พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺมโม)ผู้สร้างพระผงธรรมขันธ์วัดปากน้ำ รุ่น4

พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺมโม) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา ผู้สร้างพระผงธรรมขันธ์วัดปากน้ำ รุ่นที่ 4 ถึงกาลมรณภาพเมื่อเวลา 21.19 น.วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน ที่โรงพยาบาลเลิดสิน กทม. สิริอายุ 96 ปี

ท่านมีนามเดิมว่า วีระ อุตตรนที และในภาษาญี่ปุ่นว่า คูนิโอ คาวาคิตะ บิดาท่านเป็นชาวญี่ปุ่นนามว่า เอดะ คาวากิตะ มารดาท่านเป็นชาวไทยนามว่า นางสน อุตตรนที ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ที่ข้างวัดมอญ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันล้วนเป็นชาย 4 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2

ต่อมาครอบครัวย้ายไปอยู่สี่พระยา บิดามารดาส่งไปเข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นของสมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย เรียนอยู่ได้ 6 ปี จนจบชั้นประถมปีที่ 6 ของโรงเรียน มีความสามารถอ่าน เขียน และพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดี จากนั้นเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเข้าเรียนต่อเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 2 จากนั้นจึงเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนในสาขานิติศาสตร์ สอบได้ที่ 1 ขณะเรียนอยู่ก็ทำงานไปด้วยในสถานทูตญี่ปุ่น

แต่ชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องยุติลงหลังจากขึ้นปีการศึกษาที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 อันเป็นการเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียบูรพา เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ท่านไม่ได้กลับเข้าไปศึกษาต่อ แต่ได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย สั่งและส่งสินค้าเข้าและออกจากประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ด้วยความขยันขันแข็ง เอาใจใส่ในหน้าที่ การค้าขายจึงเจริญขึ้นเป็นลำดับ ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี

ประมาณปีพ.ศ.2496 ได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นที่พระภาวนาโกศลเถร ท่านเมตตาสอนการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างละเอียด จนได้ธรรมกายผ่านครบทั้ง 18 กาย แล้วสอนวิชชาธรรมกายขั๊นสูงให้ ซึ่งท่านก็สามารถปฏิบัติได้

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยมีพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นองค์อุปัชฌาย์ พระครูปัญญาภิรัต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “คณุตฺตโม” เมื่อบวชเรียนแล้วไดัปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามแนววิชชาธรรมกายกับหลวงพ่อวัดปากน้ำมาโดยตลอด ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนาให้เจริญถาวรสืบไปทั้งในและนอกประเทศพระราชพรหมเถร หรือ หลวงปู่วีระ รองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ บุคคลเดียวในปัจจุบันที่ทรงวิชชาธรรมกายในพระภิกษุที่ทรงภูมิที่สุด เป็นพระวิปัสสนาจารย์ของหลวงป๋า พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖) เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ซึ่งหลวงป๋าก็ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกายทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ตลอดจนวิชชาชั้นสูงจากหลวงปู่วีระจนหมดสิ้น

ท่านได้ร่วมอธิษฐานจิตพระของขวัญวัดปากน้ำด้วยวิชาธรรมกาย ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อสดยังมีชีวิต และเมื่อหลวงพ่อสด มรณภาพแล้ว ท่านได้อธิษฐานจิตพระของขวัญวัดปากน้ำมาตั้งแต่รุ่นที่ 4-5-6 จนถึงรุ่นปัจจุบัน อีกทั้งอธิษฐานจิตพระของขวัญตระกูลวัดปากน้ำให้กับวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จ.ราชบุรี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2525 เป็นต้นมาสำหรับพระผงธรรมขันธ์ รุ่นที่ 4 นั้น สืบเนื่องจากเมื่อพระของขวัญรุ่น 3 ที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำสร้างไว้เป็นรุ่นสุดท้ายได้หมดลง ปรากฏว่ายังมีผู้นิยมต้องการพระวัดปากน้ำอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทางวัดปากน้ำโดยคณะศิษยานุศิษย์จึงไดัจัดสร้างพระขึ้นใหม่อีกรุ่นหนึ่ง นับเป็นรุ่นที่ 4 ต่อจากรุ่นที่ 3 ที่หลวงพ่อได้สร้างไว้ โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาสเป็นประธาน และได้มอบหมายให้พระภาวนาโกศลเถร (วีระ คณุตฺตโม) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระดำเนินการจัดสร้างพระผงธรรมขันธ์รุ่น 4 ขึ้นมามีจำนวน 800,000 องค์ โดยเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา และนำออกให้เช่าบูชาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และจำหน่ายหมดในปี พ.ศ. 2527 พระรุ่น 4 นี้มีชื่อเรียกว่า “พระธรรมขันธ์”พระผงธรรมขันธ์รุ่น 4 นี้ ถึงแม้จะเป็นรุ่นที่คณะศิษย์ของหลวงพ่อเป็นผู้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกหรือเป็นรุ่นแรกที่คณะศิษย์ได้สร้างขึ้นก็ตาม หากจะกล่าวถึงในด้านชื่อเสียงและความนิยมโดยทั่วไปแล้วก็นับได้ว่าไม่แตกต่างจากพระของขวัญรุ่น 1 รุ่น 2 และรุ่น 3 ที่หลวงพ่อได้สร้างขึ้นเนื่อเพราะว่าในรุ่นนี้ ได้นำเอาผงพระของขวัญของหลวงพ่อทั้ง 3 รุ่นมาเป็นส่วนผสมด้วยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือได้ทำพิธีบรรจุอานุภาพตามหลักวิชาธรรมกายเหมือนรุ่น 1-2-3 ซึ่งทางคณะศิษย์ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย จนถึงปัจจุบัน พระธรรมขันธ์รุ่น 4 นี้ จึงคงความศักดิ์สิทธิ์มีผู้นิยมนำไปสักการบูชากันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งหมดในปี พ.ศ. 2527 (รายละเอียดการสร้างสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ใน www.watpaknam.org)

แชร์เลย

Comments

comments

Share: