กำหนดนิมิตนอกตัวให้เห็นชัดเจนก่อน แล้วจึงน้อมนำเข้าไปข้างในได้หรือไม่ ?

ดิฉันได้ยินผู้แนะนำธรรมปฏิบัติบางรายเขาว่า ถ้าจะปฏิบัติให้เห็นดวงปฐมมรรคได้เร็ว ก็ให้กำหนดนิมิตภายนอกตัวหรือที่ไหนๆ ก็ได้ ให้เห็นชัดเจนเสียก่อน แล้วจึงค่อยน้อมนำเข้าไปข้างในเมื่อไรก็ได้ เพราะถ้าปฏิบัติตามวิธีของหลวงพ่อวัดปากน้ำ แล้วรู้สึกว่าจะเห็นได้ยาก หลวงพ่อเห็นว่าดิฉันควรเปลี่ยนวิธีฝึกตามแบบเขาไหม จึงจะเห็นง่ายๆ ?


ตอบ:

หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนให้น้อมใจเข้าไปตามฐานต่างๆ ในเบื้องต้น   เพียงเพื่อให้รู้ทางเดินของจิตว่า  เวลาจะเกิด จะดับ จะหลับ จะตื่น    จิตนั้นเข้าออกทางไหน  อย่างไร ในตอนแรกของการปฏิบัติภาวนานั้น     ในการปฏิบัติคราวต่อๆ ไป  ท่านให้เอาใจไปจรดที่ศูนย์กลางกายโดยตลอด   ไม่ให้ส่งใจออกนอกเลย

ในการน้อมใจไปตามฐานต่างๆ นั้น   ท่านสอนให้กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสเท่าดวงตาดำ  กลมใสดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว  ให้ปรากฏขึ้นที่ปากช่องจมูก (หญิง-ซ้าย/ชาย-ขวา) นี่ฐานที่ 1  ให้ใจอยู่กลางดวงที่ใส  และให้บริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอรหัง” 3 ครั้ง   แล้วก็ให้เลื่อนดวงแก้วนั้นเข้าไปหยุดนิ่งอยู่ที่หัวตาด้านใน (หญิง-ซ้าย/ชาย-ขวา) ให้หยุดนิ่งอยู่ที่หัวตาด้านในนั้น  นี่ฐานที่ 2 ให้บริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอรหัง” 3 ครั้ง   แล้วก็ให้เลื่อนไปหยุดที่กลางกั๊กศีรษะ เป็นฐานที่ 3  แล้วก็เลื่อนไปหยุดที่ฐานที่ 4 ช่องเพดานปาก   ฐานที่ 5 ปากช่องลำคอ,   ฐานที่ 6 เลื่อนลงไปตรงศูนย์กลางกายตรงระดับสะดือ,   แล้วก็เลื่อนกลับสูงขึ้นมาตรงๆ อีกประมาณ 2 นิ้วมือ  นี่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อันเป็นที่ตั้งของกำเนิดธาตุธรรมเดิม และเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต และธรรม ณ ภายใน ละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียด ถึงธรรมกาย และพระนิพพานอีกด้วย    เวลาสัตว์จะเกิด จะดับ จะหลับ จะตื่น   จิตดวงเดิมก็จะตกศูนย์ไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6  แล้วจิตดวงใหม่ซึ่งอยู่ท่ามกลางดวงธรรมของกายละเอียด  ก็จะลอยเด่นมาที่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี้ก่อนจะทำหน้าที่ต่อไป จุดนี้จึงเป็นที่ตั้งถาวรของใจ

ทีนี้  ก็ให้เอาใจจรดที่ตรงนี้เรื่อยไปตลอด   ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ล่าง-บน นอก-ใน ไม่ไปทั้งนั้น  ทำใจให้หยุดในหยุด  กลางของหยุด ณ ที่ตรงนี้เรื่อยไป  ไม่ถอยหลังกลับ   เพราะการทำใจหยุดในหยุด  กลางของหยุด ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี้  จิตหยุดปรุงแต่ง (ไม่สังขาร)  จึงถูกถิ่นทำเลของพระ (กุสลาธัมมา)    แต่ถ้าใจออกนอกตัวก็จะปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลสได้มาก  จุดอื่นนอกจากตรงศูนย์กลางกายจึงเป็นถิ่นทำเลของภาคมาร (อกุสลาธัมมา)    เพราะเหตุนี้ จึงให้เอาใจจรดตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ไว้เสมอ   เวลาถูกส่วนเข้าก็จะเห็นและถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ และของกายอื่นๆ  ตลอดถึงดวงธรรมของกายธรรมต่อๆ ไปจนสุดละเอียดที่แท้จริง   จะได้ไม่ถูกหลอกด้วยนิมิตลวงที่จิตปรุงขึ้น (สังขาร)

หลวงพ่อท่านจึงไม่ยอมให้ใครสอนโดยให้เอาใจไปไว้นอกตัว  ให้เห็นดวงใสก่อน  แล้วจึงค่อยน้อมเข้ามาภายใน  เพราะแม้ว่าวิธีกำหนดนิมิตภายนอกตัวก่อนนั้นมันง่ายกว่าการเอาใจไปจรด ณ ที่ศูนย์กลางกายตั้งแต่เบื้องต้นก็จริง    แต่การเห็นนิมิตนอกตัวนั้น แม้จะน้อมเข้ามา ณ ภายในได้  ก็เสี่ยงต่อการที่จิตจะเคลื่อนจากศูนย์ออกไปรับอารมณ์ภายนอกตัว อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสเข้ามาประสม  แล้วปรุงแต่งจิตให้เห็นนิมิตที่จิตปรุงแต่งขึ้นในดวงกสิณภายนอกตัวนั้นได้มากทีเดียว  แปลว่า อาจถูกกิเลสมารแทรกซ้อนให้เห็นนิมิตลวง (ไม่จริง) ได้ง่าย   อันเป็นเหตุให้รู้ผิด เห็นผิด จึงคิดผิด พูดผิด ทำผิด ได้ง่ายมาก  และนี่แหละคืออันตรายของการเห็นนิมิตนอกตัว

ท่านจึงสอนให้ทำใจหยุด ณ ศูนย์กลางกายเลย   เพื่อให้ติดเป็นนิสัยปัจจัยตั้งแต่ต้น   และให้ทำไว้ในทุกอิริยาบถ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   และถ้าผู้ที่เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมใดที่เคยฝึกทำนิมิตหรือเพ่งกสิณนอกตัวก่อน   ท่านจะสอนให้รีบนำใจเข้าไปหยุด ณ ภายใน ศูนย์กลางกายไว้เสมอ   เวลาปฏิบัติภาวนาไม่ให้ส่งใจออกนอกตัว  และไม่ให้ใช้นิมิตที่เกิดขึ้นหรือที่เห็นภายนอกตัวเลย   เพราะฉะนั้น ถ้าประสงค์ของจริงในพระพุทธศาสนา   เวลาเจริญหรือปฏิบัติภาวนา ต้องพยายามไม่ส่งใจออกนอกตัว  และไม่ควรเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติภาวนาไปเป็นวิธีเอาใจออกนอกตัวเป็นอันขาด

แชร์เลย

Comments

comments

Share: