อโห วิปตฺติ เม ทุกฺขนฺติ อิทํ สตฺถา สาวตฺถิยํ อุปนิสฺสาย เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน กมฺมํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงอาศัยเมืองสาวัตถีเป็นที่โคจรบิณฑบาต ทรงพระปรารภกรรมของพระองค์ให้เป็นเทศนานุบัติเหตุ จึงตรัสเทศนาชาดกนี้ให้เป็นผลอันพระสังคีติกาจารย์กำหนด ด้วยบาทต้นพระคาถาว่า อโห วิปตฺติ เม ทุกฺขํ ดังนี้เป็นอาทิ
ปรินิพฺพานสมยมฺหิ แท้จริงในสมัยเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคจะดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งปวงจงเห็นเถิด แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคผู้เป็นบรมศาสดาของเรา พระองค์เป็นผู้ล้ำเลิศประเสริฐกว่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย อกุศลวิบากยังตามมาประจญพระองค์ได้ คือในสมัยเมื่อพระพุทธองค์จะทรงฉันอุทกวารี น้ำในกุกฎนทีอันใสสะอาด ก็บันดาลกลับเป็นน้ำขุ่นมัวไป จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์ที่เป็นสามัญชน
เรื่องน้ำในกุกฎนทีอันใสสะอาด กลับบันดาลเป็นขุ่นข้นดุจเจือระคนไปด้วยเปลือกตมนั้น มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์พุทธวิบาก
ขณะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับคำภิกษุทั้งหลายซึ่งสนทนาปรารภเรื่องบุรพกรรมของพระองค์ จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมวิบากจะได้ตามทันตถาคตแต่ในกาลนี้หามิได้ แม้ถึงในบุรพชาติปางก่อน เมื่อตถาคตยังเป็นโพธิสัตว์สร้างโพธิสมภารอยู่ก็ได้รับทุกขเวทนาอันสาหัส เพราะอำนาจกรรมวิบากอันตามทัน มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ พระภิกษุทั้งหลายจะใคร่ทราบอดีตนิทานจึงกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า
อตีเต กาเล อนนฺตนคเร สิโสโร นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ฯลฯ ในอดีตกาลล่วงแล้ว พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชาทรงพระนามว่าสิโสรราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอนันตนคร มีพระอัครมเหสีร่วมราชาภิเษก ทรงนามว่าอนันตเทวี ทรงพระสิริรูปลักษณะสรรพางค์อันงามเลิศ เป็นที่ให้เกิดความรักเจริญพระราชหฤทัย
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น พระองค์ทรงบริบูรณ์ไปด้วยจตุรงค์เสนาโยธาหาญ และมีฤทธิ์เดชบุญญาธิการแผ่ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น ประดุจดังว่าบรมจักรพรรดิผู้ทรงมหิทธิศักดานุภาพอันไพศาล
ในกาลนั้น พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น ต่างกลัวอำนาจบุญญาธิการพระเจ้าสิโสรราช ไม่สามารถจะดำรงตนอยู่โดยปรกติได้ ต่างถือพวงดอกไม้เงินพวงดอกไม้ทองไปเฝ้าถวายพระโพธิสัตว์สิโสรราชนั้น โดยเบียดเสียดเยียดยัดกันจะนับจะประมาณมิได้ แก้วมณีรัตน์ประดับมงกุฎและสังวาลของกษัตริย์เหล่านั้นครูดสีซึ่งกันและกันร่วงหล่นเรี่ยราดอยู่ ณ ที่นั้น ๆ เป็นอันมาก
ฝ่ายคนทั้งหลายที่รักษาพระราชนิเวศน์ ครั้นกษัตริย์เหล่านั้นกลับไปแล้ว ต่างก็ปัดกวาดพระราชนิเวศน์เก็บมณีรัตน์ที่ร่วงหล่นอยู่ ณ ที่นั้นๆ ได้ประมาณวันละ ๑ ทนาน จึงนำเข้าไปถวายพระเจ้าสิโสรราช ๆ ก็มิได้ทรงรับ กลับพระราชทานให้แก่คนผู้รักษาเหล่านั้นไปใช้สอยตามความปรารถนา
อนึ่ง พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น มีอาชาไนยอันอุดมสองอาชามีฝีเท้าอันเร็วไวยิ่งนัก อาชานัยทั้งสองนี้เป็นที่รักเจริญพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง อาชานัยหนึ่งมีนามชื่อว่าติปกะ เป็นพระราชพาหนะอันว่องไว เมื่อพระเจ้าสิโสรราชเสด็จขึ้นประทับ ณ หลังอาชานั้นแล้ว และควบไปสู่นาคพิภพ อาจจะกลับมาสรงสนานและเสวยน้ำในอโนดาดแล้วและกลับมายังพระนครในวันนั้นได้
อีกอาชาหนึ่งมีนามชื่อว่ามหาลทะ เมื่อพระเจ้าสิโสรราชปรารถนาจะไปชมเมืองสวรรค์ เสด็จขึ้นประทับ ณ หลังอาชาแล้ว อาชานัยนั้นก็เหาะไปในอากาศ พาพระเจ้าสิโสรราชไปชมทิพยสมบัติรัตนพิมานในเทวโลกแล้ว อาจพาเสด็จกลับยังอนันตนครในวันนั้นได้ พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์มีบุญญฤทธิ์เดชานุภาพแผ่ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น มิได้มีกษัตริย์องค์ใดในสากลชมพูทวีปที่จะเสมอเหมือน ดังพรรณนามาฉะนี้
อนึ่ง พระเจ้าสิโสรราชนั้น พระองค์เสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมประเพณี และทรงบำเพ็ญบุญญนฤธีบริจาคทาน ทั้งทรงรักษาศีลห้าเป็นนิจกาลมิได้ขาด และทรงรักษาอัฏฐมีอุโบสถและปัณณรสีอุโบสถโดยปักขคณนาวิธี เป็นอาจิณปฏิปหาสัมมาปฏิบัติ
อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์เสด็จเข้าสู่ที่บรรทมในเพลาราตรี หยั่งลงสู่นิทรารมณ์เหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์ ทรงพระสุบินนิมิตเห็นยอดปราสาทที่อยู่ของพระองค์หักตกลงมา ณ พื้นภูมิภาค แล้วก็หักกระเด็นออกไปเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ พระเจ้าสิโสรราชตื่นจากนิทรารมณ์ ก็มีพระทัยอันสะดุ้งหวั่นหวาด เสด็จประทับนั่งอยู่ ณ พระแท่นที่สิริไสยาสน์นั้น ตราบเท่าจนอรุณสว่างแจ้ง จึงพรงพระราชดำริว่า ยอดปราสาทของเรานี้ก็บริบูรณ์ดีอยู่ เหตุไฉนจึงนิมิตเห็นว่าหักตกลงมา ณ พื้นปฐพี
ขณะนั้น วิปลาสห้าประการ คือ พระหฤทัยเศร้า ๑ พระเสโทไหล ๑ พระวรกายาเศร้าหมอง ๑ พระสรีรกายหวั่นไหว ๑ พระเนตรมืดมัว ๑ ก็บังเกิดมีขึ้นแก่พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น
ครั้นเวลารุ่งเช้า พระเจ้าสิโสรราชจึงมีพระราชดำรัสให้หาพราหมณ์ทั้งหลาย มีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นต้นเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสเล่าสุบินนิมิตที่ได้ทรงเห็นนั้น ให้พราหมณ์ทั้งหลายฟัง แล้วตรัสถามว่า ที่เราเห็นสุบินนิมิตผิดประหลาดดังนี้ เหตุการณ์อะไรจะมีแก่เราหรือไม่
พราหมณ์ทั้งหลายได้ฟังรับสั่งถาม จึงพร้อมกันพิจารณาตามคัมภีร์โหราศาสตร์ แล้วทูลถวายพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมมติเทวราช บาปเคราะห์จักมาให้โทษแก่พระองค์ จึงได้ทรงพระสุบินนิมิตไปดังนี้ กำหนดอีก ๗ วัน พระเสาร์เทพบุตรจักเสด็จมาร่วมราศีทับลัคนาของพระองค์ จักกระทำให้พระองค์กัมปนาทหวั่นไหวระส่ำระสายจากที่ ดุจกำลังลมอันเกิดแต่ธรณีฉะนั้น พระอย่าได้ทรงดูหมิ่นและสำคัญพระทัยว่าพระองค์เป็นผู้มีเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ดังนี้ ขอพระองค์จงให้จัดการบัตรพลีพร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา สำหรับไว้กระทำพลีกรรมรับพระเสาร์เทวา อันจะเสด็จมาในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ไป ถ้าพระองค์กระทำสักการบูชารับพระเสาร์เทพบุตรแล้ว พระเสาร์เทพบุตรนั้นจักให้คุณแก่พระองค์ พระองค์จักมีความสุขสำราญสิ้นกาลนาน พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าสิโสรราชได้ทรงสดับคำพยากรณ์ดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลัง ประดุจดังว่าพระยานาคที่มีผู้มาประหารลงที่ขนดหาง มีพระสุรสีหนาทตรัสบริภาษพราหมณ์เหล่านั้นว่า ดูกรพราหมณ์อันชั่วร้าย เหตุไฉนพวกเอ็งทั้งหลาย จึงมาวิงวอนให้เรากราบไหว้บูชาพระเสาร์ พระเสาร์นั้นเป็นเทพบุตร ตัวเราก็เป็นเทวาบริบูรณ์ด้วยจาตุรงค์เสนา เมื่อพระเสาร์นั้นมาในกาลใด เราก็จะออกไปต่อยุทธกับพระเสาร์ด้วยจตุรงคเสนาในกาลนั้น ถ้าผู้ใดมีกำลังอานุภาพมากความชนะก็จักมีแก่ผู้นั้น เราไม่ยอมที่จะกราบไหว้บูชาพระเสาร์เทพบุตรนั้นเป็นอันขาด
พราหมณ์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช พระเสาร์เทพบุตรนั้นเมื่อมาก็มิได้แสดงตนให้เห็นประจักษ์ เป็นแต่ฉายาคือเงาของพระเสาร์นั้นมาทับลัคน์ของพระองค์เท่านั้น ขอพระองค์อย่าทรงมานะอหังการแก่พระเสาร์เทวราช จงจัดการรับพระเสาร์ด้วยเครื่องสักการบูชาตามคำข้าพระบาททั้งหลายเถิด ความสุขสิริสวัสดิ์จักบังเกิดแก่พระองค์สืบไป พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าสิโสรราชก็มิได้ยอมกระทำพลีกรรม ตามคำวิงงอนของพราหมณ์เหล่านั้น ตรัสขับพราหมณ์ทั้งหลายให้ออกจากที่เฝ้า แล้วมีรับสั่งให้หาเสนาบดียุทธนาธิการเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสว่า ดูกรผู้เจริญ จำเดิมแต่วันนี้ไปถึงวันที่ ๗ ท่านจงวางพลรบเตรียมไว้ในประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ ประตูละพันคน ๆ ในเบื้องบนปราสาท ๗ ชั้นนั้น จงวางนักรบไว้ให้อยู่พิทักษ์รักษาชั้นละร้อยคน ๆ เป็นกำหนด แล้วจงบังคับบรรดาพลรบทั้งหมดว่า ถ้าท่านทั้งหลายเห็นพระเสาร์มาในกาลใด จงรุมกันฟันแทงฆ่าพระเสาร์เสียในกาลนั้น ถ้ามิฉะนั้น ก็จงตีรันจับพระเสาร์จำจองด้วยเครื่องจำห้าประการ แล้วพาตัวมาหาเราให้จงได้
เสนาบดีรับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาออกมาจัดการวางพลรบไว้ในที่นั้น ๆ ตามพระราชบัญชาทุกประการ พระเจ้าสิโสรราชก็มิได้ประมาทพระองค์ ทรงถือถาวุธทั้ง ๕ คอยระวังรักษาพระองค์อยู่เป็นนิจมิได้ขาด ครั้นถึงวันที่ ๗ พระเสาร์เทวราชก็จรมาทับลัคน์ของพระองค์ ดุจคำที่พราหมณ์ทั้งหลายถวายพยากรณ์ ในกาลนั้น พระเจ้าสิโสรราชก็มีพระหฤทัยอันรุ่มร้อนกระวนกระวาย และมีพระวรกายกัมปนาทหวาดหวั่น พระอาการนั้นดุจหนึ่งว่าเป็นบ้า เมื่อทอดพระเนตรเห็นพลรบที่อยู่รักษาบนปราสาทก็ทรงพระพิโรธเร่งขับไล่ฟันฟาดด้วยพระแสงขรรค์ บรรดาพลรบทุกขเวทนาอันสาหัส พลรบที่เหลืออยู่นั้น ไม่สามารถที่จะเจ้าไปใกล้พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้นได้ ต่างคนก็ถอยหลังรอราอยู่ ณ ที่นั้นๆ พระเจ้าสิโสรราชทรงฟาดฟันพลรบทั้งหลาย บรรดาที่พิทักษ์รักษาอยู่บนปราสาททั้ง ๗ ชั้นนั้นโดยลำดับ ๆ ครั้นถึงพื้นพสุธาก็ขึ้นทรงอาชานัย รีบควบขับออกจากประตูพระนคร
ฝ่ายพวกพลนิกรทั้งหลายที่อยู่รักษาพระทวารนั้น เมื่อไม่สามารถที่จะห้ามกันได้ ต่างก็พากันรีบไปตามพระเจ้าสิโสรราช บรรดาพวกพหลพลนิกรทั้งหลายเหล่านั้น ใครผู้ใดไม่สามารถที่จะตามเสด็จทันมาทว่าสักคนหนึ่งได้ ด้วยฝีเท้าอาชานัยที่ทรงขี่นั้นเร็วยิ่งนัก
แท้จริง เมื่อพระเคราะห์อันร้ายแรงให้โทษอยู่ดังนี้ อาชานัยที่ทรงขี่เคยพาเหาะไปในนภากาศ ก็ไม่สามารถที่จะเหาะไปได้ เมื่ออาชานั้นไปไม่ได้โดยอากาศ ก็ต้องพาพระเจ้าสิโสรราชไปในมรรคาด้วยกำลังแรงของตน ไปในวันเดียวสิ้นระยะทางประมาณ ๑๐ โยชน์ ครั้นเพลาสายัณหสมัยก็บรรจุถึงต้นไทรใหญ่ในป่ามหาวัน อาชานัยก็มีกายอันเหน็ดเหนื่อยทุพพลภาพสิ้นกำลัง ไม่สามารถที่จะไปในหนทางเบื้องหน้าต่อไปอีกได้
ฝ่ายพระเจ้าสิโสรราชนั้น ก็มีพระกายอันลำบากเพราะแดดและลม ทั้งมีพระทัยอันเกรียมกรมไปด้วยความหิวกระหาย เพราะมิได้เสวยพระกระยาหารเลย เสด็จลงจากหลังอาชาไนยแล้ว ก็ทรงพระกายเข้าสวมกอดคออัสดร ครั้นทรงระลึกถึงสิริสมบัติและพระนคร ก็กล่าวพระคาถารำพันพิลาปว่า
อโห วิปตฺติ เม ทุกฺขํ | ปเรน จ กตํ ทุกฺขํ |
ตฺจ กตํ สยฺเจว | ปโรหิตสฺส วจนํ |
อสุตตฺตาย เม โทโส | อโห ปุพฺเพ สุขํ ปตฺโต |
ภฺูชมาโน สุทฺธาภตฺตํ | สุวณฺณภาชเน วเร |
รตฺติภาเค สยมาโนปิ | สยาปิ สุขสมฺผสฺเส |
สยมาเน สยนคพฺเภ | นิสินฺโนปิ นิโคฺรธมณฺฑเล |
นิสินฺนปลฺลงฺเก วเร | อหํทานิ ทุกฺขิโตปิ |
เอกโก วนสณฺเก | สห อสฺเสน สหาโย |
สยมาโน ติณสณฺเร | เคหํ นิโคฺรธมณฺฑลํ |
ปาสาทกํ วนสณฺฑํ | กเร นครกํ วรํ |
จนฺโทภาเสน ทีปกํ | ปกฺขิสทฺทํ ตุริยนฺตํ |
อโห ทุกฺขตรํ สิยา | กถํ ภฺุเช กถํ สเย |
ปาโตเยว กุสึ คจฺเฉ | ปเร ชนา อสหาโย |
โก ชโน มคฺคุทฺเทสโก | อโห อนนฺตเทวีปิ |
สามินา วิปฺปโยคาว | ทุกฺขิตา โหติ ทุมนา |
อสฺสุโภชา ทิวารตฺตึ | ยาว สามิอภิมุขาติ |
ความว่า โอ้ตัวเราในครั้งนี้ มาเกิดวิบัติพลัดพรากจากพระนคร ต้องมาทนทุกขเวทนาอยู่กลางไพร ความทุกข์อันนี้ผู้อื่นมิได้กระทำให้แก่เราเลย เรากระทำใส่ตัวเราเองโดยแท้ เพราะเหตุที่เรามิได้เชื่อฟังคำปุโรหิตาจารย์ โทษพิบัติจึงบันดาลเกิดขึ้นแก่เราในครั้งนี้ โอ้ตัวเราเคยอยู่ในบุรีประกอบด้วยความสุขสำราญ เมื่อยามเสวยก็เสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชน์ ยามเมื่อไสยาสน์ก็บรรทมเหนือพระแท่นในห้องบรรทม อันปูสาดด้วยสุขุมพัตถ์เป็นปัจธุรณ์ มีสัมผัสอันนิ่มอ่อนนำมาชึ่งความสุขสำราญ เมื่อยามนั่งก็นั่ง ณ สถานที่บัลลังก์อันประเสริฐ แวดล้อมไปด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร มาบัดนี้เรามิได้มีอาหารอันใดอันหนึ่งบริโภคเลยต้องเสวยทุกขเวทนาหิวกระหาย เมื่อยามนอนก็ต้องนอนเหนือใบไม้ลาดบนปฐพีดล เมื่อยามนั่งก็ต้องนั่งใต้มณฑลต้นนิโครธเอกากาย มีแต่อาชามาเป็นสหายอยู่ตัวเดียวเท่านั้น กับมีแสงจันทร์โอภาสสว่างต่างประทีปชวาลา และมีเสียงสกุณาปักษาต่างตนตรี โอ้ความทุกข์ในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เราจะได้สิ่งอันใดมาบริโภคต่างโภชนา และจะนั่งนอนเหยียดเหนือพื้นพสุธาอย่างไรได้ ครั้นรุ่งเช้าก็มิรู้ที่ว่าจะไปในแห่งหนตำบลใด ไม่มีใครที่จะเป็นเพื่อนและช่วยชี้บอกหนทาง โอ้สงสารนางอนัตตเทวี เจ้าจะมีความวิโยคโศกเศร้า เพราะไม่เห็นเราผู้เป็นพระสามี นางจะระทมไปด้วยความทุกข์โทมนัส จะไม่เป็นสรงและจะไม่เป็นอันที่จะเสวยทุกทิวาราตรีกาล จะเสวยแต่อัสสุชลต่างโภชนาหารทุกเวลา จนกว่าจะได้พบพักตร์เราผู้เป็นพระสามี
พระเจ้าสิโสรราชตรัสรำพันด้วยพระคาถาดังนี้แล้ว ครั้นเพลารุ่งเช้า พระองค์กับอาชาทุพลภาพอิดโรยสิ้นกำลังเพราะมิได้บริโภคโภชนาหารสิ่งอันใดเลย มีพระกายอันกัมปนาทการหวั่นไหว แข็งพระทัยลุกขึ้นจูงอาชาดำเนินไปในอารัญประเทศ ก็บรรลุถึงทุ่งนาข้าวสาลีอันมีอยู่ ณ ที่สุดแห่งชายป่า
ในที่นั้น มีบุรุษชาวนาคนหนึ่งเป็นผู้รักษาไร่ข้าวสาลี บุรุษชาวนานั้นใส่อาหารลงในกระบายแล้ว ก็เอาไปวางไว้ที่คันนาปรารถนาจะบริโภคเมื่อขากลับ แล้วก็เดินไปไล่ขับฝูงนกอันมากินข้าวสาลีในที่สุดแห่งปลายนา ขณะนั้น มีสุนัขตัวหนึ่ง ลอบเข้ามาคาบเอากระบายภัตตาหารนั้นไป พอพระเจ้าสิโสรราชจูงอาชาไนยมาถึงที่นั้น บุรุษชาวนากลับมาไม่เห็นกระบายภัตตาหาร แลไปเห็นมงกุฎอันบันดาลกลับกลายเหมือนกระบายของตนอยู่บนเศียรของพระโพธิสัตว์สิโสรราช ก็เข้าไปโบยตีทิ่มแทงด้วยประฏัก แล้วบริภาษด้วยคำอันหยาบคายว่า ดูกรโจรคนชั่วร้าย เหตุไฉนเอ็งจึงลักภัตตาหารของเราไปกิน แล้วเอากระบายของเราครอบหัวมาดังนี้
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ เรานี้มิได้เป็นโจรลักสิ่งใดสิ่งหนึ่งของท่านเลย นี่มงกุฎของเราแท้ ๆ มิใช่กระบายของท่าน เหตุไฉน ท่านจึงมากล่าวตู่มงกุฎของเราว่าเป็นกระบายของท่านดังนี้เล่า
บุรุษชาวนาได้ฟังดังนั้น ก็มีความโกรธมากขึ้น จึงคุกคามบริภาษว่า ดูกรอ้ายโจรผู้ร้าย กระบายของกูครอบหัวมึงอยู่เห็นประจักษ์แก่นัยน์ตา ยังจะมีหน้ามาเถียงอีกเล่า น้ำหน้ามึงจะได้มงกุฎมาแต่ไหน เหตุไรมึงจึงปากแข็งเถียงกูดังนี้ ว่าแล้วก็เอาประฏักแทงปากพระโพธิสัตว์อีก
พระโพธิสัตว์สิโสรราชถูกตีแทงด้วยประฏัก ก็มีโลหิตอันไหลโทรมพระสรีรกาย เสวยทุกขเวทนาเจ็บปวดเป็นสาหัส จึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นี่มงกุฎของเราจริง ๆ เมื่อท่านเห็นว่าเป็นกระบายของท่านๆ จงเอาไปเถิด ขอแต่ชีวิตไว้เท่านั้น ท่านจงมีความกรุณาให้ทานชีวิตแก่เราเถิด
บุรุษชาวนาได้ฟังคำวิงวอนก็ค่อยคลายความโกรธ จึงหยิบเอามงกุฎไปจากพระเศียร แล้วกล่าวคำกำชับว่า แต่นี้ไปเอ็งอย่าได้มาในที่นี้อีกเลย ถ้าเอ็งขืนมาอีกจะต้องถึงแก่ความตาย ว่าดังนี้แล้ว ก็ขับไล่พระโพธิสัตว์สิโสรราชไปเสียจากที่นั้น
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ มีพระกายอันลำบากบอบช้ำ และมีโลหิตไหลโทรมพระองค์ พระทรงกำสรดครวญคร่ำในพระทัยว่า โอ้ตัวเรามาเกิดความวิบัติ ต้องมารับทุกขเวทนาอันสาหัสเพียงชีพตักษัย เพราะเรามีมานะอหังการ มิได้เชื่อถือคำปุโรหิตาจารย์เขาทำนายไว้ จึงต้องมารับโทษภัยถึงเพียงนี้ แล้วจูงอาชาออกจากที่นานั้นไปถึงที่นาอีกแห่งหนึ่ง
ฝ่ายบุรุษซึ่งเป็นเจ้าของที่นานั้นเป็นคนเกียจคร้าน ต่อสองหรือสามวันจึงไปตรวจดูข้าวในนานั้นครั้งหนึ่ง โจรทั้งหลายได้ช่องก็มาลักเกี่ยวเอาข้าวในนาไปทุกวัน ๆ วันนั้น บุรุษเจ้าของนาถือหอกไปซุ่มอยู่ในที่นา ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์สิโสรราชเดินจูงอาชามาในที่นั้น แลเห็นพระขรรค์กลายเป็นเคียว ก็วิ่งเข้าไปโบยตีพระโพธิสัตว์ด้วยด้ามหอก แล้วด่าบริภาษว่า ดูกรอ้ายโจรร้ายมึงมาลักเกี่ยวข้าวของกูไปทุกวัน ๆ กูพึ่งมาพบมึงในวันนี้
พระเจ้าสิโสรราชตกพระทัย มิได้รู้ว่าเหตุผลประการโดจึงตรัสว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ เรามิได้เป็นโจรลอบลักสิ่งใดของท่าน ไฉนท่านมาโบยตีเรา กล่าวหาว่าเราเป็นโจรด้วยเหตุใด
บุรุษเจ้าของนาจึงซ้ำด่าว่า ดูกรอ้ายโจรร้ายปากแข็ง มึงเป็นโจรมีเคียวเป็นพยานอยู่ในมือมึง ยังจะมีหน้ามาโกหกอีกเล่า ถ้ามึงไม่มาลักเกี่ยวข้าวของกู มึงจะถือเคียวมาธุระอะไร ว่าดังนี้แล้ว ก็กลับตีโบยพระโพธิสัตว์สิโสรราชอีก จนพระสรีรกายบอบช้ำมีโลหิตอันลามไหล
ขณะนั้น พระเจ้าสิโสรราชก็สลดพระทัยทรงพิศวงว่า เหตุไฉนพระขรรค์ในมือเราจึงมากลับกลายให้บุรุษนี้เห็นเป็นเคียวไป ชะรอยจะเป็นเวรกรรมที่เราทำไว้ตามมาทัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสวิงวอนเจ้าของนานั้นว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นี่พระขรรค์ของเราแท้ ๆ เมื่อท่านมาเห็นว่าเป็นเคียวก็จงเอาไปเถิด เราขอแค่ชีวิตเราไว้ ขอท่านอย่าโบยตีให้ถึงแก่ความตายเลย
บุรุษเจ้าของนาได้ฟังคำวิงวอนก็คลายความโกรธ จึงไปหยิบเอาเคียวมาจากพระหัตถ์ แล้วสั่งกำชับว่า ดูกรโจร เอ็งอย่ามาในที่นานี้อีกต่อไป ถ้าเอ็งขืนมาก็จะต้องตายอยู่ ณ ที่นี้ ว่าดังนี้แล้วก็ไล่พระโพธิสัตว์ไปเสียจากที่นั้น
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ สู้อดกลั้นกล้ำกลืนถ้อยคำที่เขาบริภาษอันหยาบช้าและทนทุกขเวทนาที่ถูกโบยตีอย่างสาหัสดังนี้แล้ว ก็มีพระอัสสุชลอันไหลอาบพระพักตร์ควรจะสังเวช ทรงจูงอาชาไนยออกจากที่นาอันเป็นเขตของบุรุษนั้นแล้ว ก็ไปบรรลุถึงที่นาของผู้อื่นอีก
ฝ่ายบุรุษเจ้าของนานั้น จูงโคตัวหนึ่งไปผูกไว้ให้กินหญ้าอยู่ในที่นาของตนแล้วก็กลับมาบริโภคอาหาร โคนั้นดึงเชือกที่ผูกไว้ขาดก็วิ่งเข้าไปอยู่ในฝูงนางโค บุรุษผู้เป็นเจ้าของโคบริโภคอาหารแล้วกลับไปไม่เห็นโคที่ตนผูกไว้ จึงแลดูไปในเบื้องหน้า ครั้นเห็นอาชาที่พระโพธิสัตว์จูงไปเหมือนกับโคของตน จึงวิ่งไปโดยเร็วแลร้องว่า ดูกรโจรทรพลริษยา เหตุไฉนเอ็งจึงไปลักจูงโคของเรามาดังนี้
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ เราจะบอกให้ท่านรู้ ม้าที่เราจูงมานี้ก็เป็นม้าของเราแท้ๆ ท่านมาหาว่าเราไปจูงเอาโคของท่านมาดังนี้ด้วยเหตุอันใด รูปร่างโคของท่านเป็นอย่างไรเราก็ยังมิเห็น ไฉนท่านจึงมากล่าวตู่เอาเราดังนี้
บุรุษเจ้าของโคได้ฟังดังนั้นก็โกรธ จึงเข้าไปเตะต่อยทุบตีพระโพธิสัตว์ด้วยมือและเท้าทั้งสอง แล้วตวาดว่า ดูกรอ้ายผู้ร้ายปากกล้า มึงไปลักโคของกูจูงเดินมาเห็นปรากฏชัดอยู่แก่นัยน์ตาดังนี้ ยังมีหน้ามาโกหกว่าเป็นม้าพาชีของตัวไปได้ โคกับม้ามันเหมือนกันเมื่อไร กูไม่รู้จักหรือ ว่าดังนี้แล้ว ก็ชิงเอาม้าไปจากพระโพธิสัตว์ ที่เป็นไปดังนี้ เพราะเหตุว่าพาชีนั้นมาวิบัติกลับกลายไปเป็นโค ด้วยอำนาจวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ตามมาทัน
เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเทศนาว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรม คือบุญและบาปที่ทำไว้เป็นของๆ ตนเป็นผู้ต้องรับมรดก คือผลแห่งบุญและบาปที่ได้กระทำไว้ กรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศลนั้นย่อมให้ผลประกอบไปด้วยความทุกข์โทมมัส และเป็นเหตุให้เกิดโทษวิบัติอันตรายต่างๆ เป็นต้น ส่วนกรรมที่เป็นบุญเป็นกุศลนั้น ย่อมให้ผลประกอบไปด้วยสิริสวัสดิ์ล้วนนำมาซึ่งความสุขสำราญ
แท้จริง สรรพสัตว์ทั้งหลาย บรรดาที่ท่องเที่ยวเวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมได้เสวยสุขและทุกข์ต่าง ๆ เป็นธรรมดา กุศลให้ผลในกาลใดก็ได้รับความสุขสำราญในกาลนั้น ถ้าอกุศลให้ผลในกาลใดก็ได้รับความทุกข์โทมนัสในกาลนั้น สัตว์โลกย่อมพัวพันอยู่ด้วยสุขและทุกข์ ดังนี้จึงต้องประสบสุขบ้างตามอำนาจของกรรม เมื่อบุญกุศลมาอุปถัมภ์ก็นำให้เป็นผู้บริบูรณ์ไปด้วยลาภยศความสุขสำราญ และประกอบด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ทั้งเป็นที่รักที่เจริญใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อผู้นั้นไปในประเทศที่ใด ก็เป็นที่นับถือกราบไหว้สักการบูชาของชนทั้งหลายที่อยู่ในประเทศที่นั้น ผู้ที่บุญกุศลอุปถัมภ์ย่อมเป็นผู้รุ่งเรืองดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญอันเปล่งรัศมีฉะนั้น ถ้าบาปอกุศลมาตามทันก็ทำให้เสื่อมลาภถอยยศหมดความสุขสำราญ และปราศจากเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ไม่เป็นที่รักที่เจริญไจของญาติมิตรและประชุมชนทั้งหลาย เมื่อไปในประเทศที่ใดก็ไม่เป็นที่นับถือยำเกรงสักการบูชาของขนในประเทศที่นั้น ผู้ที่บาปอกุศลอุปถัมภ์ย่อมไม่ไพโรจน์รุ่งเรือง ดุจหนึ่งว่าหิ่งห้อยอันปราศจากแสงในเพลาพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น
เมื่อพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ถูกเขาชิงเอามงกุฎและพระขรรค์กับทั้งอาชาไนยไปสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่พระองค์กับพระภูษาที่ทรงนุ่งห่ม ก็ให้เปล่าเปลี่ยวพระทัยยิ่งนัก ด้วยพระองค์มีความรักอาชาไนยอย่างยิ่ง มิรู้ที่ว่าจะทำประการใด ต้องฝืนพระทัยทรงพระดำเนินกรรแสงไปแต่พระองค์เดียว ครั้นเพลาสายัณหสมัย ก็มีพระหฤทัยอันอิดโรยโหยหิวยิ่งนัก เพราะมิได้เสวยโภชนาหารสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย จึงเข้าไปนั่งพักอาศัยอยู่ ณ ร่มไม้ชายป่าแห่งหนึ่ง ครั้นความหิวกระหายค่อยบรรเทาลงก็ทรงพระอุตสาหะลุกขึ้นทรงพระดำเนินต่อไป ครั้นถึงพระอารามแห่งหนึ่ง จึงทรงพระดำริว่า เรานี้อดอยากอาหารมาสองสามวันแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราจักเข้าไปในพระอารามนี้ แล้วจักขอภัตตาหารที่เป็นเดนเหลืออยู่ในบาตรของภิกษุสามเณรมาบริโภค ทรงพระดำริดังนี้แล้วก็เข้าไปในพระอารามนั้น ครั้นทอดพระเนตร์เห็นสามเณรน้อยองค์หนึ่งก็ทรงพระปีติโสมนัสมีความรักใคร่ในสามเณรนั้นจึงตรัสว่า ดูกรพ่อเณร ข้าพเจ้านี้อดอาหารหลายวันแล้วมีความหิวยิ่งนัก ถ้าพ่อเณรไม่มีความหนักใจ ข้าพเจ้าจักขออยู่อาศัยบริโภคภัตตาหารสักสองสามวัน พอบรรเทาทุกขเวทนาก็ลาไป
สามเณรนั้น แลไปเห็นพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ก็ให้มีจิตโสมนัสประกอบไปด้วยกรุณา อาศัยบุพเพสันนิวาสที่ได้เคยอุปถัมภ์กันมาแต่ชาติก่อน จึงพาพระเจ้าสิโสรราชให้เข้าไปนั่ง ณ ที่อันควรข้างหนึ่ง
ฝ่ายพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้นมีพระกำลังทุพลภาพเพราะมิได้เสวยโภชนาหาร ก็มีพระสรีรกายกัมปนาทการหวั่นไหวทั้งเปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต บ้างเปียกบ้างแห้งติดกรังอยู่ทั่วพระกาย มิอาจที่จะดำรงพระองค์อยู่ได้ก็ล้มลงนอนครอกนิ่งไปมิได้เป็นสมปฤดี สามเณรเห็นตังนั้นก็ตกใจจึงรีบวิ่งไปบอกพระภิกษุทั้งหลายว่ามีอุบาสกคนหนึ่งมาขออาศัยอยู่ บัดนี้ล้มลงนอนนิ่งแน่ไป จะเป็นตายอย่างไรก็มิได้รู้
พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังสามเณรบอกดังนั้น ก็พากันรีบไปดู ครั้นเห็นพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์กลับได้สมปฤดีคืนมา จึงถามว่า ดูกรอุบาสกเหตุไฉนกายของท่านจึงชอกช้ำยับเยินไปดังนี้เล่า
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ยกพระหัตถ์ขึ้นนมัสการพระภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสบอกว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์พลัดบ้านเมืองมา ข้าพเจ้ามิได้มีความผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ชาวนาทั้งหลายมันเห็นข้าพเจ้าเดินมา มันก็บริภาษด่าว่าด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ร้ายลักสิ่งของๆ มัน แล้วต่างคนก็เข้าโบยตีเตะต่อยข้าพเจ้า ชิงเอามงกุฎและพระขรรค์กับทั้งอาชาไนยไปหมดสิ้น ข้าพเจ้าจึงเดินโซเซมาขออาศัยในพระอารามนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงกรุณาแก่ข้าพเจ้า
พระภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ก็พากันมีความสงสารด้วยสามารถแห่งจิตที่มีความกรุณา จึงต้มน้ำร้อนมาช่วยกันชะล้างบาดแผล แล้วชำระขัดสีพระกายให้สะอาดหมดจด ต่างองค์ก็หาน้ำมันและโอสถมาช่วยกันรักษาบาดแผล แล้วให้พระโพธิสัตว์บริโภคภัตตาหาร พระภิกษุทั้งหลายช่วยกันรักษาพยาบาลโดยนิยมดังนี้ประมาณได้สองสามวัน พระเจ้าสิโสรราชนั้นก็ปราศจากโรคาพยาธิทุกข์ ค่อยมีความผาสุกกายสบายพระทัย เพราะอาศัยความอนุเคราะห์ของภิกษุเหล่านั้น
มีคำถามว่าพระภิกษุทั้งหลายช่วยกันสงเคราะห์รักษาพยาบาลให้พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้นมีควาสุขสำราญนั้นเพราะเหตุไร มีคำวิสัชนาว่า ในบุรพชาติปางก่อน เมื่อพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์บังเกิดเป็นกุลกบัณฑิต ได้ให้ชีวิตเป็นทานแก่ภิกษุทั้งหลายทั้งปวง เพราะเหตุนั้นพระภิกษุทั้งหลายเห็นพระเจ้าสิโสรราชต้องภัยได้ทุกข์มา จึงได้เอาใจใส่ช่วยกันบำรุงรักษาพยาบาลให้ปราศจากทุกข์ภัย ได้รับความสุขสำราญดังนี้
เมื่อพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ได้ความสุขกายสบายพระทัยแล้ว จึงเข้าไปกราบไหว้พระภิกษุทั้งหลายแล้ววิงวอนว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะใคร่บรรพชาบวชอยู่ในพระอารามนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงกรุณาให้ข้าพเจ้าได้บรรพชาเถิด ดูกรอุบาสก ที่ท่านจะบวชในพระพุทธศาสนานี้เป็นการดีแล้ว เครื่องบริขารทั้งปวงก็มีอยู่พร้อมเพรียง ยังขาดอยู่แต่จีวรตัวหนึ่งเป็นของหาได้โดยยาก ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ผ้าห่มของข้าพเจ้ามีอยู่ ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงกรุณาช่วยสงเคราะห์จัดการให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ตรัสดังนี้แล้วก็เปลื้องพระภูษาที่ทรงห่มยื่นให้พระภิกษุสงฆ์
พระภิกษุทั้งหลายรับพระภูษามาแล้ว ก็มีอัธยาศัยเป็นอันเดียวกันตัดเย็บให้เป็นจีวรสำเร็จแล้ว จึงส่งให้พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ แล้วสั่งว่า ดูกรอุบาสก ท่านจงเอาผ้าจีวรนี้ไปซักให้หมดจดสะอาดแล้วถากเอาแก่นขนุนไปต้มย้อมให้ดีเถิด
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์รับผ้าจีวรแล้ว ก็เอาไปซักให้สะอาดตากผึ่งไว้ แล้วถากแก่นขนุนใส่หม้อลง จึงดำริว่า ถ้าเราจะต้มในที่ใกล้กุฏินี้ไซร้ ควันไฟก็จะเบียดเบียนพระภิกษุทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเอาไปต้มภายนอกพระอารามแล้วย้อมผ้าจีวรในที่นั้นเถิด ดำริดังนี้แล้วก็หยิบเอาผ้าจีวรกับหม้อกรักไปที่ภายนอกพระอาราม ครั้นถึงจึงเอาจีวรตากผึ่งไว้ แล้วติดไฟตั้งหม้อกรักนั่งเคี่ยวอยู่ในที่นั้น
ในกาลนั้น โคของบุรุษห้าคนหายไปตัวหนึ่ง บุรุษทั้งห้าคนนั้นก็พากันไปเที่ยวตามหาโคในที่ต่าง ๆ ครั้นไปถึงที่ใกล้พระอารามนั้น แลเห็นควันไฟที่ต้มกรักมีอยู่ภายนอกพระอาราม จึงพากันแวะเข้าไปดู
ขณะนั้น ผ้าจีวรที่ตากอยู่ก็กลับกลายเป็นหนังโค รัตคดกลายไปเป็นไส้โค ชิ้นกรักทั้งหลายที่ในหม้อกลายเป็นชิ้นเนื้อและตับไตเครื่องในโค น้ำต้มกรักที่ในหม้อกลายเป็นเลือดโคด้วยอำนาจกรรมวิบากมาตามทัน
บุรุษห้าคนที่เป็นเจ้าของโคเห็นประจักษ์ดังนั้น ก็กรูกันเข้าไปเตะต่อยตีรันพระเจ้าสิโสรราช แล้วขู่ตวาดว่า ดูกรอ้ายโจรร้าย ไฉนมึงไปลักเอาโคของกูมาฆ่าต้มอยู่ดังนี้
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ถูกเขาโบยตีเตะต่อยล้มลงในที่นั้น ครั้นลุกขึ้นได้จึงกล่าวคำตอบว่า ดูกรบุรุษทั้งหลาย เรานี้ไม่ได้เป็นโจรลักอะไรของใครมา เรานั่งเคี่ยวแก่นขนุนจะย้อมผ้าอยู่ที่นี่ ท่านทั้งหลายมาหาว่าเราลักเอาโคของท่านมา แล้วรุมกันเข้าเตะต่อยทุบตีด่าว่าเราดังนี้ด้วยเหตุอะไร
บุรุษห้าคนได้ฟังดังนั้นจึงด่าว่า ดูกรอ้ายโจรผู้ร้ายปากแข็ง สิ่งทั้งหลายมีหนังโคและไส้โคเป็นต้น เห็นประจักษ์อยู่แก่ตา มึงยังมีหน้ามาเถียงว่านั่งเคี่ยวแก่นขนุนอยู่ ไม่ได้ลักเอาโคของกูมาดังนี้ มึงจงแลดูสิ่งทั้งปวงที่เป็นพยานนั้น
พระเจ้าสิโสรราชจึงตรัสว่า ดูกรบุรุษทั้งหลาย เรามิได้ไปลักโคของท่านมาเลยเป็นความจริง เราเคี่ยวแก่นขนุน คือ กรัก เพื่อจะย้อมจีวรบวชอยู่ในพระอารามนี้ ถ้าท่านทั้งหลายไม่เชื่อเราก็จงไปถามพระภิกษุทั้งหลายดูเถิด
บุรุษทั้งห้าคนนั้นจึงผูกพระศอพระเจ้าสิโสรราชลากไปยังสำนักพระภิกษุทั้งหลาย แล้วถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ บุรุษผู้นี้เขาอ้างว่าเขาเคี่ยวแก่นขนุนเพื่อจะย้อมจีวร พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายได้รู้เห็นเป็นพยานจริงหรือ
พระภิกษุทั้งหลายจึงว่า ดูกรอุบาสกทั้งหลาย เราจะเล่าความตามจริงให้ฟัง ท่านทั้งหลายจงฟังคำเราเล่า บุรุษผู้นี้เป็นกษัตริย์พลัดพรากจากพระนคร ได้ความทุกข์ยากจึงเที่ยวสัญจรมาในตำบลนี้ ครั้นถูกชาวนาแย่งชิงเอามงกุฎและพระขรรค์กับทั้งม้าพาชีไปหมดสิ้น จึงวิ่งเข้ามาหาเราแล้ววิงวอนว่า จะใคร่บรรพชาอยู่ในพระอารามนี้ ครั้นเราบอกว่าผ้าจีวรไม่มีเป็นของหายาก เธอจึงเปลื้องผ้าหุ่มของเธอออกให้เราช่วยทำเป็นจีวร ครั้นเราช่วยกันตัดเย็บให้เป็นจีวรแล้ว จึงส่งให้เธอเอาไปซักย้อม เธอรับจีวรแล้วก็ถากแก่นขนุนใส่หม้อแล้วยกเอาหม้อกลับออกไปต้มภายนอกพระอาราม ความจริงเป็นดังนี้ บุรุษนี้คงไม่เป็นโจรไปลักโคของท่านทั้งหลายมา
บุรุษทั้งหาคนได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงพูดว่า ท่านทั้งหลายเป็นสมณะอยู่ในป่า พากันเลี้ยงโจรไว้ สำหรับได้ไปลักโคเขามาฆ่าต้มแกงกินด้วยกัน จึงมาพูดยืนยันเป็นพยานดังนี้ ว่าดังนี้แล้วก็บริภาษด่าภิกษุทั้งหลายด้วยวาจาอันหยาบคายมีประการต่าง ๆ แล้วก็เข้าอุดกระชากลากพระเจ้าสิโสรราชออกจากที่นั้น
ฝ่ายสามเณรน้อยเห็นดังนั้น ก็มีหทัยตื้นตันดุจแตกออกไป ๗ ภาค มีน้ำตาไหลลงพรากๆ แล้วพูดอ้อนวอนว่า ดูกรอุบาสกทั้งหลายผู้เจริญ เราขอรับตัวบุรุษนี้ไว้ ถ้าบุรุษนี้หลบหลีกหนีหายไปในกาลใด ท่านทั้งหลายจงมาจับเอาเราในกาลนั้นเถิด
บุรุษห้าคนผู้เป็นเจ้าของโค ได้ฟังคำอ้อนวอนของสามเณรน้อยดังนั้น ก็มีจิตอ่อนประกอบด้วยความสงสาร จึงวางพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ไว้ ณ ที่นั้น แล้วหันหน้าไปว่ากะภิกษุทั้งหลายว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายอย่าได้คบหาสมาคมกับโจรอีกต่อไป ถ้าขืนคบกับโจรจะต้องได้รับความทุกข์ในภายหน้า ว่าดังนั้นแล้วก็พากันกลับไป
ฝ่ายพระภิกษุทั้งหลายกับสามเณรน้อยนั้น ครั้นบุรุษห้าคนผู้เป็นเจ้าของโคไปแล้ว ก็ช่วยกันปรนนิบัติพระเจ้าสิโสรราชด้วยให้บริโภคภัตตาหาร และรักษาพยาบาลด้วยน้ำร้อนและโอสถเป็นต้น ประมาณสองสามวัน พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้นก็ปราศจากโรคที่ชอกช้ำมีความผาสุกสำราญ
ในลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพูดว่า ดูกรอุบาสก ท่านไม่อาจที่จะอยู่ในอารามนี้ต่อไปอีกได้โดยแท้ เพราะว่าชาวบ้านทั้งหลายในตำบลนี้ มันเป็นคนพาลดุร้ายหยาบช้ากล้าแข็งนัก ถ้ามันพักพากันมาโบยตีทำโทษท่าน เราทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะห้ามปรามมันได้ โดยเหตุนี้ ท่านจงไปหาที่อยู่ให้เป็นสุขสำราญในสถานที่อื่นดีกว่า
พระเจ้าสิโสรราชได้ฟังดังนั้น จึงกราบไหว้อำลาภิกษุสามเณรทั้งหลายแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงอยู่มีความสุขสำราญเถิด แล้วก็ดำเนินออกจากพระอาราม
ฝ่ายสามเณรน้อยนั้น มีเนตรทั้งสองอันนองไปด้วยน้ำตาเดินร้องไห้ออกมาส่งถึงภายนอกพระอาราม แลดูพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ดำเนินไปจนลับตา ด้วยอำนาจความกรุณาสงสาร ก็เดินร้องไห้กลับมายังที่อยู่ของตน
ฝ่ายพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น ก็มีพระทัยพะวักพะวนถึงสามเณรน้อยยิ่งนัก ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาลัย มิใคร่จะดำเนินไปจากที่นั้นได้ ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไรอยู่ ณ ที่นั้น ครั้นมาทรงปรารภถึงพระองค์ ก็ทรงพิลาปรำพันด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า
อโห วต มยฺหํ เวรา | กึ ปุพฺเพ เม กตํ กมฺมํ |
กปโน ทลิทฺทานาโถ | นิโทโสปิ โทสภูโต |
อมฺรโห จ มฺโต | อยุตฺตเสยฺยโต สโย |
อภฺฺชิตพฺโพ ภฺุชิตฺวา | ปุพฺเพ น ปราจริตา |
กตฺถ าเน คมิสฺสามิ | โก การฺุิสฺสติ มมํ |
โก สหาโยปิ าตโย | โก ชานิสฺสติ มํ ราชา |
โก ภายิสฺสติ เอกิกํ | ยตฺถ คโต ภยํ โหติ |
ยตฺถ ภยํ ตตฺถ ทุกฺขํ | กสฺส สนฺติกํ คมิสฺสามิ |
นิวาสฺจ ลภิสฺสามิ | โก มํ การฺุติ หเว |
กํ นิสฺสาย ภฺุชิสฺสามิ | นิโภโค มรณํ ธุเว |
อกาลํ มรณํ ปตฺตํ | อาหารขเย ตยุโก |
อายุ ปฺฺุจ เม อตฺถิ | อาหารุปจฺเฉโท มโต |
น กสฺสจิทํ ทุกฺขฺจ | อตฺตาหิ อตฺตโน กตฺตา |
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ | โกจิ นาโถ ปรํ นตฺถิ |
ปฺุปาปฺจ เย กตํ | เตปิ ผลํ ลภิตพฺพํ |
โลโก อมฺิตพฺโพว | อปฺปกํ กมฺมํ เม กตํ |
วิปากํ มยฺหํ น เทติ | อปิกิฺจิ เยน กตํ |
ปฺจ ผลํ มหาเยว | กาเลน โหติ วิปุลํ |
ความว่า โอ้เวรของเรา เรากระทำกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน จึงมาเป็นคนกำพร้าอนาถาถึงเพียงนี้ โทษความผิดสิ่งใดมิได้มี โทษความผิดสิ่งนั้นก็มามีมาเป็นขึ้น คิดขึ้นมาก็น่าอนาถไม่ควรให้เขาดูถูกหมิ่นประมาท เขาก็มาดูถูกหมิ่นประมาทได้ ที่ที่ไม่ควรจะนอนก็ต้องนอน สิ่งที่ไม่ควรจะบริโภคก็ต้องบริโภค แต่ก่อนมิได้เคยเที่ยวมาเลยก็ต้องเที่ยวมา บัดนี้มิรู้ว่าที่จะไปในแห่งหนตำบลใด ใครเล่าเขาจักมีความกรุณาเรา ใครเขาจักมาเป็นญาติเป็นมิตรสหายของเรา ใครเขาจักรู้ว่าเรานี้เป็นพระราชา ใครเขาจักมาเกรงกลัวเราซึ่งเป็นคนผู้เดียว เราไปในที่ใดก็เกิดภัยในที่นั้น เกิดภัยในที่ไหนก็ต้องเสวยทุกขเวทนาในที่นั้น บัดนี้เราจักไปสู่สำนักใคร จึงจะได้ที่อยู่ที่อาศัยเล่า ใครเขาจักเอ็นดูกรุณาเราเห็นจะไม่มี เมื่อเป็นดังนี้เราจักได้อาศัยใครบริโภคเล่า เมื่อเราไม่มีอาหารที่จะบริโภคก็จะต้องตายโดยแท้ ความตายที่ไม่ควรจะตายมาถึงเราแล้ว เพราะไม่มีอาหารที่จะบริโภค ถ้าอายุแลบุญของเรายังมีอยู่ เราก็จักได้อาหารบริโภค ถ้าขาดอาหารมิได้บริโภคแล้วเราก็จักตายโดยไม่มีความสงสัย ความทุกข์อันนี้ใครมิได้กระทำให้ ตัวเราทำใส่ตัวของเราเอง ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน ใครจะเป็นที่พึ่งแก่ใครได้ บุญและบาปที่ผู้ใดได้กระทำไว้ ผู้นั้นก็ต้องได้รับผลของบุญและบาปที่ทำไว้นั้น สัตว์โลกอย่าพึงสำคัญดูหมิ่นว่ากรรมที่เราทำนั้นเล็กน้อย กรรมที่ทำไว้นั้นแม้ถึงจะเล็กน้อยก็ดี ย่อมให้ผลอันไพบูลย์มิได้มีกำหนด ดุจตัวเราอันได้เสวยทุกข์โศกกำสรดอยู่ดังนี้ ก็เพราะอำนาจกรรมมาตามทัน
เมื่อพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ทรงพระกำสรดตรัสรำพันดังนี้แล้ว ครั้นคลายความโศกก็ทรงพระดำเนินต่อไป พอเวลาสายัณห์สมัยจะพลบค่ำ ก็บรรลุถึงบ้านไร่แห่งหนึ่ง ผัวเมียทั้งสองที่อยู่ในบ้านนั้นเป็นคนแก่เฒ่าชรา พระเจ้าสิโสรราชทอดพระเนตรเห็นบ้านนั้น จึงทรงพระดำริว่า เราจักขออาศัยอยู่ในบ้านนี้ แล้วเข้าไปหายายเฒ่าเจ้าของบ้าน ครั้นถึงจึงตรัสว่า ข้าแต่คุณยายข้าพเจ้าเดินทางมาแต่ที่ไกล จะเดินต่อไปก็ถึงเวลาพลบค่ำ ถ้าคุณยายไม่มีความหนักใจ ข้าพเจ้าจักขออาศัยนอนอยู่ในบ้านนี้สักคืนหนึ่ง
ยายเฒ่าเจ้าของบ้านได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า เมื่อเวลากลางวันเอ็งไปอยู่ที่ไหน ครั้นพลบค่ำจะมาขออาศัยในบ้านนี้ ข้าไม่รู้ว่าเอ็งจะเป็นคนร้ายดีอย่างไร ตาเฒ่าผัวได้ยินจึงร้องออกไปว่า ดูกรท่านยาย เขาเดินมาแต่ที่ไกล เมื่อเขามาขออาศัยจงให้อาศัยเอาบุญเถิด พระเจ้าสิโสรราชก็เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านนั้น
ในเวลากลางคืนวันนั้น ผัวเมียสองคนนอนไม่ใคร่หลับจึงลุกขึ้นนั่งสนทนาปรึกษากัน ตาผัวจึงพูดว่า ดูกรท่านยาย พืชพันธุ์คือเมล็ดฟักแฟงแตงน้ำเต้าของเรามีอยู่ เราจักเอาพืชพันธุ์นั้นไปเพาะปลูก แล้วพรวนดินรดน้ำให้งอกงามมีผล แล้วเก็บผลไปขาย รวบรวมทรัพย์ไว้ให้มาก แล้วจักไปช่วยเอาทาสีทั้งหลายที่สาว ๆ งาม ๆ มาให้นั่งพัดวีเราทั้งสอง ในเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ยายเมียหัวเราะแล้วจึงพูดว่า ยังไม่ทันได้เห็นน้ำ จะมาคิดตัดกระบอก ยังไม่หันได้เห็นตัวกระรอก จะมารีบโก่งหน้าไม้ ถ้าไม่สมดังมุ่งหมาย ความละอายก็จักมีขึ้น
ครั้นเวลารุ่งเช้า ผัวเมียสองคนก็ลุกขึ้นค้นหาพืชพันธุ์มิได้พบ ยายเมียจึงพูดว่า พืชพันธุ์นั้นข้าห่อผ้าเก็บไว้เป็นอันดี ทุก ๆ วันก็ไม่เคยหาย ต่อมีบุรุษมาอาศัยอยู่ในบ้านนี้ พืชพันธุ์ทั้งหลายจึงหายไปหมดสิ้นดังนี้
พระโพธิสัตว์สิโสรราชได้ยินดังนั้นจึงตรัสว่า ข้าแต่คุณยาย ข้าพเจ้าจักเอาพืชพันธุ์นั้นไปทำอะไรได้ ที่ข้าพเจ้าได้มาพักอาศัยอยู่นี้ก็เป็นพระคุณอย่างยิ่งแล้ว อย่าได้มีความสงสัยในตัวข้าพเจ้าเลย
ผัวเมียสองคนได้ฟังดังขั้น ก็พิจารณาดูสรีรกายของพระเจ้าสิโสรราช ครั้นแลเห็นชายพระภูษาขอดอยู่ก็มีความสงสัย จึงเอาพระภูษามาแก้ออกดู ขณะนั้นด้วยอำนาจบาปเคราะห์ของพระโพธิสัตว์ เพชรพลอยมณีรัตน์ที่ห่อขอดพระภูษาไว้ก็บันดาลกลับกลายเป็นเมล็ดพืชพันธุ์ ผัวเมียเห็นดังนั้นจึงบริภาษว่า ดูกรโจรชั่วร้าย เอ็งลักเอาเมล็ดพืชพันธุ์ของเรามาห่อผ้าไว้เพื่อเหตุอะไร
พระเจ้าสิโสรราชจึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านตายาย ข้าพเจ้ามิได้เป็นผู้ร้ายลักสิ่งใดของท่านเลย เพชรพลอยมณีรัตน์ของข้าพเจ้าแท้ ๆ ไฉนท่านทั้งสองจึงว่าเมล็ดพืชพันธุ์ของท่านดังนี้
ผัวเมียทั้งสองได้ฟังดังนั้นก็โกรธ จึงด่าว่า ดูกรอ้ายโจรผู้ร้าย ยังจะมีหน้ามาเถียงอีกได้ นี่เมล็ดพันธุ์พืชของกูไม่ใช่หรือ น้ำหน้ามึงจะเอาเพชรพลอยมาแต่ไหน เมล็ดพืชพันธุ์เห็นประจักษ์อยู่แก่ตา มึงมาเถียงกูว่าเพชรพลอยด้วยเหตุอันใด ว่าดังนี้แล้ว ก็เข้าทุบถองโบยตีพระโพธิสัตว์แล้วขับไล่ให้ออกไปนอกบ้าน จึงเก็บเพชรพลอยที่กลายเป็นเมล็ดพืชพันธุ์นั้นไว้
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ถูกเขาทุบตีขับไล่ดังนั้นแล้ว ก็มีแต่ความทุกข์โทมนัสเป็นเบื้องหน้า มิรู้ที่ว่าจะไปในแห่งหนตำบลใด ก็ทรงพระดำเนินด้นดั้นไปในทิศทางต่าง ๆ ก็บรรลุถึงเมื่องอจลนคร ครั้นเวลารุ่งเช้า ได้ทอดพระเนตรเห็นยาจกทั้งหลายพากันเข้าไปขอทานในเมืองนั้น ก็มิได้ปรารถนาที่จะเข้าไปกับพวกยาจก จึงประดิษฐานยืนอยู่ ณ ที่นั้น ครั้นพวกยาจกไปแล้ว ก็ปลอมพระองค์เป็นคนขอทาน เข้าไปขอภัตตาหารได้แล้ว ก็มานั่งเสวยอยู่ที่ร้านขายขนม ครั้นเสวยภัตตาหารแล้ว จึงบอกหญิง เราอยากกินขนมของท่านยิ่งนัก หญิงแม่ค้าขนมเห็นพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ก็มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ จึงหยิบขนมมาส่งให้ พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์เสวยขนมแล้ว ก็เลยอาศัยนั่งนอนอยู่ที่ร้านขนมนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน กาลก็ล่วงไปได้ประมาณสองสามวัน
ฝ่ายพระราชาผู้ครองเมืองอจลนครนั้น ทรงพระนามว่า กินนุวัตตราช มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าสุทธิวดี พระราชธิดาของพระราชานั้นมีนามชื่อว่าสุทัตตเทวี มีพระรูปพระโฉมอันงามยิ่งนัก ผิวพรรณและวงพักตร์ดุจนางเทพอัปสรในสวรรค์ นางเป็นที่รักเจริญพระหฤทัยของพระราชบิดานั้นยิ่งนัก ทั้งเป็นหญิงประกอบด้วยจรรยาสัมมาปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่าง
อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากินนุวัตตราชบรมกษัตริย์ เสด็จบรรทมเหนือพระแท่นสิริรัตน์ไสยาสน์ในเพลาราตรีกาล ครั้นเพลาปัจจุสมัยจะใกล้รุ่ง ก็ตื่นพระบรรทม บันดาลให้ทรงพระปรารภถึงพระราชธิดาว่า บัดนี้ธิดาของเรามีวัยอันเจริญแล้วเมื่อไรนางจึงจะได้คู่ครอง ทรงพระปรารภรำพึงดังนี้แล้ว ครั้นเพลารุ่งเช้าจึงมีรับสั่งให้หาปุโรหิตาจารย์เข้าไปเฝ้า แล้วพระราชทานดวงชะตาของพระราชธิดาให้ปุโรหิตนั้นดู แล้วตรัสถามว่า ดูกรปุโรหิตาจารย์ ธิดาของเราเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเจริญวัย สักเมื่อไรนางจึงจักได้คู่ครอง
ปุโรหิตาจารย์รับดวงชะตามาแล้ว ก็คูณหารพิจารณาตามคัมภีร์โหราศาสตร์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมติเทวราช อีกไม่ช้านานเท่าไรพระราชธิดาก็จักได้คู่ครอง บัดนี้ คู่ครองของพระราชธิดาเข้ามาอยู่ในเมืองนี้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ จึงมีพระราชดำรัสถามว่า คู่ครองของธิดาเรานั้นมีชาติตระกูลอย่างไร อยู่ในที่ใกล้หรืออยู่ในที่ไกล เป็นบุตรของใคร เป็นผู้ที่มั่งคั่งบริบูรณ์หรือยากจนอนาถา ฯ ข้าแต่สมมติเทวดา ขอพระองค์อย่าทรงพระพิโรธข้าพระบาทเลย คู่ครองของพระราชธิดานั้นเป็นคนยากไร้อนาถา บัดนี้เที่ยวขอทานเขาเลี้ยงชีวิตอยู่ทุกวัน ต่อไปข้างหน้านั้นจึงจะปรากฏยศใหญ่ พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้ากินนุวัตได้ทรงฟังพยากรณ์ดังนั้น ก็มีพระทัยโทมนัสยิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า เรามีธิดายอดรักอยู่คนเดียวเท่านั้น เราอุตส่าห์เลี้ยงอุปถัมภ์บำรุงมา ปรารถนาจะแบ่งราชสมบัติให้ครอบครองกึ่งหนึ่ง ชั่งมาอาภัพถึงเพียงนี้ ถ้าเลี้ยงไว้ในบุรีก็จะมีความขายหน้า ทรงพระดำริฉะนี้แล้วก็ทรงพระพิโรธ มีพระราชดำรัสให้ขับนางสุทัตตธิดาออกไปเสียจากพระนคร
ฝ่ายพระนางสุทธิวดีเทวีได้สดับเหตุนั้น ก็ทรงพระกรรแสงรีบไปเฝ้าพระเจ้ากินนุวัตตราช ครั้นถึงจึงซบพระพักตร์ลงแทบพระบาท ทูลวิงวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช พระองค์และหม่อมฉันก็มีแต่ธิดาอยู่คนเดียวเท่านั้น มิได้มีบุตรและธิดาอื่นเลย พระองค์ก็มาหลงเชื่อคำปุโรหิตผู้ประกอบด้วยความริษยา จึงให้ขับพระราชธิดาออกเสียจากพระนคร หม่อมฉันเห็นว่าจะไม่จริงเหมือนคำพยากรณ์ของปุโรหิต ขอพระองค์อย่าได้ทรงเชื่อถือเลย ถ้าหากว่าจะจริงเหมือนคำพยากรณ์ก็ทำเนาเถิด ธรรมดาเกิดมาเป็นสตรี จะได้สามีเป็นคนดีและชั่วก็แล้วแต่วาสนาของตน ถ้าเป็นบุญเป็นกุศลก็จะได้สามีที่ดี ถ้าเป็นบาปเป็นอกุศลก็จะได้สามีที่ชั่ว สุดแพ้แต่กุศลแลอกุศลที่ได้กระทำมา ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเห็นแก่หม่อมฉัน อย่าขับพระราชธิดานั้นให้ออกไปไกลจากพระนครเลย ขอพระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้างเรือนให้อยู่เพียงภายนอกพระนครตามยถากรรมของเขาเถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้ากินนุวัตตราชได้ทรงฟังคำวิงวอนของพระราชเทวีก็มีพระกระมลตื้นตัน เกิดความสังเวชสลดพระทัย จึงมีรับสั่งให้ขับพระราชธิดาออกไปเสียภายนอกพระราชนิเวศน์
พระนางสุทธิวดีราชเทวีก็ถวายบังคมลา เดินเช็ดพระอัสสุชลเนตร์มายังปราสาทพระราชธิดา ครั้นถึงจึงสวมกอดนางสุทัตตเทวีผู้เป็นปิยธิดา แล้วตรัสพิลาปรำพันด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า
หาหา อมฺม ปิยา ธีตา | เม เอกนยนาสมา |
มาตุ ทฺวิพาหุสทิสา | มาตุยา หทยูปมา |
ทสมาสานิ ธาเรนฺตี | ยาว ชาตา จ ทุพฺพลา |
สุขทุกฺขํ เวทยนฺตี | มาตา ตํ โปสิตา สทา |
นหาเปตฺวา สยาเปตา | โภเชนฺตา ตํ ทิวา ทิวา |
น ผุสฺสนฺติ อุกฺกา โอกา | เหมวณฺณา สุรูปตา |
ภาคฺยวณฺณา ชนปิยา | มุขํ เต ปุณฺณจนฺทิมา |
คณฺฑา จ วฏฺฏสณฺานา | ถนา จงฺโกฎสทิสา |
เทฺว พาหา อยฺยรูปมา | วฏฺฏสมา ทสงฺคุลา |
นาติทีฆา นาติรสฺสา | นาจฺโจธาตา นาติกาฬกา |
ฉวิวณฺณา จ สุขุมา | สุสณฺานา สุรูปตา |
ปุพเพ ปจฺจุฏฺเร เสยฺยํ | นิปนฺนา ภูมิยํ กถํ |
นานคฺคโภชฺชํ ภฺุชา | ภฺุชา มูลผลํ กถํ |
ปุเร ทาสิคณายุตฺตา | คจฺฉติ เอกิกา |
โก าติ โก สหาโย จ | โก เต ทสฺสติ โภชนํ |
ปุพฺเพ เวรา วิปฺปโยคา | เอกา ทลิทฺทกปฺปนา |
สีวิกาย ปุเร ยาติ | กถํ คจฺฉติ ปตฺติกา |
ตยา วินา มตา เสยฺโย | กถํ กปฺเปติ ชีวิตํ |
ความว่า ดูกรแม่ เจ้าเป็นธิดายอดรักของมารดาอย่างยิ่งเสมอ ด้วยนัยน์ตาข้างเดียวของมารดา อนึ่งเจ้าเป็นที่รักเสมอด้วยแขนซ้ายขวา และประดุจดังว่าดวงหทัยของแม่ฉะนั้น จำเดิมแต่เจ้ามาเกิดในครรภ์ของมารดา แม่ก็สู้อุ้มท้องประคองเจ้ามาถึงสิบเดือนเป็นกำหนด สิ่งใดที่เผ็ดร้อนหรือเย็นนักถึงแม้จะอยากก็สู้ออมอดมิได้บริโภค ทั้งทนทุกขเวทนาเวลาเดินยืนและนั่งนอน ครั้นเจ้าคลอดออกมาจากอุทรแล้ว แม่ก็อุตส่าห์บำรุงเลี้ยงรักษาทุกค่ำเช้า คือให้อาบน้ำป้อนข้าวและให้นอนในอู่ทอง ทั้งคอยระวังเลือดไรมิให้กัดแลไต่ตอมเจ้าทุกเวลา แม่กล่อมเลี้ยงเจ้ามาจนเจริญวัยถึงเพียงนี้ แม่มีความอาลัยเจ้ายิ่งนัก รูปทรงผิวพรรณของเจ้าก็งามเป็นที่รักของมหาชน พระพักตร์ของเจ้างามดุจจันทร์มณฑลอันเต็มดวง พระปรางทั้งสองของเจ้าก็ผุดผ่องเปล่งปลั่งประดุจดังว่าผลแห่งมะปราง ถันของเจ้าทั้งสองข้างก็มีสัณฐานประดุจดังว่าผอบฉะนั้น พระกรทั้งสองของเจ้า ก็งามอ่อนดุจดังว่างวงไอยรา นิ้วมือทั้งสิบของเจ้าเล่า ก็กลมเรียวเสมอเป็นอันดี พระวรกายของเจ้าก็ผ่องสีมีทรวดทรงสัณฐานอันสมศักดิ์ คือไม่พีไม่ผอมนักและไม่ขาวไม่ดำจนเกินไป เจ้างามพร้อมทุกสิ่งสรรพ์ พระลูกเอ๋ยเจ้าเคยไสยาสน์บนสุวรรณบรรจฐรณ์ เจ้าจะต้องไปนอนเหนือภาคพื้นดูน่าอนาถ เจ้าเคยบริโภคโภชนาหารอันมีรสในสุวรรณภาชน์ทุกเวลา เจ้าจะไปบริโภคเผือกมันผลพฤกษาอย่างไรได้ เจ้าเคยอยู่ในปราสาทมีทาสีแวดล้อมเป็นบริวาร เจ้าจะต้องไปอยู่ในเคหสถานแต่ผู้เดียว ใครเล่าเขาจะตามไปเป็นเพื่อน ใครเล่าเขาจักเชิญเตือนให้บริโภคโภชนาหาร พระลูกเอ๋ย เจ้าเคยทำเวรมาแต่ปางก่อน เจ้าจึงจะพลัดพรากจากมารดาไปเป็นกำพร้าเอกากาย เจ้าจะไปไหนก็เคยไปด้วยวอทอง แต่นี้ไปเจ้าจะต้องดำเนินไปด้วยเท้าพระลูกเอ๋ย เมื่อเจ้ามาพลัดพรากจากแม่ไป แม่จะมีชีวิตอยู่ไปไยให้ได้ทุกขเวทนา ตายเสียประเสริฐกว่าอยู่ในบุรี
เมื่อพระนางสุทธิวดีทรงพระกรรแสงรำพันดังนี้ นางสุทัตตธิดาก็ทรงกำสรดแสนเทวศ มีพระอัสสุชลเนตรไหลอาบพระพักตรา กราบบาทพระชนนีแล้วทูลว่า ข้าแต่พระชนนีเพราะกรรมเวรที่ลูกได้ทำมาจึงต้องจากพระมารดาไปห่างไกล พระมารดาได้เลี้ยงลูกมาแต่เยาว์จนเติบใหญ่ถึงเพียงนี้ อย่าเศร้าเสียพระทัยเลย นึกว่าเลี้ยงเอาแต่บุญเถิด ทูลเกล้า ลูกจะได้ทดแทนพระคุณหรือไม่ก็ตามที ลูกนี้จะถวายบังคมลาก้มหน้าไปตามกรรม ทูลดังนี้แล้วก็ซบพักตร์ลงกับบาทพระชนนี สองกษัตริย์ก็ทรงพระโสกีรำพันพิลาป จนถึงวิสัญญีภาพสลบลงในที่นั้น ครั้นฟื้นสมปฤดีกลับได้อัสสาสปัสสาสะ พระนางสุทธิวดีจึงมีพระเสาวนีย์ตรัสสั่งให้สร้างเรือนขึ้นหลังหนึ่งในภายนอกพระนคร แล้วจัดทาสกรรมกรทั้งหลาย กับทั้งเงินและทองและผ้าอาภรณ์เป็นต้น มอบให้แก่นางสุทัตตราชธิดา แล้วให้ออกมาอยู่ ณ เรือนภายนอกพระนคร
นางสุทัตตราชธิดานั้น ครั้นออกมาสู่ ณ เรือนภายนอกพระนครแล้ว ก็มีจิตอันผ่องแผ้วบำเพ็ญทานการกุศล คือให้ข้าวน้ำโภชนาหารเป็นทานแก่ยาจกทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์เป็นต้น เป็นนิจกาลมิได้ขาด
ในกาลนั้น ยาจกทั้งหลายปรึกษากันว่า ได้ยินว่าพระราชธิดาชื่อสุทัตตเทวีถูกพระราชบิดาขับไล่ให้ออกไปอยู่นอกพระราชฐาน บัดนี้นางไปตั้งบ้านเรือนอยู่ภายนอกพระนคร แล้วบริจาคทานอันสะอาดล้วนประณีตบรรจง เราทั้งหลายพากันไปขอทานบริโภคในที่นั้นเถิด ปรึกษากันดังนี้แล้ว ก็พากันไปในที่บริจาคทานของพระราชธิดานั้น ครั้นถึงจึงพากันกราบไหว้ด้วยความเคารพแล้วหมอบฟุบลง ณ พื้นดิน
ฝ่ายพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น เอาชายพระภูษาข้างหนึ่งมาทรงนุ่ง แล้วทรงคลุมพระเศียรด้วยชายพระภูษาข้างหนึ่ง แล้วทรงพระดำเนินไปในที่บริจาคทานนั้น ครั้นถึงจึงยืนพิจารณาดูพระราชธิดาแล้วเลยยืนอยู่อย่างนั้น มิได้กราบไหว้หมอบคลานเหมือนดังยาจกทั้งหลาย
ฝ่ายนางสุทัตตราชธิดานั้น ทอดพระเนตรดูยาจกวณิพกทั้งหลายแล้วทอดพระเนตรไปเห็นพระเจ้าสิโสรราชยืนคลุมพระเศียรอยู่ มิได้กราบไหว้หมอบคลานเหมือนยาจกทั้งหลาย ก็ประหลาดพระหทัยจึงทอดพระเนตรดูอยู่ไปมา พระเจ้าสิโสรราชก็ทอดพระเนตรดูพระธิดาอยู่เนือง ๆ พอเนตรต่อเนตรแลสบประสบกัน กษัตริย์ทั้งสองก็เกิดความสิเนหารักใคร่ซึ่งกันและกัน ด้วยอำนาจบุพเพสันนิวาสที่เคยได้อยู่ครองกันมาแต่ในชาติก่อน เพราะเหตุฉะนั้นท่านจึงแสดงอุทาหรณ์เป็นคาถาประพันธ์ไว้ว่า
ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน | ปจฺจุปนฺนหิเตน วา |
เอวนฺตํ ชายเต เปมํ | อุปลํว ยโถทเก |
ความว่า ความรักย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการคือ ด้วยบุพเพสันนิวาสที่เคยอยู่ร่วมรักกันแต่ชาติก่อนประการหนึ่ง ด้วยเหตุที่เกื้อกูลกันในกาลเป็นปัจจุบันประการหนึ่ง เปรียบเหมือนดอกอุบลที่เกิดขึ้นในน้ำก็ต้องอาศัยเหตุสองประการ คือต้องอาศัยน้ำและเปลือกตมจึงจะบังเกิดขึ้นได้
ในลำดับนั้น พระราชธิดาจึงเรียกทาสีทั้งหลายมาบอกว่า ดูกรทาสีทั้งหลาย มียาจกคนหนึ่งแปลกมา ไม่เหมือนกับยาจกทั้งหลาย ยาจกนั้นเอาผ้าคลุมศีรษะมายืนอยู่แต่ผู้เดียว ท่านทั้งหลายจงไปบอกให้ยาจกนั้นนำผ้าที่คลุมศีรษะออกเสีย เมื่อเราได้เห็นหน้าจะได้ให้ทานตามคุณานุรูป
ทาสีทั้งหลายรับคำแล้วก็พากันไป ครั้นถึงจึงไหว้พระเจ้าสิโสรราชด้วยเกรงอำนาจเดชานุภาพ แล้วจึงพูดว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านมาขอทานเขาบริโภค เหตุไฉนจึงเอาผ้าคลุมศีรษะมาไม่ให้เห็นหน้า เมื่อท่านมาทำอย่างนี้ เขาจะให้ทานท่านหรือ ท่านเลิกผ้าออกเสียจากศีรษะเถิด เขาจะได้ให้ทานแก่ท่าน
พระเจ้าสิโสรราชได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสตอบว่า ดูกรแม่ทั้งหลาย แสงพระอาทิตย์ร้อนจัดมาก จนเหงื่อทั้งหลายไหลออกจากสรีรกายของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเอาผ้าคลุมศีรษะไว้ดังนี้ เมื่อท่านให้ทานเราเร็ว ๆ ก็จะได้รับ เมื่อท่านไม่ให้ทานเรา ๆ ก็จะไปขอเขาที่อื่นต่อไป
ทาสีทั้งหลายเหล่านั้น จึงนำเอาถ้อยคำที่พระเจ้าสิโสรราชตรัสนั้นมาทูลพระราชธิดาให้ทรงทราบ
พระราชธิดาได้ทราบดังนั้น ก็ให้เกิดความพิศวงยิ่งนัก จึงดำริว่าบุรุษผู้นั้นมิใช่ยาจกคนโดยแท้ ดำริดังนี้แล้ว จึงถามทาสีทั้งหลายว่า ท่านทั้งปวงจะเห็นว่าเป็นใครคือบุรุษผู้นั้น จะเป็นผู้มีราชตระกูลอันสูงหรือ ๆ จะเป็นผู้มีชาติตระกูลอันต่ำช้า มีกิริยาวาจาอันเหลาะแหละ และเป็นนักเลงสุรานารี และเป็นนักเลงสกาเป็นต้น ทำไฉนเราจึงจักรู้ได้ว่าบุรุษนั้นเป็นคนเช่นไร เพราะเรามิได้เห็นหน้าของบุรุษนั้น
ในทาสีทั้งหลายเหล่านั้น มีทาสีคนหนึ่งเป็นคนเฉลียวฉลาดเฉียบแหลมรอบรู้มารยาทของบุรุษจึงทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ขึ้นชื่อว่าบุรุษที่เป็นหนุ่มทั้งหลาย แม้ถึงจะยากจนอนาถา หรือต้องทุกขเวทนาประการใดก็ดี ครั้นเหลือบเห็นหญิงสาวแล้วก็มีความปรารถนาจะแลดู เพราะฉะนั้นขอพระแม่เจ้าจงประดับกายด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง แล้วเดินไปเดินมาแสดงตนให้บุรุษนั้นเห็น บุรุษนั้นเห็นพระแม่เจ้าก็จะเลิกผ้าที่คลุมศีรษะออกดู ขณะนั้นพระแม่เจ้าก็จะเห็นรูปสิริของบุรุษนั้น แล้วจงพิจารณาดูโดยควรแก่อัธยาศัยเถิด
พระราชธิดาได้ฟังดังนั้นจึงว่า ดูกรพี่ทาสี อุบายที่ท่านบอกนี้ดีนัก เราจักได้เห็นหน้าของบุรุษนั้น ว่าดังนี้แล้วก็อาบน้ำชำระกายประดับเครื่องอาภรณ์ เสร็จแล้วก็ออกไปแสดงตนให้พระเจ้าสิโสรราชเห็น แล้วเดินไปมาอยู่ ณ ที่นั้น
พระสิโสรราชโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดาเดินไปมาอยู่ ก็เลิกผ้าออกจากพระเศียรทอดพระเนตรดูพระราชธิดา นางสุทัตตราชธิดาก็แลดูพระเจ้าสิโสรราช ชนทั้งสองต่างคนต่างก็แลดูซึ่งกันและกัน
ในลำดับนั้น นางสุทัตตราชธิดาจึงสั่งทาสีทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงรีบไปพาบุรุษนั้นมาในเรือนไฟของเรา ทาสีทั้งสองก็รีบไปทูลพระเจ้าสิโสรราชว่า พระราชธิดามีรับสั่งให้เรามาพาท่านไป ท่านจงมาไปกับเราเถิด แล้วก็พาพระเจ้าสิโสรราชมา
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ จึงตรัสแก่ทาสีทั้งสองนั้นว่า ดูกรแม่ทั้งสอง ท่านทั้งสองไม่มีศรัทธาเลื่อมใสที่จะให้ทานเราก็ทำเนาเถิด เหตุไฉนท่านทั้งสองจึงมานำเราไป จะทำอะไรเราก็มิรู้เลย พระเจ้าสิโสรราชตรัสดังนี้ถึงสามครั้ง ครั้นทาสีพามาให้อยู่ในครัวไฟ จึงทรงพระดำริว่า เราเห็นจะพ้นทุกข์ จะพึงได้ความสุขในกาลนี้ ที่ทรงพระดำริดังนี้เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงพระปรีชาฉลาดในมารยาทของหญิง
ฝ่ายพระราชธิดาชื่อว่าสุทัตต จึงทรงจัดโภชนาหารมีรสอันเลิศต่าง ๆ มอบให้ทาสีทั้งสองแล้วสั่งว่า ท่านทั้งสองจงนำโภชนะนี้ไปให้บุรุษนั้นบริโภค แล้วจงพิจารณาดูกิริยาที่บริโภคของบุรุษนั้น เมื่อบุรุษนั้นบริโภคแล้ว ท่านอย่ากระทำโภชนะที่เหลือจากบริโภคให้เป็นอันตราย จงเอามาให้เราดูก่อน ทาสีทั้งสองรับโภชนะแล้ว ก็นำไปถวายแก่พระเจ้าสิโสรราช
พระเจ้าสิโสรราชจึงโกรธว่า เราเป็นผู้มีสรีรกายอันเศร้าหมอง ทั้งประกอบด้วยเหงื่อและไคล จักบริโภคโภชนะอย่างไรได้ ทาสีทั้งสองก็นำเอาถ้อยคำนั้นมาทูลพระราชธิดา ๆ จึงให้นำเอาน้ำสำหรับอาบและเครื่องลูบไล้ของหอมไปให้ พระเจ้าสิโสรราชสรงน้ำแล้ว ก็ทรงทาเครื่องลูบไล้ของหอม แล้วก็เสวยโภชนาหารโดยอาการที่พระราชาเสวยไปแสดงแก่พระราชธิดา
นางสุทัตตราชธิดา พิจารณาดูโภชนะที่เหลือจากบริโภคก็มีความยินดีด้วยคิดว่า บุรุษผู้นี้บริโภคเหมือนกับพระราชบิดาของเรา บุรุษผู้นี้มิใช่คนสามัญธรรมดา จักเป็นกษัตริย์โดยแท้ คิดดังนี้แล้ว จึงให้ปัดกวาดเรือนไฟให้สะอาด แล้วให้ปูลาดด้วยปัจฐรณ์ แล้วให้จัดแจงที่เป็นที่นอนอันมีสิริ ให้แก่พระเจ้าสิโสรราชนั้น ครั้นเพลาพลบค่ำ จึงให้นำเอาอาสนะทั้งปวงมาเสีย เหลือไว้แต่เสื่อลำแพนผืนเดียว ครั้นเพลากลางคืน จึงให้นางทาสีทั้งหลายไปประโลมพระเจ้าสิโสรราช ๆ ก็ตรัสบริภาษด่าทาสีทั้งหลายด้วยคำมีประการต่าง ๆ ครั้นรุ่งเช้า นางจึงเอาโภชนะอันเลวไปถวายพระเจ้าสิโสรราช
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นโภชนะอันเศร้าหมองจึงตรัสบริภาษว่า โภชนะนี้เราบริโภคไม่ได้ โภชนะนี้มิได้สมควรแก่เรา ท่านทั้งหลายจงนำเอาของท่านไปเถิด
ทาสีทั้งหลายก็พากันกลับมาทูลพระราชธิดา ตามคำพระเจ้าสิโสรราชตรัสบริภาษนั้น ๆ พระราชธิดาจึงบังคับทาสีทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงไปกระทำมารยาหญิงประโลมบุรุษนั้นด้วยอุบายมีประการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะยังพระเจ้าสิโสรราชนั้นให้ยินดีได้ จึงกลับมาทูลพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระแม่เจ้าจงเสด็จไปเองเถิด บุรุษผู้นั้นเห็นพระแม่เจ้าแล้วก็จักคลายความโกรธ แล้วจักกล่าวคำและคำตอบกับพระแม่เจ้า
ในกาลนั้น พระราชธิดาชื่อว่าสุทัตต จึงไปสู่สำนักพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์กับทาสีทั้งหลาย ครั้นถึงจึงไหว้พระเจ้าสิโสรราช แล้วนั่งอยู่ ณ ที่อันสมควรข้างหนึ่ง
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดาก็ทรงยินดี จึงตรัสปราศรัยว่า ดูกรภคินี พระน้องกระทำคุณูปการแก่พี่ในกาลก่อน ครั้นภายหลัง พระน้องกระทำโทษให้พี่มีความละอาย แม้ถึงกระนั้น พี่ก็ยังคิดอยู่ว่าพระน้องได้กระทำคุณอันใหญ่ ในกาลเมื่อพี่ตกทุกข์ได้ยาก พี่จะต้องกระทำคุณตอบแทนพระน้อง แต่ทว่าบุตรภรรยาและญาติสาโลหิตของพี่มิได้มี พระน้องจงเป็นที่พึ่งอาศัยของพี่เถิด ภายหลังพี่จักกระทำการตอบแทนพระน้อง ตราบเท่าสิ้นชีวิต
พระราชธิดาสุทัตตสดับดังนั้นแล้ว จึงทูลเล้าโลมพระเจ้าสิโสรราชว่าข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงพระพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉันได้แต่งเครื่องอุปการทั้งปวง มีโภชนาหารของเสวยเป็นต้นส่งมาถวายพระองค์ สิ่งอะไรที่พระองค์จะไม่ได้นั้นมิได้มี
กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตรัสปราศรัยซึ่งกันและกัน และแสดงขัตติยมายาแห่งกันและกัน โดยอาการอย่างนี้
ในลำดับนั้น นางสุทัตตราชธิดายังพระเจ้าสิโสรราชให้ยินดีแล้วจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จงเสด็จขึ้นสู่เรือนอยู่ให้เป็นสุขสำราญเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าสิโสรราชก็เสด็จขึ้นสู่เรือนกับพระราชธิดา แล้วเสวยโภชนาหารอันมีรสเลิศต่าง ๆ แล้วก็อยู่ร่วมสมัครสังวาสกับพระราชธิดาแต่นั้นมา จนนางสุทัตตราชธิดาทรงพระครรภ์
ฝ่ายพระราชเทวีผู้เป็นมารดาของนางสุทัตต ได้ทราบพฤติเหตุนั้นก็มีความโทมนัสน้อยพระทัย จึงเสด็จไปหาพระธิดาแล้วทรงพระกรรแสงร่ำไห้ว่า ดูกรแม่ เจ้าเป็นธิดายอดรักของมารดา แม่อุตส่าห์บำรุงเลี้ยงเจ้ามาจนเติบใหญ่ถึงเพียงนี้ ปรารถนาจะตบแต่งให้เจ้ามีสามีที่มีชาติตระกูลเสมอกัน แล้วจะให้ปันทาสกรรมกรและเงินทองทั้งหลาย มิให้ได้ความละอายแก่คนทั้งปวง เจ้ามาทำใจเร็วหาสามีโดยลำพังตนเอง มิได้มีความกลัวเกรงพระราชบิดาและมารดา มาชอบใจยาจกอันมีชาติตระกูลต่ำช้ามาจากประเทศอื่น กระทำให้แม่มีความละอายแก่ทาสกรรมกรและชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน พระราชเทวีรำปริเทวนาการดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับเข้าสู่พระราชนิเวศน์
ฝ่ายนางสุทัตตราชธิดานั้น ทรงครรภ์ถ้วนกำหนด ๑๐ เดือนก็ประสูติพระกุมารผู้บริบูรณ์ด้วยบุญญลักษณะ ละหม้ายคล้ายกับสมเด็จพระอัยกา
พระเจ้ากินนุวัตตราชได้ทรงทราบประพฤติเหตุนั้น ประดุจดังว่านาคราชที่มีผู้มาประหารลงที่ขนดหางฉะนั้น จึงมีพระดำรัสว่า อ้ายลูกทาสีมันทำให้เรามีความอาย อ้ายบุรุษนั้นมันดูหมิ่นเราโดยแท้ เราจักฆ่ามันเสียให้จงได้ ตรัสดังนี้แล้ว อยู่มาวันหนึ่งจึงทรงพระดำริว่า กุมารที่เกิดแล้วนั้นมันเป็นอย่างไรเราอยากจะเห็น ทรงพระดำริแล้วจึงมีรับสั่งให้หมู่นางสนมพากุมารมาเฝ้า
หมู่นางสนมทั้งหลายจึงไปทูลพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บัดนี้มีรับสั่งให้หม่อมฉันทั้งหลายมาพาพระกุมารไปเฝ้า เพื่อพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร ครั้นพระราชธิดาอนุญาตแล้วจึงพากุมารมาเฝ้าพระอัยกา
พระเจ้ากินนุวัตทอดพระเนตรเห็นนัดดา ก็เกิดความสิเน่หารักใคร่เป็นอย่างยิ่ง ความสิเน่หาในพระนัดดานั้น เปรียบประดุจดังว่าตัดผิวหนังของพระราชาแล้วเข้าไปจดเยื่อกระดูกตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นพระเจ้ากินนุวัตจึงสวมกอดจุมพิตพระเศียรพระกุมาร แล้วให้พระกุมารนั้นนอนอยู่เหนือพระเพลาของพระองค์ แล้วจึงตรัสว่า ดูกรนัดดา อัยกาจักให้เขาไปรับมารดาของเจ้าเข้ามา แต่ทว่าบิดาของเจ้านั้นอัยกามีความเกลียดยิ่งนัก เจ้าอย่ามีความน้อยใจอัยกาเลย ตรัสดังนี้แล้วจึงมีรับสั่งให้กระทำเครื่องประดับสำหรับพระกุมาร แล้วให้กระทำอ่างทองใบหนึ่งสำหรับให้พระกุมารสรงน้ำ แล้วมอบพระกุมารหลานรักให้แก่นางสนมทั้งหลาย มีหญิงแม่นมเป็นต้น แล้วตรัสบังคับนางนมทั้งหลายว่า เจ้าทั้งหลายจงพิจารณาหาโทษใส่บุรุษนั้น ถ้าได้ช่องโอกาสแล้ว จงให้ฆ่าบุรุษนั้นเสีย เราจักนำธิดาของเราเข้ามาไว้
จำเดิมแต่นั้นมา หญิงแม่นมทั้งหลายก็มองหาโทษของพระเจ้าสิโสรราช เมื่อไม่เห็นโทษและความพลั้งพลาดอันใดอันหนึ่งจึงปรึกษากันว่า เราแสวงหาโทษของบุรุษผู้นี้มานานแล้ว ก็มิได้เห็นโทษและความผิดอันใดอันหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย เราทั้งหลายจักบริภาษซึ่งกันและกัน บุรุษนั้นเห็นเราทะเลาะวิวาทกันก็จักโกรธ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว จึงด่าซึ่งกันและกันด้วยเลศนัยของพระราชาว่า ดูกรกุมารผู้เป็นลูกทาส ผู้มีชาติแห่งคนจัณฑาล เจ้าเป็นผู้เที่ยวมาแต่บ้านอื่นเมืองไกล ใครเล่าจักรู้จักโคตรของเจ้า เจ้าเป็นคนผู้เดียว มิได้มีญาติและมิตรสหายเราทั้งหลายไม่พึงกลัวเจ้าเลย เจ้าเป็นประหนึ่งว่า บุรุษอันเกียจคร้านอันบริโภคผลมะเดื่อ เจ้าเป็นผู้กินแล้วก็นอน ครั้นนอนแล้วก็ลุกขึ้นกิน มิได้กระทำกิจการอันใดอันหนึ่ง เจ้ามีความอายเขาหรือไม่
พระโพธิสัตว์สิโสรราช ได้ฟังคำด่าบริภาษเปรียบเปรยแห่งหญิงแม่นมเหล่านั้นก็มีความสลดพระทัย มีพระเนตรทั้งสองอันเต็มไปด้วยอัสสุชลธารา พระองค์ทำเป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน จึงหลีกไปพ้นจากนางนมเหล่านั้น แล้วทรงพระดำริว่า ความทุกข์อันใดที่เราได้ประสบแล้วในก่อนความทุกข์อันนั้นมิได้เสมอด้วยทุกข์คือคำบริภาษของทาสีพวกนี้เลย
ทรงพระดำริดังนี้แล้วจึงตรัสบอกเหตุนั้นแก่นางสุทัตตเทวี แล้วตรัสว่า ดูกรพระน้อง พี่เป็นผู้ถือซึ่งความทุกข์ยากเป็นกำพร้า ได้มาอาศัยพระน้องก็ได้สุขสำราญ แต่ความทุกข์ในครั้งนี้เป็นทุกข์อันยิ่งกว่าความทุกข์ที่พี่ได้ทนทานมาแต่ก่อน เราทั้งสองจะต้องพลัดพรากจากกันในครั้งนี้ พี่ไม่สามารถที่จะอยู่ในสำนักของพระน้องได้ พระน้องจงอยู่โดยความสุขสำราญช่วยอภิบาลเลี้ยงบุตรของเราไว้ พระน้องอย่ามีความเศร้าหมองอาลัยด้วยพี่เลย จงแสวงหาภัสดาอื่นเถิด พี่จะไปตามยถากรรมของพี่
นางสุทัตตเทวีได้ฟังคำพระราชสามีดังนั้น ประดุจดังว่ามีหทัยอันแตกออกไป ๗ ภาค มีอัสสุชลนัยน์ไหลลงพราก ๆ มิได้ขาดสาย ฟุบลงแทบพระบาทพระราชสามีแล้ววิงวอนว่า ข้าแต่พระราชสามี พระองค์อย่าถือเอาถ้อยคำของทาสีเป็นประมาณเลย พระองค์ไม่เห็นแก่หม่อมฉันก็จงมีความกรุณาแก่ลูกอ่อนเถิดอย่าเสด็จไปเลย
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ได้ฟังคำนางสุทัตตราชธิดาร้องไห้วิงวอนดังนั้น ก็มีความสงสารรักใคร่บุตรยิ่งนัก จึงสู้อดกลั้นความทุกข์อันเกิดแต่คำบริภาษแล้วก็อยู่ต่อไปอีก
หญิงแม่นมทั้งหลายหยิบยกโทษไม่ได้สมดังความคิด จึงปรึกษาหาเลศอุบายอื่นอีก วันหนึ่ง จึงให้พระกุมารนอนอยู่ ณ ที่เป็นที่เดินไปมาแล้วไม่ให้บริโภคน้ำนมและขนมโภชนาหารสิ่งใดเลย พากันไปซ่อนเสียในที่ลับแห่งหนึ่ง พระกุมารไม่ได้บริโภคอาหารและน้ำนมก็มีความหิวกระหายเป็นกำลัง จึงร้องไห้กลิ้งเกลือกไปมาอยู่ ณ ที่นั้น
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ เห็นบุตรนอนร้องไห้กลิ้งเกลือกอยู่ดังนั้นก็มีความสงสารลูกยิ่งนัก ไม่สามารถจะนิ่งอยู่ได้ จึงไปสวมกอดกุมารนั้น แล้วคุ้มไปอาบน้ำในอ่างทอง พระกุมารนั้นครั้นได้อาบน้ำก็มีจิตโสมนัสร่าเริงด้วยความยินดีจึงตีน้ำในอ่างทองนั้นเล่น น้ำในอ่างทองนั้นก็กระเซ็นไปถูกสรีระของพระโพธิสัตว์ สรีระทั้งสิ้นของพระโพธิสัตว์สิโสรราชก็เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ
หญิงแม่นมทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงหยิบเอาโทษไปทูลพระราชาโดยเลศอุบายว่า ข้าแต่สมมติเทวราช บุรุษนั้นมีความบังอาจไปอาบน้ำในอ่างทองกับพระกุมารผู้เป็นราชนัดดาของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้ากินนุวัตบรมราชา ได้ทรงสดับคำนางนมทั้งหลายก็ทรงพระพิโรธว่าบุรุษนั้นอหังการยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้เพชฌฆาตเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสบังคับว่า เจ้าทั้งหลายจงไปจับบุรุษจัณฑาลนั้นแล้วจองจำด้วยเครื่องจำทั้งหลาย เอาไปขังไว้ในเรือนจำ
เพชฌฆาตทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็พากันรีบไปโดยเร็วพลัน ครั้นถึงจึงเข้าจับพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น แล้วผูกมัดจองจำด้วยเครื่องจำทั้งหลาย เอาไปขังไว้ในเรือนจำ
ฝ่ายนางสุทัตตเทวีนั้นเมื่อเพชฌฆาตกำลังผูกมัดสามีอยู่ นางจึงถามเพชฌฆาตว่าโทษความผิดอะไรที่สามีของเราได้กระทำแล้ว ท่านทั้งหลายจึงพากันมาจับจองจำดังนี้
ครั้นเพชฌฆาตทูลว่า ข้าพระองค์กระทำตามบังคับของพระราชา นางจึงอุ้มบุตรด้วยสะเอวไปเฝ้าพระราชบิดา ครั้นถึงจึงทูลรำพันว่า ข้าแต่สมเด็จพระราชบิดา โทษความผิดอะไรซึ่งสามีของหม่อมฉันได้กระทำแล้ว เมื่อพระองค์ทรงเกลียดชังหม่อมฉัน มีรับสั่งให้ขับไล่หม่อมฉันเสียจากแว่นแคว้นแล้ว หม่อมฉันก็อยู่สู้ทนความทุกข์ยากเพราะวิบากที่ได้กระทำมา หม่อมฉันจึงได้สามีตามยถากรรมของหม่อมฉัน พระราชบิดาจะทรงละอายด้วยเหตุอะไร หรือว่าพระราชบิดาทรงเห็นว่า สามีของหม่อมฉันตกทุกข์ได้ยากจักฆ่าสามีของหม่อมฉันเสีย แล้วจักพระราชบุตรอื่นที่งามดีให้เป็นสามี ข้าแต่สมเด็จพระราชบิดา เมื่อสามีของหม่อมฉันตายแล้ว หม่อมฉันด้วยบุตรด้วยก็จักตายลงเป็นสามด้วยกัน หม่อมฉันเป็นผู้เกิดแล้วในตระกูลกษัตริย์ ที่หม่อมฉันจะทรงปรนนิบัติสามีถึงสองและสามนั้นไม่เป็นการประเสริฐเลย หม่อมฉันจักฟุบลงแทบพระบาทของพระราชบิดาแล้วทูลลาตายไปเกิดใหม่เป็นการประเสริฐกว่า
ฝ่ายนางสุทธิวดีเทวีผู้เป็นมารดาของนางสุทัตตได้ฟังคำธิดาพิลาปรำพันดังนั้น นางก็มีความสงสารมีพระเนตรทั้งสองเต็มไปด้วยอัสสุชล จึงทูลวิงวอนพระราชสามีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงกระทำเวรกรรมเลย ถ้าว่าพระธิดาอยู่ในพระราชนิเวศน์ไซร้ พระองค์ก็จักได้รับความอับอาย บัดนี้พระองค์ขับไล่นางเสียจากแว่นแคว้น พระองค์จะทรงละอายด้วยเหตุอะไร เมื่อพระองค์ไม่ทรงเห็นแก่ธิดาก็จงทรงพระกรุณาแก่หลานน้อยเถิด พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้ากินนุวัตได้ทรงฟังคำพระอัครมเหสี ก็ค่อยบรรเทาพระพิโรธลงหน่อยหนึ่ง จึงตรัสเรียกราชบุรุษทั้งหลายมา แล้วตรัสบังคับว่า เจ้าทั้งหลายจงไปนำคนโทษนั้นมา เราจะซักถามมันดูสักหน่อย
ราชบุรุษทั้งหลายรับพระราชอาณัติแล้ว จึงไปถอดพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ออกจากเครื่องจำ แล้วนำมายังหน้าพระที่นั่ง พระเจ้าสิโสรราชมาถึงก็มิได้ถวายบังคมพระราชา ทรงนั่งเป็นปรกติอยู่
พระเจ้ากินนุวัตทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธจึงตรัสคุกคามว่า ดูกรนักโทษคนร้าย ชีวิตของเอ็งจะไม่มีแล้วเหตุไฉนเองจึงไม่ไหว้เรา เองมาดูหมิ่นเราด้วยเหตุอะไร
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงตรัสตอบว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพเจ้าเป็นคนโทษถึงตายไม่ควรที่จะไหว้พระองค์ ถ้าหากว่าข้าพเจ้าจักไหว้พระองค์ไซร้ความสิริมงคลอันใดก็ย่อมไม่มีแก่พระองค์ พระองค์เป็นพระราชาอันเลิศย่อมไม่งามเพราะความไหว้ของข้าพเจ้าผู้เป็นนักโทษ พระองค์เป็นพระราชาอันประเสริฐ ควรแก่ความไหว้ของอิสรชนทั้งหลาย มีอำมาตย์และเสนาบดีเป็นต้น ความสิริสวัสดิ์มงคลจึงจะบังเกิดมีแด่พระองค์
พระเจ้ากินนุวัตได้ทรงฟังคำของพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ดังนั้นจึงทรงพระดำริว่า บุรุษผู้นี้เป็นผู้ฉลาดในถ้อยคำที่จะพึงกล่าวและเป็นผู้มีวาทะถ้อยคำอันแม่นยำยั่งยืน บุรุษผู้นี้ไม่ใช่ยากจนเป็นผู้มีรูปทรงและผิวพรรณอันงามยิ่งนัก ทั้งมีพักตร์อันเจริญเบิกบานงามดี บุรุษผู้นี้คงจักมีชาติอันดีเกิดในตระกูลอันมั่งคั่งสูงศักดิ์ นางสุทัตตเทวีลูกรักของเราย่อมจะรู้เหตุด้วยปัญญาจึงได้ยึดเอาบุรุษนี้เป็นสามีของตน ทรงพระดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์สิโสรราชว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเป็นบุตรใครถึงได้กระทำอหังการมาอาบน้ำในอ่างทองร่วมกับกุมารผู้เป็นหลานของเรา ท่านจงบอกความไปตามจริง
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพเจ้าจะบอกความจริงคือ วันหนึ่งหญิงแม่นมทั้งหลายทิ้งให้กุมารหลานของพระองค์นอนอยู่ ณ ที่เป็นที่เดินไปมา แล้วไม่ให้บริโภคน้ำนมและโภชนาหาร กุมารมีความหิวก็นอนกลิ้งเกลือกร้องไห้จะกินนม หญิงแม่นมเหล่านั้นก็นิ่งเสียมิได้ดูแล ข้าพเจ้าเห็นกุมารนั้นมีความลำบากก็สงสาร จึงอุ้มไปอาบน้ำในอ่างทอง กุมารนั้นได้ความผาสุกสำราญก็ประหารน้ำเล่น น้ำนั้นก็ฟุ้งกระเซ็นถูกสรีระข้าพเจ้าเปียกชุ่ม ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าข้าพเจ้าเป็นคนยากจน เหตุไฉนจึงจะไปอาบน้ำร่วมกับพระราชนัดดาของพระองค์ ข้าพเจ้าระวังตัวกลัวพระราชอาญายิ่งนัก จำเดิมแต่พระองค์มีความรักในพระราชนัดดามาจนบัดนี้ คำที่ข้าพเจ้าเล่าถวายทั้งปวงนี้ เป็นความจริงของข้าพเจ้า
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสว่า ดูกรบุรุษนักโทษ ถ้าเป็นความจริงอย่างนั้น ก็จงยกไว้ก่อน ท่านเป็นบุตรของใคร มีนามและโคตรชื่อไร ท่านมาสู่แดนเราแล้วจึงมิได้กลัวเรา อนึ่ง ท่านอยู่ร่วมสมัครสังวาสกับราชธิดาแล้วเหตุไรจึงไม่ไหว้เราผู้เป็นพ่อตา
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงตรัสว่า พระองค์ถามถึงนามและโคตร ข้าพเจ้าจักบอกแต่นาม ส่วนโคตรนั้นข้าพเจ้าจักไม่บอก ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพเจ้านี้มีนามชื่อว่าสิโสรราช ครองราชย์สมบัติอยู่ในอนันตนคร
พระเจ้ากินนุวัตได้ทรงฟังนามกรดังนั้น ก็สะดุ้งตกพระทัยกลัวยิ่งนัก มีพระพักตร์อันสลดเกิดขนพองสยองเกล้า จึงเสด็จลงจากราชบัลลังก์ไปฟุบลงแทบพระบาทพระเจ้าสิโสรราช แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า กระหม่อมฉันมิได้รู้จักพระองค์ ขอพระองค์จงพระราชทานอภัยแก่กระหม่อมฉันเถิด ตรัสดังนี้แล้วจึงเชิญพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ให้เสด็จขึ้นประทับบนราชบัลลังก์ ส่วนพระองค์เองประทับอยู่ ณ อาสน์อันต่ำ แล้วจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า พระองค์เป็นพระราชาอันล้ำเลิศ เหตุไฉนจึงทรงละพระนครเสด็จแต่พระองค์เดียวดังนี้
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ข้าแต่สมมติเทวดา คืนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นสุบินนิมิตอันชั่ว จึงเล่าสุบินนิมิตนั้นให้ปุโรหิตฟัง ครั้นปุโรหิตเขาบอกให้บูชาพระเสาร์เทพบุตร ข้าพเจ้าเป็นผู้มีมานะอันกระด้างมิได้บูชา เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องพลัดพรากจากพระนครเที่ยวมา ถูกบุรุษชาวนาทั้งหลายมันชิงเอามงกุฎและพระขรรค์และอาชาไนยไปหมดสิ้น แล้วมิหนำทำโทษเป็นสาหัส ข้าพเจ้าได้เสวยความทุกข์โทมนัสอันใหญ่ยิ่ง ตราบเท่าจนถึงวันนี้ประมาณได้ปีหนึ่งกับหกเดือน ตรัสบอกดังนี้แล้ว จึงเล่าความตามนัยที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องหลังให้พระเจ้ากินนุวัตฟังถี่ถ้วนทุกประการ
พระเจ้ากินนุวัตทรงได้ฟังดังนั้น ก็มีพระหฤทัยอันสลดสังเวชยิ่งนัก จึงอภิเษกพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ให้ครองสิริราชสมบัติกับธิดาของพระองค์ แล้วกระทำการมงคลสมโภชสิ้น ๗ วันเป็นกำหนด ครั้นเสร็จการมงคลสมโภชแล้ว จึงตรัสบังคับเสนาบดีว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านจงสั่งให้เที่ยวตรวจตราค้นหาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ชาวนาทั้งปวงชิงเอาไว้นั้น นำมาให้เราโดยเร็วพลัน
เสนาบดีนั้นรับพระราชโองการแล้ว ก็จัดราชบุรุษทั้งหลายเป็นพวก ๆ ให้ออกจากพระนคร เที่ยวค้นหาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหลายในทางและทิศต่าง ๆ
ฝ่ายพระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น ครั้นบาปเคราะห์บรรเทาเบาบางลง เครื่องทรงทั้งปวงที่ชาวนาชิงไปนั้นก็กลับคืนเป็นปรกติดังเก่า คือ มงกุฎก็เป็นมงกุฎ พระขรรค์ก็เป็นพระขรรค์ อาชาไนยก็คงเป็นผ้าอาชาไนย
บุรุษชาวนาทั้งหลายผู้ชิงเอาไป ต่างคนก็มีความร้อนใจ จึงคิดว่าราชภัณฑ์เครื่องทรงของกษัตริย์นี้ไม่ควรมีอยู่ในเรือนเราโดยแท้ เราจะเอาเครื่องราชภัณฑ์นี้ไปถวายพระราชาเสียเถิด คิดดังนี้แล้วต่างคนก็ถือเอาราชภัณฑ์มีมงกุฎเป็นต้น ออกจากเรือนของตน ๆ มาร่วมในทางเดียวกัน
ฝ่ายราชบุรุษทั้งหลายผู้เที่ยวสอดแนมค้นหา ได้เห็นเครื่องต้นในมือชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงถามว่า ดูกรท่านทั้งหลาย เครื่องต้นทั้งปวงนี้ท่านทั้งหลายได้มาแก่ใคร ท่านทั้งหลายจะพากันไปข้างไหน ครั้นบุรุษชาวนาเหล่านั้นบอกว่าเราจะเอาเครื่องต้นนี้ไปถวายพระราชา ราชบุรุษทั้งหลายจึงผูกคอชาวนาเหล่านั้นนำไปถวายพระราชากินนุวัต พร้อมด้วยเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์อันเป็นของกลางทั้งปวง
พระเจ้ากินนุวัตทอดพระเนตรเห็นชาวนาพร้อมด้วยเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ก็ทรงพระพิโรธ จึงตรัสบังคับราชบุรุษทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงลงอาญาพันหนึ่งแก่อ้ายพวกโจรเหล่านั้น
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ จึงตรัสห้ามการลงอาญาแก่ชาวนาเหล่านั้น แล้วตรัสว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพเจ้าได้ความทุกข์ลำบากเพราะบาปเคราะห์ของข้าพเจ้าเอง พระองค์จงโปรดให้ปล่อยชาวนาเหล่านั้นเสียเถิด มีพระราชดำรัสให้ปล่อยชาวนาพวกนั้นแล้ว จึงให้ไปนิมนต์ภิกษุทั้งหลายกับสามเณรน้อยในอารามที่พระองค์ได้อาศัยในกาลก่อนนั้นมา แล้วถวายนมัสการภิกษุสามเณรทั้งหลายนั้นแล้วให้ฉันบิณฑบาตมีรสอันเลิศต่าง ๆ แล้วถวายไตรจีวร และเครื่องอัฏฐบริขารแก่ภิกษุเหล่านั้นองค์ละเครื่องละเครื่อง แล้วมีรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์พระอารามนั้น แล้วให้อุปฐากภิกษุทั้งหลายโดยความเอื้อเฟื้อ แล้วให้สามเณรน้อยนั้นลาสิกออกจากสามเณร แล้วทรงตั้งไว้ในที่แห่งราชบุตรของพระองค์ และทรงชุบเลี้ยงโดยความรักใคร่เสมอกับบุตร ครั้นกาลต่อมา ก็ส่งพระราชสาสน์ไปถึงพระอัครมเหสีของพระองค์ในเมืองอนันตนคร พระราชเทวีได้ทรงทราบพระราชสาสน์นั้นก็ทรงพระโสมนัสยินดี จึงมีพระเสาวนีย์ให้หาเสนาคุตรเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสว่า ดูกรเสนาบดีผู้เจริญ บัดนี้พระราชาของท่านทั้งหลายเสด็จประทับอยู่ในอจลนคร เราทั้งหลายจักไปเชิญเสด็จมาด้วยจาตุรงค์เสนานิกรทั้งปวง ท่านจงตระเตรียมจตุรงคเสนาโยธาทั้งหลายโดยเร็วไวเถิด
เสนาบดีรับพระเสาวนีย์แล้ว จึงออกมาประกาศว่า พลช้าง พลม้า พลราชรถ พลบทจรเดินเท้าทั้งหลาย จงมาประชุมพร้อมกัน พวกพราหมณ์ปุโรหิตและเศรษฐีคหบดีทั้งหลายนั้น จงพากันมาตามเรา
ในลำดับนั้นพลช้างทั้งหลายประมาณหกหมื่น ล้วนประดับด้วยสรรพอลังการและกล้าหาญในการยุทธสงคราม มีกายอันดูงามไปด้วยเครื่องประดับ ต่างคนก็ขึ้นยังคอช้างทั้งหลายมาพร้อมกัน
ในลำดับนั้น พลอาชาชาติทั้งหลายประมาณหกหมื่น ล้วนประดับไปด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมหมวกพื้นทองใส่เกราะหนัง ต่างก็ขึ้นนั่งบนหลังอาชาชาติทั้งหลายพร้อมกัน
ในลำดับนั้น พลรถทั้งหลายประมาณหกหมื่น แต่ล้วนหุ้มด้วยหนังแรดและหนังเสือเหลืองและเสือโคร่งทั้งหลาย มีธงชายปกชายงอนทั่วทุกคันหมด มีเสนารถขึ้นนั่งบนบัลลังก์รถพร้อมกัน
ในลำดับนั้น พลบทจรเดินท้าวอันห้าวหาญ ล้วนแต่ชำนิชำนาญในยุทธสงคราม มีเครื่องประดับกายอันงามวิจิตรบวร ทั้งมีอาวุธประจำกรถ้วนทั่วทุกตัวคน มาประชุมพร้อมกันในที่นั้น
เมื่อเสนาบดีจัดแจงจตุรงค์เสนา ประมาณสิบสองอักโขเภนีสำเร็จแล้วใน ๗ วัน จึงเข้าไปทูลพระราชเทวีว่า ข้าแต่พระแม่อยู่หัวเจ้า จตุรงคเสนาโยธาหาญทั้งปวงนั้น ข้าพระองค์จัดไว้พร้อมเพรียงแล้วเป็นอันดี
ในกาลนั้น พระนางอนันตราชเทวี จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสบังคับองค์แห่งเสนา มีเสนาบดีเป็นหัวหน้าว่า ท่านทั้งปวงจงรีบพากันไปยังอจลนครนั้นเถิด มีพระเสาวนีย์ตรัสบังคับดังนี้แล้ว พระนางก็เสด็จด้วยอำมาตย์ราชเสนาหมู่ใหญ่ ตามไปส่งในระหว่างหนทาง แล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่พระราชนิเวศน์ คอยทรงสดับเหตุแห่งพระราชสามี
แท้จริง หนทางในระหว่างเมืองอนันตนคร กับเมืองอจลนครนั้นเป็นทางไกลกันมาก ต้องเดินทางแต่เมืองอนันตนครไปสามเดือนจึงจะถึงเมืองอจลนคร เมื่อออกจากอจลนครไปก็สามเดือนจึงถึงอนันตนคร
ฝ่ายอำมาตย์และจาตุรงค์เสนานิกรทั้งหลาย ไปโดยลำดับก็ถึงเมืองอจลนคร เสนาบดีจึงพักพลนิกรทั้งหลายอยู่นอกเมืองแล้วให้กราบทูลพระราชาให้ทรงหราบ
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ได้ทรงทราบเหตุนั้น จึงมีรับสั่งให้หาอำมาตย์ทั้งหลาย มีเสนาบดีเป็นต้น เข้าไปเฝ้าแล้วทรงกระทำปฏิสันฐารถามข่าวคราวถึงพระราชเทวีและบ้านเมือง อำมาตย์ทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า พระราชเทวีนั้น เมื่อพระองค์หายไปมิได้เห็นพระองค์ ก็ทรงพระกำสรดพิไรร่ำปริเทวนาการ เสวยพระอัสสุชลต่างโภชนาหารทุกเวลา จึงมีพระเสาวนีย์ให้ข้าพระบาททั้งหลายเที่ยวเสาะหาพระองค์ในทิศานุทิศ ก็มิได้ประสบพบพระองค์ ข้าพระบาททั้งหลายจึงเที่ยวแสวงหาพระองค์ตามพระนครต่าง ๆ เว้นแต่เมืองนี้ ข้าพระบาททั้งหลายมิได้รังเกียจสงสัยจึงมิได้มา เพราะเห็นว่าเป็นเมืองเล็กน้อย ที่ไหนพระองค์จะเสด็จมา
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงตรัสว่า เพราะเรามิได้เชื่อฟังคำโหราจารย์ เราจึงต้องจากพระนครสถานมาถึงซึ่งความทุกข์ มิได้บริโภคโภชนาหารเป็นหลายวัน ทั้งถูกชาวนาทั้งหลายมันชิงเอามงกุฎและพระขรรค์กับทั้งอาชาไนยไปหมดสิ้น แล้วมันทำโทษโบยตีเราแทบบันดาตาย เราแทบจะไม่ได้เห็นหน้าท่านทั้งหลายเสียแล้ว
อำมาตย์ทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้นก็พากันสงสารไม่สามารถจะกลั้นความโศกได้ ต่างคนก็ร้องไห้ มือฝ่ายนำตา แล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับพระนครเทอญ พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าสิโสรราชจึงตรัสแก่พระกินนุวัตว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพเจ้าจักขอลาพระองค์กลับไปยังบ้านเมืองของข้าพเจ้า พระองค์จงอยู่ครองสิริราชสมบัติอันข้าพเจ้าถวายคืนโดยควรแก่ความสุขเถิด
พระเจ้ากินนุวัตจึงจัดหมู่นางสนมทั้งหลายสำหรับจะให้ไปกับพระธิดาของพระองค์ แล้วทรงจัดแจงโดยวิธีจตุรงค์เสนา เลือกเอาอำมาตย์ ๔ คน ในระหว่างจตุรงค์เสนานั้น สำหรับให้เป็นผู้ดูแลผิดและชอบ มอบให้แก่ธิดาของพระองค์ ครั้นจัดแจงสำเร็จแล้วจึงตรัสถามพระเจ้าสิโสรราชว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราช พระองค์จักเสด็จไปวันไร
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ข้าแต่สมมติเทวดา วันพรุ่งนี้เป็นวันชัยมงคลอันดี ข้าพเจ้าจักขอลาพระองค์ไปในวันพรุ่งนี้ ขอพระองค์จงอยู่ครอบครองอาณาจักรของพระองค์ให้เป็นสุขสำราญโดยทศพิธราชธรรมเถิด
พระเจ้ากินนุวัตทรงทราบกำหนดดังนั้น ครั้นเวลาราตรีจึงตรัสเรียกธิดามาสู่ที่ใกล้ เมื่อจะประทานวัตตจรรยาที่หญิงสะใภ้ควรประพฤติแก่ธิดาอันมีนามชื่อว่าสุทัตต จึงตรัสว่า ดูกรลูกรัก เจ้าจักไปอยู่ในตระกูลพระราชสามีนั้น เจ้ารู้จักวัตตจริยาของหญิงสะใภ้แล้วหรือ ข้าแต่พระราชบิดา หม่อมฉันรู้ประจักษ์อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ดูกรลูกรัก วัตตจริยาของหญิงสะใภ้ที่เจ้ารู้โดยประจักษ์นั้น คืออะไรบ้าง
เมื่อนางสุทัตตราชธิดานั้น จะกล่าววัตตจริยาของหญิงสะใภ้ให้พระราชบิดาฟัง จึงทูลว่า ข้าแต่พระราชบิดา ขึ้นชื่อว่านารีที่จะไปอยู่ในตระกูลผัวพึงศึกษาโอวาท ๑๐ อย่างคือ ไฟภายในอย่าพึงนำออกอย่าง ๑ ไฟภายนอกอย่าพึงนำเข้าอย่าง ๑ พึงให้แก่บุคคลที่ให้อย่าง ๑ อย่าพึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้อย่าง ๑ พึงให้แก่บุคคลที่ให้และบุคคลที่ไม่ให้อย่าง ๑ พึงนั่งให้เป็นสุขอย่าง ๑ พึงบริโภคให้เป็นสุขอย่าง ๑ พึงนอนให้เป็นสุขอย่าง ๑ พึงบำเรอไฟอย่าง ๑ พึงนอบน้อมเทวดาทั้งหลายอย่าง ๑ โอวาททั้งสิบอย่างนี้ ชื่อว่าวัตตจริยาของหญิงสะใภ้ผู้ที่ไปอยู่ในตระกูลแห่งผัว
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า ดูกรลูกรัก ไฟภายในอย่าพึงนำออกไปภายนอกนั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ที่อยู่ในตระกูลผัวนั้น เมื่อเห็นโทษสิ่งใดสิ่งหนึ่งของแม่ผัวและพ่อผัวและผัวของตนแล้ว อย่าพึงนำไปบอกแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ภายนอกเรือน ที่สอนว่าไฟภายในอย่าพึงนำออกไปในภาคนอก มีอธิบายดังนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า ไฟภายนอกอย่าพึงนำเข้าไปในภายในนั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ในตระกูลผัวนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังชนทั้งหลายในเรือนอันคุ้นเคยและใกล้เคียง เขากล่าวโทษติเตียนแม่ผัวและพ่อผัวและผัวของตน ก็อย่าพึงนำเอาถ้อยคำของชนเหล่านั้นมาบอกแก่แม่ผัวและพ่อผัวและผัวของตน ว่าคนผู้โน้นเขากล่าวโทษท่านอย่างนี้ ๆ คนนั้นเขานินทาติเตียนท่านอย่างนี้เป็นต้น โอวาทที่สอนว่าไฟภายนอกอย่าพึงนำเข้าไปในภายในนั้น มีอธิบายดังนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่าโอวาทที่ว่าพึงให้แก่บุคคลที่ให้นั้นมีอธิบายอย่างไร
ข้าแต่พระราชบิดา ชนทั้งหลายเหล่าใดยืมเครื่องอุปการใช้สอยไปแล้ว ครั้นเสร็จธุระก็เอามาคืนไห้ (ส่งคืน) ภายหลังมาขอยืมอีก หญิงสะใภ้ผู้อยู่ในตระกูลผัว พึงให้แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น โอวาทที่สอนว่าพึงให้แก่บุคคลที่ให้นั้น มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า โอวาทที่ว่าอย่าพึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้นั้นมีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา ชนทั้งหลายเหล่าใดยืมเครื่องอุปการใช้สอยไป ครั้นสิ้นธุระแล้วไม่เอามาคืนให้ (ไม่ส่งคืน) ภายหลังมายืมอีก หญิงสะใภ้ผู้อยู่ในตระกูลผัว อย่าพึงให้แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น โอวาทที่สอนว่าอย่าพึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้นั้น มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่าโอวาทที่ว่าพึงให้แก่บุคคลที่ให้และบุคคลที่ไม่ให้นั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา เมื่อญาติและมิตรทั้งหลายที่ยากจนขัดสน มายืมสิ่งของเครื่องใช้สอยไปแล้ว จะคืนให้หรือมิคืนให้ก็ดี ภายหลังมายืมอีก หญิงสะใภ้ผู้อยู่ในตระกูลผัว พึงให้แก่ญาติมิตรผู้ยากจนเหล่านั้น โอวาทที่สอนว่าอย่าพึงให้แก่บุคคลที่ให้และบุคคลที่ไม่ให้นั้น มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า โอวาทที่ว่าพึงนั่งให้เป็นสุขนั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ในตระกูลผัว ไม่ควรนั่ง ณ ที่เป็นที่เห็นซึ่งแม่ผัวและพ่อผัวและผัวแล้วและต้องลุกขึ้น เมื่อนั่ง ณ ที่อันตนพึงต้องลุกขึ้น ชื่อว่านั่งไม่เป็นสุข เมื่อนั่งณที่อันตนไม่ต้องลุกขึ้นชื่อว่านั่งเป็นสุขสบาย โอวาทที่สอนว่าพึงนั่งให้เป็นสุข มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่าโอวาทที่ว่าพึงบริโภคให้เป็นสุขนั้นมีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ ณ ตระกูลแห่งผัวนั้น อย่าพึงบริโภคก่อนแม่ผัวและพ่อผัวและผัวทั้งหลาย ควรดูแลเพิ่มเติมสิ่งที่แม่ผัวและผัวได้แล้วและยังไม่ได้แล้วจึงบริโภคเองในกาลเป็นภายหลังจึงจะเป็นสุข โอวาทที่สอนว่าพึงบริโภคให้เป็นสุข มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า โอวาทที่ว่าพึงนอนให้เป็นสุขนั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ ณ ตระกูลผัวนั้น อย่าพึงนอนก่อนแม่ผัวและพ่อผัวและผัวทั้งหลาย ควรกระทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรพึงกระทำแก่แม่ผัวและพ่อผัวและผัวทั้งหลายเสียก่อนแล้วและนอนในกาลเป็นภายหลังจึงจะเป็นสุข โอวาทที่สอนว่าพึงนอนให้เป็นสุข มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า โอวาทที่ว่าพึงบำเรอไฟนั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ ณ ตระกูลแห่งผัวนั้น ควรบำเรอแม่ผัวและพ่อผัวและผัวทั้งหลาย กระทำให้เป็นประหนี่งว่ากองแห่งไฟที่ฤษีชีไพรบำเรออยู่ฉะนั้น โอวาทที่สอนว่าพึงบำเรอไฟ มีอธิบายอย่างนี้
พระเจ้ากินนุวัตจึงตรัสถามว่า โอวาทที่ว่าพึงนอบน้อมเทวดาทั้งหลายนั้น มีอธิบายอย่างไร ข้าแต่พระราชบิดา หญิงสะใภ้ผู้ไปอยู่ ณ ตระกูลผัวนั้น พึงนอบน้อมแม่ผัวและพ่อผัวและผัวทั้งหลาย กระทำให้เป็นประหนึ่งว่าเทพยดาทั้งหลายที่บุคคลนับถือกราบไหว้สักการบูชาฉะนั้น โอวาทที่สอนว่าพึงนอบน้อมเทวดาทั้งหลาย มีอธิบายอย่างนี้
เมื่อพระเจ้ากินนุวัตตรัสสอนพระธิดา และสอบถามโอวาททั้ง ๑๐ อย่าง อันเป็นวัตตจริยาของหญิงสะใภ้ผู้จะไปอยู่ ณ ตระกูลผัว กับธิดาของพระองค์ในเวลาราตรีเสร็จสิ้นแล้ว
ครั้นรุ่งเช้าเวลาอรุณส่องแสงวโรภาส พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ เสด็จตื่นจากปัจฐรณ์รัตนสยนาอาสน์ สระสรงเสาวคนธชาติวารีกระหลบองค์ แล้วทรงเครื่องราชวิภูสิตสำหรับกษัตริย์เสร็จแล้ว ทูลอำลาพระเจ้ากินนุวัตและพระนางสุทธิวดี พานางสุทัตตเทวิขึ้นประทับ ณ คอมงคลคชสาร แวดล้อมด้วยหมู่จตุรงค์โยธาหาญเป็นขนัด เสด็จออกจากอจลนครแรมมาในอารัญญประเทศ ประมาณสามเดือนก็บรรลุถึงอนันตนคเรศราชธานี จึงพานางสุมัตตเทวีเสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศน์
พระนางอนันตราชเทวีได้สดับเหตุ จึงเสด็จมาซบพระเศียรลงแทบยุคลบาทพระราชสามี แล้วทรงพระกรรแสงโสกีรำพันพิลาปว่า ข้าแต่สมเด็จพระราชสามี หม่อมฉันนี้จำเดิมแต่เว้นจากพระองค์แล้ว ก็บริโภคอัสสุชลต่างโภชนาหาร จึงให้เสนาทั้งหลายไปเที่ยวแสวงหาพระองค์ แยกย้ายกันไปในชนบทและราชธานีทั้งหลาย ก็มิได้ประสบพบพระองค์ หม่อมฉันสำคัญว่าพระองค์วายพระชนม์ นี่หากว่าบุญกุศลของพระองค์และหม่อมฉันมีอยู่ พระองค์กับหม่อมฉันจึงได้มาพบเห็นซึ่งกันและกันในวันนี้ ข้าแต่พระราชสามีผู้เป็นมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงดำรงค์พระชนม์อยู่เกินกว่าหมื่นปี และมิได้แก่เฒ่าชราหาโรคาพาธมิได้ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขสำราญ
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ จึงตรัสเล่าถึงเหตุการณ์จำเดิมแต่ออกจากพระนคร แล้วและได้รับความทุกข์ร้อนต่าง ๆ จนได้นางสุทัตตเป็นบาทจาริกามีราชบุตร และกลับได้พระขรรค์มงกุฎอาชาไนยคืนมา ให้พระนางอนันตเทวีฟังถี่ถ้วนทุกประการ แล้วจึงตรัสว่า นางสุทัตตเทวีได้มีอุปการะให้พี่มีความสุขสำราญดังพรรณนามาฉะนี้ พระน้องจงอย่ามีความขึ้งเคียดเสียดสีเลย จงมีความรักสมัครสมานกันโดยฉันท์ญาติอันสนิทเถิด ตรัสดังนี้แล้ว ก็กระทำการอภิเษกให้นางอนันตเทวีเป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา ให้นางสุทัตตขัตติยกัญญาเป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย พระเจ้าสิโสรราชได้อภิเษกถึงสามครั้งดังนี้ แล้วให้มีมงคลสมโภชกำหนดถ้วน ๗ วัน
ฝ่ายชาวพระนครทั้งหลายก็พากันมีจิตชื่นชมโสมนัส จึงกระทำสักการบูชาพระโพธิสัตว์ ด้วยเครื่องสักการบูชาทั้งหลายอันมโหพาร แล้วอวยชัยถวายพรให้มีพระชนม์อันยืนนาน ยิ่งกว่าหมื่นพรรษา
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์จึงให้สร้างโรงทานสำหรับบริจาคมหาทานแก่ยาจกวณิพกทั้งหลาย มีสมณพราหมณาจารย์เป็นต้น ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงสงเคราะห์อุปถัมภ์ชาวพระนครด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ ทรงรักษาศีลห้าและบริจาคทานด้วยพระองค์เอง และทรงชักชวนชนทั้งหลายอื่นให้รักษาศีลบำเพ็ญทาน ครั้นถึงวันปักข์ก็แสดงธรรมเทศนาสอนประชาชนทั้งปวง ในกาลนั้น ชาวเมืองทั้งหลายทั้งปวงก็ประกอบไปด้วยความสุขโสมนัสปรีดา บ้านเมืองก็ปราศจากโจรผู้ร้าย และมิได้มีข้าศึกที่จะกล้ำกรายเข้ามารบกวน บ้านเมืองก็เป็นสุขบริบูรณ์ด้วยสรรพสิ่งธัญญาหาร ดุจกาลเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าฉะนั้น
พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นพระชนม์ก็ขึ้นไปบังเกิดในสุคติเทวสถาน ภายหลังได้บำเพ็ญบารมีญาณ ๓๐ ทัศ จนได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณผจญเสียซึ่งพระยามารและเสนามาร ให้พ่ายแพ้ ณ โพธิพฤกษมณฑล
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระทศพลทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว จึงประชุมชาดกว่า พระเจ้ากินนุวัตในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระเทวทัต ชนทั้งห้าผู้กระทำโทษแก่พระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น ครั้นกระทำกาลกิริยาก็ไปไหม้อยู่ในนิริยาบาย นางสุทธิวดีผู้เป็นแม่ยายของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือวิสาขามหาอุบาสิกา นางอนันตเทวีอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือปฏิจฉราภิกษุณี นางสุทัตตเทวีผู้เป็นมเหสีของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระนางพิมพายโสธราผู้เป็นมารดาพระราหุล พระกุมารโอรสของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระราหุลพุทธชิโนรส ชนทั้งหลายทั้งปวงมีพระยาสามนต์และเสนาบดีเป็นต้นในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัทในกาลครั้งนี้ พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ในครั้งนั้น สืบขันธ์ประวัติมาคือตถาคตผู้เป็นสัมมาสัมพุทธในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกดังตถาคตแสดงมาด้วยประการฉะนี้