จากความทรงจำคุณยายฉลวย สมบัติสุข อดีตหัวหน้าเวรชุดทำวิชชาสมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
~บันทึกโดย รศ.ดร.ไชยยงค์ จรเกตุ
วันที่ 17-25 มิถุนายน พ.ศ. 2550
บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ผมได้เขียนขึ้นเมื่อผมมีโอกาสไปปฏิบัติธรรมกับคุณยายอาจารย์ฉลวย สมบัติสุข เป็นระยะเวลาประมาณ 9 วัน ซึ่งในแต่ละวันที่ผมไปหาคุณยายนั้นก็จะได้นั่งสมาธิกับคุณยายวันละประมาณ 2 รอบ คือรอบเช้ากับรอบบ่าย แต่ละรอบก็ใช้เวลานั่งประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งโดยประมาณ
ในขณะที่พักจากการนั่งสมาธินั้น ผมก็มักจะสอบถามคุณยายเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องของวิชชาธรรมกาย เรื่องราวเก่า ๆ สมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฯ และก็คุยกันหลาย ๆ เรื่อง เมื่อกลับมาถึงที่พักในแต่ละวันแล้ว ผมก็จะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆที่ได้คุยกับท่าน เพื่อเอาไว้เตือนความทรงจำและเป็นเครื่องเตือนใจให้เร่งการปฏิบัติของตนเอง จะได้เข้าไปรู้ไปเห็นและได้ศึกษาวิชชาธรรมกายเฉกเช่นนักปฏิบัติธรรมในยุคสมัยที่ทันได้พบหลวงปู่วัดปากน้ำฯ
เคารพพระรัตนตรัย
พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านมีความเคารพในพระรัตนตรัยเป็นอย่างมาก ท่านแสดงให้เห็นอยู่เป็นประจำ คุณยายเล่าว่า ท่านเคยเห็นว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ เวลาท่านเดินผ่านต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ยังถอดรองเท้าเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านมีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากแค่ไหน
จริงจัง
ผมเคยมีโอกาสไปกราบหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และก็กราบเรียนถามท่านว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ดุไหม หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านตอบว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านไม่ดุ แต่ถ้าใครทำผิดล่ะก็ท่านเอาจริง
ผมถามคุณยายว่า ทำไมรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ส่วนใหญ่เท่าที่ผมได้เคยพบเห็น สังเกตว่าหลวงพ่อท่านไม่ค่อยจะยิ้ม รูปที่ท่านยิ้มก็มีบ้างเหมือนกันแต่น้อย แต่ทุกรูปจะสังเกตได้ว่าดวงตาของท่านมีอำนาจมาก ใครเห็นก็ต้องยำเกรง และเคยได้ยินว่าเวลาท่านอยู่ในโรงงานทำวิชชา ท่านจะไม่พูดเล่นหรือหัวเราะ ผมก็เลยถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น คุณยายก็ตอบว่า เพราะหลวงพ่อท่านต้องคอยสั่งงานละเอียด คอยคุมวิชชาฯ พวกที่อยู่ในโรงงานทำวิชชาฯ ก็ต้องคอยระมัดระวังใจ ตั้งใจทำวิชชาฯให้ดี ถ้าทำไม่ถูกใจหรือใช้แล้วไม่ได้ดั่งที่หลวงพ่อท่านสั่งงานมาก็จะถูกท่านตำหนิได้
คำศัพท์ในวิชชาธรรมกาย
ในการศึกษาวิชชาธรรมกายหรือการทำงานด้วยวิชชาธรรมกายจะมีคำศัพท์ที่ใช้เป็นคำเรียกในการปฏิบัติ เช่น ซ้อน สับ ทับทวี ดับปาฏิหาริย์ ถอนอธิษฐาน ดูเผิน ๆ จะเหมือนเป็นคำศัพท์ที่พบได้ทั่วไป แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านนำมาใช้เวลาสอนหรือสั่งวิชชาฯ ให้ทำงานต่าง ๆ ด้วยสมาธิตามแนววิชชาธรรมกาย ผู้ที่ได้ศึกษาวิชชาธรรมกายเท่านั้นจึงจะเข้าใจว่าแต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร หมายถึงอะไรและต้องทำอย่างไร ไม่ใช่แค่รู้จักแค่คำเหล่านั้นแล้วนำไปท่องก็จะใช้ได้ คำเหล่านี้คนที่ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นและเป็นวิชชาธรรมกาย ฟังแล้วก็จะไม่เข้าใจ ตัวอย่างความหมายของคำเรียกในวิชชาธรรมกาย เช่น ดับปาฏิหาริย์ ถอนอธิษฐาน ก็คือการดับสิ่งที่ภาคมารได้มาปาฏิหาริย์หลอกลวงให้เราเห็นไม่ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง ส่วนถอนอธิษฐานคือการถอนสิ่งที่ภาคมารได้อธิษฐานไว้ ซึ่งผู้ที่ทำวิชชาฯ เป็นก็จะรู้ว่าต้องดับอย่างไร ถอนอย่างไร คือต้องทั้งรู้ทั้งเห็นจึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง
เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำอาพาธ
คุณยายเล่าว่าเมื่อครั้งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านอาพาธและได้ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล มีพระที่วัดปากน้ำฯ ได้ไปเยี่ยมท่าน กลับมาก็มาเขียนใบแจ้งอาการโรคส่งให้พวกที่ทำวิชชาฯ ในโรงงานช่วยแก้ไขโดยที่พระรูปนั้นก็ไม่ได้ไปกราบเรียนให้หลวงพ่อท่านทราบ แต่พอหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านกลับมาจากโรงพยาบาลแล้ว ท่านให้ตามตัวพระรูปนั้นมาแล้วก็พูดเตือนในทำนองว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นไม่เหมาะสม ไม่ใช่เรื่องของท่านรูปนั้น เป็นเรื่องของหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ที่ท่านจะต้องแก้ไขด้วยตัวของท่านเอง
ศีล 8
มีวันหนึ่งผมกำลังคิดว่าจะถือศีล 8 ดีหรือไม่ เพราะจะได้ช่วยให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้เร็วกว่าเดิม เพราะแค่ศีล 5 อาจจะไม่พอ แต่ศีล 8 น่าจะช่วยควบคุมให้กาย วาจา ใจ ของเรานั้นห่างไกลจากสิ่งยั่วยุกิเลสได้มากขึ้น คุณยายท่านก็บอกว่า ศีล 8 ถือได้ก็ดี มันก็จะช่วยให้ผลการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าขึ้น เพราะจะทำให้เราไม่ต้องมัวไปเสียเวลาในเรื่องต่างๆ มีเวลานั่งธรรมะมากขึ้น เช่น ไม่ต้องแต่งหน้าทาปาก ร้องรำทำเพลง แต่ถ้าเราถือแล้วใจเป็นกังวล เช่น การหาอาหารรับประทาน กังวลว่าจะเลยเวลาทานอาหารหรือเปล่า ก็จะมีผลต่อการทำใจหยุดนิ่ง เพราะการทำใจหยุดนิ่งเป็นหน้าที่ของใจ ถ้าใจปราศจากความกังวลก็จะหยุดนิ่งได้ดีกว่า การถือศีล 8 จะเป็นอุปการะต่อการปฏิบัติธรรม ทำให้ใจหยุดนิ่งได้ง่าย แต่ถ้าถือแล้วมีความกังวลก็จะไม่เป็นผลดี
กายสิทธิ์
ประมาณปีพ.ศ. 2483 พระอาจารย์สมจิตรได้ชักชวนคนที่มาเรียนสมาธิกับท่านไปกราบพระอาจารย์ใหญ่หรือก็คือหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ที่กรุงเทพฯ คุณยายและครอบครัวก็ได้ลงมากราบหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ในโอกาสนี้ด้วย ท่านบอกว่าก่อนจะเดินทางมาวัดปากน้ำฯ ตอนนั้นก็พอมีความรู้เรื่องกายสิทธิ์อยู่บ้างแล้ว (กายสิทธิ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เรียกว่าผู้เลี้ยง ซึ่งกายสิทธิ์นี้จะอยู่ในแก้ว รัตนชาติ คตต่างๆ กายสิทธิ์มีหลายระดับ เช่น จุลจักร มหาจักร และบรมจักร กายสิทธิ์จะคอยอำนวยความสุขสวัสดี ความสำเร็จ และจะคอยดึงดูดสมบัติให้กับเจ้าของหากเจ้าของเป็นผู้มีศีลมีธรรมและเคารพบูชากายสิทธิ์
พวกที่ทำวิชชาในโรงงานนั้นสามารถอัญเชิญกายสิทธิ์มาช่วยทำวิชชาธรรมกายชั้นสูงได้ บางครั้งตัวเรือนของกายสิทธิ์นั้นอาจจะอยู่กันคนละที่กับผู้ทำวิชชาฯ เช่นผู้ทำวิชชาฯ อยู่ที่วัดปากน้ำฯ แต่ตัวเรือนของกายสิทธิ์อยู่ที่จังหวัดอื่น ผู้ที่เป็นวิชชาฯ ก็สามารถอัญเชิญกายสิทธิ์มาทำวิชชาร่วมกันได้
ก่อนลงมาที่วัดปากน้ำฯ ท่านได้พยายามสอบถามหาซื้อดวงแก้วกายสิทธิ์มาไว้ประจำตัวซึ่งก็มีผู้มาขายให้กับท่าน 2 ดวง ดวงหนึ่งจะมีลักษณะกลม ๆ ใส ๆ (แต่ไม่กลมรอบตัวอย่างแก้วในปัจจุบันที่ใช้เครื่องมือทันสมัยเจียรขึ้นมา) ส่วนอีกดวงจะมีลักษณะรีๆ ยาว ๆ ไม่ใสนัก เพราะจะมีสีเขียวปนอยู่ในเนื้อหิน ท่านจึงซื้อเฉพาะดวงแรก แต่เมื่อลงไปที่วัดปากน้ำฯ และได้กราบเรียนเรื่องแก้วดวงที่สองนี้ให้หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ทราบ ท่านก็บอกว่าอีกดวงก็ใช้ได้เหมือนกัน คุณยายก็เลยให้คนรู้จักช่วยซื้อดวงที่เหลือและนำส่งไปให้ท่านที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันดวงแก้วดวงที่สองที่มีสีเขียวอยู่ในเนื้อแก้ว สีเขียวได้หายไปแล้ว กลายเป็นดวงสีใสๆ ไป
นอกจากนี้คุณยายยังเล่าว่าที่กรุงเทพฯ มีร้านหมอฟันอยู่ร้านหนึ่ง มีดวงแก้วกายสิทธิ์ มีคนหลายคนทราบก็อยากไปขอซื้อมาไว้เป็นเจ้าของ แต่ไปทีไรก็มองหาดวงแก้วดวงนี้ไม่เจอ แต่มีสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ได้บวชและเรียนวิชชาธรรมกาย ได้ชวนคุณพ่อของคุณยายไปตามดวงแก้วดวงนี้ ซึ่งก็สามารถพบและเห็นดวงแก้วดวงนี้ได้และได้ขอซื้อมาไว้ได้อีกด้วย
คุณยายเล่าว่าท่านเคยมีดวงแก้วกายสิทธิ์อยู่ดวงหนึ่ง สัณฐานเป็นรูปดอกบัว เคยจะเอาไปถวายวัดแห่งหนึ่งเพื่อนำไปบรรจุบนยอดพระเจดีย์แต่พระท่านไม่รับเพราะกลัวว่าจะรักษาของไว้ไม่ได้ แต่ปัจจุบันดวงแก้วดวงนี้ไม่ทราบว่าหายไปอยู่ที่ใครแล้ว
ดวงแก้วกายสิทธิ์นี้ถ้าตกแตก กายสิทธิ์ก็สามารถย้ายไปหาเรือนใหม่ได้เหมือนกัน ของบางอย่างในธรรมชาติถ้ากายสิทธิ์ลงไปอยู่ก็จะแปรสภาพกลายเป็นหิน จะแน่ใจได้ว่าของชิ้นใดมีกายสิทธิ์อยู่จริงก็ต้องใช้วิชชาธรรมกายตรวจสอบ เพราะของบางอย่างในธรรมชาติเมื่อผ่านกาลเวลาไปนาน ๆ หลายล้านปีแล้วก็สามารถแปรสภาพกลายเป็นหินไปได้เหมือนกัน
คุณยายเล่าว่า ท่านเคยได้ยินว่าสมัยก่อนที่คุณยายจะลงไปวัดปากน้ำฯ หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ และคณะผู้ทำวิชชาฯ เคยจะนำดวงแก้วกายสิทธิ์ดวงหนึ่งขึ้นมา ใช้ผู้ทำวิชชาหลายคนอัญเชิญขึ้นมา พอนำขึ้นมาได้ก็อัญเชิญไปไว้ในวิหาร ระหว่างนั้นฝนก็ตกหนักอยู่หลายวันและวันสุดท้ายดวงแก้วกายสิทธิ์นี้ก็หายวับไปโดยที่ไม่มีใครไปแตะต้องเลย เมื่อผู้ทำวิชชาฯ ได้ทำการตรวจสอบก็พบว่ายังไม่ถึงเวลาอัญเชิญขึ้นมา ดวงแก้วกายสิทธิ์ดวงนี้ก็หายกลับไปอยู่ที่เดิม
ดวงแก้วและพระของขวัญ
ผมถามคุณยายถึงการทำความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ดวงแก้วและพระของขวัญว่าทำกันอย่างไร คุณยายอธิบายว่าสำหรับดวงแก้วนั้นจะทำความศักดิ์สิทธิ์โดยการอัญเชิญกายสิทธิ์เข้ามาซ้อนในดวงแก้ว ส่วนพระของขวัญก็จะทำโดยการทำให้พระของขวัญที่สร้างมาจากผงต่าง ๆ ซึ่งเป็นธาตุดิน มาทำให้เป็น “พระเป็น” คือไม่ใช่รูปวัตถุที่เป็นเพียงธาตุดินธรรมดา เมื่อพระของขวัญกลายเป็นพระเป็นแล้ว ท่านก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ พระของขวัญที่ทำขึ้นด้วยวิชชาธรรมกายนี้ไม่มีวันเสื่อม
เมื่อคราวหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ทำพระของขวัญ สำหรับมอบแก่ผู้ที่มาทำบุญสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดปากน้ำฯ ท่านสั่งให้ผู้ที่ปฏิบัติธรรมในโรงงานทำวิชชาฯ มาช่วยกันทำความศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้เวลา 1 พรรษา (3 เดือน) โดยทั้งพระ อุบาสิกา และฆราวาส จะนั่งสมาธิและกระทำความศักดิ์สิทธิ์ตามแนวทางวิชชาธรรมกาย โดยกระทำเช่นนี้ทุกวันตลอดระยะเวลา 1 พรรษา พอรุ่งขึ้นวันออกพรรษาก็กระทำความศักดิ์สิทธิ์เสร็จพอดี
หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านสั่งไปในวิชชาฯ เวลาทำความศักดิ์สิทธิ์ว่า ให้ผู้ที่ได้รับพระของขวัญไปมีสมบัติพันล้าน ให้พระท่านช่วยดลบันดาลสิ่งดีๆต่างๆ และปกป้องเจ้าของผู้ได้รับพระของขวัญไปให้พ้นจากอันตรายต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ลูกศิษย์วัดปากน้ำฯ จะทราบกันดีว่าพระของขวัญมีอานุภาพเป็นอย่างไร
คุณยายเล่าว่ามีอีกอย่างที่คนที่อยู่นอกโรงงานทำวิชชาฯ อาจจะไม่ทราบก็คือ หลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านสั่งไปในวิชชาฯ ด้วยว่า หากเจ้าของพระทำผิด ทำชั่ว ก็ขอให้พระท่านลงโทษ เมื่อได้ฟังผมจึงเกิดความสงสัยคำว่าพระลงโทษนั้นมีหมายความว่าอย่างไร เพราะปกติแล้วพระท่านจะมีเมตตาและคอยช่วยเหลือสัตว์โลกอยู่เป็นปกติ คุณยายอธิบายว่า คำว่าลงโทษในที่นี้หมายถึง เมื่อคนนั้นทำผิดคิดชั่ว บาปก็จะเกิดขึ้น และเมื่อผลแห่งกรรมชั่วของเขากลับมาสนอง พระท่านก็จะวางอุเบกขา ไม่ช่วยเหลือ ปล่อยให้เป็นไปตามวิบากกรรม ไม่ได้หมายความว่าพระท่านจะลงโทษ โดยทำให้ผู้นั้นได้รับความทุกข์) เรื่องที่หลวงพ่อสั่งวิชชาอย่างที่เล่ามานี้ พวกที่อยู่ในโรงงานก็จะได้ยินเหมือนกัน
คุณยายเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับกายสิทธิ์ว่า สมัยก่อนนั้นคุณพ่อของคุณยายหาซื้อดวงแก้วกายสิทธิ์มาได้หลายดวง พ่อของท่านก็เอาไปแจกให้หลาย ๆ คนที่วัดปากน้ำฯ มีดวงหนึ่งมีลักษณะเป็นสีคล้ายแก้วมุกดา ซึ่งท่านได้มอบให้แม่ชีท่านหนึ่งที่อยู่ในโรงงานทำวิชชาไป แต่แม่ชีท่านนั้นมาขอกายสิทธิ์จากคุณยายอีก คุณยายก็เลยบอกว่าได้จากคุณพ่อของท่านแล้วไม่ใช่หรือ แม่ชีท่านนั้นก็ตอบว่าได้แล้ว แต่ดวงนั้นมันของคุณพ่อของคุณยาย แต่แม่ชีท่านยังต้องการได้กายสิทธิ์จากคุณยายอีก คุณยายท่านก็ไม่ได้ให้ไปแล้วท่านก็พูดกับตัวเองเบา ๆ ว่า “เขาบอกว่าเขายังไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็กลับมาอยู่กับฉันเถอะ”
หลังจากนั้นไม่นานกายสิทธิ์ที่อยู่กับแม่ชีท่านนั้นก็ได้หายไป ช่วยกันหาเท่าไรก็ไม่พบ คุณยายบอกว่าท่านก็ไม่ได้ไปหยิบเอาคืนมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบปี วันหนึ่งท่านเดินอยู่บนถนนข้าง ๆ โรงงานทำวิชชาในวัดปากน้ำฯ ท่านก็เห็นวัตถุชิ้นหนึ่งอยู่บนพื้น ท่านก็หยิบขึ้นมาดู กลายเป็นว่าสิ่งที่ท่านพบก็คือดวงแก้วกายสิทธิ์ดวงนั้นที่แม่ชีท่านนั้นทำหายไป ซึ่งจริง ๆ แล้วกายสิทธิ์ไม่น่าจะตกอยู่แถวนั้นได้ ถึงตกอยู่ก็คงมีคนเห็นและเก็บไปแล้วอย่างแน่นอน เพราะว่าถนนเส้นนั้นมีคนเดินกันอยู่เป็นประจำ ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่าดวงแก้วกายสิทธิ์มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร คุณยายท่านสันนิษฐานว่า ดวงแก้วน่าจะร่วงจากถุงเก็บดวงแก้วของแม่ชีท่านนั้น (เป็นถุงผ้าเล็กๆ มีหูรูด) ตอนที่จะนำดอกมะลิที่แห้งแล้วที่ใส่ไว้ในถุงผ้าเพื่อบูชากายสิทธิ์ออกมาตากแดด ดวงแก้วก็คงจะหล่นออกมาตอนนั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าดวงแก้วนั้นได้หายไปจากแม่ชีไม่นานหลังจากที่คุณยายอยากให้ดวงแก้วกลับมาอยู่ด้วย แล้วคุณยายก็ได้มาเจอดวงแก้วดวงที่หายไปหลังจากดวงแก้วดวงนั้นได้หายไปจากแม่ชีท่านนั้นนานแล้ว และก็เจอในที่ที่มีคนเดินอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม่น่าจะรอดมาจนถึงมือของคุณยายได้ เรื่องนี้ผมคิดเอาเองว่า กายสิทธิ์ในดวงแก้วเขาคงรู้ถึงคำพูดของคุณยายและก็คงอยากกลับมาอยู่กับคุณยาย กายสิทธิ์จึงหนีหายไปจากแม่ชีท่านนั้นแล้วก็มาเจาะจงให้คุณยายเป็นคนเก็บได้ในภายหลัง
บุคคลผู้ทำวิชชาฯ ในโรงงานสมัยคุณยายฉลวย
ผมถามท่านว่าพอจะนึกถึงชื่อของคนที่เข้าไปทำวิชชาในโรงงานในสมัยหลวงพ่ออยู่ได้มากน้อยเท่าไร ท่านก็บอกว่ามีหลายคน แต่ก็มีหลายคนที่ท่านจำได้ บุคคลเหล่านั้น ได้แก่
1) แม่ชีญาณี ศิริโวหาร
2) แม่ชีปุก มุ้ยประเสริฐ
3) แม่ชีทองสุก สำแดงปั้น
4) แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง
5) แม่ชีเธียร ธีรสวัสดิ์
6) คุณประยูร นาคบุญเที่ยง
7) คุณครูตรีธา เนียมขำ
คุณทุ่ม ไทยภักดี
9) แม่ชีละมุน
10) คุณนวรัตน์ หิรัญรักษ์
11) คุณสมทรง สุดสาคร
12) แม่ชีละมัย ชูวงศ์วุฒิ
13) คุณสมพร (พี่สาวคุณป๋าวรนิติ์)
14) คุณสละ
15) แม่ชีถนอม อาสไวย์
16) แม่ชีสมจิตร
17) คุณนายเชื้อ ปุรณเสวี
18) คุณนายส้มจีน (คุณครูจินตนา บุรารักษ์)
19) คุณชัด วณิกเกียรติ
20) คุณสวีรา
21) คุณสุราลัย
22) คุณจินตนา โอสถ
23) คุณจริยา
24) คุณบุญธรรม
25) คุณไมตรี
26) คุณทองแท้
27) แม่ชีรัมภา โพธิ์คำฉาย
28) แม่ชีทวีพร เลี๊ยบประเสริฐ
29) คุณทองเพียร
30) แม่ชีหวานใจ ชูกร
บางท่านก็บวชเป็นแม่ชีตลอดชีวิต บางท่านก็บวชอยู่สักระยะหนึ่งแล้วก็ลาสิกขาออกมา แต่ก็ยังคงทำวิชชาฯ อยู่ในโรงงานทำวิชชาฯ บางท่านก็ลาออกไปมีครอบครัว คณะทำวิชชาฯ ฝ่ายหญิงนั้นส่วนใหญ่ก็จะพักอยู่ในวัดปากน้ำฯ บ้างก็อยู่ในโรงงานทำวิชชาฯ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกที่ทำวิชชาฯโดยเฉพาะ บางท่านก็อยู่ตามบ้านต่าง ๆ ที่ปลูกอยู่ในบริเวณวัด บางท่านก็อยู่กุฏิแม่ชี บางท่านที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในวัดก็มี บางท่านตอนกลางวันไปทำงานแต่พอเลิกงานแล้วก็กลับมาทำวิชชาฯ ก็มี ตอนที่หลวงพ่ออยู่นั้น คนที่ได้ธรรมกายแล้วจะเข้าไปโรงงานทำวิชชาฯ จะต้องได้รับการอนุญาตจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ เสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้เข้าไป