วันนี้พูดถึงเรื่อง ต้นกำเนิดของอวิชชา

วันนี้พูดถึงเรื่อง ต้นกำเนิดของอวิชชา

ครั้งที่แล้วพูดถึง คนที่ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือคนที่ไม่รู้เรื่องอวิชชา (หลวงป๋ากล่าวไว้อย่างนี้) … และท่านยังพูดถึงต้นกำเนิดของอวิชชาโดยย่อ คือ โลภ โกรธ หลง (สำหรับพระจะพิจารณา ราคะ โทสะ โมหะ เพราะพระจะต้องไม่มีความโลภ จึงพิจารณาราคะแทน ซื่งละเอียดขึ้นไปอีก)

หลวงป๋าท่านสอนไว้ว่า การกระทำใด ถ้าจิตในขณะนั้นมีความโลภ โกรธ หรือหลง การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อฝ่ายดำ … หมายถึง เรากำลังทำตัวเป็นฝ่ายดำ ทุกการกระทำ และอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจะไปหล่อเลี้ยงฝ่ายดำทั้งหมด (เราไม่ได้อะไรเลย แต่ได้บาปมาแทน)

ในทุกขณะจิต … จิตของเราจะประกอบไปด้วยธรรมะ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายขาว ฝ่ายดำ และฝ่ายกลาง … ฝ่ายขาว คือภาคพระ จะคอยให้ทำความดี ส่งผลให้เป็นสุข ฝ่ายดำ คือภาคมาร จะคอยให้เราทำผิด ทำตามใจชอบ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ตามมา และฝ่ายกลาง คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ (พวกเทวดา) ฝ่ายกลางนี้ จะคอยคล้อยตาม คือ ถ้าฝ่ายพระมีกำลังมาก ก็จะไปเข้าข้างฝ่ายพระ แต่ถ้าฝ่ายดำมีกำลังมาก ก็จะไปเข้าข้างฝ่ายดำ แล้วดลใจให้มนุษย์และสัตว์โลกทำผิด เป็นบาปต่าง ๆ

ดังนั้นเราต้องคอยระวังจิตของเราอยู่ตลอดเวลา ที่จะไม่ให้เกิดโทษกับตนเองและผู้อื่น ด้วยการละความโลภ โกรธ หลง อยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ คอยรักษา กาย วาจา ใจ ให้สะอาด ไม่มีโทษ

ยากที่สุด คือใจ เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ใจ และจบลงที่ใจ (คือ ได้รับผลเป็นสุข หรือทุกข์) … ใจนั้นมักจะ หลง ในสิ่งต่าง ๆ จากความไม่รู้ (หรืออวิชชา) … หนึ่งในความหลง คือ ความเชื่อที่ผิด พระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องความเชื่อ ต้องพิสูจน์ได้ และเห็นผลจริง เรียกว่า กาลามสูตร

กาลามสูตร

  1. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
  2. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
  3. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
  4. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
  5. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
  6. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
  7. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  8. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
  9. อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
  10. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

วันนี้คุยเรื่องของการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า และได้ผล จะต้อง “ปล่อยวาง” จากทุกอารมณ์ให้ได้ก่อน (ไม่ดีใจเมื่อมีคนชื่นชม และไม่เสียใจเมื่อมีความทุกข์) กล่าวคือ เดินสายกลาง / ทำใจให้เป็นกลาง

ก่อนที่จะปล่อยวางได้ ขอสรุปเรื่องที่เคยคุยกันมาทั้งหมดแบบสั้น ๆ ว่า “เราจะต้องอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการจับผิดกิเลสในตัวเอง” ในทุกขณะจิต ด้วยการพิจารณาธรรมะ 2 ข้อ พื้นฐาน คือ

  1. พระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
  2. อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

มรรค หรือมรรค 8 เป็นเข็มทิศ ส่วนข้อปฏิบัติเป็นการพิจารณาทุกข์ ว่ามีที่มาจากอะไร (เรียกว่า สมุทัย) … เมื่อรู้ต้นเหตุ ก็หาวิธีกำจัด หรือจัดการ (เรียกว่า ดับทุกข์) … การดับทุกข์ หรือนิโรธ มีหลายวิธี ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีดับทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน ตามจริตที่เคยสะสมมาในหลาย ๆ ชาติ พระพุทธเจ้าจึงไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนิโรธ ว่าต้องทำอย่างไร … แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะหาวิธีที่เหมาะ และสามารถทำได้ในแบบเฉพาะตน ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าร้อน บางคนอาจจะไปอาบน้ำ บางคนอาจจะกินน้ำเย็น บางคนอาจจะออกไปเดินห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ในทางธรรมะก็เช่นกัน วิธีดับทุกข์ หรือนิโรธ มีหลายวิธีในสถานการณ์เดียวกัน

มาถึงตรงนี้ คนที่จะแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้ จะต้องมีสติ โดยใช้ปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์ในขณะนั้น … เมื่อแก้ไขแล้ว แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เราจำเป็นต้อง “ปล่อยวาง” เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรมที่เคยทำมาในอดีต

การปล่อยวาง เป็นหนึ่งใน “พรหมวิหาร 4” (ข้อปฏิบัติเพื่อการเป็นพรหม หมายถึงเทวดาชั้นพรหมโลก)

  • เมตตา
  • กรุณา
  • มุทิตา
  • อุเบกขา

พรหมวิหาร 4 นี้ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของเทวดาทั้งหลายทุกขั้น แต่การปล่อยวาง จะเป็นตัวสำคัญในการเดินตาม “มรรค 8” เ

พราะถ้าปล่อยวางไม่ได้ จิตจะติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนไม่สามารถทำอะไรต่อได้ ไม่ว่าจะติดในสุข หรือติดในทุกข์ … พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เดินสายกลาง (ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป) เช่น คนที่เคร่งในกฏ และระเบียบจนมากเกินไป ก็จะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ฯลฯ นอกจากตนเองจะเป็นทุกข์จากการที่คนอื่นทำไม่ได้ดังใจแล้ว ยังทำให้คนอื่นอึดอัดใจตามมาที่จะอยู่ใกล้ เป็นต้น

เมื่อปล่อยวางได้ แล้วเดินสายกลาง จิตจะคลายจากกำหนัด ที่เป็นอวิชชา ทำให้ธรรมะเจริญก้าวหน้า จิตใจก็ผ่องใส อวัยวะภายในก็จะฟื้นฟูทำให้สุขภาพดีขึ้นตามมา

ดังนั้น “การปล่อยวาง” เป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน … แต่จะปล่อยวางได้ ก็ต้องฝึกจิต คือ เฝ้าดูกิเลสตนเอง และกำจัดสิ่งที่ไม่ดีของตนเองออกไป ด้วยการมีสติ อยู่กับปัจจุบัน ในทุกขณะจิต

สรุปหัวข้อธรรมะที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

  1. อนิจจา ทุกขัง อนัตตา
  2. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
  3. พรหมวิหาร 4
  4. มรรค 8
แชร์เลย

Comments

comments

Share: