ทำบุญไปทำไมกัน ???

#ทำบุญไปทำไมกัน ???
ผลจากการประกอบคุณงามความดีหรือกุศลนั้น คือบุญ บุญทั้งหลายเมื่อสะสมรวมกันมากๆเข้า #ก็จะกลั่นตัวเองเป็นบารมี ได้แก่..
ทานบารมี
ศีลบารมี
เนกขัมมบารมี
ปัญญาบารมี
วิริยบารมี
ขันติบารมี
สัจจบารมี
อธิษฐานบารมี
เมตตาบารมี
และอุเบกขาบารมี
รวมสิบทัศ
บารมีแต่ละอย่างนี้ เมื่อถูกสะสมกันมากๆเข้า #ก็จะกลั่นตัวเองเป็นอุปบารมี #และปรมัตถบารมี ตามลำดับ รวมเป็นสามสิบทัศ และจะติดตามให้ผลต่อไปในอนาคตหรือภพหน้า จนกว่าจะบรรลุมรรคผล นิพพาน
#วัตถุประสงค์ของการประกอบการบุญกุศล ก็เพื่อชำระกาย-วาจา-ใจ ของตนให้บริสุทธิ์ โดยการละหรือกำจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไป จนถึงหมดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
#ผลที่ได้จากการประกอบบุญกุศลนี้ นอกจากจะให้ผลในทางโลกุตระดังกล่าวแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบกรรมดีนั้นได้เสวยผลบุญในทางโลกียะ อันจะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวต่อไปจนกว่าจะสิ้นอาสวกิเลส ได้บรรลุมรรคผล นิพพาน อีกด้วย
#ผู้มีปัญญาจึงย่อมรู้จักใช้บุญ อันเกิดแต่การประกอบกรรมดีทั้งหลาย เพื่อการละหรือกำจัดอาสวกิเลส ทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงจะตรงเป้าหมายแห่งพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า..
#การบริจาคทาน ก็เพื่อให้ผู้บริจาคละหรือกำจัดอภิชฌา อันเป็นกิเลสหยาบให้หมดไป ให้เป็นผู้มีจิตใจเมตตาอารี เผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เป็นการชำระกาย-วาจา-ใจ ให้สะอาดได้ทางหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ผลบุญจากการบริจาคทาน ก็จะกลับติดตามสนองตนต่อไปในกาลข้างหน้า ให้เป็นผู้เจริญด้วยโภคทรัพย์ มีฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคง
#ท่านคงจะเคยได้พบเห็นมาแล้วว่า เพราะจน จึงไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำบุญเพิ่ม บางรายถึงกับต้องประกอบมิจฉาชีพ หรืออาชีพที่ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เพราะความยากจนข้นแค้น ไม่อาจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ จิตใจย่อมหม่นหมองเพราะว้าวุ่นอยู่กับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง การจะเจริญสมาธิปัญญาก็ไม่อาจกระทำได้โดยสะดวก เมื่อปัญญายิ่งน้อยลง ความรู้สึกในบาปบุญคุณโทษก็ยิ่งเบาบาง หรือหมดไปเลยก็มี เป็นทางให้อาสวกิเลสอันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบคลุมจิตใจให้มืดมนหนักยิ่งขึ้นไปอีก ระดับจิตก็ยิ่งตกต่ำลงไปตามลำดับ จนในที่สุดธรรมสัญญาก็ขาดจากใจ เมื่อจุติหรือตายลงก็ย่อมมีทุคติเป็นที่หวัง ทั้งนี้เป็นเพราะได้สร้างสมทานบารมีไว้น้อยแต่อดีต จึงเปิดโอกาสให้สร้างบาปในปัจจุบันได้มากขึ้น อุปมาดั่งคนจนยอมมีโอกาสที่จะมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น เพราะต้องเสียค่าดอกเบี้ยทบต้นฉะนั้น
#ในทางกลับกัน ท่านก็คงจะได้พบเห็นผู้ที่มีอยู่มีกิน ไม่เดือดร้อน มีฐานะดี มีสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค มีจิตใจเมตตาอารีเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งทรัพย์ที่มีอยู่หรือทำมาหาได้ เพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น ได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ มีจิตใจเป็นกุศล เหล่านี้ ย่อมเป็นผลจากการที่ได้สร้างสมทานบารมีอันประกอบด้วยปัญญามามากแต่อดีต จึงทำให้มีโอกาสได้สร้างสมบุญบารมีเพิ่มมากขึ้นอีกในภพนี้และภพหน้า ประดุจดั่งเศรษฐีมีทรัพย์มาก ก็มีโอกาสเก็บดอกผลทุนทรัพย์ได้มากขึ้น ด้วยเงินต่อเงินหรือบุญต่อบุญนั่นเอง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อจุติย่อมมีสุคติเป็นที่หวัง เพราะรู้จักหาบุญได้ใช้บุญเป็นนั่นเอง
#ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง เป็นคนมีทรัพย์มากแต่มีจิตใจตระหนี่คับแคบ ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยอภิชฌา จึงได้ชื่อว่าอสัตบุรุษ บุคคลประเภทนี้ เคยประกอบทานกุศลอันประกอบด้วยอวิชชาหรือโมหะ ขณะเมื่อกำลังเสวยผลบุญอยู่ก็ยังมีอวิชชาหรือโมหะที่พกติดตัวมาด้วยมาก ทั้งๆที่มีอยู่มีกินไม่เดือดร้อน หรือรุ่งเรืองด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ก็ยังมีจิตใจเป็นอกุศล กรปรไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นชอบ เป็นทางให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตใจ มีสติปัญญาอันเสื่อมทราม จนไม่พอที่จะรู้เรื่องบาปบุญคุณโทษได้ มีแต่ความประมาทขาดหิริโอตตัปปะ แล้วหันเข้าประกอบมิจฉาชีพ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น ห่างจากการบริจาคทาน สมาทานศีล เจริญสมาธิและปัญญา ไม่ช้าก็ถึงซึ่งความเสื่อม เพราะมีใจเป็นอกุศล สร้างบาปพอกพูนมากขึ้น ระดับจิตก็ตกจนถึงขั้นธรรมสัญญาขาดจากใจ เมื่อยังมีชีวิตอยู่แม้จะมีทรัพย์ก็หาความร่มเย็นเป็นสุขมิได้ เมื่อจุติย่อมมีทุกคคติเป็นที่ไป ต่อไปในภพหน้าหรือกาลข้างหน้าก็จะกลับกลายเป็นคนต่ำต้อย หรือยากไร้ทรัพย์อีก
ฉะนั้น #การบริจาคทานหรือประกอบการกุศล #จึงควรกระทำด้วยปัญญา กล่าวคือ เพื่อความหลุดพ้นหรือสิ้นอาสวกิเลสของตนเองและผู้อื่น ก่อนบริจาค ขณะบริจาค และภายหลังบริจาค ก็ควรจะได้กระทำกาย-วาจา-ใจ ให้บริสุทธิ์ ด้วยการสมาทานศีล เจริญสมาธิและปัญญา และควรบริจาคกับผู้บริสุทธิ์ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ ด้วยทรัพย์อันได้มาโดยบริสุทธิ์ จึงจะได้อานิสงส์เต็มส่วน
#การรักษาศีล ก็เพื่อกำจัดกิเลสอย่างกลาง อันจะเป็นเครื่องส่งเสริมสมาธิได้เป็นอย่างดี
#การเจริญภาวนา หรือการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ก็เพื่อให้จิตใจสงบระงับจากความกำหนัดยินดี เป็นอุบายชำระจิตใจให้ปลอดจากนิวรณ์ และเป็นวิชาเบื้องต้นที่จะนำไปสู่วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อดับอวิชชาและให้เกิดปัญญา สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป จึงนับเป็นมหากุศลทีเดียว
#การประพฤติถ่อมตนกับผู้ใหญ่ ก็เพื่อทำลายถัมภะ คือความหัวดื้อหัวรั้น ไม่ยอมฟังเสียงหรือเหตุผลของผู้อื่น และกำจัดอติมานะ คือนิสัยชอบดูถูกดูแคลนผู้อื่น ให้หมดไปจากสันดาน
#การช่วยขวนขวายในสิ่งที่ชอบ ก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว นับเป็นกุศลกรรมอีกอย่างหนึ่ง
#การให้ส่วนบุญกุศลอันตนได้กระทำไว้แล้ว ทางกาย วาจาและใจ ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เพื่อกำจัดโทสะ ได้แก่ความโกรธอย่างรุนแรง โกธะคือความโกรธอย่างเบาบาง และ อุปนาทะอันได้แก่ความผูกพยาบาท ความผูกโกรธหรือผูกใจเจ็บ ให้หมดไปจากสันดาน และเป็นการเจริญพรหมวิหารไปในตัวอีกด้วย นับเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่รองลงไปจากภาวนามัยทีเดียว
#การอนุโมทนาส่วนบุญ ก็เพื่อชำระจิตใจตนให้สะอาด สามารถช่วยกำจัดอิสสา คือความริษยา ไม่พอใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี และ มานะคือความเย่อหยิ่งจองหอง อวดดี ให้สูญหายไปจากสันดาน
#การฟังธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว (สวากขาตธรรม) ในที่นี้ หมายความรวมถึงการศึกษาหาความรู้เรื่องธรรม จากการฟังธรรมหรือค้นคว้าเรื่องธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องกำจัดโมหะ ความหลงผิด หรือกำจัดมิจฉาทิฐิ อันได้แก่ความเห็นผิด
#การแสดงธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม และหากได้กระทำไปโดยมีจิตใจอันบริสุทธิ์ สะอาดผ่องใส ไม่มุ่งหวังลาภสักการะสิ่งใดตอบแทน ก็เป็นการกำจัดโมหะหรือมิจฉาทิฐิ ทั้งของตนเองและผู้อื่น จัดว่าเป็นบุญทั้งผู้แสดงและผู้สดับตรับฟังหรือเรียนรู้
#การทำความเห็นของตนให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นต้นว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือใครทำกรรมอันใดไว้ ก็ต้องเสวยผลแห่งกรรมนั้น ฯลฯ ก็เป็นการกำจัดโมหะหรือมิจฉาทิฐิอีกเช่นเดียวกั
ฉะนั้น
การสร้างบุญกุศลใดๆก็ตาม หากผู้กระทำจะได้มีสติปัญญาระลึกได้ว่า กระทำไปเพื่อละหรือกำจัดอาสวกิเลส มุ่งประโยชน์ในทางโลกุตระอันเป็นทางพ้นทุกข์ด้วยแล้ว ผู้สร้างบุญกุศลนั้นย่อมได้อานิสงส์มากกว่าผู้กระทำไปด้วยความมัวเมาปราศจากปัญญา ซึ่งมุ่งจะให้ได้ประโยชน์ในทางโลกียะแต่อย่างเดียว จึงจะได้ชื่อว่ารู้จักหาบุญได้ใช้บุญเป็น.
_________________
เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี
_________________
ที่มา
บางตอนจากหนังสื
“ทางสร้างบุญ”
_________________
ที่มาของธรรมะจา
เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า
แชร์เลย

Comments

comments

Share: