สุบินชาดก

กุโต นุ อาคโต ภเณติ อิท สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ปุฺสมฺาร อารพฺภ กเสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงพระปรารภบุญสมภารของพระองค์เป็นมูลเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า กุโต นุ อาคโต ภเณ เป็นอาทิ

หิ ดังมีความพิสดารในปัจจุบันนิทานว่า วันหนึ่งพระภิกษุทั้งหลายประชุมกัน ณ โรงธรรมสภา พรรณนาถึงบุญสมภารของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระปรมาภิสัมโพธิญาณ ก็ด้วยการสั่งสมกองบุญมีทานและศีลเป็นต้นไว้น่าเลื่อมใสจริง ๆ บุญสมบัติที่พระองค์สั่งสมแล้วอาจสามารถให้พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความสำเร็จมโนรถ และเป็นปฏิสรณของพระองค์ทุกประการ

สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ได้ทรงสดับกถาเรื่องนั้นด้วยทิพย์โสตแล้วทรงพระดำริว่า เราตถาคตควรจะไปยังที่สงฆสันนิบาต จักได้ประกาศบุรพจริยาของเราตถาคตให้ปรากฏ พระองค์จึงเสด็จไปยังโรงธรรมสภา ประทับนั่ง ณ ธรรมาสนะแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมสนทนากันด้วยกถาเรื่องอะไร พระภิกษุทั้งหลายถวายอภิวาทแล้วกราบทูลข้อความที่ตนสนทนาให้ทรงทราบทุกประการ จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ใดได้สั่งสมกุศลมูลไว้และปรารถนาสมบัติใด ๆ บุคคลผู้นั้นได้ทำบุญมีทานเป็นต้นไว้ ก็จะได้สมบัตินั้นสมตามความประสงค์

​อนึ่งบุคคลผู้ไม่มีบุญได้ทำไว้แล้ว ถึงว่าจะได้พัสดุอันบริบูรณ์ด้วยคุณมีอานุภาพ เป็นอาทิก็ดี ก็กลับจะได้ซึ่งความทุกข์ ฝ่ายบุคคลผู้มีบุญได้ทำไว้แล้ว มีแต่จะได้ซึ่งความสุขเป็นลำดับไป อกตบุญบุคคลไม่อาจจะรักษาสิริที่ผู้อื่นเราให้แก่ตนไว้ได้ สิรินั้นกลับจะไปตกอยู่แก่ผู้มีบุญ โบราณกบัณฑิตผู้มีบุญได้ทำไว้ในกาลก่อนแล้ว แม้ผู้อื่นจะให้สิริแต่เล็กน้อย ก็ย่อมจะได้สิริอันสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ต่อไป มีพระพุทธดำรัสฉะนี้แล้ว จึงนำอดีตนิทานมาอ้าง ดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต โกสมฺพิย ปรนฺตโป นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ ในอดีตสมัยเป็นไปล่วงแล้วนาน มีพระราชาพระนามว่าปรันตปะ ครองราชสมบัติ ณ เมืองโกสัมพี พระมเหสีของพระเจ้าปรันตปะนั้นพระนามว่าเกสมาลี ได้เป็นใหญ่กว่าสนมนารีหมื่นหกพัน แต่พระมเหสีและสนมนารีเหล่านั้นหามีโอรสและธิดาไม่ คราวนั้นโกสัมพิกะเศรษฐีผู้หนึ่งมีภรรยานามว่าสุมนา โกสัมพิกเศรษฐีนั้นมีทรัพย์สมบัติมากประมาณแปดสิบโกฏิ แต่มีมัจฉริยะตระหนี่เป็นปรกติธรรมดา ภรรยาของเศรษฐีนั้นตั้งครรภ์ได้สิบเดือนแล้ว คลอดบุตรชายคนหนึ่งรูปร่างงาม

ตั้งแต่วันแรกคลอดทารกนั้นได้ ๑ วัน ทารกนั้นบริโภคอาหารได้ ๑ ทัพพี ครั้นต่อไปวันที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ทารกนั้นบริโภคอาหารทวีขึ้นไป ๒ ทัพพี และ ๓ ทัพพี ตามลำดับวันที่เกิดเสมอไป ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาเห็นบุตรของตนบริโภคอาหารแปลกกว่าทารกทั้งหลายจึงปรึกษากับภรรยาว่า ทารกคนนี้จะไม่ใช่ลูกของเราจริง ทารกคนนี้เกิดมาจะขายเราให้พินาศ เราจักเอาทารกนี้ไปทิ้งเสียที่ป่าช้าใกล้พระอาราม ปรึกษาตกลงกับภรรยาแล้ว ถึงเวลาราตรีจึงนำทารกนั้นไปทิ้งไว้ในป่าช้า

ก็และในพระอารามใกล้ป่าช้านั้น มีพระโสสานิกเถระองค์หนึ่ง ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืน พระผู้เป็นเจ้าเข้าไปยังป่าช้าเจริญอสุภกรรมฐาน เที่ยวเดินพิจารณา กเลวรทรากศพ และร่างกระดูกและผม กำหนดเอาเป็นอารมณ์เจริญพระกรรมฐานทุก ๆ วัน ในวันนั้นครั้นปฐมยามล่วงไปแล้ว ย่างเข้าทุติยยามพระเถระนั้นหยั่งลงสู่ความหลับ จึงเห็นสุบินนิมิตดังนี้ว่า มีลูกช้างน้อยตัวหนึ่งเผือกผู้มาอยู่ในอาราม ลูกช้างเผือกนั้นมหาชนมีอำมาตย์เป็นต้น จนตลอดพระราชาพากันนับถือบูชามากมาย ลูกช้างเผือกนั้นมีฤทธิ์เดชา​และปัญญามากนัก พระเถระฝันเห็นอย่างนี้แล้ว ครั้นตื่นขึ้นแต่เข้าล้างหน้าบ้วนปากแล้วคลุมจีวรออกจากกุฏิ ลงไปกวาดอารามแล้วเลยเข้าไปในป่าช้า ได้เห็นทารกแล้วดีใจนึกว่า ทารกนี้มารดาบิดานำมาทิ้งไว้ เราได้ลูกบุญธรรมนี้ดีนักหนา พระเถระนั้นจึงนำมาไว้ให้นอนอยู่ ณ กุฏิ

แท้จริงพระเถระองค์นั้นเป็นราชกุลุปก ถึงเวลาเช้าจึงเข้าไปบริโภคบิณฑบาตในราชตระกูล พระราชาทรงอังคาสด้วยปณีตาหารเสร็จแล้ว พระเถระจึงถวายพระพรว่า พระมหาราชบพิตร วันนี้อาตมภาพได้ดรุณทารกคนหนึ่ง ซึ่งมารดาบิดาเขานำมาทิ้งไว้ในป่าช้า อาตมภาพนำเอาไปไว้ในกุฏิแล้วก็มา พระราชาทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้จัดแม่นมไปเลี้ยงทารกนั้นไว้ พระเถระนั้นจึงให้นามทารกนั้นชื่อว่าสุบินกุมาร อาศัยเหตุที่พระเถระได้เห็นสุบิน

สุบินกุมารมีวัสสายุกาลได้ ๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เล่าเรียนพระไตรปิฎกในสำนักพระเถระนั้น จำทรงพระไตรปิฎกเป็นนักปราชญ์ฉลาดเฉียบแหลมยิ่งนัก ครั้นต่อมาสุบินสามเณรมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์สมควรจะอุปสมบทได้ พระเถระท่านจึงไปถวายพระพรพระราชาให้ช่วงสงเคราะห์จัดหาบาตรไตรจีวรและบริขารอย่างอื่นให้ พระราชาทรงพระกรุณาจัดหาบาตรไตรจีวรและบริขารอย่างอื่นมอบให้พระเถระเสร็จ ภิกษุสงฆ์มีพระเถระเป็นประมุข ก็ให้อุปสมบทแก่สุบินสามเณรเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ต่อแต่นั้นมา พระสุบินภิกษุนั้นทรงปริยัติธรรมเป็นพหูสูต และเป็นธรรมกถึกกึกก้องด้วยคุณต่าง ๆ เทพดาและมนุษย์ย่อมนับถือบูชามาก พระราชาก็ได้เป็นราชกุลุปัฏฐากเสมอทุกวัน

ครั้นเมื่อสุบินภิกษุอุปสมบทแล้วได้ห้าพรรษาย่างเข้าพรรษาที่หก คืนวันหนึ่งพระผู้เป็นเจ้านอนหลับไป ได้ฝันเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้านั้นยืนอยู่ ณ หิมวันตบรรพต เหยียดมือขวาไปทางทิศทักษิณ เอื้อมจับเอาสุริยเทวบุตรมาวางไว้ที่ฝ่ามือเบื้องขวา แล้วเหยียดมือซ้ายไป เอื้อมเอาจันทมณฑลมาวางไว้ที่ฝ่ามือเบื้องซ้าย คราวนั้นมหาชนทั่วสากลทิศา มีพระราชาและมหาอำมาตย์เป็นต้นเกลื่อนกล่นอันน้อมนำเครื่องบูชามาพร้อมพรั่ง หมอบอยู่แทบบาทมูลแห่งสุบินภิกษุ

พระสุบินภิกษุนั้นตื่นขึ้นเวลาเช้า พระผู้เป็นเจ้าล้างหน้าบ้วนปากแล้ว ไปทำอุปัธยาจริยาวัตรเสร็จแล้วจึงเล่าความฝันให้อุปัธยาจารย์ฟัง พระอุปัธยาจารย์คำนวณดู​ความฝันนั้นแล้วจึงดำริว่า สุบินภิกษุนี้จะได้ราชสมบัติเป็นเอกราช คิดแล้วจึงพาตัวสุบินภิกษุไปยังราชสกุลบริโภคภัตตาหารแล้ว จึงถวายพระพรเล่าความฝันของสุบินภิกษุนั้นให้พระราชาทรงทราบทุกประการ พระเจ้าปรันตปะรับสั่งให้สุบินปาทกาจารย์คำนวณความฝัน สุบินปาทกาจารย์คำนวณแล้วพยากรณ์ถวายว่า ข้าแต่พระมหาราช สุบินภิกษุนี้จะมีมหิทธิฤทธิเป็นเอกิสรราชในสกลชมพูทวีป สรรพเทพดาและมนุษย์จะนับถือบูชา ทั้งท้าวพระยานานาประเทศย่อมเกรงเดช ระย่อยอมถวายเมืองห้อมนำเครื่องบรรณาการมาพร้อมพรั่ง

พระราชาได้ทรงฟังแล้วพินิจนึกว่า สุบินภิกษุนี้จะฆ่าเราชิงเอาสมบัติเราเสีย เราจักให้จับตัวสุบินภิกษุไปขังไว้ในเรือนจำก่อน ดำริแล้วจึงรับสั่งกับอำมาตย์ว่า ท่านจงจับสุบินภิกษุสึกเสีย แล้วจำจองด้วยโซ่ตรวนนำไปขังไว้ในเรือนจำ พวกอำมาตย์ก็พากันไปจัดการตามรับสั่ง

ครั้นอยู่ต่อมาพระราชาใคร่จะเสด็จทรงกีฬาในนที จึงพร้อมด้วยสนมนารีฝ่ายใน และเสนามาตย์ เสด็จยาตราจากพระนครถึงมหานทีธาร พนักงานประดาน้ำจึงนำข่ายขึงข้างเหนือน้ำและท้ายน้ำแห่งนที พระราชโกสัมพีเสด็จทรงอุทกกีฬาพร้อมด้วยนาฏกิตถี ครั้นถึงเวลาสายัณห์จึงเสด็จขึ้นจากนทีกีฬา เสด็จกลับยังพระนครประทับ ณ ราชมนเทียรสถาน

พนักงานพวกประดาน้ำจึงเลิกข่ายขึ้นจากน้ำ ได้เห็นกลุ่มมาลาติดข่ายขึ้นมาพวงหนึ่ง แต่หารู้ว่าเป็นของหญิงคนไหนไม่ จึงนำกลุ่มมาลานั้นขึ้นทูลเกล้าถวายพระราชา ๆ ทรงสอบถามหามีใครทราบความไม่ จึงรับสั่งให้หาพวกพรานไพรมาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า กลุ่มพวงมาลัยนี้น่าจะเป็นของสตรีผู้มีบุญใหญ่ ข้างเหนือน้านี้ขึ้นไปนิคมหรือชนบทและมหาตระกูลเห็นมีอยู่บ้างหรือ ข้าแต่สมมติเทวดา มีพระเจ้าข้า พระราชาจึงบังคับอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ท่านจงไปกับวนจรกเที่ยวตรวจค้นดูกุมารีที่รูปงามตามราชธานีและนิคมน้อยใหญ่ ถ้าว่าบุตรีของฤษีชีไพรมีอยู่ไซร้ จงค้นดูให้ทั่วไป

อำมาตย์นั้นรับพระราชดำรัสแล้วถวายบังคมลาพานายพรานไพรไปด้วยกัน เที่ยวสืบสวนตามนิคมชนบทนานาประเทศและแถวแนวเขตพนาสณฑ์ ก็หาได้เห็นหาได้ฟังว่าสตรีรูปงามมีที่ไหนไม่ จึงเที่ยวต่อไปจนบรรถุถึงที่อยู่ของพระยาวานรเผือก

แท้จริง พระยาวานรเผือกนั้นมีวานรแปดหมื่นเป็นบริวาร อภิบาลรักษาต้นมะม่วงซึ่งขึ้นอยู่ใกล้ฝั่งคงคาในหิมวันประเทศ อัมพพฤกษ์ทั้งหลายอาศัยฝั่งคงคา จึงมีกิ่งก้านสาขา​ใบดอกผลบริบูรณ์ ใบนั้นหนาทึบร่มชิดสนิทเป็นพุ่มเขียวราวกะยอดมณีบรรพต ผลมะม่วงเหล่านั้นมีรสอร่อยหวานปานดังทิพย์คันธรส ผลโตเท่าหม้อกรันขนาดใหญ่ ผลมะม่วงสามกิ่งย่อมตกลงบนบก ผลมะม่วงกิ่งหนึ่งตกลงในคงคา ผลมะม่วงนอกจากนั้นตกลง ณ โคนต้นทั้งสิ้น พระยาพานรินทร์พาฝูงวานรบริวารไปกินผลมะม่วงกิ่งที่ตกลงในคงคา ด้วยคิดเห็นว่าภัยข้างหน้าจักเกิดมีแก่เราและพวกวานร อาศัยผลมะม่วงกิ่งที่ตกลงในน้ำเป็นมูลก่อน เพราะเหตุนั้นเราจักทำมะม่วงกิ่งนี้ให้ร่วงหล่นและจักทำผลไม่ให้เหลืออยู่ได้ ในกาลเมื่อออกดอก หรือในกาลเมื่อมีผลยังดิบ ๆ คิดแล้วจึงใช้ฝูงวานรให้กัดผลมะม่วงให้ร่วงหล่น พระยาวานรรักษาอัมพพฤกษ์ด้วยวิธีมีอาการอย่างนี้แล

อำมาตย์กับพรานไพรสองคน พากันไปถึงตำบลที่อยู่แห่งพระยาวานรนั้น ชวนกันเข้าไปในรุกขมูลนั้นแล้วนั่งอยู่ พระยาวานรเห็นอำมาตย์กับนายพรานนั้นแล้ว เมื่อจะไต่ถามถึงเหตุที่มาจึงกล่าวคาถานี้ว่า

กุโต นุ อาคโต ภเณเกน วณฺเณน เหตุนา
อุสฺสาเหน วิจรนฺโตยํ อิธตฺถิ ปเวถิโต

ความว่า น่ะพนาย ดังเราขอถามท่าน ท่านพากันมาแต่ที่ไหนด้วยเหตุผลอย่างไร จึงอุตสาหะมาถึงที่นี้ มีกิจธุระประสงค์สิ่งร จงบอกแก่เราไป ณ กาลบัดนี้

อำมาตย์นั้นได้ฟังพระยาวานรถาม เมื่อจะแจ้งความแก่พระยาวานร จึงกล่าวคาถานี้ว่า

รูปวตึ กุมาริฺจวเน จรึ คเวสิตุํ
รูปาวตี กุมารี สายตฺถ อตฺถิ มยฺหาจิกฺข

ความว่า ข้าพเจ้าเที่ยวไปในป่า เพื่อแสวงหากุมารีรูปงาม กุมารีรูปงามนั้นมีอยู่ที่ไหนบ้าง ท่านจงบอกให้ข้าพเจ้าทราบ

อำมาตย์นั้นจึงเล่าความตามมูลเหตุ ซึ่งพระเจ้าโกสัมพีได้กลุ่มมาลาและรับสั่งใช้ให้มาแสวงหากุมารีให้พระยาวานรฟังตามลำดับแต่ต้นมา

​พระยาวานรินทร์จึงตอบว่า แน่ะพนาย เราจะบอกแก่ท่านตามที่ได้ฟังและที่ได้เห็นดังนี้ว่า ราชธิดาของพระราชาองค์หนึ่งกอร์ปด้วยเบญจกัลยาณี และบริบูรณ์ด้วยลักษณะหกสิบสี่ประการ ทรงพระรูปโฉมงดงามนักหนา มีบุญวาสนามาก มีนารีหกหมื่นเป็นบริวาร ประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทเจ็ดชั้น ราชบุรุษรักษากวดขันชั้นนอกนับตั้งหมื่นแสน ยากที่ใคร ๆ จะได้แลเห็น แน่ะท่านวานร พระนครนั้นนามใด พระนครนั้นนามว่า โขมรัฐ ก็พระราชธิดานั้นนามอะไร พระราชธิดานั้นนามว่าประทุมาวดี พระราชบิดามารดาของราชธิดาพระนามว่ากระไร พระราชบิดาพระนามว่ามัลลราชา พระราชมารดาพระนามว่าประทุมเกสราเทวี

พระยากระบี่เมื่อจะบอกวิถีทางไปเมืองโขมรัฐแก่อำมาตย์จึงแนะนำว่า แน่ะท่านอำมาตย์ ถ้าหากว่าท่านจะพึงไปโดยสถลมารคจะพึงลำบาก ทางกันดารมาก อันตรายก็มีมาก อัตคัดขัดสนด้วยเสบียงอาหาร ถ้าหากว่าท่านจะพึงไปให้สะดวกดาย จงข้ามมหาสมุทรไปโดยมหานาวา แต่เวลานี้พระราชาร้อยเอ็ดนำเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้ามัลลราช และพากันอยู่พิทักษ์รักษาเมืองโขมรัฐโดยกวดขัน ถ้าหากว่าพระราชาร้อยเอ็ดนั้นทอดพระเนตรเห็นคนอื่นไปแล้วก็จะรบพุ่งเอาให้ได้ความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นท่านจงตระเตรียมนานาวุธยุทธภัณฑ์ให้พร้อมแล้วจึงไป อำมาตย์กำหนดจดจำถ้อยคำพระยาวานรินทร์ได้สิ้นแล้ว จึงพาพรานป่ากลับมายังเมืองโกสัมพี เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลข้อความตามที่พระยาวานรบอกนั้นให้ทรงทราบถ้วนถี่

พระเจ้าโกสัมพีมีพระหฤทัยจะใคร่ได้สตรีรูปงาม จึงรับสั่งให้ช่างต่อนาวาขึ้นเจ็ดลำ และให้บรรทุกนานาภัณฑ์และนานาวุธเต็มนาวา แล้วรับสั่งให้โยธากำกับนาวาลำละห้าร้อยคนทุก ๆ ลำ แล้วส่งไปนาวาเจ็ดลำแล่นไปตามมหาสมุทร สิ้นเวลาสามเดือนจึงถึงปากอ่าวเมืองโขมรัฐ แล้วจอดนาวาอยู่ที่นั้น กษัตริย์ร้อยเอ็ดทั้งปวงทอดพระเนตรเห็นนาวาเจ็ดลำจอดอยู่นั้น จึงรับสั่งให้หาตัวนายเรือมาตรัสถามว่านายเรือมาแต่ไหน ข้าพระบาทเป็นราชทูตถือราชสาส์น ของพระเจ้าโกสัมพีมายังเมืองนี้ ราชสาส์นนั้นมีเนื้อความเป็นอย่างไร โยธาที่เป็นนายนาวาจึงทูลความตามจริงว่า พระราชาของข้าพระบาทรับสั่งใช้ให้มาดูราชธิดาทรงเบญจกัลยาณี แล้วให้ขอไปถวายพระองค์

​กษัตริย์ร้อยเอ็ดทรงทราบเรื่องนั้นแล้วก็กริ้วใหญ่ จึงรับสั่งพวกโยธาทั้งหลายฝ่ายพระองค์ให้ถืออาวุธครบมือกัน แล้วให้รบกับพวกนาวา พวกโยธาในนาวาเจ็ดลำเห็นโยธาฝ่ายกษัตริย์ร้อยเอ็ดมากมาย ก็พากันตกใจ ถอยเรือกลับแล่นไปยังมหาสมุทรหนีไปยังโกสัมพีนคร ครั้นแล้วพวกโยธาจึงพากันไปกราบทูลความปราชัยให้พระราชาทรงทราบทุกประการ พระเจ้าโกสัมพีทรงทราบแล้ว ทรงพระโทมนัสน้อยพระหฤทัย ซบเซาราวกะว่าจะถึงซึ่งวิมุฬจิตเคลิ้มพระสติไป

คราวนั้น พระนางเกสมาลีเทวี ทรงเห็นอาการพระราชสามีเป็นเช่นนั้น พระนางเธอก็ทราบชัดแล้ว แต่ทรงดำริว่า เราควรต้องทูลถามอีก ดำริแล้วจึงทูลถามด้วยคาถาว่าดังนี้

กินฺนุ วิมโน ราชกตมํ โทสํ มยา กตํ
กินฺนุ จินฺตย ทุมโนสิอปราโธ โก อตฺถิ เม

ความว่า ข้าแต่พระราชสาม ดังเกล้ากระหม่อมฉันทูลถาม พระองค์ทรงบเาเศร้าพระทัยเป็นอย่างไรไป หรือหม่อมฉันได้ทำโทษให้พระองค์ทรงโกรธประการด หรือทรงคำนึงถึงสิ่งอะไร จึงได้ทรงโมนัสจิต หรือความผิดข้อไรของหม่อมฉันมีอยู่บ้างพระเจ้าข้า

พระเจ้ากรุงโกสัมพีสดับเสาวนีย์พระราชเทวีถามดังนั้น จึงทรงดำริว่า ธรรมดามาตุคามมักมีความคิดหลักแหลม เราควรจะบอกความเรื่องนี้ให้เธอทราบ ดำริแล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า

มม ทุกฺขํ กเถสฺสามิภทฺเท เอหิ มมนฺติเก
ปราชยา มยฺหํ โยธามยฺหํ นาวา ปลายนฺตา

ความว่า แน่ะ พระน้องผู้เจริญ พี่จักบอกความทุกข์ร้อนของพี่ให้ฟัง เชิญพระน้องเข้ามานังใกล้ ๆ พี่ บัดนี้โยธาของพี่แพ้ข้าศึกมา ทั้งนาวาของพี่ก็แล่นหนกลับมาหมด พี่จึงกำสรดโศกด้วยอาการอย่างนี้

อธิบายความแห่งพระคาถานี้ว่า แน่ะ พระน้องผู้เจริญ พี่ใช้โยธาคุมนาวาเจ็ดลำให้ไปจินตนครแคว้นมคธ ต้องการจะได้นารีรัตน์และต้องการจะได้ทรัพย์สมบัติเกิดไพบูลย์ พระราชาร้อยเอ็ดเห็นนาวาของพี่แล้ว พากันยิงด้วยธนูศรเข้าปล้นตีนาวา ๆ ของพี่ก็หนีแตกยับเยินกลับมา เพราะฉะนั้นพี่ได้ความอับอายเขามาก พี่จึงทุกข์ร้อนเศร้าเสียใจไม่รู้จะคิดอุบายอย่างไร

​พระราชเทวีเกสมาลีจึงทูลว่า อุบายของหม่อมฉันมีอยู่อย่างหนึ่ง อุบายของพระน้องเป็นอย่างไร ข้าแต่พระมหาราช สุปินกนั้นมีบุญมีปัญญามาก มีความคิดลึกซึ้งและเป็นนักปราชญ์รอบรู้อัตถธรรม เป็นคนพูดจริง แม้พระองค์ทรงใคร่จะได้หญิงแก้วแล้ว จะพึงใช้คนอื่นตั้งร้อยตั้งพันก็หาได้หญิงแก้วนั้นไม่ ถ้าพระองค์จัดส่งสุปินกไปก็จักได้อิตถีรัตน์

พระบรมกษัตริย์ทรงสดับเสาวนีย์พระราชเทวี แล้วทรงดำริว่า ถ้าเราใช้ให้สุปินกไปได้นารีรัตน์มาแล้ว ภายหลังเราจักให้ฆ่าสุปินกเสีย ดำริแล้วจึงรับสั่งอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า จงไปถอดสุปินกจากเครื่องจำนำมาถวายพระราชา ๆ จึงรับสั่งปลอบและขอขมาโทษ แล้วให้อาบน้ำชำระกายให้หายกลิ่นด้วยน้ำหอม จึงประทานสรรพาภรณ์ให้แต่งกาย และให้บริโภคโภชนาหารอันโอชารส ทรงทำบูชาสักการะอย่างใหญ่แล้วตรัสว่า ดูกรพ่อสุบิน พ่อจงรับอาสาบิดาไปเมืองจินตปูรแคว้นมคธ นำราชธิดามาให้ได้ด้วยอุบายปัญญาของพ่อ แล้วทรงตรัสเล่าความหลังให้ฟังจึงตรัสว่า คนอื่นมีบุญน้อยไม่อาจไปได้ ตัวพ่อมีบุญมากฉลาดมาก ประโลมล่อเอาราชธิดามาได้ พ่อจงช่วยทำความอุดหนุนแก่บิดาสักครั้ง

สุปินกได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ทรงเป็นแต่บิดาเลี้ยง ก็เสมอเพียงดังพระราชชนกของข้าพระพุทธเจ้า ๆ จักทำปัจจุปการสนองพระเดชพระคุณแด่พระองค์ กราบทูลแล้วก็ทูลลาไปยังอาราม ไปหาท่านอุปัธยาจารย์ นมัสการแล้วเล่าความตามที่พระราชาทรงบังคับนั้นให้พระอุปัธยาจารย์ทราบถ้วนถี่ทุกประการ พระอุปัธยาจารย์พิจารณาดูด้วยทิพย์จักษุก็ทราบชัดว่า สุบินผู้นี้เป็นพุทธังกูร รับอาสาพระราชาไปคราวนี้จักได้อิตถีรัตน์แล้วจักพลัดกัน จักได้ทำสามัคคีกับพระยาวานรเผือก ๆ จักบอกอุบายให้สุบินทำตามอุบายของพระยาวานรินทร์แล้ว จักเป็นผู้มีอานุภาพใหญ่และจะได้เป็นเอกอัครราชา พระอุปัธยาจารย์จึงอนุญาตให้สุบินไป แล้วให้พรว่า ท่านจงมีความสุขปราศจากทุกข์โรคภัยสรรพอันตราย และขอให้ไปได้สมความปรารถนาทุกประการเถิด

ส่วนสุปินกรับพรของพระเถระแล้ว ถวายอภิวาทลากลับไปได้พร้อมด้วยมหาชนลงสู่มหานาวา พระราชาส่งสุปินกลงเรือไปแล้วจึงรับสั่งอำมาตย์คนสนิทผู้หนึ่งให้เข้ามาเฝ้าในที่ลับ รับสังว่า ถ้าว่าสุปินกเขาได้หญิงแก้วแล้ว พาขึ้นนาวาแล่นมาถึงท้องมหาสมุทร ท่านจงจับสุปินกฆ่าเสีย โยนลงในท่ามกลางมหาสมุทร วัลลัพภามาตย์รับพระราชดำรัสแล้ว ถวายบังคมลาไปลงมหานาวากับด้วยบุรุษพวกของตน

​นาวาทั้งหลายเจ็ดลำแล่นตามกันไป อันตรายคือลมและคลื่นแรงร้าย เต่าปลาทั้งหลายอย่างดุร้ายก็หามีไม่ ด้วยบุญญานุภาพแห่งสุปินก ด้วยเหตุนั้นนาวาทั้งหลายข้ามพ้นอันตรายเป็นผาสุกสบาย แล่นไปประมาณสองเดือนก็บรรลุถึงโขมรัฐ กษัตริย์ร้อยเอ็ดองค์ก็หาทรงปรารภที่จะรบไม่ อาศัยด้วยบุญญานุภาพแห่งสุปินก หากบันดาลให้เป็นไป ฝ่ายนายเรือพวกของกษัตริย์ร้อยเอ็ดจึงถามสุปินกว่า ชาวนาวาพากันมาเมืองนี้ด้วยกิจสิ่งไร ชาวนาวาพากันมาเมืองนี้เพื่อจะจำหน่ายสินค้า ชาวนาวาเหล่านี้มาแต่เมืองไหน ชาวนาวาทั้งสองฝ่ายต่างทำปฏิสันฐารซึ่งกันและกันแล้วชวนกันชื้อขายสินค้าต่าง ๆ อย่างธรรมเนียมพ่อค้าทั้งปวง

คราวนั้นสุปินกจึงให้สัญญานัดหมายกะพวกอำมาตย์ว่า แน่ะท่านอำมาตย์ ท่านจงรักษานาวาของข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าผู้เดียวจะเที่ยวไปยังพระนคร แสวงหาอุบายจะเห็นและได้ให้นารีรัตน์ ถ้าข้าพเจ้าได้นารีรัตน์แล้วจักกลับมา ถ้าว่ายังไม่ได้ก็จักยังไม่มา สุปินกสั่งแล้วลงจากนาวาตรงไปยังพระนคร สัญจรไปตามทิศานุทิศ มหาชนประชุมกัน ณ ที่แห่งใด ก็เข้าไปในที่ประชุมแห่งนั้น คอยสดับตรับฟังคำที่เขาพูดกัน สุปินกนั้นเที่ยวไปทั่วเมืองแล้วนาน ก็ยังหาได้โอกาสประสบพบปะราชธิดาไม่

อยู่มากาลวันหนึ่ง สุปินกได้ฟังคำมหาชนเขาพูดกันว่า ท่านทั้งหลายจงเตรียมหาเครื่องแต่งตัวไว้ให้พร้อมกัน อีกเจ็ดวันพระราชธิดาจักยาตราไปสวนอุทยาน เพื่อทรงสรงสนานอุทกกีฬาและทอดพระเนตรนานาพฤกษ์ สุปินกจึงเข้าไปถามมหาชนว่า สวนอุทยานอยู่ ณ สถานที่แห่งทิศใด แน่ะมหาบุรุษ อุทยานอยู่ ณ สถานแห่งทิศอุตรา ก็ระยะทางแต่นี้ไปไกลสักเท่าใด แน่ะมหาบุรุษ ระยะแต่ที่นี้ไปไกลประมาณห้าโยชน์ สุปินกนั้นทราบความแล้วจึงดำริว่า เราจักรีบไปสวนก่อนคนซ่อนตนอยู่ที่พุ่มไม้ให้มิดชิดแล้วจักคอยดูรูปร่างพระราชธิดาให้จนได้ ดำริแล้วเดินออกจากนครบ่ายหน้าเฉพาะต่อทิศอุตรา ไปถึงสวนแล้วเลยแวะเข้าไปที่ฝั่งนทีก่อนได้พบพระยาวานรเผือกตัวหนึ่ง

แท้จริง พระยาวานรเผือกนั้นมีวานรห้าร้อยเป็นบริวาร อาศัยสวนอุทยานนั้นอยู่ เสตวานรราชาได้เห็นสุปินกเดินมามีเมตตาจิตแล้วปราศรัยว่า แน่ะมหาบุรุษผู้สหาย เชิญมานั่งบริโภคนานาผลาผลที่นี้ด้วยกัน พระโพธิสัตว์นั้นจึงดำริว่า พระยาวานรนี้พูดจาปราศรัยไพเราะเป็นทำนองของสัปบุรุษ เราควรจะคบไว้ การที่เราคบคงจะประสบคุณอานิสงส์สัก​สิ่งหนึ่งแน่ ดำริแล้วขยับเข้าไปยืนแลดูใกล้ ๆ ให้เกิดความรักใคร่เหมือนได้เคยเป็นเพื่อนกันมาแต่ก่อน จึงถามพระวานรว่า แน่ะสัมมวานรินทร์ ท่านมาอยู่ถิ่นนี้นานแล้วหรือ แน่ะสัมมมหาบุรุษ ชาติภูมิของข้าพเจ้าเกิดที่นี่ ข้าพเจ้าอยู่ที่นี้มานมนานแล้ว ก็ตัวท่านมาแต่ที่ไหน ข้าพเจ้ามาแต่เมืองโกสัมพี ท่านมาครั้งนี้ด้วยกิจสิ่งไร พระราชบิดาใช้ให้ข้าพเจ้ามา พระโพธิสัตว์เมื่อจะบอกความนั้นให้แจ้งชัดจึงกล่าวคาถานี้ว่า

อิตฺถิรตนปวุตฺตึสุตฺวา อติโลภโก จ
ราชา ตมตฺถาย มํ อาณโตตสฺมาหํ ตวนฺติเก อาคโต

ความว่า พระราชาโกสัมพีทรงสดับข่าวอิตถีรัตน์ว่ามีอยู่เมืองนี้ ทรงยินดีอยากได้ยิ่งนักหนา จึงรับสั่งใช้ให้ข้าพเจ้าดูอิตถีรัตน์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้มาหาท่าน ขอท่านเอ็นดูช่วยเป็นธุระด้วย

พระยาพานรินทร์ทราบความแล้ว จึงใช้ให้วานรไปนำนานาผลไม้ที่สวนราชอุทยานมาให้พระโพธิสัตว์บริโภค แล้วพักอยู่ ณ รุกขมูล แล้วปรารภจะนอนที่นั่น พระยาวานรใช้ให้พวกวานรไปหักกิ่งไม้มาปูลาดรองให้นอน วานรบางพวกก็พัดโบกด้วยกิ่งไม้มีใบ บางพวกก็ทำวัตรปฏิบัตินวดหัตถบาทาให้พระโพธิสัตว์นิทราโดยผาสุกภาพตลอดราตรี ครั้นรุ่งเช้า พระโพธิสัตว์วิงวอนถามพระยาวานรว่า จะทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะได้เห็นพระราชธิดา แน่ะมหาบุรุษ ท่านต้องการจะเห็นพระราชธิดาจงอยู่ที่นี่ก็จะได้เห็นราชธิดา เมื่อเสด็จมาชมสวนอุทยาน พระราชธิดาจักเสด็จมาเมื่อใด พระราชธิดาจักเสด็จมาชมสวนอุทยานและสรงสนานกับพวกนาฏกบริวารในเดือนนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจงอยู่ ณ ที่นี้ จักได้เห็นพระราชกุมารี พระโพธิสัตว์ก็อยู่ ณ รุกขมูลนั้นสิ้นสองสามวัน

คราวนั้น นางปทุมาวดีราชธิดา พร้อมด้วยอันเตปุริกานารีและบุรุษบริษัท ยาตราจากพระนครถึงสวนราชอุทยานแล้วให้ราชบุรุษตั้งกองรักษาโดยกวดขันอยู่กำแพงชั้นนอก กำแพงชั้นในหามีบุรุษอยู่รักษาไม่ พระโพธิสัตว์ได้เข้าไปอยู่ในกำแพงชั้นในก่อน ซ่อนตัวอยู่ที่พุ่มไม้แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ลี้ลับ คอยจับตาดูพระราชธิดา เมื่อเธอเสด็จมา ได้เห็นพระราชธิดางามโสภาดังพระจันทราลีลาลงจากโลกสวรรค์ มีความเสียวกระสันเกิดความรักใคร่ยิ่งนักหนา

นางปทุมาวดีราชธิดานั้น ครั้นเสด็จถึงสวนราชอุทยานแล้ว จึงเปลื้องเครื่องสรรพาภรณ์ ค่อย ๆ บทจรไปตามปรกติของพระเทวี เสด็จลงสรงวารีในสระโบกขรณี แล้ว​เลือกเก็บนานาบุปผาชาติประดับพระองค์ แล้วทรงกีฬากับพวกบริวาริตถี พวกสนมนารีวิ่งแล่นไล่ในทิศต่าง ๆ ลางนางก็ผ้าห่มลุ่ยหลุดหาย ลางนางก็กอดก่ายขยี้ขยำแล้วแย้มสรวล ลางนางก็ชวนกันเล่นล่อผัด พากันเล่นเป็นขนัดเป็นหมู่ ๆ ดูเป็นที่น่าสำเริงบันเทิงใจ ส่วนนางปทุมาวดีราชธิดาทรงประคองสรีรกายา มิให้พระภูษาลุ่ยหลุดหาย ทรงเยื้องกรายยิ้มย่องทั้งสองปราง ทรวดทรงสรรพางค์งามละม่อมพร้อมทั้งสี่อิริยาบถ สมพระยศยิ่งขัตติยนารี

เตน วุตฺตํ เพราะเหตุดังนั้น ท่านผู้รจนาจารย์จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ไว้ดังนี้ว่า

นาริคณปุรกฺขิตํสุวณฺเณน ปฏิจฺฉนฺนํ
สพฺพงฺคโสภณํ นารึโส ทิสฺวา สิเนหยติ
สา จ สพฺพงฺคโสภณาโกเสยฺยวตฺถมิวาสินี
ชาตรูปสุเมขลาสุรุตฺตปาทา กลฺยาณี
โกสุมฺภผลกสุโสนีหํสตตรสภาณินี
ปาเรวตคฺขี สุตนูพิมฺโภตฺถา ตนฺมชฺฌิมา
สุวณฺณมณิเมขลาสุชาตา ภุชคลตฺถี
เทวีว ตนุมชฺฌิมาทีฆา สา อสิตา เกสา
อีสอคฺคปเวลิตาสุชาตา มิคฉาปิว
เหมนฺตคฺคิสิขาริวนทีว คิริทุคฺเคสุ
สฺชนา ขุทฺทเวลูภินาคนาสุรู กลฺยาณี
ปถมา ติมฺพรุตฺถนีนาติทีฆา นาติรสา
นาติโจธาตา นาติโลมา 

ความว่า พระสุบินโพธิสัตว์นั้น ครั้นเห็นขัตติยนารีมีศรีสรรพางค์งามระยับ ล้วนประดับไปด้วยทองคำ มีเหล่าคณานารีนำและตามเสด็จเป็นหมู่ ๆ พระโพธิสัตว์เพ่งพิศแลดูแล้วก็ให้นึกรักใคร่สิเนหา

สา จ สพฺพงฺคโสภณา แท้จริง พระนางปทุมาวดีศรีสรรพโสภางค์ พระนางเธอทรงภูษาผ้าโกไสยพัสตรมีสัมผัสละเอียดอ่อนดังใยสำลี ทรงสอดใส่สะอิ้งรัดประทุมถันพิรัญรูจี มีสีพระบาทาอันแดงงามพรรณราย มีตะโพกงามผึ่งผายดังโกสุมพึ่งแย้มบาน ​พระสุรสำเนียง ก็ไพเราะดังราชหงส์ มีโขนงเนตรงามแน่งน้อยดังนัยนานกพิราบ ทั้งวรโอษฐ์์เอี่ยมอำไพ มีพรรณดังผลไทรที่สุกสด ลำศอก็งามปรากฏประดับด้วยสังวาลล้วนแก้วแกมสุวรรณ ท่ามกลางเอวองค์นั้นงามละมุนละไมดังไพรที พระเกศานั้นยาวมิได้กระจายมีปลายงอนช้อยขึ้นดุจผมลูกเนื้ออ่อน หรือดุจเปลวอัคคีที่หลอมทองฉะนั้น อนึ่งพระนางปทุมาวดี มีพระอูรูงามดังงวงไอยรา พึ่งเจริญรุ่นแรกปฐมวัย มีสรีรกายมิได้ยาวสั้นเกินไป และมิได้ขาวมิได้ดำนัก

เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์เห็นแล้วนึกรักใคร่มิรู้วาย จึงนึกว่าเราจักแสดงรูปของเราให้นางเห็นทดลองดูให้รู้แน่ว่า พระราชธิดาเห็นรูปของอาตมาแล้วจะรักหรือหาไม่ ดำริแล้วจึงเสี่ยงอธิษฐานบารมีว่า เราได้ปรารถนาพุทธภูมิและบำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนาอยู่เนืองนิตย์ ด้วยกำลังอธิษฐานแห่งพุทธภาพนี้ ขอให้พระราชธิดาองค์เดียวจงเห็นรูปของอาตมา และอย่าให้คนอื่นเห็นรูปของอาตมาเลย ดำริแล้วจึงแสดงรูปให้ปรากฏแก่พระราชธิดา ๆ ทรงทอดพระเนตรเห็นรูปพระโพธิสัตวแล้วทรงเยื่อใยรักใคร่ ความรักนั้นดุจตัดหนังเนื้อเข้าไปจดเยื่อกระดูกผูกพันไว้

เตน วุตฺต เพราะเหตุการณ์ดังนั้น ท่านคันถรจนาจารย์ จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ปุพฺเพว สนฺนิวาเสนปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา
อุปฺปนฺนํ ชายเต เปมํอุปลํว ยโถทเก

ความว่า ความรักใคร่อันเกิดขึ้นแล้วย่อมเกิดขึ้น (ด้วยเหตุสองประการคือ) ด้วยความที่เคยอยู่ร่วมกันมาในปางก่อน ๑ ด้วยเหตุเกื้อกูลในปัจจุบัน ๑ อุปมาเหมือนอุบลชาติอันเกิดแล้ว (ต้องอาศัยด้วยเหตุสองประการคือ น้ำ ๑ เปือกตม ๑)

นางปทุมาวดีราชธิดานั้น ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์แล้วทรงดำริว่า ชายผู้นี้มีลักษณะบริบูรณ์ หาใช่คนเลวทรามต่ำช้าไม่ ชายผู้นี้น่าที่จะมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ควรอาตมะจะอยู่ร่วมเรียงกับชายผู้นี้ ๆ จะมีปัญญาหรือหาไม่ ดำริแล้วจึงหยิบดอกประทุมดอกหนึ่งจุมพิตแล้วคลึงเคล้า เอาเวียนบนพระเศียรเจ็ดหน แล้วจุมพิตอีกครั้งหนึ่งจึงวางดอกอุบลไว้บนชายพกแห่งยายแก่ผู้หนึ่ง พระโพธิสัตว์สุบินกะเห็นพระราชธิดาผูกปัญหานั้นแล้วก็ทราบความชัดว่า พระราชธิดานี้มีความรักใคร่ในตัวอาตมา

​ครั้นเวลาสายัณหสมัย พระราชธิดาปทุมาวดีมีเสาวนีย์ดำรัสสั่งสาวใช้ว่า เราจักกลับไปยังพระนครจงบอกให้เตรียมตัวจงพร้อมกัน พวกนารีสาวใช้ทั้งหลายนั้นเตรียมการแล้วนำสีวิกามาเชิญพระราชธิดาให้ขึ้นประทับ พระราชธิดาทรงทัศนาพระโพธิสัตว์แล้วทรงหยิบดอกประทุม และผ้ารัดกัมพลทิ้งลง ณ ทางที่จะเสด็จไปให้เป็นสำคัญแล้วเสด็จไป เมื่อพระราชธิดาเสด็จกลับไปมิได้นาน พระโพธิสัตว์จึงดำเนินออกจากป่า ตรงไปหาพระยาวานรนั่งพักอยู่ที่โคนไม้ต้นนั้น

พระยาวานรเผือกเห็นพระโพธิสัตว์มาถึง จึงลงจากต้นไม้นั่งอยู่ ณ พื้นดินด้วยเคารพต่อพระโพธิสัตว์ แล้วถามว่า มหาบุรุษได้เห็นนางปทุมาวดีหรือไม่ ข้าพเจ้าได้เห็นนางปทุมาวดีแล้ว นางปทุมาวดีนั้นสวยงามหรือไม่ นางปทุมาวดีสวยงามยิ่งนักหนา นางปทุมาวดีได้เห็นตัวท่านหรือไม่ พระโพธิสัตว์จึงเล่าความแต่ต้นมาให้พระยาพานรินทร์ทราบสิ้น พระยาพานรินทร์จึงถามว่าท่านรู้จักอุบายแยบคายหรือไม่ ข้าพเจ้ารู้จักยลแยบคายแล้ว ท่านรู้จักนั้นคือรู้ว่าอย่างไร

พระโพธิสัตว์จึงบอกพระยาวานรว่า นางปทุมาวดีพอได้เห็นข้าพเจ้า ทรงหยิบเอาดอกประทุมดอกหนึ่งจุมพิตแล้วคลึงเคล้า ข้อนี้คือนางเธอบอกรักใคร่ในตัวข้าพเจ้า อนึ่งเล่านางเอาอุบลเวียนบนพระเศียรเจ็ดหน ข้อนี้นางเธอบอกว่าอยู่บนปราสาทเจ็ดขั้น อนึ่งนางนั้นจุมพิตดอกอุบลอีก แล้ววางไว้บนชายพกยายแก่แล้วจุมพิตครั้งหลัง ข้อนี้คือนางเธอบอกว่า ให้ไปยังปราสาทของเธอ และให้ไปอาศัยยายแก่ก่อนจึงจะได้เข้าไปภายในปราสาท จักได้ร่วมภิรมย์สมสนิทกับนาง อนึ่งพระราชธิดาทรงทิ้งดอกประทุมและผ้ากัมพลให้ตกลง ณ พื้นปฐพี ข้อนี้คือนางเธอให้ข้าพเจ้าไปคอยอยู่ที่ทางแยกตรงสีหบัญชร ข้าพเจ้ารู้ด้วยอาการอย่างนี้แล

พระยาวานรเผือกนั้นจึงตอบว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงไปยังสำนักพระราชธิดา ถ้าว่าท่านไปจะได้ราชธิดาหรือมิได้ก็ดี อันตรายจะมีแก่ท่านอย่างหนึ่ง ท่านจงรีบกลับมาหาข้าพเจ้า กล่าวดังนี้แล้วก็ส่งพระโพธิสัตว์ไปแล้วสั่งวานรบริวารว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยขวนขวายหาเรือให้ได้สักหนึ่งลำ นำมาจอดไว้ในสำนักของเรา แล้วชาวเจ้าจงไปนำนานาผลาผลไม้ในป่ามาบรรทุกไว้ในลำนาวา ฝูงวานรบริวารได้นำตัมพนาวามาลำหนี่งจอดไว้สำนักพระยาวานร แล้วนำนานามูลผลาผลไม้มาบรรทุกไว้ในลำนาวานั้น

​คราวนั้น พระสุบินกโพธิสัตว์อำลาพระยาวานรแล้ว บ่ายหน้ามุ่งต่อพระนครสัญจรไปจนถึงพระทวารวัง ขออาศัยเรือนนายประตูอยู่คืนหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้าจึงเข้าไปในพระนคร ไปถึงเรือนยายแก่คนนั้นแล้วจึงวิงวอนยายแก่ว่า ข้าพเจ้าพลัดบ้านเมืองมา ถ้ายายไม่มีความหนักใจ ข้าพเจ้าจะขออาศัยยายอยู่สักสองสามวัน ยายแก่นั้นก็อนุญาตให้พระโพธิสัตว์อาศัยอยู่ แล้วให้ทาสีทำวัตรปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ทุกอย่างตลอดจนอาหารการบริโภค พระโพธิสัตว์บริโภคอาหารเสร็จแล้ว ยายแก่จึงถามว่า พ่อมาแต่ไหน ข้าพเจ้ามาแต่เมืองโกสัมพี พ่อนี้มาไกล มาคนเดียวหรือมากับคนอื่นอีก พระโพธิสัตว์จึงบอกความจริงทุกประการแล้วพูดดังนี้อีกว่า เมื่อวันวานข้าพเจ้าอยู่สวนอุทยาน พระราชธิดาได้เห็นข้าพเจ้า ณ สวนอุทยาน ทำปริศนาบอกอุบายให้ข้าพเจ้าเข้ามาหาพระราชธิดา ความข้อนี้ยายก็รู้อยู่เต็มใจ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเข้ามาหายาย

พอยายแก่นั้นรู้ความตลอดถ้วนถี่ จึงเข้าไปเฝ้าพระนางปทุมาวดี ทูลความเรื่องนี้ให้ทรงทราบ พระนางปทุมาวดีมีความโสมนัสยินดี ครั้นถึงเวลาราตรีจึงให้ยายแก่นั้นรับพระโพธิสัตว์เข้าไปยังปราสาท ทรงปราศรัยปิยกถาตามประเพณีโลก แล้วสำเร็จสัยกิจกับพระโพธิสัตว์ ครั้นเวลาเที่ยงราตรี พระโพธิสัตว์จึงชวนพระราชธิดาพาไปถึงท่าซึ่งนาวาจอด เมื่อพระราชธิดาตามพระโพธิสัตว์มานั้น ได้เก็บรวบรวมนานารัตนะมีราคามากไปด้วย พระโพธิสัตว์จึงพาพระราชธิดาไต่ขึ้นตามบันไดไปลงนาวา นางเธอเผลอไปพลาดองค์ลงห่อรัตนะนั้นก็พลัดตกน้ำไป พระโพธิสัตว์จึงดำน้ำปรารภจะค้นหารัตนภัณฑ์

พวกอำมาตย์ที่เป็นนายเรือเหล่านั้น ครั้นได้พระราชธิดาแล้ว จึงถอยเรือหนีพระโพธิสัตว์ไปโดยเร็ว เหล่าว่าอำมาตย์เหล่านั้นได้ตระเตรียมนาวาบริภัณฑ์ มีเสาเพลาใบเป็นอาทิไว้เป็นนิจแต่พอพระราชธิดาเสด็จถึงเรือแล้วจึงตีระฆังเป็นเครื่องหมายรีบแล่นเรือหนีไป พระโพธิสัตว์ไม่ทันที่จะขึ้นนาวาได้ พวกอำมาตย์นายเรือทั้งหลายแล่นเรือไปสิ้นสามเดือนจึงถึงเมืองโกสัมพี

พระโพธิสัตว์ดำน้ำหาได้รัตนภัณฑ์แล้วจึงขึ้นจากน้ำได้เห็นนาวาแล่นไปไกลจึงดำริว่า พระราชาบังคับอำมาตย์ทั้งหลายนี้ให้มาทำการล่อลวงเราแน่ แต่เราจักตามไปแก้แค้นให้จงได้ ดำริแล้วจึงไปหาพระยาวานรเผือกนั่งคอยอยู่ที่โคนไม้ ต่อรุ่งเช้าพระยาวานรเผือกเห็นพระโพธิสัตว์กลับมาจึงถามว่า มหาบุรุษเหตุไรจึงกลับมาอีกเล่า พระโพธิสัตว์จึงบอกความทั้งปวงแต่ต้นให้พระยาพานรินทร์ทราบสิ้นทุกประการ

​พระยาพานรินทร์จึงชี้แจงว่า มหาบุรุษอย่าทุกข์ร้อนรันทดใจเลย ด้วยข้าพเจ้ารู้อยู่แต่เดิมว่าอันตรายจะมีแก่ท่าน บัดนี้ข้าพเจ้าหาเรือมาได้หนึ่งลำ ท่านลงเรือแล่นออกปากอ่าวไปทางทิศบูรพา ไปถึงเกาะไม้มะเดื่อจงขึ้นจากเรือ ไปซุ่มซ่อนตัวอยู่บนต้นอุทุมพร มหาสุกรตัวหนึ่งจักคาบมณีรัตนะดวงหนึ่ง เดินบนหลังน้ำไปถึงเกาะด้วยอานุภาพมณีรัตน์ คายมณีรัตน์ไว้กินผลมะเดื่ออิ่มแล้วนอนหลับอยู่บ้าง เที่ยวเดินไปบ้าง ท่านจงคิดอุบายเอามณีรัตน์นั้นให้ได้ ถ้าว่าท่านได้มณีรัตน์นั้นแล้ว จงเดินบนหลังน้ำไปทางอนุทิศทักษิณเข้าไปยังปากอ่าว จักบรรลุถึงนครนามว่าทัณฑกะ ต่อนั้นไปจะถึงเมืองกุมภิคหนะ ต่อไปจักถึงเมืองเภริตลนคร ต่อนั้นไปจักถึงเมืองอสิปัตนะ เมืองสี่เมืองเหล่านี้ล้วนมีสิ่งของวิเศษ มีไม้เท้าทิพย์ เป็นอาทิ เหมือนนามเมือง ท่านจงคิดอุบายเอาของวิเศษสี่อย่างให้ได้ เมื่อไปถึงเมืองโกสัมพีแล้วจักได้เสวยราชสมบัติเป็นเอกราช พระยาพานรินทร์บอกความถ้วนถี่แก่พระโพธิสัตว์ ด้วยประการฉะนี้

พระสุปินกโพธิสัตว์จึงอำลาพระยาวานร ลงนาวาอันเต็มด้วยนานาผล แล่นไปยังมหาสมุทร ล่วงมรรคาไกลได้สามสิบโยชน์ วันหนึ่งถึงเกาะอุทุมพร ด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์ครั้นถึงจึงขึ้นจากนาวาเก็บผลมะเดื่อที่โคนต้นบริโภค แล้วนอนอยู่บนคาบไม้ในราตรี ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า มหาสุกรคาบมณีรัตน์เดินบนหลังมหาสมุทรมาถึงเกาะอุทุมพร มหาสุกรจึงคายมณีรัตน์ไว้ใต้ต้นมะเดื่อ เลือกกินอุทุมพรผลจนอิ่ม ทำมณีรัตน์ไว้เบื้องหน้าแล้วนอนหลับอยู่ ณ ที่นั้น

ครั้นพระโพธิสัตว์เห็นมหาสุกรนอนหลับสนิทแล้ว จึงค่อยย่องลงมาคว้าเอามณีรัตน์นั้นได้ มีกายอันเบาเหาะขึ้นไปนั่งอยู่ ณ อุทุมพรสาขา แล้วจินตนาว่า สุกรตัวนี้เดินบนหลังน้ำได้ด้วยอานุภาพแห่งมณีรัตนะ จึงได้มาในเกาะอุทุมพรนี้ได้ เราจะฆ่าสุกรนี้กินเนื้อเสียและไป ดำริแล้วจึงหักกึ่งไม้แห้งท่อนหนึ่ง ขว้างไปให้ถูกศีรษะมหาสุกร ๆ สะดุ้งตื่นขึ้นเที่ยวค้นหามณีรัตน์ก็หาเห็นไม่ พระโพธิสัตว์จึงทำเสียงไอให้สุกรได้ยิน สุกรเห็นพระโพธิสัตว์แล้วก็รู้ว่าบุรุษผู้นี้ลักมณีรัตน์ไป มีความเสียใจ ได้เอาศีรษะฟาดกับต้นมะเดื่อ ศีรษะแตกเลือดไหล ขาดใจตายอยู่ในสถานที่นั้น

พระสุปินกโพธิสัตว์จึงลงจากต้นอุทุมพร ก่อไฟให้ติดฟืนด้วยไม้สีไฟ เผาเนื้อสุกรบริโภคพอประโยชน์แล้ว เดินน้ำข้ามมหาสมุทรไปวันหนึ่งได้สามสิบโยชน์ ถึงปากอ่าว​แม่น้ำแห่งหนึ่งจึงแวะเข้าไป ได้เดินน้ำไปถึงบ้านและนิคมจนตราบเท่าถึงทัณฑกนคร ชาวประชาราษฎร์เห็นแล้วก็เกิดอัศจรรย์ใจ พากันสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์เสียงมี่สนั่น พระนครนั้นก็เอิกเกริกกึกก้องเป็นโกลาหล ราวกะว่าอสุรินทราหูเข้าไปสู่เทวนคร ฉะนั้น

เมื่อชาวพระนครทำเสียงโกลาหลอยู่ ราชอำมาตย์คนหนึ่งจึงเข้าไปยังสำนัก กราบทูลเรื่องราวนั้นแก่พระเจ้าทัณฑกะราชว่า พระมหาราช จะเป็นเทวดาหรือคนธรรพและยักษ์หรือนาคราช หรือมนุษย์ประการไดไม่ทราบเกล้า เดินน้ำเข้ามายังพระนครของพระองค์ พระราชาทรงฟังดังนั้น แล้วทรงประทับยืน ณ พื้นปราสาท ทอดพระเนตรเห็นมหาบุรุษผู้บริบูรณ์ด้วยลักษณะแล้วดำวิว่า บุรุษคนนี้เป็นมนุษย์อัศจรรย์นัก จักได้ของอะไรมาสักสิ่งหนึ่งจึงเดินน้ำได้ ทรงดำริแล้วเสด็จอุฎฐาการทรงธารพระกรทิพย์ทัณฑ์ เสด็จไปประทับยืนอยู่ ณ ริมฝั่งนที มีพระดำรัสเรียกพระโพธิสัตว์ ๆ ก็ยืนอยู่ ณ หลังน้ำท่ามกลางนที จึงมีรับสั่งถามว่า แน่ะสหายท่านผู้มีฤทธิ์ยืนบนหลังน้ำได้ด้วยอานุภาพถิ่งไร พระสุปินกโพธิสัตว์แสดงมณีรัตน์ให้ทรงเห็นแล้วกราบทูลว่า ข้าพระบาทยืนบนหลังน้ำได้ด้วยอานุภาพมณีรัตน์นี้

พระเจ้าทัณฑกะราชทอดพระเนตรเห็นมณีรัตน์มีรัศมีโพลงงามมีความอยากได้ จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า มณีรัตน์ดวงนี้มีคุณานิสงส์เป็นอย่างไร พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า บุคคลผู้ใดทรงแก้วมณีนี้ไว้ บุคคลผู้นั้นไม่ต้องบริโภคอาหารอื่นอยู่ได้สามเดือน อันนี้คุณที่หนึ่ง บุคคลผู้ใดทรงแก้วมณีนี้ไว้ แม้จะเหยียบน้ำมันเหล็กและทองแดงอันร้อนลุกเป็นเปลวไฟ บุคคลผู้นั้นก็มิได้รู้จักร้อนเลย อันนี้คุณที่สอง บุคคลผู้ใดทรงแก้วมณีนี้ไว้ ช้างม้าโคมหิงสาสีหพยัคฆทีปินาคทั้งหลายไม่อาจจะทำร้ายบุคคลผู้นั้นได้เลย อันนี้คุณที่สาม บุคคลผู้ใดทรงแก้วมณีนี้ไว้ บุคคลผู้นั้นก็มิได้เป็นอันตรายด้วยน้ำด้วยไฟด้วยศัสตราวุธ จิตของผู้นั้นก็จะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อันนี้คุณที่สี่ บุคคลผู้ใดทรงมณีนี้ไว้ บุคคลผู้นั้นอาจจะเดินไปบนหลังน้ำได้ อันนี้คุณที่ห้า บุคคลผู้ใดทรงแก้วมณีนี้ไว้ บุคคลผู้นั้นอาจจะไปบนอากาศได้ อันนี้คุณที่หก บุคคลผู้ใดทรงแก้วมณีนี้ไว้ บุคคลผู้นั้นย่อมจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทพดาทั้งหลายเป็นอันมาก มนุษย์และเทพดาย่อมจะเคารพนับถือบูชาทุกทิวาราตรี อันนี้คุณที่เจ็ด พระโพธิสัตว์แสดงคุณมณีรัตน์ว่ากอร์ปด้วยสมบัติเจ็ดอย่างด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าทัณฑกะราชทรงฟังดังนั้น จะใคร่ได้แก้วมณีนั้นยิ่งนัก จึงตรัสว่า แน่ะสหาย ท่านจงให้แก้วมณีแก่เราเถิด เราจะให้ทิพย์ทัณฑ์แก่ท่าน ทิพย์ทัณฑ์ของพระองค์มีคุณและอานิสงส์​อย่างไร แน่ะสหาย มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานก็ดี นาคครุฑและยักษ์ก็ดี แต่บรรดาเป็นข้าศึกคิดจะทำร้ายตัวเรา เราชี้มนุษย์สัตว์นั้นด้วยปลายไม้เท้า มนุษย์และสัตว์นั้น ๆ ก็จะถึงกาลกิริยาตายไป แม้เราเห็นสรีระแห่งมนุษย์และสัตว์อันตายแล้วใหม่ ๆ เรามีจิตคิดกรุณาเอาไม้เท้าข้างต้นชี้ไป มนุษย์และสัตว์อันตายแล้วนั้น ย่อมได้ชีวิตคืนมาเป็นปรกติดังเก่าไม้เท้าของเรามีคุณอย่างนี้ เราทั้งสองต่างแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันเถิดนะสหาย

พระสุปินกโพธิสัตว์กราบทูลว่า พระมหาราช ที่อันนี้เป็นเขตของพระองค์ ๆ มีราชบริวารมาก ข้าพระบาทจรมาแต่ผู้เดียว ไม่อาจจะถวายแก้วมณีแด่พระองค์ได้ พระองค์จงทรงธารพระกรนี้ไปจากที่นี่แล้วจึงทำการแลกกัน กราบทูลแล้วก็เดินเลียบฝั่งน้ำไปถึงป่ามหาวัน พระราชานั้นโลภอยากได้แก้วมณี ทรงธารพระกรเสด็จตามไปแต่องค์เดียวถึงป่ามหาวัน แล้วพระโพธิสัตว์กราบทูลว่า พระมหาราช พระองค์จะประทานทิพย์ทัณฑ์แก่ข้าพระบาท พระเจ้าทัณฑราชทรงประทานทิพย์ทัณฑ์แก่พระโพธิสัตว์ ๆ รับแล้วก็นิ่งเสียมิได้ถวายแก้วมณี พระราชาทรงเตือนว่า จงให้แก้วมณีแก่เรา ข้าพระบาทรักแก้วมณีนัก ถวายไม่ได้ ท่านไม่ให้แก้วมณีแก่เรา จงเอาทิพย์ทัณฑ์คืนมา ข้าพระบาทถวายคืนไม่ได้ ถ้าพระองค์จักเอาคืนให้ได้ ข้าพระบาทจักปลงพระชนม์พระองค์เสียด้วยปลายไม้ทิพย์ทัณฑ์ เพราะฉะนั้นพระองค์จงเสด็จกลับยังพระนครเสียเถิด พระราชาไม่ได้อะไรก็เสด็จกลับไปยังพระราชฐาน

พระโพธิสัตว์ดำเนินต่อนั้นไป ล่วงมรรคาไกลได้สามสิบโยชน์จึงบรรลุถึงเมืองกุมภิกนคร พระโพธิสัตว์ดำเนินไปบนหลังน้ำมหานทีตรงเข้าไปยังพระนคร ประชาราษฎรเห็นแล้วก็พากันโจษเป็นโกลาหล อำมาตย์คนหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลเหตุนั้นแด่พระเจ้ากุมภกราช ๆ ทรงทราบแล้วเสด็จไปทอดพระเนตรพระโพธิสัตว์ ณ ฝั่งคงคา รับสั่งถามว่า มหาบุรุษ ท่านมีฤทธิ์เดินบนหลังน้ำได้ ท่านได้ของวิเศษอะไรไว้หรือ พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงคุณมณีรัตน์จึงทูลว่า พระมหาราช ข้าพระบาทมีฤทธิ์เพราะอำนาจมณีรัตน์ดวงนี้ (คือมีคุณเจ็ดอย่างดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น)

พระเจ้ากุมภิกราชทอดพระเนตรมณีรัตน์อันมีรัศมีงาม มีความประสงค์จะใคร่ได้ จึงตรัสว่า แน่ะสหาย ท่านจงให้แก้วมณีแก่เรา เราจะให้หม้อใบหนึ่งแก่ท่าน หม้อของพระองค์มีคุณอย่างไร แน่ะสหาย บุคคลผู้ใดใคร่จะดื่มน้ำกิน พึงหมุนหม้อใบนี้เข้า บุคคลผู้นั้นจักได้น้ำภายในหม้อ บุคคลผู้ใดใคร่จะข่มขี่หมู่ปัจจามิตร บุคคลผู้นั้นหมุนหม้อให้เกิดน้ำร้อนแล้วคว่ำหม้อลง หม้อนั้นจักยังห้วงมหานทีให้ท่วมทับหมู่ปัจจามิตรพึงพินาศไป ​มหาราช ข้าพระบาทจักแลกเปลี่ยนกันในที่นี้มิได้ ถ้าพระองค์ทรงอยากได้มณีรัตน์เชิญเสด็จไปแลกกัน ณ ป่ามหาวัน พระองค์กับข้าพระบาทควรจะไปแลกกันตัวต่อตัว พระโพธิสัตว์เชิญเสด็จพระราชาไปด้วยกันถึงป่ามหาวัน จึงเอาไม้เท้าทิพย์ข้างปลายชี้พระราชา ๆ ก็ทิวงคตอยู่ ณ ที่นั้น แล้วก็ถือเอาหม้อทิพย์ใบนั้นไปเสีย

พระโพธิสัตว์ได้หม้อทิพย์แล้ว ก็ดำเนินไปจนบรรลุถึงพระนครนามกรว่าเภรีตละ เดินบนหลังน้ำเข้าใกล้พระนคร ประชาราษฎรเห็นแล้วก็โจษกันเป็นโกลาหล มีอำมาตย์คนหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเภรีตละราชา กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบแล้ว พระราชาทรงถือทิพย์เภรีเสด็จออกจากพระราชฐาน ไปประทับ ณ ริมฝั่งนที ใกล้พระโพธิสัตว์ ทรงดำรัสถามถึงการเดินน้ำได้กะพระโพธิสัตว์ ๆ จึงทูลพรรณนาคุณสมบัติแห่งแก้วมณี ดุจเนื้อความที่ได้กล่าวมาแต่หนหลัง

พระราชาทรงฟังแล้วก็อยากได้แก้วมณี จึงชวนพระโพธิสัตว์ให้เอาแก้วมณีแลกกับทิพย์เภรี พระโพธิสัตว์จึงลวงพระราชาให้เสด็จไปแลกกันสองต่อสองที่ป่ามหาวัน ครั้นพระราชาเสด็จไปถึงป่ามหาวันแล้ว พระโพธิสัตว์ทูลถามว่าเภรีของพระองค์มีคุณอย่างไร พระราชาตรัสบอกว่าหน้ากลองข้างนี้ตีแล้ว พวกข้าศึกทั้งหลายไม่อาจทำร้ายได้ พากันหนีไป หน้ากลองข้างนี้ถ้าตีแล้วจะปรารถนาสิ่งใด ๆ ก็ได้สมปรารถนาทั้งสิ้น ถ้าเช่นนั้นพระองค์จงประทานแก่ข้าพระบาทเถิด ถ้าพระองค์ไม่ทรงประทานกลองให้ ข้าพระองค์จะชี้พระองค์ด้วยไม้เท้าข้างปลาย พระองค์ก็จักวอดวายสิ้นพระชนม์ แล้วพระโพธิสัตว์ก็ชี้ต้นไม้ต้นหนึ่งให้พระราชาทอดพระเนตร ต้นไม้นั้นก็มีใบเหี่ยวหล่นลงทันที พระเจ้าเภรีตลราชก็สะดุ้งตกพระทัย ยอมให้ทิพย์เภรีแก่พระโพธิสัตว์แล้วหนีไป

พระโพธิสัตว์ได้ทิพย์เภรีแล้วก็ดำเนินต่อไปจนบรรลุถึงเมืองอสิปตนคร ดำเนินบนหลังน้ำด้วยเท้าเข้าไปตามลำนที มหาชนเห็นแล้วก็โจษกันเป็นโกลาหล อำมาตย์คนหนึ่งจึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าอสิตนราช ๆ ทรงถือพระแสงดาบทิพย์เสด็จไปประทับ ณ ฝั่งนที ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์แล้วตรัสถามว่า ท่านถืออะไรไว้จึงเดินน้ำมาได้ พระโพธิสัตว์แสดงมณีรัตน์ให้ทอดพระเนตรแล้วทูลว่า พระมหาราช พระแสงดาบของพระองค์ทรงคุณวิเศษอย่างไร แน่ะสหาย ชนเหล่าใดเป็นข้าศึกต่อเรา เราใช้ให้ดาบเล่มนี้ไปฆ่าเสียให้ตายให้หมด เพราะฉะนั้นท่านจงเอาแก้วมณีแลกกับดาบของเรา พระมหาราชพระองค์มีบริวารมากนัก ​ข้าพระบาทมาคนเดียว สมควรจะแลกกันที่ป่าชัฏสองต่อสอง พระมหาราชยอมตกลงจึงเสด็จไปยังป่าพร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ ๆ จึงเอาไม้เท้าทิพย์ข้างปลายชี้ตรงองค์พระราชา ๆ ก็ถึงสิ้นพระชนม์ในขณะนั้น

พระโพธิสัตว์ได้พระแสงดาบเล่มนั้นแล้วก็เดินต่อไป ล่วงมรรคาได้สามสิบโยชน์จึงบรรลุถึงเมืองโกสัมพี จึงแวะเข้าไปหาพระเถระผู้อุปัธยาจารย์ ถวายนมัสการโดยสัจเคารพ พระเถระผู้อุปัธยาจารย์จึงถามว่า พ่อสุปินกทะได้อิตถีรัตน์มาแล้วหรือ พระสุปินกะจึงเล่าความแต่ต้นจนถึงได้ของวิเศษห้าอย่างมาให้พระเถระผู้อุปัธยาจารย์ฟังถ้วนถี่ทุกประการ พระเถระผู้อุปัธยาจารย์ได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่

ในวันที่พระโพธิสัตว์มาถึงนั้น นาวาเจ็ดลำที่นำนางปทุมาวดีมาก็พอมาถึงท่าเรือจอดพร้อมกัน พวกอำมาตย์และนายนาวาได้พานางปทุมาวดีเข้าเฝ้าพระราชา ๆ ทอดพระเนตรแล้วก็มีพระหฤทัยโสมนัส ดำรัสสั่งให้นางปทุมาวดีอยู่ในสุวรรณปราสาท แล้วตรัสถามถึงเหตุที่สุปินกมิได้กลับมา อำมาตย์และนายนาวาจึงกราบทูลให้ทรงทราบความตามนัยดุจกล่าวมาแล้วแต่หนหลัง

แท้จริง จำเดิมแต่นางปทุมาวดีพลัดกับพระโพธิสัตว์มาทางนาวา นางเธอโศการ่ำไห้ถามถึงว่าสามีของนางไปไหน พวกอำมาตย์ลวงหลอกบอกว่า สามีของเธอตามมาอยู่เรือลำหลังโน้น ครั้นนางปทุมาวดีขึ้นจากเรือเข้าเฝ้าพระราชา นางนึกแปลกใจจึงถามอำมาตย์อีกทีว่า สามีของเราอยู่ที่ไหนไม่เห็นมา พวกอำมาตย์ลวงหลอกบอกว่า พระราชานี่แหละเป็นสามีของเธอ นางปทุมาวดีได้ฟังดังนั้นจึงดำริว่า พระราชานี้หาใช่ภัสดาเราไม่ ภัสดาของเราหายไปไหน นางโศการ่ำไห้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

ฉินฺนา วต มยฺหํ อาสาวินาสฺสมฺเม มโนรถํ
อุปฺาหํ สามิกํ วินามยฺหํ ชีวิเตน กิมตฺโถ
กสฺมา สามินา วิโยคาปุพฺเพ กึ กมฺมํ กตมฺเม
มิคปกฺขึนํ อาฆาฏาหํสามิกํ อปสฺสํ ทานิ
อนาถา วต อิทานิมหาสมุทฺทํ ตรามิ
น ปสฺสามิ สามิกํมม หทยํ ผลิสฺสติ
ยํ ปาปํ ปกตํ ปุพฺเพพหุพุกฺขํ อนปฺปกํ
กสฺมา วิโยคํ ตํํ วินาน ปสฺสามิ ตุวํ ทานิ
กสฺมา มมํ วเชสฺสติสามิโก เกน ปราเธน
มมํ หิตฺวา กุหึ คโตกถ๊ กตฺจ ปสิสฺสามิ

ความว่า ความหวังของเรามาขาดพินาศไปไม่สมประสงค์เสียแล้วหนอ เราหามีบุญไม่จึงได้พลัดพรากจากสามี เรามีชีวิตอยู่นี้หามีประโยชน์ไม่ เหตุไรเราจึงต้องวิโยคจากภัศดา หรือชาติปางก่อนเราได้ก่อกรรมไว้ ได้พรากลูกเนื้อและลูกนกให้ตกตายไป ผลวิบากหากติดตามมาทัน ทำให้เรานั้นมิได้ประสบพบสามี คราวนี้เราหาที่พึ่งมิได้แน่แท้ จะข้ามมหาสมุทรไปก็จะไม่พบสามี หัวใจของเรานี้จักแตกทำลายไป บาปกรรมสิ่งใซึ่งเราทำไว้ในปางก่อน จึงได้มารับความทุกข์ร้อนมากนัก เหตุไรสามีจึงทิ้งเราเสียได้ หรือด้วยโทษกรณ์สิ่งใดมี ภัศดาจึงทิ้งอาตมะนี้แล้วหนีไป ทำไฉนจะได้พบประสบกัน ณ ครังนี้

นางปทุมาวดีระลึกถึงสามีพลางทางก็ปริเทวนา เมื่อมาระลึกถึงพระราชมารดาก็ยิ่งเศร้าพระหฤทัย ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

อมฺม เม กึ ภวิสฺสติกถํ ปสฺสามิ มาตรํ
ทุติยฺจ ทุกฺขํ มมชเหสฺสามิ ชีวิตํ

ความว่า พระมารดาเจ้าข้า ป่านนี้พระชนนีจักเป็นไฉนไม่รู้ที่ ทำฉนจะได้เห็นหน้าพระมารดาบ้าง เมื่อแรกลูกได้พลัพระมารดามา ชื่อว่าเป็นทุกข์ครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ลูกแก้วกลับมาพลัตภัศดาเป็นสองซ้ำ หัวอกลูกจะระกำตรอมใจตาย ณ บัดนี้ นางปทุมาวดีทรงโสกีร่ำไรอยู่ในสุวรรณปราสาท

ครั้งนั้น พระเจ้าโกสัมพีเสด็จไปยังปราสาทนางปทุมาวดี เข้าประทับนั่งใกล้จะใคร่ถูกต้องนางปทุมาวดี ๆ มีความเดือดร้อน เมื่อจะค่อนบริภาษ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

มยฺหฺจ ปาเท มา ผุสฺสตุยฺหํ หตฺถฺจ สีสฺจ
อหํ กุสริราว กายาเนว ตยา ผุสฺสิตุํ ยุตฺตํ

​ความว่า พระองค์อย่าให้พระหัตถ์และพระเศียรของพระองค์มาถูกต้องบาทาของหม่อมฉันเลย หม่อมฉันมีสรีรกายอันลามกต่ำช้า พระองค์ไม่สมควรจะถูกต้องเลยทีเดียว พระราชาทรงฟังนั้นมีกายและจิตกระสับกระส่าย เสด็จถอยออกปประทับ ณ ภายนอกปราสาท ไม่อาจจะเข้าไปใกล้ถูกต้องกายนางปทุมาวดีได้ด้วยบุญญานุภาพแห่งนางปทุมาวดีหากคุ้มรักษาไว้

ฝ่ายว่าพระสุปินกโพธิสัตว์ เมื่ออยู่ ณ พระอารามนั้น เล่นสะกาและหมากรุกกับพวกนักเลงอยู่ที่ศาลฟังธรรม ครั้งนั้นอำมาตย์ผู้หนึ่งขึ้นจากเรือเดินเที่ยวไปยังอารามนั้น เห็นพระโพธิสัตว์นั่งเล่นสะกาหมากรุกอยู่จึงคิดว่า นายสุปินกนี้พวกเราพากันทิ้งเสียแล้ว เหตุไรจึงมาถึงก่อนพวกเรา แล้วเข้าไปใกล้ไต่ถามว่า แน่ะนายสุปินก ท่านมาถึงเมืองนี้เมื่อไร เรามาถึงได้สองสามวันแล้ว ท่านมาทางไหน เราเดินมาด้วยเท้า ท่านเข้าเฝ้าพระราชาแล้วหรือยัง เราไม่รู้จักกับพระราชา เราจะต้องไปเฝ้าท่านทำไม

อำมาตย์ได้ฟังดังนั้นก็นึกแปลกใจ จึงกลับเข้าไปยังราชสำนัก กราบทูลพระราชาว่า พระมหาราช บัดนี้สุปินกมาเล่นหมากรุกอยู่ที่พระอาราม ข้าพระพุทธเจ้าถามว่ามาเฝ้าพระองค์แล้วหรือ สุปินกตอบว่าเขาไม่รู้จักพระองค์ เพราะฉะนั้น สุปินกจักเป็นข้าศึกต่อพระองค์ พระราชาทรงรับสั่งว่าเจ้าจงกลับไปเรียกตัวสุปินกเข้ามาหาเรา อำมาตย์นั้นรับพระราชดำรัสแล้วไปยังพระอาราม จึงบอกพระโพธิสัตว์ว่า พระราชารับสั่งให้หาตัวท่านเข้าไปเฝ้า ณ กาลบัดนี้ แน่ะสหาย ถ้าว่าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรมไซร้ เราจักไปเฝ้า เดี๋ยวนี้พระราชานั้นหาทรงธรรมไม่ เราก็จักไม่ไปเฝ้า ฯ ถ้าเช่นนั้นท่านก็เป็นข้าศึกต่อพระราชาละซิ อำมาตย์พูดต่อดังนั้น จึงพร้อมด้วยบริวารของตน ตรงเข้าช่วยกันฉุดคร่าห์พระโพธิสัตว์ก็ไม่สามารถจะทำให้เคลื่อนไปจากที่ได้ จึงกลับไปยังราชสำนัก กราบทูลเหตุนั้นแต่พระราชาให้ทรงทราบทุกประการ

พระราชาทรงกริ้วใหญ่ รับสั่งอำมาตย์ทั้งหลายให้เกณฑ์พวกโยธาไปจับมัดผูกคอสุปินกเอาตัวไปขังไว้ในเรือนจำ อำมาตย์ทั้งหลายนั้นก็พากันไปจับตัวพระโพธิสัตว์ ๆ จึงเอาไม้ทิพย์ข้างปลายชี้พวกอำมาตย์และโยธาทั้งหลาย ๆ ก็ล้มลงถึงกาลกิริยาตาย เว้นอำมาตย์คนหนึ่งไว้ พระโพธิสัตว์ไม่ชี้ให้ตาย อำมาตย์ผู้นั้นวิ่งหนีไปกราบทูลพระราชา ๆ รับสั่งให้เสนาบดีเป็นหัวหน้า คุมโยธาขี่ช้างม้าสามพันคนไปจับสุปินกฆ่าเสียให้ได้ พวกโยธามีเสนาบดีเป็นประธาน ก็พากันยกไปล้อมรอบพระอารามหมายจะจับตัวพระโพธิสัตว์

​พระโพธิสัตว์จึงหยิบทิพย์เภรีตีหน้าที่สอง แล้วอธิษฐานว่า ขอให้พระอารามนี้กลับกลายเป็นพระนครหลวง ให้มีสรรพสิ่งทั้งปวงพร้อมทั้งค่ายคูประตูหอรบกับปราสาทราชมณเทียร ในขณะนั้น พระอารามก็กลายเป็นพระนครหลวง มีสรรพสิ่งทั้งปวงคือมีกำแพงล้อมเจ็ดชั้น มีซุ้มประตูสี่ด้าน และมีถนนน้อยใหญ่ภายในมีพระราชมนเทียรวิจิตรด้วยกูฏาคาร ประดับด้วยอลังการล้วนแล้วด้วยแก้วแกมสุวรรณ งามปรากฏดุจเวชยันตรถแห่งท้าววชิรปาณี ดูนี่ก็น่าอัศจรรรย์นักหนา

พวกเสนาโยธามีเสนาบดีเป็นต้น ได้เห็นพระนครใหม่งามสุกใสก็พิศวงในใจว่า สุปินกมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไฉนพวกเราทั้งหลายจักรบรันกับผู้มีบุญได้ คิดกันแล้วก็พากันอ่อนใจ ครั้นจะกลับไปก็เกรงพระราชอาญา จึงพากันเข้าไปยืนเรียงอยู่ใกล้พระนครใหม่ ร้องประกาศว่า ท่านจงรบข้างเดียวเถิด พวกข้าพเจ้าไม่ขอต่อสู้ท่านแล้ว พระโพธิสัตว์จึงหยิบไม้เท้าทิพย์ชี้พวกโยธา ๆ กับช้างม้าก็พากันล้มตายกลิ้งไป เว้นไว้แต่เสนาบดีคนหนึ่งพระโพธิสัตว์หาได้ชี้ให้ตายไม่ เสนาบดีนั้นก็หนีไปกราบทูลพระราชา

พระราชาทรงทราบแล้วก็กริ้วใหญ่ จึงให้อำมาตย์กับพวกโยธาพิพักษ์รักษาพระอัครมเหสี และนางปทุมาวดีกับนาฏกิตถีไว้ในที่แห่งหนึ่ง จึงรับสั่งเสนามาตย์และอุปราชให้เตรียมพลโยธาสิบแปดอักโขเภนีพร้อมเสร็จ พระองค์เสด็จพยุหยาตราออกจากนคร พวกโยธานิกรก็โห่ลั่นสนั่นหวั่นไหวเดินกระบวนทัพไปล้อมนิมิตนครเข้าไว้ พระราชาตรัสคุกคามว่า แน่ะสุปินก เราให้โยธาล้อมเมืองไว้มากมายถึงเพียงนี้ ท่านจะหนีไปจากเมืองนี้ได้เป็นอันไม่มี เราอยากจะเห็นอานุภาพของท่านว่าจะไปทางไหนได้ พระราชาทรงตวาดอย่างนี้แล้ว ลงพระแสงขอเตือนช้างเร่งพลเสนาให้ไสช้างเข้าทำลายกำแพงเมืองเข้าไป พวกโยธาทั้งหลายก็ตรงเข้าไปอุปมัยดังจะทำลายนิมิตนครให้ถล่มทำลายลง

ฝ่ายสุปินกโพธิสัตว์จะได้สะดุ้งหวาดเสียวหามิได้ อุฏฐาการจากสิริสยนาสน์และชำระกาย นุ่งห่มทิพย์วัตถามีราคานับได้แสนกหาปณะ ถือดาบทิพย์ด้วยหัตถ์เบื้องขวา ถือไม้เท้าทิพย์ด้วยหัตถ์เบื้องซ้าย สวมรัตนปาทุกามีนางกัลยานารีงามดังเทพอัปสรพัดโบกอยู่เนืองแน่น สถิตเหนือแท่นที่บัญชรแห่งอลงกตปราสาท เมื่อจะแสดงตนให้พระราชาเห็น จึงดำเนินเยื้องกรายไปมาดุจลีลาแห่งท้าวเทวราช และได้แสดงมุขนลาฏอันผ่องใสราวกับว่ากระจกทองให้ปรากฏแด่พระราชา แล้วเปล่งมธุรสกถาทำความเยาะเย้ยพระราชา จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า

กินฺนู สนฺตรมาโนวนาค เปสิ กุชร
ปหตฺถรูโป อาคโตสิชโยหมสฺมีติ มฺสิ
โอหาเรตุ ธนุจาปํขิปฺปิ สรํ ปฏิสํหร
โอหาเรตุ สภํ จมฺมํเวฑุริยมณิสนฺนิภํ

ความว่า พระองค์ทรงร่าเริงรีบเร่งสนาคกุญรเข้าย่ำยี พระองค์สำคัญกระนี้ว่าจะเอาชนะกระนั้นหรือ พระองค์จงให้พวกพปลดลดธนูลงวางไว้ รีบเก็บลูกศรทั้งเบาะอานและโล่เขนงามคล้ายถ้วยแก้วไพพูรย์ไว้เสียให้ดี แล้วกลับไปเถิด ณ กาลบัดนี้

พระเจ้าโกสัมพีทรงสดับดังนั้นจึงดำริว่า สุปินกทำความเยาะเย้ยเรา เราจักให้รู้สึกซึ่งกิจที่เราจะพึงทำแก่สุปินก ณ วันนี้ เมื่กจะคุกคามพระโพธิสัตว์จึงตรัสพระคาณานี้ว่า

สิตปุพฺพฺจ ภาสิตํปสนฺนมุขํ โสภติ
อีทิสวณฺณสมฺปทามรณกาเล โข โหติ

ความว่า หน้าของ ท่านดูสดใส ได้กล่าวคำแย้มสรวลเราก่อน กิริยาที่นวลขึ้นหน้าเช่นนี้ ตำราเขาว่าคนนวลขึ้นหน้าถึงเวลาจะตาย

พระสุปินกโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้นจึงดำริว่า พระราชาหารู้จักว่าเราเป็นสุปินกไม่ เราจักยังไม่แสดงให้พระราชาตายก่อน เมื่อจะทำความเยาะเย้ยให้ร่าเริงต่อไป ได้ภาษิตพระคาถานี้ว่า

โมฆนฺเต คชฺชิตํ มุขํภินฺนมนฺโตสิ โน ลชฺชิ
ทุคณฺหํ มมํ คณฺหสิตวมฺปิ มรณํ ปตฺโตสิ

ความว่า พระอค์คำรามแต่ปากเปล่า ๆ พระองค์จะมีปัญญาแตกานสักเท่าใ จะต้องายแก่ข้าพเจ้า พระองค์จะจับตัวข้าพเจ้าได้นั้นยากนัก พระองค์จักต้องตายเสียเป็นแน่

พระเจ้าโกสัมพิกราช สดับวาจาองอาจของพระโพธิสัตว์ดังนั้นยิ่งกริ้วใหญ่ เมื่อจะบังคับให้จับพระโพธิสัตว์ลงโทษกรรมกรณ์จึงตรัสพระคาถาว่า

อิมสฺส หตฺเถ ปาเท จกณฺณนาสฺจ ฉินฺทถ
อิมสฺส มํสํ ปาตพฺยํสุเลสุ กตฺวา ปจฺจนฺตุ
ยถาปิ อุสภํ จมฺมํปถพฺยา วิตุนิยติ
ยถา สีหพยคฺฆสฺส โหตุองฺกุเสน อากฒิกํ
เอวนฺตสฺส จมฺมํ วิตุณิสงฺกุนา อากฒิยิตฺถ

ความว่า พวกโยาจงช่วยกันตัดมืตัดเท้าและหูจมูกแห่งสุปินกนี้ให้ได้ จงแล่เนื้อออกเอาเสียบไม้แหลมปิ้งกินเสีย ณ กาลบัดนี้ อนึงเขาเอาหนังโคตอกขึง ณ ปฐพีฉันใด เขากรีดลอกหนังสหพยัคผ์ด้วยอาวุธขอฉันด พวกโยธาทั้งหลายจงแล่เนื้อเถือหนังสุปินกนั้นลกออกด้วยอาวุธขอฉะนั้น

พวกโยธามาตย์ทั้งหลายสดับพระราชาดำรัสแล้ว จึงพากันวิ่งชุลมุนกรูเข้าไปเหมือนจะทำลายกำแพงให้พินาศลง ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงเอาไม้เท้าทิพย์ข้างปลายชี้ไปตรงพวกเสนามาตย์ ณ ด้านแห่งปุริมทิศและทักษิณทิศ และอุตรทิศปัจฉิมทิศ พวกโยธามาตย์กับช้างม้าทั้งหลาย ได้ล้มลงถึงกาลกิริยาตายในที่นั้น เว้นไว้แต่พระราชากับเสนาบดีและปุโรหิต หาได้ชี้ให้ตายไม่ พระราชาทอดพระเนตรเห็นพลโยธาล้มตายดังนั้น ก็สะดุ้งตกพระทัย พระสรีรกายนั้นสั่นประหนึ่งว่าจะพลัดตกลงจากคอคเชนทรทรงประณมพระกรขอชีวิตแก่พระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์เห็นพระราชาทรงทำอาการอย่างนั้น อันพระกรุณาหากเตือนใจ เพราะตั้งอยู่ในกตัญญูตาคุณจึงดำริว่า พระราชานี้มีความลำบากนัก ถ้าหากว่าเราจักไม่ปลอบพระราชาให้ได้ความชื่นบานไซร้ ท้าวเธอก็จักมีหฤทัยแตกทำลาย ณบัดนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์จะปลอบพระราชา จึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระมหาราช ผู้เป็นใหญ่ในรัฐธานี พระองค์อย่าทรงกลัวภัยเลย ข้าพระบาทจักไม่ปลงพระชนม์พระองค์เลยเป็นอันขาด ข้าพระบาทเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ พระองค์เป็นบิดาข้าพระบาท มีพระเดชพระคุณหาที่เปรียบมิได้

พระราชาและเสนาบดีปุโรหิต สดับสุนทรพจน์พระมหาสัตว์ดังนั้น พากันยินดีปรีดายิ่งนัก พระโพธิสัตว์เมื่อจะเชิญพระราชาให้เข้าไปยังนครนิรมิต จึงภาษิตพระคาถานี้ว่า

อิงฺฆ ปสฺส มหาราชสาธุ มาปิตํ นครํ
สอนฺเตปุรํ ปาสาทํสุวณฺณรตเนหิ รุจึ
ปวีสถ มหาราชมม นครํ สุรมฺมํ
ปาสาเทหิ สุวิภตฺตํกุฏาคาเรหิ สมฺปนฺนํ

​ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ดังข้าพระบาทขอทูลเตือน เชิญเสด็จเข้าไปยังพระนครของข้าพระบาท ซึ่งนิรมิตไว้แล้วดี ทั้งภายนบุรีมีปราสาทอันขจิตรไปด้วยองและแก้ว ามเพริศแพร้วเป็นที่จับใจ กอร์ปไปด้วยเรือนยอดเป็นถ่องแถวตามแนวปราสาท ขอเชิญพระมหาราชเสด็จเข้าไปเถิดพระเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระราชากับเสนาบดีและปุโรหิตเสด็จลงจากคอคชสารคมนาการเข้าไปยังนิรมิตนคร พระโพธิสัตว์จึงลงจากปราสาททำการต้อนรับ ถวายคำนับแล้วเชิญพระราชาให้เสด็จขึ้นยังมหาปราสาท พระราชาเสด็จขึ้นปราสาทแล้วประทับเหนือรัตนบัลลังก์อันงามดุจอลงกตทิพย์วิมานเมื่อจะทรงโถมนาการต่อพระโพธิสัตว์จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

อติลาโภ มหาปุฺโสพฺพาสํ ชโย โหตุ จ
มโนรถํ ปาปเยติยถา ตว ปุฺโ สุปิโน

ความว่า แน่ะพ่อสุบิน บุญลาภยิ่งใหญ่และชัยชนะแก่สรรพสิ่งทั้งหมด และยังมโนรถให้บริบูรณ์เต็มที่ พ่อนี้มีบุญจริง ๆ

พระโพธิสัตว์จึงทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของใคร พระราชาตะลึงพระหฤทัยตรัสว่า ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของพ่อสุบินทั้งสิ้น พ่อสุบินจงให้อภัยแก่เราเถิด ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระบาทหาจงใจจะปลงพระชนม์พระองค์ไม่ ตั้งใจจักแสดงบุญญานุภาพของข้าพระบาทให้พระองค์เห็นเท่านั้น พระโพธิสัตว์จึงยื่นด้ามดาบถวายพระราชา แล้วทูลว่า ถ้าพระองค์ประสงค์จะฆ่าข้าพระบาทไซร้ พระองค์จงฆ่าข้าพระบาทด้วยดาบเล่มนี้เสีย ณ กาลเดี๋ยวนี้ ถ้าทรงกรุณาจะให้อภัย จงประทานอภัยให้แก่ข้าพระบาทเถิด แน่ะพ่อสุบิน เราให้อภัยแก่ท่านแล้ว ท่านอย่าได้คิดวิตกเลย พระราชากับพระโพธิสัตว์ทั้กสองจึงปรองดองทำความสบถซึ่งกันและกัน

ครั้นทำสาบานกันเสร็จแล้ว พระราชาจึงรับสั่งว่า นางปทุมาวดีมีความระลึกถึงท่านร้องไห้มิได้วายอัสสุธารา เราปลอบสักเท่าไรก็หายินดีด้วยเราไม่ ท่านจงไปรับนางปทุมาวดีทำราชาภิเษกเสวยราชสมบัติเถิด อนึ่งมหาชนมีอำมาตย์และเสนาเป็นต้น ถึงกาลกิริยาตายมากนักหนา ท่านจงให้ชีวิตแก่มหาชนทำให้กลับเป็นเสียแต่ ณ กาลบัดนี้เถิด พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงฤทธิแห่งหม้อทิพย์ จึงหยิบหม้อนั้นมาคว่ำลงในถาดทอง บัดเดี๋ยวใจ​น้ำก็หลั่งไหลออกมาเต็มถาดทอง พระโพธิสัตว์จึงใช้ให้เสนาบดีและปุโรหิตตักเอาน้ำนั้นไปรดพวกมหาชนที่ถึงกาลกิริยาตาย มหาชนทั้งหลายมีเสนามาตย์เป็นต้นก็ได้ชีวิตคืนมา แล้วพากันมานั่งอยู่ยังสำนักพระโพธิสัตว์พระราชาทอดพระเนตรแล้วทรงพระโสมนัสจึงดำรัสว่า แน่ะพ่อสุบิน เราจักไปยังพระนคร จะได้อภิเษกพ่อภับนางปทุมาวดี ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระบาทจักไม่ไปในพระนคร ขอพระองค์จงอภิเษก ณ ที่นี้เถิด พระโพธิสัตว์จึงอธิษฐานแล้วตีทิพย์เภรีหน้าที่สองขึ้น

คราวนั้น รัตนมาลกอันประกอบด้วยนานาลังการมีม่านและเพดานเป็นอาทิก็ดี กองทองกองเงินและกองแก้วทั้งหลายก็ดี ได้บังเกิดมีขึ้นเป็นอเนกประการ พระราชาทอดพระเนตรรัตนมาลางามคล้ายเทวสภา จึงรับสั่งกะปุโรหิตว่า ท่านจงไปเชิญนางปทุมาวดีมา เราจะอภิเษกกับสุบินในกาลบัดนี้ ปุโรหิตนั้นจึงไปทูลนางปทุมาวดี แล้วเชิญให้ขึ้นไปประทับยังสีวิกา นำมายังนิรมิตนครพร้อมกับหมู่ทาสี นางปทุมาวดีดำเนินขึ้นมนเทียรสถานเห็นพระโพธิสัตว์ก็จำได้ กราบไหว้แล้วตรงเข้ากอดรัดและร่ำไห้ ครั้นแล้วพวกอำมาตย์และเสนาบดีปุโรหิตเป็นต้น จึงพร้อมกันอัญเชิญสองกษัตริย์ให้ประทับเหนือกองแก้ว แล้วทำมุทธาภิเษกถวายชัยมงคล

ต่อแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์มีนามว่าสุบินราชา ได้ปรากฏทั่วไปในสกลชมพูทวีป นางปทุมาวดีเทวีก็ได้เป็นยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าหญิงหมื่นหกพัน พระสุบินราชานั้นตั้งพระเจ้าโกสัมพีไว้ในที่เป็นพระราชบิดา ทรงทำวัตรปรนนิบัติพระเจ้าโกสัมพีโดยเคารพ และพระองค์ได้ทรงสั่งสอนประชาราษฎรและเสนามาตย์เป็นต้น ชักนำให้ให้ทานและรักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา มหาชนมีเสนามาตย์เป็นต้นได้ตั้งอยู่ในราโชวาทเมื่อสิ้นอายุของตนแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์

เตน วุตต เพราะเหตุดังนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวพรรณนาเมืองโกสัมพีว่าเป็นที่รมณียสถาน ตระการด้วยนานาพิธสมบัติพร้อมพรั่ง บ้านเมืองมั่งคั่งผาสุกทั่วทุกตำบล งามโสภณเปรียบปานดังเทพบุรี ท้าวพระยาทุกธานีก็นำเครื่องบรรณาการมาถวายพระสุบินราชา ๆ ตั้งอยู่ในทสธรรมและสังคหกรรมเป็นอาทิ

(ตอนนี้จะกล่าวถึงพระราชชนกชนนีของพระนางปทุมาวดีต่อไป)

ใจความว่า อันเตปุริกานารีซึ่งอยู่เฝ้าปราสาทพระราชธิดาปทุมาวดี ตื่นขึ้นแต่เวลาเช้ามิได้เห็นพระนางปทุมาวดีราชธิดาก็พากันตกใจเที่ยวค้นหามิได้เห็นก็ใจหาย ​พากันร้องไห้วิ่งไปกราบทูลพระราชา พระราชบิดามารดาทรงทราบว่าราชธิดาหายไป จึงรับสั่งใช้อำมาตย์ทั้งหลายให้ไปเที่ยวค้นหา ตามทางนาวาและป่าชัฏ ตามบ้านและนิคมทั่วไปก็มิได้พบพระราชธิดา พวกอำมาตย์ไปดูเรือพ่อค้าเจ็ดลำซึ่งจอดอยู่นั้นหายไป นึกสงสัยจึงไปกราบทูลพระราชาว่า เรือพ่อค้าเจ็ดลำบัดนี้หายไป พระราชธิดาน่าจะไปกับพ่อค้านายเรือหรืออย่างไรไม่ทราบเกล้า พระเจ้ากรุงโขมรัฐราชจึงรับสั่งใช้อำมาตย์กับพระราชาร้อยเอ็ดองค์ให้ลงเรือร้อยเอ็ดลำแล่นตามเรือพ่อค้าเจ็ดลำนั้นไป อำมาตย์และพระราชาร้อยเอ็ดแล่นเรือตามไปก็หาพบปะไม่จึงได้พากันกลับมา

พระราชาจึงรับสั่งให้หาพวกพ่อค้าที่เมืองนั้นมาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงแยกย้ายกันไปค้าขายคนละเมือง ๆ ผู้ใดทราบเรื่องราวลูกของเราว่าตกอยู่ ณ เมืองใด เราจักทำมหันตสักการะผู้นั้นโดยยวดยิ่ง พวกพ่อค้ารับพระราชทานดำรัสแล้วก็แยกย้ายกันไปค้าขายในทิศต่าง ๆ เที่ยวสืบถามตามชาวเมืองทั่วไป ครั้งนั้นพาณิชผู้หนึ่งไปถึงเมืองโกสัมพีกับพวกพาณิชห้าคน ได้ทราบยุบลเหตุว่า พระนางปทุมาวดีได้ราชาภิเษกกับพระสุบินราชา จึงจัดหาเครื่องมหัคฆรัตนบรรณาการไปถวายพระราชเทวี แล้วกราบทูลมูลคดีซึ่งพระราชบิดาดำรัสสั่งมาให้ทรงทราบ

พระราชเทวีปทุมาวดีทราบความแล้ว จึงนำความไปกราบทูลพระสุบินราชาราชภัสดา ๆ จึงตระเตรียมมหัคฆบรรณาการและพระราชสาสน์มอบให้พาณิชนำไปถวายพระเจ้ากรุงโขมรัฐราช ในสำเนาพระราชสาส์นนั้นมีความดังนี้ว่า ข้าแต่พระราชบิดามารดา ข้าพระบาทนามว่าสุบินราชา เป็นชามาตรราชของพระองค์ ขอถวายบังคมบรมบาทด้วยเศียรเกล้า ซึ่งข้าพระบาทบังอาจพาพระนางปทุมาวดีราชธิดาของพระองค์มาหาทูลให้ทรงทราบไม่ ข้อนี้ก็นับว่าเป็นมหันตโทษ ขอพระองค์จงทรงกรุณาโปรดประทานโทษแด่ข้าพระบาทเถิดพระเจ้าข้า อนึ่งเล่าเกล้ากระหม่อมนามว่าปทุมาวดีราชธิดาของพระองค์ ขอน้อมเศียรถวายบังคมฝ่าพระบาทพระราชบิดามารดา ซึ่งหม่อมฉันละเมิดจิตติดตามภัศดามาอันนี้ ก็ล่วงพระราชอาชญาฝ่าละออง ขอพระราชชนกชนนีทั้งสองได้กรุณาปราณี ประทานโทษให้หม่อมฉันปทุมาวดีสักครั้งหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันวิโยคจากพระราชบิดามารดามาได้ตกระกำลำบากเพียงชีวิตจะวอดวาย บัดนี้รอดจากความตาย ได้ราชาภิเษกกับพระสุบินราชา ณ เมืองโกสัมพี เมื่อถึงกาลกำหนดเจ็ดปีแล้ว หม่อมฉันจักมาถวายบังคมบรมบาทพระราชบิดามารดา สำเนาพระราชสาส์นมีเนื้อความดังพรรณนามาฉะนี้

​พวกพาณิชรับพระราชสาส์นแล้วถวายบังคมลา พากันเที่ยวค้าขายไปตามลำดับจนบรรลุถึงโขมรัฐบุรี จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าโขมรัฐราช แล้วถวายราชสาส์นกับราชบรรณาการ พระเจ้ากรุงโขมรัฐทรงทราบความตลอดแล้วก็กริ้วใหญ่รับสั่งว่าพระสุบินราชาผู้นี้ดูถูกเรามากนัก เราจักใช้โยธาพลนิกายให้ไปรบกับพระสุบินราชา พวกพาณิชจึงกราบทูลว่า พระมหาราช พระสุบินราชามีบุญญานุภาพฤทธิ์เดชมากนักหนา อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงเทวดาก็หาอาจจะรบกับท้าวเธอได้ไม่ เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่าท้าวเธอมีอาวุธวิเศษห้าอย่าง คือไม้เท้าทิพย์มีอานุภาพชี้คนและสัตว์ให้ตายและให้เป็นได้ ๑ แก้วมณีมีอานุภาพเดินน้ำและเหาะไปในอากาศได้ ๑ กลองทิพย์ตีหน้าหนึ่งขึ้นพวกไพรีหนีไปหมด ตีหน้าที่สองขึ้นปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมปรารถนาทุกอย่าง ๑ ดาบทิพย์มีอานุภาพใช้ไปปราบข้าศึกและใช้ให้ตัดสิ่งใด ๆ ก็ได้ ๑ หม้อทิพย์มีอานุภาพคือต้องการภัตรและสูปะก็ให้ได้สมประสงค์ ถ้าคนตายด้วยโรคหรือถูกอาวุธถูกยาพิษ รินเอาน้ำในหม้อรดคนที่ตายก็กลับเป็นขึ้นได้หมด ๑ โดยเหตุนี้ ข้าพระบาทจึงกราบทูลว่า พระองค์ประสงค์จะรบกับพระสุบินราชานั้น ไม่อาจจะรบกับท้าวเธอได้เป็นอันขาด ฝ่าพระบาทจงทราบเถิด พระเจ้าข้า

พระราชาทรงฟังดังนั้นแล้วจึงปรึกษากะอำมาตย์ว่า ทำอย่างไรเราจักได้พบปะราชธิดาของเราเล่า ข้าแต่สมมติเทวดา ขอพระองค์จงอย่าโกรธาไปเลย ข้าพระบาทเห็นควรจักส่งราชสาส์นทำทางพระราชไมตรีกับพระสุบินราชาจะดีกว่า เพราะว่าพวกพาณิชฝ่ายข้างเราและฝ่ายข้างพระสุบินราชาย่อมไปมาค้าขายติดต่อกันอยู่ ฝ่ายเราก็จักทราบสาส์นต่อกันและกัน พระราชาทรงฟังอำมาตย์กราบทูลดังนั้นก็โสมนัส จึงจัดส่งมิตรสาส์นไปยังพระสุบินราชา มีสำเนาความดังนี้ว่า พ่อสุบินราชา เราหามีโอรสและธิดาที่จะสืบต่อราชตระกูลวงศ์ไม่ ถ้าพ่อมีโอรสแล้วไซร้ พ่อจงส่งโอรสแห่งนางปทุมาวดีไปให้เรา ตั้งแต่นั้นมาพระสุบินราชาและพระเจ้าโขมรัฐราชก็ได้ส่งมิตรสาส์นไปมาถึงกันเสมอมิได้ขาด

ครั้นกาลต่อมา พระนางปทุมาวดีก็ทรงพระครรภ์ พระราชเทวีนั้นจึงทรงพระดำริว่า เรามาอยู่เมืองนี้แต่ผู้เดียวเปลี่ยวใจหมู่ญาติของเราก็อยู่ไกลนัก กาลเมื่อเราจักประสูติกุมารและกุมารีก็มีแต่พวกสตรีฝักใฝ่ข้างภัสดาฝ่ายเดียวเท่านั้น เกลือกว่าเขาจะทำอันตรายแก่เราก็ทำได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นเราจะทูลลาพระภัศดาไปประสูติยังสำนักพระราชบิดามารดาของเราเถิด วันหนึ่งพระนางเธอจึงไปเฝ้าพระภัศดา ถวายอภิวาทแล้วทูลว่าพระมหาราช ​หม่อมฉันพลัดมาอยู่เมืองนี้ถึงเจ็ดปี หม่อมฉันระลึกถึงพระชนกชนนียิ่งนัก จักขอทูลลาไปยังสำนักพระราชบิดามารดา ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตด้วยเถิด

พระสุบินราชาจึงรับสั่งว่า ถ้ากระนั้นพี่จักไปด้วย แล้วจึงทรงพระดำริต่อไปว่า ถ้าหากพวกโยธาของเราจักไปทางทะเลไซร้ พวกโยธาก็จักพากันลำบากด้วยลมและคลื่นอันแรงร้าย เมื่อพวกโยธาพากันไปทางบกจะสะดวกดีและจักไม่มีอันตราย โยธาทั้งหลายจักไม่ลำบากด้วยประการใด เราจักทำความสุขให้แก่โยธา ณ ระวางทางด้วยประการนั้น ดำริแล้วจึงแจ้งแก่พระราชเทวีว่า เราจักพากันไปทางบกเถิด ทรงนัดหมายกับพระราชเทวีเสด็จแล้วจึงให้หาอำมาตย์และเสนาบดีเข้ามาสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเตรียมพลโยธาทั้งเสบียงอาหารไว้ให้พร้อมเสร็จ เราจักพาพระเทวีเสด็จไปยังโขมรัฐบุรี อำมาตย์และเสนาบดีจึงเตรียมโยธาพลนิกายไว้พร้อมทั้งเสบียงอาหารตามพระโองการสั่งเสร็จโดยเร็วพลัน

พระสุบินราชานั้นจึงใช้พระแสงดาบทิพย์ให้ไปชำระราชมรรคา โดยกว้างอุสุภหนึ่ง ยาวร้อยยี่สิบโยชน์ตรงไปยังโขมรัฐบุรี ทิพย์อสีนั้นราวกะว่ามีจิตวิญญาณ ได้จัดการตัดฟันต้นไม้ถากถางดินและศิลา ที่สูงเกลี่ยลงมาถมที่ลุ่ม ทำให้ราบคาบสม่ำเสมอกันปานประหนึ่งว่าหน้ากลอง แลดูเตียนโล่งตลอดไป แล้วก็กลับมายังสำนักพระราชา ๆ ทรงทราบว่าราชมรรคาสำเร็จเรียบร้อยดี จึงรับสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า บรรดาประชาชนชาวเมืองจงตั้งร้านขายของเรียงรายเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เมืองโกสัมพีนี้ตลอดไปจนถึงโขมรัฐบุรี อีกเจ็ตราตรีพระราชาจักเสด็จจากนคร ประชาชนก็พากันจัดทำตามประกาศทุกประการ

ครั้นสัตตมวารล่วงไปย่างถึงอัฏฐมวาร พระสุบินราชาจึงเสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งมงคลหัตถี เชิญพระราชเทวีให้ขึ้นประทับ ณ มงคลราชรถแล้วให้เคลื่อนจตุรงค์พลนิกายจากพระนคร สัญจรไปตามราชมรรคา พวกโยธามาตย์ราชบริพารทั้งหลายจะได้ลำบากด้วยโภชนะและปานะก็หาไม่ พากันกินพากันดื่มและเดินนอนเป็นสุขทุกคนเหมือนดังว่าทำการงานอยู่ที่บ้านของตนฉะนั้น

มีคำปุจฉาถามว่า อำมาตย์และจตุรงคนิกายได้ความสุขสบายด้วยเหตุไร มีคำวิสัชนาแก้ว่า ในกาลเมื่อจะบริโภคอาหารนั้น พระราชาจึงให้ตีเภรีหน้าที่สอง ถาดภาชนะสำหรับใส่สิ่งของก็เกิดมูลมองมา ให้ถึงพระราชาและอุปราชามาตย์เป็นต้น พนักงานจัดการเลี้ยงจึงคดข้าวในหม้อทิพย์แจกให้โยธาพลนิกาย ๆ ประมาณยี่สิบห้าอักโขเภนี พากัน​บริโภคอาหารในหม้อเดียว ๆ นั้นจะได้หมดสิ้นไปก็หาไม่ อนึ่งในกาลเมื่อจะดื่มน้ำนั้น พระแสงดาบทิพย์จึงเจาะปฐพีลงไป บัดเดี๋ยวใจนำก็พลุ่งจากปฐพีขึ้นมา พวกโยธาพลนิกายพากันดื่มและอาบตามสบาย เพราะเหตุนั้น โยธพลนิกายจึงดื่มน้ำและบริโภคอาหารเป็นสุขสำราญ อนึ่งถึงคราวจะนอนนั้น เมื่อตีทิพย์เภรีหน้าที่สองขึ้นแล้ว บ้านโรงเรือนศาลาและเครื่องปูลาดเป็นต้นก็บังเกิดขึ้นพอแก่สรรพโยธา ๆ ย่อมนอนเป็นสุขอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นจึงว่าพวกโยธาหาลำบากไม่ ได้ความสุขทุกคน ๆ

เตน วุตตํ เหตุดังนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงประพันธ์คาถาว่า

ปวเน ทสโฆเสนอุนฺทฺริเยน อโฆสถ
โกฺจํ ททนฺติ วารณาอาชานิยา หสิสฺสนฺติ
รถเนมิโฆสา โหนฺติสมฺปติจฺฉปโกสานํ
สงฺขปณฺฑวมฺทิงฺคานํกุมฺภถูนีนํ สทฺโท
เภรีนํ ทณฺติมานฺจเอกโปกฺขรานํ สทฺโท
ปถวิภิชฺชกาโลวมหติโฆโสว โหติ
นภํ รโช อจฺฉาเทติสุริยาตปฺปํ อภิภวิ
มหติเมฆํว อนฺเวติอนฺธการสมนฺตโต
เต ปาวึสุ พฺรหารฺํมโหทกํ พหุปาณํ
ปุปฺผผลทุเมหิ จอนฺนปาเนหิ สมฺปนฺนํ
วเน วินฺทุสฺสรา วคฺคูนานาวณฺณา พหุพิชา
กุชฺฌนฺตมุปกุชฺฌนฺติอุตุสํปุปฺผผลคฺเค
เตปิ คนฺตฺวา ทีฆมทฺธานํตโยมาสานมจฺจเย
นานานิคมาติกฺกนฺตาโขมรฏฺํ อุปาคฺฉุํ

ความว่า ในพนมพรกึกก้องไปด้วยสำเนียงสิบประการคือ

พระยาคชสารก็บันลอโกญจนาท พระยาอัศวราชก็เริงร้องก้องหฤหรรษ์ เสียงกงรถก็เลื่อนลั่นสนั่นเสนาะ เสียงสังข์และบัณเฑาะว์กับตะโพนและ/*397กลองยาว เสียงกลองน้อยและกลองหญ่และกลองหน้าเดีย เกี่ยวประสานเสียงฟังเสนาะสนั่น สำเนียงบันลือลั่นดังว่าแผ่นดินจะทรุดไป ในอากาศเป็นควันหมอกบังซึ่งท้องฟ้า อันว่ากษัตริย์สองพระองค์ทรงกรีาพลเสนาล่วงเข้าป่าใหญ่ เดียระดาษไปด้วยรุกขชาติอันมีดอกและออกผล ทุกกิ่งก้านและลำต้นสองข้างทางมีระยะข้าวน้ำเรียงรายห่างๆ ไม่ขัดสน ต้นไม้ในพนมวันมีนกหลากหลายพรรณจับประจำส่งสำเนียงหวาน ข้างเข้าเคล้าคู่แล้วคประสานเสียงฟังจับใจ คราวเมื่อยกพลนิกายไปนั้น ก็เป็นฤดูอันบานแห่งดอกไม้น่ารโหฐาน สงกษตริย์คมนาการเสด็จปครั้งนั้นนับคืนวันได้สามเดือนก็ถึงซึ่งโขมรัฐราชธานี

พระโพธิสัตว์กับพระนางปทุมาวดีราชเทวีเสด็จถึงโขมรัฐสีมาแล้ว จึงให้หยุดพลเสนาและให้ตั้งพลับพลาเสร็จ จึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นเข้าไปถวายพระเจ้าโขมราว่า ข้าพระบาทนามว่าสุบินราชผู้ภัศดาแห่งพระนางปทุมาวดี ได้มากับพระนางปทุมาวดี จะขอถวายบังคมบรมบาท ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดประทานโทษที่ข้าพระบาทพาพระนางปทุมาวดีหนีพระองค์นั้นด้วยเถิด พระเจ้าข้า ราชทูตรับพระราชสาส์นแล้วตรงเข้าไปยังพระนคร แจ้งความให้อำมาตย์กราบทูลว่า พระสุบินราชาเสด็จมาถึงแล้วจะขอเฝ้า ครั้นพระเจ้าโขมราชทรงพระอนุญาตแล้ว ราชทูตจึงเข้าเฝ้าถวายบังคมแล้วก็ถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าโขมราช

พระเจ้าโขมราชทรงทราบแล้วก็โสมนัส ดำรัสสั่งเสนาบดีให้จัดปัจจุคมนพิธีต้อนรับพระราชบุตรี ฝ่ายเสนาบดีรับพระราชดำรัสแล้ว ให้จัดการแต่งสถานที่ในเมืองและนอกเมือง ประดับด้วยเครื่องอลังการงามเสมอเหมือนเทพนคร สั่งหญิงชายราษฎรและพ่อค้าทั้งพวกพราหมณ์กับเสนามาตย์ ให้นุ่งห่มผ้าขาวสะอาดถือมาลาคันธสักการะผูกธงและแผ่นผ้าขาว คอยทำการต้อนรับเสด็จพระราชบุตรี ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงนางปทุมาวดีขึ้นประทับรถสุวรรณ มีหมู่นางสนมกำนัลหมื่นหกพันขึ้นรถแห่นำตามเสด็จไปเป็นกระบวนหน้า พระโพธิสัตว์พร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดองค์และอำมาตย์แสนหนึ่ง กับพลโยธายี่สิบห้าอักโขเภนีเสด็จตามพระนางปทุมาวดีไปเป็นกระบวนหลังถึงพระราชวังวรสถาน

ฝ่ายนาครประชาบาลก็ปีติโสมนัส ทำบูชาสักการะกล่าวสรรเสริญด้วยนานางจนะกถา เมื่อสองกษัตราเสด็จเข้าไปยังราชตระกูลแล้ว จึงพร้อมกันถวายบังคมพระเจ้าโขมราช​และพระนางปทุมเกสราราชเทวี กษัตริย์ทั้งสี่ก็รื่นเริงบันเทิงพระหฤทัยตรัสปราศรัยปิยกถาต่อกันและกัน พระเจ้าโขมราชนั้นจึงรับสั่งให้พนักงานทำโรงราชาภิเษกมาลก แล้วทรงราชาภิเษกพระสุบินราชากับพระนางปทุมาวดี มอบราชสมบัติให้พระโพธิสัตว์ในวันเสร็จแห่งราชาภิเษกมงคลพิธี พระโพธิสัตว์จึงประทานราโชวาทยังหมู่อำมาตย์และราษฎรให้ตั้งอยู่ในศีล และให้บำเพ็ญทาน ทำการปรนนิบัติสมณพราหมณ์และมารดาบิดา

ครั้นกาลนานต่อมา พระนางปทุมาวดีได้ประสูติพระโอรสงามปรากฏดังสีสุวรรณ เมื่อเวลาประสูตินั้น พระประยูรญาติทั้งหลายได้รับรองพระโอรสนั้นด้วยหนังราชสีห์ จึงพร้อมกันถวายพระนามพระโอรสว่าสีหนรกุมาร พระสุบินโพธิสัตว์เมื่อระลึกถึงพระยาเสตวานรซึ่งมีอุปการะแด่พระองค์ไว้ก่อน จึงทรงทำมหันตสักการะแต่พระยาเสตวานรกับทั้งบริวาร ทรงประทานอภัยมอบสวนอุทยานและสระโบกขรณีให้เป็นที่อยู่แต่หมู่วานรทั้งพระยาเสตพานรินทร์

ในกาลเมื่อพระสีหนรกุมารทรงวัฒนาการย่างเหยียบพระบาทได้คล่องแล้ว พระนางปทุมาวดีก็ประสูติพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง วันเมื่อจะประสูตินั้น มีช้างพังตัวหนึ่งท้องแก่มาทางอากาศได้ออกลูกตัวหนึ่งทิ้งไว้ใกล้มหาปราสาทก็กลับไปยังหิมวันต์ เพราะเหตุนั้นวันเมื่อจะถวายพระนามพระโอรส ได้กำหนดช้างพังออกถูกทิ้งไว้เป็นนิมิต จึงถวายพระนามพระโอรสนั้นว่า กุญชรกุมาร

พระสีหนรกุมารโอรสองค์ใหญ่พระชนม์ได้สิบหกพรรษา ทรงปรีชารอบรู้สรรพศิลปะวิทยาศาสตร์ทั้งปวง เมื่อพระกนิษฐกุมารมีพระชนม์ได้แปดพรรษา พระสุบินราชากับพระนางปทุมาวดีทูลลาพระราชบิดามารดาจักขอกลับไปยังนครโกสัมพี สองชนกชนนีจึงตรัสว่าขอให้อภิเษกสีหนรกุมารเสียก่อนแล้วจึงไป สีกษัตริย์จึงพร้อมกันนำขัตติยกุมารีมีนามว่า สิริมา องค์หนึ่งมาแล้วอภิเษกสีหนรกุมารกับนางสิริมา มอบราชสมบัติไห้เสวยต่อไป พระสุบินราชากับพระนางปทุมาวดี จึงทูลลาพระราชบิดามารดาแล้วพากุญชรกุมารกลับไปยังนครโกสัมพี ทรงเสวยราชสมบัติเป็นเอกราช ณ เมืองโกสัมพีนั้น

ครั้นกาลต่อมา พระกุญชรกุมารทรงวัฒนาการมีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา มาดำริว่าพระราชบิดาของเราท่านเสด็จไปเที่ยวหาอิตถีรัตน์ ล่วงมรรคาลัยไกลถึงร้อยยี่สิบโยชน์ จึงได้อิตถีรัตน์คือพระราชมารดาของเรานี้ ก็ตัวเราไม่ได้อิตถีรัตน์จริงแท้แล้ว เราก็จักไม่เสวยราชสมบัติเป็นอันขาด ดำริแล้วจึงไปเฝ้าพระราชบิดา พระสุบินราชาทอดพระเนตร​แล้วทรงดำริว่า เราควรจะอภิเษกกุญชรกุมารได้แล้ว พระองค์จึงส่งพระราชสาสนไปถึงพระราชาร้อยเอ็ดว่า ให้พระราชาร้อยเอ็ดจัดราชธิดามาให้ จะได้อภิเษกกับกุญชรกุมารราชโอรส พระราชาร้อยเอ็ดทราบพระราชสาส์นแล้ว จึงให้ราชธิดาองค์ละองค์ประดับอลังการแล้วส่งมาถวาย บรรดาพระราชธิดามาถึงแล้วก็รวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน

กุญชรกุมารนั้น ครั้นทอดพระเนตรเลือกดูหมดแล้วก็มิได้ชอบพระทัย จึงกราบทูลพระชนกว่า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระบาทเลือกดูรูปและลักษณะพระราชธิดาทั่วแล้วมิได้ต้องใจ ข้าพระบาทจักขออนุญาตไปหารัตนะนารีเอาตามปรารถนา พระชนกทรงอนุญาตแล้วจึงประทานหม้อทิพย์กับพระแสงดาบทิพย์ให้แก่กุญชรกุมารโอรส ๆ ถวายบังคมลาพระราชบิดามารดา เสด็จจากพระนครสัญจรเที่ยวเลือกดูธิดาแห่งนานาสกุลตามบ้านและนิคมราชธานี ก็ยังมิได้พบธิดากุมารีที่พึงพอพระทัย จึงเสด็จเที่ยวเสาะหาไปยังหิมวันต์

คราวครั้งนั้น พราหมณ์ในเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง เห็นโทษแห่งการอยู่ครองเรือน จึงสละบุตรภรรยาไปบรรพชาเป็นดาบสอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ สร้างอาศรมอยู่ใกล้ขอบสระน้ำแห่งหนึ่ง คราวนั้น มีกุญชรตัวหนึ่งเดินไปเหยียบตอไม้เข้า ไม้หักคาเท้า เดินไม่ถนัดขาหนึ่ง พอดีเดินไปถึงอาศรมแห่งพระดาบสนั้น ทนความเจ็บไม่ไหว ไม่อาจจะเดินต่อไปได้ ลงนอนนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น พระดาบสเห็นแล้วก็มีความกรุณา จึงเอามีดผ่าเท้าฉุดไม้ที่ตำออกได้ ล้างแผลด้วยน้ำร้อนและชะแผลด้วยน้ำเกลือ แล้วใส่ยารักษากุญชรให้หายสบายดี

นาคหัตถีนั้นครั้นสบายหายโรคแล้ว ได้อยู่ทำวัตรปรนนิบัติพระดาบสนั้นต่อมา คือเวลาเช้าเข้าไปหาฟืนแห้ง ๆ มาก่อไฟแล้วไปตักน้ำล้างหน้ามาด้วยคนโทน้ำใส่ไว้ในภาชนะ แล้วไปสู่ป่านำนานามูลผลาผลไม้ใหญ่น้อยและลำอ้อยมาตั้งไว้ แล้วถือภาชนะตักน้ำไปสู่ท่าน้ำ ตักน้ำอาบมาให้พระฤษี กุญชรหัตถีทำวัตรปรนนิบัติแก่พระดาบสอย่างนี้ทุก ๆ วัน ครั้นกาลนานมากุญชรนึกขึ้นมาว่าเวลานี้เราก็แก่มากไม่อาจจะทำการปรนนิบัติพระดาบสให้เรียบร้อยได้ เราจักไปพาเอาลูกของเรามาให้อยู่ปรนนิบัติพระดาบสแทนเราเถิด คิดแล้วจึงไปพาเอาลูกของตนมาให้อยู่ปรนนิบัติพระดาบสดังที่คิดไว้

ก็และที่ภูเขาคันธมาทน์ มีกินนรีตนหนึ่งมักมากไปด้วยราคฤดี เห็นเพื่อนกันเขามีสามีใคร่จะมีบ้าง จึงเที่ยวไปในนานาประเทศเพื่อจะหาผัว ไปถึงสระน้ำที่พระดาบสอยู่ ​ได้ดื่มน้ำสุกะอันไหลออกกับน้ำมูตรของพระฤษีนางก็มีครรภ์ ครั้นถึงกำหนดนางกินนรีนั้นจึงไข่ทิ้งไว้ใกล้อาศรมพระดาบสแล้วก็ไป ในฟองไข่นั้นเป็นนางกุมารี ๆ ทำลายกะเปาะไข่ออกแล้วได้ร้องเป็นเสียงกุมารี พระฤษีออกไปจากอาศรมเห็นแล้วก็รักใคร่เหมือนธิดาของตนจึงมาเลี้ยงไว้ เอานิ้วมือใส่ในปากทาริกา น้ำนมก็ไหลออกมา ทาริกานั้นจึงได้นามว่า ปาลิตาเทวี เพราะเหตุที่พระฤษีเลี้ยงไว้ นางปาลิตาเทวีมีวัยอันเจริญรุ่นแล้ว ได้ไปป่ากับกุญชรเก็บดอกไม้และผลไม้ได้มาเลี้ยงพระดาบสผู้บิดา และนางทาริกานั้นได้ร้อยพวงมาลัยแขวนไว้บนยอดไม้แล้วอธิษฐานว่า บุรุษใดจะคู่ควรเป็นสามีของเรา ขอให้บุรุษผู้นั้นจงมาพาเราไปยังถิ่นที่มีมนุษย์เถิด นางปาลิตาเทวีได้ทำอาการอย่างนี้เสมอเป็นนิจทุกวัน

ครั้งนั้น พระกุญชรราชกุมารไปถึงป่าดำเนินไปตามริมฝั่งนที เห็นพวงมาลัยแขวนอยู่บนยอดไม้ มั่นพระทัยว่า เบื้องอุตรทิศแห่งนทีคงจักมีหญิงมีบุญแน่ คิดแล้วดำเนินไปตามฝั่งนที พบทางเดินแห่งโปฏกหัตถี แล้วดำเนินไปจนบรรลุถึงอาศรมแห่งพระดาบสจึงกำหนดแน่ว่า พวงมาลัยที่แขวนอยู่บนยอดไม้จักเป็นของธิดาพระดาบสองค์นี้ คิดแล้วก็เข้าไปหาพระดาบสยกพระหัตถ์ประณตแล้วนั่งอยู่ พระดาบสทำปฏิสัณฐานแล้วถามว่า พ่อมาแต่ไหน ข้าพเจ้ามาแต่นครโกสัมพี พ่อมาด้วยธุรกิจสิ่งไร ข้าพเจ้ามาเที่ยวหาอิตถีรัตน์ พ่อเป็นชาติอะไร และเป็นบุตรของใคร ข้าพเจ้าเป็นเชื้อกษัตริย์ เป็นโอรสแห่งพระเจ้าสุบินราช พระดาบสทราบเรื่องแล้วจึงคิดว่า ราชุมารองค์นี้สมบูรณ์ด้วยชาติสกุล สมควรอย่างยิ่งแก่ธิดาของเรา ผู้เป็นเจ้าจึงให้นานาผลาผลแด่พระกุญชรราชกุมารเสวย

ก็และในขณะนั้น นางปาลิตาขึ้นหลังโปฎกหัตถีมาถึงแล้ว จึงนำนานาผลาผลเก็บไว้จึงลงไปอาบน้ำ และนำเอาอุทกภาชนะตักน้ำมาใส่ไว้ ณ ซุ้มน้ำแล้วจึงกราบบาทดาบส ทำกิจวัตรทั้งมวลเสร็จแล้วกลับออกมาได้เห็นราชกุมารนั่งอยู่ใกล้พระดาบสผู้บิดา ยังอติสิเนหาให้เกิดขึ้นแล้วดำริว่า มาณพผู้นี้สมควรเป็นสามีเราได้ แล้วเพ่งดูราชกุมารอยู่ พระกุญชรราชกุมารเห็นแล้วก็นึกรักใคร่เหมือนกัน พระดาบสนั้นจึงถามราชกุมารว่า พ่อรักใคร่อยากได้ธิดาของอาตมะหรือ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่รักใคร่ของข้าพเจ้ายิ่งนัก ถ้ากระนั้นอาตมะจักทำมุทธาภิเษกยกให้ พระดาบสจึงรดน้ำมนต์บนเศียรแห่งราชกุมารและกุมารี กาลเมื่อทำมงคลพิธีอยู่คู่ราชกุมารและกุมารีได้เกี่ยวหัตถ์ซึ่งกันและกันไว้

​เมื่อเสร็จมงคลพิธีการ พระราชกุมารและกุมารีพากันเข้ายังอาศรมที่อยู่ส่วนตน ไต่ถามนามและสกุลซึ่งกันและกันและปราศรัยปิยกถาตามธรรมดาโลก ต่างมีความเยื่อใยได้สำเร็จโลกสันนิวาสกิจ สถิตในสำนักพระดาบสิ้นเจ็ดแปดวัน พระราชกุมารกับนางปาลิตาเทวีนั้นจึงกราบลาพระดาบสจากกันไป พระดาบสจึงอนุญาตให้โปฎกหัตถีไปด้วย พระราชกุมารกับนางปาลิตาเทวีมีโปฎกหัตถีเป็นพาหนะแล้วก็พากันไปโดยลำดับจนบรรลุถึงนครพาราณสี

ประชาชนชาวเมืองพาราณสีเห็นจิตตหัตถีงามประหลาดจึงถามพระราชกุมารกุมารีว่า ท่านได้จิตตหัตถีตัวนี้มาแต่ไหน จิตตหัตถีตัวนี้ดาบสผู้บิดาท่านให้เรามา ช้างตัวนี้หาคู่ควรแด่ท่านทั้งสองจะขี่ไม่ ท่านควรจะถวายพระราชาของเรา เราถวายพระราชาไม่ได้ เราจักขี่ไปบ้านเมืองของเรา ชาวนครทั้งหลายจึงไปแจ้งความแก่อำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ทุคตบุรุษคนหนึ่งพาสตรีรูปร่างงดงามขึ้นหลังมงคลหัตถีมา ควรพวกเราจะแย่งชิงเอาผู้หญิงกับช้างไว้ อำมาตย์ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงพาพวกบุรุษยี่สิบสามคนไปปรารภเพื่อจะชิงหญิงและช้างนั้น

ครั้นพระกุญชรราชกุมารเห็นอาการดังนั้น จึงใช้ให้พระแสงดาบทิพย์ไปฆ่าอำมาตย์กับบุรุษบริวารตายหมดด้วยกัน ชาวเมืองคนอื่นเห็นอาการดังนั้นชวนกันไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี กราบทูลว่าข้าแต่พระมหาราชมีทุคตบุรุษแปลกประหลาดคนหนึ่ง พาอิตถีรัตน์ขี่ช้างมาถึงเมืองนี้ อำมาตย์ผู้โน้นชวนกันจะใคร่จับตัวไว้ ทุคตบุรุษนั้นได้ฆ่าอำมาตย์กับบริวารตายหมดด้วยกัน พระเจ้าข้า

พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงรับสั่งเสนาบดีให้ไปจับตัวบุรุษนั้นมา เสนาบดีรับพระราชดำรัสรีบจัดพลเสนาห้าพันออกไปล้อมหมายจะจับพระกุญชรราชกุมาร ๆ จึงหยิบหม้อทิพย์คว่ำลงกับพสุธา บัดเดี๋ยวใจห้วงน้ำใหญ่ก็บันดาลไหลมา พวกพลโยธาถูกน้ำท่วมพัดพาไป ต่างตกใจร้องโวยวายวิ่งกลับมา พระราชาทรงทราบแล้วก็โกรธใหญ่นึกแค้นพระทัยว่าทุคตบุรุษสองคนกับภรรยาเท่านั้น เรามีพลโยธาตั้งร้อยตั้งพัน ทำไมจึงจับคนเดียวไม่ได้ จึงรับสั่งให้เกณฑ์จตุรงคนิกาย แล้วพระองค์ทรงเป็นประธานเสด็จออกไปล้อมจับพระราชกุมารๆ จึงให้สัญญาแก่มงคลหัตถี ๆ ก็ยกศีรษะขึ้น เปล่งเสียงโกญจนาท ๆ นั้นดังสนั่นเหมือนฟ้าลั่นตั้งแสนที ด้วยอานุภาพมงคลหัตถี พวกจตุรงคเสนีไม่อาจดำรงตนได้ พากันทิ้งอาวุธวางไว้ แล้วหมอบราบลงกับพื้นพสุธา

​พระกุญชรราชกุมารจึงใช้พระแสงดาบทิพย์ให้ไปจับมัดพระราชาได้มาแล้ว จึงพร้อมด้วยนางปาลิตาเทวีประทับหลังมงคลหัตถี เสด็จไปจนตราบเท่าถึงนครโกสัมพี ฝ่ายพวกพลโยธาของพระเจ้าพาราณสี ได้สติฟื้นขึ้นมาไม่เห็นพระราชาแล้วพากันติดตามไป เมื่อไม่ทันแล้วก็พากันกลับไปตั้งกองทัพรออยู่ภายในเขตนครของตน พระกุญชรราชกุมารจับพระราชามาได้สิบองค์ ครั้นถึงนครโกสัมพีจึงเข้าไปกราบทูลพระราชบิดามารดาว่าได้อิตถีรัตน์มาแล้ว พระสุบินราชากับพระราชเทวีทรงยินดียิ่งนัก จึงรับสั่งกะอำมาตย์ให้สั่งพนักงานเภรี เอากลองไปตีประกาศว่า เราจักราชาภิเษกพระกุญชรราชกุมารโอรสของเรา ให้ชาวประชาชนประดับกาย มีการมหรสพทั่วไปทุกวิถีทาง และอย่าฆ่าสัตว์ จงแก้สัตว์ที่ผูกมัดไว้และปล่อยให้พ้นไปจากคุมขัง แล้วรับสั่งให้สร้างราชาภิเษกมาลก อภิเษกกุญชรกุมารกับนางปาลิตาเทวี มอบให้เสวยราชสมบัติในกรุงโกสัมพีต่อไป

ต่อแต่นั้นมา พระกุญชรราชาจึงได้สร้างสุวรรณปราสาท แล้วให้ทำการมงคลสมโภชช้าง ทรงประทานนามช้างนั้นว่า สุวรรณกุญชรหัตถี แล้วให้เข้ายืนโรง ณ สุวรรณปราสาท ครั้นเสร็จหัตถีมงคลแล้วจึงรับสั่งหาตัวพระราชาพาราณสีเป็นอาทิ แล้วสั่งสอนว่า ผู้ใดได้เป็นพระราชาผู้นั้นจงทำตนให้เหมือนเป็นบิดาของประชาชนจริงๆ และอย่ารักใครและชังใครจนเกินไป บุคคลผู้ใดทำคุณไว้ต่อพระราชา ๆ จงทำตอบแทนคุณูปการแก่บุคคลผู้นั้น บุคคลผู้ใดทำทุกข์โทษให้พระราชา ๆ จงลงอาชญาผู้นั้นตามควรแก่โบราณราชประเพณี จงทรงพิจารณาคุณและโทษอย่างนี้ ๆ จงละเสียซึ่งอิจฉาพยาบาทโทสะ โมหะ จงสงเคราะห์หมู่ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ และอย่าทำทศพิธราชธรรมให้กำเริบร้าวราน จงอภิบาลเลี้ยงชาวประชาอย่าให้เดือดร้อน ประทานโอวาทสั่งสอนอย่างนี้แล้ว จึงให้พระราชาทั้งหลายสาบานตัวแล้วส่งให้กลับไป

พระราชาทั้งมวลมีพระราชาพาราณสีเป็นต้น ทูลลาพระกุญชรราชาแล้วพากันไปยังนครของตน ๆ พบพวกพลบริษัทจัดตั้งกองคอยรับอยู่ จึงพาหมู่บริวารกลับเข้าเมืองของตน มีเมืองพาราณสีเป็นต้น ครั้นแล้วได้จัดเครื่องบรรณาการกับราชธิดาส่งมาถวายพระกุญชรราชา ๆ มีพระเกียรติยศปรากฏทั่วไปในสากลชมพูหวีป ต่อแต่นั้นมา พระกุญชรราชาให้สร้างศาลาโรงทานสิบหกตำบล บริจาคทรัพย์วันละสิบหกแสนบำเพ็ญพระกุศล เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็เสด็จไปสู่โลกสวรรค์ ฝ่ายพระเจ้าสุบินราชบิดานั้น ทรงบำเพ็ญพระกุศลมีศีลทานเป็นต้น สิ้นพระชนม์แล้วก็เสด็จไปสู่เทวสถาน

สตฺถา อิม ชาตกํ อาหริตฺวา สมเด็จพระศาสดาจารย์ทรงนำชาดกนี้มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดได้ทำบุญไว้และปรารถนาสิ่งใด ผู้นั้นย่อมจะได้สิ่งนั้นสมความประสงค์ ผู้ใดไม่ได้ทำบุญไว้และปรารถนาสิ่งใด ผู้นั้นหาได้สิ่งนนั้นสมปรารถนาไม่ แล้วพระองค์ทรงประกาศอริยสัจจกถา เมื่อจบอริยสัจจเทศนาลง จึงทรงประมวลชาดกว่า เศรษฐีภรรยาผู้มารดาแห่งสุบินกในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางมาคันธิยาเทวี เศรษฐีผู้บิดาของพระสุบินในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือภิกษุเทวทัต พระราชาเลี้ยงแห่งพระสุบินในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระสุทโธทนะพุทธบิดา พระยาวานรเผือกในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระโมคคัลลานเถระ โขมรัฐราชาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือสุโกทนราชา นางปทุมเกสราเทวีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางเขมาภิกษุณี ยายแก่หลังค่อมในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางขุชชุตราทาสี พระสีหนรกุมารราชโอรสองค์ใหญ่ในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระอานนทเถระ พระเจ้าพาราณสีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระเจ้าพิมพิสาร นางปาลิตาเทวีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือนางอุบลวรรณาเถรี พระกุญชรราชาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระราหุลพุทธธิโนรส พระนางปทุมาวดีราชเทวีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระราหุลมารดา พระสุบินราชาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือเราตถาคตนี้เทียวแล

จบสุบินชาดก

  1. ๑. เสียง ๑๐ ประการ คือ ๑ เสียงช้าง ๒ เสียงม้า ๓ เสียงกงรถ ๔ เสียงสังข์ ๕ เสียงบัณเฑาะว์ ๖ เสียงตะโพน ๗ เสียงกลองยาว ๘ เสียงกลองน้อย ๙ เสียงกลองใหญ่ ๑๐ กลองหน้าเดียว
แชร์เลย

Comments

comments

Share: