การเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายมีหลักอยู่นิดเดียวเท่านั้น คือ“หยุด”ตัวเดียว หยุดในหยุด กลางของหยุด กลางของกลาง กำเนิดธาตุธรรมเดิมของแต่ละกายสุดหยาบสุดละเอียด เท่านั้นแหละ
เมื่อหยุดเข้าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสังขารเช่นขันธ์ ๕ หรือวิสังขารของธรรมกาย ก็มีดวงกับกายเท่านั้นแหละ
ในส่วนที่เป็นสังขาร กายมนุษย์ มนุษย์ละเอียด ทิพย์ ทิพย์ละเอียด พรหม พรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ซึ่งเป็นกายในกายในภพ ๓ กายเหล่านี้เรียกว่ารูป
แล้วส่วนที่เรียกว่า“ดวง”นั่น ประกอบด้วยอะไร ? ประกอบด้วย“ธรรม” ธรรม ๓ ฝ่าย ฝ่ายขาว ฝ่ายกลาง ฝ่ายดำเมื่อเราหยุดในหยุดกลางของหยุด ไปถูกธรรมฝ่ายขาว ฝ่ายสัมมาทิฏฐิ ละเอียดเรื่อยไป เมื่อสุดละเอียดของธรรมซึ่งตั้งอยู่บนธาตุกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมที่เราเรียกว่าปฐมมรรคเมื่อสุดละเอียดด้วยคุณความดี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สูงขึ้นไปเป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เราก็จะถึงกายและดวงของกายอื่นๆ ที่ละเอียดๆ ณ ภายใน ต่อๆ ไปจนสุดละเอียดของกายในภพ ๓
ดวงนั้นนอกจากประกอบด้วยธรรมและธาตุซึ่งตั้งอยู่บนธรรมนั้นแล้ว ยังประกอบด้วยเห็น จำ คิด รู้ซึ่งเฉพาะในกายในภพสามนี้ เห็น จำ คิด รู้ ในแต่ละกายนั้นขยายส่วนหยาบมาจากธาตุละเอียดของขันธ์ ๕ คือ ธาตุละเอียดของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งตั้งอยู่ที่กลางกำเนิดของธาตุธรรมเดิมของแต่ละกายไปสุดหยาบสุดละเอียด
เห็น จำ คิด รู้ นี้แหละ ที่เราเข้ากลางของกลาง เพื่อเข้าสู่ธรรมชาติที่เป็นฝ่ายบุญฝ่ายกุศล ส่วนธรรมชาติฝ่ายบาปอกุศล ธรรมดำหรือธรรมกลางนั้นก็จะจางไปเรื่อยๆ เห็น จำ คิด รู้ จึงเบิกบาน โตใหญ่ใสละเอียดไปตามธาตุและธรรมของกายในกายแต่ละกาย จากหยาบ ละเอียดเข้าไปๆ ก็โตใหญ่ใสละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียด นี่ของกายในภพ ๓ สุดละเอียดของกายในภพ ๓ ก็ถึงดวงถึงกาย
ธาตุล้วน ธรรมล้วน
“ดวง”ก็คือ“ธรรม”นั่นเอง ของธาตุล้วนธรรมล้วน นับตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู โคตรภูละเอียด โสดา โสดาละเอียด สกิทาคา สกิทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัต อรหัตละเอียด ทับทวีเป็นเถา ชุด ชั้น ตอน ภาค พืด จนสุดละเอียดนั้นแหละ สุดละเอียดนี้ก็เป็นธาตุล้วนธรรมล้วน ล้วนนี้ยังไม่ล้วนแท้นะ จะบอกเสียก่อนธาตุล้วนธรรมล้วนที่แท้คือที่เป็นพระนิพพานคือธรรมกายที่บรรลุอรหัตผลแล้ว จึงเบิกบานเต็มธาตุเต็มธรรม ไม่ถอยหลังอีกโดยเด็ดขาด คือไม่มีต่ำลงมา คือสูงไปสุดสูง นั่นแหละ ธาตุล้วนธรรมล้วนแท้ๆ
ถ้าตั้งแต่ธรรมกายโคตรภูไปยังไม่ถึง ขึ้นไปจนถึงอริยบุคคล ธรรมกายมรรคธรรมกายผลจริงๆ ก็นับว่าเป็นแท้เหมือนกัน แต่แท้ยังไม่แท้หมดจด ยังไม่ใช่วิสุทธิสัตว์ จะเป็นหมดจดแท้ๆ เมื่อเป็นถึงนิพพาน พระนิพพาน ธรรมกายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ธรรมชาตินี้ก็ยังมีดวงกับกายนั่นแหละ แต่ดวงกับกายนั่นเป็นธาตุล้วน คือ ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายธรรมกายเราไม่เรียกว่ารูป ใจเราก็ไม่เรียกว่านาม ไม่มีนามไม่มีรูปเพราะนามรูปเกิดแต่สังขาร สังขารเกิดแต่อวิชชา ธรรมกายที่สุดละเอียดเข้าไปเท่าไรนั้นยิ่งปราศจากอวิชชาธาตุล้วนธรรมล้วน ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเรียกว่า“ธรรมภูต”ความอุบัติขึ้นแห่งความบริสุทธิ์ ธรรมะอันนี้หมายถึงธรรมที่บริสุทธิ์ฝ่ายบุญกุศลเรียกว่า“ธรรมภูต”หรือ“ธรรมกาย”หรือหมู่ธรรมอันประมวลไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ เห็นได้เพราะเป็นอายตนะ บางทีเขาเรียกว่า พรหมภูต ความอุบัติขึ้นอย่างประเสริฐ คือ ไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป ไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกขัง ไม่เป็นอนัตตา จึงเรียกว่าพรหมกาย คือ หมู่ธรรมที่บริสุทธิ์ ที่ประเสริฐเพราะฉะนั้นเราทำธรรมะไปนี่ เราชำระกิเลสไปในตัวอยู่ในสภาวะของวิกขัมภนวิมุตติ หรือตทังควิมุตติ หลุดพ้นชั่วคราว สำหรับท่านที่ทำได้บ้าง เดี๋ยวแวบเห็น เดี๋ยวแวบหาย อันนี้ก็เป็นทางสู่สมุจเฉทวิมุตตินิสสรณวิมุตติต่อไปอีก นิสสรณะนั้นก็เป็นปกติเหมือนพระนิพพาน เรียกว่า “นิสสรณวิมุตติ” หรือ “นิสสรณนิโรธ” เป็นนิโรธดับหยาบไปหาละเอียดตลอดเวลา เพราะฉะนั้นธรรมของเราก็เป็นขั้นเป็นตอนไปอย่างนี้
เข้าสู่สุดละเอียด
นี่เป็นเพียงส่วนที่เราเข้าถึงเท่านั้น แต่ส่วนที่ทำวิชชาไปสู่สมุจเฉทวิมุตติ หรือนิสสรณวิมุตติในวิชชาธรรมกายนั้น เราทำสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานคู่กัน โดยความเป็นนิโรธ หรือมีนิโรธเป็นโคจร ดับหยาบไปหาละเอียด ดับสมุทัยปหานอกุศลจิตของกายในภพสามจึงชื่อว่าละเอียดเข้าไปเป็นปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญาของกายธรรมนั่น เพื่อไปสู่โลกุตตรมรรค เป็นปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญาของกายธรรม อันนี้เราทำไปดับหยาบไปหาละเอียด
วิชชานี้หลุดพ้นไปด้วยการข่มกิเลสนั้น เสมือนกับยิงจรวดขึ้นพ้นแนวแรงดึงดูดของโลกด้วยการบังคับแนวดิ่งขึ้นไป พ้นแนวแรงดึงดูดของโลกก็ตั้งทิศทางเข้าสู่ มุ่งตรงต่อธาตุล้วนธรรมล้วน เป็นขั้นตอนของการเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง กล่าวคือเข้าสู่ขั้นของการคำนวณ คำนวณธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ที่สะอาดบริสุทธิ์ของธรรมกาย ที่มีจักรพรรดิภาคผู้เลี้ยงซ้อนอยู่ สุดละเอียดเข้าไปๆ เป็นภาคผู้สอด ผู้ส่ง ผู้บังคับ ผู้ปกครอง ต้นธาตุต้นธรรมในอายตนนิพพานเป็น
จักรพรรดิภาคผู้เลี้ยงเลี้ยงอะไร ? เลี้ยง ๒ อย่างคือ ภาคผู้เลี้ยงฝ่ายบุญก็เลี้ยงด้วยธรรมฝ่ายบุญกุศลนั้นอย่างหนึ่งจิตใจนั้นจะเป็นบุญกุศล กาย วาจา ใจ ก็บริสุทธิ์เรียบร้อยดีเลี้ยงจากสุดละเอียดเข้ามาทีเดียว ต่อเนื่องกันมาจนถึงสุดหยาบกายมนุษย์ใจก็เป็นบุญกุศล เพราะใจมนุษย์หยาบนี่ไปเชื่อมอยู่กับจักรพรรดิของธรรมกายที่สุดละเอียด มันเนื่องกันอย่างนี้ ความจริงจักรพรรดิมีประจำทุกกาย มีภาคผู้เลี้ยงทุกกาย ตั้งแต่กายมนุษย์ไปจนถึงสุดละเอียดมีเท่าไรมีเท่ากัน นี่ภาคผู้เลี้ยง แล้วเลี้ยงด้วยผลของกรรมดีอีกประการหนึ่ง คือเมื่อสัตว์ทำกรรมดีไปเรื่อยๆ ก็ทางฝ่ายพระก็จะเก็บเหตุเข้าไปสุดละเอียด ถึงเครื่องธาตุเครื่องธรรม แล้วก็ปรุงผลส่งออกมายังภาคผู้เลี้ยงอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นภาคผู้เลี้ยงคือจักรพรรดิฝ่ายบุญนี่ทำหน้าที่อย่างนี้
ผู้เลี้ยงฝ่ายบาปอกุศล หรือฝ่ายกลางๆ ก็ทำหน้าที่ตรงกันข้าม ให้ผลเป็นทุกข์ มีกาย วาจา และมีใจที่ไม่สะอาด เพราะฉะนั้นการทำวิชชาเข้าไปนั้น ย่อมรู้ ย่อมเห็น ไปตามลำดับภูมิธรรมแต่ละท่านอย่างนี้การเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายจึงต้องทำนิโรธ หยุดในหยุด กลางของหยุด และดับหยาบไปหาละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียดเรื่อยไป ไม่ถอยหลังกลับ
ตรงศูนย์กลางภาคผู้เลี้ยงก็มี“ภาคผู้สอด”สอดอะไร ? สอดวิชชา ยกตัวอย่างง่ายๆ สอดวิชชาอะไร ? เฉพาะที่สอดเข้ามาสุดหยาบถึงกายมนุษย์ในธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของกายมนุษย์พึงเข้าใจว่าภาคผู้สอดฝ่ายบุญเขาสอดทาน ศีล ภาวนา ภาคบุญเขาสอดมาอย่างนี้ เพื่ออะไร ? เพื่อเก็บหรือดับอวิชชาของภาคมารที่เขาก็ประมูลฤทธิ์สอดธรรมที่เป็นบาปอกุศลมาเหมือนกัน สอดอะไร ? สอดอภิชฌา วิสมโลภะ พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ นี่แหละอยู่ท่ามกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของกายมนุษย์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น เราทำไปยิ่งละเอียดเท่าไร เราก็จะได้ธาตุธรรมของภาคผู้เลี้ยง ผู้สอด ผู้ส่ง ผู้สั่ง ผู้บังคับ ถึงภาคผู้ปกครอง ถึงต้นธาตุต้นธรรมที่เป็นฝ่ายบุญกุศลฝ่ายสัมมาทิฏฐิเชื่อมถึงกันตลอดหมด ภาคบาปอกุศลเขาก็พยายามตัดวิชชาด้วยอวิชชาของเขาในหลายรูปแบบ ซึ่งท่านจะได้ยินชื่อซึ่งฟังดูแล้วแปลกๆ หู เฉพาะคนที่ไม่รู้นะ คนที่เขารู้เพราะเข้าถึงแล้ว เพราะฉะนั้นนี้เป็นจุดเดียวที่เล่าให้ฟัง เพื่อให้รู้ว่าวิชชาชั้นสูงทำทำไม เพื่ออะไร ? เพื่อเก็บธาตุและธรรมของภาคมารหรือฝ่ายบาปอกุศลในธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของแต่ละกาย ณ ภายในจากสุดหยาบไปสุดละเอียดถึงต้นธาตุต้นธรรมของเขา เราละเอียดไปเท่าไร มีอานุภาพเป็นการเก็บธาตุธรรมภาคมารหรือฝ่ายบาปอกุศล ให้เหลือเป็นแต่ธาตุธรรมของฝ่ายบุญกุศลเข้าไปจนสุดละเอียดไปเพียงนั้น
ถ้าทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป