พระมโหสถ
พระมโหสถบัณฑิต ปัญญามีอยู่กับใคร ผู้นั้นย่อมจะเอาตัวรอดได้ในทุกกรณี และเป็นเครื่องส่งเสริมตัวเองให้เด่นกลายเป็นอัจฉริยะไป แต่ถ้าเอาไปใช้ในทางชั่ว ปัญญานั้นจะกลายเป็นดาบที่เชือดเฉือนตัวเองไป เพราะฉะนั้นปํญญาจึงมีลักษณะเป็นดาบสองคมที่จะให้ได้ดีก็ได้ ถ้าจะให้ชั่วก็ใช้ในทางชั่ว นี่เเหละคือคติของปัญญา โปรดอ่านเรื่องปัญญาสืบต่อไป
ในกาลที่ล่วงมาแล้วนมนาน พระเจ้าวิเทหะได้เสวยราชสมบัติในเมืองมิถิลา ท้าวเธอมีบัณฑิตประจำสำนักถึง ๔ คน มีนามว่า เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ
วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงพระสุบินว่า ในที่มุมละของพระลาน มีกองไฟลุกขึ้นรุ่งโรจน์โชตนาการอยู่มุมละกองและตรงกลางพระลานมีกองไฟเล็กนิดเดียวค่อย ๆ โตขึ้น ๆ จนใหญ่กว่ากองไฟทั้งสี่นั้น และสว่างจ้าไปหมดทั้งบริเวณสามารถจะมองเห็นแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ ได้ ประชาชนพากันเอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชากองไฟนั้น และเที่ยวเดินไปมาอยู่ระหว่างกองไฟนั้น โดยไม่รู้สึกว่าจะร้อนเลย ส่วนพระองค์นั้นในพระสุบินว่ากลัวเสียเหลือเกิน จนกระทั่งตกพระทัยตื่น เมื่อทรงลุกจากแท่นบรรทมก็ยังทรงนึกอยู่
“น่ากลัว จะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับเราและราชอาณาจักรเป็นประการใดบ้าง”
จนกระทั่งถึงเวลาเสด็จออกขุนนาง ทรงประพาราชกิจเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสกับบัณฑิตประจำราชสำนักทั้ง ๔ คนว่า
“ท่านอาจารย์ เมื่อคืนข้าพเจ้าได้ฝันไม่ค่อยดีเลย” “พระองค์พระสุบินอย่างไรพระเจ้าค่ะ” ท่านนักปราชญ์ทั้ง ๔ คน ถามขึ้นพร้อมกัน
“ข้าพเจ้าฝันว่า มีกองเพลิงอยู่ ๔ กอง ในมุมพระลานมุมละกอง มีกองไฟเล็กนิดเดียวอยู่ตรงกลาง และกองไฟนั้นใหญ่ขึ้น ๆ ส่งแสงสว่างไปทั่วจักรวาล พวกประชาชนพลเมืองพากันวิ่งอยู่ในกองไฟนั้นโดยไม่รู้สึกร้อนเลย ข้าพเจ้าเองกลัวจนเหงื่อแตกไปหมด ท่านอาจารย์ลองพิจารณาดูทีหรือว่าจะเป็นอย่างไร จะมีอันตรายกับตัวเราหรืออาณาจักรบ้างหรือไม่”
อาจารย์ทั้ง ๔ นั่งคิดอยู่ครู่แล้วหันหน้าเข้าปรึกษากันชั่ว ครู่เสนกะก็หันมากราบทูลจอมวิเทหะรัฐว่า
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า สุบินเป็นนิมิตที่ดีจะไม่มีภัยอันตรายใด ๆ เลย ทั้งพระองค์และพระอาณาจักรพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นมันหมายถึงอะไรกันล่ะ ท่านอาจารย์” ทรงชักต่อ
“พระสุบินของพระองค์ขอกเหตุสังหรณ์ที่ดีว่า ต่อไปจะมีคนดีเกิดขึ้นในราชอาณาจักรของพระองค์ ข้อที่พระองค์ทรงสุบินว่ามีกองไฟ ๔ กองนั้น ได้แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ คนนี้เอง และที่ว่ากองไฟเล็กเกิดขึ้นท่ามกลางนั้น คือจะมีบัณฑิตเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์ และบัณฑิตนั้นจะมีปัญญาแก้ไขความเดือนร้อนแก่ประชากรทุกถ้วนหน้า จะมีวาสนาบารมีสติปัญญารุ่งโรจน์กว่าพวกข้าพระพุทธเจ้าอีกเหลือล้นพ้นประมาณพระเจ้าค่ะ”
“เออ….ถ้ายังนั้น เวลานี้บัณฑิตนั้นอยู่ที่ใดเล่า”
“ขอเดชะ อาญาไม่พ้นเกล้า ขณะนี้ถ้าบัณฑิตนั้นไม่ออกจากครรภ์ก็ต้องจุติเข้าสู่ครรภ์มารดาแน่นอน พระเจ้าค่ะ”
“เอาล่ะท่านอาจารรย์ ข้าพระเจ้าจะให้เขาสืบดูว่าบัณฑิตผู้นั้นเกิดหรือยัง ถ้าเมื่อเกิดแล้ว จะใด้นำตัวเข้ามาบำรุงเลี้ยงไว้ในพระราชวัง”
ปฐมวัย กาลล่วงผ่านไป ๑๐ เดือน มโหสถบัณฑิตคลอดจากครรภ์มารดา ในบ้านทางทิศตะวันออกของเมืองมิถิลา ในเวลาคลอดมือถือแท่งยาออกมาแท่งหนึ่ง เศรษฐีผู้เป็นบิดาปวดศรีษะมาถึง ๗ ปี ใช้ยานี้รักษาก็หายเป็นปลิดทิ้งไปเลย
ประชาชนทราบข่าวก็พากันมาขอยาวิเศษเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็หายเป็นปลิดทิ้ง ไม่เหมือนน้ำในสระโกสินารายณ์ เพราะมียารักษาประชาชนนี่เอง เวลาตั้งชื่อจึงได้ขนานนามว่า มโหสถ เศรษฐีผู้เป็นบิดาได้ให้สืบถามว่ามีเด็กที่เกิดในวันเดียวกับมโหสถมีบ้างไหม ก็ได้ตั้งพันหมู่บ้านนั้น เศษฐีศิริวัฒกะผู้บิดาก็ให้อุปถัมภ์เลี้ยงดูกุมารเหล่านั้นเป็นอันดีเพื่อเอาไว้เป็นเพื่อนเล่นของเจ้ามโหสถ จัดหานางนมให้กุมารทั้งพันเหล่านั้น นับตั้งแต่นั้นมา เจ้ามโหสถก็ได้เพื่อนเล่นที่รุ่นราวคราวเดียวกันถึงพันคน เวลาก็ล่วงมาถึง ๗ ปี
สร้างศาลา
เมื่อเจ้ามโหสถมีอายุได้ ๗ ปี ได้พาเพื่อนออกเล่นอยู่ในลานที่เล่นของเด็ก ๆ ได้เกิดเห็นความไม่สะดวกนานาประการ ขณะกำลังเล่นกันอยู่เกิดฝนตก เด็ก ๆ ก็พากันวิ่งหนีฝนไปเข้าร่มไม้ชายคา เด็กนับพันก็ชนกันหกล้มลุกแข้งขาถลอกปอกเปิก หัวโน หน้าตาฟกช้ำดำเขียว แต่สำหรับเจ้ามโหสถอาศัยที่กำลังดีกว่าเด็กเหล่านั้น ก็วิ่งเข้าหลบฝนได้เสมอ โดยไม่ต้องไปชนกับใครถึงต้องบาดเจ็บ
ถ้าสร้างศาลาเป็นที่พักสำหรับพวกเด็กเหล่านี้เห็นจะดีเป็นแน่ จึงประกาศให้เด็กเหล่านั้นทุก ๆ คนนำทรัพย์มาให้เขาคนละ ๔ บาท เขาจะจ้างช่างมาทำศาลาสำหรับเป็นที่พักในสนามเล่น ครั้นพวกเด็กนำเงินมาให้แล้ว ได้เงินทั้งหมด ๔.๐๐๐ บาทเศษ ก็ไปจัดช่างมาเพื่อจะให้สร้าง
นายช่างรับสร้างแล้วก็เริ่มปรับพื้นให้เรียบ แล้วจึงขึงเชือกเพื่อจะกะผัง เจ้ามโหสถเองต้องเป็นคนบัญชาการงานเพราะไม่พอใจช่าง และยังแถมกำชับนายช่างให้ทำเป็นห้องใน ห้อง ห้องสำหรับคลอดลูกของคนยากคนจน 1 ห้อง สำหรับสมณพราหมณ์มาพัก ๑ ห้อง สำหรับคนเดินทางที่ผ่านไปมา ๑ ห้อง สำหรับพ่อค้าซึ่งมีที่สำหรับเก็บสินค้า ๑ ห้อง และให้มีที่ทารกพันคนจะพักเวลาร้อนจัดหรือฝนตก นายช่างก็ทำตามความประสงค์ เมื่อศาลาสำเร็จก็ให้ช่างเขียน ๆ จิตรกรรมในศาลาอย่างงดงาม มิใช่แต่จะสร้างศาลาเท่านั้น เพราะบริเวณที่เล่นยังอยู่อีกกว้างขวาง เห็นว่าคนเดินทางเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากระหายหิวเพราะความร้อน จึงขุดสระปลูกปทุมชาติต่างชนิดในสระนั้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเจ้ามโหสถเป็นผู้บัญชาการทั้งสิ้น
คำโบราณที่ว่า “คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง” อันเป็นเครื่องแสดงว่าไม่ดี เพราะเด็ก ๆ ก็จะเอาแต่เล่น ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนคนหัวล้านเล่ามักจะใจไม่ค่อยใหญ่ ส่วนมากมักจะพอกับผมบนหัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะทำการใหญ่ต้องหนักแน่นอย่าเอาแต่อารมณ์ มิฉะนั้นบ้านก็ต้องค้าง เมืองก็จะคงหาสำเร็จไม่ได้
แต่เจ้ามโหสถกลับทำลายคำโบราณนี้ไปได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาบัญชางานเองจนสำเร็จทุกอย่างทุกประการ นับแต่นั้นมาเด็ก ๆ ก็ไม่ต้องหกล้มหกลุกเพราะวิ่งหนีฝนและผู้คนที่ผ่านไปมาก็ได้อาศัยที่ศาลาของเจ้ามโหสถ ได้อาศัยอาบกินน้ำใสในสระก็เลยสรรเสริญเจ้ามโหสถ พร้อมกับให้ศิลให้พร
“ลูกท่านเศรษฐีดีจริง ให้ความสุขแก่คนทั้งปวง ขอให้มีความสุขความเจริญเถิด” และมิใช่แต่เท่านั้น เจ้ามโหสถอายุเพียง ๗ขวบ แต่ก็สามารถวินิจฉัยข้อต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดพลาดให้เสียความยุติธรรม ศาลาหลังนั้นก็กลายเป็นศาลของประชาชนไปโดยปริยาย มีเจ้ามโหสถเป็นผู้พิพากษา กิตติศัพท์อันนี้ก็เลื่องลือในไปที่ต่าง ๆ
เมื่อล่วง ๗ ปีไป พระเจ้าวิเทหะทรงคิดได้ถึงสุบินนิมิตของพระองค์ และคำพยากรณ์ของนักปราชญ์ประจำราชสำนักทั้ง ๔ ท่าน ก็ได้ทรงส่งคนออกไปตรวจดูทั้ง 4 ทิศ ว่าจะมีผู้ใดมีลักษณะที่จะเป็นบัณฑิตตามนิมิตของพระองค์ได้ อำมาตย์ ๔ คน ถูกใช้ให้ไปตรวจดูทั้ง ๔ ทิศ ของเมืองต่างคนก็แยกย้ายกันไปคนละทิศ คนหนึ่งไปทิศเหนือ คนหนึ่งทิศตะวันออก คนหนึ่งไปทิศตะวันตก และอีกคนหนึ่งไปทิศใต้
คนไปทางอื่นนอกจากทิศตะวันออก ไม่พบอะไรที่เป็น เครื่องส่อให้เห็นว่าจะมีนักปราชญ์เกิดขึ้นเลย ส่วนคนที่อื่นนอกจากทิศตะวันออก เมื่อเข้าไปถึงหมู่บ้านของศิริวัฒกะเศรษฐีผู้เป็นบิดาของเจ้ามโหสถ ได้เห็นศาลาและสระที่เจ้ามโหสถทำไว้ ตลอดจนได้ฟังกิตติศัพท์ของเจ้ามโหสถ ก็นำสิ่งที่ตนได้เห็นและฟังไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งพระองค์ก็เห็นว่าคงเป็นนักปราชญ์แน่แล้ว แต่เมื่อตรัสถามเสนกะก็กลับได้รับคำตอบว่า
“ขอเดชะ อย่าเพิ่งด่วนลงพระทัยก่อน เพราะการสร้างศาลาเท่านั้นจะจัดว่าเป็นนักปราชญ์ไม่ได้”
ทั้งนี้เพราะมิใช่อะไร เพราะเสนกะเกรงว่าลาภยศที่ตนได้นั้นลดน้อยลงไป หรืออาจจะต่อไม่ได้เลยเพราะปราชญ์คนใหม่เข้ามาแทนที่ตน “ขอเดชะ ให้พระองค์ทรงพิจารณาต่อไปอีกหน่อย เพราะช้า ๆได้พร้าสองเล่มงามพระเจ้าค่ะ”
เรื่องก็เป็นอันหมดลง พระเจ้าวิเทหะยังไม่ทรงรับเจ้ามโหสถมา แต่ก็ได้ส่งคนออกไปสังเกตการณ์ใกล้ชิด..
เรื่องเนี้อ
วันหนึ่งเจ้ามโหสถกำลังเล่นอยู่ในสนามกับเด็ก ๆ ด้วยกัน เผอิญเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบชิ้นเนื้อที่เขาวางไว้ที่เขียงแล้วบินผ่านมา ด้วยความคะนองเด็ก ๆ ก็อยากได้เนื้อนั้น แม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้ ก็พากันโห่ร้องวิ่งตามเหยี่ยวหกล้มหกลุกไปตาม ๆ กันได้แผลแต่ไม่ได้เนื้อ ได้แต่ความฟกช้ำดำดำเขียว หัวโน แขนเคล็ดไปตาม ๆ กัน เจ้ามโหสถจึงได้ไล่เหยี่ยวไปด้วยกำลังเร็ว และตวาดเสียงดัง เหยี่ยวตกใจก็เลยปล่อยชิ้นเนื้อลงมา เด็ก ๆ พากันชอบใจ ราชบุรุษก็เอาความเป็นไป ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ได้ถูกเสนกะคัดค้านอย่างเดิมอีก จึงได้ให้ราชบุรุษสะกดรอยคอยดูเหตุการณ์ต่อไป
เรื่องวัว
ชายชาวนานำโคไปเลี้ยงในทุ่งนา ปล่อยให้โคกินหญ้าตามสบาย ตัวเองหลบเข้ามานอนอยู่ใต้ต้นไม้ เผอิญหลับไป ชายคนหนึ่งเดินมาพบโคไม่ไม่มีเจ้าของกำลังกินหญ้าอยู่ก็จูงโคออกเดินไป ชายชาวนาลุกขึ้นมาไม่เห็นโคก็ออกเดินตามพบโจรนั้นกำลังจูงโคไปอยู่ จึงเข้ายื้อแย่งและว่าเป็นของตน แต่โจรไม่ยินยอมให้ อ้างว่าเป็นของตนเช่นกัน ต่างคนก็ยื้อแย่งและทุ่มเถียงกันไปมาไม่เป็นที่ตกลงกัน เลยต้องพากันหามโหสถ ณ ศาลาเด็กเล่น เพื่อให้ตัดสิน
มโหสถจึงถามชายทั้งสองถึงความเป็นมาของโค ชายเจ้าของกล่าวว่า “นาย….โคผมซื่อมาจากบ้านโน้น มีคนรู้เห็นเป็นพยายนำไปไว้ที่บ้านแล้วนำไปเลี้ยงที่ทุ่งนา เผอิญหลับไป ชายคนนี้จึงมาลักไป”
ชายคนนั้นกล่าวว่า “นายอย่าไปเชื่อเขา ไม่เป็นความจริงเช่นนั้น เพราะว่าไม่โคตัวนี้เป็นลูกคอกในบ้านของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ากำลังจะนำมันไปให้ต่างบ้านของข้าพเจ้า คนนั้นโกหกหน้านายเสียแล้วล่ะ”
“ท่านทั้งสองที่มาให้เราตัดสินนั้น ท่านจะยอมอยู่ในถ้อยคำของเราล่ะหรือ” เมื่อทั้งสองได้ให้ถ่อยคำว่าจะอยู่ในถ้อยคำแล้ว จึงให้คนทั้งสองออกไป แล้วเรียกเข้ามาถามทีละคน ครั้งแรกเรียกชายเจ้าของโคเข้ามาถามก่อนว่า
“โคของท่านอ้วนพี ท่านเลี้ยงด้วยอะไรจึงได้อ้วนพีอย่างนี้”
“โอ ? นาย ข้าพเจ้าเป็นคนจนจะไปมีอะไรให้โคกินนอกจากหญ้า ตอนเช้าข้าพเจ้าจะนำโคออกมาเลี้ยงให้กินหญ้าเท่านั้น”
มโหสถก็ให้ชายเจ้าของออกไป แล้วเรียกคนลักโคมาถาม
“โคตัวนี้มีลักษณะดี อ้วนงามดีเหลือเกิน ท่านคงจะให้อะไรมันกินล่ะสิ จึงได้อ้วนดีอย่างนี้”
“โอ้? นาย ข้าพเจ้าให้โคตัวนี้กินงา กินแป้งและนมสดบ้าง หญ้าบ้าง หลายอย่างด้วยกัน”
เท่านั้นเจ้ามโหสถก็ให้ชายผู้นั้นออกไป แล้วให้คนไปนำใบประยงค์มาผสมกันน้ำ กรอกปากโค โคก็สำรอกหญ้าออกมา เจ้ามโหสถจึงชี้ให้ประชาชนที่มาฟังดูและว่า
“พวกท่านจงดูว่าโคสำรอกอะไรออกมา”
“มีแต่หญ้าทั้งนั้น” ประชาชนตอบ มโหสถจึงหันไปถามคนที่ลักโคว่า
“ท่านจะยอมรับหรือไม่ ถ้ามิฉนั้นจะต้องส่งเจ้าหน้าที่จัดการไปตามความผิด”
” ท่านขอรับ กระผมรับผิด อย่าส่งตัวผมให้เจ้าหน้าที่เลยครับ ผมเดินทางผ่านมาเจ้าของนอนหลับอยู่ จึงจูงเอาโคตัวนี้มาเสีย ผมขอคืนให้อย่าเอาโทษกระผมเลย” มโหสถ จึงสั่งสอนให้ประพฤติอยู่ในศีลธรรม และปล่อยตัวไป พร้อมกับคืนโคให้เจ้าของไปด้วย
ราชบุรุษได้ติดตามดูพฤติการณ์ตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย และได้นำเอาความนั้นไปกราบทูลจอมคนแห่งเทวิรัฐ
“ควรจะรับเจ้ามโหสถมาได้หรือยัง” ทรงตรัสถามเสนกะ
“อย่าเพิ่งก่อนพระเจ้าค่ะ เพราะแสดงปัญญาเพียงเท่านั้นยังไม่พอจะเป็นบัณฑิตได้ ดูไปก่อนอีกสักหน่อย คำโบราณ ช้าเป็นการนานเป็นคุณพระเจ้าค่ะ”
เมื่อถูกคัดค้านท้าวเธอก็ได้แต่นิ่งอึ้ง และได้สั่งให้ราชบุรุษกลับไปดูเหตุการณ์ต่อไปอีก..
เรื่องเครื่องประดับ
หญิงยากจนคนหนึ่งเดินทางมาไกล เหนื่อยเข้าพอมาถึงสระน้ำก็จัดแจงถอดสร้อยคอที่ทำด้วยด้ายถักสีต่าง ๆ ไว้บนผ้าแล้วตัวเองก็ลงไปในสระเพื่อจะลูบตัวและล้างตา
หญิงรุ่นคนหนึ่งแลเห็นเคื่องประดับนั้นก็เกิดความโลภอยากได้สร้อยคอคอถักสายนั้น จึงเดินเข้าไปหยิบดู และถามหญิงเจ้าของว่า
“นี่แน่ะเธอ สร้อยคอของเธอสวยจัง ฉันอยากจะทำบ้าง ราคาสักเท่าไหร่นะ”
“ไม่มีค่าดอกค่ะ เพราะมันเป็นด้ายถักสีต่าง ๆ เท่านั้นเหมาะสำหรับคนยากจนเท่านั้นค่ะ”
“แต่ฉันว่ามันสวยดีน่ะ ฉันอยากจะชมสักหน่อย” แล้วเอาสร้อยนั้น สวมคอตนเองแล้วถามว่า
“ดูสิคะ สวยไหมคะ”
“ก็ดีเหมือนกันเหละคะ”
“เออ..? สวยจริง ๆ แหละนะ” ว่าแล้วก็เดินหนีไปเสียเฉย ๆ พร้อมทั้งเอาสร้อยนั้นติดคอไปเสียด้วย หญิงผู้เป็นเจ้าของตกใจอ้าปากค้าง พอได้สติก็ร้องออกมาว่า
“คุณคะ สร้อยคอดิฉันคุณยังไม่ได้คืนมานะคะ”
“สร้อยคออะไรของแก นี่มีแต่ของฉันเท่านั้น ที่สวมอยู่ในคอของฉันนี่เเหละ”
“ไม่ยอม ไม่ยอม คุณโกงดิฉันต่อหน้าต่อตาอย่างนี้ไม่ได้”
“ไม่ได้จะทำยังไง เชิญขี่ม้า ๓ ศอก ๔ ศอก ไปบอกกับใครก็ได้ มันของฉันแท้ ๆ หล่อนจะมาตู่เอาน่ะไม่สำเร็จดอก”
ว่าแล้วก็วิ่งหนีไป หญิงผู้เป็นเจ้าของ ขึ้นจากสระวิ่งตามไป พร้อมกับร้อง “เอาของฉันมา เอาของฉันมา ฉันไม่ให้”
“คนขี้ตู่ หน้าด้าน ของตัวก็อยู่ที่ตัวสิ นี่ของฉันต่างหากฉันไปล่ะ อย่ามาหน่วงเหนี่ยวไว้นะ”
พร้อมกับเดินหนีไป แต่หญิงคนจนไม่ยอมให้ไปก็ดึงไว้ ประชาชนชาวเขาเผ่ามุงก็ล้อมกันเข้ามาสอบถามเรื่อง เมื่อรู้แล้วก็ไม่สามมารถจะจัดการอะไรได้ เพราะต่างไม่มีพยานด้วยกัน
“ไปหามโหสถให้เขาตัดสินให้เถอะ” เมื่อตกลงกันแล้ว ก็พากันยกขบวนให้ทั้งโจทก์จำเลยเหล่าเผ่ามุงเผ่ามองทั้งหลายไปยังศาลาที่เจ้ามโหสถกำลังเล่นอยู่
“พ่อมโหสถมีความมาให้ตัดสินอีกแล้ว”
“เรื่องอะไรกันล่ะ”
“เรื่องมันเกี่ยวกับเครื่องประดับ ซึ่งต่างคนก็ช่วงชิงกรรมสิทธิ์กัน
“บอกให้โจทก์และจำเลยเข้ามาซิ”
เมื่อโจทก์และจำเลยเข้ามาแล้ว มโหสถจึงถามว่า
“ท่านทั้งสองจะยอมทำตามคำตัดสินของเราแน่ล่ะหรือ”
“ข้าพเจ้าทั้งสองจะปฎิบัติตามความตัดสินของท่าน”
“ถ้าเช่นนั้นโจทก์ให้การไปก่อน”
หญิงผู้เป็นโจทก์จึงเล่าความตั้งแต่ตนเดินทางมาจนกระทั่งถอดสร้อยคอด้ายถักวางไว้บนผ้า แล้วลงไปลูบตัวล้างหน้าล้างตาฝนสระ หญิงจำเลยเดินมาขอดู ตนจึงให้ดู แต่หญิงนั้นไม่ดูเปล่า ๆ กลับเอาสวมใส่คอแล้วเดินหนีไปหน้าตาเฉยเสียอีกด้วย ตนจึงขึ้นจากสระวิ่งไล่ตามมาเพื่อจะเอาของ ๆ ตนคืน แต่หญิงจำเลยไม่ให้ อ้างว่าเป็นของตน ไม่ตกลงกันจึงพากันมาหามโหสถนี่แหละ
เมื่อมโหสถฟังโจทก์แล้วก็ถามจำเลยบ้าง หญิงนั้นก็ให้การว่า ตนมีธุระเดินทางผ่านมาทางสระซึ่งหญิงคนนั้นในสระ และไม่ทราบว่าอย่างไรผลุนผลันหญิงคนนั้นก็วิ่งขึ้นมาจะเอาสร้อยคอถักซึ่งนางสวมใส่อยู่ อ้างว่าเป็นของเขา ดิฉันจึงไม่ยอมให้ก็เกิดโต้เถียงกันจนคนแนะนำให้มาหามโหสถ
มโหสถพิจารณาแล้วก็ทราบได้ทันที คนผู้จำเลยฉ้อโกงของเขาจริง ๆ เพราะตามธรรมดาใครจะวิ่งเข้ามาตู่ของ ๆ คนอื่นได้ง่าย ๆ โดยไม่มีเหตุผลอะไร แต่เพื่อจะให้ปรากฎแก่มหาชนทั่วไป มโหสถจึงสั่งให้คนนำเอาอ่างใส่น้ำเข้ามาอ่างหนึ่งพร้อมกับให้นางจำเลยถอดสร้อยคอนั้นแล้วแช่ลงไปในอ่าง พร้อมกับถามนางว่า
“เครื่องประดับของเธออบด้วยเครื่องหอมอะไร” นางผู้เป็นจำเลยอึกอัก เพราะไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่แล้วก็แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปทีหนึ่ง โดยตอบว่า
“ของข้าพเจ้าอบด้วยกำยาน” มโหสถจึงหันไปถามผู้เป็นโจทก์บ้าง
“เครื่องประดับของท่านอบด้วยเครื่องหอมอะไร” ผู้เป็นโจทก์จึงตอบว่า
“ท่านผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก ดิฉันเป็นคนจน ไม่สามารถจะหาของหอมอะไรได้ ก็ได้แต่เก็บเอาดอกพยอมมาอบเครื่องประดับนี้”
เมื่อได้ทราบคำของทั้งสองฝ่ายแล้ว มโหสถก็ให้เอาเครื่องประดับขึ้น แล้วเรียกคนที่ชำนาญในการดมกลิ่นเข้าไปพิสูจน์ดูว่าในน้ำที่แช่เครื่องประดับนั้นมีกลิ่นอะไร ผู้ชำนาญเข้าไปดมแล้วก็หันมาบอกกับมโหสถว่า
“ท่านผู้เจริญในน้ำมีแต่กลิ่นดอกพยอมเท่านั้น” มโหสถจึงเรียกนางผู้เป็นจำเลยเข้ามาถามว่า
“เรื่องนี้ท่านจะว่าอย่างไร ถ้าเรื่องนี้ไปถึงเจ้าหน้าที่ ท่านจะต้องลำบาก เพราะเหตุทั้งหลายบอกให้ทราบว่าท่านมิได้เป็นเจ้าของเครื่องประดับสายนั้น ท่านจะยอมคืนให้เขาหรือไม่”
ด้วยดวงหน้าซีดเผือดเพราะความอาย และเสียงสั่นด้วยความกลัวผิด นางผู้เป็นจำเลยยอมรับ คืนและขอโทษอย่าเอาความผิดอีกเลย มโหสถจึงคืนสร้อยนั้นให้นางผู้เป็นเจ้าของไป พร้อมกับสั่งสอนให้นางผู้เป็นจำเลยตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้วให้แยกทางกันกลับไป
ใครบ้างจะคิดว่าเรื่องยาก ซึ่งหาพยานหลักฐานอะไรมิได้ แต่มโหสถคิดหาหนทางพิสูจน์ตังเองมาตลอด ใครโง่ ใครฉลาด ใครคด ใครโกง ใครซื่อสัตย์ เหตุการณ์และเวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้
“ท่านอาจารย์ มโหสถได้แสดงปัญญาตัดสินความนี้ได้อย่างลึกซึ้ง สมควรนำมาเลี้ยงดูได้หรือยัง”
เพราะไม่อยากให้ใครดีเกินหน้าตน เสนกะจึงกลาบทูลว่า “ขอเดชะ เรื่องเล็กน้อยเท่านี้ใคร ๆ ก็ตัดสินได้ อย่าเพื่งเอามาเป็นเครื่องวัดความเป็นบัณฑิตด้วยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เลยดูไปอีกก่อนดีกว่า เวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีกว่านี้”
ข้อพิพาทเรื่องลูก
หญิงเดินทางคนหนึ่งอุ้มลูกผ่านมาทางสระที่มโหสถขุดไว้ด้วยความร้อนและเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางจึงวางลูกไว้ขอบสระ แล้วตนเองก็ลงไปลูบแข้งลูบขาลูบหน้าลูบตา ดื่มน้ำระงับความกระหาย
นางยักษิณีตนหนึ่งเดินทางผ่านมาเห็นเด็กอ่อนนั่งอยู่คิดอยากกิน
“เนื้อคงจะหวานมัน กระดูกกระเดี้ยวคงกรอบดีเป็นแน่” เมื่อคิดได้ดังนั้นก็เดินไปใกล้เด็ก เห็นแม่กำลังลูบตัวอยู่ในสระ จึงพูดว่า
“พ่อหนูนี่น่ะน่าเกลียดน่าชังจังคะ ลูกของเธอหรือ”
“ค่ะ ลูกของฉันเอง”
“ฉันขออุ้มแกหน่อยนะ”
“เชิญเถอะคะ แกไม่ค่อยจะแปลกหน้าคนนักหรอก”
นางยักษิณีได้โอกาส ก็เลยอุ้มเด็กนั้นขึ้นมาเห่กล่อมแล้วสักครู่ก็ออกเดินทางไป โดยไม่วางเด็กไว้ด้วย
“คุณคะ คุณเอาลูกดิฉันไปไหน” แต่นางยักษิณีกลับตะหันมาตะคอกว่า
“อะไร ลูกของแก ลูกของฉันต่างหาก” แม่เด็กก็วิ่งตามไปยื้อยุดฉุดไว้ ทั้งสองก็เถียงกันเสียงเอ็ดตะโร ไม่เป็นที่ตกลงกันได้
ประชาชนเห็นก็ล้อมกลุ่มเข้ามาเช่นเคยตามประเพณีของเผ่ามุงเผ่ามองทั้งหลาย
“อะไรกันล่ะ แม่คุณ” เสียงผู้ชายคนหนึ่งถามขึ้น
“ลูกของฉันเจ้าค่ะ แม่คนนั้นมาขออุ้มแล้วจะลักพาลูกดิฉันไป ดิฉันก็วิ่งติดตามมานี่แหละ” เสียงแม่เด็กตอบ
“ไม่จริงค่ะ ลูกของฉันอุ้มผ่านมาข้างสระ แม่นี้ก็วิ่งขึ้นมาจากสระ อ้างว่าเป็นลูกของเขา ดิฉันจะให้ได้ยังไงคะ ในเมื่อเด้กคนนี้เป็นลูกของฉันจริงๆ ” เห็นจะต้องให้มโหสถตัดสินเสียแล้ว
แล้วก็พากันห้อมล้อมหญิงสองคนไปหามโหสถยังศาลาที่เล่นของเด็ก
“มีเรื่องมาอีกแล้วพ่อมโหสถ”
“เรื่องอะไรอีกล่ะ”
“นี่ไม่ใช่สิ่งของอย่างแต่ก่อนเสียแล้ว กลายเป็นเด็กมีชีวิต “
“ไม่มีใครรู้จักผู้หญิงสองคนนี่บ้างเลยหรือ”
“ไม่มีใครรู้จักเลย เพราะเป็นคนที่อื่นเดินทางผ่านมาเท่านั้น”
“ได้สอบถามกันบ้างใหมว่า เป็นคนอยู่เมืองไหน ตำบลอะไร”
“ได้ถามแล้ว เขาบอกว่าอยู่เมืองไกล และตำบลก็ไกลทั้งสองคน”
“การสืบสวนทวนพยานถึงในที่อยู่ ก็ย่อมจะทำได้เพราะหญิงเหล่านี้ จะต้องมีญาติพี่น้องอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นเวลานาน เพื่อจะรู้ได้ง่าย ๆ และสงวนเวลาตัดสิน ข้าพเจ้าก็จะจัดการให้” ตกลงใจในการที่จะให้เป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท ซึ่งหญิงทั้งสองก็ตกลง
มโหสถพิจารณาหญิงทั้งสองคน เห็นอีกคนหนึ่งแต่งตัวแม้จะเรียบร้อย แต่กิริยาอาการดูกระด้าง ๆแข็ง ๆ ไม่เหมือนหญิงชาวบ้านธรรมดา ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นแต่งตัวค่อนข้างกะเร้อกะรังอย่างแบบชาวชนบททั่ว ๆ ไป ก็ทราบได้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร
จึงได้ถามหญิงทั้งสองว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของตนแน่หรือทั้งสองคนยืนยัน หญิงบ้านนอกยังแถมสะอื่นเสียด้วย มโหสถจึงหันไปถามประชาชนว่า
“เมื่อเขายืนยันว่าเป็นลูกของเขา เราจะทำอย่างไรดีล่ะเรื่องจะสืบสวนไปถึงต้นตอน่ะมันไกล แล้วไม่มีเวลาจะไปสอบ”
“ถ้าไม่มีพยาน ก็มักจะตัดสินสิ้นความเที่ยงธรรมไป จะกลายเป็นโยนความผิดให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งไป คววรจะสอบสวนทวนพยานให้ได้ความจริง”
“ข้าพเจ้ามีวิธีง่าย ๆ ที่ตัดสินให้ได้ความยุติธรรม”
“ตกลง ให้พ่อมโหสถจัดการไปเลย”
มโหสถจึงให้คนขีดเส้นลงพื่นดิน แล้วให้อีกคนหนึ่งไปรับเด็กมาจากนางยักษิณี ซึ่งนางก็ยอมให้แต่โดยดี พอได้มาแล้วก็เอามาวางที่เส้นให้กลางตัวทับเส้นตรงบันเอว แล้วบอกหญิงทั้งสองคนว่า
“ท่านมาจับเด็ก อีกคนจับทางเท้า อีกคนจับทางศรีษะ แล้วต่างคนต่างดึง ใครมีกำลังดึงเอาเด็กไปได้ คนนั้นเป็นแม่ของเด็ก”
มหาชนได้ยินก็สงสัยในใจว่ามโหสถจะเล่นท่าไหน แต่เพราะเชื่อปัญญาว่าคงจะมีลูกไม้อะไรอยู่ จึงได้แต่นิ่งดู
“เอ้า อย่าช้าสิ จับเท้าคนหนึ่ง จับศรีษะคนหนึ่งดึงจนกว่าจะชนะ มันเหมือนชักคะเย้อนั้นเเหละอย่ามัวช้าสิ” มโหสถเร่งทั้งสอง
แม่ของเด็กมองมโหสถอย่างปลงอนิจจัง พิโธ่เอ๋ยทำอย่างนี้ลูกก็ตายสิ แต่ให้จับก็จับ เลยแข็งใจเอื้อมมือไปจับเท้าลูกตนเพียงแผ่วๆ
“คอยฟังสัญญาณนะ” มโหสถว่า
“พอเรานับถึงสามท่านทั้งสองก็ลงมือดึงกันเชียวนะ” แล้วก็นับ “หนึ่ง – สอง – สาม”
พอสิ้นคำว่าสาม หญิงทั้งสองก็ดึงเด็กพร้อมกัน เด็กได้รับความเจ็บปวดก็เลยร้องขึ้น แม่ของเด็กเห็นเช่นนั้นก็ปล่อยเด็กแล้วยืนร้องไห้ มโหสถหัวเรอะอย่างชอบอกชอบใจ
“ ชนะแล้วใช่ใหมเล่า” แล้วหันไปถามประชาชนที่พากันมาฟังตัดสินคดีว่า
“พวกท่านเห็นว่าจิตใจของแม่คนอื่นน่ะ จิตใจใครจะอ่อนกว่ากัน”
“ของแม่อ่อนกว่า”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านมองดูหญิงสองคนนี่ซิว่าคนไหนจิตใจอ่อน”
“คนที่ยืนร้องไห้นั้นสิ”
“ไม่ใช้กล่ะมัง อาจจะร้องเพราะแพ้ก็ได้”
“ไม่ใช่เพราะแพ้แน่นอน เพราะพอเด็กร้องนางก็รีบปล่อยเด็กทีนที ถ้านางไม่ปล่อยเด็กก็จะเจ็บมากขึ้น จึงเห็นว่าที่นางร้องไห้ไม่ใช่ร้องเพราะแพ้ แต่ร้องเพราะสงสารเด็กต่างหาก” แล้วมโหสถก็หันไปถามอีกว่า
“แล้วพวกท่านเห็นว่าใครควรเป็นแม่ของเด็ก” มหาชนก็ตอบพร้อมกัน
“นางคนที่ร้องไห้เป็นแม่ของเด็กแน่นอน” มโหสถจึงพูดต่อไปว่า
“เรื่องนี้ฉันไม่ตัดสิน เพราะมหาชนเขาตัดสินแล้ว แกเป็นขโมยเด็ก จะแก้ตัวอย่างไร”
“ฉันไม่แก้ตัวอย่างไร เด็กที่ฉันแย่งได้เป็นลูกของฉัน”
“อย่าให้ถึงเจ้าที่บ้านเมืองเลย เธอจะลำบากคืนเด็กให้แม่เขาเถอะ เธอจะเอาไปทำไมกัน”
เมื่อมโหสถคาดคั้นหนักเข้า และเห็นว่ามหาชนมองดูนางอย่างกับจะกินเลือดกินเนื้อ จึงสารภาพความจริง พร้อมกับคืนเด็กให้แม่ไป มโหสถจึงสั่งสอนให้นางเลิกความชั่ว ๆ ให้ประพฤติตังแต่ในทางสุจริต ซึ่งนางยักษิณีก็รับคำเป็นอันดี เรื่องนี้เป็นอันตกลงกันได้ด้วยดี ประชาชนที่ห้อมล้อมเด็กก็ชมปัญญาของมโหสถ ใครบ้างจะคิดว่าเรื่องยาก ๆ ปราศจากพะยิงพยาน พ่อมโหสถก็ตัดสินเป็นเรื่องง่าย ๆ ไปได้
พวกราชบุรษก็ส่งพฤติการอันนี้ไปให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ พระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสถามเสนกะอีก เสนกะก็ยังยืนกรานไม่ยอมรับมโหสถเข้ามา เรื่องเล็กพระเจ้าค่ะ ใคร ๆ ก็ตัดสินได้ ถ้านางยักษิณีไม่ยอม มโหสถก็ไมรู้จะตัดสินอย่างไร แต่เพราะนางยอมเสัยเรื่องมันก็เลยง่ายนิดเดียว จะรับเข้ามาฐานะบัณฑิตเพราะเรื่องเท่านี้ ดูไม่ค่อยสมกับฐานะนักพระเจ้าค่ะ ควรดูไปก่อนดีกว่า” พระเจ้าวิเทหราชก็ต้องจนพระทัยอีกวาระหนึ่ง เพราะเฒ่าหัวงูเสนกะผู้เรืองปัญญาแห่งราชสำนัก
เรื่องชิงเมีย
เรื่องนี้มีอยู่ว่านายเตี้ยชื่อคโฬกาฬ เพราะตัวแกดำ มีเมียชื่อทีฆตาลา ไปทำมาหากินต่างถิ่นถึง ๗ ปี ไม่ค่อยมาเยื่ยมพ่อแม่เลย วันหนึ่งนายเตี้ยเกิดความคิดถึงพ่อแม่ขึ้นมา จึงสั่งนางผู้เป็นเมียว่า
“แม่ทีฆตาลา ทอดขนมสักหน่อยเถอะน่ะ”
“พ่อเตี้ยจะเอาขนมไปทำอะไร”
“เอาไปฝากพ่อแม่สักหน่อย เพราะถ้าจะชื้อเงินทองของเราก็ไม่ค่อยจะมี”
“พ่อแม่เป็นอะไรไปล่ะ ใครมาส่งข่าวรึ”
“ไม่มีใครส่งข่าวดอก ไม่ได้ไปเยี่ยมแกนานแล้ว ตั้ง ๗ – ๘ ปี เลยคิดถึง คิดว่าควรจะมีอะไรติดไปเยี่ยมแกสักหน่อย”
“เงินทองของเราก็ไม่มี อย่าเพิ่งไปเลย รอไว้เมื่อเราเก็บเงินทองได้มากกว่านี้ค่อยไปดีกว่า อีกอย่างการเดินทางไกลเหลือเกิน เอาไว้ให้ฉันสบายดีแล้วค่อยคิดกันใหม่”
นายเตี้ยก็เลยไม่ได้ไป ก้มหน้าก้มตาทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป เมื่อมีความคิดถึงพ่อแม่มากขึ้น นายเตี้ยก็สั่งนางทีฆตาลาอีก แต่ถูกคัดค้านเช่นคราวแรก ก็เป็นอันว่าการเดินทางต้องระงับอีก ตราบจนกระทั่งครั้งที่สาม นายเตี้ยจึงได้โอกาสที่จะเดินทางไปเยี่ยม เพราะนางทีฆตาลาไม่คัดค้าน ยอมทอดขนมเพื่อเป็นของติดไม้ติดมือไปฝากบิดามารดาด้วย คนทั้งสองจัดเตรียมของที่จะนำติดตัวไปเรียบร้อย ก็ออกเดินทางไป จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งมีน้ำไหลเชี่ยวแต่ตื้นเขินพอเดินข้ามไปมาได้ มองหาเรือแพจะข้ามก็ไม่มี คนที่จะเดินทางผ่านมาพบจะถามความเป็นไปของแม่น้ำสายนี้ก็มองหาไม่พบ สองผัวเมียก็เลยนั่งพักอยู่ที่ริมต้นไม้ชายฝั่งแม่น้ำนั้นเอง
ในขณะนั้นเอง นายเตี้ยก็มองเห็นชายคนหนึ่งเดินตรงมาที่แม่น้ำ ก็นึกดีใจ เพราะจะได้ถามข่าวว่ามีทางข้ามแม่น้ำนี้ได้อย่างไร ชายคนนั้นชื่อว่านายหลังยาว เพราะตัวสูงและคงจะชอบนอนมากกว่าทำงาน เขาเลยตั้งชื่อแกว่าอย่างนั้น เดินตรงมาที่ร่มไม้นั้น เมื่อเขาเดินมาถึง นายเตี้ยของเราก็เอ่ยปราศรัยพร้อมกับถามว่า “พี่ชายคงอยู่ไม่ไกลจากที่นี้กระมัง” “เราอยู่ไม่ไกลหรอก”
“พี่ชายคงรู้จักว่าทางข้ามแม่น้ำสายนี้อยู่ทางใด หรือที่ใหนเขาจะมีเรือแพข้ามบ้าง” พอได้ยินคำถาม นายหลังยาวก็รู้ว่านายเตี้ยนี่ไม่เคยผ่านมาทางนี้เลย เพราะทางตรงนี้เองเป็นทางเดินข้ามของพวกเดินทาง และเห็นว่านางทีฆตาลาเมียนายเตี้ยหน้าตาจุ๋มจิ๋มน่ารัก น่าเอ็นดู มองดูแววตาก็รู้สึกชอบ ๆ ตัวอยู่บ้าง ก็คิดอยากจะได้นางไปเชยชม
“โอ้โฮน้องชาย แม่น้ำสายนี้น่ะลือชื่อเลย มองดูน้ำไหลยังกะเทลงจากกระบอก เรื่องนั้นไม่เท่าไหร่ สำคัญแต่ไอ้เข้น่ะสิ ชุมพอ ๆ กับปลาทีเดียวแหละ ปีหนึ่ง ๆ คนตายเพราะไอ้เข้ในแม่น้ำเป็นจำนวนหลายคนทีเดียวล่ะ”
“แหม มันดุยังงั้นเชียวหรือทางบ้านเมืองเขาจัดการอย่างไรบ้างล่ะ”
“เขาก็ส่งคนมาคอยดักมันบ้าง หาหมอมาฆ่ามันบ้าง แต่มันก็ไม่รู้จักหมดสักทีพ่อน้องชาย สองคนนี้จะไปไหนกันเล่า”
“ฉันจะไปบ้าน ที่ข้ามแม่น้ำสายนี้แล้วจะต้องเดินทางอีก ๒ – ๓ วัน จึงจะถึง”
“บ้านพ่อน้องชายไกลเหลือเกิน วันนี้ข้ามแม่น้ำไปแล้วไปพักบ้านพี่ชายก่อนก็แล้วกัน บ้านพี่ชายพอข้ามแม่น้ำพ้นจากละเมาะไม้บ้างหน้านั้นก็ถึง”
“ทำอย่างไรจะข้ามได้ล่ะ”
“มีทางพอจะช่วยได้”
“พี่ชายมีเรือแพพอจะช่วยหรือ”
“ไม่ต้องเรือแพหรอกน้องชาย ดูเราสิสูงกว่าน้องชายตั้งเยอะเยะ และเรารู้จักทางเดินข้ามด้วย”
“แล้วไอ้เข้ไม่เล่นงานพี่หรือ”
“ก็บอกน้องชายแล้วว่าพี่น่ะเป็นคนแถบนี้เอง ฉะนั้นพี่ลงไปมันก็ไม่ผิดกลิ่น ตามธรรมดาสัตว์ร้ายจำพวกนี้น่ะมันจำกลิ่นแม่น ถ้าแปลกปลอมผิดสี ผิดกลิ่น พอลงน้ำล่ะก็ลอยกันขึ้นมาเป็นแหนเชียวล่ะ” พอพูดถึงไอ้เข้ทีไรนายเตี้ยของเราขนลุกทุกที เขากลัวจริง ๆ เล่นกับอะไรไม่เล่น จะไปเล่นกับเจ้าแม่น้ำ ไม่เอาล่ะไม่เห็นตัวมันเสียด้วยน่ะสิ
“แล้วฉันสองคนทำไงจะข้ามได้ล่ะ”
“พี่ก็ช่วยน่ะสิ”
” ช่วยยังไงล่ะ”
“คือว่าพี่น่ะทั้งสูงทั้งใหญ่ น้องชายกับแม่สาวคนคนนี้ตัวเล็ก พี่จะแบกไปไหวก็ช่วยก็จะช่วยแบกข้ามแม่น้ำให้ พอเห็นน้องชายทำไมเกิดชอบขึ้นมาก็ไม่รู้ เอาล่ะ คืนนี้ไปพักกับพี่ดีกว่า”
“แหม ..ขอบคุณพี่ชายมากทีเดียว ถ้าไม่พบพี่เห็นจะต้องค้างคืนที่ริมแม่น้ำนี้เอง รอจนกว่าจะมีแพผ่านมาพอจะโดยสารเขาข้ามฟากได้”
“เออ.. แต่ว่าน้องชายจะข้ามได้ทีละคนเท่านี้นนะ ใครจะไปก่อนดีล่ะ
“เอาเมียฉันไปก่อนดีกว่า แล้วพี่ค่อยกลับมารับฉันอีกทีฉันขอบคุณจนบอกไม่ถูกเลย”
“เรื่องบุญคุณอย่าพูดถึงเลย เอาเมียน้องไปก่อนก็ได้เมียของน้องนี่ชื่ออะไรนะ”
“ ชื่อทีฆตาลา”
“งั้นแม่ทีฆตาลามาขี่คอฉัน” แม่เมียนายเตี้ยก็กระมิดกระเมี้ยน อายก็อาย ยิ้มไปก็ยิ้มมา ค่อย ๆ รวบผ้าแล้วขอโทษขอโพยแล้วขึ้นขี้คอนายหลังยาว
“หวานกูล่ะ” นายหลังยาวคิด
“มือแม่ทีฆตาลายังว่างให้ถือของไปเสียด้วยสิ” นายเตี้ยตายใจก็รีบส่งห่อของให้เมียรักของตนไป นายหลังยาวก็ค่อย ๆ เดินลงไป มือก็จับขาแม่ทีฆตาลาลูบคลำที่น่องบ้าง พร้อมกับพูดว่า
“แหม … เนื้อน้องนิ้มนิ่ม แล้วก็ขาวเสียด้วย” แม่ทีฆตาลาก็ยังเฉย ก็เลยบีบแรง ๆ จนแม่ทีฆตาลาร้อง
“เจ็บพี่” นายหลังยาวหัวเราะชอบใจ และค่อย ๆ เดินยอบตัวทำเป็นว่าน้ำลึก ๆ ลงไปจากขาถึงเอวแล้วก็ต่ำลงไปจนถึงครึ่งตัว พร้อมกับพูดกับนางทีฆตาลา
“แม่นางนี้เนื้ออุ่นจริงน่ะ” นางตัดพ้อเบา ๆ ว่า
“พี่นี่พูดอะไรก็ไม่รู้ ผัวน้องยืนอยู่ริมน้ำโน่นนะ”
“ผัวน้องก็ส่วนผัวน้อง ถ้าพี่ชอบล่ะก็ ว่าแต่น้องเถอะ”
“ไม่ได้หรอก ผัวน้องมี”
“ถ้างั้นปล่อยกลางน้ำนี้แหละนะ ไอ้เข้มันจะได้อิ่มเสียที” แล้วก็ทำท่าจะปล่อยนางออกจากคอ
“พี่จ๋า อย่าปล่อยน้องเลย น้องกลัว คุณพี่จะเอาอะไรน้องยอมทุกอย่าง” เท่านั้นเอง เรื่องก็ตกลง เขาค่อย ๆ เดินจนน้ำท่วมถึงคอ แล้วค่อย ๆ ยืดกายให้นายเตี้ยเห็นว่าค่อยสู่ลาดตลิ่งแล้ว จนกระทั้งถึงฝั่ง เขาแบกแม่ทีฆตาลาไปที่ร่มไม้แล้วรับนางลงจากคอ พร้อมกับกอดนางไว้กับอก
“อย่าค่ะ ผัวฉันมองเห็น”
“เห็นก็ช่างมัน มันข้ามมาไม่ได้หรอก” และต่อหน้าต่อตานายเตี้ย เขาก็จัดการฝากรักกับเมียของนายเตี้ย โดยที่ฝ่ายหญิงมิไม่ขัดขืน เมื่อเสร็จจากการรัก ๆ ใคร่ ๆ กันแล้ว เขาก็ตะโกนบอกนายเตี้ย ซึ่งยืนอยู่อีกริมฝั่งหนึ่ง
“อ้ายเตี้ยโว้ย พี่ไปล่ะนะ เมียเอ็งนะข้าก็เอาไปด้วย” แล้วทั้งสองก็ออกเดินทาง โดยไม่เหลียวมามองนายเตี้ยอีกเลย เจ้าเตี้ยคิดเดือดดาลในใจ จะข้ามน้ำก็กลัวตาย วิ่งลงไปแล้วก็ถอยกลับขึ้นมาใหม่ โกรธขึ้นมาก็วิ่งลงไปอีก แต่พอกลัวตายก็กลับขึ้นมาอีก แต่แล้วในที่สุดก็คิดว่า
“เมื่อไม่ได้เมียคืนมาจะตายเพราะสายน้ำก็ให้มันตายไปเสียดีกว่า” ก็เลยตัดสินใจลงไป แต่เออ.. อภินิหารอะไรอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเตี้ย แต่ไม่ยักกะจมน้ำ เพราะว่าน้ำมันตื้น นายเตี้ยเมื่อเห็นว่าตนไม่จมน้ำตายแน่แล้ว ก็รีบวิ่งติดตามจนกระทั่งถึงฝั่งได้ ไม่ฟังเสียงล่ะ เขาก้มหน้าก้มตาวิ่งตามเมียเขาไปทันที แม้นายทีฆปิฎฐิและนางทีฆตาลาจะสูงกว่าเขา เเต่เพราะตายใจว่าเจ้าเตี้ยจะข้ามน้ำมาไม่ได้ เลยทำให้เขาทั้งสองเดินทอดน่องชมนกชมไม้อย่างสบายใจ
ในที่สุดความสามารถของนายเตี้ยก็สำเร็จผล โดยวิ่งทันคนทั้งสอง เมื่อเขาไปถึงตะคอกถาม
“เฮ้ย ..พี่ชาย เอาเมียเรามาทำไมน่ะ” นายทีฆบิฎฐิซึ่งถือว่าตนเป็นผู้ได้เปรียบกว่า พูดอย่างคนที่ถือไพ่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ทำเป็นหันมาถามว่า
“อะไรกันเจ้าเตี้ย”
“พี่ชายเอาเมียเรามาน่ะสิ”
“เอ้า เมียใครที่ใหน”
“ก็เดินกับพี่ชายนี่ไงล่ะ”
“ฮ้า …เจ้าเตี้ยเอาอะไรมาพูด นี่มันเมียฉันนะ อย่าโมเมยังงี้เลยนะ พับผ่าสิ ไม่ค่อยดีเสียแล้ว”
“โมเมยังไง ก็เมียผมแท้ ๆ พี่ชายช่วยพาข้ามน้ำแล้วก็เลยพามาเสียด้วย”
“พูดให้ดี ๆ นะเจ้าเตี้ยหมาตื่น พูดไม่ดีจะมีสีที่ปาก” นายทีฆปิฎฐิวาดลวดลายอันธพาลออกมาทันที
“ก็จะให้พูดยังไง ในเมื่อความจริงมันเป็นความจริงเป็นอย่างนั้น เมียฉันแท้ ๆ พี่ชายว่าเป็นเมียของพี่มันยังไงอยู่นะ”
“แกถามผู้หญิงเขาดูซิว่าเขาเป็นเมียใคร” นายเตี้ยก็เลยหันไปถามแม่ทีฆตาลา เมียยอดรักผู้มีใจเหมือนน้ำไหลนั้นแหละ พลางถามออกมาอย่างคนบรมโง่ทั้งหลายจะถามออกมาได้ว่า”
“น้องจ๋า น้องเป็นเมียพี่เตี้ยใช่ไหม”
“ต๊ายตาย คนบ้า เอาอะไรมาว่า ฉันเป็นเมียแกเมื่อไหร่อะไรทึกทักเอาง่าย ๆ ยังงี้เอง” แล้วหันไปหานายทีฆปิฎฐิ พลางพูดว่า
“พี่ขา คนบ้าอะไรที่ไหนก็ไม่รู้ มาตู่ว่าน้องเป็นเมีย อย่ามาพูดให้เสียเวลาเลยรีบไปกันเถอะ เดี๋ยวจะค่ำกลางทางเสีย” แต่นายเตี้ยไม่ยอมให้ไป เขาลงมือยี้อยุดห่อผ้าจากมือเมีย พร้อมกับอ้อนวอนนางไปด้วย
“เมียจ๋า อย่าตัดความรักของพี่เลย พี่รักเมียมากจริง ๆ อย่าเห็นคนอื่นดีกว่าพี่เลย” แต่แล้วก็ถูกนายทีฆปิฎฐิขัดขวาง โดยผลักไสไล่ส่งเขาแล้วพากันเดินหนีไป แต่นายเตี้ยผู้ถือสุภาษิตตื้อเท่านั้นที่ครองโลก แม้จะต้องเจ็บจากการตุ้บตั๊บของนายทีฆปิฎฐิบ้างก็ยังคงเดินตามเรื่อยไป จนชาวบ้านเดินสวนทางมาหลายคน เขาเห็นกิริยาอาการดังนั้นก็แวะเข้ามาถาม นายเตี้ยก็อ้อนวอนให้เขาช่วยเอาเมียคืนมา ซึ่งเขาเหล่านั้นฟังความแล้วไม่สามารถจะตัดสินได้ จึงพากันบอกว่า “ไปหามโหสถให้ตัดสินดีกว่า”
“ฉันจะรีบไปบ้านฉัน” นายทีฆปิฎฐิว่า “เดี๋ยวจะเสียเวลา” แต่เจ้าเตี้ยของเราไม่ยอม และเมื่อเห็นว่านายทีฆปิฎฐิไม่มีทางจะวาดลวดลายอันธพาลได้อีกแล้วก็ยื่นคำขาด
“พี่ชาย ยังจะพาเมียฉันไปไม่ได้ ต้องไปหาพ่อมโหสถให้ตัดสินก่อน ถ้าเขาตัดสินให้พี่ชายล่ะก็จะเอาไปทางไหนก็เชิญเลย” ในเมื่อมีชาวบ้านสนับสนุน นายทีฆปิฎฐิเลยตกกระไดพลอยโจน
“ก็ดีเหมือนกันนะน้อง จะไม่โมเมว่าเป็นเมียคนนั้นคนนี้อีก” และทั้งโจทก์ จำเลย และพยานอาสาเหล่านั้นก็พากัน เดินทางไปหามโหสถ ท่านว่ามโหสถจะตัดสินความว่าอย่างไร จะเปิดพิจรณาลับหรือแจ้งอย่างไร โปรดคอยกันต่อไป
เมื่อคนทั้งหมดเดินทางไปถึงมโหสถ แล้วไต่ถามรู้เรื่องราวกันแล้ว มโหสถก็กำชับในการที่จะให้โจทก์และจำเลยอยู่ในคำของตนแล้วจึงเริ่มพิจรณา โดยแยกคนทั้งสามออกจากกันให้ไปอยู่เสียห่างไกลกัน แล้วมโหสถก็เรียกนายเตี้ยคโฬกาฬเข้ามาก่อน
“เจ้าชื่ออะไร” มโหสถถาม
“ ข้าพเจ้าชื่อคโฬกาฬ”
“อยู่บ้านไหน เมืองไหน” นายเตี้ยก็ตอบไปตามความจริง
“เมียของเจ้าได้กันเอง หรือตบแต่ง มีผู้รู้เห็นเป็นพยาน”
“ของข้าพเจ้าตบแต่งกันที่บ้านที่อยู่ มีผู้รู้เห็นเป็นพยานมากมาย”
“เมียของเจ้าชื่ออะไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร” นายเตี้ยก็ตอบไปตามความจริง มโหสถจึงให้ออกไปแล้วเรียกนายทีฆปิฎฐิเข้ามา ถามเช่นเดียวกับถามนายเตี้ย ทำเอานายทีฆปิฎฐิเหงื่อแตก ตอบอย่างขอไปที เพราะไม่ได้เตรียมซักซ้อมกันมาก่อน และไม่ได้ถามนางทีฆตาลาเสียด้วยว่าเป็นลูกเจ้าเหล่าใคร เลยตัดเอาบทเอาดื้อ ๆ ว่า
“ข้าพเจ้าได้กันเอง ไม่ทราบเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ชอบพอกันก็ได้กัน ไม่มีพยานที่ไหนเลย”
มโหสถก็บอกให้นายทีฆปิฎฐิออกไป แล้วเรียกนางทีฆตาลามาถาม
“สามีของเธอชื่ออะไร”
“ชื่อทีฆปิฎฐิ”
“เป็นลูกเต้าเหล่าใคร”
“ไม่ทราบ”
“ทำไมจึงไม่ทราบล่ะ”
“เพราะเขาไม่บอกให้รู้”
“เรากับเขาน่ะเป็นผัวเมียกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครรู้เห็นเป็นพยาน” เท่านั้นเองนางทีฆตาลาก็เหงื่อแตก จำใจต้องรับกับมโหสถตรง ๆ ว่าตนเป็นเมียเจ้าเตี้ย แต่ถูกนายทีฆปิฎฐิล่อลวงจะปล่อยให้จมน้ำตาย เลยต้องยอมเป็นเมียเขาด้วยความจำใจ มโหสถจึงหันไปถามประชาชน บรรดาเหล่ามุงมงทั้งหลายว่า
“เรื่องนี้ยังให้ข้าพจ้าตัดสินด้วยหรือ ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบแล้วว่าใครเป็นผิดคนถูก ใครเป็นผัวเป็นเมีย” ประชาชนพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“เพราะท่านทำให้มองเห็นความเช่นนั้น ท่านต้องตัดสินความเรื่องนี้ให้เด็ดขาดลงไป” มโหสถก็ให้คืนเมียให้แก่นายเตี้ย พร้อมกับนายทีฆปิฎฐิก็คงจะไม่คางเหลือง ไม่ถึงหยอดน้ำข้าวต้ม แต่นายทีฆปิฎฐิก็คงจำได้อย่างไม่ลืม เพราะจำไม่ได้ว่ามือหรือเท้าใครบ้างที่มารวมอยู่ที่ตนคนเดียว
ราชบุรุษที่คอยสังเกตความเคลื่อนไหว ก็ได้รายงานให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ
“ควรนำเข้ามาได้หรือยังท่านอาจารย์” ทรงตรัสถามเสนกะ
“เรื่องขี้ปะติ๋วพรรค์นี้ใคร ๆ ก็ตัดสินได้ ถ้าจะถือว่าเรื่องเท่านี้เป็นบัณฑิตล่ะก็ จะมากไปหน่อยพระเจ้าข้า รอไปก่อนพระเจ้าข้า”
“เอ้า รอก็รอ” ตรัสอย่างไม่ค่อยพอพระทัย
เรื่องรถ
ชายคนหนึ่งขับรถม้าผ่านมาทางเทหะรัฐ ที่เรียกว่ารถก็ม้าก็เพราะมันเทียมด้วยม้า หรือเรียกง่าย ๆ ก็เพราะม้ามันลากไปจึงไปได้ เขาใช้ม้าลากเจ้ารถเก่า ๆ คันนั้นของเขามาตามทาง ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นและกรวดทราย บางแห่งก็เรียบบางแห่งรถก็โคลงเคลงไปตามรูปของถนนในสมัยครั้งกระโน้น
เขาขับผ่านมาทางศาลาของเจ้ามโหสถ ก็มีอันเกิดเรื่องขึ้น เขาเกิดกระหายน้ำ พอเห็นสระก็หยุดรถโดดลงไปที่สระเพื่อจะดื่มน้ำ พระอินทร์หรือสักกเทวราชเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ แต่กลับแพ้ยักษ์เล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงเรียงนามอันใด คือรณพักตรลูกทศกัณฐ์ ตอนนั้นยังไม่เก่งกล้าเท่าไหร่นัก ถึงกับโดดหนีจากรถทรง ทิ้งจักรอันทรงศักดาให้กับเจ้ารณพักตรยักษ์ตัวนั้น ซึ่งมันก็รีบตะครุบเอาจักรไปเป็นเครื่องบำเหน็จมือเลย เสด็จพ่อทศกัณฐ์เลยตั้งชื่อให้เสียใหม่ว่า อินทรชิต ซึ่งเเปลว่าชนะพระอินทร์
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้เรานึกไปถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชของไทย ซึ่งก็ได้พระนามโดยลักษณะอย่างเดียวกันนี้ พ่อขุนรามคำแหงซึ่งเป็นมหาราชของไทยพระองค์หนึ่งผู้สร้างแบบอักษรไทยขึ้นใช้ เดิมมีพระนามมาว่าอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะหลักฐานไม่ปรากฎชัด อาจจะได้นามว่ารามก็ได้ เพราะคำว่ารามนั้นแปลได้ว่าน้อย เช่นในคำว่า วิหารใหญ่วิหารอาราม หรือคำว่าผู้ใหญ่ราม ดังนั้นเป็นต้น เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้ปลดแอกของชาวไปจากขอมในเวลานั้น กับนางเสือง พระรามคำแหงเป็นองค์เล็กก็คงเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า เจ้าเล็ก
เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพมารบ กับพ่อขุนศรีอิทราทิตย์ ซึ่งก็ได้ยกทัพออกไปประจันหน้ากันในสมรภูมิ ซึ่งเจ้าเล็กก็ขี่ช้างเชือกหนึ่งตามออกไปดูด้วย
ขุนสามชนได้ขับช้างตะลุยเข้ามา ไพร่พลของพ่อขุนศรีอิทรทิตย์ แตกพ่ายกระจัดกระจาย คือแตกหนีไม่เป็นกระบวนและก่อนที่พ่อขุนศรีอิทราทิตย์จะขับช้างเข้าไปเผอิญกับขุนสามชน พระรามหรือเจ้าเล็กยืนช้างอยู่เบื้องหลังพ่อ ก็ขับช้างพรวดเข้าไปผจญกับขุนสามชน ยุทธหัตถีพระหว่างเจ้าหนุ่มน้อยกับขุนสามชนก็เกิดขึ้น
ช้างขุนสามชนตัวชื่อชนะเมืองทองเสียเชิงก็เลยต้องพ่ายแก่ช้างของพระรามคำแหง โดยเหตุที่ชนะขุนสามชนนั้นแหละ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เลยเรียกว่า รามคำแหง ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็ว่า “เจ้าเล็กเก่ง” จึงได้นามว่า “รามคำแหง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พระอินทร์ซึ่งแพ้รณพักตร์นั้น ประสงค์จะแสดงภูมิปัญญาของเจ้ามโหสถให้ปรากฎ เมื่อเห็นชายเจ้าของรถลงไปกินน้ำในสระก็ขึ้บนรถ เตือนม้าให้ออกเดิน ชายเจ้าของรถได้ยินเสียงม้าเดินก็หันมาดู ชะช้าเอากันต่อหน้าต่อตาเชียวนะ แถมกลางวันแสก ๆ เสียด้วย เขารีบวิ่งขึ้นมาจากสระ พร้อมกันตะโกน
“ขโมย ขโมย” คนที่ผ่านไปมาก็ถามเขาว่า
“ขโมยอะไรกัน” เมื่อเจ้าของรถวิ่งตามไปถึง ก็ยึดบังเหียนม้าให้หยุดอยู่พร้อมกับถามว่า
“เจ้าจะขโมยรถของเราไปไหน” พระอินทร์ทำหน้าตาตื่น พร้อมกับถามว่า
“ท่านว่าอะไรนะ”
“ท่านจะขโมยรถของข้าพเจ้าไปไหน” ชายเจ้าของรถทวนคำ
“อะไร ท่านว่าใครขโมย นี่รถของข้าพเจ้า ๆ ยังขับมาท่านก็วิ่งมายึดรถพร้อมกับกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นขโมย ระวังท่านจะถูกหาว่าหมิ่นประมาท”
ชายเจ้าของรถพยายามอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่พระอินทร์ผู้เป็นขโมยสมัครเล่นก็หายินยอมไม่ แม้แต่ประชาชนที่ มุง ๆ มอง ๆ ทั้งหลายก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าของใคร เพราะทั้งเจ้าของรถและพระอินทร์ไม่มีใครรู้จักเลย เรื่องมันก็ต้องถึงมโหสถเด็กเจ้าปัญญา
“เรื่องนี้ต้องให้มโหสถตัดสิน” ประชาชนคนหนึ่งที่ยืนฟังเหตุการณ์กล่าวขึ้น ทั้งสองฝ่ายก็ยอมตกลงที่จะให้มโหสถเป็นผู้ตัดสิน แล้วต่างก็พากันห้อมล้อมโจทก์และจำเลยไปสู่สำนักของมโหสถ
เมื่อไปถึงเขาก็เข้าไปบอกแก่มโหสถถึงความเป็นมาของเรื่อง มโหสถออกมาดูก็รู้ทันทีว่าใครเป็นเจ้าของรถพระอินทร์เพราะสภาพของพระอินทร์แตกต่างจากคนธรรมดา อย่างน้อยก็ประกอบด้วยธรรม มีการเลี้ยงดูบิดามารดา ตลอดจนกระทั่งระงับความโกรธ จึงผิดแปลกจากบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่เพื่อจะให้ปรากฎแก่ประชาชนทั่ว ๆ ไปจึงทำเป็นไม่รู้เสีย และสอบถามโจทก์จำเลย ซึ่งต่างก็อ้างว่าเป็นรถของตน ถ้าเป็นท่านล่ะจะตัดสินใจได้อย่างไร ลองดูภูมิมโหสภต่อก็แล้วกัน
“ท่านทั้งสองมีพยานบ้างไหม?”
“ไม่มี”
“เพราะอะไร?”
“เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่คนใกล้เคียงที่นี่ ข้าพเจ้ามาจากเมืองไกล”
“ท่านยอมให้ข้าพเจ้าตัดสินแน่ล่ะหรือ” “แน่ พวกข้าพเจ้ายอม”
“เอ้า ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งสองจับท้ายรถคนละข้าง แล้วตีม้าให้วิ่ง ถ้าคนไหนวิ่งตามรถไปได้คนนั้นจะชนะ”
แล้วให้คนทั้งสองจับท้ายรถ ข้างซ้ายคนหนึ่ง ข้างขวาคนหนึ่ง แล้วเตือนให้ม้าวิ่ง ม้าก็เริ่มออกวิ่งช้า ๆ คนทั้งสองก็ยังคงจับท้ายรถวิ่งตามรถไปได้ ต่อเมื่อม้าวิ่งเร็วขึ้น ๆ ชายเจ้าของรถทนวิ่งไปไม่ไหวอ้าปากหายใจหอบด้วยความเหนื่อย ต้องปล่อยรถยืนละห้อยละเหี่ยด้วยความเสียดายที่ต้องให้รถแก่ผู้อื่น ม้าจะวิ่งได้เร็วสักเท่าไร่ พระอินทร์ก็วิ่งตามได้ทันเสมอคนทั้งปวงเฮโลกันใหญ่ ถ้ามีแข่งกีฬาทางวิ่งพระอินทร์คงกินดิบแน่ ๆ
เพราะวิ่งทันม้าเทียมรถ มโหสถจึงให้คนไปเรียกกลับมา พระอินทร์ก็วิ่งติดรถกลับมา ส่วนชายเจ้าของรถคงได้แต่เดินโซเซมาด้วยความเหนื่อยหอบแทบจะอ้าปากพูดไม่ไหว เมื่อคนทั้งสองมาถึง มโหสถจึงชี้ท้าวสักกะพลางถามว่า
“ท่านมาทำอะไร?”
“ข้าพเจ้าเป็นคนเดินทาง”
“อย่าทำไก๋หน่อยเลยน่ะ บอกข้าพเจ้าตรง ๆ ดีกว่าว่าท่านมาทำอะไร รถคันนี้มีประโยชน์อะไรกับท่าน”
“ท่านว่าเราเป็นใคร ?”
“ท่านเป็นพวกเทพ”
“ทำไมท่านจึงรู้ ?”
“ท่านสังเกตหรือเปล่า ว่าท่านน่ะวิ่งไปตั้งครึ่งค่อนโยชน์เชียวนะ ดูแม้แต่ม้าที่เทียมรถเถิดเหงื่อออกเป็นมันระยับไปทั้งตัว แต่ท่านปกติทุกอย่าง เหงื่อแม้แต่สักหยดก็ไม่มี และนัยน์ตาของท่านน่าไม่กระพริบเลย เพราะฉนั้นข้าพเจ้าแน่ใจว่าท่านเป็นพวกเทพแน่ ๆ”
“เมื่อท่านมีข้อสังเกตอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ยอมรับว่าข้าพเจ้าเป็นพวกเทพ แต่ใหญ่กว่าเทพเพราะข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ในชั้นดาวดึงส์”
“ท่านมาทำอะไร”
“เพื่อจะแสดงปัญญาของท่านให้ปรากฎ เพราะเรื่องนี้ใคร ๆ ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ นอกจากท่านผู้เดียว ขอให้ท่านมีความสุขความเจริญเถิด ข้าพเจ้าไปล่ะ” แล้วเทพมเหศักดิ์ก็จากที่นั้นไปยังเทวโลก รถคันนั้นมโหสถก็มอบให้เจ้าของรถไป
พวกราชบุรุษได้ส่งข้อความเหล่านี้ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช
“ควรจะรับเข้ามาได้หรือยังท่านอาจารย์” พระเจ้าวิเทหราชทรงตรัสถามนักปราชญ์ทั้ง ๔ ท่าน
“จวนแล้วพระเจ้าค่ะ เด็กคนนี้ดูมีปัญญามากจริง ๆ แต่จะด่วนรับเข้ามาจะไม่สมศักดิ์ศรีของนักปราชญ์สักหน่อยรอดูไปก่อนพระเจ้าค่ะ อย่าให้พลาดได้เลยพระเจ้าค่ะ”
“ เอ.. แต่มโหสถทำอะไรไม่ผิดพลาด ผิดกว่าพวกที่ดีแต่พูด แต่ไม่จัดการอะไรเลย พูด พูด อีกหน่อยเห็นจะต้องเลี้ยงแพะเสียบ้างกระมัง” ทรงตรัสเป็นเชิงบ่นกับพระองค์เองดัง ๆ แล้วก็หันไปตรัสถามเสนกะว่า
“หรืออย่างไรท่านอาจารย์ ควรเลี้ยงแพะเสียทีดีกระมัง”
“เลี้ยงไว้ทำอะไรหรือพระเจ้าค่ะ” เสนกะชักสงสัย
“เลี้ยงไว้แก่รำคาญ บางทีขี้ของมันอาจจะเป็นยาบ้างกระมัง” แล้วรับสั่งต่อไปอีกว่า
“รอไปอีกก็ดีเหมือนกัน”
เรื่องกระโหลกศรีษะ
หลังจากเรื่องนั้นผ่านไปไม่นาน พระเจ้าวิเทหราชก็คิดจะทดลองเจ้ามโหสถดูอีกว่า จะเป็นคนฉลาดทรงความรู้จริงหรือไม่ จึงให้ส่งกะโหลกศรีษะไปให้ชาวบ้านทางตะวันออก พร้อมกับบังคับว่า “ถ้าชาวบ้านบอกว่ากระโหลกศรีษะอันไหนเป็นหญิงเป็นและเป็นชายไม่ได้ จะต้องถูกปรับพันกหาปณะ” ซึ่งจะเทียบในสมัยนี้ก็เท่ากับ ๔.๐๐๐ บาท ซึ่งก็นับว่าไม่น้อยเหมือนกัน
พอท่านเศรษฐีได้รับคำสั่งก็เรียกประชุมผู้เฒ่าผู่แก่ทันทีลองสอบถามกันดูว่ามีใครทราบบ้าง แต่ก็หาคนทราบไม่ได้ เรื่องก็ถึงมโหสถอีกนั่นแหละ เพียงแต่มองเห็นคราวแรกเท่านั้น มโหสถก็กล่าวว่า “พุทโธ่ ? นึกว่าจะเป็นปัญหายากเย็นแสนเข็ญเพียงไรที่แท้ก็ปัญหาเด็ก ๆ นั่นเอง” “ถ้าอย่างนั้นก็เป็นหน้าที่ของพ่อที่จะแก้ปัญหานั้” ท่านเศรษฐีกล่าว เหมือนกับว่ามโหสถได้เคยศึกษากายวิภาคมาหรืออย่างไรเขาหยิบกะโหลกขึ้นมากะโหลกหนึ่งพร้อมกับชี้แจง” “กะโหลกนี้เป็นศรีษะของผู้ชาย” “เพราะอะไร” “เพราะรอยประสานชองกะโหลกที่เป็นทาง ๆ หรือที่เรียกว่าแสกตรง จึงรู้ได้ว่าเป็นกะโหลกของชาย” “ส่วนผู้หญิงล่ะ” “ก็ดูโดยตรงกันข้ามน่ะสิ คือแสกในกะโหลกศรีษะของหญิงคดไม่ตรงเหมือนอย่างชาย เพราะฉนั้นท่านบิดาบอกไปได้เลยว่า กะโหลกที่มีแสกตรงเป็นกะโหลกชาย และกะโหลกที่มีแสกคดเป็นกะโหลกหญิง”
เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทรงสอบถามว่า เป็นความคิดของใครก็ได้รับทราบว่าเป็นของมโหสถ ก็มีพระทัยเต็มตื้นไปด้วยความปราโมทย์ แต่ยังมิได้รับเข้ามาในพระราชสำนักเพราะท่านเสนกะยังจะต้องทดลองอีกต่อไป
เรื่องของงู
คราวนี้พระเจ้าวิเทหราชส่งงูไปให้ชาวบ้านแจ้งมาว่าเป็นงูตัวผู้หรือตัวเมีย ถ้าไม่ได้ก็ต้องปรับเป็นเงินตั้ง ๔.๐๐๐ บาท ชาวบ้านก็ต้องหมดปัญญาตามเดิม เรื่องมันก็ต้องถึงมโหสถ
มโหสถก็ได้แก้ปัญหานี้โดยแสดงว่า ลักษณะของงูตัวผู้หางและหัวใหญ่ นัยน์ตาใหญ่ ลวดลายที่ลำตัวติดต่อกัน ส่วนลักษณะของตัวเมียนั้นมีว่าหางงูตัวเมียเรียวและหัวก็เรียว นัยน์ตาเล็ก ลวดลายตามตัวไม่ค่อยจะติดกัน และชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่างูที่ส่งมานั้นตัวไหนเป็นตัวผู้ และตัวไหนเป็นตัวเมีย
ชาวบ้านก็นำเอาปัญญานี้ไปแก้ให้พระเจ้าวิเทหราชฟัง เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทราบว่าเจ้ามโหสถเป็นคนแก้ยิ่งโสมนัสแต่ยังไม่สามารถจะรับเข้ามาพระราชสำนักได้ เพราะนักปราชญ์ที่ดีแต่พูดคือเสนกะ ยังไม่ยอมให้รับเข้ามา เพราะกลัวอะไรต่ออะไรหลายอย่าง และในที่สุดที่กลัวที่สุดก็เห็นจะกลัวมโหสถจะดีกว่านั้นเอง พระเจ้าวิเทหราช แม้จะไม่พอพระทัยนักก็จำยอมและทำการทดลองต่อไป
เรื่องของไก่
พระเจ้าวิเทหราชทรงส่งคำไปว่า ให้ชาวบ้านแถบตะวันออกของเมืองส่งวัวตัวผู้ที่มีกายขาวทั้งตัว มีเขาที่เท้า มีโหนกที่ศรีษะ ร้องเพียง ๓ เวลา ถ้าส่งมาได้ ๔.๐๐บาท ต้องเสียตามเคย
เรื่องนี้เป็นเรื่องอึกทึกครึกโครมกันในที่ประชุมของชาวบ้านกันมาก บางคนถึงกับว่า “ออกจะไม่ยุติธรรมสักหน่อย ที่พวกชาวบ้านเราถูกกะเกณฑ์ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ก็ถูกปรับไหม ถ้าเราไม่มีเจ้ามโหสถอยู่แล้ว ป่านนี้เราคงเหลือแต่กางแกงในแล้วก็ได้ อีกคนก็ค้านว่า
“คนไม่ใช่อย่างนั้นหรอกน่า เพราะพ่อมโหสถมาอยู่ที่บ้านนี้น่ะสิจึงทำให้เรามีภาระอย่างนี้ และเจ้ามโหสถก็แก้ได้ทุกครั้งเสียด้วย ถ้าไม่มีอย่าว่าแต่กางแกงในเลยน่ะ ไม่เหลือเลย จะเหลือก็แต่ตัวในชุดวันเกิดเท่านั้น เราน่ะมันช้างเท้าหลังเขาสั่งอะไรก็ทำไปก็แล้วกัน”
“ลองไปถามไปถามเจ้ามโหสถก่อนเห็นจะดีเป็นแน่” “เออดี” ทุกคนรีบรับคำ เมื่อเศรษฐีไปถามมโหสถ ๆ ก็พูดว่า “วัวเวออะไรพ่อท่าน ไม่ใช่วัวหรอก” “ถ้างั้นเป็นอะไรล่ะ”
“พ่อก็ พระเจ้าแผ่นดินท่านให้พวกบ้านเราส่งไก่ขาวให้พระองค์ เพราะอะไรพ่อท่านลองคิดดูก็ได้ว่าวัวตัวไหนล่ะจะมีเขาที่เท้า ถ้ามันมีจริงเห็นจะเป็นวัวที่เขาเอาไปออกงานวัดเป็นแน่” “แล้วทำไมเจ้าจึงว่าเป็นไก่ล่ะ”
“ก็คือว่า ไก่น่ะชื่อว่ามีเขาที่เท้า เพราะมีเดือยที่เท้าทั้งสอง มีโหนกที่ศรีษะ ก็คือหงอนไก่นั้นเอง ร้องไม่ล่วง ๓ เวลา พ่อท่านลองคิดดูไก่ที่ดีจะขยันเป็นยามเป็นเวลาเท่านั้น และไก่ก็ขันเพียง ๓ เวลาเท่านั้น ฉันคิดว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ประสงค์วัวหรอก แต่ประสงค์ไก่ขาวต่างหาก” “เออ.. เข้าใจอย่างนี้พ่อก็โล่งใจ”
ท่านเศรษฐีจึงได้ส่งไก่ขาวไปถวายพระเจ้าแผ่นดินทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าปรับไปได้อีกครั้งหนึ่ง
พระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสถามชาวบ้านที่นำไป ถามว่าใครเป็นคนตอบปัญหานี้ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นความคิดของมโหสถซึ่งพระองค์ตรัสถามก็ได้รับคำคัดค้านจากเสนกะจอมปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ตามเคย พระองค์ก็ต้องคล้อยตาม
“รอดูไปก่อนพระเจ้าค่ะ ช้าเป็นนานก็เป็นกิจพระเจ้าค่ะ เราจะได้คนดีก็เพราะเขามีความอดทนพระเจ้าค่ะ”
เรื่องแก้วมณี
หลังจากที่ได้สั่งให้ส่งโคที่มีรูปร่างวิปริตผิดพิกลมาราชสำนัก ตราบจนกระทั่งมโหสถได้ส่งไก่ขาวมาให้แล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็คิดจะส่งอะไรไปทดลองปัญญามโหสถอีก ในราชสำนักมีแก้วมณีอยู่ดวงหนึ่งข้างในคดถึง ๘ แห่ง และเชือกที่ร้อยแก้วมณีนั้นนานเข้าก็เก่าและขาดออกไป เลยใช้อะไรไม่ได้ต้องเก็บไว้เฉย ๆ “เออ.. จะเข้าที ส่งไปลองปัญญาเจ้ามโหสถดูที ถ้าแก้ได้ก็จะได้ประโยชน์ด้วย”
เมื่อทรงดำริเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็จัดแจงส่งแก้วมณีดวงนั้นไปยังเศรษฐีผู้เป็นบิดาของเจ้ามโหสถ พร้อมกับคำสั่งว่า “ถ้าชาวบ้านตะวันออกร้อยแก้วมณีนี้ไม่ได้ จะต้องถูกปรับ ๔.๐๐๐ บาท และจะถูกลงโทษอย่างอื่นด้วย” คำสั่งนี้ไปถึงปาจีนวยมัชณคาม ชาวบ้านก็บ่นกันพึม
“รายการซวยมาอีกแล้ว นี่ถ้าบ้านเราไม่มีมโหสถ พวกเรามิต้องขายตัว แล้วเอาไปให้เป็นค่าปรับของพระเจ้าแผ่นดินแล้วหรือ” “เราจะต้องกังวลอะไรล่ะ พอมีปัญหามาเจ้ามโหสถก็แก้ไปส่ง เราไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนอะไร ยังแถมได้ชื่อเสียงด้วยว่า ชาวบ้านเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้”
“จริงของเกลอแฮะ เจ้ามโหสถเกิดมาสร้างประโยชน์ให้บ้านเรา และชาวบ้านทั้งหมดมีชื่อเสียงเลื่องลือไปตลอดวิเทหรัฐ” เมื่อแก้วมณีได้ถูกส่งมาแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้านพิจารณาดูแล้วก็สั่นหัว
“ใครจะไปร้อยได้ แก้วอะไรมีคดตั้งเยอะแยะ จะเอาด้ายอะไรร้อยเข้าไปได้ ยังมีด้ายเก่าขาดอยู่ข้างในอีก แล้วใครจะเอาออกได้ เรื่องนี้สงสัยว่าเจ้ามโหสถจะทำได้หรือไม่ พวกเราน่ะเห็นทีจะไม่มีปัญญาทำล่ะ” “คราวนี้เห็นทีจะต้องเสียเงินค่าปรับให้แก่พระเจ้าแผ่นดินเสียกระมัง”
“ไปเรียกเจ้ามโหสถมาถามดูดีกว่า พวกเราน่ะมันแก่จนปัญญาก็เก่าตามไปด้วย ไม่ได้ความสักอย่าง” เศรษฐีก็ให้คนไปตามเจ้ามโหสถมาจากสนามเด็กเล่นพร้อมกับส่งแก้วมณีให้ดูแล้วถามว่า “พ่อก็เอาด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไปใหม่” “พวกพ่อเฒ่าว่ายังไงบ้างล่ะ ?” เจ้ามโหสถถาม “อย่าถามคนแก่เลยพ่อคุณ ปัญญามันเหี่ยวตามสังขารร่างกายไปนานแล้ว”
“พ่อพิจารณาให้ดี จะได้ประดับสติปัญญาคนแก่บ้าง” มโหสถพลิกแก้วไป ๆ มา ๆ พร้อมกับกล่าวว่า “ท่านพ่อให้ใครไปเอาน้ำผึ้งมาสักหน่อย” “จะเอามาแช่หรือดองแก้วหรือ ? คนแก่คนหนึ่งถาม “เอามาก็แล้วกัน แล้วพ่อลุงจงคอยดูว่าหลานน่ะจะเอาด้ายเก่าออกได้หรือไม่”
เมื่อคนเอาน้ำผึ้งมาให้แล้ว เจ้ามโหสถก็หยดลงไปในรูแก้วมณี น้ำผึ้งค่อย ๆ ไหลเข้าไปตามคดจนเปียกชุ่มด้ายที่อยู่ข้างใน แล้วเจ้ามโหสถก็เอาไปวางที่ปากรูมด พักเดียวเท่านั้นเจ้ามดทั้งหลายก็กรูเกรียวกันเข้ามากินน้ำผึ้งพร้อมกับฉุดลากเอาด้ายออกมาด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้เห็น ถึงกับจุ๊ปาก
“ชะ ๆ ปัญญาเจ้าเด็กน้อยนี่มันดีจริง… เป็นเราก็ส่ง ๔.๐๐๐ บาท ไปแทนแน่ ๆ “ “เป็นไงพ่อลุงทั้งหลายเห็นแล้วหรือยัง พอจะทำได้ไหม” “พ่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว คนแก่ทำได้ ว่าแต่ด้ายใหม่เถอะ จะร้อยเข้าไปได้อย่างไร”
มโหสถจึงเอาด้ายใหม่มาทาทางปลายด้ายด้วยน้ำผึ้งแล้วใส่เข้าไปในรู ซึ่งก็เข้าไปได้เพียงนิดเดียวก็คดแล้วให้เอาน้ำผึ้งใส่เข้าไปอีกทาง แล้วเอาไปวางที่ปากรูมดล่อให้มดออกมากินน้ำผึ้ง มดก็ไปกินน้ำผึ้ง พร้อมกับไปลากเอาด้ายนั้นออกมาอีกทางหนึ่งได้
เจ้ามโหสถจึงบอกกับท่านเศรษฐีว่าสำเร็จแล้ว และให้คนนำไปถวายพระเจ้าวิเทหราช เมื่อพระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็น แทบไม่เชื่อว่าชาวบ้านจะทำได้ เพราะช่างหลวงทั้งปวงก็จนปัญญา ไม่สามารถจะร้อยได้ จนต้องทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่มีประโยชน์ ที่ส่งไปก็เพื่อทดลองปัญญาเจ้ามโหสถเท่านั้น แต่ผลที่ได้เอกอุยิ่งนัก
จึงสอบถามชาวบ้านทำอย่างไรกันจึงร้อยได้ ชาวบ้านได้กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ ทรงทราบว่าเป็นปัญญาของเจ้ามโหสถ ก็เต็มตื้นไปด้วยความปราโมทย์ยิ่งนัก อยากจะรับเข้ามาในราชสำนัก แต่ขัดด้วยท่านอาจารย์ทั้ง ๔ ยังไม่ยินยอม เกรงจะเกิดเป็นเรื่องอันตรายแก่เจ้ามโหสถ จึงคิดจะต้องให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ ยินยอมให้จงได้ พระองค์จึงตรัสกับอาจารย์ทั้ง ๔ อย่างยิ้ม ๆ ว่า
“เป็นอย่างไรท่านอาจารย์ ควรจะรอต่อไปอีกไหม” “ควรรอต่อไปพระเจ้าค่ะ”
เรื่องวัวออกลูก
เมื่อทรงรออยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระองค์ก็จัดให้เอาวัวตัวที่มีรูปร่างอ้วนท้วน เอาอาหารและน้ำกรอกปากโคเข้าไปจนพุงกางคล้าย ๆ กับแม่วัวมีท้อง และให้อาบน้ำให้ชำระกายทาขมิ้นเป็นอย่างดี แล้วส่งไปให้ชาวบ้านทิศตะวันออกตามเคย
“ถ้าชาวบ้านทำให้วัวตัวนี้ออกลูกไม่ได้ จะต้องถูกปรับเป็นเงิน ๔.๐๐๐ บาท ชาวบ้านพอได้เห็นก็หัวเราะด้วยความขบขัน
“โลกจะแตก” บางคนว่า
“ก็มันเป็นวัวตัวผู้จะให้มันออกลูกได้ยังไงกันนะ ถ้าขืนออกเป็นอันว่าหมาต้องมีขา เต่าต้องมีหนวดแน่ ๆ” บางคนก็ว่า
“พิจารณาดูให้ดีนะเกลอ อาจจะมีอะไรแฝงอยู่ก็ได้ ถ้ามิเช่นนั้นพระเจ้าแผ่นดินท่านไม่ส่งมาให้พวกเราจัดการหรอก”
“อกอีแป้นจะพัง” หญิงบางคนว่า
“บางทีเรื่องนี้อาจจะมีคนไม่ค่อยเต็มเต็งอยู่ในวังก็ได้นะ อาจจะแนะนำบ้า ๆ บอ ๆ ก็ได้”
“อย่าไปคิดอย่างนั้นสิ การที่ทำสิ่งเหลือวิสัยนั้นพระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ทำแน่ คงจะมีอะไรบางอย่างที่พวกเราไม่รู้ แต่มโหสถของพวกเรารู้ก็เป็นได้ เรื่องนี้ต้องให้มโหสถจัดการจึงจะแน่”
ท่านเศรษฐีจึงให้คนไปตามมโหสถมา แล้งจึงชี้แจงคำสั่งให้ฟัง มโหสถพิจารณาวัวแล้วก็หัวเราะ แล้วว่า
“เรื่องนี้เป็นธุระที่ข้าพเจ้าจะจัดการให้เรียบร้อย แต่ต้องการคนกล้าสักหน่อย พ่อท่านลองหาตัวคนดูทีหรือว่าจะมีใครกล้าหาญพอจะตอบโต้กับพระเจ้าแผ่นดินได้” ท่านเศรษฐีก็ได้จัดหาคนตามที่ต้องการ แล้วก็นำเข้ามา ให้มโหสถ
“ท่านกล้าหาญพอจะโต้ตอบกับพระราชา โดยไม่ประหม่าครั่นคร้ามได้หรือไม่”
“ได้พ่อมโหสถ ข้าพอทำได้” มโหสถจึงแนะนำว่า
“ท่านไม่ต้องกลัวหรือประหม่าอะไรทั้งหมด ท่านต้องนึกเสมอว่าท่านเป็นตัวแทนของชาวบ้านเรา เป็นตัวแทนข้าพเจ้าซึ่งต้องรักษาชื่อเสียงให้ดีด้วย แล้วปล่อยผมให้รุงรัง เดินร้องไห้คร่ำครวญเรื่อยไป ใครถามอย่าตอบ จะตอบก็เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น” แล้วก็ส่งไป
ชายผู้นั้นพร้อมกับพรรคพวก ๓– ๔ คน พอเป็นเพื่อนเดินทาง ก็ทำตามคำแนะนำของเจ้ามโหสถ แม้อำมาตย์ข้าราชบริพารถามอย่างไรเขาก็ไม่ตอบ คงร้องไห้คร่ำครวญเรื่อยไป จนกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดิน
“ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ” ชายผู้นั้นกราบทูลขึ้น “เรื่องอะไรวะ ใครข่มแหงให้เดือดร้อน หรือมีอะไรก็บอกมา เราจะจัดการให้” “มิได้พระเจ้าค่ะ ไม่มีใครทำให้เดือดร้อนหรอกพระเจ้าค่ะ แต่เรื่องเดือดร้อนเกิดขึ้นภายในเรือนของกระหม่อมฉันเองพระเจ้าค่ะ” “มีอะไรล่ะ”
“คือว่าท่านบิดาของกระหม่อมฉันเจ็บท้องมาได้ ๗ วันแล้วพระเจ้าค่ะ แต่ลูกไม่ออกมา หมอหมดปัญญาพระเจ้าค่ะ กระหม่อมฉันจึงต้องมาขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ช่วยให้ท่านบิดาของกระหม่อมฉันได้คลอดโดยสวัสดิภาพหน่อยเถิดพระเจ้าค่ะ”
พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลลั่นไปทั่วพระโรงพร้อมทั้งหมู่อำมาตย์ราชบริพารซึ่งอดกลั้นไว้ไม่ได้ ก็พลอยหัวเราะออกไปด้วย “ฮ่ะ ฮ่ะ เจ้านี่มีสติดีอยู่หรือเปล่าวะ ดูท่าทางจะต้องส่งไปให้หมอเขาพิจารณาเสียแล้ว” แล้วก็ทรงสรวลต่อไปอีก “ได้พระเจ้าค่ะ กระหม่อมฉันปกติดีทุกอย่าง แต่ได้โปรดเถิดพระเจ้าค่ะ บิดากระหม่อมทนทุกข์มาได้หลายวันแล้ว” “ก็ผู้ชายมันจะออกลูกได้ยังไงวะ ขืนออกโลกมันก็จะแตกเท่านั้นเอง” แล้วก็ทรงพระสรวลต่อไปอีก
“ได้โปรดพระเจ้าค่ะ ถ้าท่านบิดาของกระหม่อมฉันเป็นผู้ชายออกลูกไม่ได้ แล้วโคตัวที่พระองค์ส่งไปบังคับให้ชาวบ้านทิศตะวันออกให้ออกลูกให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็จะปรับนั้น จะออกได้อย่างไรพระเจ้าค่ะ” เงียบเสียงทรงพระสรวลทันที พร้อมกันตรัสถามว่า “ว่าไงนะ ว่าใหม่อีกที” ชายผู้นั้นก็ย้ำคำเดิม “เจ้ามาจากบ้านมโหสถรึ” “สำคัญ สำคัญ ข้าลืมไปว่าได้ส่งปัญหาข้อหนึ่งไปให้มโหสถคิด กลับถูกมันซ้อนปัญหาเข้าให้” “เจ้าได้ความคิดนี่มาจากใคร” “จากมโหสถพระเจ้าค่ะ”
“เอาล่ะ เจ้ากลับไปได้แล้ว ส่งวัวคืนมา แล้วบอกท่านเศรษฐีว่าข้าพอใจแล้ว” พร้อมกับพระราชทานรางวัลให้ชายคนนั้นพร้อมกับพรรคพวก แล้วก็ส่งกลับไป เสร็จแล้วทรงหันไปถามนักปราชญ์ทั้งสี่ซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ไม่ห่าง แต่ไม่ถามกลับตรัสเสียเองว่า
“รอไปก่อน ทดลองดูอีกก่อน” พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารยิ้ม ๆ ไปตาม ๆ กัน แต่นักปราชญ์ทั้งสี่ทำหน้าพิกล
เรื่องหุงข้าว
พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองมโหสถทั้งความรู้และเชาว์ไหวพริบหลายประการมาแล้ว มโหสถก็แก้ได้สมกับคำว่าปราชญ์ทีเดียว ถึงเช่นนั้นนักปราชญ์ประจำราชสำนักทั้ง ๔ ท่าน ก็ยังยืนยันคำอยู่ว่า ขอให้ทดลองดูไปก่อน หม้อจะดีต้องค่อย ๆ ตีกล่อมเกลาไปทีละน้อย จึงได้หม้อดี แต่จะอ้างเหตุผลอย่างไรก็ตาม แม้จะไม่พอพระทัยพระเจ้าวิเทหราชก็ตาม ก็ทรงยินยอม คือรอ และส่งปัญหาไปให้แก้ คราวนี้ก็เช่นกัน ทรงส่งราชบุรุษไปกำชับชาวบ้านหาจีนวยมัชณคาม จงหุงข้าวเปรี้ยวประกอบด้วยองค์ 8 ประการมาคือ
๑. ไม่หุงด้วยข้าวสาร
๒. ไม่หุงด้วยน้ำ
๓. ไม่หุงข้าวด้วยหม้อข้าว
๔. ไม่หุงด้วยเตาหุงข้าว
๕. ไม่หุงด้วยไฟ
๖. ไม่หุงด้วยฟืน
๗. ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา
๘. ไม่ให้นำมาในทาง
ถ้าไม่ได้ ๔.๐๐๐ บาท จ่ายมาเสียดี ๆ ชาวบ้านพอได้รับคำสั่ง เออ ? อกอีปุกจะแตก มีอะไรประหลาดพิศดารมาเรื่อย ทุกคนส่ายหัว พวกเราไม่มีปัญญาจะตอบปัญหานี้ได้ ส่งเรื่องไปให้พ่อมโหสถกันเถอะ พ่อมโหสถคนเดียวเท่านั้นที่จะคิดปัญหานี้ได้
“จริงอย่างเกลอว่า เพราะคนอื่นคิดไม่ได้ “ ปัญหานี้ก็ถูกส่งไปให้เจ้ามโหสถแก้ และมโหสถ เจ้ามโหสถพิจารณาปัญหาแล้วก็ยิ้ม ๆ “เรื่องเล็ก” เขาว่า
“พ่อว่าเป็นเรื่องเล็ก ถ้าทำไม่ได้ชาวบ้านจะถูกปรับตั้ง ๔.๐๐๐ บาท จะเอาที่ไหนไปให้ท่านเล่า”
“ไม่เป็นไร ถ้าแก้ไม่ได้ก็เอาที่ท่านพ่อ เพราะท่านเป็นเศรษฐีและเป็นหัวหน้าหมู่บ้านนี้”
“พ่ออย่าพูดเป็นเล่นไปเลย” ท่านเศรษฐีว่า “จะแก้อย่างไรก็จัดการเข้าเถอะ”
“แหม มีข้อบังคับถึง ๘ ข้อ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็จะแก้ให้ได้
๑. ท่านไม่ให้หุงข้างสาร เราก็ต้องจัดการหุงด้วยข้าวป่นหรือปลายข้าว เพราะไม่ชื่อข้าวสาร
๒. ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ข้อนี้ลำบากหน่อย ต้องให้คนไปรวมน้ำค้างมาให้พอจึงจะหุงได้ เพราะน้ำค้างไม่ใช่น้ำตามปกติ
๓. ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าวเราก็หุงด้วยภาชนะอื่น เช่น กะทะก็ได้
๔. ไม่ให้หุงด้วยเตา เราก็ตอกหลักเอาก้อนหินวางเป็นสามเส้าก็ใช้ได้
๕. ไม่ให้หุงด้วยไฟ เราก็จัดแจงเอาแว่นส่องจากดวงอาทิตย์ลงมาจุดไฟ หรือมิฉะนั้นเราก็จัดการสีเอาไฟมาใช้ก็เป็นอันเสร็จ
๖. ไม่ให้หุงด้วยฟืน เราก็หุงด้วยถ่าน หรือมิฉะนั้นก็เอาใบไม้ก็ได้เช่นกัน
๗. ไม่ให้ชายหรือหญิงยกมา ข้อนี้ไม่ยาก เอากระเทยยกไปก็สิ้นเรื่อง
๘. ไม่ให้นำมาในทาง ที่ใดเป็นทางคนเดินเราก็ไม่เดิน เดินเสียนอกทาง ก็เป็นอันแก้ได้ครบทั้ง ๘ ข้อ ท่านพ่อว่าสำเร็จไหม”
“ความคิดของพ่อวิเศษจริง เป็นอันว่าชาวบ้านไม่ต้องจ่ายทรัพย์เป็นค่าปรับให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน” ท่านเศรษฐีได้ทำตามความคิดมโหสถเช่นนั้น แล้วให้กระเทยนำข้าวเปรี้ยวที่หุงสุกแล้ว ใส่ในภาชนะผูกด้วยตีตราแล้วนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อพระเจ้าวิเทหราชได้เห็น และได้ทราบว่าสิ่งทั้งปวงนี้สำเร็จด้วยความคิดของมโหสถก็ทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก ทรงหันไปทางนักปราชญ์ทั้ง ๔ ซึ่งต่างก็ก้มหน้าไม่ยอมสบพระเนตรด้วยทรงตรัสขึ้นมาลอย ๆ
“รอไปก่อน ทดลองดูอีกก่อน” นักปราชญ์ทั้ง ๔ ท่าน ถือว่าไม่ใช้พระราชดำรัสถามก็เลยถือความดุษณีภาพเป็นสมบัติเสียเลย
เรื่องชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย
เมื่อทดลองด้วยความจริงแล้ว คราวนี้ต้องการจะทดลองไหวพริบดูบ้าง มโหสถจะคงแก่เรียนประกอบด้วยเชาว์ไหวพริบสมบูรณ์หรือไม่ จึงดำรัสสั่งให้ราชบุรุษไปแจ้งแก่ท่านเศรษฐีบิดามโหสถว่า
“ภายในพระราชสำนักมีชิงช้าห้อยด้วยเชือกทรายอยู่เชือกชิงช้าหนึ่ง เดี๋ยวนี้เชือกทรายนั้นขาดลงไป จงฟั่นเชือกส่งมาให้โดยด่วน จะห้อยชิงช้านั้น ถ้าไม่ได้ ๔.๐๐๐ บาท จะต้องเสียค่าปรับ” พอปัญหานี้ไปถึงท่านเศรษฐี
“เอาอีกแล้ว ปัญหานี้บ้าบอคอแตกทั้งนั้น เราเองรึก็แก้ไม่ได้สักที คนเฒ่าคนแก่ปัญญาเหี่ยวแห้งหัวโตไปด้วยกันทั้งนั้นต้องพึ่งเจ้ามโหสถลูกเล็กเสียเรื่อย ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าละอาย เสียแรงเป็นวัยวุฒิ แก่แต่ตัวเท่านั้นเอง” เศรษฐีรำพึงออกมาดัง ๆ
“แต่เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะไม่มีใครเลยที่จะฟั่นทรายให้เป็นเชือกขึ้นมาได้
“ เออ กลุ้มจริง ๆ ปัญหาแต่ละข้อหนักสมองพิลึก ลองดูเจ้ามโหสถก่อน ดูว่ามันจะฟั่นได้ไหม” แล้วท่านเศรษฐีก็ให้คนไปตามมโหสถมาจากสนามที่เล่นของเด็ก พอมาถึงก็บอกปัญหาให้ฟังพร้อมกับเสริมว่า
“ตั้งแต่พ่อเกิดมาก็เพิ่งจะเคยได้ยินนี่เหละว่าเขาเอาทรายมาฟั่นเป็นเชือกก็ได้ อย่าว่าแต่เชือกทรายเลย เพียงแต่ได้ยินก็ไม่เคย เจ้านะคิดอย่างไร”
“ฉันเองก็เหมือนกัน เพิ่งเคยได้ยินนี่เหละ”
“งั้นก็แย่ล่ะมัง เห็นทีจะต้องเสียเงิน ๔.๐๐๐ เสียแล้ว”
“เอ้า เจ้าจะคิดก็คิดเสีย จะเอายังไงก็เอา” มโหสถพิจราณาดูก็แล้วก็กล่าวว่า
“พ่อ เรื่องนี้เห็นจะต้องหนามบ่งหนามเสียแล้ว”
“บ่งก็บ่งสิ ทำอย่างไรก็ทำไปเลย”
“พ่อ ข่วยหาคนที่กล้าหาญไม่ประหม่าให้ฉันสัก ๒- ๓ คนเถอะ” ท่านเศรษฐีก็จัดหาให้ มโหสถจึงชี้แจงให้คนเหล่านี้ได้ทราบวิธีการกราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดิน และกิริยาอาการที่ประพฤติทั้งปวงแล้วส่งไป
พวกชาวบ้านเดินทางไปยังพระราชวังของพระเจ้าวิเทหราช ขออนุญาตจากเจ้าพนักงานเข้าไปเฝ้า พอได้รับอนุญาตแล้วเขาเหล่านั้นก็พากันเข้าไปยังท้องพระโรง ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชกำลังเสด็จออกราชการอยู่ พอเข้าไปถึงชาวบ้านกราบถวายบังคม พระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสถามว่า
“พวกเจ้ามาจากบ้านปาจีนวยมัชคามหรือ”
“พระเจ้าค่ะ พวกข้าพระบาทมาจากหมู่บ้านปาจัวยมัชคาม”
“เชือกที่สั่งให้ฟั่นได้มาหรือยัง?”
“พวกข้าพระองค์กำลังจะมาทูลถามพระองค์พระเจ้าค่ะ”
“ถามเรื่องอะไรล่ะ?”
“คือเชือกทรายพระเจ้าค่ะ ที่ทรงสั่งไปนั้นไม่บอกกำหนดว่าจะให้ฟั่นกี่เกลียว ตามธรรมชาติเชือกป่านที่เขาใช้ผูกว่าวนั้น บางคนชอบใช้สองเกลียวแต่ใหญ่หน่อย บางคนก็ใช้สี่เกลียวแต่เส้นให้เล็กหน่อย เส้นหนึ่งอาจจะฟั่น ๒- ๓- ๔ เกลียวก็ได้ และอีกอย่างหนึ่งขนาดเล็กใหญ่แค่ไหนพระองค์ก็มิได้ตรัสบอกไปด้วย พวกข้าพระองค์จึงขอรับทราบ และอยากจะขอตัวอย่างไป เพื่อที่จะฟั่นใหม่พระเจ้าค่ะ”
“อุวะ ? ข้าจะไปมีตัวอย่างให้พวกเจ้าได้อย่างไร ที่ในวังของข้ายังไม่เคยมีเชือกทรายสักเส้นเดียว”
“ทรงพระกรุณาโปรด ถ้าเช่นนั้นข้าพระบาทก็ไม่สามารถจะฟั่นได้ เพราะไม่มีตัวอย่างพระเจ้าค่ะ”
“ใครส่งพวกเจ้ามาขอตัวอย่างล่ะ?”
“พ่อมโหสถเป็นคนจัดการพระเจ้าค่ะ”
“เออ พวกเจ้าไปบอกมโหสถเถอะว่าข้าพอใจแล้ว” แล้วก็พระราชทานรางวัลให้คนเหล่านั้นตาม
สมควรแล้วก็ส่งกลับไป แล้วหันไปทางนักปราชญ์เอกอุทั้ง 4 ซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ตรงพระพักตร์ ยิ้มแล้วตรัสว่า
“รอไปก่อน ทดลองดูก่อน” ทั้ง ๔ ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากออกปากรับว่า
“พระเจ้าค่ะ”
เรื่องเป็นอันว่าพระเจ้าวิเทหราชต้องรอต่อไป เพราะความอิจฉาริษยาที่ฝังแฝงอยู่ในดวงใจของนักปราชญ์ที่ด้อยศีลธรรมเหล่านั้น
เรื่องสระ
เมื่อเรื่องเชือกผ่านไปแล้วไม่นานนัก ราชบุรุษที่ทรงส่งไปสังเกตการณ์ ณ หมู่บ้านของมโหสถไม่เห็นส่งข่าวคราวมาพระเจ้าวิเทหราช จึงส่งปริศนาไปเพื่อทดลองเจ้ามโหสถอีกข้างหนึ่งว่า
“พระเจ้าแผ่นดินประสงค์จะเล่นน้ำในสระที่มีบัว ๕ ชนิดขึ้นอยู่เต็มไป ให้ประกอบด้วยดอกนานาชนิด ให้ชาวบ้านปาจีนวยมัชณคาม ส่งสระดังกล่าวนี้ไปยังพระราชวังภายใน ๗ วัน ถ้าไม่ส่งจะต้องถูกปรับ ๔.๐๐๐ บาท” ท่านเศรษฐีได้รับคำสั่ง อดที่จะพึมพรำออกมาไม่ได้
“ปัญหามีมาเสียเรื่อย เต่ละอย่างชวนให้ปวดเศียรเวียนหัวทั้งนั้น ถ้าไม่มีมโหสถเห็นจะต้องอพยพบ้านหนีไปอยู่เมืองอื่นทีเดียว” แล้วก็ใช้ให้ไปตามมโหสถมาดังเคย เมื่อมโหสถมาถึงก็บอกความทั้งปวงให้ฟัง
“พ่อหาคนที่คล่องแคล่วรูปร่างกำยำล่ำสัน และกล้าหาญในการที่จะตอบโต้ข้อความให้ฉันสัก ๕ – ๖ คน” ท่านเศรษฐีออกไปจัดแจงมาให้ พอคนเหล่านั้นเข้ามาถึงมโหสถก็เรียกมาชี้แจงว่า
“เมื่อท่านไปถึงพระราชวังแล้ว จงพยายามโต้ตอบกับพระเจ้าแผ่นดินให้ดี และพูดจนเห็นว่าพระองค์ยอมแล้วท่านจงกลับมา แต่ก่อนท่านจะไปท่านจงพากันเล่นน้ำเสียให้โชกโชนจนตาแดงผมเผ้าเปียกปอนแล้วถือเชือกเส้นใหญ่ไปด้วย”
คนเหล่านั้นก็พากันปฎิบัติตามคำชี้แจง มองดูสภาพของคนเหล่านั้นที่พากันเดินทางไปพระราชวังของพระเจ้าวิเทหราชเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มโชกไปด้วยน้ำ ผมเผ้าเปียกปอน แถมยังถือเชือกเส้นใหญ่ไว้ในมือด้วยแล้ว คล้ายกับคนวิกลจริต ใครจะสอบถามอย่างไรคนเหล่านั้นก็นิ่งไม่ยอมตอบ แม้นายประตูจะถามก็บอกเพียงว่า
“มาจากหมู่บ้านปาจีนวยมัชคามเหมือนเป็นคำสั่งว่าถ้าชาวบ้านนี้มาก็ให้ปล่อยเข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้เลย ไม่ต้องหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ นายประตูจึงยอมให้ผ่านได้พร้อมกับกล่าวทีเล่นทีจริงว่า
“ได้รางวัลแล้วอย่าลืมกันเสียล่ะ”
“เอาเถอะน่ะ ถ้าได้รับหวายแล้วจะมาแบ่งให้” นายประตูสงสัย
“ว่ายังไงนะ” ผู้เป็นหัวหน้าชาวบ้านตอบยิ้ม ๆ
“ถ้าได้รับหวายแล้วจะเอามาแบ่งให้บ้าง”
“ทำไมถึงจะได้รับหวยล่ะ และหวายน่ะจะเอาไปทำอะไรได้ เห็นแต่เขาเอาไปเย็บจากบ้าง ทำราวตากผ้าบ้าง”
“ไม่ใช่เช่นนั้น ที่พูดนี่เป็นเรื่องหวายตะค้าที่สำหรับเฆี่ยนนักโทษน่ะ”
“แล้วจะเอาไปทำไมล่ะ”
“ก็เอาไว้เฆี่ยนหลังจ่าสิ”
“อาจจะอย่างนั้น เพราะพวกข้าพเจ้าพูดทูลไม่ต้องพระประสงค์ อาจจะถูกเฆี่ยนก็ได้ ถ้าได้จริงก็จะให้ท่านได้รับส่วนแบ่งด้วย ถ้าพวกข้าพเจ้าได้คนละ 30 ก็จะแบ่งให้ท่านคนละ 15 ดีไหม?” นายประตูทำคอย่น
“พ่อคุณ ส่วนแบ่งนี้ของดเถอะไม่เอาแล้วไม่อยากได้ อยู่ดี ๆ จะหาหวายมาลงหลังเสียแล้ว ไปเถอะรีบ ๆ ไปเถอะ ไม่ต้องเอามาแบ่งนะ ไม่อยากได้” พวกชาวบ้านก็พากันมาเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ณ ที่พระโรงวินิจฉัย
“ พวกเจ้ามาจากบ้านปาจีนวยมัชคามหรือ ?”
“พระเจ้าค่ะพวกข้าพระองค์มาจากบ้านปาจันวยมัชคาม”
“เจ้ามโหสถยังอยู่ดีหรือ?”
“พระเจ้าค่ะ มโหสถตลอดตนบิดามารดาสบายดีพระเจ้าค่ะ”
“แล้วพวกเจ้าที่เปียกมะล่อกมะแล่งมานี่ล่ะ เพราะอะไร?”
“เป็นเพราะคำสั่งของพระองค์พระเจ้าค่ะ”
“ข้าไม่ได้สั่งให้พวกเจ้าเปียกเลยนี่นา”
“มิได้พระเจ้าค่ะ คือคำสั่งที่พระองค์ตรัสบังคับให้ชาวบ้านปาจีนวยมัชคามส่งสระมาไห้นั่นแหละ ที่ทำให้พวกข้าพระองค์ตกอยู่ในสภาพเปียกปอนเช่นนี้”
“นึกว่าตูบ้าคนเดียว มโหสถก็บ้าไปกับตูเหมือนกัน แล้งทำไมไม่ส่งมาละ ขัดข้องอะไรรึ หรือจะเอาเงินทองมาเสียค่าปรับ”
“มิได้พระเจ้าค่ะ พวกข้าพระองค์มาขอความกรุณาพระเจ้าค่ะ”
“พวกเจ้าจะมาขอผัดผ่อนเรื่องเงิน ใช่หรือไม่ ?”
“มิได้พระเจ้าค่ะ พวกข้าพระองค์มิได้มาขอผัดผ่อน แต่ว่าต้องขอพระราชทานอภัยก่อนพระเจ้าค่ะ”
“เอ้า มีอะไรว่ามา ข้าให้”
“คือว่า พวกเกล้ากระหม่อมฉันเปียกปอนมาทั้งนี้ก็เพราะสระที่พระองค์ต้องประสงค์นั้นแหละพระเจ้าค่ะ ทำพิษ”
“มันทำพิษอย่างไร ลองว่าไปดูทีสิ ?”
“คือว่า”
“วะ แก่คือว่าเสียจริง” ทรงตรัสอย่างชักจะทรงพระพิโรธ
“พวกเกล้ากระหม่อมได้รับคำสั่งจากท่านเศรษฐีให้นำสระใหญ่ที่เต็มไปด้วยบัวนานาชนิดจากหมู่บ้านมายังพระราชวังของพระองค์ พวกข้าพระองค์ก็เอาเชือกเส้นใหญ่ ๆ ผูกมัดเป็นอันดีแล้วก็เกิดเรื่องพระเจ้าค่ะ” “เกิดเรื่องอะไรล่ะ ?”
“เกิดเพราะสระใหญ่นั้นเคยอยู่แต่ในดงพงพี ไม่เคยเห็นพระราชวัง พอเห็นประตูเมืองก็เลยตกใจสลัดเชือกหนีไปเสีย พวกข้าพระองค์จะช่วยกันโบยตีอย่างไรก็ไม่กลับพระเจ้าค่ะ”
“เอ๊ะ เรื่องสนุกดีว่ะ แล้วเจ้าจะให้ข้าช่วยอย่างไร สระมันถึงจะยอมมาล่ะ”
“ข้อนี้ล่ะที่พวกข้าพระองค์ต้องมาขอความกรุณาจากพระองค์”
“จะขออะไรก็บอกมาสิ มัวอมพะนำอยู่ได้”
“คือจะขอให้พระองค์เอาสระน้ำที่มีอยู่ในเมืองออกไปพบกับสระใหญ่สักหน่อยก็คงจะเข้าเรื่องกันได้” ทรงพระสรวลลั่นท้องพระโรง แลัวตรัสออกมาอย่างขบขันว่า
“ถ้าจะต้องสร้างโรงพยาบาลโรคจิตเพิ่มขึ้นอีกเพราะเรื่องเอาสระไปต่อสระ หนอย..ยังแถมคุยกันรู้เรื่องเสียด้วยว่าไงท่านอำมาตย์ อากาศก็ไม่ค่อยร้อนนี่ไหงเป็นงั้นไป”
“ไม่ทราบเกล้าเหมือนกันพระเจ้าค่ะ” ทรงหันไปทางชาวบ้าน
“ใครบอกกับพวกแกล่ะว่าให้เอาสระในพระราชวังไปต่อสระข้างนอกมา อย่าว่าแต่มนุษย์จะทำเลย เทวดาก็ยังทำไม่ได้”
“ได้ทรงพระกรุณาโปรด มโหสถเป็นคนบอกกับพวกข้าพระบาท”
“คนบอกน่ะมันบ้า”
“ขอเดชะ พระองค์รับสั่งให้ชลอสระเข้ามาในพระราชวัง ถ้าไม่ได้จะปรับชาวบ้านพระเจ้าค่ะ”
“เออ เอ๊ะงั้นข้าก็บ้าเหมือนกันล่ะสิ” แล้วตรัสกำชับพวกชาวบ้านว่า
“จริงสินะ ข้าก็บ้า พวกแกก็บอพอกันทั้งนั้น ไม่มีใครชะลอสระมาได้หรอก เจ้ามโหสถเข้าใจได้ดีแล้ว ข้าก็ลืมไปเหมือนกัน” แล้วพระราชทานรางวัลให้กับชาวบ้านเหล่านั้นตามสมควรแล้วส่งกลับไป เมื่อชาวบ้านกลับไปเรียบร้อยแล้ว ทรงหันไปทางนักปราชญ์ทั้ง ๔
“ว่าไง ท่านอาจารย์คงทดลองดูต่อไปอีกสักหน่อยกระมัง”
“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ควรเป็นเช่นนั้นพระเจ้าค่ะ”
“เอ้า รอก็รอ” ทรงตรัสอย่างฝืน ๆ
เรื่องสวน
เมื่อมีพายุใหญ่พัดผ่านวิเทหราชมาในวันหนึ่ง ทำให้บ้านเรือนราษฎร ตลอดจนต้นหมากรากไม้ตามไร่ตามสวนหักโค่นเกลื่อนกลาดไปหมด ราษฎรปราศจากที่อยู่เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน พระเจ้าวิเทหราชต้องเสด็จออกทรงบรรเทาทุกข์วาตภัยโดยด่วน และก็ได้พบว่าพระราชอุทยานของพระองค์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก คงเป็ยอุทยานอยู่เพียงแต่ชื่อเท่านั้น หลังจากที่ได้บรรเทาทุกข์ให้ราชฎรเรียบร้อย แล้วพระองค์ก็ส่งปริศนาไปยังมโหสถอีกข้อหนึ่ง
“เพราะอุทยานของเราหักโค่นหมดสภาพเป็นอุทยานให้ชาวปาจีนวยมัชคามส่งอุทยานใหม่มาให้เราภายใน ๗ วัน ถ้าไม่ได้จะต้องปรับไหม ๔.๐๐๐ บาทเช่นเคย” พวกชาวบ้านซึ่งรอดจากวาตภัยเพราะลมผ่านไปเสียทางอื่น พอเจอปัญหานี้เข้าบางคนถึงกับสะอึก
“เอาอีกแล้ว ขี้ไม่ออกเยี่ยวไม่ออกก็ตกเป็นภาระของชาวบ้านปราจีนวยมัคาม ทีบ้านอื่นไม่เห็นจะถูกบังคับเช่นบ้านเรา ดู ๆ ออกจะไม่ยุติธรรมเสียเลย”
ปัญหาก็ไปถึงมโหสถเช่นเคย เขาได้จัดการอย่างเคย โดยขอพระเจ้าวิเทหราชส่งยานพาหนะไปเพื่อบรรทุกอุทยานเข้ามา ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชก็ต้องยอมอีกวาระหนึ่ง และในครั้งนี้เองที่ทรงตัดสินพระทัยว่าจะรับเจ้ามโหสถเข้ามาในพระราชวัง แม้อาจารย์ทั้ง ๔ จะคัดค้านอย่างไรก็ไม่ฟังเสียง สั่งให้ส่งม้าเสด็จไปรับเจ้ามโหสถ แต่พอเสด็จขึ้นหลังม้าเผอิญให้ม้านั้นมีอันเป็นไปกีบเท้าม้าเกิดแตกขึ้นมา ม้าเดินไม่ได้โดยปกติ เลยเป็นโอกาสของเสนกะปราชญ์จอมโกงไป
“ข้าพระองค์บอกแล้วว่าให้รอก่อน พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อ นี่ดีแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ถ้าเสด็จออกไปข้างนอกแล้วอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ ทรงรอไปก่อนเถิดพระเจ้าค่ะ” ซึ่งด้วยความจำเป็นพระเจ้าวิเทหราชก็ต้องทรงยอมอีกวาระหนึ่ง
เรื่องม้าอาชาไนย
เมื่อพระเจ้าวิเทหราชตกลงพระทัยจะรับมโหสถเข้าไปอยู่ในราชสำนักแล้ว เสนกะเห็นว่าขืนคัดค้านต่อไปตัวเองอาจจะเป็นที่ไม่พอพระทัยขององค์กษัตริย์มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่อยู่ในราชสำนักดูจะไม่ค่อยปลอดภัยนัก ซึ่งหลังจากนั้นอีก ๒-๓ วัน เสนกะจึงกราบทูลว่า
“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ หากว่าจะทรงรับเจ้ามโหสถเข้ามาอยู่บนราชสำนักจริง ๆ แล้ว ไม่ต้องเสด็จออกไปด้วยตนเองดอก เพียงแต่ตั้งปัญหาไปเรื่องก็สำเร็จพระเจ้าค่ะ”
“จะตั้งปัญหาอย่างไรล่ะท่านอาจารย์”
“ควรตั้งปัญหาเรื่องม้าอาชาไนยพระเจ้าค่ะ”
“ท่านอาจารย์ลองว่าไปดูทีรึ ?”
“ควรตั้งว่า เมื่อวันก่อนพระองค์เสด็จออกมาด้วยม้าเพื่อจะมารับ
เจ้ามโหสถ เผอิญวันนั้นเท้าม้าเจ็บให้เจ้ามโหสถส่งม้าตัวประเสริฐมาแทน และเมื่อมาให้บิดามาด้วย”
“แล้วมโหสถจะมาหรือ”
“มาพระเจ้าค่ะ พอมโหสถได้ฟังปัญหาก็รู้ทันทีว่าพระองค์ต้องการพบ ก็ให้บิดามาก่อนแล้วตนก็จะตามมาภายหลัง” พระเจ้าวิเทหราชทรงเห็นชอบด้วย และได้ส่งปัญหาไปดังกล่าว ท่านเศรษฐีพอได้รับปัญหา ก็สั่งให้คัดเลือกม้าทันที
“เฮ้ย ? เจ้าพวกเด็ก ๆ ลองไปตามดูบ้านต่าง ๆ ดูทีรึว่าใครมีม้าดีบ้าง เกณฑ์มาให้หมดจะใด้เลือกส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน แทนที่จะเสียเงินค่าปรับ” แต่เมื่อเจ้ามโหสถได้รู้ปัญหานี้เข้า กลับพูดกับท่านเศรษฐีว่า
“คุณพ่อ อย่าต้องยุ่งเรื่องจัดการม้าลาอะไรเลย พระเจ้าแผ่นดินทรงพระประสงค์จะพบคุณพ่อและฉัน”
“แล้วเราจะทำอย่างไรกันล่ะ”
“เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะจัดการเอง”
“เอ้า ? เจ้าบอกมาจะให้พ่อทำอย่างไรบ้าง”
“พ่อพร้อมด้วยบริวารพันหนึ่ง จงเดินทางล่วงหน้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินก่อน แต่ว่าเมื่อไปอย่าไปมือเปล่า ต้องหาของติดมือไปถวายด้วย เพราะคำโบราณเขากล่างไว้ว่าไปหาเจ้านาย ๑ หาอุปัชฌาย์ ๑ หาบิดามารดา หญิงที่ตนรัก ๑ ต้องหาของติดมือไปด้วย ถ้าพระเจ้าอยู่จะทรงตรัส หรือให้ท่านพ่อนั่งที่ใดก็จงปฎิบัติตามสมควร แต่เมื่อข้าพเจ้าไปเฝ้าภายหลัง หากพระเจ้าแผ่นดินตรัสให้ข้าพเจ้าหาที่นั่งเอาเอง ข้าพเจ้าจะมองตาท่านพ่อจงมานั่ง ณ ที่นี่ เท่านี้เองปัญหาต่าง ๆ ก็เสร็จสิ้นกันเสียที”
เมื่อได้ตกลงกับศิริวัฒกะผู้เป็นบิดาแล้ว มโหสถก็ส่งท่านพ่อเศรษฐีและบริวารเดินทางไปก่อน แล้วตนเองพร้อมด้วยเด็กที่เป็นบริวารพันคนก็เดินทางตามไปภายหลัง ไปพบลาเข้าตัวหนึ่งก็ให้พวกเด็กจับเอาเสื่อห่อให้มิดชิดแบกไปด้วย
ครั้นเข้าไปถึงพระราชวัง ได้รับอณุญาตให้เข้าเฝ้าได้แล้วก็พร้อมด้วยเด็กผู้เป็นบริวารเข้าไปเฝ้า พอพระเจ้าวิเทหราชตรัสให้นั่งก็แลดูท่านเศรษฐี ๆ ก็เชื้อเชิญให้มโหสถนั่ง ณ ที่ซึ่งตนนั่งอยู่ก่อน ส่วนตนก็ลุกไปนั่งอีกที่หนึ่ง มโหสถก็นั่งที่นั้น
ขณะนั้นบัณฑิตทั้ง ๔ เฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ต่างพากันหัวเรอะเยาะเย้ยมโหสถ
“อ้อ คนมีปัญญาเขาทำกันอย่างนี้นะ ที่ของพ่อ แต่ลูกกลับมานั่ง เป็นบัณฑิตแท้ทีเดียวล่ะ”
พวกที่มาประชุมอยู่ที่นั้นทั้งหมดแม้จะไม่พูด แต่ก็มีสีหน้าเย้ยหยันมโหสถทุกคน แม้พระเจ้าวิเทหราชเองก็พระพักตร์ก็เปลี่ยนไปทันทีที่เห็นมโหสถไปนั่งที่ ๆ ท่านเศรษฐีนั่งอยู่ก่อน และท่านเศรษฐีต้องเลื่อนมานั่งต่ำกว่า มโหสถมองดูพฤติการณ์ทั้งนั้นด้วยกิริยาปกติ เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่าจะประสบเช่นนั้น จึงได้ทูลถามพระเจ้าวิเทหราช
“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า พระองค์ทรงเสียพระทัยหรือ?”
“เออ ข้าเสียใจ ข้าใด้ฟังเกียรติคุณของเจ้าน่าเลื่อมใสชื่อเสียงก็ดี สติปัญญาก็สามารถ แต่พอมาเห็นพฤติการณ์ของเจ้าที่ให้บิดาของเจ้าเองลุกจากที่ และเจ้านั่งแทนเสียเองข้าก็เสียใจ”
“พระองค์สำคัญพระทัยว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในทุกสถานหรือ ?”
“เออ ข้าเข้าใจอย่างนั้น”
“พระองค์ทรงส่งข่าวไปถึงหม่อมฉันว่า ขอให้ส่งม้าอาชาไนยที่ประเสริฐกว่าม้าสามัญมาให้ พร้อมทั้งเอาพ่อมาด้วย”
ทูลได้เท่านั้นแล้วก็พยักหน้าให้บริวารนำลาที่หุ่มห่อมาเป็นอันดีเข้ามาหาหน้าที่นั่ง ให้มันนอนแทบปลายพระบาทของพระเจ้าวิเทหราชซึ่งกำลังสนพระทัยเต็มที่ว่านี่มันตัวอะไรกัน” บริวารมโหสถเปิดขึ้นก็ปรากฎว่ามันเป็นลาตัวหนึ่ง
“พระองค์โปรดตีราคาลาตัวนี้เถิดพระเจ้าค่ะ ว่าเป็นราคาสักเท่าไหร่ ?”
“อย่างมากก็ไม่เกิน ๒๐ บาท” ทรงรับสั่ง
“ถ้าเป็นม้าอาชาไนย จะมีราคาสักเท่าไหร่พระเจ้าค่ะ”
“หาค่าไม่ได้น่ะสิเจ้า”
“พระองค์เหตุไฉนจึงตรัสเช่นนั้น เมื่อกี้พระองค์ทรงตรัสว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในทุกสถานมิใช่หรือ”
“ก็ใช่น่ะสิ”
“ถ้าเช่นนั้นพระองค์โปรดรับลาตัวนี้ไว้เถิด ข้าพระองค์ขอถวาย และมิแต่เท่านั้น ขอพระองค์ได้โปรดรับท่านบิดาของกระหม่อมฉันไว้แทนกระหม่อมฉันด้วยเถิด”
“ทำไมเป็นงั้นล่ะ”
“เพราะเมื่อบิดาประเสริฐกว่าบุตรจึงควรจะรับบุตรไว้ ดังนี้จึงจะควรพระเจ้าค่ะ”
“ว่าอย่างไรท่านปราชญ์” ทรงหันไปถามนักปราชญ์ทั้ง ๔
“จริงอย่างมโหสถว่าพระเจ้าค่ะ”
พระวิเทหราชทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แล้วทรงตรัสเรียกศิริวัฒกะเศรษฐีเข้าไปเฝ้าใกล้ ๆ ทรงหยิบพระคณทีทองหลั่งน้ำลงไปในมือของท่านเศรษฐี มอบให้ปกครองบ้านปาจีนวยมัชณคาม และตรัสสั่งประชาชนทั้งหลายในบ้านนั้นอุปถัมภ์บำรุงท่านเศรษฐี ได้ฝากของไปพระราชทานสุมนาเทวี ผู้มารดาของมโหสถด้วย และทรงรับสั่งว่า
“ท่านเศรษฐี ฉันยินดีมากที่ได้ปัญญาของเจ้ามโหสถ ฉันจะรับเจ้ามโหสถไว้เป็นบุตรบำรุงเลี้ยงรักษาต่อไป”
“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า เจ้ามโหสถยังเล็กเกินไปพระเจ้าค่ะ ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมเลย”
“เราพอจะเลี้ยงได้อยู่ ท่านรีบกลับบ้านเสียเถิด” ท่านเศรษฐีก็จำต้องกลับ แต่ก่อนจะกลับได้สวมกอดเจ้ามโหสถ แล้วให้ข้อเตือนใจว่า
“พ่อมโหสถ เรื่องอะไรทั้งหลายพ่อก็ทราบดีแล้ว ทำอะไรอย่าได้ประมาทเป็นอันขาด”
ตรงนี้ขอนำเอาคำกล่อนบทหนึ่งของท่าน น.ม.ส. มาเป็นคำเตือนของท่านเศรษฐี คำกลอนนั้นมีดังนี้
“ใครจะว่าอย่างไรก็ตามเถิด
แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า
หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา
สองสัตว์เขี้ยวงาอย่าวางใจ
สามผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย
สี่ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้
ห้ามหากษัตรย์ทรงฉัตรไชย
ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย”
มโหสถก็ปลอบให้บิดาเบาใจ ว่าตนเองจะไม่ประมาทแล้วท่านเศรษฐีก็ลากลับไป พระเจ้าวิเทหราชจึงถามเจ้ามโหสถว่า
“พ่อมโหสถ เจ้าจักเป็นข้าหลวงเรือนในหรือเรือนนอก”
“ขอเดชะ บริวารของข้าพระองค์มีมากหน้าหลายตา ขอพระกรุณาเป็นข้าหลวงเรือนนอกพระเจ้าค่ะ”
พระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสสั่งให้จัดสถานที่อยู่ให้มโหสถพร้อมบริวาร และนับแต่นั้นมามโหสถก็ต้องมีหน้าที่ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชเป็นประจำ
ในราชสำนัก แก้วมณีในรังกา
ในด้านทิศใต้ไม่ไกลจากประตูเมืองนัก มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง ใกล้ ๆ สระนั้นก็มีต้นตาลขึ้นอยู่ด้วย มีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นภายในสระ ยามแสงอาทิตย์ส่องจะปรากฎมีรัศมีพร่างพรายภายในสระ ประชาชนพากันพิศวงไม่รู้ว่าอะไรแน่ แต่ก็คิดว่าเป็นของดีแน่ บางคนถึงกับลงไปงมในสระ แต่ไม่ปรากฎว่าได้อะไรขึ้นมา พอหมดแสงอาทิตย์ รัศมีอันเลื่อมพรายนั้นก็หายไป
จึงได้เกิดเป็นข่าวเล่าลือกันไปถึงว่าน้ำในสระเป็นของวิเศษกินแก้โรคภัยไข้เจ็บได้ทุกชนิด ใครมีเคราะห์หามยามร้ายอย่างไร เอาน้ำในสระไปรดจะหาย หรือบรรเทาเบาบางไป ประชาชนบางคนหัวคิดดี ก็นำเอาภาชนะสำหรับใส่น้ำเป็นต้นว่า ขวดหรือกระป๋องมาไว้จำหน่ายจ่ายแจกแก่พวกที่ต้องการนำน้ำในสระไปฝากพรรคพวกเพื่อนฝูง ที่นั้นเลยกลายเป็นชุมนุมชน กลิ่นธูปควันเทียนก็ตลบอบอวลไปทั่วทั้งบริเวณ
ข่าวประหลาดพิสดารนี้ ก็ทราบไปถึงพระเจ้าวิเทหราชจึงเสด็จไปทอดพระเนตรเพื่อพิสูจน์ความจริง พร้อมมกับนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย เมื่อเสด็จไปถึงสระ ก็ทอดพระเนตรแสงเลื่อมพลายอันเกิดจากแก้ว ก็ให้พิศวงในพระทัย แต่ยังไม่ทราบว่าแสงนั้นเกิดจากอะไรแน่นอนจึงหันไปถามนักปราชญ์ ๔ พลางตรัสว่า
“ท่านอาจารย์พอสังเกตเห็นว่าแสงนี้เกิดจากอะไร?”
“ขอเดชะ” เสนกะกลาบทูล “ข้าพระพุทธเจ้าคาดว่าคงจะเป็นแสงเกิดจากแก้ววิเศษพระเจ้าค่ะ”
“ท่านพอจะนำมาได้หรือไม่?”
“ขอเดชะ ข้าพระองค์อาจนำมาได้” “ถ้าเช่นนั้น ท่านอาจารย์ไปนำมาดูทีหรือว่าแก้วนั้นจะวิเศษขนาดไหน ?”
เสนกะได้รับอนุมัติจากพระเจ้าวิเทหราช แล้วก็สั่งให้ทหารวิดน้ำให้แห้ง เพื่อจะนำแก้วมณีจากก้นสระมาถวายพระราชา แต่เมื่อวิดน้ำจนแห้งก็แล้วก็หาแก้วมณีไม่พบ เมื่อมีน้ำแสงแก้วก็ปรากฎอีก
” ข้าพระองค์หมดปัญญาจะนำมาถวายแล้วพระเจ้าค่ะ”
“แล้วท่านนักปราชญ์ทั้ง ๓ ล่ะ พอจะจัดมาถวายได้หรือไม่”
“เมื่อท่านเสนกะยังจัดมาถวายไม่ได้ พวกข้าพระองค์ก็ไม่สามารถจัดหาถวายได้พระเจ้าค่ะ”
เมื่อนักปราชญ์ทั้ง ๔ หมดปัญญาแล้ว ก็ทรงหันไปตรัสถามมโหสถว่า
“พ่อมโหสถ พ่อจะจัดหามาได้หรือไม่?”
“ข้าพระองค์ขอออกไปพิจารณาก่อนพระเจ้าค่ะ”
เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว มโหสถก็ออกไปพิจารณายังสระน้ำ ก็เห็นแสงแก้วกระทบน้ำเลื่อมพราย จึงได้พิจารณาไปก็เห็นต้นตาลสูงต้นหนึ่งอยู่ใกล้สระจึงสั่งให้คนใช้นำขันน้ำมาให้แลดู ปรากฎแสงนั้นอยู่ในน้ำ ก็แน่ใจได้ทีเดียวว่าแก้วนั้นไม่ได้อยู่ในสระ แต่อยู่บนต้นตาล จึงกลับมาเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พอเข้าเฝ้า พระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสถามว่า
“ยังไง พ่อมโหสถได้ความว่าอย่างไร พอจะได้แก้วไหม?”
“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า แก้วนั้นข้าพระองค์อาจจะเอามาถวายได้”
“ได้จริง ๆ หรือ?” ทรงถามด้วยความดีพระทัย
“ได้พระเจ้าค่ะ”
“แล้วต้องวิดน้ำอีกใหม?”
“ไม่ต้องพระเจ้าค่ะ”
“ทำไมล่ะ?”
“เพราะแก้วไม่ได้อยู่ในสระพระเจ้าค่ะ”
“แล้วอยู่ที่ไหนล่ะ?”
“อยู่บนต้นตาลพระเจ้าค่ะ ขอพระองค์ใช้ให้ใครขึ้นไปเอาคงจะได้สมประสงค์พระเจ้าค่ะ”
พระเจ้าวิเทหราชจึงสั่งให้ราชบุรุษขึ้นไปบนต้นตาล ก็พบว่าแก้วมณีอยู่ในรังกาบนต้นตาลนั้นเอง จึงนำมาถวายพระเจ้าวิเทหราช ซึ่งพระองค์ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงชมเชยมโหสถเป็นอันมาก เป็นอันว่าเสนกะจอมปราชญ์ต้องขายหน้ามโหสถอีกวาระหนึ่ง
กิ้งก่าได้ทอง
วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปประพาสพระราชอุทยานพอถึงประตูก็เห็นกิ้งก่าตัวหนึ่งลงมาจากซุ้มประตู หมอบอยู่เบื่องหน้า จึงตรัสถามมโหสถว่า
“พ่อมโหสถ เจ้ากิ้งก่ามันทำอะไรของมัน”
“ขอเดชะ กื้งก่ามันถวายตัวพระเจ้าค่ะ” ทรงพระสรวลด้วยความขบขัน แล้วตรัสดัง ๆ เป็นที่รำพึงกับพระองค์เองว่า
“อะไร กิ้งก่าก็รู้จักถวายตัวเหมือนกันหรือ ?” แล้งตรัสถามมโหสถต่อว่า
“เมื่อมันมาถวายตัวก็ดีแล้ว ก็ควรจะได้รับรางวัลบ้างควรจะให้อะไรมันดีล่ะ”
“ขอเดชะ กิ้งก่าเป็นสัตว์ไม่ควรให้อะไรพระเจ้าค่ะ ควรให้แต่อาหารเท่านั้น”
“มันกินอะไร?”
“กินเนื้อพระเจ้าค่ะ”
“ควรจะให้มันกินวันละเท่าไรดี?”
“สักวันล่ะเฟื่องก็เห็นจะพอพระเจ้าค่ะ”
“ของพระราชทานเฟื่องเดียวดูไม่สมควร เอาบาทหนึ่งเถอะ” แล้วหันไปตรัสกับราชบุรุษว่า
“นับแต่นี้ต่อไป จ่ายค่าเนื้อให้เจ้ากิ้งก่าวันละบาท แล้วนำมาซื้อให้มันกิน” พนักงานคลังก็มอบหน้าที่ให้พนักงานสวนเป็นผู้จ่ายและหาเนื้อให้กิ้งก่า
และนับตั้งแต่นั้นมา เจ้ากิ้งก่าก็ได้กินเนื้อซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าวิเทหราชเป็นนิตย์ วันหนึ่งเป็นวันพระที่ตลาดไม่มีเนื้อขาย นายอุทยานบาลจึงเอาเงิน ๑ บาท มาเจาะรูผูกคอกิ้งก่าตัวนั้นแทน พอได้เงินผูกคอเท่านั้น กิ้งก่าก็เกิดผยองขึ้นมาทันที
“ใครพอมีทรัพย์ เรามีทรัพย์เหมือนกัน จะต้องไปอ่อนน้อมถ่อมตนกับใครกัน เสมอกันทั้งนั้น” เจ้ากิ้งก่าขึ้นไปชูคอร่อนบนซุ้มประตู ทำเอาคนรักษาสวนแสนจะหมั่นไส้ แต่เพราะเป็นสัตว์ที่โปรดปรานของเจ้านายก็ต้องอดทนไว้
วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยานอีก คราวนี้เจ้ากิ่งก่าหาได้ลงมาหมอบถวายบังคมอย่างเคยไม่ ซ้ำกลับขึ้นไปชูคอทำหัวผงก ๆ อยู่บนซุ้มประตูเสียอีก พระเจ้าวิเทหราชสงสัยในอากัปกิริยาของเจ้ากิ้งก่านั้นเป็นประมาณ จึงตรัสถามมโหสถว่า
“พ่อมโหสถ พ่อดูทีเจ้ากิ้งก่ามันชูคอทำผงก ๆ อยู่ซุ้มประตูน่ะ มันทำอะไรของมัน”
มโหสถพิจารณาดูกิ้งก่า ก็เห็นว่าที่คอมันมีเงินผูกคออยู่ก็ทราบได้ทันทีว่า เพราะมันมีทรัพย์จึงได้ถือตัว จึงกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า
“ขอเดชะ กิ้งก่ามันผยองในทรัพย์ที่มันมีจึงไม่ลงมาถวายบังคมพระเจ้าค่ะ”
“ชะ ชะ อ้ายสัตว์กระจ้อยร่อยชนิดนี้มันควรตายได้แล้วให้นายสวนฆ่าเสียดีกว่ากระมัง”
“ได้โปรดพระเจ้าค่ะ” มโหสถทูลขึ้น
“ว่าอย่างไรล่ะ”
“มันเป็นสัตว์ไร้ปัญญา โปรดอภัยโทษมันเถิดพระเจ้าค่ะ เพียงแต่ไม่พระราชทานเนื้อให้มันก็พอเพียงแล้ว”
พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงตรัสให้งดเนื้อแก่เจ้ากิ้งก่าที่แสนจะจองหองนั้นเสียนับแต่บัดนี้ เจ้ากิ้งก่าที่แสนจะจองหองก็ปราศจากลาภแต่นั้นมา
พระนางอุทุมพร
ปิงคุตตระไปเรียนวิชายังเมืองตักสิลา อันนับว่าเป็นมหาวิทยาลัยอย่างดีเยี่ยมที่สุดในยุคสมัยนั้น เหมือนกับเมืองนอกดูเหมือนว่าจะโผล่พ้นเมืองไทยออกไปการศึกษานับว่าเยี่ยมที่สุด กลับมามีคนนับหน้าถือตาจะเข้าทำราชการงานเมืองใดก็มีแต่คนต้อนรับ เขาเรียนได้ดีเพราะสติปัญญาของเขาใช้ได้ เพียงไม่กี่ปีเขาก็สำเร็จการศึกษา
เมื่อเขากลับมา เขาก็ได้ของแถมจากอาจารย์ ไม่ใช่แต่วิชาเท่านั้น แต่กลับเป็นหญิงสาวผู้งดงามซึ่งเป็นบุตรคนโตของอาจารย์ของเขาเอง เพราะเป็นกฎที่ถือว่า ถ้าศิษย์คนใดเรียนดี อาจารย์มักจะยกบุตรสาวให้ แต่ความจริงคงเป็นว่าอาจารย์เห็นว่าศิษย์คนใดเรียนดีสามารถจะไปดำเนินกิจการได้ และเห็นว่าศิษย์คนนี้คงจะเลี้ยงธิดาของท่านได้ จึงได้มอบให้ก็อาจเป็นได้
แต่อย่างไรก็ตามเป็นอันว่าปิงคุตตระจะได้รับมอบธิดาแสนสวยจากท่านอาจารย์ให้พากลับบ้านด้วย แม้เขาจะไม่พอใจแต่ก็ต้องรับ เขารู้สึกว่าหญิงคนนี้ไม่ค่อนชอบมาพากลเสียแล้วเห็นหน้าก็ไม่พอใจเสียแล้ว แถมเข้าใกล้ยังร้อนเสียอีกด้วย แบบนี้มันคล้าย ๆ กับเรื่องทศกัณฐ์ที่ไปทำความชอบชะลอเขาพระเมรุได้รับพรให้ขอของที่ชอบใจได้ ก็เลยขอเมียพระอิศวรเสียเลย แต่แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เข้าใกล้ก็ร้อนจะจับจะต้องที่ใดมันก็ร้อนไปหมด จนกระทั่งเดินทางอุ้มก็ไม่ได้ ต้องเทินศีรษะไป เฮ้อ..กรรม ..กรรม พ่อนี้ก็เช่นเดียวกัน กลางคืนก็นอนร่วมกันไม่ได้ เมื่อขึ้นไปบนที่นอน พ่อปิงคุตตระเป็นต้องกระโดดลงมานอนข้างล่างมันร้อน มันร้อนจริง ๆ ใครจะทนไหว เขาได้แต่ร่ำร้องเช่นนี้
เรื่องนี้เป็นเพราะว่าเป็นกาลกิณีกับสิริร่วมกันไม่ได้เท่านั้นเอง จึงเป็นเหตุให้ปิงคุตตระกับธิดาอาจารรย์อยู่ร่วมกันไม่ได้ ใครล่ะเป็นกาลกิณีและใครเป็นสิริ เดินทางมาได้ตั้ง ๗ วัน ต่างคนต่างเดินจนมากระทั่งถึงกรุงมิถิลา ทางที่เขาเดินผ่านมีต้นมะเดื่อใหญ่ขึ้นอยู่ มีพวงห้อยระย้ากำลังสุกน่ากิน เขาเดินทางมากำลังเหน็ดเหนื่อยหิวโหยพอมาพบมะเดื่อเข้าก็ดีใจ เออ? ได้แก้หิวล่ะ เขานึกอยู่ในใจ พอ มาถึงก็ไม่ฟังเสียง ปีนขึ้นไปบนต้นได้ก็เก็บกินเอา ๆ จะนึกถึงเมียที่อยู่โคนต้นบ้างก็หาไม่ นางเห็นเช่นนั้นจึงร้องขึ้นไปว่า
“พี่จ๋า โยนมาให้น้องกินแก้หิวบ้างสิคะ” แทนที่นายปงคุตตระจะโยนลงมาให้อย่างที่นางร้องขอกลับตอบว่า
“มีตีนมีมือเหมือนกันก็ขึ้นมาเก็บเอาสิ จะหวังกินแรงคนอื่นทำไม ?”
ถ้าเป็นหญิงสมัยนี้เห็นมีจะร้องไห้หรือไม่นายปิงคุตตระได้ตายคาต้นมะเดื่อแน่นอน แต่นี้เป็นธิดาของอาจารย์ตักศิลา นางไม่ร้องไห้เลย ปีนขึ้นไปบนต้นมะเดื่อเก็บผลที่สุก ๆ มากินแก้หิว เจ้าผู้ชายไร้ความคิด ควรจะเรียกเจ้าปงคุตตระว่าอย่างนี้เพราะไม่เห็นแก่เพศที่อ่อนแอแล้วยังแถมประพฤติสิ่งอันชั่วร้ายส่ออัธยาศัยอันธพาลเสียด้วย เมื่อเขาเห็นนางขึ้นไปบนต้นมะเดื่อเขารีบลงมา เขารีบไปเอาหนามไผ่หนามไม้เเหลมคมมาสะต้นมะเดื่อไว้โดยรอบต้น แล้วบอกกับนางว่า
“เชิญอยู่ให้สบายเถอะ พี่ไปล่ะ” แล้วเขาก็ออกเดินจนลับตาไป นางลงไม่ได้ก็ต้องนั่งอยู่บนต้นมะเดื่อนั่นเอง
วันนั้นเผอิญพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปประพาสราชอุทยานตกเวลาเย็นผ่านมาทางนั้นก็พบนางอยู่บนต้นมะเดื่อ พอเห็นเท่านั้นก็เกิดความรักขึ้นทันที
พระพุทธเจ้าตรัสว่าความรักมี ๒ อย่าง คือ เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน
๑ และทำประโยชน์ให้ปัจจุบันอย่าง ๑ จึงจะเกิด ได้
พระเจ้าวิเทหราชอาจจะเป็นเพราะชาติปางก่อนได้เคยเป็นคู่สมัครรักใคร่กันมาก่อน พอเห็นกันจึงเกิดความรักทันที พระองค์ก็ให้ราชบุรษเข้าไปถามว่า
“แม่หนู แม่น่ะมีคนหวงแหนบ้างหรือเปล่า” นางได้เล่าความจริงให้ราชบุรษฟังตั้งแต่ต้น พร้อมกับเสริมว่า
“บัดนี้สามีดิฉันได้หนีไปแล้ว ดิฉันเลยไม่รู้ว่าจะไปไหนจึงนั่งอยู่ที่นี่” เมื่อราชบุรุษกราบทูลความนั้นให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบพระองค์ก็ตรัสว่า
“ออ เดี๋ยวนี้นางไม่มีพันธะ เราจะเลี้ยงดูนางเอง” จึงรับนางลงมาจากต้นมะเดื่อแล้วนำไปไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ท่านคิดดูเอาเองว่า ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายที่เป็นสิริกาลกิณี
นับแต่นั้นมา ประชาชนก็ขนานนามพระนางว่าพระนางอุทุมพร เพราะได้นางมาจากต้นมะเดื่อ นางได้รับความสำราญอย่างล้นเหลือ และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวชอบเสด็จพระพาสพระราชอุทยานพวกข้าราชบริพารจึงแผ้วถางทางที่จะเสด็จผ่านให้เรียบร้อยที่ใดรกรุงรังก็จัดแจงให้เตียนสะอาด ที่ไม่เสมอก็ให้ถมให้เสมอกัน จึงต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ และก็จะต้องให้งานเสร็จเร็วทันการประพาสครั้งต่อไป จึงต้องมีการจ้างให้บุคคลภายนอกมาทำความสอาดตัดต้นไม้ เกลี่ยถนน ขุดตอออกยั้วเยี้ยไปหมด แต่พระเจ้าวิเทหราชเสด็จเร็วกว่ากำหนด ในขณะเสด็จไปถึงจึงพบเห็นคนงานเหล่านั้นกำลังปฎิบัติงานอยู่ ในพวกคนงานเหล่านั้น มีเจ้าหนุ่มปิงคุตตระผู้ละทิ้งแก้ววิเศษเสีย มารับจ้างเกลี่ยถนนอยู่ด้วย
เมื่อขบวนเสด็จซึ่งมีพระเจ้าวิเทหราชกับพระนางอุทุมพรเทวีเสด็จไปด้วยกันผ่านไป พระนางก็ทอดพระเนตรเห็นนายปิงคุตตระกำลังถางดินอยู่ข้างทาง ก็นึกขำในพระทัยว่า ช่างกระไรเลยหนอ มาทิ้งสิริเสียได้ วิสัยกาลกิณีก็เป็นเช่นนั้นไม่อาจจะทรงสิริได้ นึกขำมากเข้าก็ถึงกับทรงพระสรวลออกมาเบา ๆ พระเจ้าวิเทหราชทรงสนเทห์ในพระทัย จึงตรัสถามว่า
“น้องหญิง สรวลอะไร?” พระนางจึงกลาบทูลว่า
“ขอเดชะ ตามที่กระหม่อมฉันเคยได้ทูลไว้ว่า กระหม่อมฉันมีสามี และสามีนั้นได้ทอดทิ้งหนีกระหม่อมฉันไป บัดนี้กระหม่อมฉันได้เห็นเขามาทำงานอยู่ที่ข้างทาง จึงคิดว่าวิสัยคนกาลกิณีไม่อาจจะทรงสิริไว้ได้ จึงได้สรวล”
พระเจ้าวิเทหราชคิดว่าพระไม่ตรัสตามความเป็นจริงก็กริ้วเพราะไม่เชื่อว่าผู้ชายอะไรจะสละทิ้งหญิงที่สวยงามอย่างพระนางได้ จึงไม่เชื่อว่าสามีของพระนางมาทำงานอยู่จึงตรัสว่า
“น้องหญิงเธอไม่ตรัสจริงกับพี่ มันเป็นความจริงไปได้อย่างไร ถ้าเธอไม่ตรัสความจริง เธอจะต้องตาย ..ตาย” ทรงคำรามพร้อมกับพระแสงดาบ เออ? อาญานี่มันร้ายจริงหนอ เพียงพูดไม่พอใจก็ถึงกับจะฆ่าแกงกัน แต่ก็ได้เคยแล้วว่า
มหากษัตริย์ทรงฉัตรไชย ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอยฯ นี่ก็เช่นเดียวกัน คิดเสียว่านางไม่พูดความจริงทั้งที่นางก็พูดความจริงก็ไม่ยอมเชื่อแถมจะฆ่าเสียด้วย นางกลัวความตายจึงทูลพระราชาว่า “ขอเดชะ ก่อนที่จะทำอะไรลงไปขอทรงตรัสถามพวกนักปราชญ์ก่อน”
“ก็ได้” แล้วก็หันไปถามเสนกะว่า
“จริงไหม? ท่านอาจารย์”
“ไม่น่าเป็นไปได้ ว่าชายจะละทิ้งหญิงเช่นพระนางเสียได้ กระหม่อมฉันยังสงสัยอยู่”
“นั่นสิ” รับสั่งอย่างเห็นด้วย “ต้องฆ่า” พระนางก็ขอให้ตรัสถามผู้อื่นอีกก่อน พระราชาจึงทรงระลึกได้ว่า ควรถามมโหสถ จึงหันไปถามมโหสถว่า
“พ่อมโหสถ จริงอย่างพระนางว่าหรือเปล่า?”
“ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า กระหม่อมฉันว่าจริงพระเจ้าข้า เพราะกาลกิณีกับสิริไกลกันดุจฟ้ากับดิน หรือเหมือนทะเลฟากนี้กับฟากโน้น”
“เออ จริงสินะ เราเกือบจะผลุนผลันฆ่าฟันนางไปเสียแล้ว” แลัวตรัสกับมโหสถว่า
“เพราะเจ้า เราจึงไม่เสียนางแก้วประจำใจไป” แล้วพระราชทานเงินทองให้กับมโหสถเป็นอันมาก เมื่อมโหสถได้ลาภก็เป็นที่เขม่นของเสนกะบัณฑิตเจ้าเล่ห์มากขึ้น แต่เมื่อยังไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องเงียบไว้ก่อน และนับแต่นั้นมา พระนางได้ขอพรจากพระเจ้าวิเทหราชในการที่จะส่งข้าวของต่าง ๆ ไปให้มโหสถโดยไม่เลือกกาลเวลาและขอพระบรมราชานุญาตตั้งมโหสถไว้ในฐานะน้องของนางซึ่งพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงพระราชทาน ให้ตามคำขอของพระนาง
แพะ กับ สนัข
วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ ณ ที่มุมปราสาท ทอดพระเนตรสิ่งต่าง ๆ ก็ได้แลเห็นสุนัขกับแพะคู่หนึ่งมาอยู่ร่วมกันและเห็นอีกว่าเจ้าสุนัขนั้นไปคาบหญ้ามาให้เจ้าแพะกิน ส่วนเจ้าแพะคาบเอาปลามาให้สุนัขกิน ความเป็นไปของเจ้าสุนัขกับแพะมีอย่างนี้ สุนัขตัวหนึ่งอยู่ในพระราชวังนั้น พวกวิเสทได้ให้อะไรกินอยู่เสมอ จนมันเข้านอกออกในอาศัยอยู่ในโรงครัวนั้นเสมอ วันหนึ่งพวกช่างเครื่องตบแต่งเครื่องแล้วก็ออกไปรับลมข้างนอก
ส่วนเจ้าแพะคาบเอาปลามาให้สุนัขกิน ความเป็นไปของเจ้าสุนัขกับแพะมีอย่างนี้ สุนัขตัวหนึ่งอยู่ในพระราชวังนั้น พวกวิเสทได้ให้อะไรกินอยู่เสมอ จนมันเข้านอกออกในอาศัยอยู่ในโรงครัวนั้นเสมอวันหนึ่งพวกช่างเครื่องตบแต่งเครื่องแล้วก็ออกไปรับลมข้างนอกปล่อยสำรับไว้บนโต้ะ
เจ้าสุนัขตัวนั้นกำลังแทะกระดูกอยู่ ได้กลิ่นของกินอันโอชะก็น้ำลายสออยากกินเป็นกำลัง และเห็นเป็นโอกาสเหมาะเพราะคนครัวออกไปข้างนอกก็เลยทิ้งกระดูกที่แทะทิ้งเสีย สูดกลิ่นเข้าไปหาสำรับ เอาปากดุนฝาเพื่อจะกินอาหารในชามนั้น เสียงชามกับฝากระทบกัน คนครัวซึ่งออกไปยืนรับลมอยู่หน้าครัวเกิดสงสัยก็รีบเข้ามาดู
เจอผู้ร้ายตัวฉกาจเข้าพอดี หน๋อย ให้กินเศษอาหารและกระดูกไม่พอ เอื้อมอาจมากินของเสวย เอ้าเสวยเสีย แล้วเขาก็ฉวยได้ไม้ฟืนแพ่นหลังเจ้าสุนัขตัวนั้นเสียหลังแอ่น วิ่งร้องครวญครางออกไปจากโรงอาหาร ไปแอบอยู่ข้างพระตำหนักหลังหนึ่ง
ส่วนเจ้าแพะเล่าก็อาการเดียวกัน แต่ไม่ได้ขโมยอาหาร แต่ไปขโมยหญ้าช้าง เลยถูกคนเลี้ยงช้างฟาดเอาเสียหลังแอ่นวิ่งมาหลบมุมอยู่ที่เดียวกัน เจ้าสุนัขเข้ามาหลบอยู่ก่อนเห็นเจ้าแพะหลังแอ่นมาก็ถามว่า
“สหายเป็นอะไร ไม่สบายไปรึไง”
“ไม่เป็นอะไรหรอก”
“แล้วทำไมหลังคด ยังงั้นเล่า”
“พวกเลี้ยงช้างน่ะสิ”
“มันทำไมล่ะ”
“มันไม่ทำไมหรอก แต่มันฟาดด้วยกระบองลงที่กลางหลัง แล้วทำไมหลังเราจะตรงอยู่ได้ หักหรือเปล่าไม่รู้?”
“ก็สหายไปทำอะไรเข้าล่ะ”
“เราก็ว่าไม่ได้ทำนะ ก็แค่เราไปกินหญ้าของช้างนิดหน่อยเท่านั้นเอง” เจ้าสุนัขหัวเราะชอบใจ
“เออ จะบอกตรง ๆ ว่าไปลักหญ้าช้างมากินเลยถูกคนเลี้ยงมันฟาดด้วยตะบอง มันก็หมดเรื่อง”
“เจ็บ.. อุ้ย.. เจ็บจริง ๆ” เจ้าแพะบ่น
“ไม่แต่เจ็บเท่านั้น ต่อไปก็อดหญ้าอีกด้วย”
“ทำไมล่ะ?”
“เพราะว่าเราเข้าโรงช้างไม่ได้อีกแล้ว ถ้าไปทีนี้คนเลี้ยงช้างบอกว่าจะตีให้ตายเลย” แล้วมันก็ถามเจ้าสุนัขบ้างว่า
“แล้วสหายล่ะ ทำไมมาแอบอยู่ข้างตำหนักนี้เล่า”
“มันก็เรื่องเหมือน ๆ กันนั้นเหละสหาย”
“เรื่องมันเป็นอย่างไรลองเล่าให้ฟังบ้างสิ”
“ได้สิ คือเรื่องมันมีอยู่ว่า เดิมเราก็พักอาศัยหลับนอนกินอยู่ในโรงครัว อาหารการกินก็แสนบริบูรณ์ กระดูกเป็ดไก่หมูเอยฯอะไรก็มีทั้งนั้น แต่เรากับไปชอบอ้ายที่อยู่ในชามที่เขาใส่สำรับไว้เพื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวย ฮ่ะ ๆ สหายเป็นไงรสนิยมเราสูงส่งเทียวล่ะ
พอเข้าเผลอเราก็รี่ไปเปิดสำรับนึกว่าจะได้สักคำ ที่ไหนได้ สหายเอ๋ย ยังกับฟ้าผ่ากลางวันแสก ๆ ทีเดียว อะไรเสียอีกล่ะ ไม่อยากพูด แต่เมื่อสหายอยากฟังก็ะบอกไห้ ดุ้นฟืนอันเบ้อเร่อฟาดเราลงมาที่กลางหลัง โอย.. หลังแถบหัก มันแรงจริง ๆ เห็นเดือนเห็นดาวกลางวันเลยล่ะ เราว่าจะไม่ร้องแต่ร้องปากน่ะสอมันร้องออกไปเอง เจ็บใจจริง ๆ เสียเกียรติหมาอย่างเราจัง และมันไม่หยุดเท่านั้น แถมฟาดอย่างไม่เลือกที่เสียด้วย เราเลยต้องแผ่นแน่บออกจากโรงครัวแล้วมาแอบอยู่ข้างตำหนักนี่แหละ โรงครัวน่ะเราไม่มีหวังได้เข้าไปอีกแล้ว ขืนเข้าไปคนครัวมันบอกว่าจะตีให้ตาย สหายเอ๋ย เราเห็นจะต้องอดตายเสียเป็นแน่” เจ้าสุนัขเล่าเรื่องให้แพะฟัง พร้อมกับพูดอย่างท้อแท้ในตอนท้าย
“สหายก็ต้องอด เราก็ต้องอด เรามันหัวอกเดียวกัน”
“ทำอย่างไรดีเราจึงจะไม่อดตาย” ในที่สุดเจ้าแพะก็คิดขึ้นได้ จึงบอกเจ้าสุนัขว่า
“สหาย เราเห็นช่องทางที่จะไม่อดตายแล้ว”
“ทำอย่างไรล่ะ? เจ้าสุนัขถาม
“คืออย่างนี้” เจ้าแพะเริ่ม “สหายไม่กินหญ้า หากไปที่โรงช้างคนเลี้ยงช้างก็คงไม่สงสัยและคงจะไม่ขับไล่สหายออกมาใช้ไหม พอคนเลี่ยงช้างเผลอ สหายก็คาบหญ้าออกมาเผื่อเรา เราเองก็ไม่กินเนื้อ เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงครัวก็ไม่มีใครสงสัยและรังเกียจ เมื่อเห็นคนครัวเผลอเราก็คาบอาหารมาฝากสหาย เราต่างอาศัยซึ่งกันและกันเช่นนี้เราก็จะไม่อดตาย สหายว่าอย่างไรล่ะ”
“ความคิดของสหายวิเศษจริง อาหารเราก็มีกิน และไม่ต้องถูกตีอีกด้วย”
แพระกับสนัข (ต่อ)
และนับแต่นั้นมาสหายทั้งสองก็ดำเนินอย่างคิด แพะไปโรงครัว ขาหลับก็คาบปลาบ้าง เนื้อบ้างมาให้สุนัข ส่วนเจ้าสุนัขเล่าก็ไปโรงช้าง ขากลับก็คาบหญ้ามาฝากเจ้าแพะ
เรื่องเป็นมาอย่างนี้ พระเจ้าเทหราชทรงเห็นอากัปกิริยาและความเป็นไปของสัตว์ทั้งสองนั้น ก็ทรงดำริว่า
“เจ้าหมาและเจ้าแพะปกติมันเป็นศัตรูกัน แต่นี้มันกลับมาเป็นสหายช่วยเหลือกันและกันได้ เราจะต้องผูกปัญหาถามบัณฑิตดู ใครตอบได้จะเพิ่มสินจ้างรางวัลให้ ใครไม่รู้ก็ไม่ควรเลี้ยงไว้”
รุ่งขึ้นเสด็จออกและพวกขุนนางมากันพร้อมแล้ว พระองค์จึงทรงปัญหาว่า
“สัตว์ที่เป็นศัตรูกัน ไม่เคยคิดร่วมเดินทางกันเลย มาร่วมเดินทางกันได้เพราะอะไร?” พร้อมกับสำทับว่า
“วันนี้ถ้าใครตอบไม่ได้จะขับเสียจากแว่นแคว้น เราไม่ต้องการคนเขลาไว้ในบ้านเมือง”
พวกปราชญ์พากันคิดก็คิดไม่ออก ได้แต่แลดูตากันอยู่ มโหสถคิดว่า “พระราชาคงทรงเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นแน่ จึงมาตั้งปัญหาเช่นนี้ ถ้าท่านเสนกะจักให้พระเจ้าวิเทหราชผ่อนเวลาไปอีกสักวันหนึ่ง ก็คงจะได้ความบ้าง” จึงได้แลดูตาเสนกะ ๆ ก็ทราบในทันที จึงทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า “ขอเดชะ ถ้าตอบไม่ได้พระองค์จักขับพวกข้าพระองค์จากแว่นแคว้นจริง ๆ หรือ” “จริง ๆ เราขับแน่” “พระตั้งปัญหามีแง่เงื่อนที่จะต้องคิด เพราะฉะนั้นข้าพระองค์ขอผลัดเวลาเป็นพรุ่งนี้ แล้วข้าพระองค์จักแก้ให้ทรงสดับ”
“ทำไมจะแก้เดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ?”
“ตามธรรมดาคนฉลาดจำเป็นต้องอาศัยความสงบสงัดช่วยตรึกตรอง หากพระองค์ทรงผัดผ่อนไปได้พรุ่งนี้แน่พระเจ้าค่ะ ที่ข้าพระองค์จะถวายคำเฉลยปัญหานี้ได้” พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงผัดผ่อนตามคำขอของเสนกะ
เมื่อออกจากเฝ้าแล้ว แทนที่มโหสถจะกลับบ้านไปนอนคิดปัญหา ก็เลยเข้าไปเฝ้าพระนางอุทุมพรแล้วทูลถามว่า
“ขอเดชะ เมื่อวานหรือวันนี้ พระราชาเสด็จประทับที่ใดนานมาก” พระนางอุทุมพรทรงนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง จึงตรัสตอบ
“เมื่อวานนี้พระเจ้าพี่ประทับอยู่หน้ามุขเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว และได้ยินทรงพระสรวลเบา ๆ เสียด้วย”
มโหสถจึงได้ไปที่หน้ามุข ดูไปทางโน้นทางนี้ก็พอดีพบเจ้าแพะกับสุนัขกำลังกินอาหารของตนอยู่บนที่เดียวกัน พอเห็นก็ทำให้ตีปัญหาออกทีเดียว จึงได้ทูลลาพระนางอุทุมพรกลับบ้าน
ส่วนบัณฑิตทั้ง ๔ นั้นคิดอะไรไม่ออกเลย เสนกะไปถามทั้ง ๓ ท่านต่างก็บอกว่าคิดอะไรไม่ออก ไมรู้ว่าจะแก้ปริศนาของพระราชาได้อย่างไร เสนกะจึงกล่าวชวน
“งั้นไปดูลาดเลามโหสถดูทีหรือ เขาเป็นคนฉลาดอาจจะคิดได้”
แล้วก็พากันไปบ้านมโหสถ เมื่อมโหสถได้เห็นก็รู้ว่านักปราชญ์ทั้ง ๔ มาเพราะปริศนานั้น แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ แสดงอาการดีอกดีใจต้อนรับนักปราชญ์ทั้ง 4 อย่างดี และไม่ถามอะไรทั้งหมด เสนกะเมื่อเห็นว่ามโหสถไม่ถามก็อดไม่ได้ เลยถามออกมาตรง ๆ ว่า
“มโหสถ ที่พวกเรามาหาท่านก็เพราะปริศนาของพระเจ้าอยู่หัวนั้นแหละ พวกเราคิดกันแล้วแต่ไม่อาจจะตีความหมายของปัญหานั้นได้ ท่านล่ะพอจะคิดได้บ้างไหม?”
มโหสถยิ้มพลางพูดเรื่อย ๆ
“ท่านอาจารรย์ ปัญหาชนิดนี้เป็นเรื่องง่ายเสียเหลือเกินข้าพเจ้าคิดว่าท่านอาจารย์คิดได้แล้วเสียอีก ข้าพเจ้าน่ะคิดเห็นได้ตั้งแต่ออกจากเฝ้าออกจากที่เฝ้ามาแล้ว”
“เมื่อท่านทราบ ก็ควรจะบอกให้พวกเราได้ทราบไว้บ้าง” มโหสถคิดว่า “ถ้าเราไม่บอก พวกนี้ก็จะต้องถูกขับจากแว่นแคว้น เสื่อมจากลาภยศ เราเองแม้จะเจริญด้วยชื่อเสียงลาภยศก็ปรากฎไปได้ไม่กี่วันเชียว อีกอย่างนักปราชญ์เหล่านี้ไม่มี คุณค่าปัญญาของเราก็คงไม่ปรากฎ เพราะฉะนั้นนคนเหล่านี้ยังไม่ควรที่จะต้องถูกขับไล่ ควรอยู่ร่วมรับราชการด้วยกันไปก่อน”
จึงพูดตอบว่า
“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่รังเกียจเลยในการที่จะบอกแต่ข้าพเจ้าจะบอกทีละคนเท่านั้น”
“ก็ได้ แล้วแต่ท่านเถิด” มโหสถจึงให้นักปราชญ์เหล่านั้นเรียนคาถากันคนละบทแล้วจึงกลับไป
รุ่งขึ้นในการเข้าเฝ้า พอพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกทรงตรัสถามเสนกะทีเดียว
“ว่าอย่างไรท่านอาจารย์ ปัญหานั้นไปนั่งคิดนอนคิดมาดีแล้วหรือยัง”
“ขอเดชะ คิดได้แล้วพระเจ้าค่ะ” และยังแถมท้ายต่อไปอีกว่า
“คนอย่างเสนกะคิดไม่ได้แล้ว อย่ามีคนอื่นคิดได้เลยพระเจ้าค่ะ” พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลอย่างชอบพระทัย
“เอ้า ท่านอาจารย์ลองแก้มาฟังดู” เสนะกะก็เลยกล่าวคาถาที่มโหสถบอกให้ ทั้ง ๆ ที่ตนไม่รู้อะไรกันแน่ว่า
“เนื้อแพะเป็นที่ชอบใจของพลเมือง แต่เนื้อสุนัขหามีคนประสงค์ไม่ ครั้งนี้แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกันได้” เพียงเท่านี้พระเจ้าวิเทหราชก็ดำริว่า
“เออ ท่านอาจารย์เสนกะก็รู้” แล้วตรัสถามปุกกุสะต่อไปเขาก็ทูลตอบอย่างที่ตนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า
“ธรรมดาโลกเขาจะขี่ม้า ใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาด แต่ไม่มีใครใช้หนังสุนัขปูลาดเลย ครั้งนี้สุนัขกับแพะก็เป็นสหายกันได้” พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงดำริเช่นนั้นอีก แล้วตรัสถามกามินทร์ต่อไป ท่านกามินทร์ก็ท่องคาถาอย่างนกแก้วนกขนทองออกมาว่า
“แพะมีเขาโค้งงอ แต่หมาไม่มีเขา ทั้งหมาและแพะจึงเป็นสหายกันได้” จึงตรัสถามเทวินทร์ต่อไป เทวินทร์ก็ร่ายโศลกอย่างอาจารย์ทั้ง ๓ ท่านร่ายมาว่า
“แพะกินหญ้า กินใบไม้ สุนัขไม่กินหญ้า และไม่กินใบไม้ แต่จับกระต่ายหรือแมวกิน ประหลาดแพะกับสุนัขก็เป็นเพื่อนกันได้” เอ้ะ? ท่านนักปราชญ์ทั้ง ๔ นี่สำมะคัญ” ทรงนึกในพระทัยลองถามมโหสถดูทีจะได้หรือมิได้ประการใด
“ยังไงพ่อมโหสถ พ่อจะแก้ปัญหาว่าอย่างไร”
“ขอเดชะ ปริศนานี้ข้าพระองค์แก้ดังนี้ แพะมี ๔ เท้า และสุนัขก็มี ๔ เท้า ทั้งสองแม้จะมีอาหารต่างกัน คือแพะกินหญ้า สุนัขกินปลาและเนื้อ แต่สัตว์ทั้งสองต่างนำอาหารก็นำอาหารมาฝากกันและกัน เพราะฉะนั้นมิตรธรรมจึงบังเกิดแก่สัตว์ทั้งสอง” ทรงพระสรวลลั้น
เออ เก่ง ๆ ยังงั้นสิ นักปราชญ์ในราชสำนักวิเทหราชมันต้องอย่างงี้สิ เอ้า เจ้าพนักงานเบิกเงินมารางวัลให้ท่านนักปราชญ์ทั้ง ๕ สักคนละ ๑๐ ชั่ง” ก็เป็นอันว่าทุกคนรอดพ้นจากการต้องถูกขับออกจากพระราชนิเวช และยังแถมได้เงินรางวัลเสียอีกด้วย
ธรรมดางูพิษ แม้ใครจะทำคุณสักเพียงไรก็ไม่รู้จักคุณอยู่เพียงนี้ นักปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านคือเสนกะ ปุกกุสะ กามินทร์ และเทวินทร์ ก็เช่นเดียวกับงูพิษ แล้วเจ้ามโหสถจะช่วยให้รอดพ้นเช่นนี้ก็ยังหาคิดถึงคุณไม่ กลับหมายมั่นปั้นมือจะเล่นงานเจ้ามโหสถให้ได้
นี่แหละที่โบราณเขาว่า ความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอดอยากให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นแหละเป็นความพอใจของท่านเหล่านั้น
“ไม่มีก็แล้วกัน ถ้ามีโอกาสเมื่อไรมึงหัวหลุด” เจ้ามโหสถไม่ได้เฉลียวใจถึงเหตุร้ายเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นจึงตกเป็นเครื่องเหยื่อของนักปราชญ์อธรรมเหล่านั้น ซึ่งก็ขอยืมมือคนอื่นเล่นงานเจ้ามโหสถแทบตายไปเลยทีเดียว ดูกันต่อไป
เมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จเข้าข้างใน ได้ตรัสเรื่องนี้ให้พระนางอุทุมพรทราบ พระนางจึงทูลถามว่า
“ใครแก้ปัญหาของพระองค์ ?”
“นักปราชญ์ทั้ง ๕ แก้”
“นักปราชญ์ทั้ง ๔ คนไม่รู้อะไรเลย มาถามเจ้ามโหสถจึงทราบความเอาไปกราบทูลพระองค์ได้”
“เราก็พลั้งให้ของรางวัลไปแล้ว”
“ไม่เป็นธรรมพระเจ้าพี่”
“งั้นจะทำอย่างไร ?”
“งั้นก็พระราชทานเพิ่มเติม ให้เจ้ามโหสถมากกว่านักปราชญ์เหล่านั้น”
พระเจ้าวิเทหราชก็คิดพระราชทานเพิ่มเติม เเต่จะให้เฉย ๆ ก็น่าเกลียด จึงตั้งปัญหาให้นักปราชญ์ทั้ง ๕ ตอบเพราะทราบดีแล้วว่าใครเป็นผู้มีปัญญากว่าใคร ปัญหานั้นมีอยู่ว่า
คนมีปัญญาแต่ไร้ทรัพย์ดี หรือคนมีบริโภคทรัพย์แต่ไร้ปัญญาดีกว่า ทรงตรัสถามตั้งแต่เสนกะเป็นลำดับไป
เสนกะทูลตอบว่า “ขอเดชะ คนมีปัญญาแม้จะล้นฟ้าแต่หาอาจสู้คนมีทรัพย์ไม่ได้ เพราะไม่ต้องดูอื่นไกลเศรษฐีจะมีปัญญาสู้ที่ปรึกษาไม่ได้ แต่คนมีปัญญาจะต้องเข้าไปรับใช้เป็นคู่ปรึกษา ฉะนั้นจึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา”
แต่เมื่อเสนกะทูลตอบแล้ว ถามข้ามลำดับไปถึงมโหสถเลยว่า
“พ่อมโหสถเล่า พ่อเห็นว่าอย่างไร ทรัพย์ดีหรือปัญญาดี” มโหสถทูลตอบว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์เห็นว่าทรัพย์สู้ปัญญาไม่ได้ เพราะคนไร้ปัญญาปรารถนาทรัพย์ก็อาจทำความชั่วต่าง ๆ ฉะนั้นจึงเห็นว่าปัญญาดีกว่าทรัพย์”
เสนกะหัวเราะเยาะเย้ย พลางทูลบ้างว่า
“มโหสถไม่รู้อะไร เพราะยังเด็กเกินไปจะพูดง่าย ๆ ว่าปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เธอเห็นโควินทเศรษฐีไหม เศรษฐีคนนี้รวยแต่ทรัพย์อย่างเดียว แถมเวลาจะพูดน้ำลายยังไหลออกมาจากมุมปาก ต้องเอาดอกบัวเขียวมารองรับน้ำลายแล้วโยนทิ้งไป พวกนักเลงพากันเก็บมาล้างน้ำ แล้วเอาประดับตัวและแถมมีคนรับใช้ใกล้ชิดมากมายนั้น จึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญาแน่นอน เพราะคนมีปัญญายังต้องเข้าไปเป็นข้าช่วงใช้ของเศรษฐีนั้น”
พระเจ้าวิเทหราชเมื่อได้ทรงสดับก็คิดสนุก จึงตรัสกับมโหสถว่า
“ว่าไงพ่อมโหสถ อาจารย์เสนกะอ้างเหตุผลอย่างนี้ พ่อจะคัดค้านอย่างไร”
ข้าแต่สมมุติเทพ ท่านอาจารย์เสนกะจะรู้อะไร เห็นแก่ยศอย่างเดียว ไม่รู้ค้อนบนหัวจะลงเมื่อไหร่ เสมือนกาอยู่ที่เขาจะเมตตาเทเศษอาหารให้ เพ่งเฉพาะแต่จะกินเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นเสมือนหมาจิ้งจอกที่คิดจะดื่มนมท่าเดียว ธรรมดาคนมีปัญญาน้อย ได้รับความสุขเข้าแล้วก็มักจะประมาทพบทุกข์บ้างพบสุขบ้างก็หวั่นไหวไปตามนั้น เหมือนปลาที่เขาโยนขึ้นบนบกย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนไป ข้าพระองค์ขอยืนยันว่าปัญญานั้นแหละดีกว่าคนเขลาที่มีแต่ยศ”
“ว่าไงท่านอาจารย์จะแก้ตัวอย่างไร”
“ขอเดชะ เจ้ามโหสถเด็กเมื่อวานซืนจะรู้อะไร ลองคิดดูนกในป่าตั้งร้อยตั้งพัน ยังต้องมาที่ต้นไม้ที่อุดมไปด้วยผล นี้ก็เช่นเดียวกัน คนมีทรัพย์ใคร ๆ ก็พินอบพิเทาด้วยทรัพย์ของเขา จึงเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา”
“ขอเดชะ หน้าท่านอาจารย์ดูจะมีสีโลหิตแจ่มใสดีเหลือเกิน เพราะอะไร ท่านอาจารย์ก็ต้องคิดเรื่องเงินก่อน” “คนสมบูรณ์พูนสุขมันต้องเป็นอย่างนั้น มโหสถลองคิดดู แม่น้ำทั้งหลายไหลไปที่ใด ทั้งหมดก็ย่อมจะไหลลงไปสู่มหาสมุทร เหมือนคนมีปัญญาไปถึงคนมีทรัพย์ก็ต้องหมอบราบคาบแก้วให้คนมีทรัพย์”
“ท่านอาจารย์อย่าเพิ่งตีขลุมเอาง่าย ๆ แม่น้ำไหลไปสู่มหาสมุทร แต่ขอถามสักหน่อยเถิดว่ามหาสมุทรแม้จะมีคลื่นสักเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่สามารถจะชนะฝั่งไปได้ คนมีปัญญาเช่นเดียวกับฝั่งนั้นเพราะเที่ยงธรรมยั่งยืน เสมอต้นเสมอปลายอยู่เช่นนั้นพราะเช่นนั้นคนมีทรัพย์จึงดีกว่าปัญญาเป็นไปไม่ได้”
“ท่านอาจารย์จะแก้อย่างไร ?”
“ขอเดชะ มโหสถเด็กรุ่นคะนองก็เห็นต่าง ๆ ตามอารมณ์ของคนหนุ่ม โดยไม่ใคร่ครวญให้ถ่องแท้แน่นอน ทิ้งคำโบราณที่ว่าเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดเสียสิ้น จึงเห็นว่ามโหสถจะเป็นคนดีต่อไปไม่ได้ เรื่องทรัพย์กับปัญญานี้ข้าพองค์จะเปรียบให้ฟัง ข้าพระองค์นักปราชญ์ทั้ง ๕ รวมทั้งมโหสถจัดว่าเป็นนักปราชญ์เป็นคนมากปัญญา แต่ยังต้องอาศัยพระองค์เลี้ยงชีพอยู่ ต้องมาเป็นข้าราชบริพารของพระองค์จึงเห็นได้ชัดว่าทรัพย์นั้นย่อมดีกว่าปัญญาอย่างแน่แท้พระเจ้าค่ะ ทีนี้มโหสถแก้ได้ข้าพระองค์ยอมแพ้”
“ท่านอาจารย์ ไม่มีทางจะเอาชนะข้าพเจ้าได้หรอก เพราะถึงอย่างไรผู้มีปัญญาก็ต้องดีกว่าผู้มีทรัพย์ เพราะผู้มีปัญญาไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนและคนอื่น คนเขลาเท่านั้นชอบสร้างความชั่วเพื่อตนเองและผู้อื่น ไม่ต้องดูอื่นไกล การปฎิบัติราชกิจหากไม่มีปัญญาก็ปฎิบัติงานผิด ๆ พลาด ๆ และยังแถมโลภทรัพย์ ก็อาจฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ทุกประการ นี่แหละจึงเห็นว่าผู้มีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์แต่เป็นคนเขลา”
“พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสรวลด้วยความชอบพระทัย นักปราชญ์ทั้ง ๔ ต่างเงียบไปตาม ๆกัน จึงพระราชทานทรัพย์ให้มโหสถเป็นอันมาก ลาภไหลมาเทมาที่มโหสถยังกับน้ำไหลจากกระบอก นักปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านก็เหมือนถ่านไฟจะดับมิดับแหล่
มงคลสมรส
เมื่อมโหสถมีอายุได้ ๑๖ สมควรจะมีภรรยาได้แล้ว พระนางจึงทูลพระเจ้าวิเทหราช ๆ ก็ดำริจะจัดการมงคลสมรสให้มโหสถ แต่มโหสถขอตัวไปเลือกผู้ที่ถูกใจก่อนสัก ๒-๓ วันก่อน ถ้าหาได้จะมากลาบทูลให้ทรงทราบ ถ้าไม่ได้ก็จะกลับมาสมรสกับผู้ที่พระเจ้าวิเทหราชทรงเลือกให้ พระเจ้าวิเทหราชก็ยินยอม มโหสถจึงเดินทางออกไปนอกเมืองเพื่อเสวงหาสตรีที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะกัลยาณี
แต่ว่าที่มโหสถไปนั้นไปอย่างปลอมแปลงเป็นนายช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า หาได้ไปอย่างมโหสถไม่ เขาเดินทางออกไปทางด้านอุดรของพระนคร ก็ไปถึงหมู่บ้านอุตตรวยมัชฌคาม
ในบ้านนั้นมีตระกูลเก่าตระกูลหนึ่ง แต่บัดนี้ตกยาก ยังคงเหลือแต่สามี ภรรยากับบุตรสาวอีกคนหนึ่งเท่านั้น บุตรของท่านทั้งสองสมบูรณ์สวยลักษณะของหญิงที่ดี มีผู้ประสงค์จะได้ไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนมากด้วยกัน แต่นางก็หาไยดีกับใครไม่นางมีชื่อว่า อมร บิดาของนางต้องออกไปไถนาแต่เช้าทุกวัน นายช่างซ่อมเสื้อผ้ามโหสถ เดินทางนั้นผ่านมาก็พอดีพบกับนางซึ่งจะไปส่งข้าวบิดาซึ่งกำลังไถนาอยู่ มโหสถเห็นดำริว่า หญิงผู้นี้สวยงามจริงจังทั้งกิริยา ทั้งมารยาทก็สมเป็นกุลสตรีโดยแท้ พอเห็นก็เกิดความรัก นางอมรก็เช่นกัน พอเดินสวนกันเท่านั้นนางก็เกิดพอใจเสียแล้ว มโหสถคิดจะลองปัญญาของนางดู ว่านางจะรู้หรือไม่ จึงยืนอยู่ แล้วยื่นมือออกไปกำมือ นางอมรทราบความหมายออกทันทีว่าบุรุษนี้ถามเราว่า มีสามีหรือยัง นางก็หยุดยืนพร้อมกับแบมือซึ่งเป็นเครื่องหมายบอกว่ายังไม่มี มโหสถเมื่อทราบความแล้ว จึงเดินไปใกล้นางพลางถามว่า
“ขอโทษเถิดนาง นางมีชื่อว่าอะไร” นางอมรตอบว่า
“สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่มีในอดีต ปัจจุปัน และอนาคต นั้นแหละเป็นเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า” ดูเอาเถอะ คนมีปัญญาเขาเล่นสำนวนกันน่าดูเหมือนกัน พอพูดเท่านั้น มโหสถก็ทายได้ว่านางชื่อ “อมร” เพราะอมรแปลว่าไม่ตาย คำว่าไม่ตายไม่เคยมีใครมี ไม่ว่าเป็นกาลที่ล่วงมาแล้ว หรือกำลังเป็นอยู่ หรือในเบื้องหน้า จึงพูดกับนาง
“ชื่ออมรหรือ”
“นั่นแหละเป็นชื่อของข้าพเจ้า”
“แล้วนางจะเอาข้าวไปให้ใคร?”
“ให้บุพเทพ”
“ถ้าจะเอาไปให้บิดา”
“ถูกต้อง”
“ท่านทำอะไรอยู่ล่ะ?”
“ทำสิ่ง ๑ โดยส่วนสอง”
“คงไถนาล่ะสิ”
“ถูกต้อง”
“อยู่ที่ไหนล่ะ?”
“อยู่ที่คนไปแล้วไม่กลับ”
“อ๋อ ก็คงข้าง ๆ ป่าช้านั้นเอง”
“นางไปแล้วจะกลับหรือไม่กลับวันนี้”
“ถ้าข้าพเจ้าจะไม่กลับ ถ้าไม่มาข้าพเจ้ากลับ” มโหสถรู้ได้แน่นอนว่า บิดาของนางไถนาอยู่ใกล้ ๆ ป่าช้าแถบริมน้ำ เพราะถ้าน้ำขึ้นนางจะข้ามกลับมาไม่ได้จึงบอกได้ว่า ถ้าจะไม่กลับ ถ้าน้ำไม่ขึ้นนางก็จะข้ามกลับจึงบอกความนั้นแก่นาง นางก็รับว่าถูกต้อง นางอมรจึงเชื้อเชิญให้มโหสถบริโภคอาหาร มโหสถก็บริโภคตามคำเชิญ ซึ่งนางก็แบ่งอาหารให้มโหสถทานส่วนหนึ่ง
ปริศนาซึ่งไม่เหลือวิสัยของมโหสถแล้วนางก็รีบเอาอาหารไปส่งบิดา มโหสถก็เดินไปตามที่นางอมรบอก จนกระทั่งถึงบ้านซึ่งมีแต่มารดาของนางอยู่คนเดียว นางเชื้อเชิญมโหสถให้ปริโภคอาหาร แต่มโหสถกลับบอกว่า
“นางอมรให้ข้าพเจ้าทานแล้ว” นางก็รู้ทันทีว่าชายผู้นี้พอใจธิดาของนางจึงมาถึงบ้าน มโหสถรู้ว่าตระกูลนี้ยากจน จึงบอกว่า
“คุณแม่ ผมเป็นช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า ใครมีเสื้อผ้าที่จะซ่อมแซมบ้าง ผมคิดราคาย่อมเยาจริง ๆ”
“เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ น่ะมี แต่เงินที่จะจ้างไม่มี”
“เอามาเถอะคุณแม่ ผมจะทำเอง” มารดาของนางไปขนเสื้อผ้าขาด ๆ มาให้มโหสถซ่อมแซมพักเดียวเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อย พวกชาวบ้านรู้ก็พากันนำเสื้อผ้ามาซ่อมแซมบ้าง พักเดียวมโหสถก็ทำเสร็จ ได้ค่าจ้าง ๔.๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากโขอยู่
ตกตอนเย็นนางอมรก็แบกฟืนกลับมาบ้าน บิดาของนางกลับเย็นกว่านางอีก ในฐานะเป็นแขก มโหสถได้บริโภคอาหารก่อนคนอื่นแล้วบิดามารดาของนางจึงกินภายหลัง มโหสถพักอยู่ที่นั้น ๒-๓ วัน พยายามพินิจพิจารณาดูนางอมรว่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งเห็นความดีของนางอมรจึงคิดจะทดลองว่านางจะฉลาดเฉลียวอย่างไรบ้าง
“แม่อมร วันนี้เอาข้าวสารกึ่งทะนานหุงเป็นข้าวสวยต้มข้าวต้ม และทำขนมด้วยนะ” นางรับคำ แล้วเอาข้าวครึ่งขนานไปตำที่เป็นตัวดีต้มข้าวต้ม และเอาที่หักนิดหน่อยหุงเป็นข้าวสวย และปลายทำขนม เวลากิน แม้จะอร่อยมโหสถก็แกล้งเป็นว่าไม่อร่อย
“แย่จริง แม่อมรหุงข้างก็ไม่ได้ความ ยิ่งข้าวต้มก็เละเทะไปหมด ขนมก็ไม่น่ากิน เข้ามานี้สิ” นางก็เดินเข้ามา รู้ไหมว่ามโหสถทำอย่างไร เขาข้าวสวยและข้าวต้ม และขนม ผสมกันขยำ ๆ ดีแล้วเอามาทาตัวนางอมรตั้งแต่เท้าถึงศรีษะ “ ไปออกไปทีเดียว ”
โดยไม่ต่อล้อต่อเถียง นางอมรก็ออกไปโดยมิได้แสดงอาการโกรธเคือง เห็นว่านางไม่โกรธ มโหสถก็ยิ่งพอใจ จึงเรียกนางเข้ามา
“แม่อมร” พอเรียกนางก็เข้ามา เขาเอาผ้าเนื้อดีให้ ๑ ผืน
“เอ้า เอาไปอาบน้ำอาบท่าผลัดเปลี่ยนเสีย แล้วจึงเข้ามา” พร้อมกับเอาเงินให้บิดามารดาของนางอมรรวมได้ถึง ๘.๐๐๐ บาท แล้วกล่าวว่า
“คุณพ่อคุณแม่ครับ ผมขอรับอมรไปอยู่ด้วยกันล่ะ ขอคุณพ่อคุณแม่จงเป็นสุขเถิด” บิดามารดาของอมรก็ยินยอม พร้อมกับให้ศีลให้พรเป็นอันมาก
เมื่อทั้งสองออกเดินทางจากบ้านมาแล้ว มโหสถก็ให้ร่มและรองเท้าแก่นางอมร แต่แล้วมโหสถก็คิดสงสัย เพราะในขณะแดดร้อนจัดนางอมรหุบร่มเสียเดินตากแดดไป พอถึงใต่ร่มสิ นางกลับกางร่มและรองเท้าก็เหมือนกัน ในที่ดอนนางอมรก็ถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่าไป ยามจะลุยน้ำนางจึงสวมรองเท้า เห็นอาการออกจะไม่เข้าที อดไม่ได้เลยต้องถาม นางตอบว่าอย่างไรรู้ไหม? นางตอบว่า
“ที่ข้าพเจ้ากางร่มภายไต้ต้นไม้ เพราะไม่ทราบว่าไม้แห้งไม้ผุอะไรจะหักตกลงมาประทุษร้ายร่างกายบ้าง และในขณะเดินบนดอนข้าพเจ้าไม่สวมรองเท้า เพราะเห็นว่าที่แจ้งอาจเห็นหนามได้ แต่ในน้ำที่ต้องสวมเพราะอาจมีภัยอันตรายต่าง ๆ ได้”
เมื่อไปถึงบ้าน มโหสถก็ยังไม่แสดงตนให้นางทราบว่าตนคือ มโหสถ จึงพานางไปฝากไว้ที่ประตู แล้วกระซิบบอกผู้เฝ้าประตูให้ดูไว้ แล้วตนก็เข้าไปภายในบ้าน พร้อมส่งคนในบ้านออกมาเกี้ยวพาราสีนาง แต่นางก็ไม่ยินดี จนสุดท้ายให้คนไปฉุดนางมาจากประตู นางมาเห็นมโหสถ ซึ่งแต่งตัวอย่างผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มิได้กำหนดให้แน่นอนก็จำไม่ได้ พอนางแลเห็นก็หัวเราะแล้วร้องไห้
“มโหสถจึงให้คนไปถามนางว่าเหตุใรนางจึงหัวเราะแล้วร้องไห้ นางก็บอกว่า
“ที่นางหัวเราะเพราะดีใจที่เห็นสมบัติของท่านมากมาย ท่านคงได้สั่งสมไว้แต่ชาติปางก่อนมามาก มาชาตินี้จึงได้ร่ำรวยนักหนา แต่ที่ข้าพเจ้าร้องไห้ก็เพราะเห็นว่าตายไปท่านจะตกนรก ก็เลยพลอยเสียใจด้วย” มโหสถทำเป็นโกรธนาง
“ปากดีนัก ชะ นางนี่ ชนิดนี้ต้องส่งโรงสีทำงานหนักเสียจึงจะสมควร” แล้วสั่งให้คนใช้พานางกลับไปที่เดิม พอตกตอนเย็นก็ปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้าไปแรมคืนอยู่กับนางอีก
รุ่งขึ้นก็ได้กราบทูลให้พระนางอุทุมพรทราบว่าตนได้นางที่ตนพอใจแล้ว พระนางก็กราบทูลให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ พระองค์ได้สั่งจัดการแต่งงานคนทั้งสองอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าภาพทุกประการ และนับแต่นั้นมาเจ้ามโหสถก็อยู่ร่วมกับภรรยาเป็นสุขสำราญ
ยังไม่จบเรื่องของเจ้ามโหสถ ยังมีต่ออีก…นักปราชญ์เฒ่าหัวงูทั้ง ๔ อันมีเสนกะเป็นหัวหน้าเห็นมโหสถได้รับความเอ็นดูจากพระเจ้าแผ่นดินเกินหน้าพวกตนก็เกิดความไม่ชอบใจ และเห็นว่ามโหสถยังอยู่ตราบใดพวกตนก็คงยังด้อยความนิยมนับถืออยู่ตราบนั้น และอีกประการหนึ่งมันมีเมียสวยและฉลาดเสียด้วย ถ้าคนได้กับพวกเราคนใดคนหนึ่งก็จะดีจึงนัดประชุมปรึกษาหารือกันวางแผนทำลายมโหสถพร้อมกับจะได้นางอมรไว้ในครอบครองอีกด้วย
“พวกท่านทั้งสามมีความเห็นอย่างไรในการจะทำลายอ้ายเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมคนนี้”
“ยังงี้มันต้องความคิดของอาจารย์ พวกกระผมไปไม่ตลอดหรอกครับ”
“เรามีความคิดอย่างหนึ่ง แต่ว่าพวกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่”
“ลองบอกก่อนสิครับ ถ้าเป็นเรื่องไม่รุนแรงนัก พวกผมเป็นตกลงเลย”
“คือว่าเราทั้ง ๔ ต้องลักพระราชสมบัติแล้วเอาไปไว้ที่บ้านเจ้ามโหสถ แล้วกล่าวหาว่ามันเป็นขโมยพระราชทรัพย์ เท่านั้นมันจะต้องตาย หรืออย่างน้อยก็ถูกเนรเทศ แล้วเมียมันจะไปไหนเสีย ก็ต้องมาเป็นเมียเรา เอ้ย…ไม่ใช่ คือว่าเป็นเมียของพวกเราไม่คนใดก็คนหนึ่ง ยังงี้ดีไหม?”
“ดีจริงครับ อาจารย์”
“ถ้าเช่นนั้นเรามาวางแผนกันเลย เราเองจะลักปิ่นปักผมของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านปุกกุสะลักดอกไม้ทอง ท่านกามินทร์จงเอาผ้าคลุมบรรทมมา ส่วนท่านเทวินทร์จงเอาฉลองพระบาททองมา แล้วให้คนนำไปขายที่บ้านมัน แล้วทีหลังเราก็เอาคนไปค้นจับมันเลย”
ทุกคนลงความเห็นชอบด้วยกัน และเริ่มดำเนินตามแผนโจรกรรมที่วางไว้ เมื่อได้มาแล้วเสนกะก็วางอุบายต่อไปคือให้หญิงคนใช้ของตนคนหนึ่ง เอาเปรียงใส่หม้อไปขายให้คนในบ้านมโหสถ ถ้าคนอื่นซื้อไม่ขาย ถ้าคนในบ้านมโหสถล่ะก็ให้ขายไปเลยทั้งหม้อด้วย พร้อมกับเอาปิ่นทองใส่ก้นหม้อไปด้วย หญิงคนใช้ก็เอาไป “เปรียงแม่เอ๊ย อย่างดี ใหม่ สด ดีไม่มีสอง” แล้วแม่ค้าก็เดินกลับไปกลับมาอยู่หน้าบ้านมโหสถ
นางอมรอยู่ภายในบ้านมองเห็นความผิดปกติของชาวค้าชาวขาย ทำไมมาเดินวน ๆ เวียน ๆ อยู่แถวหน้าบ้านตนเช่นนี้คงเห็นจะมีอะไรผิดปกติเป็นแน่ จึงให้คนใช้หลบไปเสียก่อน นางเองออกไปเรียกคนขายเปรียงมา พอนางเผลอก็ล้วงมือลงไปในหม้อก็เจอปิ่นทอง แต่นางทำเป็นไม่รู้ เสทำเป็นถามโน่นถามนี่
“เปรียงของแม่ค้าดีจริงหรือเปล่าคะ”
“ดีแน่เชียวคะ เป็นของใหม่และสดจริง ๆ และเป็นของที่มาจากนมบริสุทธิ์จริง ๆ”
“แม่ค้าอยู่ไกลไหมคะ”
“ดิฉันอยู่บ้านท่านเสนกะคะ”
“แล้วทำไมมาขายของล่ะคะ”
“หารายได้พิเศษน่ะคะ” แม่ค้าตอบอย่างไม่ค่อยเต็มคำนัก
“ถ้าดีจริง ๆ ฉันจะซื้อไว้เอง”
“คะดิฉันจะคิดให้ถูก ๆ และขี้เกียจจะเอาหม้อกลับไปเลยแถมให้เสียด้วย” นางอมรก็จัดแจงจดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้
รุ่งขึ้น ปุกกุสะให้นางทาสีเอาดอกไม้ใส่กระเช้ามาขายพร้อมกับเอาดอกไม้ทองใส่ก้นกระเช้ามาด้วย นางคนขายคนนั้น ก็แสดงอาการพิรุธคือมาเดินวนเวียนอยู่ที่บ้านของมโหสถ นางอมรเห็นเข้าก็นึกรู้ว่าคงมีอะไรอีกเป็นแน่ ก็เลยเรียกเข้ามาซึ้อ และสอบถามได้ความว่าอยู่บ้านปราชญ์ปุกุสะ นางได้พบดอกไม้ทองก็เก็บไว้ พร้อมจดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย
ส่วนกามินทร์ใช้ให้ทาสีในบ้านเอาผ้ามาขาย แต่ก็เอาผ้าคลุมบรรทมซ่อนใส่ข้างล่างไว้ด้วย ซึ่งนางอมรก็รู้ทันและได้สอบถามและก็จดไว้ด้วย เทวินทร์เอาข้าวโพดมาขาย พร้อมกับรองเท้าทองซ่อนใส่ในมัดข้าวโพดมาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่พ้นการพิจารณาของนางอมรไปได้ ซึ่งนางก็ทำเป็นจดหมายหมายเหตุไว้อีก เมียดีเป็นศรีแก่ผัวเห็นจะเป็นอย่างนางอมรนี่เอง ไม่ปล่อยไปให้สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผ่านเข้ามาในบ้านรอดหูรอดตาไปได้ ถ้าปล่อยไปมโหสถเห็นทีจะแย่เหมือนกัน
เมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ ท่านส่งของเหล่านั้นไปเข้าบ้านมโหสถเสร็จแล้ว คราวนี้จะต้องถึงคราวที่จะติดตามของเหล่านั้นมาล่ะ ตาย ตายแน่ ๆ ทั้ง ๔ คน คิดเหมือน ๆ กัน
ประวัติศาสตร์ของไทยเราเคยมีมาแล้ว ดำเนินนโยบายเหมือนเรื่องนี้ แต่เรื่องสำเร็จเพราะถูกคนใส่ความต้องหัวขาดโดยราชอาญา แม้ใครจะรู้ภายหลังก็ธุระไม่ใช่ สมัยแผ่นดินพระเพทราชา หลังจากเปลี่ยนแผ่นดินเสร็จเรียบร้อย เฉลิมฉลองยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว พระราชวังหลวง (นายจล คชสิทธิ์) ก็มีอันเป็นไปต้องราชอาญาฐานลักทรัพย์ คือถาดทอง ค้นของกลางได้ที่วังก็เป็นอันว่าตำเหน่งพระราชวังหลังต้องลงไปเสวยตำเหน่งในโปรโลก ดูเอาเถอะ พระราชวังหลังขโมยถาดทอง นี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ถ้าไม่มีลายลักษณ์อักษรก็คงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว ทั้งสองเรื่องนี้ใครเอาอย่างใคร แต่เรื่องของมโหสถนี้เก่ากว่าประวัติศาสตร์ของเราแน่ ปราชญ์ทั้ง ๔ คอยหาโอกาส
วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวกำลังสำราญพระทัยหลังจากออกขุนนางแล้ว ก็เสด็จมาสนทนากับนักปราชญ์ผู้ไม่อยากเห็นผู้อื่นดีกว่าตัว เสนกะได้ท่าจึงทูลถามว่า
“ขอเดชะ เดี๋ยวนี้พระองค์ไม่ทรงพระจุฑามณีเลยพระเจ้าค่ะ”
“ฮ้ะ ฮ้ะ ท่านนักปราชญ์สังเกตสำคัญจริง เราไม่ค่อยได้หยิบจุฑามณีมาใช้เลย ท่านอาจารย์เตือนขึ้นก็ดีแล้ว จะได้ใช้เสียที”
“เฮ้ย ใครอยู่ข้างในหยิบจุฑามณีมาให้ข้าที” ทรงหันไปร้องสั่งมหาดเล็ก แล้วก็หายเงียบไปสักพักใหญ่ มหาดเล็กคนหนึ่งก็ออกมากราบทูลว่า
“ขอเดชะ พระจุฑามณีไม่ได้อยู่ในที่พระเจ้าค่ะ พวกเก่าแก่คิดว่าพระองค์ทรงเอาออกมาเสียอีก”
“อุวะ ทรงอุทานด้วยความฉุนเฉียว
“ไปดูใหม่พร้อมทั้งรองเท้าและรองเท้าประจำตัวของข้าด้วย” เจ้ามหาดเล็กหายเข้าไปสักพักใหญ่ ก็กลับมาทูลว่า
“ท่านท้าวของที่ว่า ค้นหาจนทั่วแล้วก็ไม่พบ และยังมีของที่หายไปจากที่อื่นอีก ๓ อย่างด้วยกัน”
“อะไรอีกล่ะ” ทรงถามสวนขึ้นมา
“มีที่รองพระบาท ดอกไม้ทอง และผ้าคลุมบรรทม พระเจ้าค่ะ”
“เอ ของในวังมันจะหายไปได้ยังไง ? ไปเรียกท้าวนางมา” มหาดเล็กก็ไปตามรับสั่ง
เมื่อท้าวนางมาแล้ว พระองค์ก็สอบถามแต่ก็ไม่ได้ความ อาจารย์เสนกะจึงกราบทูลขึ้นว่า
“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ เรื่องนี้คนใกล้ชิดเห็นจะไม่มีใครกล้า เพราะของเหล่านั้นตนเป็นผู้รักษาอยู่เอง เห็นจะเป็นคนนอกมากกว่า เพราะคนเหล่านั้นที่เข้านอกออกในได้ก็ไม่เห็นจะเป็นคนนอกมากกว่า เพราะคนที่เข้านอกออกในได้ก็ไม่เห็นมีใครนอกจากพวกข้าพระองค์ ๕ คน และข้าพระองค์เคยได้ยินคนใช้มันพูดว่า มโหสถมีอาภรณ์เหล่านี้ใช้ เดิมทีข้าพระองค์ไม่เชื่อ แต่เมื่อมารู้ว่าของเหล่านี้หายไป ข้าพระองค์ก็เลยเชื่อว่ามโหสถเอาไปพระเจ้าค่ะ มโหสถเห็นจะไม่ซื่อเสียแล้วพระเจ้าค่ะ”
สายของมโหสถซึ่งวางไว้ก็รีบนำความไปแจ้งแก่มโหสถถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มโหสถรีบแต่งตัวเข้าวัง เพื่อจะไปแก้ข้อกล่าวหาของอาจารย์ทั้ง ๔ แต่เมื่อไปถึงกลับถูกพระราชาไม่ให้เข้าเฝ้า เลยต้องกลับ และเมื่อมโหสถกลับออกไป โดยไม่ต้องไต่สวนทวนความให้แน่ชัดก็สั่งจับมโหสถทันที เมื่อมโหสถรู้ข่าว เห็นไม่มีทางแก้ตัวได้เลย ต้องหลบไปเสียก่อน การกระทำของพระเจ้าวิเทหราชเช่นนี้ ตรงกับคำของครูเทพได้ว่าไว้ว่า
ก็สมควรจะป่วนเปิง เพราะใช่เชิงตุลาการ
จะตัดสินจะตั้งศาล จะต้องโจทก์จำเลยสม
แม้ไต่สวนมิควรข้อง ก็ยกฟ้องนิรารมย์
จะชอบเชิงวิชาชิตชม เผชิญดุลวินิจฉัย
ก็จริงอย่างว่า ถูกฟ้องก็เชื่อโดยไม่ได้ตรึงตรองให้แน่ชัดใครอยู่ใกล้พูดถูกใจ ถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ปั้นเข้าเป็นได้ความเรื่องนี้เคยมีมาแล้ว เอส ธมฺโม สนนฺตโน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องเคยนี้มาแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ ไม่แปลกเขาทำกันยังงี้ทั้งนั้น
เมื่อราชบุรุษที่ไปจับกลับมากราบทูลว่า ไม่พบตัวมโหสถไม่ทราบว่าหายไปที่ไหน ก็รับสั่งให้จับให้ได้ ฝ่ายอาจารย์ทั้ง ๔ ผู้เป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมให้ใครดีกว่าตน รู้ว่ามโหสถหนีไปแล้วก็ดีใจ ก้างขวางคอหมดไปเสียได้ผงในตาหลุดไปเสียได้ดีใจจริง ๆ จึงปรึกษากัน
“เจ้ามโหสถหนี หากโผล่มาเป็นถูกจับ นับแต่นี้พวกเราก็สบาย ไม่มีใครจะมาชิงดีชิงเด่นกับพวกเราทั้ง ๔ คน อีกประการหนึ่ง เมียเจ้ามโหสถมันสวยกว่ายายแก่ของเราเป็นไหน ๆ พวกเราลองไปเกลี้ยกล่อมดู บางทีนางจะเห็นดีด้วยก็ได้”
“แต่ใครจะไปก่อนล่ะ” ก็หาคนไปไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างจะไปโดยไม่ให้ใครล่วงรู้เลย เป็นอันว่าตกลงกันไม่ได้ แต่ทั้ง ๔ คน ก็ส่งของกำนัลไปให้นางอมร ซึ่งนางก็รู้เท่าทันจึงนัดหมายให้อาจารย์ทั้ง 4 มาคนละเวลา โดยไม่ให้พบกันได้ แล้วนางก็จัดแจงทำกระดานหกที่หลุมส้วม
คอยดูต่อไปว่านางอมรจะจัดการกับตาเฒ่าหัวงูที่อยากมีเมียสาวสวยอย่างไรบ้าง เมื่อนัดให้อาจารย์เสนกะมาหาในยามค่ำ แล้วนางก็จัดแจงแต่งตัวไว้รับหน้าอย่างงามพริ้งทีเดียว พออาจารย์เสนกะโผล่เข้ามาพบ
“แม่เจ้าโว้ย..นางฟ้าหรือไร สวยงามหยดย้อยอย่างนี้ เดี๋ยวก็คงจะรู้ดีแน่” แต่นางอมรกลับบอกให้ไปอาบน้ำอาบท่าให้ดีเสียก่อนจะได้คุยกันอย่างสบาย แล้วก็ให้สาวใช้พาอาจารย์เสนกะไปเข้าห้องน้ำ นางสาวใช้ก็พาไปที่ทำกระดานหกไว้ พออาจารย์เสนกะก้าวเข้าไปกระดานก็หก อาจารย์เสนกะก็หล่นลงไปในหลุมอุจจาระทั้งหัวหูดูไม่ได้ เต็มไปด้วยอุจจาระทั้งนั้นจะขึ้นก็ไม่ได้ แลดูไปทางไหนก็มืดไปหมด ต้องเกาะข้างหลุมรอความตาย
จากนั้นอีกราวชั่วโมง ปุกกุสะซึ่งได้รับการนัดหมายจากนางอมรก็มา แล้วก็ตกลงไปในหลุมคูด้วยประการเดียวกัน ก็เป็นอันว่าบรรดาอาจารย์เฒ่าหัวงูทั้ง ๔ ไม่มีใครรอดไปจากหลุมที่เต็มไปด้วยอุจจาระเลย
พอรุ่งเช้านางอมรก็ให้คนไปเปิดกระดานหก จับเอาตัวทั้ง ๔ ซึ่งทอดอาลัยในตนแล้วขึ้นมา พอเห็นแสงสว่าง เหมือนเทวดามาโปรด นางอมรให้คนพาไปอาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้ว บังคับให้คนโกนหัวเสียหมดทั้ง ๔ คน ยังไม่พอเท่านั้น นางอมรยังให้ทำอีก เพื่อให้สมแค้น เพราะมโหสถถูกอาจารย์เหล่านี้ทำเล่ห์กล จนต้องหนีไปจากบ้าน นางให้สาวใช้กวนแป้งเปียก แล้วเอามาชะโลมตัวอาจารย์เจ้าเล่ห์ทั้ง ๔ ซึ่งได้แต่มองตากันปริบ ๆ โดยไม่รู้จะพูดจาอย่างไรถูกอายเสียตนหน้าชาแทบจะแทรกแผ่นดินหนี พอชะโลมเสร็จแล้วก็ให้เอานุ่นมาโรยทั่วตัว แลดูขาวโพลนไปหมดด้วยกันทั้ง ๔ คน
มาถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ตอนหนุมานเผากรุงลงกา ทศกัณฐ์สั่งให้เสนาเอาหนุมานไปคลุกนุ่นจนขาวไปทั่วทั้งตัวแล้วก็จุดไฟ แล้วเป็นไงรู้ไหมกรุงลงกาวอดไปทั้งเมือง แต่นี้ไม่ถึงกับมิถิลาวอด
เท่านั้นยังไม่พอ นางให้เอากระชุ แล้วเอาเสื่อลำแพนหุ้ม มัดด้วยเชือกให้แน่น เสร็จเรียบร้อยแล้วนางก็เอาสิ่งของที่รับซื้อไว้ พร้อมกับให้คนแบกอาจารย์ทั้ง ๔ ตามไปในพระราชวัง พอเป็นเวลาเสด็จออกขุนนาง นางอมรเข้าไปถวายบังคมแล้วกราบทูล
“ขอเดชะ เกล้ากระหม่อมฉันได้อาศัยพระบารมีของพระองค์อยู่เป็นสุขนึกถึงพระคุณ จึงนำเอาเครื่องบรรณาการมาถวายพระองค์” นางอมรก็ให้คนไปยกกระชุ ซึ่งหุ้มด้วยเสื่อลำแพนเข้าไปถวาย
“อะไรล่ะ แม่อมร?”
“ขอได้โปรดทอดพระเนตรเองเถิดเพคะ” ก็รับสั่งให้ราชบุรุษเปิดขึ้น ครั้งแรกมองไปคล้ายลิงเผือกแต่ดู ๆ ไปก็ไม่ใช่ ครั้งแรกจะไม่ได้ว่าเป็นใคร ภายหลังพิจารณาไปก็จำได้ว่าเป็นอาจารย์ทั้ง ๔ ถึงกับทรงนิ่งอึ้ง
“นี่มันอะไรกัน? ” ทรงถามตัวเองในพระทัย ส่วนขุนนางและราชบริพารที่เฝ้าอยู่ พอเห็นว่าเป็นอาจารย์ทั้ง ๔ ก็อดขำไม่ได้ ปล่อยกันเสียครืนใหญ่ ลืมคิดไปว่าหน้าพระที่นั่งไปชั่วขณะ จากนั้นนางก็ได้ถวายสิ่งต่าง ๆ ที่อาจารย์เหล่านั้นให้คนไปขายให้นาง พร้อมทั้งหลักฐานที่นางได้บันทึกไว้ถวายให้ทอดพระเนตร
ถึงเช่นนั้นพระเจ้าวิเทหราชก็หาได้จัดการอย่างไรไม่กลับให้อาจารย์ทั้ง ๔ กลับบ้านได้ตามสบาย นี่คือความอยุติธรรมที่บุคคลจะได้รับจากผู้ใหญ่เหนือตนที่มีแต่อารมณ์เท่านั้น มโหสถตกอยู่ในสภาพมีปากก็เหมือนไม่มี พูดไม่ได้ โลกหนอโลกเป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้ายังมีคนเช่นนี้อยู่เชื่อเถอะว่าความอยุติธรรมเช่นนี้ยังมีอยู่แน่ ๆ
หลังจากนั้นเทพเจ้าผู้รักษากัมพูฉัตรเห็นว่าจะไปกันใหญ่บ้านเมืองจะไม่มีขื่อมีแป เพราะคนสอพลอมีมาก ผิดก็ไม่ผิด ส่วนคนไม่ผิดบังคับให้ผิด คืนหนึ่งจึงปรากฎตัวในที่บรรทมของพระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ
ข้อ ๑ ว่า ผู้ที่ตบตีผู้อื่นด้วยมือด้วยเท้า ตบปากผู้อื่น ผู้นั้นยิ่งเป็นที่รักของผู้ที่ถูกตี คือใคร?”
ข้อ ๒ ว่า ผู้ที่ด่าว่าผู้อื่น แต่ไม่อยากให้เขาเป็นไปตามนั้น และคนถูกเป็นคนที่รักของคนด่า คือใคร?”
ข้อ ๓ ว่า ผู้ที่โกหกกันเหลาะเเหละไม่เป็นความจริงแต่คนโกหกนั้นแหละเป็นที่รักของกันและกัน คือใคร?”
ข้อ ๔ ว่า ผู้ที่เอาพัสดุสิ่งของ ข้าวน้ำผ้าผ่อนไป แต่ผู้นั้นกลับเป็นผู้ที่ชอบใจของเจ้าของพัสดุเหล่านั้น ผู้นั้นคือใคร?” รวมเป็นปัญหา ๔ ข้อด้วยกัน
ถ้าพระเจ้าวิเทหราชตอบไม่ได้ตายแน่ ๆ ทีเดียว พระเจ้าวิเมหราชทรงกลัวเทวดานั้นมาก รุ่งเช้าจึงเรียกนักปราชญ์ทั้ง ๔ มา แต่ทั้ง ๔ ท่านกลับตอบมาว่า
“ขอเดชะ ข้าพระองค์ออกจากบ้านไม่ได้ เพราะถูกโกนศรีษะเป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่ประชาชน” พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงส่งหมวก (หมวกแขก) ไปให้ใส่เข้ามา นักปราชญ์ทั้ง ๔ จึงเข้ามาได้ เมื่อท่านปราชญ์ทั้ง ๔ เข้ามาแล้วจึงตรัสถามปัญหา ๔ ข้อนั้น ทั้ง ๔ ก็จนปัญญาไม่สามารถจะตอบได้ เพิ่มความปวดเศียรให้แก่พระเจ้าวิเทหราชเป็นอเนกประการ
ตกกลางคืนเทวดาก็มาออกมาซักถามหาคำตอบว่าพระองค์ตอบได้หรือยัง ก็ตรัสตอบไม่ได้ แถมนักปราชญ์ประจำราชสำนักก็ตอบไม่ได้อีก
“พระองค์น่ะ มีเพชรใช้กลับไปเห็นพลอยดีกว่า ก็ช่วยไม่ได้ เรื่องนี้มันต้องมโหสถ แต่ถ้าพระองค์ยังตอบไม่ได้ที่สุดคือ ความตาย” พอรุ่งเช้า ก็รับสั่งให้ออกค้นหามโหสถทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับสั่งไปด้วยว่า ยกโทษให้หมดทุกอย่าง ให้มโหสถรีบเข้ามาเฝ้าเร็วที่สุด พวกราชบุรุษก็ออกตามไปพบมโหสถที่โรงช่างหม้อที่หมู่บ้านทิศใต้ มีเนื้อตัวเปียกมอมไปด้วยดินที่ปั้นหม้อ เขากำลังทำหน้าที่เป็นคนใช้ ซึ่งนายช่างปั้นหม้อได้ใช้ให้เขาทำอยู่พอพบราชบุรุษเข้าไปกราบไหว้แล้วบอกให้ทราบถึงว่าพระราชายกโทษให้แล้ว ขอให้รีบกลับไปเข้าเฝ้า
มโหสถพอเห็นราชบุรุษก็รู้ว่าหมดเคราะห์แล้ว จึงรีบทิ้งที่ตนกำลังกินอยู่ออกเดินทางมาเฝ้า เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทราบว่า มโหสถมาเฝ้าทั้งที่กำลังมีเนื้อตัวที่เปื้อนเปรอะดินทรายเต็มไปหมด จึงสั่งให้ไปอาบน้ำอาบท่าเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาเฝ้า มโหสถก็ทำตามรับสั่ง เมื่อเข้ามาเฝ้า
พระเจ้าวิเทหราชจึงได้ตรัสเล่าถึงปัญหาของเทวดา ๔ ข้อ ให้ฟัง และถามท้ายว่าถ้าพระองค์ตอบไม่ได้ก็จะสิ้นพระชนม์ มโหสถได้ฟังก็หัวเราะ
“ง่ายพระเจ้าค่ะ”
“พิโธ่ เราเป็นทุกข์เป็นร้อนจะตายไป แม้ท่านปราชญ์ทั้ง ๔ ผู้เก่งกล้าสามารถก็ยังไม่สามารถจะตอบได้ยังมาพูดเป็นเล่นเสียอีก”
“มิได้พระเจ้าค่ะ ไม่เป็นเล่น กระหม่อมทูลจริง ๆ ว่าปัญหานี้ง่ายมาก”
“เออ ถ้าอย่างนั้นก็โล่งใจ พ่อช่วยแก้ดูทีว่าอะไรเป็นอะไร”
“ขอเดชะ ปัญหาข้อมที่ ๑ ที่ว่า ผู้ที่ตบตีผู้อื่นแต่ผู้ถูกตีกลับรักผู้ตีนั้น ก็ได้แก่เด็กน้อยกับมารดา บิดา เด็กน้อยแม้จะหยิกทึ่งตบตีมารดาบิดาอย่างไร มารดาบิดากลับรักเด็กนั้นมายิ่งขึ้น”
พอแก้ปัญหาจบเทวดาก็ให้สาธุการ “ดีจริงพ่อมโหสถ” จึงแก้ข้อ ๒ ต่อไป
“ข้อที่ ๒ ที่ว่า ผู้ที่ด่าผู้อื่นแต่ใจไม่คิดร้าย และผู้ถูกด่าก็เป็นที่รักของผู้ด่า ก็ได้แก่มารดาบิดาและบุตรพระเจ้าค่ะ เพราะเวลาบุตรขัดใจ มารดาบิดาจะด่าว่า แต่ในใจนั้นมิได้คิดร้ายไปด้วยเลย เพราะความรักแท้ ๆ จึงด่าว่าต่าง ๆ นานา”
“ดีจริงพ่อมโหสถ” เทวดาให้สาธุการอีก
“ข้อที่ ๓ ที่ว่า ผู้ที่โกหกเหลอะแหละไม่เป็นความจริง แต่คนโกหกนั้นกับเป็นที่รักของกันและกัน ก็ได้แก่สามีภรรยาที่อยู่ในที่รโหฐาน ก็เย้าหยอกกันด้วยถ้อยคำที่ไม่จริง ซึ่งต่างก็รู้กันว่าไม่จริง แต่ก็โกหกกันและรักกัน”
พระเจ้าวิเทหราชถึงกับทรงพระสรวล “ง่ายจริงนะพ่อมโหสถ ทีเราเองคิดหัวแทบแตกแต่แก้ไม่ได้เลย” เทวดาก็ให้สาฑุการอีก
“ส่วนข้อที่ ๔ ที่ว่า ผู้ที่เอาพัสดุสิ่งของข้าวปลาผ้าผ่อนไป ผู้นั้นกลับเป็นที่รักของเจ้าของเสียอีก ก็ได้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้มารับไทยทานจากสัตบุรุษซึ่งถวาย แม้จะรับไปสักเท่าไดกHไม่โมโหโกรธเคือง มีแต่จะถวายมากขึ้นเสียอีก”
“ดีจริง” เทวดาให้สาธุการ
และนับตั้งแค่นั้นมามโหสถก็หมดไปจากความระแวงของพระเจ้าวิเทหราชจะแย่งสมบัติ จึงพระราชทานเงินทองและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เจ้ามโหสถอีกมากทาย ความริษยาบังเกิดขึ้นแก่อาจารย์ทั้ง ๔ เป็นอันมาก เขาได้ปรึกษาหารือกันถึงการที่จะกำจัดเจ้ามโหสถ เมื่อคิดขึ้นได้จึงไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช
“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ผู้ที่มีจิตใจจะคิดการใหญ่อยู่เสมอแล้ว เขาจะไม่ยอมบอกความลับของตนแก่ใครเลย พวกข้าพระองค์พิจจรณาดูเจ้ามโหสถแล้วเห็นว่าไม่น่าไว้วางใจเสียแล้ว เพราะเข้าไม่ยอมบอกบอกความลับของเข้าแก่ใคร หากพระองค์ไม่เชื่อโปรดสอบถามดูก็จะได้ความจริง” พระเจ้าวิเทหราชไม่อยากจะเชื่อ แต่เห็นว่าพระองค์พอวินิจฉัยได้ จึงคิดลองดูก่อนว่าจะเหมือนถ้อยคำของอาจารย์ทั้ง ๔ หรือไม่
ในเวลาเสด็จออกขุนนาง จึงปราภเหตุอันควรไว้ใจและมิควรจะไว้ใจ และตรัสถามปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านเป็นลำดับกัน
“ท่านอาจารย์เป็นว่าควรจะบอกความลับแก่ใคร?”
“ข้าพระองค์เห็นควรบอกแก่มิตร เพราะแม้นักปราชญ์แต่ปางก่อนก็ให้บอกมิตร”
“ท่านปุกกุสะเล่า”
“ข้าพระองค์เห็นว่าควรบอกแก่พี่ชายน้องชาย”
“ท่านกามินทร์เล่า เห็นควรบอกแก่ใคร”
“ข้าพระองค์เห็นว่าควรบอกแก่บุตร”
“ท่านเทวินทร์เล่า”
“ข้าพระองค์ถือภาษิตของปราชญ์แต่โบราณว่า มิตรในเรือนคือแม่ของเรา จึงควรบอกความลับแก่มารดาของตน” แล้วจึงทรงหันไปทางมโหสถ พรางตรัสถามว่า
“พ่อมโหสถเล่า เห็นว่าอย่างไร ความลับควรจะบอกแก่ใครดี” ด้วยความซื่อมิได้คิดว่ามีเล่ห์กลอันใด มโหสถจึงทูลตอบออกไปว่า
“ขอเดชะ สำหรับความคิดของข้าพระองค์แล้ว เห็นว่าความลับของตนไม่ควรจะบอกใครทั้งหมดพระเจ้าค่ะ จนกว่าความคิดนั้นสำเร็จแล้วจึงค่อยบอกกับคนทั้งปวง” พระเจ้าวิเทหราชได้ฟังก็ทรงเสียพระทัยมากว่าเจ้ามโหสถจะเป็นอย่างนักปราชญ์ทั้ง ๔ บอกเสียเป็นแน่ ภาษิตที่ว่า
“อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว” ยังเป็นความจริงที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย เมื่อจิตใจคิดอย่างนั้น สีหน้าก็เสดงปรากฎชัดออกมาเสนกะมองพระราชา และพระราชาก็มองเสนกะ มโหสถเมื่อตอบออกไปแล้วเห็นพระราชาและเสนกะทำพิรุษก็ชักเอะใจ
“คงมีอะไรอีกแล้ว”
พอดีเป็นเวลาเย็นแล้ว มโหสถจึงกราบถวายบังคมลาไปบ้าน ในขณะกลับเดินคิดถึงเรื่องปราชญ์ทั้ง ๔ ตอบพระราชาคิดอยากจะรู้ และทราบว่าทั้ง ๔ ท่านเมื่อออกมาจากที่เฝ้าก็มักจะชอบมานั่งคุยกันที่ข้างประตูซึ่งมีถังข้าวคว่ำไว้ และปราชญ์ทั้ง ๔ ก็มานั่งคุยกันบนก้นถังเสมอ ๆ จึงรีบไปยังที่นั้น และตะแคงถังข้าวขึ้นแล้วตนก็เข้าไปนั่งใต้ถังข้าวนั้น พร้อมกับสั่งบังคับให้คนสนิทไว้ว่าเมื่อเขาเข้าไปเรียบร้อยแล้วก็ให้หลบไปอยู่เสียให้ห่าง ๆ ต่อเมื่อเห็นอาจารย์ทั้ง ๔ กลับออกไปแล้วจึงค่อยมาตะแคงถังข้าวให้มโหสถออกมา มโหสถเข้าไปอยู่ใต้ถังข้าวไม่นานนัก อาจารย์เจ้าเล่ห์ทั้ง ๔ ออกจากที่เฝ้าแล้วก็มาประชุมกันอยู่ที่นั้น เสนกะจึงได้ถามอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า ที่ท่านบอกกับพระเจ้าอยู่หัวว่าควรบอกความลับของตนแก่คนนั้น ท่านได้รับบอกเล่ามาจากผู้ใดหรือไม่ว่าท่านได้เคยประพฤติมาแล้ว อาจารย์ทั้ง ๓ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ท่านอาจารย์ ความลับเหล่านั้นพวกเราได้ปฎิบัติกันมาแล้ว และถ้าหากว่าพระราชารู้เข้าพวกเราจะพากันสิ้นชีวิตไปตาม ๆ กัน”
“ใครมันจะรู้นะ ก็มีแต่พวกเรา ๔ คนเท่านั้นที่มา”
“ว่าไม่ได้นา มโหสถอาจจะมาอยู่ใต้ถังนี้ก็ได้” เสนกะพูดเล่นเป็นเชิงเย้าอาจารย์ทั้ง ๓ พร้อมกับเอานิ้วมือเคาะถังข้าว
“คนเมายศอย่างเจ้ามโหสถ คงไม่ทำอย่างนี้เป็นแน่” เสนกะจึงเอ่ยขึ้น
“ความลับของข้าพเจ้าถ้าใครรู้เข้าข้าก็มีหวังเป็นตายแน่”
“บอกมาเถอะน่า ไม่มีใครเลยนี่นา”
“พวกเราจำหญิงโสเภณีที่ชื่อสิริมาได้หรือเปล่า”
“อ๋อ แม่คนสวยที่ติดจะหยิ่ง ยังแถมเลือกรับแขกน่ะเรอะ” เออ คนนั้นล่ะ”
“ทำไมล่ะ?”
“เดี๋ยวนี้พวกท่านเห็นนางบ้างหรือเปล่า?”
“เออ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพบเห็นนางเลย หรือจะถูกเนรเทศไปทางไหนเสียแล้ว
“ไม่มีคนเนรเทศนางหรอก”
“แล้วนางหายไปไหนเสียเล่า”
“ก็เรานี่แหละที่ทำให้นางหายไป”
“ท่านอาจารย์ทำยังไงล่ะ”
“คือว่าวันหนึ่งเราให้คนไปรับนางมาที่สวนแห่งหนึ่งนางแต่งตัวมาเสียสวยทีเดียว เราเกิดไปชอบใจจี้ห้อยคอของนางเข้า เมื่อร่วมกับนางเสร็จแล้วเราเลยพลั้งมือบีบคอนางเสียตาย แล้วแถมเอาศพฝังเสียด้วย เครื่องประดับของนางเรายังเอามาห่อเก็บไว้ในเรือนไม่กล้าเอาออกมาใช้ เพราะกลัวคนจำได้ นางเลยหายสาปสูญไป และเราได้บอกความลับนี้แก่สหายคนหนึ่ง เราจึงได้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าควรบอกความลับของตนแก่เพื่อน เรื่องนี้ถ้าพระเจ้าอยู่หัวรู้เข้า เราเป็นถูกประหารแน่ ๆ”
“ข้าพเจ้าก็เหมือนกับท่านอาจารย์”
“เป็นอย่างไรลองเล่าไปทีรึ”
“ข้าพเจ้าเป็นโรคเรื้อนที่ขา ไม่มีใครรู้เลยนอกจากน้องชายของข้าพเจ้า เขาได้ทายาทำความสะอาดแผลและเอาผ้าพันแผลไว้ และท่านคงสังเกตเห็นแล้วว่าพระราชาโปรดข้าพเจ้ามาก บางทีถึงกับเอาเศียรพาดตักข้าพเจ้าบ่อย ๆ ถ้าพระราชารู้ข้าพเจ้าคงตายแน่ ๆ คนอื่นไม่มีใครรู้นอกจากข้าพเจ้าคนเดียวข้าพเจ้าจึงทูลว่าควรบอกความลับแก่น้องชาย” “ท่านกามินทร์ล่ะ มีอะไรจึงทำให้ท่านทูลพระราชาอย่างนั้น”
“สำหรับข้าพเจ้าน่ะรึ มีโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่ง เวลาเป็นแล้วจะร้องเหมือนอย่างกับหมาบ้า บุตรข้าพเจ้ารู้ พอถึงเวลาข้าพเจ้าเป็นซึ่งจะต้องเป็นในแรม ๘ ค่ำ ก็จัดหามโหรสพมาเล่นที่หน้าบ้าน ปิดเสียงข้าพเจ้าที่ร้องได้ ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่าที่หน้าบ้านข้าพเจ้ามีการเล่นทุกเดือน นี่เป็นเพราะเหตุนี้ และความนี้ไม่มีใครรู้เลยนอกจากบุตรชายคนเดียวของข้าพระเจ้า จึงได้ทูลพระราชาไปอย่างนั้น”
“แล้วท่านเทวินทร์ล่ะ”
“สำหรับข้าพระเจ้า ถ้าความนี้ทราบถึงพระกรรณพระเจ้าอยู่หัวแล้วเป็นตายแน่นอน”
“เพราะอะไรล่ะ?”
“เพราะพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นของวิเศษน่ะสิ”
“เอ้า ลองเล่าไปดูทีรึ”
“สมัยพระเจ้ากุสราชได้รับแก้ววิเศษไว้ดวงหนึ่งจากพระอินทร์ พอใกล้จะสิ้นรัชกาลข้าพเจ้าได้โอกาสก็เลยลักเอาแก้วดวงนี้ไปฝากมารดาไว้ แล้วอาศัยแก้วดวงนี้จะทำอะไรก็ประกอบด้วยสิริเช่นการจะตรัส พระเจ้าอยู่หัวจะต้องตรัสกับข้าพระเจ้าก่อนคนอื่น และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเนือง ๆ ก็เพราะแก้วดวงนี้ ข้าพเจ้าจึงทูลแก่พระราชาให้บอกความลับแก่มารดา” นักปราชญ์เจ้าเล่ห์ทั้ง ๔ จึงเอ่ยสรุปว่า
“แล้วพวกเรารู้กันแล้วอย่าประมาท ช่วยกันฆ่าอ้ายเจ้ามโหสถเสียให้ได้” แล้วต่างก็พากันแยกย้ายกลับไป มโหสถก็ออกมาจากถังข้าวกลับบ้านไป และสั่งคนให้ไปคอยฟังข่าวจากพระนางอุทุมพร
พระเจ้าวิเทหราชตั้งแต่ได้ทรงรับสั่งให้อาจารย์ทั้ง ๔ ก็รับสั่งให้ฆ่ามโหสถเสียแลย เมื่อทรงคำนึงว่า มโหสถตั้งแต่เข้ามาอยู่ก็ยังไม่เคยปรากฎว่าทำร้ายพระองค์เลย แม้จะมีข่าวอย่างโน้นอย่างนี้ก็เป็นเพราะผู้อื่นทั้งนั้น เพียงอาจารย์ทั้ง ๔ บอกเล่าเราก็ทิ้งคติโบราณที่ว่า
จะตัดสินจะตั้งศาล จะต้องโจทก์จำเลยสม
แม้ไต่สวนมิควรข้อง ก็ยกฟ้องนิรารมย์
จะชอบเชิงวิชิตชม เผชิญดุลวินิจฉัย
เมื่อทรงรำพึงทำให้ไม่สบายพระทัย เราออกจะหูเบามากทีเดียว ใครฟ้องอย่างไรก็เชื่อมันตะบันเลย เออ มโหสถเห็นจะตายเสียแล้วเป็นแน่ เ้ลยทำให้พระองค์ทรงบรรทมไม่หลับกระสับกระส่ายไปมา นี่ถ้าผู้ใหญ่เป็นอย่างนี้บ้างแล้ว ความยุติธรรมทั้งหลายก็คงจะดีไม่น้อย เว้นเสียแต่จะ ทิ้งพรหมวิหารให้กลายเป็นฝังอยู่ในตำราโลกปัจจุบันเราเท่านั้น พระนางอุทุมพรเห็นพระสวามีพลิกกระสับกระส่ายจึงทูลถามถึงสาเหตุที่ไม่สบายพระทัย พระองค์ก็ตรัสบอกที่ได้ข่าวมาว่า มโหสถจะคิดกบฎจึงได้สั่งให้ประหารชีวิตเสียแล้ว พระนางถึงกับตกพระทัยแต่ก็ควบคุมสติได้ เพราะได้ทราบว่ายังมิได้ประหารเจ้ามโหสถ จึงทูลเล้าโลมให้คลายพระทัย
“พระองค์ตั้งเจ้ามโหสถไว้ในตำเเหน่งที่ยิ่งใหญ่แล้วกลับคิดกบฎทรยศ ก็สมควรแล้วที่พระองค์จะตรัสประหารเสีย” จึงทำให้พระราชาคลายวิตกบรรทมหลับไปได้ พระนางจึงเขียนสาส์นให้คนถือไปให้เจ้ามโหสถ
“อย่าเข้ามาพรุ่งนี้เช้า ถ้าจะเข้ามาจงเอาประชาชนมาด้วย”
ข้อนี้ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าทรงธรรมซึ่งพระยากลาโหมสิริวงศ์ถูกสั่งให้จับตายจมื่นศรีวรรักษ์ได้มีจดหมายถึงว่า
“ถ้าจะเข้ามาก็ต้องขึ้นเวที เมื่อขึ้นเวทีก็ต้องเตรียมเครื่องมาให้พร้อม” แต่เพียงคล้ายคลึงกัน เพราะครั้งนั้นเข้ามาชิงเอาราชสมบัติเลย เจ้ามโหสถมิได้ทำเช่นนั้น ดูต่อไปดีกว่า
เจ้ามโหสถได้รับข่าวจากราชบุรุษที่วางใจ ก็รีบจัดแจงออกไปยังบ้านเก่า เกณฑ์ประชาชนที่เคารพนับถือได้เป็นจำนวนพันก็พากันแห่แหนมายังพระราชวัง อาจารย์ทั้ง ๔ ไปคอยดักฆ่าเจ้ามโหสถตั้งแต่เช้า แต่เมื่อไม่เห็นเจ้ามโหสถมาก็ผิดหวัง กลับออกไปคอยที่อยู่ว่าเอ็งมาเมื่อไรเข้ามาหัวหลุดจากบ่าทันที มโหสถพร้อมด้วยประชาชนพากันแห่แหนเข้าไปยังพระราชวัง เมื่อถึงเห็นพระเจ้าวิเหราชประทับอยู่ที่พระแกลก็ลงจากรถถวายบังคม พระเจ้าวิเทหราชเห็นมโหสถลงมาถวายบังคมก็ค่อยใจชื้น เพราะแน่รู้ว่ามโหสถไม่ชิงราชสมบัติ จึงทรงรับสั่งถามอย่างไม่รู้ไม่ชี้ว่า
“พ่อมโหสถ เมื่อวานกลับแต่วัน เพื่งจะมาเดี๋ยวนี้เอง จะบอกเล่าเก้าสิบบ้างก็ไม่ได้”
“ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ เรื่องอะไรอยู่ก็รู้แก่พระทัยของพระองค์สิ้นแล้ว อย่าให้กระหม่อมฉันต้องทูลซ้ำเลย”
“มโหสถ เธอออกจะดูหมิ่นฉันเสียแล้ว”
“ขอเดชะ กระหม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น แต่ว่าความลับของท่านอาจารย์ทั้ง ๔ น่ะ พระองค์รู้แล้วหรือ?” และได้ทูลต่อไปว่า “อาจารย์ทั้ง ๔ ได้ทูลข้อความนั้น ข้าพระองค์ได้ทราบความลับของท่านอาจารย์ที้ง ๔ อย่างแจ่มแจ้งแล้ว จะขอทูลถวายให้ทรงทราบ”
“ลองว่าไป” มาจารย์เสนกะได้ล่อลวงหญิงแพสยาไปกระทำเสวนกิจแล้วฆ่านางฝังศพไว้ ที่อาจารย์เสนกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นกบฎนั้นเสนกะนั่นแหละพระเจ้าค่ะที่เป็นกบฎล่ะ”
“จริงหรือเสนกะ ที่เจ้าฆ่าหญิง”
เสนกะเหงื่อแตกโซมหน้า จะปฎิเสธก็ใช่ที่ เพราะหลักฐานมี จึงอ้อมแอ้มตอบว่า “จริงพระเจ้าค่ะ”
“ชะ ชะ ไอ้พวกนี้ เฮ้ย ราชมัลจับเจ้าเสนกะไปจำคุกไว้ก่อน” อาจารย์เสนกะก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินเข้าคุกไปโดยดีให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว
“ส่วนอาจารย์ปุกกุสะ เป็นโรคที่สังคมรังเกียจคือโรคเรื้อนที่ขา ซึ่งทางราชการก็ไม่เลี้ยงคนเช่นนี้ พระองค์ยังแถมเคยหนุนแข้งขาของปุกกสะด้วย”
พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า “จริงหรือปุกกุสะ”
“ขอเดชะ จริงพระเจ้าค่ะ” ปุกกุสะตอบอย่างไม่เงยหน้ามองผู้ใด”
“เอามันไปขังคุกไว้ก่อน”
“อาจารย์กามินทร์ถูกผีเสื้อยักษ์สิงพระเจ้าค่ะ เวลาสิงจะร้องเหมือนหมาบ้า ซึ่งพระองค์ไม่ควรจเลี้ยงไว้ให้เป็นเสนียดจัญไรแก่พระราชฐาน”
“จริงไหมกามินทร์”
“จริงพระเจ้าค่ะ”
“จับมันไปขังคุก”
“อาจารย์เทวินทร์ลักพระราชทรัพย์ โทษถึงสิ้นขีวิตพระเจ้าค่ะ”
“เขาลักอะไรล่ะ?”
“ลักแก้วมณีพระเจ้าค่ะ”
“จริงรึเทวินทร์”
“จริงพระเจ้าค่ะ”
“เอามันไปขังคุก” เป็นอันว่าอาจารย์ทั้ง ๔ ต้องเข้าไปประดิษฐานอยู่ในคุกเพราะความอิจฉาริษยา พยายามทำร้ายคนที่ไม่ทำร้ายตอบสาธุ ถ้าความยุติธรรมยังมี
รุ่งขึ้นพระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษามโหสถว่า จะให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ เฆี่ยนคนล่ะ ๑๐๐ แล้วก็ให้ประหารเสีย เมื่อนำอาจารย์ทั้ง ๔ มาเฆี่ยนเรียบร้อยแล้ว ราชมัลก็จะนำไปสู่ที่ประหาร แต่มโหสถก็กราบทูลขอว่า
“ชอเดชะ อาจารย์เหล่านี้เป็นคนเก่าคนแก่ของพระองค์ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะความริษยาข้าพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น พูดถึงความฉลาดเฉียบแหลมแล้วหาตัวจับยาก หากพระองค์พระราชทานชีวิตไว้ จะมีประโยชน์แก่แผ่นดินอีกมากพระเจ้าค่ะ”
“เขาคิดจะฆ่าเจ้านะมโหสถ”
“ข้าพระองค์ไม่คิดพยาบาทพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นเรายกให้เจ้า” และบังคับนักปราชญ์ทั้ง ๔ ให้เป็นทาสของมโหสถ
มโหสถก็ได้ยกให้เป็นไปในเวลาต่อมา และขอให้พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็ได้ตามความประสงค์ นักปราชญ์ทั้ง ๔ รอดตายได้ก็เพราะมโหสถช่วย เลยเลิกคิดเคียดแค้น และนับแต่นั้นมา มโหสถก็เป็นอำมาตย์ว่าราชกิจการบ้านเมืองทุกอย่างเต็มที่
ผจญศึก
ตั้งแต่ปราบอาจารย์ทั้ง ๔ เสร็จเรียบร้อยแล้ว มโหสถ เป็นที่ปรึกษาในกิจราชการทุกอย่าง แม้กระทั่งการป้องกันพระนคร เขาได้ตระเตรียมซ่อมแซมป้อมคูป้อมประตูหอรบ โดยขุดลอกคูเมือง และกักเก็บน้ำไว้บริโภคสั่งสมเสบียงอาหาร พร้อมกับส่งราชบุรุษคือหัวแนวที่ห้าไปไว้ทุกเมือง ที่มโหสถทำดังนี้เข้าคติที่ว่า
“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัญ ก็อาจสู้ริปูสลาย” แม้จะมีผู้อื่นทัดทานในการที่สิ้นเปลืองทั้งกำลังแรงงานและกำลังทรัพย์ แต่มโหสถเห็นภัยข้างหน้ามากกว่า จึงพยายามชี้แจงให้ผู้คัดค้านนั้นเชื่อถือและยินยอม
ต่อมาไม่ช้าราชบุรุษที่ส่งไปไว้กับปิลรัฐ ก็ส่งข่าวมาว่าเห็นพระเจ้าสังขพลกะ ตระเตรียมกองทัพช้างม้าไม่รู้ว่าจะไปก่อศึกกับประเทศใด หากท่านอยากทราบความละเอียดโปรดส่งนกแก้วแสนรู้ไปสืบความดู มโหสถเลี้ยงนกแก้วแสนรู้ไว้ตัวหนึ่ง จึงได้ส่งนกแก้วไปสอบสวนดูพฤติการณ์แห่งนครนั้น ทราบความแล้วให้ตรวจต่อไปทุกเมืองด้วย
เจ้านกแก้วก็บินจากไปดูการตระเตรียมทัพของพระเจ้าสังขพลกะ แล้วบินไปถึงอุดรปัญจาล พระเจ้าจุลนีหรพมทัตเป็นผู้ครอบครอง มีรี้พลพหลโยธามากมาย แถมมีผู้ปรึกษาที่แสนจะเฉียบแหลมชื่อเกวัฎด้วยผู้เหนึ่ง เกวัฎจอมเจ้าเล่ห์ พยายามใช้อุบายยกกองทัพไปล้อมเมืองน้อยต่าง ๆ บังคับให้ส่งบรรณาการแก่พระเจ้าจุลนีถึง ๑๐๐ หัวมือง นับว่าแผนการยุทธของเกวัฎไม่เลว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเกวัฎคิดจะยึดครองเมืองเหล่านั้นเสียทั้งหมด โดยจะวางยาพิษให้ดื่มในคราวประทุมเลี้ยงฉลองชัย แต่ความคิดเหล่านี้ล่วงรู้ไปถึงมโหสถเสียก่อน จึงได้ให้ตระเตรียมไว้รับทัพกับปิลรัฐอย่างแข็งแรง เกวัฎยังรู้จักคนอย่างมโหสถน้อยไป มโหสถรำพึง
“เราจะต้องทำให้รู้จักเราให้ได้” เขาจะทำอย่างไงที่จะทำให้เกวัฎรู้จักเขาได้ เราดูกันต่อไป ทัพพระเจ้าจุลนียกไปล้อมเมืองเล็กน้อยต่าง ๆ ตามอุบายของเกวัฎ กระทั่งได้ถึง ๑๐๑ หัวเมือง มาจนกระทั่งถึงเมืองมิถิลานคร ซึ่งพระเจ้าจุลนีจะตีเอา แต่อำมาตย์กลับทูลคัดค้านเพราะเห็นว่ามีคนสำคัญคือมโหสถอยู่ด้วย สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดเว้นมิถิลานครเท่านั้น พระองค์ก็ได้หมดแล้ว จะมาคิดโลภสมบัติมิถิลานครอีกดูไม่สมควร และได้สั่งให้พระราชา ๑๐๑ กลับพระนคร แต่ก่อนจะกลับควรฉลองชัยชนะเสียก่อน ซึ่งพระราชาเหล่านั้นมิได้ระแวง ก็พร้อมกันในอุทยานซึ่งจะเป็นที่เลี้ยง
ในขณะนั้นเองก็ได้เกิดอลแวงเพราะมีเสียงทหารก่อวิวาทกันเป็นโกลาหลไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไหเหล้าที่เตรียมไว้เลี้ยงถูกมือมึดบ้างลูกหลงบ้างจากการวิวาทบ้างทุบตีแตกเสียหายหมดน้ำเหล้าที่เจือยาพิษไหลนองส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วทั้งอุทยาน การเลี้ยงฉลองชัยต้องป็นอันระงับไป เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะมโหสถจะช่วยพวกกษัตริย์เหล่านั้นให้รอดจากการถูกปลงพระชนม์ จึงได้ส่งทหารปลอมแปลงเป็นไพร่พลของท้าวพระยาเหล่านั้น เข้าไปก่อวิวาททำลายพิธีเสีย มิใช่แต่เท่านั้น เมื่อเห็นว่าทำลายพิธีฉลองชัยเรียบร้อยแล้ว กลับประกาศเสียด้วยว่า
“เราเป็นทหารของมโหสถ ใครอยากจะพบกับมโหสถก็เชิญที่มิถิลา” ผู้ที่เคียดแค้นที่สุดก็คือเกวัฎกับพระเจ้าจุลนี เพราะโครงการวางไว้กลับถูกทำลายโดยสิ้งเชิง พวกพระราชา ๑๐๑ องค์ แทนที่จะนึกถึงคุณของมโหสถที่ช่วยให้รอดชีวิต กลับโกรธเคือง กูจะกินเลี้ยงสักหน่อยก็มาเป็นก้างขวางคอ แม้พวกไพร่พลก็เคียดแค้นไปตาม ๆ กัน เพราะอดกินนั้นเอง
เมื่อพระเจ้าจุลนีบอกว่า ให้ติดตามไปดูหน้าเจ้ามโหสถทุกองค์และทุกคนก็พร้อมจะไปทั้งนั้น แต่เกวัฎเป็นคนฉลาด ตนเองไม่แน่ใจว่าจะเอาชนะมโหสถได้ ถ้ายิ่งเกิดพ่ายแพ้ก็จะเสื่อมเสียความนับถือ จึงออกอุบายให้พระราชาทั้ง ๑๐๑ องค์ ไปด้วย ก็คงไปแต่เฉพาะพระเจ้าจุลนีเท่านั้น เมื่อทัพของพระเจ้าจุลนีเดินทางมาถึงเมืองมิถิลาแล้ว ก็สั่งให้ล้อมพระนครไว้อย่างแน่นหนา ท่านปราชญ์ทั้ง ๔ พากันตกใจกลัว แต่มโหสถหาได้ตกใจกลัวไม่ เพราะได้ตระเตรียมการไว้พร้อมแล้ว กองทัพที่ล้อมไว้แลดูไพร่พลหนุนเนื่องกันอย่างแน่นขนัด ปานประหนึ่งแถวคลื่นที่วิ่งไล่กันเป็นระยะ ๆ มิได้ขาดสายเลย แลไปทางไหนก็ล้วนล้วนแต่ข้าศึกสลอนไปทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์จะออกไปเลย แม้แต่นกผ่านก็จะถูกยิงด้วยธนูสิ้นชีวิตเสียก่อนที่จะผ่านกองทัพไปได้ มิถิลาจะแย่เสียกระมัง พระเจ้าวิเทหราชเองก็รู้สึกขวัญไม่ค่อยจะดีนัก ทรงตรัสถามปราชญ์ทั้ง ๔ ท่านเพื่อหาทางออก ปราชญ์ทั้ง ๔ ก็จนปัญญาไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ จึงต้องทรงปรึกษากับมโหสถ ซึงมโหสถก็ทูลให้เบาพระทัยในการจะสู่ศึก
พระเจ้าจุลนีทรงล้อมเมืองเพื่อให้ยอมแพ้ แต่เมื่อเห็นชาวเมืองไม่ยอมแพ้ ก็คิดจะกักน้ำโดยทำทำนบกั้นน้ำที่ไหลเช้าไปในเมืองเสีย แต่มโหสถก็แสดงให้ทราบว่าในเมืองมีบ่อมีสระที่ลึกและกว้างใหญ่มากมาย แม้จะล้อมทั้งปี ผู้คนพลเมืองก็ไม่อด กักเพื่อให้อดข้าวและฟืน แต่มโหสถก็สำแดงให้ทราบว่า ฟืนและข้าวเปลือกในเมืองมีพอกับประชาชนพลเมือง แม้จะล้อมอยู่กี่ปีก็ไม่อดตาย
เมื่อคิดว่าจะยอมให้ยอมแพ้ไม่สำเร็จ เกวัฎจึงทูลพระเจ้าจูลนีขอตัดศึกโดยทำธรรมยุทธกับมโหสถ โดยกำหนดว่าถ้าใครไหว้คนนั้นจะต้องพ้ายแพ้ โดยอาจารย์เกวัฎเห็นว่า มโหสถเป็นคนมีปัญญามีสัมมาคารวะ เมื่อตนซึ่งสูงอายุกว่า ก็ต้องทำความเคารพฐานผู้ใหญ่กับเด็ก มโหสถจะแก้ไขอย่างไรล่ะ พอได้รับคำท้าเรื่องธรรมยุทธ มโหสถก็เห็นทางชนะทีเดียว เขาเข้าไปขอยืมแก้วมณีวิเศษมาจากพระเจ้าวิเทหราชเพื่อใช้ประกอบในสงครามกับฝ่ายศัตรู ในสนามรบได้จัดตั้งที่ประทับให้พระราชาทั้งสองฝ่ายได้ประทับอยู่ด้วย ไพร่พลให้ยืนประจัญหน้ากันกลางสนามซึ่งก็ออกจะไกลจากที่ประทับทั้งสองฝ่ายหน่อย
วันทำสงความได้เริ่มขึ้น โดยอาจารย์เกวัฎแต่งตัวอย่างนักปราชญ์ออกไปยืนคอยมโหสถอยู่ในสนามก่อน มโหสถก็ถือแก้วมณีออกไปกลางสนาม เมื่อประจันหน้ากัน เขากล่าวกับอาจารย์เกวัฎว่า
“ท่านอาจารย์คงได้เคยเห็นแก้วมณีดวงนี้ หรือเคยทราบกิตติศัพท์ในความวิเศษมาบ้างแล้ว” อาจารย์เกวัฎยิ้มพยักหน้า
“เคยเห็นและเคยทราบกิตติศัพท์ว่าเป็นแก้ววิเศษดวงหนึ่งในแผ่นดิน”
“ที่ข้าพเจ้าถือมาในวันนี้ ท่านอาจารย์ทราบไหมว่าข้าพเจ้าถือมาทำไม”
“ไม่ทราบ”
“ข้าพเจ้าจะให้ท่านอาจารย์” เกวัฎแสดงอาการลิงโลดอย่างเห็นได้ชัด
“ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำไม?”
“เพราะท่านอาจารย์ทำให้บ้านเมืองข้าพเจ้ารอดพ้นจากการโจมตี จนไม่ต้องเสียชีวิตไพร่พลและบ้านเมือง”
“ท่านจะให้ข้าพเจ้าจริง ๆ หรือ?”
“จริง ๆ ขอได้โปรดมารับเอาเถิด” พออาจารย์เกวัฎเดินมารับแก้วมณีซึ่งมโหสถส่งให้ พอถึงมือความหนักของแก้วมณีทำให้หล่นจากมือเกวัฎลงยังพื้นดิน ด้วยอารามเสียดายเกวัฎก็ก้มลงไปเก็บ และในขณะนั้นเองมโหสถก็กดศรีษะเกวัฎไว้ พลางหัวเรอะพร้อมกับพูดว่า
“ท่านอาจารย์ อย่าได้เคารพข้าพเจ้าผู้เป็นเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานเลย โปรดลุกขึ้นเถิด” ใคร ๆ ก็เห็นกันถ้วนทั่วหน้าแล้วว่าเกวัฎก้มลงไปแทบเท้ามโหสถก็นึกเสียว่าไหว้เท้า เกวัฎเองจะดิ้นก็ไม่ไหวเพราะกำลังสู้มโหสถไม่ได้ จะสะบัดก็ไม่หลุด
“เล่นบ้า ๆ” ได้แต่บ่นพึมพำอยู่เท่านั้น มโหสถเห็นว่าคนทั้งปวงเห็นทั่วกันแล้ว ก็ใสศรีษะเกวัฎไปข้างหลังถึงกับหงายท้อง
พอลุกขึ้นได้ก็เปิดหนี ไพร่พลก็แตกตื่นตกใจกระจัดกระจายพระเจ้าจุลนีถึงกับพระพักตร์เสีย อะไรยอมเขาง่าย ๆ เช่นนี้ โดยมิได้ตรัสอะไรเลย เสด็จกลับเมืองทันที มโหสถไม่ปล่อยนาทีทองให้ผ่านไปง่าย ๆ เขาได้สั่งไพร่พลโจมตีซึ่งกำลังเสียขวัญอยู่ให้แตกกระเจิดกระเจิง หนีกลับเมืองของตนอย่างทุลักทุเล กว่าเกวัฎจะติดตามกองทัพทันก็ไปไกลเต็มที อาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งหลายถูกข้าศึกกวาดไปได้มากมาย เกือบจะพูดได้ว่าเหลือแต่ตัวเท่านั้นกลับไป
ซ้อนกล
พระเจ้าจุลนีเห็นเสียท่าเขาเสียแล้ว เลยพากันกลับพระนคร คิดหาทางเล่นงานทางอื่นต่อไป อาจารย์เกวัฎเองหัวหูดูไม่ได้ เพราะถูกมโหสถกดลงไปกับพื้นดิน ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น
“ถ้ามีโอกาสมึงตาย” เขาได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป เขาเห็นว่าพระเจ้าจุลนีมีพระราชธิดาแสนสวย จึงคิดจะล่อให้พระเจ้าวิเทหราชมา แล้วจะจับกุมเอาตัวไว้บังคับให้ยอมถวายบรรณาการ มิฉนั้นจะประหารเสีย พระเจ้าจุลนีก็ชอบใจในความคิดของเกวัฎ จึงได้ส่งฑูตสันติไปยังมิถิลา ขอทำสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นจึงใคร่ถวายพระราชธิดาเป็นบาทบริจากา ซึ่งพระเจ้าวิเทหราชจะต้องไปจัดการพิธีอภิเษก ณ ปัญจาลนคร
ทูตได้เดินทางมาถึงมิถิลา ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากมโหสถผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และได้ทราบความแล้วเขาก็วิตกอยู่ในใจ แต่นิสัยนักสู้จะต้องพยายามแก้ไขเอาตัวรอดให้ได้ แบบเอาเหยื่อล่อปลาเข้าไปกินเบ็ดนี้
ในเรื่องของจีนก็มีจากเรื่องสามก๊ก ตอนเอาบีฮูหยินน้องสาวซุนกวนล่อเล่าปี่ไปเพื่อจะจับฆ่าเสีย แต่ในเรื่องนั้นมีขงเบ้งช่วยแก้ไขตลอดจนได้ตัวบีฮูหยินมา ซึ่งซุนกวนไม่ได้อะไรเลย แถมเสียน้องสาวเปล่า ๆ เสียด้วย
นี่ก็เช่นเดียวกัน มีเจ้ามโหสถเป็นผู้ช่วย มโหสถตระเตรียมการโดยไปตั้งเมืองใหม่ใกล้เขตปัญจาลนครเพื่อจะได้ต้อนรับพระเจ้าวิเทหราช และได้ทำการแอบขุดอุโมงค์จากในเมืองจนมาถึงในพระราชวังของพระเจ้าจุลนี โดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่รู้เลย ตระเตรียมการที่จะซ้อนกลไว้อย่างเสร็จสรรพ
เมื่อพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพักยังเมืองใหม่เพียงคืนเดียวเมืองก็ถูกล้อมล้อมด้วยพระเจ้าจุลนีและพระราชาทั้ง ๑๐๑ หัวเมือง เจ้ามโหสถก็หาได้ตื่นตกใจไม่ ขณะที่พระเจ้าจุลนีไปล้อมเมืองคิดจะจับตัวพระเจ้าวิเทหราชนั้นก็ทรงทิ้งมเหสีโอรสธิดาไว้ทางข้างหลังโดยคิดไม่ถึงว่าจะมีใครกล้าเข้ามาถึงข้างในพระราชวังได้ มโหสถคุมทหารและคนสนิทเดินตามทางอุโมงค์ที่ขุดไว้ไปทะลุขึ้นภายในพระราชวังของพระเจ้าจุลนี จับกุมเอาคนเหล่านั้นไปไว้ในอุโมงค์ และยังแถมลำเลียงส่งไปยังเมืองมิถิลาเสียด้วย เมื่อการทั้งปวงเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รุ่งเช้าเจ้ามโหสถก็โผล่หน้าออกไปยังหอรบ และทูลต่อพระเจ้าจุลนีซึ่งคุมทหารมาประจันหน้าอยู่ข้างหลัง
“พระองค์อย่าเล็งผลเลิศ คิดว่าจะจับข้าพเจ้าและพระราชาของข้าพเจ้าได้หรือ ตอนนี้พระมเหสี โอรส และธิดา ของพระองค์อยู่ในมืองของข้าพระเจ้าเรียบร้อยแล้ว”
“ชะ ชะ เจ้าจะมาขู่ข้ารึ” พระเจ้าจุลนีตรัส
“จริง ๆ ไม่ได้ขู่ ไม่เชื่อก็ลองส่งคนไปดูสิ”
เมื่อพระเจ้าจุลนีส่งคนไปดูทางในเมืองก็ได้ทราบว่าถูกจับตัวไปหมดแล้ว ความแกล้วกล้าหมดไปทันทีที่คิดถึงอันตรายกับมเหสีและโอรสธิดาจะถูกฆ่า เจ้ามโหสถกลับปลอบว่า จะไม่ทำอันตรายกับคนเหล่านั้นเพียงจับตัวไว้เป็นตัวประกันเท่านั้น และยังแถมแสดงเมืองใต้ดินให้ดูเสียด้วย เวียดกงชนะฝรั่งเศสด้วยการขุดอุโมงค์เข้าไปถึงภายในค่าย มโหสถเก่งกว่าเพราะทำมาก่อน เข้าใจว่าแม่ทัพเวียดกงคงจะอ่านเรื่องมโหสถเป็นแน่
ที่คำโบราณเขาว่า อดีตคือสิ่งที่ล่วงไปแล้วเป็นกระจกเงาของปัจจุบันก็จะเห็นว่าจริงแท้แค่ไหน เพราะอะไรที่ว่าดีนั้นล้วนมาจากสิ่งที่เป็นอดีตทั้งนั้น ตั้งแต่วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนการรบการปกครองการอุตสาหกรรม เพียงแต่ปัจจุบันมาส่งเสริมเพิ่มเข้า จนกลายเป็นสภายที่เรียกว่าเหล่าเก่าในขวดใหม่เท่านั้นเอง
พระเจ้าจุลนีตื่นใจในความสามารถของมโหสถ ซึ่งเขาก็ได้พาชมทัศนาจรทุกแห่งหน มโหสถวางนโยบายที่จะให้พระเจ้าจุลนียอมแพ้อย่างจริงจังจึงได้พาลงไปทั้งพระยา ๑๐๑ หัวเมืองด้วยและขังพระราชา ๑๐๑ นั้นไว้ในอุโมงค์ ก็เป็นอันว่าเหลือแต่พระเจ้าจุลนีกับมโหสถเพียงสองต่อสองเท่านั้น เขาได้เงือดเงื้ออาวุธ ทำทีจะพิฆาตองค์พระเจ้าจุลนีเสียซึ่งทำเอาแทบสิ้นสติไปกับความกลัวตาย เขาได้เอาคำมั่นสัญญาจากพระเจ้าจุลนีว่า จะไม่คิดร้ายต่อเมืองมิทิลาและบ้านเมืองของใครอีกต่อไป แล้วก็ปล่อยให้พระราชาทั้ง ๑๐๑ กับพระเจ้าจุลนีออกมา พร้อมกับส่งมเหสีและโอรสคืนส่วนพระราชธิดานั้นก็ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าวิเทหราช เป็นอันว่าพระเจ้าจุลนีต้องเสียพระราชธิดาไปเปล่า ๆ เพราะความที่ขุดบ่อล่อปลาของเกวัฎ ศึกสงครามระหว่างปัญจาลนครกับมิทิลา ก็เป็นอันว่าหมดสิ้นไป
เมื่อรับมเหสีกับโอรสกลับมาแล้ว ก็ได้พบว่ามโหสถจัดการรับรองและเลี้ยงดูอย่างกษัตริย์ทุกประการ คิดถึงคุณว่ามโหสถประกอบไปด้วยคุณธรรมดีจริง ๆ ถึงกับชวนให้ไปอยู่ด้วย แต่มโหสถมิใช่คนข้าสองเจ้าบ่าวสองนายจึงไม่รับ ต่อเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนเมื่อไรจึงจะไปอยู่ด้วย ด้วยเชิงปัญญาอันเลิศล้น มโหสถอยู่ในฐานะคนเหนือคนตราบจนสิ้นชีวิต
คุณ ๆ ได้อ่านมโหสถมานานจนพอสมควร ได้รับอะไรจากเรื้องนี้บ้าง ปัญญาแก้ไขเฉพาะหน้า พร้อมกับรอบคอบในกิจการทุกอย่างเป็นคุณสมบัติของมโหสถ แม้ในการหาทรัพย์ท่านก็กล่าวไว้ว่าต้องใช้ปัญญา ขอจบเรื่องนี้ด้วยคำว่า
ทรัพย์นี้มีอยู่ใกล้
ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน
แว่นแคว้นแดนดิน มีสิ้นทุกสถาน
ถ้าใครเกียจคร้าน บ่พานพบเลย