เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน
วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรม เรื่อง ธรรมดุจล้อรถนำชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุข ตอนที่ 4 ว่าด้วย “ปุพฺเพกตปุญฺญตา” ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน ซึ่งอาตมภาพได้กล่าวไปแล้ว 3 ข้อ คือ ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม 1 สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ 1 และ อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ 1 ในวันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวข้อ ปุพฺเพกตปุญฺญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน เป็นข้อที่ 4 อันเป็นข้อสุดท้าย ต่อไป
คำว่า “บุญ” ณ ที่นี้ หมายถึง คุณความดี หรือ กุศลธรรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของความประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ และเป็นธรรมเครื่องชำระจิตสันดานให้บริสุทธิ์ผ่องใส
สาธุชนพึงทราบลักษณะของความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทางกาย ทางวาจาและทางใจ ที่ชื่อว่า “บุญ” คือ คุณความดี หรือ กุศลธรรม นั้น คือ
1. เมื่อปฏิบัติ ก็ไม่เป็นการเบียดเบียนชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และเกียรติคุณความดีทั้งของตนเองและของผู้อื่น กลับมีแต่เป็นการช่วยเสริมสร้างให้ชีวิตดีขึ้น ให้มีความเจริญและสันติสุขขึ้น
2. เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ยังจะได้รับผลจากคุณความดีนั้น ตามระดับคุณความดีที่ได้กระทำไว้แล้ว เป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและถึงนิพพานสมบัติ ตามกฎแห่งกรรม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบจึงได้ตรัสสอนไว้มีปรากฏในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่15 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 333 ว่า
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
นั้น นั่นเอง
3. เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ย่อมยังจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส จึงเป็นสภาวธรรมเครื่องชำระจิตสันดาน ให้สะอาดบริสุทธิ์ดีขึ้น
ส่วนว่า หลักการประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักปฏิบัติไว้แล้ว เมื่อครั้งที่ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ ณ พระเวฬุวนาราม นครราชคฤห์ ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ เดือน 3 เมื่อ 2585 ปี ล่วงมาแล้ว ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ | กุสลสฺสูปสมฺปทา | |
สจิตฺตปริโยทปนํ | เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. | |
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การบำเพ็ญแต่ความดี 1 การทำจิตให้ผ่องใส 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย |
ดังที่อาตมภาพจะได้อธิบายขยายความต่อไปแต่ก่อนที่จะได้อธิบายหลักปฏิบัติตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ก็จะขอทำความเข้าใจ คำว่า “ปางก่อน”(ปุพฺเพ) สักเล็กน้อย ว่า ณ ที่นี้ หมายถึง ระยะเวลาที่ได้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไว้แล้วแต่อดีต คือ ในระยะเวลาที่ล่วงมาแล้ว ก่อนปัจจุบันนี้ นับถอยหลังต่อๆ ไป ถึงภพชาติในอดีต นับภพนับชาติไม่ถ้วน
อนึ่ง ใคร่ขอทำความเข้าใจเรื่องผลของคุณความดีอีกด้วยว่า
“บุญกุศล” หรือ คุณความดีนี้ เมื่อประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวดเข้า ชื่อว่า “บารมี” เมื่อปฏิบัติได้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปอีก ชื่อว่า “อุปบารมี” และ “ปรมัตถบารมี” ตามลำดับความแก่กล้าของคุณความดีที่ปฏิบัติได้และย่อมติดตามให้ผลแก่ผู้ประพฤติปฏิบัตินั้น เป็นประดุจเงาติดตามตัว ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองสันติสุขในชีวิต และถึงความสิ้นทุกข์ ได้ในที่สุด
คุณความดี ได้แก่ ทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล ในระดับ “มนุษยธรรม” ย่อมติดตามให้ผลแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข ด้วยมนุษย์สมบัติ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ บริวารสมบัติ และคุณสมบัติ เป็นต้น
ส่วนคุณความดีในระดับ “เทวธรรม” ได้แก่ ทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล อันประกอบพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะคือความเป็นผู้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศลย่อมให้ผลด้วยทิพยสมบัติ เป็นสุขสมบัติ ที่ละเอียดประณีต ยิ่งกว่ามนุษยสมบัติ
คุณความดีในระดับ “พรหมธรรม” ได้แก่ ศีลกุศล และภาวนากุศล อันประกอบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม และ/หรือ ฌานสมาบัติ ย่อมให้ผลเป็นสุขสมบัติที่ละเอียดประณีตยิ่งกว่าสวรรค์สมบัติ ได้แก่ สุขในฌานสมาบัติ เป็นต้น และ
เมื่อเป็นคุณความดีที่ยิ่งยวดถึงขั้นเป็น “บารมี” จนแก่กล้ายิ่งขึ้นเป็น “อุปบารมี” และถึง “ปรมัตถบารมี” ย่อมเป็นตบะเดชะพลวปัจจัย ให้ผู้ปฏิบัติถึงมรรค ผล นิพพาน แดนเกษมที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ อีกด้วย
เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัส จักร 4 ว่า เป็นธรรม คือข้อปฏิบัติที่เป็นประดุจล้อนำรถ คือ ชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง และความสันติสุข แห่งชีวิต ดังปรากฏในพระสุตตันตปิฎก (ฉบับสยามรัฐ) เล่มที่ 21 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ 31 ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักร 4 ประการนี้ เป็นเครื่องเป็นไปแก่มนุษย์และเทวดาผู้ประกอบเป็นเครื่องที่มนุษย์และเทวดาประกอบแล้ว ย่อมถึงความเป็นใหญ่ (และ) ความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย ต่อกาลไม่นานนัก จักร 4 เป็นไฉน คือ
- ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม 1
- สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ 1
- อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ 1
- ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว ในปางก่อน 1
หลักการประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เป็น “บุญกุศล” หรือ คุณความดี ตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คือ
ประการที่ 1 การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
ด้วยความเพียรพยายามเลิกละความชั่ว หรือ บาปอกุศลที่ได้เคยกระทำมาแล้ว หรือ ที่เคยมีอยู่แล้วในจิตสันดาน 1 ด้วยความเพียรระวังความชั่วหรือบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้นในจิตสันดาน 1 และด้วยการรักษาศีล 1
ความชั่วหรือบาปอกุศล ที่พึงเลิกละ และพึงระวังมิให้เกิดขึ้นอีกนั้น คือ
ความชั่วทางกาย ชื่อว่า กายทุจริต ได้แก่ เจตนาฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนสัตว์ที่มีชีวิตให้เดือดร้อน 1 เจตนาลักฉ้อหรือกบฏคดโกง 1 และเจตนาประพฤติผิดในกาม 1 ทั้งนี้ยังรวมความถึงการหลงติดอยู่ในอบายมุขต่างๆ ด้วย เช่น การหมกมุ่นหรือสำส่อนในกาม การเล่นและติดพนัน การเสพและติดยาเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การติดเที่ยวกลางคืน การคบคนชั่วเป็นมิตร และความเกียจคร้านในกิจการงาน เป็นต้น
ความชั่วทางวาจา ชื่อว่า วจีทุจริต ได้แก่ การกล่าวคำพูดโป้ปดมดเท็จ หลอกลวงผู้อื่น 1 การกล่าวคำหยาบคาย ด่าทอสบถสาบานต่างๆ 1 การกล่าวคำยุแหย่ให้หมู่คณะเขาแตกแยกกัน 1 และการกล่าวคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ไร้สาระประโยชน์อีก 1
ความชั่วทางใจ ชื่อว่า มโนทุจริต ได้แก่ ความคิดอ่านหรือเจตนากรรมทางใจ ที่กอปรด้วยความโลภ หรือตัณหาราคะ 1 ความโกรธ พยาบาท 1 และความหลงมัวเมา ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง 1
เพราะว่าความชั่วหรือบาปอกุศลทางกาย ทางวาจา และทางใจ นั้น เมื่อประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ย่อมเป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นให้เสื่อมเสีย หรือให้เป็นความทุกข์เดือดร้อน อีกทั้งยังจิตใจของตนให้ขุ่นมัว เศร้าหมองด้วยกิเลส และให้ผลแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติถึงความเสื่อมแห่งชีวิต เป็นโทษ และเป็นความทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง ฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้เพียรเลิกละเสีย และให้เพียรระวังมิให้เกิดขึ้นในจิตสันดานอีก
ที่ว่า ความชั่วหรือบาปอกุศล ที่เมื่อใครก็ตามได้ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น นั้น จะเห็นตัวอย่างได้ เป็นต้นว่า
ผู้เสพและติดสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมมีผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งสติปัญญาและความสามารถของผู้เสพและติดนั้นเอง เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ตามระดับของการเสพและติด และตามความร้ายแรงของยาเสพติดประเภทต่างๆ อันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป นี้เป็นการเบียดเบียนตนเองโดยตรง อย่างโง่เง่าที่สุด
อนึ่ง ยุดใดสมัยใดที่ผู้คนนับตั้งแต่ผู้ปกครอง ผู้บริหารประเทศชาติ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำ ถึงนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน ประกอบกรรมชั่วด้วยอำนาจความโลภมาก มีกายทุจริต คดโกง ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาก และ/หรือ ด้วยอำนาจตัณหา ราคะกล้า มีการสำส่อนในกิเลสกามมาก ยุดนั้นสมัยนั้นผู้คนจะประสบกับทุพภิกขันตรายคืออันตรายเพราะความอดอยากยากแค้นข้าวยากหมากแพง สภาวะการเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนจะยากจนข้นแค้นมาก หรือจะประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ อัคคีภัย (ภัยจากไฟไหม้) วาตภัย (ภัยจากลมพายุ) อุทกภัย (ภัยจากน้ำท่วม) แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม หรือฝนฟ้าแห้งแล้งเป็นต้น
ยุดใดสมัยใด ที่ผู้คนประกอบกรรมชั่วด้วยอำนาจความโกรธ พยาบาทมาก ยุคนั้นสมัยนั้น จะประสบกับสัตถันตราย คือ อันตรายเพราะการรบราฆ่าฟันกัน ได้แก่ เกิดการจลาจล วุ่นวาย ถึง เกิดสงครามกลางเมืองและ/หรือเกิดสงครามระหว่างประเทศถึงสงครามโลกมีการรบราฆ่าฟันกันล้มตายเป็นอันมาก
ยุคใดสมัยใด ที่ผู้คนประกอบกรรมชั่วด้วยอำนาจโมหะ คือ ความหลงมัวเมา ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ มาก บุคคลในยุคนั้น สมัยนั้นก็จะประสบโรคันตราย คือ อันตรายเพราะเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่ระบาด หรือที่ร้ายแรงมาก เช่นในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นผู้คนเป็นโรคมะเร็ง โรคเอดส์ และโรคร้ายแรงอื่นๆ มากขึ้น
ผลของกรรมชั่วหรือบาปอกุศลที่ผู้คนกระทำด้วยอำนาจกิเลส/ตัณหามาก ดังที่กล่าวนี้ ชื่อว่า เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งนอกจากผู้คนจะพากันประสบภัยอันตรายต่างๆ ได้แก่ ทุพภิกขันตราย อันตรายคือความอดอยาก สัตถันตราย อันตรายคือการรบราฆ่าฟันกัน และโรคันตราย อันตรายคือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆแล้ว แม้ธรรมชาติได้แก่ฤดูกาลต่างๆก็ยังวิปริตแปรปรวน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล อีกด้วย ดังพระพุทธดำรัสตรัสไว้ มีปรากฏในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 21 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ 70 ว่า
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด …
“เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ
เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ
เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ
เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ
เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ
เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ
เมื่อลมพัดไม่สม่ำเสมอ ลมก็ย่อมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอย่อมพัดเวียนไป
เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอย่อมพัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ
เมื่อเทวดากำเริบ ฝนก็ย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวก็สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก.”
เพราะเหตุนั้น จึงอย่าได้แปลกใจที่มีภัยธรรมชาติหลายๆ อย่างปรากฏแก่ชาวโลก มีทั้งลมพายุที่รุนแรง แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม เกิดสภาวะน้ำท่วม ไฟไหม้ ฝนฟ้าแห้งแล้ง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เกิดปรากฏการณ์ที่ชื่อว่า el nino และต่อไปจะมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติติดตามมาชื่อ la nina อันมีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และพืชพันธุ์ธัญญาหาร ในบริเวณพื้นที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้ อันเนื่องแต่กรรมชั่วหรือบาปอกุศลที่มนุษย์หรือสัตว์โลกได้กระทำไว้อย่างต่อเนื่องทับทวีมากยิ่งขึ้น กำลังให้ผล
ส่วนประเทศไทยเรานั้น นับว่าโชคดีหนักหนาที่เป็นเมืองพุทธ คือประชาชนกว่า 75 % ที่นับถือพระพุทธศาสนา รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริงบ้างพอสมควร จึงได้พากันประกอบการบุญการกุศลตามกำลัง ผู้ที่ทุศีล คือที่ประพฤติผิดศีลผิดธรรมก็มี แต่ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีใจบุญใจกุศล ประพฤติดีประพฤติชอบตามทำนองคลองธรรม ก็มีอยู่ ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพราะกรรมชั่วของบุคคลผู้ทุศีลหรือประพฤติชั่ว แต่ด้วยกุศลผลบุญของผู้มีศีลมีธรรม ก็พอช่วยค้ำจุนมิให้ได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายมากนัก อย่างเช่น ที่เกิดปรากฏการณ์ el nino เป็นผลให้เกิดภาวะร้อนแห้งแล้งมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว (พ.ศ.2540) จนมีข่าวในตอนต้นปีที่แล้วนี้ (2540) ว่า จะเกิดสภาวะแห้งแล้งจัด ตลอดปีที่แล้ว แต่ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย ด้วยอำนาจบุญกุศลและบารมีของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมภายในประเทศไทยเรา จึงช่วยให้ประเทศไทยเรารอดพ้นจากสภาวะแห้งแล้งจัด ทำให้มีฝนตกเพียงพอแก่การเพาะปลูกในพื้นที่ส่วนใหญ่ ไม่ถึงกับเดือดร้อนอับจน และแม้ในปีนี้จะมีข่าวสภาวะแห้งแล้งอีก บัดนี้ก็ปรากฏว่าเริ่มมีฝนตกในบริเวณพื้นที่ในภาคอีสานมากพอสมควร และยังแผ่เข้ามาภาคกลางบางพื้นที่บ้างแล้ว และหวังว่าคงจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น นี้ก็ด้วยบุญศักดิ์สิทธิ์บารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ และอำนาจของคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุ สามเณร ผู้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และทรงคุณธรรมสูง แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ต่างก็พากันช่วยกันเจริญวิชชาอธิษฐานจิตช่วยดับทุกข์แก่สาธุชนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เท่าที่กำลังบุญบารมีที่พอจะทำได้ และยังมีข้อที่น่าสันนิษฐานว่า แม้เทพยดาย่อมจะเป็นใจช่วยบันดาลให้ฝนตกด้วย ประกอบกับมีข่าวอีกว่า โครงการฝนหลวงก็กำลังจะเริ่มดำเนินโครงการทำฝนเทียม ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมนี้
เพราฉะนั้น ถ้าประชาชนจะรู้สึกตัวและตื่นตัวพากันกระทำดี พากันประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ งดเว้นความชั่ว เลิกประพฤติผิดศีลผิดธรรม และอบายมุขเสีย ก็ย่อมจะเป็นผลดี คือ ได้รับผลเป็นความเจริญและสันติสุขยิ่งขึ้นทั้งแก่ตนเองและแก่ส่วนรวมด้วยกันอีกด้วย
แต่ถ้ายังไม่รู้สึกตัวหลงมัวเมาอยู่แต่ในความชั่ว และอบายมุข มีแต่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ก็ย่อมจะได้รับผลชั่ว คือ ย่อมได้รับผลเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อนถึงความเสื่อมแห่งชีวิตอย่างที่ไม่มีใครจะสามารถช่วยได้เลยและพึงสันนิษฐานได้เลยว่า แม้เทพยดาก็จะไม่เป็นใจช่วยบันดาลให้เกิดฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แก่ประชาชนที่มีแต่คนทุศีล เอาแต่ประพฤติชั่ว ตามพระพุทธดำรัสที่ได้นำมาแสดงอ้างไว้แล้วนั้นด้วย
เพราะเหตุนี้การเลิกการละความชั่วหรือบาปอกุศลจึงเป็นบุญกุศลคุณความดีสำคัญประการหนึ่ง ที่จะเป็นเครื่องจำกัดหรือลด บรรเทา เวรภัย อันจะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญคุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป มิให้เกิดขึ้นอีก ก็จะช่วยให้การบำเพ็ญบุญกุศลคุณความดีให้สามารถปฏิบัติได้ยิ่งยวดและแก่กล้ายิ่งขึ้น เป็นบารมี อุปบารมีถึงปรมัตถบารมี ได้โดยสะดวก และยังจะติดตามให้ผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขได้ ตลอดไป
การรักษาศีล เป็นการควบคุมความประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทางกาย ทางวาจา ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ ด้วยการเจตนางดเว้นการกระทำความชั่วหรือบาปอกุศลทางกาย ทางวาจา อันมีผลให้ถึงความสงบใจและบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสหยาบ ได้แก่ อภิชฌา วิสมโลภะ (ความโลภอย่างแรงกล้า) ตัณหาราคะ ความพยาบาทมาดร้าย และมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม) และกิเลสระดับกลางๆ ได้แก่ กามฉันทะ และโมหะ (ความหลงไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ) ตามที่เป็นจริง เป็นต้น ได้อีกทางหนึ่ง ที่นับว่าสำคัญยิ่ง ก็คือ ศีลเป็นรากฐานแห่งคุณธรรมอันดีงามทั้งปวงของกัลยาณชนคนดี
ศีลขั้นต้น สำหรับทุกคนคือ ศีล 5 ได้แก่ เจตนางดเว้นการฆ่าหรือทำลายชีวิต 1 เจตนางดเว้นการถือเอาของๆ ผู้อื่นที่เขามิได้ให้ 1 เจตนางดเว้นความประพฤติผิดในกาม 1 เจตนางดเว้นการพูดเท็จ 1 และเจตนางดเว้นการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท 1
ศีลขั้นกลาง สำหรับผู้ประสงค์จะฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไป คือ ศีล 8 หรือ ศีลอุโบสถ ที่มีพื้นฐานจากศีล 5 ข้างต้น แต่เปลี่ยนศีลข้อ 3 มาเป็น เจตนางดเว้นประพฤติผิดพรหมจรรย์ (งดเว้นการร่วมประเวณี) และเพิ่มอีก 3 ข้อ คือ เจตนางดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ เวลาเที่ยงไปแล้ว 1 เจตนางดเว้นการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเพลงดนตรี หรือแม้ดูการละเล่น ที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การตกแต่งด้วยเครื่องประดับ ทัดทรงดอกไม้หรือของหอม 1 และเจตนางดเว้นการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราอีก 1
ศีลขั้นสูงยิ่งขึ้นไป ได้แก่ ศีล 10 สำหรับสามเณร และศีล 227 ที่มีมาในภิกขุปาฏิโมกข์ สำหรับพระภิกษุ
ศีลแต่ละระดับนี้ จัดเป็นบุญกุศล คุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป ตามลำดับชั้นของศีลที่ปฏิบัติได้ ถ้าได้ศึกษาอบรมกายและวาจาให้เรียบร้อยดี ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลแต่ละระดับ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ให้บริสุทธิ์และสมบูรณ์ดีอยู่ ชื่อว่า อธิศีล คือ ศีลอันยิ่ง จัดเป็น “สีลวิสุทธิ” คือ ความหมดจดแห่งศีลแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้สามารถอบรมจิตใจให้สงบ ให้หยุดให้นิ่ง เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง ให้ถึงระดับฌานจิต ให้เกิดองค์คุณเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์ เครื่องขวางกั้นปัญญา ได้โดยสะดวก อีกด้วย
ประการที่ 2 การยังบุญกุศลให้ถึงพร้อม
คือความตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้อยู่แต่ในคุณความดี ให้เป็นบุญเป็นกุศลในจิตสันดาน และทั้งเพียรพยายามเพิ่มพูนบุญกุศลในจิตสันดานให้แก่กล้าขึ้น เป็นบารมี อุปบารมี ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงเป็นปรมัตถบารมี ผลแห่งบุญกุศลคุณความดีและบารมีทั้งหลายก็จะส่งผลให้ได้รับแต่ความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป ตามระดับภูมิธรรมและบุญบารมีที่ปฏิบัติได้ ไม่มีเสื่อม
อนึ่ง ผู้ที่มีบุญกุศลคุณความดี ที่แก่กล้าถึงเป็นบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ที่ได้เคยสั่งสมอบรมมาแต่อดีตดี แล้วเพียงไร ย่อมติดตามให้ผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต ในกาลต่อๆ ไป มากเพียงนั้น
บุญกุศลคุณความดีที่บุคคลทั่วไปพึงปฏิบัติให้เกิดมีในจิตสันดานในชั้นต้นนี้คือเบญจกัลยาณธรรม คือ ธรรมอันงาม 5 ข้อ ซึ่งพึงปฏิบัติคู่กันไปกับเบญจศีล คือ ศีล 5 แล้วพึงเพียรเพิ่มพูนบุญกุศลให้มากขึ้น ให้แก่กล้ายิ่งขึ้นในจิตสันดาน จนถึงเป็นบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมีต่อๆ ไปตามลำดับ เบญจกัลยาณธรรม คือธรรมอันงาม 5 ข้อนั้น ได้แก่ เมตตากรุณา 1 สัมมาอาชีวะและทานกุศล 1 สทารสันโดษ และ กามสังวร 1 สัจจะ 1 และอัปปมาทะ หรือ สติสัมปชัญญะ 1 ดังจะได้อธิบายแต่พอสังเขปให้พอสมควรแก่เวลาต่อไป
เมตตา คือความรัก ปรารถนาที่จะให้สัตว์ทั้งปวงอยู่ดีมีสุข กรุณา คือ ความสงสารผู้อื่นที่กำลังมีทุกข์ คิดจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ เมตตากรุณาธรรม นี้จัดเป็น พรหมวิหารธรรม คือ ธรรมประจำใจอันประเสริฐของผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ เมื่อตนเองอยู่ดีมีสุข ก็ปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุขด้วย เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ก็คิดหาทางช่วยเหลือตามกำลังของตน เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ ผู้มีคุณธรรมนี้จึงย่อมเป็นผู้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั่นเอง ผู้ที่ได้บำเพ็ญเมตตากรุณาธรรมมามาก และแก่กล้าเป็นเมตตาบารมี อุปบารมี และถึงปรมัตถบารมี ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง ย่อมเป็นที่รักของหมู่ชนและแม้เทพยดาทั้งหลาย และย่อมเป็นผู้ที่มีศัตรูและมีเวรภัยน้อย ศัตรูหมู่อมิตรผู้คิดร้าย มักทำอันตรายมิได้และศัตรูมักพ่ายแพ้ภัยตัวเอง
สัมมาอาชีวะและทานกุศล คือ การประกอบอาชีพโดยชอบ คือ สุจริต ไม่คดโกงเขาเลี้ยงชีพ ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้โดยสุจริต ย่อมไม่วิบัติฉิบหายเพราะภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย ภัยจากสงครามและแม้ภัยทางธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ไฟไหม้ ลมพายุแผ่นดินไหว และแผ่นดินถล่ม เป็นต้น ผู้ประกอบสัมมาอาชีวะจึงเป็นผู้มีฐานะมั่นคง ไม่ตกต่ำ และยิ่งเป็นผู้ประกอบทานกุศลไว้มาก เป็นทานบารมี อุปบารมี และถึงทานปรมัตถบารมี ก็ยิ่งได้รับผลจากบุญบารมีที่ได้ประกอบบำเพ็ญไว้ดีแล้ว เป็นผู้เจริญด้วยมนุษย์สมบัติ ได้แก่ เป็นผู้มีรูปสมบัติงดงาม มีโภคทรัพย์มาก มีบริวารมากและเป็นผู้มีความรู้-ความสามารถคู่คุณธรรมที่สูงยิ่งๆขึ้นไปมาก ก็จะยิ่งมีผลให้เจริญด้วยสวรรค์สมบัติและถึงนิพพานสมบัติได้
ส่วนผู้ที่มักประกอบมิจฉาอาชีวะ คือ มักประกอบอาชีพที่ไม่ชอบธรรม กล่าวคือ ทุจริต คดโกงเขาเลี้ยงชีวิต ก็ย่อมจะได้รับผลตรงกันข้ามกับผลของการประกอบสัมมาอาชีวะ เพราะเหตุนั้น ผู้ที่ทำมาหากินไม่ขึ้น หรือเป็นบุคคลยากจนข้นแค้น พึงเข้าใจได้เลยว่า เพราะขาดทานกุศล จึงไม่มีบุญกุศลคุณความดีจากการที่ได้เคยบริจาคหรือเสียสละมาก่อนเป็นทุนหรือเป็นเสบียงเลี้ยงตัว ที่จะคอยเกื้อหนุนให้การทำมาหาเลี้ยงชีพเจริญขึ้นได้ บางคนจึงยากจนข้นแค้น และถึงอับจนเลยทีเดียว
เพราะเหตุนั้นบุคคลไม่พึงประมาทไม่พึงละเลยเรื่องสัมมาอาชีวะและทานกุศลนี้ บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ โดยประกอบแต่สัมมาอาชีวะ และทานกุศล ให้ยิ่งยวดแก่กล้าขึ้นไปเป็นทานบารมี ทานอุปบารมี และถึงเป็นทานปรมัตถบารมี อันมีผลให้การบำเพ็ญกุศลคุณความดีข้ออื่นๆ เจริญขึ้นตามไปด้วย ก็จะได้รับผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแก่ชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุขได้ในที่สุด
สทารสันโดษ และกามสังวร คือ พอใจแต่เฉพาะคู่ครองของตน มีความสำรวมในกาม รู้จักยับยั้งชั่งใจควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่สำส่อนในกาม ครอบครัวใดที่พ่อบ้าน-แม่เรือนประพฤติปฏิบัติตนด้วยคุณธรรมข้อนี้ ครอบครัวนั้น จะมีแต่ความอบอุ่นและสันติสุข แม้การทำมาหากินก็เจริญก้าวหน้าดี มีความเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ และความสันติสุข มีอุปสรรคข้อขัดข้องในกิจการงานน้อย ส่วนครอบครัวใดที่มีพ่อบ้าน-แม่เรือน เป็นคนทุศีล มักมากในกามารมณ์ ไม่มีความสันโดษในคู่ครองของตน หมกมุ่นอยู่แต่ในกาม สำส่อนในกาม แล้ว ครอบครัวมักจะแตกแยก มีการทะเลาะเบาะแว้งกันมาก แม้การทำมาหาเลี้ยงชีพก็ไม่เจริญ มักมีอุปสรรคในการงานมาก และมักจะเสื่อมลาภ เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงและมักได้รับแต่ความนินทาว่าร้าย และความทุกข์ แม้ตระกูลที่เคยมั่งคั่ง ก็ถึงความเสื่อมได้โดยง่าย
สัจจะ คือความจริง หมายความว่า เป็นผู้กล่าวแต่วาจาที่จริง ไม่โป้ปดมดเท็จ หรือหลอกลวงต่างๆ เป็นคนจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น คือมีแต่ความจริงใจต่อกัน ผู้ที่มีสัจจะย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือเชื่อถือจากชนทั้งหลาย ส่วนผู้ที่ไร้สัจจะก็ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับนับถือ เชื่อถือจากผู้อื่น
อัปปมาทะ หรือ สติสัมปชัญญะ คือ เป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เป็นผู้มีสติ คือ ความระลึกได้ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ก่อนจะคิด-พูด-ทำ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นหนทางไปสู่ความเจริญ อะไรเป็นหนทางไปสู่ความเสื่อม ระลึกได้แล้วก็เลือกวิธีปฏิบัติตนแต่ในทางที่ดี ที่เป็นคุณประโยชน์ ที่เป็นทางนำไปสู่ความเจริญและสันติสุข แต่ถ้าพลั้งพลาดเผลอสติประพฤติปฏิบัติไปในทางไม่ดี หรือทางเสื่อม บ้างก็รู้สึกตัว เรียกว่า มีสัมปชัญญะ แล้วกลับตัวกลับใจ ประพฤติปฏิบัติตน ตั้งตนอยู่แต่ในคุณความดี ดำเนินชีวิตไปแต่ในทางเจริญ ไม่ไปในทางเสื่อมที่เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ผู้ที่ไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะรู้ดี รู้ชั่ว รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงเพียงไร ชีวิตก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขเพียงนั้น ไม่มีเสื่อมเลย
ส่วนผู้ที่ประมาท หลงมัวเมาในชีวิต ขาดสติสัมปชัญญะด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง หรือก็พอรู้อยู่เหมือนกันแต่ไม่นำพาที่จะตั้งตนอยู่ในคุณความดี หันไปประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ชั่ว นึกว่าไม่เป็นไร หรือว่า ไม่มีใครรู้-เห็นก็หลงดำเนินชีวิตไปสู่ความเสื่อม นำตนไปสู่ความทุกข์เดือดร้อน ได้ทุกเมื่อ
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาทในชีวิตดำเนินชีวิตด้วยความมีสติสัมปชัญญะและด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ชีวิตของท่านผู้เช่นนี้ จึงมีแต่ความเจริญและสันติสุขสวัสดีในทุกเมื่อ
กล่าวโดยสรุป ผู้ที่ได้เคยประพฤติปฏิบัติตนอยู่แต่ในคุณความดี เป็นบุญเป็นกุศล คือ เป็นผู้งดเว้นความชั่วทั้งปวง บำเพ็ญตนอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม เป็นผู้กระทำแต่กรรมที่ดีงามมาแต่ปางก่อน คือ แต่อดีต จนถึงปัจจุบันเพียงไร ย่อมจะได้รับผลจากบุญกุศลคุณความดีที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น เป็นความเจริญและสันติสุขในชีวิต มากเพียงนั้น เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงตรัสสั่งสอนหลักประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่แต่ในคุณความดี 3 ประการ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การยังกุศลให้ถึงพร้อม 1 และการชำระจิตใจให้ผ่องใส 1 เพื่อให้สาธุชนประพฤติปฏิบัติตามจักได้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิต ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ ทุกท่าน
วันนี้ขอยุติการปาฐกถาธรรมเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจึงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน …เจริญพร
พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541