ทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข 2

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

เมื่อครั้งที่แล้วอาตมภาพได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติอันเป็น “ทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข” ในปัจจุบันทันตาเห็น คือในภพชาตินี้   ในวันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติอันเป็นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ต่อไปในภายหน้า แม้ในภพชาตินี้ และในภพชาติต่อๆ ไป จนตราบเท่าถึงให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุข

ข้อปฏิบัติที่จะให้เกิดผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขต่อๆ ไปในภายหน้านี้ ชื่อว่า “สัมปรายิกัตถธรรม” แปลว่า “ธรรมเพื่อประโยชน์ในภายหน้า”   มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ 

  1. สัทธาสัมปทา  คือความถึงพร้อมด้วยศรัทธา 
  2. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล  
  3. จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละหรือบริจาค 
  4. ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา

 ดังจะได้อธิบายขยายความต่อไป.

1) สัทธาสัมปทา  ความถึงพร้อมด้วยความเลื่อมใส  ศรัทธาในบุคคลที่ควรศรัทธา  และในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา

ประการแรก  บุคคลที่ควรแก่การเชื่อถือ  เลื่อมใสศรัทธา  ควรคบหา ควรเคารพบูชา ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง นั้น  ได้แก่   บุคคลที่มีความประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ คือ เห็นแจ้งในทางเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตามที่เป็นจริง ว่า   ควรดำเนิน แล้วดำเนินชีวิตไปในทางที่ให้เกิดประโยชน์ เช่นนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป      และทั้งเห็นแจ้งในทางเสื่อมที่จะนำไปสู่โทษ และความทุกข์เดือดร้อน ตามที่เป็นจริง ว่า  ไม่ควรดำเนิน แล้วละเว้นการดำเนินชีวิตไปในทางที่ไร้สาระประโยชน์  ที่จะเป็นโทษและความทุกข์เดือดร้อน เช่นนั้นเสีย   บุคคลผู้แก่การเลื่อมใสศรัทธาเช่นนี้   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกว่า “บัณฑิต” ดังพระพุทธดำรัสในอุโภอัตถสูตร ในโกสลสังยุตว่า

 ทิฏฺเฐ  ธมฺเม จ  โย  อตฺโถโย  จตฺโถ  สมฺปรายิโก
 อตฺถาภิสมยา  ธีโรปณฺฑิโตติ  ปวุจฺจติ.
    ธีรชนท่านเรียกว่า “บัณฑิต”   เพราะถือเอาประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า.

บุคคลที่มีความประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบเช่นนี้ ที่ชื่อว่า “บัณฑิต”   โดยคุณธรรม คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า   ที่รองลงมา ได้แก่ พระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า และพระอริยเจ้าชั้นรองลงมา  จนถึงผู้ทรงศีลทรงธรรมที่รองๆ ลงมาตามลำดับ   เหล่านี้แหละคือ   บุคคลที่น่าเลื่อมใส ศรัทธา ที่ผู้มีปัญญาพึงคบหา พึงเคารพบูชา และพึงเอาเป็นเยี่ยงอย่าง    เพราะมีแต่จะนำผู้ศรัทธาและคบหานั้น ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข อันเป็นประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ถ่ายเดียว

ส่วนบุคคลผู้ไร้สติปัญญา ไม่เห็นทางเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขตามที่เป็นจริง อันจะให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า   แล้วตัดเสียซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 กลับถือเอาแต่สิ่งที่ไร้สาระประโยชน์ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วว่าดี และดำเนินชีวิตไปในทางเสื่อมที่ให้เกิดโทษ หรือความทุกข์เดือดร้อน  ท่านเรียกว่า  “คนพาล” คือคนโฉดเขลาเบาปัญญา    เป็นบุคคลที่ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา ไม่ควรคบ ไม่ควรบูชา ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง   เพราะจะนำผู้ศรัทธาและคบหาด้วยนั้น ไปสู่ความเสื่อมหรือเป็นโทษ ถึงซึ่งความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้

ประการที่ 2 ข้อปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสศรัทธานั้น  ก็คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง  แล้วสั่งสอนหลักธรรมเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ไม่ไปในทางเสื่อม  ไม่ไปในทางที่เป็นโทษ  เป็นความทุกข์เดือดร้อน   คือคำสอน

  1.  ให้ละเว้นความชั่ว ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
  2.  ให้ปฏิบัติแต่ความดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
  3.  ให้ชำระจิตใจให้ผ่องใส จากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา  เพื่อชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ จากอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน เหตุแห่งทุกข์

ทั้ง 3 ประการนี้แหละที่เป็นหลักธรรมคือข้อปฏิบัติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ได้ตรัสไว้ดีแล้ว    เป็นข้อปฏิบัติที่ผู้มีจิตศรัทธาได้ศึกษาและปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้รับผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข   ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต   แต่ส่วนเดียว ไม่มีโทษคือไม่มีผลให้เป็นความทุกข์เดือดร้อนเลย

เพราะการละเว้นความชั่ว   ก็คือการไม่สร้างเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนอีก    การปฏิบัติแต่คุณความดี ก็เป็นการสร้างเหตุแห่งความเจริญและสันติสุข   และการชำระจิตใจให้ผ่องใส ก็จะสามารถช่วยให้เจริญปัญญารู้แจ้งในเหตุแห่งความเจริญและสันติสุขที่ควรดำเนิน และรู้แจ้งในเหตุแห่งความเสื่อม  คือที่จะเป็นความทุกข์เดือดร้อนที่ไม่ควรดำเนิน   ได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น การดำเนินชีวิตย่อมจะเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ที่จะให้ผลเป็นแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตแต่ส่วนเดียว ด้วยประการฉะนี้

2)  สีลสัมปทา   ความถึงพร้อมด้วยศีล  ได้แก่ ความประพฤติปฏิบัติทางกายและทางวาจาที่เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ ที่เป็นความสุจริตทางกาย ทางวาจาและการอาชีพ และที่มีระเบียบวินัยอันดีงาม  ที่ไม่เจตนากระทำกรรมอันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น     อีกนัยหนึ่ง ศีลเป็นข้อปฏิบัติที่เว้นจากความชั่วหรือทุจริตทางกาย ทางวาจา และการงานในอาชีพ    จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า  “ศีล” เป็นข้อห้ามประพฤติชั่ว คือ ให้หยุดประพฤติชั่วหรือบาปอกุศลนั่นเอง  และเป็นที่ทราบกันว่า ธรรมเป็นข้อประพฤติดี      แท้ที่จริงแล้ว ศีลก็เป็นธรรมะคือข้อประพฤติดีเหมือนกัน  แต่เป็นข้อประพฤติดีโดยการงดเว้น เลิกละ หรือหยุดประพฤติชั่วนั่นแหละ

การศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องศีลทั้งข้อปฏิบัติที่ให้งดเว้น และทั้งเหตุผลที่บุคคลพึงต้องรักษาศีล  ให้เข้าใจแจ่มแจ้งในโทษของการประพฤติผิดศีล และคุณของการมีศีล  แล้วอบรมความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางการงานในอาชีพของตนให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดี   ที่เป็นความสุจริต ที่เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ   ไม่เจตนาประพฤติเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ชื่อว่า อธิศีลสิกขา แปลว่า การศึกษาอบรมศีลอันยิ่ง เป็นหนึ่งในไตรสิกขาคือการศึกษาอบรมตน 3 อย่าง ได้แก่ อธิศีลสิกขา  การศึกษาอบรมในศีลอันยิ่ง  อธิจิตตสิกขา การศึกษาอบรมในจิตอันยิ่ง และ อธิปัญญาสิกขา  การศึกษาอบรมในปัญญาอันยิ่ง

ศีลขั้นพื้นฐานที่บุคคลทุกคนควรปฏิบัติ คือ ศีล 5   ได้แก่

ข้อ 1 การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ หรือจากการทำลายชีวิตทั้งปวง
ข้อ 2 การงดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้  จากการคดโกง จากการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการคอรัปชั่นต่างๆ เป็นต้น
ข้อ 3 การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ข้อ 4 การงดเว้นจากการกล่าวเท็จ โกหก หลอกลวงต่างๆ   และ
ข้อ 5 การงดเว้นจากการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาททั้งหลาย

ส่วนผู้ที่ประสงค์จะรักษาให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อขจัดขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็รักษาศีล 8  ซึ่งมีข้อปฏิบัติที่เพิ่มไปจากศีล 5 คือ ศีลข้อ 3 เปลี่ยนเป็นเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากการร่วมประเวณี

อีก 3 ข้อ คือ 
ข้อ 6 เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเวลาหลังเที่ยง
ข้อ 7 เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์  และเว้นจากการตบแต่งเครื่องแต่งกายด้วยเครื่องหอม เครื่องประดับทั้งหลาย  และ
ข้อ 8 เว้นจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ หรูหรา เป็นต้น

สำหรับสามเณรผู้นับเป็นเหล่ากอของสมณะในพระพุทธศาสนา ก็รักษาศีล 10    พระภิกษุสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ คือ ในพระพุทธศาสนา  ก็รักษาศีล ชื่อว่า สิกขาบท อันเป็นพระวินัยพุทธบัญญัติเฉพาะที่มีมาในพระปาฏิโมกข์ 227 ข้อ

เพราะเหตุใดบุคคลจึงต้องมีศีล    เพราะผู้ประพฤติผิดศีล  ย่อมต้องได้รับผลจากกรรมชั่วเช่นนั้น  ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนตามกรรม ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต หรือมีผลให้เป็นอุปสรรคแก่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตอีกต่อไป     ส่วนผู้มีศีล คือ ผู้งดเว้นจากความประพฤติที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น   หรือผู้ที่งดเว้นกรรมที่เป็นบาปอกุศล คือที่เป็นความทุจริตทางกาย ทางวาจา และการงานในอาชีพ   ย่อมเป็นผู้ปราศจากความทุกข์เดือดร้อนจากเวรภัยจากกรรมชั่วใหม่อีก  และย่อมไม่มีอุปสรรคขัดข้องในความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข

และถ้ายิ่งได้กระทำความดีอื่นควบคู่ไปกับการมีศีล  ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก  ก็ยิ่งจะได้รับผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขยิ่งๆ ขึ้นไปอีก   ดังที่อาตมภาพจะขอยกตัวอย่างความประพฤติผิดศีลอันเป็นกรรมชั่วคือทุจริตต่างๆ เปรียบเทียบกับความเป็นผู้มีศีลอันเป็นกรรมดีคือสุจริต ที่จะให้ผลตามกาลเวลาและตามหน้าที่ของกรรมนั้นๆ  สักหนึ่งตัวอย่าง   พอเป็นเครื่องเตือนใจและประดับสติปัญญาไว้ดังต่อไปนี้

ตัวอย่าง ผู้ประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร   คือ ความประพฤติผิดในกาม กล่าวโดยความหมายขั้นพื้นฐานเบื้องต้นของศีลข้อนี้  ผลกรรมที่จะเกิดแก่ผู้มักประพฤติผิดศีลข้อนี้โดยตรงในปัจจุบันคือในภพชาตินี้ ชื่อว่า  ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม  ที่เห็นกันได้ง่ายคือ  ความทุกข์ที่จะเกิดมีแก่สมาชิกของครอบครัวทุกฝ่าย   เพราะความหวาดระแวง ความระหองระแหง  ความทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งกันและกัน   และความแตกแยกภายในครอบครัว  ตัวเองก็หาความสันติสุขที่แท้จริงไม่ได้    นอกจากความสุขที่ได้รับจากการสนองตัณหาเพียงชั่วแล่นชั่วขณะ  แล้วก็ต้องกลับเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยปัญหานานาประการ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาว  เป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่เสมอ     ฝ่ายคู่สมรสก็มีแต่ความโทมนัสใจ เจ็บช้ำน้ำใจ    เมื่อตนเป็นผู้ทุศีล  ไม่ซื่อสัตย์ ไม่จริงใจต่อคู่สมรสของตน   แล้วจะไปหวังความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความจริงใจ จากใครได้     แม้ในหัวใจลึกๆ ของลูกๆ ก็พลอยเศร้าใจ และขาดความนับถือเชื่อถือพ่อหรือแม่ผู้ประพฤติผิดศีลเช่นนั้น       ในสังคมที่มีความเจริญทางจิตใจ คือที่มีศีลมีธรรมดีพอสมควรแล้ว  จึงไม่นิยมยกย่องนับถือ และกลับประณามบุคคลผู้ทุศีลเช่นนี้    ในประเทศที่พัฒนาทางวัฒนธรรมศีลธรรมดีแล้ว จะไม่เลือกตั้งหรือแต่งตั้งบุคคลทุศีลเช่นนี้ให้ทำหน้าที่ในระดับผู้นำหรือผู้บริหารประเทศ  และแม้ในวงการธุรกิจที่ใหญ่โต    ก็ไม่นิยมแต่งตั้งบุคคลผู้ทุศีลเช่นนี้ให้ทำหน้าที่บริหารกิจการที่มีความรับผิดชอบสูงเช่นนั้น  เพราะเขาถือว่า ถ้าบริหารการบ้านไม่เรียบร้อย  คือเมื่อไม่อาจทำครอบครัวให้สันติสุขได้แล้ว จะเป็นผู้นำบริหารประเทศชาติให้เกิดความสันติสุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวมทั้งประเทศได้อย่างไร  แม้แต่ในสังคมย่อยภายในครอบครัวตนเอง   ยังก่อปัญหาให้เกิดความแตกแยก ไม่เรียบร้อยไม่สงบสุขได้ แล้วจะมาทำหน้าที่เป็นผู้นำผู้บริหารประเทศให้เกิดความสงบเรียบร้อยสันติสุขได้อย่างไร  

ยังมีโทษข้ออื่นๆ อีกมาก เช่น  ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ขาดคนนับถือเชื่อถือลงไปมาก และทำให้ลูกหลานมีปมด้อยอีกด้วย    แล้วยังเป็นเหตุให้ฐานะทางเศรษฐกิจภายในครอบครัวพลอยขาดความมั่นคงลงไปอีก    เพราะการเงินต้องถูกแบ่งแยกไปทั้งบ้านใหญ่และบ้านน้อย  ยิ่งมีลูกทั้งบ้านใหญ่ทั้งบ้านน้อยอีก ก็ยิ่งมีภาระเพิ่มมากขึ้นไปอีก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง     นี้ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการประกอบอาชีพทุจริตหรือการคอรัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง และการแสวงหาอำนาจที่ไม่เป็นธรรม   เพื่อการหารายได้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรมให้ได้มากๆ เพียงเพื่อสนองตัณหาในเรื่องของ กาม กิน เกียรติ  ที่เป็นปัญหาใหญ่   ทั้งทางการเมือง ทางการเศรษฐกิจ และทางสังคม     ก็เพราะมีเหตุปัจจัยจากสังคมย่อย คือพ่อบ้านแม่เรือนประพฤติทุศีลอันเป็นปัญหาภายในครอบครัว  แล้วลุกลามเกี่ยวโยงมาถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศชาติ   ดังที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอในทุกวันนี้     แม้ผู้ที่มีฐานะดี มีอำนาจวาสนาสูง   ก็ไม่พ้นความทุกข์เดือดร้อนจากความประพฤติผิดศีลเช่นนี้  เช่น  เกิดปัญหาการแก่งแย่งมรดกหรือทรัพย์สิน  ถึงเป็นคดีความ หรือถึงเข่นฆ่าเอาชีวิตกันก็มี ดังนี้เป็นต้น

ความประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารนี้   ถ้ากล่าวถึงความหมายอย่างกว้างไปถึงความเป็นนักเลงผู้หญิง หรือผู้หญิงก็เป็นนักเลงผู้ชาย   ความหมกมุ่นหรือสำส่อนในกิเลสกามและวัตถุกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งสัมผัสทางกาย  ชื่อว่า “อบายมุข” อันเป็นปากทางแห่งความฉิบหายอีกด้วยแล้ว  ก็จะเห็นโทษเพิ่มมากขึ้น ได้แก่   ความเสี่ยงชีวิตที่จะได้รับการถ่ายเทเชื้อโรคติดต่อร้ายแรงถึงกันและกัน เช่น โรคเอดส์ หรือ hiv วัณโรค    และถ้ายิ่งไปหมกมุ่นติดอยู่ในแหล่งอบายมุข   แหล่งบันเทิงเริงรมย์อีก ก็ยิ่งจะเสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และเสียเงินทองไปในเรื่องไร้แก่นสารสาระ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงการเสพและติดสิ่งเสพติดมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การติดเที่ยวกลางคืน การคบคนชั่วเป็นมิตร  และต่อๆ ไปถึงการประกอบอาชีพทุจริต    ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เสียคน  เป็นเด็กเยาวชนก็เสียการเรียน เสียอนาคต กลายเป็นคนไร้ค่า   เหมือนไม้ผุๆ ที่รอคนเผา  หรือไม้ริมตลิ่งที่นับวันจะถูกน้ำเซาะดินจนหมด แล้วก็โค่นล้มตายไปในที่สุด

นี้ว่าแต่เฉพาะโทษในความประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ทั้งความหมายอย่างแคบและอย่างกว้าง ที่จะได้รับผลกรรมโดยตรงที่เห็นได้ง่ายในภพชาติปัจจุบัน

ยังมีผลกรรมที่เห็นได้ยากสำหรับปุถุชนอีกมาก เช่น ผลกรรมจากกาเมสุมิจฉาจารหรือการสำส่อนในกิเลสกามและวัตถุกาม เป็นอุปัตถัมภกกรรม  ที่ช่วยสนับสนุนซ้ำเติมเวรกรรมจากที่ได้เคยประพฤติผิดศีลข้อปาณาติปาต แต่อดีตติดตามมารอให้ผล ให้ให้ผลเร็วและแรงขึ้น   เช่น อาจติดโรคเอดส์ รอวันตาย   หรืออาจเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจเกิดกรณีวิวาทเข่นฆ่ากันถึงตาย หรือบาดเจ็บร้ายแรงปางตาย เพราะผู้หญิงเป็นเหตุ    และเป็น อุปปีฬกกรรม ที่เข้าขัดขวางกรรมดีที่ได้เคยทำไว้กำลังให้หรือกำลังจะให้ผล  ให้ให้ผลน้อย หรือให้ให้ผลแต่เพียงระยะเวลาสั้น   เช่นเคยทำมาค้าขึ้น หรือค้าขายดีมีกำไร ก็กลับประสบอุปสรรคขัดข้องถึงกิจการค้าขาดทุน หรือถึงล้มละลายได้    หรือการทำหน้าที่การงานมีอุปสรรคขัดข้องมาก ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร หรือถึงมีคดีความให้ต้องเดือดร้อนต่างๆ

เมื่อก่อนตาย  จิตใจที่เศร้าหมองด้วยกิเลสกาม  เพราะความติดใจหรือความห่วงใยในวัตถุกาม ก็จะเป็นชนกกรรมปรุงแต่ง  หรือนำให้ไปเกิดในทุคคติภูมิในภพชาติต่อไปได้  เช่นไปเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น    ดังมีพระพุทธดำรัสตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะที่เสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระนครสาวัตถี (ม. มู. 12/64) ว่า

“จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ     ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา”
เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว    ทุคคติเป็นอันหวังได้.

ครั้นพ้นจากเวรทุคคติภูมินั้นแล้ว  กลับมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์อีก   เศษของกรรมจากเวรกาเมสุมิจฉาจารที่ยังเหลืออยู่ ก็ยังทำหน้าที่เป็น อปราปริยเวทนียกรรม  คือกรรมติดตามให้ผลในภพชาติต่อๆ ไป   อย่างเช่นเศษของกรรมนี้ยังจะปรุงแต่งให้มาได้อัตภาพเป็นหญิงบำเรอชาย   เป็นหญิงหมัน   และเป็นกระเทย ได้อีก เป็นต้น    ดังปรากฏตัวอย่างเรื่องพระโสเรยยะ   ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท (ภาค 2 หน้า 53)  มีความว่า

ขึ้นชื่อว่าชายไม่เคยกลับเพศเป็นหญิง    หรือว่า หญิงไม่เคยกลับเพศเป็นชาย มาก่อน ไม่มี  เพราะผู้ชายที่ประพฤติล่วงประเวณีกับภรรยาของชายอื่น    ครั้นตายไป  ต้องหมกไหม้ในนรกสิ้นหลายหมื่นปีแล้ว  เมื่อกลับมาได้เกิดเป็นมนุษย์   ย่อมได้เพศเป็นหญิงสิ้น 100 ชาติ

แม้ท่านพระอานนทเถระ ผู้เป็นอริยสาวก   ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วตั้งแสนกัป  ขณะที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร    มีอยู่ชาติหนึ่ง ท่านได้เกิดในตระกูลช่างทอง แล้วได้เป็นชู้กับภรรยาของชายอื่น    ตายไป ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรก    ครั้นพ้นจากนรก ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก    เศษของกรรมชั่วที่ยังเหลืออยู่ก็ยังติดตามให้ผล ปรุงแต่งให้เกิดเป็นหญิงบำเรอชายถึง 14 ชาติ    และกาลต่อมา ได้เกิดเป็นหญิงหมันอีก 7 ชาติ

ส่วนบรรดาหญิงที่ได้ประกอบการบุญกุศล  มีทานกุศลเป็นต้น  คลายความพอใจในความเป็นหญิงของตนแล้ว ตั้งจิตอธิษฐานว่า  “ขอให้บุญทั้งหลายของข้าพเจ้านี้จงเป็นไปเพื่อให้ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นชายเถิด”  ดังนี้แล้ว  เมื่อตายลง และได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก   ก็ย่อมจะได้อัตภาพเป็นชาย    อนึ่ง  บรรดาหญิงที่ปฏิบัติดีต่อสามีดุจว่าเป็นเทวดา   ก็ย่อมจะได้อัตภาพเป็นชายในภพชาติต่อไปอีกเช่นกัน

สำหรับบุคคลผู้มีศีลข้อนี้ คือ เป็นผู้มีความสันโดษในคู่ครองของตน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน   รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา   มีความสำรวมในกาม  ไม่สำส่อนในกิเลสกาม  ชีวิตในครอบครัวย่อมจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข   มีความอบอุ่น  มีความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกันดี  เรียกว่า ครอบครัวจะมีแต่ความสันติสุขและมั่นคง  ไม่แตกแยก    ชีวิตในสังคมก็ดี  จะมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ และนับถือในคุณความดีนั้น    พลอยให้ชีวิตในหน้าที่การงานหรือในอาชีพเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง  เพราะความเป็นผู้มีศีลมีธรรม    เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ คือตายไป บุญกุศลจากความเป็นผู้มีศีลมีธรรม ให้จิตใจเบิกบานผ่องใส  ก็ย่อมจะปรุงแต่งหรือนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ได้แก่ ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลหรือครอบครัวที่ดี หรือได้ไปบังเกิดในเทวโลก เป็นต้น    ดังมีพระพุทธดำรัสตรัสไว้ว่า

“จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ     สุคติ ปาฏิกงฺขา”
เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว     สุคติเป็นอันหวังได้.

เมื่อกล่าวถึงกรรมดีหรือกรรมชั่วที่จะเป็นชนกกรรมปรุงแต่งหรือนำให้ไปเกิด หรือไปเสวยผลกรรมในสุคติโลกสวรรค์ก็ดี    ให้ไปเกิดในทุคคติภพ ได้แก่ ไปเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น ก็ดี    อาจจะมีหลายท่านที่ไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นได้   หรือไม่แน่ใจว่า  การที่สัตว์โลกผู้ยังมีกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อยู่  ยังจะต้องไปเกิดในภพภูมิใหม่ตามกรรมแน่นอน    และว่านรกสวรรค์ มีจริงอย่างไร      ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ  เพราะนอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  ก็ไม่มีใครที่จะแสดงการเกิดใหม่ตามกรรม  หรือแสดงนรกสวรรค์  ให้เห็นประจักษ์ด้วยสายตาเนื้อ เหมือนดูหนังดูละครได้   

แต่ถ้าได้ศึกษาพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถ่องแท้ และได้ลงมือปฏิบัติธรรม  คือ ศึกษาอบรมศีลอันยิ่ง  ศึกษาอบรมจิตอันยิ่งคือเจริญสมาธิอันยิ่ง  ให้ได้มาตรฐานขั้นพื้นฐานที่จะเจริญวิชชาหรืออภิญญาอันเป็นความสามารถพิเศษที่จะสามารถให้รู้-เห็น การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกไปตามกรรม    และให้รู้-เห็น นรก สวรรค์ และพรหมโลก   ได้ตามที่เป็นจริง  ก็จะสามารถเจริญปัญญาจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นเรื่องการเกิดใหม่ตามกรรม  และนรก  สวรรค์ ถึงพรหมโลกได้ตามที่เป็นจริง ด้วยตนเอง    เป็น ปจฺจตฺตํ คือ เป็นการรู้เห็นเฉพาะตัว  ใครว่านรกสวรรค์เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้    หรือว่าไม่รู้วิธีพิสูจน์ โปรดฟังทางนี้   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสวิธีพิสูจน์เรื่องการเกิดใหม่ตามกรรม   และเรื่องนรก สวรรค์ ไว้แล้ว  มีปรากฏในพระสุตตันตปิฎก  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่มที่ 12 หน้า 62-63  มีคำว่า  “อากงฺเขยฺย เจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ฯเปฯ พรูเหตา สุญฺญาคารานํ” ดังนี้เป็นต้น  แปลความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย   ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า   เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ  กำลังอุบัติ  เลว  ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก   ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์  พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า    สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต  ติเตียนพระอริยเจ้า  เป็นมิจฉาทิฏฐิ   ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ    เมื่อตายไป เขาเข้าถีงอบาย  ทุคคติ วินิบาต นรก       ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต  ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ  ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ  เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์   ดังนี้

เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์    พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้เถิด   ดังนี้

ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล   ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน   ไม่ทำฌานให้เหินห่าง   ประกอบด้วยวิปัสสนา   พอกพูนสุญญาคาร.”

กล่าวโดยย่อก็คือว่า   ถ้าผู้ใดประสงค์จะรู้-เห็นสัตว์โลกที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดตามกรรมดีกรรมชั่ว ไปสุคติโลกสวรรค์บ้าง  ไปทุคคติภพ  คือไปเกิดเป็นเปรต  สัตว์นรก อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ตามที่เป็นจริง   ก็พิสูจน์ได้โดยการศึกษาและอบรมศีล สมาธิ และปัญญา  ให้ยิ่งขึ้นไปถึงสามารถรู้-เห็นแจ้งได้ด้วยตน

ขึ้นชื่อว่าพระพุทธดำรัสแล้ว   ย่อมเป็นหนึ่งไม่มีสอง  คือ ย่อมเป็นจริงเสมอไป   ที่ไม่เป็นจริงนั้น ไม่มีเลย   เหตุนั้น   หากจะมีผู้ใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชนใด   แม้จะเรียนภาคปริยัติมามาก  แต่ยังไม่อาจเจริญปัญญารู้แจ้งเรื่องการเกิดใหม่  เรื่องนรก-สวรรค์ เป็นต้นนี้ ตามที่เป็นจริงด้วยตน     แล้วยังคิดหลงผิดว่า นรก สวรรค์ ไม่มีจริง    เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลัง  เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้  หรือว่า การพิสูจน์เรื่องนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนี้เป็นต้น   แล้วแสดงออกทางวาจา พูด สอน แนะนำผู้อื่น โดยผิดเพี้ยนไปจากพระพุทธดำรัสนี้    ย่อมเป็นการประกอบมโนทุจริต และวจีทุจริต     เป็นการตู่พุทธวจนะ    และเป็นการดูหมิ่นพระญาณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า    เป็นการติเตียนพระอริยเจ้า  เป็นมิจฉาทิฏฐิโดยไม่รู้ตัว   และกรณีเช่นนี้  จะป่วยกล่าวไปใยถึงการที่จะรู้เรื่องพระนิพพาน   อันเป็นปรมัตถธรรมที่สุขุมลุ่มลึก อันบัณฑิตเท่านั้นจะพึงรู้ได้  

เพราะฉะนั้น  เรื่องนี้ สาธุชนไม่พึงประมาท  พึงศึกษาปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้ง เห็นแจ้งด้วยตน หรือ อย่างน้อยก็ขวนขวายหาข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้และสมบูรณ์ จากพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือ จากผู้ที่กำลังศึกษาอบรมอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ด้วยดีอยู่ ที่เชื่อถือได้  ก็พอจะช่วยแก้มิจฉาทิฏฐิ อกุศลกรรมที่ได้ประกอบมโนทุจริต และวจีทุจริต คือหลงคิดผิด  แล้วก็พูดแนะนำสั่งสอนผู้อื่นไปอย่างผิดๆ  เช่นนั้น  โดยที่ไม่มีใครจะช่วยแก้ไขได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้   เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคต คือทั้งในภพชาตินี้และในภพชาติต่อไป   รวม 2 ข้อ  คือความถึงพร้อมด้วยศรัทธา และความถึงพร้อมด้วยศีล  ส่วนอีก 2 ข้อ  คือ  ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละหรือการบริจาค  ความถึงพร้อมด้วยปัญญานั้น   เมื่อมีโอกาสจะได้กล่าวต่อไปในคราวหน้า    สำหรับวันนี้ ขอยุติปาฐกถาธรรมไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน

ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ท่านผู้ฟังทุกท่าน    เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 16 มีนาคม 2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: