย หรือโดยความเป็นเพื่อนเสมอกัน ด้วยคุณธรรมอันแสดงลักษณะของมิตรแท้ 4 จำพวก (ที.ปาฏิ. 11/201) คือ มิตรอุปการะ 1 มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข 1 มิตรแนะนำประโยชน์ 1 และมิตรมีความรักใคร่ 1
คุณธรรมอันแสดงลักษณะของมิตรอุปการะ ได้แก่ ป้องกันมิตรและทรัพย์สินของมิตรผู้ประมาทแล้ว เมื่อมีภัยหรือยามยากเอาเป็นที่พึ่งได้ เมื่อมีธุระก็ช่วยเหลือเกินกว่าที่ออกปากขอ
คุณธรรมอันแสดงลักษณะของมิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ได้แก่ ขยายความลับของตนที่สมควรแก่มิตร ปิดความลับของมิตรอันไม่ควรเปิดเผย มิให้แพร่งพราย ไม่ละทิ้งมิตรในยามวิบัติ เมื่อถึงคราวจำเป็นแม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้
คุณธรรมอันแสดงลักษณะของมิตรแนะนำประโยชน์ ได้แก่ ห้ามมิตรผู้หลงประมาทแล้ว มิให้กระทำความชั่ว แนะนำมิตรให้ตั้งอยู่ในคุณความดี ให้ได้ฟังสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ที่ยังไม่เคยฟัง และให้ธรรมบอกทางสวรรค์นิพพานให้
คุณธรรมอันแสดงลักษณะของมิตรมีความรักใคร่ ได้แก่ ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย สุขก็สุขด้วย ปกป้องมิตรเมื่อถูกตำหนิติเตียน โดยไม่เป็นธรรม รับรองคุณความดีของมิตรเมื่อมีผู้สรรเสริญ
นอกจากนี้ การที่จะรักษามิตรให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างมั่นคง ยังควรจะต้องสงเคราะห์มิตรด้วยคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ ชื่อว่า สังคหวัตถุ 4 (องฺ.จตุกฺก.21/42) ดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
1. ทาน การให้หรือการแบ่งปันสิ่งของๆ ตนแก่มิตร ตามสมควรแก่ฐานะของทั้ง 2 ฝ่าย ดังเช่น ผู้ใหญ่แบ่งปันสิ่งของให้ผู้น้อย ผู้น้อยย่อมชื่นใจ ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองบังคับบัญชา พิจารณาความดีความชอบ ยกย่อง ให้บำเหน็จรางวัลแก่ผู้อยู่ในปกครองบังคับบัญชาด้วยความเป็นธรรม ย่อมได้รับความจงรักภักดีและการเสียสละทำงานในหน้าที่รับผิดชอบให้ด้วยกำลังใจอย่างสูง ส่วนผู้น้อยรู้จักแบ่งปันสิ่งของที่ดีๆ ที่รักของตน ให้แก่ผู้ใหญ่ด้วยน้ำใจจงรักภักดี ย่อมเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใหญ่มิรู้ลืม มิตรผู้เสมอกันจะแบ่งปันของรักของชอบใจให้แก่กันและกัน ย่อมได้รับความระลึกถึงด้วยความรักใคร่จากมิตร
การให้ที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก คือ การให้คำแนะนำที่ดี การรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน หากผู้เป็นมิตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพลั้งเผลอล่วงเกิน และการให้ธรรมแก่มิตร ตามความเหมาะสมแก่โอกาสและฐานะของบุคคลผู้เป็นมิตร ก็ยิ่งประเสริฐสูงสุด แต่พึงมีข้อควรระวังอยู่ว่าการให้คำแนะนำหรือการให้ธรรมแก่มิตรนั้น พึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมแก่โอกาสและฐานะของบุคคลผู้เป็นมิตร เพราะถ้าการให้คำแนะนำหรือให้ธรรมนั้นไม่ถูก คือไม่เหมาะแก่กาลเทศะและบุคคล หรือการแสดงกิริยาวาจาอันไม่เหมาะสมแก่ฐานะของบุคคลผู้เป็นมิตรแล้ว แทนที่จะเป็นคุณกลับจะเป็นโทษได้ ข้อนี้จึงพึงต้องสังวรระวังความประพฤติปฏิบัติต่อกันให้จงดี ในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีขนบ คือ แบบอย่าง อันพระภิกษุ สามเณรจะพึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเทียบได้กับผู้น้อยจะพึงปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ตามความเหมาะสม เช่น รักษาน้ำใจท่าน ไม่คบคนนอกให้เป็นเหตุแหนงใจ พึงเคารพในท่าน เช่น เดินตามท่านไม่ชิดนัก ไม่ห่างนัก ไม่พูดสอดในขณะที่ท่านกำลังพูด หากท่านพูดผิด ก็ไม่พูดขัดคอ คือ ไม่ทักหรือค้านจังๆ แต่พึงพูดอ้อมหรือใช้วิธีการอันแยบคายพอให้ท่านรู้ตัว ดังนี้เป็นต้น
การให้อามิส คือ สิ่งของ การให้อภัย การให้คำแนะนำ และการให้ธรรมแก่มิตร ด้วยน้ำใจไมตรี และด้วยความเหมาะสม อย่างนี้แหละ ที่เป็นเครื่องผูกหรือเครื่องยึดเหนี่ยวใจมิตรให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ได้นานและมั่นคง
2. ปิยวาจา การเจรจากับมิตรด้วยถ้อยคำไพเราะ ไม่ประมาทล่วงเกินหรือหักรานน้ำใจมิตร ด้วยกิริยาและวาจาอันตัดเสียซึ่งความรักหรือตัดเยื่อใยไมตรี ก็เป็นคุณเครื่องยึดเหนี่ยวใจมิตรไว้ได้ดี
3. อัตถจริยา การประพฤติตนที่เป็นประโยชน์แก่มิตร
4. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอ คือประพฤติปฏิบัติตนดีต่อมิตร รักษาน้ำใจมิตร ด้วยน้ำใสใจจริงของตน อย่างสม่ำเสมอ
บุคคลใดรู้จักคบ คือได้หรือมีสัตบุรุษ คือ คนดี มีศีลมีธรรม ผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นมิตร เป็นที่พึ่งอาศัย และรู้จักรักษามิตรให้คงเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างมั่นคง ด้วยคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวใจมิตรอย่างนี้ เป็นอันหวังได้ว่า การดำเนินชีวิตของบุคคลนั้น ย่อมถึงความสำเร็จ คือ ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขยิ่งๆ ขึ้นไปได้
ก่อนจบปาฐกถาธรรมนี้ อาตมภาพขอประชาสัมพันธ์แก่ผู้ฟังสาธุชนทั้งหลาย ผู้สนใจธรรมปฏิบัติ ขอสมัครเข้ารับการอบรมภาวนาธรรม ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้ทุกวัน หลังทำวัตรเช้า-เย็น และทุกวันอาทิตย์เวลา 9.00 – 14.00 น.
ขอฝากคติธรรมอีกครั้ง เพื่อให้ท่านผู้ฟังนำไปประพฤติปฏิบัติตนให้ถึงความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขในชีวิตของตน ว่า
“การเพาะมิตร ดีกว่า การเพาะศัตรู”
“การรักษามิตรให้คงอยู่ การทำศัตรูให้เป็นมิตร”
นั่นแหละดีกว่า
“การเป็นอยู่อย่างไร้มิตร หรือ การทำมิตรให้เป็นศัตรู”
เป็นไหนๆ
และขออำนวยพรให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน จงปราศจากความทุกข์โศก โรค ภัย และจากอันตรายทั้งปวง จงมีอายุมั่นขวัญยืน เจริญรุ่งเรืองในพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกิจการงานโดยชอบ ทุกท่าน ตลอดกาลนานเทอญ เจริญพร.
พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2540