ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมเป็นผู้ไม่ยากจน 1

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

เรื่องที่อาตมภาพจะได้บรรยายในวันนี้คือเรื่อง “ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมเป็นผู้ไม่ยากจน” ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในสัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 23 ข้อ 5 ว่า

 ยสฺส  เอตา  ธนา  อตฺถิอิตฺถิยา   ปุริสสฺส  วา
 อทฬิทฺโทติ  ตํ  อาหุอโมฆํ  ตสฺส  ชีวิตํ.
ทรัพย์เหล่านี้ มีแก่ผู้ใด  จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม  บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์.

ทรัพย์เหล่านี้ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา รวมเรียกว่า “อริยทรัพย์ 7” คือ ทรัพย์อันประเสริฐ 7 ประการ ที่ผู้มีทรัพย์เหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ยากจนจริงๆ

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า

“เพราะเหตุนั้น  ท่านผู้มีปัญญาเมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า 
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม.”

หมายความว่า  เพราะทรัพย์อันประเสริฐเหล่านี้ มีอยู่ในผู้ใดแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ไม่ยากจน ไม่เป็นคนเปล่าประโยชน์ อย่างนี้แล้ว ผู้มีปัญญาเมื่อระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ พึงน้อมเข้ามาประพฤติปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย   พึงเป็นผู้มีศีล และปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญปัญญา ด้วยความเห็นแจ้งรู้แจ้งในสภาวธรรมและสัจธรรมตามที่เป็นจริง  ได้ดวงตาเห็นธรรมถึงความสิ้นทุกข์ และบรรลุอมตธรรมคือพระนิพพานอันเป็นบรมสุข ตามรอยบาทพระพุทธองค์   แม้เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมนี้จะยังไม่บรรลุความเป็นพระอรหัตอรหันต์ผู้สิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง ฉับพลันทันตาเห็น   แต่เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ก็ย่อมทำหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้นได้ ให้เป็นผู้ไม่เปล่าประโยชน์  ให้เป็นผู้ไม่ตกต่ำ ไม่ยากจน  มีแต่จะทำให้เป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างแน่นอน

ยิ่งในปัจจุบันนี้  เป็นระยะที่ผู้คนเป็นจำนวนมากต่างรู้สึกว่าถูกสภาวะเศรษฐกิจบีบคั้น  หนักบ้าง เบาบ้าง ตามฐานะ  ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า  เพราะผู้คนขาดศีลขาดธรรม ไม่มีศีลไม่มีคุณธรรมประจำใจ เพราะไม่ได้สนใจศึกษาทำความเข้าใจในศีลในธรรมและปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม พากันหลงแต่วิชาความรู้ทางโลกที่มีแต่ให้เจริญทางวัตถุ พากันหลงพัฒนาแต่เทคโนโลยีเพื่อให้ได้สิ่งอำนวยความสะดวก  สิ่งบำเรอความสุขด้วยกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ที่ชวนหรือเย้ายวนให้หลงยินดี พอใจ  ติดใจถ่ายเดียว แต่ขาดการพัฒนาจิตใจที่มักจะใฝ่ต่ำ ด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ผู้คนที่มิได้รับการอบรมศีล สมาธิ และปัญญา จึงขาดคุณธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ  มีการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการ ด้วยความโลภจัด  มีความเห็นแก่ตัวแก่พรรคพวกของตนจัด  ตัณหาราคะจัด โกรธพยาบาท คิดแต่จะพิฆาตเข่นฆ่าผู้อื่นให้พินาศ โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม  อันเป็นคุณธรรมที่จะนำชีวิตตน หมู่คณะ และสังคมประเทศชาติไปสู่ความเจริญและสันติสุขอันถาวรได้อย่างแท้จริง

เพราะผู้คนมุ่งสนใจแต่ความเจริญทางวัตถุ และเทคโนโลยีใหม่ๆ   จึงไม่สนใจ ไม่ใส่ใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาทำความเข้าใจในพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติพระสัทธรรม ให้มีประสบการณ์และให้ได้รับผลตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติของตน ให้เกิดปัญญา เห็นทางเจริญและทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง   จึงขาดความศรัทธาในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์   ปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ได้แก่ ความหลงมัวเมาไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง  เมื่อธรรมสัญญาขาดจากใจ จึงพากันประพฤติปฏิบัติตนไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน   ประพฤติผิดศีลผิดธรรมอย่างไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล  นำตนและหมู่คณะ สังคมและประเทศชาติ ไปสู่ความเสื่อม  ใกล้ความหายนะและอาจถึงความหายนะได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้นแหละในวันนี้อาตมภาพ  จึงใคร่จะขอชี้แจ้งถึงข้อปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจ อันจะช่วยกอบกู้สภาวะทางเศรษฐกิจทางสังคมที่เสื่อมโทรม  ให้บุคคลผู้สนใจในธรรมที่จะนำชีวิตไปสู่ความเป็นผู้ไม่ยากจน ไม่คับแค้น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยอริยทรัพย์อันประเสริฐ  ให้กลับฟื้นคืนตัว ให้มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขที่ถาวรอย่างแท้จริงได้ ต่อไป

พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้านี้ เมื่อใครผู้ใดสนใจ ใส่ใจ ตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาให้เข้าใจ นำไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมได้รับผลดีแก่ตน เป็นคนไม่เปล่าประโยชน์ ข้อปฏิบัติให้เกิดอริยทรัพย์นี้ คือ

ประการที่ 1 พึงให้ระลึกถึงและพิจารณาถึงพระสัทธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เห็นด้วยปัญญา ว่า หลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกพระองค์ที่มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สอนให้ไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 ให้บำเพ็ญแต่ความดี 1 และให้ทำจิตใจให้ผ่องใส 1  นี้นะ เป็นหลักคำสอนที่ดีไหม ?  และกฎเกณฑ์ที่เป็นจริงตามธรรมชาติ หรือกล่าวโดยย่อว่า “กฎแห่งกรรม” ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ดีแล้ว คือทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยพระองค์เอง แล้วว่า “ผู้กระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว”   นี้นะ เป็นจริงไหม ?  แล้วพิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาอีกต่อไปว่า พระอริยสัจธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ความจริงอย่างประเสริฐ ในเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ มีได้เป็นได้อย่างไร และอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ และให้ถึงซึ่งความสุขที่ถาวรแท้จริง น่ะ เป็นจริงไหม ?

เมื่อระลึกถึงและพิจารณาเห็นพระสัทธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ตามที่เป็นจริง พอเป็นแนวทางให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแม้จะยังไม่แจ่มแจ้งเหมือนพระอริยเจ้า ก็พึงปลูกฝังความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยพระญาณ ด้วยพระปัญญาอันเห็นชอบแล้วจึงได้ตรัสสั่งสอนไว้ด้วยดีแล้วนั้นแล้วพึงศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม ส่งตนนำตนไปตามกระแสพระสัทธรรม ให้ได้รับผลดีแก่ชีวิตตามสมควรแก่ธรรมที่ตนปฏิบัติ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธาในพระพุทธและพระสงฆ์ อันเป็น บุคคลที่ควรเลื่อมใสศรัทธา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ความศรัทธาด้วยปัญญาเช่นนี้ก็จะเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่จะเป็นเสมือนเงาหรือเพื่อนสนิทที่จะคอยติดตามประคับประคอง ชักนำความประพฤติปฏิบัติของตนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม คือมีศีลมีธรรม นำตนและหมู่คณะ สังคมและประเทศชาติไปสู่ความเจริญและสันติสุขยิ่งๆ ขึ้นไปได้ ไม่มีเสื่อม เป็นบุคคลที่มีค่า เป็นผู้มีชีวิตไม่เปล่าประโยชน์

อาจมีบางท่านมีความคิดเห็นว่า  ก็มีพระภิกษุบางรูปที่ปฏิบัติตนไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส  ให้เสียศรัทธา ดังที่มีข่าวทางสื่อมวลชน  จึงเกิดวิกฤตศรัทธาพระพุทธศาสนาในหมู่ประชาชน  ข้อนี้อาตมภาพขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้มีความคิดเห็นเช่นนั้น ว่า  ให้ท่านทำใจให้สงบและให้เป็นกลางก่อน แล้วจงพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ให้เห็นพฤติกรรมนี้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง และตรงประเด็น ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ว่า

เรื่องที่มีพระภิกษุบางรูปมีความประพฤติปฏิบัติไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา  ทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ท่านลองพิจารณาให้ถ่องแท้ให้ตรงประเด็นซิว่า   นั่นเป็นเพราะพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ดี หรือว่าเป็นเพราะมีพระภิกษุรายบุคคลบางรูปที่ปฏิบัติพระสัทธรรมไม่ดีเอง

เมื่อพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม   ด้วยใจอันสงบจนเกิดปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ ถูกต้องตามที่เป็นจริงและตรงประเด็นแล้ว  ก็จะพบว่า พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ด้วยดีและตรัสสั่งสอนไว้ดีแล้ว ที่รวมเรียกว่า “พระพุทธศาสนา” นั้น เป็นความจริงอย่างประเสริฐสูงสุดแล้ว และนับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติแท้ๆ ที่พิสูจน์ได้เสมอ คือ ใครปฏิบัติตามพระสัทธรรมนี้แล้ว ย่อมได้รับผลดีจริง ไม่เลือกเวลา  ส่วนใครไม่ศรัทธาเลื่อมใสแล้วยังไม่ศึกษาและปฏิบัติให้ดี ก็ไม่ได้รับผลดีเอง   แต่พระพุทธศาสนาไม่เสื่อม คุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และคุณของพระสงฆ์  โดยส่วนรวมก็ไม่เสื่อม มีแต่ผู้ปฏิบัติไม่ดี ผู้ขาดศีลขาดธรรมเท่านั้นที่เสื่อม คือเขาเสื่อมจากความดีเอง  จึงไม่เกี่ยวอะไรด้วยกับผู้มีปัญญาอันเห็นชอบจะเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักวิเคราะห์แยกดี-แยกชั่ว ได้ถูกต้อง ตรงประเด็นอย่างนี้   เขาไม่พิจารณาอย่างมั่วๆ คลุมเครือ  แล้ววิพากษ์วิจารณ์แบบเหวี่ยงแห   ดังเช่นที่มีผู้วิจารณ์แสดงความคิดเห็นออกทางนิตยสารฉบับหนึ่ง ว่า “เมื่อปฏิรูปการเมืองแล้ว ต่อไปจะต้องปฏิรูปพระพุทธศาสนา”  เพราะความเห็นผิดว่า ขณะนี้พระพุทธศาสนากำลังเสื่อมแล้ว

นี่บังอาจยกตนเหนือพระพุทธเจ้าว่า รู้ดีกว่าพระพุทธเจ้า  ถึงกับยกเอาเรื่องของปุถุชนไปเปรียบกับโลกุตตรธรรม  คือพระอริยสัจธรรม อันพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ  คือได้ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งตามที่เป็นจริง แล้วจึงได้ตรัสสั่งสอนไว้ด้วยดี     ผู้มีความคิดที่จะปฏิรูปพระพุทธศาสนาเช่นนั้น จึงตกเป็นฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ โดยแท้    เพราะพระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นพระอริยสัจธรรมที่จริงแท้ ที่ประเสริฐสูงสุดแล้ว ไม่มีคำสั่งสอนของผู้ใดในจักรวาลนี้ หรือแม้หมดทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล ที่จะถูกต้องยิ่งไปกว่านี้อีกได้ ข้อที่ถูกหรือกำลังจะถูกปฏิรูปของปุถุชนผู้มืดบอด จึงมิใช่คำสอนที่แท้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เรียกว่าเป็น “ธรรมปฏิรูป” คือเป็นธรรมปลอม มิใช่เป็นพระพุทธศาสนา ผู้คิด ผู้พูด ผู้ทำการปฏิรูปพระพุทธศาสนา จึงมิใช่พุทธศาสนิกชนที่แท้จริง เพราะแสดงว่าเขาไม่รู้จักพระสัทธรรมที่แท้จริงๆ ของพระพุทธเจ้าเลย

แต่ถ้าคิดจะปฏิรูปการเมือง และ สังคม  ให้กลับมาศึกษาทำความเข้าใจและปฏิบัติพระสัทธรรม  ให้รู้จักนำพระสัทธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนและของหมู่คณะ เพื่อปรับปรุงพฤติกรรมทางการเมือง ทางสังคม และทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแล้ว เป็นอันถูกต้อง  เพราะพระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า  มีแต่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามมีสติปัญญาอันเห็นชอบ รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง จึงนำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแต่ฝ่ายเดียว เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ หลวงพ่อวัดสระเกศฯ จึงได้กล่าวในท่ามกลางสงฆ์ผู้เป็นเจ้าคณะปกครอง ผู้มาประชุมกันที่หอประชุมใหญ่พุทธมณฑล เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม ศกนี้ ว่า

“ความจริงแล้วพระพุทธศาสนานั้น  ไม่ใช่เพียงแต่เป็นศาสนาประจำชาติไทย หากแต่เป็นศาสนาประจำโลก   เพราะมีแต่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามเกิดความร่มเย็นเป็นสุข แต่เราก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปทำให้เป็นเช่นนั้นได้ทั่วทั้งโลก”

เพราะฉะนั้น ใครผู้ใดคิดจะปฏิรูปพระพุทธศาสนา คือคิดด้วยความเห็นผิดของตน ว่าจะปรับปรุงทำให้เหมาะสมดีขึ้น แล้วแสดงความคิดเห็นอันเป็นมิจฉาวาจาด้วยมิจฉาทิฏฐิ เช่นนั้นออกไปสู่สาธารณชน ทางสื่อมวลชน   ก็เป็นอันบอกได้เลยว่า พระเทวทัตกำลังจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งแล้ว   เพราะพระเทวทัตเมื่อสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่   ได้เคยมีความคิดที่จะปฏิรูปการปกครองการบริหารพระสงฆ์ และได้กราบทูลขอปกครองสงฆ์เองแทนพระพุทธเจ้า  และขอวัตถุ 5 คือ ขอตั้งกฎเกณฑ์ให้พระภิกษุถือปฏิบัติให้เคร่งครัดกว่าเดิม  เช่นว่า ให้พระภิกษุใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต ให้อยู่อาศัยตามโคนไม้ตลอดชีวิต ให้งดเว้นการฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิตเป็นต้นมาแล้ว  แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต   จึงคิดทำลายสงฆ์ เรียกว่า ทำสังฆเภท และบัดนี้พระเทวทัตก็ได้ไปเกิดในที่อันสมควรแก่กรรมชั่วของท่านแล้ว ผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายย่อมจะสามารถเห็นสภาพของพระเทวทัตที่กำลังเสวยผลกรรมอยู่ในปัจจุบันนี้ได้

อีกประการหนึ่ง  ข้อที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน  หรือบางท่านอาจจะพบเห็นด้วยตนเองบ้างว่า มีพระภิกษุบางรูปที่ประพฤติไม่ดีนั้น   จงพิจารณาให้เห็นถ่องแท้ว่า มีกี่มากน้อย เมื่อเทียบกับพระภิกษุสงฆ์ไทยที่มีจำนวนประมาณ 300,000 รูป ในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ประมาณ 30,000 วัด และเมื่อเทียบกับจำนวนพระภิกษุสงฆ์ที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติพระสัทธรรม แล้วช่วยแนะนำสั่งสอนศีลธรรม ภาวนาธรรม ด้วยความเสียสละ แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง กระทำคุณประโยชน์แก่สาธารณชน แก่สังคมและประเทศชาติ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งที่เปิดเผยรู้เห็นกันได้ และทั้งที่มิได้เปิดเผยให้เป็นที่รู้เห็นทั่วไปแก่สาธารณชน เพราะพระที่ดี ท่านก็มิได้ทำงานเอาหน้า หรือมิได้ทำกิจกรรมเพื่อความเด่นดังหรือเพื่อหวังผลตอบแทนจากใครๆ

เพราะฉะนั้น จงพิจารณาให้ถี่ถ้วน ให้เห็นแจ้งชัดตามที่เป็นจริงแล้วจะพบว่า จำนวนของพระภิกษุผู้ประพฤติไม่ดี ไม่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและที่ได้พบเห็นเองนั้น มีน้อยนัก หรือมีอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนพระภิกษุสงฆ์ที่ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยแนะนำสั่งสอนศีลธรรม ภาวนาธรรม แก่ประชาชนให้รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิต และได้ทำคุณประโยชน์แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น แก่สังคมประเทศชาติ ด้วยความเสียสละนั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก    เพียงแต่ว่าพระที่ทำดีและวัดที่มีกิจกรรมที่ดีๆ ที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติมากๆ ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางมาก หรือเหมือนอย่างกระแสข่าวของพระภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีบางรูป ซึ่งเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น

อนึ่ง พระภิกษุที่มีข่าวปฏิบัติไม่ดีนั้น ก็อาจจะมีทั้งผู้ที่เคยตั้งใจบวชมาปฏิบัติดี แต่กลับมาประพฤติเสียหายในภายหลัง และอาจมีทั้งผู้ที่บวชปลอมแปลงเข้ามาหากินในพระศาสนา และ/หรืออาจมีทั้งผู้เจตนาบวชปลอมแปลงเข้ามาเพื่อทำลายพระพุทธศาสนาก็ได้   เพราะพระภิกษุเจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ผู้รับบวชนั้นเมื่อท่านได้สอบถามอันตรายิกธรรม คือข้อขัดข้องที่ให้บวชไม่ได้กับผู้มาขอบวช และไม่ได้พิจารณาเห็นความพิรุธเสียหายใดๆ แล้ว ก็อนุเคราะห์ให้บวชเข้ามาเป็นพระภิกษุได้  เมื่อคนชั่วปลอมตัวมาบวชเพื่อมาหากินกับวัดหรือเพื่อมาทำลายพระพุทธศาสนา หรือแม้ผู้ที่เคยตั้งใจบวชเข้ามาทำความดี  แต่ภายหลังทนอำนาจกิเลสไม่ได้ แล้วกลับประพฤติเสียหาย แม้มีเพียงไม่กี่ราย แต่กลับตกเป็นกระแสข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรง อย่างกว้างขวาง ผู้ไม่พิจารณากรณีเหล่านี้ให้รอบคอบด้วยใจเป็นธรรม  ก็จะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเสื่อมแล้ว ถึงกับกล่าวกันว่า “เกิดวิกฤตศรัทธา”  จนเป็นผลให้พระภิกษุเจ้าคณะปกครองหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์  ผู้มีแต่เมตตากรุณา มีแต่ให้กับให้ ต้องพลอยมารับเคราะห์ คือความเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะผู้คนหลงเชื่อ  หลงคล้อยตามกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปด้วย   ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนา คือคำสอนของพระพุทธเจ้ามิได้เสื่อมเสีย   และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ดีก็มีมากมาย   วัดที่มีกิจกรรมดีๆ ที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติก็มีมาก   แต่กลับไม่ค่อยเป็นข่าวทางสื่อมวลชน คือมีบ้าง แต่น้อยเหลือเกิน เรียกว่าเป็นปฏิภาคกลับ กับ อัตราส่วนของกระแสข่าวพระไม่ดีที่มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เลยทีเดียว

เมื่อท่านพิจารณาเห็นพฤติกรรมนี้ด้วยปัญญาตามที่เป็นจริงอย่างนี้แล้ว พึงปลูกศรัทธาในพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ยิ่งขึ้นไป   ที่มีศรัทธาน้อยก็จงให้มีมากขึ้น ที่มีมากอยู่แล้ว ก็จงให้เจริญและมั่นคงยิ่งขึ้น   แล้วชีวิตของท่านจะมีแต่ความเจริญและสันติสุขแต่ส่วนเดียว เพราะมีอริยทรัพย์คือความศรัทธาเลื่อมใสในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา คือ พระสัทธรรม และมีความศรัทธาในบุคคลที่ควรศรัทธา คือ พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เจ้า ที่จะเป็นเสมือนเงา หรือเพื่อนสนิทที่คอยติดตามประคับประคองความประพฤติปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่แต่ในคุณความดี มีศีลมีธรรม และให้ดำเนินชีวิตไปแต่ในทางเจริญและสันติสุข ไม่ไปในทางเสื่อมที่เป็นโทษและความทุกข์เดือดร้อน จึงย่อมเป็นผู้ไม่ยากจนขัดสน และเป็นผู้มีชีวิตที่ไม่เปล่าประโยชน์ ในกาลทุกเมื่อ

ประการที่ 2 พึงงดเว้นความประพฤติชั่ว ด้วยความเป็นผู้มีศีลมีสัจ

ความประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า “กายทุจริต” ได้แก่ เจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เจตนาลักฉ้อและประกอบมิจฉาอาชีวะ และการประพฤติผิดในกาม ส่วนความประพฤติชั่วทางวาจาคือคำพูด เรียกว่า “วจีทุจรติ” ได้แก่ คำพูดโป้ปดมดเท็จ บิดเบือน หลอกลวงต่างๆ คำพูดหยาบช้า ด่าทอ กล่าวร้ายป้ายสีผู้อื่นให้เสียหาย คำพูดที่ยุแยกให้แตกสามัคคี และคำพูดที่เหลวไหล ไร้สาระ เป็นต้น และความประพฤติชั่วทางใจ คือทางความคิดเห็น เรียกว่า “มโนทุจริต” ได้แก่ ความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยความโลภความเห็นแก่ตัวเห็นแก่พวกพ้องของตน  จัดความคิดที่เต็มไปด้วยความโกรธพยาบาท  อาฆาตมาดร้าย  คิดแต่จะให้ผู้อื่นพินาศฉิบหาย และความคิดที่เต็มไปด้วยความหลงงมงาย  ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้กฎแห่งกรรม ว่า   ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว และไม่รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง

สาธุชนพึงเป็นผู้งดเว้นความชั่วทางกาย ทางวาจาและทางใจ รวมเรียกว่า “ทุจริต 3” เหล่านี้เสีย ด้วยการรักษาศีล ให้เป็นผู้มีศีลมีสัจ อย่างน้อยให้มีศีล 5 ได้แก่ เจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต 1 เจตนางดเว้นการลักฉ้อ คดโกง หรือการประกอบมิจฉาอาชีวะ คืออาชีพในทางที่ผิด 1  เจตนางดเว้นความประพฤติผิดในกาม 1  เจตนางดเว้นการโกหกหลอกลวง บิดเบือนความเป็นจริง 1  และเจตนางดเว้นการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท 1  ถ้าประชาชนทุกหมู่เหล่าพากันรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์และสมบูรณ์อยู่เสมอมากเพียงใด ความสันติสุขในชีวิตของผู้มีศีล และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองก็ย่อมมีมากขึ้นเพียงนั้น

แต่พฤติกรรมของสังคมในยุคปัจจุบัน ที่มีแต่ความเจริญทางวัตถุ และทางเทคโนโลยีใหม่ๆ   แต่ผู้คนขาดศีลธรรม มีแต่ความประพฤติที่เป็นกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มากเหลือเกิน    จะหาคนมีศีลมีสัจแม้เพียงศีล 5 ก็ยากเต็มที   ผลจากกรรมชั่วหรือทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่ผู้คนหลงมัวเมา ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้กฎแห่งกรรม ไม่รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อม แห่งชีวิต ตามที่เป็นจริงอย่างนี้   จึงคิดผิด รู้ผิด เห็นผิด พูดผิด ทำผิด ประกอบอาชีพผิดๆ นำคนอื่นผิดๆ และหลงตามผู้อื่นอย่างผิดๆ   แล้วยังนำตนและหมู่คณะ สังคมและประเทศชาติไปสู่ความเสื่อมที่เป็นโทษ    เป็นความทุกข์เดือดร้อน ให้เกิดความสับสนต่อปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น จนยากแก่การแก้ไขเยียวยา   จนชีวิตผู้คนในสังคมและประเทศชาติแทบจะถึงความล่มจมกันมาก อย่างที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้   ดังจะขอยกตัวอย่างของความประพฤติกายทุจริต และวจีทุจริต มาพอให้เห็นโทษอันควรให้ท่านผู้ฟังพอระลึกเห็นได้ แล้วจงตั้งใจรักษาศีล ให้เป็นคนมีศีลมีธรรม อันจะนำชีวิตตน ครอบครัวและหมู่คณะ ตลอดถึงสังคมและประเทศชาติ ไปสู่ทางเจริญและสันติสุข ยิ่งขึ้นได้ ดังตัวอย่างเช่น

“กายทุจริต” หรือความประพฤติผิดศีลข้อ “อทินนาทาน” คือ การเอาของของผู้อื่นที่เจ้าของเขามิได้ให้ ด้วยอาการอย่างขโมย หรือกล่าวย่อๆ ว่า “การลักฉ้อ” นี้เป็นความหมายหลัก แต่โดยความหมายอย่างกว้างแล้ว หมายความรวมทั้งการปล้นสะดม  การยักยอก  การคดโกง การปลอมแปลงสิ้นค้า การโกงตาชั่ง หรือเครื่องตวงวัด การขู่กรรโชคเอาทรัพย์ หรือการแบล็คเมล์  การคอรัปชั่นต่างๆ มีการโกงกินตามน้ำ-ทวนน้ำ เป็นต้น   และการประกอบอาชีพในทางที่ผิด  เช่น การโกงการเลือกตั้ง การซื้อเสียงหรือปฏิบัติผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้ตนได้รับเลือกตั้งเข้ามา หรือการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งโดยวิธีการอันมิชอบ การผลิต การจำหน่าย และสนับสนุน หรือการปกป้องการค้ายาเสพติด เหล่านี้เป็นต้น   ความประพฤติผิดศีลเหล่านี้แหละ แม้จะได้ทรัพย์สินเงินทองหรือตำแหน่งตามที่ตนปรารถนามา ก็ไม่จิรังยั่งยืน   และยังกลับจะได้รับผลเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อนได้อีกต่อไป แล้วแถมยังผลให้ผู้อยู่ร่วมกันในสังคมในประเทศชาติ ได้รับการเบียดเบียนให้เดือดร้อนเสียหาย เกิดปัญหาทางสังคม ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ที่ซับซ้อน ยุ่งเหยิง จนยุ่งยากแก่การเยียวยาแก้ไข ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้

อีกตัวอย่างหนึ่ง “วจีทุจริต” หรือความประพฤติผิดศีลข้อ “มุสาวาท” ตามความหมายหลักเบื้องต้น ก็คือ การกล่าววาจาเท็จ หรือการกล่าวคำโป้ปดมดเท็จ คือ “เป็นคนไร้สัจจะ” นั่นเอง   แต่ความหมายอย่างกว้างแล้ว  หมายความรวมถึงการกล่าวบิดเบือนให้คลาดจากความจริง การกล่าวคำปลิ้นปล้อน การหลอกลวงตลบตะแลงต่างๆ  การกล่าวร้ายป้ายสีให้ผู้อื่นเสียหาย การกล่าวคำหยาบช้า ด่าทอให้เจ็บช้ำน้ำใจ การกล่าวคำยั่วยุหรือยุแยกให้เขาแตกสามัคคีกัน และคำพูดที่เหลวไหล เชื่อถือไม่ได้ หรือคำพูดที่ไร้สาระประโยชน์ เหล่านี้ มีโทษแก่ตัวเอง คือคนไม่เชื่อถือในถ้อยคำ และก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนในสังคม ในทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค globalizationคือ ยุคโลกาภิวัตน์ ที่ข่าวสารแพร่หลายถึงกันได้สะดวก อย่างเช่นในทุกวันนี้

เพียง 2 ตัวอย่างเท่านี้ ท่านผู้ฟังก็คงพอจะพิจารณาเห็นโทษของความประพฤติชั่ว คือทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือความประพฤติผิดศีล ว่ามีแก่ผู้ประพฤติผิดศีลเองและแก่สังคมประเทศชาติ มากเพียงใด เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้มีศีลมีสัจ ผู้มีศีลและมีความประพฤติดี คือประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต  จึงมีแต่ความเจริญและสันติสุขในชีวิต  ไม่มีเสื่อม เพราะอริยทรัพย์คือศีล ย่อมเป็นบุญบารมี คือเป็นศีลบารมี ศีลอุปบารมี และศีลปรมัตถบารมี ที่คอยติดตามให้ผล แก่ผู้มีศีลอยู่ในจิตสันดาน ให้เป็นความสุขความเจริญด้วยโภคทรัพย์ นับตั้งแต่ระดับมนุษย์สมบัติ ถึงสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ คือให้ถึงความดับทุกข์และเป็นบรมสุขได้ต่อไป

วันนี้อาตมภาพขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน โปรดติดตามรับฟังตอนต่อไป ซึ่งจะว่าด้วยอริยทรัพย์คือหิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา ในคราวหน้า ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: